สำรวจและเรียนรู้สิ่งใหม่

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

April 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,462 views 0

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าในชีวิตหนึ่งของคนเรานั้นผ่านผู้คนมากมาย พบกันคบหากันจนกระทั่งความสัมพันธ์นั้นจบลง แต่เรามักจะไม่ยอมให้มันจากไป ยังกอดเก็บมันไว้ตลอดมา

ในบทความนี้จะขยายธรรมเพิ่มเติมไว้สองเรื่องคือ

  1. ปฏิจจสมุปบาทแบบย่อและประยุกต์มาอธิบายผ่านเรื่องความรัก
  2. การเริ่มต้นหาทางแก้ไขสภาพความยึดมั่นถือมั่นในแบบของพุทธ

= = = = = = = = = = = = = =

1). เหตุของการเกิดไปจนกระทั่งดับ

เนื้อหาหลักของบทความผ่าน พบ จบ จาก นั้นได้สื่อถึง “สภาพที่กิเลสเข้ามาแต่ไม่สามารถสะบัดให้หลุดได้” สภาพเช่นนี้สามารถยกตัวอย่างมาอธิบายได้มากมาย แต่เพื่อความต่อเนื่องจะขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันด้วยเรื่องของความรัก

จิตเดิมแท้ของเรานั้นแม้ว่าจะผ่องใส แต่ก็ไม่มีปัญญา เวลาได้เสพสุขอะไรบางอย่าง เมื่อเกิดสุข ทุกข์ จึงติดใจหรือผลักไสสิ่งนั้น ซึ่งสุดท้ายจะรวมลงไปที่อุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) กลายเป็นภพ (ที่อาศัย) และชาติ (การเกิดของกิเลสและการเกิดขึ้นในโลกแบบทั่วๆไป)

เช่นเมื่อเราได้รับความสุขจากสิ่งที่เราเหมาเรียกว่าความรัก ไม่ว่าคำหวานพูดเอาใจ ไม่ว่าการสัมผัสลูบไล้ ไม่ว่าอารมณ์ที่สาสมใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะติดสุข เกิดเป็นอุปาทาน กลายเป็นภพคือเราติดสภาพว่าต้องเสพเช่นนั้นเสมอ จึงกลายเป็นชาติ คือการเกิดความรู้สึกว่าจะต้องไขว่คว้าหาสภาพนั้นๆมาเสพ

ถ้าได้เสพสมใจก็เพิ่มความอยาก(ตัณหา)และความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปอีก สะสมลงไปจนกลายเป็นภพและชาติที่จัดจ้านขึ้นไปอีก คืออยากได้เสพสิ่งที่ทำให้สุขมากกว่านี้อีก ก็เพิ่มกิเลสกันไปเช่นนี้

จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมดลให้เกิดสภาพของการ “จบ” จะออกอาการเริ่มจากชรา คือความแก่ ในเรื่องความรักไม่ได้หมายถึงคนแก่ แต่หมายถึงสภาพของรักนั้นได้แก่และเสื่อมลง คือมันเสพก็ไม่สุขเหมือนก่อน ในระยะของความชรานี้เอง คือสภาพที่คนรักเริ่มเอือมระอา ทะเลาะกัน ไม่เข้าใจกัน งอนแต่ไม่ง้อ เป็นต้น

พอชราแล้วก็จะจบความรักนั้นที่สภาพของมรณะ คือตาย หรือ “จบ” ส่วนจะตายจากกันจริงๆ หรือความรักตายจนเลิกรากันนั้นก็คือจบเช่นกัน มรณะเช่นกัน คือสภาพที่เคยได้เสพนั้นได้ตายจากเราไปแล้ว

ทีนี้มัน “จบ” แต่มันไม่ “จาก” ก็ตรงที่กิเลสมันยังมีอยู่ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ มันยังมีครบอยู่ แต่ไม่ได้เสพสิ่งที่เคยได้เสพ ก็จะเกิดอาการ โศกเศร้า คร่ำครวญรำพัน เสียใจ คับแค้นใจ ความทุกข์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ด้วยเหตุเช่นนี้

ดังที่ได้กล่าวขยายธรรมะที่สอดแทรกอยู่ในบทความ ผ่าน พบ จบ จาก ด้วยการสรุปบางส่วนจากปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายได้ดังนี้

2).การหาหนทางแก้ไขสภาพ ผ่าน พบ จบ แต่ไม่ยอมจาก

จะเห็นแล้วว่าทุกข์นั้นเกิดจากสภาพหลงสุขจนยึดมั่นถือมั่น เราไม่ต้องใช้ปัญญาใดๆในการหลงสุข แต่การจะออกจากความหลงสุขเหล่านั้นจำเป็นต้องใช้ปัญญา ในระดับของวิชชาหรือวิมุตติซึ่งเป็นแก่นแท้ของศาสนาพุทธเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั้นเสีย

คนที่ทุกข์จากความรักจะพยายามสะบัด หลีกหนี กลบเกลื่อน ปัดทิ้ง กดข่ม โดยทั่วไปแล้วก็มักจะใช้วิธีสมถะ คือกดไม่ให้มันฟุ้งซ่าน ไม่ให้มันออกอาการ พยายามไม่ให้ทุกข์ด้วยหลากหลายวิธี แต่นั่นก็ยังเป็นวิธีทั่วไป ใช้กดภพ กดชาติได้ แต่ไม่สามารถทำให้ดับอย่างสิ้นเกลี้ยงได้

การแก้ไขสภาพจึงต้องใช้กระบวนการตามหลักใหญ่คืออริยสัจ ๔ คืออันดับแรกต้องเห็นทุกข์ สองคือต้องรู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่เห็นเหตุก็แก้ทุกข์ไม่ได้ สามคือจะกระทำความดับเช่นไร สี่คือกระบวนการสู่ความดับทุกข์นั้นกระทำอย่างไร ผู้ที่พยายามจะหาทางออกจากทุกข์อย่างถาวรจึงจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ธรรมให้กระจ่างแจ้ง

แล้วจะเรียนรู้อย่างไร เรียนอย่างไหน แบบไหนถึงจะถูก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอวิชชาสูตรว่า การเรียนสัจจะของพุทธนั้นต้องเริ่มจากพบสัตบุรุษ (คนผู้มีธรรมแท้) จึงจะได้ฟังสัจธรรม (ธรรมที่พาพ้นทุกข์) เมื่อฟังด้วยจิตที่ไม่ลำเอียงไม่ผลักไส จึงจะเกิดศรัทธา เป็นศรัทธาที่เห็นพ้องด้วยปัญญา ไม่ใช่แค่เชื่อตามๆกันมา เมื่อเกิดศรัทธาจึงทำใจในใจโดยแยบคาย พิจารณาลงไปถึงที่เกิด ด้วยความมีสติสัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อม จนสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เจริญถึงความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ จึงจะเจริญต่อไปได้ถึงสติปัฏฐาน นำไปสู่โพชฌงค์ จนกระทั่งถึงวิชชาและวิมุตติก็ถือเป็นการจบภารกิจในกิเลสเรื่องนั้นๆ

ดังจะเห็นได้ว่า การปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้อย่างแท้จริงนั้น ไม่ใช่สภาพที่จะคิดเอาได้ ไม่ใช่จะนึกเอาเองได้ ไม่ใช่จะกดข่มเอาได้ ไม่ใช่ว่าไปฟังเสียงนกร้องไก่ขันแล้วจะบรรลุธรรมหลุดพ้นได้ แต่ต้องเริ่มจากเรียนรู้สัมมาทิฏฐิ การเรียนสัมมาทิฏฐิก็ต้องเรียนจากคนที่มีสัมมาทิฏฐิ

จากอวิชชาสูตรนั้นจะเห็นได้ว่ากว่าจะบรรลุธรรมตามกระบวนการของพุทธนั้นยากแสนยาก ไม่ใช่ว่าจะไปกดข่มเข้าภพแล้วบรรลุธรรมกันง่ายๆแบบฤๅษี กว่าจะพบสัตบุรุษต้องใช้เวลาเท่าไหร่ และถ้าเจอแล้วเราจะมีโอกาสได้ฟังหรือเรียนรู้สัจธรรมไหม ได้ฟังแล้วจะเชื่อไหม จะเห็นตามได้ไหม เข้าใจได้ไหม จะศรัทธาไหม ศรัทธาแล้วจะโยนิโสมนสิการได้ไหม(ทำใจในใจโดยแยบคายพิจารณาลงไปถึงที่เกิด) จะยอมพิจารณาตามไหม จะยอมค้นลงไปไหม หรือจะฟังผ่านๆแล้วไม่เอาไปย่อยต่อ ไม่ทบทวนต่อเลย โยนิโสมนสิการได้แล้วจะสามารถมีสติสัมปชัญญะให้ถึงพร้อมได้ไหม ทำให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเป็นปกติ(เมื่อเจอผัสสะ)ได้ไหม ทำให้เกิดกาย วาจา ใจ สุจริตได้ไหม เจริญไปถึงสติปัฏฐาน ๔ เป็นไหม เข้าใจโพชฌงค์ไหม จะถึงวิชชาและวิมุตติไหม

การจะยอมจากได้จริงๆ มันไม่ได้ง่ายแค่ว่าเอาบทโพชฌงค์มาสวด เอาสติปัฏฐานมาแยกทำ หรือเอาธรรมะมาท่องจำนะ ถ้าทำได้อย่างนั้นจริงคนก็พ้นทุกข์กันหมดแล้ว แต่เพราะความจริงแล้วมันมีกระบวนการและขั้นตอนที่ละเอียดซับซ้อน และเป็นไปตามลำดับ

แล้วยังไงล่ะทีนี้ ทั้งยากทั้งซับซ้อนขนาดนี้ก็เลยศึกษาเอง สุดท้ายมันก็จะไปไม่รอดนั่นแหละ เพราะผิดจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เว้นเสียแต่ว่าท่านมีปัญญานั้นอยู่แล้ว มีของจริงอยู่แล้ว มันก็สามารถจะรู้ได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครสอน แต่ถ้ายังไม่เคยเรียน ยังไม่เคยรู้ ยังไม่เคยฟังใครสอน ยังไม่เคยพบสัตบุรุษ แล้วมันจะพ้นทุกข์ได้อย่างไรถ้าไม่เคยมีเหตุ(การเรียนรู้ที่ถูก) แล้วผล(การพ้นทุกข์ที่ถูก)มันจะเกิดได้อย่างไร

ในสัมมาทิฏฐิข้อหนึ่งว่าด้วยการเห็นสมณะ (ผู้สงบจากกิเลส) การเห็นสัตบุรุษหรือสมณะนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เพราะต้องเห็นด้วยปัญญา ไม่ใช่เขาว่าคนนั้นอรหันต์คนนี้พระอริยะก็เชื่อตามเขาโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้อะไรเลย คนที่สัมมาทิฏฐิแม้จะยังมีกิเลสหมักหมมในสันดานแต่ก็จะมีญาณปัญญารู้ได้ เน้นคำว่าว่าญาณ “ปัญญา” มันไม่ใช่มั่วๆนะ มันมีเหตุมีผล มันต้องมีมรรคผล มันไม่ลึกลับ มันอธิบายได้ มันจึงเชื่อ ไม่ใช่แค่ว่าเขาปฏิบัติตามที่เราเชื่อว่าแบบนี้ใช่แล้วมันจะใช่นะ ระวังหลงอุปาทานกันไป บางทีมันพาไปลงนรกทั้งศิษย์และอาจารย์เลย ศิษย์ก็โง่ อาจารย์ก็เมาลาภ ยศ สรรเสริญ (โง่กว่า) ก็เลยเมาแต่งตั้งพระอริยกันในกลุ่มเต็มไปหมด แบบนี้ก็เป็นได้เช่นกัน

สรุปแล้วท่านที่พยายามทำแต่ไม่มั่นใจว่าทำถูกทางก็ให้หยุดเสีย เดินไปในทางตัน ถึงจะเดินไปจนสุดทางก็ต้องเดินวนกลับมาอยู่ดี วิธีแก้ทุกข์ที่เข้าใจนั้น ถ้ามันแก้ไม่ได้ เป้าหมายมันไม่มี มรรคผลมันไม่ชัดเจน มันไม่เห็น มันลังเลสงสัย ก็แนะนำให้เรียนรู้กันเพิ่มเติม เรียนรู้ให้มากอย่าเพิ่งไปยึดมั่นถือมั่นทางใดทางหนึ่ง เพราะถ้าไปยึดทางผิดมันก็เสียเวลาหลงทางเท่านั้นเอง เดินให้มันถูกทางถึงจะช้าแต่มันก็ถึง ดีกว่ารีบเดินเข้าป่า เข้ารกเข้าพง ยิ่งเดินยิ่งหลง

แล้วเราจะมีสัมมาทิฏฐิขึ้นมาได้อย่างไร? พระพุทธเจ้าตรัสเหตุแห่งสัมมาทิฏฐิไว้สองข้อ นั่นคือปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ คือการเปิดใจและตั้งใจรับฟังสิ่งที่ต่างกับที่ตนเองเชื่อและยึดมั่นถือมั่น และการทำใจในใจโดยแยบคายลงไปถึงที่เกิด การทำใจในใจโดยแยบคายนี้ถ้าเป็นการฟังธรรมก็คือเอาธรรมนั้นมาย่อย มาพิจารณาว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น สรุปให้เข้าใจง่ายก็เหมือนการทำความเข้าใจโดยไม่มีอคติ (แต่จริงๆล้ำลึกกว่านั้นมาก แต่อธิบายค่อนข้างยาก ขออภัยไว้ ณ ที่นี้)

จะสมมุติเหตุการณ์ดังเช่นว่า ตอนแรกเราไม่สัมมาทิฏฐิหรอก แต่บังเอิญว่าเจอพระอริยะ เราก็ไม่รู้จริงๆหรอกนะว่าใช่ไม่ใช่ ทีนี้ด้วยความที่เห็นรูปท่านสวยดูมีศีลมีธรรมก็เลยอยากลองของ หรือได้ยินว่าคนนี้มีดีนักหนา หรือได้ยินคนนี้อ้างว่าตนเองเป็นพระอริยะบ้าง พระอรหันต์บ้าง เลยชวนสนทนาธรรม แต่ด้วยจิตที่มีอติมานะเช่นนั้นเอง (ชอบข่มหรือดูหมิ่นผู้อื่น) พอเขาพูดอะไรมาเราก็ตั้งแง่ เพ่งโทษฟังธรรม จ้องจับผิด ฟังนะแต่ไม่ฟัง พยายามจะคิดหาข้อแย้ง เพราะไม่ตรงกับที่ตนเองเรียนรู้มา (คือที่รู้มามันมิจฉาทิฏฐิอยู่แล้ว เพราะถ้าสัมมาจริงมันจะรู้ทั้งมิจฉาและสัมมา มันจะไม่สงสัย)

พอตนเองมิจฉาแล้วยึดมั่นมิจฉาอยู่อย่างนั้นก็ทำได้แค่เถียงเอาชนะ เพราะที่เขาพูดนั้นไม่ตรงกับที่ตนเลย(มันไม่มีทางตรงอยู่แล้ว) และไม่มีใครที่จะยอมรับว่าตนมิจฉาง่ายๆเป็นแน่ จึงพลาดการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย สุดท้ายแม้ว่าจะเถียงชนะหรือจะจำนนด้วยหลักฐานแต่ไม่เชื่อ ยังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนเชื่ออยู่ ก็จะได้รับมิจฉาทิฏฐิเพิ่มขึ้นพร้อมกับได้รับวิบากกรรมจากการเพ่งโทษพระอริยะไปเป็นสมบัติอีก ซวยไปสองต่อ

อันนี้แค่ขั้นปรโตโฆสะนะ โยนิโสมนสิการจะลึกลงไปอีก แต่จะยกไว้เพียงเท่านี้ก่อน ส่วนคนที่ยังมิจฉาทิฏฐิแต่เขามีปรโตโฆสะ คือตั้งใจฟังคนอื่น และมีโยนิโสมนสิการ คือเอาที่ได้ฟังนั่นไปพิจารณาในใจโดยแยบคาย เขาก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้สัมมาทิฏฐิ และนี้เองคือจุดเริ่มต้นของสัมมาทิฏฐิ มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่มันมีเหตุมีผลตามธรรมของมัน ไม่ใช่สิ่งบังเอิญ ไม่ใช่เรื่องเร้นลับอะไร

สรุปคือ คนที่ฟังคนอื่นและนำไปพิจารณาต่อก็จะเจริญไปถึงสัมมาทิฏฐิในสักวันหนึ่ง เพราะถ้าหยุดชั่ว ทำดีไปเรื่อยๆ มันก็จะวนเวียนไปเจอแต่คนดี ซึ่งก็คงมีบ้างหากจะมีพระอริยะวนเวียนผ่านไปผ่านมาในชีวิตโดยที่เราไม่รู้ แต่เพียงแค่เราไม่มีอัตตาที่จัดนัก ไม่มีความยึดมั่นถือมันที่มากนัก เราก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้ในวันใดวันหนึ่ง

ต่างจากคนที่เก่งแล้ว เข้าใจแล้ว แต่ยังมิจฉาทิฏฐิ คนพวกนี้จะไม่มีวันเปิดใจฟังหรือตั้งใจฟังสิ่งที่ต่างจากตัวเองคิดเลย เพราะหลงว่าตนรู้แล้ว เข้าใจแล้ว ของตนนี่แหละแท้ ตนนี่แหละแน่ มันก็เลยหลงมิจฉาทิฏฐิกันเช่นนี้ แล้วโลกนี้อะไรมันจะมากกว่ากัน คนถูกหรือคนผิด

ทีนี้คนที่สัมมาทิฏฐิก็ต้องยืนยันว่าตนถูก มิจฉาทิฏฐิเองก็ยืนยันว่าตนถูก แล้วยังไงล่ะ เราจะมีปัญญาแยกอย่างไร จะจบบทความนี้ด้วยกาลามสูตรว่าด้วยเรื่องการอย่าเชื่อสิ่งใดๆง่ายเพียงแค่ได้ยินได้ฟังมา หรือเพราะเขามีชื่อเสียง หรืออีกหลายๆเหตุผล พระพุทธเจ้าได้ตรัสกำชับในตอนสุดท้ายว่า พึงพิจารณาเอาเองว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงสิ่งนั้น ส่วนอกุศลให้ละเสีย

นั่นหมายถึง มันจะไม่รู้แต่แรกหรอก ก็ให้ลองปฏิบัติดู ถ้ามันถูกจริงชีวิตมันจะดีขึ้น มีแต่ความสุขความเจริญแม้ไม่ได้เสพอย่างเคย แต่ถ้าปฏิบัติแล้วชีวิตมันแย่ลงก็ให้ถอยออกมาแค่นั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

5.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

 

อยากมีลูก?

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,313 views 0

อยากมีลูก?

อยากมีลูก?

…ความอยากนี้เกิดมาจากไหน เมื่อไหร่ อย่างไร

ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วมันก็เป็นเรื่องล้ำลึกที่ยากจะระบุให้แน่ชัดว่าคืออะไร เราสามารถเห็นได้เพียงปลายหางของกิเลสคือความอยากได้อยากมีอยากเป็น แต่นั่นก็เพียงแค่ปลายเหตุ ต้นเหตุของกิเลสอยู่ตรงไหน ตัวตนของกิเลสอยู่ที่ใด ในบทความนี้เราจะมาไขกิเลสของความอยากมีลูกกัน

เรื่องกิเลสนี่ถ้าแบ่งออกกว้างๆสองทางเป็นทางโต่งสองด้าน ด้านหนึ่งคือกาม อีกด้านหนึ่งคืออัตตา ก็น่าจะพอให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นว่ากิเลสของเราอยู่ฝั่งไหน อาจจะหนักไปทางฝั่งหนึ่งหรืออาจจะกระจายทั้งสองฝั่ง แต่แน่นอนว่าเราไม่สามารถรู้แจ้งเรื่องกิเลสได้ตั้งแต่ตอนแรก มันจะซับซ้อน ลับลวงพรางแค่ไหนก็ต้องใช้ปัญญาถอดรหัสกิเลสกันเอาเอง

1). กาม

กามในศาสนาพุทธจริงๆ ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องสมสู่หรือเรื่องลามกตามที่คนส่วนใหญ่เอาไปใช้กันผิดๆ ให้ความหมายแค่ในเชิงหยาบแต่ละทิ้งความหมายในนัยละเอียดไป แต่หมายถึงสภาวะที่เข้าไปเสพ การหลงไปเสพทั้งหมดไม่ว่าจะในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือที่เรียกว่ากามคุณ ๕ ซึ่งเป็นทางโต่งที่พาชั่วและเป็นทุกข์

กามในความอยากมีลูกนั้นเกิดขึ้นเพราะเราหลงว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเหล่านั้นเป็นของดี เป็นของน่าหลงใหล น่าได้น่ามี เราจึงมีความรู้สึกว่าอยากมีลูกกับเขาบ้าง

เพราะในสังคมปัจจุบันเป็นยุคที่มีการแบ่งปันเรื่องราวและรูปภาพมากมาย เรามักจะเห็นพี่น้อง มิตรสหายมักจะลงรูปภาพลูกตัวเล็กน่ารัก ยิ้มหวาน หัวเราะร่า กิจกรรมที่น่าสนุกทั้งหลายที่มีกับลูก ทีนี้พอเราเห็นเข้ามากๆ เห็นบ่อยเข้าก็เริ่มอยากลองลิ้มชิมรสสุขอย่างเขาบ้าง เห็นเขาแสดงท่าทีว่าสุขแล้วมันก็อยากรู้ว่ามันจะสุขขนาดไหน ว่าแล้วก็วางแผนหาคู่มีลูกมีเต้าเสียเลยดีกว่า ไม่ลองไม่รู้…

ถ้าเราเข้าไปถามคนที่ยังติดกามในลูก ยังเสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสในเด็กคนนั้นแล้วยังสุขอยู่ เขาก็จะบอกเราว่ามีแต่ความสุข แม้จะลำบากแต่ก็ยังสุข เขาจะเห็นว่าสุขลวงนั้นมากกว่าทุกข์ เพราะมันหลงติดสุขอยู่ พอเราไปคุยหรือได้รับข้อมูลจากคนมีกามกิเลสมากๆ เราก็จะรับกิเลสเหล่านั้นมาพอกกิเลสตัวเองจนหลงตามไปว่าการมีลูกนั้นสุขแบบนั้นแบบนี้ตามเขา

หากเราพิจารณาดีๆแล้ว กามคุณ ๕ นั้นแม้จะมีฝั่งของความงามเป็นตัวล่อ แต่สิ่งที่จะได้รับจริงๆแล้วเราจะได้รับกามที่เราไม่อยากได้ด้วย เช่นรูปไม่งาม เด็กหน้าตาไม่ดี หรืออาจจะพิกลพิการ ภาพเด็กร้องไห้ งอแง อึเด็ก ฉี่เด็ก กลิ่นไม่งามเช่นกลิ่นเหม็นจากของเสียของเด็ก เสียงไม่งาม เช่นเสียงร้องงอแงของเด็ก เสียงที่ดังจนแสบแก้วหู และสัมผัสที่ไม่งามเช่นต้องมาคอยเช็ดอึเด็ก เช็ดฉี่ เช็ดอ้วก เช็ดน้ำลาย ฯลฯ

ความไม่งามเหล่านี้มักจะไม่มีคนนำมาเผยแพร่ ไม่มีคนถ่ายรูปตัวเองเช็ดอึเด็กมาให้เห็น ไม่มีใครอยากอัดเสียงตอนลูกงอแงมาเผยแพร่ เพราะเขามักจะไม่ยินดีในความไม่งาม จนกระทั่งไม่ยอมรับการมีอยู่ของความไม่งามเหล่านั้น ถึงจะมีคนถามก็พูดไปเพียงแต่ว่ามีลูกแล้วดี น่ารัก มีความสุข ยิ่งโดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง มีพี่เลี้ยงนี่จะยิ่งหลงเข้าไปใหญ่ เพราะไม่ได้รับทุกข์มาให้ได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างเต็มที่

หากเราเข้าใจว่าความน่ารักของเด็กนั้นมันไม่เที่ยง มันก็น่ารักได้ไม่นานแล้วมันก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ดื้อๆแบบเรานี่แหละ เราก็จะเริ่มคลายจากกาม และด้วยการพิจารณาความไม่งามทั้งหลายจะทำให้เราลดความหลงใหลในตัวเด็กคนนั้นหรือเด็กที่เราปั้นจินตนาการไว้ว่าจะเป็นลูกของเราในอนาคตได้มากขึ้น

2.) อัตตา

ในมุมของอัตตานั้นจะล้ำลึกซับซ้อนกว่าในมุมของกาม เพราะมีหลายเหตุปัจจัยที่ส่งผลเป็นความยึดมั่นถือมั่นที่จะเอาเหตุการณ์และอารมณ์ต่างๆมาเสพ ให้สมใจในความเป็นตัวตน สนองความเป็นตัวกู ของกู!!

2.1) ยึดมั่นถือมั่น…บางครั้งคนเราก็ยึดมั่นถือมั่นโดยที่ไม่มีเหตุผล เช่นฉันต้องมีลูก ฉันอยากมีลูก เป็นความรู้สึกอยากล้วนๆที่แสดงออกมา แน่นอนว่าในความอยากนั้นมีบางสิ่งบางอย่างซ่อนอยู่ ซึ่งอาจจะไม่สามารถรู้ได้เลยด้วยซ้ำเพราะกิเลสนั้นซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก หลบซ่อนอยู่ลึกสุดลึกในใจ

เกิดเป็นสภาพของความเอาแต่ใจ จะพยายามสร้างเหตุผลมากมายให้การมีลูกนั้นดูมีประโยชน์ขึ้นมาได้ แต่ยิ่งหาเหตุผลก็จะยิ่งยึดมั่นถือมั่นเข้าไปอีก ทำให้เงื่อนปมของความอยากซับซ้อนมากขึ้นไปอีก หลงในอัตตาตัวเองมากเข้าไปอีก

หากเราสามารถลดความยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องมีลูกลง แล้วค่อยๆพิจารณาค้นลงไปถึงสาเหตุว่าสิ่งใดหนอที่ทำให้เรายึดมั่นถือมั่นจนเอาแต่ใจขนาดนี้ แน่นอนว่าหลังจากที่คลายความยึดมั่นถือมั่นได้และพิจารณาจนเกิดปัญญารู้ได้ว่าฉันยึดติดในอะไร ในกามอย่างนั้นหรือ ในโลกธรรมอย่างนั้นหรือ หรือเพราะปมด้อยของตัวฉันเอง

2.2) สนองอัตตา … เป็นมุมที่ค่อนข้างหยาบแต่จะไม่เอามากล่าวก็คงไม่ได้ คนที่สร้างลูกขึ้นมาเพื่อตัวเอง เพื่อเสพสมใจตัวเอง เพื่อให้ตัวเองได้เสพสุขในอนาคตเช่น เพื่อให้ลูกสืบต่อกิจการ เพื่อให้ลูกมาดูแลตัวเองตอนแก่ เพื่อให้ลูกมาแก้เหงา ฯลฯ ความอยากเหล่านี้เป็นความอยากที่เห็นแก่ตัวมากเพราะจะเอามาเสพเพื่อตนเองฝ่ายเดียว ทำดีหวังผล ทำตัวเป็นนักลงทุน โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า “ลูก” เป็นเครื่องมือบำเรอความสุขให้ตนสมใจ

2.3) โลกธรรม …คนบางคนก็ไม่ได้ติดตรงที่ว่าอยากมีลูกเพราะเขาน่ารักหรอก แต่ติดตรงที่ว่าถ้าไม่มีเดี๋ยวใครเขาจะว่าไม่มีน้ำยา ไม่ครบองค์ประกอบของครอบครัว ซึ่งโดยปกติแล้ว คนเรามักจะพูดจาเสริมกิเลสกันและกันเมื่อเจอกับคู่แต่งงานที่ยังไม่มีลูกว่า , เมื่อไหร่จะมีน้อง , ไม่อยากมีหรอ , มีลูกเร็วๆนะ เดี๋ยวจะโตไม่ทันใช้ ,เมื่อไหร่จะมีลูกมาให้พ่อกับแม่ดูล่ะ ฯลฯ สารพัดถ้อยคำที่คอยกระตุ้นโลกธรรมของเราให้สั่นไหว คนที่พ่ายต่อโลกธรรมมักจะหลงไปในคำพูดยุยงของกิเลส หลงเชื่อไปตามโลก มีลูกไปตามโลก เพื่อที่จะเสพสมใจบางอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั่นเอง

2.4) ปมด้อย…คนบางคนมีปมด้อยที่ฝังมาตั้งแต่เด็กๆ เช่นพ่อแม่เลี้ยงมาไม่ถูกใจ ไม่สมดังใจหมาย ได้รับการดูแลที่รู้สึกว่าไม่เป็นมาตรฐาน เกิดเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ สะสมลงจนตกผลึกกลายเป็นปมด้อย เป็นอัตตาตัวหนึ่ง

มีให้เห็นไม่น้อยกับคนที่สนองตัณหาลูกด้วยปมด้อยของตัวเองเช่น สมัยตนเองเด็กๆไม่ได้ของเล่น พอมีลูกเลยระบายปมด้อยนั้นลงที่ลูก ซื้อของเล่นให้ลูกอย่างเต็มใจเพราะต้องการใช้ลูกเป็นสื่อในการสนองสิ่งที่ขาดในใจของตนเอง

ในมุมของความอยากมีลูกคนที่มีปมด้อยจะรู้สึกในใจอยู่ลึกๆว่าตนเองนั้นน่าจะทำได้ดีกว่าพ่อแม่ที่เลี้ยงมา คิดว่าจะทำให้ดีกว่าถ้าได้ทำ อยากจะสร้างลูกขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ปมด้อยตัวเองว่าฉันทำได้ นี่ไงฉันเลี้ยงลูกได้ดีกว่า เป็นการใช้ลูกมาเป็นเครื่องสนองปมด้อยตัวเองไปในตัว

2.5) หลงในธรรมชาติ…ความเข้าใจที่ว่าการใช้ชีวิตหรือการปฏิบัติธรรมคือธรรมชาตินี่แหละคือความเห็นที่ทำให้เข้าใจผิดว่าคนเกิดมาแล้วต้องสืบพันธุ์ออกลูกออกหลาน แม้ว่าในสังคมปัจจุบันจะมองดูเหมือนเป็นความสมบูรณ์ของครอบครัว เป็นผลแห่งความสุขในชีวิตคู่ เป็นหน้าที่ของคนในสังคม การจะมีความเข้าใจเช่นนี้ก็คงไม่ผิดไปจากหลักของโลกนัก

แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้ว่า สิ่งที่เราเกิดมาแล้วควรละเสียคือการเสพเมถุน ท่านว่าแค่ใช้อาศัยเกิด แต่เกิดมาแล้วไม่ต้องไปทำแบบนั้น แทบไม่ต้องพูดถึงการมีลูกเลย เพราะท่านให้ละการสมสู่แล้วเรื่องลูกนี่ยังไงก็ต้องละเว้นอยู่แล้ว

คนที่หลงติดหลงยึดก็จะมองว่าไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งก็ถูกของเขา เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ สวนทางกับธรรมชาติ คนอื่นเขายินดีในการมีลูกกัน แต่สาวกของพระพุทธเจ้าต่างไม่ยินดี นี่มันขัดกับธรรมชาติอย่างชัดเจน

ถ้าให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติคนก็ไม่ต้องมีศีลธรรมกันมากนัก ปล่อยไปตามธรรมชาติ เสพกิเลสไปตามธรรมชาติและเสื่อมไปตามธรรมชาติ เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปตามธรรมชาติ แต่ถ้าอยากเป็นธรรมชาติก็ไม่ยาก แค่ปล่อยไปตามสบายไม่ต้องศึกษาธรรมะให้มันหนักหัว ปล่อยให้มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ทำใจยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นเอง ว่าแล้วก็เสพเมถุนสมสู่คู่ครอง มีลูกกันต่อไปตามธรรมชาติ

การมีลูกไม่ใช่คำตอบในชีวิตคู่ ไม่ใช่ความสมบูรณ์ของคู่ครอง ความรักไม่ได้ทำให้เกิดลูก แต่เป็นความใคร่ เสพเมถุน สมสู่กันจนเกิดลูก ดังที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม มีเด็กจำนวนมากเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ และเด็กจำนวนมากเกิดขึ้นมาโดยไม่มีวันได้ลืมตาดูโลก

การที่เรารู้สึกยินดีรักใคร่ในตัวของคู่ครอง เราเข้าใจว่าคู่ครองเป็นคนดี แต่ก็ไม่ได้หมายว่าลูกจะเป็นคนดี คู่ครองเรายังพอจะเลือกเฟ้นได้บ้างจากศีลธรรม แต่ลูกนั้นเลือกไม่ได้ เป็นใครก็ไม่รู้มาเกิด เรากำลังจะเชิญใครก็ไม่รู้เข้ามาในชีวิตคู่ให้มันยุ่งเหยิงขึ้นไปอีก เลือกก็เลือกไม่ได้ แถมยังต้องมาคอยบำรุงบำเรอกิเลสลูกจนกลายเป็นภาระอีก เป็นทุกข์ตามธรรมชาติของคนมีกิเลสจริงๆ

การที่เราจะสวนกระแสธรรมชาตินั้นไม่ได้มีผลให้จำนวนประชากรในโลกลดลงแม้แต่น้อย ในแต่ละวันนี้แค่ในประเทศไทยก็มีคนเกิดวันละ 2000 กว่าคนแล้ว ส่วนคนที่จะมาลดความอยากได้นั้นจะมีสักกี่คน ใครจะยอมเสียสละไม่มีลูก ใครจะมีปัญญาเห็นได้ว่าการมีลูกนั้นเป็นทุกข์

เมื่อสถิติในประเทศนั้นเกิดปีละ 7-8 แปดแสนคนต่อปี นี่แค่ในประเทศนะถ้าทั่วโลกจะเยอะขนาดไหน เพราะการมีลูกนี่มันไม่ได้เกิดด้วยปัญญาแต่มันเกิดด้วยอวิชชา ไม่ต้องมีปัญญาก็มีลูกได้ คนป่าก็มีลูกได้ แล้วยังไงล่ะ เราก็มีอัตตาซ้อนว่าเราจะผลิตลูกที่เก่งและดีขึ้นมาเพราะเราหลงว่าตัวเราเก่ง เราฉลาดขนาดนี้ลูกเราต้องดีแน่นอน โดยที่ไม่รู้เลยว่าลูกที่จะมาเกิดนั้นจะเป็นใคร เดรัจฉานกลับชาติมาเกิดหรือเจ้ากรรมนายเวรกลับมาทวงหนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน

คนมีปัญญานี่เขาจะไม่เป็นไปตามธรรมชาตินะ เขาจะไม่เห็นด้วย เพราะเขาเห็นอยู่เต็มๆตาว่ามันเป็นทุกข์ มีลูกยังไงมันก็เป็นทุกข์ มันไม่มีสุขเลยสักนิด แล้วจะไปเป็นทุกข์ให้มันโง่ทำไม ทุกวันนี้ก็โง่พออยู่แล้วจะไปหาเรื่องหาภาระใส่ตัวอีกทำไม แต่เขาก็ไม่ได้เกลียดนะ ไม่ได้ชังเด็กหรือชังคนมีลูกแต่อย่างใด เพราะเข้าใจว่าโลกก็แบบนี้ คนที่เป็นไปตามโลกก็แบบนี้ การใช้ชีวิตดำเนินไปตามธรรมชาติในโลกของกิเลสมันก็แบบนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

12.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มะเขือเทศสอนธรรม : ปลูกอย่างได้อีกอย่าง

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,907 views 0

มะเขือเทศสอนธรรม : ปลูกอย่างได้อีกอย่าง

มะเขือเทศสอนธรรม : ปลูกอย่างได้อีกอย่าง

…ข้อคิดจากการปลูกต้นไม้กับการเลี้ยงดูบุตรและดูแลจิตวิญญาณ

บางครั้งเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นก็สามารถสอนให้เราเข้าใจธรรมได้ คนที่คอยเฝ้าสังเกตและจับใจความของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นโดยแยบคายก็อาจจะเจอความหมายที่ซ่อนอยู่ก็เป็นได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องบังเอิญในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องต้นไม้ของแม่ แม่เป็นคนที่ชอบปลูกต้นไม้และเริ่มจะปลูกผักไม่นานมานี้ แม่สนใจที่จะปลูกพริกหวาน ซึ่งเก็บเมล็ดมาจากลูกที่ซื้อมากิน แต่ผักส่วนมากที่ปลูกนั้นก็ไม่ได้เติบโตจนเห็นผลได้เท่าไรนักด้วยข้อจำกัดของแสงในพื้นที่ จนกระทั่งแม่ได้ลองย้ายต้นกล้ามาปลูกบนชานบ้านที่โดนแสงเต็มวัน ต้นพริกหวานที่แม่ปลูกไว้ค่อยๆโตขึ้นอย่างรวดเร็วผิดกับที่เก่าที่เคยอยู่

จนกระทั่งวันหนึ่งต้นพริกหวานที่เคยมั่นหมายได้ออกดอกออกผล แต่ผลนั้นกลับกลายเป็นมะเขือเทศ??? แม่เองยังเข้าใจว่าตนเองนั้นได้ปลูกพริกหวาน เพราะว่าเพาะเมล็ดกับมือ อีกทั้งไม่มีความสนใจที่จะปลูกมะเขือเทศอีกด้วย

แน่นอนว่าจริงๆแล้วแม่ปลูกมะเขือเทศตั้งแต่แรก แต่ความเข้าใจผิดนั้นเริ่มตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้ ผมเองก็ไม่เคยเห็นซองเมล็ดมะเขือเทศที่แม่ซื้อมาสักครั้งเดียว เพราะปกติจะดูเมล็ดพันธุ์ที่แม่ซื้อมาอยู่เหมือนกัน และแม่เองก็ไม่เคยสนใจหรือเก็บเมล็ดมะเขือเทศเช่นกัน ความเป็นไปได้อย่างเดียวคือซื้อเมล็ดพันธุ์ผิดตั้งแต่แรก ….แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ยังไม่เข้าถึงสาระสำคัญ

1). เลี้ยงไม่โต

การจะได้เห็นผลนั้นไม่ได้ง่ายเพียงแค่ปลูกแล้วรดน้ำ ยังมีปัจจัยที่ส่งผลหลักนั่นคือแสงแดด ต้นไม้แต่ละชนิดใช้แสงแดดในการสังเคราะห์ชีวิตไม่เท่ากัน บางต้นแดดน้อยก็งามดี บางต้นแดดมากจึงจะโต ต้นไม้ทุกต้นมีข้อกำหนดในการเติบโตของมันอยู่ มันควรจะได้รับธาตุอาหารเท่าไหร่นั้นไม่มีใครรู้ เราซึ่งเป็นผู้ปลูกต้นไม้นั้นต้องคอยสังเกตเองว่าสิ่งที่เราให้ไปนั้น เป็นไปในทิศทางที่เจริญหรือเสื่อมลง

เหมือนกับการเลี้ยงดูเด็กสักคนหนึ่ง เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเขาต้องการอาหารแบบไหน ที่จะทำให้ร่างกายและจิตใจของเขาเจริญไปในทางบวก การเลี้ยงดูแบบไหนจะทำให้เขาเติบโตเป็นคนดี เราต้องเฝ้าสังเกตเป็นนักวิเคราะห์ นักสถิติ ใส่ใจมากพอที่จะเลี้ยงเขาให้เกิดผลดีได้

เราไม่สามารถใช้ตำราอ้างอิงวิธีการปฏิบัติกับเด็กทุกคนได้ คนเราทุกคนมีกรรมต่างกัน เราจึงไม่สามารถใช้ค่ามาตรฐานวัดใครได้ เราไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กคนนี้ต่ำหรือสูงกว่ามาตรฐานเพราะเขานั้นมีมาตรฐานตามกรรมของเขาเอง เขาจะโตได้ก็ต่อเมื่อเขาได้รับปัจจัยที่เหมาะสมกับกรรมของเขา

หากเราเป็นคนปลูกต้นไม้ที่ไม่ได้ใส่ใจองค์ประกอบของต้นไม้ต้นนั้น แม้ว่าจะรดน้ำดูแลทุกวัน ใส่ปุ๋ยพรวนดิน แต่หากขาดธาตุที่ต้นไม้นั้นต้องการ แม้ว่าเราจะรักและใส่ใจเพียงใดแต่กลับไม่เรียนรู้ที่จะเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้นั้น เราก็จะไม่มีวันเห็นมันโตดังที่ใจเราหมาย

2). ปลูกพริกหวานได้มะเขือเทศ

ในเรื่องตัวอย่างเราจะเห็นได้ว่าตอนแรกตั้งใจปลูกพริกหวานแต่กลับโตมาเป็นมะเขือเทศ ในหัวข้อนี้แบ่งออกได้เป็นสองมุม

2.1)ปลูกอย่างได้อีกอย่าง

ความบังเอิญในการปลูกต้นไม้ผิดจากที่คิดไว้นั้นยังพอสามารถหาต้นตอหาสาเหตุได้ แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการสร้างบุตรสักคนนั้นกลับเป็นเรื่องเร้นลับยากจะหาคำตอบ

แน่นอนว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดต่างหมายมั่นว่าตนนั้นจะเป็นผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์ที่ดีงาม จะสร้างเด็กที่เป็นคนดี เป็นคนเก่ง เป็นคนแข็งแรง เป็นคนฉลาด สารพัดคุณสมบัติที่ดีตามแต่จะฝันไปได้ เปรียบเสมือนกับเราเลือกซองเมล็ดผักมา ก็คิดว่าผักที่ปลูกนั้นจะเป็นดังใจหวัง

เด็กที่มาเกิดนั้น เขาเกิดมาพร้อมความหวังของพ่อแม่ แต่ความหวังนั้นไม่ใช่ความจริง เมื่อวันที่ถึงเวลาอันควร ความจริงก็จะปรากฏให้เห็นว่าสิ่งที่เราคาดหวังนั้นไม่ได้เป็นดังใจหวังเสมอไป เหมือนกับที่ปลูกพริกหวานได้มะเขือเทศ แต่เรื่องของลูกนั้นซับซ้อนยิ่งกว่า มันผิดพลาดตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้สาเหตุ พ่อก็เป็นคนดี แม่ก็เป็นคนดี แข็งแรงสุขภาพดี แต่ลูกเกิดมากลับพิการ งอแงเอาแต่ใจ โตมานิสัยไม่ดี

เรื่องแบบนี้มีให้เห็นเป็นปกติ เราผิดพลาดกันตั้งแต่ตอนไหน? ก็ตั้งแต่ที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าเราเลือกซองเมล็ดผักมาปลูกนั่นแหละ ไม่มีใครรู้หรอกว่าเมล็ดในซองเมื่อเพาะแล้วจะงอกออกมาเป็นต้นรูปร่างลักษณะอย่างไร หรือผิดเพี้ยนไปแบบไหน เหมือนกับเมื่อเราคิดจะมีลูก เราก็ดูดีแล้วนะว่าพ่อก็เป็นคนดี แม่ก็เป็นคนดี เราก็มั่นใจว่าลูกเราจะต้องดีแต่มันไม่ใช่เสมอไป เรื่องโลกมันไม่เที่ยงเพราะเขาก็มีกรรมของเขามาเกิด กรรมของเขาเท่านั้นที่จะกำหนดชีวิตของเขา ไม่ใช่เราที่เป็นคนปลูก คนปลูกหรือพ่อแม่นั้นเป็นเพียงผู้ที่รับผลของกรรมที่ตัวเองปลูกเท่านั้น

แต่ใช่ว่าปลูกอย่างได้อีกอย่างจะไม่ดีเสมอไปเพราะก็มีหลายกรณีที่พ่อแม่ก็ไม่ได้คิดจะมีลูกแต่เด็กก็มาเกิดแล้ว หรือไม่มีเวลาใส่ใจดูแลลูก แต่เด็กเหล่านั้นก็เติบโตเป็นคนดีได้ ทั้งนี้เพราะเมล็ดพันธุ์หรือเด็กเหล่านั้นมีกรรมดีอยู่แล้ว เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีอยู่แล้ว ไปตกที่ไหนก็โตได้ แม้จะแห้งแล้งกันดารก็โตได้ แบบนี้ก็มีเหมือนกัน

2.2) กลายพันธุ์จากการเลี้ยงดู

แต่ก็ใช่ว่ากรรมเก่าจะเที่ยงไปทั้งหมด เหมือนกับที่เราซื้อเมล็ดผักมาปลูกบางทีมันก็มีการกลายพันธุ์จากการเลี้ยงดูของเรา เช่น ใส่สารเคมีมากเกินไป ให้แดดน้อยไป ให้น้ำมากไป แม้ว่าผักนั้นจะอยู่ได้แต่มันก็จะอยู่แบบปรับตัวตามปัจจัยเท่าที่มีจนกระทั่งแข็งแกร่งขึ้นวิวัฒนาการกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่

การกลายพันธุ์เป็นได้ทั้งในด้านร้ายและดี แม้เมล็ดพันธุ์นั้นจะเป็นเมล็ดที่มีคุณภาพ แต่หากเราใส่ปุ๋ยบำรุงมากเกินไป ให้ปัจจัยที่ไม่เหมาะสมกับมันจนเกินไปมันก็จะกลายพันธุ์ได้ เหมือนกับการเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง เนื้อแท้ของเด็กนั้นดีอยู่แล้ว แต่พ่อแม่กลับคอยสนองกิเลสให้ลูก คอยบำรุงบำเรอให้ลูก ทำผิดก็ไม่ตักเตือน ไปแกล้งคนอื่นก็ยังว่าคนอื่นผิด แบบนี้ก็เป็นกรรมใหม่ที่ทำให้ลูกเสียคน กลายพันธุ์ไปในทางเสื่อมได้เช่นกัน

ส่วนในทางดีนั้น เช่น แม้เมล็ดพันธุ์นั้นจะด้อยคุณภาพ แต่ถ้าให้การบำรุงที่เหมาะสมก็อาจจะเจริญไปด้านดีได้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่เกิดมาในสังคมที่ไม่ดี มีสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมจากศีลธรรม แต่ถ้าพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูคอยเป็นตัวอย่างในทางที่ดี สอนที่สิ่งที่ดี พาให้เป็นคนดี ประหยัด มีน้ำใจ เสียสละ แบบนี้ก็เป็นกรรมใหม่ที่ทำให้เกิดความเจริญขึ้นได้ เป็นการกลายพันธุ์ที่เป็นไปในทิศทางที่ดี

3).ผลที่แท้จริง

ต้นไม้กับคนก็คล้ายกันอยู่อย่างหนึ่งคือถ้าให้ปัจจัยที่เหมาะสมก็จะให้ผลที่เหมาะสมเช่นกัน หลังจากที่เราเฝ้าสังเกตและเข้าใจกับต้นไม้ต้นนั้น เมื่อเราตัดความเชื่อที่บอกต่อกันมา ความรู้พื้นฐานบางอย่าง หรือมาตรฐานทั่วไปที่ใช้กับต้นไม้ต้นนั้น หันมาใช้ความรู้ใหม่ที่ได้จากการสังเกตจริง เป็นของจริง เป็นความเข้าใจที่ทำให้เกิดผลเจริญจริง เราก็จะมีโอกาสได้เห็นผลที่สวยที่สุดของต้นไม้ต้นนั้น

เช่นเดียวกับเด็กคนหนึ่ง การที่เขาจะเติบโตและสร้างสิ่งที่ดีงามหรือประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น ส่วนหนึ่งก็จะเกิดจากการดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ การเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจตามกรรมของเด็กคนนั้น ปล่อยวางอัตตาความยึดมั่นถือมั่น เลิกเปรียบเทียบ เลิกตั้งความหวังเพื่อตนเอง และเลี้ยงดูเอาใจใส่ตามปัจจัยที่เหมาะสมที่สุดกับเด็กคนนั้น

เด็กคนนั้นจึงจะมีโอกาสที่จะได้แสดงให้เห็นถึงผลจริงๆที่เขามี ไม่ใช่ผลตามมาตรฐานตามที่เป็น ผลที่เกิดขึ้นจริงนั้นไม่จำเป็นต้องสูงกว่ามาตรฐาน แต่จะถูกต้องและดีที่สุดตามกรรมที่ทำได้ เป็นขีดสูงสุด เป็นที่สุดแห่งกุศลที่หนึ่งจิตวิญญาณจะกระทำได้

…ทุกวันนี้เราผ่านมาเท่าไหร่แล้ว 20 , 30 , 40 , 50 ,… ปี เราเคยเห็นผลเจริญของตนเองบ้างหรือยัง? เราอาจจะเห็นผลทางโลก เป็นไปตามโลก ตามมาตรฐานโลก โดยทั่วไปคือมีปัจจัยสี่ มีอาหาร มีที่อยู่ มีเครื่องนุ่งห่ม มียารักษาโรค หรือกระทั่งการมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ปัจจัยเหล่านั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่เป็นไปในทางโลก สิ่งที่พาให้วนอยู่ในโลก

ผลที่แท้จริงไม่ใช่การเกิดมาแค่เรียนรู้ ทำงานหาเงิน ใช้ชีวิต มีครอบครับ แก่ แล้วก็ตายไปหรอกนะ แบบนี้พระพุทธเจ้าเรียกว่า “โมฆะบุรุษ” คือคนที่เกิดมาเสียชาติเกิด เกิดมาใช้ชีวิตสร้างบาป สร้างกรรมชั่วมากกรรมดีนิดหน่อยแล้วก็ตายไปฟรีๆหนึ่งชาติ แล้วก็เกิดมาใหม่วนเวียนไปแบบนี้ สะสมโลกธรรมเสพสุขอยู่ในโลกไม่จบไม่สิ้น ดังนั้นชีวิตหนึ่งที่เกิดมาจึงไม่มีความสำคัญใดๆเลยหากว่าไม่สามารถทำให้เกิดผลที่แท้จริงได้

ผลที่แท้จริงของหนึ่งดวงจิตวิญญาณนั้นไม่ใช่แค่เพียงความสำเร็จทางโลก ความมั่งคั่ง ความมีชื่อเสียง ความสุขลวงๆ สิ่งเหล่านี้เป็นผลปลอมๆ เป็นของลวงที่หลอกเราไว้ให้หลงในผลเหล่านี้จนไม่สามารถสร้างผลที่แท้จริงได้

และเมื่อขึ้นชื่อว่าผลที่แท้จริง ก็ย่อมเกิดได้ยากยิ่งเช่นกัน เพราะต้องทวนกระแส ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามโลก ขัดกับโลก สวนทางกับโลกโดยสิ้นเชิง ผู้ที่พากเพียรปฏิบัติอย่างถูกตรงย่อมสามารถสร้างผลที่แท้จริงให้เจริญขึ้นมาได้ ดังเช่นเหล่าพุทธบริษัทในศาสนาพุทธ

พระพุทธเจ้าผู้เป็นเสมือนพ่อและพระอริยะสาวกผู้เป็นเสมือนแม่ คอยพร่ำสอนขัดเกลาเหล่าลูกผู้เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์แห่งความดีจนเจริญเติบโตให้ผลที่แท้จริงได้จนส่งต่อผลเจริญเหล่านั้นผ่านมาหลายยุคหลายสมัย เป็นธรรมะที่สามารถพาเราและท่านเข้าสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนใจปัจจุบันนี้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

11.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทางที่ไร้เป้าหมาย

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,478 views 0

ทางที่ไร้เป้าหมาย

ทางที่ไร้เป้าหมาย

…เมื่อเส้นทางที่เดินและจุดหมายที่ไปนั้นไม่มีวันจบสิ้น

การปฏิบัติธรรมหรือการพัฒนาทางด้านจิตใจใดๆก็ตาม หากไม่ได้เป็นไปเพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลส การกระทำเหล่านั้นก็เหมือนกับการกระทำที่ไม่มีเป้าหมาย เมื่อไม่มีเป้าหมายจึงไม่เดินทางต่อ ไม่ปฏิบัติต่อ จึงยึดมั่นถือมั่นไว้กับที่ตรงนั้น

การเดินทางของจิตวิญญาณใดๆก็ตามล้วนแต่แสวงหาเป้าหมาย แต่การจะรู้ว่าเป้าหมายอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไรและต้องเดินทางไปทางใดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง คาดเดาเอาเองได้เลย ถึงคิดไปมันก็จะผิด ถึงจะพยายามเดินไปก็จะเป็นการเดินทางที่ผิด เป็นเป้าหมายที่ผิดเป้าหมายมีอยู่แต่เหมือนไม่มีอยู่เพราะไม่มีจุดจบ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในอวิชชาสูตร ว่าด้วยเรื่องการเกิดอวิชชานั้นเกิดจากการไม่คบหาสัตบุรุษไม่คบหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ที่พาพ้นทุกข์ สัตบุรุษนั้นคือผู้รู้ทางธรรมในพระพุทธศาสนา รู้มรรค คือรู้ทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ รู้นิโรธ คือรู้สภาพดับทุกข์ ซึ่งสภาพที่รู้คือสัมมาอริยมรรคและสัมมาวิมุตติ คือวิถีทางแห่งการพ้นทุกข์ที่ถูกต้องจนกระทั่งไปถึงความหลุดพ้นจากกิเลสที่ถูกต้อง

สัตบุรุษคือผู้ที่สามารถชี้ให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ คือชี้ให้เห็นทุกข์ ชี้ให้เห็นเหตุแห่งทุกข์ ชี้ให้เห็นถึงการดับทุกข์ จนกระทั่งสอนวิธีให้เดินทางไปสู่การดับทุกข์นั้น คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นหมายถึงการแสดงให้เห็นถึงมรรคผลได้

ถ้าหากว่าเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาแม้ผู้เจริญกว่า เราก็จะไม่มีใครมาชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของกิเลส ไม่มีตัวอย่างให้เห็นว่าขั้นกว่าของการไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีตัวอย่างที่ดีให้เรียนรู้ ก็มักจะเดินทางผิดเดินหลงทางแต่จะเข้าใจว่ากำลังเดินไปในทางที่ถูก ถึงแม้ว่าจะพบจุดหมายปลายทางแต่จุดหมายนั้นก็อาจจะไม่ใช่จุดหมายที่ถูกก็ได้

เมื่อเราพอใจกับสภาพที่มี พอใจกับศีลที่มี นั่นก็เพราะเราไม่ศรัทธาในศีลที่มากกว่า ไม่เชื่อว่าความสุขที่มากกว่านั้นมี เราจึงยึดสภาพที่สุขน้อยทุกข์มากอยู่เช่นนั้นเพราะเข้าใจว่าตอนนี้ดีแล้วตอนนี้ก็สุขมากแล้ว เหตุนั้นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษไม่มีตัวอย่างแห่งความเจริญ เมื่อไม่คบหาสัตบุรุษก็ไม่ได้ฟังสัจธรรมที่พาพ้นทุกข์ ถึงแม้เราจะฟังธรรมมากขนาดไหนแต่ถ้าธรรมนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลสก็ไม่ใช่ธรรมที่พาพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นกัลยาณธรรม เป็นธรรมของคนดี ธรรมที่ทำให้ทุกคนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาดับกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลสก็จะยินดีในกิเลส วนเวียนอยู่ในโลกแห่งการเสพกิเลสและพอใจในศีลที่ตนตั้งอยู่

ถึงแม้จะไม่มีสัตบุรุษแต่ผู้มีปัญญาย่อมหาทางทำให้ตัวเองเจริญมากขึ้น พระไตรปิฏกนั้นยังมีข้อปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อีกมากมาย ยังมีศีลที่ขัดเกลากิเลสอีกมาก ผู้มีปัญญาย่อมแสวงหาหนทางเพื่อเข้าถึงศีลเหล่านั้น ในส่วนคนที่หลงผิดจะมองศีลเป็นเรื่องของพระ สนใจเพียงแค่ศีล ๕ ยินดีกับชีวิตฆราวาสในระดับศีล ๕ หรือต่ำกว่า ทั้งที่จริงผู้ครองเรือนนั้นสามารถถือศีลไปได้ถึงระดับศีล ๘ ถึง ๑๐ โดยที่ยังใช้ชีวิตปกติได้ อีกทั้งยังมีจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลอีกหลายข้อที่นำมาปฏิบัติได้

แต่คนมักจะเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องของพระ ทั้งๆที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติศีลปฏิบัติธรรมเช่นกัน ศีลเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราขัดเกลากิเลส การขัดเกลากิเลสไม่ใช่เรื่องของพระเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน เพราะกิเลสเป็นเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับทุกข์ แต่กลับจำกัดสิทธิ์ของตัวเองไม่ให้พบกับสุขไม่ให้ตัวเองได้เรียนรู้การขัดเกลากิเลส ไม่ยอมให้ตัวเองสุขไปมากกว่านั้น

เป็นเพราะอะไรเราถึงไม่ยินดีในศีลที่สูงกว่า นั่นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาผู้รู้สัจจะ ไม่มีคนพาทำ ไม่มีคนนำ ถึงจะเหมือนว่ามีคนชี้นำแต่ถ้าคนนั้นไม่มีสัจจะแท้ก็จะนำไปทางที่หลงผิดและเป้าหมายที่ผิดเช่นกัน

เป็นเรื่องยากที่คนจะยินดีในการปฏิบัติศีลที่สูงขึ้นเหตุนั้นเพราะมันขัดกิเลส กิเลสมันไม่ยอม ถือศีลแล้วทุกข์ใจ ซ้ำยังไม่เห็นเป้าหมายใดๆเพราะไม่รู้วิธีการถือศีลเพื่อล้างกิเลส สักแต่ว่าถือศีล ถือศีลเหยาะแหยะลูบๆคลำๆ ถือไปทั้งที่ไม่รู้สาระไม่รู้ประโยชน์ ไม่ได้ถือศีลด้วยปัญญา แต่ถือด้วยศรัทธาที่เป็นเพียงความเชื่อเพราะความกลัว กลัวไม่ได้บุญ กลัวบาป กลัวลำบาก จึงถือศีลนั้นๆ

ทั้งที่จริงแล้วศีลนั้นเป็นเครื่องมือในการช่วยชำระบาป บาปคือการสะสมกิเลส ศีลคือสิ่งที่จะมาขัดเกลากิเลส โดยใช้วิธีที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ตั้งแต่ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว วิธีเหล่านี้มีมานานแล้ว แต่คนมักไม่รู้ เข้าใจผิด หลงผิด เพียงเพราะไม่คบสัตบุรุษ ไม่ยินดีในศีล จึงมองศีลเป็นเพียงเรื่องงมงาย เป็นเพียงเรื่องของความยึดมั่นถือมั่น เป็นเพียงเรื่องของพระ นั่นเพราะเขาเหล่านั้นไม่รู้จักคุณค่าของศีล

ซ้ำร้ายยังใช้วิธีปฏิบัติที่ผิดและเข้าใจผลของการบรรลุธรรมผิด เอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปหลัง ปฏิบัติธรรมไม่เป็นไปตามลำดับ ปฏิบัติธรรมมักง่าย เร่งผล ล่าบริวาร หาลาภยศ หาชื่อเสียง เพื่อผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ได้พาละกิเลส ไม่ได้พาให้คลายจากกิเลส ไม่ได้ดับกิเลส เหล่านี้คือสภาพหลงทางหลงเป้าหมายดังจะเห็นได้มากมายในปัจจุบัน เป็นทางที่ไม่มีเป้าหมาย ถึงจะเดินทางไปก็วนเวียนกลับมาที่เดิม แล้วก็ต้องเดินหลงทางวนไปวนมาไม่รู้กี่ภพต่อกี่ชาติถึงจะเจอทางที่ถูก

ทางพ้นทุกข์นั้นมีทางเดียว ไม่มีทางอื่น คือสัมมาอริยมรรค ธรรมะนี้ไม่มีในศาสนาอื่น ไม่มีวิธีดับกิเลสเหล่านี้ในลัทธิอื่น ผู้ที่หลงเข้าใจไปว่าทุกทางก็พาถึงเป้าหมายได้เหมือนกันคือผู้ที่หลงทางตั้งแต่แรก แต่ถ้าจะกล่าวให้ถูกก็ได้คือทุกทางก็ถึงเป้าหมายเหมือนกันแต่ไม่ใช่ชาตินี้ อาจจะในชาติหน้า หรือชาติอื่นๆต่อไปก็ได้ จนกว่าจะมาพบและเข้าใจว่า “ทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี

ผู้ที่ไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ไม่คบหาสัตบุรุษจึงไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าสรุป ไม่กล้ากล่าวว่าทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว เพราะการที่เขาเห็นว่ามีหลายทางนั่นเพราะเขาไม่สามารถจับสาระหรือจับประเด็นของการพ้นทุกข์ในแบบพุทธได้ เข้าใจพุทธในเชิงของตัวเองตามที่ตัวเองนั้นหลงผิด

แม้จะได้ชื่อว่าพุทธ แม้จะได้บวชเป็นพระ แต่หากยังศึกษาและปฏิบัติในทางผิด มิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ ก็ไม่มีวันที่จะได้เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพุทธแต่ก็ไม่มีสัจจะของพุทธ เหมือนกลองอานกะที่เหลือแต่ชื่อกลอง แต่วัสดุเดิมนั้นถูกเปลี่ยนไปหมดแล้วไม่เหมือนเดิมแล้วไม่เหลือแก่นไม่เหลือเนื้อเดิมแล้ว

ศาสนาพุทธก็เช่นกัน ผ่านมาจนถึงวันนี้คำสอนและธรรมะได้เปลี่ยนผ่านมือกันมามาก ผ่านยุคสมัยมาก็มาก ผ่านกิเลสมาก็มาก ความเสื่อมนั้นยอมค่อยๆกัดกินแก่นสารสาระเป็นเรื่องธรรมดา จึงพากันสร้างลัทธิตามวิบากของตน สอนตามภูมิธรรมที่ตนเข้าใจ บางสำนักกลับหน้าเป็นหลัง กลับหลังเป็นหน้า เข้าใจว่าการพ้นทุกข์เป็นเรื่องง่ายๆแค่เข้าใจ หรือแค่ปล่อยวาง แม้ว่าการปฏิบัติทั้งหลายจะดูเหมือนว่ามีมรรคผลแต่ผลนั้นก็ไม่ได้พาดับกิเลสเป็นเพียงแค่รูปแบบหนึ่งของสมถะหรือการกดข่มจิต กดไว้ในภพแล้วติดอยู่ในภพเท่านั้น

หากการปฏิบัติของพุทธนั้นเข้าใจได้ง่ายจริง ทำไมพระพุทธเจ้าถึงต้องบำเพ็ญถึง 4 อสงไขยกับแสนมหากัป ทำไมต้องลงทุนลงแรงเหน็ดเหนื่อยทรมานขนาดนั้น นั่นเพราะธรรมะเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนไม่ได้ เดาเอาไม่ได้ ละเอียด และรู้ได้เฉพาะบัณฑิต คือผู้รู้สัจจะ รู้ธรรมของพระพุทธเจ้าเพราะมีธรรมนั้นในตนเอง หรือสัตบุรุษ

หลักตัดสินธรรมวินัยนั้นมีอยู่ คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอยู่ ศีลนั้นมีกำหนดอยู่ ความรู้ธรรมทั้งหลายยังมีให้อ้างอิงในพระไตรปิฏกอยู่ แต่หากเราไม่ฉลาดในการขวนขวายหาประโยชน์ใส่ตน ไม่คบหาผู้ที่เจริญกว่า ไม่ยินดีในศีลที่มากกว่า ทางที่เราเดินนั้นอาจจะเป็นเส้นทางที่ไร้เป้าหมาย ไม่มีจุดหมาย พาให้หลงวนเวียนไปนานแสนนานไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์