ข้อคิด

STRONGER TOGETHER เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน

August 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,262 views 0

STRONGER TOGETHER เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน

STRONGER TOGETHER เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน

ความรุนแรงและการก่อการร้ายนั้นได้ยกระดับและเข้าใกล้กับชีวิตคนเมืองกรุงมากขึ้นทุกขณะ คอยเตือนให้เราได้ระลึกว่าชีวิตนั้นไม่แน่นอนอย่างไร เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้จิตใจของเราเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นเพื่อที่จะก้าวผ่านสถานการณ์เหล่านี้ไปได้

เราอาจจะเคยได้ยินข่าวการก่อการร้าย การวางระเบิด ที่มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายในภาคใต้ของไทย ซึ่งสำหรับคนกรุงเทพแล้ว ก็คงจะเป็นอะไรที่ไกลตัว แม้ได้ยินก็ยังไม่เข้าใจ แม้จะเห็นภาพก็ยังไม่ค่อยรู้สึก แต่ในตอนนี้ได้มีเหตุก่อการร้ายขึ้นที่กลางกรุง ในจุดที่ผู้คนพลุกพล่าน เราได้เห็นภาพ ได้รู้สึก และได้เข้าใจอย่างชัดเจนว่าความรุนแรงของการก่อการร้ายนั้นส่งผลต่อร่างกายและจิตใจอย่างไร

การระเบิดนั้นไม่ได้สร้างแค่ความเสียหายต่อชีวิตและจิตใจของผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้น แต่กระจายออกไปยังคนกรุงเทพ คนไทย และอีกอื่นๆอีกหลายคนบนโลก

ระเบิดที่เกิดขึ้นนั้นได้ทำลายชีวิตและความปกติสุขในจิตวิญญาณของหลายๆคนไปในทันที หลายคนต้องพบกับความหวาดกลัวในการเดินทาง หลายคนต้องเสียเวลาไปกับข่าวสารที่มากมายมหาศาล โดยไม่รู้ว่าอันไหนจริงอันไหนหลอก หลายคนต้องเสียสติไปกับกระแสของความโลภ โกรธ หลง หรือกิเลส

ซึ่งกิเลสนี้เองคือสิ่งที่ทำให้เราหวาดกลัว ทำให้เราแสวงหาข้อมูลเกินความจำเป็น ทำให้เราเร่งเร้าอยากจะให้จับคนร้ายได้ไวๆทั้งที่หลักฐานและเหตุปัจจัยยังไม่เหมาะสม ทำให้เราโกรธคนร้าย โกรธคนนู้น โกรธคนนี้ โกรธใครก็ตามที่เราคิดว่าผิด ทำให้เราหลงมัวเมาว่าเรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งที่จริงแล้วมันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สมควรในขณะนั้นก็ได้ ซึ่งกิเลสนี้เอง คือสิ่งที่ทำลายความสามัคคี ทำลายความแข็งแกร่งของจิตใจ ทำให้เราถดถอยและอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ

การที่เราจะสามารถเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกันได้ คือการร่วมสร้างสังคมที่มีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ ไม่ตื่นตระหนกต่อสิ่งเร้า ไม่ไหลตามกระแสแห่งกิเลส แต่ก็ไม่ลอยเหนือปัญหาจนไม่เอาภาระบ้านเมือง

ซึ่งสิ่งแรกที่เราควรจะทำคือรับรู้ความจริงตามความเป็นจริง เพียงแค่รับรู้ ยังไม่ต้องรีบวิเคราะห์ เพราะเพียงแค่เรารับรู้ข้อมูลต่างๆที่ประดังเข้ามา กิเลสก็จะสั่งให้เราคิด พูด และทำลงไปตามใจกิเลส เช่นเราเข้าใจว่าคนคนหนึ่งน่าจะเป็นคนสั่งการ เราจึงวิเคราะห์ตามข้อมูลที่เรามี และเผยแพร่ความคิดของเราออกไป นั่นหมายถึงเรากำลังเดาเอาล้วนๆ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจริงตามความเป็นจริง เพราะเราไม่ได้มีข้อมูลความจริงทั้งหมด เรารู้ความจริงบางส่วน แล้วเอามาผสมกับความจำของเรา ปรุงออกมาเป็นข้อมูลใหม่ที่เราคิดว่ามันน่าจะเป็นจริง และสุดท้ายเราก็เชื่อมั่นว่ามันเป็นจริงเสียด้วย และนั่นคือการทำงานของกิเลสที่สัมฤทธิ์ผล

เชื้อของความอ่อนแอในสังคมไม่ได้เกิดขึ้นจากระเบิด แต่เกิดขึ้นจากกิเลสในจิตใจของเรา หากว่าเราส่งเสริมกันด้วยถ้อยคำของกิเลส พยายามวิเคราะห์ ชี้นำ ชักนำให้เกลียดคนนั้นชอบคนนี้ พยายามหาคนผิดทั้งที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน พยายามเสนอความเห็นทั้งที่ไม่รู้จริง พยายามคาดเดาเหตุการณ์ ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินกรรมคนอื่น เป็นผู้พิพากษาคนอื่น ซึ่งเกิดจากความหลงยึดดีในตนเอง อาการเหล่านี้เองที่จะทำลายสังคมได้รุนแรงกว่าระเบิดหลายเท่านัก

ระเบิดหนึ่งลูกอาจจะพรากชีวิตคนได้หลายสิบคน แต่การระเบิดของกิเลสในจิตใจของแต่ละคน ที่แพร่กระจายออกไปอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น ได้ทำลายจิตวิญญาณแห่งความผาสุก ทำลายสติ ทำลายปัญญา ทำลายความเมตตา ทำลายความดีงามทั้งหลายของตนเองและผู้อื่นได้อีกนับไม่ถ้วน

การเติบโตและความแข็งแกร่งที่แท้จริง คือการทนได้แม้อยู่ในสภาพที่ไม่น่าจะทนไหว ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการกำเริบของกิเลสเช่นนี้ เราสามารถหาความเจริญได้ ใช้โอกาสนี้พัฒนาให้จิตใจของเราเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นได้ด้วยการอดทน ข่มใจ ไม่ปล่อยตัวให้ไกลไปตามกระแสของความโลภ โกรธ หลง ที่จะชักนำให้เราไหลลงสู่ความเสื่อมและความอ่อนแอทั้งหลาย

กิเลสนั้นนำมาซึ่งความชั่ว ความแตกแยก ความถดถอย ความอ่อนแอ ความทุกข์ โรคภัย ฯลฯ ดังนั้นเราจึงควรเว้นขาดจากการส่งเสริมกิเลสซึ่งกันและกัน ไม่กล่าวถ้อยคำหรือแสดงความเห็นที่ทำให้กิเลสกำเริบ ทำให้เกิดความโกรธ อาฆาต ชิงชัง รังเกียจใครเลย

ซึ่งการไม่ไหลไปตามกิเลสนี้ไม่ได้หมายถึงการไม่เอาภาระ หรือไม่ทำหน้าที่พลเมืองดี เราปล่อยวางเฉพาะในเรื่องกิเลส เราไม่ไหลตามกระแสของความโลภ โกรธ หลง แต่เรายังจะทำหน้าที่ของคนที่อยู่ในสังคม ถ้ามีภัยเราก็ช่วยกันแก้ ช่วยกันป้องกัน แต่เราจะไม่ช่วยปลุกปั่น ไม่ยุยงส่งเสริมให้ใครเกลียดใคร เราสามารถรังเกียจกิเลสได้แต่อย่าเกลียดคนมีกิเลส

ดังนั้นการจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกันได้คงจะไม่มีทางอื่นนอกจากจะหยุดตัวเองจากการไหลตามกระแสของความมัวเมาในกิเลสทั้งหลาย เรียนรู้ที่จะพาตัวเองออกจากกระแสเหล่านั้นจนกระทั่งหลุดออกมาได้สำเร็จ แม้เข้าไปในกระแสแต่ก็ไม่ปนไม่เปื้อนและไม่หลงติดหลงยึด สามารถกลับเข้าไปและออกมาได้อย่างอิสระ สุดท้ายคือช่วยเหลือผู้อื่นให้หยุดชั่ว หยุดไหลไปตามกระแสกิเลส จนกระทั่งแนะนำวิธีให้ออกจากกระแสแห่งความเสื่อมเหล่านั้นได้และนี่คือที่สุดของความแข็งแกร่งในมหาจักรวาล

– – – – – – – – – – – – – – –

18.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เรากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม?

August 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,182 views 0

เรากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม?

เรากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม?

ปัญหา: คู่รักหลายคู่ที่แต่งงานมีลูกด้วยกันแล้วเกิดมีปัญหาถึงขั้นหย่าร้าง ต่อมาฝ่ายที่ขอหย่าก็ไปมีครอบครัวใหม่ แต่สุดท้ายอยู่กินกับคนใหม่ได้ไม่นานก็อยากจะกลับมาสู่ครอบครัวเดิม อยากให้ช่วยไขประเด็นทางธรรม

ตอบ: ในเรื่องนี้จะแสดงความคิดเห็นโดยแบ่งเป็นสามช่วงนะครับ ช่วงแรกคือการแต่งงานมีลูกด้วยกัน ช่วงที่สองคือหย่าร้าง ช่วงที่สามคือคนขอหย่าไปมีครอบครัวใหม่และสุดท้ายก็อยากจะกลับมา

1). คนที่เขาหลงรักกัน ขนาดถึงขั้นที่ว่าจะแต่งงานกันให้ได้ นี่เป็นผลของกิเลสที่สะสมมาจนโต มองเห็นแต่ข้อดีของอีกฝ่าย ไม่เห็นข้อเสียเลย จึงพร้อมที่จะยึดมั่นถือมั่น ผูกพันกันและกัน ต่างคนต่างให้สัญญาว่าจะรักและดูแลกันตลอดไป จนกระทั่งมีลูกด้วยเหตุอันใดก็ตาม อาจจะใช้เป็นหลักประกันของครอบครัว อาจจะมีความหลงในการมีลูก หรืออื่นๆ เมื่อมีลูกเกิดขึ้นมา หลายครอบครัวก็มักจะเริ่มแกว่ง เริ่มไม่มั่นคง เริ่มมีปัญหา เพราะบางครั้งคนที่แต่งงานก็เพราะรักและหลงในอีกฝ่าย แต่ไม่ได้หลงในลูกที่เกิดมา

ซึ่งโดยหน้าที่แล้วฝ่ายภรรยาก็ต้องแบ่งน้ำหนักความรักจากสามีมาลงที่ลูก ต้องใส่ใจลูกมากขึ้น ในขณะที่สามีได้รับเวลาและการดูแลลดน้อยลง ถ้าสามีรักและหลงลูกด้วยก็มักจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าสามีเป็นคนหลงตัวเอง อยากให้คนอื่นมาดูแลตัวเอง พอภรรยามีลูกก็มักจะบกพร่องในหน้าที่บางประการ จึงทำให้สามีบางคนนั้นไม่พอใจ เกิดความทุกข์ เพราะไม่ได้เสพในสิ่งที่ตนอยากจะเสพ (คำว่าเสพในที่นี้มีความหมายกว้างตั้งแต่ต้องการดูแลเอาใจใส่ การยิ้มให้ การแต่งตัวให้ดูดี การพูดคำหวาน จนไปถึงเรื่องการสมสู่) มักจะเกิดกับคนที่หลงในตัวของภรรยามากๆ อยากได้อยากเสพภรรยา จนไม่อยากให้ใครหรือแม้แต่ลูกแย่งโอกาสนี้ไป

ซึ่งในกรณีนี้ก็เกิดขึ้นได้กับผู้ชายเช่นกัน บางครั้งผู้ชายอยากมีลูกมากกว่าอยากมีภรรยา เมื่อมีลูกจึงให้น้ำหนักไปที่ลูกมากกว่า รักและดูแลลูกมากกว่าจนเป็นเหตุให้ภรรยาน้อยใจได้

2). ปัญหาในครอบครัวถึงขั้นหย่าร้างนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เรื่องเล็กจนไปถึงเรื่องใหญ่ แต่สาระของปัญหาเหล่านั้นเกิดจากความไม่ยอมกัน การเอาชนะ การยึดชั่วและยึดดีทั้งหลาย รวมๆแล้วก็เรียกว่าเกิดจากกิเลส

ในตอนแรกคนสองคนมาอยู่ด้วยกัน อยากเสพกันและกันก็มักจะดูแลเอาใจใส่เพื่อให้ได้เสพ ซึ่งพอเสพกันบ่อยครั้งเข้าก็มักจะเริ่มเบื่อ เริ่มเคยชินกับสิ่งที่เคยรักเคยหลง ซึ่งการดูแลเอาใจก็มักจะเสื่อมไปตามธรรมชาติเมื่อได้เสพจนเบื่อ และเรื่องเหล่านี้เป็นสภาวะที่เกิดโดยทั่วไป ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ได้

เมื่อความอยากเอาใจหมดไป ในขณะที่ความคาดหวังที่จะได้รับการเอาใจกลับเพิ่มมากขึ้น ไม่มีคู่รักคู่ไหนที่ตั้งใจแต่งงานกันโดยที่คิดว่ารักนั้นจะเสื่อมลงหลังจากแต่งงาน มีแต่คนที่คิดว่าจะได้รัก ได้เสพ ได้สุขมากขึ้นถ้าเขาและเธอแต่งงาน ด้วยเหตุผลนั้นจึงเกิดการแต่งงานขึ้นมา

ดังนั้นเมื่อความอยากเสพได้จางคลายไป พฤติกรรมทั้งหลายที่เคยสร้างเพื่อให้ได้เสพ เช่น คำหวาน ของขวัญ การดูแลเอาใจใส่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำเหมือนเดิมอีกต่อไป จึงเกิดสภาพของการเปลี่ยนแปลง ไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนสมัยจีบกันหรือแต่งงานกันใหม่ๆ ซึ่งถ้าอีกฝ่ายเข้าใจและทำใจยอมรับได้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ายังมีใครที่ติดสุขอยู่ ยังอยากเสพสุขอยู่ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ได้ต้องการจะสนองให้อีกต่อไป นั่นคือเหตุหนึ่งของความขุ่นเขืองใจในครอบครัว

ซึ่งสามารถพัฒนาให้รุนแรงลุกลามขึ้นไปได้ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดไม่พอใจในการได้รับการสนองกิเลส ก็อาจจะไปแสวงหาสิ่งใหม่มาเสพ หรือไม่ยินดีทนอยู่กับสภาพที่ไม่ได้เสพสมใจ จึงเกิดการทะเลาะหรือหย่าร้างขึ้น

3). เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังคงมีความอยากเสพ ยังคงแสวงหา เขาก็จะพยายามหาสิ่งที่เขาต้องการมาเสพ ซึ่งอาจจะเป็นคนรักใหม่ ชู้รัก หรือสิ่งอื่นใดก็ตาม ที่จะมาทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป ในโจทย์นี้ก็จะเป็นแต่งงานใหม่ ซึ่งการแต่งงานก็จะวนไปเช่นเดียวกับข้อหนึ่ง คือหวังว่าตนเองจะได้เสพสุข จะมีคนมาคอยสนองกิเลส

แต่เมื่อแต่งงานไปก็พบว่ามันไม่ได้สุขอย่างใจฝัน มันไม่ได้เสพอย่างที่คาดหวังไว้ จึงเกิดการเปรียบเทียบว่าเสพอันไหนจะสุขกว่า อยู่กับคนเก่าหรือคนใหม่ฉันจะเป็นสุขกว่า เมื่อตกลงใจได้ว่าของเก่าดีกว่า จึงอยากจะกลับไปเสพของเก่า เพราะในสภาพที่เป็นอยู่นั้นคือสภาพที่ทุกข์กว่าเก่า อาจเพราะไม่ได้เสพสิ่งที่ตัวเองต้องการอย่างที่คิดฝันไว้และยังเข้าใจว่ามีทางเลือกที่ดีกว่านั่นคือเลิกกับคนใหม่แล้วกลับไปหาคนเก่า

เพราะได้จำไว้ว่าคู่ครองคนเก่าดูแลเท่านี้ สมมุติว่า ดี 5 เสีย 3 ส่วนต่างอยู่ที่ +2 แต่คนใหม่ดี 7 เสีย 8 ส่วนต่างอยู่ที่ -1 แม้ตอนแรกจะดูเหมือนคนใหม่ดี แต่ไปๆมาๆกลับขาดทุน เป็นทุกข์ เมื่อเกิดสภาพดังนั้นจึงเข้ากับคำเปรียบเปรยที่ว่า “กำขี้ดีกว่ากำตด” เพราะแม้จะสุขน้อยแต่ก็ยังมีสุขให้ได้เสพบ้าง ไม่เหมือนกับคนใหม่ที่มีแต่ทุกข์

ทีนี้จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม เมื่อเขากลับมาอีกฝ่ายจะยอมรับไหม ตรงนี้ต้องพิจารณาให้ดี เขาออกจากชีวิตเราไปตั้งแต่ครั้งก่อนนั้นก็ได้ใช้เวรใช้กรรมกันไปแล้ว ไม่ต้องผูกพันกันแล้ว การกระทำของคนที่ออกจากชีวิตไปแล้วมีคนใหม่นั้นแสดงให้เห็นแล้วว่าเขายังเสพไม่พอ และการที่เขากลับมานั่นก็หมายถึงแม้เขาจะได้เสพคนใหม่ เขาก็ยังสุขไม่พอ จึงต้องกลับมาหาเรา การที่เขากลับมานี่อาจจะเพราะเขาไม่มีอะไรให้เสพหรือสำนึกผิดก็ไม่มีใครรู้ แต่โดยมากแล้วก็จะแสดงบทสำนึกผิดกันเป็นหลักไว้ก่อน เพราะคนอยากเสพก็ต้องป้อนคำหวาน คำสัญญา เหมือนในสมัยจีบกันก่อนแต่งงาน

คนที่ปลดบ่วงกรรมไปแล้ว เอาคนไม่ดีออกจากชีวิตไปได้แล้ว แต่กลับเลือกคนที่เคยทำร้าย คนที่เคยทิ้งไปเข้ามาในชีวิตใหม่ ก็ต้องยอมรับกรรมกันไป เพราะว่ากิเลสของเรานั้นยังเยอะ เราอาจจะยังอยากเสพเขาอยู่ จึงรับเขากลับเข้ามาในชีวิต ให้เขาได้เข้ามาทำร้ายร่างกายและจิตใจเราอีกครั้ง ให้เข้าได้เข้ามาทำบาป สร้างเวรสร้างกรรมกับเราอีกครั้ง ให้เข้าได้เข้ามาผูกภพผูกชาติกับเราอีกครั้ง ดังนั้นการเสียใจและความผิดหวังก็คงต้องดำเนินต่อไป เพราะได้ผูกกรรมใหม่ขึ้นมาแล้ว

การที่อดีตคู่รักจะกลับมาในชีวิตนั้น ถ้าจิตไม่แข็งแกร่งก็ไม่ควรจะอยู่ใกล้ ควรมีระยะที่เหมาะสม ถ้ามีลูกก็ให้ดูแลไปตามหน้าที่ แต่อย่าให้เข้ามาใกล้จนความสัมพันธ์นั้นเกินเลยไปกว่าเพื่อน เพราะคนที่เคยเลิกกันไปแล้ว จะทำตัวให้เหมือนเดิมก็ไม่ควร เพราะถ้าเขาเป็นคนดีมีศีลธรรมจริง ก็คงจะไม่มีคำว่า “อดีตคู่รัก” คงยอมอดทน ยอมให้อภัย ยอมทำใจ แล้วรักษาความสัมพันธ์กันไปแม้ว่าใจนั้นจะไม่อยากเสพแล้วก็ตาม ด้วยสัญญา ด้วยหน้าที่ ด้วยสัจจะ จึงจะต้องยอมทนอยู่ ดังคำว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์” (นัยหนึ่งของศีลข้อ ๔) หมายถึงว่า แม้จะหลงมาแต่งงานแล้วพบว่านั่นคือนรกแท้ๆก็จะไม่หนีไปจากนรกนั้น ยอมรับสภาพ ยอมรักษาสัจจะ รักษาคำมั่นสัญญา ดีกว่าจะยอมหนีทุกข์ไปเสพสุขลวงใหม่ ซึ่งจะสร้างกรรมชั่วใหม่ที่จะต้องมาคอยรับผลเก่าสร้างเหตุใหม่ให้วนเวียนทุกข์กันอย่างไม่จบไม่สิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

17.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แมวตัวนั้น

August 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,562 views 1

แมวตัวนั้น

แมวตัวนั้น

ระหว่างที่ค้นหาภาพประกอบบทความ ก็ไปเจอกับภาพหนึ่งที่เคยถ่ายไว้เมื่อไม่กี่ปีก่อน เป็นภาพแมวเด็กตัวหนึ่งที่กำลังหลบหลังเสาและจ้องมองมาที่กล้อง

ผมเคยเลี้ยงแมวและผูกพันกับแมวมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ แต่หลังจากแมวตัวสุดท้ายได้ตายจากบ้านไปเมื่อปลายปี 2555 ก็ไม่ได้นำสัตว์ใดๆเข้ามาในชีวิตอีกเลยซึ่งในใจก็ไม่ได้คิดอยากจะเลี้ยงอีก แม้ว่ามันจะดูน่ารักแต่มันก็เป็นภาระให้เราต้องคอยเป็นห่วงอยู่เสมอ

หลังจากนั้นผมก็ได้พบเจอแมวตามสถานที่ต่างๆ ก็มักจะให้ความสนใจกับมัน ทักทายมันบ้าง ถ่ายรูปมันบ้าง หรือแม้แต่จับมันบ้าง ซึ่งตอนนั้นก็คิดว่าคงไม่ได้เป็นโทษเป็นภัยอะไรมากสำหรับความชอบแมวในระดับนี้

จนผมได้พบกับลูกแมวในภาพ มันอยู่ในวัด เล่นอยู่กับแม่และพี่น้องของมัน ด้วยความที่ผมชอบแมว ผมก็เลยเดินเข้าไปถ่ายรูป และคิดจะไปเล่นกับมัน แต่มันก็วิ่งหนี วิ่งไปสักพักก็หันมามอง เราก็เดินตามไป มันก็วิ่งหนีแล้วก็หันมามองอีก เราก็แอบนึกสนุก เลยตามมันไปสักพักใหญ่

สุดท้ายแล้วมันก็มาถึงทางตัน มันวิ่งขึ้นบันไดและพบกับลูกกรง ผมเริ่มรู้สึกว่ามันกำลังกลัว และกลัวมากขึ้นเรื่อยๆ มันโดนพรากจากพี่น้องและแม่ของมันมา เพราะผมไปเดินตามมัน เราอาจจะไม่ได้คิดอะไรเพราะคุ้นเคยกับแมว แต่แมวเด็กตัวนี้ไม่คุ้นเคยกับเรา ไม่เคยเจอเรา มันก็ต้องกลัวเป็นธรรมดา

มันเริ่มร้องส่งเสียงดัง ผมรู้ชัดเจนว่าควรจะหลีกออกไปได้แล้ว หากยังยืนอยู่มันก็คงไม่ได้ไปหาแม่ของมัน แต่ก็ยังแอบหยิบกล้องขึ้นมาเก็บภาพ ภาพของแมวเด็กที่หลบหลังเสา แล้วโผล่หน้ามามองว่าคนแปลกหน้าคนนี้ไปรึยัง นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่ผมเดินตามแมวเพราะหมายว่าจะจับมัน ด้วยความหลงและความเคยชิน

หลังจากนั้นผมก็ไม่ค่อยได้ยุ่งกับแมวสักเท่าไหร่ ถ้ามันเดินผ่านก็จะจับมันบ้าง ลูบมันบ้าง แต่ไม่ถึงกับเดินเข้าไปหามันเหมือนเมื่อก่อน ตัวไหนที่เดินเข้ามาใกล้จึงจะไปยุ่งกับมัน

ต่อมาไม่นานนัก ผมได้คลายความหลงในตัวแมวลงเป็นลำดับ ผมเลือกที่จะไม่ยุ่งกับมัน เลือกที่จะมองมันเฉยๆ มองให้มันเดินผ่านมาและเดินผ่านไป แต่ก็ยังมองมันอยู่ ยังเห็นว่ามันน่ารักอยู่ ยังคิดถึงขนนุ่มๆที่เคยจับอยู่ แม้แต่การดูรูปแมวที่เขาโพสลงในอินเตอร์เน็ตทั้งหลายผมก็ยังมองว่ามันน่ารักดีอยู่เหมือนเดิม

จนกระทั่งตอนนี้ผมรู้แน่ชัดแล้วว่าการที่เราไปหลงชอบใจในแมวนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ควรเลย ในแง่ที่ร้ายที่สุดก็คือเราจะไปยุ่งวุ่นวายกับชีวิตมัน ไปควบคุมมัน และเอามันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราด้วยความหวังดีที่ไร้เดียงสา ไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นเป็นการเบียดเบียนมัน เบียดเบียนทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ รวมถึงการเข้าไปยุ่งวุ่นวายในวิถีแห่งกรรมของมัน

ในแง่ร้ายที่ลึกยิ่งกว่าคือการไปหลงรักหลงชอบใจในสัตว์นั้นเอง คือจิตที่เราจะไปผูกกับสัตว์นั้น ไปหลงเสพหลงสุขจากมัน เอามันเป็นตัวตนของเรา ถ้าได้ดู ได้จับ ได้อุ้ม ฉันจะเป็นสุข ถ้าไม่ได้สิ่งเหล่านั้นฉันจะเป็นทุกข์ มันทุกข์ตรงที่อยากเสพ พออยากเสพจึงพยายามหาทางให้ได้เสพอย่างที่ต้องการ ทีนี้มันจะหยุดไม่ได้ มันจะต้องทำให้ได้เพื่อที่จะเข้าไปดู ไปจับ ไปอุ้ม ซึ่งความอยากนี้ก็ว่าเป็นทุกข์แล้ว ถ้าไม่ได้สมอยากก็ทุกข์อีก นี่แหละคือการสร้างทุกข์ให้ตัวเอง

ผมคงจะเร่งทำลายความหลงในแมวในเร็ววันนี้ เพื่อที่จะได้ไม่ไปเบียดเบียนมันด้วยท่าทาง ด้วยสัมผัส ด้วยวาจา ด้วยสายตา และไม่เบียดเบียนตนเองด้วยจิตใจที่ปนเปื้อนกิเลสนี้เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

16.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รักแท้คือการเสียสละ

August 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 15,272 views 2

รักแท้คือการเสียสละ

การเสียสละคือนิยามหนึ่งของคำว่า “รักแท้” ที่หลายคนมักจะหยิบยกมาใช้ แต่จะเสียสละอย่างไร เสียสละแบบไหนจึงจะเรียกได้ว่าเสียสละเพื่อรักแท้ ลองพิจารณาบทความนี้กันดู

หากเราเสียสละเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งการครอบครอง สิ่งนั้นไม่เรียกว่าเสียสละ แต่เรียกว่าการลงทุนโดยหวังผลกำไร มีคนมากมายที่เสียสละเพื่อที่จะสร้างภาพให้อีกฝ่ายหลงเข้าใจว่าจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ซึ่งความเสียสละเช่นนั้นก็มักจะหมดไปเมื่อไม่ต้องการครอบครองสิ่งนั้นอีก อาจจะเกิดจากความเบื่อ ความเคยชิน หรืออะไรก็ตามที่ทำให้ไม่มีสิ่งผลักดันให้เสียสละ

หากเรามองเพียงแค่ว่าการเสียสละนั้นเป็นสิ่งดี เราก็อาจจะถูกกิเลสหลอกก็ได้ จึงควรศึกษาและค้นให้ลึกว่าที่เราและเขาเสียสละนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะอยากได้อยากเสพอะไรจึงพยายามเสียสละเช่นนั้น

ความเสียสละแท้จริง คือการเสียสละความสุข เพื่อความไม่ทุกข์ใดๆทั้งปวง

เสียสละการครอบครอง ยินดีที่จะเมตตาโดยไม่ต้องไปมีสิทธิ์ใดในร่างกายและจิตใจของผู้อื่น

เสียสละการผูกมัด เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระไม่ต้องผูกพันกันด้วบภพชาติอีกต่อไป

ผู้ที่เสียสละตัวตนได้อย่างแท้จริง คือผู้ที่มีรักแท้ ยอมไม่หลงเสพหลงสุข เพราะรู้ดีว่าท้ายที่สุดแล้วนั้นคือทุกข์อย่างมหันต์ ยอมไม่ครอบครองเพราะรู้ดีว่าจะกลายเป็นทุกข์ของกันและกัน ยอมไม่ผูกมัดใดๆ เพราะรู้ว่าอิสระคือสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่า

เพราะรู้ดีว่าแม้จะเป็นความรักที่ดี มีว่าที่คู่ครองที่ดีแสนดีเพียงใด แต่การผูกมัดกันด้วยคำหวานและคำสัญญาเหล่านั้น คือสิ่งที่จะทำร้ายกันไปชั่วกาลนาน

ในเมื่อรักแท้คือการเสียสละ เราจะต้องอยากได้อะไรอีก เราเป็นเพียงผู้ให้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับอะไร สละให้ ยกให้ ทำให้ โดยไม่ต้องหวังอะไรตอบแทน ไม่หวังคำขอบคุณ ไม่หวังความเห็นใจ ไม่หวังแม้ความรักตอบ ไม่หวังสิ่งใดคืนกลับมาเลย นับประสาอะไรกับการครอบครอง ซึ่งก็คงจะเป็นสิ่งที่ห่างไกลสำหรับผู้ที่เสียสละอย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

27.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)