Tag: พุทธ
การตอบคำถามในหมวดที่คนยึดมาก ๆ
วันนี้มีคนมาถามคำถามเกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์ในพระพุทธศาสนา เป็นบทความเก่าที่ผมได้พิมพ์ไว้หลายปีแล้ว
หลัง ๆ มานี้ผมหมดฉันทะ คือหมดความยินดีในการตอบคำถามเหล่านั้น เพราะโดยมากมักจะปักธงเชื่อของเขาอยู่อย่างนั้น การถามส่วนมากก็เพียงเพื่อจะข่มหรือแข่งดีเอาชนะเท่านั้นเอง
ซึ่งผมก็ไม่ได้เห็นประโยชน์อะไรกับการเสียเวลาไปตอบคนที่เขาไม่ได้ศรัทธา ไม่ได้น้อมใจไปสู่การไม่เบียดเบียน มันก็เมื่อยเปล่า ๆ เหมือนตำน้ำพริกลงแม่น้ำ เพราะจริง ๆ ในบทความก็พิมพ์ตอบไว้หมดแล้ว เพียงแต่ถ้าเขาจะหาเรื่องติเรื่องเพ่งโทษ เขาก็หากันได้หมดนั่นแหละ
ถ้าวัดกันในพุทธระดับโลกจริง ๆ เขาก็ไม่กินเนื้อสัตว์กันครับ มีแต่ไทยกลุ่มใหญ่นี่แหละที่ยังกิน แล้วก็อ้างตนว่าถูก คือถ้าเถียงกันไปกันมานี่มันเสียเวลาน่ะครับ ให้สัจจะพิสูจน์ดีกว่า ว่าทำแล้วพ้นทุกข์จริงไหม?
ว่ากันจริง ๆ นะ คนที่เขาปล่อยวางได้ เขาไม่มาเถียงสู้ผมหรอก คนอัตตาจัดเขาอ่านสิ่งที่ขัดกับตนเอง เขาก็อารมณ์ขึ้น มันก็ยึดดี อยากสั่งสอน อยากแสดงตนว่าข้าแน่ ข้าถูกต้อง เขาก็มาแสดงตัวของเขานั่นแหละว่าเขายังวางความเห็นที่แตกต่างไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่โลกนี้ใครก็เห็นแตกต่างกันทั้งนั้น
ส่วนตัวผมก็ไม่ค่อยถือสาเท่าไหร่ เพราะเข้าใจว่าโลกมันก็เป็นแบบนี้แหละ แต่เราก็จะโฟกัสเฉพาะกลุ่มคนที่เราพูดได้ สื่อสารได้ ศรัทธากัน เราไม่ใช่นักโต้วาที เอาวาทะธรรมไปเถียงเอาชนะกันเสียที่ไหน อันนั้นมันนักเลงธรรมคุยกัน เขาชอบก็ปล่อยเขา เราก็ทำแบบของเราไป
ก็เว้นเสียแต่ว่าคนที่มาติดตามผมบ่อย ๆ เห็นแล้วยกมาถาม ผมก็จะตอบให้ตามที่รู้ครับ หรือมีคนถามมาแล้วผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่ติดตามผมอยู่ ก็จะนำมาตอบกันครับ
ศาสนาพุทธ ในปัจจุบัน
ศาสนาพุทธ ในปัจจุบัน
ระหว่างที่กำลังทำสวนในเย็นวันหนึ่ง ผมมองขึ้นไปบนฟ้า เห็นเส้นสีขาวที่คดไปมา มองต่อไปก็เห็นเครื่องบินกำลังบินอยู่ เครื่องบินก็ดูเหมือนจะบินตรงไปตามทิศทางของมัน แต่เมฆหรือไอน้ำที่เกิดขึ้นกลับเปลี่ยนไปตามลมอย่างไร้ทิศทาง
ในช่วงหนึ่งที่เห็นภาพเหล่านั้น ผมคิดไปถึงความเป็นไปของศาสนาพุทธในปัจจุบัน ซึ่งเหมือนกับภาพของเครื่องบินและไอน้ำที่เกิดตามหลังมา คือพระพุทธเจ้า ท่านก็สอนถูกตรงที่สุดแล้ว แต่พอเวลาผ่านไป ความผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวก็เกิดขึ้น เหมือนเป็นเรื่องธรรมดายังไงอย่างนั้น
ความผิดเพี้ยนไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสมัยนี้เท่านั้น แต่เกิดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ต้องมีสงฆ์คอยชำระแก้ไขความผิดเพี้ยนเหล่านั้นเรื่อยมา แต่ยิ่งนานวันผ่านไป อริยสงฆ์เหล่านั้นก็ค่อย ๆ จากไป เส้นทางที่ชัดเจนได้เลือนหายไปตามกาลเวลา ที่มีอยู่ส่วนใหญ่ก็ล้วนบิดเบี้ยวไปตามวิบากของแต่ละคน มีเพียงฝุ่นปลายเล็บเท่านั้นที่ยังคงปฏิบัติถูกต้องอยู่ได้ ส่วนดินทั้งแผ่นดินที่เห็นคือผิดเพี้ยนไปหมดแล้ว
เรื่องพุทธแท้พุทธเทียม คงจะเป็นเรื่องที่เถียงกันไม่มีวันจบสิ้น เพราะต่างคนก็ต่างถือว่าตนเอง อาจารย์ของตน ลัทธิของตนนั้นถูกเสมอ ซึ่งมันก็มีทั้งคนถูกทั้งคนผิด แต่คนถูกมีนิดเดียว คนผิดแทบทั้งโลก
สมัยศึกษาธรรมะใหม่ ๆ ผมเองก็ยังแสวงหาหนทางเหมือนกับคนทั่วไป พอเจออาจารย์ที่ปฏิบัติตามแล้วได้ผลจริง คือลดความอยากลงได้จริง มีหลักฐานปรากฏตามจริง สามารถรู้ร่วมกันได้ เช่น การเลิกหลงในการกินเนื้อสัตว์, การประพฤติตนให้อยู่เป็นโสด ฯลฯ และมั่นใจว่าจิตใจข้างในก็เป็นจริงตามนั้น
หลังจากตนเองพอจะมีหลักให้ยึด จึงเริ่มศึกษาผู้อื่น กลุ่มอื่น ลัทธิอื่น ความเชื่ออื่น ก็ศึกษาไปอย่างนั้นแหละ ไม่ได้คิดจะไปรบกับใคร ไม่ได้คิดจะไปปรับเปลี่ยนอะไรเขา เพียงแค่อยากรู้ว่าเขาปฏิบัติเหมือนเราไหม เขาปฏิบัติแล้วได้ผลอย่างเราไหม หรือเขาปฏิบัติแล้วได้ผลอย่างไร ช่วงแรก ๆ มันก็ยังมีไฟ ยังตั้งใจอยู่ แต่พอศึกษาไปนานวันเข้า มันก็ท้อเหมือนกัน
อาการท้อ นี่คือรู้สึกหมดหวัง รู้สึกประมาณว่าไม่รู้เหมือนกันว่าเขาจะทำไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร สร้างสำนัก สร้างลัทธิมาหลง ทำไปทำไม แน่นอนว่าเราไปช่วยเขาไม่ได้อยู่แล้ว ตรงนี้ไม่ใช่เป้าหมายแต่แรก แต่ลึก ๆ มันยังมีความรู้สึกเป็นห่วง เพราะเห็นว่าปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ต้องการไปสู่ความพ้นทุกข์เหมือนกัน แต่กลับไปกันคนละทิศละทางอย่างจนดูเหมือนจะไม่มีวันที่จะมาบรรจบกันได้
สุดท้ายหลังจากที่ได้พูดคุย, แลกเปลี่ยน, ปะทะ, ฯลฯ กับคนที่เห็นไม่ตรงกันในการปฏิบัติ จากประเด็นต่าง ๆ ในบทความที่เคยได้พิมพ์ออกไป ก็รู้สึกว่า “พอดีกว่า” หลายครั้งหลายที มันก็ไปไม่ได้ มันทำความเข้าใจกันยาก ยิ่งไม่มีศรัทธาต่อกันยิ่งไปกันใหญ่ มันจะกลายเป็นแค่การแข่งดีเอาชนะกัน ซึ่งมันเสียเวลาเอามาก ๆ สรุปคือนอกจากจะช่วยเขาไม่ได้แล้วยังผลักเขาลงเหวไปอีก
ยิ่งในลัทธิที่แตกต่างนี่ผมยิ่งไม่อยากแตะ เพราะรู้ตัวดีว่าไม่มีกำลังพอจะไปบอกอะไรเขาได้ มันก็ต้องปล่อยเขาไป ฐานะเราก็เท่านี้ เราก็มีแค่นี้ เราก็เจียมตัวอยู่แบบของเราไป ส่วนใครเขาจะบรรลุธรรมแบบไหน จะเร็วจะช้า จะพิสดารแบบไหนก็เรื่องของเขา มันก็เป็นไปตามวิบากของเขา เป็นไปตามวิบากของโลก เหมือนกับเมฆที่โดนลมพัด เปลี่ยนรูปไปหมด เอาแน่เอานอนไม่ได้
เรื่องเขานี่มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ รู้ก็ไม่ชัดเท่าตัวเรา สู้เราเอาเวลามาปฏิบัติของเราดีกว่า ว่าพุทธในปัจจุบันของเรานี่มันเต็มความเป็นพุทธหรือยัง ถ้าเราทำได้ดีแล้วโลกจะเป็นอย่างไรก็ช่างมันเถอะ เพราะมันพร่องเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เราก็ช่วยไปตามกำลัง ตามบารมีของเรา มีมากก็ช่วยได้มาก มีน้อยก็ช่วยไปตามบารมีที่มี ไม่ต้องทุกข์อะไร
เท่าที่ผมเห็น ดูเหมือนคนส่วนมากจะเอาเวลาไปทุ่มกับเรื่องนอกตัวเสียหมด ปฏิบัติธรรมก็ไปทำนอกตัว ไปอยู่กับอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะมากมาย ไม่แก้ปัญหาที่จิต ไม่แก้ที่กิเลสในจิต แต่ก็คงจะเป็นเรื่องธรรมดา ก็ทางปฏิบัติมันหายไปเกือบหมดแล้ว ก็ปฏิบัติกันแบบหลงป่ากันไป ป่าใครป่ามัน คนอยู่ในป่าก็มองจากป่า ก็เหมือนเห็นคนอื่นอยู่อีกป่า แม้คนไม่อยู่ในป่าเขาก็มองว่าว่าอยู่ในป่า เพราะเขามองผ่านป่าของเขา ก็เป็นแบบนี้แหละนะ พุทธในปัจจุบัน
31.1.2561
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
การไม่กินเนื้อสัตว์กับศาสนาพุทธ
รวมบทความเกี่ยวกับข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งเรื่องของการไม่กินเนื้อสัตว์กับศาสนาพุทธ
เป็นชุดบทความประยุกต์ความรู้ทางพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ซึ่งในปัจจุบันนั้นการไม่กินเนื้อสัตว์กลายเป็นเรื่องแปลก ทั้งที่ในอดีตสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชผู้มากอบกู้ศาสนาในช่วงต้น ในยุคนั้นก็ไม่นิยมกินเนื้อสัตว์กัน และมีข้อมูลว่าท่านเองก็เป็นมังสวิรัติด้วย ดังนั้นจากหลักฐานที่พอจะมีปรากฏคือชาวพุทธนั้นเขาไม่กินเนื้อสัตว์กันเป็นธรรมดา คือไม่กินกันเป็นปกติ เพราะไม่มีการฆ่าสัตว์ในพื้นที่ ก็เลยไม่มีให้กินกันอย่างเช่นทุกวันนี้
ซึ่งในปัจจุบันนี้มีการฆ่าสัตว์เป็นเรื่องธรรมดา ใครกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา คนไม่กินเนื้อกลับเป็นเรื่องแปลก กลายเป็นว่ากลับหัวกลับหางจากสมัยอดีตที่ผ่านมา สิ่งนี้คือความเจริญหรือความเสื่อมของชาวพุทธกันแน่ ก็ลองมาศึกษากัน
บทความที่รวบรวมมานี้แต่ละบทความค่อนข้างยาว ประมาณ 2-3 หน้ากระดาษ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาและสมาธิพอสมควร แต่ละบทความมีเนื้อหาแตกต่างกันไปเพื่อวิเคราะห์ข้อคิดเห็น ข้อขัดแย้ง และปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ผู้ที่สนใจได้ร่วมศึกษา
๑.การกินไม่มีโทษจริงหรือ การปฏิบัติธรรมของพุทธนั้นควรยุ่งเกี่ยวกับการกินหรือไม่ มีสาระสำคัญหรือไม่ (facebook : https://goo.gl/GF2IUs )
๒.ชาวพุทธ ควรกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาหรือไม่ อ้างอิงพระสูตรที่จะชี้ให้เห็นว่าสิ่งใดเป็นกุศลสิ่งใดเป็นกุศล (facebook : https://goo.gl/VG2MYU )
๓.การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ มีความเจริญในทางธรรมหรือไม่ ควรปฏิบัติหรือไม่ (facebook : https://goo.gl/q3NTH4 )
๔. กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป จริงหรือ? วิเคราะห์เกี่ยวกับคำว่า “บาป” คืออะไร ทำไมจึงบาป (facebook : https://goo.gl/HkH80y )
๕.การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่เป็นบุญจริงหรือ บุญคืออะไร เป็นบุญหรือไม่ ทำอย่างไรจึงเป็นบุญ (facebook : https://goo.gl/kSDWzK )
๖.พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ ความเห็นความเข้าใจของผู้เขียนที่ได้จากการปฏิบัติธรรม (facebook : https://goo.gl/GXAolv )
๗.การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑ ว่ากันด้วยเนื้อหาของศีลของเดียว ทุกวันนี้มีศีล หรือเสื่อมจากศีล (facebook : https://goo.gl/SK65K6)
๘.สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ความเห็นจาก “มิจฉาวณิชชา” ที่นำมาขยายกัน (facebook : https://goo.gl/FHtLs6)
๙.กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น การที่คนเราละเว้นเนื้อสัตว์ ไปกินผักกินหญ้านั้นสามารถหลุดพ้นได้จริงไหม (facebook : https://goo.gl/rYxhC9 )
๑๐. การไม่กินเนื้อสัตว์ แบบอุปาทานและสมาทาน การทำความดีที่มีความต่างในทางธรรม (facebook : https://goo.gl/guJLmO )
๑๑.สงครามอัตตา ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ บนสมรภูมิแห่งโลกีย์ที่ไม่มีวันจบสิ้น (facebook : https://goo.gl/syMTNR )
๑๒. สมรภูมิคนดี โจทย์ต่างๆที่จะเข้ามาทดสอบความดี ที่ว่าเป็นคนดีนั้นดีจริงแค่ไหน (facebook : https://goo.gl/5mNxZF )
นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส
นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส
ทุกข์เกิดมาจากอะไร ทำไมเราจึงต้องทุกข์ ยิ่งใช้ชีวิตนานวันไปยิ่งพบกับทุกข์มากขึ้น ยิ่งค้นยิ่งหาก็ยังไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ แล้วมันทุกข์จากอะไร เพราะเราอยากได้ อยากมี อยากเป็น ใช่ไหมเราจึงต้องทุกข์
ความอยากหรือตัณหานั้นเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ทุกชีวิต ตื่นลุกออกจากเตียงก้าวออกไปเผชิญชีวิตในสังคมเมือง ออกไปทำงานตามล่าหาเงิน หาความสำเร็จ หาความมั่งคั่ง มาบำเรอความอยาก ที่เรามักจะเรียกให้มันดูดีว่า “ความฝัน”
อารมณ์ต่างๆในชีวิต เช่น ความโกรธ ขุ่นเคือง ไม่พอใจ ฯลฯ อารมณ์เหล่านี้เกิดจากการที่เราไม่ได้สมใจอยาก บางคนสามารถใช้วิธีทางสมถะตบความทุกข์เหล่านี้ออกจากใจได้ สามารถดับความโกรธ ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจได้ เขาเหล่านั้นเชื่อว่านี่คือทางแห่งการพ้นทุกข์ แต่จริงๆแล้ว เพียงแต่ตบความคิด ดับความคิด หยุดฟุ้งซ่าน แค่ทำใจให้โล่ง โปร่งสบายได้ ยังมาไม่ถึงคำว่า “พุทธ” เลย
วิถีแห่งสมถะ มีมาก่อนพระพุทธศาสนาจะกำเนิดอยู่แล้ว เป็นวิถีแห่งฤาษี พราหมณ์ ในอดีตสมัยพุทธกาลก็มีกันอยู่มาก พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ทดลองแล้วและพบว่ามันไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีคนที่หลงทางอยู่มากมาย เข้าใจว่าการทำสมถะ ดับความคิด ตบความคิดได้ นั่นคือทางแห่งพุทธะ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ใกล้เคียงเลย…
แม้เราจะสามารถดับความคิดขุ่นเคือง เศร้าหมอง โกรธ ฯลฯ ได้ แม้เราจะบอกว่ามันเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปได้ แม้จะรู้ว่ามันเป็นอนิจจัง ความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ในระดับทั่วไป แน่นอนว่าศาสนาพุทธก็สอนให้ดับปัญหาเหล่านั้นที่ปลายเหตุด้วยส่วนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันเราก็มุ่งเน้นมาที่ต้นเหตุ คือสมุทัย เหตุแห่งทุกข์
ทุกข์มันเกิดจากตรงไหน เกิดจากการที่เราโกรธ ขุ่นเคืองใจอย่างนั้นหรือ? ผู้มีปัญญาตื้นเขินก็จะมองเห็นได้เพียงแค่นั้น และดับความคิดเพียงแค่นั้น จนสุดท้ายหลงเข้าใจผิดว่าการบรรลุธรรมก็มีแค่นั้น ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะเหตุแห่งทุกข์จริงๆเราต้องขุดค้นลงไป ว่าเราโกรธเพราะอะไร ที่เราโกรธเพราะเราไม่ได้เสพสมใจในเรื่องใด
และขุดค้นลงไปอีกว่า การที่เราอยากเสพในเรื่องนั้นๆ เราอยากเสพเพราะอะไร เราอยากได้อยากมีอะไร เราติดสุขอะไรในรสชาติ ติดอะไรในอารมณ์ของสิ่งนั้น พิจารณาลึกลงไปเรื่อยๆ ลึกกระทั่งจนไปถึงเหตุเกิด หรือที่เกิดของความทุกข์ นั่นคือสมุทัย ไม่ใช่ปลายเหตุคือความโกรธที่เราเห็นได้ทั่วไป
เพราะเหตุแห่งทุกข์นั้นมักจะซ่อนอยู่ภายในลึกๆ แม้ว่าจะค้นเจอแล้วครั้งหนึ่งอาจจะไม่ได้หมายความว่าจะเจอทั้งหมด และไม่ได้หมายความว่าที่เราเจอคือต้นเหตุจริงๆ เราต้องเฝ้าพิจารณาหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า หารากที่เหลือของมันและขุดรากถอนโคนมันออกมาด้วยวิธี …นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส
หลังจากที่เราได้เจอกับกิเลสของเราแล้ว วิธีการที่จะดับกิเลสนั้น ไม่ใช่การทำลายมันด้วยการตบทิ้ง หรือการกดข่ม หรือการดับใดๆ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเราได้เจรจากับกิเลส ได้ใช้เวลาคุยกับกิเลสให้มาก ให้ตัวเราและกิเลสได้ทำความเข้าใจว่า ฉันไม่ใช่เธอ และเธอก็ไม่ใช่ฉัน เราไม่ใช่กันและกัน เธอไม่จำเป็นต้องอยู่กับฉันตลอดไปก็ได้ เราจะใช้เวลาเจรจานานตราบเท่าที่กิเลสจะยอมใจอ่อน เดินจากเราไป อาจจะใช้เวลา 1 วัน 1 เดือน 1 ปี 1 ชาติ 1 กัป หรือ 1 อสงไขยก็เป็นได้
ยกตัวอย่างเช่น เราโกรธเพื่อน เพราะว่าเพื่อนพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบ ถ้าสายสมถะหรือสายฤาษีก็จะตบความโกรธทิ้งไป ดับความคิดที่โกรธทิ้งไป แล้วเข้าใจไปเองว่าตนบรรลุธรรม แต่ในทางพุทธ เราจะย้อนกลับมาที่ใจตัวเองว่า… ทำไมเราถึงโกรธเพื่อน
เพราะเขาพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใช่ไหม?
แล้วเราไม่ชอบคำพูดเหล่านั้น
หรือเราไม่ชอบเรื่องราวในคำพูดเหล่านั้น?
หรือเรื่องราวเหล่านั้นมันทำร้ายทำลายใจเรา?
แล้วเรามีเรื่องอะไรให้ต้องเจ็บ?
เพราะเราเคยมีแผลเก่าในใจใช่ไหม?
แผลเก่าในใจนั้นคืออะไร?
เป็นเพราะมีใครคนหนึ่งเคยฝากแผลใจให้กับเราไว้ใช่ไหม?
แล้วเราเจ็บปวดเพราะอะไร
เพราะเราคาดหวังว่าเขาจะต้องทำดีกับเราใช่ไหม?
พอเขาไม่ทำดีกับเรา ทำร้ายเรา เราก็ผิดหวังใช่ไหม?
นั่นเป็นเพราะเราหวังมากเกินจริงใช่ไหม?
เขาก็เป็นของเขาแบบนั้นแล้วเราจะไปหวังอะไรกับเขา
เราหวังเพราะเราอยากเสพดีใช่ไหม?
อยากเสพดีเพราะเราติดว่าดีเป็นสุขใช่ไหม?
….
สมมุติว่าเราหยุดตรงนี้ เราหยุดตรงที่เราติดว่า “เกิดดีจึงจะเป็นสุข” เราก็คุยกับกิเลส ก็คือพิจารณาโทษของการติดดี และประโยชน์ของการไม่ไปติดดี พิจารณากรรมและผลของกรรมว่าถ้าเรายังติดดีอยู่ อนาคตเราต้องรับอะไรบ้าง รวมทั้งพิจารณาว่าการติดดีนั้นเป็นทุกข์อย่างไร ถึงจะติดดีอย่างไรในความจริงมันก็ไม่เที่ยง ไม่สามารถเกิดดีหรือเป็นดังใจเราได้เสมอไป รวมถึงความดีที่เรายึดไว้ แท้จริงมันก็ไม่ได้มีตัวตนอยู่อย่างที่เราคิด เราคิดไปเองว่าความติดดีคือเรา เราคือความติดดี จริงๆแล้วมันไม่ใช่ของกันและกัน เราและความยึดว่าต้องเกิดดีนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกันกับเราเลย
แล้วเราก็ใช้เวลาของเรานั่งจับเข่าคุยกับกิเลสในตัวเองต่อไป คุยไปเรื่อยๆ คุยไปทุกครั้งที่เจอกัน เจอกิเลสเมื่อไหร่เราก็เจรจา หาเหตุผล หาความจริงตามความเป็นจริงมาเรื่อยๆ พิจารณาไปแม้ว่าเราจะพ่ายต่อกิเลส โดยไม่ลดความพยายาม หน้าด้านคุยกับกิเลสไปจนถึงวันหนึ่งกิเลสก็จะยอมถอย เก็บกะเป๋าออกจากจิตใจเรา วันนั้นคือวันที่ปัญญาของเรามากพอที่จะไล่กิเลส ทำลายกิเลส หรือที่เรียกว่าฆ่ากิเลสนี้ลงได้
กิเลสจะไม่มีวันกลับมาได้อีกต่อไป ไปแล้วก็ไปเลย ถึงกิเลสจะวนกลับมา เพียงแค่เราพูดหรือใช้การพิจารณาเพียงเล็กน้อย กิเลสก็ยอมล่าถอย ไม่เข้าใกล้เราอีกต่อไปนั่นคือเรามีปัญญามากพอที่จะพ้นภัยจากกิเลสนั้นๆ
ทั้งหมดนี้คือลักษณะของการวิปัสสนา ซึ่งถ้าใครทำวิปัสสนาอย่างถูกตรงก็จะเข้าใจกระบวนการนี้ได้ดี แต่ถ้าใครหลงผิดไปว่าสมถะของตนนั้นคือวิปัสสนา อาจจะไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะเขาเข้าใจได้เพียงแค่ว่า แค่ดับความคิดก็จบแล้ว ทำไมต้องคิด ทำไมต้องทำขนาดนี้ ซึ่งเขาเองอาจจะไม่ได้สังเกตว่า วิธีที่เขาทำนั้น ความอยากมันไม่ได้หายไป ความอยากมันไม่ได้ตาย มันดับ แล้วมันก็เกิดใหม่ เกิดและดับไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น อย่างเก่งก็ดับได้แบบอัตโนมัติ กดดับไปแบบไม่รู้ตัว กดข่มดับจิตไปทั้งชาติ เกิดมาชาติหน้าก็ต้องมาเจอกิเลสใหม่อยู่ดีเพราะยังตัดตัณหาไม่ขาด กิเลสไม่ตาย ก็ต้องเจอกันใหม่อยู่ดี
ด้วยวิธีนี้เราจะสามารถดับตัณหา หรือความอยากที่มีกิเลสปนเปื้อนได้ และสามารถรู้ได้เองว่ากิเลสของตนนั้น “ลด” ไปเท่าไหร่ กิเลสลดก็รู้ กิเลสเพิ่มก็รู้ กิเลสดับก็รู้ เป็นลักษณะของความรู้แจ้ง ไม่ใช่แบบมั่ว คิดเอาเอง หรือคาดเอาไปเอง ไม่รู้อะไรเลย ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ ผู้ไม่รู้ ผู้หลับใหลมัวเมา ผู้เฉยๆ
หากเราได้ใช้เวลาในชีวิตประจำวัน เฝ้าคุยกับกิเลสของตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องขุ่นเคืองใจใดๆ ที่เข้ามาในชีวิตเรา เราจะจับเข่าคุยกับกิเลสทุกครั้งที่ว่างจากการทำงาน หรือกระทั่งพิจารณาสอดร้อยไปในกิจกรรมการงาน เราก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้พ้นทุกข์จากกิเลส เพราะเราได้กำจัดเหตุแห่งทุกข์นั้นสิ้นไปแล้ว
– – – – – – – – – – – – – – –
28.9.2557