Tag: พระทุศีล
การกำจัดคนทุศีลออกจากหมู่คนดี
มีคนถามเข้ามาว่า เขาไปรู้เรื่องชู้สาวระหว่างพระกับสีกา เขาจะทำอย่างไรดี?
ตอบ เราก็เปิดเผยความจริงในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อเราและผู้อื่น
ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็จะมีคนชั่วคนผิดศีลปนเข้ามาหาผลประโยชน์ในกลุ่มคนดีอยู่เสมอ ดังนั้น จึงต้องมีการกำจัดหรือชำระกันอยู่เป็นประจำ
ในสมัยพุทธกาลนี้ยังง่าย เพราะคนที่ทำผิด เมื่อถูกถาม ก็ยอมรับตามความเป็นจริง ถ้าใครได้อ่านพระไตรปิฎก ก็จะคุ้นเคยกับคำถามของพระพุทธเจ้าที่ถามประมาณว่า “เธอทำอย่างที่เขากล่าวหาจริงหรือ” ผู้ถูกถามที่ทำผิดจริงก็จะตอบว่า “เป็นจริงเช่นนั้นพระเจ้าข้า”
แต่ในสมัยนี้ไม่ง่าย ความวกวนของกิเลสยิ่งทำให้คนมีมารยา ไม่ซื่อสัตย์ ปกปิด หมกเม็ด บิดเบือน ใช่ว่าจะจับได้ไล่ทันกันได้ง่าย ถามไปก็ไม่ตอบตามจริง เอาหลักฐานไปอ้างก็บิดเบือน ดีไม่ดีโจทย์ผู้กล่าวหากลับหรือไม่ก็ทำร้ายจนถึงฆ่าตัดตอนกันได้เลย
ดังนั้นคนที่จะชี้มูลความผิดในยุคปัจจุบันจึงต้องใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น การชี้ความผิดเป็นสิ่งดี แต่ก็ต้องระวังตัวด้วย เพราะคนชั่วสมัยนี้ร้ายลึก
ถ้าหลักฐานไม่แน่น เขาก็ดิ้นหลุดได้ง่าย คนชั่วที่มีอำนาจ มีบริวาร ก็จะมีคนหลงผิดคอยช่วยให้เขาได้พ้นข้อกล่าวหานั้น ดังนั้นจะชี้ความผิดคนชั่ว ทุศีล เน่าใน ฯลฯ พวกนี้ หลักฐานต้องแน่น และพยายามหาหมู่มวลที่มีกำลัง ปกป้องคุ้มครองตัวเองได้เป็นพวก
…ว่ากันตรง ๆ ผมก็ไม่ได้พูดทุกอย่างที่รู้หรอก ความจริงหลายเรื่องก็ระดับที่ทำลายศาสนาได้ แต่เราก็พูดตรง ๆ ไม่ได้ พูดหรือแสดงออกตรง ๆ เมื่อไหร่ก็ตายวันนั้นแหละ คือความจริงบางอย่างโลกก็รับไม่ได้ เขาอยากจะเชื่อแบบนั้น พอเราโผล่ขึ้นมาขัดแย้งความเชื่อของเขา คนหลงนี่เขาปรับใจไม่ได้ง่าย ๆ นะ เขายึดยังไง เขาก็ยึดแบบนั้นเลย
ถ้าคนทุศีลหรือพระทุศีล มีอำนาจหรือบารมีไม่มาก แค่ระดับบุคคลก็พอจะชี้โทษกันได้ แต่ถ้าคนมีอำนาจมาก ก็ต้องมีอำนาจมากพอที่จะคุ้มครองตนในระหว่างกระบวนการชี้โทษได้
เห็บศาสนา เปรต เทวดา
ไม่ว่าศาสนาไหนก็ล้วนแต่มีโลกธรรมอันหอมหวานทั้งสิ้น ศาสนาพุทธก็เช่นกัน คนที่เข้ามาปฏิบัติอยู่ในสำนักก็มักจะได้โลกธรรม ได้ลาภสักการะ บริวาร ซึ่งเป็นสิ่งหอมหวานยั่วยวนกิเลสคนชั่วยิ่งนัก
จึงมีคนชั่วที่แสร้งปลอมปนเข้ามาเพื่อเสพผลเหล่านั้น สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็มีการชำระ จับพระทุศีล พวกบวชล่าโลกธรรม ออกไปจากศาสนา จนบัดนี้ผ่านมาสองพันกว่าปี คนเหล่านี้ได้กระจายแทรกซึม เสพผลประโยชน์อยู่ในทุกที่ที่มีโลกธรรม แทรกเข้าไปเสพ ซึมอยู่ภายใน กัดกิน ทำให้ติดเชื้อร้าย ทำให้เสื่อม เหมือนเห็บที่มากัดกินเลือดสัตว์
นิยามศัพท์ : เห็บศาสนา คือพวกที่มาใช้ศาสนาสนองกิเลสตน, เปรต คือพวกขี้โลภ เอาแต่ได้, เทวดา(โลกีย์) คือพวกบ้าอำนาจ ชอบสั่ง เอาแต่ใจ มุ่งร้าย กำจัดคนที่ขัดขวาง
โดยธาตุแล้ว คนพวกนี้จะมีลักษณะขี้โลภ เอาแต่ได้ เดี๋ยวอยากนั่น เดี๋ยวอยากนี่ แต่พวกเขามักจะมีศิลปะ ไม่แสดงออกชัดเจน โดยเฉพาะต่อหน้าคนใหม่จะยิ่งสร้างภาพว่าตนเป็นพ่อพระแม่พระ เป็นเทวดาที่น่านับถือ เป็นผู้ใจบุญ เป็นต้น แต่ในใจมักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญ บริวาร ฯลฯ
ตอนเข้ามาแรก ๆ มักจะเสแสร้ง และสร้างภาพลักษณ์จนทำให้คนอื่นเข้าใจผิด หลงไว้ใจ หลงเชื่อใจ แต่ถ้าปล่อยให้มีอำนาจนานไป จะเริ่มเอาแต่ใจ กดดันคนอื่น บ้าอำนาจ เผด็จการ บีบคั้น กดดัน เดี๋ยวสั่งคนนั้น สั่งคนนี้ สั่งได้แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ คือจะเริ่มตีตนเสมอ คิดว่าตนเป็นคนสำคัญ คิดว่าคนอื่นจะต้องฟังแต่ตน ต้องเกรงใจตน เพราะตนสำคัญตนผิด และจะใช้โอกาสต่าง ๆ ในการมีบทบาทในองค์กรขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้ชัดว่าพยายามทำตัวเด่น มีบทบาท เรียกร้องความสนใจ พยายามทำตนให้เป็นจุดสนใจ พอโดนติ จะไม่พอใจ ขุ่นใจ โกรธ ตัดพ้อ โจมตีกลับ ฯลฯ ถ้าถูกกล่าวหาจะทำเหมือนถ่อมตัว แก้ตัว ปัดไปปัดมา หรือไม่ก็หาเรื่องผู้กล่าวหากลับ ไม่ชี้แจงตามจริง ไม่แก้ไขปัญหา จะพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงต่าง ๆ
คนพวกนี้มักจะมีลักษณะเด่นคือ ไม่ปฏิบัติตามกฎ มักจะแหกกฎ ด้วยอำนาจของตน ไม่ทำตามวัฒนธรรม เช่น เขาถือศีล มุ่งล้างกิเลสกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนพวกนี้ก็จะใช้เล่ห์กล สร้างสภาพที่เหมือนจะไม่เอื้ออำนวยให้ทำ สร้างข้อจำกัดเทียม ไม่ยอมทำ ไม่ปฏิบัติตาม ซ้ำร้ายจะกลายเป็นปฏิบัติตรงข้ามกับหมู่กลุ่มด้วย เช่นกลุ่มเขาพากันไปลดกิเลส แต่คนพวกนี้จะพาไปเพิ่มกิเลส หมู่เขาพาลดกาม คนพวกนี้เขาจะพาเพิ่มกาม ซึ่งจะมีอีกฝั่งคือฝั่งอัตตา คือดีเกินไป เช่นกรณีของพระเทวทัตที่ขอวัตถุ 5 กับพระพุทธเจ้า อันนั้นก็พวกเห็บศาสนาสายอัตตา ส่วนพวกที่ต่ำกว่ามาตรฐานก็เห็บศาสนาสายกาม
ล่าบริวาร คือลักษณะเด่นชัดของเห็บศาสนา เมื่อบ้าอำนาจ ก็ต้องอยากได้คนมาสนองมาก ๆ อยากได้คนมาเป็นแขนเป็นขา (แต่ตนเองจะทำตนเป็นสมอง) หาคนที่ทำให้ได้ดั่งใจตนต้องการ ความเอาแต่ใจของเทวดาเปรตเหล่านี้คือ จะใช้อำนาจบีบให้คนทำตามใจ โดยใช้ “บุญ” มาเป็นของแลกเปลี่ยน
พ่อครูสมณะโพธิรักษ์เคยออกหนังสือชื่อ “ค้าบุญคือบาป” ที่แจกแจงรายละเอียดของลักษณะผีบุญเหล่านี้ไว้ ซึ่งลักษณะโดยสรุปคือจะเอาคำว่า “บุญ” มาล่อหลอกให้คนอื่นทำตามที่ตนหวัง ทำแล้วเป็นบุญใหญ่ ทำแล้วจะได้บุญ ทำบุญให้หมู่กลุ่ม(แต่ตามคำสั่งตน) เห็บศาสนา มักจะไม่ใช่รุ่นหัวเจาะ ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง แต่จะมาแทรกซึมและใช้โลกธรรมที่องค์กรมี นำไปหลอกล่อคนให้ทำตามใจตนเอง โดยอ้างนโยบายองค์กรบ้าง อ้างครูบาอาจารย์บ้าง อ้างบุญบ้าง โดยลักษณะเด่นคือจะมีแนวโน้มไปในทางกดดันมาเพื่อสนองกิเลสตน สนองความได้ดั่งใจตน
ทำไมจึงกำจัดออกได้ยาก? นั่นก็เพราะคนพวกนี้มักจะเกาะเกณฑ์ขั้นต่ำ คือมีคุณสมบัติขั้นต่ำที่สุดเท่าที่จะต่ำได้ เพราะจะได้หาของยั่วกิเลสมาเสพได้มาก ๆ ถ้าไปเกาะขีดบน ถือศีลเข้ม ๆ จะแทบไม่เหลือวัตถุกามให้เสพ ดังนั้น เขาก็จะมักจะเกาะอยู่ขั้นต่ำของกลุ่ม พวกเขาเฉโกพอที่จะรู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไรให้จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน พอถูกถามก็พูดจาเบี้ยวไปเบี้ยวมา หรือไม่ก็กล่าวหาผู้ถามกลับ เป็นการปกป้องตนเองด้วยมารยา และโดยมากคนพวกนี้มักจะสะสมอำนาจ ล่าบริวาร จึงใช้อำนาจนั่นแหละ เป็นตัวกันไม่ให้คนมาติ ให้คนเข้าถึงได้ยาก ไม่ให้คนตรวจสอบ พอใครจะมากล่าวหา มาทำร้าย ก็จะถูกบริวารที่ตนได้มอมเมาไว้เล่านั้นกันเอาไว้ ไม่ให้มาถึงตัว ดังนั้นการกำจัดคนพวกนี้ออกจึงยากมาก เพราะพวกเขามักจะสร้างเกราะที่หนาเอาไว้ป้องกันตัว และที่สำคัญคือเขาก็จะทำดีไปเรื่อย คือทำดีตามที่โลกถือสา เอาความดีนี้แหละไว้เป็นเกราะ และไว้หลอกคน เพราะอาศัยดีนี้จึงทำให้คนเข้าใจผิด หลงไปเคารพได้มาก แต่จะให้ทำดีเหนือดี ให้ลดละเลิกล้างกิเลส คนพวกนี้เขาจะไม่ทำ
มุ่งสู่นรกอันเป็นอนันต์ เหล่าเห็บศาสนา เปรตเทวดาเหล่านี้ มีโอกาสสูงมากที่จะทำอนันตริยกรรม คือกรรมหนักในข้อที่ว่าทำให้หมู่เพื่อนนักปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เพราะด้วยเหตุแห่งความบ้าอำนาจ และกลัวคนจะจับผิด คนพวกนี้จะรู้ตัวว่าใครที่มีกำลังมากพอที่จะกำจัดตนเอง จึงมักจะใช้อำนาจ บารมี บริวาร หรือเหตุปัจจัยที่มีในการกำจัดศัตรูแห่งเส้นทางอำนาจของตนก่อน
ดังที่ได้กล่าวมาข้างตน เห็บศาสนามักจะมักใหญ่ใฝ่สูง อยากเด่นอยากดัง อยากได้รับการเคารพ อยากเป็นคนสำคัญ ดังนั้น พวกเขาจะไม่ยอมให้ใครข้ามหน้าข้ามตา ถ้าอยู่ในองค์กรก็จะพยายามขึ้นเป็นเบอร์ต้น ๆ และกำจัดเสี้ยนหนาม คือกำจัด ข่ม ป้ายสี คนที่ไม่ทำตามตน ต่อต้านตน ที่ขวางทางตน นั่นก็หมายความว่า คนพวกนี้ก็จะพยายามทำทุกอย่างให้ตนคงสถานะไว้ได้ ถึงแม้จะต้องกำจัดคนอื่นออกไปก็ตามที
และโดยมากแล้วศัตรูของคนชั่วก็คือคนดีนั่นแหละ แต่จะทำอย่างไร ถึงจะเล่นงานคนดีได้ มันก็ต้องทำลายดีในคนคนนั้นเสีย ลักษณะเด่นอันหนึ่งของกลุ่มเห็บศาสนาคือการตั้งกลุ่มนินทา สร้างข่าวลือ ปั้นข่าว ใส่ไข่ ใส่สี ให้มีรสเด็ดจัดจ้าน เพื่อทำลายชื่อเสียงของอีกฝ่าย ต่อให้ดีแค่ไหน มาเจอรวมพลคนพาล ร่วมกันผิดศีลข้อ ๔ คือโกหก ปั้นเรื่อง ยุคนนั้นทะเลาะคนนี้ ให้คนแตกความสามัคคีกัน ใครเจอเข้าไป ถ้าไม่มีของจริง ก็เสร็จทุกรายไป คือจะโดนกลืนด้วยข่าวจริง(5%) ใส่ไข่อีก (95%) เป็นต้น สุดท้ายก็ทำคนดีให้เป็นคนร้ายได้ในที่สุด สร้างชื่อเสียงด้านลบให้คนอื่น ทำให้เขาผิดใจกัน แตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน สำเร็จอนันตริยกรรมในที่สุด ขุดฝังตัวเองในนรกสำเร็จ เกิดมาตายเปล่าไปอีกหนึ่งชาติเป็นผลที่คนเหล่านี้จะได้รับ
พอกำจัดคนดีมีศีลออกไปให้พ้นทางได้แล้ว ตัวเองก็จะได้บ้าอำนาจ เสพอำนาจได้อย่างไม่มีใครขัดอยู่ในกลุ่มนั้น ๆ กลายเป็นเห็บศาสนาสมบูรณ์แบบ ไม่มีวันเจริญ มีแต่ความเสื่อม เต็มไปด้วยกิเลส ซึ่งเป็นภาระกลุ่มที่ต้องแบก เป็นจุดอ่อนของกลุ่ม เป็นรูรั่วของกลุ่ม เป็นเชื้อร้ายของกลุ่ม ที่เหมือนมะเร็งที่จะลุกลามกัดกินเนื้อดีส่วนอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ
หากไม่กำจัดเห็บศาสนาออก ก็ต้องแบกความหนักเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ แบกคนทุศีล แบกคนมีอนันตริยกรรม ซึ่งคนพวกนี้ไม่มีวันเจริญ กลายเป็นภาระ กลายเป็นวิบากกรรมของกลุ่มที่ไม่ชัดเจนในความเป็นคนพาลในคน ที่จะต้องแบกไว้ให้มันลำบาก ให้เสื่อม ให้เมื่อย ให้หนัก ให้เสียเวลาเปล่า ๆ
คนพาลที่ฝังตัวอยู่ในหมู่คนดี
เรื่องนี้ก็เคยมีมาก่อน สมัยพุทธกาล คนพาลระดับตำนาน คือพระเทวทัตผู้มักใหญ่ใฝ่สูง แข่งกับพระพุทธเจ้ามาตลอด ปองร้ายพระพุทธเจ้ามาตลอด ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนา
ก็ใช่ว่าทุกคนจะรู้จักความเป็นพาลของพระเทวทัต พระเทวทัตนั้นฉลาด รอบรู้ในการล่อลวง แสร้งทำ จนครั้งหนึ่งเคยล่อลวงพระที่บวชใหม่ให้เข้าไปศึกษาในสำนักตนเองได้ถึง 500 คน
พระเทวทัตก็ใช้องค์ประกอบของศาสนาที่มีอยู่นั่นแหละ ดัดนิด แปลงหน่อย ให้ดูน่าเชื่อถือ ให้ดูน่าเคารพ แล้วก็ล่อลวงคนให้หลงตาม
พระที่บวชใหม่ก็ยังไม่รู้วินัย ยังไม่รู้ทิศทาง ก็โดนโน้มน้าวได้ง่าย สุดท้ายก็หลงตามไป ทั้ง ๆ ที่บารมีของทั้ง 500 คนนั้น อยู่ในระดับฟังธรรมแล้ว เกิดดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี สภาวะเช่นนี้ก็คือบรรลุอรหันต์นั่นแหละ นี่ขนาดคนมีภูมิอรหันต์ยังโดนพระเทวทัตล่อลวงได้เลย ท่านมีวิบากที่เคยทำชั่วร่วมกันมา ท่านก็ต้องรับ
คนที่สอนและพากลับมาให้ถูกทางคือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ไปพากลับมาด้วยการสอนธรรมจนเข้าใจ เพราะพระเทวทัตนั้นประมาท หลงตนเองว่าอัครสาวกทั้งสองมาเพราะศรัทธาในตน จึงหลีกไปนอนพัก ปล่อยให้สมณะทั้งสองเทศสอนคนไป สุดท้ายตื่นมาพบว่าทั้ง 500 ที่ได้ล่อลวงมาถูกพากลับไปหมดแล้ว ถึงกลับกระอักเลือด
….
แม้สมัยก่อนก็ยังร้ายขนาดนี้ สมัยนี้ไม่ต้องพูดถึง แทรกซึมเข้ามาแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันเลย เกาะอยู่ ทนอยู่ เหมือนมะเร็งในร่างกายนั่นแหละ ฝังอยู่ เป็นเนื้ออยู่ แต่ก็เป็นพิษภัยต่อร่างกาย ทำให้ตายได้
ความจริงทุกวันนี้ภาพใหญ่ในสังคมมันก็เกิดเป็นสภาพของพระเทวทัตอยู่แล้ว สำนักมากมายสอนกันไปตามที่ตนชอบใจ ล่าทรัพย์ ล่าบริวาร ล่าอำนาจ ส่วนใหญ่ก็แตกเป็นแบบนี้ทั้งนั้น
มันจะมีแทรกปนอยู่ทุกระยะ ตั้งแต่ภาพใหญ่ จนมาถึงภาพย่อย คือเข้ากลุ่มมาเพื่อแสวงหาอำนาจ มักใหญ่ ใฝ่สูง อวดดี ฯลฯ
แต่คนพาลพวกนี้เขาจะฉลาด เขาจะไม่แสดงความพาลตรง ๆ เขาจะทำดีไปตามขั้นพื้นฐาน ดีที่คนโลก ๆ ทั่วไปเขาจะขยันทำได้ แต่ดีที่เหนือดีนี่เขาจะไม่เอา คือเขาจะทำดีแบบไม่ลดกิเลส หมายถึงทำดีไปเพื่อแลกอำนาจ ทำดีไปก็เสพความเอาแต่ใจ ได้ดั่งใจ กินอร่อย ๆ สร้างอำนาจ วาสนา บารมี อยู่ในนั้นนั่นแหละ แต่จะให้ลดกิเลส ลดกาม ลดอัตตา เขาจะไม่เอาด้วย
เขาก็รอเวลาที่จะมีโอกาสเติบโต ถ้ามีโอกาสเดี๋ยวเขาก็จะขยับ เช่นพระเทวทัตก็ไม่ได้ออกลายตั้งแต่แรก ก็ใช้เวลาสะสมประสบการณ์ ทำดีสอดใส้ชั่วมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งตายนั่นแหละ
ความมักใหญ่ใฝ่สูงจนล้นทะลักคือจุดเด่นอันหนึ่งของคนพาล ก็รู้กันว่าพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะคืออัครสาวก คือสาวกที่เลิศยอด แต่เมื่อพระเทวทัตเห็นท่านทั้งสองมาในสำนักตน ก็เกิดจิตลามก ว่าท่านทั้งสองศรัทธาตน พร้อมกับบอกคนอื่นว่า นี่ไงท่านเหล่านั้นมาเพราะศรัทธาในธรรมของเรา
นี่เห็นไหมว่าจิตลามกเป็นอย่างไร มันจะไม่รู้ฐานะแบบนี้แหละ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่รู้ว่าใครใหญ่ใครเล็ก เพราะคิดแต่ล่าบริวาร ล่าโลกธรรม แค่เห็นเขาเดินเข้ามาใจมันก็ลำพอง จิตมันก็เลยประมาท พอไม่รู้ว่าใครเป็นใครก็เลยประมาทอย่างนี้ สำคัญตนผิด ดูถูกผู้อื่น ยกตนข่มผู้อื่น คือจุดเด่นของคนมักใหญ่ใฝ่สูง
คนพาลพวกนี้มีแทรกอยู่ในทุกกลุ่มทุกองค์กรนั่นแหละ เป็นเชื้อมะเร็งร้าย คอยกัดกินทำลายร่างกาย แล้วก็ใช่ว่าจะรู้กันได้ หรือตรวจกันได้ง่าย ๆ ยิ่งถ้าภูมิธรรมน้อย ๆ เข้ามาศึกษาใหม่ ๆ หรือคนที่ทำดีอย่างไม่เน้นธรรมะ หรือแม้แต่คนที่อยู่มานานแต่ไม่มีมรรคผล ก็จะดูไม่ออก
มันต้องใช้ตาทิพย์ คือตาของผู้ที่ล้างกิเลสได้โดยลำดับ พอล้างกิเลสเรื่องใดได้ มันจะได้ตาพิเศษในเรื่องนั้น อย่างอัครสาวกนี่ก็ล้างกิเลสได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว และยังละเอียดละออเป็นพิเศษด้วย ก็เลยเห็นความพาลชัดเจน จนเอาภาระ ไปพาพระบวชใหม่กลับมา
องค์กรใหนไม่มีคนที่เอาภาระอย่างพระสารีบุตรหรือพระโมคคัลลานะ ก็จะต้องเสียคนดีไปเรื่อย ๆ ก็ปล่อยคนพาลเสพสะสมพลังชั่วไปเรื่อย ๆ ทำลายจิตวิญญาณไปเรื่อย ๆ ถ้ามีอำนาจแล้วไม่แก้ไขนี่จะเป็นบาป อย่างพระโมคคัลลานะก็เคยดึงพระทุศีลออกจากองค์ประชุม อันนั้นท่านทำได้ถูกต้องตามฐานะ เป็นพระบวชใหม่ แม้จะมีภูมิสูง แม้จะรู้ ก็ไม่เหมาะที่จะทำ เพราะไม่เหมาะสมกับฐานะ ต้องให้รุ่นพี่ลุยก่อน ถ้าไม่มีคนทำจริง ๆ ถึงจะทำได้
อะไรที่มันชั่วช้า เบียดเบียน พาตกต่ำชัด ๆ เช่นถ้าผิดศีลชัด ๆ แล้วเนี่ย ก็คงต้องจัดการกัน จะปล่อยให้คนพาลอยู่สะสมอำนาจไปนาน ๆ มันจะปราบยาก พระพุทธเจ้าเปรียบคนทุศีลเหมือนหยากเยื่อ คือมันเหนียว แน่น หนึบ สกปรก รุงรัง เลอะเทอะไปหมด เอาออกไม่ได้ง่าย ๆ คนพาลที่มาฝังอยู่ก็เหมือนกัน ถ้าไปให้อาหารเขา ก็เหมือนคนเป็นมะเร็งแล้วไม่หยุดกินอาหารเสริมกำลังมะเร็ง มะเร็งมันก็จะโต เจ็บปวด เบียดเบียนไปเรื่อย ๆ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นมะเร็งแล้วหยุดให้อาหารมะเร็ง ทำตรงกันข้าม ก็จะพอทุเลาไปได้บ้าง แต่ถ้ามะเร็งนั้นมันใหญ่จนเบียดเบียนร่างกาย ก็อาจจะจำเป็นต้องตัดทิ้งเสีย แม้จะเสียหายบ้าง แต่ก็เจ็บปวดน้อยที่สุด
การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน
การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน
ศาสนานั้นเป็นที่พึ่งทางจิตใจของใครหลายคน คนที่นับถือศาสนาก็จะทำทำนุบำรุงศาสนานั้นๆด้วยการเผยแผ่ การสร้างวัดวาอาราม การสนับสนุนผู้ที่เขาเห็นว่าปฏิบัติดีซึ่งก็เป็นการสนับสนุนส่งเสริมศาสนาที่ดีทางหนึ่ง
ดังเช่นในศาสนาพุทธ พุทธศาสนิกชน ทั้งหลายมักจะพากันใช้เวลาช่วงหนึ่งเข้าวัด นั่งสมาธิ ถือศีล เดินจงกรม ฟังธรรม และมักบริจาคทานช่วยเหลือในส่วนต่างของศาสนา เช่น สร้างวัด สร้างพระ แม้จะไม่ได้ช่วยเป็นแรงเงิน ก็มักจะช่วยกันบอกต่อหรือไม่ก็ช่วยเป็นแรงกาย
จนบางครั้งวัดได้กลายเป็นที่ยึดเหนียวจิตใจของคนเหล่านั้นไปแล้ว ในบางคนถึงกับยึดมั่นถือมั่นเข้าใจว่าการบำรุงศาสนาที่ได้บุญมากคือการสร้างวิหารทาน ธรรมทาน อภัยทาน …
ความเข้าใจเรื่องบุญกับอานิสงส์…
ซึ่งตรงจุดนี้เราต้องแยกคำว่าบุญกับอานิสงส์กันเสียก่อน การทำทานนั้นจะมีผล ก็คือประโยชน์ หรือมีอานิสงส์มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับทานนั้นไปสู่ที่ใด การให้ทานกับคนมีศีลก็มีอานิสงส์มากกว่าให้ทานกับสัตว์ นั้นเพราะว่าคนมีศีลจะสามารถนำทานเหล่านั้นไปสร้างประโยชน์ได้มากกว่าสัตว์ การทำทานให้ผู้รับที่ต่างกันจนกระทั่งวิหารทาน ธรรมทาน อภัยทาน จึงมีอานิสงส์หรือประโยชน์ต่างกันจึงทำให้กุศลที่ได้รับนั้นต่างกันมากตามสิ่งที่ทำไปด้วย
ทีนี้มาถึงคำว่าบุญ บุญนั้นคือการสละออก หรือการสละกิเลสออกไป หลายครั้งที่เรามักจะได้เห็นคำว่า โกยบุญ ,บุญใหญ่ , บุญหล่นทับ ถ้าแปลกันแบบตรงไปตรงมาก็คงจะเป็น,โกยการสละออก? การสละออกครั้งใหญ่? การสละออกหล่นทับ? พิมพ์ไปก็เริ่มจะงงไป เพราะเราเองไม่เคยให้ความกระจ่างกับคำว่าบุญ , กุศล , อานิสงส์เลย
เราลองมาแปลคำว่า โกยบุญ บุญใหญ่ และบุญหล่นทับให้ตรงตามความหมายของการสละออก ,คำว่าโกยบุญ คือ รีบเก็บเกี่ยวโอกาสในการสละกิเลส เช่น มีคนตกทุกข์ได้ยาก มีญาติมิตรลำบาก ก็ไม่ดูดายรีบหาทางช่วย ,คำว่าบุญใหญ่นั้น คือโอกาสในการสละครั้งยิ่งใหญ่ เช่น สละทรัพย์ สละอวัยวะ สละชีวิต , ส่วนบุญหล่นทับ คือ โอกาสพิเศษในการสละออก เช่น มีคนจะมาขอคู่ครองคนรักของเราไปอยู่ด้วย เรายกให้เขาได้ไหม? ทั้งหมดนี่พยายามแปลงให้เข้าท่าที่สุดแล้วนะ
เมื่อเราไม่เข้าใจความหมายของคำว่า บุญ , กุศล , อานิสงส์ ก็จะทำให้เราหลง เมาบุญ ไม่รู้ว่าสิ่งใดคือเหตุสิ่งใดคือผล ไม่รู้ต้นไม่รู้ปลาย รู้แต่เขาบอกว่าทำแล้วดี ทำดีแต่มักไม่ถูกที่ถูกทาง ทำดีผิดไปจากที่ควร ทำดีแบบมิจฉาทิฏฐิ
ความเสื่อมของศาสนา…
ในประวัติศาสตร์ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ทุกอย่างจะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แม้แต่อินเดียที่ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของศาสนาพุทธ แต่ตอนนี้กลับสูญสลายหายไปจนเกือบหมด หลักฐานใดๆก็แทบจะไม่มีเหลือ วัดวาอารามที่เคยสร้างเมื่อสมัยต้นพุทธกาล กลับกลายเป็นแค่กองหินกองดิน คัมภีร์พระไตรปิฏกถูกเผาทำลาย สูญหาย หรือถูกบิดเบือนไป พระสงฆ์ถูกฆ่า เดรัจฉานวิชาเข้ามาแทนที่ เกิดการแบ่งกลุ่มแบ่งแยกพวก กำเนิดลัทธิต่างๆมากมาย จนแทบจะจับหลักไม่ได้ว่าทางไหนคือทางที่ถูกที่ควรต่อการปฏิบัติตาม
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และจะเกิดขึ้นในอนาคตที่กำลังจะใกล้กลียุคเข้าไปทุกวัน เราทั้งหลายบำรุงพระพุทธศาสนา เพียงแค่รูปภายนอก คือ วัดวาอาราม โบสถ์สถูป เรียนท่องจำพระไตรปิฏก ถวายปัจจัยแก่สงฆ์ เหล่านี้คือการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนที่เห็นได้โดยทั่วไป ทั้งหมดนี้ดี แต่ไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง แปรผันได้ตลอดเวลา
เช่น วัด โบสถ์ อาคาร พระพุทธรูป ที่เราร่วมบุญร่วมก่อสร้าง วันหนึ่งก็ต้องมาพังทลายเพราะแผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม มีคนขโมย หรือกระทั่งผลจากสงคราม เมื่อเราไปยึดมั่นถือมั่นในวัตถุเหล่านั้น ใจเราก็พลอยจะพังทลายไปด้วย
เช่น คำสั่งสอนบางประการที่ได้ยินมา ที่เขาอ้างว่ามันคือพระธรรม แต่ขัดกับการปฏิบัติจริง ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้จริง พอเราไปยึดมั่นในคำสอนที่ผิดหรือถูกบิดเบือนเหล่านั้น ก็จะทำให้เรายิ่งหลง ยิ่งทุกข์ ยิ่งโง่ ยิ่งเกิดความเดือดร้อนในชีวิต
เช่น ผู้บวชเป็นพระบางรูป เราก็หลงไปทำบุญ ไปศรัทธา ไปกราบไหว้ ไปปฏิบัติตาม สุดท้ายก็กลายเป็นพระทุศีล โกหก หลอกลวง สร้างลัทธิ ใช้เดรัจฉานวิชา อลัชชี เป็นผู้ที่หากินในคราบของพระ ถ้าเรายังยึดมั่นถือมั่น เราก็จะต้องหลงโง่ตามไปต่อเรื่อยๆ แม้เราจะเคยเลื่อมใสศรัทธา แต่พอหมดศรัทธาก็อาจจะเป็นเหตุให้เราทุกข์ โกรธ อาฆาต เสื่อมศรัทธาต่อบุคคลที่บวชเป็นพระ
ทำบุญทำทานให้ถูกที่ มีอานิสงส์ดียิ่งนัก…
การทำบุญทำทาน นอกจากจะเป็นการทำเพื่อสละกิเลสออกจากใจแล้ว ยังต้องมีปัญญารู้ว่าผลหรืออานิสงส์นั้นจะเกิดสิ่งใดด้วย เพราะศรัทธาของพุทธนั้น คือศรัทธาที่เกิดจากปัญญา มิใช่ศรัทธาที่หลงงมงายดั่งเช่นศรัทธาในแบบพ่อมดหมอผีฤาษีหมอดู แต่เป็นเพราะเรารู้ว่าการศรัทธาในสิ่งนั้นจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อเราและผู้อื่นอย่างแท้จริง
เช่น เราทำบุญสร้างโบสถ์ เราทำด้วยใจที่สละรายได้ สละอาหารมื้อพิเศษ สละของที่อยากได้ให้กับวัด แต่วัดนั้นขึ้นชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง การสร้างวัตถุฟุ่มเฟือย เป็นไปเพื่อความบันเทิงและชื่อเสียง ก็ให้เราช้าไว้ก่อน ลองดูว่าวัดไหนที่ยังขาดปัจจัยบ้าง เช่นบางวัดไม่มีศาลา ไม่มีโบสถ์ เราก็ควรจะส่งเสริมวัดนั้นๆประโยชน์หรืออานิสงส์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อเราให้ผู้ที่ขาด มากกว่าให้ผู้ที่มีพร้อม
เช่น เราทำบุญช่วยเผยแพร่ธรรมะ แต่ธรรมะนั้น เป็นธรรมะที่ไม่พาพ้นทุกข์ พาให้สะสม พาให้หลงผิด พาให้เพิ่มกิเลส เพิ่มความโลภ โกรธ หลง เพิ่มอัตตา เราก็ช่วยเผยแพร่ด้วยใจเสียสละนะ แต่สิ่งที่เราช่วยเผยแพร่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ดังนั้นประโยชน์หรืออานิสงส์ย่อมไม่เกิด และอาจจะทำให้ผู้รับหลงงมงายเข้าไปอีกด้วย ซึ่งกรรมนั้นแหละจะกลับมาให้ท่านหลงผิด หลงทางในธรรมไปด้วย
เช่น เราทำบุญทำทานให้ผู้บวชเป็นพระ เรายินดีสละทรัพย์ สละโอกาสที่จะซื้อของที่ชอบให้พระรูปนั้น แต่พระรูปนั้นก็ไม่ได้นำปัจจัยของเราไปสร้างสิ่งดีงามอะไร ในขณะเดียวกัน พระอีกวัดกำลังสร้างโรงเรียนให้เด็กในชุมชน การทำทานให้พระรูปนั้นจะได้อานิสงส์มากกว่า เพราะท่านได้นำทรัพย์ที่เราสละไปสร้างประโยชน์ให้กับชุมชม เป็นกุศลหลายชั้น ชั้นแรกคือเราให้พระ ชั้นที่สองคือพระนำไปสร้างประโยชน์ ชั้นที่สามคือเด็กๆ ได้มีที่เรียน ชั้นที่สี่คือชุมชนพัฒนา ชั้นที่ห้า หก เจ็ด ฯลฯ… ดังจะเห็นได้ว่าการบริจาคทานแก่พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ช่วยเหลือชุมชน ปลดทุกข์ให้ชาวบ้าน ทำกิจของตนเองคือการศึกษาธรรม ล้างกิเลสและกิจกรรมของผู้อื่น คือช่วยเหลือคนและชุมชน จะได้รับอานิสงส์มากกว่าการบริจาคให้พระที่ไม่ทำประโยชน์อะไรให้กับชุมชน
การทำบุญทำทานที่คิดแค่ว่า “ ทำๆไปเถอะ ขำๆ อย่าคิดมาก” ได้ยินได้ฟังแล้วอาจฟังดูดี ดูปล่อยวาง แต่ก็อาจจะเข้าใจแบบไม่มีปัญญาก็ได้ ชาวพุทธจึงควรทำบุญทำทานส่งเสริมคนดี วัดดี พระดี ให้คนดีเหล่านั้นได้มีกำลังทำดีต่อไป เพื่อให้เกิดสังคม สิ่งแวดล้อมที่ดี (คำว่าดีในที่นี้ คือดีในทางสวนกระแส ไม่ไปตามกิเลส ขัดกิเลส ล้างกิเลส)
การส่งเสริมศาสนาพุทธอย่างยั่งยืน….
ดังจะเห็นได้ว่า การทำบุญให้เกิดการสละอย่างแท้จริงนั้นยาก และการจะให้เกิดอานิสงส์มากนั้นก็ยาก แถมสิ่งเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนสภาพ ถูกบิดเบือนได้ตลอดเวลา
อ่านมาถึงตรงนี้คงจะมีคำถามกันแล้วว่า แล้วเราจะส่งเสริมศาสนาอย่างไรจึงจะทำให้ศาสนาคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน …
ความเป็นพุทธนั้น ไม่ได้ถูกเก็บไว้ในวัตถุ ไม่ได้เก็บไว้ในวัด ไม่ได้เก็บไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฏก ไม่ได้เก็บอยู่ในคนที่บวชเป็นพระ ความเป็นพุทธ หรืออริยทรัพย์ที่แท้จริงนั้นถูกเก็บไว้ในวิญญาณของแต่ละคน เป็นที่เก็บธรรมะที่ไม่มีวันจะเสื่อมสลาย ไม่มีวันพังทลาย ไม่มีวันถูกบิดเบือน
การส่งเสริมศาสนาพุทธอย่างยั่งยืนนั้น เราจึงควรสร้างความเป็นพุทธะ คือความรู้แจ้งเข้าใจในกิเลสนั้นๆ โดยผ่านการศึกษาธรรมะ และการปฏิบัติ จนเกิดสภาพการรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริงในตน กลายเป็นอริยทรัพย์ติดไปข้ามภพข้ามชาติ ไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ชาติไหน ภพไหน ก็จะมีสภาพนั้นติดตัวไปด้วย จะสามารถปลดเปลื้องกิเลสนั้นๆได้ง่าย เป็นการเก็บความเป็นพุทธไว้ในวิญญาณ ไว้ในกรรม เมื่อเรามีสร้างกรรมที่เข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องใดๆแล้ว ผลของกรรมก็คือเราไม่ต้องไปเสพ ไปยึดมั่นถือมั่น ไปทุกข์ เพราะเรื่องนั้นๆอีก ก็จะเกิดสภาพแบบนี้ไปทุกๆชาติ แม้ในชาตินี้ที่ยังไม่ตายก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถพัฒนาจิตใจตัวเองให้เลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินมังสวิรัติได้แล้ว วันพรุ่งนี้เราก็จะกินมังสวิรัติอย่างมีความสุข ไม่ว่าเดือนหน้า ไม่ว่าปีหน้าก็จะเป็นอย่างนี้ ดังนั้นชาติหน้าก็จะเป็นเช่นนี้เหมือนกัน เพราะเราสร้างกรรมดีแบบนี้ เราก็เลยมีสภาพรับกรรมดีแบบนี้ไปเรื่อย
พระพุทธเจ้าได้ตรัส เกี่ยวกับอริยทรัพย์ไว้ใน หัวข้อ อริยทรัพย์ ๗ คือทรัพย์แท้อันประเสริฐ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา
ดังนั้นถ้าเราปฏิบัติและเก็บสะสม พัฒนาสภาวะต่างๆ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น ก็ไม่ต้องกลัวเลยว่า เกิดชาติไหนชีวิตจะลำบาก เพราะปฏิบัติได้ในชีวิตนี้ ก็เกิดดีจนเห็นได้ในชีวิตนี้ แถมยังส่งให้ไปปฏิบัติต่อในชีวิตหน้า ดังที่จะเห็นได้ว่า คนเราเกิดมาดีเลว ร่ำรวยยากจน แข็งแรงมีโรค มีโอกาสไร้โอกาส ฯลฯ แตกต่างกัน เหล่านี้คือผลมาจากกรรมคือทรัพย์ที่เก็บสะสมมาแตกต่างกัน ดังจะเห็นได้จากตัวเราตอนนี้
เมื่อเข้าใจเรื่องกรรมได้ชัดแจ้ง ก็จะไม่สงสัยเลยว่าต้องทำอย่างไรจะบำรุงศาสนาพุทธได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ก็คือทำดีให้เกิดในตัวเรานี่แหละ ลด ละ เลิกการยึดมั่นถือมั่นในกิเลสของเราไปเรื่อยๆ เก็บสะสมอริยทรัพย์ไปเรื่อยๆ ล้างกิเลสไปเรื่อยๆ หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสไปเรื่อยๆ นี่แหละคือการรักษาศาสนาพุทธที่ดีที่สุด
– – – – – – – – – – – – – – –
14.9.2557