ธรรมะประยุกต์

คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงใหลไม้ประดับ

April 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,293 views 2

คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงใหลไม้ประดับ

คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงใหลไม้ประดับ

เมื่อการยึดมั่นถือมั่นของเรากลายเป็นการเสริมกิเลสให้กับผู้อื่น

ผมเป็นคนที่ชอบศึกษา เวลาอยากรู้อะไรก็จะหมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้น ให้เวลากับมัน คิดทบทวน วิเคราะห์ ตรวจสอบ การเรียนรู้ของผมมักเป็นไปในเชิงการทดลอง

เมื่อผมได้รับความรู้เรื่องไม้ประดับมา ผมก็มักจะแบ่งปันความรู้เหล่านั้นด้วยการพิมพ์บทความลงเว็บไซต์ ซึ่งตอนนั้นเองก็คิดเพียงแค่ว่าเป็นการแบ่งปันการเรียนรู้ แต่นั่นเองคือหลุมพรางที่ผมขุดไว้เพื่อฝังตัวเอง

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นไม่ใช่ของเราคถาคต” แม้ความรู้ที่ผมได้มานั้นจะสามารถทำให้ผมเติบโตไปในวงการไม้ประดับได้อย่างสบายๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่ความรู้ที่ดีเลย เพราะมันเป็นความรู้ที่พาให้หลงในสุขลวงทำให้เข้าถึงความสุขแท้ได้ช้าไปอีก

ผมศึกษาตั้งแต่บอนสี กระบองเพชร ลิ้นมังกร มีประสบการณ์มากมายที่ผมเปิดเผยและไม่ได้เปิดเผย แต่เพียงแค่สิ่งที่ผมเปิดเผยไปนั้น ก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนสนใจและหันมาเลี้ยงไม้ประดับแบบผมอยู่บ้าง และนั่นคือวิบากบาปที่ผมจะต้องรับต่อไป

ถ้าผมไม่ได้พิมพ์เรื่องราวเหล่านั้นออกมา เขาคงจะได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ ไม่ต้องมาหลงตามที่ผมหลง จะเห็นได้ว่าเมื่อเราหลงมัวเมาในสิ่งใดแล้ว เราก็จะมีโอกาสที่จะพาคนอื่นหลงตามไปด้วย ซึ่งเราต้องรับผิดชอบกรรมที่เราสร้างขึ้นมาทั้งหมดรวมถึงดอกผลของมันด้วย เพราะสิ่งนั้นมีเราเป็นเหตุ

ผมเองรู้สึกเสียใจและต้องขออภัยกับผู้ที่สนใจไม้ประดับเพราะผม ในตอนนี้คุณอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่ในวันที่คุณเข้าใจว่าสิ่งใดคือสาระแท้ของชีวิต และสิ่งใดไม่จำเป็นต่อชีวิต คุณก็จะเข้าใจได้เอง

ในบทความนี้ผมจะขอใช้โอกาสนี้ไขสภาวะและธรรมะทั้งหลายที่คิดว่ายังตอบไม่กระจ่างไปก่อนหน้านี้ ด้วยกัน 10 หัวข้อ ซึ่งค่อนข้างยาว ขอให้ท่านค่อยๆพิจารณากัน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นความเข้าใจตามที่ผมได้เรียนรู้มา ดังนั้นท่านมีสิทธิ์ที่จะคิดและเข้าใจต่างออกไป ไม่ใช่เรื่องผิด

1). ไม้ประดับคืออะไร?

ไม้ประดับนั้นก็คือสิ่งที่เข้ามาตกแต่ง เพิ่มเติมให้เกิดความงามขึ้น ในฐานของศีล 8 จะเห็นได้ว่าท่านให้งดเว้นการประดับตกแต่ง แน่นอนว่าหมายรวมถึงทุกอย่าง เพราะเป็นฐานแห่งการลด “กาม” (การเสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ไม้ประดับนั้นเป็นสิ่งที่เข้ามาสนอง “กาม” เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตเลย ดังจะเห็นได้ว่าคนโดยมากไม่เป็นทุกข์หากขาดไม้ประดับ ซึ่งต้องเข้าใจด้วยว่าการสะสมไม้ประดับนั้นต่างจากการปลูกต้นไม้ทั่วไป

เมื่อไม้ประดับเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิต แม้จะใช้ประโยชน์ได้ในบางกรณีแต่เราก็ไม่จำเป็นต้องนำมันเข้ามาในชีวิต คนที่เอาสิ่งไม่จำเป็นเข้ามาในชีวิตจนยึดมั่นถือมั่น ก็คือคนที่หลงไปตามกิเลส

2). ความสุขคืออะไร?

หลายคนบอกว่าเลี้ยงไม้ประดับแล้วมีความสุข ความสุขเหล่านั้นเป็นความสุขที่ได้เสพสมใจตามที่กิเลสบงการ ได้เสพจึงจะเป็นสุข ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ผู้หลงว่ากิเลสเป็นตัวเป็นตนจึงต้องหามาไม้ประดับมาเสพเรื่อยไป แม้จะหาไม่ได้ ได้มองรูปก็ยังดี ได้คิดถึงก็สุขใจ อาการเหล่านี้เป็นอารมณ์ของราคะแท้จริงแล้วสุขที่ได้รับนั้นคือทุกข์ที่ลดลง

กิเลสนี้มันร้ายมากนะ มันทำให้เราเห็นสุขลวงเป็นสุขจริง และทำให้มองไม่เห็นทุกข์เลย คนที่หลงสุขเขาจะสามารถเลี้ยงไม้ประดับได้อย่างไม่ทุกข์เลยนะ เพราะกิเลสมันบังตาจนมิดเลย

3). ทุกข์คืออะไร?

ทุกข์คือสภาพที่ทนได้ยากได้ลำบาก ในกรณีทุกข์ของคนที่หลงมัวเมาก็คือความอยากได้อยากเสพ เมื่อไม่ได้อย่างที่ตัวเองต้องการก็จะทุกข์ จึงต้องลำบากลำบนเบียดเบียนเพื่อไปแสวงหาสิ่งที่ตนอยากได้จึงจะเป็นสุข ถ้ากิเลสหนามากๆจะมองทุกข์ตัวนี้ไม่เห็นเลย

เมื่อไม่เห็นทุกข์ก็เลยไม่เห็นธรรม การจะเรียนรู้และศึกษากิเลสนั้นจำเป็นต้องเห็นทุกข์เสียก่อน จึงจะหาเหตุของทุกข์ในลำดับต่อไป จะเห็นได้ว่าเมื่อผมแสดงความเห็นว่าการเลี้ยงไม้ประดับเป็นภาระ เป็นทุกข์ หลายท่านมีความเห็นที่ต่างกันออกไป บ้างก็ว่าฉันไม่ทุกข์ บ้างก็ว่าหมดรักจึงทุกข์ บ้างก็ว่ามันมีแต่สุขนะ ฯลฯ

อันนี้เขายังไม่เห็นทุกข์ด้วยตัวเอง เรื่องทุกข์นี่มันบอกกันไปก็ไม่เข้าใจ มันต้องทุกข์เอง เจ็บเอง เรียนรู้เอง จึงจะเข้าใจ

4). สัมมาอาชีวะคืออะไร?

หลายท่านอาจจะยังเข้าใจว่าการประกอบอาชีพด้วยไม้ประดับนั้นสัมมาอาชีวะ ในข้อนี้อาจจะทำให้ท่านอกหักจนถึงขั้นไม่พอใจได้ ขอให้ตั้งสติดีๆ

สัมมาอาชีวะนั้นประกอบด้วย การเลี้ยงชีพที่ไม่โกง ไม่ล่อลวง ไม่ตลบตะแลง เป็นต้น และในมิจฉาวณิชชาว่าด้วยเรื่องการค้าที่ชาวพุทธไม่ควรทำ หนึ่งในนั้นคือ ค้าขายของเมา (มัชชวณิชชา) คำว่าเมานั้นถ้าแปลตื้นๆ เขาก็มักจะแปลกันว่าเหล้า แต่คำบาลีว่า สุรา เมระยะ มัชชะ นั้นแปลว่าเมาทั้งสามคำ แล้วเมานี้คืออะไร ก็คือมัวเมาในกิเลส หรือความหลงมัวเมา (โมหะ) นั่นเองแต่ทั้งสามคำนั้นเป็นความละเอียดในความเมาที่ต่างกัน สุรานั้นหยาบ มัชชะนั้นละเอียด นั่นหมายความว่าการค้าขายใดที่ทำให้เกิดการหลงมัวเมานั้นชาวพุทธไม่ควรทำ

ขอให้กลับไปทบทวนว่าสิ่งที่เราขายนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตจริงหรือไม่ ถ้ามันไม่จำเป็นแล้วเราขายได้อย่างไร เราก็ต้องล่อลวงผู้ซื้อ ต้นนี้งามนะ ต้นนี้หายาก เอากามคุณเช่น รูป สัมผัส เอาโลกธรรมเช่น ต้นนี้เขาฮิตกัน เอาอัตตาเช่น ต้นนี้เหมาะกับคุณ ไปล่อเขาให้ซื้อ มันก็เข้าเขตมิจฉาอาชีวะกันอยู่เห็นๆ อันนี้เป็นเรื่องลึก ถ้ามองตื้นๆก็จะทำต่อไปได้ เพียงแค่บาปโดยไม่รู้ตัวหรือว่ารู้ตัวแต่ก็ยอมเพราะหลงมัวเมาเช่นกัน

เราขายสิ่งที่ทำให้เขามัวเมาอยู่กับสิ่งไร้สาระและไม่เป็นประโยชน์นี้เป็นกุศลไหม? เป็นทางของชาวพุทธหรือไม่ หากจะบอกว่าสัมมาอาชีวะและสัมมาวณิชชาขอให้ทบทวนและศึกษาดีๆ เพราะวิบากกรรมนั้นเห็นได้ยาก กว่าจะรู้ก็มักจะสายไปเสียแล้ว

5). ทางสายกลางคืออะไร?

ทางสายกลางนั้นไม่ใช่ทั้งเลี้ยงไม้ประดับและไม่เลี้ยงไม้ประดับ แต่เป็นการไม่เลี้ยงโดยที่ไม่มีอัตตา พระพุทธเจ้าไม่เคยกล่าวทางสุดโต่งสอนด้านว่า “เธอจงเสพกามแต่ไม่ติดกาม” แต่ท่านสอนว่า “ให้เว้นขาดจากกาม แต่ไม่ให้ไปติดอัตตา

กามหรือความหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นี่ให้ตัดออกไปก่อนเลย เพราะไม่มีความจำเป็น เป็นสิ่งสิ้นเปลือง เป็นบาปที่แสบเผ็ดร้อน

แล้วอัตตาคืออะไร? อัตตาคือความยึดดี เช่นเราหลงติดกามในไม้ประดับอยู่ แล้วอยู่ๆเราก็ยึดดีว่าเราจะเลิก แต่กามมันยังมีอยู่ มันยังอยากได้อยู่ มันมองแล้วสวยอยู่ ทีนี้พอไม่ได้เสพมันก็จะเริ่มรู้สึกทุกข์ทรมาน อันนี้คือทางโต่งอีกด้านหนึ่ง

การประมาณทางสายกลางนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้ปัญญา ต้องลด ละ เลิกการเสพกามให้ได้ จนไม่ทำให้ตัวเองลำบากจนถึงขั้นทรมาน ขีดของทางสายกลางนั้นมันอยู่ตรงไหนไม่ใช่สิ่งที่จะคิดเอาได้ แต่มันต้องปฏิบัติเอาจึงจะรู้ได้เอง

6). ปลายทางของผู้ยึดมั่นถือมั่นคือทางไหน?

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวเองหลงนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อหลงในสิ่งใดก็จะเห็นแต่คุณค่าของสิ่งนั้น ว่าดี ว่าเลิศ ว่ามีประโยชน์ ใครมาบอกว่าไม่ดีก็จะรู้สึกไม่พอใจ เพราะตัวเองเห็นว่าดีจริงๆ นั่นก็ถูกแล้วเพราะถ้าคนมีกิเลสมันไม่ยึดกิเลสของตัวเองมันก็ผิดสัจจะ(คนเห็นผิด จะเห็นถูกเป็นผิด = ถูกของเขา)

ทีนี้มันอยู่ที่ทิศทางที่เดินไป ทางที่ไปนั้นเป็นทางพ้นทุกข์หรือไม่ สิ่งที่ทำนั้นทำไปเพื่ออะไร เพื่อการสะสมอย่างนั้นหรือ เพื่อการเสพสมใจอย่างนั้นหรือ เพื่อลาภ ยศ สรรเสริญอย่างนั้นหรือ นั่นคือทางพ้นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้นหรือ เดินไปทางตันแม้จะเดินไปได้ไกลอย่างไร ก้าวหน้าแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องเดินกลับมาอยู่ดี เพราะมันผิดทาง

ถ้ายึดสิ่งที่เป็นกุศลอยู่บ้างยังพอหาประโยชน์ได้ แต่ถ้าไปยึดสิ่งที่ไม่มีสาระ ไม่จำเป็นในชีวิต เป็นสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มันก็หลงทางเข้าป่าเข้าพงไปเลย

7). เลี้ยงอย่างมีสติได้จริงไหม?

ผมเห็นความเห็นในแนวทางนี้ ก็อยากจะเสนอความคิดเห็นว่า เรื่องนี้มันค่อนข้างซับซ้อน เราลองมาค่อยๆขยายคำว่า “เลี้ยงอย่างมีสติ” กันอย่างช้าๆ

คำว่ามีสตินั้นหมายถึงความรู้ตัว จะทำอะไรก็รู้ตัว ในมุมมองทั่วไปเราก็อาจจะประยุกต์ไม้ประดับมาช่วยในการเจริญสติได้เช่น ปลูกต้นไม้ รดน้ำ พรวนดิน

แต่ในความจริงแล้วต้องดูว่าเรามีสติอยู่บนพื้นฐานของอะไรต่างหาก ถ้าเราหลงไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเรายังจะเรียกสภาวะที่เรามีนั้นว่าสติได้อีกหรือ ในเมื่อมันตกอยู่ภายใต้การบงการของกิเลสตั้งแต่แรกแล้ว มันก็สติหลอกๆเท่านั้นแหละ เพราะมันไม่มีศีลมากั้นให้เห็นกิเลส ไม่มีปัญญามาพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดไม่จำเป็นของชีวิต

หากเรายังหลงอยู่ เราจะเรียกว่าเรามีสติได้อย่างไร มันก็หลงว่ามีสติเท่านั้นเอง หรือถ้ากล่าวให้ดูสวยๆก็คือ “หลงอย่างมีสติ” มันก็ย้อนแย้งกันอยู่ หลงแล้วจะมีสติได้อย่างไร ว่าแล้วก็โดนกิเลสหลอกให้เสพสะสมแล้วสุขสมใจอยู่กับสิ่งลวงนั่นแหละ

8). ภาระคืออะไร?

ภาระนั้นคือผล หรือวิบากบาปที่ต้องแบกไว้ ความหนักของภาระนั้นขึ้นอยู่กับปัญญาที่เกิดหลังจากเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น พอพระราหุลเกิด พระพุทธเจ้าท่านก็ อุทานว่า “ บ่วงเกิดแล้ว ” ว่าแล้วก็หนีไปบวชเลย นี่คือปัญญาของมหาบุรุษผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

คนเรานั้นมีปัญญาไม่เท่ากันในการที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นคุณหรือเป็นโทษ คนที่มัวเมาในกิเลสเขาก็ยินดีที่จะแบกกิเลสนั้นไว้ แม้มันจะสร้างทุกข์ บาป อกุศล เวรภัย ให้กับเขา แต่ก็เขาก็ยังเห็นว่าสิ่งนั้นดี เรียกว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

สรุปแล้วคนมัวเมาก็แบกกิเลสไปได้แบบไม่คิดว่ามันหนัก คนที่รู้ความจริงพอเห็นว่าหนักก็วางลงแค่นั้นเอง มันไม่ใช่เรื่องของความเบื่อ ความรัก หน้าที่ การงานหรืออะไรอื่นๆ มันเป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ ต่อตนเองและผู้อื่น

9). อัตตา

ผู้ที่หลงมัวเมามากๆ แม้จะไม่ได้แสดงอาการอะไรออกมา แต่โดยพฤติกรรมแล้วคือจากไม่ได้ พรากไม่ได้ ไม่ยอมแยกจากกัน คือสภาพของการยึดมั่นถือมั่นจนถึงระดับอัตตา

ความยึดนั้นมีความลึกที่แตกต่างกัน หลายคนเลี้ยงไม้ประดับเพราะมันสวยดี ขั้นนี้เขาติดกาม ถ้าแก้ที่กามก็จบ บางคนเลี้ยงเพราะโลกธรรมเช่น ชอบที่ตนเองเป็นกูรูไม้ประดับ ถ้าแก้ที่โลกธรรมก็จบ ส่วนที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือ ฉันชอบมัน มันคือชีวิตของฉัน ขาดมันฉันตาย ขาดฉันมันตาย อันนี้แก้ที่อัตตา แต่อัตตามันไม่ได้แก้ง่ายขนาดนั้น เพราะเป็นสภาพของการยึดที่ลึกและเห็นได้ยาก เป็นภัยน้อยแต่มาก

คือถ้ามองด้วยตาและตัดสินตามโลก เขาก็เป็นคนเลี้ยงไม้ประดับคนหนึ่งที่ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร แถมเป็นคนดีมีศีลธรรม ถ้าจะวัดโดยขีดของโลกนั้นมันก็ถูกของเขา แต่ในมุมของการทวนกระแสโลก คือหลุดจากการเป็นทาสของกามและอัตตาใดๆ การยึดมั่นถือมั่นในลักษณะนี้เป็นเหมือนคนที่ตกอยู่ในทะเลยางที่เหนียว ข้น และลึก ยากนักที่จะหลุดออกมาได้

เพราะเขาเหล่านั้นได้ผูกตัวตนของตัวเองไว้กับสิ่งเท่าเขารัก โดยที่เขาไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว กิเลสเหล่านั้นไม่ใช่ตัวตนของเขา เขาไม่จำเป็นต้องยึดแบบนั้น ถึงไม่ยึดก็อยู่ได้ มันไม่ใช่ตัวตนอะไรเลย มันไม่ใช่ความจริง เราไปสร้างมันขึ้นมาเองแล้วก็ยึดไว้เอง เรียกว่าอุปาทาน พอมีอุปาทานก็มีภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ อุปายาส กองทุกข์ทั้งมวลจึงเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปอย่างไม่รู้จุดหมาย

10). เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

การเห็นทุกข์นั้นเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะสามารถเห็นทุกข์ทั้งๆที่ยังหลงติดหลงยึดได้ แต่การเห็นทุกข์นั้นก็ต้องใช้ปัญญา และปัญญานั้นก็ใช่ว่าจะได้มาด้วยความบังเอิญ ต้องใช้การคิด พิจารณาประโยชน์และโทษให้ถี่ถ้วน ศึกษาใช้ธรรมอ้างอิงจนเข้าใจว่าสิ่งใดเป็นกุศลหรืออกุศล

ผู้ที่เห็นทุกข์ แม้จะยังไม่สามารถหลุดจากความอยากได้ แต่ก็ได้เปิดประตูแห่งอริยสัจแล้ว เราอาจจะต้องเรียนรู้ทุกข์ไปอีกหลายล้านชาติ หรือเพียงแค่จบบทความนี้ก็สามารถเห็นทุกข์ได้ทันทีแล้วแต่บุญบารมีที่แต่ละท่านสะสมมา

คนที่ไม่รู้จักทุกข์ก็จะไม่หาทางออกจากทุกข์ เขาเหล่านั้นก็จะยินดีที่จะจมลงในภพของการเสพสมในของกิเลสต่อไป ส่วนคนที่รู้แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะออกได้ง่ายนัก เพราะวิบากบาปที่เราได้ทำไว้นั่นแหละจะดึงรั้งเราไว้ ยกตัวอย่างเช่นเราเป็นร้านขายไม้ประดับ พอเรามีปัญญาเห็นคุณเห็นโทษแล้วมันจะเลิกไม่ง่ายนะ ลูกค้าจะไม่ยอม ไหนจะครอบครัว ค่าใช้จ่าย หนี้สิน คนงาน ไหนจะต้นไม้อีกมากมายที่จะเป็นภาระอีก เราหลุดออกไปไม่ได้ง่ายๆหรอก สร้างบาปไว้เยอะก็ต้องรับผลกรรมชั่วนั้นๆไปด้วย

คนที่เห็นโทษก็ให้ศึกษาหาทางออกในลำดับต่อไป คนที่ยังไม่เข้าใจก็ศึกษาเพิ่มเติมไปก่อน ส่วนคนที่ยังเห็นว่าเป็นสุขอยู่นั้นก็ขออภัยด้วยเพราะบทความนี้คงจะไปขัดใจท่านไม่มากก็น้อย ก็ถือซะว่าเราคิดต่างกัน แล้วก็ปล่อยวางมันไปเสีย

– – – – – – – – – – – – – – –

9.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เรียนรักจากผักเป็ด

April 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,764 views 0

เรียนรักจากผักเป็ด

เรียนรักจากผักเป็ด

เป็นเรื่องราวประยุกต์ระหว่างการดูแลต้นไม้กับการดูแลความรัก เพื่อให้เห็นภาพของความรักที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ

ผักเป็ด

ผมได้ปลูกผักเป็ดกระถางน้อยๆวางเรียงรายไว้ริมชานตรงที่แดดส่องถึง วันดีคืนดีก็นึกอยากลองใส่ปุ๋ยดูว่าจะเป็นอย่างไร ก็เลยลองใส่ปุ๋ยให้ต้นหนึ่ง อีกต้นหนึ่งไม่ใส่

ต่อมาไม่นานต้นที่ใส่ปุ๋ยมีสีเขียวเข้ม สดกว่าต้นไม่ใส่จนเกือบคิดไปว่าต้นไม้คนละชนิด เติบโตงอกงามดีมาก และงอกงามได้อยู่เป็นเดือนแม้จะเป็นการใส่ปุ๋ยแค่ครั้งเดียว

เวลาผ่านไปฤดูก็เปลี่ยน จากฤดูร้อนกลายเป็นฤดูร้อนมาก แดดในแต่ละวันนั้นแรงมากกว่าก่อนมาก วันหนึ่งก็ได้เดินไปดูผักเป็ดที่ปลูกไว้กลับพบว่าต้นที่ใส่ปุ๋ยนั้นได้เหี่ยวแห้งและดูเหมือนว่าจะตาย ส่วนต้นที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยกลับยังอยู่ แม้จะมีสภาพที่ดูแห้งๆแต่ก็ยังยืนต้นตรงและมีความเขียวอยู่

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมต้นที่ดูสมบูรณ์เขียวสดกลับตายก่อนต้นที่ไม่ได้รับสารอาหารอะไรเลย?

เรื่องรักและผักเป็ด

ความรักก็มักจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เหมือนกัน ดูแลเอาใจอย่างดี สถานการณ์ก็ดูราบรื่นดี แต่สุดท้ายกลับพังทลายลงในพริบตา มันเกิดอะไรขึ้น?

เรื่องของผักเป็ดได้สอนให้เราเห็นแล้วว่า ต้นที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยเลี้ยงดูตามธรรมชาตินั้นสามารถอดทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าต้นที่ให้ปุ๋ย นั่นเพราะเวลาเราให้ปุ๋ยมันเป็นสิ่งที่มักจะเกินธรรมชาติ คือไม่เป็นไปตามปกติที่ควรจะเป็น ดินไม่มีสารอาหาร แต่อยู่ๆก็มี ทำให้ผักเป็ดเติบโตจนเกินความพอดี จนกระทั่งวันหนึ่งการเติบโตที่เกินพอดีนั้นแหละที่ทำให้มันตาย

หากผักเป็ดต้นนั้นไม่ได้รับปุ๋ยมันก็จะไม่ตาย เพราะมันจะไม่โตเกินพอดี มันจะเก็บพลังงานของมันไว้อย่างเหมาะสม เมื่อมันโตเกินพอดี ก็จะมีการคายน้ำที่เกินพอดี เมื่อถึงเวลาอากาศเปลี่ยนแปลงดังเช่นร้อนขึ้น ความสมบูรณ์จึงเป็นภัยแก่ตัวมันเองในทันที

ความรักก็เช่นกัน เมื่อเราดูแลเอาใจจนเกินพอดี คนที่ไม่เคยได้รับการสนองกิเลส พอได้รับการบำรุงบำเรอกิเลสจนกิเลสอ้วน จนกระทั่งติดสุข ติดสบาย ติดคำหวาน ติดการเอาใจ ติดการสนองกิเลสใดๆที่อีกฝ่ายได้ให้ แต่ถ้าได้รับสิ่งที่ถูกใจ บำเรอต่อไปเรื่อยๆก็จะไม่มีปัญหาอะไรให้เห็น

แต่เมื่อความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้น เหมือนดังผักเป็ดที่เจอความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ในเรื่องความรักก็คงจะเป็นความเสื่อมของการสนองกิเลส เช่น เอาใจน้อยลง ให้เวลาน้อยลง คุยกันน้อยลง ประหยัดมากขึ้น เที่ยวน้อยลง ฯลฯ และเหตุอีกมากมายที่ทำให้สิ่งที่เคยได้เสพน้อยลง

คนที่กิเลสอ้วนก็จะเหมือนกับผักเป็ดต้นที่ใส่ปุ๋ย เมื่อเขาหรือเธอต้องพบกับสภาพของความเสื่อม เมื่อไม่ได้เสพเหมือนเคย ก็มักจะทุกข์ทรมานเกิดเป็นความเศร้าโศก คร่ำครวญรำพัน เสียใจ คับแค้นใจ เมื่อเกิดอารมณ์เหล่านี้ก็มักจะกลายเป็นการระเบิดตัวเองไปในตัว เหมือนกับผักเป็ดที่ได้รับปุ๋ยนั้นตายเพราะมันเจริญมากเกินไป

เมื่อไม่ได้เสพสมใจก็จะเริ่มออกอาการ หาเรื่องทะเลาะ เช่น ไม่เหมือนเดิมเลยนะ , เปลี่ยนไปรึเปล่า , มีคนอื่นรึเปล่า รวมถึงอาการหึงหวง โกรธ ไม่พอใจ ประชดประชัน งอน ร้องไห้ หรืออื่นๆอีกมากมาย ซึ่งอาการเหล่านี้นี่แหละคือการทำลายความรักด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่เหตุผลเพราะรักนั้นเสื่อมลงนะ แต่เป็นเพราะคนที่กิเลสอ้วนติดสุขจนยึดมั่นถือมั่นว่าต้องได้เสพอย่างเดิมต่างหากที่ทำลายความรัก

เพราะเมื่อคนเราไม่ได้ของที่ต้องการก็มักจะออกลีลาอาการต่างๆเพื่อที่จะทำให้ได้เสพเหมือนเดิม แต่ยิ่งทำมันก็จะยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันเรื่องธรรมดาที่ทุกอย่างต้องเสื่อมและถูกพรากจากไป การที่เราไปออกอาการนั้นเพราะเราหวงสุข พอยิ่งหวงก็ยิ่งพยายามเรียกร้อง พอเรียกร้องก็จะยิ่งเร่งการทำลายตัวเองไปในตัว

เรื่องนี้แม้จะดูเหมือนว่าปุ๋ยหรือกิเลสคือศัตรูร้าย แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือสภาพยึดกิเลสมาเป็นตัวเป็นตนของเราต่างหาก เพราะถ้าเราไม่ยึดกิเลส ไม่เสพสุขจากมัน เราก็ไม่ต้องทุกข์เมื่อไม่มีให้เสพ เหมือนกับผักเป็ดที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ย แม้ว่าจะถูกแดดเผาสักเท่าไรมันก็ยังอยู่ได้

คนก็เช่นกัน ถ้าไม่มีกิเลสสักอย่างมันก็ไม่ต้องไปทุกข์ ให้เสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ต้องสร้างสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็นของชีวิต ไม่ต้องไปเสพสิ่งที่ไร้ค่าไม่เป็นประโยชน์ จึงอยู่ทนทานแม้ว่าจะไม่ได้เสพอย่างที่คนอื่นเขาเป็นกัน

ความรักก็เช่นกัน หากเราปล่อยมันไปตามธรรมชาติ มันก็จะอยู่ของมันได้ ไม่ต้องไปดูแลมันมากเกินพอดี ปล่อยมันเป็นไปตามกรรมของมัน เท่าที่มันจะเป็นกุศลสูงสุด แม้มันจะดูไม่หวือหวาน่าลิ้มลองเหมือนดังรักที่ชุ่มไปด้วยกิเลส แต่รักแห้งๆเช่นนั้นก็จะมีความยั่งยืนยาวนานกว่า เพราะไม่เสริม ไม่เติมกิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ให้แก่กันและกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

8.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

April 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,462 views 0

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าในชีวิตหนึ่งของคนเรานั้นผ่านผู้คนมากมาย พบกันคบหากันจนกระทั่งความสัมพันธ์นั้นจบลง แต่เรามักจะไม่ยอมให้มันจากไป ยังกอดเก็บมันไว้ตลอดมา

ในบทความนี้จะขยายธรรมเพิ่มเติมไว้สองเรื่องคือ

  1. ปฏิจจสมุปบาทแบบย่อและประยุกต์มาอธิบายผ่านเรื่องความรัก
  2. การเริ่มต้นหาทางแก้ไขสภาพความยึดมั่นถือมั่นในแบบของพุทธ

= = = = = = = = = = = = = =

1). เหตุของการเกิดไปจนกระทั่งดับ

เนื้อหาหลักของบทความผ่าน พบ จบ จาก นั้นได้สื่อถึง “สภาพที่กิเลสเข้ามาแต่ไม่สามารถสะบัดให้หลุดได้” สภาพเช่นนี้สามารถยกตัวอย่างมาอธิบายได้มากมาย แต่เพื่อความต่อเนื่องจะขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันด้วยเรื่องของความรัก

จิตเดิมแท้ของเรานั้นแม้ว่าจะผ่องใส แต่ก็ไม่มีปัญญา เวลาได้เสพสุขอะไรบางอย่าง เมื่อเกิดสุข ทุกข์ จึงติดใจหรือผลักไสสิ่งนั้น ซึ่งสุดท้ายจะรวมลงไปที่อุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) กลายเป็นภพ (ที่อาศัย) และชาติ (การเกิดของกิเลสและการเกิดขึ้นในโลกแบบทั่วๆไป)

เช่นเมื่อเราได้รับความสุขจากสิ่งที่เราเหมาเรียกว่าความรัก ไม่ว่าคำหวานพูดเอาใจ ไม่ว่าการสัมผัสลูบไล้ ไม่ว่าอารมณ์ที่สาสมใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะติดสุข เกิดเป็นอุปาทาน กลายเป็นภพคือเราติดสภาพว่าต้องเสพเช่นนั้นเสมอ จึงกลายเป็นชาติ คือการเกิดความรู้สึกว่าจะต้องไขว่คว้าหาสภาพนั้นๆมาเสพ

ถ้าได้เสพสมใจก็เพิ่มความอยาก(ตัณหา)และความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปอีก สะสมลงไปจนกลายเป็นภพและชาติที่จัดจ้านขึ้นไปอีก คืออยากได้เสพสิ่งที่ทำให้สุขมากกว่านี้อีก ก็เพิ่มกิเลสกันไปเช่นนี้

จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมดลให้เกิดสภาพของการ “จบ” จะออกอาการเริ่มจากชรา คือความแก่ ในเรื่องความรักไม่ได้หมายถึงคนแก่ แต่หมายถึงสภาพของรักนั้นได้แก่และเสื่อมลง คือมันเสพก็ไม่สุขเหมือนก่อน ในระยะของความชรานี้เอง คือสภาพที่คนรักเริ่มเอือมระอา ทะเลาะกัน ไม่เข้าใจกัน งอนแต่ไม่ง้อ เป็นต้น

พอชราแล้วก็จะจบความรักนั้นที่สภาพของมรณะ คือตาย หรือ “จบ” ส่วนจะตายจากกันจริงๆ หรือความรักตายจนเลิกรากันนั้นก็คือจบเช่นกัน มรณะเช่นกัน คือสภาพที่เคยได้เสพนั้นได้ตายจากเราไปแล้ว

ทีนี้มัน “จบ” แต่มันไม่ “จาก” ก็ตรงที่กิเลสมันยังมีอยู่ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ มันยังมีครบอยู่ แต่ไม่ได้เสพสิ่งที่เคยได้เสพ ก็จะเกิดอาการ โศกเศร้า คร่ำครวญรำพัน เสียใจ คับแค้นใจ ความทุกข์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ด้วยเหตุเช่นนี้

ดังที่ได้กล่าวขยายธรรมะที่สอดแทรกอยู่ในบทความ ผ่าน พบ จบ จาก ด้วยการสรุปบางส่วนจากปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายได้ดังนี้

2).การหาหนทางแก้ไขสภาพ ผ่าน พบ จบ แต่ไม่ยอมจาก

จะเห็นแล้วว่าทุกข์นั้นเกิดจากสภาพหลงสุขจนยึดมั่นถือมั่น เราไม่ต้องใช้ปัญญาใดๆในการหลงสุข แต่การจะออกจากความหลงสุขเหล่านั้นจำเป็นต้องใช้ปัญญา ในระดับของวิชชาหรือวิมุตติซึ่งเป็นแก่นแท้ของศาสนาพุทธเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั้นเสีย

คนที่ทุกข์จากความรักจะพยายามสะบัด หลีกหนี กลบเกลื่อน ปัดทิ้ง กดข่ม โดยทั่วไปแล้วก็มักจะใช้วิธีสมถะ คือกดไม่ให้มันฟุ้งซ่าน ไม่ให้มันออกอาการ พยายามไม่ให้ทุกข์ด้วยหลากหลายวิธี แต่นั่นก็ยังเป็นวิธีทั่วไป ใช้กดภพ กดชาติได้ แต่ไม่สามารถทำให้ดับอย่างสิ้นเกลี้ยงได้

การแก้ไขสภาพจึงต้องใช้กระบวนการตามหลักใหญ่คืออริยสัจ ๔ คืออันดับแรกต้องเห็นทุกข์ สองคือต้องรู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่เห็นเหตุก็แก้ทุกข์ไม่ได้ สามคือจะกระทำความดับเช่นไร สี่คือกระบวนการสู่ความดับทุกข์นั้นกระทำอย่างไร ผู้ที่พยายามจะหาทางออกจากทุกข์อย่างถาวรจึงจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ธรรมให้กระจ่างแจ้ง

แล้วจะเรียนรู้อย่างไร เรียนอย่างไหน แบบไหนถึงจะถูก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอวิชชาสูตรว่า การเรียนสัจจะของพุทธนั้นต้องเริ่มจากพบสัตบุรุษ (คนผู้มีธรรมแท้) จึงจะได้ฟังสัจธรรม (ธรรมที่พาพ้นทุกข์) เมื่อฟังด้วยจิตที่ไม่ลำเอียงไม่ผลักไส จึงจะเกิดศรัทธา เป็นศรัทธาที่เห็นพ้องด้วยปัญญา ไม่ใช่แค่เชื่อตามๆกันมา เมื่อเกิดศรัทธาจึงทำใจในใจโดยแยบคาย พิจารณาลงไปถึงที่เกิด ด้วยความมีสติสัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อม จนสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เจริญถึงความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ จึงจะเจริญต่อไปได้ถึงสติปัฏฐาน นำไปสู่โพชฌงค์ จนกระทั่งถึงวิชชาและวิมุตติก็ถือเป็นการจบภารกิจในกิเลสเรื่องนั้นๆ

ดังจะเห็นได้ว่า การปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้อย่างแท้จริงนั้น ไม่ใช่สภาพที่จะคิดเอาได้ ไม่ใช่จะนึกเอาเองได้ ไม่ใช่จะกดข่มเอาได้ ไม่ใช่ว่าไปฟังเสียงนกร้องไก่ขันแล้วจะบรรลุธรรมหลุดพ้นได้ แต่ต้องเริ่มจากเรียนรู้สัมมาทิฏฐิ การเรียนสัมมาทิฏฐิก็ต้องเรียนจากคนที่มีสัมมาทิฏฐิ

จากอวิชชาสูตรนั้นจะเห็นได้ว่ากว่าจะบรรลุธรรมตามกระบวนการของพุทธนั้นยากแสนยาก ไม่ใช่ว่าจะไปกดข่มเข้าภพแล้วบรรลุธรรมกันง่ายๆแบบฤๅษี กว่าจะพบสัตบุรุษต้องใช้เวลาเท่าไหร่ และถ้าเจอแล้วเราจะมีโอกาสได้ฟังหรือเรียนรู้สัจธรรมไหม ได้ฟังแล้วจะเชื่อไหม จะเห็นตามได้ไหม เข้าใจได้ไหม จะศรัทธาไหม ศรัทธาแล้วจะโยนิโสมนสิการได้ไหม(ทำใจในใจโดยแยบคายพิจารณาลงไปถึงที่เกิด) จะยอมพิจารณาตามไหม จะยอมค้นลงไปไหม หรือจะฟังผ่านๆแล้วไม่เอาไปย่อยต่อ ไม่ทบทวนต่อเลย โยนิโสมนสิการได้แล้วจะสามารถมีสติสัมปชัญญะให้ถึงพร้อมได้ไหม ทำให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเป็นปกติ(เมื่อเจอผัสสะ)ได้ไหม ทำให้เกิดกาย วาจา ใจ สุจริตได้ไหม เจริญไปถึงสติปัฏฐาน ๔ เป็นไหม เข้าใจโพชฌงค์ไหม จะถึงวิชชาและวิมุตติไหม

การจะยอมจากได้จริงๆ มันไม่ได้ง่ายแค่ว่าเอาบทโพชฌงค์มาสวด เอาสติปัฏฐานมาแยกทำ หรือเอาธรรมะมาท่องจำนะ ถ้าทำได้อย่างนั้นจริงคนก็พ้นทุกข์กันหมดแล้ว แต่เพราะความจริงแล้วมันมีกระบวนการและขั้นตอนที่ละเอียดซับซ้อน และเป็นไปตามลำดับ

แล้วยังไงล่ะทีนี้ ทั้งยากทั้งซับซ้อนขนาดนี้ก็เลยศึกษาเอง สุดท้ายมันก็จะไปไม่รอดนั่นแหละ เพราะผิดจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เว้นเสียแต่ว่าท่านมีปัญญานั้นอยู่แล้ว มีของจริงอยู่แล้ว มันก็สามารถจะรู้ได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครสอน แต่ถ้ายังไม่เคยเรียน ยังไม่เคยรู้ ยังไม่เคยฟังใครสอน ยังไม่เคยพบสัตบุรุษ แล้วมันจะพ้นทุกข์ได้อย่างไรถ้าไม่เคยมีเหตุ(การเรียนรู้ที่ถูก) แล้วผล(การพ้นทุกข์ที่ถูก)มันจะเกิดได้อย่างไร

ในสัมมาทิฏฐิข้อหนึ่งว่าด้วยการเห็นสมณะ (ผู้สงบจากกิเลส) การเห็นสัตบุรุษหรือสมณะนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เพราะต้องเห็นด้วยปัญญา ไม่ใช่เขาว่าคนนั้นอรหันต์คนนี้พระอริยะก็เชื่อตามเขาโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้อะไรเลย คนที่สัมมาทิฏฐิแม้จะยังมีกิเลสหมักหมมในสันดานแต่ก็จะมีญาณปัญญารู้ได้ เน้นคำว่าว่าญาณ “ปัญญา” มันไม่ใช่มั่วๆนะ มันมีเหตุมีผล มันต้องมีมรรคผล มันไม่ลึกลับ มันอธิบายได้ มันจึงเชื่อ ไม่ใช่แค่ว่าเขาปฏิบัติตามที่เราเชื่อว่าแบบนี้ใช่แล้วมันจะใช่นะ ระวังหลงอุปาทานกันไป บางทีมันพาไปลงนรกทั้งศิษย์และอาจารย์เลย ศิษย์ก็โง่ อาจารย์ก็เมาลาภ ยศ สรรเสริญ (โง่กว่า) ก็เลยเมาแต่งตั้งพระอริยกันในกลุ่มเต็มไปหมด แบบนี้ก็เป็นได้เช่นกัน

สรุปแล้วท่านที่พยายามทำแต่ไม่มั่นใจว่าทำถูกทางก็ให้หยุดเสีย เดินไปในทางตัน ถึงจะเดินไปจนสุดทางก็ต้องเดินวนกลับมาอยู่ดี วิธีแก้ทุกข์ที่เข้าใจนั้น ถ้ามันแก้ไม่ได้ เป้าหมายมันไม่มี มรรคผลมันไม่ชัดเจน มันไม่เห็น มันลังเลสงสัย ก็แนะนำให้เรียนรู้กันเพิ่มเติม เรียนรู้ให้มากอย่าเพิ่งไปยึดมั่นถือมั่นทางใดทางหนึ่ง เพราะถ้าไปยึดทางผิดมันก็เสียเวลาหลงทางเท่านั้นเอง เดินให้มันถูกทางถึงจะช้าแต่มันก็ถึง ดีกว่ารีบเดินเข้าป่า เข้ารกเข้าพง ยิ่งเดินยิ่งหลง

แล้วเราจะมีสัมมาทิฏฐิขึ้นมาได้อย่างไร? พระพุทธเจ้าตรัสเหตุแห่งสัมมาทิฏฐิไว้สองข้อ นั่นคือปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ คือการเปิดใจและตั้งใจรับฟังสิ่งที่ต่างกับที่ตนเองเชื่อและยึดมั่นถือมั่น และการทำใจในใจโดยแยบคายลงไปถึงที่เกิด การทำใจในใจโดยแยบคายนี้ถ้าเป็นการฟังธรรมก็คือเอาธรรมนั้นมาย่อย มาพิจารณาว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น สรุปให้เข้าใจง่ายก็เหมือนการทำความเข้าใจโดยไม่มีอคติ (แต่จริงๆล้ำลึกกว่านั้นมาก แต่อธิบายค่อนข้างยาก ขออภัยไว้ ณ ที่นี้)

จะสมมุติเหตุการณ์ดังเช่นว่า ตอนแรกเราไม่สัมมาทิฏฐิหรอก แต่บังเอิญว่าเจอพระอริยะ เราก็ไม่รู้จริงๆหรอกนะว่าใช่ไม่ใช่ ทีนี้ด้วยความที่เห็นรูปท่านสวยดูมีศีลมีธรรมก็เลยอยากลองของ หรือได้ยินว่าคนนี้มีดีนักหนา หรือได้ยินคนนี้อ้างว่าตนเองเป็นพระอริยะบ้าง พระอรหันต์บ้าง เลยชวนสนทนาธรรม แต่ด้วยจิตที่มีอติมานะเช่นนั้นเอง (ชอบข่มหรือดูหมิ่นผู้อื่น) พอเขาพูดอะไรมาเราก็ตั้งแง่ เพ่งโทษฟังธรรม จ้องจับผิด ฟังนะแต่ไม่ฟัง พยายามจะคิดหาข้อแย้ง เพราะไม่ตรงกับที่ตนเองเรียนรู้มา (คือที่รู้มามันมิจฉาทิฏฐิอยู่แล้ว เพราะถ้าสัมมาจริงมันจะรู้ทั้งมิจฉาและสัมมา มันจะไม่สงสัย)

พอตนเองมิจฉาแล้วยึดมั่นมิจฉาอยู่อย่างนั้นก็ทำได้แค่เถียงเอาชนะ เพราะที่เขาพูดนั้นไม่ตรงกับที่ตนเลย(มันไม่มีทางตรงอยู่แล้ว) และไม่มีใครที่จะยอมรับว่าตนมิจฉาง่ายๆเป็นแน่ จึงพลาดการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย สุดท้ายแม้ว่าจะเถียงชนะหรือจะจำนนด้วยหลักฐานแต่ไม่เชื่อ ยังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนเชื่ออยู่ ก็จะได้รับมิจฉาทิฏฐิเพิ่มขึ้นพร้อมกับได้รับวิบากกรรมจากการเพ่งโทษพระอริยะไปเป็นสมบัติอีก ซวยไปสองต่อ

อันนี้แค่ขั้นปรโตโฆสะนะ โยนิโสมนสิการจะลึกลงไปอีก แต่จะยกไว้เพียงเท่านี้ก่อน ส่วนคนที่ยังมิจฉาทิฏฐิแต่เขามีปรโตโฆสะ คือตั้งใจฟังคนอื่น และมีโยนิโสมนสิการ คือเอาที่ได้ฟังนั่นไปพิจารณาในใจโดยแยบคาย เขาก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้สัมมาทิฏฐิ และนี้เองคือจุดเริ่มต้นของสัมมาทิฏฐิ มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่มันมีเหตุมีผลตามธรรมของมัน ไม่ใช่สิ่งบังเอิญ ไม่ใช่เรื่องเร้นลับอะไร

สรุปคือ คนที่ฟังคนอื่นและนำไปพิจารณาต่อก็จะเจริญไปถึงสัมมาทิฏฐิในสักวันหนึ่ง เพราะถ้าหยุดชั่ว ทำดีไปเรื่อยๆ มันก็จะวนเวียนไปเจอแต่คนดี ซึ่งก็คงมีบ้างหากจะมีพระอริยะวนเวียนผ่านไปผ่านมาในชีวิตโดยที่เราไม่รู้ แต่เพียงแค่เราไม่มีอัตตาที่จัดนัก ไม่มีความยึดมั่นถือมันที่มากนัก เราก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้ในวันใดวันหนึ่ง

ต่างจากคนที่เก่งแล้ว เข้าใจแล้ว แต่ยังมิจฉาทิฏฐิ คนพวกนี้จะไม่มีวันเปิดใจฟังหรือตั้งใจฟังสิ่งที่ต่างจากตัวเองคิดเลย เพราะหลงว่าตนรู้แล้ว เข้าใจแล้ว ของตนนี่แหละแท้ ตนนี่แหละแน่ มันก็เลยหลงมิจฉาทิฏฐิกันเช่นนี้ แล้วโลกนี้อะไรมันจะมากกว่ากัน คนถูกหรือคนผิด

ทีนี้คนที่สัมมาทิฏฐิก็ต้องยืนยันว่าตนถูก มิจฉาทิฏฐิเองก็ยืนยันว่าตนถูก แล้วยังไงล่ะ เราจะมีปัญญาแยกอย่างไร จะจบบทความนี้ด้วยกาลามสูตรว่าด้วยเรื่องการอย่าเชื่อสิ่งใดๆง่ายเพียงแค่ได้ยินได้ฟังมา หรือเพราะเขามีชื่อเสียง หรืออีกหลายๆเหตุผล พระพุทธเจ้าได้ตรัสกำชับในตอนสุดท้ายว่า พึงพิจารณาเอาเองว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงสิ่งนั้น ส่วนอกุศลให้ละเสีย

นั่นหมายถึง มันจะไม่รู้แต่แรกหรอก ก็ให้ลองปฏิบัติดู ถ้ามันถูกจริงชีวิตมันจะดีขึ้น มีแต่ความสุขความเจริญแม้ไม่ได้เสพอย่างเคย แต่ถ้าปฏิบัติแล้วชีวิตมันแย่ลงก็ให้ถอยออกมาแค่นั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

5.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

 

สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔

March 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,479 views 0

สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔

สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔

สมถะและวิปัสสนานั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็จะแตกต่างกัน เราจึงควรเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สมถะ คือ การใช้อุบายให้เกิดความสงบใจ เข้ามาควบคุมใจ ซึ่งจะเป็นการกดข่ม ตัดรอบ ทำเป็นลืม เปลี่ยนเรื่อง คิดบวก ฯลฯ การกระทำให้จิตที่ฟุ้งซ่านนั้นดับไปโดยทันทีจะอยู่ในลักษณะของสมถะ

วิปัสสนา คือ การใช้อุบายให้เกิดปัญญา ให้มองเห็นความจริงตามความเป็นจริง โดยการคิดพิจารณาความจริง ให้จิตเกิดปัญญารู้แจ้งว่าความจริงที่ไม่ถูกปนเปื้อนด้วยกิเลสนั้นเป็นเช่นไรเจริญไปตามลำดับหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับในทันที

สมถะ-วิปัสสนา สำหรับผู้ที่เข้าใจทั้งสองกระบวนการ จะบริหารการใช้อุบายเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้สมถะกดกิเลสไม่ให้ออกฤทธิ์ก่อนแล้วใช้ช่วงเวลานั้นๆพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงไป ถ้าไม่มีพลังของสมถะเลย แล้ววิปัสสนาอย่างเดียวก็จะช้า จะแพ้กิเลสจนท้อหรือกระทั่งเลิกพิจารณา ส่วนถ้าสมถะอย่างเดียวก็จะกดข่ม ตัดรอบกันอย่างเดียวจนไม่มีปัญญาใดๆเกิดขึ้น ได้เพียงความสงบเท่านั้น

และในบทความนี้เราก็จะมาไขความต่างของสมถะและวิปัสสนา เมื่อปฏิบัติตามแนวทางของอริยสัจ ๔

๑). ทุกข์

เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นนั้นก็หมายถึงเรามีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสักสิ่งหนึ่งแล้วเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพ ยกตัวอย่างเช่นมีคนมานินทาเราแล้วเราโกรธก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมา

๑.๑ ). สมถะกับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นความโกรธที่เกิดขึ้นนั้นเป็นตัวทุกข์

๑.๒ ). วิปัสสนากับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นว่าการโกรธนั้นเป็นตัวทุกข์

๑.๓ ). สรุปทุกข์ ในมุมมองของสมถะและวิปัสสนานั้นจะเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง คือสมถะจะเห็นความโกรธเป็นทุกข์ แต่วิปัสสนาจะเห็นว่าการที่เราต้องมาลำบากโกรธจนลำบากกายลำบากใจนี่แหละเป็นทุกข์ ความต่างคือสมถะมักจะมองความโกรธเป็นเรื่องนอกตัวไม่ใช่ตัวเรา แต่วิปัสสนาจะมองความโกรธเป็นเรื่องที่เกิดจากภายในซึ่งจะมีผลต่อไปถึงสมุทัย

การมองว่าทุกข์นั้นไม่ใช่ตัวเราของเราตั้งแต่ตอนแรกจะทำให้เราไม่คิดจะสืบหาสาเหตุแห่งทุกข์นั้นต่อไป เพราะไป “คิด” ว่าทุกข์ไม่ใช่เรา ความโกรธไม่ใช่เรา โดยที่กิเลสนั้นยังไม่ได้ถูกทำให้แสดงตัวและชำระให้สิ้น นั่นหมายความว่าการกดข่มจะทำให้ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์สูงสุดของการเกิดทุกข์ได้

๒).สมุทัย

การเห็นทุกข์นั้นเป็นประตูแรกของการเห็นธรรม แต่การเห็นเหตุแห่งทุกข์นั้นจำเป็นต้องใช้ความเพียรและปัญญาที่มากกว่า ขึ้นชื่อว่าเหตุก็ต้องศึกษาให้เห็นเหตุซึ่งจะยากเย็นแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่ผูกปมกิเลสนั้นๆไว้

๒.๑ ).สมถะกับสมุทัย จะเห็นความโกรธนี่เองเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์เพราะโกรธ ทุกข์เพราะคิดปรุงแต่ง ทุกข์เพราะมีตัวตน ทุกข์เพราะไม่มีสติ ฯลฯ

๒.๒ ).วิปัสสนากับสมุทัย จะค้นลงไปในความโกรธว่าสิ่งใดเป็นเหตุแห่งความโกรธนั้น แน่นอนว่าการมีอัตตานั้นคือปลายทาง แต่การวิปัสสนานั้นจะมองหาความจริงที่แท้จริงไปตามลำดับ ขุดค้นเหตุไปเรื่อยๆ เช่น โกรธเพราะเราเกลียดเขาอยู่แล้ว นั่นเพราะเขาเคยทำไม่ดีกับเรา คนอื่นนินทาเราไม่โกรธแต่คนนี้เราโกรธ ที่เขาเคยทำไม่ดีกับเราเราก็ฝังใจ ที่เขาทำไม่ดีนั้นไม่ดีจริงหรือไม่ แล้วถ้าไม่ดีจริงทำไมเราต้องถือสา ที่เราถือสาเพราะเรามีอคติอะไรอยู่แล้วรึเปล่า?

ซึ่งการหาเหตุนี้เองจะขุดค้นลงไปตามลำดับ ซึ่งจะไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ตั้งแต่แรก จึงจำเป็นต้องใช้ไตรสิกขาเข้ามาช่วยกระทุ้งกระแทกให้เห็นเหตุให้ชัดขึ้น

๒.๓ ).สรุปสมุทัย ที่สมุทัยนี้เองจะเริ่มเห็นความต่างของสมถะวิธีและวิปัสสนาวิธีอย่างชัดเจน ในมิติของความลึกในการแก้ปัญหา สมถะจะมองปัญหาแค่ผิวเผิน ส่วนวิปัสสนานั้นจะขุดลงไปที่เหตุที่แท้จริง นั่นก็เพราะว่าถ้าหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ การเห็นความจริงตามความเป็นจริงนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลย

๓).นิโรธ

นิโรธคือการดับทุกข์ การดับทุกข์นั้นสามารถดับได้หลายวิธี มีทั้งดับชั่วคราวและดับถาวร มีกลยุทธ์และวิถีทางในการดับหลายแบบ แต่จะสรุปคร่าวๆออกมาจากผลของสมถะและวิปัสสนาด้วยกันสองแนวทาง

๓.๑ ).สมถะกับนิโรธ เมื่อเห็นทุกข์ของความโกรธและเห็นว่าความโกรธ ความคิด การมีตัวตน การไม่มีสตินั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ สมถะจึงดับทุกข์ด้วยการดับความคิด ดับการปรุงแต่ง การคิดว่าต้องไม่มีตัวตน หรือการใช้สติ ซึ่งการดับเช่นนั้นเป็นการดับแบบชั่วคราว ดับเฉพาะไฟที่ลุกขึ้นแต่ไม่ได้ดับเชื้อไฟ นี้เองคือความตื้นของสมถะที่ลงไปไม่ถึงเหตุ แต่ถึงกระนั้นการดับแบบชั่วคราวก็สามารถดับข้ามภพข้ามชาติได้ แต่ที่แน่นอนคือมันไม่ถาวร

๓.๒ ).วิปัสสนากับนิโรธ เมื่อเห็นความทุกข์ของความโกรธ และค้นเจอเหตุแห่งทุกข์แล้ว ยกตัวอย่างเช่นว่า จริงๆที่มีอคติจนเป็นเหตุแห่งความโกรธเมื่อได้รับการนินทาก็คือ คนคนนี้มีท่าทีหยิ่งในตอนแรกที่พบกันแล้วเราไม่ถูกใจ ดังนั้นเหตุแห่งทุกข์ก็คือความอยากได้รับการยอมรับ การเอาใจใส่จากคนอื่นนั่นเอง ซึ่งการจะทำให้กิเลสดับไปนั้น วิปัสสนาจะมาดับกันที่ตรงนี้ จะพิจารณาธรรมกันตรงที่เหตุ ใช้ไตรลักษณ์ก็ใช้ที่เหตุ ใช้กรรมและผลของกรรมก็ใช้ที่เหตุ ใช้การพิจารณาประโยชน์และโทษก็กระทำที่เหตุ ซึ่งเมื่อดับเหตุที่แท้จริงได้ จึงจะเป็นการดับที่แท้จริง ตามที่ควรจะเป็นจริงๆ

๓.๓ ).สรุปนิโรธ จะเริ่มเห็นได้ชัดแล้วว่าเมื่อระบุเหตุของปัญหาที่ต่าง ก็จะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่าง ตรงนี้เองที่เป็นขีดจำกัดที่ว่าทำไมทำสมถะอย่างเดียวจึงไม่บรรลุธรรมหรือกลายเป็นฤๅษี เพราะสมถะไม่ได้ดับทุกข์ที่เหตุ แต่มักจะไปดับที่ผล ถึงแม้จะมีการหาเหตุแต่ก็มักจะเป็นหารวมๆ ใช้วิธีการเป็นรูปแบบ ซ้ำๆ ย้ำๆ เรียกได้ว่ากิเลสแบบไหนก็ใช้วิธีการเดิม ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ทุกอย่างไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวเราของเรา มันก็ใช้ธรรมะเข้ามากดข่มเท่านั้นเอง เพราะแท้จริงแล้วการดับกิเลสในแต่ละอย่างนั้นมีความต่างในองค์ประกอบหลายๆอย่างอยู่ หลายคนก็หลายรูปแบบ เพราะแต่ละคนผูกปมสะสมกิเลสมาไม่เท่ากัน การแก้ไขปัญหาก็ต่างกัน ความยุ่งยากซับซ้อนก็ต่างกัน ดังนั้นเมื่อสมุทัยไม่ถึงเหตุ นิโรธก็ไม่ถึงผลตามแนวทางของพุทธ

๔). มรรค

มรรค คือวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อย่างถูกตรง ประกอบด้วยความเข้าใจ การคิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ความเพียร การระลึกรู้ และความเป็นสมาธิที่ถูกตรง เกิดปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จะต้องประกอบด้วยมรรคทั้ง ๘ องค์ที่สมบูรณ์ครบพร้อม ซึ่งการจะเกิดมรรคทั้ง ๘ ได้ จะต้องกระทำมรรคในข้อ ๑-๗ อย่างถูกตรงจนกระทั่งเกิดเป็นสภาพของสัมมาสมาธิ ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจ คิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ขยัน มีสติอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

๔.๑ ).สมถะกับมรรค ในเมื่อสมถะมองความโกรธ เพราะความคิด การปรุงแต่ง การมีตัวตน การไม่มีสติเป็นปัญหา ดังนั้นจึงต้องดับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมรรคของสมถะจะกลายเป็นดำดิ่งสู่ความสงบ การกดข่ม การตัดรอบ การวางเฉย การใช้ธรรมะหรือเหตุผลต่างๆมากระทำต่อความฟุ้งซ่านนั้นๆ เช่นความโกรธไม่ใช่เรา ความโกรธไม่เที่ยง มาเป็นเครื่องมือสะกดจิต จนจิตสงบจากกิเลสนั้นๆ เป็นสภาพที่ความโกรธสงบลงเพราะใช้อุบายทางใจเข้ามาบริหารและความคุม ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นไปตามสัมมาอริยมรรค เป็นเพียงวิถีทางทั่วไปตามแบบฉบับของสมถะซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ในโลกอยู่แล้ว การทำสมถะนี้ไม่ว่าศาสนาใดก็ใช้กัน ซึ่งพุทธเองก็ใช้เป็นเครื่องอุปการะเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติ

๔.๒ ).วิปัสสนากับมรรค เมื่อเห็นตัวกิเลสที่ทำให้เกิดทุกข์แล้ว จึงทำการคิดพิจารณากิเลสนั้นๆไปตามความจริงที่เป็นจริง ไม่ใช่ตามกิเลส โดยใช้ศีลมาเป็นเครื่องชี้วัด ซึ่งในตอนแรกมันจะไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ แต่จะเห็นโน้มเอียงไปตามกิเลส แม้ว่าจะมีสัมมาทิฏฐิแล้วก็ตาม ซึ่งการจะทำให้คิดได้ตามจริงนั้นก็ต้องอาศัยการพูด ทำ เลี้ยงชีพ ไปตามหลักแห่งความพ้นทุกข์ และพิจารณากิเลสนั้นๆโดยใช้ความเพียรและมีสติเป็นที่ตั้งเพื่อชำแหละกิเลสที่โผล่มาจากการใช้ศีลจับ เพื่อกระทำทิฏฐิให้ถูกตรงโดยลำดับ ทั้งหมดนี้เพื่อผลแห่งความคิดที่ถูกต้องถูกต้องให้ถึงพร้อม

วิปัสสนานี้เองเป็นความคิดอย่างแน่แท้ แต่เป็นการคิดที่สวนทางกับกิเลส เป็นการคิดที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ (สัมมาสังกัปปะ)ซึ่งมีคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าวิปัสสนาไม่ใช่การคิด การทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงนี่เองคือการคิด แต่มันอยู่ที่รายละเอียดว่าคิดอย่างไรจึงจะถูกทางพ้นทุกข์ ถ้าไม่คิดเลยก็กลายเป็นสมถะ

๔.๓ ).สรุปมรรค วิปัสสนานั้นไม่ได้ปฏิเสธการมีสติ หรือการคิด พูด ทำใดๆ เพราะจำเป็นต้องปฏิบัติมรรคทุกองค์อยู่แล้วเพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิซึ่งเป็นผลจากการเห็นความจริงตามความเป็นจริง และยังไม่ได้ปฏิเสธการใช้สมถะเข้ามาร่วมในกระบวนการต่างๆเพื่อกดกิเลสไว้ เช่นมีความโกรธเราก็กดไว้ ก่อนที่เราจะตอบโต้ด้วยความโกรธ แต่จะไม่กดจะดับทั้งหมด เราจะยังต้องใช้เชื้อแห่งความโกรธที่เหลือมาเป็นเป็นต้นทางแห่งสมุทัย จนกระทั่งสามารถนำมาปฏิบัติตามมรรคได้

แต่มรรคของสมถะนั้นก็สามารถถึงสมาธิได้เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเกิดมาจากมิจฉามรรค นั่นเพราะทิฏฐิผิดรูปผิดรอยตั้งแต่แรก โดยเฉพาะผู้ที่เข้าใจว่าการดับ การไม่คิด การมีสติตลอดเวลาคือการพ้นทุกข์ เหล่านี้คือผู้หลงผิดไปติดสมถะทั้งสิ้น เพราะแท้จริงแล้วการดับหมายถึงการดับกิเลส ไม่ใช่การดับผลของกิเลส การไม่คิดหมายถึงไม่คิดตามกิเลส ไม่ใช่ไม่คิดอะไรเลย และถ้าเป็นความคิดที่ย้อนแย้งกิเลสยิ่งต้องคิด และการมีสตินั้นจำเป็นต้องมีในการวิปัสสนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ตัวบรรลุธรรม เพราะหลักของวิปัสสนานั้นคือทำให้เกิดปัญญารู้เห็นจริงตามความเป็นจริง สติเป็นเสมือนเครื่องหล่อเลี้ยงที่จำเป็นต้องมี แต่ไม่ใช่ตัวที่จะทำให้เกิดปัญญา เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดปัญญาก็คือสัมมาสังกัปปะที่เกิดจากสัมมาทิฏฐิเป็นตัวตั้ง มรรคทั้ง ๗ องค์ทำงานส่งเสริมกันจนกระทั่งเกิดสัมมาสมาธิเป็นองค์ที่แปด ซึ่งเป็นตัวจบของกิเลสนั้นๆหมายถึงเกิดสภาพของวิมุตติหรือการหลุดพ้นจากกิเลสอย่างถาวร

สัมมาสมาธิไม่ใช่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การกดข่มจิต หรือกระทำใดๆต่อจิตจนเกิดสภาพสมาธิ ลักษณะเหล่านี้เป็นวิธีของสมถะ ให้ผลเป็นสมาธิจริง แต่เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นแบบทั่วไป ศาสนาใดก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธ เพราะทางพ้นทุกข์พุทธนั้นมีทางเดียวคือ สัมมาอริยมรรค นั่นหมายถึงจะต้องถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์อย่างถาวรด้วย ไม่ใช่การดับอย่างชั่วคราว แม้จะดับได้ข้ามภพข้ามชาติแต่ถ้าไม่ถาวรก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ติดภพ ติดสงบ ติดดีเข้าไปอีก กลายเป็นฤๅษีไปอีก เนิ่นช้าไปอีก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้นไม่ใช่ของเราคถาคต

ดังนั้นการใช้สมถะเข้ามาช่วยกดข่มกิเลสในกรณีที่มีความรุนแรงมากนั้นก็สามารถทำได้และเป็นกุศล แต่หากจะตั้งสมถะเป็นเป้าหมายในการบรรลุธรรมก็ขอสรุปเลยว่าจะต้องวนเวียนติดสุขอยู่ในโลกอีกนานแสนนาน เพราะโดยหลักแล้วสมถะไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดเลย เพียงแต่ทำปัญหาที่เกิดให้ดับและจบไปเท่านั้น จึงต้องวนเวียนเกิดดับๆอยู่เรื่อยไปเพราะเหตุยังไม่ดับนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

6.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)