Dinh (Author's Website)
อาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ทำง่าย ประหยัด สุขภาพดี
อาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ทำง่าย ประหยัด สุขภาพดี
จากประสบการณ์ทำอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์กินเอง พบว่าแต่ละอย่างนั้นทำได้ง่าย และประหยัด
ความง่ายเริ่มจากผมมีความจำเป็นต้องไปพักในบ้านที่ไม่มีตู้เย็น ซึ่งผักนี้เอง มันเก็บง่าย เก็บได้หลายวัน ต่างจากเนื้อสัตว์ที่ต้องมีตู้เย็น ผักจึงเป็นความเรียบง่ายของชีวิต นี่ขนาดว่าซื้อผักกินนะ ถ้าปลูกเองจะเรียบง่ายกว่านี้อีก
ความประหยัดนั้นเห็นได้ชัดอยู่แล้ว เทียบมวลของเนื้อสัตว์กับผักพื้นบ้านทั่วไปในตลาดต่อกิโลกรัม ย่อมจะได้มวลของผักมากกว่า อิ่มกว่า แต่ไม่แน่นท้องเท่าเนื้อสัตว์ โดยค่ารวมๆแล้วแม้เราจะกินผักเป็นหลัก แต่ค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย เพราะผักมีราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์มากในความอิ่มที่เท่ากัน
ในเรื่องสุขภาพ มีงานวิจัยหลากหลายที่แสดงผลว่าเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคภัย เป็นสิ่งที่รู้กันเป็นสามัญในสังคม โดยเฉพาะตามหลักของพระพุทธเจ้าที่ว่า “การเบียดเบียนทำให้เกิดโรคมากและอายุสั้น” ยิ่งสร้างภูมิปัญญาให้กับชาวพุทธได้มั่นใจในการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นเพื่อรักษาสุขภาพและชีวิตด้วย
ดังนั้นการไม่กินเนื้อสัตว์ แล้วหันมากินผัก จะตรงกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ให้กินสิ่งที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษ”
การกินผักนั้นหาได้ง่าย ราคาถูก ปลูกเองก็ได้ ไม่มีโทษ ส่วนเนื้อสัตว์แม้จะหาซื้อได้ง่าย แต่ก็เลี้ยงเองไม่ง่าย ฆ่าเองก็บาป ต้องรอซื้อจากที่เขาฆ่ามา ไม่ดีต่อสุขภาพ จึงเป็นสิ่งที่หาได้ยากและมีโทษ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งไม่ควรด้วยประการทั้งปวง
คนเล็กอัตตาใหญ่
คนเล็กอัตตาใหญ่
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่”
ทุกวันนี้นอกจากเราจะไม่เผื่อแผ่กันแล้ว เรายังฉกชิงสิทธิ์ในการมีชีวิตมาจากสัตว์อื่นอีกด้วย
ควรแล้วหรือที่เราจะทำตนให้เป็นยิ่งใหญ่เหนือผู้อื่น เรามีสิทธิ์อะไรในชีวิตของสัตว์อื่นเล่า เขาเคยตกลงกับเราไว้เช่นนั้นหรือ. . .
นอกเสียจากว่าเราหลงไปว่า สัตว์เหล่านั้นเกิดมาเพื่อฉัน สัตว์เหล่านั้นเป็นสิทธิ์ของฉัน เนื้อสัตว์เหล่านั้นคือชีวิตของฉัน
การเห็นและเข้าใจเช่นนี้คือการส่งจิตออกนอก ออกไปเสพและเบียดเบียนสัตว์อื่น เอาเขามาเป็นของตน จนเนื้อสัตว์เหล่านั้นกลายเป็นอัตตาของตน ทั้งที่จริงแล้ว ไม่มีใครมีสิทธิ์ในชีวิตผู้อื่นเลย
ราโมน่า ซาโนลารี่ ไม่กินเนื้อสัตว์ สุขภาพดีขึ้น
นี่คือหนึ่งผู้ที่พิสูจน์ประโยชน์ของการไม่กินเนื้อสัตว์ ผลที่ได้คือสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ตรงกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “การไม่เบียดเบียนทำให้เกิดโรคน้อยและอายุยืน”
เป็นการปฏิบัติที่เกิดผลจริง เป็นปัญญาจริงในตน ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบวชหรือนักปฏิบัติธรรม ก็คนสามัญธรรมดาที่ยังใช้ชีวิตปกติอยู่ในโลกนี่แหละ
เรียกว่าปัจจัตตัง ไม่ใช่คิดเอา คาดคะเนเอา เดาเอา ผู้ที่ปฏิบัติได้จริงก็จะรู้ แต่คนไม่ปฏิบัติก็จะงงๆ ไม่เข้าใจ ต่อต้าน ฯลฯ
อันนี้แค่ผลทางรูปธรรมที่เห็นกันได้แบบชัดเจนๆนะ ยิ่งถ้าเป็นผู้ที่ชำระล้างความอยากกินเนื้อสัตว์จะยังมีผลทางนามธรรมอีกมากมาย (เพียงแค่หยิบยกมาให้เห็นกันไม่ได้เท่านั้นเอง)
ชีวิตคือการเรียนรู้ ก็เรียนรู้กันไปว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ บัณฑิตย่อมเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ละเว้นสิ่งที่เป็นโทษ
อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์
อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์
ในหนึ่งการกระทำอาจจะมีเหตุผลที่ต่างกันมากมาย การไม่กินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน แม้ดูเผินๆจะเหมือนว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์หลายคนต่างก็เหมือนๆกัน แต่ในความเหมือนนั้นก็อาจจะมีลักษณะของจิตที่แตกต่างกัน ซึ่งก็อาจจะ ยึดบ้าง อาศัยบ้าง แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะฝึกฝนจิตมามากน้อยเช่นไร
อุปาทานคือสภาพของการยึดมั่นถือมั่น ในกรณีของการกินเนื้อสัตว์ก็มีทั้งผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์ ในส่วนสมาทานคือสภาพของการยึดอาศัย ใช้เพียงแค่อาศัยให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้ยึดว่าต้องเป็นสิ่งใด โดยมีการพิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นเป็นหลัก
ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการกินเนื้อสัตว์ )
คือสภาพยึดมั่นถือมั่นในจิตว่า คนจะต้องกินเนื้อสัตว์ กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ผิด ใครๆเขาก็กินกัน เนื้อสัตว์มีคุณค่า ฯลฯ เป็นลักษณะของการยึดเพื่อเสพ วิธีตรวจดูความยึดมั่นถือมั่นก็ง่ายๆ เพียงลองละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นสักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะหนึ่งเดือน หนึ่งปี หรือหนึ่งชีวิต ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่นก็จะมีอาการทุกข์เกิดขึ้น ที่มีความทุกข์นั้นเพราะเกิดจากการไม่ได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องได้เสพ กิเลสจะดิ้นทุรนทุรายและหาเหตุผลอันชอบธรรมเพื่อจะให้ได้กลับไปเสพเนื้อสัตว์เหล่านั้น
เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ ถึงเขาจะไม่กินตลอดชีวิตเขาก็จะไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร ไม่คิดถึง ไม่โหยหา ไม่กระวนกระวาย ไม่ต้องหาเหตุผลให้ไปกินเนื้อสัตว์ การที่ยังมีอาการทุกข์ในจิตนั้นเพราะไปหลงเสพ หลงติด หลงยึดในอะไรสักอย่างในเนื้อสัตว์
ความทุกข์นั้นเกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก พรากจากสิ่งที่ตนหวงแหน เมื่อเขายึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ดังนั้นแล้ว เขาย่อมไม่อยากพรากจากเนื้อสัตว์เหล่านั้น เขาจะไม่ยอมให้ธรรมะหรือความเห็นอื่นใดเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่นของเขา เขาจะยึดมันไว้เป็นสรณะ แม้ว่าเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะเป็นเนื้อผิดศีลผิดธรรม เป็นเนื้อที่เขาฆ่ามา เป็นเนื้อสัตว์ที่ผิดไปจากหลักของการพ้นทุกข์ก็ตาม
เป็นลักษณะของการมีอุปาทานในเนื้อสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นที่ฝังลึกลงไปในจิตวิญญาณ ที่มักจะหาเหตุผลและสิ่งอ้างอิงต่างๆมาใช้เพื่อให้ตนได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาป ทั้งที่จริงแล้วเราไม่ควรคิดหาเหตุผลและข้ออ้างในการเบียดเบียนเลย เพราะความจริงนั้นมีปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปแล้วว่า แม้เราจะไม่เบียดเบียนสัตว์ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ แต่ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะเขาเหล่านั้นจะทุกข์ทรมานจากความอยากเพราะสิ่งที่เขายึดมั่นถือมั่นนั้นเอง
ความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เป็นสภาพของการดูดดึงเข้าไปเสพสิ่งที่เป็นภัย ยังจมอยู่ในกามภพ คือภพที่ยังหลงสุขลวงจากการได้เสพ เป็นทางโต่งไปในทางกามสุขลิกะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง
ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการไม่กินเนื้อสัตว์ )
คือสภาพที่ยึดมั่นถือมั่นว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นั้นดี เป็นสิ่งดีที่ควรจะทำ ใครไม่กินเนื้อดี ใครกินเนื้อไม่ดี โดยมักจะมีความกดดัน อึดอัด บังคับ ยัดเยียด ยกตกข่มท่านเข้าไปร่วมด้วย มักจะมีอาการรังเกียจเนื้อสัตว์และคนกินเนื้อสัตว์อยู่และไม่สามารถปล่อยวางความยึดดีเหล่านั้นได้จนมักเกิดอารมณ์ขุ่นมัวในจิตใจ
หากอยากลองทดสอบความยึดมั่นถือมั่นก็ให้ลองเข้าไปอยู่ในหมู่คนกินเนื้อสัตว์ อยู่ร่วมโต๊ะอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ หรือกระทั่งลองกินเนื้อสัตว์ จะพบสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจที่เกิดจากการที่จิตมีอาการรังเกียจผลักไส เพราะยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์แต่ถ้ามีอาการสุขเมื่อได้เสพเนื้อสัตว์แสดงว่ายังล้างกามไม่หมด ยังมีความดูดซ้อนในความผลักอยู่
การยึดมั่นถือมั่นในความดีจนตัวเองต้องทุกข์ทรมานด้วยความยึดดีนั้น เป็นการสร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะมีอัตตา เป็นทางโต่งไปในด้านอัตตกิลิมถะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง
ผู้ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ไม่กินเนื้อสัตว์( สมาทาน )
เป็นสภาพของการสมาทานหรือยึดอาศัย คืออาศัยสิ่งที่เป็นประโยชน์ละเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ สิ่งใดเบียดเบียนก็ไม่เอา สิ่งใดมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นก็เอา ไม่มีความดูดดึงในเนื้อสัตว์ ไม่มีความอยากเข้าไปกิน และไม่มีอาการผลักไส หรือไม่อยากกิน แต่จะเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นสำคัญ
การสมาทานหรือการยึดอาศัยนี้เอง คือจุดที่เป็นกลางที่สุด หรือที่เรียกกันว่าทางสายกลาง เป็นกลางบนกุศลสูงสุด ไม่ยึดชั่ว ไม่ยึดดี ไม่เสพกาม ไม่เมาอัตตา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นเพียงสภาวะที่จะอาศัยให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นเท่านั้น
– – – – – – – – – – – – – – –
15.7.2558