ความเห็นความเข้าใจ
กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู
ความเห็นผิดที่พาตนไปในทางฉิบหายเมื่อเห็น… กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู
ในกึ่งพุทธกาลดังเช่นทุกวันนี้ กระแสของความหลงผิดนั้นรุนแรงและมีปริมาณมาก เป็นยุคที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะของการเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นดอกบัวเป็นกงจักร
เห็นกิเลสเป็นมิตร
ยุคที่เรายินดีกับการเป็นทาสของกิเลส ยินดีเต็มใจให้มันบงการชีวิต มันบอกให้ไปเสพอะไรก็ไปเสพ มันบอกหาอะไรก็หา มันบอกให้รักอะไรก็รักตามใจมัน แล้วหลงในความสุขที่มันมอบให้ว่านั่นคือของดี แต่ที่ร้ายที่สุดคือเห็นว่ากิเลสนั้นคือตัวเรา สุดท้ายก็เลยแยกตัวเรากับกิเลสไม่ออก เรากับกิเลสเลยกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นตัวตนของกันและกัน ขาดกิเลสเราตาย
สุดท้ายเราก็มีกิเลสเป็นมิตรแท้ กินด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน พากันไปเสพสุขลวงได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร หรือไม่ต้องไปสนใจว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นเหตุให้เกิดกรรมชั่ว ต้องหลงวนทนทุกข์อยู่ในโลกนี้อีกนานเท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญของผู้ที่เห็นกิเลสเป็นมิตร เพียงแค่มีฉัน(ทาส)และมีเธอ(กิเลส) บำเรอสุขกันไปชั่วนิรันดร
หนักเข้าก็กลายเป็นผู้ที่มีกิเลส แต่ไม่รู้ว่ามีกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนที่เห็นเช่นนี้ “เป็นผู้ไม่เจริญ” หรือเรียกว่า ยังเลวอยู่ และถึงแม้จะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นกิเลส แต่ไม่รู้จักพิษภัยของกิเลส ยังยินดีเลี้ยงกิเลส ก็เรียกได้ว่าไม่รู้จักกิเลส
ศัตรูของกิเลส คือศัตรูของผู้เห็นผิด
การเห็นกิเลสเป็นมิตรก็ไม่ได้สร้างความเสียหายเพียงแค่เสพสุขลวงและทำทุกข์ทับถมตนเองไปวันๆเท่านั้น เมื่อยังมีความเห็นว่าศัตรูของมิตรนั้นก็คือศัตรู และสิ่งใดที่เป็นศัตรูของกิเลส นั่นหมายถึงสิ่งนั้นก็เป็นศัตรูของตนด้วยเช่นกัน
ผู้ที่มีความเห็นผิดจะมีอาการหวงกิเลสของตน ไม่ยอมให้ใครมาแตะกิเลสในตน ไม่ยอมให้คนอื่นมาว่าการที่ตนหลงเสพหลงสุขเพราะกิเลสเป็นสิ่งผิด หนักเข้าก็นิยามสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าความรักบ้าง สไตล์บ้าง วิถีชีวิตบ้าง เป็นความชอบส่วนบุคคลบ้าง คนเราไม่เหมือนกันบ้าง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปก้าวก่ายกับเรื่องกิเลสของตนเอง
เรียกได้ว่ายิ่งกว่างูหวงไข่ ถ้าใครไปวิจารณ์หรือแนะนำ คนที่เห็นกิเลสเป็นมิตรว่า “กิเลสนั่นแหละคือศัตรู” พวกเขาก็จะมีอาการต่อต้านขึ้นมา เบาหน่อยก็ทางใจ หนักขึ้นมาก็ทางวาจา หนักสุดก็ทางกายกรรมกันเลย คือใครมาว่าสิ่งที่ฉันชอบเป็นกิเลส ฉันจะด่ามัน ฉันจะทำร้ายมัน มันจะต้องพินาศ
เห็นบัณฑิตเป็นศัตรู
ทีนี้ผู้เป็นบัณฑิตโดยธรรมนั้นคือผู้ที่ปฏิบัติตนเพื่อการลดล้างทำลายกิเลส และชักชวนผู้อื่นให้ทำลายกิเลสด้วยเช่นกัน ถ้อยคำของบัณฑิตนั้นจะมีแต่คำพูดที่ข่ม ด่า ประณามกิเลส เรียกได้ว่ากิเลสนั้นไม่มีค่าในสายตาของบัณฑิตทั้งหลาย ซ้ำร้ายยังเป็นมารของชีวิตที่ต้องเพียรกำจัดไปให้สิ้นเกลี้ยง
เมื่อคนที่เห็นกิเลสเป็นมิตร มาเจอถ้อยคำที่กล่าวถึงการหลงติดหลงยึด สะสมกิเลสนั้นเป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องชั่ว เป็นเรื่องที่ผู้เจริญแล้วไม่พึงปรารถนา และควรจะพยายามออกห่างจากกิเลสเหล่านั้น เมื่อได้ยินดังนั้นด้วยความที่ตนเองก็เสพสมใจกับการมีกิเลสในตน เห็นกิเลสเป็นมิตร จึงเห็นบัณฑิตเหล่านั้นเป็นศัตรู เป็นข้าศึกต่อการเสพสุขของตน
จนกระทั่งคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ กล่าวถ้อยคำที่ดึงผู้มีศีลมีธรรมให้ต่ำลง ประณามธรรมที่พาให้ลดกิเลสดูไร้ค่า(เมื่อเทียบกับการสนองกิเลส) หรือกระทั่งเกิดการไม่พอใจที่มาบอกว่ากิเลสของตนไม่ดีจนถึงขั้นทำร้ายกันก็สามารถทำได้
แม้ในขั้นที่ละเอียดที่สุดคือคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ คือคิดไปในทางตรงข้ามกับการลดกิเลส คือการสะสมกิเลส ก็เรียกได้ว่าพาตนให้ห่างไกลจากการพ้นทุกข์เข้าไปอีก นับประสาอะไรกับผู้ที่สร้างวจีกรรม และกายกรรม ในเมื่อเพียงแค่มโนกรรมก็พาให้ไปนรกได้แล้ว
ผู้ที่ยังไม่หลงผิดขนาดหน้ามืดตามัว จะพิจารณาจนเห็นว่าสิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ แม้ตนเองจะยังติดสุขลวงที่กิเลสมอบให้ แต่เมื่อได้ฟังว่ากิเลสนั้นแหละคือตัวสร้างทุกข์แท้ และสร้างสุขลวงมาหลอกไว้ ก็จะพึงสังวรระวังไม่ให้กิเลสของตนกำเริบ และยินดีในธรรมที่บัณฑิตได้กล่าวไว้
ส่วนผู้ที่หลงผิดจนมัวเมา ก็มีแต่หันหน้าไปทางนรกด้านเดียว เพราะเมื่อไม่เห็นด้วยกับทางที่พาให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืน ก็ต้องเดินไปในทิศทางที่ตรงข้าม ถ้าบัณฑิตไปสู่ทางพ้นทุกข์ ผู้ที่หลงผิดเหล่านั้นก็จะไปสู่ทางแห่งทุกข์ ยิ่งไปก็ยิ่งทุกข์ กลายเป็นผู้ที่ก้าวไปสู่นรกด้วยความยินดี เพียงเพราะเหตุจากความหลงผิด
เหตุนั้นเพราะคนที่หลงมัวเมาในกิเลสจะสร้างอัตตาขึ้นมา หลอมรวมตนเองเข้ากับกิเลส กลายเป็นความยึดชั่ว เห็นความชั่วเป็นความสุข เห็นสุขลวงเป็นสุขแท้ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว และเมื่อมีอัตตา ก็จะไม่ยอมให้ใครมาดูถูก มาบอกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิด เพราะเข้าใจไปเองว่า สิ่งที่ตนทำนั้นดีแล้ว, ไม่ได้เบียดเบียนใคร, ไม่ใช่เรื่องของใคร, ใครๆเขาก็ทำกัน, ความสุขของใครของมัน, มันคือชีวิตฉัน, เกิดมาครั้งเดียวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ฯลฯ
สุดท้ายแล้ว เมื่อเห็นกิเลสเป็นมิตร และหลงผิดขนาดว่าเห็นบัณฑิตเป็นศัตรู ก็จะมีทิศทางที่ไปทางชั่ว และจะยิ่งเพิ่มความชั่วและมัวเมาขึ้นเรื่อยๆด้วยความหลงผิดที่สะสมมากขึ้น และวิบากกรรมชั่วที่ได้ทำก็จะพาให้เกิดความฉิบหายในชีวิตได้อีกหลายประการ
– – – – – – – – – – – – – – –
1.5.2558
มิตรแท้คนโสด
มิตรแท้คนโสด
ผมพิมพ์บทความเกี่ยวการไปสู่ความเป็นโสดไว้มากมาย เพราะเล็งเห็นแล้วว่า ปัญหาในชีวิตคู่รักแต่ละอย่างนั้นไม่มีทางแก้ไขได้เด็ดขาดหากยังจะต้องเป็นคู่รัก จึงสร้างบทความที่จะตัดเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นไปเลย
บทความแต่ละบทนั้นมีถ้อยคำที่ข่ม ประณาม ด่ากิเลสอยู่ด้วยเสมอ ชี้แจ้งโทษของการมีคู่และประโยชน์ของความโสด ซึ่งจะไปสู่ผู้อ่านที่มีลักษณะดังนี้
1). คนมีกิเลสที่เห็นว่ากิเลสคือทางชั่ว: แม้ว่าจะยังไม่สามารถสู้กิเลสได้ แต่เมื่ออ่านบทความไปแล้วก็จะกระตุก จะรู้สึกผิด จะมีความเกรงกลัวขึ้นมา คนเหล่านี้หากเพียรพิจารณาธรรม ที่ว่าด้วยประโยชน์ของความโสดและโทษชั่วของการมีคู่จะสามารถทำให้จิตตั้งมั่นขึ้นได้ เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว (พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าการพิจารณาโทษของกิเลสจะทำให้เกิดสมาธิ : วิตักกสัณฐานสูตร) การพิจารณาธรรมเพื่อชำระกิเลสจึงเป็นไปโดยง่าย
2). คนมีกิเลสที่สงสัยในกิเลส : คนเช่นนี้จะยังลังเลอยู่ว่า จะโสดดี หรือไม่โสดดี อย่างไหนเป็นสุขกว่ากัน ก็ให้เพียรศึกษาไปเรื่อยๆ พิจารณาประโยชน์ในการโสด และโทษของการมีคู่ให้มาก แต่ถ้าไปพิจารณาโทษของความโสดและประโยชน์ของการมีคู่มันก็มีทิศทางไปทางเสพกิเลส ไปนรกนั่นเอง
3). คนมีกิเลสแต่ไม่เห็นกิเลส : คนที่ประมาทต่อภัยของกิเลสนั้น พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเหมือนบุคคลที่ตายแล้ว แม้จะมีธรรมที่พาให้ปลดเปลื้องกิเลสออกแสดงอยู่ทุกวี่ทุกวัน ก็เหมือนกับตักน้ำรดหัวตอ เหมือนกับเอาไฟไปเอาศพ เหมือนเอาดาบไปแทงศพ ร่างที่ตายไปแล้วนั้นก็ไม่รู้สึกอะไรเลย
4). คนมีกิเลสแต่ไม่เห็นกิเลสและมีอัตตาจัด: คนที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว นอกจากจะไม่เห็นภัยของกิเลสแล้วยังเห็นกิเลสเป็นมิตร “เอากิเลสมาเป็นอัตตาของตน” พอกิเลสโดนด่าก็เหมือนตนถูกด่า เพราะในใจลึกๆมันเสพติดการมีคู่ จนกระทั่งไม่ยอมให้ใครมาทำลายทิฏฐินั้น แม้ใครเห็นแย้งไม่ว่าจะเป็นเทพหรือมารมาจากไหน คนที่เมาอัตตาก็จะสู้กับเขาไปหมด
ส่วนคนไม่มีกิเลสขอยกไว้ แต่ถึงแม้ท่านเหล่านั้นจะมาอ่าน ท่านก็ย่อมยินดีในธรรมที่พาให้ลดกิเลส คือลดความโลภ โกรธ หลง อยู่ดี
เมื่อเห็นประโยชน์ในการพิจารณาธรรมที่พาออกจากกิเลสดังนี้ ผมจึงขอแนะนำบทความเกี่ยวกับความรักที่เป็นทางที่จะพาไปสู่รักที่ไม่มีกิเลสใดๆมาปนให้หม่นหมอง
คลังบทความ ความรัก(ที่เพียรละกิเลส)
โสดจนสูญพันธุ์?
โสดจนสูญพันธุ์
ถาม: ถ้าคนพากันโสดทั้งหมด ไม่มีคู่ครอง โลกจะเป็นอย่างไร คนจะสูญพันธุ์หรือไม่?
ตอบ: ในโลกนี้มีศาสนามากมายอยู่หลายศาสนา และศาสนาที่จริงจังกับการครองตนเป็นโสดเพราะรู้แจ้งในโทษชั่วก็คงจะมีแต่ศาสนาพุทธนี่แหละ ดังนั้นอัตราส่วนของคนที่ครองคู่และสืบพันธุ์ก็ย่อมมากกว่าคนที่คิดจะโสดในระดับหนึ่งแล้ว
ทีนี้มองย่อยลงมาที่พุทธศาสนิกชน แม้ว่าในประเทศไทยแห่งนี้จะมีธรรมในพระพุทธศาสนาประกาศอยู่แล้วก็ตาม การจะพาตนเองไปถึงธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าคนจะถือศีล ๕ ได้นั้นก็ยากสุดยากแล้ว การจะหวังคนให้ถือศีล ๕ ทั้งประเทศก็คงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดหวัง และการครองตนเป็นโสดนั้นอยู่ในฐานของศีล ๘ ซึ่งกระทำได้ยากกว่าศีล ๕ มากมายนัก จึงทำให้อัตราส่วนของคนที่คิดจะโสดน้อยเข้าไปอีก
ทีนี้คนที่ถือศีล ๘ หรือมากกว่านั้น ก็มีทั้งถือแบบงมงายบ้าง ไม่รู้สาระบ้าง โอกาสที่กิเลสจะกำเริบจนทิ้งศีลไปหาคู่ก็มีมากมาย เรื่องดังเช่นว่าพระสึกไปมีคู่ ก็มีให้เห็นกันโดยทั่วไป ดังนั้นผู้ที่ตัดสินใจโสดจึงมีอัตราส่วนน้อยลงไปอีก
ด้วยอัตราส่วนที่มีนัยสำคัญแบบเห็นกันได้ทั่วไปจนไม่ต้องไปทำงานวิจัยหาข้อมูลให้วุ่นวายจึงสรุปได้ว่ามนุษย์ไม่มีทางสูญพันธุ์ด้วยเหตุแห่งการถือศีล ครองตนเป็นโสดอย่างแน่นอน ซึ่งโอกาสที่มนุษย์จะสูญพันธุ์จากสาเหตุอื่นเช่น โลกแตก ก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า
ตอบกันเชิงปริมาณไปแล้ว คราวนี้มาตอบเชิงคุณภาพกัน
เรื่องการครองตนเป็นโสดนี้ ขนาดพระพุทธเจ้าซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมหาบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก ก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนละทิ้งความอยาก แล้วหันมาครองความโสดได้เลย แม้แต่ภิกษุที่บวชในสมัยพุทธกาลก็ยังมีคนสึกกลับไปมีครอบครัว แล้วในยุคนี้จะมีใครมีความสามารถที่จะสอนให้คนเห็นคุณค่าของความโสดขนาดที่ว่ายอมโสดกันทุกคนได้
ธรรมชาติของสัตว์คือเกิดขึ้นมาแล้วสืบพันธุ์ นี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ทำกัน แต่มนุษย์ที่จะมีปัญญาพอที่จะเห็นทุกข์ โทษ ภัย จากการมีคู่ครองนั้นจะมีอยู่สักเท่าไหร่ ในเมื่อการไม่มีคู่ การไม่สืบพันธุ์ นั้นคือการฝืนธรรมชาติ การขัดธรรมชาติ การเป็นไปเพื่ออยู่เหนือธรรมชาติอย่างชัดเจน
ธรรมะของพระพุทธเจ้าตรัสไว้เพื่อทวนกระแสโลก ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ คนอื่นเขามีคู่กัน ครองเรือนกัน สมสู่กัน แต่สาวกของพระพุทธเจ้าพยายามที่จะลด ละ เลิก สิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งการฝืนธรรมชาติคือกิเลสตัณหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย หากไม่มีทิฏฐิที่ตั้งตรงสู่การพ้นทุกข์ และการพากเพียรที่เรียกได้ว่าถวายชีวิตให้ธรรม ก็คงจะไม่สามารถผ่านไปได้
คนทั่วไปนั้นจะเข้าใจว่ามนุษย์ต้องดำเนินไปตามธรรมชาติ เกิดมาสืบเผ่าพันธุ์ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่แนวความคิดของพุทธ เพราะพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเราเกิดมาด้วยการสมสู่แต่เราไม่จำเป็นต้องไปสมสู่ ให้ละจากสิ่งนั้นเสีย นี้คือความเห็นสู่การพ้นทุกข์ เป็นเครื่องมือออกจากโลก (โลกียะ) ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงปัญญาอันรู้แจ้งในกิเลสเช่นนี้
ดังนั้น มนุษย์จึงพากันมีคู่ครองด้วยตัณหาและอุปาทาน คือมีความอยากในการได้เสพสมใจตามความหลงผิดที่ตนได้ยึดมั่นถือมั่นไว้ และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ด้วยว่า การสมสู่คือการเสพที่ไม่มีวันอิ่ม ดังนั้นการที่มนุษย์จะหมดโลกนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะคนที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสย่อมไม่มีวันอิ่มจากกามเมถุน เขาเหล่านั้นจะเสพไปเรื่อยๆ จะส่งเสริมให้ผู้อื่นเสพไปเรื่อยๆ และเขาเหล่านั้นก็สร้างลูกหลานของเผ่าพันธุ์ไปเรื่อยๆเอง
ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกังวลกับอนาคตของมนุษย์ เพราะความจริงแล้วหากกิเลสยังไม่ดับไป สุดท้ายเราก็ต้องเกิดขึ้นมาเสพอยู่ดี ไม่ว่าโลกไหน จักรวาลใด จิตที่เปี่ยมล้นไปด้วยกิเลสจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเพื่อเสพอยู่เสมอและเป็นเช่นนี้ไปไม่มีวันจบสิ้น
– – – – – – – – – – – – – – –
2.5.2558
เส้นบางๆของที่ขีดกั้นความหลงผิด
วันนี้ไปร้านหนังสือ เห็นหนังสือศาสนาพุทธกับหนังสือประเภทดูดวง อภินิหาร อำนาจวิเศษ ของขลัง ฯลฯ วางอยู่ติดกัน และนึกได้ว่าพวกมันมักจะถูกวางไว้ติดกันเสมอ เรียกว่ากลืนไปด้วยกันเลยก็ว่าได้
ในความจริงแล้ว พุทธไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้เลย เรียกว่ารังเกียจเสียด้วยซ้ำ แต่ความจริงในปัจจุบันกลับถูกปะปนจนเป็นเนื้อเดียวกันไปเสียได้
เส้นที่แบ่งคนที่ถูกตรงกับคนที่หลงผิดอยู่ตรงไหน?
ขีดของคนที่รู้แจ้งกับคนที่หลงมัวเมาตัดกันตรงไหน?
โลกุตระกับโลกียะแบ่งกันด้วยฐานะอย่างไร?
สาระแท้กับสิ่งไร้สาระแบ่งแยกด้วยอะไร?
มาถึงยุคนี้ก็… ตัวใครตัวมันแล้วกัน…
…ศึกษาเพื่อเอาตัวรอดกันไป