Tag: นรกคนดี
ลดเนื้อกินผัก ไม่จำเป็นต้องรังเกียจเนื้อสัตว์
ลดเนื้อกินผัก ไม่จำเป็นต้องรังเกียจเนื้อสัตว์
แม้ว่าการที่เราจะหันมาลดเนื้อกินผักจนถึงขั้นเลิกกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้นั้น จำเป็นจะต้องใช้ความดี ความยึดดี หรือความติดดีเข้ามาช่วยเป็นกำลัง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่จำเป็นต้องยึดมั่นถือมั่นความดีเหล่านั้นไว้จนกลายเป็นเหตุแห่งทุกข์
ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการลดเนื้อกินผักได้ มักจะมาติดกับดักตรงที่กลายเป็นคนรังเกียจเนื้อสัตว์ รังเกียจคนกินเนื้อสัตว์ รังเกียจคนขายเนื้อสัตว์ รังเกียจสังคมกินเนื้อสัตว์ รังเกียจจนเกิดความทุกข์ กระทั่งหลีกหนีจากทุกข์นั้นโดยการออกจากหมู่กลุ่มหรือสังคมนั้นไป
อาการรังเกียจนี้คือสิ่งที่ไม่จำเป็น เป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองพลังงาน เป็นสิ่งที่ยังเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่ ถ้าให้เทียบกับคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ พวกเขานั้นยัง “ติดชั่ว” อยู่ และคนที่ลดเนื้อกินผักที่รังเกียจคนกินเนื้อสัตว์ก็จะเรียกได้ว่า “คนติดดี”
ในสังคมที่มีความเห็นต่างจนต้องทะเลาะเบาะแว้งกันนั้นก็เพราะมีคนติดดีและคนติดชั่วอยู่ด้วยกัน คนติดชั่วก็คิดว่าชั่วของตนถูก คนติดดีก็ยึดมั่นถือมั่นว่าของตนถูกชั่วนั้นผิด เมื่อคนดีถือดีไม่ยอมวางดีมันก็เลยต้องเกิดสงครามเรื่อยไป ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมสงครามก็มีแต่คนชั่วทั้งนั้น ไม่ว่าจะลดเนื้อกินผักได้หรือยังกินเนื้อสัตว์อยู่แต่ถ้ายังทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ก็ไม่ดีอยู่ดี
ผู้ที่ลดเนื้อกินผักได้แต่ยังมีอาการรังเกียจ ถือดีจนต้องแสดงความเห็น กดดัน สั่งสอน ยกตนข่มผู้อื่น ไม่ยอมลดอัตตาทะเลาะเบาะแว้งกันคนอื่นอยู่ ก็ยังเรียกว่าดีแท้ไม่ได้ ความติดดีนี้เองคือนรกของคนดีที่วางดีไม่เป็น จึงต้องทำทุกข์ทับถมตัวเองด้วยความดีที่ตนยึดมั่นถือมั่น
เราสามารถสงสารสัตว์ เมตตาสัตว์ ไม่ยินดีกับการกินเนื้อสัตว์ ไม่เห็นด้วยกับการเบียดเบียน แต่เราไม่จำเป็นต้องมีอาการรังเกียจ เพราะเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่น
– – – – – – – – – – – – – – –
1.4.2558
มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม
มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม
รูปธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย เป็นภาพที่เห็นได้ เป็นอาการที่เห็นได้ เป็นความรู้สึกนึกคิดที่รับรู้ได้ การปฏิบัติใดๆที่ทำให้เกิดผลทางรูปธรรมนั้นทำได้ไม่ยากนัก แต่หากเป็นเรื่องของนามธรรมแล้ว…ใครเล่าจะเข้าใจ
ในบทความนี้จะชี้ให้ชัดถึงความแตกต่างของการกินมังสวิรัติกับการล้างกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เหตุที่จำเป็นต้องชี้ให้ชัดก็เพื่อคลายสงสัยให้กับผู้ที่ต้องการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อการลดละกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัติ
ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะข่มวิธีการที่จะพาเข้าสู่การกินมังสวิรัติโดยทั่วไป แต่เพราะเห็นโทษภัยที่ยังแอบซ่อนอยู่ ยังเห็นว่ามีกิเลสอยู่ จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์หากได้นำเสนอปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ไว้ใต้ภาพที่สวยงาม ซึ่งก็ไม่ได้จำเป็นว่าใครจะต้องเห็นตามด้วย ใครยินดีจะลดละเลิกในขีดใดที่ตัวเองทำไหวก็ได้ ได้แค่ไหนก็ขอให้ทำต่อไป การละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งแล้วในกึ่งพุทธกาลเช่นนี้
1). มังสวิรัติรูปธรรม
คำว่ารูปธรรมคือสิ่งที่เห็นได้รับรู้ได้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ในกรณีของมังสวิรัติคือการกินมังสวิรัติให้ได้สมบูรณ์นั่นเอง เพราะโดยความเข้าใจของคนทั่วไปแล้วมักจะหลงใน “รูป” จึงยึดถือและเอารูปเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติ
นั่นคือการยึดมังสวิรัติที่เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติ ยึดสิ่งที่มองเห็นได้เช่น ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินส่วนผสมจากสัตว์ ไม่กินสิ่งปรุงแต่งจากสัตว์ ไม่ว่าจะซอส น้ำซุป น้ำปลา น้ำมันหอย ผงปรุงรส หรืออะไรที่เกี่ยวกับซากสัตว์ คนที่ยึดมั่นถือมั่นในรูปธรรมก็จะไม่ยินดีในการที่จะมีส่วนผสมเหล่านั้นร่วมอยู่เลย
เพราะเขาเหล่านั้นยึดว่าความสมบูรณ์ของมังสวิรัติคือรูปธรรมที่สมบูรณ์ หมายถึงการละเว้นทุกอย่างที่เป็นรูปของเนื้อสัตว์หรือผลผลิตจากสัตว์ อันเป็นเหตุแห่งความเบียดเบียน
แน่นอนว่าแนวความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยึดถือและปฏิบัติกันโดยทั่วไปในหมู่นักมังสวิรัติทั่วโลก เป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะยึดสิ่งที่มองเห็นเป็นเครื่องอาศัย เพราะเข้าใจได้ง่าย วัดผลได้ง่าย กำหนดเป็นมาตรฐานได้ง่ายว่าขั้นนี้ ขั้นนั้นโดยใช้รูปธรรมเป็นตัววัด
2). ภัยของมังสวิรัติรูปธรรม
และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะใช้ “รูป” เหล่านั้นเป็นตัววัดคุณค่าของการกระทำ เพราะเราสามารถมองเห็นได้ เข้าใจได้ ความเห็นความเข้าใจนี้เองเป็นความประมาทอย่างยิ่งยวด เพราะรูปธรรมเป็นแค่ผลจากนามธรรมบางส่วนที่สะท้อนออกมา และไม่ได้หมายความว่าการมีรูปที่สวย การที่สามารถกินมังสวิรัติได้ 100% มาเป็นสิบยี่สิบปีจะมีนามธรรมที่สวยไปด้วย ใครเล่าจะรู้เรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเรื่องลึกซึ้ง ซับซ้อน ละเอียดลออ
เราสามารถทำให้ “รูป” ของเราสวยได้นานตราบเท่าที่เรายังหลงเสพหลงยึดมันอยู่ เหมือนกับดาราที่ไม่เคยยอมแก่ ไม่ยอมโทรมก็จะยังเสริมแต่งรูปของตนให้ดูงดงามเสมอ นักมังสวิรัติที่เน้นรูปแบบก็เช่นกันตราบใดที่เขายังเสพความดี ยังเสพสุขจากการทำสิ่งดีเขาก็จะพยายามทำให้รูปของการกินมังสวิรัติของเขาสวยขึ้นเรื่อยๆ และคงสภาพไปนานตามอัตตาที่มี
กิเลสในด้านร้ายคือการกินเนื้อสัตว์นั้น เราสามารถใช้ความดีกดข่มมันลงไปได้ไม่ยากนัก เราไม่จำเป็นต้องศึกษาธรรมะหรือหาข้อมูลสุขภาพอะไรให้มากมาย แค่มีจิตใจเมตตาก็สามารถรู้สึกผิดและสร้างความดีขึ้นมากดข่มความชั่วคือการกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว
แต่กิเลสในด้านยึดดี หรืออัตตานี้เองเป็นสิ่งที่ยากจะกำจัด เพราะในเมื่อเราติดอยู่ในการยึดดี เราจะเอาอะไรมากำจัดความยึดดีนั้น? เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่าจะเอาความชั่วมากำจัดเพราะมันไม่ได้ง่ายเหมือนกับการคำนวณที่เอา 1+1 แล้วหารสองจึงจะเป็นความพอดี
เมื่อเราสร้างรูปธรรมจนสวยงามแล้วมีความยึดดีในรูปเหล่านั้น การจะออกด้วยความดีในโลกนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเก่งกาจฉลาดเมตตาเพียงใดก็ไม่สามารถออกจากความยึดดีเหล่านี้ได้ คนที่ติดอยู่ในรูปธรรมของมังสวิรัติก็จะตกอยู่ในนรกคนดี มีความทุกข์ร้อนจากการทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ทำร้ายตัวเองด้วยอัตตาอยู่เสมอ แม้จะไม่ยินดีในการกินเนื้อสัตว์แต่มักจะมีอาการยินร้ายเมื่อต้องอยู่ร่วมกับเมนูเนื้อสัตว์หรือคนกินเนื้อสัตว์ ต้องประสบกับความหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไปอีกนานแสนนาน
3). การออกจากความยึดติดในรูปธรรม
การจะออกจากความยึดดี ถือดี หรือความหลงในรูปธรรมนั้น ไม่มีความรู้ใดในโลกที่จะสามารถทำให้ผ่านไปได้นอกจากความรู้ของพระพุทธเจ้า
การที่เรายังวนอยู่ในความดี จนเกิดการยึดในสิ่งดีเหล่านั้น แม้จะดีแสนดีเพียงใด แม้จะกินมังสวิรัติตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเพียงคนที่วนเวียนอยู่ในโลกคนหนึ่ง เป็นวิถีทางทำดีแบบโลกๆทางหนึ่ง ยังเป็นความดีแบบที่โลกเขาทำกันโดยทั่วไปอยู่ ไม่ต้องมีศาสนา ไม่ต้องมีศาสดาก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความดีในระดับศาสดาเอกใดๆในโลกก็สามารถกินมังสวิรัติได้
เพราะการกินมังสวิรัติโดยทั่วไปนั้นเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในระดับสัญชาตญาณเท่านั้น คือเราเห็นเขาฆ่าสัตว์แล้วเราก็สงสารสัตว์นี่ก็เป็นจิตใจเมตตาธรรมดาของคนที่มีจิตใจดีงามทั่วไป ซึ่งแม้แต่คนที่คิดไม่ดีมิจฉาทิฏฐิก็สามารถมากินมังสวิรัติได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นพระเทวทัตที่เคยมาทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามมิให้สาวกกินเนื้อสัตว์เลย (วัตถุ ๕ ,สังฆเภทขันธกะ) การที่พระเทวทัตทูลขอแบบนั้นได้แสดงว่าตัวเองต้องกินเนื้อสัตว์เป็นปกติอยู่แล้ว และนั่นคือคนที่ชั่วที่สุดในจักรวาล ชั่วสุดชั่วที่แม้แต่มหาบุรุษที่ประเสริฐที่สุดในจักรวาลก็ยังสามารถคิดจะฆ่าได้ เขาก็ยังไม่กินเนื้อสัตว์เช่นกัน
ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยยึด “รูปธรรม” เป็นหลักปฏิบัตินั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนดี จิตใจสูง ผ่องใส หรือบรรลุธรรมใดๆแต่อย่างใด เพราะรูปธรรมสามารถเกิดได้จากหลายเหตุและปัจจัย ซึ่งอาจจะมีกิเลสใดๆซ้อนอยู่ก็เป็นได้ เช่นอัตตาเป็นต้น
การจะออกจากความยึดในรูปหรือการจะสามารถมองเห็นความยึดในรูปธรรมเป็นกิเลสได้ ต้องใช้ธรรมะที่มากกว่าธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่อยู่ในโลก ไม่ไปกับโลก ต้องเป็นธรรมะที่เหนือโลก หลุดจากโลก พ้นจากโลก สวนกระแสโลก หรือโลกุตระธรรม
4). มังสวิรัตินามธรรม
การเริ่มต้นของมังสวิรัตินามธรรมจากแตกต่างออกไปจากมังสวิรัติรูปธรรม เพราะการปฏิบัตินามธรรม หรือที่เรียกสั้นๆว่า “นาม” หรือจะระบุให้ตรงประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” การปฏิบัตินี้จะไม่ได้เริ่มต้นที่ “รูป” แต่จะเริ่มที่ “นาม”
รูปนั้นคือสิ่งที่ถูกรู้ คือสิ่งที่เห็น แต่นามนั้นต่างออกไป มันมองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเพียงพลังงานที่มีอยู่ รับรู้ได้ว่ามีอยู่ผ่านการกำหนดรู้ในรูป ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น “เรายังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ และยังมีเมนูเนื้อสัตว์ที่ชอบ วันหนึ่งเราได้เงินโบนัส จึงอยากจะใช้เงินนั้นสนองตัณหาตัวเอง จึงได้เกิดความคิดว่า ไปกินเนื้อย่างบุฟเฟต์ร้านนั้นดีกว่า เขาว่าเนื้อนุ่ม ชุ่มมัน หอม หวาน อร่อย”
จากตัวอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรา“คิด” ว่าถ้าได้กินเนื้อย่างเราจะมีความสุข เรา“พูด”กับตัวเองในใจว่าเราจะไปกินเนื้อย่าง เราพาร่างกายตัวเองไป “กิน” เนื้อย่าง สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “รูป” และรูปทั้งหมดนี้เกิดจาก “นาม” คือพลังงานของความอยากที่เป็นตัวผลักดันเรา ให้เราคิด พูด ทำ เพื่อสนองกิเลส
ความอยากเหล่านี้มองไม่เห็น ทำได้เพียงรับรู้ผ่านรูปที่เกิดขึ้นมา ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยเริ่มต้นที่นามธรรมจึงเป็นเรื่องที่ยากสุดยาก เพราะแทบจะกลับหัวกลับหางกับรูปธรรม แต่ผลที่เราจะได้รับนั้น มั่นคง ยั่งยืน และสุขยิ่งกว่าแน่นอน
5). การปฏิบัติของมังสวิรัตินามธรรม
ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า นามธรรมของเรื่องนี้ก็คือความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นความติดอยู่กับกิเลสในหมวดของกามคุณ๕ เป็นส่วนใหญ่
การปฏิบัติในทางนามธรรมนั้นจะต้องชัดเจนลงไปเลยว่า เราจะปฏิบัติกันที่ความอยาก ทำลายความอยาก เพราะรู้ผลแน่ชัดแล้วว่าถ้าทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้สิ้นเกลี้ยงทั้งหมด ก็จะไม่เกิด “รูป” คือการไปกินเนื้อสัตว์อีก เพราะไม่มีความอยากเลยไม่ต้องลำบากไปกิน
เทียบให้เห็นภาพแบบโลกๆก็เหมือนกับคนที่ไม่มีความอยากทำงานมันก็จะเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า ไม่สดใส การจะไปกินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีความอยากกินมันก็จะไม่ไปกินเท่านั้นเองแต่จะต่างกันคือคนที่ไม่มีความอยากในแบบเหนือโลกจะไม่ขุ่นมัว ไม่เชื่องช้า สดใส จิตควรแก่งานอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเหล่านี้เป็นผลมาจากการปฏิบัติทางนามธรรมซึ่งหาตัวอย่างมายกให้เห็นได้ยาก
คำว่า “ไม่มีความอยาก” นั้นไม่เหมือนกับคำว่า “ไม่อยาก”เพราะคำว่าไม่อยากนั้นยังมีอาการผลักไสอยู่ ยังรังเกียจอยู่ ยังมีการเกิดของอัตตาอยู่ แต่การไม่มีความอยากนั้นต่างออกไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่อยาก แต่ทั้งความอยากและความไม่อยากมันไม่มีเหลือ เนื้อสัตว์จึงกลายเป็นเหมือนกับอากาศสำหรับคนที่ปฏิบัติทางนามธรรม มันมีอยู่แต่เหมือนมันไม่มีอยู่ เนื้อสัตว์นั้นไม่ได้ทำให้เกิดทุกข์หรือสุขใดๆในใจอีกต่อไป
เมื่อเข้าใจความต่างของผลแล้วจึงจะสามารถเริ่มปฏิบัติในทางนามธรรมได้ เพราะหากยังแยกนามธรรมกับรูปธรรมไม่ออก ต่อให้มีทฤษฏีอีกกี่บท ขนพระไตรปิฏกมาเปิดอ้างอิงกันแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะยังแยกสิ่งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับปัญหาจริงๆที่ทำให้เกิดไม่ออก
การปฏิบัตินั้นไม่มีขั้นตอนที่เข้าใจยากนัก เพียงแค่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติไตรสิกขาจนสามารถทำลายกิเลสสามภพก็สามารถดับนามธรรมได้แล้ว ขั้นตอนมันก็มีแค่นี้ มันย่อได้เหลือเท่านี้ แค่สองบรรทัดก็สามารถบอกทางเดินและผลได้แล้ว แต่การปฏิบัติจริงต้องใช้เวลาไม่รู้กี่ร้อยปี หรือกี่ล้านล้านล้านชาติ ไม่รู้จะต้องเกิดอีกสักกี่ครั้งถึงจะรู้ กว่าจะเข้าใจ กว่าจะปฏิบัติ กว่าจะเห็นผล นานแสนนานเลยทีเดียวนี่ยังต้องเสียเวลากับการไปติดรูปธรรมอีกนะ ไปหลงรูป ไปเข้าใจว่ารูปนั้นเป็นที่สุดของการปฏิบัติ ก็เนิ่นช้าเข้าไปอีก
6). สมดุลรูปนาม
การปฏิบัติทางรูปธรรม แม้จะเป็นมังสวิรัติ 100% ละเว้นเนื้อสัตว์สมบูรณ์แบบผู้คนต่างยกย่องสรรเสริญ แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะสามารถมังสวิรัติ 100% ได้ทางนามธรรม จะมั่นใจได้อย่างไรในเมื่อยังมีความอยากและไม่อยากอยู่ การที่ตัณหายังไม่ดับ นั่นหมายถึงชาติยังไม่ดับ ภพยังไม่ดับ การวนเวียนกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็จะต้องดำเนินสลับสับเปลี่ยนกันต่อไปตามกิเลสที่ผกผัน แปรเปลี่ยนทิศทางการมีอัตตายึดในสิ่งที่ต่างกันออกไป ตามความเห็นความเข้าใจ
เพราะเมื่อนามยังไม่ดับ ก็จะยังมีเชื้อของกิเลสที่จะสะสมพลังงานกิเลสให้มากขึ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่งพลังกิเลสที่สะสมมาก็จะส่งผลให้เกิดรูป คือการกลับไปกินเนื้อสัตว์อีก แม้ว่าจะหลงรูปธรรมกดข่มความชั่วไว้ได้ในชาตินี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติหน้าจะข่มได้ ไม่มีใครรู้ว่าเราจะไปเกิดในยุคไหนสมัยไหน หากเรายังยึดติดในรูป เราก็จะไปหลงดีในรูปของยุคสมัยนั้น และถ้าเกิดยุคนั้นไม่มีรูปดีๆให้ยึดมั่นถือมั่นเลย มันก็ไปยึดรูปเลวๆเท่านั้นเอง
แต่นามธรรมจะต่างออกไป เพราะนามดับจึงไม่เกิดรูป คือเมื่อดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยง ไม่มีความอยากเหลือก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่เราไปหลงติดหลงยึดเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ภพกี่ชาติก็จะไม่มีวันหลงมัวเมาไปในเนื้อสัตว์ ถึงจะติดก็ติดตามโลก แต่ถ้าคิดจะออกก็ออกได้ทันที เพราะจริงๆมันไม่มีนามนั้นอยู่แล้ว ไม่มีเชื้อกิเลสนั้นเหลืออยู่แล้ว ถึงแม้มีกิเลสใหม่เข้ามามันก็จะไม่มีอะไรให้ยึดเกาะ ก็เกาะได้แค่ผิว ได้แค่เปลือก ไม่เข้าไปถึงจิตใจ ไม่เข้าไปยึดในจิตใจ
ไม่เหมือนกับการปฏิบัติที่รูปธรรม เพราะนามคือความอยากกินเนื้อสัตว์ยังอยู่ ทีนี้พอกิเลสใหม่วิ่งเข้ามาก็จะเข้าไปสะสมรวมกับของเก่าทันที ส่งผลให้กลายเป็นสภาพที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง
ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเลยว่าถ้าเราปฏิบัติที่นามธรรมแล้วจะเกิดปัญหาเหล่านั้น เพราะการดับทุกข์นั้นต้องดับที่เหตุ เหตุของการกินเนื้อสัตว์นั้นคือความอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปเบียดเบียนชีวิตอื่น และเหตุของความอยากกินนั้นก็เกิดจากการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อดับเหตุแห่งอุปาทานเหล่านี้ได้ก็จบภารกิจ
ผู้มีนามธรรมที่ปราศจากกิเลสจึงมีสมดุลของรูปนาม นามไม่มี รูปไม่เกิด และมีความยืดหยุ่นในรูปสูงกว่าผู้ที่กินมังสวิรัติในทางรูปธรรม เพราะหากเราเน้นเพียงรูปธรรม ก็จะมีความแข็ง ตึง เครียด กฎ การยึดมั่นถือมั่น เพราะสิ่งเหล่าเป็นสิ่งที่สามารถสนองให้เสพสมใจในรูปธรรมได้หรือที่เรียกว่า “อัตตา” นั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
8.1.2558
วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ
วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ
วิธีการที่จะนำมาเสนอต่อไปนี้ เป็นการสรุปย่อเพื่อให้เข้าใจหลักปฏิบัติโดยรวมได้ง่าย พยายามที่จะใช้ศัพท์เฉพาะให้น้อยเพื่อการเข้าถึงที่ง่าย หากมีโอกาสในวันใดวันหนึ่งคงได้พิมพ์ฉบับละเอียดออกมา ซึ่งจะร้อยเรียงข้อธรรมะเข้ากับการปฏิบัติให้เห็นถึงความสอดคล้องของสภาวธรรมที่เจริญไปพร้อมกับการปฏิบัติ แต่ในบทความนี้ คงพิมพ์ไว้ให้เป็นแนวทางไปก่อน
1). บทนำ
การลดเนื้อกินผัก กินอาหารมังสวิรัติ กินเจ ใครหลายคนก็มักจะมองไปในเรื่องของเมตตา หรือการไม่เบียดเบียนเป็นหลัก แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้นเราสามารถใช้มังสวิรัติเป็นการปฏิบัติธรรมได้อย่างดีเยี่ยม
การปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธนั้น เป็นการปฏิบัติที่ใจ เป็นการขัดเกลาจิตใจ ขัดเกลากิเลส พัฒนาใจให้สูงขึ้น แต่การจะพัฒนาใจให้สูงขึ้นนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ไปนั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือทำสมถะเท่านั้น แต่จำเป็นต้องวิปัสสนา เพื่อให้เกิดผลเจริญขึ้นในจิตใจด้วย
ถ้าจะกล่าวถึงมังสวิรัติหลายคนคงเบือนหน้าหนี มีหลายล้านเหตุผลที่เราจะไม่กินมังสวิรัติ และมีอีกหลายล้านเหตุผลที่จะทำให้เรากลับไปกินเนื้อสัตว์ เหตุผลเหล่านั้นมาจากกิเลสของเรา แต่แท้จริงกิเลสนั้นไม่ใช่เรา เราจะมาเริ่มปฏิบัติการจับผี ล่าผี ล้างป่าช้า ฆ่ากิเลสกันง่ายๆ ใน 3 ขั้นตอน คือ เตรียมตัว ระวัง ไป!
2). เตรียมตัว! ตั้งศีล
การจะลดกิเลสไม่ได้มีความยากในเรื่องของกระบวนการ แต่จะยากในเรื่องของการปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติสู้กับกิเลสตัวเอง สู้กับความอยากของตัวเอง ใช้พลังของตัวเองในการฝ่าฟันกิเลสเหล่านั้น
การเริ่มต้น เราจะเริ่มจากการตั้งศีล ศีล คือข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อความปกติสุข เพื่อความเจริญ ศีลที่เราจะตั้ง หรือให้ตนเองถือว่าก็คือ “กินมังสวิรัติ” เราจะไม่กำหนดเวลา ไม่กำหนดกรอบ เราแค่ลดเนื้อกินผัก ลดเนื้อเท่ากับศูนย์ กินแต่ผัก
การตั้งศีลนี้เราควรตั้งหรือถือไว้ด้วยปัญญา ไม่ควรเชื่อหากใครบอกว่าศีลนี้ดี ในขั้นตอนนี้เราควรจะหาความรู้ว่าทำไมจึงต้องกินมังสวิรัติ กินมังสวิรัติแล้วดีอย่างไร การกินเนื้อเบียดเบียนอย่างไร จงใช้เวลาหาความรู้จนมั่นใจว่าตัวเองยินดีที่จะตั้งศีลนี้ เพราะความยินดีในประโยชน์ในการออกจากทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย เป็นด่านแรกของปัญญา ซึ่งคนไม่มีปัญญาก็จะไม่สามารถตั้งศีลนี้ได้ เพราะไม่สามารถมองทะลุถึงประโยชน์แท้ในการมีศีล ถึงจะถือศีลก็ถือตามคนอื่นเขา ถือแบบเหยาะแหยะ ถือแบบลูบๆคลำๆถือเอาไว้อวดบารมี ถือไว้เฉยๆ ทำอะไรกับมันไม่ได้ ไม่รู้ว่ามันทำอะไรได้ เหมือนคนป่าถือสมาร์ทโฟน
ข้อดีของศีลมังสวิรัติคือเราจะได้สู้กับกิเลสทุกวัน วันละหลายครั้งตามมื้ออาหารที่เรากิน เป็นการปฏิบัติธรรมที่สามารถทำได้ง่าย ทำได้ทุกวัน ไม่ต้องเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน ไม่ต้องรอไปวัด ไม่ต้องใช้เวลาสวดมนต์ เพียงแค่แทนที่อาหารมื้อเดิมด้วยอาหารมังสวิรัติเท่านั้นเอง ถือว่าเป็นการเริ่มต้นการปฏิบัติธรรมที่ง่าย สะดวกที่สุด และเหมาะกับทุกคน ทุกสังคม ทุกชนชั้น
อาจจะมีบางคนงงเกี่ยวกับ “ศีลมังสวิรัติ” การกินมังสวิรัติเป็นศีลได้อย่างไร? มังสวิรัติคือส่วนหนึ่งของศีลข้อ ๑ คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ในระดับของอธิศีล คือ ยากกว่าการไม่เบียดเบียนทั่วไป เป็นขั้นกว่าของศีลข้อ๑ แบบปกติ นั่นคือ นอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้ว เรายังต้องมีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาต่อสัตว์และเพื่อนมนุษย์อื่นๆด้วย( ดูส่วนขยายได้ในจุลศีลข้อ ๑)
3). ระวัง! ข้อควรระวังในการถือศีล
การถือศีลของเรานั้นไม่ใช่การถือเพื่อทำเล่นๆ แต่เป็นการถืออย่างจริงจัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตั้งศีลกินมังสวิรัติตลอดชีวิตได้ตั้งแต่แรก อาจจะตั้งเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ หรือเดือนละ 2 สัปดาห์ก่อนแล้วค่อยตั้งอธิศีล คือเพิ่มศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน 1 ปี จนกระทั่งมั่นใจว่าทำศีลนี้ได้ดีจึงตั้งศีลว่า “มังสวิรัติตลอดชีวิต”
เราควรประมาณการตั้งศีลของตัวเองให้เหมาะกับพลังของตัวเอง ถ้ามันตึงจนเครียดทรมานจิตใจตัวเองเกินไปก็ให้ผ่อนลงมา เก่งแล้วค่อยขยับขึ้นไปใหม่ หรือใครที่รู้สึกว่าตัวเองทำศีลได้ดีก็อย่าไปแช่อยู่นานให้ตั้งอธิศีลขึ้นไปอีก ถ้ากินมังสวิรัติได้ดี ก็ให้ขยับไปทำศีลอื่นๆเช่น การกินจืด การกินมื้อเดียว การลดชนิดและความหลากหลายของอาหาร เป็นต้น
การปฏิบัติศีลต้องรับรู้ได้ด้วยตัวเองว่ากิเลสหรือความอยากเสพของตนเองนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เพิ่มขึ้นหรือลดลง มากน้อยเท่าไหร่ ถ้ายังไม่สามารถรู้ถึงกิเลสของตัวเองได้แสดงว่าอาจจะปฏิบัติมาผิดทางหรือความเข้าใจยังคลาดเคลื่อน
4). ไป! ลุยกันเลย ลงมือปฏิบัติ
หลังจากที่เราตั้งศีล ถือศีล ยึดศีลนี้เพื่ออาศัยไปสู่ความเจริญแล้ว เราก็จะดำเนินชีวิตประจำวันไปตามปกติ เราจะไปเจอกับอาหารในแต่ละมื้อ ที่เราจะต้องใช้สมาธิที่มากกว่าเดิมในการกดข่มความอยาก และปัญญาที่มากกว่าเดิมในการที่จะหาทางออกเพื่อที่จะได้กินอาหารมังสวิรัติรวมถึงปัญญาที่จะใช้ฆ่ากิเลสด้วย จะลองจำลองสถานการณ์พอเห็นภาพดังนี้
มื้อเช้า…. เราออกไปทำงานพบกับแผงขายเจอหมูปิ้งหน้าปากซอย เราเคยกินหมูปิ้งกับข้าวเหนียวและชอบมากแค่เห็นยังน้ำลายไหล แต่เราอดทนข่มใจ พิจารณาเข้าไปว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดีอย่างไร ว่าแล้วเราก็เดินเข้าร้านหมูปิ้ง ดิ่งตรงเข้าไปสั่งข้าวเหนียวสองห่อ เพื่อกินให้อิ่ม ให้ผ่านๆไปหนึ่งมื้อ
ภาพช้า… ในขณะที่เราเดินเข้าไป สายตาจะจับจ้องที่หมูปิ้ง กลิ่นควันหอมลอยแตะจมูก ใจก็คิดจะสั่ง ปากก็อยากจะบอก มือก็อยากจะเอื้อมไปคว้าหมูปิ้ง แต่ด้วยพลังการกดข่มที่เราฝึกไว้บ้าง ทำให้เราพอจะผ่านไปได้
มื้อเที่ยง…. วันนี้มีลูกค้าพาไปเลี้ยงบุฟเฟต์นานาชาติ ด้วยความเกรงใจจึงไปด้วย เห็นอาหารละลานตา ไอ้นั่นก็อยากกิน ไอ้นี่ก็อยากกิน สายตาผ่านไปเจอเมนูกุ้งเผาสุดโปรด น้ำลายไหลโดยยังไม่ทันรู้ตัว ว่าแล้วก็เดินตรงดิ่งเข้าไปจะสั่งกุ้งเผา บังเอิญว่าเพื่อนร่วมงานเข้ามาทักได้ทัน บอกเตือนว่า ไหนเราตั้งใจว่าจะกินมังสวิรัติ แล้วเราก็ได้สติกลับมาอีกครั้ง เลยไปตักแต่ผักกิน ผ่านไปอีกมื้อ
ภาพช้า…ในขณะที่เห็นกุ้งเผา สติ ได้หลุดลอยออกไป ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไม่มีอีกต่อไป ศีลอะไรก็ช่างมันเถอะ กุ้งเผาไม่ใช่ของที่จะกินกันได้บ่อยๆ ถ้าไม่กินตอนนี้ แล้วจะได้กินตอนไหน ยิ่งมีลูกค้าเลี้ยงด้วยแบบนี้ ลุยกันให้เต็มที่ไปเลย
มื้อบ่าย…. เพื่อนๆในออฟฟิศชวนกันไปซื้อลูกชิ้นเจ้าประจำ แต่ก่อนตอนยังไม่ตั้งศีลก็ชอบซื้อกินกับเขา ลูกชิ้นเนื้อ เอ็นเนื้อนี่ของโปรดเลยทีเดียว แต่วันนี้เกือบจะพลาดมื้อกลางวันมาแล้วจึงข่มใจ พยายามนั่งนิ่งๆไว้ไม่ตอบรับ ทันใดนั้นเพื่อนผู้หวังดีก็มาสะกิดถาม ฝากซื้อไหม เอาลูกชิ้นกี่ไม้? ด้วยความที่ตั้งศีลไว้จึงอดกลั้นไว้ก่อนบอกเพื่อนว่าวันนี้ไม่กิน ผ่านไปได้อีกวัน
ภาพช้า… ตอนเพื่อเข้ามาถาม ฝากซื้อไหม เอากี่ไม้ เหมือนมีคลื่นกิเลสผลักดันให้ลุกออกไป ใจก็คิดไปแล้วว่า เหมือนเดิมอย่างละสองไม้ ปากก็เกือบจะพูดออกไปแล้ว ดีว่าได้สติก่อนจึงสงบปากสงบคำ ปล่อยให้ความอยากนั้นอยู่แค่ในใจ
มื้อเย็น…. ว่าจะกลับบ้าน แต่เจ้านายชวนไปกินอาหารญี่ปุ่นเป็นเพื่อน เจ้านายสั่งชุดปลาดิบราคาแพงมา ประกอบด้วยปลาชั้นดี รสชาติน่าจะละมุนนุ่มลิ้น แถมยังมีแค่ในฤดูนี้เท่านั้น ในตอนนั้นใจก็กดข่มไว้ เปิดเมนูพยายามมองหาเมนูข้าวปั้นกับเต้าหู้ แต่สายตาก็ยังไม่ละจากจานที่หัวหน้าสั่งไว้ให้ ว่าแล้วด้วยความมั่นใจจึงสั่งข้าวปั้นเต้าหู้ทอดมา แต่ด้วยความที่เจ้านายเป็นห่วงสุขภาพ จึงบอกว่า กินไปเถอะ กินปลาไม่เป็นไรหรอก อย่าเคร่งมากนักเลย…
ภาพช้า… เสียงและคำพูดของเจ้านายช่างดูเป็นห่วงเรา เป็นคำพูดที่มาปลดปล่อยความเครียด ปลาอยู่ตรงหน้า ตะเกียบก็อยู่ในมือ จะช้าอยู่ทำไม ก็เขาอนุญาตแล้วนี่นา จะกินสักครั้งก็ไม่เห็นเป็นไรอย่างที่เจ้านายว่าเลย จะเครียดไปทำไมเนาะ
มือไม้แทบสั่นไปด้วยความอยาก ว่าแล้วก็หยิบปลาจิ้มโซยุ พลันคีบปลาเข้าปาก เคี้ยวด้วยความเอร็ดอร่อยสมอยาก มื้อนี้ก็แพ้กิเลสไปอย่างราบคาบ พอกลับมาบ้านก็ต้องมาสลดเพราะไปแพ้กิเลสมาอีกแล้ว แต่ก็ไม่ตีตัวเองเพิ่ม รู้แค่แพ้แต่ครั้งหน้าจะสู้ใหม่ (สู้ต่อไป ทาเคชิ!)
มื้อค่ำ…. ด้วยความที่กินผักมาทั้งวัน แถมยังเป็นมือใหม่ ทำให้น้ำย่อยในกระเพาะยังคงเหลืออยู่ เพราะแต่ก่อนกินแต่เนื้อ ต้องใช้น้ำย่อยเยอะ พอมากินผักน้ำย่อยเลยเหลือให้แสบท้องเล่น ว่าแล้วก็เดินไปเปิดตู้เย็น เห็นไส้กรอกหมูที่ซื้อมาเมื่อวานก่อน ถึงกลับกลืนน้ำลายดังเอื้อก
ภาพช้า… เมื่อเห็นไส้กรอก ก็พลันนึกถึงภาพ ตัวเองเอาไส้กรอกเข้าเตาไมโครเวฟ ปิดฝาตั้งตารอด้วยใจจดจ่อ นำมันออกมาพร้อมหั่นเป็นชิ้นอย่างบรรจง จิ้มซอสและมายองเนสนิดหน่อย เอาใส่ปากช้าๆ อั้มมม~
ดูเหมือนว่าสติจะหลุดลอยไปทันทีที่ได้เห็นไส้กรอก แต่โชคยังดีที่มีนมถั่วเหลืองอยู่ข้างๆอีกหนึ่งกลอ่ง
ภาพช้า… เมื่อเห็นนมถั่วเหลือง กับไส้กรอก น้ำหนักของไส้กรอกช่างหนักและดึงดูดเหมือนแม่เหล็กที่ดูดลูกเหล็ก นมถั่วเหลืองมันจะไปอิ่มได้อย่างไรมันต้องไส้กรอกสิ
ว่าแล้วก็หยิบไส้กรอกไปทำกินตามที่หมายไว้ เพราะแท้จริงแล้วเรากินไปด้วยความอยาก ไม่ได้กินเพราะความหิว การอดทนอดกลั้นมักจะมีขีดจำกัด และสะสมเป็นความเครียด ถ้าเราบริหารความเครียดไม่ดีก็จะออกมาในลักษณะของการตบะแตก ซึ่งเราควรประมาณให้ดี เมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆก็อย่าไปใกล้เนื้อสัตว์มากนัก อยู่ให้ห่างๆไว้ หรือซื้ออาหารจำพวกมังสวิรัติมาเตรียมไว้แทนเลยก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง
เห็นไหมว่าการถือศีลมังสวิรัติ เราจะได้สนุกกับการเห็นกิเลสขนาดไหน เราจะได้เจอกับกิเลสทุกวัน อย่างน้อยก็วันละ 2 – 3 มื้อเชียวนะ
5). ลีลาของกิเลส
กิเลสมักจะมีลีลาที่หลากหลาย มีการส่งข้อความ ส่งความทุกข์กดดันให้เรารู้สึกอยากเสพ เช่น ทำให้เราน้ำลายไหล ทำให้เราหิวเร็ว ทำให้เราอยากกิน ทำให้เรากลับไปกินด้วยประโยคเช่น กินๆไปเถอะ พลาดมื้อเดียวไม่เป็นไรหรอก, กินไปเถอะ เรากินเขา เขาได้บุญ , กินไปเถอะ อันนี้แพง หากินยาก , กินไปเถอะ ไม่มีใครรู้หรอก, กินไปเถอะแค่มีความสุขก็พอแล้ว , กินไปเถอะไม่ได้อยากจะเอาสวรรค์วิมาน , กินไปเถอะ เกรงใจเขา , กินไปเถอะ เราต้องใช้พลังงาน , กินไปเถอะมันอร่อยนี่นา , กินไปเถอะเดี๋ยวเขาหาว่าเราเรื่องมาก , กินไปเถอะ อย่าเคร่งนักเลย ฯลฯ เหล่านี้แหละ คือลีลาของกิเลส ส่วนกิเลสของใครจะปรุงลีลาออกมาหลากหลายเท่าไหร่ก็แล้วแต่ระดับความอยากของคนนั้น ยิ่งกิเลสมาก ก็จะยิ่งยาก ยิ่งซับซ้อน ต้องเพียรให้มาก
6). การพัฒนาไปเป็นลำดับ
ในระหว่างที่ปฏิบัตินั้น เราจะต้องใช้ปัญญาที่เป็นมรรค(ข้อปฏิบัติ วิธีการปฏิบัติ) คือเราจะกินมังสวิรัติอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ สุดท้ายเมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ จะได้ปัญญาที่เป็นผล(ผลเจริญ ความเจริญที่ได้)มาเป็นลำดับๆ เช่นถ้าเราไปในที่แบบนี้ เราก็จะกินอาหารชนิดนี้ หรือเราอาจจะไม่กิน หรือกินไปก่อน ก็ได้ นี่เป็นลักษณะของปัญญาที่ใช้ในเชิงโลกียะ ส่วนปัญญาในเชิงโลกุตระนั้นจะเป็นลักษณะของการเห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของการกินมังสวิรัติ
เมื่อปฏิบัติอย่างตั้งมั่น จะพบว่าตนเองสามารถตั้งศีลที่ยากขึ้นไปได้ (อธิศีล) โดยไม่ลำบากนัก เช่น ลดเนื้อสัตว์ได้แล้วยังสามารถที่จะลดไข่ได้อีก และมีพลังสติ พลังสมาธิ ความอดทนอดกลั้น (อธิจิต) เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติไปเป็นลำดับ รวมทั้งได้ปัญญาเพิ่มขึ้น (อธิปัญญา) จากการสู้สั่งสมปัญญาในแต่ละด่านที่ผ่านมา พลาดก็ได้ปัญญา ชนะก็ได้ปัญญา ทั้งหมดนี้เป็นความเจริญที่เป็นไปโดยลำดับ และเมื่อปฏิบัติสำเร็จจะได้ปัญญาชุดหนึ่งที่สามารถที่จะตัดกิเลสนั้นได้ ซึ่งกิเลสจะคลาย ณ จุดนี้ ในส่วนของปัญญานั้นเจริญไปต่อได้เรื่อยๆอย่างไม่มีจำกัด จนกว่าจะเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
7). ข้อสังเกต
ผู้ที่ตั้งศีลมังสวิรัติอย่างถูกต้องและมีปัญญา เมื่อไม่ได้กินเนื้อสัตว์ จะมีความรู้สึกหรือเวทนาที่แตกต่างกับตอนที่ยังไม่ได้ตั้งศีล ตอนที่เราไม่ได้ถือศีลนี้ เมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แต่เราไม่ได้กินเราก็จะทุกข์จากการที่ไม่ได้กิน ในส่วนของผู้ที่ถือศีลนั้น แม้จะมีเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า แต่เราก็จะฝืนไม่ยอมกิน เป็นทุกข์ที่เกิดจากการกดข่ม ฝืนใจกิเลส
ในส่วนของผู้ไม่ถือศีลแล้วทุกข์จากการไม่ได้กิน เรียกว่า เคหสิตโทมนัส , เคหะ หรือ ชาวบ้าน แบบบ้านๆ คนทั่วไป คือทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ได้เสพก็สุข เป็นไปในทางโลกียะ มีลักษณะ สุข ทุกข์สลับกันไปเรื่อยๆ เกิด ดับ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
ในส่วนของผู้ถือศีลแล้วทุกข์จากการไม่ยอมไปกิน เรียกว่า เนกขัมมสิตโทมนัส , เนกขัมมะ หรือ นักบวช เป็นการปฏิบัติแบบผู้บวช เป็นการปฏิบัติเพื่อที่จะหลุดออกจากโลกียะเข้าสู่โลกุตระเป็นความทุกข์ที่เกิดการที่เราฝืนกิเลส กิเลสจะสร้างความรู้สึกทุกข์ให้กับเรา เพื่อที่จะกดดันให้เราไปเสพ พร้อมด้วยเหตุผลต่างๆนาๆที่มันจะคอยเป่าหูเราให้เรากลับไปเสพ การปฏิบัติแบบเนกขัมมะคือการอดทนต่อสู้ ฝืน ทน ข่ม เราจะเจอแต่ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ และทุกข์ ไปตลอดทางของการปฏิบัติ แม้ว่าเราจะกลับไปเสพเราก็จะทุกข์ ทุกข์เพราะเรารู้สึกผิดต่อศีลมากกว่าสุขที่ได้จากเสพ
เมื่อวันหนึ่งหลังจากที่เราสามารถกดหัวกิเลสอดทนไม่ไปเสพและใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียจากความอยากกินของเรา จนรู้แจ้ง เห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นว่ากิเลสไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่เพียงผู้ที่มาอาศัยใช้ร่างกายและจิตใจของเราไปบำรุงบำเรอความอยาก เราทำลายกิเลสเหล่านั้นจนสิ้นเกลี้ยง แล้วเราก็จะพบกับสุข เป็นสุขแบบเนกขัมมะ สุขจากการฆ่ากิเลส จนกระทั่งสงบลงเป็นอุเบกขา และต่อจากนี้ทั้งชีวิตที่เหลือ ในชาตินี้และชาติหน้า เราก็จะไม่มีวันทุกข์กับเรื่องนี้อีกเลย
ในการถือศีลปฏิบัติในแบบเนกขัมมะนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถเข้าใจและปฏิบัติสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว บางคนอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน บางคนอาจจะเป็นปี บางคนสิบปี บางคนทั้งชีวิตก็อาจจะไม่มีวันเข้าใจเลยก็ได้ เพราะการปฏิบัติทางใจนี้เป็นเรื่องยากกว่าการปฏิบัติทางกายนัก มีความสลับซับซ้อนของกิเลสมากมายที่เราต้องคอยแก้ ในหลากหลายสถานการณ์
เหมือนดังสงครามที่รบกันไม่จบไม่สิ้นระหว่างเรากับกิเลส มีเมืองมากมายที่เราต้องไปตีคืนจากกิเลส ในขณะเดียวกันกิเลสก็ส่งกองทัพมาโจมตีเราเช่นกัน เราจึงต้องสู้กันไปกันมาอยู่แบบนี้กันหลายภพหลายชาติแล้ว ซึ่งผู้ที่คิดจะสู้ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่สู้ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติศีล ไม่ถือศีลก็เหมือนยอมให้กิเลสได้ครอบครองใจ บ้างก็อ้างว่าใจไม่มีกิเลส แต่พอได้ลองถือศีลกลับต้องพบว่ามีแต่ผีร้ายเต็มบ้านเต็มเมือง เต็มจิตใจของตัวเองไปหมด
การปฏิบัติในแบบเวทนาเนกขัมมะเช่นนี้ไม่ว่า พระ หรือฆราวาสก็สามารถทำได้ ไม่ได้หมายความว่าพระจะเป็นเนกขัมมะหรือฆราวาสจะเป็นเคหสิตะ แต่เรื่องนี้เป็นสภาพของจิต ที่จิตนั้นเป็นนักบวช หรือเป็นชาวบ้าน อยู่ที่ตัวเราปฏิบัติ
8). สมถะ-วิปัสสนา
ในการปฏิบัติศีล เราจะใช้สมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป โดยสมถะ คือการพักจิต เพิ่มพลังจิต โดยใช้วิธีนั่งสมาธิ เดินจงกรม ฯลฯ เพื่อเพิ่มพลังที่จะใช้ในการกดข่มกิเลสไว้
และวิปัสสนา คืออุบายทางใจ ที่จะใช้สร้างปัญญา ให้รู้เห็นจริงตามความเป็นจริง การจะฆ่าล้างกิเลสนั้นต้องใช้วิปัสสนาเป็นหลักจึงจะสามารถล้างกิเลสได้ ส่วนสมถะเป็นแรงเสริมให้วิปัสสนาสามารถคงสภาพได้ยาวนานขึ้น เป็นเครื่องหนุน เครื่องช่วย
เราจะวิปัสสนาโดยการพิจารณาความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย พิจารณากรรมและผลของกรรม ของความอยากเสพเนื้อสัตว์ เช่น ทำไมฉันต้องอยากกิน ฉันติดใจอะไรในเนื้อสัตว์นั้น มันอร่อยตรงไหน กินผักแทนไม่ได้หรือ กินแล้วเบียดเบียนเป็นกรรมของเราจะดีได้อย่างไร ให้ใช้ปัญญาหาเหตุพิจารณาโทษของการกินเนื้อสัตว์ และประโยชน์ของการกินผัก อย่างซ้ำๆ ย้ำๆ ด้วยความเพียรพยายาม แม้บางครั้งจะต้องพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็ควรจะพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งจะได้ปัญญาที่จะสามารถชำระกิเลสนี้เอง
9). ข้อควรระวังในการปฏิบัติ
ความหลงไปในธรรมมักจะเกิดได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะความเข้าใจผิดเรื่องสมถะ ผู้ที่หลงในสมถะ หลงในภพ หลงในการปฏิบัติแบบฤาษีจะเข้าใจผิดไปว่าเป็นการปฏิบัติของตนเป็นแบบวิปัสสนา เมื่อกดข่มเก่งๆ จะเข้าสู้ภาวะกดข่มแบบอัตโนมัติ สามารถดับจิตที่เกิดได้โดยอัตโนมัติ ทำให้ไม่เห็นตัวกิเลส และไม่เห็นตัวทุกข์ ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นนิโรธแบบดับสนิท ดำมืด ไม่รู้อะไรเลย และไม่ใช่สัมมามรรค เป็นการปิดตัวเองไว้ในภพ หรือสภาวะที่ตนสุขใจ ติดภพ ติดชาติ ไปอีกนาน ยากที่จะบรรลุธรรม
10). ตรวจสอบ
ในขั้นแรกก็ต้องทดสอบในระดับของการร่วมโต๊ะกับคนอื่นที่ยังกินเนื้อให้ได้ก่อนว่าเราไหวหรือไม่ เรายังอยากไปกินกับเขาหรือไม่ เขาตักเนื้อสัตว์มาให้เราแล้วเราอยากกินหรือไม่ แม้เราจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์นั้น เรายังคิดห่วงหา คิดเสียดายโอกาสนั้นหรือไม่
ถ้าอยากรู้ว่าเราผ่านด่านความอยากของเนื้อสัตว์ได้จริงไหม ก็ลองกลับไปกินดูก็ได้ ถ้าเรากินแล้วไม่รู้สึกว่าอร่อย ไม่รู้สึกว่าติดใจ สามารถทิ้งได้ ละได้ วางได้ เมื่อละมาแล้วจิตใจไม่พะวง ไม่อาลัย ไม่เสียดาย ก็ถือเป็นใช้ได้
11). กาม-อัตตา
ที่กล่าวมาทั้งหมดคือการฆ่ากิเลสในทางโต่งของกามของการเสพเนื้อสัตว์เท่านั้น เมื่อเรากินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขแล้ว เรายังต้องกลับไปล้างกิเลสในฝั่งของอัตตาด้วย นั่นคือทางโต่งอีกด้านที่เราจะไปติด
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในบทธัมมจักกัปปวัตนสูตร ว่าด้วยเรื่องทางโต่งทั้งสองด้าน ให้พึงละเสีย คือทางหนึ่งโต่งไปด้านกาม (กามสุขัลลิกานุโยค) คือการทรมานตนด้วยการเสพ อีกทางหนึ่งโต่งไปทางด้านอัตตา (อัตตกิลมถานุโยค) คือการทรมานตนด้วยความยึดดีถือดี
เมื่อเราละเนื้อสัตว์เราจะผ่านกามและอัตตาในมุมเนื้อสัตว์ แต่เราจะมาติดกามและอัตตาในมุมของคนที่ไม่อยากกินเนื้อสัตว์ หรือการติดดีนั่นเองเป็นส่วนกลับของกิเลสทุกตัว เหมือนเป็นด้านมืดที่เรียกว่านรกคนดี ซึ่งก็ต้องล้างไปด้วย
กามในอัตตาที่เราต้องล้างต่อไปคือการความอยากกินแต่ผัก ไปแนะนำ ไปสั่งสอน ไปเพ่งโทษ ทำร้ายทำลายใจคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ส่วนอัตตา คือ ความยึดว่าต้องกินแต่ผัก ความยึดดี ถือดี คิดว่าตนเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์แล้วจึงยึดว่าตนนั้นดีเลิศ ทำแบบตนสิดี ไม่มีใครดีเท่าตน
เมื่อเราสามารถพ้นนรกคือการกินเนื้อสัตว์และพ้นนรกจากความเกลียดคนกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว จึงจะสามารถพบกับความสุขแท้หรือทางสายกลางได้นั่นเอง ทางสายกลางไม่ใช่ทางที่แค่พูดและเข้าใจความหมายแล้วจะเข้าถึงได้แต่ต้องปฏิบัติทำลายทางโต่งทั้งสองด้านจนเข้ารูปเข้ารอยของทางสายกลาง ซึ่งเป็นทางเอกทางเดียวในการพ้นทุกข์หรือสัมมาอริยมรรค นั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
24.9.2557