Tag: วิบากกรรม

ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง

August 31, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,376 views 0

 

ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง

ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง

คงจะมีหลายครั้งหลายเหตุการณ์ในชีวิต ที่เราหมายมั่นตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อเราลงมือทำบางสิ่งลงไปแล้ว สิ่งนั้นจะเปลี่ยนแปลง พัฒนาไปตามที่เราคาดหวังไว้ แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น กลายเป็นเหมือนกับว่าเราพยายามที่ทำให้น้ำทะเลจืด พยายามทำไปอยู่อย่างนั้นโดยไม่เข้าใจความเป็นจริง…

อาจจะเพราะทำกรรมอะไรเอาไว้…

คงจะเหมือนกันกับตอนที่เรายังเป็นเด็ก พ่อแม่ของสอนสั่ง แนะนำสิ่งที่ดีให้กับเรา แต่เราก็ยังจะดื้อ ไม่ทำตาม ไม่เชื่อฟังในสิ่งที่ดี ก็จะเอาแต่สิ่งที่กิเลสของตัวเองต้องการ จนถึงเวลาที่ผลของกรรมสุกงอม เราจึงได้รับผลของกรรมนั้น พ่อแม่อาจจะไม่ได้มาดื้อกับเราเหมือนที่เราไปดื้อกับท่านก็ได้ แต่อาจจะส่งคนบางคน สิ่งบางสิ่ง เหตุการณ์บางเหตุการณ์ ที่ทำให้เราต้องทุกข์กับความดื้อรั้น เอาแต่ใจของสิ่งๆนั้น ซึ่งอาจจะมาในรูปของ คนในครอบครัว คนรัก เพื่อน ลูกน้อง สิ่งของ หรือเหตุการณ์อื่นๆก็ได้เหมือนกัน เป็นอะไรก็ได้ เดาไปก็ไม่ถูก แต่เมื่อเวลาถูกกระทำกลับก็จะสามารถรับรู้ได้ด้วยตัวเองได้บ้าง

ขึ้นชื่อว่ากรรมแล้ว ไม่มีทางผ่านพ้นไปโดยที่เราไม่ได้รับผลนั้นอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าชาตินี้เราไปทำกับใครไว้ ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะไม่ได้รับ เราได้สิทธิ์นั้นแน่นอน แล้วกรรมเขายังใจดีแบ่งให้เรารับไปในชาติหน้า และชาติอื่นๆสืบไปด้วย จึงเรียกได้ว่า การทำกรรมดีหรือกรรมชั่วครั้งเดียว ก็สามารถนอนรอรับผลกันได้จนคุ้มข้ามชาติกันเลย

ในเวลาที่เหมาะสม กรรมก็จะดึงคู่เวรคู่กรรมของเราเข้ามา หรือที่ใครหลายๆคนอาจจะเรียกว่าเนื้อคู่ก็ได้ เป็นคนที่ทำให้เราสุขหรือทุกข์ได้รุนแรงกว่าคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น ในเหตุการณ์แบบเดียวกัน คนทั่วไปทำอะไรกับเราแบบหนึ่ง เราไม่ถือสา แต่พอเป็นคนนี้ทำกับเรา เรากลับถือสา คิดมาก ถ้าเป็นเชิงคู่รักที่เคยเสพสมกิเลสร่วมกันมา ก็จะมีลักษณะเป็นเหมือนเหตุการณ์ที่คนอื่นเขาจีบเราแทบตาย เราไม่สนใจ แต่คนนี้พูดไม่กี่ประโยค เรากลับหลงใหล ลักษณะแบบนี้แหละที่เรียกว่าตัวเวรตัวกรรม เจอแล้วก็ให้พึงระวังตั้งสติกันไว้ดีๆ เพราะกรรมจะลากเขาเหล่านั้นเข้ามาใช้เวรใช้กรรมด้วยกันต่อ อาจจะเป็นคนมาร่วมรัก คนที่ได้รักแค่ฝ่ายเดียว คนที่เข้ามารัก หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือคนใดๆที่มีจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตของเราก็ได้

กรรมส่วนหนึ่งก็มาจากกิเลสของเรานี่แหละ ด้วยความที่เราอยากจะสนองกิเลสของเรา ก็เลยไปทำสิ่งที่ไม่ถูกใจใครหลายๆคนไว้มาก เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม กรรมเหล่านั้นก็จะส่งผลมาเป็นเหตุการณ์ที่พาให้ขัดใจเรา ทำให้เราทุกข์ แต่เราก็ไม่สามารถหนีออกไปได้ เรายังต้องวนอยู่กับทุกข์เหล่านั้นโดยไม่เห็นทางออก แม้จะมีคนมาบอกแนะนำ เราก็จะไม่ฟัง ถึงฟังก็ไม่เข้าใจ จนบางครั้งพาลไปสร้างกรรมใหม่ ไม่พอใจคนที่หวังดี ไม่พอใจคนที่มาแนะนำทางออกให้เราด้วย ซึ่งเป็นธรรมดาของคนที่หลงในกิเลส เมื่อเวลาที่มีคนมาพูดขัดใจ ขัดกับกิเลสของเรา เราก็มักจะไม่พอใจ ไม่สนใจ ด้วยเหตุนั้นเราก็เลยต้องทนทุกข์ไปจนกว่าจะรับวิบากกรรมชุดนั้นหมด

กรรมที่เราได้รับนั้น เป็นเพียงภาพเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เราเห็นสิ่งที่เราได้ทำมา ที่เราเคยทำชั่วมาตั้งแต่ชาติไหนๆก็ตาม เป็นสิ่งที่เราต้องรับเพราะเราทำมา แต่โลกก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น เรายังสามารถทำกุศล เพื่อที่จะละลาย ลด บรรเทาอกุศล หรือความทุกข์ โทษ ภัย ที่เกิดขึ้นได้ …หากยังรู้สึกทุกข์ มืดมัว ปวดหัว หาทางไปไม่เจอ ก็ให้ทำดีมากๆ ทำดีไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาหมดวิบากกรรมชุดนั้นๆ ก็จะมีเหตุการณ์ที่พาหลุดจากสภาพนั้นเอง อาจจะเกิดปัญญาเข้าใจก็ได้ หรือเขาอาจจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ก็ได้ จะเป็นอะไรก็ได้ แต่จะพ้นจากสภาพของทุกข์ที่เคยแบกเอาไว้

ดังนั้นการล้างกรรมที่ดีที่สุด ก็คือการล้างกิเลส เพราะเมื่อเราหมดกิเลสนั้นๆ เราก็จะไม่สร้างวิบากบาปต่อไปอีก และกุศลยังสามารถไปละลายวิบากบาปที่เคยทำในอดีตให้เบาบางได้อีกด้วย เรียกว่าปิดประตูนรกกันไปเลย

เมื่อเราจมอยู่กับความคาดหวัง ฝนลมๆแล้งๆ….

ความคาดหวังกับความผิดหวังเป็นของคู่กัน คงเพราะเรามีความฝัน อุดมคติ ความมั่นใจ ความยึดดีถือดี ว่าสิ่งดีจะต้องเกิดเมื่อเราคิดดีพูดดีทำดี แต่ในความเป็นจริง ดีนั้นอาจจะไม่เกิดก็ได้ เมื่อดีไม่เกิดสมใจ คนติดดีก็เลยเป็นทุกข์ บางคนก็ถึงกับฝันลมๆแล้งๆ หลอกตัวเองไปวันๆว่าสิ่งที่ดีจะต้องเกิด โดยไม่ได้เข้าใจเหตุปัจจัยที่ทำให้ดีนั้นเกิด เหมือนคนที่เฝ้าฝันว่าวันหนึ่งจะสร้างชีวิตให้ยิ่งใหญ่ แต่ก็ยังมัวแต่นอนฝันอยู่บนเตียง

การที่เราไปเฝ้าฝันให้เขาหรือใครเปลี่ยนนั้น เป็นการเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากเรื่องกรรมที่ถูกที่ควร เพราะการที่เขาจะเปลี่ยนได้นั้น จะเกิดจากกรรมของเขาเอง ไม่ได้เกิดจากการที่เราคิดหวัง ฝันไป หรือจะไปบอกให้เขาแก้ไข ไปช่วยเขาแก้ไข โดยมีความคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าเขาจะแก้ไขเพราะเขาก็มีกรรมของเขา เขาก็เป็นอย่างนั้น เราจะอยากให้เขาเป็นอย่างที่เราหวัง เราก็จะผิดหวัง แล้วเราก็ทุกข์ เหมือนอย่างที่หลวงพ่อชาท่านได้สอนไว้ว่า เราอยากให้เป็ดมันเป็นไก่ มันก็ทุกข์ เพราะเป็ดมันก็เป็นเป็ด มันจะเป็นไก่ตามใจเราไปไม่ได้

จะไปแก้เขานี่มันยาก ลองกลับมาแก้ตัวเราก่อนดีไหม…

เมื่อเราไม่สามารถทำให้เขาเปลี่ยนแปลงได้ เราก็จะลองกลับมาแก้ตัวเองกันดู เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่ฝืนธรรมชาติ หรือฝืนกิเลสของตัวเองนั้น มันยากขนาดไหน เรามาลองปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆในชีวิตกันดู เช่น ตื่นให้เช้าขึ้น ,นอนให้พอดี ,ศึกษาแต่สาระหรือสิ่งที่มีประโยชน์ ,กินแต่สิ่งที่มีประโยชน์ , ทำงานบ้านเป็นประจำ, เลิกสิ่งฟุ่มเฟือย, เลิกสิ่งที่ทำให้หลงมึนเมา ในแบบหยาบๆ ก็คือ เหล้า เบียร์ ยาเสพติด ฯลฯ หรือจะขยับขึ้นมาก็เลิกหลงเมามายในสิ่งที่หลงอยู่เช่น ชอบฟังเพลง ชอบดูกีฬา ชอบเล่นพนันชอบดูละคร ชอบเที่ยวกลางคืน ชอบไปตระเวนกินของอร่อย บ้าดารา ฯลฯ,,,

ถ้ายังรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงโดยลดสิ่งไร้สาระพวกนี้มันง่ายไป ก็ลองถือศีล ๕ ดู และยกระดับของศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น ศีล ๘ ศีล ๑๐ ไปจนถึงนำจุลศีลบางข้อที่พอจะปฏิบัติได้มาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะศีลเหล่านี้เป็นไปเพื่อความสุข เพื่อการพ้นทุกข์ เป็นสิ่งที่ดีเลิศ เป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดที่สุดในโลก

แล้วเราก็จะเห็นว่า…เป็นอย่างไรล่ะ เราเองก็ยังเปลี่ยนแปลงไปทำสิ่งที่ดีไม่ได้เลย ถึงแม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ดี แต่ความคิดหรือกิเลสข้างในมันจะค้านแย้งตลอดเวลา มีหลายๆเหตุผลที่เราจะไม่ยอมทำดี เช่น ก็แค่อยากเป็นคนธรรมดาที่มีความสุข , ไม่ได้เคร่งขนาดนั้น , แค่อยากมีชีวิตที่ดี ….ฯลฯ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั่นแหละ เป็นวิธีปฏิบัติสู่ชีวิตที่ดี ที่เราเองก็ทำไม่ได้แถมยังปฏิเสธ พร้อมทั้งหาเหตุผลมากมายที่จะไม่ทำดีเหมือนกัน

จะเห็นว่าการจะแก้ตัวเรานี่ยังทำได้ยากเลย จะทำตัวเราให้เป็นคนดีว่ายากแล้ว การไปแก้คนอื่นนั้นยากกว่า เพราะการจะไปแก้คนอื่นหรือไปสั่งสอน ไปแนะนำคนอื่นนั้น จำเป็นต้องทำตัวเองให้เรียนรู้และเข้าใจในเรื่องนั้นๆอย่างถ่องแท้เสียก่อน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน แล้วสอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง” เข้าใจกันง่ายๆว่า ทำตัวเองให้ได้ก่อนเถอะ แล้วค่อยไปสอนคนอื่น

เมื่อเห็นดังนี้แล้วว่า ต้องทำตัวเองให้ดีก่อน จึงจะสามารถช่วยคนอื่นได้ เราก็พยายามทำตัวให้ดี ลดอบายมุข หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสไปเรื่อยๆเมื่อเราทำดีมากๆ เวลามีคนที่เขามาทำสิ่งไม่ดีกับเรา เขาก็จะได้รับวิบากกรรมแรงกว่าทำสิ่งไม่ดีกับเราในสมัยเมื่อเรายังชั่วอยู่ เมื่อได้รับวิบากกรรมแรง ก็จะเกิดทุกข์แรง เมื่อเกิดทุกข์แรง ก็จะสามารถเข้าใจได้เร็ว ดังคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

ดังนั้น การที่เราพยายามทำดี ประพฤติตัวเป็นคนดี ก็เพื่อที่จะช่วยเขาทางอ้อม คือเร่งให้เขาได้รับ ทุกข์ โทษ ภัย จากการที่เขายังยึดมั่นในสิ่งไม่ดีให้เร็วขึ้น จะได้เห็นทุกข์ เข้าใจทุกข์ เลิกทำชั่วให้เกิดทุกข์ จะได้พ้นทุกข์ได้ไวขึ้น จากที่เคยต้องจมอยู่หลายปี ถ้าเราทำดีมากๆ เขาอาจจะหลุดจากสภาพดื้อรั้นนั้นได้ในเวลาไม่กี่เดือน โดยเฉพาะคนที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เช่น คนในครอบครัว คนรัก เพื่อนร่วมงาน คนที่มีความสัมพันธ์ในชีวิตกับเรามากๆ จะได้รับผลกระทบนี้โดยตรง

จนผู้ที่ได้ทดลองทำดีสามารถเห็นผลได้ด้วยตัวเองว่า เมื่อเราเปลี่ยน ทุกคนก็จะเปลี่ยนตาม โดยที่แทบจะไม่ต้องพูด บอกกล่าว ชี้แจง แถลง บังคับใดๆ กับคนเหล่านั้นเลย เขาจะเห็นดีตามเรา และเกิดศรัทธาจนเขาอาจจะทดลองที่จะเปลี่ยนตามเราดูบ้าง หรือในบางกรณี คนที่ร้ายกับเราก็อาจจะหลุดพ้นชีวิตเราไปเลยก็ได้ เพราะเราได้ใช้วิบากบาปที่ต้องมาทนใช้กรรมร่วมกันนั้นหมดไปแล้ว เมื่อเขาเองไม่คิดจะร่วมกุศลกับเรา เขาก็จะไปตามทางที่กิเลสเขาชี้นำ ในส่วนนี้ถ้าช่วยเขาได้ก็ช่วยไป ถ้าช่วยไม่ได้ก็ปล่อยเขาไป

แต่ถ้าเราคิดว่าเราทำดีแล้วไม่เกิดดี นั่นก็เพราะว่าเรายังทำดีไม่มากพอ ก็ให้พยายามทำดีไปเรื่อยๆ อย่าไปหวังผล วันหนึ่งจะพบการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเอง กรรมจะจัดสรรช่องให้เราออกไปพบสิ่งที่ดี มีสิ่งดีในชีวิตเข้ามา แม้แต่คนรอบข้างก็อาจจะเปลี่ยนไปเพราะพลังแห่งความดี หรือกุศลที่เราทำมานั่นเอง

หรือในอีกกรณีคือการทำดีที่ไม่เข้าใจถึงผลแห่งความดี คือทำดีในความเข้าใจที่โลกเข้าใจ แต่ผิดไปจากทางของพุทธ คือผิดสัมมาทิฏฐิ เมื่อผิดไปจากความคิดเห็น ความเข้าใจ ความเชื่อที่ถูกที่ควร ก็มีแต่จะพาไปนรกเท่านั้น กลายเป็นดีที่ทำไปนั้น ไม่ได้ดีตามจริง เพียงแค่เป็นดีที่เขาบอกกันมา แต่ไม่ใช่สาระแท้ ไม่ได้พาพ้นทุกข์ ไม่ได้พาลดกิเลส จึงมีกุศลเพียงน้อยนิด หรือบางทีก็อาจจะกลายเป็น “ทำบุญได้บาป” มาแทนก็เป็นได้

ดังนั้น ในเรื่องของความดี จำเป็นต้องศึกษาจากผู้รู้ มีเพื่อนที่คอยช่วยแนะนำในทางที่ถูกที่ควร เพราะความดีที่ถูกตามหลักของพุทธนั้น จะคิดเอาเองไม่ได้ เข้าใจเองไม่ได้ ต้องมีผู้รู้มีแสดงให้เห็นเท่านั้น เป็นสัจจะของพระพุทธเจ้าว่า ถ้าคนจะบรรลุธรรม หรือจะปฏิบัติชีวิตไปสู่การพ้นทุกข์ ต้องคบหาสัตบุรุษเสียก่อน สัตบุรุษก็คือบัณฑิตที่มีสัจจะแท้ มีธรรมนั้นๆในตัวเอง ปฏิบัติจนเข้าใจแจ่มแจ้ง รู้จริงเรื่องกิเลส เกิดปัญญารู้แจ้งในตัวเอง แล้วจึงสามารถถ่ายทอด สอน แนะนำ คนอื่นได้

– – – – – – – – – – – – – – –

31.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ก่อนที่เราจะต้องจากกัน

August 26, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,840 views 1

ก่อนที่เราจะต้องจากกัน

ก่อนที่เราจะต้องจากกัน

เคยลองคิดกันบ้างไหมว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของเรา เรายังจะอยากทำอะไร อยากพูดอะไร กับใครบ้าง…

ส่วนใหญ่ก่อนที่เราหรือใครสักคนจะจากไปนั้น ไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรมอะไรสักเท่าไหร่หรอก อย่างดีก็คงจะมีโอกาสได้แค่พูดกันบ้าง หรือได้แค่มองตากันโดยไม่สามารถจะพูดอะไรได้ ในวันนี้เราคิดว่าวันเหล่านั้นช่างดูห่างไกล แต่ที่จริงคนเราสามารถตายกันได้ตลอดเวลา ไม่มีใครรู้ว่าวิบากกรรมจะมาพรากความปกติของเราไปเมื่อไหร่

ก่อนที่ฉันจะต้องจากไป…

เมื่อถึงเวลาของเรา เพียงแค่ได้ลองจินตนาการไปถึงวาระสุดท้ายที่น่าจะสวยงามที่สุด และมีโอกาสมากที่สุดในการสื่อสาร ก็คือเจ็บป่วยและค่อยๆตายจากไป ก็จะสามารถสร้างความน่าสลดหดหู่ให้เกิดขึ้นในจิตใจได้มากพอสมควร ไม่มีใครที่ไม่จากไป ไม่มีใครอยู่ยั่งยืน เพียงแค่เราเองไม่เคยคิดจินตนาการ ออกแบบภาพความตายของเราไว้เท่านั้นเอง

เมื่อเราถึงคิดถึงวาระสุดท้าย ความอยาก ความขับข้องใจ ความคาดหวัง ฯลฯ จะวิ่งเข้ามาหาอย่างเต็มที่ เราจะสามารถฝึกซ้อมที่จะสั่งเสียได้จากการฝึกพิจารณาความตายเหล่านี้ แต่จริงๆแล้วเสน่ห์ของการพิจารณาความตายไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะสั่งเสียหรือสื่อสารอะไร ยังไง กับใคร แต่อยู่ที่ว่า “ทำไม”…เราจึงอยากบอก อยากจะสื่อสาร หรืออยากจะทำสิ่งเหล่านั้น

การพิจารณาความตายจะทำให้เราสามารถเห็นกิเลสลึกๆที่ยังผลักดันเราอยู่ ว่าจริงๆในชีวิตของเรายังขาด อยากได้อยากมีอะไร ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ในการแก้ไขปัจจุบันที่ยังบกพร่องอยู่นั่นเอง

ก่อนที่เราจะต้องจากกัน…

ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตกันอยู่โดยเชื่อว่า พรุ่งนี้ฉันจะก็จะเจอคนอื่นๆเหมือนทุกวัน เจอพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน คนรัก เหมือนทุกๆวัน โดยไม่ได้ฉุกคิดว่ามันอาจจะไม่มีพรุ่งนี้สำหรับเราและเขาก็ได้นะ

เรื่องราว ความฝัน อนาคต หลายสิ่งอีกมากมายที่เราคิดว่าจะทำร่วมกัน จะถูกทำลายลงในพริบตา ทันทีที่อีกฝ่ายจากไป สิ่งที่เราคิดว่ามันน่าจะมี กลับไม่มีอีกต่อไป เมื่อทุกอย่างจบอย่างไม่สวยงามเหมือนภาพในฝัน ความจริงได้พรากคนที่รัก คนที่ใกล้ชิด คนที่เราชัง จากไปก่อนที่เราจะได้ทำสิ่งที่ดี ได้แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดเสมอ

เรามักจะเห็นภาพคนที่คิดจะทำดีเมื่อสายไปแล้ว นั่นเพราะเขาไม่ได้ตระหนักถึงความไม่แน่นอน ประมาทในกาลเวลา ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไปจนไม่ได้ทำหน้าที่ หรือบางสิ่งที่ควรจะทำ

ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าใจความไม่แน่นอน คือการพลัดพรากก่อนเวลาที่เราคิดว่าสมควรได้ บางคนประสบพบเห็น และเรียนรู้กับเหตุการณ์สูญเสียอยู่มากมาย แต่กลับไม่สามารถทำใจยอมรับได้เมื่อเสียสิ่งที่ตนรักไป นั่นก็เพราะไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วเรากำลังยึดมั่นถือมั่นอะไร การที่เราไม่รู้สึกอะไรกับการสูญเสียบางอย่าง เช่น คนรู้จักตายไปเราก็เฉยๆ แต่เมื่อคนที่รักตายกลับเศร้าโศกเสียใจนั่นก็เพราะเรามีความยึดมั่นว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของตนต่างกัน

แล้วทำไมเราต้องยึดมั่นสิ่งเหล่านั้นด้วย เพราะเราเห็นว่า คนนั้นเป็นพ่อแม่ของเรา คนนั้นเป็นญาติของเรา คนนั้นเป็นเพื่อนของเรา คนนั้นเป็นคนรักของเรา เรายึดสิ่งนั้นเป็นของตัวเองทั้งที่เขาไม่ใช่ของเรา เขาก็มีกรรมของเขา มีเวลาที่จำกัดของเขา ไม่มีใครหรืออะไรมาพรากเขาไปนอกจากกรรมของเขาเอง การที่เขาเกิดมาและตายจากไปมันก็เป็นเรื่องของเขา

ส่วนเรื่องของเราก็คือ เราทำหน้าที่ของเราให้ดีหรือยัง เราเป็นลูก เป็นพ่อแม่ เป็นญาติ เป็นเพื่อน เป็นคนรักที่ดีแล้วหรือยัง? ให้เราเฝ้าถามตัวเองซ้ำๆว่าเราทำหน้าที่ดีพอหรือยัง? พิจารณาในใจตัวเองให้เห็นกระทั่งว่า ถึงแม้จะไม่มีพรุ่งนี้สำหรับฉันและเขาแล้ว ก็จะไม่เสียใจ เพราะสิ่งที่ทำลงไปนั้น ได้ทำดีที่สุดแล้ว ได้ทำเต็มที่แล้ว เหมาะสมที่สุดแล้ว

เมื่อเราซ้อมที่จะพลัดพรากได้อย่างนี้บ่อยๆ เราก็จะค่อยๆคลายความรัก หลง ชอบ เกลียด ชัง ฯลฯ เหล่านี้ลงไป เป็นการทำให้ความหลงผิดยึดมั่นถือมั่น ตายก่อนที่เราหรือเขาจะตายไป เมื่อเราทำลายหรือปลดเปลื้องความยึดมั่นถือมั่น หรืออัตตาเหล่านั้นแล้ว ก็จะพบว่าทำให้เราสามารถใช้ชีวิตปัจจุบันให้มีความสุขมากขึ้น

เราพิจารณาความตาย เพื่อให้ปัจจุบันของเรามีคุณค่ามากขึ้น ทำสิ่งที่มีประโยชน์มากขึ้น ไม่ใช่เพื่อความเศร้าสลดสังเวชใจเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –
26.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม

August 9, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,897 views 0

มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม

มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม

หลายคนคงจะสงสัยว่าการกินมังสวิรัติเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมอย่างไร? จะเรียกว่าการถือศีลได้อย่างไร? แค่เมตตาสัตว์ละเว้นสัตว์ก็สามารถกินมังสวิรัติได้แล้วไม่ใช่หรือ?

ความเมตตา…

การกินมังสวิรัติไม่ได้เป็นเรื่องของความเมตตาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการปฏิบัติเพื่อ ลด ละ เลิก กิเลสได้อีกด้วย และในกระบวนการลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์หรือล้างกิเลสนั้นจำเป็นต้องนำความเมตตามาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาร่วมด้วย ดังนั้นการมุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสไม่ใช่ว่าไม่เมตตา ไม่รักสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่ในความเป็นจริงคือยิ่งต้องเมตตาให้มาก เมตตาทั้งสัตว์และคนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ เมตตากับกับทุกชีวิตกันเลยทีเดียว

ศีลมังสวิรัติ…

แล้วมังสวิรัติจะเรียกว่าศีลได้อย่างไร มีหลายคนที่ไม่ได้คิดว่าการกินมังสวิรัติคือศีล มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ศีลคือการละเว้นจากสิ่งที่เป็นภัย การตั้งศีลกินมังสวิรัติ คือ เว้นจากภัยที่จะเกิดจากการกินเนื้อเช่น เรื่องสุขภาพ ,วิบากกรรมที่ไปมีส่วนร่วมในการฆ่า ,ความทุกข์จากการที่ไม่ได้เสพเนื้อสัตว์สมใจ ดังนั้นการตั้งศีลกินมังสวิรัติ ก็เพื่อการละเว้นสิ่งที่เป็นภัยเหล่านี้นั่นเอง

ถ้าจะบอกว่าไม่มีในศีลที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เรามาลองดูศีลข้อ ๑ คือ ปาณาติปาตา เวรมณี คือเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แม้ว่าเราจะไม่ได้ฆ่าสัตว์โดยตรง แต่การกินเนื้อสัตว์ของเราก็ยังมีส่วนไปตัดชีวิต คือทำให้ชีวิตสัตว์อื่นตกร่วงอยู่นั่นเอง ถ้าเราไม่เสพเนื้อสัตว์มันก็ยังไม่ตาย การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเป็นการผิดศีลข้อ ๑ ในขั้นละเอียดขึ้นมามากกว่าการยึดถือปฏิบัติตามความเข้าใจของคนทั่วไป เป็นการปฏิบัติอธิศีล คือการขยับฐานของการละเว้นสิ่งที่เป็นภัยให้มากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ปลาเป็นในตู้ที่ร้านอาหาร ทางร้านแนะนำเมนูปลา ปลาสด ปลาอร่อย เราก็สั่งปลามากิน เราไม่ได้ฆ่านะ แต่เราไปสั่งให้เขาไปฆ่ามาให้เรา ผิดเต็มประตูอยู่แล้ว ถ้าไม่สั่งปลามากิน ปลามันก็ยังมีชีวิตได้ต่อไปอีกตามกรรมของมัน ถ้ายกตัวอย่างไปถึงปลาที่ตายมาแล้ว ชำแหละมาแล้ว นั่นเขาก็ฆ่ามาทั้งนั้น เขาก็ฆ่ามาตามอุปสงค์ อุปทาน มีคนซื้อเขาก็ฆ่ามาขายสิ ถ้าไม่มีคนซื้อ เขาก็ไม่รู้จะฆ่าให้เมื่อยทำไม

มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม…

คงเป็นประเด็นที่มีคนสงสัยมากที่สุด คือมังสวิรัติมันเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมอย่างไร? ภาพของการปฏิบัติธรรมที่มีในใจของหลายๆคนคือ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม นุ่งขาวห่มขาว ถือศีล ๘ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่จะเข้าใจ

อย่างที่ยกตัวอย่างในเรื่องของศีลมังสวิรัติ ศีลนี้แหละจะเป็นตัวทำให้เห็นกิเลส เป็นตัวทำให้เห็นผีในตัวเรา ลองตั้งศีลนี้ขึ้นมาดูจะพบว่ากิเลสจะดิ้น ความอยากกินจะชัดเจน กิเลสจะให้เหตุผลมากมายในการทำลายการถือศีลนี้ เช่น…ไปกินเนื้อสัตว์สิไม่มีใครรู้หรอก,เกิดมาครั้งเดียวกินให้เต็มที่,เขาเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา,เรากินสัตว์เขาก็จะได้บุญนะ,เรากินเขาก็ยินดีนะ,ร่างกายเราต้องการสารอาหารนะ ….นี่ก็เป็นตัวอย่างคำสั่งของกิเลส เมื่อเห็นกิเลสดังนี้แล้ว เราก็จะต้องพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอย่างตั้งมั่น ไม่ลดละ เป็นการปฏิบัติไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา

ทั้งหมดนี้เพื่อที่เราจะละกิเลสในสามภพ คือ ๑. กามภพ คือสภาวะที่ยังเข้าไปเสพเนื้อสัตว์อยู่ , ๒. รูปภพ คือสภาวะที่ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้วแต่ยังมีความอยากที่ชัดเจนแต่อดกลั้นไว้ได้ และ ๓. อรูปภพ คือสภาวะที่ไม่มีความอยากให้เห็นเป็นรูปร่างแล้วแต่จะเหลือแค่อาการที่เบาบาง อารมณ์ขุ่นมัว ไม่ใส ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายใจ ฯลฯ ถ้าสามารถละกิเลสจนข้ามสามภพนี้ได้ก็คือว่าประสบความสำเร็จ

ดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงจะเห็นได้ว่าการกินมังสวิรัติเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างแน่นอน เพราะการลด ละ เลิกการมีกิเลสนั้นๆ ทำให้เข้าใกล้ความสุขแท้ ดังในบทสวดมนต์ที่เราสวดมนต์กันอยู่บ่อยๆ “อะระหะโต : เป็นผู้ไกลจากกิเลส” ถ้าเราไกลจากกิเลสขึ้นอีกนิด ก็เข้าใกล้ความสุขแท้ขึ้นอีกหน่อย ถ้าไม่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมแล้วจะเรียกว่าอะไร…

– – – – – – – – – – – – – – –
9.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ยอมรับผลกรรมด้วยใจที่เป็นสุข

June 23, 2013 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,110 views 0

ระหว่างทางที่จะเดินไปสู่เป้าหมายนั้น ก็ต้องผ่านอะไรมากมาย สิ่งเหล่านั้นก็คือผลจากการกระทำของเราที่ผ่านมา ทั้งที่รู้และไม่รู้การจะไปถึงเป้าหมายโดยที่จะหลบเลี่ยงผลของการกระทำเหล่านั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย เรารู้จักกันในนามของ กรรม

เมื่อชีวิตเริ่มต้นขึ้นกรรมใหม่ก็ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของกรรมเก่าซึ่งส่งผลให้เกิดทางเลือกแห่งกรรมใหม่เรื่อยไป ในสมัยเด็กหลายคนอาจจะเคยทำสิ่งต่างๆไว้มากมาย ทั้งดีและไม่ดี สิ่งเหล่านั้นหล่อหลอมเราให้เกิดเป็นปัจจุบันขึ้นและนั่นคือผลของกรรมที่เราได้ทำไว้ โดยจะเลือกทำโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามในชีวิตทุกวันนี้เรายืนอยู่บนพื้นฐานของกรรมทั้งนั้น

การเกิดของวิบากกรรมแต่ละอย่างนั้นมีเหตุ มีผลของมันเอง ซึ่งในระดับปุถุชน ธรรมดาสามัญอย่างเราก็คงจะไม่สามารถสืบสาวสาเหตุของกรรมใดๆ ที่ไม่ได้ทำได้ เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ชาวพุทธรับรู้กันเป็นส่วนมาก แต่จะเข้าใจในระดับไหนก็เป็นอีกเรื่อง สำหรับกรรมที่รู้สึกว่าฉันไม่ได้ทำ ฉันไม่เคยทำ ผมได้ฟังครั้งแรกจากหมอเขียวด้วยประโยคที่ว่า “อย่าถามหาความยุติธรรมในชาตินี้ชาติเดียว” เพราะผลของกรรมนั้นส่งผลข้ามภพข้ามชาติ

สิ่งที่เรารับอยู่ ก็คือสิ่งที่เราทำมา จะได้ดีหรือไม่ดี ล้วนเกิดจากสิ่งที่เราทำมาทั้งสิ้น จะเกิดจากสิ่งอื่นไม่มี (หมอเขียว.เทคนิคทำใจให้หายจากโรคเร็ว,20)

ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมา ล้วนมีเหตุและผลของมันเสมอ เราจึงควรยอมรับสิ่งต่างๆที่เข้ามาด้วยใจที่เป็นสุข พึงยอมรับว่าเราเคยทำมา เพราะนอกจากยอมรับแล้ว ทางเลือกอื่นดูจะเป็นทุกข์ทั้งนั้น การยอมรับทำให้เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย เอาง่ายๆว่าทำใจได้ไวนั่นเอง

เล่าเรื่อง…

ครั้งหนึ่งที่ผมไปไหว้พระตามสถานที่ที่เขาว่าศักดิ์สิทธิ์ ปกติแล้วตั้งแต่เด็กๆผมไม่เคยขอพรหรืออธิษฐานอะไร เพราะเชื่อว่าอยากได้อะไรก็ต้องทำเอง การทำบุญไหว้พระขอพรให้ได้ตามกิเลสของตัวเองเป็นการลงทุนต่ำที่หวังกำไรมากเกินไปสักหน่อย

แต่ในครั้งนั้นคิดอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน สมัยนั้นยังไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาด้วย ผมได้ตั้งจิตขอประมาณว่า “ผมยินดีรับผลของกรรมต่างๆที่เคยทำไว้ทั้งหมด

อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญก็เป็นได้ แต่ก็เป็นสิ่งทีดีกับตัวเองเพราะผมไม่เคยมีคำถามต่อจากนั้นเลยว่าทำไมชีวิตของผมต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้แบบนั้น อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องไปทุกข์ ไปเสียเวลาหาสาเหตุ ตั้งรับด้วยใจที่เป็นสุขอย่างเดียวก็พอ ง่ายกว่าเห็นๆ

สวัสดี