Tag: วิญญาณ

พระเครื่องที่ไม่มีจิตวิญญาณ

May 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,322 views 0

พระเครื่อง หรือวัตถุที่ทำให้ระลึกถึงพระรัตนตรัย สิ่งของทั้งหมดนั้นมีค่าเท่ากัน เพราะทำให้ระลึกถึงมหาบุรุษที่เป็นที่สุดของโลกนั่นคือพระพุทธเจ้า

แม้ว่าวัตถุนั้นจะไม่มีราคาจนถึงขายกันถึงหลักหมื่นหลักล้าน แต่ก็เป็นเพียงสื่อให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ดังนั้นราคาที่เกินค่าผลิตจริงก็คือราคาของอุปาทานเท่านั้น

ในศาสนาพุทธนั้น เรานับถือพระพุทธเจ้าเป็นที่สุด ไม่มีสงฆ์สาวกองค์ใดที่จะเทียบบารมีได้ แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังเคารพนับถือสงฆ์เพราะท่านเหล่านั้นมีพระคุณต่อเรามาก มายนัก

การมีวัตถุ รูปเคารพครูบาอาจารย์นั้นมิได้มีไว้เพื่อให้เกิดโชค ลาภ หรือเสริมบารมีใดๆ แต่มีไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงแนวทางการปฏิบัติของท่าน คุณความดีของท่าน คำสั่งสอนของท่าน ฯลฯ

วัตถุใดไม่สะท้อนให้ระลึกถึงความเห็นเหล่านี้ วัตถุนั้นไม่มีค่า แต่คนใดที่มีความเห็นเหล่านี้ระลึกอยู่ในจิตวิญญาณ คนเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมีวัตถุไว้เป็นเครื่องระลึกอีกต่อไป

ความตายมิอาจพราก…กิเลสและกรรมไปจากเราได้

October 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,834 views 0

ความตายมิอาจพราก...กิเลสและกรรมไปจากเราได้

ความตายมิอาจพราก…กิเลสและกรรมไปจากเราได้

การที่ชีวิตหนึ่งต้องพบกับการจากพรากจนถึงความตายนั้น ไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดของวิญญาณดวงนั้น ความตายเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงสภาพของร่างกายอันคือภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง ซึ่งมีกรรมเป็นผู้ดลบันดาลให้เกิด

กว่าจะตาย…

ยกตัวอย่างเช่น พอเราชอบกินเนื้อสัตว์ กินอาหารปิ้งย่างมากๆ ด้วยกิเลสของเราจึงสร้างกรรมอันเบียดเบียน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้เบียดเบียนย่อมมีโรคมากและอายุสั้น คนบางพวกที่กินเนื้อสัตว์มากจึงมีการป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่นมะเร็ง นั่นคือสภาพหนึ่งของกรรมที่ส่งผล เป็นทั้งกรรมจากอดีตชาติคือกรรมจากกิเลสส่วนหนึ่ง กรรมจากผลที่ทำมาส่วนหนึ่ง และกรรมจากกิเลสที่ทำในชาตินี้อีกส่วนหนึ่งสังเคราะห์กันอย่างลงตัวจนเกิดเป็นสภาพของมะเร็ง

โรคที่เกิดขึ้นนั้นมาจาก “นาม” เข้าใจง่ายๆกันว่าอกุศลกรรม หรือพลังงาน หรือจะเข้าใจว่าบาปก็ได้ เพราะส่วนหนึ่งของการเบียดเบียนนั้นเกิดจากกิเลส เกิดจากความอยากเสพ พอมีความอยากเสพมากๆ ก็จะไม่คิดถึงศีลธรรม ไม่คิดว่าชีวิตคนอื่นหรือสัตว์อื่นต้องได้รับทุกข์ร้อนใจอะไร เพียงแค่ได้เสพสมใจตนเองเท่านั้น จึงยินดีในการเบียดเบียนผู้อื่น ยอมสร้างกรรมกิเลสนี้ได้ เพียงให้ได้มาซึ่งความสุขลวง

เมื่อผลของการกระทำหรือวิบากกรรมชั่วนั้นสะสมจนลงตัว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จึงสร้าง “รูป” ขึ้นมาให้เห็น รูปในที่นี้คือสิ่งที่เห็นได้ สัมผัสได้ รับรู้ได้ เช่น วัตถุ สิ่งของ ก้อนมะเร็ง หรือเหตุการณ์บางอย่างที่เข้ามาทำให้ร่างกายและจิตใจของเราเป็นทุกข์

แม้จะตายก็ยอมเสพ…

สังเกตได้ว่าแม้ว่าคนเราจะรู้ว่าการสูบบุหรี่จะนำมาซึ่งการเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน เหล้าและสารเสพติดจะนำมาซึ่งภัยต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ และการวิวาท หรือแม้แต่การกินเนื้อสัตว์ย่างจะมีผลให้ก่อเกิดมะเร็ง แต่เราก็ยังยินดีที่จะเสพสิ่งนั้น แม้ว่าจะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม เราก็ยังอยากจะเสพสิ่งนั้น ประมาณว่าขอตายก็ได้ เพียงแค่ให้ฉันได้เสพสมใจในสิ่งที่ฉันอยาก

มีชาวนาชาวไร่มากมายที่ต้องเสียชีวิตไปจากการสะสมของสารเคมีต่างๆในร่างกาย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะมองเห็นว่าสารเคมีเป็นโทษ หลายคนแม้ได้เห็นการตายของคนใกล้ชิดจากสารเคมีกลับมองว่าไม่ใช่เพราะสารเคมี แม้คนตายนั้นเองก็ไม่ได้โทษสารเคมีที่ใช้เลย นั้นเพราะเขามีอัตตา ยึดมั่นถือมั่นว่าสารเคมีดี สารเคมีเป็นมิตรกับเขาทำให้เขามีผลผลิตและร่ำร่วยมันไม่มีทางฆ่าเขา เห็นไหมว่ากิเลสคนเรามันรุนแรงขนาดไหน ขนาดว่ามันจะฆ่าเราตาย มันฆ่าญาติ พี่น้อง มิตร สหายของเราให้ตายไปแล้ว เรายังไม่เกลียดมันเลย

ดังนั้นความตาย หรือการพิจารณาเพียงแค่ความตายนั้นจึงไม่อาจจะนำไปล้างกิเลสได้เสมอไป เพราะบางครั้งกิเลสของเราจะหนาถึงขั้นยอมตายได้เพียงเพื่อให้ได้เสพสิ่งนั้น

เราตาย กิเลสไม่ตาย

เห็นได้เช่นนั้นว่า แม้ความตายก็ไม่อาจจะพรากกิเลสได้ และเมื่อเราตายกิเลสเหล่านั้นจะหายไปไหน?

กิเลสจะสั่งสมลงในวิญญาณ อยู่ในอุปาทาน ฝังไว้ในรากลึกๆ อยู่ในนาม อยู่ในกรรมของเรา รอวันเวลา ที่วันใดวันหนึ่งเรามีโอกาสที่จะได้ร่างกาย ก็จะนำกิเลสและกรรมส่วนหนึ่งมาสังเคราะห์ให้เกิดเป็นร่างนั้นๆ ดังเช่น ผู้ที่มักเบียดเบียนมักนำความทุกข์มาให้ผู้อื่นสัตว์อื่นชีวิตอื่น ก็มักจะมีโรคมาก

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเสพติดการกินเนื้อสัตว์มาก นอกจากจะทำให้เกิดเป็นมะเร็งที่มาคร่าชีวิตเราแล้ว ยังสามารถให้ผลเป็นร่างกายที่อ่อนแอของเราในชาตินี้ด้วย นั่นเป็นผลที่มาจากการเบียดเบียนในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน

และเท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเกิดมาเป็นสัตว์หรือมนุษย์แล้วกิเลสก็ยังมีอยู่ จึงต้องเสาะหาสิ่งที่ตัวเองอยากเสพต่อจากชาติที่แล้ว เช่นเคยเสพติดเนื้อสัตว์ พอชาตินี้ได้มากินเนื้อสัตว์ก็เสพติด แม้คนอื่นเขาจะบอกว่ามันทำให้เกิดทุกข์ โทษ ภัยอย่างไรก็ยังจะยินดีกินเนื้อสัตว์ ติดอยู่ในความอยากเสพเนื้อสัตว์ ออกไม่ได้ง่ายๆ

ต่างจากผู้ที่มีกิเลสเรื่องความอยากเสพเนื้อสัตว์เบาบางหรือล้างกิเลสแห่งความอยากเนื้อสัตว์นั้นได้แล้วเมื่อเขาได้ยินทุกข์ โทษ ภัยที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์ ก็สามารถสลัดความอยาก เลิกเสพเนื้อสัตว์นั้นได้โดยง่าย นี่คือลักษณะของความไม่มีกิเลสที่ติดมาเช่นกัน ให้สังเกตว่าเราสามารถหลุดจากสิ่งนั้นได้ง่ายหรือยาก ถ้าง่ายก็คือบุญบารมีเก่า แต่ถ้ายากแสนยากก็ให้พากเพียรกันต่อไป ผูกกิเลสมาเองก็ต้องมานั่งแก้กันเอง

แม้เราจะตาย แต่กรรมไม่ตายตามเรา

เมื่อเรามีกิเลส กิเลสก็มักจะพาเราไปเบียดเบียนผู้อื่น และผลที่ได้กลับมาคือความสุขเพียงชั่วครู่ กับกรรมที่ต้องรับไว้จากการเบียดเบียน พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเราว่า ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น

หลายคนอาจจะบอกว่าทำไมฉันต้องได้รับกรรมที่ฉันไม่เคยทำมาด้วย ชาตินี้ฉันยังไม่เคยทำใครเดือดร้อนขนาดนี้เลย!!

บางครั้ง บางเหตุการณ์ ก็อาจจะเกิดขึ้นจากผลกรรมในชาติก่อน สังเคราะห์รวมกันกับกรรมในชาตินี้ เช่นชาติก่อนเป็นคนชอบเบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น ชาตินี้ก็เลยต้องมารับกรรมด้วยร่างกายอ่อนแอ มีโรคมาก แถมในชาตินี้ก็ยังชอบกินเนื้อสัตว์ โปรดปรานเนื้อสัตว์ดิบ มักชอบเมนูสัตว์ที่สด เช่น ปลาสด ปูนึ่งสด ปลาหมึกสด กุ้งสด เมื่อกรรมเก่า รวมกับกรรมกิเลสใหม่ในชาตินี้ ก็จะสังเคราะห์ออกมาเป็นทุกข์ โทษ ภัยมากมาย อาจจะแสดงออกมาในรูปของโรคภัยไข้เจ็บ การสูญเสีย ปัญหาภาระหน้าที่การงาน หรือทุกข์ใดๆก็ได้ เพราะกรรมเป็นเรื่องอจินไตย อย่าไปเสียเวลาเดาผลของมันเลย รู้ไว้เพียงแค่ว่า เบียดเบียนคนอื่นแล้วต้องได้รับผลนั้นอย่างแน่นอน

กรรมนี้เองเป็นสมบัติที่จะติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ ใครทำอะไรไว้ก็ต้องได้รับผลจนหมด จะหนักจะเบาก็ต้องรับไว้หมด ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกรรม เพราะเมื่อเกิดขึ้นมาใหม่ก็ต้องรับผลกรรมนั้นไปเรื่อยๆ ดังเช่นในคนที่คิดเห็นว่า “ชาตินี้ฉันไม่ได้ทำชั่ว ทำไมฉันต้องรับกรรมด้วย” ก็นั่นแหละ คือกรรมเก่าของเรา เราทำมาเอง ไม่อย่างนั้นมันไม่มีทางได้รับหรอก เพราะเคยชั่วมาก็ต้องรับกรรมชั่วของเรา

คนเราเวลาได้รับกรรมดีมักจะไม่นึกย้อนว่าตัวเองเคยทำดีมา เพียงแค่คิดว่า โชคดี ลาภลอย จึงไม่ทำเหตุหรือความดีที่จะทำให้เกิดสิ่งดีในชีวิตนั้นอีก แต่พอเกิดสิ่งร้ายที่มาจากกรรมชั่ว ก็มักจะหาคนผิด หาว่าคนอื่นผิด โทษดินโทษฟ้า แต่ไม่โทษตัวเอง คนพวกนี้ก็จะทุกข์สุดทุกข์ และเมื่อมัวแต่โทษผู้อื่นก็จะไม่หยุดทำชั่ว สร้างกรรมชั่วนั้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด นั่นเพราะเขาไม่ยอมรับกรรมชั่วที่ตนเคยทำมา เมื่อไม่ยอมรับก็ทำเหมือนมองไม่เห็น โกหกว่าไม่เคยทำมา เมื่อโกหก ก็ได้ทำชั่วไปแล้ว

ดังนั้นแม้เราจะเห็นว่าคนที่ทำดีจะตายไปจากอุบัติเหตุ หรือในเวลาที่เราคิดว่าไม่สมควรทั้งหลายนั้น ให้รู้ว่าเขาได้ใช้กรรมชั่วของเขาหมดไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ความดีที่เขาทำในชาตินี้ก็จะช่วยส่งเสริมเขาในชาติต่อไป ในการเกิดครั้งต่อไป

คนชั่วก็เช่นกัน แม้เราจะเห็นว่าคนชั่วบางคนตายจากไปอย่างง่ายดาย หรือยังไม่ได้รับกรรมอันสมควรก่อนจะตาย ให้รู้ว่าเขาได้ใช้กรรมชั่วของเขาหมดไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ความชั่วที่เขาทำในชาตินี้ก็จะทำให้เขาต้องทุกข์ทรมาน แม้จะเกิดอีกกี่ครั้งเขาก็ต้องรับกรรมที่เคยเบียดเบียนผู้อื่นไว้ และรับไปจนกว่าจะหมดกรรมนั้นๆ

เมื่อเห็นได้ดังนี้แล้ว ผู้ที่มีปัญญาก็จะพากเพียรทำแต่ความดี เพราะรู้ว่าสิ่งที่ดีที่เราได้รับนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการทำดีในกาลก่อน เพื่อไม่ให้ดีนั้นพร่องลงไป และเพื่อที่จะใช้ความดีนี้สร้างกุศลต่อไป เขาจึงหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส โดยการล้างกิเลส ทำลายกิเลสอันเป็นเชื้อร้ายที่จะก่อกำเนิดสิ่งชั่ว นำมาซึ่งอกุศลกรรมต่างๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลำบากทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า ดับกิเลสตอนนี้ก็สุขได้เลยตอนนี้ หมดกรรมจากกิเลสใหม่ไปเลยตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ต้องรอแบกกิเลสไปดับกันในภพหน้า ชาติหน้า ชีวิตหน้า

– – – – – – – – – – – – – – –

14.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

September 20, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,937 views 0

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

เรื่องนี้มักจะเป็นเรื่องที่ทำให้หลงเข้าใจผิด ทำให้พุทธศาสนิกชนที่ไม่ได้ศรัทธาอย่างจริงจังนึกสงสัยว่า การทำบุญและการเข้าวัดนั้นดีจริงหรือ ในเมื่อคนที่เข้าวัดทำบุญ ยังมีนิสัยที่โกรธ โลภ หลงมัวเมาอยู่เหมือนเดิม ดีไม่ดียังมีอาการเมาบุญเข้าไปอีก ทำให้หลายคนเกิดความลังเลสงสัย หรือแม้กระทั่งเสื่อมศรัทธาในศาสนา

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า คนที่เข้าวัดทำบุญส่วนใหญ่นั้น เป็นคนที่หาที่พึ่งทางจิตใจ เพราะจิตใจของเขาเหล่านั้นอ่อนแอ เปราะบาง สับสน วิตก กังวล สงสัย ไม่เข้าใจ วัดจึงเหมือนเป็นศูนย์รวมคนป่วยทางจิตใจและผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ไปรวมกันมากมาย ทีนี้กุญแจของเรื่องนี้ก็คือ พระสามารถเป็นหมอที่จะรักษาจิตใจหรือให้ปัญญาแก่ผู้แสวงหาทางเดินของชีวิตได้หรือไม่ สามารถสอนให้คนเป็นคนดีได้หรือไม่

ถ้าพระของวัดนั้นๆ สอนแค่เรื่องทำบุญทำทาน ไม่สอนลดกิเลส คนที่ไปก็อาจจะกลายเป็นเมาบุญ แย่งกันทำบุญ เพราะกลัวตัวเองจะต้องตกนรก กลายเป็นดงผีเปรตโลภเสพบุญกันในวัดนั้นแหละ

มันไม่ผิดเลยถ้าพระที่วัดนั้นๆจะสอนธรรมแค่ระดับการทำทาน ถือศีลหรือทำสมถะในแบบทั่วไป นั่นเพราะท่านก็อาจจะเข้าใจแค่นั้น ซึ่งเอาเข้าจริงๆ พระก็คือคนธรรมดาที่ห่มผ้าเหลืองไปเรียนรู้ธรรมนั่นแหละ ส่วนท่านจะมีความรู้มากแค่ไหนก็อยู่ที่ความเพียรของท่าน ปัญญาที่ท่านมีไม่ได้มีเพราะผ้าเหลือง แต่มีเพราะความเพียรในการศึกษาเรื่องทางธรรมของท่าน แต่หลักสำคัญอยู่ที่ว่า ปัญญาและความรู้นั้น เป็นความรู้ที่สามารถพาลดกิเลส หรือทำได้แค่เยียวยาทุกข์ หรือจะกลายเป็นพาสะสมกิเลส ดังเช่นพระที่ใช้เดรัจฉานวิชาในทุกวันนี้

ดังจะเห็นได้ตามที่กล่าวมา อย่าว่าแต่คนไปวัดเลย พระในวัดก็อาจจะไม่ได้เก่งขนาดที่ว่าจะสอนให้คนพ้นทุกข์ ทีนี้คนทุกข์กับคนทุกข์มาอยู่ด้วยกันมันก็ทุกข์ไปด้วยกันนั่นแหละ มีแต่จะทุกข์น้อยทุกข์มากเท่านั้นเอง พระก็มีทุกข์มีกิเลสของพระ โยมก็มีทุกข์มีกิเลสของโยม ในเมื่อล้างกิเลสกันไม่เป็น ก็เลยพากันเสพกิเลสเพื่อจะได้เสพสุขพักหนึ่งเท่านั้น

การปฏิบัติสมถะทั้งหลาย คือการพานั่งสมาธิ เดินจงกรมนั้น หากได้ศึกษาและเรียนรู้ขอบเขตของการทำสมถะจะพบว่าเป็นการปฏิบัติที่มีเป้าหมายในการทำจิตให้นิ่ง กดข่มจิต ดับความคิด การทำสมถะนี้ ไม่สามารถทำให้บรรลุธรรมใดๆได้ ไม่สามารถทำให้ลดกิเลสได้

สามารถลองดูด้วยตัวเองก็ได้ เช่น วางขนมอร่อยๆที่ชอบไว้ตรงหน้า ทีนี้นั่งสมาธิเข้าภวังค์ไปเลย 1 ชั่วโมง 1 วัน 3 วัน 7 วัน แล้วออกมากิน ถามว่า ความอร่อยนั้นจะลดลงไหม? ความสุขจากเสพลดลงไหม? ไม่ลดลงหรอก เพราะความอร่อยถูกสร้างจากวิญญาณที่มีกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลส มันก็ยังรู้สึกอร่อยเหมือนเดิมนั่นแหละ

การทำสมถะคือการดับความคิด ดับจิต ถ้าเก่งมากก็ดับสัญญา คือดับความจำได้หมายรู้กันไปเลย แต่ไม่ได้ดับกิเลสนะ ศาสนาพุทธสอนให้ดับกิเลส ไม่ได้ดับความคิด ต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้ไม่รู้ ไม่ตื่น ผู้เฉยๆ

รู้ในที่นี้ คือรู้แจ้งเรื่องกิเลส ตื่นตัวไม่หลับใหลเมามายในอวิชชาหรือความโง่ที่พาให้หลงไปในกิเลส ผู้เบิกบานนั้นเกิดจากความปล่อยวางความเศร้ามองที่เกิดจากกิเลสในใจ

การปฏิบัติแบบพุทธต้องมีเป้าหมายแบบนี้ ไม่อย่างนั้นก็จะปฏิบัติกันไปผิดๆ จึงได้ผลแบบไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากคนเข้าวัดทำบุญมากมาย แต่นิสัยแย่ ขอลาไปปฏิบัติธรรม 7 วัน กลับมายังเอาเปรียบยังนินทาคนอื่นเหมือนเดิม นั่นเป็นเพราะเขาปฏิบัติมาผิดทาง สอนกันผิดทาง หรืออาจจะสอนถูก แต่คนผู้นั้นมีบาปมาก ไม่ตั้งใจเรียนก็อาจจะทำให้ฟังมาผิดๆ

ในสมัยพุทธกาลก็มีมาแล้ว มีคนที่ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ตั้งนาน แต่ก็กลับไปแบบไม่ได้อะไร ขนาดมหาบุรุษที่เก่งที่สุดในจักรวาลให้สัจจะอยู่ตรงหน้าก็ยังไม่สามารถเข้าใจและเกิดปัญญาใดๆได้ เหตุการณ์ดังนี้ก็มีให้เห็นมาแล้ว

ดังนั้น การไปเข้าวัดทำบุญ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำให้กลายเป็นคนดีได้เลย ดังจะเห็นตัวอย่างในสังคมทุกวันนี้ คนที่เขาทำไม่ดี ทำชั่ว เขาก็ไปวัดทำบุญเหมือนกันกับเราใช่ไหม แต่ทำไมเขาก็ยังไม่หยุดทำชั่ว ไม่หยุดทำเลว ยังโกหก ปลิ้นปล้อน หลอกลวงอยู่เลย

แก่นแท้ของการไปเข้าวัดทำบุญก็คือไปพบปะครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถในการสอนสั่งเราไปในทางที่ลด ละ เลิก การยึดมั่นถือมั่นได้ สามารถสอนให้เราล้างกิเลสได้ โดยสามารถบอกขั้นตอนได้อย่างละเอียดพิสดาร เข้าใจได้ไม่ยากนัก ไม่ซับซ้อน เราก็ไปพบท่าน ฟังสัจธรรมจากท่าน แล้วนำมาปฏิบัติจนเกิดผล คือกิเลสเราลดได้จริง นั่นแหละทางถูกที่ควร

แต่ถ้าใครไปวัดทำบุญ เพียงแค่ทำบุญ ใส่บาตร ฝึกสมถะ ก็เหมือนไปเอาแต่เปลือก แต่สะเก็ด เอาแต่ใบ เอาคุณค่าแค่บางส่วน ไม่ได้เอาแก่น เหมือนคนเข้าป่าไปหวังจะเอาแก่นไม้ แต่ก็เด็ดใบไม้กลับบ้านไป แล้วหลงเข้าใจว่าใบไม้นั้นเป็นแก่น แล้วมันจะเป็นคนดีได้อย่างไร….

– – – – – – – – – – – – – – –

20.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน

September 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,462 views 0

การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน

การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน

ศาสนานั้นเป็นที่พึ่งทางจิตใจของใครหลายคน คนที่นับถือศาสนาก็จะทำทำนุบำรุงศาสนานั้นๆด้วยการเผยแผ่ การสร้างวัดวาอาราม การสนับสนุนผู้ที่เขาเห็นว่าปฏิบัติดีซึ่งก็เป็นการสนับสนุนส่งเสริมศาสนาที่ดีทางหนึ่ง

ดังเช่นในศาสนาพุทธ พุทธศาสนิกชน ทั้งหลายมักจะพากันใช้เวลาช่วงหนึ่งเข้าวัด นั่งสมาธิ ถือศีล เดินจงกรม ฟังธรรม และมักบริจาคทานช่วยเหลือในส่วนต่างของศาสนา เช่น สร้างวัด สร้างพระ แม้จะไม่ได้ช่วยเป็นแรงเงิน ก็มักจะช่วยกันบอกต่อหรือไม่ก็ช่วยเป็นแรงกาย

จนบางครั้งวัดได้กลายเป็นที่ยึดเหนียวจิตใจของคนเหล่านั้นไปแล้ว ในบางคนถึงกับยึดมั่นถือมั่นเข้าใจว่าการบำรุงศาสนาที่ได้บุญมากคือการสร้างวิหารทาน ธรรมทาน อภัยทาน …

ความเข้าใจเรื่องบุญกับอานิสงส์…

ซึ่งตรงจุดนี้เราต้องแยกคำว่าบุญกับอานิสงส์กันเสียก่อน การทำทานนั้นจะมีผล ก็คือประโยชน์ หรือมีอานิสงส์มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับทานนั้นไปสู่ที่ใด การให้ทานกับคนมีศีลก็มีอานิสงส์มากกว่าให้ทานกับสัตว์ นั้นเพราะว่าคนมีศีลจะสามารถนำทานเหล่านั้นไปสร้างประโยชน์ได้มากกว่าสัตว์ การทำทานให้ผู้รับที่ต่างกันจนกระทั่งวิหารทาน ธรรมทาน อภัยทาน จึงมีอานิสงส์หรือประโยชน์ต่างกันจึงทำให้กุศลที่ได้รับนั้นต่างกันมากตามสิ่งที่ทำไปด้วย

ทีนี้มาถึงคำว่าบุญ บุญนั้นคือการสละออก หรือการสละกิเลสออกไป หลายครั้งที่เรามักจะได้เห็นคำว่า โกยบุญ ,บุญใหญ่ , บุญหล่นทับ ถ้าแปลกันแบบตรงไปตรงมาก็คงจะเป็น,โกยการสละออก? การสละออกครั้งใหญ่? การสละออกหล่นทับ? พิมพ์ไปก็เริ่มจะงงไป เพราะเราเองไม่เคยให้ความกระจ่างกับคำว่าบุญ , กุศล , อานิสงส์เลย

เราลองมาแปลคำว่า โกยบุญ บุญใหญ่ และบุญหล่นทับให้ตรงตามความหมายของการสละออก ,คำว่าโกยบุญ คือ รีบเก็บเกี่ยวโอกาสในการสละกิเลส เช่น มีคนตกทุกข์ได้ยาก มีญาติมิตรลำบาก ก็ไม่ดูดายรีบหาทางช่วย ,คำว่าบุญใหญ่นั้น คือโอกาสในการสละครั้งยิ่งใหญ่ เช่น สละทรัพย์ สละอวัยวะ สละชีวิต , ส่วนบุญหล่นทับ คือ โอกาสพิเศษในการสละออก เช่น มีคนจะมาขอคู่ครองคนรักของเราไปอยู่ด้วย เรายกให้เขาได้ไหม? ทั้งหมดนี่พยายามแปลงให้เข้าท่าที่สุดแล้วนะ

เมื่อเราไม่เข้าใจความหมายของคำว่า บุญ , กุศล , อานิสงส์ ก็จะทำให้เราหลง เมาบุญ ไม่รู้ว่าสิ่งใดคือเหตุสิ่งใดคือผล ไม่รู้ต้นไม่รู้ปลาย รู้แต่เขาบอกว่าทำแล้วดี ทำดีแต่มักไม่ถูกที่ถูกทาง ทำดีผิดไปจากที่ควร ทำดีแบบมิจฉาทิฏฐิ

ความเสื่อมของศาสนา…

ในประวัติศาสตร์ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ทุกอย่างจะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แม้แต่อินเดียที่ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของศาสนาพุทธ แต่ตอนนี้กลับสูญสลายหายไปจนเกือบหมด หลักฐานใดๆก็แทบจะไม่มีเหลือ วัดวาอารามที่เคยสร้างเมื่อสมัยต้นพุทธกาล กลับกลายเป็นแค่กองหินกองดิน คัมภีร์พระไตรปิฏกถูกเผาทำลาย สูญหาย หรือถูกบิดเบือนไป พระสงฆ์ถูกฆ่า เดรัจฉานวิชาเข้ามาแทนที่ เกิดการแบ่งกลุ่มแบ่งแยกพวก กำเนิดลัทธิต่างๆมากมาย จนแทบจะจับหลักไม่ได้ว่าทางไหนคือทางที่ถูกที่ควรต่อการปฏิบัติตาม

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และจะเกิดขึ้นในอนาคตที่กำลังจะใกล้กลียุคเข้าไปทุกวัน เราทั้งหลายบำรุงพระพุทธศาสนา เพียงแค่รูปภายนอก คือ วัดวาอาราม โบสถ์สถูป เรียนท่องจำพระไตรปิฏก ถวายปัจจัยแก่สงฆ์ เหล่านี้คือการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนที่เห็นได้โดยทั่วไป ทั้งหมดนี้ดี แต่ไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง แปรผันได้ตลอดเวลา

เช่น วัด โบสถ์ อาคาร พระพุทธรูป ที่เราร่วมบุญร่วมก่อสร้าง วันหนึ่งก็ต้องมาพังทลายเพราะแผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม มีคนขโมย หรือกระทั่งผลจากสงคราม เมื่อเราไปยึดมั่นถือมั่นในวัตถุเหล่านั้น ใจเราก็พลอยจะพังทลายไปด้วย

เช่น คำสั่งสอนบางประการที่ได้ยินมา ที่เขาอ้างว่ามันคือพระธรรม แต่ขัดกับการปฏิบัติจริง ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้จริง พอเราไปยึดมั่นในคำสอนที่ผิดหรือถูกบิดเบือนเหล่านั้น ก็จะทำให้เรายิ่งหลง ยิ่งทุกข์ ยิ่งโง่ ยิ่งเกิดความเดือดร้อนในชีวิต

เช่น ผู้บวชเป็นพระบางรูป เราก็หลงไปทำบุญ ไปศรัทธา ไปกราบไหว้ ไปปฏิบัติตาม สุดท้ายก็กลายเป็นพระทุศีล โกหก หลอกลวง สร้างลัทธิ ใช้เดรัจฉานวิชา อลัชชี เป็นผู้ที่หากินในคราบของพระ ถ้าเรายังยึดมั่นถือมั่น เราก็จะต้องหลงโง่ตามไปต่อเรื่อยๆ แม้เราจะเคยเลื่อมใสศรัทธา แต่พอหมดศรัทธาก็อาจจะเป็นเหตุให้เราทุกข์ โกรธ อาฆาต เสื่อมศรัทธาต่อบุคคลที่บวชเป็นพระ

ทำบุญทำทานให้ถูกที่ มีอานิสงส์ดียิ่งนัก…

การทำบุญทำทาน นอกจากจะเป็นการทำเพื่อสละกิเลสออกจากใจแล้ว ยังต้องมีปัญญารู้ว่าผลหรืออานิสงส์นั้นจะเกิดสิ่งใดด้วย เพราะศรัทธาของพุทธนั้น คือศรัทธาที่เกิดจากปัญญา มิใช่ศรัทธาที่หลงงมงายดั่งเช่นศรัทธาในแบบพ่อมดหมอผีฤาษีหมอดู แต่เป็นเพราะเรารู้ว่าการศรัทธาในสิ่งนั้นจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อเราและผู้อื่นอย่างแท้จริง

เช่น เราทำบุญสร้างโบสถ์ เราทำด้วยใจที่สละรายได้ สละอาหารมื้อพิเศษ สละของที่อยากได้ให้กับวัด แต่วัดนั้นขึ้นชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง การสร้างวัตถุฟุ่มเฟือย เป็นไปเพื่อความบันเทิงและชื่อเสียง ก็ให้เราช้าไว้ก่อน ลองดูว่าวัดไหนที่ยังขาดปัจจัยบ้าง เช่นบางวัดไม่มีศาลา ไม่มีโบสถ์ เราก็ควรจะส่งเสริมวัดนั้นๆประโยชน์หรืออานิสงส์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อเราให้ผู้ที่ขาด มากกว่าให้ผู้ที่มีพร้อม

เช่น เราทำบุญช่วยเผยแพร่ธรรมะ แต่ธรรมะนั้น เป็นธรรมะที่ไม่พาพ้นทุกข์ พาให้สะสม พาให้หลงผิด พาให้เพิ่มกิเลส เพิ่มความโลภ โกรธ หลง เพิ่มอัตตา เราก็ช่วยเผยแพร่ด้วยใจเสียสละนะ แต่สิ่งที่เราช่วยเผยแพร่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ดังนั้นประโยชน์หรืออานิสงส์ย่อมไม่เกิด และอาจจะทำให้ผู้รับหลงงมงายเข้าไปอีกด้วย ซึ่งกรรมนั้นแหละจะกลับมาให้ท่านหลงผิด หลงทางในธรรมไปด้วย

เช่น เราทำบุญทำทานให้ผู้บวชเป็นพระ เรายินดีสละทรัพย์ สละโอกาสที่จะซื้อของที่ชอบให้พระรูปนั้น แต่พระรูปนั้นก็ไม่ได้นำปัจจัยของเราไปสร้างสิ่งดีงามอะไร ในขณะเดียวกัน พระอีกวัดกำลังสร้างโรงเรียนให้เด็กในชุมชน การทำทานให้พระรูปนั้นจะได้อานิสงส์มากกว่า เพราะท่านได้นำทรัพย์ที่เราสละไปสร้างประโยชน์ให้กับชุมชม เป็นกุศลหลายชั้น ชั้นแรกคือเราให้พระ ชั้นที่สองคือพระนำไปสร้างประโยชน์ ชั้นที่สามคือเด็กๆ ได้มีที่เรียน ชั้นที่สี่คือชุมชนพัฒนา ชั้นที่ห้า หก เจ็ด ฯลฯ… ดังจะเห็นได้ว่าการบริจาคทานแก่พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ช่วยเหลือชุมชน ปลดทุกข์ให้ชาวบ้าน ทำกิจของตนเองคือการศึกษาธรรม ล้างกิเลสและกิจกรรมของผู้อื่น คือช่วยเหลือคนและชุมชน จะได้รับอานิสงส์มากกว่าการบริจาคให้พระที่ไม่ทำประโยชน์อะไรให้กับชุมชน

การทำบุญทำทานที่คิดแค่ว่า “ ทำๆไปเถอะ ขำๆ อย่าคิดมาก” ได้ยินได้ฟังแล้วอาจฟังดูดี ดูปล่อยวาง แต่ก็อาจจะเข้าใจแบบไม่มีปัญญาก็ได้ ชาวพุทธจึงควรทำบุญทำทานส่งเสริมคนดี วัดดี พระดี ให้คนดีเหล่านั้นได้มีกำลังทำดีต่อไป เพื่อให้เกิดสังคม สิ่งแวดล้อมที่ดี (คำว่าดีในที่นี้ คือดีในทางสวนกระแส ไม่ไปตามกิเลส ขัดกิเลส ล้างกิเลส)

การส่งเสริมศาสนาพุทธอย่างยั่งยืน….

ดังจะเห็นได้ว่า การทำบุญให้เกิดการสละอย่างแท้จริงนั้นยาก และการจะให้เกิดอานิสงส์มากนั้นก็ยาก แถมสิ่งเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนสภาพ ถูกบิดเบือนได้ตลอดเวลา

อ่านมาถึงตรงนี้คงจะมีคำถามกันแล้วว่า แล้วเราจะส่งเสริมศาสนาอย่างไรจึงจะทำให้ศาสนาคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน …

ความเป็นพุทธนั้น ไม่ได้ถูกเก็บไว้ในวัตถุ ไม่ได้เก็บไว้ในวัด ไม่ได้เก็บไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฏก ไม่ได้เก็บอยู่ในคนที่บวชเป็นพระ ความเป็นพุทธ หรืออริยทรัพย์ที่แท้จริงนั้นถูกเก็บไว้ในวิญญาณของแต่ละคน เป็นที่เก็บธรรมะที่ไม่มีวันจะเสื่อมสลาย ไม่มีวันพังทลาย ไม่มีวันถูกบิดเบือน

การส่งเสริมศาสนาพุทธอย่างยั่งยืนนั้น เราจึงควรสร้างความเป็นพุทธะ คือความรู้แจ้งเข้าใจในกิเลสนั้นๆ โดยผ่านการศึกษาธรรมะ และการปฏิบัติ จนเกิดสภาพการรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริงในตน กลายเป็นอริยทรัพย์ติดไปข้ามภพข้ามชาติ ไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ชาติไหน ภพไหน ก็จะมีสภาพนั้นติดตัวไปด้วย จะสามารถปลดเปลื้องกิเลสนั้นๆได้ง่าย เป็นการเก็บความเป็นพุทธไว้ในวิญญาณ ไว้ในกรรม เมื่อเรามีสร้างกรรมที่เข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องใดๆแล้ว ผลของกรรมก็คือเราไม่ต้องไปเสพ ไปยึดมั่นถือมั่น ไปทุกข์ เพราะเรื่องนั้นๆอีก ก็จะเกิดสภาพแบบนี้ไปทุกๆชาติ แม้ในชาตินี้ที่ยังไม่ตายก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถพัฒนาจิตใจตัวเองให้เลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินมังสวิรัติได้แล้ว วันพรุ่งนี้เราก็จะกินมังสวิรัติอย่างมีความสุข ไม่ว่าเดือนหน้า ไม่ว่าปีหน้าก็จะเป็นอย่างนี้ ดังนั้นชาติหน้าก็จะเป็นเช่นนี้เหมือนกัน เพราะเราสร้างกรรมดีแบบนี้ เราก็เลยมีสภาพรับกรรมดีแบบนี้ไปเรื่อย

พระพุทธเจ้าได้ตรัส เกี่ยวกับอริยทรัพย์ไว้ใน หัวข้อ อริยทรัพย์ ๗ คือทรัพย์แท้อันประเสริฐ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา

ดังนั้นถ้าเราปฏิบัติและเก็บสะสม พัฒนาสภาวะต่างๆ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น ก็ไม่ต้องกลัวเลยว่า เกิดชาติไหนชีวิตจะลำบาก เพราะปฏิบัติได้ในชีวิตนี้ ก็เกิดดีจนเห็นได้ในชีวิตนี้ แถมยังส่งให้ไปปฏิบัติต่อในชีวิตหน้า ดังที่จะเห็นได้ว่า คนเราเกิดมาดีเลว ร่ำรวยยากจน แข็งแรงมีโรค มีโอกาสไร้โอกาส ฯลฯ แตกต่างกัน เหล่านี้คือผลมาจากกรรมคือทรัพย์ที่เก็บสะสมมาแตกต่างกัน ดังจะเห็นได้จากตัวเราตอนนี้

เมื่อเข้าใจเรื่องกรรมได้ชัดแจ้ง ก็จะไม่สงสัยเลยว่าต้องทำอย่างไรจะบำรุงศาสนาพุทธได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ก็คือทำดีให้เกิดในตัวเรานี่แหละ ลด ละ เลิกการยึดมั่นถือมั่นในกิเลสของเราไปเรื่อยๆ เก็บสะสมอริยทรัพย์ไปเรื่อยๆ ล้างกิเลสไปเรื่อยๆ หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสไปเรื่อยๆ นี่แหละคือการรักษาศาสนาพุทธที่ดีที่สุด

– – – – – – – – – – – – – – –

14.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์