Tag: ปล่อยวาง
รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์
รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์
ความเห็นในความรักนั้นแตกต่างกันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน แต่ในทางพุทธศาสนา ทางที่ถูกต้องนั้นมีทางเดียว มีทิศเดียว ไม่มีทางอื่น ความเห็นที่ถูกต้องถูกตรงก็มีทิศทางเดียว คือเดินไปสู่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าในเรื่องความรักก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องความรัก ในเรื่องคนคู่ ครอบครัว ญาติ ชุมชน ชาติหรือแม้กระทั่งโลกนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเข้าไปยึดไว้เลย
ความเห็นเกี่ยวกับความรักนั้น แต่ละคนก็ว่ากันไปตามที่ตนชอบ ตามที่ตนว่าถูก อันนั้นก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะเชื่อ แต่ถ้าเราจะศึกษาว่ารักแบบใดเป็นรักที่ถูกต้อง ถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ เป็นรักที่สัมมาทิฏฐิแล้วล่ะก็ จะยกเนื้อหาสำคัญมาให้ศึกษากัน
จุลศีลกับความรัก
ในหลักจุลศีล ถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างละเอียดของชาวพุทธ โดยหลักการแล้วเป็นของนักบวช แต่หลักปฏิบัติในจุลศีลข้อนี้ ก็ได้ปรากฏอยู่ในข้อธรรมหมวดอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งเนื้อหานั้นได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ
“ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่” ให้สังเกตว่าศีลข้อนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนในการปฏิบัติ คือ ไม่ทำ และ ทำ , ไม่ทำ คือไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ทำ คือเห็นใจและลงมือช่วยสัตว์อื่น สัตว์นั้นหมายรวมตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานไปจนถึงมนุษย์
ความรักในหลักพุทธ ในเชิงแนวคิดหลัก ๆ ภาพรวมก็ประมาณนี้ คือไม่ไปเบียดเบียนเขา แล้วช่วยสิ่งเสริมเขาให้เกิดสิ่งดีที่พาเจริญขึ้น ทีนี้เรามาศึกษากันต่อว่าอะไรคือการเบียดเบียน ความรักแบบไหนคือการเบียดเบียน
ถ้าความรักของพุทธ (รักโลกุตระ) คือการปฏิบัติไปสู่ความเมตตาเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน โดยมีหลักคือการลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งที่ตรงข้ามกันนั้นก็คือความรักในรูปแบบที่เบียดเบียน (รักโลกียะ) คือ พากันเพิ่มความโลภ โกรธ หลง และ ความรักที่เบียดเบียนที่เห็นได้ชัดและมีมากที่สุดก็คือการจับคู่ของคนอยากมีคู่สองคนมารวมกัน
ความรัก ที่ต้องพากันครองคู่อันนี้หยาบที่สุด ต้องเอาคนมาเสพ มาประทังความอยาก มีการเบียดเบียนสารพัดอย่าง ตั้งแต่การล่อลวงให้หลง ให้ปัญญาอ่อนลงไป ยั่วย้อมมอมเมา ให้กิเลสโตขึ้น ให้เกิดความอยากได้อยากครอบครอง ไปจนถึงต้องเอาอีกฝ่ายมาบำเรอตน ไม่ว่าจะกาม ทรัพย์สิน แรงกาย เวลา ปัญญา ฯลฯ ก็ต้องเอามาเทให้ตน แทนที่จะให้เขาเอาองค์ประกอบในชีวิตที่มีไปทำประโยชน์อื่นที่มากกว่า กลับเห็นแก่ตัว ลวงเขามาไว้ทำเพื่อตน เพื่อสนองกามตน เพื่อสนองอัตตาตนเอง
กามในมิติที่รู้กันโดยกว้างในสังคมก็คือการสมสู่ แต่กามก็ไม่ได้หมายเพียงแค่การสมสู่ เพราะการยินดีในการมองก็เป็นกาม การได้มองทุกวัน ได้เห็นเขายิ้ม ได้เห็นท่าทีลีลาอาการต่าง ๆ แล้วยินดี ก็เป็นกาม การได้ยินเสียงแล้วยินดีก็เป็นกาม ได้ยินเสียงเพราะ ๆ ของเขา แล้วชื่นใจ ก็เป็นกาม การยินดีในกลิ่นของเขาก็เป็นกาม เขาใส่น้ำหอมมาแล้วยินดี ชอบใจ ถูกใจในกลิ่นนั้นก็เป็นกาม การยินดีในการสัมผัสก็เป็นกาม การที่เขามาจับ แตะ ควงแขน สารพัดสัมผัส แล้วยินดี ก็เป็นกาม ถ้าไม่ได้เสพกามตามที่ติด ก็จะเกิดอาการทุกข์ ขุ่นข้องหมองใจ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าการมีคู่ก็จะมีความยินดีในกามในหลายอิริยาบถ ซึ่งมันก็ไม่ได้ซ่อนลึกซึ้งอะไรหรอก มันก็เห็นกันอยู่ชัด ๆ นั่นแหละ เพียงแต่คนไม่รู้ว่านี่เป็นกาม
อัตตาเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ลึกลับ ซับซ้อน และถูกปิดบังโดยกิเลส แม้แสดงอยู่ก็ใช่ว่าจะมองเห็นได้ เช่น ความเชื่อ ศักดิ์ศรี อำนาจ(ความสำคัญในตนเองว่ามี) การมีคู่นั้น จะมีอัตตาร่วมด้วยเป็นแรงหลักเสมอ กามเป็นตัวเคลื่อน(ให้เห็นอาการ) อัตตาเป็นแรงส่งอยู่ภายใน
ในมุมของอำนาจ เช่น สำคัญตนว่ามีอำนาจ สำคัญตนว่าใหญ่กว่า เจ๋ง เก๋า แน่ ครอบครองได้ ควบคุมได้ ก็เลยแสดงอาการเช่น พูด กอด จูบ หรือแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใด ๆ ที่แสดงถึงความเหนือกว่า ต่อหน้าคนอื่นก็ตามหรือต่อหน้าคู่ก็ตาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีอำนาจ ตนสามารถควบคุมได้ อันนี้มันก็เป็นอาการของอัตตา ที่แสดงออกด้วยกาม
ในมุมของความเชื่อ เช่น เชื่อว่าชีวิตจะสมบูรณ์ก็ต้องมีครอบครัวที่ดีมีลูก หรือเชื่อว่าฉันจะสามารถมีคู่ครองแล้วพากันเจริญในธรรมได้ เป็นต้น อันนี้เป็นความเชื่อ แต่เป็นความเชื่อที่ไม่พาพ้นทุกข์ เพราะมันตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ “คนที่ประพฤติตนเป็นโสดเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง” คือทิศทางมันไม่ไปด้วยกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัส
เรามีอิสระที่จะเชื่อและทำอะไรก็ได้ เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นมันถูกต้องหรือเปล่า แล้วจะถูกต้องตามหลักของใคร หลักของฉัน หลักของใคร หรือหลักของพระพุทธเจ้า ก็เลือกหลักกันเอาว่าจะปักหลักไหน แล้วก็พิสูจน์ความจริงกันไปว่ามันจะพ้นทุกข์หรือทุกข์จริง เศร้าหมองจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าว่ามาหรือไม่
การยึดมั่นถือมั่นคืออัตตา เช่นเมื่อได้รู้แล้วว่ามันไปคนละทางกับทางพ้นทุกข์ ก็ยังจะดื้อ จะรั้น จะลองพิสูจน์ ซึ่งมันก็ไม่แปลก มันเป็นอาการของอัตตาที่เชื่อว่า ข้าแน่ ข้าเก่ง ข้าทำได้ และลึก ๆ ข้าก็คิดว่า แนวคิดของข้าเจ๋งกว่าพระพุทธเจ้าอีกด้วย
ในอัตตาเรื่องคู่นี้มักจะซ่อนกามไว้เสมอ คือจริงๆ ตนน่ะ อยากเสพกาม อยากสมสู่ แต่เอาเป้าอื่นมาล่อไว้ เอามาบังไว้ เอามาลวงไว้ให้ดูโก้ ๆ ดูเท่ ๆ ทำเป็นจะดูแลเขาไปตลอด ทำเป็นอยากแต่งงาน อยากมีครอบครัว ทำเป็นมีอุดมการณ์ แต่จริง ๆ อยากจะสมสู่กับคนที่หวังเท่านั้นแหละ ส่วนอุดมการณ์ หรืออัตตานั้นก็ปั้นขึ้นมาลวงคู่ตรงข้ามเฉย ๆ ดีไม่ดีลวงจิตตัวเองไปด้วย หลงเชื่อไปจริง ๆ ว่าตนอยากมีครอบครัว ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ตนแค่อยากเสพกาม ดังจะปรากฏผลเป็นการผิดศีลข้อ ๓ ที่เห็นกันโดยทั่วไป เพราะมันเสพแล้วมันไม่พอ มีแฟนคนเดียวมันไม่พอ แต่งงานแล้วมันไม่พอ อุดมการณ์มันกินไม่ได้ มันเสพไม่พอสุข สุดท้ายก็ต้องยอมผิดศีลผิดธรรม ไปตามอุดมกามของตนต่อไป
พรหมวิหารกับความรัก
ธรรมะอีกหมวดที่มักจะถูกยกขึ้นมาเมื่อกล่าวถึงเรื่องความรัก คือพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
เมตตาคือมีจิตที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขา กรุณาคือลงมือช่วยเขา ( คือว่ากรุณา หมายถึงทำให้ ลงมือทำให้ เช่น กรุณาส่ง คือช่วยส่งให้หน่อย หรือกรุณาให้ทาง คือช่วยหลีกทาง เป็นลักษณะที่มีกายกรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงมโนกรรม ไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องลงมือทำด้วย)
สองข้อแรกจะสอดคล้องกับจุลศีล คือมีจิตที่จะช่วยและลงมือกระทำ มุทิตาคือมีจิตยินดี ในสิ่งที่เกิดขึ้น อุเบกขาคือปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น สรุปหลักของพรหมวิหารคือ เห็นใจ คิดที่จะเกื้อกูลและลงมือช่วย ได้ผลอย่างไรก็ยินดีไปตามนั้น และปล่อยวางในท้ายที่สุด แม้สิ่งที่คิดหรือช่วยทำนั้นจะเกิดผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตามที
จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วพรหมวิหาร ไม่ได้เกี่ยวกับความรักในเชิงชู้สาวเลย หรือแม้กระทั่งครอบครัว ญาติ สังคม ประเทศชาติก็ไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้เล็กแค่นั้น ธรรมหมวดนี้หมายถึงจิตที่เมตตากว้างไกลไม่มีประมาณซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุก ๆ เหตุการณ์ ในชีวิต
สรุปได้ว่า แนวทางความรักของพุทธนั้น ไม่ได้กระจุกอยู่ที่จุดเล็ก ๆ อย่างคู่ครอง คู่รักใด ๆ ดังนั้น ความรักที่ถูกต้องจึงเป็นคำที่ห่างไกลจากความอยากจะไปมีคู่อย่างมาก ไกลลิบ ๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา เพราะความรักของพุทธนั้นกระจายออกไปโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ความรักแบบคู่ครองนั้น กระจุกอยู่โดยยึดมั่นถือมั่นว่า ความเชื่อของฉันคือแบบนี้ ความสุขของฉันคือแบบนี้ เขาคนนี้คือความสุขของฉัน และความถูกต้องของฉันคือแบบนี้
ว่าแล้วก็แยกกันไปตามความเห็น ความเห็นแบบหนึ่งก็ไปแบบหนึ่ง ความเห็นอีกแบบก็ไปอีกแบบ ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงหรือทะเลาะอะไรกัน ต่างคนก็ต่างศึกษากันไป คนที่ศึกษาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าโดยหลักฐานก็จะพบว่ามีความทุกข์น้อย มีความผาสุกมาก ตลอดจนไม่มีทุกข์เลยก็มี ส่วนคนที่เห็นต่างก็ไปทางอื่น จะเรียกชื่อทางว่าอะไรก็แล้วแต่ ทางแห่งรักที่ถูกตรงก็ได้ ทางแห่งรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ จะเปลี่ยนปกไปยังไงก็ได้ แต่ถ้าเนื้อในมันเน่า มันพาหลง มันเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มันก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล
18.11.2562
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
โรงบุญโรงทาน จากยุคพุทธกาลสู่เมืองไทยในปัจจุบัน
โรงบุญโรงทาน จากยุคพุทธกาลสู่เมืองไทยในปัจจุบัน
ตามที่ได้ศึกษาพุทธประวัติ มีอุบาสกท่านหนึ่ง ผู้เป็นเลิศในด้านการให้ทาน คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้เป็นอริยะสาวก หรือผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกตรงนั่นเอง
จากประวัติศาสตร์นั้น ท่านได้ทำทานอย่างสม่ำเสมอ บำรุงทั้งคนยากไร้ บำรุงทั้งนักบวช ทั้งยังบำรุงได้เยี่ยมยอดอย่างหาผู้ใดเปรียบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า ในปัจจุบันนี้แม้จะผ่านมากว่า 2,500 ปีแล้ว ก็ยังมีผู้คนที่ยังปฏิบัติตามแนวทางเช่นนี้อยู่
ผมได้เห็นผู้ที่มาเปิดโรงทานที่สนามหลวง มีคนมากมายหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไป กลุ่มพนักงาน กลุ่มกิจกรรมต่าง ๆจนถึงผู้ปฏิบัติธรรม ฯลฯ จะเห็นได้ว่าคนไทยนั้นยังไม่เสื่อมไปจากธรรม เพราะการให้ทาน คือองค์ประกอบหนึ่งของมรรคผล
เมื่อคนมีจิตเจริญขึ้น เขาจึงจะสามารถสละความตระหนี่ บริจาคทรัพย์สินและแรงงานให้กับผู้อื่นได้ หากคนเหล่านั้นยังมีความโลภที่มากอยู่ ความโลภก็จะไม่ปล่อยให้เขาทำทาน ไม่ให้เขาเสียสละ กิเลสกับธรรมะมันจะไปด้วยกันไม่ได้ หนำซ้ำโรงทานเล็กใหญ่ที่แจกกันตามท้องสนามหลวงตามที่ได้พบเห็นนั้น ก็เป็นทานที่ไม่ระบุผู้รับ เป็นทานที่ไม่มุ่งหวังผล ทานที่มีแต่ให้ มีแต่แจก เพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์
ทานที่ให้เพื่อหวังว่าตนนั้นจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือความสุขกลับมา เป็นทานที่มิจฉา ในทางพุทธถือว่าทำไปแล้วเสียของ คือทำดีแล้วเทให้กิเลสหมด ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า “ทำของดีแล้วเทให้หมากิน” หมาในที่นี้คือกิเลส คือทำดีเท่าไหร่ก็เทให้กิเลสหมด หากทานนั้นยังเต็มไปด้วยความโลภ ทำทานด้วยความเห็นผิด ก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ไปได้
ในทางปฏิบัติของพุทธ เมื่อจิตเจริญสูงขึ้นหรือภาวนานั้นมีผลเป็นสัมมา คือถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ รอบของการปฏิบัติจะสูงขึ้นตาม จะให้ทานได้มากขึ้น ละเอียดขึ้น ล้ำลึกขึ้น เช่นเดียวกับการถือศีล ที่สามารถถือศีลที่ปฏิบัติได้ยากได้มากขึ้น ง่ายขึ้น สบายขึ้น และจะเจริญไปเป็นรอบ ๆ เป็นการยกจิตทั้งหมด มิใช่ปฏิบัติธรรมไปแล้วขี้เหนียว ขี้งก หวงความสามารถ หวงความรู้ ศีลไม่มีหรือศีลขาดเป็นประจำ อันนี้แสดงว่าปฏิบัติไปแล้วไม่มีผล ปฏิบัติผิดทางหรือมิจฉามรรค
การที่คนมาเปิดโรงทานให้เห็นนั้น เป็นสิ่งที่แสดงความเจริญของจิตใจ ที่ยินดีสละ ยินดีให้ หวังจะเกื้อกูลให้ผู้รับได้เป็นสุข จากที่ผมสังเกต คนที่มาแจกนั้นถ้าไม่นับรวมกลุ่มกิจกรรมของธุรกิจใหญ่น้อยหรือกลุ่มมูลนิธิต่าง ๆ ก็เป็นชาวบ้านธรรมดา และสำนักปฏิบัติธรรมที่มาแจก ก็เป็นสำนักที่มุ่งไปจน พากันไปจน ไม่ได้มุ่งเน้นสะสมหรือร่ำรวยอะไร เป็นความมหัศจรรย์ ตรงที่ว่า บ้านเมืองเรามีคนรวยยิ่งกว่านี้มากมาย แต่กลับมีแต่คนจนที่มาทำโรงทาน มีคนจนมาแจกของให้คนรวยกิน นี่จึงแสดงให้เห็นว่า การทำทานนั้นไม่ได้จำเป็นต้องรวย แต่จำเป็นต้องมีจิตที่เสียสละแบ่งปัน แม้คนที่เขาไม่มีเงิน เขาก็มาทำทานได้ คือเอาแรงงานเป็นทาน ทำงานฟรีเพื่อคนอื่น มาเป็นจิตอาสา นี่ก็คือความเจริญที่เห็นได้เป็นรูปธรรม
ธรรมะนั้นไม่ใช่สิ่งที่คิดเอาเหมาเอาว่าตนปฏิบัติถูกต้อง แล้วมันจะถูกต้องจริงอย่างที่คิด มันต้องมีตัววัดที่เป็นรูปธรรมอยู่ด้วย เช่น ปฏิบัติธรรมไปแล้ว ทำทานได้หรือไม่ ถือศีลที่ยิ่งกว่าที่เคยถือได้หรือไม่ จิตใจเจริญหลุดพ้นจากความโลภ โกรธ หลงที่เคยมีอยู่เดิมได้หรือไม่
ในส่วนตัวผมเองคิดว่า การให้ทานนี่แหละเป็นเบื้องต้นที่จะวัดผลความเจริญของจิตใจ ว่าเข้าใกล้มรรคผลบ้างหรือยัง ถ้าปฏิบัติธรรมไปแล้ว ยังไม่ยินดีให้ทาน คนอื่นเขาร่วมเปิดโรงบุญโรงทาน พากันทำงานจิตอาสากัน แต่เรากลับไม่ขยับ แม้มีเหตุปัจจัยพร้อมแต่ก็ยังไม่ขยับ เรายังนิ่งเฉยั อันนี้แสดงว่ายังไม่มีปัญญาเห็นประโยชน์ของการให้ทานนั้น จิตยังไม่เจริญไปถึงจุดนั้น คือจุดที่เห็นว่าควรให้ในเวลาที่ควรให้ กลับเห็นว่ายังไม่ควรให้ในเวลาที่ควรให้ ทั้ง ๆ ที่เหตุปัจจัยในปัจจุบันนี้ สถานการณ์นี้ เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการประกาศธรรมะให้โลกรู้ว่า การเสียสละเป็นแบบนี้ ธรรมะยังเจริญอยู่ที่นี่ ยังมีคนที่ให้โดยไม่หวังสิ่งใดอยู่ที่นี่ คือประกาศธรรมให้โลกเห็นว่า ทานที่มีผลในการลดความตระหนี่ นั้นมีอยู่จริง หลักฐานก็คือสามารถสละทรัพย์สิน เวลา แรงงานออกมาทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่นได้
การประกาศนี้ไม่ใช่เพื่อการอวดตัวอวดตน แต่ทำไปเพื่อแสดงธรรมะให้ผู้อื่นเห็นเป็นรูปธรรม ให้เขาได้รับรู้ ให้เขาได้มาสัมผัส (เอหิปัสสิโก) ให้เขาได้ทำใจในใจเข้าถึงสิ่งดี และร่วมกันมาทำสิ่งที่ดีเหล่านั้น เป็นการตามหาญาติ ตามหาลูกหลานพระพุทธเจ้าที่พลัดพรากจากกัน แล้วให้มาเชื่อมต่อกันด้วยธรรมะ ด้วยทาน ด้วยศีล ที่เสมอกัน
ซึ่งมันก็จะเป็นไปตามธรรมอีกเหมือนกัน ถ้าคนที่เจริญถึงขั้นที่เข้าใจว่าการให้ทานเป็นสิ่งที่ดี ที่สมควรทำ เขาก็จะใช้โอกาสนี้ร่วมกันให้ทานในรูปแบบที่เขาพึงกระทำได้ ส่วนคนที่ยังไม่มีปัญญาเข้าใจว่าทานนั้นดีอย่างไร สมควรให้ทานอย่างไร ก็จะไม่ร่วมกันทำสิ่งใด ๆ เลย จึงเกิดสภาพเหมือน “น้ำไหลไปหาน้ำ น้ำมันไหลไปหาน้ำมัน” คนดีจะเข้าไปรวมกับคนดี ส่วนคนที่ยังไม่ดีก็รวมกับคนที่ไม่ดีเหมือน ๆ กัน
อาจจะมีคนสงสัยว่าถ้าคนปล่อยวางล่ะ จะเรียกว่าอย่างไร? คำตอบคือ แม้พระพุทธเจ้าท่านยังไม่ชื่นชมคนที่หยุดหรือพอใจอยู่แค่ความดี (กุศลกรรม) เท่าที่ตัวเองทำ ยิ่งถ้าพวกเสื่อมจากความดียิ่งไม่ต้องพูดถึง ท่านชื่นชมก็แต่ผู้ที่เจริญในความดี คือทำดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้น ให้ทานก็ให้ทานได้มากขึ้น มีศีลก็มากขึ้น ส่วนกิเลส คือความโลภ โกรธ หลงนี่ต้องขัดเกลามันออกไปให้ได้ยิ่งขึ้น
และตามโอวาทปาฏิโมกข์ มีระบุไว้ชัดว่าให้ทำกุศลให้ถึงพร้อม ชี้ชัดด้วยตัวชี้วัดคืออริยะสาวกอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ยังให้ทานเป็นประจำ เมื่ออ้างอิงหลักฐานดังนี้ คนที่ไม่สนใจใยดี ไม่ยินดีในทำความดีของตนเองและผู้อื่น ในโอกาสแห่งการทำทานอันยิ่งใหญ่นี้ ก็อาจจะไม่ใช่ผู้บรรลุธรรมก็ได้ อาจจะเป็นเพียงผู้ที่โง่เขลาเบาปัญญาที่ไม่รู้ว่าการให้ทานในโอกาสพิเศษเช่นนี้มีผลอย่างไร เหมือนกับหมาตัวหนึ่งที่เดินไปเดินมาข้างสนามหลวง มันไม่รู้ว่าคนเขาทำอะไรกัน มันก็หากินไปวันวัน ตามเวรตามกรรมของมัน
1.12.2559
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
คำว่าปล่อยวางนั้นมักจะเป็นคำที่นิยมใช้เมื่อชีวิตเจอกับอุปสรรคที่เป็นดั่งกำแพง ไม่สามารถทำอะไรได้ ทำได้แค่ปล่อยวางเท่านั้น การปล่อยวางตามความเข้าใจเช่นนี้เป็นสมมุติที่ใช้กันโดยทั่วไปในสังคม แต่สำหรับการปฏิบัติธรรมนั้นยังมีมิติหนึ่งที่ล้ำลึกกว่า
การปล่อยวางในทางธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้ชีวิตไปเจอกับปัญหาและอุปสรรค แต่เป็นการปล่อยวางกิเลสตัณหาตั้งแต่ปัญหาเหล่านั้นยังไม่มาถึงโดยใช้ศีลเป็นเครื่องกั้นให้เห็นอุปสรรค แล้วปฏิบัติไตรสิกขาเพื่อที่จะปล่อยวางปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อถือศีล
การที่เราจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงนั้น เราต้องรู้ก่อนว่าเรายึดมั่นถือมั่นในอะไร ถ้าไม่รู้ว่าตนเองถืออะไรไว้ ก็จะไม่สามารถปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะกิเลสนั้นเป็นเหมือนยางเหนียวติดแน่นไปกับจิตใจเรา มองดูเผินๆก็จะเป็นเหมือนตัวเราของเรา เหมือนเปลือกที่ห่อหุ้มเรา แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เรา
ถ้าเราไม่รู้ว่ายึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ การปล่อยวางนั้นก็คงจะเป็นได้แค่ วาทกรรมที่ดูดีเท่านั้น เพราะกิเลสตัวเองยังไม่มีปัญญาเห็นแล้วจะเอาปัญญาที่ไหนไปปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น
ดังนั้นถ้าจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริง อันดับแรกต้องรู้ไปถึงเหตุก่อนว่าถืออะไรไว้ ไอ้ที่ไปหลงสุขหลงเสพมันไปหลงตรงไหน ติดอะไร เพราะอะไร สุขยังไง เมื่อเห็นเหตุแล้วก็ค่อยทำความจริงให้แจ่มแจ้งท่ามกลางความลวงของกิเลส ให้มันพ้นสงสัยกันไปเลยว่าที่เราไปหลงสุขอยู่นั้นมันลวง ความจริงคือมันไม่มีสุขเลย
เมื่อเห็นจริงได้ดังนั้น สุดท้ายเราก็จะปล่อยจะคลายได้ด้วยปัญญาของตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าจะเอาความฉลาดของกิเลสที่ไหนไปยึดสุขลวงเหล่านั้นไว้อีก กลายเป็นสภาพปล่อยวางเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นในกิเลสนั้น เป็นการปล่อยวางอย่างพุทธ ไม่ใช่การปล่อยวางที่ปากแต่ยังหนักใจแบบที่ประพฤติและปฏิบัติกันโดยทั่วไป
– – – – – – – – – – – – – – –
17.12.2558
การวางเฉย
“การวางเฉย” บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่สมควรเสมอไป เพราะการวางเฉยนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย เช่นวางเฉยเพราะไม่อยากเสียลาภ ยศ สรรเสริญ เพราะการติหรือชมอะไรบางอย่างก็อาจจะทำให้เสียโลกธรรมเหล่านั้น
หรือวางเฉยเพราะโง่ ไม่รู้ว่าเรื่องใดควรติ เรื่องใดควรชม เลยทั้งไม่ชมไม่ติ อยู่เฉยๆดีกว่า พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง อะไรแบบนี้
หรือวางเฉยเพราะมีความเห็นผิด มีความเข้าใจว่าศาสนาพุทธต้องมีความเป็นกลางไม่เข้าข้างใคร ทำตัวเฉยๆดีที่สุด (มิจฉาทิฏฐิ)
การติและการชม
พระพุทธเจ้าตรัสแสดงบุคคล ๔ จำพวกคือ
๑. บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่กล่าวชมผู้ที่ควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
๒. บุคคลผู้กล่าวชมผู้ที่สมควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่กล่าวติเตียนผู้ที่ควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
๓. บุคคลผู้ไม่กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม และไม่กล่าวชมผู้ที่ควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
๔. บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม และกล่าวชมผู้ที่สมควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
โปตลิยะปริพาชก ได้ยินก็ทูลว่า ตนชอบใจ บุคคลประเภทที่ ๓ (ไม่ติในสิ่งที่ควรติ ไม่ชมในสิ่งที่ควรชม) เพราะเข้าใจว่าเป็นการปล่อยวาง,วางเฉย (อุเบกขา)
พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ชอบบุคคลประเภทที่ ๔ (ติในสิ่งที่ควรติ ชมในสิ่งที่ควรชม) เพราะมีความประณีตกว่า งามกว่า เพราะรู้กาลเทศะในการติและชม ปริพาชกได้ยินดังนั้นก็ทำความเห็นตามพระพุทธเจ้า กล่าวชมเชยพระพุทธเจ้าว่า “เหมือนหงายของที่คว่ำ, เปิดของที่ปิด, บอกทางแก่คนหลงทาง, เหมือนจุดไฟในที่มืด” และปฏิญาณตนว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ “โปตลิยสูตร ข้อ ๑๐๐)