Tag: พระพุทธเจ้า

รอยทางของพระโพธิสัตว์

June 12, 2017 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,458 views 0

รอยทางของพระโพธิสัตว์

รอยทางของพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์คือผู้ที่มาบำเพ็ญ ช่วยเหลือผู้คนให้ข้ามพ้นทะเลแห่งทุกข์ที่ท่วมท้นด้วยกิเลสตัณหา โดยนำพาเหล่าคนผู้หลงผิดเหล่านั้นผ่านรอยทางที่ท่านได้กรุยทางไว้ด้วยความยากลำบาก

พระโพธิสัตว์องค์ที่ใหญ่ที่สุดและมีบารมีมากที่สุดที่หลายคนรู้จักกันคือ พระพุทธเจ้า ท่านก็มาทำหน้าที่ถากถางทางที่รกและวกวนให้เป็นทางเดินสู่การพ้นทุกข์ที่ชัดเจน เรียกว่าสัมมาอริยมรรค

ผ่านไปสองพันกว่าปี ทางที่ท่านเคยถากทาง มีหญ้า มีต้นไม้ มีป่าขึ้นรกทับถมเส้นทาง ทางแห่งความผาสุกนั้นมีอยู่ แต่น้อยคนจะรู้ชัดว่าทางไหนเป็นทางที่แท้จริง เขาเหล่านั้นก็เดินตามทางที่ตนเข้าใจว่าถูกและก็หลงป่ากันไปตามวิบากกรรมของแต่ละคน

ในปัจจุบันนี้มีบุคคลที่ผู้คนส่วนหนึ่งยอมรับและเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่มาบำเพ็ญในยุคนี้ ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ได้บำเพ็ญถากถางทางที่รกและเต็มไปด้วยอุปสรรคตามกำลังและบารมีของท่าน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนในโลกจะเห็นพ้องต้องกันว่าทางนั้นเป็นทางที่ถูก ในปัจจุบันมีการสอนธรรมะที่แตกต่างกันมากมายจนเรียกว่า ณ จุดที่ยืนอยู่คุณสามารถเดินได้ทุกทิศทุกทางที่มีผู้คนอ้างว่าเป็นทางที่ถูก ซึ่งในความจริงแล้วมันมีแค่ทางเดียว ทิศเดียว แนวปฏิบัติเดียวเท่านั้น

ซึ่งไม่ว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามทางที่ถูก ทางเหล่านั้นก็จะถูกลบเลือนด้วยกาลเวลา พระโพธิสัตว์ท่านก็จะบำเพ็ญของท่านไปเรื่อย ๆ นำพาคนที่ดำเนินรอยตามไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็จะห่างไกลจากคนที่ยังไม่เริ่มเดินตามหรือคนที่หลงทางไปเรื่อย ๆ เช่นกัน และกาลเวลาที่ผ่านไปก็จะสร้างหญ้ารก ต้นไม้ทึบ ป่าแน่นหนาขึ้นมาอีกครั้ง รอยทางของพระโพธิสัตว์ได้หายไปอีกครั้ง และหายไปจนกว่าจะมีองค์ใหม่เกิดขึ้นมาบำเพ็ญ ก็เส้นทางเดิมนั่นแหละ เส้นทางเดียวกับพระโพธิสัตว์องค์ก่อน เส้นทางเดียวกับพระโพธิสัตว์รุ่นปู่ รุ่นพ่อ รุ่นพี่ ฯลฯ

ทางที่ถูกถากถางด้วยความลำบากลำเค็ญ เพื่อที่จะนำพาคนที่แสวงหาทางพ้นทุกข์ได้เดินตามไป ทางนั้นมีอยู่ แต่ไม่ได้ถูกแสดงอยู่อย่างถาวร มันจะคงอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น คนที่พากเพียรปฏิบัติไปตามท่านเหล่านั้นทัน ก็จะพบกับความผาสุก คนที่ปฏิบัติตามไม่ทัน ไม่พากเพียร ไม่เดินตาม สุดท้ายก็จะพลัดกลุ่ม หลงป่าในที่สุด ถ้าไม่หลงผิดเดินไปผิดทางก็บำเพ็ญเพียรตามภูมิปัญญาของตัวเองเพื่อรอพระโพธิสัตว์องค์ใหม่ ที่จะเกิดมาแล้วเดินตามท่านอีกที

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นผู้ที่ทำให้ผู้คนเห็นภาพของพระโพธิสัตว์ได้ชัดเจน ซึ่งท่านได้ใช้เวลาทั้งชีวิตของท่านสร้างเส้นทางให้เราเดินตาม และแน่นอนว่าเส้นทางนั้นไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ในขณะที่โลกจะหมุนไปสู่กลียุค ยุคที่มีความโลภ โกรธ หลงอย่างรุนแรง ความพอเพียงนั้นคือสิ่งที่ขัดต่อกิเลส ดังนั้นโลกจะไม่เจริญไปสู่ความพอเพียง แต่จะตกลงไปสู่ความเสื่อม นั่นหมายถึงทางแห่งความพอเพียงที่พ่อหลวงได้สร้างไว้ ในวันใดวันหนึ่งก็จะถูกกิเลสตัณหาฝังกลบ ทางแห่งความพอเพียงนั้นมีอยู่ แต่คนที่มองเห็นทางนั้นอาจจะไม่มีแล้ว กิเลสตัณหานั้นเหมือนหญ้า ต้นไม้ และป่าที่ปิดทับเส้นทาง

ในวันนี้ผู้คนต่างตั้งใจที่จะติดตามท่านไปไม่ว่าจะชาติไหน ๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะติดตามท่านไปได้ จะมีเฉพาะผู้ที่เดินตามท่านทันเท่านั้น หมายถึงผู้ที่ปฏิบัติจนถึงความพอเพียงได้อย่างที่ท่านสอนจริง ลดโลภ โกรธ หลงได้จริง แม้วันนี้จะผ่านมาไม่นานจากวันที่ท่านได้จากเราไป แต่ความผิดเพี้ยนก็มีให้พบเห็นมากขึ้นเป็นระยะ เช่นบอกว่าปฏิบัติตามท่าน พอเพียงตามท่าน แต่ยังเอามาก โลภมาก สะสมมาก นี่คือลักษณะของผู้ติดตามที่หลงทาง คือติดตามท่านไม่ทันเลยหลงป่าที่เต็มไปด้วยกิเลส แต่ยังเข้าใจว่าตามทันอยู่

โลกนี้ก็เหมือนป่าที่เต็มไปด้วยกิเลส ทางที่จะหลุดพ้นมีทางเดียวเท่านั้น พระโพธิสัตว์ท่านมาถากถางทางให้เห็น แล้วท่านก็จากไป ป่านั้นกว้างใหญ่ ใครเล่าจะรู้ว่าพระโพธิสัตว์เกิดที่ไหนบ้าง รอยทางไหนบ้างที่เป็นทางที่แท้จริง ในยุคนี้ยังมีทางที่ชัดเจนเหลืออยู่ ยังมีหลักฐานที่ตรวจสอบแล้วตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ยังพากเพียรปฏิบัติได้ทันอยู่ แต่วันใดวันหนึ่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายได้จากไปแล้ว ทางที่ถูกต้องเหล่านั้นก็จะเลือนหายไปตามกาลเวลาเช่นกัน

12.6.2017

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

สุกรมัทวะ สิ่งนี้คืออะไร?

September 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,591 views 0

สุกรมัทวะ สิ่งนี้คืออะไร?

*ภาพประกอบจากซีรี่พระพุทธเจ้า ที่มีความเห็นว่าสุกรมัทวะ คือเห็ด

สุกรมัทวะนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่มักจะถูกหยิบยกมาอ้างอิง เมื่อมีความเห็นต่างในเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์หรือไม่

มีการตีความสิ่งนี้ไปโดยสองทิศทางใหญ่ๆ คือ เนื้อและไม่ใช่เนื้อ ส่วนที่เป็นเนื้อเขาก็จะตีความว่าเป็นเนื้อหมูอ่อน ส่วนที่ไม่ใช่เนื้อเขาก็จะตีความว่าเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่หมูชอบกิน

แต่ในความจริงแล้ว“สุกรมัทวะ”จะเป็นอะไรก็ไม่มีใครรู้ได้ ไม่มีใครสามารถนำหลักฐานมาอ้างอิงได้ เพราะมันผ่านมาตั้ง 2500 กว่าปีแล้ว สิ่งที่เคยเรียกว่าสุกรมัทวะในอดีตนั้น ปัจจุบันอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ได้ เพราะสัญญานั้นไม่เที่ยง เราไม่สามารถที่จะใช้สัญญาที่เรากำหนดหมายในตอนนี้ไปเทียบเคียงกับอดีตได้เสมอไป

ถ้ากล่าวกันถึงเห็ด ทุกวันนี้ก็ยังมีคนมากมายที่ตายเพราะเห็ดพิษ คนเหล่านั้นไม่รู้ว่าเห็ดเหล่านั้นมีพิษ เข้าใจว่าเห็ดกินได้ จึงนำมาประกอบอาหาร ทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตมากมาย นี่คือข้อมูลในยุคสมัยนี้ ยุคสมัยที่มีความรู้ว่าเห็ดชนิดใดกินได้ ชนิดใดมีพิษ แต่นั่นก็ยังไม่สามารถป้องกันความเข้าใจผิดของคนได้ 100 % นั่นหมายถึงไม่ต้องเดาเลยว่าเมื่อ 2500 ปีก่อนจะขนาดไหน….

ถ้าเทียบกับเนื้อหมู ทุกวันนี้ก็ไม่เห็นจะมีใครตายทันทีเพราะกินเนื้อหมู นอกเสียจากว่าติดคอ อย่างช้าๆก็คงเจ็บป่วยเพราะพยาธิหรือเป็นมะเร็ง ถ้าเป็นเนื้อหมูสุกๆดิบๆที่กินแล้วทำให้ตายได้นั้น ก็คงจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ เพราะท่านตรัสไว้ในจุลศีลว่าไม่รับเนื้อดิบ ส่วนเรื่องย่อยยากนั้นถ้าหากเคี้ยวให้ละเอียดก็ไม่มีปัญหาอะไร ยกเว้นเสียแต่กินเนื้อหมูที่เน่าและเป็นโรค ก็คงจะทำให้อาหารเป็นพิษได้ แล้วเนื้อหมูที่เน่าเสียนั้นสมควรประเคนให้พระพุทธเจ้าหรือไม่?

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับความเสื่อมของพุทธไว้ว่าจะเหมือนเป็นกลองอานกะ แม้จะมีชื่อว่ากลองอานกะ แต่วัสดุของกลองดั้งเดิมนั้นไม่มีเหลืออยู่แล้ว ไม้ก็ถูกเปลี่ยน หนังก็ถูกเปลี่ยน เหมือนกับพุทธในวันนี้ แม้จะได้ชื่อว่าศาสนาพุทธที่พาคนพ้นทุกข์ แต่ไส้ในนั้นได้ถูกเปลี่ยนไปหมดแล้ว แม้มีชื่อว่าพุทธ แต่ไม่มีความเป็นพุทธเหลืออยู่แล้ว

เช่นเดียวกับมรรคที่ปฏิบัติไปเพื่อลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ในสมัยนี้มักจะไม่มีทิฏฐิเช่นนี้กันแล้ว ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์ก็มักจะมองว่า “สุกรมัทวะ” นั้นเป็นเนื้อหมู ส่วนผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็จะมองว่าสิ่งนั้นเป็นเห็ด ซึ่งเป็นไปตามทิฏฐิของตน

ถ้าถามว่าทิฏฐิเช่นไรจึงจะพาให้พ้นทุกข์ ก็ต้องชี้ชัดกันไปเลยว่า “เป็นผู้ไม่เบียดเบียน” หากความเห็นหรือกิจกรรมใดๆของเรานั้นมีส่วนให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน มีเราเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนนั้น เราย่อมระงับเหตุเหล่านั้นเสีย อย่าให้เราต้องเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้ประสบทุกข์เลย หรือหากมีข้อจำกัดก็จะเบียดเบียนให้น้อยที่สุด แต่ทำประโยชน์ให้โลกคืนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรียกว่าต้องประมาณให้อกุศลน้อยที่สุด ในขณะที่ทำกุศลให้มากที่สุด หรือจะเรียกว่าประโยชน์ตนประโยชน์ท่านก็ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

9.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว

August 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,405 views 0

ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว

ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว

ทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่ากตัญญู สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติมานั้น ใช่ความเป็นที่สุดแล้วหรือยัง และต้องทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าได้กระทำการตอบแทนคุณพ่อแม่ที่สมควรแล้ว

การกระทำบางอย่างแม้จะเป็นสิ่งที่โลกให้การยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่ก็อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อกุศลสูงสุด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เช่นเดียวกับการตอบแทนคุณพ่อแม่ ในมุมมองของพุทธนั้นมีความลึกซึ้งและยากแท้ในการเข้าถึงคุณวิเศษเหล่านั้น

ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๒๗๘ พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับการทดแทนคุณพ่อแม่ว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ง่ายๆ แม้ว่าเราจะแบกพ่อแม่ไว้บนบ่าทั้งสองข้าง มีชีวิตยืนยาวดูแลท่านไปถึงร้อยปี อาบน้ำให้ท่าน นวดให้ท่าน ฯลฯ แม้ท่านจะขับถ่ายก็ให้ขับถ่ายลงบนบ่าทั้งสองของเรา แม้ว่าเราจะทำเช่นนี้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าตอบแทนบุญคุณท่านเลย

และแม้ว่าบุตรจะให้อำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญแก่พ่อแม่สักเท่าไหร่ ให้ความสุขความสบาย ให้ปัจจัยสี่อันหาประมาณไม่ได้ แม้ว่าเราจะทำเช่นนี้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าตอบแทนบุญคุณท่านเลย นั่นเพราะพ่อแม่มีพระคุณแก่เรามาก บำรุงเลี้ยงดู ให้โอกาสเราได้เกิดมาเรียนรู้โลก

นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเราจะดูแลเอาใจใส่ไม่ให้ขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถทดแทนพระคุณของพ่อแม่ได้ แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีทางทดแทนได้ การทดแทนพระคุณในทางของพุทธที่ได้ชื่อว่าบุตรเป็นผู้ทดแทนพระคุณแล้วนั้นมีอยู่

นั่นคือการนำพาให้พ่อแม่ที่ยังไม่มีศรัทธาให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา นำพาพ่อแม่ที่ไม่มีศีลให้ยินดีถือศีล นำพาพ่อแม่ที่ตระหนี่ให้เป็นผู้ที่ยินดีเสียสละ นำพาให้พ่อแม่ที่ยังไม่รู้จักโทษชั่วของกิเลสให้เกิดปัญญารู้เท่าทันกิเลส การกระทำเหล่านี้ ย่อมชื่อว่าลูกเหล่านั้นได้ตอบแทนพระคุณพ่อแม่แล้ว

ซึ่งสรุปความได้ว่านอกจากเราจะดูแลท่านด้วยปัจจัยสี่อันสมควรแก่กุศลแล้ว เรายังต้องพาท่านให้เจริญใน ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาอีกด้วย ทางโลกเราก็ไม่ควรให้พร่องจนท่านต้องทุกข์ทรมาน ทางธรรมเราก็ควรทำให้เจริญยิ่งขึ้น ถึงแม้สุดท้ายต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง เราก็สมควรจะเลือกทางธรรม เพราะเป็นทางเดียวที่จะทดแทนบุญคุณท่านได้อย่างบริบูรณ์ที่สุดแล้ว

แต่การจะทดแทนคุณในทางธรรมตามที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นไม่ง่าย การจะเป็นผู้ชี้นำให้ท่านเจริญใน ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเอาซีดีธรรมะให้ท่านฟัง เอาหนังสือธรรมะให้ท่านอ่าน พาท่านไปวัดไปฟังเทศน์ฟังธรรม ทำทานทำกุศลเท่านั้น แต่ยังจะต้องทำศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ให้เจริญขึ้นในตัวเองอีกด้วย

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน แล้วค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงเราต้องทำตัวเองให้มีธรรมนั้นในตน เอาตัวเองให้รอดก่อน แล้วจึงคิดช่วยผู้อื่น ไม่ใช่ว่าเราว่ายน้ำไม่เป็นแต่กระโดดน้ำลงไปช่วยคนจมน้ำ ก็จะพากันตายทั้งคู่ เช่นเดียวกันกับที่เรายังไม่ทำตนเองให้มีคุณธรรมเหล่านั้น เราก็จะไม่สามารถช่วยใครได้

พ่อและแม่นั้นเป็นผู้ที่เลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็ก การจะทำให้ท่านศรัทธาในตัวของเรานั้นไม่ง่าย ถ้าเรายังใช้ชีวิตโดยไร้ศีลไร้ธรรม ไม่แสดงให้เห็นถึงความเจริญของการปฏิบัติธรรม ท่านก็จะไม่ศรัทธาทั้งตัวเราและในธรรมเหล่านั้น เราจะกลายเป็นผู้ที่กล่าวแต่ในสิ่งที่ตนทำไม่ได้ กล่าวแต่สิ่งที่จำเขามา ไม่ได้ตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน แต่กลับไปพร่ำสอนผู้อื่นเพราะหวังว่าจะตอบแทนพระคุณพ่อแม่ด้วยการให้ธรรมนั้น

ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากเราจะให้สิ่งที่ไม่มีในตน หากเราไม่มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา แล้วเราจะเอาธรรมเหล่านั้นจากไหนไปนำพาพ่อแม่สู่ความเจริญได้ ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งทำตนให้เจริญในธรรมเหล่านั้นเสียก่อน จึงค่อยชี้แนะผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ธรรมเหล่านั้นไม่มัวหมอง

แม้กระนั้นก็ใช่ว่าจะสามารถทดแทนบุญคุณท่านได้โดยง่าย การพ้นทุกข์ การหลุดพ้นจากกิเลส ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจและปฏิบัติได้โดยง่าย ไม่ใช่เรื่องที่จะยึดถือและปฏิบัติกันโดยสามัญ แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้กลับมาโปรดพ่อแม่ของท่านตั้งแต่แรก ท่านมีคุณธรรมที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ที่สุดในโลก แต่ท่านก็รอให้กาลเหมาะสม รอให้พระเจ้าสุทโธทนะเกิดศรัทธา จึงค่อยกลับไปโปรด

อีกตัวอย่างหนึ่งของพระสารีบุตร แต่ท่านเลือกที่จะกลับไปหาแม่ของท่านในช่วงสุดท้ายก่อนที่ท่านจะละสังขาร แสดงธรรมโปรดแม่ จนแม่ของท่านบรรลุเป็นพระโสดาบันในที่สุด

ดังนั้นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ในทางธรรมจึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปยัดเยียด บีบคั้น บังคับ ด้วยความยึดดีถือดี แต่ต้องใช้การประมาณอย่างมาก ให้ถูกกาลเทศะ ให้มีศิลปะ สร้างศรัทธาแต่อย่าให้เสื่อมศรัทธา ให้เป็นไปเพื่อกุศล ไม่สร้างอกุศล การทำคุณอันสมควรในตนว่ายากแล้ว การนำพาผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรนั้นยากยิ่งกว่า ดังนั้นหากเรายังไม่สามารถทำให้ตัวเองเจริญในศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาได้แล้ว ก็พึงสังวรระวังในการแสดงธรรมที่ไม่เหมาะสมกับฐานะ พูดในเรื่องที่ตนเองยังไม่มีคุณเหล่านั้น ซึ่งสุดท้ายจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียและมัวหมอง

เราจึงควรศึกษาและปฏิบัติให้เกิดธรรมเหล่านั้นในตนเอง ให้เจริญยิ่งขึ้นในศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เมื่อเรามีสิ่งเหล่านี้อยู่ในตนเอง เป็นของตนเองอย่างแท้จริง เราก็สามารถแจกจ่ายธรรมเหล่านี้เป็นทาน ในกาลที่เหมาะสมแก่ท่านเหล่านั้นได้ โดยไม่ปล่อยโอกาสในการทดแทนพระคุณพ่อแม่ให้หลุดลอยไป โดยเปล่าประโยชน์ไปอีกชาติ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

August 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,044 views 0

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

ความรักที่คิดจะครอบครองนั้น เป็นเหตุให้เราสร้างบาปและเป็นทุกข์ได้เสมอ เป็นทั้งการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อความสุข ความเจริญ หรือการพ้นทุกข์ใดๆ

จากละครพระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกตอนที่ ๔๖ หญิงสาวคนหนึ่งได้ตกหลุมรักพระอานนท์จนแสวงหาวิธีที่ผิดในการครอบครองสิ่งที่หลงรักนั้น ซึ่งความอยากที่จะครอบครองสิ่งที่ตนรักไว้เป็นของตนเพียงผู้เดียวนี้เอง คือความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง

ไม่ว่าเราจะคิดครอบครองด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จะครอบครองแค่เสี้ยววินาทีหรือตลอดไปจนชั่วนิรันดร์ มันก็ยังเป็นความเห็นแก่ตัวอยู่ดี คนเรามักจะหาเหตุผลที่ดูดี น่าเชื่อถือ ดูเป็นที่น่ายอมรับให้เกิดการครองคู่ ได้ครอบครองโดยความชอบธรรม นั่นเป็นความเห็นแก่ตัวที่ละเอียดลึกลับซับซ้อน ซ่อนความชั่วไว้ในความดี เหมือนยาพิษที่แทรกลงไปในแต่ละอณูของเกล็ดน้ำตาล

นิยามความรักของพระอานนท์ ต่างจากความรักที่เจ้าคิด” เป็นเนื้อหาในบทพูดตอนหนึ่งของพระพุทธเจ้าในละครตอนนี้ ความรักของพุทธนั้นมีอิสระ ไม่ถูกจำกัดไว้ในเรื่องของครอบครัว คู่รัก ญาติ มิตร ฯลฯ แต่เป็นสิ่งที่แผ่กระจายออกไปให้ทุกคนได้สัมผัส

เช่นเดียวกับในบทละครตอนที่พระพุทธเจ้าบอกกับพระนางยโสธราในตอนที่ ๔๑ ว่า “ถ้าข้ายอมให้ความเศร้าของเจ้าสองแม่ลูก แล้วคนอีกไม่รู้เท่าไหร่ในโลกนี้ที่ทนทุกข์เล่า

ดังนั้นความรักของพุทธคือความรักที่มีให้ทุกคน การนำความรักไปทุ่มเทให้กับคนใดคนหนึ่งจะทำให้คนอื่นๆเสียโอกาส และนั่นหมายถึงเราเองก็เสียโอกาสในการสร้างสิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ เพียงเพราะไปหลงยึดมั่นผูกพันไว้กับความสัมพันธ์ที่ลวงโลกที่สุด

ความเป็นคู่รักนั้นไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงแปรผันได้ทุกเวลา พบ พราก จาก ลา แล้วก็แสวงหาใหม่ ไม่เคยหยุด ไม่เคยจบสิ้น ไม่เคยมั่นคง เมื่อมีรักก็ย่อมมีทุกข์ การจะหนีทุกข์ในขณะที่หลงรัก หลงผูกพันกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นั้น เป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งแท้จริงแล้วความสัมพันธ์ในเชิงคู่รักนั้นไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ มันเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่คนสร้างขึ้นมาและหลงติดหลงยึดว่ามันดี ว่ามันเป็นสุข หลอกจิตตัวเองโดยสมบูรณ์ว่าได้เสพ ได้รัก ได้เป็นคู่กันแล้วจะเป็นสุข ทั้งที่จริงแล้วสุขเหล่านั้นมันไม่มีตัวตนอยู่จริงเลย มันเป็นเพียงมายาที่เราต่างสร้างขึ้นมาหลอกกันและกัน และหลงวนเวียนอยู่ในเขาวงกตเหล่านั้นกันมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

11.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)