ข้อคิด

ความบริสุทธิ์ใจคือตัวแปรความสำเร็จของไลฟ์โค้ช

July 3, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,794 views 0

ไลฟ์โค้ช ถ้าว่ากันตามความเข้าใจทั่วไปก็คือคนให้คำปรึกษาเกี่ยวกับชีวิตนั่นแหละ ส่วนจะจำแนกแจกแจง กำหนดสัญญายังไงก็แล้วแต่ภาษา แต่การปฏิบัติก็คือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับชีวิต

แม้ว่าไลฟ์โค้ช จะเป็นคำใหม่ที่มีมาในสังคมไทยไม่นานนัก แต่ผู้ที่ทำงานในฟังชั่นของไลฟ์โค้ชนั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่คำว่าไลฟ์โค้ช อาจจะถูกมองเป็นวิชาชีพก็ได้ ก็แล้วแต่ใครจะนิยามศัพท์

ไลฟ์โค้ชหรือผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับชีวิต ก็จะเอาความรู้ความสามารถที่ตัวเองมีนี่แหละ มาใช้ในการแนะนำผู้อื่น ซึ่งจะเป็นได้จริง ทำได้จริง และทำได้ยาวนานแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ใจ

บางครั้งคำแนะนำก็เหมือนลูกกวาด อมไปก็หวาน สุดท้ายฟันผุ น้ำตาลเกิน หรือไม่บางคำก็พาเคลิ้ม พาเมา พาหลง ก็หลงยินดีตามคำลวง สุขได้ชั่วคราว สุดท้ายก็ต้องกลับมาทุกข์หนัก

ดังนั้นการจะแนะนำใคร ผู้ที่แนะนำนั้นจะต้องทำได้จริงเสียก่อน พ้นทุกข์เรื่องนั้น ๆ ให้จริง มั่นคง ยั่งยืน ยาวนานเสียก่อน เพื่อเป็นหลักชัยที่ปักมั่นเป็นตัวอย่างที่ไม่ผิดและให้คำแนะนำที่ไม่ผิด

ต่อมาคือการช่วยเหลืออย่างจริงใจ มีเมตตา และปล่อยวางได้ ว่ากันตรง ๆ ว่าการช่วยเหลือคนอย่างจริงใจที่สุดคือพ้นจากมิจฉาอาชีวะ คือไม่เป็นมิจฉาชีพ

ในมิจฉาอาชีวะ ๕ ในข้อสุดท้ายคือการยังพัวพันกับการมีลาภแลกลาภ ในลาภแลกลาภนั้นก็ยังมิติที่หยาบไปจนถึงละเอียด ในแบบหยาบก็เช่นเล่นการพนันแลกลาภ กลางก็เช่นยังทำงานหาเงิน และละเอียดเช่น การทำดีแลกดี

จริง ๆ การพ้นจากมิจฉาอาชีวะ ในฆราวาสนั้นทำได้ยาก แต่สามารถพ้นได้ง่ายหากเป็นนักบวช ดังนั้นไลฟ์โค้ช ที่ประสบความสำเร็จสูงจึงอยู่ในรูปของนักบวช เพราะพ้นจากการรับลาภก็จะมีพลังในการช่วยคนได้มากขึ้น

แต่ก็มีฆราวาสที่เป็นผู้แสดงธรรมอยู่เหมือนกัน ในสมัยพุทธกาลก็มี “จิตตคหบดี” เป็นเอตทัคคะด้านธรรมกถึก ฝ่ายฆราวาส แต่แม้จะเป็นฆราวาสก็พ้นจากการมีลาภแลกลาภได้โดยใช้สังคมสาธารณะโภคี

เกริ่นมาตั้งนาน อาจจะมีคนสงสัยว่ารับปรึกษาชีวิตแล้วมันยังไง? ก็คนเขาต้องหาเงิน ต้องกินต้องใช้ มันแปลกอะไร?

การช่วยคนอื่นแล้วได้ลาภมาแลก ไม่ว่าจะเงิน การสนับสนุนต่าง ๆ ชื่อเสียง คำขอบคุณ ฯลฯ จะทำให้การประมวลผลในการช่วยเหลือ บิดเบี้ยว ไม่ตรง อคติ ลำเอียง อันเนื่องด้วยเหตุแห่งลาภสักการะเหล่านั้น

แม้จะหวังลาภนิดเดียวมันก็จะเบี้ยวได้ ข้อคิดหรือธรรมที่แสดงจะไม่ผ่องแผ้ว ไม่บริสุทธิ์ เจือด้วยกิเลส ปนด้วยความอยาก แทรกด้วยความยึด มันก็จะเป็นการให้คำปรึกษาเชิงหวังผล หวังลาภ ถึงแม้ว่าทฤษฎีจะถูกต้อง พูดได้ตรงตามหลักฐานอ้างอิง แต่พลังมันจะไม่เต็ม เพราะใจไม่บริสุทธิ์ ยังหวังได้ลาภจากคนอื่นอยู่

ผมเองไม่ได้ต่อต้านการมีอยู่ของไลฟ์โค้ช แต่อยากจะส่งเสริมให้ทำอย่างบริสุทธิ์ใจ ให้พ้นจากลาภแลกลาภ ช่วยคนไม่ต้องหวังอะไร ไม่ต้องขอบริจาคตามศรัทธา ไม่ต้องเอาอะไรทั้งนั้น แม้ทางตรง และทางอ้อม

จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้คำปรึกษาคนเท่าที่จะเป็นไปได้จริงตามปัญญาบารมีของแต่ละท่าน

แต่ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ ก็อย่าพยายามฝืนกับภารกิจนี้เลย เพราะทำไปกิเลสก็โตไป ทำแลกลาภ แลกชื่อเสียง แลกบริวารต่อไป มันจะยิ่งเสื่อมไปเรื่อย ยิ่งพากันหลงไปเรื่อย จะวนเวียนทั้งคนให้คำปรึกษาและรับคำปรึกษา กอดคอกันเศร้าหมอง เป็นทุกข์ในที่สุด

ไลฟ์โค้ช

July 2, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,143 views 0
ไลฟ์โค้ช
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีกระแสสังคมเกี่ยวกับคำว่า ไลฟ์โค้ช ก็เลยไปลองหาข้อมูลเพิ่มเติม
ก็ดูเหมือนว่าไลฟ์โค้ช จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ “ครูบาอาจารย์” คือการตั้งตนเป็นที่พึ่ง แต่ลักษณะเด่นของไลฟ์โค้ช คือมีการเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินค่อนข้างมาก และดูเหมือนจะเป็นความพยายามที่จะผลักดันให้ดูเด่นดูดังขึ้นมา
ถ้าจะเอาลักษณะงานของไลฟ์โค้ช มาจับ ก็จะเหมือนกับผู้นำจิตวิญญาณหรือผู้นำศาสนา ผู้สอนศาสนาทั่ว ๆ ไปนั่นแหละ แต่ก็เป็นคำที่ปรุงขึ้นมาใหม่ให้เหมาะกับฐานะ เพราะไลฟ์โค้ชส่วนใหญ่ก็เป็นคนทั่วไป ไม่ใช่นักบวช
จริง ๆ คนที่ตั้งตนเป็นไลฟ์โค้ช ก็มีมาทุกยุคทุกสมัยนั่นแหละ เพียงแต่ว่า คนคนนั้นจะ “จริง” ได้สักเท่าไหร่ คือเป็นจริง ได้จริง ตามที่พูดไหม และพาปฏิบัติตามได้จริงเช่นนั้นไหม
เหมือนกับที่เขาว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี แต่ปัญหาก็คือ ศาสนาใดล่ะ ที่จะเข้าถึงความดีได้จริง ๆ และความดีจริง ๆ นั้นคืออะไร แต่ละศาสนาก็จะมีนิยามแตกต่างกัน
แต่ในท้ายที่สุด มันก็จะมาตันตรงที่ว่า แล้วสิ่งนั้นพาให้พ้นทุกข์ไหม ซึ่งจะมีศาสนาเดียวที่สอนเรื่องนี้คือศาสนาพุทธ
แม้ในศาสนาพุทธก็จะมีคำสอนที่แตกต่างกัน ความเชื่อที่แตกต่างกัน การปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งก็ต้องพิสูจน์กันไปว่าลัทธิหรือคำสอนใด พาพ้นทุกข์ได้จริง ๆ
การเชื่อเอา ถือเอาว่าท่านนั้นท่านนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ตัวยืนยันว่าท่านเหล่านั้นปฏิบัติถูกต้องจริง ว่ากันชัด ๆ ว่าต่อให้คนเขาว่ากันว่าท่านเป็นอรหันต์ก็ใช่ว่าจะจริงตามที่คนเขาว่า
เพราะความจริงเหล่านั้นจะพิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติตาม จนเข้าถึงสภาพตามที่กล่าวอ้างได้จริง มีขั้นตอน มีลำดับ มีความจริงที่ตรงกัน ไม่ใช่ว่าครูบาอาจารย์จริงอยู่คนเดียว ลูกศิษย์นั่งงง หรือไม่ก็กลายเป็นจริงคนละจริง ฟุ้งซ่านความจริงไปคนละเรื่อง
สิ่งสำคัญคือ คนที่ตั้งตนเป็นไลฟ์โค้ช หรือครูบาอาจารย์นั้น จะสอนเรื่องใดก็ต้องทำเรื่องนั้นให้ได้ก่อน เช่นจะสอนเกี่ยวกับชีวิต ก็ต้องเอาชีวิตตัวเองให้มันพ้นทุกข์ก่อน ไม่ใช่สอนไปตามบทเรียน จำเขามาเป็นทอด ๆ แบบนี้สุดท้ายจะกลายเป็นภัยแก่ตนและผู้อื่น เพราะทำให้คนเข้าใจผิดว่าตนเองได้จริง แล้วพอเขาเรียนไปก็เข้าใจผิด ๆ ตาม เพราะถ้าปฏิบัติไม่ได้จริง เวลาสอนมันจะเบี้ยวบาลี สุดท้ายคนที่ซวยที่สุด ก็คือคนสอนนั่นแหละ เพราะสอนสิ่งที่ตัวเองไม่มีมันผิดศีล แถมสอนผิดก็เป็นบาปยกกำลังจำนวนคนที่สอนไปเลย
พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า คนจะบรรลุธรรมได้นั้น ต้องเจอสัตบุรุษ แล้วเข้าไปศึกษาตาม ดังนั้นการที่ใครสักคนจะหาที่พึ่ง ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร เป็นธรรมดาของคนดีที่เราต้องไปค้นหาคนที่จะพาให้เราเจริญขึ้น แต่สุดท้ายจะเจอครูจริงครูปลอมก็อยู่ที่วิบากกรรมและความพากเพียรทำดีลดกิเลส
ถ้าทำดีมาก พยายามถือศีลลดชั่วได้มาก ก็จะได้เห็นความจริงไว ได้เห็นความจริงที่ว่าสิ่งนั้นมันไม่จริง ไม่พ้นทุกข์ และถ้าไปถูกทางก็จะได้เห็นความจริงที่ถูกต้องว่า ปฏิบัติตามแล้วได้ผลจริง พ้นทุกข์จริง
ส่วนคนที่ไม่ถือใครเป็นครูบาอาจารย์ ให้ละไว้ในฐานที่เข้าใจ ว่ายังไม่เข้ารอบ ยังไม่เริ่ม ยังถืออัตตาตนเองเป็นใหญ่อยู่ เก่งจนไม่ศรัทธาใคร เขาก็จะโง่เท่าเดิม ฉลาดเท่าเดิมของเขาอยู่แบบนั้น (แต่จริง ๆ มันจะโง่ไปเรื่อย ๆ เพราะกิเลสมันจะเพิ่ม) ก็ให้เขาวนเวียนอยู่กับความเก่งของตนจนกว่าจะแสวงหาทางใหม่ที่มันพ้นทุกข์

ไลฟ์โค้ช กับการแสวงหาโลกธรรม

July 2, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,157 views 0

ในยุคนี้เราอาจจะได้ยินคำว่า Influencer หรือ ผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล ซึ่ง Influencer โดยส่วนมากอาจจะไม่ใช่ไลฟ์โค้ช แต่ในความเป็นไลฟ์โค้ช ก็มีองค์ประกอบของ Influencer อยู่ในตัว

สรุปในภาษาง่ายว่า Influencer มีความสามารถในการจูงจมูกคน เช่น โพสรูปของกิน ก็ทำให้คนอยากกินตามได้มาก ให้ความเห็นอะไรก็ทำให้คนคล้อยตามได้มาก แม้จะไม่ได้เรียกตัวเองว่าไลฟ์โค้ช แต่โดยฟังชั่นการทำงานก็มีการเหนี่ยวนำคนไปในจุดใดจุดหนึ่ง แต่จะต่างกันตรงไม่ตั้งตนให้เป็นที่พึ่ง
กรณีของไลฟ์โค้ช โดยส่วนมากนั้นจะชัดเจนว่า ฉันเป็นพี่เลี้ยง ฉันเป็นที่พึ่ง ฉันเป็นผู้ช่วยเธอได้ ซึ่งมีทั้งการให้ข้อมูลโน้มน้าวและความเป็นผู้มีอิทธิพลต่อผู้ศรัทธามากเช่นกัน

ว่ากันตรง ๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยกิเลส ใครก็อยากเด่นอยากดัง อยากได้เงินมาก ๆ อยากได้การยอมรับ อยากมีตัวตนในสังคม ดังนั้นไลฟ์โค้ช ที่ไม่ได้ลดกิเลส ไม่มีธรรม จึงหลงไปกับกระแสโลกธรรม แสวงหา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และบริวาร
ตามที่ผมได้ศึกษามา ส่วนใหญ่เขาก็จะพยายามสร้างเนื้อหาที่จะจับใจคนดู จับหูคนฟัง แต่ด้วยความรู้หรือวาทะศิลป์ที่มี มันจึงมีข้อจำกัด ดังนั้นการนำความรู้อื่น ความเข้าใจของคนอื่นมาหลอมรวมกับตัวเอง แล้วสื่อสาร จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและได้ผลดี เหมือนกับไป copy ของดี แล้วมา paste ใส่ตัวเองแล้วนำเสนอยังไงอย่างนั้น เรียกง่าย ๆ ว่า ลอกงานมาขาย

หลายปีก่อน อาจจะมีใครเห็นว่ามีคนคนหนึ่งที่เด่นดังมาจากการนำสารพัดคำคมมาเผยแพร่เป็นของตัวเอง ซึ่งเขาก็เด่นได้อยู่ช่วงหนึ่ง สุดท้ายก็ดับไป เพราะเป็นแค่กระแส ไม่ใช่ความจริง

ยุคนี้ก็มีเหมือนกันที่ไลฟ์โค้ช หลายคนนำธรรมะเข้ามาประยุกต์ นำมาใช้นำเสนอข้อมูลของตน ซึ่งดูเผิน ๆ มันก็ดี ดูน่าศรัทธา เขาก็เอามาใช้เพราะรู้ว่ากลุ่มลูกค้าในไทยส่วนใหญ่เขาศรัทธาศาสนาพุทธ เขาก็เอาหลักการพุทธเนี่ยมานำเสนอ ปรุงแต่งให้ขลุกขลิก ใส่ภาพลักษณ์ตนเองเข้าไป
จริง ๆ ธรรมะมันก็ดีนั่นแหละ แต่ปัญหาคือเจตนาที่จะธรรมนั้นมาใช้ เอามาใช้เพื่ออะไร เอามาใช้เพื่อหากิน แลกเงิน แลกชื่อเสียงหรือไม่ เรื่องนี้ดู ๆ ไปสักพักก็จะชัดขึ้นเรื่อย ๆ บางคนไม่ได้หาเงินจากการรับคำปรึกษา แต่เอาโลกธรรมหรือความเด่นดังไปส่งเสริมสินค้าแบบอื่น หรือแม้กระทั่งเอาธรรมะมาสอนเพื่อเสพความยิ่งใหญ่ของตน อยากให้คนเคารพดั่งเทพเทวดา อยากเป็นคนสำคัญ ทั้งหมดนี้ก็ล้วนไปนรกทั้งสิ้น

พระพุทธเจ้าตรัสถึงหลักตัดสินธรรมวินัย โดยภาพรวมคือเป็นไปเพื่อการคลายจากกิเลส ลดกิเลส ดับกิเลส การจากพราก มักน้อย กล้าจน ใจพอเพียง ยอดขยัน เลี้ยงง่าย ฯลฯ

คือ ใครจะธรรมะมาพูดก็ได้ อันนี้เราห้ามไม่ได้ แต่เราก็ดูได้ว่าที่เขาพูดเขาเสนอ ตัวเขาเป็นไปตามหลักเหล่านี้หรือไม่ เขาน้อมใจคนให้เป็นไปตามหลักเหล่านี้หรือไม่ ไม่ใช่พูดธรรม ยกข้อธรรมมาแสดง แล้วก็ทำตรงกันข้าม พูดธรรมะซะโก้หรู แต่เอามาหาเงิน หาบริวาร อันนี้มันก็ไม่ใช่
ไลฟ์โค้ชบางคนนี่ยิ่งทำไปยิ่งดังก็ยิ่งรวยเอา ๆ มันก็ห่างจากหลักพุทธไปเรื่อย ๆ แม้เขาจะเอาหลักพุทธไปพูดปน แต่ตัวตนเขาไม่ใช่ เขาก็แค่เอาธรรมะไปหากินเท่านั้นเอง

จริง ๆ มันก็เป็นตัวที่บอกอยู่แล้วว่าเขาไม่จริง เขาเป็นไลฟ์โค้ชที่แนะนำไปสู่ความจริงที่พ้นทุกข์ไม่ได้ เพราะแค่ตัวเขายังเอาตัวไม่รอดเลย หลงเข้าสู่กระแสโลกธรรมแล้วก็หมุนวนลอยไปกับแรงของกระแสคลื่นกิเลสเหล่านั้น

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลาภสักการะที่พระเทวทัตมี จะเป็นตัวฆ่าพระเทวทัตเอง ไลฟ์โค้ชที่เห็นผิดก็เช่นกัน ยิ่งเด่น ยิ่งดัง ก็จะเป็นเหตุในการทำลายตัวเองได้เท่านั้น แล้วเราก็จะได้เห็นความจริงที่บิดเบี้ยวชัดเจนยื่งขึ้น

การเพิ่มศรัทธา

June 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 717 views 0

วันก่อนได้คุยกับกลุ่มเพื่อนนักปฏิบัติธรรม มีประเด็นของความศรัทธาที่มีต่อกัน ว่าจะเพิ่มได้อย่างไร ต้องทำงานร่วมกัน?

ผมก็ให้ความเห็นว่า การจะเพิ่มศรัทธาได้แท้จริง มั่นคง ยืนยาวนั้น ต้องล้างกิเลสอย่างเดียว ถ้าล้างกิเลสได้จะมีอินทรีย์พละเพิ่มขึ้น ศรัทธาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบนั้น

การทำงานจะทำให้เพิ่มศรัทธาแก่กันได้ไหม?

เพิ่มได้ แล้วก็ลดได้เหมือนกัน คนมาใกล้กันจะเป็นได้ทั้งสองทิศทางคือเพิ่มศรัทธาต่อกันและเสื่อมศรัทธาต่อกัน ก็อยู่ที่ธาตุของคนนั้นจะเป็นธาตุของบัณฑิตหรือธาตุของคนพาล

ถ้าเป็นธาตุบัณฑิตก็จะศรัทธาคนได้ง่าย ส่วนถ้าเป็นธาตุคนพาลทำงานกับใครก็เสื่อมศรัทธาเขาไปหมด เพ่งโทษ นินทา ถือสา ฯลฯ

แต่การทำงานจะสร้างกุศล คือความดี คือกรรมดี ที่จะเป็นพลังส่งผลไปสู่สิ่งที่ดี ดั้งนั้น การทำงานร่วมกันก็เป็นองค์ประกอบที่จะสร้างศรัทธาให้กับผู้ที่มีจิตที่ดี

ส่วนคนพาล ให้ห่างไว้ ไม่ต้องไปทำงานด้วย ยิ่งทำด้วยยิ่งเสื่อม ยิ่งเชื่อมยิ่งต่ำ เหมือนทำนาบาป หว่านข้าวไปเท่าไหร่มีแต่หญ้าขึ้น ไม่ได้ผล เสียเวลา เสียทุน เสียแรงงาน ได้ทุกข์ โทษ ภัย เป็นผล มีความเสื่อมเป็นกำไร

ดังนั้นการจะเพิ่มศรัทธาหรือทำความเจริญ ก็ต้องขยันร่วมทำงานทำกุศลร่วมกับบัณฑิต คือผู้ที่พยายามปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์และได้ผลโดยลำดับ จะไม่เสื่อมศรัทธา เพราะเป็นนาบุญ หว่านน้อยได้น้อย หว่านมากได้มาก ตามความเพียร มีผลเป็นทิพย์ เป็นความผาสุก เบิกบาน แจ่มใส