Tag: รวย

รวยเท่ากับซวย #2

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,079 views 0

รวยเท่ากับซวย #2

รวยเท่ากับซวย #2

…อาชีพที่สร้างความร่ำรวย แต่นำมาซึ่งความซวย

การได้มาซึ่งความร่ำรวย ส่วนหนึ่งนั้นก็มาจากการประกอบอาชีพ ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้มีอาชีพหลากหลายให้เราเลือกทำเพื่อให้เกิดรายได้ แต่ควรจะเลือกอาชีพไหนเพราะอะไร เรามาศึกษาปัจจัยที่เรียกกันว่าบาป บุญ กุศล อกุศล กันก่อน

บุญ นั้นคือเครื่องชำระกิเลส การลดกิเลส อาชีพที่เป็นบุญก็คืออาชีพที่พาลดกิเลส หรือไม่เพิ่มกิเลส

บาป นั้นคือการสะสมกิเลส การสนองกิเลส การตามใจกิเลส อาชีพที่เป็นบาป ก็คืออาชีพที่พาให้ตนและผู้อื่นกิเลสเพิ่ม

กุศล นั้นคือความดี คือสิ่งที่ดี การกระทำความดีก็เรียกว่าสร้างกุศลกรรม เป็นความดีที่เก็บสะสมไว้ในจิตของเรารอวันที่จะส่งผล

อกุศล นั้นคือความชั่ว เมื่อทำชั่วก็ได้รับผลของการทำชั่ว หรือที่เรียกว่าอกุศลกรรม เก็บสะสมไว้ในจิตของเรา รอวันที่จะส่งผล

เมื่อเราเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลต่อชีวิตสี่อย่างนี้แล้ว จึงนำเอาปัจจัยเหล่านี้มาวิเคราะห์รวมกับงานหรืออาชีพที่เราจะเลือกทำ รายได้ ความมั่นคง ชื่อเสียง สวัสดิการ การเดินทาง การพัฒนา ฯลฯ เพื่อให้เห็นถึงกำไรสุทธิที่มากกว่าแค่จำนวนเงิน ซึ่งเราอาจจะพบว่าแม้จะรวยแต่ก็คงจะซวยไม่ใช่น้อยสำหรับบางอาชีพ

กว่าจะถึงความรวยที่เราใฝ่ฝัน การประกอบอาชีพเป็นเหมือนกับทางเดินให้ถึงฝันนั้น แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเดินทางผ่านเส้นทางบาป บุญ กุศล อกุศล อย่างไรบ้าง เพราะเราสามารถเห็นได้เพียงผลตอบแทน สวัสดิการ เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า เห็นแต่สิ่งที่เป็นรูปธรรม แต่เรากลับไม่สามารถเห็นสิ่งที่เป็นนามธรรมได้เลย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีทางรู้ เพราะอย่างน้อยพระพุทธเจ้าท่านก็ได้บอกข้อธรรมะเหล่านี้ ทิ้งไว้ให้เราแล้วเพื่อเป็นเครื่องมือให้เราแยกแยะดีชั่ว

ในบทนี้เราจะมาไขอาชีพที่เป็นสัมมาอาชีวะ(การเลี้ยงชีพที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์) โดยใช้การบอกว่าอาชีพใดที่ผิด(มิจฉาอาชีวะ) รวมทั้งมิจฉาวณิชชา(การค้าขายที่ผิด) และงานที่เกี่ยวกับอบายมุข

1).มิจฉาอาชีวะ

มิจฉาอาชีวะ หมายถึงการทำมาหากินที่ผิด ผิดอย่างไร? คือผิดไปจากทางพ้นทุกข์ นั่นหมายถึงยิ่งทำก็จะยิ่งห่างไกลทางพ้นทุกข์อย่างพุทธไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงเส้นทางในโลกียะ ทางที่จะจำให้วนอยู่ในโลกเท่านั้น มิจฉาอาชีวะแม้จะดูดีเพียงไร ได้เงินมาเท่าไหร่ มีคนให้เกียรติให้คุณค่าขนาดไหน มีคนนับหน้าถือตามากเท่าไร หรือแม้จะได้รับความสุขเท่าไหร่ มันก็แค่นั้นเอง

1.1).การโกง (กุหนา) การประกอบอาชีพใดๆนั้นควรกระทำโดยสุจริตแม้อาชีพนั้นจะไม่ได้เป็นอาชีพที่คดโกงโดยตรง แต่ก็อาจจะมีการโกงอยู่ในการประกอบอาชีพทั่วไปก็ได้เช่น แม่ค้าที่โกงตราชั่ง คนงานก่อสร้างที่อู้งานเพื่อโกงเอาค่าแรง หรือข้าราชการที่โกงเงินใต้โต๊ะ การโกงมีอยู่ในทุกสาขาอาชีพ เป็นความผิดขั้นหยาบที่ควรละเสีย

1.2).การล่อลวง (ลปนา) การทำให้คนหลงใหลในสิ่งที่ไม่ควรหลง เช่น การพูดให้เคลิ้มกับสรรพคุณที่เกินจริงแบบชาวบ้านจะเห็นได้จากการโฆษณาขายยาดีตามงานวัด ถ้าแบบเห็นทั่วไปก็คืองานขายตรง ขายคอร์สลดน้ำหนัก ดูแลสุขภาพ ฯลฯ ที่ต้องพูดล่อลวงให้เขาเห็นประโยชน์ในสินค้าหรือบริการของเรา ทั้งที่มีวิถีอื่นอีกมากมายที่ดีกว่าของเรา แต่เราก็พยายามจะพูดล่อลวงให้เขามาใช้สินค้าของเรา ใช้บริการกับเรา

1.3).การตลบตะแลง (เนมิตตกตา) การทำให้คนหลงเชื่อไปในครั้งแรกว่าดี แล้วตอนหลังมากลับคำ เห็นได้บ่อยในอาชีพนักการเมือง ตอนหาเสียงก็พูดไว้ซะดิบดี แต่พอได้รับเลือกจริงมักเป็นคนละอย่าง นักการเมืองคือตัวอย่างของนักตลบตะแลง ตอนเช้าพูดอย่าง ตอนเย็นพูดอีกอย่าง ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของพวกตน และผลประโยชน์ของตนเอง

1.4).การยอมมอบตนในทางที่ผิด (นิปเปสิกตา) จะเป็นลักษณะของลูกน้อง ลูกจ้าง ที่ตนเองนั้นก็ไม่ได้ทำชั่วอะไร แต่ไปรับใช้คนชั่วเช่น ขับรถให้เจ้านายที่ขายยาเสพติด ตัวเองไม่ได้ขายนะแต่ขับรถให้อำนวยความสะดวกให้คนชั่ว หรือทหารตำรวจที่สังกัดอยู่ในหน่วยที่ผู้บัญชาการคิดชั่วพูดชั่วทำชั่ว ก็มักจะสั่งการให้ไปทำเรื่องชั่วๆ นี่เป็นลักษณะการยอมให้ตัวเองเป็นลูกน้องคนผิด

1.5). การเอาลาภต่อลาภ (ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา) ลักษณะของการเอาลาภแลกลาภที่เห็นได้ชัดเจนและหยาบคือการเล่นพนัน เล่นหวย เล่นหุ้น คือการเอาลาภที่มีอยู่นั้นไปลงทุน ไปพัฒนาให้มันงอกเงยขึ้นมาซึ่งการพนัน หวย หุ้นนี้ก็อยู่ในขีดของอบายมุข แต่ในระดับที่ละเอียดลงมาก็คือการเอาความสามารถที่ตนมีไปแลกเงิน เช่นเราพยายามไปเรียนรู้ทักษะอาชีพสูงๆ เช่นแพทย์เฉพาะทาง เพื่อที่จะทำให้รายได้ของตัวเองสูงขึ้น ที่มันไม่ดีก็เพราะมีความโลภเป็นตัวผลักดันนี่เอง

2). มิจฉาวณิชชา

มิจฉาวณิชชา คือการค้าขายที่ผิด ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ แถมยังเป็นทางเพิ่มบาปและอกุศล ชาวพุทธไม่ควรกระทำ เพราะหากกระทำแล้วจะไม่เป็นไปในทางพุทธ เพราะไม่ใช่การค้าขายที่พาไปสู่การพ้นทุกข์ การค้าที่ผิดเหล่านี้แม้ฉากหน้าจะดูเหมือนว่าทำให้เรารวย แต่ฉากหลักนั้นสะสมบาปอกุศลไว้มากมายรอวันที่จะส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของเราในวันใดวันหนึ่งนั่นเอง

2.1). ค้าขายศาสตรา (สัตถวณิชชา) หมายถึงการค้าขายอาวุธ อาวุธนั้นคือวัตถุเพื่อทำร้ายกันแม้จะเป็นการขายมีดเหมือนกันแต่มีดแบบหนึ่งออกแบบเพื่อตัดต้นไม้แต่อีกแบบหนึ่งออกแบบไว้เพื่อให้ทำร้าย มีดตัดต้นไม้จึงไม่เป็นการค้าที่ผิด แต่มีดที่สร้างเพื่อไว้ทำร้ายนั้นผิดในข้อนี้อย่างชัดเจน ยังรวมไปถึง ปืน ดาบ ฯลฯ ที่ใช้เป็นอาวุธทำร้ายกันในสมัยนี้ และรวมไปถึงความรู้ด้วย เพราะความรู้นี้เองคืออาวุธชั้นดีที่ใช้กันในระดับสงครามเศรษฐกิจ การค้าขายความรู้จึงเป็นเรื่องไม่ควร และความรู้ในระดับธรรมะ หากผู้ใดเอาธรรมะมาค้าขายหากำไร ลาภ ยศ ชื่อเสียงนั่นคือทางแห่งนรกชัดเจน

2.2). ค้าขายสัตว์เป็น (สัตตวณิชชา) ถ้าไม่นับรวมสัตว์ที่มีกรรมในระบบอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั่วไปซึ่งทั้งหมดนั้นก็ผิดอยู่แล้ว การซื้อขายสัตว์ในสังคมปัจจุบันก็เป็นการค้าที่ผิด ไม่ว่าเราจะขายหมา ขายแมว ขายเต่า ขายปลา ก็เป็นการค้าที่ผิด การค้าชีวิต การตีราคาชีวิตอื่น การถือสิทธิ์ครอบครองในชีวิตอื่นไม่ใช่วิถีที่เหมาะสมของชาวพุทธเลย การซื้อขายชีวิตสัตว์นั้นเขาไม่ได้ยินยอมกับเราด้วย เพราะเราใช้อำนาจเงินนำเขามา บังคับเขา กักขังเขา โดยใช้คำว่าเลี้ยงมารั้งเขาเอาไว้ในโลกของเรา ทั้งๆที่เขาควรจะมีกรรมของเขา ควรจะเกิดและตายในแบบธรรมชาติของเขา

2.3). ค้าขายเนื้อสัตว์ (มังสวณิชชา) ข้อนี้เองที่ทำให้การกินเนื้อสัตว์นั้นไม่ใช่เรื่องปกติในพุทธ เพราะว่าการค้าขายเนื้อสัตว์นั้นผิดทางปฏิบัติของพุทธ เมื่อมีการขายเนื้อก็มีคนอยากซื้อเนื้อ พอมีความอยากซื้อมากคนก็ยินดีจ่ายมาก แล้วก็จะมีคนพยายามหาเนื้อมาขายเพื่อให้ได้เงิน เกิดเป็นการค้าขายเนื้อสัตว์ กลายเป็นอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ซึ่งก็ผิดจากทางพุทธทั้งยวง ถ้าแจกฟรีนั้นก็ไม่ผิด และเนื้อสัตว์ที่นำมาแจกฟรีแม้ว่าเราจะซื้อมานั้นต้องไม่ใช่เนื้อสัตว์ที่ฆ่ามาเพราะจะเป็นเนื้อบาป บาปอย่างไร บาปเพราะอยากได้เงินคนอื่นก็เลยต้องพรากชีวิตสัตว์ที่ไม่รู้เรื่องด้วย เพื่อเอาเนื้อไปขายได้เงินมาใช้เพื่อบำเรอกิเลสตัวเอง มันบาปตรงนี้ มันสนองกิเลสตรงนี้ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่เบียดเบียนถ้าเริ่มต้นก็ผิดตั้งแต่ค้าขายเนื้อสัตว์ ก็ไม่เรียกว่าพุทธกันแล้ว คนที่ซื้อเนื้อสัตว์ไปประกอบอาหารใส่บาตรก็ผิดทางพุทธ คนที่ซื้ออาหารที่มีเนื้อสัตว์ไปถวายพระก็ผิดทางพุทธ เพราะฉะนั้นจะให้เกิดบุญก็ไม่มีทางเป็นไปได้ คงจะเป็นได้แค่กุศลเล็กน้อยกับบาปและอกุศลที่มาก เพราะทำบุญนอกขอบเขตพุทธ ไม่เป็นไปในทางของพุทธแล้วจะยังเกิดบุญกุศลในแบบของพุทธได้อย่างไร

2.4). ค้าขายของมึนเมา (มัชชวณิชชา) ของมึนเมาในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่เหล้า เบียร์ บุหรี่ ยาเสพติด แต่หมายรวมไปถึงของใดๆก็ตามที่ทำให้จิตใจของคนหลงมัวเมาไปในสิ่งนั้น เช่นของสะสมต่างๆ แฟชั่น อาหาร หลายสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นในชีวิตแต่ทำให้ชีวิตมัวเมาไปกับการหลงเสพหลงติดหลงยึดกับมัน ซึ่งก็อยู่ในลักษณะของการมัวเมาสังคม มัวเมาลูกค้า ทำให้คนหลงว่าของตนนั้นดี ของตนนั้นน่าเสพ ผิดมิจฉาอาชีวะซ้อนเข้าไปอีกคือการล่อลวง

2.5). ค้าขายยาพิษ (วิสวณิชชา) การขายยารักษาโรคกับยาพิษนั้นมีเพียงเส้นศีลธรรมบางๆกั้นอยู่ ถ้ายานั้นกินเข้าไปแล้วไม่ได้รักษาโรคแต่กดโรคไว้ไม่ให้แสดงอาการทั้งยังไปทำลายอวัยวะส่วนอื่น นั่นก็คือยาพิษ ส่วนยาใดรักษาโรคได้จริงแล้วไม่มีผลร้ายอื่นก็พ้นผิดในข้อนี้ไป การค้าขายยาบำรุงอื่นๆยังเสี่ยงต่อการทำบาปด้วยเช่น การขายครีมบำรุงที่อวดสรรพคุณว่าทำให้ขาว เต่งตึงนั้น จะเข้าไปในลักษณะของยาพิษเพราะไม่ได้เอาสิ่งจำเป็นเข้าไปในร่างกาย แต่เอาไปเพราะมีความอยากสวยเป็นตัวผลักดัน ใช้การล่อลวงว่าจะขาวจะสวย ทำให้คนซื้อนำสารเคมีเข้าสู่ร่างกายโดยไม่จำเป็น เป็นการขายยาพิษไปพร้อมๆกับการล่อลวงผู้อื่นให้เพิ่มกิเลสในกามรูป เป็นบาปบริสุทธิ์แท้ๆ ไม่มีกุศลหรือบุญปนแม้น้อย แม้จะมีผู้ขายผลิตภัณฑ์เสริมความงามหรือลดความอ้วนจำนวนมากที่ดูมั่งคั่ง แต่นั่นก็เป็นความมั่งคั่งที่สะสมบาปและอกุศลไว้มากมายมากกว่าจำนวนเงินที่เห็นนัก

3). อบายมุข

อบายมุข๖ นั้นไม่ได้หมายถึงการประกอบอาชีพโดยตรง แต่เราสามารถนำมาอธิบายร่วมกับอาชีพได้ว่า อาชีพที่เราทำนั้นมีส่วนไปเกี่ยวข้องกับอาชีพที่ผิดและการค้าขายที่ผิดอย่างไร มีส่วนเสริมในอบายมุขอย่างไร ขึ้นชื่อว่าอบายมุขนั้นก็เป็นบาปที่หยาบและต่ำ ถ้าตามพระไตรปิฏกนั้นก็ต่ำกว่าคน เป็นดินแดนหรือเขตแดนของผู้ที่จะไปอบายภูมิ เรียกได้ว่าจองตั๋วรอกันก่อนจะไปภพหน้ากันเลยทีเดียว ใครอยากเกิดในภพต่ำๆเช่น เปรต เดรัจฉาน อสูรกาย สัตว์นรกอะไรพวกนี้ก็ให้วนเวียนอยู่ในอบายมุขมากๆ ก็จะได้เกิดในภพเหล่านั้นสมใจ แต่ถ้าใครไม่อยากเกิดในภพเหล่านั้นก็ให้ห่างออกมาจากกิจกรรมเหล่านี้เสีย

3.1). เสพของมึนเมาให้โทษ อาชีพที่ไปข้องเกี่ยวกับอบายมุขข้อนี้ก็จะไปเกี่ยวกับข้อค้าขายของมึนเมาหรือมัชชวณิชชาด้วย ใครที่ทำงานอยู่ในธุรกิจเหล่านี้ก็เหมือนมอบตนในทางที่ผิด ซึ่งจะไปติดมิจฉาอาชีวะด้วย นั่นก็คือผิดทั้งผู้ขาย ผู้ผลิตนั่นเอง

3.2). เที่ยวกลางคืน มีธุรกิจกลางคืนมากมาย กลางคืนนั้นเป็นเวลาที่ควรพักผ่อน แต่ในยุคปัจจุบันนี้ก็ยิ่งส่งเสริมให้ใช้เวลาเที่ยวในกลางคืนมากขึ้น มีผับ บาร์มากมายที่ส่งเสริมให้กินของมึนเมา ผิดซ้ำผิดซ้อนเข้าไปอีก เป็นทั้งอบายมุขและสถานที่อโคจร คือไม่ควรไปข้องแวะ คนที่ทำงานกลางคืนหรือสนับสนุนธุรกิจเที่ยวกลางคืนนั้นก็ติดมอบตนในทางผิด เพราะแม้ตัวเองจะไม่ได้ทำผิด เป็นลูกจ้างที่ขยัน ซื่อสัตว์แต่ก็ยังทำงานให้ธุรกิจที่ผิดไปจากพุทธ ก็ยังต้องรับส่วนของอกุศลวิบากอยู่ดี

3.3). เที่ยวดูการละเล่นกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมยุคนี้ไปแล้วกับการดูการละเล่น ในยุคนี้นั้นก็ปรับให้เห็นถึงการละเล่นในยุคนี้ เช่น ละคร หนัง ภาพยนตร์ กีฬา ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องเล่นๆทั้งนั้น ดูเพื่อความบันเทิง ไม่ดูก็ไม่เป็นไร เป็นกิจกรรมที่เป็นอบายมุขแท้ๆ เพราะพาให้หลงไปในกามทั้งหลายในระดับหยาบ แม้อาชีพนักแสดงเหล่านั้นจะแสดงอย่างจริงจัง มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ก็เป็นเพียงเรื่องเล่นๆอยู่ดี ไม่ใช่สาระของชีวิต ยกตัวอย่างเช่นฟุตบอล ถ้าคนไทยไม่สนใจดูฟุตบอลก็ไม่เห็นจะเกิดอะไรไม่ดีกับชีวิต มีเวลาเพิ่มเสียอีก เอาเวลาไปทำงานทำการ เอาไปพักผ่อนได้อีก แต่นี่เป็นเพราะเราติดอบายมุข ติดมันจนเป็นอัตตา เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว แล้วหลงว่ามันเป็นของจำเป็นในชีวิต ทั้งๆที่มันไม่จำเป็นและไม่มีสาระเลย

3.4). เล่นการพนัน การพนันในยุคนี้มีการพัฒนารูปแบบให้ดูเป็นสากลขึ้น เช่น เล่นหุ้น ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนสัญญาซื้อขายทองล่วงหน้า และการลงทุนอื่นๆ กิเลสมันพัฒนาขึ้นเลยทำให้การพนันมีรูปแบบซับซ้อนขึ้น ต่างจากชาวบ้านทั่วไป ที่เล่นไพ่ แทงสูงต่ำ ชนไก่ กัดปลา ฯลฯ ทั้งหมดก็มีลักษณะเดียวกันคือลงเงินไปก้อนหนึ่งแล้วหวังให้ได้เงินมากขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลอะไรต่างๆนาๆ แต่ก็มีโอกาสที่เงินจะลดจากปัจจัยต่างๆนาๆเช่นกัน คนที่อยู่ในธุรกิจเหล่านี้ก็เหมือนกับคนกลาง หรือเจ้ามือ ส่งเสริมเรื่องอบายมุข เป็นบาปและอกุศลเน้นๆ หาบุญไม่เจอเลย หากุศลก็ไม่มี ได้เงินมาก็เป็นเงินบาป รวยเดี๋ยวก็ต้องรับซวยไปด้วย ทุกข์เน้นๆ

3.5). คบคนชั่วเป็นมิตร เช่นเรามีเพื่อนที่ทำมิจฉาอาชีวะ ทำมิจฉาวณิชชามากๆ เดี๋ยวก็พาเราให้ลำบาก ให้ลงนรกไปด้วย เพราะคนที่ประกอบอาชีพผิดๆนี่เขาจะมีอกุศลวิบากของเขาอยู่แล้ว แต่โดยหน้าตาทางสังคมเขาจะดูรวย ดูมั่นคง ดูภูมิฐาน เหมือนคนน่าคบทั่วๆไป แต่พอวิบากส่งผลเท่านั้นแหละ เหมือนฟ้าผ่าบางคนต้องหนีวิบากหนีหนี้ บ้านก็แทบไม่มีจะอยู่ พอเราคบเป็นเพื่อนก็ต้องมาพึ่งพาเรา พาเราซวยไปด้วยอีก

3.6). เกียจคร้านการงาน งานหรืออาชีพที่พาให้เราเกียจคร้านนี่ก็เป็นอบายมุขเช่นกัน เช่นเดียวกับนักลงทุนที่มองว่าตนเองนั้นจะสร้างรายได้จากการลงทุนระยะยาวแล้วเลิกทำงาน ว่าแล้วก็ใช้เวลาออกไปเสพกิเลส เสพอบายมุข เสพกาม เสพโลกธรรม ตามอัตตา นี่คือผลจากการที่เรามีอาชีพที่สร้างรายได้มากจนทำให้เรามีโอกาสไปเสริมกิเลส จะมีสักกี่คนที่มีรายได้จำนวนมาก แต่ก็ยังทำงานปกติ ไม่เสริมกิเลส เข้าวัดปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผล ไม่ใช่เพื่อทำความดีเอาหน้า

พอมีเงินแล้วไม่ทำงานก็คือกินกุศลเก่าที่สะสมมา ซึ่งมันก็สามารถมีวันหมดได้มันไม่ใช่แค่ให้เงินทำงานหาเงินเองอย่างที่เข้าใจ มันมีเบื้องหลังทางนามธรรมมากกว่านั้น ถ้ากุศลหมด วิบากบาปก็อาจจะลากเราเข้าสู่สภาพป่วยก็ได้ทำให้ต้องดึงเงินที่มีเกือบทั้งหมดมารักษาตัว ดังนั้นถ้าไม่ศึกษาบุญกุศลบาปอกุศลไว้ ก็จะเป็นนักลงทุนที่ประมาท มองการลงทุนไม่ขาด เพราะเรื่องทั้งหมดนี้เป็นการลงทุนข้ามภพข้ามชาติ ไม่ใช่แค่การลงทุนเพื่อใช้ในชีวิตนี้ชีวิตเดียว

….อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะรู้สึกว่ามีแต่งานที่เป็นบาปเต็มไปหมด และเราเองก็อาจจะอยู่ในส่วนของบาปนั้นๆด้วยก็ได้ วิธีจะออกจากมิจฉาอาชีวะ และมิจฉาวณิชชา รวมถึงอาชีพที่ไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขนั้น ก็ให้ทำดีให้มากๆ ค่อยๆเขยิบขาออก ทำงานไปก็หาช่องทางใหม่ไป อย่ารีบให้มันทรมานตัวเองเดี๋ยวจะไม่มีรายได้

การที่เราไปติดอยู่ในมิจฉาอาชีวะ มิจฉาวณิชชา และอบายมุขนั้นเกิดจากกรรมกิเลสที่เราทำมา เรากำลังรับกรรมส่วนนั้นอยู่ เราต้องรับทำหน้าที่บาปนั้นเพราะเราทำบาปนั้นมา สะสมบาปนั้นมา แม้ว่าเราจะรู้ตัวแล้วมันก็จะออกไม่ได้ง่ายๆ ทิ้งไม่ได้ง่ายๆ จะมีบางอย่างดึงรั้งให้เราอยู่กับงานนั้น ก็ให้เราทำความดีมากๆ ทำสิ่งที่เป็นกุศลมากๆ เช่นการล้างกิเลสนี่เองเป็นกุศลสูงสุดที่ใครคนหนึ่งจะทำได้

การที่เราต้องระวังในเรื่องอาชีพเหล่านี้เพราะจะได้ไม่ต้องมาซวยเพราะความรวย บางอาชีพสร้างรายได้มากมายมหาศาลแต่ความซวยที่รออยู่ข้างหน้าก็มหาศาลเช่นเดียวกัน หากใครอยากจะรวยแบบไม่ต้องซวยก็ต้องหลีกเลี่ยงการประกอบอาชีพที่ผิด การค้าขายที่ผิด และงานที่ไม่ไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขทั้งหลาย

– – – – – – – – – – – – – – –

13.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รวยเท่ากับซวย #1

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,060 views 0

รวยเท่ากับซวย #1

รวยเท่ากับซวย #1

…เมื่อความร่ำรวย ไม่ได้นำมาซึ่งความสุขและโชคดีเสมอไป

การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมยุคทุนนิยมในปัจจุบัน ผู้คนต่างก็พากันใฝ่หาความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเป้าหมายตั้งแต่เกิดไปจนตายว่าต้องร่ำรวยจึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นภารกิจที่ผูกมัดให้เราต้องแสวงหา ไขว่คว้าเพียงเพื่อจะร่ำรวย

แล้วเราร่ำรวยไปทำไม? เป็นคำถามที่ดูตลกสิ้นดี คำตอบนั้นมีมากมายรองรับไว้ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว เช่น จะได้สบาย จะได้กินใช้ตามต้องการ จะได้ไม่ลำบากตอนแก่ฯลฯ

แล้วเราต้องร่ำรวยขนาดไหน? มาถึงคำถามนี้หลายคนก็จะเริ่มตอบตามฐานะ ตามฝันของแต่ละคน เช่นตอนนี้ยังไม่ได้ล้านก็เอาล้านก่อน ได้ล้านมาแล้วแต่เดี๋ยวจะเอาสิบล้านว่าจะพอ พอได้สิบล้านเห็นเป้าร้อยล้านว่าจะคว้ามาก่อน สรุปง่ายๆว่าหาเท่าที่กิเลสจะนำพานั่นแหละ

….ความมั่งคั่งกับกิเลส

ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี่มันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขตและมันไกลออกไปเป็นอนันต์ การได้มาซึ่งเงินหรือความมั่งคั่งเป็นเพียงแค่ฉากหน้า แต่กิเลสที่มีทั้งอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา นั้นเป็นฉากหลังที่ยิ่งใหญ่และอลังการ ไม่มีวันที่คนจะพอใจกับการสนองกิเลสด้วยเงิน มันไม่มีวันจบสิ้นแม้จะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เงินคืออสรพิษ” แต่ถึงอย่างนั้นศาสนาพุทธก็ไม่ได้ปฏิเสธความมั่งคั่งที่มาโดยธรรม เพียงแค่ให้รู้จักบริหารความมั่งคั่งเพราะถ้าสะสมมากเกินไปมันจะกลายเป็นพิษ ดังเช่นในฐานของศีล ๑๐ ก็จะมีเรื่องของเงินเข้ามาอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงถ้าอยากให้ชีวิตมีความสุขก็อย่าไปยุ่งกับเงินมากนัก

ถึงกระนั้นก็ตามในฐานของศีล ๑๐ นั้นเป็นฐานะที่สูงมาก การจะมาถึงได้ต้องลดกิเลสมาตามลำดับจากศีล ๕ ศีล ๘ จนมั่นใจว่าถือศีลได้อย่างปกติเสียก่อนจึงจะขยับฐานมาศีล ๑๐ ไม่ใช่ว่าเห็นว่าศีล ๑๐ ดีแล้วจะเลิกรับเงินทุกอย่างแล้วทำตัวยากจนต้องทนทุกข์ทรมานจากกิเลส อยากได้ อยากมี อยากกิน อย่างคนอื่นเขาแต่อดไว้เพราะถือศีล อันนี้ก็เรียกว่าถือศีลไม่เหมาะสมตามฐานะ

ความเป็นพิษของความมั่งคั่งนั้นก็คือการเสพอย่างเกินพอดี คิดเพียงแค่ว่าตนหามาได้มากก็มีสิทธิ์ใช้มาก แปลกันตรงตัวก็คือหาเงินได้มากก็เอามาสนองกิเลสได้มาก สนองกิเลสมากมันก็บาปมาก ทางไปนรก(ความเดือดเนื้อร้อนใจ) ก็เปิดกว้างมากเช่นกัน

….รวยแล้วมันซวยยังไง

หลายคนอาจจะบอกว่ารวยก่อนถึงจะดี ในบทความนี้เราไม่ได้ปฏิเสธเงินเสียทีเดียว แต่เราปฏิเสธความรวยซึ่งหมายถึงการมีเกินพอดี คำว่ารวยนั้นแสดงถึงสภาพเหลือกินเหลือใช้ นั่นก็แสดงถึงความล้น ความเฟ้อ ความไม่พอดีอยู่แล้ว

ทีนี้เมื่อเรามีมาก เราก็อยากใช้มาก เพราะกิเลสเราโตตามไปพร้อมกับเงินด้วย สมมุติว่ามีคนคนหนึ่งตอนเขาจน เขากินข้าวจานละ 50 บาทก็ยังว่าแพง แต่ตอนเขารวย กินอาหารมื้อกลางวันมื้อเดียว 1,000 บาทก็ยังว่าคุ้มค่า ดูสิกิเลสมันหลอกได้ถึงขนาดนี้ มันเอารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสมาหลอกขายเขา เขาก็หลงเชื่อเห็นไหม ตอนเขาจนเขายังฉลาดกว่าตอนรวยเลยนะ เพราะเห็นว่าของที่คนรวยกินเข้าไปนั้นมันทั้งแพงทั้งน้อย แม้อร่อยแต่ก็ไม่คุ้มค่าเงิน คนรวยเขากล้ากินได้ยังไง ตอนจนมันจะเห็นคุณค่าเงิน 50 บาทว่ามาก จึงใช้เงินอย่างประหยัด แต่พอตอนเขารวยนี่มันกินได้หมดเลยนะ มันไม่ต้องคิดอะไรเพราะมันจ่ายได้หมด มันเห็นคุณค่าเงิน 1,000 บาทว่าน้อย เห็นไหมมันเริ่มโง่แล้ว

ค่าอาหารที่แพงขึ้นไปคือราคาของกิเลส ราคาของกามคุณที่เขาแต่งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ราคาของโลกธรรมที่เขายกยอปอปั้นว่าดีว่ายอด ราคาของอัตตาที่เราหลงไปให้คุณค่าว่ามันดี ราคาที่จ่ายไปนี่คือค่ากิเลสล้วนๆ คือความโง่บริสุทธิ์บนความรวยนี่เอง ถ้าได้ลองล้างกิเลสเรื่องอาหารจนหมดจะพบความจริงว่า ทั้งหมดนี้มันก็เท่านั้นเอง ข้าวมื้อละ 1,000 บาทกับมื้อละ 50 บาท มันก็อิ่มเท่ากัน ก็เท่านั้นเอง

การใช้เงินเป็นนี่ไม่ได้หมายความว่าใช้เงินตามฐานะอย่างที่เข้าใจกันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้เงินอย่างพอเหมาะพอควรให้เหมาะสมกับสิ่งที่จ่ายเงินซื้อไป ดังเช่นเรื่องที่ยกตัวอย่างนั้น คนเรากินเพื่อดำรงชีวิตอยู่แต่คนมีกิเลสนั้นดำรงชีวิตอยู่เพื่อกิน จึงต้องเสียเงินมากมายให้กับการกินที่สิ้นเปลือง ซึ่งก็มักจะมีคำพูดที่ดูดีเหตุผลที่สวยหรูจากกิเลสมารองรับ

ในมุมของความเป็นภัยนี่ก็มาก ความรวยจะเรียกคนที่ไม่จริงใจเข้ามาใกล้กับชีวิตเราเยอะมาก มีการฆ่ากันเพราะความรวยกันมาก็เยอะ คดีดังๆก็มีให้เห็นหลายคดีจนมีคำถามว่ารวยแล้วยังไง? สุดท้ายก็โดนเขาฆ่าแล้วเอาเงินไปใช้ มันตายเพราะความรวยแท้ๆ

ความรวยยังเป็นภัยในมุมของการบริหารงาน เช่นหากประเทศอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด เรามีโรงงานอยู่ซึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงมาก เราบริหารไม่ผิดพลาดตามหลักการเลยนะ แต่สุดท้ายการเงินฝืดเคืองจนจำเป็นต้องลดสวัสดิการบางอย่างของพนักงาน แล้วเราดันรวย มีภาพรวยติดอยู่ในใจพนักงาน คือมีดีแค่ความรวยนี่แหละ เรื่องอื่นไม่ค่อยเด่น เพราะวันๆเอาแต่ทำตัวรวย ขับรถหรูไปกินอาหารแพงๆ เขาก็จะจ้องเราเหมือนกับฝูงหมาป่าจ้องลูกแกะนั่นแหละ ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ลองจินตนาการกันดูว่าถ้าบริษัทที่เรากำลังทำงานถูกลดสวัสดิการ ลดเงินเดือน แต่ผู้บริหารยังใช้ชีวิตหรูหราตามปกติ เราจะรู้สึกอย่างไร

คนรวยที่เก็บกักทรัพย์ไว้ไม่สละออกนั้นก็ยากที่จะพบกับความสุข ในฆราวาสธรรม ๔ คือธรรมของผู้ครองเรือน ก็มี “จาคะ” หมายถึงการเสียสละแบ่งปัน ซึ่งจะใช้ลดความยึดมั่นถือมั่น ความตระหนี่ถี่เหนียวของของรวยนี้เอง

เมื่อมีทรัพย์แต่ไม่ได้บริหารทรัพย์ให้ไปเป็นไปในทางกุศล ไม่ได้ทำให้เกิดบุญ แต่นำไปสนองตัณหา นำไปเสพที่กิเลสสั่งนั้นก็จะกลายเป็นบาป นั่นหมายถึงว่ายิ่งรวยก็จะยิ่งมีศักยภาพในการทำบาปสูงเท่านั้น นำมาซึ่งสิ่งอกุศลมากมาย

….การบริหารความรวยไม่ให้ซวย

ในสมัยพุทธกาลนั้นก็มีเศรษฐีมากมายที่ทำทาน เปิดโรงทาน แจกของแจกอาหารทุกวัน ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ศรัทธาในการทำทาน เป็นการบริหารทรัพย์ที่มีมากให้เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เกิดบุญกุศลเท่านั้น ยังสามารถทำให้ตนเองนั้นพ้นภัยไปได้ด้วย

ยกตัวอย่างในยุคนี้เช่นกรณีของบิล เกตส์เมื่อครั้งหนึ่งเคยมีปัญหาที่ทำให้ชื่อเสียงและความมั่นคงในชีวิตตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย เขาได้ใช้การบริจาคเงินตั้งมูลนิธิขึ้นมาและผ่านพ้นวิกฤตินั้นไปได้ ด้วยผลแห่งการทำทานนั้นเอง

ในกรณีเช่นนี้ ถ้าตามหลักของ CSR (Corporate Social Responsibility : ความรับผิดชอบต่อสังคม)ก็ยังเป็นระดับปลายเหตุ เหมือนกับที่บริษัทยักษ์ใหญ่มากมายถล่มทรัพยากรธรรมชาติ กดขี่พนักงาน ลดคุณภาพสินค้า ขายสินค้าราคาแพง สุดท้ายเอารายได้ส่วนหนึ่งมาจัดกิจกรรมสังคมให้ดูดีหรือกลบเกลื่อนชื่อเสียงที่ไม่ดี ไม่ใช่ทานที่ให้ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตหรือตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุ แต่ก็ยังถือว่าเป็นการบริหารความรวยไม่ให้ซวยได้ระดับหนึ่ง

ซึ่งในกรณีนี้ถ้าเราสมมุติกิจกรรมเป็น 10 ส่วน ทำบาปทำอกุศลไปซะ 9 ส่วน ทำดีเอากำไรมาทำทานเสีย 1 ส่วน มันก็ดูดีใช่ไหม แต่มันจะทานพลังบาปอกุศลของ 9 ส่วนนั้นไม่ได้นานหรอก วันหนึ่งหากยังไม่หยุดเอาเปรียบลูกค้า พนักงาน สังคมสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไร ก็ไม่มีทางจะต้านผลแห่งบาปที่ทำสะสมไว้ได้ สุดท้ายก็ซวยอยู่ดี

การบริหารความรวยที่ดีที่สุดคือการไม่รวย หรือการไม่ปล่อยให้ตนเองรวยจนถึงขีดที่เป็นภัย มีเท่าไหร่ก็ขจัดออก ปัดออก ยกตัวอย่างของประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลก “โฮเซ มูฮิกา” ที่มอบรายได้ต่อเดือนของตนกว่า 90% ให้กับการกุศล โดยใช้ชีวิตอย่างพอเพียงอยู่ในบ้านไร่ของเขากับภรรยา เรียกได้ว่าเป็นการบริหารความรวยอย่างชาญฉลาด เพราะนอกจากปัดภัยจากเงินที่จะเข้ามาหาตัวแล้ว ยังสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นด้วย

ในทางพุทธศาสนายังมีวิธีการบริหารที่ดีกว่านั้น คือทำงานฟรี คือไม่รับความรวยไว้ตั้งแต่แรกเลย เมื่อไม่ได้รับมาก็ไม่ต้องมานั่งบริหาร ไม่ต้องมาคอยลำบากเพราะความรวย และใช้การบริหารชีวิตและสังคมด้วยระบบสาธารณโภคี คือใช้ของส่วนกลาง ไม่มีของส่วนตัว พึ่งพาอาศัยกัน เลี้ยงดูกันและกัน สร้างประโยชน์แก่กันและกันแบบฟรีๆ

….การบริหารความรวยที่ผิด

ลองมายกตัวอย่างการบริหารความรวยที่ผิดบ้าง มีตัวอย่างมากมายให้เห็นเช่น ในระดับทั่วไป คนที่มีเงินมีทองก็สวมใส่ทอง เอาเงินมากมายใส่กระเป๋าด้วยความอยากแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนรวย ทีนี้พอเตะตาบางคนที่เขามีความโลภมากๆเข้าก็มักจะเกิดการกระชากสร้อย ปล้นจี้ ขโมย อันนี้เป็นระดับชาวบ้านทั่วๆไป

ลองขยับขึ้นมาเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัยบ้าง คนรวยก็มักจะตกแต่งบ้านประดับบ้านด้วยสิ่งของราคาแพง บ้านจะใหญ่และโดดเด่นกว่าคนอื่น เพราะคนรวยที่หลงเมาในกิเลสก็จะพยายามทำตัวให้คนอื่นรู้ว่าตนรวย ทีนี้พอโดดเด่นก็จะเป็นเป้าสายตา แล้วก็จะกลายเป็นเป้าหมายของโจรเข้าในวันใดวันหนึ่ง ความสูญเสียทรัพย์สินหรือชีวิตก็จะตามมา

ลองเปลี่ยนมาเป็นการบริหารงานบ้างดังเช่นกิจการที่มีการเติบโต ผู้บริหารจึงขยายกิจการออกไปเพื่อหวังกำไรให้มากขึ้น แต่เมื่อมีสาขามากขึ้นภาระก็มากขึ้น ต้องทำยอดขายมากขึ้น ปัญหาก็มากขึ้น ทั้งที่ชีวิตจริงๆก็ดีอยู่แล้ว แทนที่จะนำทรัพยากรมาพัฒนาสวัสดิการภายในต่างๆให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่กลับขยายให้ใหญ่แต่มีคุณภาพแบบทั่วๆไป เป็นลักษณะการบริหารความรวยที่ผิดที่เห็นได้โดยทั่วไปลองคิดดูก็ได้หากบริษัทจะบอกกับคุณว่าปีนี้ไม่มีโบนัสเพราะบริษัทจะนำเงินไปลงทุนขยายกิจการ จะรู้สึกอย่างไร

ลองมาดูในมุมของการบริหารเงินกันบ้าง หลายคนเอาเงินไปลงทุนในธุรกิจต่างๆที่มีความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่นลงทุนในตลาดหุ้นในลักษณะระยะสั้น สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า ซึ่งมีการแปรผันอย่างรวดเร็วและคาดเดาผลได้ยาก และแม้จะใช้คำว่า “การลงทุน” แต่ก็มีคุณสมบัติเหมือนการพนันอย่างไม่ผิดเพี้ยน คือมีการลงทุนและหวังให้ทุนเพิ่มมากกว่าที่ลงโดยมีโอกาสลดลงเช่นกัน ไม่ต่างอะไรกับการเล่นพนันอื่นๆ เพียงแค่ใช้ข้อมูลทางผลประกอบการและเศรษฐกิจเป็นตัวอ้างอิงที่ใช้เล่นกันไม่ต่างกับลูกเต๋าหรือไพ่ เมื่อเป็นการพนันจึงกลายเป็นการบริหารความรวยที่มีผิดไปจากทางที่ควรจะเป็นกุศล

การบริหารความรวยที่ผิดนั้นไม่ได้มาจากเหตุอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็มาจากโลกธรรม คือความโลภ ความอยากได้การชื่นชม อยากให้มีคนยอมรับ อยากอยู่ในตำแหน่งสูงสุด อยากมีความสุข สนองอัตตา ก็เพียงแค่นั้น

….การประกอบอาชีพอย่างพุทธ

การได้มาซึ่งความร่ำรวยนั้นต้องไม่ได้มาจากการพนัน การขโมย การแย่งชิง การเอาเปรียบ ฯลฯ ความรวยที่สุจริตนั้นมาจากการประกอบอาชีพที่สุจริต และอาชีพที่สุจริตนั้นมีอยู่ในพระไตรปิฏก อยู่ในสัมมาอริยมรรคข้อหนึ่งที่ว่า “สัมมาอาชีวะ” เป็นคำที่ผู้คนต่างเข้าใจกันเพียงว่าเลี้ยงชีพชอบ แล้วอย่างไรจึงชอบ อาชีพใดจึงดี เราจะไปขยายกันต่อในบทความต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

13.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์