Tag: เนื้อสัตว์

อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์

July 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,927 views 1

อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์

อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์

ในหนึ่งการกระทำอาจจะมีเหตุผลที่ต่างกันมากมาย การไม่กินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน แม้ดูเผินๆจะเหมือนว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์หลายคนต่างก็เหมือนๆกัน แต่ในความเหมือนนั้นก็อาจจะมีลักษณะของจิตที่แตกต่างกัน ซึ่งก็อาจจะ ยึดบ้าง อาศัยบ้าง แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะฝึกฝนจิตมามากน้อยเช่นไร

อุปาทานคือสภาพของการยึดมั่นถือมั่น ในกรณีของการกินเนื้อสัตว์ก็มีทั้งผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์ ในส่วนสมาทานคือสภาพของการยึดอาศัย ใช้เพียงแค่อาศัยให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้ยึดว่าต้องเป็นสิ่งใด โดยมีการพิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นเป็นหลัก

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการกินเนื้อสัตว์ )

คือสภาพยึดมั่นถือมั่นในจิตว่า คนจะต้องกินเนื้อสัตว์ กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ผิด ใครๆเขาก็กินกัน เนื้อสัตว์มีคุณค่า ฯลฯ เป็นลักษณะของการยึดเพื่อเสพ วิธีตรวจดูความยึดมั่นถือมั่นก็ง่ายๆ เพียงลองละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นสักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะหนึ่งเดือน หนึ่งปี หรือหนึ่งชีวิต ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่นก็จะมีอาการทุกข์เกิดขึ้น ที่มีความทุกข์นั้นเพราะเกิดจากการไม่ได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องได้เสพ กิเลสจะดิ้นทุรนทุรายและหาเหตุผลอันชอบธรรมเพื่อจะให้ได้กลับไปเสพเนื้อสัตว์เหล่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ ถึงเขาจะไม่กินตลอดชีวิตเขาก็จะไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร ไม่คิดถึง ไม่โหยหา ไม่กระวนกระวาย ไม่ต้องหาเหตุผลให้ไปกินเนื้อสัตว์ การที่ยังมีอาการทุกข์ในจิตนั้นเพราะไปหลงเสพ หลงติด หลงยึดในอะไรสักอย่างในเนื้อสัตว์

ความทุกข์นั้นเกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก พรากจากสิ่งที่ตนหวงแหน เมื่อเขายึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ดังนั้นแล้ว เขาย่อมไม่อยากพรากจากเนื้อสัตว์เหล่านั้น เขาจะไม่ยอมให้ธรรมะหรือความเห็นอื่นใดเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่นของเขา เขาจะยึดมันไว้เป็นสรณะ แม้ว่าเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะเป็นเนื้อผิดศีลผิดธรรม เป็นเนื้อที่เขาฆ่ามา เป็นเนื้อสัตว์ที่ผิดไปจากหลักของการพ้นทุกข์ก็ตาม

เป็นลักษณะของการมีอุปาทานในเนื้อสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นที่ฝังลึกลงไปในจิตวิญญาณ ที่มักจะหาเหตุผลและสิ่งอ้างอิงต่างๆมาใช้เพื่อให้ตนได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาป ทั้งที่จริงแล้วเราไม่ควรคิดหาเหตุผลและข้ออ้างในการเบียดเบียนเลย เพราะความจริงนั้นมีปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปแล้วว่า แม้เราจะไม่เบียดเบียนสัตว์ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ แต่ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะเขาเหล่านั้นจะทุกข์ทรมานจากความอยากเพราะสิ่งที่เขายึดมั่นถือมั่นนั้นเอง

ความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เป็นสภาพของการดูดดึงเข้าไปเสพสิ่งที่เป็นภัย ยังจมอยู่ในกามภพ คือภพที่ยังหลงสุขลวงจากการได้เสพ เป็นทางโต่งไปในทางกามสุขลิกะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการไม่กินเนื้อสัตว์ )

คือสภาพที่ยึดมั่นถือมั่นว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นั้นดี เป็นสิ่งดีที่ควรจะทำ ใครไม่กินเนื้อดี ใครกินเนื้อไม่ดี โดยมักจะมีความกดดัน อึดอัด บังคับ ยัดเยียด ยกตกข่มท่านเข้าไปร่วมด้วย มักจะมีอาการรังเกียจเนื้อสัตว์และคนกินเนื้อสัตว์อยู่และไม่สามารถปล่อยวางความยึดดีเหล่านั้นได้จนมักเกิดอารมณ์ขุ่นมัวในจิตใจ

หากอยากลองทดสอบความยึดมั่นถือมั่นก็ให้ลองเข้าไปอยู่ในหมู่คนกินเนื้อสัตว์ อยู่ร่วมโต๊ะอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ หรือกระทั่งลองกินเนื้อสัตว์ จะพบสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจที่เกิดจากการที่จิตมีอาการรังเกียจผลักไส เพราะยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์แต่ถ้ามีอาการสุขเมื่อได้เสพเนื้อสัตว์แสดงว่ายังล้างกามไม่หมด ยังมีความดูดซ้อนในความผลักอยู่

การยึดมั่นถือมั่นในความดีจนตัวเองต้องทุกข์ทรมานด้วยความยึดดีนั้น เป็นการสร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะมีอัตตา เป็นทางโต่งไปในด้านอัตตกิลิมถะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง

ผู้ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ไม่กินเนื้อสัตว์( สมาทาน )

เป็นสภาพของการสมาทานหรือยึดอาศัย คืออาศัยสิ่งที่เป็นประโยชน์ละเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ สิ่งใดเบียดเบียนก็ไม่เอา สิ่งใดมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นก็เอา ไม่มีความดูดดึงในเนื้อสัตว์ ไม่มีความอยากเข้าไปกิน และไม่มีอาการผลักไส หรือไม่อยากกิน แต่จะเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นสำคัญ

การสมาทานหรือการยึดอาศัยนี้เอง คือจุดที่เป็นกลางที่สุด หรือที่เรียกกันว่าทางสายกลาง เป็นกลางบนกุศลสูงสุด ไม่ยึดชั่ว ไม่ยึดดี ไม่เสพกาม ไม่เมาอัตตา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นเพียงสภาวะที่จะอาศัยให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

15.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

July 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,352 views 11

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

มังสวิรัติกับพระพุทธศาสนานั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานแสนนานว่า พระพุทธเจ้าท่านกินเนื้อสัตว์หรือไม่? ในบทความนี้ไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆที่จะมาแสดง มีเพียงผลของการปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาที่จะมายืนยันกันว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กินเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติว่าสาวกห้ามกินเนื้อสัตว์ แต่มีข้อแม้มากมายในการได้กินเนื้อสัตว์นั้นๆ เช่นเนื้อสัตว์ที่ห้ามกินอย่างเด็ดขาดสิบอย่างในมังสัง ๑๐ คือห้ามกินเนื้อ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ที่เขาลากมา บังคับมา แล้วก็ฆ่ามา เป็นเนื้อที่มีบาป เป็นเนื้อสัตว์นอกพุทธ ดังนั้นจึงไม่ควรกินอยู่แล้ว อีกทั้งบัญญัติว่าสามารถกินเนื้อที่ไม่เห็นว่าเขาฆ่ามา ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามา ไม่รังเกียจว่าเขาฆ่ามา ในข้อไม่รังเกียจนี้เองเป็นตัววัดหิริโอตตัปปะ เพราะเนื้อสัตว์ที่ถูกเบียดเบียนมาย่อมไม่เป็นที่น่ายินดีในหมู่สาวก เนื้อสัตว์ที่ได้มานั้นย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

ซึ่งในทุกวันนี้เรียกได้ว่ายากนักที่จะหาเนื้อสัตว์ที่ไม่มีบาปบน เพราะเนื้อสัตว์ที่ขายอยู่ก็มีแต่เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ใครๆก็รู้ว่ามันไม่ได้ตายเอง เขาเพาะเลี้ยงมา เขาจับมา เขาฆ่ามา แล้วเขาก็เอามาขายเรา เมื่อเรารู้ดังนี้ย่อมไม่ยินดีส่งเสริมให้เขาทำอาชีพที่เป็นบาปเหล่านั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ถึงการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ มีสองข้อที่เกี่ยวกันคือ ห้ามค้าขายชีวิต และห้ามค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายความว่าหากฝืนทำก็ไม่ใช่พุทธ เพราะพุทธไม่ส่งเสริมให้เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในบทโอวาทปาติโมกข์ยังได้กล่าวว่า ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่เรียกว่าเป็นสมณะเลย สมณะนั้นคือผู้สงบจากกิเลส เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เรารู้ในใจกันดีอยู่แล้วว่าการไม่กินเนื้อสัตว์คือการไม่มีส่วนในการเบียดเบียนสัตว์นั้น การยังกินเนื้อสัตว์อยู่เป็นการเบียดเบียนกันอย่างตรงไปตรงมา เพียงแต่เราไม่คิดจะสนใจที่ไปที่มาของเนื้อสัตว์เหล่านั้นเท่านั้นเอง

ถ้าหากเรายังยืนยันว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่สมควรแล้วล่ะก็ ความเห็นของเราก็จะไปขัดกับพระสูตรต่างๆอยู่เสมอ เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น แต่คนที่หลงว่าเนื้อสัตว์เป็นคุณค่าก็จะกินเนื้อสัตว์โดยหวังให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งขัดกับสัจจะของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง ถ้าท่านตรัสแนวทางปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าก็มีความเห็นที่ดำเนินไปสู่ความเป็นทุกข์เท่านั้นเอง

ความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ใช้หลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาเข้ามากำจัดความอยาก จากคนที่เคยหลงใหลชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ เคยยึดมั่น เคยผูกพัน แต่ก็สามารถใช้กระบวนการของพุทธเข้ามากำจัดความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้

เมื่อหมดความอยากกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกว่าเนื้อสัตว์มีคุณค่าแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องไปกินให้เมื่อย ไม่ต้องเบียดเบียนสร้างกรรมชั่วให้ต้องลำบากรับการมีโรคมากและอายุสั้นในภายหลัง ไม่ต้องคอยคิดปั้นแต่งเหตุผลใดๆที่จะทำให้การกินเนื้อสัตว์นั้นดูเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องผูกภพผูกชาติกับเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเป็นทาสเนื้อสัตว์อีกต่อไป

และยังมีปัญญารู้อีกด้วยว่า การกินเนื้อสัตว์ เป็นโทษ ทุกข์ ภัย ผลเสียอย่างไร มีปัญญาที่จะหลีกเลี่ยงละเว้น และอนุโลมบ้าง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ ให้ใจต้องเป็นทุกข์จากความอยากและไม่อยาก ไม่มีทั้งความทั้งความอยากกินเนื้อสัตว์ และไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ใยดี ไม่สนใจ ไม่ให้คุณค่า มีเพียงประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง โดยรวมเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่นั้นเป็นโทษอยู่แล้ว เราจึงไม่เอาสิ่งที่เป็นโทษนั้นเขามาใส่ตัวด้วยใจที่เป็นสุข

นี่คือผลที่ปฏิบัติมาด้วยการชำระล้างความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดไปจากจิตวิญญาณ ถือเป็นกิเลสระดับที่ไม่ยากไม่ลำบากนัก สาวกระดับกระจอกๆอย่างผมยังทำได้ แล้วผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่าจะไม่ได้หรืออย่างไร แล้วพระพุทธเจ้าผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งจะขนาดไหน ท่านรู้ทุกอย่างในโลก ท่านรู้ที่มาที่ไปของทุกเหตุปัจจัย ขนาดผมไม่รู้ถึงขนาดท่านก็ยังรู้เลยว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภค เพราะค่าโดยรวมแล้วมีโทษมากกว่าประโยชน์ เรียกว่าได้รสสุขนิดหน่อย แต่เก็บสะสมอกุศลกรรมสร้างทุกข์ไปอีกนานแสนนาน

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดเป็นสิ่งลวง เมื่อเราเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ เราก็ไม่ควรจะเอาโทษนั้นมาใส่ตัว หากว่าเราไม่มีกิเลส ก็คงจะไม่มีแรงต้านมากนัก แต่หากกิเลสมาก ก็คงจะคิดหาวิธีที่จะให้ได้เสพเนื้อสัตว์โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือถูกกล่าวหาใดๆ

แม้แต่การกล่าวหาว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ข้อคิดเห็นเหล่านี้ได้เลย ไม่มีหลักฐานชี้ชัดใดๆเลยสักอย่างเดียว เรื่องราวทั้งหมดนั้นผ่านมากว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว สิ่งที่เหลือไว้มีเพียงคำสั่งสอนให้เพียรปฏิบัติจนเกิดปัญญารู้ขึ้นเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรเชื่อแต่แรก แต่ควรพิสูจน์ให้เห็นด้วยปัญญาของตนเองว่าเนื้อสัตว์นั้นควรละเว้นหรือควรบริโภค

ผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นก็มีมากมายหลากหลาย มีอินทรีย์พละต่างกัน ผู้ที่สามารถตัดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็มี ผู้ที่ยังหลงเมามายอยู่กับรสของเนื้อสัตว์ก็มี แต่หากมุ่งปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ก็เป็นสาวกในพระพุทธศาสนาทั้งนั้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถละเว้นการเบียดเบียนทั้งหมดได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ทิ้งคนเหล่านั้น เพราะพวกเขายังมีความดี ยังมีทิศทางในการลดละกิเลสอยู่ จึงไม่มีบัญญัติใดๆที่ระบุว่าห้ามกินเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน มีเพียงข้อแม้ต่างๆตามที่ได้ระบุไว้ดังที่ยกตัวอย่างบางส่วนมาก่อนหน้านี้

คนที่อยากกินเนื้อสัตว์ก็จะหาช่องว่างในเนื้อหาและตัวอักษรเหล่านั้นให้ตัวเองได้กินเนื้อสัตว์ ส่วนคนที่ปฏิบัติจนลดและทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็จะไม่สงสัยใดๆอีกว่าควรจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กิน

การเลือกกินเนื้อสัตว์เป็นเจตนา ซึ่งเป็นกรรมของแต่ละคน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอาหารเสียก่อนว่าเราควรจะทำกรรมนี้หรือเราจะเลี่ยงกรรมนี้ หากมีผักและเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า เราจะเลือกเขี่ยสิ่งใดออก เราจะเลือกนำสิ่งใดเข้าปากเรา เราจึงควรใช้ปัญญาของเราพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ให้เห็นประโยชน์และโทษของมัน ควรเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่มีประโยชน์ จึงจะพบกับความผาสุก

ตราบใดที่เรายังกำจัดความหลงในเนื้อสัตว์ไม่ได้ เนื้อสัตว์เหล่านั้นก็จะยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตเรา มีอิทธิพลต่อเรา เป็นตัวกำหนดทุกข์และสุขของเรา เป็นเจ้านายของเรา เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นจนเป็นเหตุให้ต้องทุกข์เมื่อไม่ได้เสพ เป็นสุขเมื่อได้เสพ วนเวียนอยู่ในสุขทุกข์แบบโลกๆอย่างไม่มีวันจบสิ้นเพราะเป็นทาสเนื้อสัตว์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :กรณีการโต้แย้งต่างๆในบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

– – – – – – – – – – – – – – –

13.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินหมาผิดไหม?

June 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,004 views 0

กินหมาผิดไหม?

กินหมาผิดไหม?

ในช่วงเวลาหนึ่งของปี จะมีประเทศหนึ่งทำการฆ่าสัตว์ชนิดหนึ่งเพื่อนำมากิน การกระทำนี้กลายเป็นสิ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้คนหมู่มาก

ลองพิจารณากันอีกทีในบริบทเดิม หากในประเทศนั้นฆ่าสัตว์เพื่อนำมากินโดยไม่กำหนดช่วงเวลา ฆ่าทุกวัน กินทุกวัน ฆ่าทั้งวัน กินทั้งวัน ฆ่ากันเป็นเรื่องปกติ กินกันเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งใดที่ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจกว่ากัน?

มาเข้าเรื่องกันเลย…เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมานานระหว่างคนรักสัตว์กับผู้กินเนื้อสัตว์ แต่ก็มักหาข้อสรุปใจกันไม่ลงตัวเสียทีว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี… ถ้ากินหมาไม่ได้แล้วทำไมกินสัตว์ชนิดอื่นได้? เหมือนกับปัญหาโลกแตกที่เถียงกันไปก็ไม่มีใครชนะ คนที่คิดจะกินเนื้อสัตว์ก็กินอยู่เหมือนเดิม คนรักสัตว์ก็ยังขุ่นใจเหมือนเดิม

ความเป็นจริงก็คือคนมีกิเลสเขาก็กินทุกอย่างนั่นแหละ จะเป็นหมา แมว หมู วัว กระต่าย ปลา แม้แต่กินบ้านกินเมือง รวมไปถึงกินปัญญา (ทำให้เสียโอกาสในการเรียนรู้) ก็กินกันได้

ไม่แปลกอะไรที่ใครจะกินหมา เพราะเขาติดรสในเนื้อสัตว์นั้น เหมือนกันกับที่คนกินเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆเช่น หมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะกินเนื้อสัตว์อะไรมันก็มีความอยากในการเสพรสเหมือนๆกัน ซึ่งไม่มีนัยสำคัญของความแตกต่างในด้านกิเลส แต่จะต่างกันในด้านสัญญา คือประเพณีเพราะมีความเชื่อที่ต่างกันไป

ทำไมคนจึงออกมาต่อต้านการกินหมา?

เพราะหมานั้นเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับคน จึงเกิดความรักจนกระทั่งหลงได้ง่าย เมื่อหลงก็เกิดความลำเอียง ทั้งลำเอียงเพราะรักและหลงนั่นแหละ ที่ลำเอียงเพราะรักนั้นเกิดจากเราได้เสพความน่ารักผูกพันอะไรกับมันสักอย่าง ในส่วนลำเอียงเพราะหลง เช่น หลงยึดว่าทุกคนต้องรักอย่างตน, หลงไปว่ามีสัตว์เลี้ยงสัตว์กิน, หลงเข้าใจไปว่าเป็นสามัญสำนึกว่าทุกคนต้องไม่กินหมา

พอลำเอียงปุ๊ป มันก็จะทนไม่ได้ เมื่อเห็นสิ่งที่ตนรักนั้นถูกทำร้าย แม้ว่าจะไม่ใช่หมาที่ตนเลี้ยงก็ตาม แต่ความลำเอียงเพราะหลงนั้นจะทำให้รู้สึกเดือดร้อน บ้างก็ทนไม่ไหว ต้องออกมาประณามหยามเหยียดคนที่คิดและเข้าใจไม่เหมือนตนเองหรือกลุ่มของตน

ทั้งที่จริงๆแล้ว สัตว์มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เราเองที่ไปแบ่งว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราแบ่งมันด้วยความเห็นผิดของเรา เช่นว่า สัตว์นั้นกินได้ สัตว์นี้กินไม่ได้ ทั้งๆที่ความจริงแล้วเราเองที่ไปเอามันมาเลี้ยง เราเองที่ไปเอามันมากิน เราตัดสินทุกอย่างเอง ใช้อำนาจที่มีในการสร้างความชอบธรรมในการฆ่า ในนามของมนุษย์ผู้มีปัญญาล้ำเลิศข้าขอบัญญัติว่า สัตว์ชนิดนี้เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา สัตว์ชนิดนี้เกิดมาเป็นทาสอารมณ์ของเรา ซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีสัตว์ใดเลยที่เราควรเบียดเบียน สัตว์มันก็อยู่ของมันดีๆ เราไปยุ่งกับมันเอง

จะดีไหมหากเราจะขยายขอบเขตความรักความเมตตาของเราไปให้กับสัตว์อื่นด้วย ค่อยๆกระจายออกไป เริ่มจากหมาที่เรารัก หมาของคนอื่น แมว วัว หมู ไก่ ปลา พัฒนาสร้างความรักให้เติบโตเรื่อยไปจนรักสัตว์ได้ทุกชนิดเลย มันจะสุขแค่ไหนที่ได้อยู่ร่วมโลกกับสิ่งที่เรารักอย่างสบายใจ จะดีแค่ไหนหากเรากลายเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ใดเลย

คนรักหมาปะทะคนรักสัตว์

โดยมากแล้วทุกคนต้องการเป็นคนดี และเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนรักหมาออกมาปกป้องสิ่งที่ตนรัก และกล่าวติ ข่ม ด่า ดูถูก ฯลฯ คนที่มาทำร้ายความเชื่อที่ตนมี แม้ว่าพวกเขาเองจะไม่ได้รับความเดือดร้อนใดๆเลย แต่การเห็นภาพความเชื่อที่ว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยง เป็นเพื่อน เป็นเหมือนครอบครัวถูกทำลายนั้นเป็นภาพที่พวกเขารับไม่ได้

ถึงเขาจะดูเป็นคนดีที่มีเมตตาเช่นนั้น ก็ใช่ว่าจะบริสุทธิ์จากบาป(กิเลส)เสมอไป เหตุการณ์ที่เรามักจะเห็นได้ก็คือมีคำถามว่า “ทำไมหมากินไม่ได้ แล้วหมูกินได้?” แน่นอนว่าการถามแบบนี้จะกระตุกต่อมคนดีอย่างรุนแรง ซึ่งแม้เขาจะเป็นคนดีขึ้นมาได้ แต่ก็ใช่ว่าเขาจะรับสิ่งดีได้ทุกอย่าง

เมื่อเป็นคนดีขึ้นมาแล้ว ก็มักจะเกิดอาการยึดดี ไม่ยอมชั่ว เมื่อไม่ยอมชั่วก็จะเกิดอาการบ่ายเบี่ยง ผลักภาระไปให้สัตว์ที่น่าสงสารเช่น หมูเป็นสัตว์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อถูกฆ่าอยู่แล้ว, หมาเป็นสัตว์เลี้ยง ฯลฯ นานาความคิดที่แสดงออกมาเพื่อที่จะนำเสนอให้เห็นว่าการกินหมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ เป็นความชอบธรรมที่ใครๆเขาก็ทำกันไม่ผิดอะไร

ซึ่งแท้จริงแล้วก็เหมือนกับคนที่เขากินหมานั่นแหละ เขาก็มีเหตุผลมากมายมาตอบว่าทำไมถึงกินหมา ซึ่งน่าเชื่อเสียด้วย หลักฐานคือเกิดเป็นเทศกาลกินหมาจริงๆ เพราะคนเขาเชื่อแบบนั้น

กลับมาที่คนเป็นสัตว์กินตามกิเลส ถ้ามีกิเลสมากเท่าไหร่ก็เบียดเบียนมากเท่านั้น เขาก็กินเนื้อสัตว์มากเท่าที่เขาอยากกินนั่นแหละ เราไม่จำเป็นต้องสงสัยว่าทำไมจึงยังกินเนื้อสัตว์ หรือไปดูถูกใครหากเขายังหลงติดหลงยึดในสุขจากการกินเนื้อสัตว์อยู่ เพราะถ้าเขาไม่หลงสุขในการกินเนื้อสัตว์ เขาก็ไม่ต้องฆ่าหมามากิน เขาก็ไม่ต้องกินหมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ และเขาก็ไม่จำเป็นต้องลำบากคิดหาเหตุผลใดๆมาแสดงความชอบธรรมในการเบียดเบียนด้วย

คนมีกิเลสก็เหมือนคนมีแผลเหวอะหวะ จะจับหรือแค่สะกิดก็มักจะต้องเจ็บปวด ดังเช่นคนที่กินเนื้อสัตว์อยู่แต่ก็มีจิตใจเมตตาไม่เห็นด้วยกับการกินหมา แม้ว่าเขาจะมีจิตเมตตาเช่นนั้น แต่เขาก็ยังมีกิเลสอยู่ เขายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ เมื่อคนรักสัตว์เพียงแค่ถามหรือหยิบยกประเด็นลำเอียงมาสนทนา เขาก็จะมีอาการเจ็บปวดเมื่อถูกรุกรานความเชื่อในส่วนที่ชั่วของเขานั่นเพราะโดยปกติแล้วไม่มีใครอยากให้คนอื่นมาว่าหรอก ว่าสิ่งที่เขาคิดและทำอยู่นั้นไม่ดี เบียดเบียน และยังชั่วอยู่

หากเขาไม่ยึดความเชื่อว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยง หมูเป็นสัตว์ที่ควรกิน วัวก็ควรถูกกิน ไก่ก็ควรถูกกิน ปลาก็ควรถูกกิน สัตว์หลายๆอย่างที่น่าอร่อยก็ควรถูกกิน หากเขาถูกลิดรอนความเชื่อเหล่านี้ เขาจะไม่มีความสุขในการกิน แม้จะได้กินเขาก็จะไม่รู้สึกเหมือนเดิมเพราะความติดดียึดดี ความอยากเป็นคนดีทำให้รู้สึกเช่นนั้นได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้รู้สึกผิดในการกินเนื้อสัตว์อื่นๆนอกจากหมา เขาจึงจำเป็นต้องปกป้องความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นไว้ เหตุที่แท้จริงนั้นก็เพราะความหลงสุขในการเสพเนื้อสัตว์เหล่านั้น ไม่ว่าจะติดรส ติดว่าคนอื่นเขาก็กินกัน ติดความเชื่อว่ามันมีประโยชน์ บำรุงอย่างนั้นอย่างนี้ หรือแม้แต่ความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์กินเนื้อก็ตาม

ดังนั้นคนรักสัตว์ที่มีประสบการณ์จึงไม่ควรปะทะคารมโดยตรง การกระตุ้นสามัญสำนึกใช่ว่าจะใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม เราควรมีเมตตาในการประมาณฐานของกลุ่มคน เช่น เขายังไม่เก่ง ยังไม่เคยศึกษา เราก็ค่อยๆชวนเขาลดไปก่อน อย่าเพิ่งไปกระตุกต่อมคนดีของเขา เพราะถ้ามากจนไปกระทบอัตตาของเขา เขาก็อาจจะไม่ไว้หน้าเราเหมือนกัน

เมื่อเกิดการผิดใจกัน ย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้น คนกินเนื้อสัตว์ก็ยังกินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม คนรักสัตว์ก็ต้องมาขุ่นใจกับคนที่ไม่ยอมเอาสิ่งที่ดีเหมือนเดิม

ผู้มีปัญญาจะไม่หาข้อแม้ใดๆในการเบียดเบียนสัตว์ มนุษย์ ความเชื่อ หรือสิ่งใดๆรวมทั้งตนเองด้วย เพราะรู้ว่าการเบียดเบียนนั้นไม่มีผลอะไรนอกจากการสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่นเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

23.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต : ๒ ติดใจ ติดรส ติดกาม

June 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,395 views 0

กินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต : ๒ ติดใจ ติดรส ติดกาม

กินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต : ๒ ติดใจ ติดรส ติดกาม

ในทุกวันนี้ แม้เนื้อสัตว์จะเป็นวัตถุดิบหลักประกอบอาหารที่คนส่วนใหญ่บริโภคกันในแต่ละวัน ปรุงแต่งรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสกันให้น่าเสพน่าหลงใหลถึงกระนั้นก็ตาม แท้จริงแล้วเนื้อสัตว์ก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตเลย

เรามักจะมีเหตุผลที่อ้างเพื่อจะไม่ลดเนื้อสัตว์แล้วหันมากินผักแทนด้วยเหตุผลดังเช่นว่า “ฉันต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต” เป็นความปักมั่นที่ยึดเอาเนื้อสัตว์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นตัวเป็นตน เป็นอัตตา ทั้งที่จริงแล้วการเสพสุขจากการกินเนื้อสัตว์นั้นมาจากเสพกามในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสทั้งหลายนั้นเอง แต่พอยึดติดมากเข้าก็กลายเป็นตัวเป็นตนไปเลย

คนเรานั้นสามารถติดใจในรสชาติ จนกระทั่งถึงขั้นหลงระเริงเลยเถิดไปไกลจากการกินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิตไปได้ไม่ยากนัก เพราะความหลงในกามนี้เอง ทำให้เราต้องไปตามหาร้านอาหารชื่อดังที่มีเมนูเนื้อสัตว์ที่อร่อย แสวงหาสถานที่ที่จะปรุงแต่งรสสุขในกามให้ได้เสพ ไม่ว่าจะอยู่เมืองไหน ประเทศใดถ้ามีทุนทรัพย์มากพอก็จะไปแสวงหาเสพให้ได้

เพื่อที่จะให้ตนได้เสพรสอย่างที่ใจหวัง จึงสร้างความยุ่งยากในชีวิตมากกว่ากินๆไปเพียงเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไป กลายเป็นการแสวงหาของกินที่ถูกปาก เริ่มที่จะเข้าสู่การอยู่เพื่อกิน ไม่ใช่กินเพื่ออยู่อีกต่อไป แต่นั่นก็ไม่ได้สร้างความลำบากให้จิตใจของผู้ที่ติดกามในเนื้อสัตว์จนต้องลำบากออกแสวงหามากนัก เพราะเขาเหล่านั้นคาดหวังอยู่เสมอว่าจะได้เสพรสสุขมากกว่าความลำบากที่ต้องจ่ายไป

ยกตัวอย่างเช่น คนไทยที่บินไปญี่ปุ่นเพื่อที่จะได้ลิ้มลองปลาดิบต้นตำรับว่าจะทำให้อร่อยและสุขใจแค่ไหน ลงทุนลงแรงเกินความจำเป็น ดังคำที่ว่า “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” ทั้งที่จริงๆแล้วถ้าอยากกินปลาก็สามารถหากินตามร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยทั่วไปได้ แต่ความใคร่อยากเสพมันจะไม่ยอม มันจะกระหาย มันอยากจะลิ้มรส ที่ว่าเลิศ ว่ายอดขึ้นไปอีก ว่ามันจะมีรสสุขใดอีก ฉันอยากจะเสพรสสุขนั้นเหลือเกิน ว่าแล้วกิเลสก็พาให้เขาเหล่านั้นออกเดินทางออกไปแสวงหาเมนูเนื้อสัตว์ที่จะมาบำเรอกามตนเองได้

รสกามนี้เองคือสิ่งที่ทำให้มีร้านอาหารหลายระดับต่างกันตั้งแต่ร้านข้างทางจนไปถึงโรงแรมหรูมีดาวมากมาย ซึ่งก็ต่างกันในเรื่องของความสามารถในการบำเรอกาม ร้านข้างทางก็พอจะบำเรอกามได้ระดับหนึ่ง ส่วนโรงแรมหรูนอกจากจะบำเรอกามแล้วยังเสริมโลกธรรมและอัตตาอีกด้วย คือนอกจากจะได้เสพรสอร่อยแล้วยังทำให้รู้สึกว่าดูดีมีระดับอีกต่างหาก

เมื่อเนื้อสัตว์นั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อดำรงชีวิต แต่มีไว้เพื่อบำเรอกาม นั่นก็หมายถึงสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นของชีวิต ดังนั้นหากจะอ้างว่า ฉันต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิตแต่ยังมีพฤติกรรมติดกามในเนื้อสัตว์เช่นนี้ เหตุผลนี้ก็เป็นเหตุผลที่ไม่สมควรยกมาอ้างเลย เพราะเห็นกันชัดเจนอยู่แล้วว่า “ไม่ได้กินเพื่อดำรงชีวิต แต่กินเพื่อบำเรอกาม

– – – – – – – – – – – – – – –

16.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)