Tag: รักตัวเอง

ไม่รักคนอื่นแล้วไม่รักตัวเองล่ะ จะพ้นทุกข์ไหม?

February 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 655 views 0

มีคำถามในประเด็นของ “การไม่รักใครคือที่สุดของความสุข ไม่มีความเศร้า” ว่า มันต่างอย่างไรกับคนที่รักหรือไม่รักตัวเอง เขาน่าจะหมายความว่า “แล้วทีนี้คนไม่รักตัวเองจะพ้นทุกข์ไหม” ล่ะนะ ก็เดา ๆ เอา

คำของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก

คำว่า อันเป็นที่รักนั้น คือสภาพของอุปาทาน เป็นความยึดมั่นถือมั่น สำคัญมั่นหมายว่านี่คือฉัน นี่ของฉัน เพราะหลงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นประโยชน์แท้

ถ้าเรายึดไปว่าสัตว์ เช่นสัตว์เลี้ยงจะเชื่องกับเราตลอด แล้ววันหนึ่งเขากัดเรา เราก็เจ็บ และเราก็ยังจะต้องเป็นทุกข์จากความผิดหวังอีกด้วย ถ้าเราไม่ยึดอะไร โดนกัดก็แค่เจ็บ แต่จะไม่ผิดหวัง เพราะไม่ได้ตั้งความหวัง

เช่นกันกับคนที่เรารัก ถ้าเราไปยึดว่าเขาจะดีกับเราตลอด แล้ววันหนึ่งมันมีเหตุปัจจัยให้เขาฉุนเฉียวใส่เรา เราก็จะผิดหวัง เศร้าหมอง เพราะเราไปยึดว่าเขาจะดีกับเราตลอด เราจะผิดหวัง เพราะเราไปตั้งความหวังไว้ผิด

เรื่องสังขารร่างกาย เช่น เราไปยึดว่าเรามีสุขภาพดี เราไม่เคยป่วย เรารักสังขารนี้ แต่พอวันหนึ่งมันป่วยขึ้นมา มันจะทุกข์มากกว่าที่ควรจะเป็นเพราะใจมันผิดหวัง มันไม่เป็นไปตามความยึดที่มี ใจมันก็ดิ้น ปฏิเสธความจริงในปัจจุบัน รำพึงรำพัน เช่นว่า เนี่ย เราไม่เคยป่วยเรา เราก็แข็งแรงมาตลอด ฯลฯ

เรื่องสังขารความคิดเช่น เรารักความเห็นนี้ของเรา เราชอบใจที่ว่าไม่กินเนื้อสัตว์นี่มันดี ไม่เบียดเบียนสัตว์ แต่พอมีคนมาพูดกระทบสิ่งที่เรารัก ทำให้สิ่งที่เรารักลดค่า โดนดูถูก เหยียดหยาม เหน็บแนม เราก็จะขุ่นเคืองใจ เพราะเราไม่อยากให้สิ่งที่เรารักเป็นอย่างอื่น อยากให้เราคิดแบบนั้น อยากให้คนอื่นเคารพในความคิดเรา อยากให้เขาคิดแบบเรา เราก็ทุกข์

ดังนั้นถ้าเราไปไม่ใส่ความรัก คือไม่ไปยึดสิ่งใดมาเป็นของตน ไม่พยายามทำให้สิ่งใดเป็นดั่งใจตน ไม่นิยมชมชอบสิ่งใดเป็นพิเศษ มันก็จะไม่ทุกข์ อันนี้อธิบายเหตุกันก่อน

ส่วนการที่ว่าคนไม่รักตนเองจะพ้นทุกข์ เป็นสุขไหม? อันนี้มันเป็นปัญหาของการสื่อภาษา จะอธิบายได้ทั้งสองแบบก็ได้ คือพ้นทุกข์กับไม่พ้นทุกข์

เช่น ถ้าไม่รักตนเอง ไม่หลงตน ไม่สำคัญตนในความเป็นตน ยังไงก็พ้นทุกข์ เป็นสุข คือสภาพของการสลายอัตตาทิ้ง จะเหลือแต่ปัญญา ก็ใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

หรือ ถ้าไม่รักตนเอง ทำแต่บาปและอกุศลกรรม ใช้ชีวิตเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น อันนี้มันก็มีแต่ทุกข์และนรกเป็นที่ไป

รักตัวเองก็เช่นกัน มันก็รักได้ทั้งแบบเพิ่มกิเลสและแบบลดกิเลส ถ้ารักให้ถูกต้องลดกิเลส ทำประโยชน์แก่ตน แต่คนทั่วไปเขาจะเข้าใจว่ารักตัวเอง คือการบำเรอตนเอง หาอาหารแพง ๆ อร่อย ๆ มาให้ตนเสพ พาตนเองไปเที่ยว ไปเสพสุขที่ต่าง ๆ อันนี้เขาก็เรียกว่ารักตนเอง

ภาษามันก็ดิ้นกันได้ มันต้องดูว่าเขามีเจตนาทางกาย วาจาใจอย่างไร ทำแล้วหมายให้เกิดอะไร แต่การจะไม่รักตัวเองให้ได้นั้น จะต้องเลิกรักสิ่งอื่น สัตว์อื่น คนอื่นให้ได้ก่อน เพราะตัวเรานี่เป็นสิ่งที่เรารักที่สุด มันต้องมีลำดับของการถอยออกมา คือเลิกรักสิ่งรอบตัวก่อน แล้วมันจะเหลือแต่ความรักตัว รักในความเห็นตัวเอง สุดท้ายจะไปติดแถว ๆ “มานะ” ซึ่งเป็นสังโยชน์เบื้องสูง นั่นคืออาการรักในความเห็นตน มันรัก มันยึด มันก็เลยไม่ไปไหน ไม่เจริญไปมากกว่านั้น

ความรักของเรา เธอรักฉัน ฉันรักเธอ… หรือฉันรักตัวเอง

January 31, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,181 views 0

ความรักของเรา เธอรักฉัน ฉันรักเธอ... หรือฉันรักตัวเอง

ความรักของเรา เธอรักฉัน ฉันรักเธอ… หรือฉันรักตัวเอง

…ความรักที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร?

ในบทความก่อนหน้านี้ได้ขยายเหตุว่าทำไมฉันจึงไปหลงรักเขาในมุมของกรรมกันมาแล้ว ในบทความนี้ก็จะมาขยายกันในมุมของกิเลสบ้าง ซึ่งจะทำให้เห็นภาพกิเลสได้ชัดเจนแค่ไหนก็ลองอ่านแล้วค่อยๆพิจารณาตามกันดู

ความรัก นั้นคือความอยาก แต่ในความอยากนั้นก็มีมิติที่ซับซ้อนทั้งดีและร้าย ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นไปในทางร้าย คือมีกิเลสปนอยู่ในความอยากนั่นเอง กิเลสเป็นตัวที่ผลักดันให้เราหลง ทำให้เราให้โอกาสเขาเข้ามาในชีวิต ทำให้เราตัดสินใจรัก หากเรายังไม่สามารถ “เห็น” กิเลสในตัวเองอย่างชัดเจน จนมั่นใจว่าความรักของฉันครั้งนี้นี่มันเกิดจากกิเลสตัวนั้นตัวนี้ ก็ยากที่จะเข้าใจความรักที่แท้จริงได้ เพราะโดนกิเลสบังไว้จนกลายเป็น “ความรัก(จากกิเลส)ทำให้คนตาบอด

ในบทความนี้เราก็จะนำเสนอเรื่องกิเลสด้วยกันสี่หัวข้อคือ

  • 1). กลยุทธ์ในการหาคนมาบำเรอกิเลส : เริ่มต้นกันตั้งแต่เริ่มหาคู่กันเลย เป็นการเกิดขึ้นของกิเลส
  • 2). ทาสกิเลส : สภาพการตั้งอยู่ของความรักจากกิเลส
  • 3). คะนองกิเลส บทพิสูจน์ว่าฉันรักใคร : สภาพการดับลงไปของความรักที่เต็มไปด้วยกิเลส
  • 4). กรรมกิเลส ที่สร้างขึ้นมา : เป็น “ผล” ที่เกิดขึ้นจากความรักที่มีแต่บาปและอกุศล

หัวข้อทั้งหมดที่ได้เรียบเรียงมานั้นก็เพื่อจะนำเสนอให้เห็นกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น การดำเนินอยู่ จนกระทั่งการจบลงไป ซึ่งหากเราได้สำรวจและทบทวนดีๆก็จะเห็นได้ว่าในการคบหากันนั้นมีสภาพของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หลายครั้งจนนับไม่ถ้วน มันเกิดขึ้นเพราะอะไร มันตั้งอยู่นานเท่าไหร่ แล้วมันดับไปได้อย่างไร เราจะมาเรียนรู้กิเลสตามหัวข้อเหล่านี้กัน

1). กลยุทธ์ในการหาคนมาบำเรอกิเลส

การจะมีคู่ได้นั้น บางคนก็เป็นเรื่องยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร บางคนก็ง่ายยิ่งกว่าปลอกกล้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สังเคราะห์ขึ้นมาเช่น หน้าตาดี มีความมั่งคั่ง มีชื่อเสียง พูดจาดี อาจจะเป็นสิ่งที่ติดมาตั้งแต่เกิดหรือสิ่งที่ฝึกฝนหรือสร้างใหม่ขึ้นในชาตินี้ก็ได้

กลยุทธ์ในการมีคู่หรือหาคนมาบำเรอกิเลสนั้น จะอธิบายกันด้วยภาพกว้างๆ 3 ลักษณะ คือ รุก , รอสวนกลับ , รับ ซึ่งจะมีลีลาอาการที่แสดงออกต่างกัน ไม่จำเป็นว่าต้องมีแผนเดียวเสมอไป สลับสับเปลี่ยนแผนได้ตามกำลังกิเลสที่มี

1.1). รุก (จีบ)

คนที่เป็นฝ่ายรุกนั้นจะเป็นใครก็ได้ จะเป็นคนหน้าตาดีก็ได้ หน้าตาไม่ดีก็ได้ การรุกคือการเข้าไปจีบ การแสดงความอยากครอบครองโดยการสนองกิเลสต่างๆให้กับเป้าหมาย เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่หวัง โดยมากมักจะเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เช่น คนสวย คนรวย คนมีชื่อเสียง แต่ถึงจะไม่มีสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวกระตุ้น แค่ใช้แรงกระตุ้นจากธรรมชาติในแบบชายหญิงตามสัญชาติญาณของคนมีกิเลสทั่วๆไป ก็สามารถที่จะรุกได้เหมือนกัน หรือถ้าเขาหรือเธอสามารถกระตุ้นกิเลสเราได้มากพอที่เราจะอยากได้เขาจนตัวสั่นความอยากก็จะทำให้เรารุกเช่นกัน

คนที่ไม่มีวาสนาเก่ามาเช่น หน้าตาไม่ดี บ้านไม่รวย ก็อาจจะต้องเล่นเกมรุก เพราะคงจะหาคนมารุกตัวเองได้ยาก ตั้งรับไปก็ไม่มีใครมารุก แห้งเหี่ยวอยู่อย่างนั้น แต่กิเลสจะไม่ปล่อยให้เราแห้งตายอยู่แบบนั้น แม้จะหน้าตาไม่ดี บ้านไม่รวย พูดไม่เก่ง แต่พลังกิเลสจะกระตุ้นให้เราพัฒนา ออกกำลังกาย แต่งหน้าแต่งตัวให้ดูดี ทำศัลยกรรม ขยันทำงาน เก็บเงิน สร้างภาพ หัดพูดกับคนเยอะๆ นี่คือพลังของกิเลสที่สามารถสร้างพลังที่จะใช้ “รุก” ได้นั่นเอง

แม้คนที่มีหน้าตาดี บ้านรวย มีชื่อเสียง พูดจาดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะชอบเล่นเกมรับเสมอไป เขาหรือเธออาจจะชอบเล่นเกมรุกด้วยปัจจัยที่มีมากกว่าคนอื่น จึงสามารถรุกไปจับจิตใจของใครหลายๆคนได้โดยง่าย จึงเกิดเป็นสภาพของ “คนเจ้าชู้” เพราะเขาเหล่านั้นต้องการเสพสิ่งที่มากกว่า สิ่งที่ดีกว่าอย่างไม่จบไม่สิ้น

การรุกนั้นมักจะถูกใช้เมื่อเราต้องการได้สิ่งนั้นมากๆ ความอยากเสพสุขจากกิเลสนั้นไม่มีที่สิ้นสุด เสพไปก็อยากได้เพิ่ม อยากได้มากกว่าเดิม ดังนั้นการที่เรารุกเข้าไปในชีวิตใครก็สังเกตให้ดีว่าเรากำลังอยากได้ อยากมี อยากเสพอะไรในตัวเขากันแน่

1.2). รอสวนกลับ (รอจับ)

คนที่รอสวนกลับมักจะไม่รุกในทีแรก ทำเหมือนไม่สนใจใคร แต่จะเปิดช่องให้คนอื่นเข้ามาได้บ้าง ไม่ปิดตัวเองเสียทีเดียว พอมีคนหลงเข้ามา หากถูกใจก็จะรุกในทันทีจนเหยื่อตั้งรับไม่ทัน เรียกว่า “โดนจับ” มีให้เห็นโดยมาก เป็นสภาพซ้อนของการรุกที่มีชั้นเชิงของกิเลสมากขึ้น

สาเหตุของการรอสวนกลับ นั่นเพราะเขามักจะมีโลกธรรมสูง เช่นขี้อาย กลัวคนนินทา กลัวทำตัวไม่ถูก จึงมีฟอร์ม มีการวางท่า มีความลึกลับซับซ้อน ไม่ตรงไปตรงมา ไม่จริงใจ ทีเล่นทีจริง อยากรุกแต่ก็รุกไม่เป็น กลัวว่าถ้ารุกไปแล้วจะพลาดพลั้งหรือเสียฟอร์มก็เลยวางเกมรับแล้วรอสวนกลับ

เรียกง่ายๆว่ารอคนอื่นเปิดเกมก่อนแล้วจะเล่นตาม ซึ่งกิเลสก็จะมาเสริมทัพในด้านการเพิ่มโอกาสให้มีคนเข้ามาหา เหมือนกับวิธีรุก คือทำตัวให้ดูดี น่าคบหา ยั่วกิเลสกันไป เหมือนกับดอกไม้กินแมลงที่พอเหยื่อหลงเข้ามาแล้วก็จะงับทันที

1.3). รับ (มีให้เลือก)

คนที่ใช้กลยุทธ์รับโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะมีพร้อมด้วยกามคุณและโลกธรรม เช่นมีรูปร่างที่สวย หน้าตาดี เสียงเพราะ ฐานะดี การงานดี มีชื่อเสียง เป็นต้น

ในสมัยนี้แค่หน้าตาดีก็รับกันไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว จะมีคนมาแจกขนมจีบจนแทบไม่ได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น ต้องมาคอยบริหารเสน่ห์ จัดการกับผู้ที่วนเวียนเข้ามาในชีวิต

ผู้รับมักจะเป็นผู้เลือก แต่ก็มักจะไม่เลือกในทันที เพราะมีให้เลือกมาก ทำเหมือนจะเลือกแต่ก็ไม่เลือก แทงกั๊กอยู่เสมอ เหมือนแมวที่เล่นเหยื่อแต่ไม่ยอมกินเหยื่อ จนกระทั่งมั่นใจว่าคนนั้นแหละคือคนที่จะมาบำเรอกิเลสของฉันได้ ก็จะจับเหยื่อในท้ายที่สุด

การรับนั้นเป็นสิ่งที่เป็นภัยต่อตัวเองเช่นกัน เพราะยิ่งมีเสน่ห์เท่าไหร่ก็จะยิ่งเป็นสิ่งที่สร้างกระแสแห่งบาปมากเท่านั้น เพราะจะทำให้คนหลง คนมัวเมา ยกตัวอย่างเช่นผู้หญิงหน้าตาดี ถ้ายิ่งแต่งตัวโป๊คนก็จะยิ่งมอง และถ้ายิ่งมนุษย์สัมพันธ์ดีคุยกับเขาไปทั่วเขาก็จะหลงกันหมด ที่หลงนั่นคือหลงอยากเสพ จึงกลายเป็นภัยต่อตัวเองและผู้อื่น

การจะคงสภาพ “รับ“ ได้นั้นจำเป็นต้องบริหารเสน่ห์ตัวเองไปเรื่อยๆ ต้องแต่งหน้า แต่งตัว ทำผม สร้างภาพ สับราง บริหารเสน่ห์ โดยที่ต้องแข่งกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและแข่งขันกับคู่แข่งมากมายที่อาจจะมารุกใส่คนที่เราหมายตาอยู่ก็ได้

คนที่เอาแต่รับนั้นยากที่จะเปลี่ยนเป็นรุก เพราะมักจะสั่งสมกิเลสไว้มาก สร้างโลกธรรม สร้างอัตตามาครอบตัวเองไว้ ว่าฉันนี้ดีพร้อม คนอื่นต้องวิ่งเข้าหาฉัน ทำตัวเหมือนดอกไม้ที่รอแมลงเข้ามา ไม่สามารถขยับไปหาแมลงได้ กลายเป็นติดภพ จมอยู่ในภาพลักษณ์ที่ตัวเองสร้างขึ้นมา

2). ทาสกิเลส

ไม่ว่าจะรุก รอสวนกลับ หรือตั้งรับ สุดท้ายเป้าหมายก็คือการได้มาซึ่งคู่ครองที่หมายตาไว้อยู่ดี ซึ่งอาจจะดีดังใจหวัง มากกว่าที่คาดหวัง หรือจะแย่กว่าที่หวังนั้นก็ไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งสำคัญก็คือ “ฉันเลือกเขามาเพราะฉันคิดว่าเขาจะสามารถบำเรอกิเลสของฉันได้

นั่นคือเราจะเลือกคนที่เราคิดว่าในอนาคตเราจะได้เสพสิ่งที่หวังไว้ สิ่งที่หวังของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน หนาบางลึกตื้นไปตามกิเลส

…บางคนแค่อยากสมสู่ก็หาใครก็ได้ที่ใจง่ายๆมาคบกันเพราะรู้ว่าในที่สุดก็จะได้สมสู่ สุดท้ายเราก็แค่เอาเขามาสนองความใคร่

…บางคนแค่อยากมีเพื่อนร่วมเสพในกิจกรรมต่างๆ กินเที่ยวด้วยกันก็หาคนที่คิดเหมือนกัน สุดท้ายเราก็ได้คู่มาช่วยสนองกิเลสกันและกัน

…บางคนแค่อยากรวยก็หาใครก็ได้ที่มีเงิน ไม่จำเป็นว่าต้องหล่อหรือจิตใจดีขอแค่รวยก็พอ เพราะรู้ว่ายังไงเราก็จะได้เงินใช้สุดท้ายเราก็แค่อยากรวยโดยไม่ต้องลำบาก

…บางคนแค่อยากมีลูกก็เลยหาใครก็ได้มาเป็นพ่อแม่ของลูก เอาที่ดูดีหน่อย เชื้อจะได้ดีๆ สุดท้ายเราก็แค่อยากเสพอารมณ์ในการมีลูก

…บางคนแค่อยากมีชื่อเสียง ก็เลยหาคนที่มีชื่อเสียงในสังคมแล้วก็ใช้เขาเป็นตัวกระตุ้นชื่อเสียงตัวเอง สุดท้ายเราก็แค่เอาเขามาเสริมโลกธรรมของเรา เพิ่มสรรเสริญให้กับเรา

…บางคนแค่ขี้เกียจทำงานอยากมีคนดูแลก็เลยหาคนที่พอจะมีศักยภาพในการดูแลทั้งชีวิตนี้ได้และเกาะเขาไปเป็นที่พึ่ง สุดท้ายเราก็แค่อยากได้คนมาเลี้ยงดูชีวิต

…บางคนแค่หลงว่าเกิดมาแล้วต้องมีคู่จึงจะมีคุณค่า ก็เลยหาใครสักคนที่พอสมน้ำสมเนื้อมาควงคู่ไม่ให้ใครเขานินทาว่าอายุปูนนี้แล้วยังไม่มีใครเอา สุดท้ายเราก็แค่เอาเขามาปกป้องโลกธรรมของเรากลัวคนนินทา

…บางคนแค่หลงว่าชีวิตที่สมบูรณ์ต้องแต่งงานมีครอบครัว ก็เลยหาใครสักคนที่เหมาะจะมาเป็นสามีหรือภรรยา สุดท้ายเราก็แค่สนองความหลงของเรานั่นเอง

…บางคนแค่อยากหาเพื่อนร่วมชีวิต ที่จะดูแลกันไปจนแก่เฒ่า ก็เลยหาใครสักคนที่ดูมั่นคงและซื่อสัตย์และพร้อมจะดูแลเราเข้ามาในชีวิต สุดท้ายเราก็แค่กลัวลำบากไม่มีใครดูแล

…บางคนแค่หลงว่าเราสามารถมีคู่ใช้ชีวิตร่วมกันทำกุศล สร้างความดี ความเจริญร่วมกันได้ ก็เลยหาคนที่ดูมีบุญบารมีที่เหมาะควร สุดท้ายเราก็แค่หลงไปในกิเลส หาเรื่องครองคู่โดยใช้ข้ออ้างที่สวยหรูมาบังหน้าเพื่อเสพกามและอัตตา

…บางคนแค่เหงาก็เลยหาใครสักคนคนเข้ามาในชีวิตเพื่อเป็นเพื่อนคุย สุดท้ายพอหายเหงา หลุดจากสภาพที่ต้องทนเหงา หรือมีคนอื่นที่ดีกว่ามาแก้เหงา ใครคนนั้นก็หมดค่าเพราะไม่จำเป็นต้องใช้เขาสนองกิเลสอีกต่อไป

สรุปแล้วคนที่เราเลือกมาเป็นคู่นี่แหละคือคนที่ซวยสุดซวย เพราะต้องมารองรับกิเลสของเรา ต้องคอยสนองกิเลสของเรา เป็นทาสกิเลสของเรา ต้องบำเรอเรา เป็นสิ่งที่มาสนองกิเลสของเรา “ฉันเลือกเธอมาเพราะฉันคิดว่าเธอจะดูแล(กิเลส) ของฉันได้

หลายคนอาจจะคิดว่า เอ๊ะ! ฉันก็รักเขา ฉันก็ดูแลเขา ฉันก็จริงใจกับเขานะ …ความรู้สึกนี้มันก็ใช่ แต่มันทำไปเพื่ออะไรล่ะ เรายอมสละ ยอดอดทน ยอมทุ่มเท แรงกาย แรงใจ พลีกายถวายชีวิต ทั้งหมดก็เพื่อเสพบางสิ่งจากคู่ครองใช่ไหม นั่นแหละคือสิ่งที่เราจ่ายไปเพื่อที่จะได้สิ่งที่เราคิดว่ามากกว่ามาเสพ “ที่ฉันทุ่มเทให้เธอเพราะฉันคิดว่าเธอจะสามารถบำเรอสุขให้ฉันได้มากกว่าที่ฉันทำไป

เมื่อใช้กิเลสเข้ามาเป็นแรงผลักดันในการครองคู่กันสุดท้ายก็จะเกิดเป็นกรรมชั่วในที่สุด กลายเป็นคู่เวรคู่กรรม สะสมกรรมชั่วกันเพิ่มในชาตินี้ เช่น ไปกินของอร่อยบำเรอกิเลสด้วยกัน ไปท่องเที่ยวตามกิเลสด้วยกัน ไปร่ำรวยสนองกิเลสด้วยกัน ไปมีชื่อเสียงเติมกิเลสของกันและกัน

ในการครองคู่นั้นยากนักที่จะหลีกเลี่ยงการสนองกิเลสให้แก่กันและกัน แทบจะทุกเหตุการณ์ของชีวิตที่เป็นการเพิ่มกิเลส ได้เสพสมใจก็กิเลสเพิ่ม อยากเสพอีก ไม่ได้เสพก็ทุกข์ใจคับแค้นใจ โกรธจนสะสมกิเลสอีก ดังนั้นการครองคู่จึงสะสมเชื้อทุกข์ สะสมกิเลสพอกไปเรื่อยๆ ออกดอกออกผลแห่งบาปไปเรื่อยๆ

3). คะนองกิเลส บทพิสูจน์ว่าฉันรักใคร

ในตอนที่เราหลงติดหลงยึดจนอยากเสพ มันจะมีภาพฝันสวยๆของการครองคู่ เช่น เราจะรักกันไปจนแก่ เราจะมีลูกด้วยกัน มีบ้านน่ารักๆ ดูลูกหลานวิ่งเล่นพร้อมกับใช้ชีวิตรักอย่างเป็นสุข หรือถึงแม้เขาหรือเธอจะแก่ไปฉันก็จะรัก แม้ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ป่วย พิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ฉันก็จะดูแลเธอเอง

กิเลสก็จะพาให้ฝันหวานไปแบบนี้เอง เพราะจินตนาการมันถูกผลักดันด้วยกิเลส พอใจมันอยากเสพก็จะพิจารณาแต่ประโยชน์ คือจะมองเห็นแต่ข้อดีของการมีคู่ เห็นแต่สุข ไม่เห็นทุกข์เลย มันจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง ตามันมองเห็นแต่ก็มืดบอดมองความจริงไม่เห็น หลงอยู่ในสภาพสุขที่กิเลสหลอกไว้

แล้วก็ใช้เวลาครองคู่สนองกิเลสกันบ้าง ไม่สนองกันบ้าง เพราะความจริงแล้วคู่ที่เราเลือกมาเขาก็ใช้เราเป็นสิ่งสนองกิเลสของเขาเหมือนกัน เขาก็มีความอยากของเขา แรกๆมันก็จะยอมกันไปได้บ้าง พลัดกันเสพ ฉันยอมให้เธอ เธอยอมให้ฉัน เรารักกัน ให้อภัยกัน พลัดกันเสพสุขกันไป

แต่กิเลสมันไม่ได้หยุดแค่นั้น เมื่อชีวิตของการครองคู่คือการสนองกิเลสของกันและกัน ก็จะมีแต่การเพิ่มกิเลสกันไปกันมา สุดท้ายวันหนึ่งกิเลสก็จะก้อนใหญ่ขึ้น อยากเสพมากขึ้นในขณะที่ประสิทธิภาพของการสนองกิเลสนั้นลดลง จึงนำมาซึ่งการผิดใจกัน ขัดใจกัน ไม่ยอมกัน

…ในตอนนี้เราจะเริ่มรู้ได้ชัดแล้วว่า ”เรารักใคร ” ในตอนที่กิเลสมันพุ่งพล่าน อยากได้อยากเสพ คิดว่าตัวเองถูกต้อง เอาแต่ใจนั่นแหละ เราจะเห็นว่าที่แท้จริงเรารักใคร

ที่เราโกรธ ไม่พอใจ ขัดใจ ขุ่นมัวในใจ เป็นเพราะเราไม่ได้เสพสมใจในสิ่งที่คาดหวังไว้ นั่นเพราะเราไม่ได้รักเขาตั้งแต่แรก เรารักตัวเองแล้วเราเอาเขามาเป็นเครื่องสนองกิเลสตัวเอง พอเขาสนองไม่ได้เราก็จะมีอาการหงุดหงิดเหล่านี้เพราะมันไม่สมใจตัวเอง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในลักษณะเหล่านี้เองเป็นตัวสรุปว่าแท้จริงแล้ว “ฉันรักตัวเอง

5). กรรมกิเลส ที่สร้างขึ้นมา

เพราะความ “รักตัวเอง” นี่เองเราจึงยินดีสร้างกรรมขึ้นมา คือยินดีที่จะไปหาใครสักคนมาสนองกิเลสของเรา มาเป็นคนบำรุงบำเรอกิเลสเรา โดยใช้ข้ออ้างว่ามันคือ “ความรัก” แน่นอนว่ามันคือความรัก แต่เป็นความรักตัวเองจนต้องหาผู้อื่นมาบำเรอตน นั่นหมายถึง “ความเห็นแก่ตัว” อย่างยิ่งยวด

ความเห็นแก่ตัวจะทำให้เราคิดถึงแต่ตัวเอง มองแต่ตัวเอง คิดว่าโลกหมุนรอบตัวเอง กลายเป็นให้ความสำคัญกับตัวเองมากที่สุด เมื่อให้ความสำคัญกับตนเองมากที่สุด ก็หมายถึงมี “อัตตา” ที่มาก

นั่นจึงนำมาสู่การเบียดเบียนผู้อื่นโดยที่ไม่รู้สึกผิด ไม่รู้ว่าการไปกระตุ้นกิเลสหรือการไปยั่วกิเลสของคนอื่นเป็นบาปแค่ไหน เพราะตนนั้นหลงเสพสุขในอัตตาของตัวเอง เพื่อให้คนอื่นมาเติมเต็มความเป็นตัวของตัวเอง เช่นฉันเป็นคนแบบนี้, ต้องแต่งตัวแบบนี้, กินอาหารแบบนี้, เธอต้องปฏิบัติกับฉันแบบนี้, วันพิเศษต้องทำแบบนี้, เวลาฉันโกรธต้องง้อฉันก่อน ฯลฯ เหล่านี้คือสภาพของความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง ซึ่งถูกซ่อนอยู่ภายใต้ภาพสวยๆในอุดมคติของสิ่งที่เรียกว่าความรัก

ความฝันที่สวยงามในชีวิตคู่ คงไม่จริงเท่าความเห็นแก่ตัวที่เห็นกันอยู่ชัดๆ จนกระทั่งสามารถเอาชีวิตอื่นมาบำเรอกิเลสตนได้ นั่นจึงเป็นการสะสมบาปและอกุศลกรรมร่วมกัน สร้างทุกข์ โทษ ภัยสะสมไว้ส่งผลกับตัวเองทั้งในชาตินี้ ชาติหน้าและชาติอื่นๆต่อไป

เป็นกรรมจากกิเลสที่ต้องรับในอนาคต เหมือนดังที่หลายคนได้เจอกับสภาพที่ต้องทุกข์เพราะความรัก ทุกข์เพราะคนรัก นั่นก็เพราะมันมีหนี้บาปกันมา เคยสนองกิเลสกันมา พอมาเจอกันในชาตินี้เชื้อชั่วในจิตใจก็จะดูดดึงกันเหมือนกับสภาพรักตั้งแต่แรกเจอ นั่นแหละ “ตัวเวรตัวกรรม” มันจะลากให้ไปทำชั่วกันต่อ ให้ไปสั่งสมกิเลสร่วมกันต่อ ให้วนเวียนอยู่ในโลกไปด้วยกันต่อ แล้วก็ต้องเจอทุกข์จากความรักวนเวียนไปไม่รู้จบ

เพราะยิ่งครองคู่ก็จะยิ่งสร้างกรรมชั่ว ไม่มีการครองคู่ใดเป็นไปในฝั่งกุศลฝ่ายเดียวอยู่แล้ว มันจะมีอกุศลหรือสิ่งชั่วปนไปด้วยเสมอ และโดยส่วนมากมันก็จะชั่วมากกว่าดี ดังนั้นยิ่งมีคู่มาก มีรักบ่อย เปลี่ยนคนรักบ่อยก็ยิ่งต้องรับผลชั่วที่ทำไว้มาก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีคู่คนเดียวแล้วจะดีเสมอไป การมีคู่โผล่มาคนเดียวในชีวิต โดยความเข้าใจทั่วไปก็จะเหมือนคู่แท้ ที่ผูกกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ซื่อสัตย์จริงใจ ไม่เคยคบใครนอกจากคนนี้ แต่นั่นหมายถึงกรรมชั่วทุกอย่างมันก็จะมารวมที่คนนี้คนเดียวนั่นแหละ กรรมเขาก็จะจัดสรรเหตุการณ์ที่เจ็บปวด เผ็ด แสบร้อนให้ต้องทุกข์ในท้ายที่สุดทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ดี

ดังนั้น การไม่มีคู่เสียเลยยังจะดีกว่า อย่างน้อยก็ไม่ต้องลากใครเข้ามาเพิ่มในบ่วงกรรมของเรา ไม่ต้องให้เขาต้องมาคอยบำเรอกิเลสเรา เราก็ไม่ต้องลำบากไปสนองกิเลสเขา เพราะเราไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว จึงยอมปล่อยให้เขาไปเผชิญกับชีวิตตามกรรมของเขา ความไม่เห็นแก่ตัวนี้เองคือความเมตตา คือความรักที่แท้จริง คือความรักที่มีต่อผู้อื่นอย่างแท้จริง เป็นความรักที่เต็มไปด้วยปัญญารู้แจ้งในกิเลสและกรรม เมื่อเข้าใจและปล่อยวางได้เช่นนี้ จึงจะเรียกได้ว่า “ฉันรักเธอ” ได้อย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

28.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

January 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,475 views 0

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

…ทำอย่างไรถึงเรียกว่ารักตัวเอง เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ไม่ทำร้ายตัวเอง

รักตัวเอง” เป็นประโยคสั้นๆ ที่เข้าใจกันได้อย่างหลากหลาย เรามักจะใช้ประโยคนี้ในการปลอบใจตัวเอง เยียวยาจิตใจที่กำลังเศร้าหมองด้วยการให้คุณค่ากับตัวเอง

การรักตัวเองนั้นสามารถแสดงออกได้หลายลีลาท่าทาง แน่นอนว่าหลายคนก็ต่างพูดว่าตนนั้นรักตัวเอง ทำเพื่อตนเอง หรือกระทั่งทำเพื่อผู้อื่นเพื่อให้ตนเองมีความสุข และอื่นๆอีกมากมาย

ทำไมทุกคนที่บอกว่ารักตัวเองถึงมีวิถีชีวิตต่างกัน มีวิธีคิดต่างกัน มีเป้าหมายที่ต่างกัน แล้วรักตัวเองแบบไหนถึงจะเรียกว่ารักจริง เราจะลองมาเรียนรู้ที่จะรักตัวเองกันได้อย่างแท้จริงเสียที จาก 3 ลีลาความรักตัวเอง รักด้วยกาม รักด้วยอัตตา รักด้วยอนัตตา จะเป็นแบบไหนลองมาอ่านกัน

1). รักตัวเอง (กาม)

ความรักตัวเองในมุมของกามหรือการหา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จนกระทั่งหา คน สัตว์ สิ่งของมาเสพ จะเป็นมุมที่เห็นได้ทั่วไปเช่น คนที่คิดว่าเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้มันสุดๆ กิน เที่ยว เล่น ให้มันสุขสุดๆ เพราะเข้าใจว่ารักตัวเองเลยพยายามหาสิ่งมาบำเรอความสุขให้กับตัวเอง เข้าใจว่าต้องทำให้ตัวเองเป็นสุขจากการเสพจึงจะเรียกว่ารักตัวเอง

ความรักตัวเองในมุมของกามเช่นนี้ ยังอยู่ในลักษณะที่เห็นแก่ตัวอยู่มาก เช่น เราชอบกินเนื้อสัตว์ เรารักตัวเองมากจึงพยายามหาเนื้อสัตว์มาเสพสุข พร้อมทั้งหาข้อมูลอ้างอิงว่าเนื้อสัตว์นั้นดี มีคุณค่า ให้ความสุข หาธรรมะมาอ้างว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ผิด ยึดมั่นถือมั่นเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งจำเป็น เป็นของสำคัญ จะให้ตัดเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตก็ไม่ได้ เพราะรักตัวเอง กลัวอด กลัวไม่ได้เสพสุข กลัวขาดสารอาหาร เมื่อเรารักตัวเองมากๆ จนเข้าขีดของความเห็นแก่ตัว จึงยินดีที่จะเบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ตัวเองได้เป็นสุข

แม้แต่การรักผู้อื่นก็เช่นกัน ในมุมของการเอาใจผู้อื่น บางครั้งก็เกิดจากความรักตัวเองมาก จนสามารถใช้การล่อลวง ใช้คำหวาน ใช้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เข้าไปทำให้ผู้อื่นหลงงมงายจนยอมตกลงปลงใจกับเรา จนกระทั่งเราได้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเหล่านั้นมาเสพ นั่นเพราะเรารักตัวเองมาก เราจึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้คนอื่นมาเสพ

การรักตัวเองแล้วบำเรอสุขจากการเสพให้ตัวเองนั้น ไม่ใช่ความรักตัวเองเลย แต่เป็นความหลงในกิเลส หลงว่ากิเลสเป็นตัวเราก็เลยเอาอาหาร ทรัพย์สินเงินทอง เวลา สุขภาพ ฯลฯ ไปให้กับกิเลสโดยหลงเข้าใจว่านั่นคือตัวเรา หลงไปว่าตัวเราชอบกินเนื้อสัตว์ ตัวเราชอบเที่ยว ตัวเราชอบแต่งตัว ตัวเราอยากได้รถโก้และบ้านหลังโต ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นคำสั่งจากกิเลส

การรักตัวเองแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรก็ได้ แค่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกิเลสนำพา ตรงไหนสุขก็ไปเสพ ตรงไหนทุกข์ก็หนี แสวงหาที่เสพสุขวนเวียนสะสมบาปสะสมอกุศลอยู่เรื่อยไป เพราะความรักตัวเองเช่นนี้ คือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง นำวิบากบาปมาให้ตนเองอย่างแท้จริงเป็นทางแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

การจะบอกว่ารักตัวเองแล้วยังแสวงหาสุขลวงจากกิเลสมาเสพ นั่นหมายถึงการทำทุกข์ทับถมตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วจะเรียกว่ารักตัวเองได้อย่างไร

2). รักตัวเอง (อัตตา)

ความรักตัวเองในมุมของอัตตา เป็นอีกมุมหนึ่งที่เห็นได้เป็นประจำ กามและอัตตาจะยังมีผสมปนเปอยู่ในจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่เสมอ ไม่ได้หมายความว่ามีอัตตาแล้วจะไม่มีกาม ทางโต่งทั้งสองด้านนี้จะเติมพลังให้แก่กันอยู่เสมอ ผลัก-ดูด, รัก-ชัง, ชอบ-ไม่ชอบ สลับกันไปมาเช่นนี้เสมอ

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่น คือมีตัวเราของเรา เห็นกิเลสเป็นตัวเป็นตนของเรา เช่นเรารักตัวเองมาก เห็นว่าตัวเองเป็นคนดี เข้าวัด ทำบุญ แต่พอมีคนมานินทา เหน็บแนม ก็รู้สึกโกรธนั่นก็เพราะว่าเรารักตัวเองมากเกินไป รักจนยึดเป็นตัวเป็นตน รักจนไม่ยอมให้ใครมาแตะต้องได้

หรือการที่เรามีความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ความเชื่อความเข้าใจแบบใดแบบหนึ่ง เราก็จะรักและยึดมั่นสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวเรา กอดมันไว้กับเรา ถ้ามีใครเห็นด้วยเราก็จะยินดีกับเขา แต่พอมีคนที่ไม่เห็นด้วยพร้อมทั้งการแสดงท่าทีหรือความเห็นที่แตกต่าง ความเห็นเหล่านั้นก็กระทบกับเกราะแห่งรัก(อัตตา,รักลวง) ก่อนที่จะเข้ามาถึงใจเรา นั่นคือเมื่อเรารักตัวเองมาก เราก็จะ”ไม่ฟัง” ไม่ยินดีรับฟัง ไม่อยากฟังอะไรที่ขัดกับความเห็นของเรา เขาพูดอะไรก็จะไม่สนใจ คิดแต่เพียงว่า ฉันก็เชื่อของฉันแบบนี้, ฉันได้ของฉันแบบนี้, ของเธอไม่ดีหรอก หรือถ้าหนักๆเข้าก็อาจจะถล่มอีกฝ่ายด้วยความรักตัวเองจนเกินจะระงับไว้ได้นั่นเอง

คนที่มีความเห็นผิดก็มักจะยึดเอาความเห็นผิดไว้เป็นที่พึ่ง เป็นหลักยึด เป็นคติ เป็นข้อปฏิบัติ และเห็นสิ่งที่ผิดเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะควรอยู่แล้ว นั่นคือเกิดสภาพยึดไปแล้ว และเป็นการยึดความเห็นผิดอีกต่างหาก อัตราส่วนของคนที่ยึดความเห็นผิดต่อความเห็นที่ถูกต้องก็ราวๆ จำนวนเส้นขนวัวทั้งตัวเมื่อเทียบกับ 2 เขาวัว ซึ่งนั่นหมายความว่าโอกาสที่จะได้รับฟังความเห็นที่ถูกก็น้อยยิ่งกว่าน้อย และเมื่อคนที่ยึดความเห็นผิดเป็นตัวเป็นตน เมื่อได้ฟังความเห็นที่ต่างจากที่ตัวเองยึดไว้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกแต่ก็จะเป็นผิดทั้งหมด

ความรักตัวเองในมุมของอัตตาจะส่งผลให้กลายเป็นคนที่ติดอยู่ในภพ ติดอยู่ในความเชื่อหนึ่งๆ ตัวตนหนึ่งๆ สภาพหนึ่งๆ รูปแบบหนึ่งๆ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว คือเห็นแต่เรื่องของตัวเองเป็นสำคัญ เรื่องของคนอื่นไม่สำคัญ ของตนสำคัญที่สุด คนอื่นผิด ฉันถูก หรือคนอื่นอาจจะผิดไม่มาก แต่ฉันถูกเสมอ

การรักตัวเองแบบมีอัตตาก็จะสามารถรักและเมตตาคนอื่นได้เช่นกัน แต่จะเป็นสภาพที่ซับซ้อนของกิเลส นั่นคือไปยึดเหตุการณ์ รูปแบบ ลักษณะแทน เช่น ฉันจะต้องเป็นคนมีเมตตา ฉันจะต้องมีน้ำใจ ฉันจะต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ ซึ่งอาจจะมีความซ้อนตรงที่แอบเสพความสุขจากการได้เป็นผู้ให้เหล่านั้นเช่น เสพติดการได้รับคำชม ได้ชื่อเสียง ได้ความเคารพ ลักษณะเหล่านี้จะซับซ้อนและสังเกตได้ยาก เป็นอัตตาที่ซ่อนตัวอยู่ในโลกธรรม

ความรักตัวเองในมุมของอัตตา แม้ว่าจะไม่ได้หาวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของภายนอกมาเสพเหมือนกาม แต่ก็ยังเสพเหตุการณ์อยู่ ยังติดดียึดดีอยู่ รักความเป็นตัวของตัวเอง รักนิสัย รักศักดิ์ศรี รักลาภ ยศ สรรเสริญ รักความสุข จึงหาเหตุการณ์เหล่านี้มาบำเรอสุขให้ตนอยู่

แม้จะสามารถรักตัวเองจนดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นผู้มีรายได้มาก มีตำแหน่งใหญ่โต มีคนยกย่องนับถือ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการรักตัวเองอย่างแท้จริง เพราะการหาเหตุการณ์ใดๆมาเสพให้สมใจตัวเอง ไม่ว่าจะความสำเร็จ ความมั่งคั่ง ความนิยม ซึ่งมักจะต้องแลกมาด้วยการทำบาป

บาป” นั้นหมายถึงการสะสมกิเลส เสริมกิเลส บำรุงกิเลส ซึ่งจะตรงข้ามกับ “บุญ” ที่หมายถึงการชำระกิเลส ลดกิเลส ล้างกิเลส ทำลายกิเลส

หากเราได้สิ่งเหล่านั้นมาเสพจนกระทั่งเกิดความสุขจากสิ่งนั้น เหตุการณ์นั้น สภาพนั้น และเมื่อไม่ได้เสพสมดังใจหมายก็ผิดหวังเป็นทุกข์เศร้าโศกเสียใจ ก็ให้รู้ไว้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เหตุการณ์ที่มาโดยกุศลกรรม แต่หากเป็นผลจากพลังของกิเลสที่ผลักดันเราให้ยึดมั่นถือมั่นในการจะได้เหตุการณ์ใดๆจนแสวงหามาเพื่อให้ได้เสพสมใจให้สมกับอัตตาที่มีนั่นเอง

3). รักตัวเอง (อนัตตา)

เมื่อเห็นแล้วว่าการรักตัวเองด้วยการหามาเสพด้วยวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ หรือแม้กระทั่งสร้างเหตุการณ์ต่างๆที่ทำให้สมใจนั้น เป็นการทำตามกระแสของกิเลสทั้งนั้น กิเลสจะพาให้เราเสพสิ่งต่างๆ ให้เรายึดมั่นถือมั่นและหามาเสพไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนหลงว่าเป็นความสุข เป็นการให้รางวัลชีวิต เป็นเป้าหมายในชีวิต เป็นคุณค่าของชีวิต เป็นความหมายของการเกิดมา เป็นตัวเป็นตน เป็นการรักตัวเองโดยการสนองตัวเองให้เสพสุขไปกับสิ่งเหล่านั้น

สิ่งที่จะกล่าวกันต่อไปนี้ อาจจะขัดใจกันสักหน่อย นั่นคือสิ่งที่คนแสวงหาทั้งหมดไม่ว่าจะกามหรืออัตตา ต่างก็เป็นการทำทุกข์ทับถมตนทั้งสิ้น สร้างอกุศลคือความชั่ว สะสมไปเป็นอกุศลกรรม คือกรรมชั่วที่จะส่งผลให้เราทุกข์ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ในวันใดวันหนึ่ง นั่นก็เพราะเรามีการสะสมกิเลสซึ่งเป็นเชื้อทุกข์ที่ร้ายสุดร้ายเข้าไปในจิตวิญญาณ

ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์จากทั้งกามและอัตตา ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะสะสมกิเลสไปเรื่อยๆ ได้เสพก็ติดสุข ไม่ได้เสพก็ทุกข์จนต้องหามาเสพ นั่นหมายถึงว่าทุกๆวันของชีวิตการคือสะสมบาป เวร ภัย ทุกข์ให้กับตัวเอง ดังนั้นจึงเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าการรักตัวเองไม่ได้

ไม่ว่าจะกามหรืออัตตา ต่างก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน หลายคนบอกว่าที่ฉันเสพมันก็สุขนะ ได้กินของอร่อย ได้ท่องเที่ยว ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ฯลฯ ซึ่งมันก็สุขจริง แต่เป็นสุขลวงแถมด้วยความทุกข์แท้ๆ ได้เสพก็สุขนิดหน่อยแต่สุดท้ายก็จะทุกข์มาก ทุกข์เพราะความอยากเสพ ทุกข์เพราะวิบากบาปในการหามาเสพ เหมือนยาเสพติดหยุดไม่ได้ ถึงจะรู้ว่ามีโทษแต่ก็สุขจนหยุดเสพไม่ได้ จึงกลายเป็นทุกข์แท้ๆเลยทีเดียว

ความไม่เที่ยงนั้นคือสภาพสุขที่ได้เสพ โอกาสที่จะได้เสพ หรือความสุขเหล่านั้นต่างไม่เที่ยง ไม่คงที่ สุขไม่นานก็จางคลาย เช่นเรากินอาหารที่อร่อย ความอร่อยนั้นอยู่ตรงไหน เรากินทุกวันมันจะอร่อยเหมือนวันแรกไหม สุขที่เกิดขึ้นมันไม่เที่ยงเลย มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา

และความไม่มีตัวตน นั่นหมายถึงสภาพสุขจากการเสพนั้นแท้จริงไม่มีตัวตน มันไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้สุขจากการเสพนั้น แต่กิเลสทำให้เราสุข แต่เป็นสุขลวงๆ แล้วเราก็หลงยึดสุขน้อยทุกข์มากนั้นเป็นตัวเราของเรา ยึดกิเลสเป็นตัวเรา ทั้งที่มันไม่ใช่ตัวเรา เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ เราไม่จำเป็นต้องกินสามมื้อ เราไม่จำเป็นต้องแต่งหน้าแต่งตัว เราไม่จำเป็นต้องกินเหล้า เราไม่จำเป็นต้องมีบ้านใหญ่โต เราไม่จำเป็นต้องมีคู่ครอง เราไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งใหญ่โต เราไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียง เราไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมั่งคั่ง เราไม่จำเป็นต้องมีคนนับหน้าถือตา แต่เพราะเรามีตัวตนของกิเลสเป็นของเรา เราจึงเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจำเป็น เชื่อว่าเป็นสาระของชีวิต เชื่อว่าเป็นความสุข ความเจริญ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นมันไม่มีตัวตน ไม่มีสาระอะไรเลย

ความรักตัวเองในมุมของอนัตตา คือความรักแบบไม่มีตัวตน นั้นคือไม่มีตัวตนของกิเลสในจิตวิญญาณ ไม่มีกาม ไม่มีอัตตา เพราะทำลายทั้งกามและอัตตาจึงเข้าสู่สภาวะของอนัตตา แต่ไม่ได้หมายถึงแค่ไม่มีตัวเรา ไม่ใช่อนัตตาแบบท่องจำที่ทำกันโดยทั่วไป “ทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป,ทุกสิ่งไม่ใช่ตัวเราของเรา” ท่องแบบนี้มันก็ท่องได้ เป็นสมถะ เอาไว้กดอาการของจิตได้ดีแต่ทำลายกิเลสไม่ได้

การปฏิบัตินั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สภาวะของอนัตตานั้นเป็นผลของการปฏิบัติ ไม่ใช่วิถีทางปฏิบัติ(มรรค) ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดเอาอนัตตามาเป็นตัวปฏิบัติ เพราะการจะรักตัวเองได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องเว้นจากทางโต่งสองด้าน คือกามและอัตตา โดยปฏิบัติยึดหลักทางสายกลาง จนเกิดเป็นผลที่เรียกว่า “อนัตตา

ความรักตัวเองด้วยอนัตตานี้เองจะเป็นความรักที่สร้างแต่กุศลอยู่ฝ่ายเดียว ทำแต่กุศลกรรม มีแต่การสร้างอนาคตที่ดี ไม่มีการสะสมบาป หรือสะสมอกุศลกรรมใดๆให้ตัวเองต้องได้รับทุกข์ โทษ ภัย ในอนาคตทั้งในชาตินี้และชาติหน้า นี่คือความรักตัวเองอย่างแท้จริงเพราะได้ส่งต่อสิ่งที่ดีให้กับตัวเองในอนาคต สร้างกรรมดีให้กับตัวเองในอนาคต จึงจะมีแต่เจริญไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่มีถอยหลัง ไม่ตกต่ำ ไม่กลับมาชั่ว ปิดนรก ปิดทางฉิบหายได้สนิท ไม่ว่าจะในชาตินี้หรือชาติหน้าจนกระทั่งชาติอื่นๆต่อไป

เมื่อเรารักตัวเอง เราจึงควรเรียนรู้ที่จะรักตัวเองด้วยการเว้นขาดจากทางโต่งสองด้านคือกามและอัตตา จนกระทั่งทำลายกิเลสที่เป็นตัวผลักให้เราไขว้เขวไปในทางโต่งทั้งสองด้านจนสิ้นเกลี้ยง ทีละเรื่อง สองเรื่อง เริ่มจากกิเลสที่ไม่ยากมาก ให้โอกาสตัวเองได้เรียนรู้ความรักที่แท้จริง ความรักที่ไม่มีกาม ไม่มีอัตตา รักที่เป็นอนัตตาอย่างเที่ยงแท้ แน่นอน ไม่มีหลอกลวง เป็นประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้อื่นตลอดไป สะสมอนัตตาในแต่ละเรื่อง เจริญขึ้นไปเรื่อยๆตามลำดับโดยการศึกษาเรียนรู้ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อก้าวข้ามภพของกิเลสทั้งหมด ไปจนกระทั่งเป็นผู้ที่มีแต่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

การรักตัวเองได้อย่างแท้จริง จะทำให้เราไม่ยอมเปิดโอกาสให้ตัวเองไปทำบาป ไม่ชักชวนให้คนอื่นทำบาป ไม่ส่งเสริมให้คนทำบาป ไม่ยินดีในบาปเหล่านั้น ไม่ทำอกุศลกรรมใดๆ ที่จะกลายเป็นสิ่งที่ผูกมัดตัวเองไว้กับทุกข์

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ให้อภัยใจแข็ง

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,318 views 0

ให้อภัยใจแข็ง

ให้อภัยใจแข็ง

…เมื่อการให้อภัยไม่ได้หมายถึงการกลับมาเคียงคู่กันเสมอไป

การใช้ชีวิตไปพร้อมกับการมีคู่รักก็คงต้องกระทบกันมากบ้างน้อยบ้างเหมือนลิ้นกับฟันอยู่ด้วยก็ต้องกระทบกันเป็นธรรมดา เมื่อคนสองคนที่มีความเข้าใจ ความคิดเห็น ความต้องการที่ต่างกันมาอยู่ร่วมกันแล้วความไม่ลงตัวย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเช่นกัน

หากการทะเลาะเบาะแว้งนั้นเกิดจากเรื่องที่พอจะตกลงปรับความเข้าใจกันได้ ก็มักจะให้อภัยกันได้ง่าย ยอมให้กันได้ง่าย แต่หากเหตุแห่งการไม่พอใจกันนั้นเกิดขึ้นเพราะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำปัญหามือที่สามเข้ามาในชีวิตคู่ เช่นมีกิ๊ก คบชู้ มีเมียน้อยผัวน้อย การจะให้อภัยจนถึงการตัดสินใจต่อจากนั้นจะเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนขึ้นมาทันที

อย่างที่เรารู้กันว่าการคบชู้นั้นผิดศีลข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงต่อคนที่รักกัน ไว้ใจกัน เชื่อใจกัน ถึงขั้นที่สามารถทำลายศรัทธา ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจทั้งหมดที่เคยมีมาได้เพียงแค่รับรู้เรื่องราวการผิดศีลนั้น เมื่อมีผู้ผิดศีลจึงมีผู้ถูกเบียดเบียน และผู้ถูกเบียดเบียนด้วยกายวาจาและใจนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจเลือกกรรมที่จะรับต่อไป

1).ไม่ให้อภัย

คนที่ถูกคู่รักทำลายความเชื่อมั่นที่เคยมี นั้นมีสิทธิ์ที่จะเลือกไม่ให้อภัย ไม่ยกโทษ ไม่เผาผี ไม่ต้องมาพบมาเจอกันอีกเลยในชาตินี้ เหตุเกิดจากความเจ็บปวดความทุกข์ทรมานที่โดนหักหลัง โดนทำลายความไว้ใจ ถูกทำให้กลายเป็นคนไม่มีคุณค่า ฯลฯ

พอเราเสียสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นไว้หรือเสียคู่ของเราให้กับคนอื่นไป คือการพลัดพรากจากของรัก เสียสิ่งที่รักไป แม้ว่าเขาจะกลับมาขอคืนดี ยอมเลิกกับชู้ แต่สิ่งที่รักนั้นไม่ใช่ตัวบุคคลเพียงอย่างเดียวยังหมายรวมถึงความเชื่อใจ ความสบายใจ ความอบอุ่นใจที่ได้ใกล้ชิดกัน เมื่อเสียสิ่งเหล่านี้ไป ก็จะเกิดอาการขุ่นเคืองไม่พอใจ โกรธ ผูกโกรธ อาฆาต พยาบาท ได้ตามระดับความรุนแรงของกิเลส

หากถามว่าเรามีสิทธิ์ที่จะไม่ให้อภัยไหม ในเมื่อสิ่งที่เขาทำกับเราช่างดูโหดร้ายเหลือเกิน ก็จะตอบว่ามีสิทธิ์ที่จะเลือกกรรมนั้น แต่หากพิจารณาดีๆแล้วอภัยทานนั้นเป็นทานที่มีกุศลมาก เป็นบุญมาก นั่นเพราะเป็นทานที่มีผลต่อการตัดกิเลส คือตัดความโลภ โกรธ หลง

2).ให้อภัย

การที่เราให้อภัยนั้นหมายถึงเราได้ยอมลดความโกรธที่มี ยอมทำลายความหลงที่มีในตัวเขา ทำลายความหลงติดหลงยึดว่าคู่รักต้องดีต่อกันเสมอ ยอมรับความจริงใหม่ที่เกิดขึ้นและเข้าใจว่าอดีตที่เราได้รับไปนั้นเกิดจากกรรมที่เราทำมาเอง เป็นสิ่งที่เราทำมาทั้งหมด อภัยทานคือทานที่ไม่เป็นภัยแก่ใครเลย เมื่อเราดับความโลภโกรธหลงได้ เราก็จะไม่ทำร้ายตัวเองด้วยการสั่งสมกิเลส และจะไม่ไปทำร้ายใจใครด้วยกิเลสของเราเช่นกัน

คนที่เขาผิดศีลนั้นทำร้ายได้แม้กระทั่งคนที่ไว้ใจกัน เขาก็ทำบาปมากพอแล้ว ทำชั่วมากพอแล้ว การที่เราจะไปซ้ำเติมเขาจึงเป็นสิ่งที่ไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า แม้ว่าเขานั้นจะมาทำร้ายจิตใจของเราก็ตาม เพราะเรารู้ตามจริงว่าการที่เขามาทำร้ายจิตใจของเรานั้นเป็นเพราะกรรมของเราดลให้เขาทำเช่นนั้นกับเรา ถ้าเราไม่เคยทำกรรมชั่วมามันก็ไม่มีทางได้รับ เพราะฉะนั้นเราจึงยินดียอมให้อภัยและรับกรรมนั้นเป็นของตนเองโดยไม่โทษใคร

เมื่อเราให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคืองกับเขาแล้วแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ตอนที่เขาได้นอกใจเราและเรื่องเปิดเผยออกมาแล้ว เรามีสิทธิ์ที่จะได้รับสถานะโสดกลับมาเป็นของเราอีกครั้ง ความโสดเป็นสมบัติที่มีค่าของเรา และเราก็มีสิทธิ์ที่จะไม่รับความโสดนั้นกลับมาเช่นกัน

ในกรณีเมื่อเราให้อภัยจนหมดใจแล้ว คือไม่โกรธ ไม่แค้น ไม่อาฆาต ไม่ผูกโกรธ ไม่พยาบาท ไม่มีความขุ่นเคืองใจใดๆ ยอมรับกรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เมื่ออดีตคนรักมาขอร้องให้ช่วยให้อภัยเขาและกลับมาคบกันเหมือนเดิม ในส่วนของการให้อภัย เราสามารถให้อภัยได้หมดใจ แต่ในส่วนของการกลับมาคบกันเหมือนเดิมเราสามารถเลือกที่จะกลับไปคบหาหรือไม่กลับไปคบหากันเหมือนเดิมก็ได้

2.1).ให้อภัยใจอ่อน

มีหลายคนที่เลือกให้อภัยกับอดีตคู่รักที่ได้พลั้งพลาดเผลอตามกิเลสไปให้ผิดศีล แล้วยังใจอ่อนรับเขากลับเข้ามาในชีวิต ซึ่งการยอมให้เขากลับเข้ามาในชีวิตนั้นไม่ใช่ความต่อเนื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นการตัดสินใจใหม่ซึ่งเราได้เลือกตัดสินใจบนพื้นฐานจากข้อมูลเก่าที่มี เพราะเราเห็นดังเช่นว่า เขาน่าจะปรับปรุงตัวได้ เขาน่าจะสำนึกผิดแล้วไม่ทำอีก เขาน่าจะเข็ด น่าจะขยาดกับความผิดนี้ ในส่วนนี้เป็นเพราะความใจอ่อน เห็นใจเขา เมตตาเขา เห็นเขาอ้อนวอนแล้วสงสารอยากให้โอกาส ซึ่งถ้าพิจารณาจากข้อมูลเท่านี้ก็อาจจะทำให้ผิดพลาดได้ เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วสาเหตุที่เขานอกใจคืออะไร อาจจะมีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าที่ใช้ในการเป็นข้ออ้าง

ถ้าเรามองไม่ทะลุถึงเหตุที่แท้จริง ถ้าความรักยังบังตาอยู่ เราก็จะไม่สามารถเห็นกิเลสที่ผลักดันเขาได้ ซึ่งตรงนี้เองเป็นเชื้อร้ายที่สามารถกลับมากำเริบเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อการให้อภัยหรือการกลับมาคบกันไม่ได้มีผลไปลดกิเลสของเขา ความใจอ่อนในครั้งนี้อาจจะเป็นบทเริ่มของละครเรื่องเก่าที่นำมาเล่าใหม่ก็ได้

ในอีกมุมหนึ่งของความใจอ่อน คือมันอ่อนที่ตัวเราเอง อ่อนที่กิเลสเราเอง เรารู้ว่าเขาผิดศีลแล้วนะ เขาชั่วแล้วนะ แต่เราก็ยังรักเขา หวงเขา อยากได้เขากลับมา แม้เขาจะเคยทำผิดพลาดขนาดไหน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรที่เขาอ้างมา แต่ด้วยความอยากได้เขาคืนมา เราก็พร้อมจะยอมใจอ่อนให้เขากลับมาเสมอเพียงแค่เขาแสดงท่าทีสำนึกผิดให้รู้สึกสมใจเราสักนิดหนึ่ง ภาษาชาวบ้านก็เรียกว่า “ถ้ามาง้อสักหน่อยก็จะยอมคืนดี

หลายคนที่เวลาอดีตคนรักทำผิด ในช่วงแรกมักจะโกรธรุนแรง มีท่าทีผลักไส ทำท่าจะไม่เอา ไม่คบ ไม่อยากเจอ ทำเก๊ก มีฟอร์ม ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของการ “งอน” ซึ่งจะมีความรุนแรงกว่าการงอนทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสุดท้ายก็จะพ่ายแพ้ด้วยการ “ง้อ” สรุปได้ว่าสุดท้ายก็ท่าดีทีเหลว ใจอ่อนตั้งแต่แรกแต่ก็ทำใจแข็งไปอย่างงั้นๆให้ดูดีเท่านั้นเอง

ในมุมนี้จะเป็นตัวเราเองที่ชักศึกเข้าบ้าน อย่างที่กล่าวอ้างมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้าไม่สามารถดับเหตุหรือกิเลสที่เขาไปนอกใจได้ ผลหรือการนอกใจก็อาจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้ และส่วนมากเราจะใจอ่อนด้วยสาเหตุนี้เพราะเราเองก็มีกิเลสมาก อยากเสพเขาอยู่มาก ไม่สนใจว่าเขาจะชั่วจะเลวแค่ไหนขอให้ได้เสพเขาเป็นพอ เรากำลังเอาเขามาสนองกิเลสของเรา ซ้ำร้ายคนที่เราเอามานั้นยังเป็นคนบาป คนที่ทำชั่ว คนที่ห้ามใจตัวเองไม่ได้ ทั้งเราทั้งเขาก็กิเลสหนามันก็จะกลับมาเสพกันได้อยู่พักหนึ่งแล้วสุดท้ายมันก็จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่พอใจกัน จนเป็นเหตุให้มีคนใหม่หรือเลิกรากันอยู่ดี

ถ้าถามว่าการให้อภัยดีไหม ก็ตอบเลยว่าดีที่สุดในโลก แต่การกลับมาคบกันนั้นดีไหม ก็จะตอบว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย ซึ่งโดยน้ำหนักแล้วคนที่นอกใจนั้นเป็นคนไม่ดี แล้วเรายังจะเสียดายคนไม่ดีไปทำไม จะเอาคนชั่ว คนบาปกลับมาในชีวิตทำไม

เราสามารถเป็นเพื่อนกับเขาได้ในระยะที่เหมาะสม พอให้เกิดกุศล ให้มีระยะห่างที่ตัวเราปลอดภัย สบายใจ ไม่เดือดร้อน ไม่กังวล หากจำเป็นต้องใกล้ก็ให้ระวังใจตัวเองไว้ให้ดีๆ อย่าไปพลั้งเผลอใจอ่อนเพราะเขามาง้อหรือเราอยากเสพเขาด้วยอารมณ์ชั่ววูบ

การที่เราใจอ่อนรับเขากลับเข้ามาในความสัมพันธ์ใดหรือในระยะใดก็ตาม ตัวเราเองได้กำหนดกรรมที่เราจะได้รับไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นในอนาคตเราจึงต้องรับกรรมนี้ไม่มากก็น้อย ซึ่งจะสุขน้อยทุกข์มาก หรือทุกข์มากจนทุกข์เกินทนนั้นก็สุดแล้วแต่กรรมจะบันดาล

2.2).ให้อภัยใจแข็ง

ในกรณีที่เขาทำผิดแล้วสำนึกผิดมาขออภัย เราสามารถให้อภัยเขาได้หมดใจ ไม่คิดแค้น แต่ไม่เอากลับเขาเข้ามาในชีวิตก็ได้ ซึ่งในมุมนี้คนจะมองเหมือนกับว่าเราไม่ให้อภัย ทั้งที่จริงการให้อภัยกับการรับเขากลับเข้ามาเป็นคนละเรื่องกัน

การที่เราให้อภัยเพราะเรามีจิตเมตตา ทั้งยังเห็นโทษของการจองเวร มีจิตพยาบาทผูกโกรธกันต้องมาชดใช้กันหลายภพหลายชาติ ซ้ำร้ายกิเลสที่เกิดขึ้นยังเป็นสิ่งน่ารังเกียจ เราจึงให้อภัยเพื่อตัวเราและผู้อื่น

และด้วยเหตุที่เรารักตัวเรามาก เราจึงไม่เปิดโอกาสให้เขาได้กลับมาทำร้ายเราอีก แม้จะดูมีความเสี่ยงน้อย แม้จะเหมือนว่าเขาจะสำนึกผิด ยอมรับผิดทุกอย่าง แม้จะดูเหมือนว่ามันจะไม่เกิดอีก แต่เราก็จะไม่ยอมเสี่ยงอีกเลย ก็คือการไม่กลับไปคบหาเป็นคนรัก ไม่เสี่ยงเพราะไม่ได้เล่นในเกมพนันครั้งนี้ เมื่อไม่เสี่ยงก็ไม่ต้องทุกข์เพราะกลัวจะเสียไป และไม่ต้องทุกข์ในยามเสียไป ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะการพรากในการตัดสินใจครั้งนี้อาจจะเป็นความทุกข์ที่น้อยกว่าทุกข์ในอนาคตมากนัก

เมื่อได้มองเห็นทุกข์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นแล้ว เราก็ปิดประตูทุกข์ ปิดทางทุกข์ไปเลยเสียดีกว่า ยอมให้ตัวเองเสียเขาไปวันนี้ดีกว่าต้องทุกข์ทรมานในวันหน้า เป็นความรักตัวเอง รักกรรมตัวเอง ไม่ทรมานตัวเองด้วยความอยาก ไม่เอาเขากลับมาเสพเพียงเพราะกลัวจะเสียเขาไป หรือเพราะเสียงของคนรอบข้าง

ความใจแข็งนี้นอกจากรักตัวเองแล้วยังรักอดีตคนรักอีก เพราะว่าแทนที่เราจะเปิดโอกาสให้เขากลับมาทำชั่วทำบาปกับเรา เรากลับปิดโอกาสนั้น ไม่ยอมให้เขาทำบาปทำชั่วกับเรา ถือว่าเป็นการช่วยเขาไม่ให้ทำเลวไปมากกว่านี้ หยุดบาปของเขาตั้งแต่ตอนนี้ ให้เขาได้สำนึก ให้เขาได้รับบทเรียน ให้เขาได้เรียนรู้จักการสูญเสีย ให้เขาได้รู้จักกรรม อันเป็นผลจากการกระทำของเขา เป็นความใจแข็งที่เต็มไปด้วยความเมตตา มองทะลุไปถึงบาปบุญกุศลอกุศลที่ซ่อนอยู่อีกมากมายในความใจแข็งนี้

หากเขาต้องการจะชดใช้ หรือแก้ตัว ก็ให้อยู่ในสถานะเพื่อน คนใกล้ชิด คนรู้จักหรือคนสนับสนุนอะไรก็ได้ที่อยู่ในระยะที่เหมาะสม ที่เราจะไม่เผลอไปทำบาปกับเขา และไม่ใกล้จนเขาเข้ามาทำบาปกับเรา บาปนั้นคือการเพิ่มกิเลส ถ้าเราใกล้กันแล้วกิเลสเพิ่มก็บาป เช่นการใกล้กันมากแล้วกลับไปใจอ่อนคบกันนี่มันก็เป็นบาป เพราะตอนแรกเรามีศีลที่จะไม่คบคนชั่วเป็นคนรัก แต่พอใกล้มากๆเราก็เกิดอาการอยากเสพสิ่งที่เขาเสนอให้หรืออยากเสพสิ่งที่เขามีแล้วเราก็ยอมลดศีลของเรา ยอมคบเขาดีกว่าถือศีล ยอมชั่วไม่ยอมอด ยอมบาปเพื่อที่จะได้เสพ

ความใจแข็งนี้หากเกิดเพราะความพยาบาท ความโกรธ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าให้อภัยอย่างเต็มที่ เราจึงต้องล้างใจเราให้ดี ล้างกิเลสเราให้เกลี้ยงเสียก่อน แบ่งเรื่องเป็นสองเรื่องให้ชัดเจน คือเรื่องให้อภัยกับเรื่องกลับมาคบหากัน เพราะถ้าไม่ชัดเจน จะหลงไปว่าตนให้อภัยแต่ไม่กลับมาคบเพราะหลงว่าพิจารณาดีแล้ว แต่สุดท้ายพอเขามาง้อเข้ามากๆ ทำดีกับเรามากๆ เราก็ใจอ่อน อันนี้แสดงว่าเราไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก เราไม่ได้ล้างใจตั้งแต่แรก การที่เราไม่กลับมาคบตั้งแต่ตอนแรกนั้นเพราะเรายังไม่ให้อภัย ไม่ใช่ให้อภัยใจแข็ง

ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความผิดคาดมากมาย หลายคนทำท่าเหมือนว่าใจแข็งปล่อยเวลาผ่านไปเป็นปีสองปี… ก็อาจจะกลับไปคบหากันได้เพราะว่าไม่ได้ล้างกิเลส แค่อยู่ในสภาพกดข่มไว้ วันดีคืนดีกิเลสเรากำเริบเราก็จะคิดใจอ่อน จนยอมให้อภัยกับเขาโดยไม่มีเหตุผลและกลับไปเสพเขาเอง เพราะมันอดอยากปากแห้งมานาน การอดโดยไม่ล้างกิเลสจะเกิดความทรมานสะสมสุดท้ายจะตบะแตก เหมือนกับคนที่โกรธอดีตคู่รักมาหลายปี พูดให้ใครฟังก็มีแต่ข้อเสีย สุดท้ายกลับไปคบกับเขาเอาเฉยๆ ซึ่งก็ทำให้คนรอบข้างหลายคนงงเป็นไก่ตาแตก เหตุการณ์แบบนี้ก็มีให้เห็นโดยทั่วไป

นั่นหมายถึงว่าหากเรายังไม่ล้างกิเลสของตัวเอง ยังไม่รู้จักกิเลสของตัวเอง ยังไม่รู้ ไม่ยอมรับว่ากิเลส เป็นความอยากที่ชั่วแค่ไหน เลวแค่ไหน นำความทุกข์ความฉิบหายให้ชีวิตแค่ไหน เราก็จะยังคงยินดีในการมีกิเลส สะสมบาป สะสมกรรมชั่วต่อไป แล้วก็ต้องมารับกรรมที่ตัวเองได้ก่อนไว้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

3.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์