Tag: ธรรมะ

ทำไมต้องนำมังสวิรัติมาเป็นการปฏิบัติธรรม

November 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,770 views 0

ทำไมต้องนำมังสวิรัติมาเป็นการปฏิบัติธรรม

ทำไมต้องนำมังสวิรัติมาเป็นการปฏิบัติธรรม

หลายคนคงจะสงสัยว่าทำไมจึงต้องหยิบยกการกินมังสวิรัติมาเป็นหัวข้อในการปฏิบัติธรรม ซึ่งคนส่วนมากมักจะเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมนั้นต้องไปฝึกสติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม การฝึกขยับร่างกายเพ่งกสิณ ฯลฯ

การนำมังสวิรัติมาปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่แค่การฝึก แต่เป็นการเข้าสู่สนามรบจริง เข้าสู่สนามชีวิตจริง เจอกิเลสจริง สู้กับกิเลสจริง ทำลายกิเลสจริง เราจะทำการฝึกปฏิบัติไปพร้อมกับการเรียนรู้ความพ่ายแพ้ต่อกิเลสนับครั้งไม่ถ้วน จนกว่าจะชนะมันในวันใดวันหนึ่ง ชาติใดก็ชาติหนึ่งซึ่งเป็นการชนะครั้งสุดท้าย

จริงๆแล้วเราสามารถนำสิ่งอื่นมาเป็นหัวข้อปฏิบัติธรรมก็ได้ เช่น ความโกรธ ความโลภ เรื่องปวดหัวในที่ทำงาน เรื่องวุ่นวายในครอบครัว ปัญหาชีวิต ฯลฯ แต่ปัญหาพวกนั้นมันไม่ได้มาให้เราได้ฝึกปฏิบัติทุกวันเหมือนอย่างการกินมังสวิรัติ

พระไตรปิฎกในบทของอาหาร ๔ ว่าด้วยเรื่องอาหารที่จำเป็นต่อความเจริญของชีวิต ในข้อ ๑ จะเป็นอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันเพื่อเป็นพลังงานให้ร่างกาย และในข้อ ๒ คือเราต้องมีผัสสะเป็นอาหาร ซึ่งเราจะเน้นหนักในข้อนี้

ผัสสะ คือสิ่งกระทบ คือการกระทบ คือการที่มีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามากระทบแล้วตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเปิดรับ หรือรับรู้สิ่งนั้นได้ การมีผัสสะนั้นทำให้เรารู้ว่าเรายังมีกิเลสหลงเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด ถ้ามีกิเลสมาก แล้วเกิดผัสสะจิตใจจะเกิดทุกข์ กระวนกระวายมาก เหมือนกับคนที่เสพติดเนื้อสัตว์แล้วหันมากินมังสวิรัติ เมื่อเจอเนื้อสัตว์ก็จะเกิดความอยากรุนแรง เกิดทุกข์แรง

การปฏิบัติธรรมด้วยเหตุอื่นๆนั้นสามารถทำได้ เช่นความโกรธ เมื่อเรามีผัสสะเข้ามาเราก็สู้กับความโกรธนั้น หาเหตุแห่งความโกรธนั้น ดับความโกรธนั้นด้วยวิถีแห่งสัมมาอริยมรรค แต่ปัญหาก็คือเมื่อไหร่ล่ะที่เราจะเกิดความโกรธ แล้วใครจะมาช่วยทำให้เราเกิดความโกรธ แล้วถ้าความโกรธนั้นเกิดขึ้นจริงเราจะหยุดได้ ดับได้ ปล่อยวางได้จริงหรือไม่ ซึ่งถ้าเราหยิบยกเรื่องเหล่านี้มาเป็นแบบฝึกหัดปฏิบัติธรรม ก็ขอยืนยันเลยว่ายาก เพราะเราจะควบคุมปริมาณผัสสะที่เข้ามาไม่ได้ ควบคุมความรุนแรงไม่ได้ และความโกรธนั้นเป็นโจทย์ที่ต้องเจอในชีวิตอยู่แล้ว เหมือนสนามรบจริงๆ ถึงเราไม่อยากเข้าร่วมก็ต้องเข้าร่วมอยู่ดี

ไม่เหมือนกับการกินมังสวิรัติ คือเราสร้างสนามซ้อมขึ้นมา แต่ซ้อมกับกิเลสจริงๆของเรานี่แหละ เราสามารถรู้ได้เลยว่าเราจะสู้กับความอยากกินเนื้อสัตว์ของเรา เมื่อไหร่ เท่าไหร่ แค่ไหน อย่างไร เช่น วันละประมาณ 3 มื้อ หรือในมื้อเย็นต้องไปกินเลี้ยงกับเพื่อนๆ จะสู้กิเลสอย่างไร ซึ่งเมื่อเราหัดปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ จะสามารถประมาณกำลังของผัสสะให้เหมาะกับกิเลสได้ง่าย เจริญได้ง่าย ไม่ยากเกินไป ทั้งยังเป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพ และสร้างกุศลจากการละเว้นมากมาย

สนามปฏิบัติธรรมมังสวิรัตินั้นจะเกิดขึ้นมาไม่ได้หากเราไม่ถือเป็นสิ่งที่ควรละเว้น ไม่ได้ถือศีลมังสวิรัติ ไม่ได้บำเพ็ญตบะงดเว้นเนื้อสัตว์ เมื่อเราไม่มีเครื่องกั้นกิเลส เราก็จะไม่เห็นกิเลส แม้ว่าจะใช้ชีวิตผ่านไปนานเท่าไหร่ก็จะไม่เห็นกิเลส แตกต่างจากคนที่ตั้งศีลมังสวิรัติไว้ในใจ เขาเหล่านั้นจะเห็นกิเลสอย่างชัดเจนเมื่อมีผัสสะ มีเนื้อสัตว์ตรงหน้า มีสเต็ก มีหมูปิ้ง มีเนื้อย่าง มีอาหารทะเล สิ่งเหล่านี้คือผัสสะที่เข้ามากระตุ้นให้กิเลสเกิดอาการอยากเสพ เมื่อกิเลสไม่ได้เสพสมใจก็จะออกอาการทุกข์ทรมานใจ กระทั่งส่งผลไปถึงทรมานกายเลยก็สามารถทำได้ เช่นเมื่อไม่ได้กินเนื้อก็ออกอาการหมดแรง น้ำลายไหล หิวกระหาย ท้องร้อง ไม่สบาย ฯลฯ อาการเหล่านี้เป็นอาการที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเอง เกิดจากกิเลสสร้างขึ้นมา ไม่ใช่สภาวะตามธรรมชาติ เป็นสภาพลวงตาที่กิเลสสร้างขึ้นมาให้หลงว่าการได้เสพเนื้อสัตว์นั้นจะสร้างสุขให้และเมื่อไม่ได้เสพเนื้อสัตว์เราก็จะเป็นทุกข์

การปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติเพื่อทำลายความอยากเสพเนื้อสัตว์จึงเป็นเหมือนทั้งสนามซ้อมและสนามแข่งจริง เพราะถึงแม้ว่าเราจะพลาดท่าพ่ายแพ้ให้กับพลังของกิเลส กลับไปเสพเนื้อบ้าง แต่ก็ไม่มีผลเสียรุนแรง ไม่เหมือนกับเรื่องของความโกรธ ถ้าเหตุการณ์ใดเกิดแล้วทำให้โกรธจนคุมสติไม่อยู่ สร้างบรรยากาศที่ไม่พอใจออกไป แสดงสีหน้าไม่พอใจออกไป แสดงอาการไม่พอใจออกไป เช่น ด่า ว่า กล่าว แขวะ ประชด ลงไม้ลงมือ ฯลฯ ก็อาจจะเกิดผลเสียที่รุนแรงตามมาได้

ดังนั้นการนำมังสวิรัติมาเป็นโจทย์ในการปฏิบัติธรรมนั้น เพื่อให้ผู้เริ่มปฏิบัติธรรมได้เข้าใจกระบวนการของการล้างกิเลส โดยใช้การปฏิบัติที่สอดร้อยเข้าไปในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มกิจกรรมใดๆเข้าไปในชีวิต มีแค่เพียงการลดการเสพ ลดความอยากลงไปเท่านั้น ผิดพลาดก็ไม่เสียหายมาก แต่ถ้าล้างกิเลสได้ก็เจริญมาก

เมื่อประเมินจากความคุ้มค่าในการเลือกข้อปฏิบัตินี้มาเป็นกรรมฐาน จึงได้สร้างกลุ่มปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติขึ้นมา และเผยแพร่แนวทางและวิธีการเหล่านี้ออกไปเพื่อเป็นตัวเลือกหนึ่งในผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรม แต่ไม่มีเวลาว่างไปวัด ไม่มีเวลาทำทาน ไม่มีเวลาฟังธรรม ได้ลองปฏิบัติโดยใช้การปรับเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนที่กิเลส เปลี่ยนมิจฉาทิฏฐิ ได้เรียนรู้และเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องไปที่ไหน หรือพึ่งพาใคร เพราะเราปฏิบัติที่ใจ ใจที่มีกิเลส มีกิเลสตรงไหนก็ปฏิบัติตรงนั้น เราถือศีลให้เห็นกิเลส

เมื่อเห็นกิเลสก็พิจารณาโทษของกิเลสไปเรื่อยๆนั้น จึงเรียกว่าการปฏิบัติธรรม คือทำตนเองให้มีธรรมะ การจะมีธรรมะได้นั้นต้องกำจัดความหลงผิดในธรรม คือความไม่เป็นธรรม ความลำเอียง ความโง่ ความมัวเมา ฯลฯ เมื่อปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติจนเข้าใจแล้ว ก็จะสามารถประยุกต์ใช้กระบวนการทำลายกิเลส ไปใช้กับกิเลสตัวอื่นได้เช่น ความโกรธ ความโลภ ความหลงเสพ หลงติด หลงยึด ฯลฯ เพื่อความเจริญอื่นๆสืบไป

– – – – – – – – – – – – – – –

6.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

October 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,933 views 0

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

จนถึงตอนนี้ก็เรียกได้ว่ากึ่งพุทธกาลแล้ว นั่นหมายความว่าศาสนาได้ดำเนินมาถึงครึ่งทาง ความเจริญก็ได้หายไปครึ่งหนึ่ง ความเสื่อมก็เข้ามาแทนที่ในส่วนนั้นเช่นกัน

ในความจริงที่ผ่านมานั้น เราได้เวียนว่ายตายเกิดและอยู่ในยุคของพระพุทธเจ้ามาหลายพระองค์แล้ว อย่างองค์สมณะโคดม หรือพระพุทธเจ้าในยุคของเรานี้ ท่านได้ผ่านและร่ำเรียนจากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆมามากกว่า 3 ล้านพระองค์

ซึ่งในอนาคตก็จะมีผู้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ อย่างภัทรกัปนี้ องค์สุดท้ายที่จะมาบังเกิดคือพระศรีอริยเมตตรัย ซึ่งเป็นยุคที่พระพุทธเจ้าได้พยากรณ์ไว้ว่าคนจะมีอายุถึง 80,000 ปี

พอชาวพุทธส่วนหนึ่งได้ยินดังนั้น ก็ได้หมายมั่นตั้งจิตว่าจะไปปฏิบัติในยุคหน้า ในอนาคตที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยเข้าใจ เพียงแต่ได้ยินได้ฟังเขาพูดมา …ในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ไหนก็เหมือนกัน สอนให้ลด ละ เลิกกิเลสเหมือนกัน สอนเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิถีทางดับทุกข์เหมือนกัน

และธรรมะนั้นเป็นอกาลิโก คือปฏิบัติจนเห็นผลได้ไม่ว่าเมื่อไหร่ ยุคใด สมัยใด แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว แต่ธรรมะนั้นยังคงอยู่ หากว่าเราปฏิบัติตามธรรมะที่ถูกต้อง โดยผ่านคำสอนของสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่ถูกตรง ก็จะสามารถไปถึงผลได้ไม่ต่างจากการปฏิบัติในสมัยพุทธกาล

นั่นคือไม่ว่าเราจะปฏิบัติตอนนี้ หรือไปปฏิบัติในยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป การได้รับความสุขจากการหมดกิเลส ก็เป็นสภาพที่เหมือนกัน แต่คนที่ขยันปฏิบัติและเรียนรู้ก็จะสามารถหมดทุกข์ได้เร็ว หมดทุกข์ก่อนก็สุขก่อน หมดทุกข์ได้ในชาตินี้ก็สุขได้เลยในชาตินี้ หมดทุกข์วันนี้ก็สุขวันนี้ และสุขยาวต่อไปอีกกี่ยุค กี่สมัยก็ได้ตามแต่ใจ

ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่ล้างทุกข์ หรือคนขี้เกียจ ผัดวันประกันพรุ่งก็จะแบกทุกข์ไว้ แบกกิเลสเอาไว้ปฏิบัติกับพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป โดยไม่รู้เลยว่าตนเองนั้นทำแบบนี้มาตั้งแต่ยุคไหนสมัยไหนแล้ว พระพุทธเจ้าผ่านมากี่พระองค์เราก็ทำแบบนี้ ผลัดกันไปเรื่อยๆ ไม่ปฏิบัติ ไม่เรียนรู้สักที จะขอเสพกิเลส ตามใจกิเลสอยู่นั่น แล้วหลงว่าตัวเองควบคุมกิเลสได้ แต่จริงๆโดนกิเลสควบคุมชีวิตอยู่อย่างไม่รู้ตัว

การที่ตั้งจิตว่าจะไปบำเพ็ญในยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปไม่ได้หมายความว่าเราจะได้ไปเกิดเป็นคนในยุคนั้นเสมอไป เพราะกว่าที่จะถึงยุคนั้น จะต้องผ่านกลียุค ผ่านยุคที่ไม่มีพระพุทธศาสนาอย่างยาวนานมาก นานแสนนาน จนกว่าจะไปถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ดังนั้นผู้ที่ไม่เรียนรู้และปฏิบัติในยุคนี้ ก็จะไม่รู้จักกิเลส พอถึงกลียุคก็ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ทำบาปตามเขา เสพกิเลสตามเขา สะสมกิเลสตามเขา

สุดท้ายกว่าถึงยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ก็สะสมบาปมากพอ กรรมอาจจะดลไม่ให้เกิดในยุคนั้น หรือไม่ก็เกิดเป็นสัตว์ อาจจะเป็นสุนัขไปสัก 40,000 ปี ตายแล้วเกิดใหม่มาเป็นแมวอีก 40,000 ปี เป็นเดรัจฉานวนเวียนไม่จบไม่สิ้น จนไม่พบพระพุทธเจ้าสักที แคล้วคลาดกันทุกยุคทุกสมัย พอชาติใดชาติหนึ่งได้พบศาสนาพุทธก็พลัดวันประกันพรุ่งต่อไป วนเวียนไปแบบนี้ ถึงจะผ่านพระพุทธเจ้าอีกล้านพระองค์ก็อาจจะวนเวียนอยู่เช่นนี้ก็เป็นได้

พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้เราประมาท เพราะคนประมาทก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คนที่ยังอยู่ในยุคที่ยังมีศาสนาอยู่ อยู่ในยุคที่ธรรมะยังดำรงอยู่ แต่ไม่ปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำตัวย่อหย่อน พลัดวันประกันพรุ่ง ก็เหมือนกับคนที่ตายไปแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง

September 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,834 views 0

ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง

ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง

ถือศีลกันมาก็นานแล้ว เราเคยตรวจสอบกันบ้างไหมว่าจิตใจของเราเจริญขึ้นมาอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะศีลข้อ ๑ คือให้เว้นขาดจากการฆ่าทำร้ายทำลาย ทำชีวิตสัตว์ให้ตกร่วง ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เบียดเบียนสัตว์ เราสามารถถือศีลข้อนี้ได้ดีอยู่หรือไม่ แล้วการถือศีลข้อนี้ ได้ทำให้จิตใจของเราเจริญขึ้นอย่างไร จะแบ่งปันประสบการณ์ให้ได้ลองทบทวนกัน

ผ่านมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน ผมยังเป็นอย่างคนทั่วไป มดกัดบี้มด ยุงกัดตบยุง เหตุการณ์ล่าสุดที่ผมยังจำความอำมหิตโหดร้ายของตัวเองได้ดีคือ คือเมื่อครั้งไปเที่ยวเขาใหญ่กับเพื่อนๆ กลางปี 2012 ที่ผ่านมาไม่นานนี่เอง

เนื่องจากเป็นหน้าฝน ก็เลยมีทากมาก พอเดินเข้าไปน้ำตก ก็มีทากเกาะบ้าง พอมันเกาะแล้วกัดเรา เราก็ดึงออกไม่มีอะไร ทีนี้พอเดินผ่าน เดินเล่น ทำกิจกรรมอะไรเล็กน้อยเสร็จแล้วก็มานั่งพักกัน เพื่อนสังเกตว่ามือเราเลือดไหล เราก็สงสัยว่าไม่ได้เจ็บไม่ได้เป็นแผลอะไรนี่ ทำไมเลือดไหลเยิ้ม สุดท้ายก็มาเจอตัวการคือทากหนึ่งตัว

เมื่อได้เห็นตัวการและผลงานที่มันทำ ผมจึงหยิบมันมาบี้ๆด้วยความแค้นที่เย็นชา ไม่มีคำพูดคำด่าอะไร รู้แค่อาฆาตมัน บี้แล้วมันไม่ตายก็เลยวางลงบนพื้นแล้วเอาพื้นรองเท้าบี้และขยี้จนมันแหลกไปกับพื้น ด้วยความสะใจ

ผมยังจำสายตาของเพื่อนที่มองการกระทำของผมได้อย่างดี มองคนที่ใจดำอำมหิต ที่ฆ่าได้อย่างเลือดเย็น ด้วยวิธีที่โหดร้ายรุนแรง ผมยังจำบาปที่ทำในตอนนั้นได้ดี เป็นสิ่งที่เก็บไว้สอนใจอย่างไม่มีวันลืม

เรียนรู้ธรรมะ

จนเมื่อวันที่ผมได้ก้าวเข้ามาใกล้ชิดกับธรรมะมากขึ้น เรียนรู้เรื่องศีลมากขึ้น แต่ก่อนผมก็คิดนะเรื่องถือศีล๕ ก็ถือบ้างไม่ถือบ้าง แต่พอได้ศึกษาเรียนรู้มากขึ้น จึงได้พบว่าศีลนั้นมีคุณค่ามากกว่าแค่การถือ ศีลเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เราพัฒนาและเจริญเติบโตได้ ถ้าเรายังไม่เข้าใจคุณค่าของศีล หรือถือศีลตามเขาไปโดยที่ไม่รู้เนื้อหาสาระ ก็จะไม่มีวันพัฒนาได้เลย

ศีลที่ผมเรียนรู้มาคือศีลที่มีไว้เพื่อให้เห็นกิเลส เป็นเครื่องบีบคั้นให้จิตใจได้ต่อสู้กับกิเลส ได้แพ้กิเลส ได้ล้างกิเลส ซึ่งก่อนหน้านี้มันมีแต่แพ้กับกดข่ม เพราะไม่เคยสู้เลย ผมถือศีลแบบยอมกิเลสมาตลอด อะไรพออดทนไหวก็ทำไป อะไรไม่ไหวก็ศีลแตกบ้างก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอได้เรียนรู้คุณค่าแห่งศีลแบบนี้แล้ว ก็เลยใช้ศีลนี่แหละเป็นตัวขัดเกลาตนเอง

เมื่อผมปฏิบัติศีลมาอย่างตั้งมั่น ได้พบกับความโกรธ ความอาฆาตของตัวเองอยู่หลายครั้ง เพราะมีศีลเป็นเครื่องจับผี จับจิตใจที่โกรธเคืองของเราได้อย่างดีและดักมันไว้อย่างนั้นจนกว่าเราจะทำอะไรสักอย่างกับมัน ผมได้มีโอกาสฝึกกับยุงที่มากัดตั้งแต่ขั้นกดข่ม คือมันกัดแล้วก็แค้นนะ แต่ไม่ตบ จนเจริญมาถึงเรื่องที่กำลังจะเล่าต่อไป

ผลของการปฏิบัติศีล– เรื่องของยุง

เมื่อวานก่อนผมนอนงีบหลับพักผ่อนอยู่ รู้สึกเจ็บคัน บริเวณขา จึงรู้แน่นอนว่ายุงกัด ก็เลยไม่ขยับตัวสักพัก ปล่อยให้มันดูดไป เพราะหากเราขยับตัวหรือบิดตัว ก็เกรงว่าจะทำให้มันตายได้ หรือไม่มันก็บินกลับมาดูดเลือดอีกจุดอยู่ดี การไม่ยอมให้มันดูดเลือดในครั้งนี้จึงไม่เป็นผลดีกับใครเลย ก็เลยปล่อยให้มันดูดไปอย่างนั้น ไม่ได้โกรธแค้นอะไรมัน

ทีนี้รอสักพักมันคงดูดเสร็จแล้ว เราก็งีบต่ออีกหน่อยจนลุกขึ้นมาทำงานต่อ มียุงตัวหนึ่งบินมาวนเวียนหน้าโต๊ะทำงาน ท้องของมันป่อง เต็มไปด้วยเลือด มันบินช้าเพราะมันหนักเลือดที่ท้อง บินวนอยู่ก็หลายรอบ

ในใจก็สงสารมันนะ มันคงออกไม่ได้ แต่จะทำอย่างไร จะไปจับมัน ก็กลัวจะพลาดผิดเหลี่ยมผิดมุมตายคามือ ก็คิดอยู่สักพัก ตัดสินใจว่าถ้ามันบินผ่านหน้ามาอีกครั้งจะลองจับดู และแล้วมันก็บินผ่านหน้ามาอีกที ผมค่อยๆ เอามือไปล้อมมัน โชคดีที่มันกินอิ่มมันจึงบินช้า เลยจับไว้ในอุ้งมือได้ง่ายๆ

ผมเก็บมันไว้ในอุ้งมือ และเปิดกระจกออกพอประมาณมือสอดออก เพราะเกรงว่าเดี๋ยวมันจะบินผิดทิศ บินกลับเข้ามาในห้องอีก พอยื่นแขนออกไปได้สักหน่อยก็คลายมือออก ยุงตัวนั้นก็บินจากไปตามทางของมัน

ผลของการปฏิบัติศีล– เรื่องของแมงป่อง

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อตอนไปทำงานที่ไร่ ตื่นนอน ทำธุระยามเช้า ขับรถออกจากบ้านเช่า ไปถึงไร่ก็ระยะ 2 กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อถึงก็จอดรถ ขณะที่กำลังจะลงจากรถก็รู้สึกว่ามีตัวอะไรมาไต่แขน ซึ่งตอนนั้นใส่เสื้อฝ้ายแขนยาว จึงนึกไปว่าแมงมุม ไม่รู้จะทำอย่างไรเลยไปจับผ้าเบาๆ เพื่อล็อกมันไม่ให้ขยับก่อนที่จะเปิดประตูรถออกไปเพื่อเหย่ามันออก แต่มันก็ไม่ออก แถมยังต่อยอีก ทันทีที่โดนต่อย ก็อาการปวดร้อนรุนแรงขึ้นมาทันที จึงถอดเสื้อแล้วสะบัดออก พบว่าเป็นแมงป่อง ซึ่งน่าจะเป็นแมงป่องบ้าน ตัวไม่ใหญ่มาก มันก็ค่อยๆเดินหนีเข้าไปตามซอกดินที่แตก

ในขณะที่โดนแมงป่องต่อย ไม่ได้มีความโกรธแค้นเลยแม้แต่นิดเดียว มีแต่ความเจ็บปวดที่แขน คือทุกข์ที่เกิดจากพิษ ส่วนใจยังเป็นห่วงว่ามันจะโดนบี้ในตอนถอดเสื้อ เพราะเสื้อแขนยาวนั้นไม่ได้ตัวใหญ่ หรือหลวมมากนัก เมื่อเห็นมันตกลงมาและเดินต่อได้ โดยภาพที่เห็นมันก็ครบองค์ประกอบดี ทำให้รู้สึกสบายใจที่ไม่ได้ไปฆ่ามัน สบายใจที่มันยังดีอยู่เหมือนเดิม รู้สึกได้เลยว่าจิตอิ่มเอิบไปด้วยเมตตา

ทั้งๆที่ในความจริง(แบบโลกๆ)แล้ว เราควรจะโกรธ ควรจะแค้น สิ่งที่มาทำเราเจ็บ แต่ความรู้สึกเหล่านั้นกลับไม่เกิดเลย

สรุปผล

ดังตัวอย่างเรื่องยุงและเรื่องแมงป่อง ผมจึงได้เห็นจิตใจที่พัฒนาของตัวเอง จากเป็นคนที่โกรธง่าย อาฆาตแรง แค้นฝังใจ กลับกลายเป็นคนที่ไม่โกรธ นอกจากจะไม่โกรธแล้วยังรู้สึกว่ามีเมตตา อยากให้มันพ้นภัย จนกระทั่งกรุณาคือลงมือทำให้มันเป็นสุข เช่นการนำยุงไปปล่อย มีความมุทิตา คือยินดีเมื่อมันสามารถหนีไป จากไป ได้แบบเป็นสุขดี และอุเบกขาตรงที่ปล่อยให้มันเป็นไปตามบาปบุญของมันต่อไป

การถือศีลนั้น จึงเป็นการถือเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสออกจากจิตใจของตนเอง มากกว่าที่จะถือไปเพราะมัวเมา เพราะหลง เพราะงมงาย เพราะเห็นว่าเขาถือกัน เพราะได้ยินเขาพูดกันว่าดี แต่ถือเพราะเรามีปัญญารู้ถึงคุณค่าของศีลนั้น เราจึงใช้ศีลนั้นเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเอง

ถ้าไม่มีศีล หรือไม่ถือศีล เราก็จะไม่เห็นกิเลสของเรา ถ้าถือศีลบ้างไม่ถือศีลบ้าง หรือถือศีลแบบเหยาะแหยะ หยวนๆ ลูบๆคลำๆ ไม่เอาจริงเอาจัง ก็จะกลายเป็นไม่ได้อะไรเลย จะดีก็ไม่ดี แต่จะชั่วก็ไม่ใช่ เป็นอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

ดังนั้นการจะถือหรือยึดสิ่งใดมาอาศัย เราจึงควรพิจารณาให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งนั้น เข้าถึงประโยชน์ของสิ่งนั้นด้วยปัญญารู้จริงถึงประโยชน์ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการรู้แจ้ง ศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาที่พาให้หลงงมงาย หลงมัวเมา แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความดีก็ตาม

การตรวจสอบศีลของเราก็เอาจากเรื่องง่ายๆในชีวิตประจำวันแบบนี้ละนะ ถ้าแค่เรื่องง่ายๆ เรื่องเบาๆ เรายังทำไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะทำศีลที่ยากกว่า หนักกว่า รุนแรงกว่า ได้เลย

– – – – – – – – – – – – – – –

23.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทำไมเธอไม่เลิกทำบาป ทำไมเธอไม่ทำดีทำไมเธอไม่ปล่อยวาง

September 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,868 views 0

ทำไมเธอไม่เลิกทำบาป ทำไมเธอไม่ทำดีทำไมเธอไม่ปล่อยวาง

ทำไมเธอไม่เลิกทำบาป ทำไมเธอไม่ทำดี ทำไมเธอไม่ปล่อยวาง

หลายครั้งในชีวิต เราคงจะเคยสงสัย ว่าทำไมพวกเขาเหล่านั้นจึงไม่เลิกทำบาป ไม่หาอะไรดีๆในชีวิตทำ ไม่อยู่กับปัจจุบัน จมอยู่แต่ในอดีตและวาดฝันล่องลอยไปแต่ในอนาคต และเคยสงสัยไหมว่า ในหลายๆครั้งไม่ว่าเราจะทำอย่างไร จะพูดอย่างไร จะแนะนำอย่างไร ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เขาก็ยังคงทำบาปเหมือนเดิม ยังใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ยังเศร้าหมองอยู่เหมือนเดิม….นอกจากจะไม่ดีขึ้นแล้วยังอาจจะแย่ลง และอาจจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ผิดใจกันเข้าไปอีก

….ปัญหา

เรามักจะรู้สึกขัดอกขัดใจเมื่อเจอกับคนหรือเหตุการณ์เหล่านี้…

นักโทษที่ต้องโทษจำคุกอยู่นาน เมื่อพ้นโทษมาแล้ว แต่ก็ยังมาก่อคดีอยู่อีก ,นักการเมืองที่มีประวัติโกงแม้ว่าจะโดนจับได้แล้ว แต่ก็ยังจะหาทางโกงอยู่อีก , คนที่รู้ว่าฆ่าสัตว์ผิดศีล ไม่ดีเป็นบาป แต่ก็ยังตบยุงอยู่อีก , คนที่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขอโทษขอโพยกันไปแล้ว บอกว่าจะแก้ไข แต่ก็ยังทำผิดอยู่อีก ,คนที่รู้ว่าการกินเหล้าเสพสิ่งเสพติดของมึนเมา นั้นเป็นบาป แต่ก็ยังกินอยู่อีก ,คนที่มัวเมายึดมั่นถือมั่นอยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบจนเริ่มสะสมทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียในชีวิตของตนเอง แต่ก็ยังหลงมัวเมาอยู่อีก …ฯลฯ

หรือการที่ใครสักคนหนึ่งใช้ชีวิตไปวันๆ อยู่ไปวันๆ ไม่ทำอะไรให้ชีวิตมันดีขึ้น เขาไม่ทำเรื่องชั่วหนักๆแล้วนะ แต่เราก็ยังเห็นว่ามันไม่ดี เราก็อยากให้เขาลุกขึ้นมาทำชีวิตของตัวเองให้ดี เช่น ขยันเรียนเพิ่ม,หาความรู้ในการทำงานเพิ่ม,ออกกำลังกายรักษาสุขภาพ,หากิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือสังคม ทำบุญบริจาคทรัพย์ แบ่งปันแรงงาน ฯลฯ

หรือแม้แต่การที่ใครสักคนจะใช้ชีวิตไปอย่างไร้จุดหมาย เศร้าโศกเสียใจกับอดีตที่ผ่านมา เศร้าหมองจากการสูญเสียสิ่งสำคัญ จมอยู่กับทุกข์ อยู่กับอดีต ซึมเศร้าเหงาหงอย

แล้วจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร

….การที่เรารู้สึกหงุดหงิดใจ ว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงไม่ปรับปรุงตัวไปในทางที่ดี นั่นแหละคือเรามีอาการ “ติดดี” อาการติดดี ยึดดี ถือดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข พอไม่เกิดดีตามที่ใจคิดก็จะเป็นทุกข์ ซึ่งในขณะที่เราติดดียึดดี เราก็มักจะไปคาดหวัง ไปแนะนำ ไปบีบคั้น ไปหาสารพัดวิธีมาให้เขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราต้องการ พอเขาไม่เปลี่ยนหรือทำไม่ได้อย่างใจเรา เราก็ทุกข์ ร้อนใจ หงุดหงิด สุดท้ายก็กลายเป็นเราเองที่ไม่ปล่อยวาง

บางทีเราเห็นทางแก้นะ แล้วพยายามจะไปฝืนกิเลส พยายามจะไปล้วงกิเลส จะไปชี้ขุมทรัพย์ให้เขาเห็นว่าการที่เขาทุกข์ สับสน เศร้าหมอง ยังทำบาป ไม่ทำดีอยู่นั้น เป็นเพราะเขาอาจจะยึดติดในสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่พอเราไปพูดแบบนี้เขาอาจจะไม่พอใจเราก็ได้ เพราะพลังกิเลสเขามากกว่าพลังความดีของเรา

สิ่งที่เราพูดเป็นสิ่งดีนะ เขาก็ยอมรับและเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งดี แต่เขาไม่เอา ไม่ทำ ไม่ต้องมาบอก ไม่ต้องมาสอน อยากจะทำก็ทำไป ฉันไม่ทำก็เรื่องของฉันฉันยินดีจะเสพกิเลสนี้ต่อไป ยินดีที่จะทำชั่ว ยินดีที่จะไม่ทำดี ยินดีที่มัวเมาเศร้าหมองต่อไป ฉันมีความสุขในแบบของฉันปล่อยฉันเป็นในแบบของฉัน อยากสอนก็ไปสอนคนอื่น…ทีนี้ถ้าเราปล่อยวางความติดดียึดดีถือดีไม่ทันละก็ มีโอกาสได้ผิดใจกันอย่างแน่นอน เพราะยิ่งเขาถอย เราก็จะยิ่งยัดยาแรงมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสกระทบกระทั่งกันด้วยความยึดมั่นถือมั่นของแต่ละฝ่ายมากขึ้น

ดูสิว่ากิเลสมันรุนแรงได้ขนาดนี้ มีพลังขนาดสะท้อนพลังดี สะท้อนพลังบุญที่จะพาลดกิเลส ถ้าจิตใจของเขาเต็มไปด้วยกิเลสแบบนี้ ต่อให้อีกกี่สิบผู้วิเศษมาบอก มาสอน มาแนะนำ ก็เอาไม่อยู่หรอก จะยัดให้ตายก็ยัดไม่เข้า ดีแค่ไหนเขาก็ไม่เอา ก็เขามีกิเลสอยู่เต็มหัวใจแล้วยังจะมีที่ว่างตรงไหนให้บุญเข้าไปแทรก

ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องยอมปล่อยวาง ปล่อยให้เขาทำบาปทำชั่ว หรือใช้ชีวิตไปวันๆ ซึมเซาหม่นหมองไปเรื่อยๆ ยอมปล่อยเขาไป แม้ว่าทางที่เขาไปจะเป็นนรกก็ตาม วันใดที่เขาทุกข์เกินทน เมื่อเขาสะสมความชั่วที่เขาทำจนสุกงอม วิบากบาปจะส่งผลให้เขาได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัส

เหมือนดังพระเทวทัตปองร้ายพระพุทธเจ้า หาวิธีทำร้ายทำลายพระพุทธเจ้าสารพัด แต่สุดท้ายตัวเองโดนธรณีสูบจนร่างแหลก เจ็บปวดทรมานจนกระทั่งสำนึกบาปของตน จึงตั้งจิตขอเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าท่านได้พยากรณ์ว่า หลังจากที่พระเทวทัตต้องรับกรรมทุกข์ทรมานในนรกชั่วกัปชั่วกัลป์พระเทวทัตจะทำดีบำเพ็ญเพียรจนได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ใดองหนึ่งในอนาคต …เห็นไหมว่าขนาดคนที่ชั่วสุดชั่วอย่างพระเทวทัต สุดท้ายก็จะเปลี่ยนมาเป็นคนดี ดีขนาดพระปัจเจกพุทธเจ้าเชียวนะ แต่ก็ต้องทนรับใช้กรรมไปก่อน อีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ที่กว่าจะหมดวิบาก

เมื่อเราทำชั่วที่สุด เดี๋ยวก็ต้องกลับมาทำดีอยู่ดีนั่นแหละ เหมือนเดินไปเจอทางตันสุดท้ายมันก็ต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้นกันใหม่ เดินผิดทางเดินถูกทางไปเรื่อยๆ เมื่อทำดีไปเรื่อยๆชาติใดชาติหนึ่งก็จะเจอวิธีพ้นทุกข์ เลิกทำบาป ทำแต่ความดี ทำจิตใจปล่อยวางความเศร้าหมองได้ บรรลุธรรมกันได้สักชาติหนึ่งละนะ

คนที่เราคาดหวังว่าจะช่วยเขาหรือหวังจะให้เขาดีขึ้นก็เช่นกัน ถึงแม้เราจะไม่สามารถช่วยได้ วันใดวันหนึ่งเขาก็จะทำทุกข์ไปเรื่อยๆจนได้รับวิบากกรรม เขาก็จะเข้าใจได้เองว่าสิ่งที่เขาทำมันบาปมันไม่ดี ถึงแม้จะสำนึกในชาตินี้ไม่ได้ ก็อาจจะไปสำนึกในชาติหน้าก็ได้ เพราะบุญบาป วิบากกรรมมันก็ตามติดตัวเป็นสมบัติของเขาไปนั่นแหละ วันใดวันหนึ่งเขาก็ต้องบรรลุธรรมแน่นอน

ส่วนเรานั้น เมื่อได้ทำหน้าที่มิตรที่ดี คอยแนะนำ ช่วยแก้ปัญหาเท่าที่จะทำได้แล้ว ถึงแม้เขาจะไม่ทำตามที่เราหมาย ก็ให้ปล่อยวางเสีย คือให้ทำดีแล้ววางดีตรงนั้นเลย ทำดีเสร็จก็จบไป จะเกิดสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะการจะเกิดสิ่งดีหรือเขาสามารถฟังเราจนแก้ปัญหาได้นั้น เกิดจากหลายปัจจัย คือบุญบาปของเรา บุญบาปของเขา สังเคราะห์กันให้เกิดผล ซึ่งอาจจะเป็นดี ร้าย หรือไม่เกิดอะไรเลยก็ได้วันหนึ่งถ้าเขาเข้าใจที่เราบอก เราก็ค่อยแนะนำเขาอีกทีก็ได้

…คนบาปคนหลงมัวเมาเป็นเรื่องธรรมดา

การที่คนจะเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั้น ในยุคนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเป็นยุคที่เต็มไปด้วยการส่งเสริมกิเลส เรามีการทำการตลาดเป็นกิจกรรมส่งเสริมกิเลส ทำให้คนอยากมี ทำให้คนอยากได้ ทำให้คนไม่รู้ดีรู้ชั่ว เช่น เราเริ่มนุ่งน้อยห่มน้อย เริ่มจะไม่สงวนร่างกายเพราะเราหลงไปว่าดี เข้าใจไปว่าการอวดเนื้อหนังเป็นสิ่งดี คนส่วนใหญ่ก็หลงตามไปด้วยนะว่าดี แท้จริงแล้วนั่นเป็นบาป เป็นอกุศล เป็นทุกข์แท้ๆเลยทีเดียว

ทุกวันนี้เราเองก็ยังแทบจะแยกไม่ออกว่าสิ่งใดที่ชั่วหรือดีแท้ต่อชีวิตเรา บางครั้งสิ่งที่เขาว่าดี แต่ทำไมพอเราเอามาใช้ เอามาเสพกลับเกิดทุกข์ โชคดีที่เรายังมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบว่าสิ่งใดดีสิ่งใดชั่ว โดยใช้ธรรมะหรือศีลของพระพุทธเจ้าเป็นหลักยึด

….ลองเป็นคนบาปดูบ้างไหม

ตอนที่เห็นคนอื่นทำบาป ไม่ทำดี หลงมัวเมา เป็นทุกข์ เราก็มักจะเห็นได้ง่าย แนะนำได้ง่าย แต่พอมาเป็นที่ตัวเราเองเรากลับแก้ไม่ได้ เช่น ให้เราถือศีล ๕ เราก็ทำแทบไม่ได้แล้ว ถามว่าศีลดีไหม ก็ดี แต่ทำไม่ได้ นี่แหละคือพลังกิเลสที่มาต้านไว้ คนที่เขาสู้กิเลสไม่ได้ก็แบบนี้แหละ ไม่ว่าจะพยายามยังไงมันก็จะไม่อยากสู้ จะไปเสพท่าเดียว ไม่คิดด้วยว่ากิเลสคือความทุกข์ เข้าใจว่าการได้เสพสมใจคือความสุข กอดกิเลสไว้อย่างนั้นยึดกิเลสเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ยึดเป็นตัวเป็นตน

ถ้าเรายังรู้สึกว่าเราเก่ง แล้วคนอื่นต้องทำได้อย่างเรา ก็ลองไปหาคนที่เก่งกว่า หรือลองถือศีลที่ยากขึ้น เช่น ศีล ๘ ศีล๑๐,กินมังสวิรัติ กินจืด กินมื้อเดียว ไม่แต่งตัวไม่แต่งหน้า แล้วเราก็จะรู้ว่าจริงๆแล้วเราก็ไม่ใช่คนดีสักเท่าไหร่หรอก เรายังมีกิเลสอีกมาก แค่เรามองไม่เห็นตัวเองเท่านั้นเอง เรามัวแต่เอาตาไปมองคนอื่น ไม่เคยมองตัวเอง ทั้งๆที่ควรจะแก้กิเลสของตัวเองก่อนแล้วค่อยไปแก้คนอื่น งานตัวเองยังไม่เสร็จเลย ชอบรีบไปวิจารณ์งานคนอื่น

บาปคือการสั่งสมกิเลส ศีลเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นกิเลสที่เหลืออยู่ได้ชัดเจน ตราบใดที่เราถือศีลแล้วยังทุกข์จากการถือศีล นั่นแหละคือเรามีกิเลส มีบาป

….เมื่อเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้ว

ทุกคนอยากทำดี อยากเป็นคนดี อยากเป็นที่รักของคนอื่น ไม่มีใครที่อยากทำบาป อยากเศร้า อยากหลง อยากมัวเมา เพียงแค่เขาไม่รู้ว่ามันเป็นบาป และถึงเขาเหล่านั้นจะรู้ว่ามันไม่ดี ก็ไม่สามารถที่จะหยุดความอยากนั้นไว้ได้ เพราะแรงแห่งกิเลสนั้นมักจะมีพลังรุนแรงกว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่เสมอ จะบอกว่าการไม่ทำบาปดีไหม หลายคนก็ตอบว่าดี เรารู้กันทุกคน แต่ทำกันไม่ได้ มันฝืนใจ มันทรมาน ไปเสพกิเลสแล้วมีความสุขมากกว่า ใครจะอยากมาอดทนฝืนทวนกระแสกิเลส มาล้างกิเลสกันล่ะ

ทุกวันนี้เราอยู่กับสังคมและโลกในยุคมอมเมากิเลส แม้ว่าเราจะทำบุญทำทาน แต่ก็ยังไม่รู้ตัวว่าทุกวันนี้เราได้สะสมกิเลสเข้าไปทุกวัน เราอยากกินของอร่อยมากกว่าเดิมใช่ไหม , เราแต่งหน้าจัดแต่งตัวโป๊กว่าเดิมใช่ไหม , เราใช้เงินเก่งกว่าเดิมใช่ไหม ,เราอยากได้อยากมีมากขึ้นใช่ไหม, เรามีความอดทนน้อยลงใช่ไหม , เราโกรธกันง่ายขึ้นใช่ไหม , เราให้อภัยกันน้อยลงใช่ไหม นี่แหละพลังแห่งการร่วมกันสั่งสมกิเลสบนโลกใบนี้ ทุกคนต่างช่วยกันเสพ ช่วยกันเติมกิเลสให้แก่กันและกันอย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น

เรื่องกิเลสไม่ดีทุกคนก็รู้ แต่ปัญหาคือไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน ไม่มีใครพาล้าง พาฆ่า พาทำลายกิเลส เรื่องการชำระกิเลสเหล่านี้ต้องให้ผู้ที่ทำเป็นสอนเท่านั้น จะคิดเอาเอง นึกเอาเอง มั่วเอาเองไม่ได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า การที่เราจะบรรลุธรรมหรือล้างกิเลสได้ เราต้องพบกับสัตบุรุษ คือคนผู้มีสัจจะแท้ มีธรรมที่สวนกระแสโลก มีโลกุตตรธรรมอยู่จริง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสอนได้ ไม่ได้หมายความว่าแค่บวชเป็นพระจะสอนได้ ไม่ได้หมายความว่าเข้าใจธรรมะปฏิบัติธรรมแล้วจะสอนได้ แต่ต้องเป็นคนที่ล้างกิเลสเป็นจึงจะสอนได้

วิธีที่จะพบสัตบุรุษนั้นไม่จำเป็นต้องไปค้นหา ไม่ต้องไปตรวจค้นสืบค้นจากที่ไหน เพราะถึงจะหาแทบพลิกแผ่นดินยังไงก็จะหาไม่เจอ แต่ที่ต้องทำคือทำดีไปมากๆ อดทนทำดีไปอย่างตั้งมั่น ทำบุญทำทาน ทำงานอย่างเต็มที่ ทำหน้าที่อย่างเต็มใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติศีลให้เคร่งครัด แต่ไม่เครียดจนทรมาน ลดการเบียดเบียน ลดเนื้อกินผัก หาทางทำดีไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็จะได้พบเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

21.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์