Dinh (Author's Website)
ศรัทธา
ศรัทธา
คนไม่มีศรัทธา พาตัวเองออกจากศาสนา
คนศรัทธาน้อย พาเงินเข้าวัด
คนศรัทธาดี พาธรรมเข้าสังคม
คนศรัทธามาก พากิเลสออกจากตน
คนศรัทธาเต็ม ชี้ทางนำกิเลสออกจากผองชน
. . . . . . . . . . . . . . . . . .
คนไม่มีศรัทธาจะไม่พาตัวเองเข้าหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และจะมีทิศทางที่จะห่างออกไปจากศาสนา ห่างออกไปจากศีลธรรม มักจะมีชุดความเชื่อของตนเอง ศีลธรรมของตนเอง ยึดตนเองเป็นที่ตั้งแห่งการตัดสินใจ
คนศรัทธาน้อยจะพาเอาลาภสักการะเข้าสู่ศาสนา มีเงินก็บริจาคเงิน มีที่ก็บริจาคที่ พาตัวเองเข้าวัดฟังธรรม ซึ่งหากขาดปัญญาแล้ว ศรัทธานั้นมักจะเป็นภัยแก่ตน คือไปศรัทธาอลัชชีผู้มักมาก หลอกล่อเอาลาภสักการะเข้าสู่ตน หลอกให้บริจาคทรัพย์ เวลา แรงงาน กระทั่งชีวิตให้แก่ตน
คนศรัทธาดีพอได้ศึกษาธรรมะบ้างแล้ว ก็จะมีความอยากเผยแพร่สิ่งดีๆให้กับคนอื่น ในขั้นหยาบๆมักมาในรูปของการเชิญชวนให้ทำทาน หรือให้ไปศรัทธาในอาจารย์ที่ตนนับถือ ในแบบทั่วๆไปก็คือการแจกจ่ายข้อมูลธรรมะ ตามคำบอกเล่า ตามหลักฐาน ตามที่มีที่อ้างต่างๆ มักจะเป็นธรรมะที่จำมา ซึ่งมักจะหลงผิดว่าเป็นการแจกจ่ายธรรมทาน ทั้งที่จริงแล้วเป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่สื่อเท่านั้น ธรรมทานจะให้ได้ก็ต่อเมื่อมีคุณสมบัติเหล่านั้นในตนจริงๆ หากผู้ใดไม่มีธรรมนั้นในตนจริงแล้วเอามาแจกจ่าย ก็เป็นเพียงผู้ที่มีส่วนช่วยในการจำและกระจายข้อมูลเท่านั้น
คนศรัทธามากจะเข้ามาปฏิบัติที่ตนอย่างจริงจัง คือแสวงหาหนทางที่จะพาตนเองให้พ้นไปจากทุกข์ให้ได้ ซึ่งความศรัทธามากนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถปฏิบัติจนถึงผลได้ ขึ้นอยู่กับวิถีปฏิบัติที่ศรัทธาอยู่นั้นถูกต้องหรือผิดทาง ถ้าผิดทางศรัทธาที่มากนั้นก็จะพาไปเข้ารกเข้าพงเข้าป่าหลงทางกันไป แต่ถ้าถูกทางก็จะสามารถทำลายกิเลสที่ตนเองหลงติดหลงยึดโดยลำดับจนสามารถเปลี่ยนอธรรมในตนให้เป็นธรรมะได้ จึงเรียกว่าเป็นผู้สร้างธรรมะให้มีในตนได้อย่างแท้จริง ก็จะสามารถเป็นผู้แจกจ่ายธรรมทานนั้นๆ เท่าที่ตัวเองปฏิบัติมาได้โดยไม่ผิดสัจจะ
คนศรัทธาเต็มจะมีความเห็นว่ากิเลสนั้นเป็นสิ่งชั่วจึงล้างกิเลสออกจากตนจนสิ้นเกลี้ยง ทั้งยังชักชวนให้ผู้อื่นออกจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น รวมทั้งยังกล่าวสรรเสริญคุณในกิจกรรมการงานใดๆก็ตามที่พาให้ลดกิเลส ลดการเบียดเบียน ซึ่งผู้ที่มีคุณดังนี้ก็จะสามารถชี้ทางให้คนอื่นออกจากกิเลสได้ เพราะได้ทำสิ่งที่ควรทำก่อนแล้วจึงสอนผู้อื่น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนในคุณธรรมอันสมควรก่อน จึงค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลัง จักไม่มัวหมอง”
– – – – – – – – – – – – – – –
1.12.2558
ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?
ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?
ถาม: คุณดิณห์ ช่วยบอกผมหน่อย ว่าการฆ่าตัวตาย บาปได้อย่างไร ในเมื่อ เราตายคนเดียว คนอื่นไม่ได้ตายด้วย สมมติว่าถ้าเราไม่เหลือใครแล้ว และไม่มีใครให้ห่วง ไม่มีใครห่วง การตายของเราก็ไม่น่าทำให้ใครเดือดร้อนนะครับ
ตอบ: เป็นบาปเพราะทำให้ตัวเองเดือดร้อน เป็นการเบียดเบียนตนด้วยความเห็นผิดครับ
เพราะเราอาจจะเห็นว่าชาติก่อนไม่มี ชาติหน้าไม่มี ทำอะไรไปก็ไม่มีผล เช่นเดียวกับการฆ่าตัวตายไม่มีผล ย่อมดับสูญไป สลายไป สิ่งที่ทำลงไปแล้วถูกยกเลิกทั้งหมด จึงมักคิดเห็นว่าการฆ่าตัวตายในเงื่อนไขที่ว่าไม่เหลือใครไม่มีผลกระทบกับใครเพราะเรามองแต่องค์ประกอบในชาตินี้ ไม่ได้รู้เหตุที่มา และไม่รู้ที่ไปของมัน
ซึ่งจริงๆ การฆ่าตัวตาย มีผลกระทบกับตัวเราเองโดยตรงเลย ด้วยความที่เราสำคัญผิด คิดว่าตัวเราเป็นของเรา เรามีสิทธิ์ขาดที่จะตัดสินใจทำอะไรก็ได้ แน่นอนว่าภาพที่เห็นคงจะเป็นเช่นนั้น แต่การกระทำใด ๆ ล้วนมีผลดีและร้ายอยู่ ถ้าเราทำดีเราก็จะได้รับผลดี ถ้าเราทำชั่วเราก็จะได้รับผลชั่ว
ทีนี้ชีวิตและร่างกายที่เราได้มานี่มันไม่บังเอิญนะ การที่เราเกิดมาครบ 32 มีสติปัญญาสามารถเข้าถึงคำสอนในศาสนาได้นี่มันไม่ได้มาลอยๆ มันไม่ใช่จับฉลากมาได้ มันมีเหตุมีที่มา เอาง่ายๆว่าเราต้องทำคุณงามความดีมาพอสมควรถึงจะได้สิทธิ์นั้น
สมมุติว่าเราต้องทำดีสัก 100 หน่วย ถึงจะมีสิทธิ์เกิดมาบนแผ่นดินที่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าประกาศอยู่ เราก็ทำดีสะสมมาหลายต่อหลายชาติกว่าจะสะสมได้ความดี 100 หน่วย ทีนี้พอเกิดมาเราก็มีความเห็นว่า เราไม่มีญาติเป็นห่วง เราตายไปก็ไม่น่าจะทำให้ใครเดือดร้อน ว่าแล้วเราก็ฆ่าตัวตาย ทิ้งความดี 100 หน่วยที่ได้สะสมมาอย่างไม่เสียดาย
กรรมดีเมื่อได้รับแล้วก็หมดไป เมื่อเราได้รับผลนั้น คือทำดีจนเกิดมาบนแผ่นดินที่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าประกาศอยู่ ผลนั้นก็จบไป ดี 100 หน่วยที่ทำมาก็หายไป ถ้าอยากได้ใหม่ก็ต้องทำดีใหม่
ชี้กันชัดๆว่าการฆ่าตัวตายคือการโยนสิ่งที่ดีทิ้งไปโดยไม่รู้ว่ามันดี ชีวิตนี่มันดีนะ มันมีคุณค่า คนเกิดมาแล้วสามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้ จะตกต่ำจนเป็นมหาโจรก็ได้ จะดีจนเป็นพ่อพระก็ได้ หรือจะพัฒนาจนถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ก็ได้ หนึ่งชีวิตมันมีโอกาส มีคุณค่าแบบนี้ แล้วทีนี้เราไม่สนใจเลยว่ามันมีที่มายังไง เราได้มาเราไม่เห็นค่า เห็นแค่ว่าถึงโยนชีวิตทิ้งไปก็ไม่เดือดร้อนใคร เราก็โยนสิ่งดีทิ้งไปแบบนั้น
ซึ่งลักษณะนี้ก็เข้ากับอุปกิเลสแบบหนึ่งคือ ลบหลู่คุณท่าน คือลบหลู่ ตีทิ้ง มองข้ามคุณความดีที่ตนทำมานี่แหละ แทนที่จะเอาร่างกาย ทรัพย์สิน ปัญหา ไปสร้างคุณค่าสร้างกรรมดีให้เราและโลกได้ใช้ แต่เรากลับเอาทั้งหมดไปโยนทิ้ง
ลองนึกภาพว่าเราต้องสร้างบันไดเพื่อไปให้ถึงยอดเขา เราก็เพียรสร้างมาหลายภพหลายชาติ แล้วชาติใดชาติหนึ่งก็เกิดความเห็นว่าจะสร้างทำไม ว่าแล้วก็พังบันไดเหล่านั้นทิ้ง สุดท้ายมันก็ต้องวนกลับไปเริ่มสร้างใหม่อยู่ดีนั่นแหละ เพราะนอกจากจะหลุดพ้นวัฏสงสารนี้ด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า โดยการทำลายกิเลสแล้ว ทางอื่นไม่มี ก็ต้องทำใหม่ เริ่มใหม่ แล้วชาติใดเห็นผิดอีก ก็ทำลายที่ตนเองสร้างมา แล้วก็วนกลับไปเกิดในกองทุกข์ พอทุกข์แล้วก็อยากพ้นทุกข์ ก็สร้างบันไดหนีทุกข์ใหม่ แล้วก็ทำลายไปอีก วนเวียนไปอยู่เช่นนี้
สภาพของคนที่คิดฆ่าตัวตายมักจะเกิดจากการไม่เห็นคุณค่าในตนเอง เป็นสภาพของความหดหู่ ซึมเศร้า หรือโกรธจัดซึ่งเกิดจากความไม่ได้ดั่งใจ ฯลฯ เป็นลักษณะหนึ่งของกิเลสที่สามารถแก้ไขได้ อยู่ในระดับของอบาย คือหยาบ ฉิบหาย เสียหายมาก เพราะถือว่าล้มโต๊ะ ทำลายคุณค่าที่ทำมาทั้งหมด
จริงๆแล้วไม่ใช่ว่าเราไม่มีคุณค่ากับใครหรอก เพียงแค่เราไม่รู้เท่านั้นเองว่ามี และไม่รู้จักการสร้างคุณค่า การที่เราหายไปนั้นมีผลกับคนอื่นไม่มากก็น้อย
ทรัพยากรที่เราใช้มาตั้งแต่เด็กจนโต สัตว์กี่ตัวที่ตายไปเพราะเรากิน ต้นไม้กี่ต้นหายไปเพราะการเรียนรู้ของเรา หลายสิ่งที่เราผลาญมาจนถึงวันนี้ เราสร้างคุณค่าชดเชยคืนให้กับมันอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง เราใช้ชีวิตเพื่อโลกให้มากพอกับที่เราเคยเอามาจากโลกแล้วหรือยัง หรือเราจะมาเพื่อเพียงเสพสุขแล้วเลือกที่จะจากโลกนี้ไปโดยทิ้งหนี้กรรมไว้ ไม่ยอมชำระสะสาง
ถึงแม้เราจะเหลือเป็นคนสุดท้ายในโลก ไม่มีใครให้ห่วง ไม่เหลือใครมาห่วงเรา ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องทิ้งคุณค่าที่ตนมีไปเลย เรายังสามารถใช้ชีวิตสร้างสรรค์โลกได้นานตราบเท่าที่เราจะอยู่ไหว ถึงเวลาที่สมควรก็ปล่อยให้ร่างกายมันตายไปเอง ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่รีบเร่ง ไม่ฝืน ไม่ต่อต้าน มีแต่จะเสริมให้โลกนั้นหมุนเวียนไปอย่างสงบร่มเย็น
ในวัฏสงสารอันยาวนานนี้ หากสิ่งใดจะสำคัญที่สุดก็คือตัวเราเอง มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่เป็นผู้สร้างกรรม และเป็นผู้รับผลกรรมเหล่านั้น
– – – – – – – – – – – – – – –
7.12.2558
บทความมังสวิรัติต่อจากนี้
ก่อนหน้านี้ผมก็เขียนบทความชี้โทษของการกินเนื้อสัตว์และบอกประโยชน์ของการไม่กินเนื้อสัตว์ที่ประยุกต์เข้ากับคำสอนของศาสนาพุทธ มาจำนวนหนึ่งแล้วนะครับ
บทความก่อนๆหน้านี้ สำหรับผมเรียกว่าบทความเรียกน้ำย่อยแล้วกัน เพราะโดยมากจะใช้ภาษาที่ปรับให้เบา เกลาธรรมให้ง่าย สะกิดกิเลสกันพอประมาณ ไม่รุนแรงมาก
แต่หลังจากตอนนี้ผมคิดว่า จะเพิ่มน้ำหนักแล้วนะครับ เพราะกิเลสสมัยนี้มันหนา ถ้าผมไม่ลงแรงมากขึ้นก็จะขูดกันไม่ออกครับ
อย่างบทความล่าสุด “การซื้อเนื้อสัตว์ คือหุ้นส่วนร่วมฆ่า” ก็เริ่มๆจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นมาแล้วครับ และอาจจะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมจะประมาณดูอีกทีครับ
ในมุมของผู้ปฏิบัติธรรม ผมเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันเป็นการเบียดเบียนแบบที่เห็นกันชัดๆเลยนะ ถ้าไม่มีปัญญาเห็นโทษของสิ่งนี้ แล้วศีลในระดับที่ยากกว่าเช่น การกินมื้อเดียว, การประพฤติตนเป็นโสด, การพอเพียง นี่จะเข้าใจได้อย่างไร มันต้องใช้ปัญญามากกว่านั้นในการเข้าถึงคุณของสิ่งเหล่านั้นนะ
นี่แค่เรื่องตื้นๆยังไม่เห็นโทษกัน ไม่ต้องคุยกันเรื่องยากกว่านี้หรอก เพราะที่เห็นกันอยู่ทนโท่ว่าเบียดเบียนกันฆ่ากัน ยังไม่รุ้ไม่เห็นว่าเป็นโทษ ยังทำไม่รู้ไม่ชี้ แล้วที่ยากกว่านี้มันจะเข้าใจได้อย่างไร มันก็ถือปฏิบัติกันเอาเท่ๆ เท่านั้นแหละ
เรียกว่าปฏิบัติธรรมเท่ๆ ถือปฏิบัติให้มันดูเท่ๆ น่าเคารพ (สีลัพพตุปาทาน) แต่ไม่มีปัญญาเห็นโทษ
เพราะถ้ามีปัญญาจริงมันต้องเห็นโทษตั้งแต่เรื่องตื้นๆอย่างการไม่สนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาแล้ว
พุทธในไทยไม่ค่อยมีลำดับ ไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย อยู่ๆก็ไปอยู่กลางมหาสมุทรเลย แต่เรื่องตื้นๆกลับไม่รู้ …มันขัดกับที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่นะ ลองตรวจสอบตัวเองกันให้ดี
เงิน 5 บาททำอะไรได้บ้าง?
เงิน 5 บาททำอะไรได้บ้าง?
ผมเคยนึกสงสัยนะว่าเงิน 5 บาทจะใช้ทำอะไรได้ในสมัยนี้ ขบคิดอยู่นาน ทำยังไงหนอให้มันเกิดประโยชน์สูงสุด ซื้ออะไรก็แทบไม่ได้ และถึงจะซื้อได้สิ่งเหล่านั้นก็มักจะไม่มีประโยชน์เท่าไรนัก คำตอบสุดท้ายในใจของผมคือเก็บเงิน 5 บาทนั้นเอาไว้…
จนกระทั่งเมื่อวาน… ผมมีนัดกับเพื่อนและแยกย้ายกันเกือบเที่ยงคืน หลังจากล่ำรากันผมรีบเดินไปขึ้นรถกะป๊อกลับบ้าน เพราะเขาว่ารถจะหมดตอนเที่ยงคืน
โชคยังดีที่ยังเหลือรถอยู่หนึ่งคัน ผมถามคนขับว่าไปถึงสุดซอยหรือไม่ คนขับพยักหน้า ในรถมีหนึ่งป้าและสองวัยรุ่น ทั้งสามดูไม่ได้รู้จักกัน เมื่อขึ้นไปนั่ง ป้าก็บ่นให้คนขับที่นั่งรอคนอยู่นอกรถฟังดังๆ ประมาณว่า “ไหนว่ามีคนขึ้นสองสามคนแล้วรถจะออก ให้นั่งรอนานๆ นี่มันร้อน” สีหน้าของป้าดูหงุดหงิด ไม่เป็นมิตร
คนขับตอบมาว่า “ก็รอพี่น้องเราอีกสักหน่อย เผื่อจะตกหล่น” ผมก็เข้าใจคนขับนะ ว่าการที่มีคนเพิ่มเขาก็ได้เงินด้วย และที่สำคัญ ถ้ารถออกไปแล้วผมคงต้องเสียเงินมากกว่านี้ในการกลับบ้านแน่ๆ ไม่นานนักก็มีหนุ่มนักศึกษาขึ้นมาเพิ่มและรถก็ออก
เมื่อรถออก ผมขยับขาเล็กน้อยเพื่อที่จะนั่งได้มั่นคงมากขึ้น ป้าหยิบสัมภาระที่วางอยู่ใกล้ๆเท้าของผมขึ้นไปมัดไว้กับราวข้างหนึ่ง หน้าตาดูไม่เป็นมิตรเท่าไรนัก ผมทบทวนตัวเองว่าทำอะไรให้ป้าไม่พอใจหรือไม่ …ก็ไม่นี่
นั่งรถไป ลมเย็นๆเวลาเที่ยงคืนก็พัดไป คนก็ค่อยๆทยอยลงไป เหลือแต่ผมกับป้า…
ป้าถามขึ้นมาว่า “หนูลงสุดซอยใช่ไหม?” ผมก็ตอบว่า “ใช่ครับ” แล้วก็นั่งไปจนสุดซอย ป้าก็บอกถึงแล้ว ผมก็ลงไปจ่ายเงินและเดินต่อไปเพื่อที่จะกลับบ้าน
เดินไปไม่กี่วินาที รถกะป๊อขับไล่หลังมา ตะโกนทักว่าไปไหม จะไปส่งใกล้ๆ ผมเห็นดีด้วยก็ขึ้นไป ป้าที่นั่งอยู่ในรถก็ตะโกนบอกคนขับว่า “สองคน 10 บาทพอเน้อ คนละ 5 บาท” แล้วหันมาบอกผมว่า เดี๋ยวแม่ออกให้ๆ ผมก็ตอบรับว่าขอบคุณครับ
ตอนแรกเราก็นึกว่าเขาใจดีไปส่งฟรี แต่จริงๆป้าเป็นคนจัดแจงให้ เพราะทางที่จะต้องเดินไปนั้นค่อนข้างเปลี่ยว เดินคนเดียวก็คงจะเสียวๆอยู่บ้าง สมัยนี้ถึงเป็นผู้ชายเขาก็ปล้นจี้กันเป็นธรรมดา
ก่อนลงรถ ป้าก็บอกอีกครั้งว่า “เดี๋ยวแม่จ่ายให้เนาะ เดี๋ยวเราเดินต่อไปด้วยกัน” …การแทนตัวว่าแม่ ทำให้ผมนึกถึงสมัยที่ไปเรียนรู้อยู่กับกลุ่มเครือข่ายชาวนาที่จังหวัดยโสธร คนที่นั่นเขาจะแทนตัวว่าพ่อว่าแม่ คือมองทุกคนเหมือนลูกหลาน ก็น่ารักดีนะ เมื่อถึงที่หมาย ผมก็ลงรถและเดินไปยืนรอ ในขณะที่ป้ากำลังจ่ายเงิน
เสร็จแล้วป้าก็เดินถือสัมภาระมา และเดินกันไปต่ออีกราวๆ 15 เมตร ก่อนจะถึงทางแยก ป้าถามว่าเราไปทางไหน เราก็ตอบว่าไปทางนั้น ป้าก็บอกว่าป้าไปทางโน้น ผมก็เลยขอบคุณและลาป้าเดินกลับบ้านต่อไป
แต่ก่อนหน้านี้ผมไม่มีปัญญานะ ว่าเงิน 5 บาทจะทำอะไรที่มีประโยชน์ได้ แต่ป้ากลับใช้เงิน 5 บาทแสดงให้ผมเห็นว่า เงิน 5 บาทนี่มันทำประโยชน์ได้ขนาดนี้เชียวนะ
ป้าก็ดูเป็นชาวบ้านธรรมดา ดูเป็นคนต่างจังหวัดเข้ากรุง ไม่ได้ดูรวยเหมือนป้าคนเมืองทั่วไป แต่กลับสละเงินแม้จะจำนวนไม่มาก แต่ก็เป็นทานที่มีผลให้ผมได้รับความสะดวกและปลอดภัยขึ้น บอกกันตรงๆว่าผมก็คิดไม่ถึงว่า 5 บาทจะสามารถทำประโยชน์ได้ขนาดนี้
ที่สำคัญคือเงิน 5 บาทนี้ไม่ได้ใช้เพื่อตัวเอง ป้าคงเห็นว่าผมจะเดินไปในทางเปลี่ยว ซึ่งคงจะถามคนขับว่าผมจะไปไหน ด้วยความเมตตากรุณาที่มีจึงสามารถใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้
ในตอนแรกป้าอาจจะดูหงุดหงิดเพราะรอรถออกนาน ซึ่งอากาศในรถก็ร้อนอบอ้าว แม้จะเปิดโล่งในทุกทิศก็ตาม แต่เมื่อนั่งไปจนสุดทางป้ากลับเปลี่ยนเป็นอีกคน อาจจะเพราะลมเย็น อาจจะเพราะใกล้ถึงที่หมายแล้ว อาจจะเพราะอะไรก็ตาม
แต่การที่ป้าได้แสดงให้ผมได้เห็นว่า ถ้าเรามีปัญญา เราก็จะใช้เงินแม้เพียงเล็กน้อยสร้างสิ่งที่ดีได้มากมาย นั่นคือประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับผมเลยเชียวล่ะ
คืนนั้นไม่มีรถมอเตอร์ไซค์อยู่ที่วินเพื่อต่อรถเข้าบ้าน ผมกลับดีใจที่ผมจะได้เก็บเงินไว้และเดินกลับบ้านไปแทน เผื่อวันหนึ่งเงินที่ประหยัดไว้ได้ จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นได้แบบป้า
– – – – – – – – – – – – – – –
5.12.2558