มะเขือเทศสอนธรรม : ปลูกอย่างได้อีกอย่าง

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,800 views 0

มะเขือเทศสอนธรรม : ปลูกอย่างได้อีกอย่าง

มะเขือเทศสอนธรรม : ปลูกอย่างได้อีกอย่าง

…ข้อคิดจากการปลูกต้นไม้กับการเลี้ยงดูบุตรและดูแลจิตวิญญาณ

บางครั้งเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นก็สามารถสอนให้เราเข้าใจธรรมได้ คนที่คอยเฝ้าสังเกตและจับใจความของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นโดยแยบคายก็อาจจะเจอความหมายที่ซ่อนอยู่ก็เป็นได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องบังเอิญในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องต้นไม้ของแม่ แม่เป็นคนที่ชอบปลูกต้นไม้และเริ่มจะปลูกผักไม่นานมานี้ แม่สนใจที่จะปลูกพริกหวาน ซึ่งเก็บเมล็ดมาจากลูกที่ซื้อมากิน แต่ผักส่วนมากที่ปลูกนั้นก็ไม่ได้เติบโตจนเห็นผลได้เท่าไรนักด้วยข้อจำกัดของแสงในพื้นที่ จนกระทั่งแม่ได้ลองย้ายต้นกล้ามาปลูกบนชานบ้านที่โดนแสงเต็มวัน ต้นพริกหวานที่แม่ปลูกไว้ค่อยๆโตขึ้นอย่างรวดเร็วผิดกับที่เก่าที่เคยอยู่

จนกระทั่งวันหนึ่งต้นพริกหวานที่เคยมั่นหมายได้ออกดอกออกผล แต่ผลนั้นกลับกลายเป็นมะเขือเทศ??? แม่เองยังเข้าใจว่าตนเองนั้นได้ปลูกพริกหวาน เพราะว่าเพาะเมล็ดกับมือ อีกทั้งไม่มีความสนใจที่จะปลูกมะเขือเทศอีกด้วย

แน่นอนว่าจริงๆแล้วแม่ปลูกมะเขือเทศตั้งแต่แรก แต่ความเข้าใจผิดนั้นเริ่มตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้ ผมเองก็ไม่เคยเห็นซองเมล็ดมะเขือเทศที่แม่ซื้อมาสักครั้งเดียว เพราะปกติจะดูเมล็ดพันธุ์ที่แม่ซื้อมาอยู่เหมือนกัน และแม่เองก็ไม่เคยสนใจหรือเก็บเมล็ดมะเขือเทศเช่นกัน ความเป็นไปได้อย่างเดียวคือซื้อเมล็ดพันธุ์ผิดตั้งแต่แรก ….แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ยังไม่เข้าถึงสาระสำคัญ

1). เลี้ยงไม่โต

การจะได้เห็นผลนั้นไม่ได้ง่ายเพียงแค่ปลูกแล้วรดน้ำ ยังมีปัจจัยที่ส่งผลหลักนั่นคือแสงแดด ต้นไม้แต่ละชนิดใช้แสงแดดในการสังเคราะห์ชีวิตไม่เท่ากัน บางต้นแดดน้อยก็งามดี บางต้นแดดมากจึงจะโต ต้นไม้ทุกต้นมีข้อกำหนดในการเติบโตของมันอยู่ มันควรจะได้รับธาตุอาหารเท่าไหร่นั้นไม่มีใครรู้ เราซึ่งเป็นผู้ปลูกต้นไม้นั้นต้องคอยสังเกตเองว่าสิ่งที่เราให้ไปนั้น เป็นไปในทิศทางที่เจริญหรือเสื่อมลง

เหมือนกับการเลี้ยงดูเด็กสักคนหนึ่ง เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเขาต้องการอาหารแบบไหน ที่จะทำให้ร่างกายและจิตใจของเขาเจริญไปในทางบวก การเลี้ยงดูแบบไหนจะทำให้เขาเติบโตเป็นคนดี เราต้องเฝ้าสังเกตเป็นนักวิเคราะห์ นักสถิติ ใส่ใจมากพอที่จะเลี้ยงเขาให้เกิดผลดีได้

เราไม่สามารถใช้ตำราอ้างอิงวิธีการปฏิบัติกับเด็กทุกคนได้ คนเราทุกคนมีกรรมต่างกัน เราจึงไม่สามารถใช้ค่ามาตรฐานวัดใครได้ เราไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กคนนี้ต่ำหรือสูงกว่ามาตรฐานเพราะเขานั้นมีมาตรฐานตามกรรมของเขาเอง เขาจะโตได้ก็ต่อเมื่อเขาได้รับปัจจัยที่เหมาะสมกับกรรมของเขา

หากเราเป็นคนปลูกต้นไม้ที่ไม่ได้ใส่ใจองค์ประกอบของต้นไม้ต้นนั้น แม้ว่าจะรดน้ำดูแลทุกวัน ใส่ปุ๋ยพรวนดิน แต่หากขาดธาตุที่ต้นไม้นั้นต้องการ แม้ว่าเราจะรักและใส่ใจเพียงใดแต่กลับไม่เรียนรู้ที่จะเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้นั้น เราก็จะไม่มีวันเห็นมันโตดังที่ใจเราหมาย

2). ปลูกพริกหวานได้มะเขือเทศ

ในเรื่องตัวอย่างเราจะเห็นได้ว่าตอนแรกตั้งใจปลูกพริกหวานแต่กลับโตมาเป็นมะเขือเทศ ในหัวข้อนี้แบ่งออกได้เป็นสองมุม

2.1)ปลูกอย่างได้อีกอย่าง

ความบังเอิญในการปลูกต้นไม้ผิดจากที่คิดไว้นั้นยังพอสามารถหาต้นตอหาสาเหตุได้ แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการสร้างบุตรสักคนนั้นกลับเป็นเรื่องเร้นลับยากจะหาคำตอบ

แน่นอนว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดต่างหมายมั่นว่าตนนั้นจะเป็นผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์ที่ดีงาม จะสร้างเด็กที่เป็นคนดี เป็นคนเก่ง เป็นคนแข็งแรง เป็นคนฉลาด สารพัดคุณสมบัติที่ดีตามแต่จะฝันไปได้ เปรียบเสมือนกับเราเลือกซองเมล็ดผักมา ก็คิดว่าผักที่ปลูกนั้นจะเป็นดังใจหวัง

เด็กที่มาเกิดนั้น เขาเกิดมาพร้อมความหวังของพ่อแม่ แต่ความหวังนั้นไม่ใช่ความจริง เมื่อวันที่ถึงเวลาอันควร ความจริงก็จะปรากฏให้เห็นว่าสิ่งที่เราคาดหวังนั้นไม่ได้เป็นดังใจหวังเสมอไป เหมือนกับที่ปลูกพริกหวานได้มะเขือเทศ แต่เรื่องของลูกนั้นซับซ้อนยิ่งกว่า มันผิดพลาดตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้สาเหตุ พ่อก็เป็นคนดี แม่ก็เป็นคนดี แข็งแรงสุขภาพดี แต่ลูกเกิดมากลับพิการ งอแงเอาแต่ใจ โตมานิสัยไม่ดี

เรื่องแบบนี้มีให้เห็นเป็นปกติ เราผิดพลาดกันตั้งแต่ตอนไหน? ก็ตั้งแต่ที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าเราเลือกซองเมล็ดผักมาปลูกนั่นแหละ ไม่มีใครรู้หรอกว่าเมล็ดในซองเมื่อเพาะแล้วจะงอกออกมาเป็นต้นรูปร่างลักษณะอย่างไร หรือผิดเพี้ยนไปแบบไหน เหมือนกับเมื่อเราคิดจะมีลูก เราก็ดูดีแล้วนะว่าพ่อก็เป็นคนดี แม่ก็เป็นคนดี เราก็มั่นใจว่าลูกเราจะต้องดีแต่มันไม่ใช่เสมอไป เรื่องโลกมันไม่เที่ยงเพราะเขาก็มีกรรมของเขามาเกิด กรรมของเขาเท่านั้นที่จะกำหนดชีวิตของเขา ไม่ใช่เราที่เป็นคนปลูก คนปลูกหรือพ่อแม่นั้นเป็นเพียงผู้ที่รับผลของกรรมที่ตัวเองปลูกเท่านั้น

แต่ใช่ว่าปลูกอย่างได้อีกอย่างจะไม่ดีเสมอไปเพราะก็มีหลายกรณีที่พ่อแม่ก็ไม่ได้คิดจะมีลูกแต่เด็กก็มาเกิดแล้ว หรือไม่มีเวลาใส่ใจดูแลลูก แต่เด็กเหล่านั้นก็เติบโตเป็นคนดีได้ ทั้งนี้เพราะเมล็ดพันธุ์หรือเด็กเหล่านั้นมีกรรมดีอยู่แล้ว เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีอยู่แล้ว ไปตกที่ไหนก็โตได้ แม้จะแห้งแล้งกันดารก็โตได้ แบบนี้ก็มีเหมือนกัน

2.2) กลายพันธุ์จากการเลี้ยงดู

แต่ก็ใช่ว่ากรรมเก่าจะเที่ยงไปทั้งหมด เหมือนกับที่เราซื้อเมล็ดผักมาปลูกบางทีมันก็มีการกลายพันธุ์จากการเลี้ยงดูของเรา เช่น ใส่สารเคมีมากเกินไป ให้แดดน้อยไป ให้น้ำมากไป แม้ว่าผักนั้นจะอยู่ได้แต่มันก็จะอยู่แบบปรับตัวตามปัจจัยเท่าที่มีจนกระทั่งแข็งแกร่งขึ้นวิวัฒนาการกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่

การกลายพันธุ์เป็นได้ทั้งในด้านร้ายและดี แม้เมล็ดพันธุ์นั้นจะเป็นเมล็ดที่มีคุณภาพ แต่หากเราใส่ปุ๋ยบำรุงมากเกินไป ให้ปัจจัยที่ไม่เหมาะสมกับมันจนเกินไปมันก็จะกลายพันธุ์ได้ เหมือนกับการเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง เนื้อแท้ของเด็กนั้นดีอยู่แล้ว แต่พ่อแม่กลับคอยสนองกิเลสให้ลูก คอยบำรุงบำเรอให้ลูก ทำผิดก็ไม่ตักเตือน ไปแกล้งคนอื่นก็ยังว่าคนอื่นผิด แบบนี้ก็เป็นกรรมใหม่ที่ทำให้ลูกเสียคน กลายพันธุ์ไปในทางเสื่อมได้เช่นกัน

ส่วนในทางดีนั้น เช่น แม้เมล็ดพันธุ์นั้นจะด้อยคุณภาพ แต่ถ้าให้การบำรุงที่เหมาะสมก็อาจจะเจริญไปด้านดีได้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่เกิดมาในสังคมที่ไม่ดี มีสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมจากศีลธรรม แต่ถ้าพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูคอยเป็นตัวอย่างในทางที่ดี สอนที่สิ่งที่ดี พาให้เป็นคนดี ประหยัด มีน้ำใจ เสียสละ แบบนี้ก็เป็นกรรมใหม่ที่ทำให้เกิดความเจริญขึ้นได้ เป็นการกลายพันธุ์ที่เป็นไปในทิศทางที่ดี

3).ผลที่แท้จริง

ต้นไม้กับคนก็คล้ายกันอยู่อย่างหนึ่งคือถ้าให้ปัจจัยที่เหมาะสมก็จะให้ผลที่เหมาะสมเช่นกัน หลังจากที่เราเฝ้าสังเกตและเข้าใจกับต้นไม้ต้นนั้น เมื่อเราตัดความเชื่อที่บอกต่อกันมา ความรู้พื้นฐานบางอย่าง หรือมาตรฐานทั่วไปที่ใช้กับต้นไม้ต้นนั้น หันมาใช้ความรู้ใหม่ที่ได้จากการสังเกตจริง เป็นของจริง เป็นความเข้าใจที่ทำให้เกิดผลเจริญจริง เราก็จะมีโอกาสได้เห็นผลที่สวยที่สุดของต้นไม้ต้นนั้น

เช่นเดียวกับเด็กคนหนึ่ง การที่เขาจะเติบโตและสร้างสิ่งที่ดีงามหรือประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น ส่วนหนึ่งก็จะเกิดจากการดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ การเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจตามกรรมของเด็กคนนั้น ปล่อยวางอัตตาความยึดมั่นถือมั่น เลิกเปรียบเทียบ เลิกตั้งความหวังเพื่อตนเอง และเลี้ยงดูเอาใจใส่ตามปัจจัยที่เหมาะสมที่สุดกับเด็กคนนั้น

เด็กคนนั้นจึงจะมีโอกาสที่จะได้แสดงให้เห็นถึงผลจริงๆที่เขามี ไม่ใช่ผลตามมาตรฐานตามที่เป็น ผลที่เกิดขึ้นจริงนั้นไม่จำเป็นต้องสูงกว่ามาตรฐาน แต่จะถูกต้องและดีที่สุดตามกรรมที่ทำได้ เป็นขีดสูงสุด เป็นที่สุดแห่งกุศลที่หนึ่งจิตวิญญาณจะกระทำได้

…ทุกวันนี้เราผ่านมาเท่าไหร่แล้ว 20 , 30 , 40 , 50 ,… ปี เราเคยเห็นผลเจริญของตนเองบ้างหรือยัง? เราอาจจะเห็นผลทางโลก เป็นไปตามโลก ตามมาตรฐานโลก โดยทั่วไปคือมีปัจจัยสี่ มีอาหาร มีที่อยู่ มีเครื่องนุ่งห่ม มียารักษาโรค หรือกระทั่งการมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ปัจจัยเหล่านั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่เป็นไปในทางโลก สิ่งที่พาให้วนอยู่ในโลก

ผลที่แท้จริงไม่ใช่การเกิดมาแค่เรียนรู้ ทำงานหาเงิน ใช้ชีวิต มีครอบครับ แก่ แล้วก็ตายไปหรอกนะ แบบนี้พระพุทธเจ้าเรียกว่า “โมฆะบุรุษ” คือคนที่เกิดมาเสียชาติเกิด เกิดมาใช้ชีวิตสร้างบาป สร้างกรรมชั่วมากกรรมดีนิดหน่อยแล้วก็ตายไปฟรีๆหนึ่งชาติ แล้วก็เกิดมาใหม่วนเวียนไปแบบนี้ สะสมโลกธรรมเสพสุขอยู่ในโลกไม่จบไม่สิ้น ดังนั้นชีวิตหนึ่งที่เกิดมาจึงไม่มีความสำคัญใดๆเลยหากว่าไม่สามารถทำให้เกิดผลที่แท้จริงได้

ผลที่แท้จริงของหนึ่งดวงจิตวิญญาณนั้นไม่ใช่แค่เพียงความสำเร็จทางโลก ความมั่งคั่ง ความมีชื่อเสียง ความสุขลวงๆ สิ่งเหล่านี้เป็นผลปลอมๆ เป็นของลวงที่หลอกเราไว้ให้หลงในผลเหล่านี้จนไม่สามารถสร้างผลที่แท้จริงได้

และเมื่อขึ้นชื่อว่าผลที่แท้จริง ก็ย่อมเกิดได้ยากยิ่งเช่นกัน เพราะต้องทวนกระแส ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามโลก ขัดกับโลก สวนทางกับโลกโดยสิ้นเชิง ผู้ที่พากเพียรปฏิบัติอย่างถูกตรงย่อมสามารถสร้างผลที่แท้จริงให้เจริญขึ้นมาได้ ดังเช่นเหล่าพุทธบริษัทในศาสนาพุทธ

พระพุทธเจ้าผู้เป็นเสมือนพ่อและพระอริยะสาวกผู้เป็นเสมือนแม่ คอยพร่ำสอนขัดเกลาเหล่าลูกผู้เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์แห่งความดีจนเจริญเติบโตให้ผลที่แท้จริงได้จนส่งต่อผลเจริญเหล่านั้นผ่านมาหลายยุคหลายสมัย เป็นธรรมะที่สามารถพาเราและท่านเข้าสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนใจปัจจุบันนี้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

11.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,645 views 0

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

รูปธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย เป็นภาพที่เห็นได้ เป็นอาการที่เห็นได้ เป็นความรู้สึกนึกคิดที่รับรู้ได้ การปฏิบัติใดๆที่ทำให้เกิดผลทางรูปธรรมนั้นทำได้ไม่ยากนัก แต่หากเป็นเรื่องของนามธรรมแล้ว…ใครเล่าจะเข้าใจ

ในบทความนี้จะชี้ให้ชัดถึงความแตกต่างของการกินมังสวิรัติกับการล้างกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เหตุที่จำเป็นต้องชี้ให้ชัดก็เพื่อคลายสงสัยให้กับผู้ที่ต้องการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อการลดละกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัติ

ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะข่มวิธีการที่จะพาเข้าสู่การกินมังสวิรัติโดยทั่วไป แต่เพราะเห็นโทษภัยที่ยังแอบซ่อนอยู่ ยังเห็นว่ามีกิเลสอยู่ จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์หากได้นำเสนอปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ไว้ใต้ภาพที่สวยงาม ซึ่งก็ไม่ได้จำเป็นว่าใครจะต้องเห็นตามด้วย ใครยินดีจะลดละเลิกในขีดใดที่ตัวเองทำไหวก็ได้ ได้แค่ไหนก็ขอให้ทำต่อไป การละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งแล้วในกึ่งพุทธกาลเช่นนี้

1). มังสวิรัติรูปธรรม

คำว่ารูปธรรมคือสิ่งที่เห็นได้รับรู้ได้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ในกรณีของมังสวิรัติคือการกินมังสวิรัติให้ได้สมบูรณ์นั่นเอง เพราะโดยความเข้าใจของคนทั่วไปแล้วมักจะหลงใน “รูป” จึงยึดถือและเอารูปเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติ

นั่นคือการยึดมังสวิรัติที่เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติ ยึดสิ่งที่มองเห็นได้เช่น ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินส่วนผสมจากสัตว์ ไม่กินสิ่งปรุงแต่งจากสัตว์ ไม่ว่าจะซอส น้ำซุป น้ำปลา น้ำมันหอย ผงปรุงรส หรืออะไรที่เกี่ยวกับซากสัตว์ คนที่ยึดมั่นถือมั่นในรูปธรรมก็จะไม่ยินดีในการที่จะมีส่วนผสมเหล่านั้นร่วมอยู่เลย

เพราะเขาเหล่านั้นยึดว่าความสมบูรณ์ของมังสวิรัติคือรูปธรรมที่สมบูรณ์ หมายถึงการละเว้นทุกอย่างที่เป็นรูปของเนื้อสัตว์หรือผลผลิตจากสัตว์ อันเป็นเหตุแห่งความเบียดเบียน

แน่นอนว่าแนวความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยึดถือและปฏิบัติกันโดยทั่วไปในหมู่นักมังสวิรัติทั่วโลก เป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะยึดสิ่งที่มองเห็นเป็นเครื่องอาศัย เพราะเข้าใจได้ง่าย วัดผลได้ง่าย กำหนดเป็นมาตรฐานได้ง่ายว่าขั้นนี้ ขั้นนั้นโดยใช้รูปธรรมเป็นตัววัด

2). ภัยของมังสวิรัติรูปธรรม

และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะใช้ “รูป” เหล่านั้นเป็นตัววัดคุณค่าของการกระทำ เพราะเราสามารถมองเห็นได้ เข้าใจได้ ความเห็นความเข้าใจนี้เองเป็นความประมาทอย่างยิ่งยวด เพราะรูปธรรมเป็นแค่ผลจากนามธรรมบางส่วนที่สะท้อนออกมา และไม่ได้หมายความว่าการมีรูปที่สวย การที่สามารถกินมังสวิรัติได้ 100% มาเป็นสิบยี่สิบปีจะมีนามธรรมที่สวยไปด้วย ใครเล่าจะรู้เรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเรื่องลึกซึ้ง ซับซ้อน ละเอียดลออ

เราสามารถทำให้ “รูป” ของเราสวยได้นานตราบเท่าที่เรายังหลงเสพหลงยึดมันอยู่ เหมือนกับดาราที่ไม่เคยยอมแก่ ไม่ยอมโทรมก็จะยังเสริมแต่งรูปของตนให้ดูงดงามเสมอ นักมังสวิรัติที่เน้นรูปแบบก็เช่นกันตราบใดที่เขายังเสพความดี ยังเสพสุขจากการทำสิ่งดีเขาก็จะพยายามทำให้รูปของการกินมังสวิรัติของเขาสวยขึ้นเรื่อยๆ และคงสภาพไปนานตามอัตตาที่มี

กิเลสในด้านร้ายคือการกินเนื้อสัตว์นั้น เราสามารถใช้ความดีกดข่มมันลงไปได้ไม่ยากนัก เราไม่จำเป็นต้องศึกษาธรรมะหรือหาข้อมูลสุขภาพอะไรให้มากมาย แค่มีจิตใจเมตตาก็สามารถรู้สึกผิดและสร้างความดีขึ้นมากดข่มความชั่วคือการกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว

แต่กิเลสในด้านยึดดี หรืออัตตานี้เองเป็นสิ่งที่ยากจะกำจัด เพราะในเมื่อเราติดอยู่ในการยึดดี เราจะเอาอะไรมากำจัดความยึดดีนั้น? เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่าจะเอาความชั่วมากำจัดเพราะมันไม่ได้ง่ายเหมือนกับการคำนวณที่เอา 1+1 แล้วหารสองจึงจะเป็นความพอดี

เมื่อเราสร้างรูปธรรมจนสวยงามแล้วมีความยึดดีในรูปเหล่านั้น การจะออกด้วยความดีในโลกนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเก่งกาจฉลาดเมตตาเพียงใดก็ไม่สามารถออกจากความยึดดีเหล่านี้ได้ คนที่ติดอยู่ในรูปธรรมของมังสวิรัติก็จะตกอยู่ในนรกคนดี มีความทุกข์ร้อนจากการทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ทำร้ายตัวเองด้วยอัตตาอยู่เสมอ แม้จะไม่ยินดีในการกินเนื้อสัตว์แต่มักจะมีอาการยินร้ายเมื่อต้องอยู่ร่วมกับเมนูเนื้อสัตว์หรือคนกินเนื้อสัตว์ ต้องประสบกับความหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไปอีกนานแสนนาน

3). การออกจากความยึดติดในรูปธรรม

การจะออกจากความยึดดี ถือดี หรือความหลงในรูปธรรมนั้น ไม่มีความรู้ใดในโลกที่จะสามารถทำให้ผ่านไปได้นอกจากความรู้ของพระพุทธเจ้า

การที่เรายังวนอยู่ในความดี จนเกิดการยึดในสิ่งดีเหล่านั้น แม้จะดีแสนดีเพียงใด แม้จะกินมังสวิรัติตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเพียงคนที่วนเวียนอยู่ในโลกคนหนึ่ง เป็นวิถีทางทำดีแบบโลกๆทางหนึ่ง ยังเป็นความดีแบบที่โลกเขาทำกันโดยทั่วไปอยู่ ไม่ต้องมีศาสนา ไม่ต้องมีศาสดาก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความดีในระดับศาสดาเอกใดๆในโลกก็สามารถกินมังสวิรัติได้

เพราะการกินมังสวิรัติโดยทั่วไปนั้นเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในระดับสัญชาตญาณเท่านั้น คือเราเห็นเขาฆ่าสัตว์แล้วเราก็สงสารสัตว์นี่ก็เป็นจิตใจเมตตาธรรมดาของคนที่มีจิตใจดีงามทั่วไป ซึ่งแม้แต่คนที่คิดไม่ดีมิจฉาทิฏฐิก็สามารถมากินมังสวิรัติได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นพระเทวทัตที่เคยมาทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามมิให้สาวกกินเนื้อสัตว์เลย (วัตถุ ๕ ,สังฆเภทขันธกะ) การที่พระเทวทัตทูลขอแบบนั้นได้แสดงว่าตัวเองต้องกินเนื้อสัตว์เป็นปกติอยู่แล้ว และนั่นคือคนที่ชั่วที่สุดในจักรวาล ชั่วสุดชั่วที่แม้แต่มหาบุรุษที่ประเสริฐที่สุดในจักรวาลก็ยังสามารถคิดจะฆ่าได้ เขาก็ยังไม่กินเนื้อสัตว์เช่นกัน

ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยยึด “รูปธรรม” เป็นหลักปฏิบัตินั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนดี จิตใจสูง ผ่องใส หรือบรรลุธรรมใดๆแต่อย่างใด เพราะรูปธรรมสามารถเกิดได้จากหลายเหตุและปัจจัย ซึ่งอาจจะมีกิเลสใดๆซ้อนอยู่ก็เป็นได้ เช่นอัตตาเป็นต้น

การจะออกจากความยึดในรูปหรือการจะสามารถมองเห็นความยึดในรูปธรรมเป็นกิเลสได้ ต้องใช้ธรรมะที่มากกว่าธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่อยู่ในโลก ไม่ไปกับโลก ต้องเป็นธรรมะที่เหนือโลก หลุดจากโลก พ้นจากโลก สวนกระแสโลก หรือโลกุตระธรรม

4). มังสวิรัตินามธรรม

การเริ่มต้นของมังสวิรัตินามธรรมจากแตกต่างออกไปจากมังสวิรัติรูปธรรม เพราะการปฏิบัตินามธรรม หรือที่เรียกสั้นๆว่า “นาม” หรือจะระบุให้ตรงประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” การปฏิบัตินี้จะไม่ได้เริ่มต้นที่ “รูป” แต่จะเริ่มที่ “นาม

รูปนั้นคือสิ่งที่ถูกรู้ คือสิ่งที่เห็น แต่นามนั้นต่างออกไป มันมองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเพียงพลังงานที่มีอยู่ รับรู้ได้ว่ามีอยู่ผ่านการกำหนดรู้ในรูป ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น “เรายังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ และยังมีเมนูเนื้อสัตว์ที่ชอบ วันหนึ่งเราได้เงินโบนัส จึงอยากจะใช้เงินนั้นสนองตัณหาตัวเอง จึงได้เกิดความคิดว่า ไปกินเนื้อย่างบุฟเฟต์ร้านนั้นดีกว่า เขาว่าเนื้อนุ่ม ชุ่มมัน หอม หวาน อร่อย”

จากตัวอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรา“คิด” ว่าถ้าได้กินเนื้อย่างเราจะมีความสุข เรา“พูด”กับตัวเองในใจว่าเราจะไปกินเนื้อย่าง เราพาร่างกายตัวเองไป “กิน” เนื้อย่าง สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “รูป” และรูปทั้งหมดนี้เกิดจาก “นาม” คือพลังงานของความอยากที่เป็นตัวผลักดันเรา ให้เราคิด พูด ทำ เพื่อสนองกิเลส

ความอยากเหล่านี้มองไม่เห็น ทำได้เพียงรับรู้ผ่านรูปที่เกิดขึ้นมา ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยเริ่มต้นที่นามธรรมจึงเป็นเรื่องที่ยากสุดยาก เพราะแทบจะกลับหัวกลับหางกับรูปธรรม แต่ผลที่เราจะได้รับนั้น มั่นคง ยั่งยืน และสุขยิ่งกว่าแน่นอน

5). การปฏิบัติของมังสวิรัตินามธรรม

ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า นามธรรมของเรื่องนี้ก็คือความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นความติดอยู่กับกิเลสในหมวดของกามคุณ๕ เป็นส่วนใหญ่

การปฏิบัติในทางนามธรรมนั้นจะต้องชัดเจนลงไปเลยว่า เราจะปฏิบัติกันที่ความอยาก ทำลายความอยาก เพราะรู้ผลแน่ชัดแล้วว่าถ้าทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้สิ้นเกลี้ยงทั้งหมด ก็จะไม่เกิด “รูป” คือการไปกินเนื้อสัตว์อีก เพราะไม่มีความอยากเลยไม่ต้องลำบากไปกิน

เทียบให้เห็นภาพแบบโลกๆก็เหมือนกับคนที่ไม่มีความอยากทำงานมันก็จะเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า ไม่สดใส การจะไปกินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีความอยากกินมันก็จะไม่ไปกินเท่านั้นเองแต่จะต่างกันคือคนที่ไม่มีความอยากในแบบเหนือโลกจะไม่ขุ่นมัว ไม่เชื่องช้า สดใส จิตควรแก่งานอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเหล่านี้เป็นผลมาจากการปฏิบัติทางนามธรรมซึ่งหาตัวอย่างมายกให้เห็นได้ยาก

คำว่า “ไม่มีความอยาก” นั้นไม่เหมือนกับคำว่า “ไม่อยาก”เพราะคำว่าไม่อยากนั้นยังมีอาการผลักไสอยู่ ยังรังเกียจอยู่ ยังมีการเกิดของอัตตาอยู่ แต่การไม่มีความอยากนั้นต่างออกไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่อยาก แต่ทั้งความอยากและความไม่อยากมันไม่มีเหลือ เนื้อสัตว์จึงกลายเป็นเหมือนกับอากาศสำหรับคนที่ปฏิบัติทางนามธรรม มันมีอยู่แต่เหมือนมันไม่มีอยู่ เนื้อสัตว์นั้นไม่ได้ทำให้เกิดทุกข์หรือสุขใดๆในใจอีกต่อไป

เมื่อเข้าใจความต่างของผลแล้วจึงจะสามารถเริ่มปฏิบัติในทางนามธรรมได้ เพราะหากยังแยกนามธรรมกับรูปธรรมไม่ออก ต่อให้มีทฤษฏีอีกกี่บท ขนพระไตรปิฏกมาเปิดอ้างอิงกันแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะยังแยกสิ่งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับปัญหาจริงๆที่ทำให้เกิดไม่ออก

การปฏิบัตินั้นไม่มีขั้นตอนที่เข้าใจยากนัก เพียงแค่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติไตรสิกขาจนสามารถทำลายกิเลสสามภพก็สามารถดับนามธรรมได้แล้ว ขั้นตอนมันก็มีแค่นี้ มันย่อได้เหลือเท่านี้ แค่สองบรรทัดก็สามารถบอกทางเดินและผลได้แล้ว แต่การปฏิบัติจริงต้องใช้เวลาไม่รู้กี่ร้อยปี หรือกี่ล้านล้านล้านชาติ ไม่รู้จะต้องเกิดอีกสักกี่ครั้งถึงจะรู้ กว่าจะเข้าใจ กว่าจะปฏิบัติ กว่าจะเห็นผล นานแสนนานเลยทีเดียวนี่ยังต้องเสียเวลากับการไปติดรูปธรรมอีกนะ ไปหลงรูป ไปเข้าใจว่ารูปนั้นเป็นที่สุดของการปฏิบัติ ก็เนิ่นช้าเข้าไปอีก

6). สมดุลรูปนาม

การปฏิบัติทางรูปธรรม แม้จะเป็นมังสวิรัติ 100% ละเว้นเนื้อสัตว์สมบูรณ์แบบผู้คนต่างยกย่องสรรเสริญ แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะสามารถมังสวิรัติ 100% ได้ทางนามธรรม จะมั่นใจได้อย่างไรในเมื่อยังมีความอยากและไม่อยากอยู่ การที่ตัณหายังไม่ดับ นั่นหมายถึงชาติยังไม่ดับ ภพยังไม่ดับ การวนเวียนกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็จะต้องดำเนินสลับสับเปลี่ยนกันต่อไปตามกิเลสที่ผกผัน แปรเปลี่ยนทิศทางการมีอัตตายึดในสิ่งที่ต่างกันออกไป ตามความเห็นความเข้าใจ

เพราะเมื่อนามยังไม่ดับ ก็จะยังมีเชื้อของกิเลสที่จะสะสมพลังงานกิเลสให้มากขึ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่งพลังกิเลสที่สะสมมาก็จะส่งผลให้เกิดรูป คือการกลับไปกินเนื้อสัตว์อีก แม้ว่าจะหลงรูปธรรมกดข่มความชั่วไว้ได้ในชาตินี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติหน้าจะข่มได้ ไม่มีใครรู้ว่าเราจะไปเกิดในยุคไหนสมัยไหน หากเรายังยึดติดในรูป เราก็จะไปหลงดีในรูปของยุคสมัยนั้น และถ้าเกิดยุคนั้นไม่มีรูปดีๆให้ยึดมั่นถือมั่นเลย มันก็ไปยึดรูปเลวๆเท่านั้นเอง

แต่นามธรรมจะต่างออกไป เพราะนามดับจึงไม่เกิดรูป คือเมื่อดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยง ไม่มีความอยากเหลือก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่เราไปหลงติดหลงยึดเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ภพกี่ชาติก็จะไม่มีวันหลงมัวเมาไปในเนื้อสัตว์ ถึงจะติดก็ติดตามโลก แต่ถ้าคิดจะออกก็ออกได้ทันที เพราะจริงๆมันไม่มีนามนั้นอยู่แล้ว ไม่มีเชื้อกิเลสนั้นเหลืออยู่แล้ว ถึงแม้มีกิเลสใหม่เข้ามามันก็จะไม่มีอะไรให้ยึดเกาะ ก็เกาะได้แค่ผิว ได้แค่เปลือก ไม่เข้าไปถึงจิตใจ ไม่เข้าไปยึดในจิตใจ

ไม่เหมือนกับการปฏิบัติที่รูปธรรม เพราะนามคือความอยากกินเนื้อสัตว์ยังอยู่ ทีนี้พอกิเลสใหม่วิ่งเข้ามาก็จะเข้าไปสะสมรวมกับของเก่าทันที ส่งผลให้กลายเป็นสภาพที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง

ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเลยว่าถ้าเราปฏิบัติที่นามธรรมแล้วจะเกิดปัญหาเหล่านั้น เพราะการดับทุกข์นั้นต้องดับที่เหตุ เหตุของการกินเนื้อสัตว์นั้นคือความอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปเบียดเบียนชีวิตอื่น และเหตุของความอยากกินนั้นก็เกิดจากการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อดับเหตุแห่งอุปาทานเหล่านี้ได้ก็จบภารกิจ

ผู้มีนามธรรมที่ปราศจากกิเลสจึงมีสมดุลของรูปนาม นามไม่มี รูปไม่เกิด และมีความยืดหยุ่นในรูปสูงกว่าผู้ที่กินมังสวิรัติในทางรูปธรรม เพราะหากเราเน้นเพียงรูปธรรม ก็จะมีความแข็ง ตึง เครียด กฎ การยึดมั่นถือมั่น เพราะสิ่งเหล่าเป็นสิ่งที่สามารถสนองให้เสพสมใจในรูปธรรมได้หรือที่เรียกว่า “อัตตา” นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ลูกเอ๋ยลูกรัก

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,926 views 1

ลูกเอ๋ยลูกรัก

ลูกเอ๋ยลูกรัก

…เจ้ากรรมนายเวรตัวน้อย กำเนิดจากกรรม เป็นวิบากกรรม

การมี “ลูก” เป็นเหมือนกับสิ่งที่ยืนยันความสำเร็จของการมีครอบครัว เป็นความสมบูรณ์ในชีวิตคู่ เป็นธรรมชาติของสัตว์โลกที่จะต้องสืบพันธุ์ ขยายเผ่าพันธุ์ต่อไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องพบกับสุขและทุกข์หากเรายังวนเวียนอยู่ในวิถีทางแห่งธรรมชาติในโลกใบนี้

ในบทความนี้จะสรุปภาพรวมของความยากลำบากเกี่ยวกับลูกและเส้นทางแห่งทุกข์ที่เกิดขึ้น ด้วยเนื้อหา 9 ข้อดังต่อไปนี้

1). กว่าจะมีลูก

ปัญหาเริ่มแรกก่อนจะมีลูกเลยก็คือ ต้องแสวงหาพ่อหรือแม่ของลูกเสียก่อน ต้องทุกข์ทรมานกับเรื่องคู่เสียก่อน คนนั้นดีแต่ไม่เหมาะสม คนนี้เหมาะสมแต่กลับไม่ดี สุดท้ายหลังจากแสวงหามานานหรือจะพลั้งเผลอไปก็ตาม เราก็จะได้คู่มาหนึ่งคนซึ่งจะทำหน้าที่มาเป็นพ่อหรือแม่ของลูก

คนโดยทั่วไปแล้วมักมีลูกกันไม่ยากนัก และส่วนหนึ่งในการเกิดลูกนั้นไม่ได้ตั้งใจให้เกิด แต่หากเป็นผลผลิตของความหมกมุ่นในกามอารมณ์จนประมาทในการป้องกันหรือในกรณีของการโดนยัดเยียดความเป็นแม่ให้โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งจะไม่กล่าวกันในประเด็นเหล่านี้

กว่าจะมีลูกได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในบางคู่ถึงกับต้องพึ่งวิธีทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยให้ประสบความสำเร็จ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความจะเกิดผลดังใจหวัง 100% พวกเขายังต้องทุกข์ทรมานกับความหวังในการมีลูก ความคาดหวังว่าในสักวันหนึ่งครอบครัวจะสมบูรณ์สมดังใจหมาย

สรุปแล้วกว่าจะมีลูกได้นี้ก็ต้องผ่านทุกข์จากการหาคู่ ไหนจะต้องมาทุกข์กับความคาดหวังว่าจะได้ลูกอีก คนที่ได้สมใจอยากก็ไม่ใช่เรื่องน่าสนใจ คนที่ไม่อยากได้แต่กลับได้มาก็เป็นเรื่องน่าเศร้า ส่วนคนที่อยากได้แต่ทำยังไงก็ไม่ได้นี่มันทุกข์สุดทุกข์จริงๆ

2). จนถึงวันที่ลืมตาดูโลก

ช่วงเวลากว่า 9 เดือนที่ต้องอุ้มท้องนั้นไม่ง่าย เป็นความยากลำบากทรมานร่างกายของคนเป็นแม่ที่ต้องแบกลูกไว้กับตัว ต้องคอยระแวงระวัง สารพัดความทุกข์ที่จะประดังเข้ามาทั้งเรื่องความกังวลของลูกที่อยู่ภายในท้อง อาหารการกินที่จะมีผลประทบต่อลูก และวิถีชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไปเมื่อตั้งครรภ์

ในช่วงเวลาเหล่านี้ต้องยอมรับกันตรงๆว่าเป็นทุกข์ของหญิงจริงๆ สองในห้าข้อในข้อธรรมที่ว่าด้วยเรื่องทุกข์ของหญิง ๕ นั้นคือ หญิงย่อมมีครรภ์ และหญิงย่อมคลอดบุตร ความทุกข์เหล่านี้เป็นความทุกข์ที่ผู้เป็นแม่ต้องจำยอมแบกรับไว้ เป็นวิบากกรรมของผู้หญิงที่ผู้ชายไม่มีวันเข้าใจ

กว่าจะถึงวันที่คลอดบุตรนั้นต้องรับทั้งภาระทางร่างกายและจิตใจอย่างมาก ความหวัง ความเครียดจากสุขภาพและความกดดันทางจิตใจ แม้จะสามารถบรรเทาได้ด้วยการมองโลกในแง่ดี การคิดบวก แต่ทุกข์นั้นก็ยังเป็นทุกข์อยู่วันยังค่ำ

3). ใครมาเกิด?

มาถึงเนื้อหาหลักของบทความนี้กันเสียที มีคำกล่าวมากมายว่า “เด็กเหมือนดังผ้าขาว” ความเห็นความเข้าใจเหล่านี้เป็นความเข้าใจแบบโลกๆ เป็นความเข้าใจทั่วไป แต่ศาสนาพุทธไม่ได้มองแบบนั้น เรามองว่าทุกคนมีกรรมเป็นของของตน นั่นหมายถึงเด็กคนที่กำลังจะเกิดมานั้นก็มีกรรมของเขา มีความเห็นความเข้าใจของเขา มีกิเลสของเขา มีธรรมของเขา การมาเกิดของเขานั้น เขาหอบโภคทรัพย์ของเขามาเกิดด้วย

ทีนี้ใครล่ะที่มาเกิด? ในยุคกึ่งพุทธกาลเช่นนี้ เราคิดหวังจริงๆหรือว่าจะมีผู้มีบุญมาเกิด อัตราส่วนระหว่างคนเลวกับคนดีในโลกเป็นเท่าไหร่ ไหนจะสัตว์เดรัจฉานที่เปลี่ยนภูมิกลับมาเป็นคนอีก การคาดหวังว่าจะเป็นผู้มีบุญมาเกิดนี่มันยากยิ่งกว่าถูกหวยอีก

กรรมของเด็กที่มาเกิดจะสังเคราะห์รวมกับกรรมของพ่อและแม่ รวมกับญาติพี่น้อง รวมกับสิ่งแวดล้อม จนเกิดสภาวะพอเหมาะที่จะแสดงผลของกรรม คนนั้นๆเขาจึงได้มาเกิดในท้องของแม่คนนั้นซึ่งเป็นภรรยาของพ่อคนนั้น เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นสิ่งที่ถูกคำนวณไว้อย่างพอเหมาะแล้วโดยกรรมของเราทุกคน

ปัญหาคือใครจะรู้ว่าเราทำกรรมอะไรไว้ คนที่มาเกิดอาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเราก็ได้ เป็นศัตรู เป็นลูกน้อง เป็นอะไรต่อมิอะไรที่อาจจะส่งผลร้ายถึงร้ายมากต่อเราก็เป็นได้ เรามองเห็นเพียงแค่รูปธรรม คือเด็กตัวน้อยเกิดมาหน้าตาเหมือนเราผสมกับคู่ของเรา แต่เรามองไม่เห็นนามธรรมหรือกรรมที่ซ่อนอยู่ลึกๆของเขา

ชีวิตของเขาจะถูกผลักดันด้วยกรรมของเขา ถ้าเขาเคยเป็นเดรัจฉานมาก่อน เคยเป็นคนขี้โลภมาก่อน เคยเป็นฆาตกรมาก่อน เมื่อเขาตายและเกิดใหม่มาเป็นลูกของเรา กิเลสที่เขามีอยู่จะติดมากับเขาด้วย เพราะนั่นเป็นกรรมของเขา

ส่วนเราซึ่งเป็นพ่อแม่ก็มีกรรมของเรา เพราะเรามีกิเลสอยากมีลูก กรรมของเราก็คือต้องยินดีรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น เราไม่มีทางรู้ว่าใครจะมาเกิด ไม่รู้ว่าเกิดมาแล้วจะเป็นอย่างไร จะปกติไหม จะพิการไหม จะสุขภาพดีไหม หลากหลายปัญหาที่พาให้ทุกข์ตั้งแต่แรกคลอดนั้นมีมากมายตามกรรมที่เคยทำมา

4). เจ้านายและทาส

ไม่ว่าจะเป็นใครมาเกิดก็ตาม บทของเราคือทาสอย่างเดียวเท่านั้น เราไม่สามารถสั่งให้เด็กทารกไปทำอะไรตามใจเราได้ เราต้องป้อนนม ป้อนข้าว เช็ดอึ บริการเด็กคนนี้ทุกอย่าง

เมื่อเด็กร้องงอแงเราก็ต้องหาสิ่งบำเรอเด็กให้หายจากทุกข์ เรามักจะเรียกสิ่งนี้ว่าความรักความห่วงใย แต่มันมีกิเลสซ้อนอยู่คืออยากเอาใจให้เด็กรักเรา ให้เด็กหลงเรา เราจึงพยายามเอาใจเด็ก แท้จริงแล้วเรากำลังเสพความรักจากเด็กเพราะว่าเรากำลังหลงรักเด็กอยู่นั่นเอง

เด็กนั้นเป็นดังเจ้านายที่สามารถบงการให้พ่อและแม่เกิดทุกข์หรือสุขขึ้นได้ พ่อแม่จึงกลายเป็นทาสอารมณ์ของเด็กคนนั้น เมื่อเด็กยิ้มและหัวเราะ ทาสก็มีความสุขไปด้วย แต่เมื่อเด็กร้องไห้งอแงเอาแต่ใจ ทาสก็จะเป็นทุกข์ลำบากลำบนหาเครื่องบรรณาการมาให้เด็กได้เสพสมใจ ซึ่งเราก็ต้องทนเป็นทาสอารมณ์ของเด็กไปอีกนานแสนนานจนกว่าจะหมดความหลงในตัวเด็กคนนั้นนั่นแหละ

5). นักลงทุนผู้คาดหวัง

มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่เป็นนักวางแผนและนักลงทุน เขามักจะมองปัจจัยที่มองเห็นได้ด้วยตาซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เพราะในเรื่องนามธรรมมันมองไม่เห็นอยู่แล้ว ไม่มีใครรู้หรอกว่าเด็กที่มาเกิดคนนั้นจะมีบุญบารมีด้านไหน จะเก่งหรือจะเจริญไปเช่นใด

แต่ด้วยอัตตาและความหวังดีที่ปนกิเลสของเรา จึงมักจะเห็นพ่อแม่ที่ขีดเส้นทางสวยๆไว้ให้ลูกเดิน แน่นอนว่าในสายตา เขาก็มักจะเดินให้เราเห็น ให้เราภูมิใจ แต่นอกสายตาเขาก็ไปกับเพื่อน ไปเสพกิเลสตามใจเขา ไปสูบบุหรี่ กินเหล้า เล่นพนัน สมสู่กัน นอกลู่นอกทางไม่ให้เราเห็นอยู่เสมอ เหล่านี้เองคือธรรมชาติหรือที่เรียกว่าเป็นไปตามกรรมของเขา

พ่อแม่ผู้หวังดีพยายามวางอนาคตให้ลูก เมื่อได้รู้ว่าลูกที่ตนรักและเอาใจใส่ได้ออกนอกลู่นอกทางก็อกหักอกพัง บ้างก็โทษเด็ก บ้างก็โทษตัวเองว่าเลี้ยงไม่ดี เป็นทุกข์เศร้าหมองหดหู่กันไป แต่จะโทษเด็กก็มีส่วนอยู่บ้างเพราะเขาก็มีกรรมของเขา กิเลสของเขาลากให้เขาไปทำบาป เราทำหน้าที่ป้องกันได้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ถึงจะพยายามเท่าไหร่แต่เราก็ไม่มีทางป้องกันวิบากกรรมอยู่

การทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามความคาดหวังของเรามันไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่เที่ยงแท้แน่นอนในโลก ทุกอย่างต้องแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ และความผิดหวังที่เราได้รับก็คือผลกรรรมจากความคาดหวังของเรา เพราะเราอยากให้เกิดเราจึงตั้งความหวัง มีวันที่สมหวังก็ต้องมีวันที่ผิดหวัง แต่ความทุกข์นั้นจะเกิดหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ยังมีพ่อแม่นักลงทุกอีกมากที่วาดเส้นทางสวยงามไว้ให้ลูก ซึ่งแท้จริงได้ซ่อนภาระอันหนักหน่วงให้กับลูกปนไปกับความหวังดี เช่นมีลูกเพราะอยากให้ลูกมาสืบทอดกิจการของตนหรืออยากให้เขามาเลี้ยงตนเองตอนแก่ จึงแสดงความรักและดูแลเอาใจใส่เพื่อหวังว่าวันหนึ่งเขาจะได้มาทำงานสนองกิเลสให้ตนเอง ดูสิกิเลสคนเรามันสร้างคนอื่นขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองได้เสพสุข วางแผนกันได้เป็นสิบๆปี แล้วคิดดูสิว่าถ้าผิดหวังมันจะทุกข์ขนาดไหน

6). กรรมเป็นของของตน

ถ้าเรายังไม่ชัดเรื่องกรรม เราก็จะต้องมีทุกข์เพราะความผันแปรที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด แม้ว่าเราจะมองลูกเป็นสิ่งที่เกิดมาอย่างบริสุทธิ์ เราเลี้ยงดูมาด้วยวิธีตามตำรา ดูแลด้วยอาหารอย่างดี ให้คบคนดี ทำแต่สิ่งที่ดี แน่นอนว่ากรรมใหม่เหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีที่พ่อแม่ควรกระทำ

แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรจะเผื่อใจไว้ด้วยว่า เราไม่สามารถขีดเขียนเส้นทางชีวิตของใครได้ทั้งหมด เพราะเราก็มีกรรมของเรา เขาก็มีกรรมของเขา มีให้เห็นมาแล้วว่าลูกเศรษฐีในประเทศหนึ่งยินดีละทิ้งสมบัติของตระกูลหันมาบวชเป็นพระในประเทศไทย หรือแม้แต่กรณีศึกษาคลาสสิกที่สุดในโลกคือเจ้าชายองค์หนึ่งยินดีสละทุกสิ่งมาออกบวชจนกระทั่งพบว่าตัวท่านเองคือพระพุทธเจ้า

ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่ว ทุกคนมีเส้นทางกรรมที่ถูกขีดไว้แล้ว ถูกกำหนดไว้แล้ว ถ้าเขาทำดีมามากถึงเราจะไม่มีเวลาเลี้ยง ไม่ได้เอาใจใส่ สุดท้ายคนดีก็ยังเป็นคนดีอยู่วันยังค่ำ แต่ถ้าคนที่ทำชั่วมามาก ถึงเราจะเลี้ยงดูเอาใจใส่พาให้พบแต่สิ่งดี แต่สุดท้ายเขาก็จะวิ่งหาความชั่วความต่ำทรามอย่างที่เขาเคยเสพคุ้นมานานหลายภพหลายชาติ

ความดีความเลวในโลกล้วนแต่วนเวียนสลับกลับไปกลับมา คนดีกลายเป็นคนเลว คนเลวกลายเป็นคนดี หมุนเวียนอยู่ในโลกธรรม ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขอยู่เช่นนี้ เพราะมีกิเลสเป็นแรงผลักดัน และกิเลสนั้นเองก็นำมาสู่กรรมที่จะถูกสร้างขึ้น ให้เราได้วนเวียนรับกรรมดีกรรมชั่วอย่างไม่จบไม่สิ้น

เมื่อเป็นคนดีก็จะทำแต่ความดีจนได้รับความสุข เมื่อได้รับสุขก็ติดสุขจนต้องแสวงหาจนยอมทำชั่วเพื่อให้ได้สุขมา พอทำชั่วมากๆก็กลายเป็นคนชั่ว พอชั่วมากๆก็ทุกข์มากจนเลิกทำชั่วกลับมาทำดี พอดีมากๆก็ได้รับความสุขมาก จนติดสุข….วนเวียนไปเช่นนี้

7). ยึดมั่นถือมั่นในอะไร?

เมื่อเราเริ่มเห็นแล้วว่าลูกหลานที่เราเห็นนั้น แท้จริงเขาก็ไม่ใช่ของเราหรอก เขาไม่ใช่ผลผลิตจากตัวเราทั้งหมด แน่นอนว่าเขาใช้ร่างกายและเชื้อของเรามาเกิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นเหมือนเราเสมอไป

พอเรายอมรับได้แล้วว่าเขาก็มีกรรมเป็นของเขา เขาก็เป็นเขาแบบนั้น เราก็จะเริ่มคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวเขาลง ปล่อยให้เขาได้เดินตามวิถีทางของเขาโดยเราเป็นเพียงผู้สนับสนุนในทางกุศลและให้กำลังใจเมื่อเขาพลาดพลั้ง

การที่เรายังยึดมั่นถือมั่นอยู่ในความเป็นพ่อหรือแม่ จะทำให้เราเป็นทุกข์ เราไม่รู้หรอกว่าจริงๆแล้วบทเสริมของเราคืออะไร แม้เราจะพยายามเล่นบทพ่อแม่ที่เราคิดหวังไว้ แต่วันหนึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนไปเล่นบทอื่นเสริม เช่นบทเพื่อน บทครู บทหมอ หรือแม้แต่บทพระ

ความยึดมั่นถือมั่นจะมีลักษณะอาการที่แข็ง กดดัน อึดอัด ไม่ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ เพราะเราไม่สามารถยอมรับความจริงของการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเราเสพสุขกับการเล่นบทพ่อแม่ เราจึงยึดบทนั้นไว้เป็นบทของตัวเอง ซึ่งในบางสถานการณ์การเปลี่ยนตัวเองเป็นเพื่อนนั้นน่าจะทำให้เกิดกุศลกว่า

แต่หลายคนอาจจะทำไม่ได้ เพราะเราเห็นว่าเขาเป็น “ลูก” เราเป็น “พ่อแม่” จริงๆเราก็แค่อินกับบทที่เขาให้ในชาตินี้เท่านั้นเอง ลองถอยมาดูสักหน่อย ลองลดความยึดมั่นถือมั่นสักหน่อย เราก็จะสามารถเห็นได้ว่า ลูกคนที่อยู่ตรงหน้าเรา แท้จริงเขาเป็นอย่างไร เขาควรจะทำอะไร เราควรจะทำหน้าที่เพิ่มเติมอย่างไร เพิ่มบทบาทแบบไหน ลดบทบาทใดลงบ้าง

8). ภาระจากกิเลส

แม้ว่าเราจะวางความยึดมั่นถือมั่นได้แล้ว เข้าใจแล้วว่าเขาก็เป็นเขา เราก็เป็นเรา แม้เราจะมีกรรมมาเกี่ยวพันกันได้เป็นพ่อแม่ลูกกันในชาตินี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยึดมั่นถือมั่นในบทบาทที่เราเล่นจนเป็นทุกข์

เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ไม่ทุกข์ ไม่ตีกรอบ ไม่ตั้งความหวังจนเกินไป เพียงเท่านี้ก็จะได้ความสุขจากความสงบมากแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องแบกภาระนี้ต่อไป เพราะแม้จะไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นแต่ความเป็นพ่อแม่ลูกจะยังคงอยู่ต่อไป เราจำเป็นต้องยึดอาศัยกันและกันเพื่อสร้างกุศล ดำเนินไปให้เกิดกุศลสูงสุด

ภาระที่เกิดขึ้นทุกอย่างก็คือภาระจากการที่เรามีกิเลส เช่นเราอยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนที่ดีมีชื่อเสียง เราก็ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าโรงเรียนทั่วไป และในภาพรวมของภาระนั้นหมายถึงเราจะต้องแบกเด็กคนนี้ไปเรื่อยๆ เพราะเรามีกิเลสอยากมีลูก ดังนั้นเด็กที่เกิดมาก็คือผลของกรรมกิเลสที่เราต้องแบกรับไว้นั่นเอง

9). หน้าที่

ผู้ที่เข้าใจความจริงตามความเป็นจริงแล้ว แม้จะต้องแบกรับภาระที่ทำให้ทุกข์ แต่ก็จะไม่หนี ไม่ทิ้งหน้าที่ เพราะรู้ว่าหน้าที่ของพ่อแม่นี้เองคือสิ่งที่เราควรจะปฏิบัติให้ดี เลี้ยงลูกให้เขาเป็นคนดี ให้มีศีลธรรม ให้เข้าใกล้ศาสนา พาให้ลดกิเลส ไม่พาฟุ้งเฟ้อ ไม่สนองกิเลสจนเสียคน พาไปแต่ทางที่เป็นกุศล ตักเตือนในเรื่องที่เป็นอกุศล เหล่านี้คือหน้าที่ที่พ่อแม่ควรจะกระทำนอกเหนือจากการเลี้ยงดูด้วยปัจจัยพื้นฐาน

เราควรจะทำหน้าที่ของพ่อแม่ไปพร้อมกับทำหน้าที่ของตนเองนั่นคือการขัดเกลาจิตใจของตนเอง ลูกคือเจ้ากรรมนายเวร หรือเทวดาตัวน้อยที่ฟ้าส่งมาให้เรียนรู้ทุกข์ เพื่อให้ค้นให้เจอเหตุแห่งทุกข์ จนรู้ถึงการดับทุกข์ และปฏิบัติสู่การดับทุกข์ด้วยการดำเนินไปตามวิถีทางแห่งการดับทุกข์

พ่อแม่นั้นมีสถานที่ปฏิบัติธรรมที่อยู่ที่บ้าน เพราะนอกจากจะปฏิบัติธรรมกับคู่ของตนแล้วยังต้องปฏิบัติธรรมกับลูกด้วย ทำอย่างไรที่เราจะไม่หลงรักลูกจนหลงไปเป็นทุกข์ และทำอย่างไรที่เราจะไม่ยึดดีถือดีในสิ่งที่เราเชื่อมากเกินไปจนเป็นทุกข์ เพราะไหนๆเขาก็เกิดมาแล้ว โตมาแล้ว เราก็เรียนรู้ที่จะพัฒนาจิตใจไปพร้อมๆกับเขา เรียนรู้ความเป็นเราโดยสะท้อนจากตัวเขา ใช้โอกาสนี้ในการปฏิบัติธรรมเสียเลย

…เมื่อเห็นความยากลำบากของการเป็นพ่อแม่ดังนี้แล้วเราจึงควรตระหนักว่ากว่าที่เราจะโตมาถึงวันนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่ต้องฝ่าฟันทุกข์ ต้องรับภาระ รับวิบากกรรมอย่างหนักหนาสาหัสมามากเท่าไหร่กว่าจะถึงวันนี้ การที่พ่อแม่เลี้ยงดูเราดีนั้นก็เกิดเพราะผลกรรมดีของเรา และการที่พ่อแม่ทำอะไรให้เราทุกข์ใจนั้นก็เกิดจากผลกรรมที่ไม่ดีของเรา

สิ่งดีสิ่งร้ายทั้งหมดที่เราได้เจอนั้นเกิดจากผลของกรรมของเรา เราทำมาเองทั้งนั้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พ่อแม่ก็เป็นผู้มีพระคุณที่ควรกตัญญูเสมอ

ความกตัญญูนั้นไม่ได้หมายความเพียงแค่ว่าเอาใจใส่ แต่หมายรวมถึงการพาให้ท่านได้พบกับสิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่พาให้ชีวิตพบกับความสุขแท้ แต่การที่จะพาท่านไปสู่การปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ได้นั้น เราก็ต้องทำตัวเองให้เป็น ให้ได้ ให้มีสิ่งนั้นในตนเสียก่อน

แล้วเราจะมีสิ่งดีที่ประเสริฐในตนได้อย่างไร หากเรามัวเอาเวลาไปดูแลใครก็ไม่รู้ที่กำลังจะมาเกิดในตัวเราหรือในตัวของภรรยาเรา พ่อแม่คือคนที่เรารู้จักดีอยู่แล้ว ชัดเจนอยู่แล้ว เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ไม่ต้องลุ้น ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องวางแผน การดูแลพ่อแม่นั้นง่ายกว่าการเลี้ยงลูกอย่างมาก เพราะขยับจากง่ายไปยาก ท่านจะค่อยๆแก่ให้เราได้ปรับตัวอย่างช้าๆ ไม่เหมือนกับเด็กทารกที่เกิดมาก็เป็นเรื่องยุ่งยากในทันทีและจะยุ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆตามเวลาที่ผ่านไป

ดังจะเห็นได้ว่าการมีลูกนั้นมีแต่ทุกข์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “คนมีลูกก็มีทุกข์ คนไม่มีลูกก็ไม่ต้องมีทุกข์” ดังนั้นใครที่แต่งงานแล้วไม่มีลูกก็เป็นลาภอันประเสริฐ เพราะสามารถนำเวลาที่มีคุณค่าไปทำสิ่งที่มีประโยชน์ได้มากมาย

เมื่อความไม่มี การไม่ครอบครองสิ่งใดๆนั้นคือคุณค่าแท้ เป็นความสุขแท้ นั่นหมายถึงคนที่โสดอย่างเป็นสุขนั่นแหละคือผู้มีบุญที่สุด เพราะไม่ต้องทุกข์ด้วยเหตุแห่งลูกหรือคู่ครอง มีศักยภาพสูงสุดในการกตัญญูพ่อแม่ เพราะไร้ซึ่งข้อจำกัดของบ่วงกรรมที่ผูกมัดไว้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

10.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,629 views 0

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

…เป็นคำถามที่ยังสงสัย หรือเป็นเราเองที่กำลังหลงลืมอะไรไป?

หลายคนที่สามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้ดี มักจะมีคำถามลึกๆอยู่ในใจว่า ลดเนื้อกินผักมันยากตรงไหน กินเนื้อสัตว์มันดีตรงไหน แล้วกินผักมันไม่ดีอย่างไร ในเมื่อมีข้อมูลมากมายมายืนยันว่ากินผักแล้วดี ทำไมเธอถึงยังไม่เลิกกินเนื้อสัตว์

ท่ามกลางความสงสัย เขาเหล่านั้นก็มักจะกระหน่ำโถมใส่ข้อมูลในด้านดีของมังสวิรัติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพความโหดร้ายของการฆ่าสัตว์ บทความที่ทำให้ตระหนัก ข้อมูลวิจัยและข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ทั้งในด้านสุขภาพและด้านจิตใจ ในสมัยนี้เราก็มักจะใช้ เฟสบุ๊ค เว็บบอร์ด เว็บไซต์ ฯลฯ เป็นเครื่องมือในการให้และกระจายข้อมูลกัน แต่ยิ่งทำก็ยิ่งไม่เข้าใจและกลับยิ่งสงสัย คนบางส่วนหันมากินมังสวิรัติก็จริง แต่ทำไมคนอีกมากมายกลับไม่สนใจ ไม่ใยดี แม้ว่าเราจะเสนอข้อมูลให้เขาเหล่านั้นได้เห็นผ่านช่องทางที่เรามีเท่าไหร่แต่เขาก็ยังไม่ยินดีที่จะมากินมังสวิรัติ

ทำไม? เพราะอะไร? หรือเขาไม่เมตตาเหมือนเรา ไม่อดทนเหมือนเรา ไม่มีศีลเหมือนเรา หรือเป็นเราเองที่กำลังหลงเข้าใจอะไรบางอย่างผิดไป….

1).หรือเป็นเราเองที่เข้าใจผิด

บางครั้งเมื่อเราทำอะไรได้ง่ายจนเกินไป เราก็มักจะมองข้ามรายละเอียดหลายๆอย่างไป หลงคิดว่าทุกคนต้องเข้าใจเหมือนเรา เห็นเหมือนเรา ทำได้เหมือนเรา เราเริ่มที่จะเอาตัวเองหรือกลุ่มของตนเป็นมาตรฐานในการวัดคน จึงเริ่มก่อเกิดอัตตาทั้งในตัวเราเองและอัตตาในกลุ่มของเรา

จนกระทั่งเราหลงเข้าใจไปว่าการกินมังสวิรัตินั้นเป็นปกติของชีวิตเป็นมาตรฐานที่สังคมของเราส่วนใหญ่ทำได้ เราก็จะยิ่งสงสัยมากขึ้นไปอีกเมื่อเห็นคนมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์ และแม้เราจะพยายามบอกหรือถ่ายทอดมากเท่าไหร่ก็ยังไม่มีผล ถึงจะมีผลก็เป็นผลที่กดดันเขา บีบคั้นเขา ใช้ความดีเข้าไปอัดกระแทกจนคนกินเนื้อสัตว์หวาดผวา

ในความจริงแล้วยุคสมัยนี้เราต้องยอมรับว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นเรื่องปกติ การลดเนื้อกินผักเป็นเรื่องไม่ปกติ คนปกติเขาไม่ทำกัน ไม่มีใครอยากพรากจากความอร่อยของเนื้อสัตว์ คนจำนวนมากแม้ได้เห็นภาพสัตว์ตาย ข้อความที่ร้องขอหรือกระตุ้นจิตสำนึก จนกระทั่งได้รับข้อมูลวิจัยมากมาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะเลิกเนื้อสัตว์ได้

คนที่เลิกได้ก็เลิกได้ แต่คนที่เลิกไม่ได้ก็คือเลิกไม่ได้ และไม่คิดจะเลิกกินเนื้อสัตว์ หากเราเอาความดีความชั่วความเมตตามาวัด เราก็จะได้ผลที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เพราะแท้จริงแล้วไม่มีใครอยากทำชั่วหรืออยากเบียดเบียนคนอื่น แต่เพราะกิเลสอันคือความอยากเสพในตัวเขา กระตุ้นให้เขาอยากกิน ให้เขาแสวงหา ให้เขาหลงวนเวียนอยู่กับเนื้อสัตว์

2). ใจเขาใจเรา

เมื่อเรามีกิเลส การจะเลิกเบียดเบียนนั้นทำได้ยาก ถึงแม้จะแค่ในขั้นลดก็ยังทำได้ยากเช่นกัน ถ้าเราลองเข้าใจในเรื่องกิเลสให้มากอีกสักนิดก็จะไม่มีคำถามว่าทำไมคนอื่นไม่หันมากินมังสวิรัติ มากินผักลดเนื้อกัน เพราะเข้าใจในเรื่องกิเลสจึงจะสามารถปล่อยวางได้ ไม่ตั้งคำถาม ไม่กดดัน ไม่บีบคั้นใครๆ

หากเรามองว่าการกินมังสวิรัติเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเราแล้วมัวแต่มองไปยังคนที่กินเนื้อแล้วรู้สึกว่าตนเองนั้นทำได้ดีกว่า เก่งกว่า เมตตากว่า เบียดเบียนน้อยกว่า ความรู้สึกเหล่านี้จะก่อตัวเป็นอัตตาทำให้เราเป็นคนยึดดีและติดดีในที่สุด

ให้เราลองพิจารณาถึงคนที่มีศีลสูงกว่า เบียดเบียนน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น พระที่ฉันอาหารมื้อเดียว ท่านก็เบียดเบียนโลกน้อยกว่าเราจริงไหม เพราะปกติเรากินตั้งสามมื้อเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลาในการกิน แต่ท่านกินมื้อเดียวก็สามารถเอาเวลาที่ไม่ได้กินมื้ออื่นมาทำประโยชน์ได้มากขึ้น เหลืออาหารให้คนอื่นมากขึ้น เพราะไม่ได้เอาอาหารมาบำเรอตัวเองจนเกินความจำเป็น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่ากินมื้อเดียวนี่ดีที่สุดในโลกนะ และการกินมื้อเดียวนี่มีประโยชน์มากนะ ทำให้เจ็บป่วยน้อย ลำบากกายน้อย เบากายเบาใจ มีกำลัง เป็นอยู่ผาสุก (กกจูปมสูตร) เห็นไหมมีแต่ประโยชน์ทั้งนั้นเลย ก็เหมือนกับการที่เราอยากให้คนอื่นหันมากินมังสวิรัตินั่นแหละ เราก็มองว่าเป็นสิ่งดี เป็นกุศล มีประโยชน์

ทีนี้เราลองมาดูบ้างถ้ามีคนยื่นสิ่งที่มีประโยชน์กว่าการกินสามมื้อ มาเสนอให้เรากินมื้อเดียวนี้ เราจะเอาไหม? เราจะเห็นดีกับเขาไหม? เราจะทำตามเขาไหม? ถึงสิ่งนั้นจะดีแต่มันก็ทำได้ไม่ง่ายเลยใช่ไหม?

ก็เหมือนกับที่เราไปอยากให้คนอื่นเขามากินมังสวิรัติเหมือนเรานั่นแหละ ถ้าเราเริ่มเห็นแล้วว่ากิเลสมันเป็นแบบนี้ มันทำงานแบบนี้ มันดื้อด้านแบบนี้ มันจะหาเหตุผลมากมายเพื่อไม่ให้เข้าถึงสิ่งที่ดี ถึงแม้ว่าจะมีสิ่งที่มีประโยชน์มาอยู่ตรงหน้ามันก็จะไม่เอาแบบนี้

เราก็จะเข้าใจคนที่ยังติดกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ได้โดยไม่สงสัย เพราะเข้าใจว่าเรื่องกิเลสเป็นเรื่องยาก ฐานใครก็ฐานมัน เขาทำได้เท่านั้นมันถูกตามกิเลสของเขาอย่างนั้น เราทำได้ขนาดนี้เรายังไม่อยากพัฒนาไปมากกว่านี้เลย

3). เจียมตัว

เมื่อเราเข้าใจเรื่องกิเลสเราก็จะมีแนวโน้มที่อ่อนนุ่มลง ไม่ถือตัวถือตน ไม่อวดดิบอวดดี อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นมังสวิรัติที่เจียมตัว ไม่กดดันใคร ไม่บีบคั้นใคร ไม่เสนอให้ใครขุ่นใจ มีการประมาณที่ดีให้เหมาะกับจิตใจของผู้ฟัง

การอ่อนน้อมถ่อมตนนี้เองคือคุณสมบัติของผู้เมตตา เป็นผู้มีธรรมะในตนเพราะไม่มีอัตตา ไม่ยกตนข่มท่านให้ใครมัวหมอง มีแต่จิตเมตตาให้ทั้งสัตว์และคนที่ยังมีกิเลส เข้าใจว่าสัตว์นั้นก็ต้องรับกรรมของเขา และเข้าใจว่าคนนั้นก็ต้องสู้กับกิเลสไปตามฐานที่เขามี จะให้เขาทำเกินกำลังที่เขามีมันจะไม่ไหว เขาจะทรมานจนกระทั่งไม่ทำเสียเลยยังจะดีกว่า

ความทรมานจากความยึดดีถือดีนี้เองคือ อัตตกิลมถะ หรือทางโต่งในด้านอัตตา ไม่เป็นไปในทางสายกลาง หากเราเองยังมีความยึดดีถือดีจนไปทำให้ใครลำบากใจอยู่นั้นก็ไม่สามารถเรียกว่าอยู่บนทางสายกลาง แม้ว่าเราจะสามารถออกจากความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว แต่ถ้ายังมีอัตตา ยึดว่าตนทำได้ทำไมคนอื่นทำไมได้ ทำไมเขาไม่เมตตา ทำไมเขาไม่เลิกเบียดเบียน มันก็ยังสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนเองและผู้อื่นอยู่ดีนั่นเอง

ดังนั้นนักมังสวิรัติที่เข้าใจในเรื่องมังสวิรัติจริงๆก็จะเป็นผู้ที่เข้าใจผู้อื่น เพราะเข้าใจว่ากิเลสเป็นแบบนี้ ก็จะเจียมตัวปฏิบัติตนเองในแนวทางลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจต่อไปโดยไม่สงสัยและไม่ไปยุ่งวุ่นวายในการปฏิบัติของคนอื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)