Tag: สะสม

นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก

April 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,285 views 0

นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก

นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก

การมี การได้รับ การได้ครอบครอง หรือการได้เสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อเขาเหล่านั้นได้ความรู้สึกสุขก็จะยึดมันไว้ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการเป็นนักสะสม

นักสะสมนั้นสามารถสะสมได้ตั้งแต่วัตถุที่เป็นรูปธรรมจนถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เรียกได้ว่าติดสุขในอะไรก็มักจะสะสมสิ่งนั้น และสิ่งที่เราทุกคนนิยมสะสมกันมากที่สุดก็คือการสะสม “กิเลส

กิเลสเป็นพลังที่พาให้คนหลงไปในสุขลวงในมุมที่แตกต่างกัน บางคนไปสุขกับการสะสมสิ่งของ บางคนสุขกับการสั่งสมคนรัก บางคนสุขกับการได้รับคำสรรเสริญเยินยอ เมื่อได้รับสิ่งใดก็จะยิ่งอยากได้รับสิ่งนั้นมากขึ้นไปอีก กลายเป็นคนที่กระหายใคร่อยากจะเสพในสิ่งที่ตนหลงรักและชอบใจ

การสะสมกิเลสนั้นง่าย มีคนเก่งในการสะสมกิเลสมากมาย ยิ่งสนองกิเลสตนเองและกระตุ้นกิเลสผู้อื่นได้มากเท่าไหร่ก็มักจะได้รับการยอมรับว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนที่มีความสามารถ เป็นคนที่มีคุณค่าต่อโลก ฯลฯ

ต่างจากการเลิกสะสมกิเลส การลดกิเลส การละกิเลส การทำลายกิเลส เรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครสนใจนัก แม้จะเห็นแต่ก็ไม่ใยดี ไม่ยินดีที่จะลดกิเลส เพราะเข้าใจว่าการสะสมกิเลสมันได้สุขมากกว่า

ถึงแม้จะสนใจก็ใช่ว่าจะหาคนที่พาลดกิเลสได้ง่ายนัก เหมือนใช้ชีวิตอยู่ในกระแสของกิเลสที่เชี่ยวกราก ยากแท้จะหาผู้ใดที่สามารถจะทวนกระแสของกิเลสนั้นได้ และยากยิ่งกว่าคือการจะพาตัวเองออกจากกระแสของกิเลสไปเจอคนเหล่านั้น จึงได้แต่ปล่อยให้ชีวิตลอยไปตามกระแสของกิเลส สนองกิเลส สะสมกิเลส เสพสุขอยู่ในโลกอย่างไม่จบไม่สิ้น

เมื่อเสพสุขอยู่แต่เรื่องโลก ไม่ว่าจะในระดับอบายมุข กามคุณ โลกธรรม หรืออัตตา ต่างก็ล้วนสร้างความยึดมั่นที่ตรึงตนเองให้อยู่ในโลกมากขึ้น แม้จะต้องทนทุกข์จากกิเลส แต่ก็จะหลงมัวเมาจนไม่สามารถมองเห็นกิเลสได้ เหมือนกับปลาที่อยู่ในน้ำย่อมหมายเอาว่าแม่น้ำนั้นแหละคือที่อาศัยของมัน และโลกเหนือน้ำไม่มีอยู่จริง ถึงจะมีจริงก็อยู่ไม่ได้

แท้จริงแล้วกิเลสนี้เองคือสิ่งที่ยึดเราไว้กับโลก ยิ่งเราสะสมกิเลสมากเท่าไหร่ แรงยึด แรงที่ดูดดึงไว้กับเรื่องโลกก็จะมากเท่านั้น ดังนั้นการจะพยายามทวนกระแสโลก การจะออกจากโลก จนกระทั่งการจะอยู่เหนือโลกที่เรียกกันว่า “โลกุตระ” นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ในวิสัยของนักสะสม

กิเลสจะบังตาของนักสะสมไว้ เรียกว่าเห็นก็ไม่ได้ ถึงเห็นก็ไม่รู้ ถึงรู้ก็ไม่เข้าใจ ถึงเข้าใจก็เป็นเพียงตรรกะหรือคำบอกเล่าที่ยินได้ฟังมา

แม้จะพยายามยอมตัดใจเลิกสะสม แต่กิเลสก็มักจะเหนี่ยวรั้งไว้ ถึงจะเลิกอย่างหนึ่งก็ไปติดอีกอย่างหนึ่ง ถึงจะบังคับข่มใจอย่างไรก็จะมีแต่ความทรมานที่กิเลสมอบให้ บังคับให้นักสะสมเหล่านั้นกลับไปเสพด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือต่างๆนาๆ

ดังนั้นการสะสมจึงกลายเป็นนรกที่ตนเองสร้างไว้ขังตัวเอง ยึดสะสมมากก็ยิ่งลึกมาก ยิ่งปีนขึ้นมายาก ต่อให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถขนาดไหน ต่อให้ได้ปริญญาเอกเป็นร้อยใบ ต่อให้ได้ชื่อว่าฉลาดรอบรู้และเป็นที่ยอมรับในสังคม ต่อให้เป็นนักบวชและผู้ปฏิบัติธรรมที่เคร่งศีล ต่อให้นักรบที่ว่าแน่แค่ไหน ผ่านความเจ็บปวดความเสี่ยงตายมาเท่าไร แต่ถ้าไม่ได้เรียนวิชาล้างกิเลสก็จะไม่สามารถหลุดออกจากห้วงนรกของการสะสมกิเลสที่ลึกสุดลึกได้

นรกของนักสะสมจึงกลายเป็นหลุมดำที่คอยดูดคนที่หลงสุขลวงเข้าไปเสพสุข กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มั่วกาม เมาอบาย บ้าอัตตา จึงกลายเป็นนรกที่ต้องเผชิญไปพร้อมๆกับการใช้ชีวิตที่หลงเข้าใจว่าเป็นความสุขแท้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

27.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การสะสม สร้างบาปเสียกุศล

April 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,889 views 0

การสะสม สร้างบาปเสียกุศล

การสะสม สร้างบาปเสียกุศล

การสะสมสิ่งที่ไร้สาระไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตนั้น เป็นเพราะกิเลสพาให้หลงเพลิดเพลินไปกับสิ่งลวง ให้จมอยู่กับสุขลวงและเหลือทิ้งไว้แต่ทุกข์แท้ๆ

เราสามารถสะสมอะไรได้หลายอย่างทั้งที่เห็นเป็นรูปและไม่มีรูป ที่เห็นเป็นรูปก็เช่น ของสะสมต่างๆ แสตมป์ ตุ๊กตา ซีดี ต้นไม้ เสื้อผ้า บ้าน รถ เงิน ฯลฯ และที่ไม่มีรูปเช่น การยอมรับ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรี ความสุข เป็นต้น

เมื่อเราหลงไปสะสมอะไรก็ตาม นั่นหมายถึงเรากำลังสะสมกิเลสไปทีละน้อย การสะสมกิเลสหมายถึงการทำบาป สรุปแล้วผู้ที่หลงมัวเมาสะสมสิ่งใดๆที่ไม่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตคือผู้ที่สร้างบาปให้แก่ตนเอง

เพราะยิ่งสะสม ก็ยิ่งอยากได้ เมื่ออยากได้ก็จะเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์ก็ต้องไปหามาเสพ เอามาสะสมให้สมใจ เมื่อได้เสพก็สุขอยู่ชั่วครู่แล้วก็จางหายไป แล้วก็จะอยากได้สิ่งใหม่อีก เป็นทาสกิเลสแบบนี้เรื่อยไปไม่จบไม่สิ้น จึงกลายเป็นผู้ที่สร้างบาป เวร ภัย ให้กับตน เพราะเอาแต่สิ่งที่ไม่มีสาระมาเป็นแก่นสารสาระในชีวิต ดังนั้นจึงทำให้ชีวิตนั้นไร้สาระ

แม้ว่าสังคมจะให้การยอมรับผู้ที่สะสม ผู้ที่มีมาก แต่นั่นก็เป็นแค่เสียงสะท้อนจากสังคมอุดมกิเลส ผู้ที่หลงมัวเมามักจะชักชวนกันให้จมอยู่ในห้วงแห่งความหลงเสพหลงสุข พวกเขาจะไม่ยอมให้ใครพรากความสุขไปง่ายๆ นั่นหมายถึงการไม่ยอมให้ใครได้หลุดออกจากนรกของการสะสมด้วย

สังคมที่พาให้สะสมกิเลสนั้นไม่ใช่สังคมของบัณฑิต แต่เป็นสังคมของคนพาล แม้ว่าผู้สะสมจะมีหน้าตาในสังคม มีฐานะดี มีการศึกษาดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนดีแท้ เพราะถ้าเขาเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกิเลสแล้วล่ะก็… สามารถและคุณสมบัติที่มีก็จะกลายเป็นความสามารถที่จะสร้างนรกได้มากพอๆกัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนธรรมดาสะสมต้นไม้ ก็คงจะไม่มีใครให้ความสนใจต้นไม้นั้นมาก แต่ถ้ามีดาราหรือผู้ใหญ่ในสังคมสะสมต้นไม้แล้วล่ะก็ ผู้คนก็จะให้ความสนใจกับต้นไม้นั้นมากขึ้น สิ่งนี้เองคือการสร้างบาป สร้างนรกที่มากกว่า ในผู้ที่ได้รับการยอมรับในสังคม

เมื่อเราให้เวลา ให้ทุน ให้ชีวิตไปกับการสะสม ไปสร้างบาป เวร ภัย ให้กับตัวเอง เราก็จะต้องเสียโอกาสในการทำกุศล แทนที่เราจะเอาเวลาเหล่านั้นไปเรียนรู้สาระแท้ของชีวิต เอาไปทำประโยชน์ให้แก่ตนและผู้อื่น เอาเงินที่ใช้สะสมเหล่านั้นมาบริหารให้เกิดประโยชน์ต่อตนและผู้อื่น ใช้ชีวิตไปเพื่อตนและผู้อื่น ไม่ใช่ใช้ชีวิตเพื่อสนองกิเลสในตน หรือมีชีวิตเป็นเพียงแค่ทาสกิเลส

เมื่อเสียโอกาสสร้างกุศล และใช้เวลากับการสร้างบาปที่เกิดอกุศลในเวลาเดียวกัน ก็หมายถึงการสะสมสิ่งชั่วและละเว้นการทำดี ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เราสร้างกรรมชั่วเพิ่มมากขึ้นและใช้กรรมดีเก่าที่ทำไว้เพื่อดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขด้วยการบำเรอกิเลส

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น

แต่การสะสมที่เป็นบุญและได้กุศลนั้นมีอยู่ นั่นคือการสะสมอริยทรัพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์ทางนามธรรม ซึ่งเป็นทรัพย์ที่แท้จริงของมนุษย์ ส่วนหนึ่งสามารถเกิดได้จาก “การไม่สะสม” การได้พบสัตบุรุษ การได้ฟังสัจธรรม การปฏิบัติสัมมาอริยมรรค และทรัพย์หรือคุณสมบัติที่จะติดตัวไปตลอดกาลนานทั้งหมดนั้นคือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ธนสูตร ข้อ ๖)

– – – – – – – – – – – – – – –

27.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การสะสมว่ายากแล้ว การเลิกสะสมนั้นยากกว่า

February 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,891 views 0

การสะสมว่ายากแล้ว การเลิกสะสมนั้นยากกว่า

ในชีวิตเรานั้นตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงตอนนี้ อาจจะรู้จักแค่คำว่าสะสม ไม่ว่าจะสะสมการเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ สะสมทรัพย์สินเงินทอง สะสมสิ่งของ สะสมบ้านและรถ สะสมบริวาร สะสมบารมีชื่อเสียง สะสมความรัก สะสมความสุข ฯลฯ

เป็นเรื่องสามัญที่คนเขาทำกันทั่วไปในโลก จะว่ายากก็ยาก เพราะกว่าจะได้มาในแต่ละอย่างที่หวังไว้นั้น บางทีเอาทั้งชีวิตไปแลกก็ไม่พอ

ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ถ้ามีพลังของกิเลสเป็นตัวผลักดันแล้วล่ะก็ เราก็จะยินดีถวายชีวิตเพื่อที่จะให้ได้สิ่งเหล่านั้นมาเสพมาสะสม กิเลสจะทำให้เรายินดีเผาพลังชีวิตไปเพื่อให้ได้ความสุขที่ได้สะสมสิ่งเหล่านั้น

แต่การเลิกสะสมนั้นยากกว่าการสะสมมากนัก มีนักสะสมที่เก่งมากมาย รวบรวมของหายากมาไว้กับตัว เราสามารถเห็นนักสะสมทั้งสิ่งของ ความรู้ความสามารถ ทรัพย์สินเงินทอง สิ่งของ โลกธรรมได้ไม่ยากนัก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นโดยทั่วไปในโลก แต่เรากลับไม่สามารถหาคนที่เลิกสะสมได้ง่ายนัก

การเลิกสะสมจึงเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากในโลก ใครที่มีความรู้สึกที่อยากจะเลิกสะสม อยากสละ ไม่อยากเอามาเป็นภาระ เขาเหล่านั้นก็คือผู้พ้นภัยจากการสะสมจากสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง

การจะสะสมนั้นต้องมีกลยุทธ์ในการแสวงหา มีขั้นตอนในการหามาครอบครอง เช่นอยากรวยก็ต้องเรียนในเรื่องที่ทำรายได้สูงๆ อาชีพที่รายได้ดี มีการเติบโตเจริญก้าวหน้าที่รวดเร็วหรือถ้าอยากรวยลัดก็เล่นพนัน หวย หุ้น ถ้าระดับหยาบๆ รวยลัดและมักง่ายก็ขายของเถื่อนหรือขโมยของกันเลย

การเลิกสะสมนั้นก็ต้องมีกลยุทธ์ในการสละออกเหมือนกัน เพราะในปัจจุบันนี้ สิ่งที่คนเราสะสมล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไร้สาระและมอมเมาคน หากเราสละออกอย่างไม่มีศิลปะ สิ่งที่เราคิดว่าสละแล้วพ้นจากตัวของเราอาจจะไปก่อเวรภัยสร้างภาระให้กับคนอื่นก็ได้ การสละออกต้องใช้ปัญญาและศิลปะอย่างมาก ไม่ใช่แค่ปัดให้พ้นตัวเราเพียงอย่างเดียวแต่ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย

ตอนที่เราสะสมมันจะมีกิเลสมาสร้างสุขลวงให้ แต่ตอนที่เราเลิกสะสมแล้วมันจะไม่มีกิเลสตัวเดิมนั้น ไม่มีความรู้สึกอะไรให้อยากเก็บไว้ ดังนั้นสิ่งที่เก็บสะสมไว้ก็จะกลายเป็นภาระทันที แต่เรามักจะไม่สามารถโยนภาระออกไปทันทีได้ เพราะวิบากบาปที่เราสะสมมาจะทำให้เราสลัดออกได้ไม่ง่ายนัก เราจึงต้องเรียนรู้การสละออกอย่างไม่ให้เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น

ซึ่งการสละออกอย่างไม่เป็นโทษ นั้นยากกว่าการแสวงหาและสะสมมากนั้น ต้องมีศิลปะและชั้นเชิงอย่างมากเพราะต้องรักษาความเป็นกุศลไว้ ส่วนการสะสมนั้นไปในทางอกุศลอยู่แล้ว จะมากจะน้อยก็อกุศลอยู่ดี ดังนั้นทุกวันนี้จึงมีผู้รู้ทั้งหลายออกมาเผยแพร่วิธีให้เป็นนักสะสมกันมากขึ้น เพราะมันไม่ต้องระวังอะไร แค่มีให้สะสมก็พอ ยิ่งสะสมได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี เป็นประโยชน์ต่อตัวเองเท่าไหร่ยิ่งดี เป็นอกุศลเท่าไหร่ก็ไม่รู้ เพราะเห็นอกุศลเป็นกุศล เห็นสิ่งชั่วเป็นสิ่งดี เหมือนเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

5.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เมื่อของสะสมกลายเป็นภาระ

October 4, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 10,318 views 6

เมื่อของสะสมกลายเป็นภาระ

เมื่อของสะสมกลายเป็นภาระ

เมื่อใช้ชีวิตกันมาจนถึงวันนี้ หลายคนก็คงจะมีของสะสมที่ตนเองรักและหลงใหลกันไม่มากก็น้อย เรามักจะใช้เวลาเสพสุขอยู่กับการสะสมรวบรวมสิ่งที่เราชอบ จนกระทั่ง….ความตายได้มาถึง

ความตายในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเสียชีวิตไปเท่านั้น แต่หมายถึงสภาพที่พรากจากความรู้สึกนั้น พรากจากสิ่งนั้น หรือกิเลสนั้นได้ตายไปจากเราก็ได้

แต่ก่อนผมเองก็เป็นคนที่ชอบสะสมของอยู่มากเหมือนกัน ที่พอจะนำมายกตัวอย่างได้ก็คงจะเป็นกระบองเพชร หรือที่เรียกกันว่า แคคตัส ผมเองเคยชอบกระบองเพชรมาก ชอบทดลองใช้วิธีต่างๆในการเลี้ยง ดูแล ผสมพันธุ์ ขยายพันธุ์ จนสร้างความรู้ใหม่ๆมากมายให้กับตัวเองและนำความรู้ไปพิมพ์บทความเผยแพร่ได้อีกด้วย

ผมเคยฝัน เคยหวังไว้ว่าวันหนึ่งจะประกอบธุรกิจด้วยกระบองเพชร และไม้ประดับชนิดอื่นๆที่ได้ศึกษามา ใช้เวลากับการขายสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญ สิ่งที่ตัวเองถนัด และสิ่งที่ตัวเองชอบ ดูไปแล้วก็เหมือนจะเป็นงานในอุดมคติ เป็นงานในฝัน เป็นงานที่ดูเหมือนจะไม่ต้องทำงานอีกเลยตลอดชีวิต เพราะทำงานอยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบ และตลาดก็มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความรู้ทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว ขาดแต่ปัจจัยคือสถานที่ปลูก

ต่อมาไม่นานนัก ชีวิตผมก็มีโอกาสศึกษาธรรมะมากขึ้น ปฏิบัติธรรมมากขึ้น จนเข้าใจชีวิตมากขึ้น ความฝันในวันวานที่พึ่งผ่านมาไม่กี่ปี กลับกลายเป็นสิ่งไร้ค่าไปในทันที ความรู้สึกรักหรือสนใจ ในการทำธุรกิจไม้ประดับนั้นค่อยๆ จางคลาย ถอยห่างจากชีวิตผมไปอย่างช้าๆ จนกระทั่งความรู้สึกยินดีในธุรกิจเหล่านั้นได้ตายลงอย่างสนิท ผมไม่มีความรู้สึกอยากจะขายต้นไม้อีกเลยแม้ว่าในตอนนี้ผมจะได้รับพื้นที่ปลูกที่กว้างใหญ่ แต่ผมกลับเลือก…ที่จะไม่ทำสิ่งนั้นอีก

…แล้วต้นไม้ที่เพาะไว้มากมายทำอย่างไร…

เมื่อความอยากนั้นได้จางคลายและตายจากไป สิ่งที่เคยสะสมไว้กลับกลายเป็นภาระในที่สุด จากที่เคยเป็นของมีค่า แต่ตอนนี้กลับไร้ค่าในสายตาของผม ปริมาณของมันมากเหลือเกิน ผมปล่อยมันตายไปตามธรรมชาติบ้าง เอาไปขายแบบลดแลกแจกแถมบ้าง เอาไปทำปุ๋ยบ้าง เอาไปปลูกที่ต่างจังหวัดบ้าง หาวิธีให้มันกระจายออกจากบ้านที่กรุงเทพฯเพื่อที่จะให้ภาระนี้ได้หมดไป

การกำจัดภาระนี้กลายเป็นเรื่องยาก เพราะถ้าแจกแบบไม่ดูตาม้าตาเรือก็จะกลายเป็นการเพิ่มกิเลสให้คนอื่น จะขายก็ลำบากลำบน เพราะใจมันไม่เอาแล้ว ใจมันไม่ได้รักเหมือนก่อน ทำไปก็มีแต่ความรู้สึกทุกข์ที่เกิดจากการกำจัดภาระเหล่านี้ กว่าที่ผมจะคิดวิธีแจกจ่ายออกไปได้อย่างเหมาะสมก็ใช้เวลาหลายเดือน

ความรู้สึกมันเหมือนกับคนที่หมดรัก ให้ดีอย่างไร แม้จะเคยชอบ เคยหลงอย่างไรก็ไม่เอาแล้ว แต่ก่อนมันหลงด้วยกิเลส แต่ตอนนี้กิเลสมันจางหาย และตายลงไป พอเห็นความจริงตามความเป็นจริงก็เลยรักมันไม่ลง เพราะรู้แล้วว่ายิ่งทำ ยิ่งเก็บ ยิ่งสะสม ปล่อยไว้ต่อไปก็จะกลายเป็นภาระ เป็นโทษ เป็นภัยกับตัวเองมากขึ้น

กระบองเพชรได้เข้ามาสอนให้ผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง หลายขั้นตอนเป็นงานที่ละเอียด เช่นการต่อกิ่ง ซึ่งทำให้ผมได้พัฒนาทั้งสมาธิ และวิธีการคิดว่าควรจะทำอย่างไร การรู้จักกับกระบองเพชรนั้นทำให้ผมเป็นคนละเอียด รอบคอบ และประณีตขึ้นมาก

แต่ในตอนสุดท้าย ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงแค่การเรียนรู้ครั้งหนึ่งในชีวิตเท่านั้น หลังจากนี้เราก็จะได้เรียนรู้อีกสิ่งคือวิธีการปลดเปลื้องภาระนี้ออกไป เราเรียนรู้ที่จะสะสมจนกระทั่งเลิกที่จะสะสมและแจกจ่ายมันออกไป แต่ผมก็ยังมีความรู้ที่สามารถแจกจ่ายออกไปได้ถ้าใครสนใจ แต่ถ้าจะให้เลือก ผมก็อยากจะเลือกที่จะไม่พูดดีกว่า เพราะความรู้เหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พ้นทุกข์ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์เลย

การสะสมมีแต่จะสร้างภาระ สร้างทุกข์ให้กับชีวิต ไม่ว่าเราจะสะสมอะไรก็ตาม เราต้องลำบากหามันมา ลำบากบริหารมัน ลำบากในการรักษามันไว้ แถมยังต้องเอาเวลาในชีวิตไปเสียให้กับสิ่งนั้น ไม่ว่าเราจะสะสมเงิน หนังสือ ต้นไม้ ของเล่น ตุ๊กตา หุ้น ฯลฯ หรือแม้แต่ความรู้ที่ไม่ได้พาพ้นทุกข์ ที่ยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งพาให้หลงมัวเมา ยิ่งพาให้สะสมกิเลส นอกจากจะเป็นภาระแล้วยังเป็นภัยอีกด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการสะสมเชิงรูปธรรมหรือนามธรรมก็เป็นภาระให้กับชีวิตของเราได้

แต่ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราจะเห็นสิ่งนั้นเป็นภาระหรือไม่ เห็นมันเป็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่อชีวิตหรือไม่ ถ้าเรายังมอมเมาตัวเองไปด้วยความอยาก ยอมปิดตาเพื่อที่จะได้เสพสมใจกับสิ่งที่เราสะสม เราจะไม่มีวันเห็นมันเป็นภาระเลย

และถ้าหากวันใดที่เราได้ลองเรียนรู้เกี่ยวกับความอยากของตัวเอง ได้รู้จักกิเลสของตัวเอง ได้ขุดค้นไปถึงรากของกิเลสของตัวเองและเรียนรู้ที่จะลด ละ เลิกที่จะครอบครองกิเลสนั้น หรือฆ่ากิเลสเหล่านั้นเสีย เราก็มีสิทธิ์ที่จะเห็นบางสิ่งตามความเป็นจริง เห็นและเข้าใจมันอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เห็นถึงคุณค่าในการมีอยู่ของมันโดยที่ไม่ได้รักเหมือนก่อน แต่ก็ไม่ได้เกลียดหรือผลักไสสิ่งนั้น

สุดท้ายเราจะพิจารณาได้เองว่าการสะสมหรือครอบครองสิ่งเหล่านั้น เป็นกุศลหรืออกุศล เป็นความสุขแท้หรือความสุขลวงๆ เป็นสิ่งที่โลกมอมเมาพาให้หลงหรือเป็นสาระแท้ในชีวิตที่ควรยึดอาศัย เราจะสามารถเลือกได้ตามความเป็นจริง ใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไม่มีอคติหรือลำเอียง ไม่ชอบไม่ชัง ไม่รักไม่เกลียด

เมื่อถึงภาวะนี้แล้วก็จะรู้เองว่าสิ่งใดคือ…ภาระ

– – – – – – – – – – – – – – –

3.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์