กรณีการโต้แย้งต่างๆในบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

July 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,421 views 0

หากใครได้ติดตามอ่านความคิดเห็นในบทความแล้วก็จะพบว่ามีคนจำนวนหนึ่งเข้ามาเห็นแย้ง ด้วยเหตุผลก็ตาม ด้วยอารมณ์ก็ตาม

ให้เรียนรู้ว่านี่แหละ ธรรมชาติของการปฏิบัติธรรม จะให้ทุกคนมีความเห็นเดียวกันไม่ได้หรอก แต่ละคนจะมีความเห็นไปตามกรรมของตน

หากอ่านบทความจะเห็นได้ว่าผมยกพระสูตรมาเยอะพอสมควร เพียงแต่ย่อมา และอีกส่วนเป็นสภาวธรรมซึ่งเป็นของส่วนตัว เป็นความเห็นส่วนตัว

แต่ก็ยังมีผู้ที่หวังดีเข้ามาพยายามปกป้องพุทธศาสนาและความเชื่อของเขาโดยการยัดเยียดความคิดเห็นของเขา และยัดเยียดความผิดมาให้ผม

จะสังเกตุได้ว่าผมก็อยู่ของผมดีๆนั่นแหละ แต่ก็มีคนแชร์เอาไปตีความ เอาไปข่ม เอาไปยำกันเสียสนุกเลย

ตรงนี้เองเรียกว่า “มานะ” คือความยึดดี การมีความยึดดีนี้จะไม่ยอมให้สิ่งดีของตัวเองด้อยค่าลงและมักจะยัดเยียดดีของตนให้ผู้อื่น

และยังมี “อติมานะ” คือการดูหมิ่นกัน จะสังเกตุได้ว่าบางคนก็ดูหมิ่นผมทั้งที่ยังไม่เคยศึกษา ไม่เคยรู้จักกันเลย บางคนก็ดูหมิ่นผิดเรื่องผิดประเด็น อาจจะเพราะเคยมีปมจากที่อื่น

บางคนยังมีอาการของ การโอ้อวด(สาเฐยยะ) หัวดื้อ(ถัมภะ) แข่งดีเอาชนะ(สารัมภะ) ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี (อิสสา) ร่วมเข้าไปด้วยอีกต่างหาก

ทั้งหมดนี้เป็นอาการของกิเลสทั้งนั้น ผมเองไม่เคยบังคับให้ใครเข้ามาอ่านหรือเข้ามาแสดงความคิดเห็น การกระทำเหล่านั้นเป็นเจตนาของแต่ละคน เป็นกรรมของแต่ละคน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นกรรมที่เกิดจากกิเลส

นั่นหมายถึงสิ่งที่พวกเขาได้รับคงหนีไม่พ้น อกุศลกรรม บาป เวร ภัย ฯลฯ สรุปแล้วคือเข้ามาพิมพ์โต้แย้งก็ไม่ได้มีผลดีเกิดขึ้นมาเลยสักอย่าง ซึ่งก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ทำไปก็ไม่มีผลเจริญอย่างใดเลย

เพราะไม่ว่าเขาจะมีความเห็นอย่างไร ก็ลบความจริงในการปฏิบัติของผมไม่ได้ มันเป็นของจริงในจิตอยู่เช่นนั้น การกระทำของผู้ที่เห็นแย้งเพื่อสนองมานะตนจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีประโยชน์ กับใครเลย

ผมก็ยังมีความสุขกับการละเว้นเนื้อสัตว์อยู่เหมือนเดิม แต่เขากลับได้กิเลสเพิ่ม ยิ่งด่า ยิ่งข่ม ยิ่งดูถูก เขาจะยิ่งสะสมกิเลสมากขึ้น สะสมเชื้อทุกข์มากขึ้น เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นในเวลาเดียวกัน เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ไม่ควรทำ

…ที่ยกมานี้ก็เพื่อจะเตือนเพื่อนๆว่า เวลามีคนที่เสนอความเห็นที่ต่างให้ระวัง “มานะ” หรือความยึดดีถือดีของเราไว้ให้ดี ถ้าเรายังไม่สามารถปฏิบัติให้เกิดผลจริงจนเห็นด้วยตัวเองได้ ถ้าเราสักแต่ว่าฟังมา เราจะมีความเสี่ยงในการโอ้อวดสิ่งที่ไม่มีในตน แถมยังไปเบียดเบียนผู้อื่นอีก

การไปถกเถียงกับเขาจะยิ่งต่อความยาว สาวความยืด ยิ่งเพิ่มกิเลสของเขา ผมได้ลองให้เห็นแล้วในบทความนั้น ลองศึกษากันดู ไม่ว่าเราจะชี้แจงอย่างไรเขาจะไม่สนใจหรอก เขาแค่อยากแสดงให้เห็นว่าทิฏฐิของเขาถูก ของเราผิดเท่านั้นเอง

ดังนั้นเราจึงไม่ควรให้อาหารกิเลส ไม่ควรให้เขาเสพสมใจในกิเลส ถ้าเขาอยากข่มก็ปล่อยเขา เรายิ่งดิ้นเขายิ่งสะใจ ถ้าเขาอยากแข่งก็ไม่ต้องไปแข่งกับเขา ยิ่งแข่งยิ่งบาป ถ้าเขาจะหยาบมาอย่างไรก็เป็นกรรมของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา

เรื่องของเราคือเรารักษาใจตนเองให้ผาสุกได้ไหม เขามายั่วยวนขนาดนี้เรายอมเขาได้ไหม ยอมเขาไปเถอะ เขาอยากทำกรรมอะไรก็เรื่องของเขา เราเอาแต่เรื่องกุศล เรื่องบาปเราไม่ยุ่ง

ถ้าเราจะเป็นคนดีที่คอยตีคนที่เห็นต่างจากตน มุ่งมั่นกับการปราบคนที่เห็นไม่ตรงกับที่ตนเข้าใจ เราจะกลายเป็นคนดีที่มีแต่ความทุกข์ไปตลอดกาล

ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

July 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,426 views 0

เมื่อเผยแพร่บทความที่มีความเห็นชี้ชัดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ก็มักจะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา ซึ่งเราควรพิจารณาเอาเองว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ

ผมจะนำเสนอเนื้อความตอนหนึ่งให้เพื่อนๆที่ติดตามได้มั่นใจมากขึ้น

“บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะเหตุที่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง บุคคลที่เราเรียกว่าเป็นอริยะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง”

(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ข้อ ๒๙)

พระพุทธเจ้าเองท่านก็เป็นพระอริยะ และเป็นพระอริยะที่ระดับสูงที่สุดคือพระอรหันต์ และด้วยปัญญาระดับผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง จึงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนที่เหนือกว่าผู้ใดในโลก

การมีความเห็นต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา การโต้วาทีก็เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนย่อมปกป้องทิฏฐิที่ตนยึดมั่นอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเราชี้แจงได้ก็ชี้แจงไป แต่ถ้ามันหนักมากไปก็ให้ปล่อยวางเสีย

เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือไม่ทะเลาะ ไม่ชวนทะเลาะ เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปบีบบังคับให้ใครมาเห็นตามเรา บางคนเขาก็แค่มาบอกความเชื่อของเขา เราก็รับรู้ว่าเขาเชื่อแบบนั้น ถ้าเขาถามเราก็พิจารณาก่อนว่าจะตอบให้เกิดประโยชน์อย่างไร ไม่ใช่ตอบเพราะยึดมั่นถือมั่นว่าของฉันถูก

หากเราปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ เราย่อมไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่นด้วยการเถียงเอาชนะ การเบียดเบียนความเห็นผู้อื่นแม้ว่าสิ่งที่เขาเข้าใจนั้นจะผิดไปจากทางพ้น ทุกข์ก็ตาม ก็ยังเป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่ชั่วอยู่

เราควรเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ จนบางครั้งหมายถึงการปล่อยให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเอง ปล่อยเขาไปตามบาปบุญของเขา สุดท้ายวันใดวันหนึ่งเขาก็จะเรียนรู้ได้เอง โดยที่เราไม่ต้องไปยัดเยียด ไปบังคับ หรือไปสั่งสอนผิดถูกแต่อย่างใด

รักข้างเดียว กับการเรียนรู้ความผิดหวังที่จะนำไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน

July 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,531 views 1

รักข้างเดียว กับการเรียนรู้ความผิดหวังที่จะนำไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน

รักข้างเดียว กับการเรียนรู้ความผิดหวังที่จะนำไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน

ความรักข้างเดียว คือความอยากเสพที่ไม่มีวันสมหวัง เหมือนการเดินทางที่ไม่มีเป้าหมาย ยิ่งเดินก็ยิ่งไกล พยายามเข้าใกล้ก็ยิ่งห่างออกไป กับความหวังที่ค่อยๆ เลือนราง จางหาย และสลายไป

แต่หลังจากที่ความหวังเดิมถูกทำลายไปด้วยความจริงจนหมดสิ้น ความหวังใหม่ก็มักจะเริ่มต้นอีกครั้งกับใครอีกคนหนึ่ง เป็นวงจร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป วนเวียนไปอย่างไม่จบสิ้น ดับแล้วก็เกิดใหม่ เกิดแล้วก็ดับ แล้วเราจะสามารถหลุดจากวงจรแห่งทุกข์นี้ได้อย่างไร ต้องได้รับรักดังใจหวังอย่างนั้นหรือจึงจะเรียกว่าพ้นทุกข์ หรือมีทางอื่นที่ดีกว่านั้น?

รักข้างเดียว คือสภาพที่มีแต่ผู้เสนอ แต่ไม่มีผู้สนอง มีแต่ผู้หยิบยื่นให้ แต่ผู้รับไม่ยินดีรับ เพราะสิ่งที่ให้นั้นอาจจะไม่ดีพอ ไม่มากพอ ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้ตามที่หวัง ไม่เป็นไปตามศีลธรรม แม้ผู้เสนอจะเป็นคนที่ดีแสนดี คิดดี พูดดี ทำดี แต่ถ้าไม่มีปัจจัยที่ผู้รับต้องการก็จะยังเป็นรักข้างเดียวไปตลอดกาล

เพราะการรับรักนั้นมีปัจจัยหลากหลายขึ้นอยู่กับผู้รับว่าต้องการอะไร นั่นหมายถึงเขามีความอยากอะไร เขาอยากได้อยากเสพอะไร เรามีพอบำเรอกิเลสของเขาหรือไม่ เราจะต้องพยายามอีกแค่ไหนที่จะแสดงตัวว่าสามารถสนองกิเลสเขาได้ เราต้องมีหน้าตารูปร่างที่งามแค่ไหนที่พอจะกระตุ้นกิเลสให้เขาหันมาอยากได้อยากเสพเรา เราต้องขยันทำงานสร้างตัวเองให้พัฒนาอีกเท่าไหร่ถึงจะมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุขไปพอบำเรอกิเลสของเขา จนเขายอมรับการสนองกิเลสจากเรา แล้วเราต้องทำอีกเท่าไหร่กว่าจะถมห้วงเหวแห่งความอยากนี้จนเต็ม

แม้จะประสบความสำเร็จในการล่อลวงให้เขาเห็นค่าของเรา จนเขาหันมาคบหาเรา เป็นเพื่อน เป็นแฟน เป็นสามีภรรยา แล้วมันเป็นยังไง? เขาจะอยู่กับเราตลอดไปไหม? เราจะยังคงต้องพยายามทำอย่างเดิมไปอีกใช่ไหม? ต้องเอาใจมากกว่าเดิม ต้องบำเรอมากกว่าเดิม ต้องระวังมากกว่าเดิม ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการคอยบำเรอกิเลสเขาเพียงเพื่อจะได้เสพสมใจในรสสุขบางอย่างที่ได้จากเขา

เราต้องคอยเป็นทาสสนองกิเลสเขาไปอีกนานเท่าไหร่ ต้องทำต่อไปแบบนี้อีกกี่ชาติ เขาไม่รับรักก็เป็นทุกข์ แม้เขาจะรับรักก็ใช่ว่าจะเป็นสุขเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีวิบากกรรมและทุกข์ซ้อนเข้าไปในความสุขที่แสนหลอกลวงนั้นด้วย ทำไมเราจึงเฝ้าพยายามเติมเต็มสิ่งที่ไม่มีวันเต็ม กิเลสเป็นสิ่งที่เติมเท่าไหร่ก็ไม่มีวันพอ ไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันที่จะสาสมใจ ต้องการไปเรื่อยๆ อยากไปเรื่อยๆ ทำไมเราจึงขยันทำในสิ่งที่ไม่มีคุณค่าและสร้างทุกข์ให้กับตนเองอยู่ เพียงเพื่ออยากได้ใครสักคนเข้ามาอยู่ข้างกาย

แม้จะดูเหมือนว่าเราต้องคอยบำเรอกิเลสเขาจนกว่าเขาจะรับรัก ดูเหมือนเขาเป็นผู้ร้าย ดูเหมือนเขาเป็นคนกิเลสหนา แต่ถ้ามองให้ชัด เรานี่เองที่เป็น “ทาสกิเลส” เราโดนกิเลสตัวเองหลอกให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ให้ไปทำทุกข์ทำชั่ว ไปยุ่งวุ่นวายกับชีวิตของผู้อื่นเพียงเพื่อจะได้นำเขามาเสพสมตามใจตนเอง

ผู้ร้ายตัวจริงของความผิดหวังช้ำรักไม่สมหวังก็คือตัวเราเอง ไม่ใช่ใครอื่น ต้นเหตุแห่งทุกข์คือความอยากได้อยากเสพของเราเอง เป็นกิเลสของเราเอง เรามัวแต่ไปหาสิ่งนอกกายมาบำเรอกิเลสตน ใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือในการสนองความใคร่อยากของตน โดยเอาปัจจัยที่เรามีไปล่อลวงเขา ให้เขาหลง ให้เขาอยากเสพเรา เพื่อที่เราจะได้เสพสุขจากเขาอีกที เป็นความเห็นแก่ตัวที่แนบเนียนที่สุด เพราะมาในคราบของคนรักที่แสนดี คนที่เสียสละ คนที่ยอมเสมอเพียงเพื่อให้ได้รับความรัก

ความอยากของเราทำให้เราเห็นแก่ตัว ทำให้เราทำทุกอย่างเพื่อที่จะให้คนอื่นเห็นคุณค่า โดยไม่รู้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นจะไปเพิ่มกิเลส สร้างทุกข์ให้กับเขาหรือไม่ แม้ความรักจะเป็นความสุขตามที่หลายคนเข้าใจ แต่มันก็เป็นเพียงรักที่เห็นแก่ตัว เป็นเหมือนยาพิษที่เคลือบไว้ด้วยน้ำตาล แม้จะหวานในตอนแรกแต่สุดท้ายก็ต้องทุกข์กันทุกรายไป

ความรักข้างเดียวนั้นดีแล้ว ดีกว่าที่เขาจะยอมมาคู่กับเราเพราะเราบำเรอกิเลสเขาได้ หรือเพราะเราสร้างความอบอุ่นมั่นใจให้เข้าได้ หรือด้วยเหตุผลที่แสนดีต่างๆนาๆที่ทำให้เขายอมหันมาคบเรา เพราะสิ่งเหล่านั้นทำให้เขาหลง ทำให้เขาเสียเวลา แทนที่เขาจะได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่เป็นกุศล แต่กลับต้องมาเมามายในสุขลวงกับคนกิเลสหนาอย่างเรา

ต้องขอบคุณเขาเสียด้วยซ้ำที่เขาขัดใจเรา ไม่ยอมตามใจเรา ให้เราได้เรียนรู้ความผิดหวังจากความอยากของเรา เพราะถ้าเราสมหวังไปเรื่อยๆ เราก็จะเป็นคนที่หลงมัวเมา หลงติดหลงยึดในสุขลวง สร้างทุกข์ให้ตนเองและผู้อื่นอย่างไม่จบไม่สิ้น คนที่เข้ามาขัดใจเรา สร้างกำแพงแห่งความสิ้นหวังให้เรา คือผู้ที่จะมาเปิดตาเราให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ส่วนเราจะยอมเห็นความจริงนั้นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเรา หากกิเลสของเราหนาเราก็จะแสวงหาช่องทางที่จะได้เสพผู้อื่นต่อไป แต่หากเรามีปัญญาก็จะหยุดคิดว่าเราควรจะทำสิ่งใดต่อไป จะหาทางสนองกิเลสจนใครสักคนจนกระทั่งเขายอม หรือจะทำลายกิเลสในตนเองให้ไม่ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น

ความสุขจากการได้เสพกับความสุขที่ไม่จำเป็นต้องเสพนั้นต่างกันคนละโลก จินตนาการเอาไม่ได้ ให้คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก เดาไม่ได้เลย คนทั่วไปก็เข้าใจว่าจะมีความสุขก็ต้องได้เสพสิ่งนั้น ต้องสมหวัง เขาต้องรับรัก ต้องได้เป็นคู่กัน แต่ความสุขเหล่านั้นเป็นเพียงของลวง ไม่ยั่งยืน จางหาย เปลี่ยนแปลงได้ จึงไม่ใช่แก่นสารสาระที่ควรยึดไว้

ส่วนความสุขที่ไม่ต้องเสพนั้นเกิดจากการทำลายความอยากในจิตวิญญาณจนสิ้นเกลี้ยง เกิดเป็นความสุข สงบจากกิเลส ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องไขว่คว้า ไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องทุกข์เมื่อไม่ได้มา เป็นสุขที่เกิดเพราะไม่ต้องมีทุกข์จากความอยากมากัดกร่อนใจ

ดังนั้น รักข้างเดียวจึงไม่ใช่เรื่องที่แย่เลย แต่เป็นประตูสู่การเรียนรู้ให้เห็นทุกข์จากความอยากของตัวเอง เป็นก้าวแรกสู่การพ้นทุกข์

ดีแล้วที่เรารักข้างเดียว ไม่ต้องชวนใครเข้ามาทำบาป ไม่ต้องดึงใครเข้ามาร่วมวงกิเลสเป็นบ่วงเวรบ่วงกรรมของกันและกัน ไม่ต้องสร้างความลำบากให้ใครมากกว่านี้ ไม่ต้องเบียดเบียนผู้อื่นด้วยความรักและความหวังดี ไม่ต้องให้เขามาทุกข์ทนเพราะความอยากที่แสนจะเห็นแก่ตัวของเรา ไม่ต้องให้เขามาหลงในคำลวงที่เราถูกลวงจากกิเลสมาอีกที

ดีแล้วที่เขาไม่รับรักเรา ดีแล้วที่ไม่ต้องผูกพันกันมากกว่านี้ ดีแล้วที่เป็นแค่เพื่อนกัน. . . ดีแล้วที่เราไม่ต้องคบกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

14.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

July 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,879 views 11

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

มังสวิรัติกับพระพุทธศาสนานั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานแสนนานว่า พระพุทธเจ้าท่านกินเนื้อสัตว์หรือไม่? ในบทความนี้ไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆที่จะมาแสดง มีเพียงผลของการปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาที่จะมายืนยันกันว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กินเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติว่าสาวกห้ามกินเนื้อสัตว์ แต่มีข้อแม้มากมายในการได้กินเนื้อสัตว์นั้นๆ เช่นเนื้อสัตว์ที่ห้ามกินอย่างเด็ดขาดสิบอย่างในมังสัง ๑๐ คือห้ามกินเนื้อ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ที่เขาลากมา บังคับมา แล้วก็ฆ่ามา เป็นเนื้อที่มีบาป เป็นเนื้อสัตว์นอกพุทธ ดังนั้นจึงไม่ควรกินอยู่แล้ว อีกทั้งบัญญัติว่าสามารถกินเนื้อที่ไม่เห็นว่าเขาฆ่ามา ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามา ไม่รังเกียจว่าเขาฆ่ามา ในข้อไม่รังเกียจนี้เองเป็นตัววัดหิริโอตตัปปะ เพราะเนื้อสัตว์ที่ถูกเบียดเบียนมาย่อมไม่เป็นที่น่ายินดีในหมู่สาวก เนื้อสัตว์ที่ได้มานั้นย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

ซึ่งในทุกวันนี้เรียกได้ว่ายากนักที่จะหาเนื้อสัตว์ที่ไม่มีบาปบน เพราะเนื้อสัตว์ที่ขายอยู่ก็มีแต่เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ใครๆก็รู้ว่ามันไม่ได้ตายเอง เขาเพาะเลี้ยงมา เขาจับมา เขาฆ่ามา แล้วเขาก็เอามาขายเรา เมื่อเรารู้ดังนี้ย่อมไม่ยินดีส่งเสริมให้เขาทำอาชีพที่เป็นบาปเหล่านั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ถึงการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ มีสองข้อที่เกี่ยวกันคือ ห้ามค้าขายชีวิต และห้ามค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายความว่าหากฝืนทำก็ไม่ใช่พุทธ เพราะพุทธไม่ส่งเสริมให้เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในบทโอวาทปาติโมกข์ยังได้กล่าวว่า ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่เรียกว่าเป็นสมณะเลย สมณะนั้นคือผู้สงบจากกิเลส เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เรารู้ในใจกันดีอยู่แล้วว่าการไม่กินเนื้อสัตว์คือการไม่มีส่วนในการเบียดเบียนสัตว์นั้น การยังกินเนื้อสัตว์อยู่เป็นการเบียดเบียนกันอย่างตรงไปตรงมา เพียงแต่เราไม่คิดจะสนใจที่ไปที่มาของเนื้อสัตว์เหล่านั้นเท่านั้นเอง

ถ้าหากเรายังยืนยันว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่สมควรแล้วล่ะก็ ความเห็นของเราก็จะไปขัดกับพระสูตรต่างๆอยู่เสมอ เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น แต่คนที่หลงว่าเนื้อสัตว์เป็นคุณค่าก็จะกินเนื้อสัตว์โดยหวังให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งขัดกับสัจจะของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง ถ้าท่านตรัสแนวทางปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าก็มีความเห็นที่ดำเนินไปสู่ความเป็นทุกข์เท่านั้นเอง

ความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ใช้หลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาเข้ามากำจัดความอยาก จากคนที่เคยหลงใหลชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ เคยยึดมั่น เคยผูกพัน แต่ก็สามารถใช้กระบวนการของพุทธเข้ามากำจัดความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้

เมื่อหมดความอยากกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกว่าเนื้อสัตว์มีคุณค่าแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องไปกินให้เมื่อย ไม่ต้องเบียดเบียนสร้างกรรมชั่วให้ต้องลำบากรับการมีโรคมากและอายุสั้นในภายหลัง ไม่ต้องคอยคิดปั้นแต่งเหตุผลใดๆที่จะทำให้การกินเนื้อสัตว์นั้นดูเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องผูกภพผูกชาติกับเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเป็นทาสเนื้อสัตว์อีกต่อไป

และยังมีปัญญารู้อีกด้วยว่า การกินเนื้อสัตว์ เป็นโทษ ทุกข์ ภัย ผลเสียอย่างไร มีปัญญาที่จะหลีกเลี่ยงละเว้น และอนุโลมบ้าง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ ให้ใจต้องเป็นทุกข์จากความอยากและไม่อยาก ไม่มีทั้งความทั้งความอยากกินเนื้อสัตว์ และไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ใยดี ไม่สนใจ ไม่ให้คุณค่า มีเพียงประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง โดยรวมเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่นั้นเป็นโทษอยู่แล้ว เราจึงไม่เอาสิ่งที่เป็นโทษนั้นเขามาใส่ตัวด้วยใจที่เป็นสุข

นี่คือผลที่ปฏิบัติมาด้วยการชำระล้างความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดไปจากจิตวิญญาณ ถือเป็นกิเลสระดับที่ไม่ยากไม่ลำบากนัก สาวกระดับกระจอกๆอย่างผมยังทำได้ แล้วผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่าจะไม่ได้หรืออย่างไร แล้วพระพุทธเจ้าผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งจะขนาดไหน ท่านรู้ทุกอย่างในโลก ท่านรู้ที่มาที่ไปของทุกเหตุปัจจัย ขนาดผมไม่รู้ถึงขนาดท่านก็ยังรู้เลยว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภค เพราะค่าโดยรวมแล้วมีโทษมากกว่าประโยชน์ เรียกว่าได้รสสุขนิดหน่อย แต่เก็บสะสมอกุศลกรรมสร้างทุกข์ไปอีกนานแสนนาน

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดเป็นสิ่งลวง เมื่อเราเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ เราก็ไม่ควรจะเอาโทษนั้นมาใส่ตัว หากว่าเราไม่มีกิเลส ก็คงจะไม่มีแรงต้านมากนัก แต่หากกิเลสมาก ก็คงจะคิดหาวิธีที่จะให้ได้เสพเนื้อสัตว์โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือถูกกล่าวหาใดๆ

แม้แต่การกล่าวหาว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ข้อคิดเห็นเหล่านี้ได้เลย ไม่มีหลักฐานชี้ชัดใดๆเลยสักอย่างเดียว เรื่องราวทั้งหมดนั้นผ่านมากว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว สิ่งที่เหลือไว้มีเพียงคำสั่งสอนให้เพียรปฏิบัติจนเกิดปัญญารู้ขึ้นเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรเชื่อแต่แรก แต่ควรพิสูจน์ให้เห็นด้วยปัญญาของตนเองว่าเนื้อสัตว์นั้นควรละเว้นหรือควรบริโภค

ผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นก็มีมากมายหลากหลาย มีอินทรีย์พละต่างกัน ผู้ที่สามารถตัดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็มี ผู้ที่ยังหลงเมามายอยู่กับรสของเนื้อสัตว์ก็มี แต่หากมุ่งปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ก็เป็นสาวกในพระพุทธศาสนาทั้งนั้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถละเว้นการเบียดเบียนทั้งหมดได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ทิ้งคนเหล่านั้น เพราะพวกเขายังมีความดี ยังมีทิศทางในการลดละกิเลสอยู่ จึงไม่มีบัญญัติใดๆที่ระบุว่าห้ามกินเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน มีเพียงข้อแม้ต่างๆตามที่ได้ระบุไว้ดังที่ยกตัวอย่างบางส่วนมาก่อนหน้านี้

คนที่อยากกินเนื้อสัตว์ก็จะหาช่องว่างในเนื้อหาและตัวอักษรเหล่านั้นให้ตัวเองได้กินเนื้อสัตว์ ส่วนคนที่ปฏิบัติจนลดและทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็จะไม่สงสัยใดๆอีกว่าควรจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กิน

การเลือกกินเนื้อสัตว์เป็นเจตนา ซึ่งเป็นกรรมของแต่ละคน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอาหารเสียก่อนว่าเราควรจะทำกรรมนี้หรือเราจะเลี่ยงกรรมนี้ หากมีผักและเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า เราจะเลือกเขี่ยสิ่งใดออก เราจะเลือกนำสิ่งใดเข้าปากเรา เราจึงควรใช้ปัญญาของเราพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ให้เห็นประโยชน์และโทษของมัน ควรเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่มีประโยชน์ จึงจะพบกับความผาสุก

ตราบใดที่เรายังกำจัดความหลงในเนื้อสัตว์ไม่ได้ เนื้อสัตว์เหล่านั้นก็จะยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตเรา มีอิทธิพลต่อเรา เป็นตัวกำหนดทุกข์และสุขของเรา เป็นเจ้านายของเรา เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นจนเป็นเหตุให้ต้องทุกข์เมื่อไม่ได้เสพ เป็นสุขเมื่อได้เสพ วนเวียนอยู่ในสุขทุกข์แบบโลกๆอย่างไม่มีวันจบสิ้นเพราะเป็นทาสเนื้อสัตว์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :กรณีการโต้แย้งต่างๆในบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

– – – – – – – – – – – – – – –

13.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)