Tag: ลาภสักการะ
สร้างความเจริญ ด้วยการเลิกรับใช้คนชั่ว
การรับใช้คนชั่ว คนไม่ดี หรือคนผิดศีล ก็เป็นมิจฉาอาชีวะ หรือมีความเป็นมิจฉาชีพอยู่ เพราะยังติดอยู่ในข้อที่ว่า “มอบตนในทางที่ผิด” คือไปยอมรับใช้คนไม่ดี ที่ไม่พาไปพ้นทุกข์นั่นแหละ
แต่ชีวิตนี่มันก็ไม่ได้ง่ายรู้ดีรู้ชั่วได้ทั้งหมดได้ในทันที เราจะต้องเรียนรู้โดยลำดับ ในตอนแรก ๆ บางสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าจะเป็นภัยขนาดนั้น แต่พอภูมิธรรมพัฒนาเพิ่มขึ้นกลับมองว่ามันเป็นภัยมาก
อีกทั้งคนเรายังมีวิบากกรรมเป็นตัวส่งผล ให้ถูกขังอยู่กับคนชั่ว เวลาวิบากขัง มันจะมืดบอด มีความลำเอียง ดีไม่ดีเข้าข้างคนชั่วอีก
ซึ่งเราก็ต้องอาศัยการทำดีไปเรื่อย ๆ จึงจะรู้ชัดขึ้น โดยอาศัยการทำดีกับคนที่เรามั่นใจที่สุด ศรัทธาที่สุด แล้วทำให้เต็มที่ ผลจะเกิด มันจะมีเหตุให้เห็นความจริง ถ้าเขาเป็นคนผิดศีลเน่าใน เราจะได้รู้อย่างชัดเจน
ผมก็เคยมีประสบการณ์รับใช้คนชั่วมาก่อน บอกเลยว่าชีวิตมีแต่ตกต่ำ ลาภสักการะหายหมด เหมือนปลูกพืชแล้วไม่มีผล เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านว่าสงฆ์คือนาบุญ ส่วนคนที่ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่
พอเราไปทำดีกับคนที่ไม่ใช่นาบุญ เป็นนาบาป จึงไม่มีผลมาก มีอานิสงส์น้อย แถมยังไปส่งเสริมบาปเขาอีก เอาง่าย ๆ เหมือนเราเอาเงินที่เราหามาอย่างยากลำบาก เอาไปให้เด็กซื้อขนมกินหมดนั่นแหละ
ถ้าเราไปสนับสนุนหรือรับใช้คนไม่ดี คนไม่มีศีล เขาก็เอาเงิน แรงงาน เวลาของเราไปใช้กับเรื่องไร้สาระ เรื่องสะสมกิเลส มันก็ไม่เกิดประโยชน์ ไม่มีผลเจริญ
สรุปแทนที่เราจะเจริญได้มากในหนึ่งช่วงเวลา แต่กลับต้องเสียเวลา แรงงาน ทรัพย์ไปโดยได้ประโยชน์น้อย จริง ๆ ไม่ทำเลยจะดีกว่า การสนับสนุนคนชั่วไม่ทำเลยจะดีกว่า ดูเผิน ๆ เหมือนจะมีกำไรได้เสียสละ แต่สรุปบัญชีออกมาแล้วจะขาดทุน
หลังจากที่ผมได้หลักฐานว่าเขาเป็นคนไม่ดี ผิดศีล เราก็ถอยออกมา เชื่อไหม ชีวิตดีขึ้นคนละเรื่อง ลาภสักการะเริ่มมาให้พอมีกินมีใช้ อัตคัดอยู่เป็นปี พอพลิกใจเลิกรับใช้คนชั่ว ทุกอย่างก็พลิกหมดเลย องค์ประกอบแวดล้อมในชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
พอมีโอกาสถามย้ำกับครูบาอาจารย์ท่านก็ชี้ชัดว่า ถ้าเห็นว่าเขาชั่วชัด ๆ ก็ไม่ต้องไปเอื้อหรือไปประมาณอะไรให้ยุ่งยาก คว่ำบาตรไปเลย เพราะยิ่งไปสนับสนุนคนชั่วก็จะมีแต่เพิ่มอกุศลวิบากมากเท่านั้น
ใครอยากมีชีวิตลำบากก็สนับสนุนคนชั่วคนพาลกันต่อไป และคุณจะได้รับสิทธิ์ในการชดใช้วิบากบาป คือเป็นทุกข์ เจ็บป่วย เศร้าหมอง ลำบากกาย ลำบากใจ ฯลฯ
สรุปตรงนี้ว่าการสนับสนุนคนชั่วคือการสร้างความลำบากให้ตนเอง คือความเนิ่นช้าในธรรมอย่างแท้จริง
ไลฟ์โค้ช กับการแสวงหาโลกธรรม
ในยุคนี้เราอาจจะได้ยินคำว่า Influencer หรือ ผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล ซึ่ง Influencer โดยส่วนมากอาจจะไม่ใช่ไลฟ์โค้ช แต่ในความเป็นไลฟ์โค้ช ก็มีองค์ประกอบของ Influencer อยู่ในตัว
สรุปในภาษาง่ายว่า Influencer มีความสามารถในการจูงจมูกคน เช่น โพสรูปของกิน ก็ทำให้คนอยากกินตามได้มาก ให้ความเห็นอะไรก็ทำให้คนคล้อยตามได้มาก แม้จะไม่ได้เรียกตัวเองว่าไลฟ์โค้ช แต่โดยฟังชั่นการทำงานก็มีการเหนี่ยวนำคนไปในจุดใดจุดหนึ่ง แต่จะต่างกันตรงไม่ตั้งตนให้เป็นที่พึ่ง
กรณีของไลฟ์โค้ช โดยส่วนมากนั้นจะชัดเจนว่า ฉันเป็นพี่เลี้ยง ฉันเป็นที่พึ่ง ฉันเป็นผู้ช่วยเธอได้ ซึ่งมีทั้งการให้ข้อมูลโน้มน้าวและความเป็นผู้มีอิทธิพลต่อผู้ศรัทธามากเช่นกัน
ว่ากันตรง ๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยกิเลส ใครก็อยากเด่นอยากดัง อยากได้เงินมาก ๆ อยากได้การยอมรับ อยากมีตัวตนในสังคม ดังนั้นไลฟ์โค้ช ที่ไม่ได้ลดกิเลส ไม่มีธรรม จึงหลงไปกับกระแสโลกธรรม แสวงหา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และบริวาร
ตามที่ผมได้ศึกษามา ส่วนใหญ่เขาก็จะพยายามสร้างเนื้อหาที่จะจับใจคนดู จับหูคนฟัง แต่ด้วยความรู้หรือวาทะศิลป์ที่มี มันจึงมีข้อจำกัด ดังนั้นการนำความรู้อื่น ความเข้าใจของคนอื่นมาหลอมรวมกับตัวเอง แล้วสื่อสาร จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและได้ผลดี เหมือนกับไป copy ของดี แล้วมา paste ใส่ตัวเองแล้วนำเสนอยังไงอย่างนั้น เรียกง่าย ๆ ว่า ลอกงานมาขาย
หลายปีก่อน อาจจะมีใครเห็นว่ามีคนคนหนึ่งที่เด่นดังมาจากการนำสารพัดคำคมมาเผยแพร่เป็นของตัวเอง ซึ่งเขาก็เด่นได้อยู่ช่วงหนึ่ง สุดท้ายก็ดับไป เพราะเป็นแค่กระแส ไม่ใช่ความจริง
ยุคนี้ก็มีเหมือนกันที่ไลฟ์โค้ช หลายคนนำธรรมะเข้ามาประยุกต์ นำมาใช้นำเสนอข้อมูลของตน ซึ่งดูเผิน ๆ มันก็ดี ดูน่าศรัทธา เขาก็เอามาใช้เพราะรู้ว่ากลุ่มลูกค้าในไทยส่วนใหญ่เขาศรัทธาศาสนาพุทธ เขาก็เอาหลักการพุทธเนี่ยมานำเสนอ ปรุงแต่งให้ขลุกขลิก ใส่ภาพลักษณ์ตนเองเข้าไป
จริง ๆ ธรรมะมันก็ดีนั่นแหละ แต่ปัญหาคือเจตนาที่จะธรรมนั้นมาใช้ เอามาใช้เพื่ออะไร เอามาใช้เพื่อหากิน แลกเงิน แลกชื่อเสียงหรือไม่ เรื่องนี้ดู ๆ ไปสักพักก็จะชัดขึ้นเรื่อย ๆ บางคนไม่ได้หาเงินจากการรับคำปรึกษา แต่เอาโลกธรรมหรือความเด่นดังไปส่งเสริมสินค้าแบบอื่น หรือแม้กระทั่งเอาธรรมะมาสอนเพื่อเสพความยิ่งใหญ่ของตน อยากให้คนเคารพดั่งเทพเทวดา อยากเป็นคนสำคัญ ทั้งหมดนี้ก็ล้วนไปนรกทั้งสิ้น
พระพุทธเจ้าตรัสถึงหลักตัดสินธรรมวินัย โดยภาพรวมคือเป็นไปเพื่อการคลายจากกิเลส ลดกิเลส ดับกิเลส การจากพราก มักน้อย กล้าจน ใจพอเพียง ยอดขยัน เลี้ยงง่าย ฯลฯ
คือ ใครจะธรรมะมาพูดก็ได้ อันนี้เราห้ามไม่ได้ แต่เราก็ดูได้ว่าที่เขาพูดเขาเสนอ ตัวเขาเป็นไปตามหลักเหล่านี้หรือไม่ เขาน้อมใจคนให้เป็นไปตามหลักเหล่านี้หรือไม่ ไม่ใช่พูดธรรม ยกข้อธรรมมาแสดง แล้วก็ทำตรงกันข้าม พูดธรรมะซะโก้หรู แต่เอามาหาเงิน หาบริวาร อันนี้มันก็ไม่ใช่
ไลฟ์โค้ชบางคนนี่ยิ่งทำไปยิ่งดังก็ยิ่งรวยเอา ๆ มันก็ห่างจากหลักพุทธไปเรื่อย ๆ แม้เขาจะเอาหลักพุทธไปพูดปน แต่ตัวตนเขาไม่ใช่ เขาก็แค่เอาธรรมะไปหากินเท่านั้นเอง
จริง ๆ มันก็เป็นตัวที่บอกอยู่แล้วว่าเขาไม่จริง เขาเป็นไลฟ์โค้ชที่แนะนำไปสู่ความจริงที่พ้นทุกข์ไม่ได้ เพราะแค่ตัวเขายังเอาตัวไม่รอดเลย หลงเข้าสู่กระแสโลกธรรมแล้วก็หมุนวนลอยไปกับแรงของกระแสคลื่นกิเลสเหล่านั้น
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลาภสักการะที่พระเทวทัตมี จะเป็นตัวฆ่าพระเทวทัตเอง ไลฟ์โค้ชที่เห็นผิดก็เช่นกัน ยิ่งเด่น ยิ่งดัง ก็จะเป็นเหตุในการทำลายตัวเองได้เท่านั้น แล้วเราก็จะได้เห็นความจริงที่บิดเบี้ยวชัดเจนยื่งขึ้น
เห็บศาสนา เปรต เทวดา
ไม่ว่าศาสนาไหนก็ล้วนแต่มีโลกธรรมอันหอมหวานทั้งสิ้น ศาสนาพุทธก็เช่นกัน คนที่เข้ามาปฏิบัติอยู่ในสำนักก็มักจะได้โลกธรรม ได้ลาภสักการะ บริวาร ซึ่งเป็นสิ่งหอมหวานยั่วยวนกิเลสคนชั่วยิ่งนัก
จึงมีคนชั่วที่แสร้งปลอมปนเข้ามาเพื่อเสพผลเหล่านั้น สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็มีการชำระ จับพระทุศีล พวกบวชล่าโลกธรรม ออกไปจากศาสนา จนบัดนี้ผ่านมาสองพันกว่าปี คนเหล่านี้ได้กระจายแทรกซึม เสพผลประโยชน์อยู่ในทุกที่ที่มีโลกธรรม แทรกเข้าไปเสพ ซึมอยู่ภายใน กัดกิน ทำให้ติดเชื้อร้าย ทำให้เสื่อม เหมือนเห็บที่มากัดกินเลือดสัตว์
นิยามศัพท์ : เห็บศาสนา คือพวกที่มาใช้ศาสนาสนองกิเลสตน, เปรต คือพวกขี้โลภ เอาแต่ได้, เทวดา(โลกีย์) คือพวกบ้าอำนาจ ชอบสั่ง เอาแต่ใจ มุ่งร้าย กำจัดคนที่ขัดขวาง
โดยธาตุแล้ว คนพวกนี้จะมีลักษณะขี้โลภ เอาแต่ได้ เดี๋ยวอยากนั่น เดี๋ยวอยากนี่ แต่พวกเขามักจะมีศิลปะ ไม่แสดงออกชัดเจน โดยเฉพาะต่อหน้าคนใหม่จะยิ่งสร้างภาพว่าตนเป็นพ่อพระแม่พระ เป็นเทวดาที่น่านับถือ เป็นผู้ใจบุญ เป็นต้น แต่ในใจมักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญ บริวาร ฯลฯ
ตอนเข้ามาแรก ๆ มักจะเสแสร้ง และสร้างภาพลักษณ์จนทำให้คนอื่นเข้าใจผิด หลงไว้ใจ หลงเชื่อใจ แต่ถ้าปล่อยให้มีอำนาจนานไป จะเริ่มเอาแต่ใจ กดดันคนอื่น บ้าอำนาจ เผด็จการ บีบคั้น กดดัน เดี๋ยวสั่งคนนั้น สั่งคนนี้ สั่งได้แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ คือจะเริ่มตีตนเสมอ คิดว่าตนเป็นคนสำคัญ คิดว่าคนอื่นจะต้องฟังแต่ตน ต้องเกรงใจตน เพราะตนสำคัญตนผิด และจะใช้โอกาสต่าง ๆ ในการมีบทบาทในองค์กรขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้ชัดว่าพยายามทำตัวเด่น มีบทบาท เรียกร้องความสนใจ พยายามทำตนให้เป็นจุดสนใจ พอโดนติ จะไม่พอใจ ขุ่นใจ โกรธ ตัดพ้อ โจมตีกลับ ฯลฯ ถ้าถูกกล่าวหาจะทำเหมือนถ่อมตัว แก้ตัว ปัดไปปัดมา หรือไม่ก็หาเรื่องผู้กล่าวหากลับ ไม่ชี้แจงตามจริง ไม่แก้ไขปัญหา จะพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงต่าง ๆ
คนพวกนี้มักจะมีลักษณะเด่นคือ ไม่ปฏิบัติตามกฎ มักจะแหกกฎ ด้วยอำนาจของตน ไม่ทำตามวัฒนธรรม เช่น เขาถือศีล มุ่งล้างกิเลสกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนพวกนี้ก็จะใช้เล่ห์กล สร้างสภาพที่เหมือนจะไม่เอื้ออำนวยให้ทำ สร้างข้อจำกัดเทียม ไม่ยอมทำ ไม่ปฏิบัติตาม ซ้ำร้ายจะกลายเป็นปฏิบัติตรงข้ามกับหมู่กลุ่มด้วย เช่นกลุ่มเขาพากันไปลดกิเลส แต่คนพวกนี้จะพาไปเพิ่มกิเลส หมู่เขาพาลดกาม คนพวกนี้เขาจะพาเพิ่มกาม ซึ่งจะมีอีกฝั่งคือฝั่งอัตตา คือดีเกินไป เช่นกรณีของพระเทวทัตที่ขอวัตถุ 5 กับพระพุทธเจ้า อันนั้นก็พวกเห็บศาสนาสายอัตตา ส่วนพวกที่ต่ำกว่ามาตรฐานก็เห็บศาสนาสายกาม
ล่าบริวาร คือลักษณะเด่นชัดของเห็บศาสนา เมื่อบ้าอำนาจ ก็ต้องอยากได้คนมาสนองมาก ๆ อยากได้คนมาเป็นแขนเป็นขา (แต่ตนเองจะทำตนเป็นสมอง) หาคนที่ทำให้ได้ดั่งใจตนต้องการ ความเอาแต่ใจของเทวดาเปรตเหล่านี้คือ จะใช้อำนาจบีบให้คนทำตามใจ โดยใช้ “บุญ” มาเป็นของแลกเปลี่ยน
พ่อครูสมณะโพธิรักษ์เคยออกหนังสือชื่อ “ค้าบุญคือบาป” ที่แจกแจงรายละเอียดของลักษณะผีบุญเหล่านี้ไว้ ซึ่งลักษณะโดยสรุปคือจะเอาคำว่า “บุญ” มาล่อหลอกให้คนอื่นทำตามที่ตนหวัง ทำแล้วเป็นบุญใหญ่ ทำแล้วจะได้บุญ ทำบุญให้หมู่กลุ่ม(แต่ตามคำสั่งตน) เห็บศาสนา มักจะไม่ใช่รุ่นหัวเจาะ ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง แต่จะมาแทรกซึมและใช้โลกธรรมที่องค์กรมี นำไปหลอกล่อคนให้ทำตามใจตนเอง โดยอ้างนโยบายองค์กรบ้าง อ้างครูบาอาจารย์บ้าง อ้างบุญบ้าง โดยลักษณะเด่นคือจะมีแนวโน้มไปในทางกดดันมาเพื่อสนองกิเลสตน สนองความได้ดั่งใจตน
ทำไมจึงกำจัดออกได้ยาก? นั่นก็เพราะคนพวกนี้มักจะเกาะเกณฑ์ขั้นต่ำ คือมีคุณสมบัติขั้นต่ำที่สุดเท่าที่จะต่ำได้ เพราะจะได้หาของยั่วกิเลสมาเสพได้มาก ๆ ถ้าไปเกาะขีดบน ถือศีลเข้ม ๆ จะแทบไม่เหลือวัตถุกามให้เสพ ดังนั้น เขาก็จะมักจะเกาะอยู่ขั้นต่ำของกลุ่ม พวกเขาเฉโกพอที่จะรู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไรให้จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน พอถูกถามก็พูดจาเบี้ยวไปเบี้ยวมา หรือไม่ก็กล่าวหาผู้ถามกลับ เป็นการปกป้องตนเองด้วยมารยา และโดยมากคนพวกนี้มักจะสะสมอำนาจ ล่าบริวาร จึงใช้อำนาจนั่นแหละ เป็นตัวกันไม่ให้คนมาติ ให้คนเข้าถึงได้ยาก ไม่ให้คนตรวจสอบ พอใครจะมากล่าวหา มาทำร้าย ก็จะถูกบริวารที่ตนได้มอมเมาไว้เล่านั้นกันเอาไว้ ไม่ให้มาถึงตัว ดังนั้นการกำจัดคนพวกนี้ออกจึงยากมาก เพราะพวกเขามักจะสร้างเกราะที่หนาเอาไว้ป้องกันตัว และที่สำคัญคือเขาก็จะทำดีไปเรื่อย คือทำดีตามที่โลกถือสา เอาความดีนี้แหละไว้เป็นเกราะ และไว้หลอกคน เพราะอาศัยดีนี้จึงทำให้คนเข้าใจผิด หลงไปเคารพได้มาก แต่จะให้ทำดีเหนือดี ให้ลดละเลิกล้างกิเลส คนพวกนี้เขาจะไม่ทำ
มุ่งสู่นรกอันเป็นอนันต์ เหล่าเห็บศาสนา เปรตเทวดาเหล่านี้ มีโอกาสสูงมากที่จะทำอนันตริยกรรม คือกรรมหนักในข้อที่ว่าทำให้หมู่เพื่อนนักปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เพราะด้วยเหตุแห่งความบ้าอำนาจ และกลัวคนจะจับผิด คนพวกนี้จะรู้ตัวว่าใครที่มีกำลังมากพอที่จะกำจัดตนเอง จึงมักจะใช้อำนาจ บารมี บริวาร หรือเหตุปัจจัยที่มีในการกำจัดศัตรูแห่งเส้นทางอำนาจของตนก่อน
ดังที่ได้กล่าวมาข้างตน เห็บศาสนามักจะมักใหญ่ใฝ่สูง อยากเด่นอยากดัง อยากได้รับการเคารพ อยากเป็นคนสำคัญ ดังนั้น พวกเขาจะไม่ยอมให้ใครข้ามหน้าข้ามตา ถ้าอยู่ในองค์กรก็จะพยายามขึ้นเป็นเบอร์ต้น ๆ และกำจัดเสี้ยนหนาม คือกำจัด ข่ม ป้ายสี คนที่ไม่ทำตามตน ต่อต้านตน ที่ขวางทางตน นั่นก็หมายความว่า คนพวกนี้ก็จะพยายามทำทุกอย่างให้ตนคงสถานะไว้ได้ ถึงแม้จะต้องกำจัดคนอื่นออกไปก็ตามที
และโดยมากแล้วศัตรูของคนชั่วก็คือคนดีนั่นแหละ แต่จะทำอย่างไร ถึงจะเล่นงานคนดีได้ มันก็ต้องทำลายดีในคนคนนั้นเสีย ลักษณะเด่นอันหนึ่งของกลุ่มเห็บศาสนาคือการตั้งกลุ่มนินทา สร้างข่าวลือ ปั้นข่าว ใส่ไข่ ใส่สี ให้มีรสเด็ดจัดจ้าน เพื่อทำลายชื่อเสียงของอีกฝ่าย ต่อให้ดีแค่ไหน มาเจอรวมพลคนพาล ร่วมกันผิดศีลข้อ ๔ คือโกหก ปั้นเรื่อง ยุคนนั้นทะเลาะคนนี้ ให้คนแตกความสามัคคีกัน ใครเจอเข้าไป ถ้าไม่มีของจริง ก็เสร็จทุกรายไป คือจะโดนกลืนด้วยข่าวจริง(5%) ใส่ไข่อีก (95%) เป็นต้น สุดท้ายก็ทำคนดีให้เป็นคนร้ายได้ในที่สุด สร้างชื่อเสียงด้านลบให้คนอื่น ทำให้เขาผิดใจกัน แตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน สำเร็จอนันตริยกรรมในที่สุด ขุดฝังตัวเองในนรกสำเร็จ เกิดมาตายเปล่าไปอีกหนึ่งชาติเป็นผลที่คนเหล่านี้จะได้รับ
พอกำจัดคนดีมีศีลออกไปให้พ้นทางได้แล้ว ตัวเองก็จะได้บ้าอำนาจ เสพอำนาจได้อย่างไม่มีใครขัดอยู่ในกลุ่มนั้น ๆ กลายเป็นเห็บศาสนาสมบูรณ์แบบ ไม่มีวันเจริญ มีแต่ความเสื่อม เต็มไปด้วยกิเลส ซึ่งเป็นภาระกลุ่มที่ต้องแบก เป็นจุดอ่อนของกลุ่ม เป็นรูรั่วของกลุ่ม เป็นเชื้อร้ายของกลุ่ม ที่เหมือนมะเร็งที่จะลุกลามกัดกินเนื้อดีส่วนอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ
หากไม่กำจัดเห็บศาสนาออก ก็ต้องแบกความหนักเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ แบกคนทุศีล แบกคนมีอนันตริยกรรม ซึ่งคนพวกนี้ไม่มีวันเจริญ กลายเป็นภาระ กลายเป็นวิบากกรรมของกลุ่มที่ไม่ชัดเจนในความเป็นคนพาลในคน ที่จะต้องแบกไว้ให้มันลำบาก ให้เสื่อม ให้เมื่อย ให้หนัก ให้เสียเวลาเปล่า ๆ
แม่หวังให้เจ้า…
แม่หวังให้เจ้า…
เมื่อแม่ให้กำเนิดลูกขึ้นมาแล้ว แม่หวังอะไรในตัวลูก? ถ้าเป็นยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ก็คงจะหวังให้ลูกมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เจริญก้าวหน้ากันไปตามสมมุติโลก แต่ในบทความนี้เราจะยกความหวังของแม่ในสมัยพุทธกาลมาเล่ากัน
หญิงชาวพุทธผู้มีศรัทธาตั้งมั่น เธอวอนขอให้ลูกซึ่งเป็นที่รักของเธอ ว่าจะเป็นฆราวาสก็ดี จะออกบวชก็ดี ก็จงทำตนให้เป็นพระอรหันต์ เพราะหากแม้ว่าลูกจะเป็นพระเสขะ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ถึงกระนั้นลูกก็ยังจะต้องเผชิญอันตรายจากลาภสักการะและชื่อเสียง ที่ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย ซึ่งเป็นภัยต่อการบรรลุความผาสุกที่แท้จริง(สรุปความจาก ปุตตสูตร พระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ข้อ ๕๗๐)
จะเห็นได้ว่า แม่สมัยพุทธกาลนั้นหวังให้ลูกเป็นพระอรหันต์อย่างเดียวเลย แต่ไม่ได้หวังให้ลูกเป็นอรหันต์เพื่อให้ลูกได้รับการเคารพ ได้รับชื่อเสียง ได้รับความสบาย ได้โลกีย์ทรัพย์อะไรทำนองนั้นเลย เพียงแต่หวังให้ลูกนั้นพ้นภัยอันตรายจากลาภสักการะและชื่อเสียง คือให้ลูกอยู่เป็นสุข ซึ่งการจะเข้าถึงความสุขที่สุดในโลกก็คือให้ลูกนั้นเพียรพยายามศึกษาจนเป็นพระอรหันต์นั่นเอง
ส่วนแม่ในสมัยปัจจุบันก็เป็นไปตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน ศรัทธามากก็จะชัดเจนว่าไม่มีอะไรดีกว่าการส่งเสริมให้ลูกเป็นพระอรหันต์อีกแล้ว ถ้าศรัทธาน้อยก็จะโดนกระแสโลกีย์พาไป จนผลักดันลูกให้เป็นเจ้าคนนายคนบ้าง เป็นผู้มั่งคั่งบ้าง เป็นผู้มีชื่อเสียงบ้าง เป็นผู้มีอำนาจบ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามความหลงติดหลงยึดของแม่แต่ละคน
โดยพื้นฐานนั้น สิ่งที่แม่พึงให้ลูกก็คือปัจจัยสี่ แต่จะให้ดี ให้เลิศ ให้ประเสริฐก็คือให้ลูกได้มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาที่มากยิ่งขึ้น ยิ่งนำพาให้ลูกได้สิ่งนั้นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น ให้เหตุเหล่านั้นเจริญไปถึง ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาในระดับอริยะเลยยิ่งดี และดีที่สุดคือส่งเสริมให้ลูกเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ พอเป็นอรหันต์แล้วลูกจะทำอะไรต่อก็เรื่องของลูก แต่ลูกจะไม่เป็นทุกข์แน่นอน
แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่พ่อแม่จะส่งเสริมให้ลูกมีความเจริญทางด้านจิตใจได้ ถ้าตัวเองยังไม่รู้จักความเจริญนั้นจริงก็ยังไม่สามารถแนะนำสิ่งที่ดีกว่าที่ตนรู้จักให้ลูกได้ การจะทำให้ลูกนั้นเจริญด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น จึงต้องทำสิ่งนั้นให้มีในตนก่อน หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็พาลูกไปพบกับสัตบุรุษ ไปพบกับคนที่รู้ธรรมะ มีธรรมนั้นในตนจริง เข้าใจอริยสัจ อย่างแจ่มแจ้งและทำตนเองให้หมดกิเลสได้จริง แล้วให้โอกาสเขาได้ฟังสัจธรรม ได้ศึกษาเรียนรู้ และนำธรรมเหล่านั้นมาปฏิบัติจนลูกได้เกิดความเจริญเหล่านั้นขึ้นในตน
หน้าที่ของลูกก็เช่นกัน ดูแลพ่อแม่ด้วยปัจจัยสี่อันพอประมาณ แต่ถ้าถามว่าต้องดูแลพ่อแม่แค่ไหนถึงจะได้ชื่อว่า “ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่” พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบไว้ว่า ต่อให้แบกพ่อแม่ไว้บนบ่าทั้งสองข้างตลอดร้อยปี คอยเช็ดล้างทำความสะอาดให้ คอยนวดคอยดูแล มอบสมบัติ ปราสาท ราชวังให้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าได้ตอบแทนคุณแล้ว แต่ท่านบอกว่า ลูกที่สามารถพาให้พ่อแม่มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ที่เจริญขึ้นนั่นแหละ คือลูกที่ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่แล้ว
มันกลับหัวกลับหางกับทางโลกเขาเลยนะ ทางโลกเขาถือเอาวัตถุสิ่งของเป็นสำคัญ ส่วนทางธรรมนี่วัตถุก็เอาแค่พอเลี้ยงชีพ แต่ให้น้ำหนักในด้านความเจริญของจิตใจมากกว่า เราไม่จำเป็นต้องสมดุลโลกธรรมหรอก เพราะโลกที่มีแต่กิเลสเป็นตัวนำนั้นมีแต่ทุกข์ เกิดมากี่ชาติก็แสวงหาแต่ความเจริญทางโลก ไม่เคยยอมปล่อยยอมวางเสียที แม่ก็คลอดมาชาติแล้วชาติเล่า แทนที่จะศึกษาหาความรู้ที่จะทำให้แม่ไม่ต้องลำบากอีก ก็ไม่สนใจใยดีในการศึกษาหาความรู้ในการพ้นทุกข์ แต่กลับไปแสวงหาแต่สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ ก็เลยพากันวนเวียนกันอยู่ในโลก วนอยู่กับวัตถุสิ่งของ วนอยู่กับความสุขลวง วนอยู่กับอุดมการณ์ทั้งหลาย กอดโลกไม่ยอมปล่อย ก็เลยทำให้แม่ลำบากไปทุกชาติ เกิดแล้วก็เกิดอีก ไม่มีจุดจบ ไม่มีเป้าหมายในการหยุดแสวงหา ไม่มีความพอใจในเรื่องโลก
พอตนเองไม่สร้างความเจริญให้ตน ไม่นำพาความเจริญให้พ่อแม่ ไม่พากันลดกิเลส ตนเองก็ต้องเป็นทุกข์ พ่อแม่ก็ต้องเป็นทุกข์ วันเวลาผ่านไปก็มีแต่กิเลสเพิ่มขึ้นทุกวัน ได้สมใจก็เพิ่มกิเลส ไม่ได้สมใจก็เพิ่มกิเลส มันก็พากันทุกข์ชั่วกัปชั่วกัลป์นั่นแหละ ดังนั้นตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลูกที่ทำให้พ่อแม่เจริญด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น คือผู้ที่ตอบแทนบุญคุณแล้ว นั่นคือธรรมเหล่านั้นเอง ที่จะทำให้ตนเองและพ่อแม่พ้นทุกข์ไปโดยลำดับ จนถึงขั้นไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดเพราะแรงแห่งกิเลสตัณหาอีกต่อไป
ดั้งนั้น ไม่ว่าแม่จะหวังอะไรก็ตามแต่ แม้ท่านจะไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ หน้าที่หลักของลูกก็คือการนำพาความเจริญมาสู่จิตวิญญาณของแม่ โดยการทำตนให้เป็นตัวอย่าง เป็นการทำดีที่ตน ทำให้เกิดในตน ให้แม่ได้เห็นคุณค่าของความดีนั้น เห็นคุณค่าของการลดกิเลส แม้จะยากเย็นขนาดไหนก็ต้องทำ ถึงจะขนาดจะเรียกว่าทำดีให้คนตาบอดเห็นได้ก็ต้องทำ เพราะเป็นคุณประโยชน์ที่สุดที่ลูกจะพึงทำให้กับแม่ได้แล้ว และผู้ที่กระทำคุณเหล่านั้นได้ ก็ถือได้ว่าได้ตอบแทนบุญคุณแม่แล้วนั่นเอง
11.8.2559