ความเห็นความเข้าใจ

สมถะติดสุข ฤๅษีติดภพ

April 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,944 views 1

สมถะติดสุข ฤๅษีติดภพ ความฉิบหายของผู้ยึดมั่นถือมั่นในการปฏิบัติธรรมเพียงแค่ในกรอบของสมถะ

ในบทความนี้จะชี้ไปถึงความเห็นผิดของผู้ที่ติดภพในการสมถะแบบตรงไปตรงมา เพราะการหลงทางเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ขวางกั้นไม่ให้พบกับความสุขแท้ เพราะหลงเพียงแค่สุขลวงของความสงบที่ได้จากสมาธิแบบมิจฉาทิฏฐิ

ผู้เขียนไม่ได้ต้องการข่มผู้ที่เน้นการปฏิบัติสมถะแต่อย่างใด เพราะหลายครั้งผู้เขียนก็จำเป็นต้องใช้พลังของสมถะเข้ามาร่วมในการปฏิบัติธรรมเช่นกัน เพียงแค่ต้องการให้ “ผู้ที่หลงในสมถะเพียงอย่างเดียว” นั้นได้พิจารณาถึงความยึดมั่นถือมั่นที่จะนำไปสู่ความเนิ่นช้า

จึงได้สรุปออกมาเป็นหัวข้อเพื่อเสนอให้พิจารณาทั้งหมด 8 หัวข้อดังนี้

1). สับสนอลหม่านสมถะวิปัสสนา

ในปัจจุบันนักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก มักสับสนกับบัญญัติ สมถะ วิปัสสนา และศัพท์อื่นๆอีกมากมายที่หลายต่อหลายคนได้นำมาตั้งชื่อให้เกิดความแตกต่าง ด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม แนวทางหลักของการปฏิบัตินั้นมีด้วยกันอยู่สองวิธีคือสมถะที่เป็นอุบายให้เกิดความสงบทางใจ และวิปัสสนาที่เป็นอุบายให้เกิดปัญญา

ทีนี้ก็มีหลายสำนักที่มีความเห็นผิด ตั้งชื่อสมถะของตนเองว่าวิปัสสนาบ้าง ไม่ใช่ว่าเพราะเขาตั้งใจล่อลวง แต่นั่นเพราะเขาไม่สามารถเข้าใจวิปัสสนาได้ จึงมีสำนักวิปัสสนาที่พากันทำแต่สมถะเต็มไปหมด เข้าวัดถือศีลก็พากันทำแต่สมถะ แม้ชื่อจะบอกว่าเป็นการปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายก็พากันไปปฏิบัติให้เกิดความสงบจิตสงบใจ ซึ่งเป็นลักษณะของสมถะทั้งสิ้น

2). โลกนี้มีแต่สมถะ

พอมีสายสมถะมากเข้าและหลอมรวมวิปัสสนาที่ผิดเพี้ยนเข้าไปกับสมถะ โลกนี้จึงมีแต่การปฏิบัติสมถะ แม้จะมีชื่อว่าสมถะและวิปัสสนา ก็จะมีแต่สมถะ กลายเป็นเหมือนก่อนพุทธกาลที่มีแต่สมถะ

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงจริงๆ ก็มักจะหลงในความสงบความสุขของสมถะได้ง่าย เพราะการฝึกสมถะนั้นจะทำให้จิตใจแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ สามารถทนต่อสิ่งกระทบได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความสงบจนกระทั่งติดความสงบนั้น

พอมันพบความสุขจากความสงบก็จะไม่เอาอะไรแล้ว กลายเป็นโลกนี้มีแต่สมถะ แม้จะมีกำลังสติมาก เจโตมาก แต่ก็ไม่ใช่แนวทางของพุทธเลย เหมือนโลกก่อนพุทธกาลยังไงอย่างนั้น

3). ตีทิ้งวิปัสสนา

ผู้ที่ติดสมถะมากๆและ “ไม่เข้าใจวิปัสสนา” จะตีทิ้งวิธีวิปัสสนาไว้ท้าย จัดไว้เป็นกระบวนสุดท้าย ไว้ทำทีหลัง ซึ่งจริงๆแล้วเขาอาจจะไม่ได้เข้าใจเลยสมถะกับวิปัสสนานั้นทำงานคนละแบบกันและสามารถทำงานร่วมกันได้โดยไม่ต้องไปสลับกันทำ

ผู้ที่เข้าใจทั้งสมถะและวิปัสสนาจะสามารถใช้ทั้งสองอย่างได้ในเวลาเดียวกันไม่เหมือนกับคนที่หลงแต่สมถะ ที่ว่าจะทำสมถะสักทีก็ต้องมีเวลา ต้องไปวัด ต้องหาความสงบ อันนี้ยังไม่เข้าใจสมถะดีเสียด้วยซ้ำ เพราะการทำสมถะจริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องไปสงบ แต่สมถะนั่นแหละคือตัวที่ทำให้จิตสงบ

ทีนี้พอเข้าใจวิปัสสนาไม่ได้ เข้าใจไม่รอบด้าน เข้าใจว่าการคิดพิจารณาเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แล้วไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมคือการหยุดคิด มันก็จะตีทิ้งวิปัสสนา กลายเป็นคนติดภพติดป่าไป ทั้งๆที่ในอริยมรรคมีองค์ 8 นั้นให้คิด พูด ทำ ไปในทำนองเดียวกัน ไม่ใช่ว่าหยุดคิดแล้วหนีโลกไปทำสมถะ แล้วกลับเข้าเมืองมาค่อยคิด ถ้าเข้าใจแบบนี้ยังไม่เข้าใจการปฏิบัติมรรค ยังปฏิบัติแบบฤๅษีชีไพรอยู่

4). สงบจนหลงว่าบรรลุธรรม

เมื่อทำสมถะเอามากๆ กำลังก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงสามารถกดกิเลสได้มากขึ้น ถึงขั้นกดโดยอัตโนมัติไม่รู้ตัวเลยก็ว่าได้ กดจนทุกอย่างหาย ดับความคิด ดับสัญญาไปเลย

ในสมัยพุทธกาลนั้นก็มีอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งไปได้ถึงอรูปฌานขั้นท้ายๆ แต่นั้นเป็นฌานฤๅษี ไม่ใช่ฌานแบบพุทธ ถึงจะได้มากแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้บรรลุธรรม ซึ่งเป็นโชคดีของคนในสมัยนั้นที่ได้พบกับพระพุทธเจ้า แต่น่าเสียดายที่อาจารย์ของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีโอกาสได้รู้ความจริง

มาถึงในสมัยนี้ความเข้าใจในการปฏิบัติกลับผิดเพี้ยนและเอนเอียงในไปทิศทางของฤๅษี หมายเอาความสงบจากสมถะเป็นการบรรลุธรรม ยกตัวอย่างเช่นการนั่งสมาธิ รายละเอียดไม่มีอะไรมากก็เพียงแค่นั่งกดให้นิวรณ์ดับไป จึงเกิดสภาพของฌานไปตามลำดับ ซึ่งก็เกิดได้เป็นลักษณะของฌานโลกีย์ทั่วไป

ด้วยความที่ไม่คบสัตบุรุษ (ผู้รู้สัจธรรมหรืออาจารย์ที่สัมมาทิฏฐิ) ไม่มีกัลยาณมิตร จึงไม่มีผู้ตรวจสอบสภาวะเหล่านั้น เมื่อเกิดสภาพของฌานจึงหลงว่าตนนั้นบรรลุธรรม เป็นผู้หลุดพ้นบ้าง เป็นพระอริยะบ้าง

ทั้งๆที่มรรคหรือวิธีปฏิบัตินั้นผิดทางตั้งแต่แรก ผลที่ได้มาย่อมผิด แล้วไปยึดเอาผลที่ผิดเป็นผลที่ถูก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของโลก (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะการปฏิบัติสมาธิของพุทธนั้นไม่ใช่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การทำสมถะ ไม่อยู่ในหมวดของสมถะเลย ถ้าจะเรียกว่าสมาธินั้นก็ใช่ แต่ไม่ใช่สัมมาสมาธิอันเป็นอริยะ ซึ่งคนละแบบกับสมาธิในมรรค 8

สัมมาสมาธินั้นเกิดจากการปฏิบัติสัมมาอริยมรรคทั้ง 7 องค์อย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นสภาพของสมาธิ ไม่ใช่การไปนั่งหลับตาสมาธิกดจิตจบสงบไปแบบนั้น ถ้าทำเช่นนั้นมันจะต่างกับฤๅษีอย่างไร?

5). ปัญญาที่เกิดจากสมถะ

ผู้เข้ามาศึกษาธรรมใหม่ๆก็มักจะได้ยินคำว่า “สติมาปัญญาเกิด” ซึ่งจริงๆแล้วคำนี้สามารถแยกอธิบายได้สองอย่าง แบบที่เข้าใจทั่วไปเลยก็คือ เจริญสติ ฝึกสมาธิ ฝึกสมถะไปมากๆแล้วปัญญาจะเกิดเอง กับอีกแบบคือปฏิบัติธรรมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเกิดสติปัฏฐานชำแหละกิเลสจนเกิดปัญญา

ปัญญาของสมถะจะเป็นในกรณีแรก และวิปัสสนาจะเป็นกรณีที่สอง โดยส่วนมากแล้วมักจะตกในกรณีของสมถะคือฝึกสติเข้าไปมากๆ เดี๋ยวปัญญามันจะมาเอง สรุปคือการปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรนอกจากฝึกสติ ทำสมาธิไปเรื่อยๆแล้วปัญญามันจะมาเอง …มันจะง่ายขนาดนั้นจริงหรือ?

ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาจนเกิดผลจะเห็นว่าปัญญาที่ได้จากการสมถะและวิปัสสนาเป็นคนละระดับกัน ปัญญาในสติมาปัญญาเกิดของสมถะนั้นจะเป็นปัญญาโลกียะทั่วไป เกิดจากกิเลสสงบเท่านั้น ซึ่งสายสมถะมักจะสอนว่าให้จิตว่างจากความคิด หรือให้หยุดคิดก่อนปัญญาจึงจะเกิด นี้คือมรรคของสมถะ ซึ่งต่างไปจากมรรคของพุทธ

เพราะปัญญาของพุทธนั้นเป็นปัญญารู้แจ้งกิเลส ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง ไม่ได้ผุดขึ้นมาเอง ไม่ได้เกิดแบบไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่ใช่เรื่องลึกลับ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่มีคำว่า “ฟลุ๊ก” เพราะปัญญานั้นต้องสร้างขึ้นมาเอง พิจารณาเอาเองจนเกิดปัญญา ใครทำให้ก็ไม่ได้ นั่งสงบแค่ไหนก็ไม่ได้ ไม่สร้างเหตุแล้วจะมาหวังผลจากไหน? มันต้องคิดเอา ทบทวนเอา พิจารณาเอา พิจารณาที่ไหน? ก็พิจารณาไปที่เกิดกิเลสนั่นแหละ

ต่างจากปัญญาสมถะที่ไม่ต้องทำอะไรมาก ดับจิต ดับความคิด ดับความขุ่นเคืองโดยใช้วิธีต่างๆของสมถะซึ่งแล้วแต่จะเรียก ก็สามารถได้ความสงบและปัญญาในระดับที่กิเลสสงบได้แล้ว แต่จะหมายความว่านั่นคือปัญญาที่เป็นผลของวิปัสสนานั้นจะขอยืนยันว่า “ไม่ใช่

6). สติสัมปชัญญะไม่เหมือนสติปัฏฐาน ๔

การฝึกสติทุกวันนี้ส่วนมากและมากที่สุดจะเป็นการฝึกความรู้ตัวทั่วพร้อมหรือการฝึกสติสัมปชัญญะ แม้สิ่งที่เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ ก็เป็นการฝึกสติธรรมดา ที่เอากาย เวทนา จิต ธรรม มาเป็นที่หมายบ้าง ทั้งๆที่กระบวนการเหล่านั้นก็เป็นเพียงการฝึกสติทั่วไปเท่านั้นเอง ถ้าพิจารณารายละเอียดก็จะดูเหมือนๆกันไปหมด ต่างกันที่จุดที่เพ่งสมาธิ จุดที่รวมจิตลงไป สุดท้ายก็กลายเป็นการฝึกสมถะทั้งหมดอยู่ดี

สติสัมปชัญญะกับสติปัฏฐาน ๔ นั้นทำงานไม่เหมือนกันเลย ผู้ที่ยังแยกไม่ออก ไม่กระจ่างในความต่างก็จะแยกเอาสติปัฏฐาน ๔ มาเป็นตัวฝึกสติสัมปชัญญะ   ซึ่งจริงๆแล้วสติปัฏฐาน ๔ เป็นกระบวนการชำแหละกิเลสที่ทำงานต่อเนื่องกันตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่แยกกันทำ เพราะมันแยกไม่ได้ องค์ธรรมทั้งหมดต้องทำงานร่วมกัน ที่แยกกันทำได้เพราะไม่เข้าใจแล้วก็นำมาฝึกปฏิบัติปนเปกันไประหว่างสติสัมปชัญญะและสติปัฏฐาน ๔

ในอวิชชาสูตรยังมีอ้างอิงไว้ว่าต้องทำสติสัมปชัญญะให้ถึงพร้อม จึงจะทำให้เจริญถึงการสำรวมอินทรีย์ให้ถึงพร้อม เมื่อสำรวมอินทรีย์ให้ถึงพร้อม จึงเกิดสุจริตทั้งกายวาจาใจ เจริญไปถึงสติปัฏฐาน ๔ ดังนั้นสติปัฏฐาน ๔ จึงไม่ได้ทำงานเป็นตัวกดหรือตัวรู้อย่างทั่วๆไป แต่ทำงานเครื่องชำแหละกิเลส เมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ จนถึงพร้อม จึงจะเจริญต่อถึงโพชฌงค์ จนกระทั่งถึงวิชชาและวิมุตติต่อไป

จึงจะเห็นได้ว่า ก่อนจะถึงสติปัฏฐานนั้น สติสัมปชัญญะต้องพร้อม สำรวมอินทรีย์แล้วทั้งหมด เกิดสุจริตสามแล้วด้วย แล้วยังเหลืองานอะไรให้สติปัฏฐานทำต่อ? ก็มีแต่ชำแหละให้เห็นตัวกิเลสจริงๆเท่านั้นแหละ ไม่ใช่งานของการกดข่มหรือทำให้เกิดสภาพรู้ตัวอะไรอีก เพราะการกดจิตให้สงบ มันทำไปตั้งแต่ขั้นตอนก่อนหน้านั้นแล้ว

7). การแยกปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา

การยึดสมถะนั้นเกิดจากความเห็นผิด เพราะเห็นเพียงว่าการมีสติเพียงอย่างเดียวก็สามารถบรรลุธรรมได้ หรือแค่สะสมสติให้เต็มรอบก็จะสามารถหลุดพ้นได้ ถ้าถามว่าหลุดได้ไหมมันก็หลุดได้แบบฤๅษีนั่นแหละ สมถะก็มีมรรคและผลแบบสมถะเหมือนกันและทำให้หลงบรรลุธรรมได้ง่ายเหมือนกัน

ความไม่เข้าใจไตรสิกขา หรือการปฏิบัติอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาว่าแท้จริงแล้ว สามสิ่งนี้เป็นเหมือนกับสิ่งเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน มันไปด้วยกัน ไม่แยกจากกัน ส่งเสริมกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปฏิบัติเพียงแค่เพิ่มกำลังจิตหรือกำลังสติแล้วมันจะได้ศีลและปัญญาไปด้วย

หากไม่เข้าใจว่าทั้งสามสิ่งนั้นทำงานร่วมกันอย่างไรจะเกิดสภาพของการปฏิบัติอย่างเดียวจนสุดโต่ง ในทิศทางของการเพิ่มกำลังจิตก็จะเป็นการเจริญสติ ทำสมาธิ แบบต่างๆ ซึ่งปลายทางก็คือฤๅษีนั่นเอง

การปฏิบัตินั้นต้องเริ่มจากศีล ไม่ใช่แค่การถือศีล แต่เป็นการศึกษาศีล ว่าจะทำอย่างไรเราจะสามารถถือศีลนั้นด้วยใจบริสุทธิ์ ศีลนั้นทำให้เห็นกิเลสอย่างไร แล้วเราจะทำอย่างไรกับกิเลส เมื่อเห็นกิเลสก็จะต้องใช้กำลังจิตในการข่มใจ และปัญญาในการพิจารณาทำลายกิเลส ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกิเลสตาย ก็เพิ่มศีลเข้าไปอีก อธิศีลให้ยากขึ้นอีก นี้คือไตรสิกขาที่ศีล สมาธิ และปัญญาที่ทำงานไปด้วยกันอย่างสอดคล้อง

เพราะเมื่อเพิ่มศีล มันก็ต้องยกระดับจิตและปัญญาเพื่อที่จะชำระกิเลสในศีลนั้นๆให้บริสุทธิ์ มันจึงเป็นการสร้างความเจริญทั้งกระบวนการไปพร้อมๆกัน ผู้ปฏิบัติจึงมีศีล สมาธิ ปัญญาที่แกร่งกล้าขึ้นเรื่อยๆ

8). ไม่แสวงหาอาจารย์

มาถึงต้นเหตุจริงๆที่ทำให้คนติดสมถะก็คือการไม่แสวงหาอาจารย์ มีความคิดเห็นจำนวนมาก เห็นว่าไม่ต้องแสวงหาอาจารย์ให้ยุ่งยาก บ้างก็ว่าอาจารย์อยู่ในตน ซึ่งถ้าความหมายนั้นคือการเพียรปฏิบัติในตน รู้ในตนนั่นก็ถูกของเขา

แต่ในความจริงแล้วการปฏิบัติธรรมในแบบของพุทธไม่มีอาจารย์ไม่ได้ ยกเว้นเขาเหล่านั้นจะมีบุญบารมีมากพอที่จะรู้ได้ด้วยตนเอง แต่ในหัวข้อนี้จะเอาค่ามาตรฐานกึ่งพุทธกาลที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนบุญน้อยมาเกิดเป็นตัวอ้างอิง

คนผู้ไม่แสวงหาอาจารย์แล้วคิดว่าตนเองนั้นปฏิบัติจนเข้าใจเองได้นั้นโดยมากแล้วมักจะเป็นคนเมาอัตตา คนแบบนี้จะขอผ่านไปก่อนไม่อธิบายในหัวข้อนี้ อีกส่วนคือผู้ที่แสวงหาอาจารย์แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าอาจารย์ตนเองนั้นแหละคือผู้บรรลุธรรม ในหัวข้อนี้จะมีขยายในประเด็นนี้

ก่อนจะเข้าประเด็น จะขอเสริมในเรื่องของการแสวงหาอาจารย์เสียก่อน ในอวิชชาสูตรได้แสดงให้เป็นว่าต้องได้พบสัตบุรุษ ( ผู้มีสัจธรรม เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแท้ๆ หรือพระอริยะ ) เสียก่อนจึงจะสามารถเจริญในธรรมได้ และสัมมาทิฏฐิข้อ ๑๐ ยังระบุว่าต้องรู้ว่า มีผู้รู้โลกุตระธรรมอยู่ในโลกนี้ แล้วต้องรู้ด้วยว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน และเข้าไปศึกษาให้รู้แจ้ง ทั้งนี้ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต เดาเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะอริยสาวก ดังนั้นหากไม่มีสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นผู้สาธยายธรรมนั้นให้ฟัง ก็อย่าหวังเลยว่าชาตินี้จะบรรลุธรรม

เพราะในเมื่อตนเองไม่รู้โลกุตระธรรม แล้วไม่ได้ฟังโลกุตระธรรม แล้วจะเอาผลแบบโลกุตระมาจากไหน ไม่มีเหตุมันก็ไม่มีผล ศึกษาและปฏิบัติแบบโลกียะมันก็ได้แบบโลกียะ บ้างก็หลงว่าบรรลุธรรมกันไปตามเรื่องตามราว ตามวิบากบาปของแต่ละคน

ดังนั้นจึงขอสรุปไว้ในเรื่องของการหาอาจารย์ว่า ถ้ายังไม่เจออาจารย์ที่มั่นใจว่าใช่จริงๆ ปฏิบัติไปก็เท่านั้น ปฏิบัติไปก็หลงทาง สู้หยุดชั่วทำดีไปเรื่อยๆจะดีกว่า

มาต่อในส่วนของผู้ที่แสวงหาอาจารย์แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าอาจารย์ของตนนั้นของจริง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าท่านเหล่านั้นเป็นของจริง แล้วอีกหลายท่านไม่จริงอย่างไร? เราจะรู้ได้อย่างไร? ในเมื่อโดยพื้นฐานแล้วเราจะมีมิจฉาทิฏฐิเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราจะเชื่อตนเองได้อย่างไร

มีแต่คนโง่เท่านั้นที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น คนที่มีปัญญาจะรู้ว่าตัวเองโง่ ดังนั้นจึงไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วใช้เวลาศึกษาพิจารณาธรรมะของหลายๆสาย ทดลองพากเพียรปฏิบัติจนเกิดผลเจริญขึ้นในตนเอง ทั้งยังมีจิตที่เปิดกว้างรับฟังความเห็นที่แตกต่างในการปฏิบัติจึงจะสามารถเรียนรู้จนเจริญไปถึงสัมมาทิฏฐิข้อ ๑๐ ได้ คือการที่รู้แล้วว่าอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีนั้นมีอยู่ รู้ด้วยว่าใคร เพราะมีปัญญาเกิดขึ้นในตน นั่นเพราะตนเองปฏิบัติตามก็สามารถพ้นทุกข์ได้จากธรรมของท่านเหล่านั้นนั่นเอง

แต่โดยมากจะไม่เป็นเช่นนั้น มักจะยึดอาจารย์จนกลายเป็นอัตตา แต่ที่ซวยที่สุดคือยึดอาจารย์ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดอาจารย์ที่เป็นฤๅษี ก็เลยพากันติดภพติดสุขกันทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์ พอติดสงบติดสุขแล้วมันก็ยึดมั่นถือมั่น พอยึดมั่นถือมั่นว่าของตัวเองถูกก็เริ่มว่าของคนอื่นผิด พอยึดมากๆก็จะเริ่มไปกล่าวหาว่าตนเองถูกผู้อื่นผิดไปเรื่อย กล่าวหาคนที่ผิดก็ได้วิบากบาปส่วนหนึ่ง แต่วันหนึ่งก็จะมีโอกาสไปกล่าวหาผู้ที่ถูกซึ่งวันนั้นเองเป็นวันที่นรกเปิดต้อนรับผู้ที่ยึดมั่นถือมั่น

เพราะการเพ่งโทษผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือสาวกของพระพุทธเจ้านั้นทำให้มีวิบากบาปอันแสนจะเจ็บปวดรวดร้าวน่าสยดสยองยิ่งกว่าความตายด้วยกัน ๑๑ ประการ ใครเมาอัตตามากก็จะมีสิทธิ์ที่จะไปเพ่งโทษผู้อื่นได้ นี้แหละคือความซวยของผู้ที่ไปยึดอาจารย์ที่ผิด อาจารย์ที่ปฏิบัติผิดย่อมไม่สามารถทำให้กิเลสลดได้จริง ไม่สามารถทำให้เกิดผลเจริญได้จริง ในทางตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้กิเลสโต กามหนาอัตตาจัดขึ้นเรื่อยๆ

จึงสรุปปัญหาทั้งหมด 8 ข้อรวมที่ประโยคนี้ว่า เลือกอาจารย์ผิด ก็ปฏิบัติผิดกันไปข้ามภพข้ามชาติ เพราะความยึดมั่นถือมั่นในทางผิดก็ล้างไม่เป็น ทางที่ถูกก็ไม่รู้ แถมยังมีโอกาสไปเพ่งโทษคนดี ปรามาสในธรรมของคนที่ถูกอีก ไม่รู้จะต้องวนเวียนปฏิบัติผิดไปอีกกี่ภพกี่ชาติ จึงจะสามารถกลับตัวมาปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ควรเสียที

เหมือนในยุคสมัยของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นดีในธรรมของพระพุทธเจ้า คนบนโลกมีมากมาย แต่คนที่ศรัทธานั้นมีเพียงหยิบมือเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

8.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

นักเดินทาง …สายกลาง

April 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,460 views 0

นักเดินทาง ...สายกลาง

นักเดินทาง …สายกลาง

ในชีวิตเรานั้นมีเส้นทางมากมายให้เลือกเดินทาง หลายคนไปดูภูเขา หลายคนไปชมทะเล หลายคนไปเยือนทุ่งกว้าง หลายคนไปหาประสบการณ์ในต่างแดน

แต่ก็มีบางคนที่เลือกเดินในเส้นทางที่ต่างออกไป เป็นเส้นทางที่ไกลแสนไกล ไกลเสียจนไม่รู้ว่าจุดหมายอยู่ที่ใด เพียงแต่ได้ยินเขาเล่าเขาล่ำลือมาว่า หากไปถึงเป้าหมายนั้นก็คือที่สุดแห่งชีวิตแล้ว ทางเส้นทางที่ว่านั้นก็คือหนทางธรรม

นักเดินทางธรรมนั้นก็มีรูปแบบคล้ายกับนักเดินทางทั่วไป มีประสบการณ์จากผู้อื่น มีรีวิวสถานที่ท่องเที่ยว มีกระทู้ปัญหาที่ได้พบให้เราได้อ่านและเรียนรู้ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่คำล่ำลือ ถ้าอยากเห็นความงดงามนั้นก็ต้องเริ่มออกเดินทางด้วยตัวเอง

การเดินทางนั้นไม่ยาก เพียงแค่ตั้งใจก็ไปได้แล้ว ไม่ต้องเตรียมวีซ่า ไม่ต้องมีเงิน ไม่ต้องจัดเสื้อผ้า เราก็สามารถจะเดินทางออกไปได้เลย เมื่อเรามาถึงท่ารถ เราก็จะเจอกับสายรถต่างๆ มากมายหลายร้อยเจ้าที่บอกว่าทางสายกลางคือเส้นนี้ ,ทางของเราลัดที่สุด, ทางของเราถูกตรงที่สุด ,ทางคนอื่นผิดของเราสิถูก ฯลฯ

เป็นความสับสนอลหม่านของนักเดินทางมือใหม่ที่จะเริ่มเดินบนถนนหนทางธรรม เขารู้นะว่าต้องเดินทางสายกลาง แต่ทางสายกลางน่ะ…มันทางไหน จะเดินทางเองมันก็ไปไม่เป็นอยู่แล้ว หลงทางแน่นอน แต่จะไปกับคนอื่นก็มีมากมายหลายทางเลือกเหลือเกิน แต่ละคนก็บอกว่าตนเป็นทางสายกลางทั้งนั้น แต่กลับมีค่าใช้จ่ายและเส้นทางที่จะไปต่างกัน

ว่าแล้วเขาก็ค้นข้อมูลที่เคยอ่านมา มีหลายคนที่มารีวิวว่าเดินทางกับคนนั้นสิ คนนี้สิ สายนี้สิของแท้ สายนี้สิพาไปสู่จุดหมายแน่นอน แม้จะอ่านรีวิวมามากเพียงใด แต่ก็ยังมีความลังเลสงสัยอยู่ดี สุดท้ายเลยทำได้แค่เดาๆแล้วเลือกตามที่คนอื่นเขาว่าดี หรือทางที่คนส่วนใหญ่เลือกจะไป

…………

เส้นทางสู่ทางสายกลางนั้น ไม่จำเป็นต้องมีผู้คนจำนวนมากยืนยัน ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องเป็นผู้ชี้ทางที่ได้รับความนิยม ไม่จำเป็นต้องเชื่อตามที่เขาอวดอ้าง เพราะสิ่งที่เขานำเสนอให้เรานั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป มีหลายครั้งที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างนักเดินทางกับผู้ชี้ทางที่ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปที่หนึ่ง แต่ผู้ชี้ทางกลับพาไปอีกเส้นทางหนึ่ง แม้ผู้ชี้ทางจะยืนยันว่าทางที่เขาบอกไปนั้นใช่ แต่ความรู้สึกลึกๆนั้นกลับรู้สึกว่ายิ่งเดินยิ่งห่างไกลเป้าหมาย

สิ่งที่จำเป็นคือต้องมีความถูกตรงในการพาเดินทางสู่ทางสายกลาง สัมมาอริยมรรคนั้นเป็นอย่างไร สัมมาหรือความถูกต้องถูกตรงนั้นเป็นอย่างไร อริยะคืออะไร มรรคคืออะไร หากเราเองไม่ได้ศึกษาให้ละเอียดรอบคอบก่อนแล้วเผลอกระโดดไปในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งด้วยความประมาท นอกจากจะพาให้หลงทางแล้วยังยากที่จะกลับมาเริ่มต้นใหม่เหมือนตอนแรกด้วย

เพราะคนที่ยึดมั่นถือมั่น จะเห็นว่าทางที่ตนไปนั่นแหละถูก ทั้งๆที่ทางนั้นอาจจะผิดก็ได้ โลกนี้มีวิธีการเดินทางสู่ทางสายกลางมากมายหลายสำนัก มีหลายสำนักก็หลายทิฏฐิ หลายวิธีการปฏิบัติ แต่ในความจริงแล้วคือมีทางเดียวที่จะไปถึงผลคือสัมมาอริยมรรค

ก่อนจะเข้าไปถึงทางสายกลางเราก็ต้องรู้ก่อนว่าทางโต่งทั้งสองด้านนั้นคือความติดสุขและการติดดี หรือกามและอัตตา เป็นกิเลสที่จะพาให้เราหลงทางทั้งคู่ ดังนั้นทางสายกลางก็คือการละออกจากทางโต่งหรือละกิเลสนั่นเอง ซึ่งจะสามารถทำได้ด้วยการปฏิบัติตามสัมมาอริยมรรค

สัมมาอริยมรรคคืออะไร?

คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ นั่นคือความเห็นความเข้าใจใดๆก็ตามที่พาลดกิเลส เข้าใจว่าสิ่งใดที่ลดกิเลส สิ่งใดที่พาให้หลงทาง

คือความคิดที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือความคิดที่พาลดกิเลส ไม่เสริมกิเลส คิดไปในทิศทางที่ลดกิเลส

คือการพูดจาที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการพูดที่พาลดกิเลส ถ้อยคำที่ไม่เสริมกิเลสแก่กันและกัน

คือการกระทำที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการกระทำใดๆ ทั้งกาย วาจา ใจ ที่พาให้ลดกิเลส ไม่โต่งไปทั้งกามและอัตตา

คือการเลี้ยงชีพที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการเลี้ยงชีพที่ไม่ขัดกับหลักของพุทธ เป็นไปเพื่อเอื้อต่อการลดกิเลส ไม่เสริมกิเลส ไม่สร้างกรรมชั่ว ไม่ทำให้ชีวิตมัวเมาไปกับโลกธรรม

คือความเพียรที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการเพียรล้างกิเลส เพียรสร้างโลกุตระธรรมให้เจริญขึ้นในตน เพียรศึกษาในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา

คือสติที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือมีสติที่รู้ไปถึงตัวตนของกิเลสที่ฝังอยู่ข้างใน ชำแหละกิเลสออกมาเป็นส่วนๆด้วยความรู้ตัวนั้นๆ เป็นไปตามลำดับของการรู้กาย เวทนา จิต ธรรม

และสุดท้ายคือสมาธิที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการทำองค์ประกอบของสัมมาอริยมรรคทั้งหมดก่อนหน้านี้ให้เกิดสภาพตั้งมั่น นั่นแหละจึงจะรวมลงเป็นสัมมาสมาธิ

……ในข้อมูลมากมายที่ชี้นำการเดินทางบนถนนหนทางธรรมนี้ ไม่ง่ายนักที่จะสามารถจำแนกสิ่งที่ถูกออกจากสิ่งที่ผิดได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่าอย่าเพิ่งปักใจเชื่อสิ่งใดง่ายนัก แต่ให้พิจารณาดูด้วยปัญญาของตนว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าคิดว่าสิ่งใดเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงคุณประโยชน์ของสิ่งนั้น แต่ถ้าสิ่งใดเป็นอกุศลก็ให้ละเสีย

ในความเป็นจริงแล้วทุกอย่างนั้นไม่เที่ยงเสมอไป สิ่งที่เราคิดว่าเป็นกุศล เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจจะไม่เป็นกุศลอย่างเคยก็ได้ เมื่อถึงตอนนั้นก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นนัก เพราะต้องใช้เวลาในการย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ ยิ่งเรายึดมั่นถือมั่นก็จะยิ่งหลงทางไกล แต่นักเดินทางธรรมโดยมากก็ยอมที่จะยึดสิ่งที่ตนเชื่อไว้เช่นนั้นแม้ว่าจริงๆมันจะผิดก็ตาม

ทางดับทุกข์นั้นมีด้วยกันหลายทาง แม้ที่บอกว่าเป็นสัมมาอริยมรรคก็มีด้วยกันหลายเจ้า หลายแนวทางปฏิบัติ แต่ทางที่ถูกตรงของพุทธนั้นมีทางเดียว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี ( เอเสวมัคโค นัตถัญโญ )”

– – – – – – – – – – – – – – –

15.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สุดโต่ง

April 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,473 views 0

สุดโต่ง

สุดโต่ง : ปฏิบัติอย่างสุดโต่งนั้นเป็นอย่างไร

สุดโต่งคืออะไร?

คำว่าสุดโต่งนั้นหมายถึงสิ่งความเอนเอียงไปในทางหนึ่งอย่างเต็มที่ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไม่เป็นไปตามที่สังคมยอมรับมักจะมีอาการยึดมั่นถือมั่น เคร่งเครียด ไม่ผ่อนคลาย

ความสุดโต่งนั้นเป็นเพียงความเห็นความเข้าใจ ที่หมายของคำว่าสุดโต่งนั้นต่างกันไปตามความเห็นของแต่ละคน เช่น คนดีทำดีได้ง่าย ถือศีลปฏิบัติธรรมได้เป็นเรื่องปกติ เขาก็มองว่าดีนั้นคือความเป็นกลาง ความชั่วคือทางโต่ง

คนชั่วทำดีได้ยากเพราะมีกิเลสมาขวางกั้นไว้ เขาก็มักจะมองสิ่งดีที่ทำได้ยากได้ลำบากคือความโต่ง ส่วนความชั่วเป็นเรื่องสามัญในโลกที่ใครเขาก็ทำกัน

หรือคนที่ไม่ดีไม่ชั่วคือเป็นกลางๆ ก็มักจะมองว่าสิ่งที่ตนเป็นนั้นพอดีไม่โต่งไปทั้งดีและชั่ว ดังนั้นการมองความโต่งของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไป

สุดโต่งไม่ทางสายกลาง

การกระทำที่เราเห็นว่าโต่ง เรามักจะมองว่าไม่เป็นทางสายกลาง ถ้าเป็นทางสายกลางของพระพุทธเจ้านั้นคือ ไม่เสพกามและไม่ติดอัตตา พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า “พวกเธอจงเสพกามแต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่น”

สรุปในความหมายของศาสนาพุทธก็คือ คนที่ยังเสพกามและยังติดอัตตาอยู่นั่นแหละคือคนที่สุดโต่ง ส่วนคำว่าสุดโต่งในทางสมมุติโลกก็แล้วแต่ใครจะนิยาม

คนเรามักจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล พอสิ่งใดที่ทำได้ยากได้ลำบากสำหรับตนและพวกพ้องนั่นแหละคือสุดโต่ง ทั้งที่จริงๆแล้วคนอื่นเขาทำได้สบาย แล้วทีนี้ด้วยความมีอัตตาก็ยึดเอาตนนั่นแหละ เป็นตรงกลาง ใครทำมากกว่าตนสุดโต่ง ใครทำน้อยกว่าตนก็ต่ำต้อย

สุดโต่งของผู้มัวเมา (มิจฉาทิฏฐิ)

คนที่เห็นผิดและมัวเมาในกิเลสมากๆ ก็จะหมายเอาว่าการที่ทุกคนมีกิเลสเป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่น่าใส่ใจ คนเราต่างกรรมต่างวาระถือ เป็นเรื่องธรรมดาใครๆเขาก็ทำกัน คนที่พยายามจะละทางโลกอย่างจริงจังสิที่เป็นความสุดโต่ง

การที่มีความเห็นแบบนั้นเพราะต้องการตั้งกำแพงเอาไว้ไม่ให้ใครเข้ามาล้วงกิเลสตน เอาง่ายๆ คืออย่าเอาสิ่งที่พาให้เกิดความเจริญมาข้องแวะกับกองกิเลสของฉัน ฉันจะอยู่ในภพของฉัน ฉันจะเสพของฉันไปเรื่อยๆ อย่าพยายามชี้ให้ฉันเห็นถึงกิเลส อย่าบอกว่าสิ่งที่ฉันติดฉันยึดคือสิ่งไม่ดี เพราะฉันมีความสุขกับมันอยู่ ซึ่งเป็นสภาพของผู้ติดภพที่เต็มไปด้วยกิเลส

ถ้าเขามองจากก้นเหว ปากเหวก็ดูจะสูงเทียมฟ้า แต่แท้ที่จริงแล้วปากเหวนั้นก็แค่ระดับพื้นดิน ยังมีต้นไม้ ภูเขา ท้องฟ้า จักรวาล ดวงดาวอีกมากมายที่อยู่สูงและไกลออกไป

คนที่มัวเมาในกิเลสก็ยังคงต้องอยากจะเสพไปตามกิเลสอยู่ เหมือนกันกับคนส่วนมากในสังคมที่ใช้ชีวิตไปตามกิเลส แล้วก็ใช้ศาสนาเข้ามาช่วยเพียงแค่ทำให้จิตใจสงบ และใช้ตรรกะต่างๆเข้ามาเป็นเกราะป้องกันตัวเองไม่ให้มีสิ่งใดเข้ามากล้ำกราย ไม่ว่าสิ่งนั้นจะร้ายหรือดี เขาก็เพียงแค่ต้องการจะอยู่ในภพที่เขาอยู่

ซึ่งมันก็ไม่แปลกอะไร เพราะโลกเรามีคนหลายแบบ คนกิเลสน้อยก็มี คนกิเลสหนาก็มี มันเห็นไม่ตรงกันอยู่แล้ว เพราะคนกิเลสน้อยก็ว่าคนกิเลสหนานั้นมันทุกข์ คนกิเลสหนาก็ว่าคนกิเลสน้อยนั้นสุดโต่ง ซึ่งก็ถูกของเขา เพราะเขาทำไม่ได้ ถ้าหากเขาทำเขาก็จะทุกข์ทรมาน

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความคนกิเลสน้อยสุดโต่ง เพราะเขาเหล่านั้นสามารถละสิ่งที่เป็นภัยได้โดยไม่ยากไม่ลำบาก เรียกว่าทำได้แบบสบายๆ แล้วถ้าทำได้แบบสบายมันจะเรียกว่าสุดโต่งได้อย่างไร?

ยิ่งถ้าบอกว่าความเจริญที่ได้ละสิ่งที่ไม่ประโยชน์นั้นว่า “สุดโต่ง” ยิ่งสะท้อนความเสื่อมโทรมของสังคมที่ตกเป็นทาสของกิเลส ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ คนส่วนมากก็ตกเป็นทาสกิเลสกันอยู่แล้ว ยิ่งกึ่งพุทธกาลแบบนี้คงไม่มีผู้มีบุญบารมีลงมาเกิดกันมากมายหรอก ที่มาเกิดนี่ก็เด็ดๆกันทั้งนั้น

ทิ้งโลกไปทางธรรมสุดโต่งจริงหรือ

ต้องเข้าใจก่อนว่าทิ้งโลกนี้ไม่ได้หนีเข้าป่า แต่เป็นการทิ้งโลกที่เคยมีกิเลสแล้วหันหน้าเข้าหาธรรมเพื่อศึกษาธรรม พระพุทธเจ้าไม่เคยสั่งให้สาวกเข้าป่าปลีกวิเวก สาวกที่บรรลุธรรมท่านก็สั่งให้ไปสร้างประโยชน์แก่หมู่ชน และให้แยกกันไป อย่าไปที่เดียวกันธรรมกับโลกจึงอยู่คู่กันด้วยประการนี้เอง

ถ้าการทิ้งเรื่องโลกมาสนใจธรรมเป็นเรื่องสุดโต่ง ศาสนาพุทธก็คงจะเป็นศาสนาที่สุดโต่งที่สุด เพราะตามประวัติศาสตร์นั้น เจ้าชายสิทธัตถะเพียงแค่รู้ว่าลูกเกิด ท่านก็หนีไปบวชแล้ว หรือปัจเจกพระพุทธเจ้าที่เพียงแค่มองผู้หญิงที่มีเจ้าของแล้วรู้สึกผิด ก็ออกบวชแล้ว

ถ้าเป็นคนธรรมดาเขาไม่เข้าใจนะ เขาไม่มีปัญญารู้ว่ามันเป็นโทษอย่างไร แต่นี่ระดับพระพุทธเจ้า สะกิดนิดเดียวรู้เลย รู้แล้วออกได้ทันทีด้วย ไม่ติดไม่วนอยู่ เรียกว่าสุดโต่งไหม?

ถึงจะเป็นคนสมัยนั้นเขาก็ว่าโต่งนั่นแหละ อะไรกัน…เหตุนิดหน่อยก็ทิ้งแล้ว คนกิเลสหนาเขาไม่ทิ้งหรอก เขาก็เมาลูก มองสาวอยู่นั่นแหละ จะเห็นได้ว่าคำว่าโต่งถ้ามันมาจากความเห็นของคนกิเลสหนามันก็แสดงตัวตนเขาอยู่แล้วว่าทำเช่นนั้นไม่ได้ แต่ทางโต่งที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นมีอยู่ นั่นคือให้เว้นขาดจากการเสพกามและการทรมานตัวเองด้วยอัตตา ความโต่งสองทางนี้ท่านให้เว้นเสีย

สุดโต่งแต่เจริญ

ดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าความโต่งที่เป็นความเห็นของบุคคลนั้นต่างกันไปตามทิฏฐิ ซึ่งจะเอามายึดมั่นถือมั่นเป็นหลักเกณฑ์วัดอะไรไม่ได้ อ้างอิงอะไรไม่ได้เลย เพราะถ้าสังคมกิเลสหนา มันก็จะว่าการลดกิเลสเป็นทางโต่ง เช่น ในยุคนี้เขาก็ว่าการสมสู่มีคู่แต่งงานนั้นดี ยิ่งผู้หญิงแต่งตอน 25-30 ยิ่งดี แต่ถ้าเป็นสังคมยุคพระศรีอริยเมตตรัย กว่าจะได้แต่งงานก็อายุ 500 ปีโน่น มันโต่งไหมล่ะ สมมุติสัจจะและศีลธรรมโดยสามัญสำนึกมันเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยนั่นแหละ เอามาวัดอะไรไม่ได้หรอก

เรื่องคู่นี่ยิ่งชัด พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าโง่ไปมีคู่ กามนั้นแสบเผ็ดร้อนยิ่งกว่าถ่านที่เผาไหม้ ยิ่งกว่าหอกแหลมที่ทิ่มแทง ยิ่งกว่ายาพิษใด แม้ในฐานศีล ๕ จะยังมีคู่ได้ แต่ท่านไม่เคยบอกว่าให้ครองคู่กันจึงจะเจริญ ท่านให้ละให้เว้นเสีย แต่ถ้าในสมัยนี้คนเขาก็มองคนที่จะเป็นคนโสดไปตลอดไม่มีคู่เป็นความโต่งนะ โต่งแต่สัมมาทิฏฐิมันน่างงไหม?

ในยุคนี้ผู้ที่ตั้งใจจะปฏิบัติเพื่อลด ละ เลิก สิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ไม่ใช่คุณค่าแท้ ก็มักจะถูกมองว่าสุดโต่งทั้งๆที่นั่นคือทางสายกลางที่พาไปสู่ความเจริญ แม้คนจะมองว่าโต่งแต่มันไปเจริญ แล้วมันไม่ดีอย่างไรล่ะ

ก็มีแต่คนที่พ่ายแพ้ต่อกิเลสเท่านั้นแหละที่ไม่เห็นว่าการพยายามละเว้นจะกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่ดี ยังของยอมวนเวียนเสพสมใจกันอยู่ในทะเลที่เต็มไปด้วยยางเหนียว

– – – – – – – – – – – – – – –

10.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ศีลธรรมไม่ได้เสื่อมลง

March 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,490 views 0

ศีลธรรมไม่ได้เสื่อมลง
คนไม่ได้เสื่อมจากศีลธรรม

เพราะศีลธรรมนั้นไม่มีอยู่ในคนตั้งแต่แรก…
ความเจริญในศีลธรรม อยากได้ต้องสร้างเอง

……………………

ใกล้กลียุคนี้เอง คนดีค่อยๆตายจาก คนชั่วค่อยๆเกิดขึ้น สังคมไม่ได้เสื่อมจากศีลธรรมไปตามยุคสมัย แต่เสื่อมจากการค่อยๆสูญเสียคนดี และคนไม่ดีเกิดขึ้นมากมาย

เป็นธรรมชาติของโลกที่จะหมุนวนเจริญและเสื่อมไปแบบนี้ สลับสับเปลี่ยนไปมาไม่รู้กี่ล้านล้านล้าน….รอบแล้ว

คนดีที่ยังยินดีอยู่กับเรื่องโลก วนอยู่ในโลกธรรม ยังยินดีเสพสุข ก็จะทุกข์จากความเสื่อมที่จะเข้ามา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่าจะหันเหชีวิตมาแสวงหาทางออกจากโลก

…ออกจากโลกียะ ไปสู่โลกุตระ โลกใหม่ที่หยุดทุกการเคลื่อนไหว และทวนทุกกระแสโลกเดิม

– – – – – – – – – – – – – – –

29.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)