Dinh (Author's Website)
พาลหลงหรือพาลแสร้งว่าเป็นบัณฑิต
มีผู้อ่านเขาถามเข้ามาในประเด็นเกี่ยวกับคนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิตนั้น เป็นไปได้ไหมว่าเขาจะหลงหรือเข้าใจผิดไปเองว่าตนเข้าใจถูก คือมีอวิชชาบังตา ไม่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล
ตอบ เป็นไปได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาลยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตนั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้”
ยากนักที่คนพาลจะรู้ตัวว่าตนเป็นคนพาล และยิ่งกว่านั้นความพาลที่สะสมความเก่ง จะแปลงผลเป็นความอวดดีจนกระทั่งสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้รู้ หรือผู้บรรลุธรรมได้
กรณีของการแสร้งทำนั้น มีทั้งแบบแสร้งทั้งที่รู้กับแบบแสร้งทั้งที่ไม่รู้ คือหลงโดยสมบูรณ์ แต่อาการแสร้งนั้นจะปรากฏเมื่อกระทบกับสิ่งที่พอใจหรือไม่พอใจ จะเห็นอาการสะบัดของจิต แต่ด้วยความหลง จากแสร้งว่าไม่มี ไม่เห็น ไม่เป็น
เพราะเวทนาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่ายังไงถ้ามีกิเลส มันจะต้องทุกข์/สุข เมื่อได้กระทบสิ่งที่ไม่ชอบใจและชอบใจแน่นอน
สภาพที่ผู้ถามถามมานั้น คืออาการของผู้ที่กำลังถูกวิบากหนึ่งใน ๑๑ ข้อ ของผู้ที่เพ่งโทษพระอริยะเล่นงาน คือ หลงบรรลุธรรม
ผู้ที่เพ่งโทษติเตียนพระอริยะจะมีวิบากหลายประการที่จะสร้างอาการทุกข์อย่างแสนสาหัสที่แตกต่างกันไป
การหลงบรรลุธรรม คืออาการที่คนคนนั้นเข้าใจว่าตนปฏิบัติถูกต้อง มีมรรคผล มีความเจริญ แม้แต่หลงบรรลุว่าตนเองเป็นอรหันต์ หรือใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าก็มี เป็นเรื่องธรรมดาของคนหลงที่จะมีมิติของความหลงเป็นอนันต์
สมัยพุทธกาลก็เคยมีนักบวชที่หลงว่าตนบรรลุ แต่สมัยนั้นมีพระสารีบุตรช่วยแก้กลับให้ คือคนหลงบรรลุธรรมนี่เขาจะเก่ง จะแน่ จะมั่นใจมาก ๆ แถมข่มคนอื่นด้วย ยากที่จะปราบ ต้องระดับอัครสาวกไปช่วยถึงจะเอาอยู่ คือแน่เหมือนอัครสาวกเลย ถ้าไม่มีภูมิธรรมที่ถูกต้องจะไม่เห็นจุดผิด
สมัยนี้ก็มีเยอะที่หลงว่าตนเองเป็นอรหันต์ ตนก็เชื่ออย่างนั้น ลูกศิษย์ก็เชื่ออย่างนั้น แต่ไม่ได้เป็นจริง ๆ หรอก เขาหลงของเขา เขาไม่มีมรรคผลอะไรเลย แค่สิ่งเสพติดหยาบ ๆ เขายังเลิกไม่ได้เลย จะฝันไปถึงสวรรค์นิพพานมันก็เกินไป แต่คนส่วนใหญ่แม้ไม่ใช่ลูกศิษย์ก็เชื่อว่าเขาบรรลุ มันเป็นวิบากบาปของคนในยุคนี้ที่จะต้องหลงตามคนเห็นผิด (ซึ่งมีเคสแบบนี้เยอะมาก)
ไม่ต้องถึงระดับเกจิหรอก เอาคนธรรมดาทั่วไปที่ศึกษาธรรมะนี่แหละ ก็มีพวกโมฆะบุรุษอยู่เยอะ เพราะเรียนธรรมะเอาไว้ข่มผู้อื่นและเอาไว้กันคนดูถูกหรือนินทา และส่วนใหญ่พวกนี้จะเฮี้ยน เป็นเหมือนจอมยุทธไปรบกับเขาไปเรื่อย เลอะเทอะไปเรื่อย ถ้ามีบารมีก็อาจจะรวมคนเป็นสำนักขึ้นมาได้ แต่กระนั้นก็จะทำเพื่อเด่น ดัง ใหญ่ ล่าบริวาร ไม่ได้พาลดกิเลส
ดังนั้นสภาพหลงเพราะถูกอวิชชาครอบงำมีจริงไหม จึงสรุปว่ามี จริง ๆ ไม่ว่าจะหลงแบบรู้หรือแบบไม่รู้ตัวก็อวิชชาทั้งนั้นแหละ ความหลงจะทำให้มีอาการแสร้งทำแทรก เพราะไม่รู้จริง ไม่บรรลุจริง พอถูกถามเข้ามาก ๆ จะโกรธ อึดอัด ขุ่นเคืองใจ แต่จะเสแสร้งแกล้งทำว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นบ้าง บอกว่าเป็นการปรุงท่าทีลีลาด้วยจิตว่างบ้าง คือจะอ้างก็อ้างได้หมดแหละ อ้างตามภาษาพระอรหันต์กันเลย แต่ทุกข์ที่มันเกิดชัด ๆ ในใจเขา เขาจะไม่ยอมรับ ด้วยเหตุผลนี้ถึงบอกว่ามันจะมีอาการแสร้งอยู่ แต่คนอื่นเขาจะรู้ได้ยาก คนที่มีภูมิสูงกว่าจะมองเห็นได้ คนที่ภูมิต่ำกว่าจะมองเห็นบิดเบี้ยวไป และตัวเองนั่นแหละรู้ชัดว่าตัวเองตอแหล แต่จะไม่ยอมรับ ไม่ฉลาดในอาการกิเลสนั้น ๆ เพราะไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้อริยสัจ ๔ มันเลยเหมือนจะไม่ทุกข์ เหมือนไม่มีกิเลส แต่กิเลสมีอยู่ ครอบงำอยู่ แต่ไม่รู้จักนั่นเอง
ในยุคสมัยนี้ก็ต้องบอกว่าถูกพาลแท้ครอบงำไปหมดแล้ว มีแต่ชื่อว่าอรหันต์ ถ้าอยากจะพิสูจน์ก็ปฏิบัติตามไปให้เต็มที่เลย จะรู้ว่าไม่พ้นทุกข์ พากเพียรยังไงก็จะไม่พ้นทุกข์ เพราะไปเอาคนพาลเป็นอาจารย์ การเอาอสัตบุรุษเป็นอาจารย์ไม่มีวันพาไปพ้นทุกข์ได้ แม้ท่านเหล่านั้นจะมีป้ายแปะไว้ว่าพระอรหันต์ก็ตามที
ที่ผมกล้าพิมพ์เพราะว่าผมชัดในทางปฏิบัติ อย่าหาว่าเพ่งโทษกันเลยนะ บางเรื่องมันก็ต้องชี้โทษช่วยคนที่เขาสับสนบ้าง ถ้าใครปฏิบัติถูก จะเห็นการปฏิบัติที่ผิด คือเห็นสัมมาทิฎฐิว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ เห็นมิจฉาทิฎฐิว่าเป็นมิจฉาทิฎฐิ ไม่มัว ไม่สับสน
มันจะมีญาณเป็นตัวประกันปัญญาอยู่หลายเรื่อง เช่น ญาณที่จะแยกแยะธรรมะโลกุตระหรือกัลยาณธรรม หรือความเห็นอย่างสัมมาทิฎฐิในข้อที่ว่า รู้ว่าใครเป็นสัตบุรุษที่จะพาพ้นทุกข์ได้
ทั้งหมดนี้เดาเอาไม่ได้ คิดตามเฉย ๆ ก็ไม่ได้ ต้องศึกษาจนล้างกิเลสให้ได้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ก็จะชัดในทางปฏิบัติ เมื่อเอาการปฏิบัติของตนเองไปเทียบกับที่มีอยู่ส่วนใหญ่ในโลก จะพบความจริงว่า มันไม่เหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว คนที่ทำได้ ถ้าได้ศึกษากันสักพักจะชัดเจนเลยว่าใครเป็นใคร ใครเป็นบัณฑิต ใครเป็นคนพาล ไม่ต้องเดา ไม่ต้องมัว ไม่พลาดไปเพ่งโทษให้เสี่ยงนรกเปล่า ๆ เพียงแค่ปฏิบัติตัวเองให้ถูกเท่านั้น จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูก
แต่ก็เอาเถอะ คนพาลเขาก็พูดหรือกล่าวแบบนี้ได้เช่นกัน เรื่องของใครก็เรื่องของใคร วัดกันที่ใจเรานั่นแหละ ถ้าใจเรากระทบกับเรื่องใด ๆ ที่เคยติดหรือตั้งใจฝึกปฏิบัติแล้วไม่ทุกข์ไม่สุข พ้นสัญญาที่เคยหลงยึดไว้ กระทบแล้วกระทบอีกใจก็ยังนิ่ง ไม่กระเพื่อม หรือหวั่นไหวแม้เล็กน้อยเป็นใช้ได้ เมื่อได้ดังนั้นแล้วมองกลับไปยังการปฏิบัติในโลก จะชัดเองใครเป็นยังไง เพราะเราได้ผลกับตัวแล้ว กระทบก็แล้ว กระแทกก็แล้ว ยังไม่ทุกข์ มันก็ชัดที่สุดแล้ว
สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าไม่ตั้งใจปฏิบัติจนถึงผลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะดูคนไม่ออกหรอก เพราะเราจะไม่มีญาณปัญญา ไม่มีตาที่เหนือโลก ไว้แยกแยะ นั่นเพราะเรายังไม่ทำตัวเองให้ถึงโลกุตระ เมื่อไม่ถึงโลกุตระ ก็จะมีความรู้อยู่โลกเดียวคือโลกียะ มีความรู้จำกัด ดังนั้น โลกที่ซ้อนกันอยู่ในปัจจุบัน(จิตที่แตกต่าง) แม้มีอยู่ก็จะมองไม่เห็น จะมองเห็นหรือรู้ได้ก็เฉพาะเท่าที่ตนเองมี ตนเองเป็นอยู่เท่านั้น
เมตตาที่เกินความต้องการ พาลเลยเถิด
เวลาที่เราหลงรักหรือหลงห่วงใครมาก ๆ นี่มันมักจะมีอาการเกิน ๆ ขึ้นมาเสมอ ประโยคที่ว่า พาลจะเลยเถิด เป็นประโยคที่คนไทยน่าจะคุ้นหูกันดี ซึ่งถ้านำเอามาแยกเป็นคำ ๆ ก็จะมีคำว่า พาล + เลยเถิด (เกินความพอดี เกินสมควร) ก็สามารถเอามาสังวรใจตนได้ว่า ถ้าเราเริ่มพาล เราจะเริ่มเลยเถิดนะ
คือเวลาเราเมตตาไม่ประมาณเนี่ย มันจะออกอาการล้น ๆ เกิน ๆ เฟ้อ ๆ ฟุ่มเฟือย เสียเวลา ไม่เป็นประโยชน์ น่าเบื่อ น่าชัง ไม่น่ารับฟัง คนฟังเอือมระอา ฯลฯ
ความล้นมันจะออกมาตอนเราหวังดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั่นแหละ มันขึ้นต้นด้วยเมตตา แต่แรงผลักมันคืออัตตา มันก็เลยเหมือนรถไฟที่ไม่ติดเบรก พอถึงทางตันก็ชนยับเลย มีกี่ตู้ก็อัดเละไปตามนั้น
ก็เหมือนเมตตาที่ล้นเพราะอัตตานี่แหละ เห็นด้านหน้ามันจะเป็นเมตตาคือหวังดี แต่แฝงด้วยอัตตากองพะเนิน มันก็จะล้น แรง หนัก ฯลฯ
ความเมตตาที่เขาไม่ยินดีรับ ไม่ยินดีฟัง ก็เป็นความเพ้อเจ้อ ผิดศีลอยู่ดี เพราะเราอยากให้เกิดดี มากกว่าที่ดีมันควรจะเกิด มันติดกำแพงแล้ว เราก็ยังจะดัน จะชนเข้าไปอีก หมายจะทะลายกำแพงใจ เปิดใจอีกฝ่าย
โดยหารู้ไม่ว่า ถ้าเขาไม่เปิด ดันยังไงเขาก็ไม่เปิด ดันให้ตาย ดันให้พังเขาก็ไม่เปิดใจ การที่เขาจะศรัทธาหรือยอมให้เราช่วย มันเป็นเรื่องของเขา เป็นงานของเขา เป็นโอกาสที่เขาจะสร้างขึ้นมาเอง
เราจะเมตตาเขาได้สูงสุดก็แค่เท่าที่เขายินดีให้เราทำเท่านั้น บางทีแค่ยิ้มให้ยังผิดเลย เราก็ต้องรู้จักประมาณตนเอง ประมาณผู้อื่น อย่าพยายามล้นหรือเยอะเกิน เพราะมันไม่เป็นประโยชน์ นอกจากจะไม่พากันพ้นทุกข์แล้ว ยังพาให้เสื่อมศรัทธาแก่กันอีก
ถ้าเขาไม่ต้องการแล้วเราไปยัดเยียด แอบสอด แอบแทรก แอบสอน นั่นแหละมันเริ่มพาลแล้ว แล้วมันจะเลยเถิดไปเรื่อย ๆ ตามกำลังของตัณหา ความอวดดี อวดเก่ง ว่าจะช่วยเขาได้ เอาอีกนิดนะ เติมอีกหน่อยนะ ก็หวังกันไป ทำกันไป เขาไม่ได้ขอ ทำเกินหน้าที่ มันก็ล้น เยอะ เกิน ทำไปก็เสพผลที่ตัวเองทำอีก เน่ากันไปใหญ่เลยทีนี้
ดังนั้นจะเมตตาใครก็ตั้งจิตให้เหมาะ ๆ กับที่เขาให้โอกาสเราหน่อย อย่าไปทำเกินหน้าที่ มันจะบาดเจ็บในใจกันเปล่า ๆ อย่างน้อยที่สุดก็เจ็บใจตนเองล่ะนะ
เป็นไปได้ไหมที่จะมีคู่ที่ส่งเสริมกันทั้งทางโลกทางธรรม
ก็มีคำถามเข้ามาว่า ” เป็นไปได้ไหม ที่จะมีคู่ที่ส่งเสริมกันทั้งในทางโลกและทางธรรม โดยเฉพาะทางธรรม เพราะเท่าที่อ่านมาดูเหมือนจะยากมากๆ ที่จะมีความรักไปพร้อมกับการมีอิสระทางจิตวิญญาณ”
ตอบ : เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคู่แล้วจะเจริญ แต่ความเจริญจะเกิดจากการพบสัตบุรุษ ยิ่งอิสระทางใจยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะคู่นี่แหละคือห่วงที่ผูกไว้ให้ขาดอิสระ
คนเรานั้นจะพัฒนาขึ้นโดยลำดับตั้งแต่จิตอบายภูมิสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ได้เกิดมาเป็นคนใหม่ ๆ ก็จะไม่มีปัญญานัก ถึงจะมีคู่ ก็จะผิดศีลเป็นปกติ นอกใจ นอกกาย อันนี้เป็นฐานของปุถุชน
เมื่อวนเกิดวนตายเรียนรู้โลกหลายต่อหลายล้านชาติ ได้เรียนธรรมะ จนจิตพัฒนาขึ้นมา เป็นคนดีขึ้นมาได้มากขึ้น ก็จะสามารถพอใจในการมีคู่เดียว ไม่นอกกายนอกใจ ปฏิบัติตนในกรอบของศีล ๕
คนจะต้องวนฝึกอยู่ในด่านนี้กันนาน กว่าจะเรียนรู้ทุกข์โทษภัยของการนอกใจ จนพัฒนาจิตให้มั่นคงในคู่ของตนได้ ต้องใช้เวลานานมาก แต่การพัฒนานั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดคำแนะนำของสัตบุรุษ ที่แนะนำไปสู่ความเจริญและการมีศีล อย่างในกรณีของสมชีวิตสูตร(21,55) ก็มีสามีภรรยาสองคนมาถามวิธีที่จะได้เกิดมาพบกันอีกในชาติต่อ ๆ ไป พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า ถ้าจะมาเจอกันอีกจะต้องมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เสมอกัน และท่านยังสอนต่อไปว่าให้หมั่นดูแลภิกษุ สำรวมอยู่โดยธรรม พูดจาด้วยคำที่ดีต่อกัน รักกัน ไม่คิดร้ายต่อกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์อยู่ในเทวโลก
คือกว่าคนจะมาถึงฐานศีล ๕ แบบเต็มใจนี่มันยากแสนยาก ยากแสนสาหัสที่จะไม่นอกกายนอกใจ คือต้องมีคุณธรรมอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสใว้ จะต้องพัฒนากันมาช่วงหนึ่งก่อน เป็นเบื้องต้น คือมีผัวเดียวเมียเดียวให้ได้
คนส่วนใหญ่ที่เขาว่ารักพากันเจริญ เขาก็มุ่งเป้าหมายตรงนี้นี่แหละ จะเป็นผู้เสพกามอยู่ในสวรรค์ อยากจะมีสุขเจอกันนาน ๆ เจอกันตลอดไป
จะสรุปเบื้องต้นก่อนว่า คู่นี่พากันเจริญไม่ได้หรอก มีแต่พาเสพกัน เสพกามเสพอัตตา พากันดึงลงต่ำ แต่ความเจริญของคนคู่ จะเกิดได้ต่อเมื่อได้ฟังคำสอนของสัตบุรุษแล้วปฏิบัติตาม จึงจะเจริญได้ ดังนั้น ถ้าบอกว่ามีคู่แล้วพากันเจริญโดยไม่มีสัตบุรุษ เป็นไปไม่ได้
แต่…มันก็เป็นเพียงสถานีแรก คุณธรรมที่สูงกว่ายังมี ศีลที่สูงกว่ายังมี การมีคู่เดียว รักดี มีศีล รักกัน ไม่ทำร้ายกัน ไม่ใช่ความเจริญสูงสุดของหลักศาสนาพุทธ แต่ก็ถือว่าเป็นความเจริญในเบื้องต้นที่มนุษย์ควรกระทำ
การแช่หรือจมอยู่ ไม่ใช่ลักษณะที่ดีของผู้ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ การไม่มีอธิศีลหรือการไม่ตั้งจิตที่จะปฏิบัติไปสู่ความเจริญที่สูงกว่านั้น คือรูปรอยของความเสื่อมของชาวพุทธ (หานิสูตร)
แม้สามีภรรยาคู่นั้นจะถามเพียงแค่ทำอย่างไรให้ได้เจอกัน แต่พระพุทธเจ้าก็ได้แถมแผนที่ไว้ล่วงหน้าแล้ว นั่นคือการหมั่นไปพบปะดูแลภิกษุหรือสาวกของพระพุทธเจ้า (พระหรือฆราวาสที่มีอริยะธรรม) ถ้าหมั่นไปพบสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านก็จะสอนทางเจริญให้เป็นลำดับ
ซึ่งต่อจากศีล ๕ ก็คือศีล ๘ ทางแยกจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ตรงนี้ เพราะจากศีล ๘ พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ จะเป็นฐานที่ลดการเสพกามารมณ์ รวมถึงการลดความหลงในเรื่องคู่ด้วย
ถ้าจะสรุปเป็นภาพรวมตั้งแต่ต้นสายจนจบ การมีคู่แล้วพากันเจริญเพราะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างเก่งก็จะมาส่งแค่หน้าประตูบ้าน ยังมีเส้นทางอีกไกลแสนไกลในการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์
เมื่อคนเจริญมากขึ้น ก็จะเริ่มละเรื่องคู่ ปฏิบัติตนเป็นโสด จะเห็นได้ว่า ในขั้นตอนก่อนหน้านี้แม้การมีคู่เดียว รักเดียวใจเดียวได้จะเป็นความเจริญ แต่พอพัฒนาจิตต่อไป กลายเป็นว่าการมีคู่นั่นแหละคือความเสื่อม
อันนี้เป็นลำดับของการปฏิบัติธรรม ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราก็ไม่ควรส่งเสริมการมีคู่ เพราะในความจริงคือมันเป็นบาป ในสำหรับคนในฐานอบายภูมิ คนที่เกิดมาจากเดรัจฉาน การที่เขาสามารถที่จะพัฒนาจิตให้ตนไม่นอกใจคู่ได้นั้น มันเป็นบุญ
แต่บุญเป็นของที่ชำระกิเลสแล้วก็จบงานไป เหมือนทิชชู่เอาไปเช็ดสิ่งสกปรกแล้วก็ต้องทิ้งไป ไม่ใช่สิ่งสะสม ทีนี้พอเช็ดการนอกใจออกไปแล้วก็จบงานนั้นแล้ว การนอกใจไม่มี ก็มาเห็นคราบสกปรกที่ละเอียดขึ้นคือการหลงในกามารมณ์ ก็ต้องเช็ดออกอีก การทำบุญในรอบที่เจริญขึ้นคือการพรากออกจากคู่
ถ้าเราตั้งเป้าว่าต้องการเป็นอิสระ อยากมีอิสระในชีวิต ต้องการมีอิสระทางจิตวิญญาณ การมีคู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะอาศัยไว้เลย เพราะสุดท้าย การมีคู่นั่นแหละที่จะมัดอิสระเอาไว้ เป็นบ่วง เป็นทุกข์ เป็นลาภเลวที่จะสร้างโทษ ภัย ผลเสียเมื่อได้มาครอบครอง
ศาสนาพุทธนั้น ถ้าจะบอกเป้าหมายให้ถูกตรง หรือตั้งจิตให้ถูกตรง ก็คือการปฏิบัติจนหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหมด ไม่ใช่ตั้งจิตว่าจะไปแช่อยู่ในสวรรค์ชั้นนั้นชั้นนี้ หรือไปแช่อยู่ในพระอริยะชั้นนั้นชั้นนี้ จะมีประตูเดียวเลยคือบรรลุอรหันต์เป็นเป้าหมาย การตั้งจิตอย่างนี้ถือว่าเป็นการตั้งจิตเพื่อความไม่เสื่อม แต่การตั้งจิตว่าจะไปแช่ ไปพักอยู่ตรงนั้นตรงนี้ นั่นแหละคือสัญญาณแห่งความเสื่อม
จะสรุปไว้ว่า คนเราในโลกนั้นมีหลายฐานหลายภูมิธรรม อย่าเอาเสียงส่วนมาก อย่าเอาความเห็นคนส่วนใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่นั้นไปทางเสื่อมอยู่แล้ว ให้เราเอาใจตัวเองเป็นหลัก เอากำลังตัวเองเป็นหลัก
หลายคนมีปัญญาและกำลังใจพอที่จะก้าวไปสู่ฐานศีล ๘ หรือฐานอื่น ๆ ที่เจริญกว่าศีล ๕ แต่กลับไม่มีผู้ที่พานำไป คือไม่ได้พบสัตบุรุษ ไม่ได้ศึกษาธรรมที่สูงกว่า ก็เกิดมาใช้กรรมไปชาติหนึ่ง ทำกุศลกินใช้ ทนอยู่แล้วตายไปชาติหนึ่ง
เพราะชีวิตจะพัฒนาได้เมื่อศึกษาในธรรมที่สูงขึ้น ถ้าเรามีโอกาส เราก็ควรพยายาม ไม่ให้เสียชาติเกิด ถ้าทำไม่ได้ ทำไม่ไหว แล้วมันจะร่วง มันต้องถอยเพราะมันทุกข์มาก เขาเหล่านั้นย่อมไม่ถูกติ เพราะได้พยายามเต็มที่แล้ว แต่ถ้ารู้ว่ามีสิ่งที่ดีกว่า เจริญกว่า แล้วไม่ทำ ไม่ใส่ใจ อันนี้แหละ คือการประมาท ปล่อยชีวิตให้ล่วงเลยเปล่าไปอีกชาติหนึ่ง
เพราะพอใจอยู่ในโลกสวรรค์ มีกามารมณ์เป็นสิ่งน่าใคร่น่าพอใจ หลงติดอยู่ในภพนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
จะบอกใบ้เผื่อให้ ว่าจริง ๆ แล้วคนเราไม่มีวันมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เสมอกันไปได้ตลอดหรอก พอถึงจุดเปลี่ยนมันจะมีโอกาสที่คนหนึ่งจะร่วงคนหนึ่งจะรอด การเป็นคู่กันนั้นจริง ๆ มันมีวิบากบาปอยู่ในตัวของมันอยู่ อกุศลกรรมจะส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่ได้ดั่งใจ ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอกัน นั่นคือสัจจะของความไม่เที่ยงนั่นเอง สุดท้ายสภาพเสมอกันจะตั้งอยู่ได้เพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น และท้ายที่สุดมันก็จะสลายไป เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างในโลก
ดังนั้นไม่ต้องไปตั้งจิตอยากจะเจอใครหรือคบกับใครไปตลอดหรอก เพราะเราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักแน่นอนอยู่แล้ว ตั้งใจทำลายความรักและความหลงจะดีกว่า ผาสุกกว่าเยอะจนเทียบไม่ได้เชียวล่ะ ตั้งแต่อ่านพระไตรปิฎกมา ก็ไม่เห็นพระอรหันต์ท่านไหนกลับไปยินดีในการมีคู่เลยนะ แสดงว่าการมีคู่นี่มันไม่ใช่ของดีแน่ ๆ ส่วนใหญ่ก็พวกโมฆะบุรุษนั่นแหละ ที่เวียนกลับไปเสพสุขในนรก
การช่วยเหลือคนพาล
วิธีช่วยคนพาลนั้น จะทำแบบการช่วยคนปกติทั่วไป ยื่นมือไปช่วย สนับสนุน แนะนำสิ่งดี ก็คงจะไม่สามารถสำเร็จผลไปได้ง่าย ๆ เพราะความเป็นมงคลคือการห่างไกลคนพาล แล้วการเข้าไปใกล้ จะเกิดความสำเร็จ เกิดความเป็นมงคลได้อย่างไร?
จะสรุปการช่วยเหลือคนพาลตามความเข้าใจ ให้พอเห็นภาพ 3 ขั้นตอน
1.ห่างไกลคนพาล
มาแรก ๆ อินทรีย์พละยังอ่อน ก็ต้องห่างไกลคนพาลก่อน ขืนไปใกล้ ไปคบหา เราธาตุอ่อน ความพาลของเขาก็ซึมเข้าใจเรา หลงพาลไปตามเขา ทำชั่วไปตามเขา ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่าปัญญาเราไม่มาก กำลังจิตเราไม่แข็ง ห่างไว้เป็นดี จะช่วยคนพาลได้ เพราะเราจะไม่ไปเติมพลังให้เขา คนพาลจะเพิ่มพลังความพาลได้จากการที่คนไปส่งเสริมเขานั่นแหละ ดังนั้นถ้าเราไม่ไปใกล้ ไม่ไปส่งเสริมเขา ความพาลของเขาก็จะไม่โต เขาก็จะไม่ทำชั่วมาก
2.ทำตนให้เป็นบัณฑิต
หลังจากห่างมาได้ เราก็ต้องปฏิบัติตนให้เจริญ คบบัณฑิตจนทำตนเองให้เป็นบัณฑิต เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ทำบาป ไม่ทำความชั่ว เป็นพลังในการเหนี่ยวนำสู่ธาตุที่ดี จะเป็นพลังที่จะช่วยลดพลังของคนพาลและมีผลเหนี่ยวนำให้คนพาลกลับใจได้เร็ว แม้กลับใจไม่ได้ถ้าคนพาลมาทำร้าย ก็จะเกิดวิบากร้ายนั้นเร็วและแรง เมื่อคนพาลทุกข์หนักก็มีโอกาสที่จะสำนึกได้ไว ต้องเป็นบัณฑิตขนาดไหน? ก็ขนาดที่ว่ารู้จักคนพาล ไม่โกรธคนพาล ให้อภัยคนพาลได้นั่นแหละ อันนี้เป็นเป้าหมาย แต่จะทำได้ดีแค่ไหนก็มีพลังเท่านั้น
3.ติในสิ่งที่ควรติ
หลังจากกิจตนจบไปแล้ว ล้างใจตนเองได้แล้ว งานที่เหลือคือกิจท่านเท่านั้น เป็นงานหลักของระดับพระโพธิสัตว์ หรือคนที่ปฏิบัติพ้นจากความพาลในเรื่องนั้น ๆ ที่จะย้อนกลับมาช่วยเหลือคนอื่นด้วยการชี้ให้เห็นความผิดและความถูกต้อง
การตินี้เอง จะทำให้เห็นคนพาลเป็นคนพาล ให้คนพาลเห็นความพาล การติจะช่วยคนได้มาก เพราะบางคนเขาไม่รู้ว่านี่คือคนพาล นี่คือความพาล เขาก็หลงไปได้ ถ้ามีคนมาติ มาชี้ชัดว่าอย่างนี้คนพาล อย่างนี้ความพาล คนก็จะได้เรียนรู้และออกห่างจากโทษภัยเหล่านั้น
ซึ่งการตินี้เอง จำเป็นต้องมีการกระทบ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะโดนกระแทกกลับมาด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นว่าผู้ตินี้ควรทำตนให้พ้นภัยเสียก่อน จึงค่อยติผู้อื่น ไม่อย่างนั้นเจอคนพาลสวนมา แล้วตนยังไม่พ้นวิสัยคนพาล ก็จะกลายเป็นโกรธเขา เกลียดเขาไปได้ นอกจากจะไม่ช่วยอะไรเขาแล้ว ยังจะกลายมาเป็นพากันลงนรกไปเสียด้วย
พระพุทธเจ้าท่านก็ทำงานนี้ให้เห็น ท่านก็ชี้ให้ชัด อันไหนบัณฑิต อันไหนคนพาล อย่างครูบาอาจารย์หลายท่านก็ทำงานติเช่นนี้อยู่เหมือนกัน คือท่านติเพื่อเจริญ เป็นความเสียสละ เป็นการเอาภาระ
แม้ในการตินี้เอง ก็มีมารมาปนเป็นส่วนใหญ่ คือติเอามานะ ติเอาราคะ ให้ได้เสพสมใจ ดังที่พระพุทธเจ้ายกตัวอย่างเปรียบโมฆะบุรุษเรียนธรรม คือเรียนเพื่อให้ได้ไปข่มผู้อื่นหรือไม่ก็เอาไว้กันเขานินทา คนพวกนี้ก็จะเอาธรรมะนี่แหละไปติคนอื่นเพื่อเสพสมอัตตา ไม่ใช่เพื่อเมตตา ไม่ใช่เพื่อความเจริญ แต่เพื่อสนองตัวตนของเขา
ก็ต้องดูกันไป ติผิดมันจะผิดกาลเทศะของมันเอง มันจะมีองค์ประกอบของความไม่ควรของมันเอง คนพาลส่วนใหญ่ติผิดทั้งนั้นแหละ จะมีถูกก็ถูกบางส่วน เช่นถูกภาษา แต่อาจจะไม่ถูกเรื่องถูกประเด็น เพราะมันจะมีวิบากจากความหลงในตัวเอง ทำให้เวลาเห็น เข้าใจ วิเคราะห์ สรุปผล จะบิดเบี้ยวไปตามตัณหาของเขา
สรุปคือถ้าพวกคนพาลหรือโมฆะบุรุษมาติเนี่ย มันจะเบี้ยวออกจากเป้าอย่างชัดเจน ไม่แม่นยำ ไม่ลึกซึ้ง ไม่ละเอียด ฯลฯ
แต่ถ้าบัณฑิตตินี่แหละ มันจะตรง ตรงประเด็น ตรงอัตตา คือฟังแล้วเจ็บและจุกในใจ จะมีทั้งการชี้โทษภัยและทางแก้มาให้เสมอ
ส่วนคนพาล …เขาก็ติเอามันไปเรื่อยนั่นแหละ ขอแค่ข้าได้ติ ขอให้ได้ข่ม อย่าไปถือสาเขาเลย