Tag: ที่พึ่ง
รักที่พาเจริญ ต้องไม่ทำร้าย
รักที่พาเจริญ ต้องไม่ทำร้าย
ความเห็นที่ว่าการมีรักนั้นก็พากันให้เจริญได้ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปทั้งทางโลกทางธรรม จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ ไม่มีการทำร้ายกัน ไม่อย่างนั้นแล้ว วาทกรรมเหล่านั้นก็เป็นเพียงแค่คำลวงของมารที่จะล่อใจคนให้หลงเสพหลงสุข ลวงให้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวเท่านั้นเอง
การทำร้ายนั้นมีหลากหลายมิติ ถ้าแบ่งชั้นต้นก็เป็นการทำร้ายร่างกายและจิตใจ ในมิติของการทำร้ายจิตใจก็จะมีรายละเอียดที่ลึกซึ้งแตกต่างกันไป
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำร้ายร่างกาย
การทำร้ายร่างกายนั้นเป็นการทำร้ายที่หยาบที่สุด เห็นได้ชัด ไม่ใช่ความปกติของคนดีมีศีล แต่เป็นธาตุของคนทุศีลที่หมายทำร้ายผู้อื่น เพื่อให้สาแก่ใจตน การทำร้ายกันในคู่รักมักจะมีความจัดจ้านรุนแรง ไม่เหมือนกับพ่อแม่ที่ตีลูกไป ตัวเองก็เสียใจไป การลงโทษลงทัณฑ์ โดยการทำร้ายในนามแห่งความรักนั้น มักจะมีความรุนแรงกว่าเหตุการณ์ปกติในชีวิตทั่วไป ใครไม่เคยเจอการทำร้ายกัน ก็อาจจะได้มาเจอกับคนรักที่ทำร้ายนี่แหละ บางคนพ่อแม่ไม่เคยตี แต่ก็มาโดนคู่รักทำร้าย อันนี้ก็เป็นตัววัดความไม่เจริญอย่างหยาบ การทำร้ายร่างกาย จะยิ่งทำให้เสื่อมจากความดีงามไปเรื่อย ๆ จนเป็นทำร้ายกันรุนแรงขึ้น ถึงขั้นฆ่ากันตายมีให้เห็นเป็นตัวอย่างกันมามากมาย
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำร้ายจิตใจ
ในการทำร้ายจิตนั้น เบื้องต้นก็เป็นการทำร้ายร่างกายที่มีผลต่อจิตใจ อันนี้ก็เป็นอย่างหยาบ ละเอียดขึ้นมาหน่อยก็เป็นการใช้คำพูด ภาษา ในการทำร้ายจิตใจกัน ละเอียดขึ้นมาอีกก็เป็นการชักสีหน้า ออกอาการไม่พอใจ กดดันอีกฝ่าย ทำร้ายจิตใจกัน หรือเย็นชาสุด ๆ ก็กลายเป็นไม่พูด ไม่สนใจ กดดันโดยการคว่ำบาตร ก็เป็นการทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย การกระทำเหล่านี้จะมีเจตนาเป็นตัวกำหนดว่าตั้งใจทำให้อีกฝ่ายเป็นทุกข์ ต้องการสั่งสอน ลงทัณฑ์ ใช้อำนาจแห่งความรักในการทำร้ายกัน ถ้าไม่ได้มีเจตนาแฝงว่าทำไปเพื่อเสพสมใจตน ทำไปเพื่อให้เขายอมตน หรือทำไปเพื่อต้องการเอาชนะ ต้องการเพียงจะสื่อสาร อยากให้เขาปรับตัว ให้พ้นทุกข์โดยไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ส่วนใหญ่แล้ว มักจะทำร้ายจิตใจผู้อื่นเพื่อเอาใจตนเองเป็นหลัก คือเอาแบบฉัน ฉันถูกที่สุด เธอผิด อะไรแบบนี้
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำให้หวั่นไหว
การที่จะเจริญไปในทิศทางแห่งความผาสุกได้นั้น ใจจะต้องไม่หวั่นไหว การที่จะมีความรักแล้วต้องทนอยู่กับความหวั่นไหว จะเรียกว่าเป็นความเจริญนั้นเป็นไปไม่ได้เลย คนจะหวั่นไหวกันตอนไหน ก็เช่น ตอนเขามาจีบ ก็ตอนเขาบอกรัก หรือบอกเลิกกันนั่นแหละ คำเหล่านั้นล้วนเป็นคำที่มีเจตนาทำให้คนหวั่นไหว จิตใจสั่นคลอน อ่อนแอ ยอมรับรัก ยอมเป็นทาสรัก ยอมสารพัดยอม ยอมพลีกาย พลีใจให้กับการกระทำหรือคำพูดที่พาให้หวั่นไหว ให้ใจหลงเคลิ้ม อันนี้ก็เป็นการทำร้ายของมารที่แฝงมา คนดีมีศีลจะไม่ทำให้ใครหวั่นไหว จะไม่ล่อลวง จะไม่จีบ สุภาพบุรุษที่แท้จริงนั้นจะไม่จีบใคร ไม่เกี้ยวพาราสี เพราะเป็นเหตุที่จะทำให้คนหวั่นไหว เป็นทุกข์ กระวนกระวายใจ ก็เป็นการทำร้ายกันในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น เป็นมิติที่คนทั่วไปยากจะเข้าใจแล้ว เพราะเขามองว่าการจีบกันรักกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในทางธรรมนะนั้น การทำให้หวั่นไหว ให้เกิดความใคร่อยาก ให้เกิดความกลัวที่จะไม่ได้เสพ ก็มีแต่มารเท่านั้นแหละ ที่จะทำสิ่งนั้น
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำให้หลง
การทำให้หลง เป็นการทำร้ายจิตใจกันอย่างลึกซึ้งแบบข้ามภพข้ามชาติ ทำให้อ่อนแอ เป็นทาส ขาดอิสรภาพ เหมือนคนตาบอด มืดมัว เศร้าหมอง อยู่แต่ในกรอบที่มารกำหนดไว้ คือรักแต่ฉัน หลงแต่ฉัน เชื่อแต่ฉัน ทุ่มเทชีวิตให้ฉัน การทำให้อีกฝ่ายอ่อนแอและไม่พึ่งตนเอง คือการทำลายศักยภาพของการเป็นมนุษย์ เป็นเบื้องต้นของการกระทำของมาร คือแสร้งว่า ฉันจะให้ความรัก ให้ความปลอดภัย ให้ความสุข ให้ความเจริญ เธอจงมาพึ่งฉัน อยู่กับฉัน ฯลฯ จะมีการหว่านล้อมให้หลงรัก หลงเชื่อใจ จนยอมทิ้งชีวิตจิตใจฝากไว้กับคน ๆ นั้น ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ให้พึ่งตน ให้มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง คือปฏิบัติให้ตนมีความเป็นพุทธะ ธรรมะ สังฆะในตนนั่นแหละเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่เอาคู่รักเป็นที่พึ่ง แต่รักที่ทำร้าย เขาจะไม่ให้ไปพึ่งคนอื่น เขาจะให้พึ่งพาแต่เขา เขาจะให้หลงแต่เขา ให้รักแต่เขา ให้มัวเมาแต่เขา
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำลายอิสระในการทำดี
ความเจริญกับการทำดีนั้นเป็นของคู่กัน ถ้าความรักหรือคู่รักนั้นมาขัดขวางการทำดี นั่นก็แสดงว่า ความรักนั้นกำลังขัดขวางทางเจริญ การทำดีนั้นก็มีเรื่องของการทำทาน การถือศีลให้เกิดความลดละกิเลสได้ แต่ความรักผีที่แฝงตัวมาจะกั้นไม่ให้คนทำทาน ไม่ให้คนเสียสละ บางคนเสียเงินพอทนได้ แต่จะให้ไปปฏิบัติธรรม ทำดีกัน 5 วัน 10 วัน นี่เขาจะไม่ปล่อย เขาจะไม่ยินดี เขาจะกั้น สารพัดเหตุผล บ้านต้องดูแล งานต้องทำ เงินต้องหา ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่องค์ประกอบเหตุปัจจัยมันอาจจะไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น หรือในเรื่องถือศีล คู่รักกับศีล ๘ ในข้อประพฤติพรหมจรรย์จะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกัน เพราะเป็นธาตุตรงข้าม ผีกับมาร แค่ถือศีล ๕ ก็ว่ายากแล้ว ศีล ๘ นี่ยิ่งยากไปใหญ่ เขาจะไม่ยอม คนที่เขามีกิเลส มีความอยากมาก ๆ เขาจะไม่ยอมให้คู่ถือศีล ๘ เขาจะกั้นจากความดีที่เลิศกว่า จะจำกัดอิสระ ขังไว้ในความดีน้อย ๆ ความดีที่ต้องมีฉันเป็นกำแพง มีฉันเป็นเพดาน ดีไม่ดีเอาลูกมาผูกไว้อีก ดังที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกบุตรว่า บ่วง เพราะท่านรู้ว่านี่คือสิ่งที่จะผูกมัดท่านไว้ มารก็จะทำแบบนี้เช่นกัน เขาจะมัดคู่ไว้ด้วยการมีลูก คือสร้างบ่วง สร้างห่วงขึ้นมาให้มันมีเหตุที่จะต้องอยู่รับผิดชอบ ให้อยู่เล่นละครพ่อแม่ลูกไปกับเขา กั้นไม่ให้เราเหลือเวลาเอาไปทำความดีแก่ผองชนมาก ๆ ให้เราทำดีแต่ในคอกแคบ ๆ ที่เรียกว่าครอบครัว
รักที่พาให้เจริญต้องไม่ผูกมัด
ความยึดมั่นถือมั่น คือการทำร้ายจิตใจตนเองและผู้อื่น ความเจริญนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อผู้มีความรักนั้น รักอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น นั่นหมายความว่า ถ้าคู่ของเขา พร้อมจะจากไป ก็ยินดี ยอมให้ไปโดยไม่เหนี่ยวรั้ง เคารพสิทธิ์ เคารพความคิด คือ ถึงบทที่จะต้องจากกัน หรือมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็ไม่ยึด ยื้อ รั้ง กันไว้ ไม่ตรงก็ไม่ขังเขาไว้ ก็ปล่อยไปตามทางที่เขาเลือก ไม่ใช่เป็นไปตามใจที่เราเลือก ให้อิสระกับเขา ไม่ผูกมัดเขา ปล่อยวางจากเขา อันนี้คือความเจริญ ส่วนความเสื่อมก็คือไปล่อลวง อ้อนวอน หลอกล่อเขาไว้ให้อยู่กับตน พยายามจะผูกมัดเขาไว้ด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ อันนี้ความรักผี พาให้เป็นทุกข์ ตัวเองก็เป็นทุกข์ คนอื่นก็เป็นทุกข์ แสดงให้เห็นความคับแคบในใจ จะเอาแต่ใจตน ใจไม่กว้าง คิดจะรักต้องใจกว้าง ให้อิสระ เคารพความเห็นของคนอื่น ให้สิทธิ์เขาเลือกที่จะเดินเข้ามาหรือจากไป โดยไม่ยึดมั่นถือมั่น
รักที่พาเจริญต้องไม่หลอกหลอน
รักที่พาให้หลง คือความรักที่ทำให้จิตเกิดความหลอกหลอน วนเวียนเสพสุขกับความทรงจำ ที่แม้ปัจจุบันจะไม่เหลืออะไรแล้ว แต่ความสุข ความเศร้า บทละครมันยังวิ่งวนเวียนหลอกหลอนอยู่ในหัว คิดถึงทีไรก็เป็นสุข สุขที่ได้เสพความทรงจำ หอมหวานอยู่ในภพที่ฝังตัวเองไว้ ติดตรึงใจ หลอกหลอนไม่รู้ลืม ความรักที่พาให้เจริญจะไม่สร้างผลแบบนี้ จะมีเฉพาะความรักแบบผี หรือรักด้วยกิเลสเท่านั้น ที่สร้างผลที่จะหลอกคนให้หลงหลอนอยู่ในภพแห่งความฝัน
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำให้เกิดทุกข์
ในมิติที่ละเอียดลึกซึ้งที่สุดคือ รักแล้วต้องไม่มีทุกข์ในใจเลย จึงจะเจริญได้ ถ้ายังมีทุกข์อยู่แสดงว่ายังไม่เจริญ ความเจริญคือความไม่ทุกข์ ไม่ใช่การจมอยู่กับทุกข์ อันนั้นเรียกว่าเสื่อม ไม่เจริญ ถดถอยไปเรื่อย ๆ อันนี้ต้องใช้สติไปจับอาการทุกข์ของตัวเองกันดี ๆ ว่ามีทุกข์เกิดมากเท่าไหร่ ทุกข์ขนาดไหน ในชีวิตประจำวัน ความกังวล ระแวง หวั่นไหว นั้นก่อให้เกิดทุกข์ แค่คู่ครองไม่รับโทรศัพท์ คู่ครองกลับบ้านไม่ตรงเวลา คู่ครองไปคุยกับคนอื่น มันจะผาสุกไหม มันจะทำใจให้เบิกบานได้ไหม ถ้ากระทบกับความไม่ได้ดั่งใจแล้วใจยังมั่นคงอยู่ในความผาสุกได้ก็เจริญ แต่ถ้าหวั่นไหว ทุกข์ทนข่มใจไปตามสถานการณ์ ที่เหมือนกับเรือที่ลอยอยู่ท่ามกลางทะเลที่แปรปรวนด้วยลมพายุ แม้จะทรงตัวอยู่ได้ ก็ใช่ว่าจะทนอยู่ได้ตลอดไป ก็อาจจะต้องพ่ายแพ้อับปางลงสักวัน ไม่เหมือนกับคนที่ปฏิบัติจนไม่ทุกข์ อันนั้นเขาไม่ติดโลก ไม่ติดทะเล เหมือนลอยอยู่ในอากาศ ความแปรปรวนใด ๆ ล้วนไม่มีผล ไม่น่ายึดไว้ ก็แค่ไปหาสภาพที่ดีกว่าอยู่ ไปหาที่สงบจากความแปรปรวน สงบจากความโลภ โกรธ หลง เพราะการอยู่กับคนที่มีกิเลสมาก ๆ รังแต่จะสร้างปัญหาให้ แม้จะไม่ทุกข์ใจ แต่ก็เป็นความลำบากกายที่ต้องทนรับไว้ เป็นภาระ เป็นบ่วง ดังนั้น คนที่เจริญ เขาจะไม่ยึดสภาพคู่ครองไว้ เพราะมันเป็นสภาพที่ไม่น่าเสพ เป็นภาระ เป็นความลำบาก พอไม่ยึดติด มันก็ไม่มีความสำคัญแบบมีกิเลสเป็นตัวแปรในตัวบุคคล ที่เหลือก็แค่ประเมินว่าที่ไหน ตรงไหน ตนเองจะทำประโยชน์ได้ดีกว่าเท่านั้นเอง
…ก็ลองพิจารณากันดู ประตูแรกของการจะข้ามพ้นความหลงในความรักก็คือ ยอมรับว่ามันทุกข์ ยอมรับว่ามีแล้วมันก็ไม่ได้พาเจริญกันอย่างที่เขาว่ากันหรอก ก็มีแต่กามแต่อัตตานั่นแหละที่จะเติบโตขึ้น พากิน พาเสพ พาเมา พาโลภ โกรธ หลง พายึดกันอยู่ทุกวี่วัน จะหาความเจริญมาจากไหน?
8.1.2563
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
สรณะ..เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง
สรณะ…เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง
ในสังคมที่สับสนวุ่นวายทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีความสะดวกสบาย มากมายไปด้วยสิ่งบำรุงบำเรอกิเลส แต่มันก็ไม่เคยจะทำให้ใครมีความสุขได้อย่างยั่งยืน เพราะการสนองกิเลสนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้อย่างยั่งยืน แต่คนก็มักจะหลงมัวเมาไปพึ่ง ไปยึดว่าการสนองกิเลสนั้นดี ต้องใช้ชีวิตให้เต็มที่ สนองกิเลสให้เต็มที่ เพราะหลงผิดคิดไปว่าเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้ได้เสพสุขมากที่สุด
ความสุขจากกิเลสนั้นเหมือนความสุขลวงๆ เหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด สุขอยู่ได้ไม่นานแล้วก็หายไป แต่ทิ้งทุกข์ไว้ให้นานแสนนาน เหมือนกับนายทาสที่เอาของกินมาล่อมาเลี้ยงไว้ แล้วถึงเวลาใช้งานก็เอาแส้ฟาดให้เราลากของ ให้เราทำงาน ให้เราพาไปยังที่ที่เขาหมายเพียงเพื่อที่จะได้เสพเศษแห่งความสุขเพียงน้อยนิด
แต่โลกในยุคนี้ก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น ยังมีมหาบุรุษที่รู้ทุกอย่างในมหาจักรวาลที่บังเกิดขึ้นเมื่อกว่า ๒๖๐๐ ปีก่อนและส่งต่อคำสั่งสอนมาให้ ผ่านอริยสาวกของท่านจากรุ่นสู่รุ่น
แม้สังคมและชีวิตทุกวันนี้จะมีแต่ความทุกข์จากความสับสนวุ่นวาย แต่ถ้าเรายึดพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยึดพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยึดพระสงฆ์ อริยสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ชีวิตก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ เป็นไปในแนวทางที่ถูกที่ควร เป็นไปในทางลดการสะสมกิเลส เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน
ชาวพุทธที่จะมีปลายทางสู่การพ้นทุกข์ จะยึดพระรัตนไตร คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีสามสิ่งนี้เป็นที่พึ่งเท่านั้น ที่พึ่งอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่มี
การไปพึ่งพาสิ่งอื่นนั้นนอกจากจะไม่เกิดความสุขแล้วยังจะสร้างความทุกข์ความฉิบหายได้อีก บางคนมีวิบากกรรมที่ต้องไปเชื่อ ไปหลง ไปงมงาย ไปมัวเมา ในเดรัจฉานวิชา เช่น การทายใจ ทำนายฝัน ปลุกเสก หมอผี ดูดวง ดูฤกษ์ ดูโหงวเฮ้ง หมอดูต่างๆ การบนบาน ทำพิธีบวงสรวง รดน้ำมนต์ พยากรณ์ทำนายทายทักต่างๆ และอื่นๆอีกมากมาย ( สามารถหาข้อมูลเพิ่มได้จากการศึกษามหาศีล ซึ่งเป็นศีลแบบกว้าง ครอบคลุมการเลี้ยงชีพ ไปจนถึงประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิต ที่เป็นไปในเชิงสังคม)
เดรัจฉานนั้นคือความโง่ เดรัจฉานวิชาก็คือวิชาที่คนโง่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้หลอกคนโง่กว่าอีกที ก็หลงโง่กันไปทั้งคนใช้คนเสพ…
คนที่ไปพึ่งพาสิ่งที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้น จะไม่มีทางพ้นทุกข์ เพราะยังหลงอยู่กับสิ่งมัวเมาในระดับหยาบ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่ทางสู่ความเจริญ ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ยิ่งไปพึ่งพาก็ยิ่งจะพาให้ทุกข์ แต่ผู้มีวิบากบาปก็จะมองไม่เห็น ไม่เข้าใจ และหลงมัวเมาอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ชาวพุทธผู้มีปัญญา พึงระลึกว่ามีเพียงพระรัตนไตรเท่านั้นเป็นที่พึ่ง แม้แต่เทพเจ้า ตำนาน หรือคำกล่าวอ้างใดๆ ก็ไม่ใช่ที่พึ่งทางใจของเรา
ผู้ที่ยังบูชา เทวดา เทพเจ้า หรือเทพต่างๆ อยู่นั้น คงยากที่จะพ้นทุกข์ ยกเว้นเสียแต่เทพเจ้าที่บูชาเคารพและยึดเป็นที่พึ่งนั้นจะเป็นอริยสาวกคือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ถ้าไม่จัดอยู่ในหมวดของพระรัตนไตร บูชาไป พึ่งพาไปก็มีแต่จะหลงทาง แต่ถึงจะบูชาถูกตรงแต่บูชาเพียงรูปคือขอแค่กราบไหว้ ขอแค่ได้เคารพ ขอแค่ได้ร่วมบุญ ขอแค่มีที่ระลึกติดไว้ที่บ้าน นั้นก็เป็นเพียงความเข้าใจที่ยังตื้นเขินนักไม่ทำให้พ้นทุกข์อีกเหมือนกันเพราะไม่ได้นำมาปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าในยุคของเรานี้มีพระโคดมพระองค์เดียว และท่านก็ได้ตรัสไว้ว่า ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี ประกอบกับธรรมในข้อ วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย ผู้ที่ยังไม่มั่นใจก็จะลังเลสงสัย จะเหมารวมว่าศาสนาอื่นๆก็ปฏิบัติได้เหมือนกัน เข้าใจว่าทำให้พ้นทุกข์ได้เหมือนกัน เข้าใจว่าทางพ้นทุกข์มีหลายทาง… แต่ในความเป็นจริงคือ การพ้นทุกข์ในระดับการดับกิเลสนั้น มีในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น ลัทธิอื่นนอกศาสนาพุทธไม่มี
ทีนี้เราก็มักจะเข้าใจตามที่คนอื่นว่า ท่านนี้ท่านนั้นเป็นอรหันต์บ้างละ ตำนานเขาว่ากันอย่างนั้นบ้างละ มีหลักฐานว่าอย่างนั้นบ้างละ แต่จริงๆคือเราเชื่อตามเขาเท่านั้น เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณสมบัติของพระอริยะมีอะไรบ้าง ถึงจะรู้ก็ดูไม่ออกอยู่ดี แต่ก็มีที่เขาว่าหลงเข้าใจผิดว่าตนเองบรรลุธรรมก็มีมากเหมือนกัน เอาเป็นว่าถ้าเราไปเชื่อตามเขากล่าวอ้างกันมานั้นก็คงจะไม่ดีแน่ เรื่องนี้เรายกไว้ก่อนจะดีกว่ารอดูไปก่อนจะดีกว่า อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขากล่าวอ้าง อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขาเป็นครูบาอาจารย์ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคนเขาพูดกันมา สังคมเขาเชื่อกันมา ให้ลองดูก่อน ลองนำแนวทางคำสั่งสอนมาปฏิบัติดู ถ้าชีวิตไม่ดีขึ้น ทุกข์หนักขึ้นก็ให้ถอยออกมา แต่ถ้านำคำสั่งสอนมาปฏิบัติแล้วชีวิตดีขึ้น ตัวเราและคนรอบข้างเป็นสุขมากขึ้น ความยึดมั่นถือมั่นน้อยลง ความอยากได้อยากมีน้อยลง ก็ให้ปฏิบัติตามต่อไปเรื่อยๆ
การยึดพระรัตนไตรเป็นสรณะ…
ในอีกแง่มุมหนึ่งของการยึดพระรัตนไตรเป็นที่พึ่งพา ที่อาศัย คือการทำตัวเองให้ความเป็นในสิ่งนั้นๆ คือการเรียนรู้ธรรม (ปริยัติ) การปฏิบัติธรรม(ปฏิบัติ) จนกระทั่งเกิดภาวะที่สามารถเข้าใจถึงธรรมนั้นๆได้อย่างถ่องแท้ (ปฏิเวธ) เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดังนั้นสุดท้ายการพึ่งพระรัตนไตรก็ต้องน้อมเข้ามาสู่ตัวเอง
เราจะไม่รอให้ใครหรืออะไรมาดลบันดาลความสุขให้ เราไม่รอให้วิบากกรรมส่งผลให้เราทุกข์เกินทนจนเลิกทำชั่ว แต่เราจะพาตัวเองให้พ้นทุกข์เอง โดยการศึกษาพระธรรม ควบคู่ไปกับการปฏิบัติ คือการลด ละ เลิก การยึดมั่นถือมั่นกิเลสเป็นของตน จนกว่าจะถึงสภาพของการหลุดพ้นจากกิเลส เบื่อหน่ายคลายจากกิเลส มีปัญญารู้แจ้งถึงกิเลสนั้นๆ รู้ไปจนถึงว่ากิเลสนั้นดับสนิทแล้ว
เมื่อยึดพระรัตนไตรมาสู่ตนเองอย่างแท้จริงแล้ว ก็เหมือนว่าเส้นทางชีวิตของเราจะถูกขีดไว้ให้เดินไปแต่ในทางเจริญทางด้านจิตใจ แม้ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างคนปกติทั่วไป ทำงานออฟฟิศ มีธุรกิจส่วนตัว ไม่ว่าจะมีวิถีชีวิตแบบใด ถ้ามีการนำพระรัตนไตรเป็นที่พึ่งเป็นที่ยึดอาศัยแล้ว เราก็จะมีโอกาสเข้าถึงความสุขแท้กันได้ทุกคน
– – – – – – – – – – – – – – –
8.9.2557
เรากราบอะไร?
เรากราบอะไร?
อย่างที่รู้กันว่า คนไทยส่วนมากในประเทศไทยนั้น นับถือศาสนาพุทธ เราเป็นพุทธมาตั้งแต่เกิด เป็นพุทธตามทะเบียนบ้าน เรายึดถือและเข้าใจกันตามที่สังคมพากันปฏิบัติ โดยที่เราเองก็ไม่เคยได้ไปศึกษา “ศาสนาพุทธ” ให้ลึกซึ้งรู้จักแค่เพียงพุทธในภาพและรูปแบบที่บอกต่อกันมา…
เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น ทั้งคนทำงานและคนเกษียณ ต่างพากันหาที่พึ่งทางใจ เนื่องด้วยชีวิตที่ยิ่งนานวันไปทุกข์ก็ยิ่งมาก แม้จะมีการงานดี ฐานะมั่นคงดี ลูกหลานดี ญาติมิตรดี บริวารดี แต่ก็หนีไม่พ้นทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ …วัดหรือพระชื่อดังที่เก่าแก่ก็เลยกลายเป็นที่พึ่งของผู้ศรัทธาเหล่านั้น
ผู้ศรัทธาเหล่านั้นต่างตระเวนไปทั่วทุกสารทิศ เพื่อกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จนทุกวันนี้มีให้เห็นธรรมะทัวร์เป็นธรรมดา เราตระเวนไปกราบอะไร? เรากราบพระใช่ไหม? แล้วพระที่บ้านกับพระที่เราไปกราบต่างกันอย่างไร? ในเมื่อพระพุทธรูปนั้นก็คือตัวแทนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เราระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าไม่ใช่หรือ? ดังนั้นความศักดิ์สิทธิ์ควรจะอยู่ที่ไหน?
ความศักดิ์สิทธิ์ก็อยู่ที่ทิฏฐิของเรานั่นแหละ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือมิจฉาทิฏฐิ ถ้าเข้าใจผิด ต่อให้ไหว้ทุกวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วโลก ไหว้ทั้งชีวิตก็ไม่สามารถที่จะพ้นทุกข์ได้หรอก เพราะการจะปฏิบัติจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “บุญ” นั้น จำเป็นต้องมีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็น ความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์เป็นตัวตั้งเป็นเหมือนหางเสือควบคุมทิศทางเรือ ถ้าหันผิดทางก็คงจะไปนรกสถานเดียว เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ ทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี ( เอเสวมัคโค นัตถัญโญ ) ” นั่นหมายถึงถ้าไม่เริ่มจาก สัมมาทิฏฐิ สัมมาอริยมรรคข้ออื่นๆก็คงจะผิดเพี้ยนกันไปหมด หลงทางไปหมด มัวเมาไปหมด พากันไปสู่ทางทุกข์กันหมด
ดังนั้นคนที่มีสัมมาทิฏฐิไม่ว่าจะกราบพระพุทธรูปที่ไหนก็เหมือนกัน แม้จะไม่มีพระพุทธรูปอยู่ตรงหน้า แต่กราบด้วยจิตที่ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เป็นความศรัทธาด้วยเหตุแห่งปัญญา
เรากราบพระพุทธเจ้าด้วยความเข้าใจถึงความรู้และความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของท่านที่บำเพ็ญเพียรมานานกว่าสี่อสงไขยกับอีกกว่าแสนมหากัป ยอมทนทุกข์ทรมานเพื่อที่จะเรียนรู้โลกจนแจ่มแจ้ง คือรู้ทั้งโลกียะและโลกุตระ เพื่อส่งต่อมาให้เราจนถึงปี พศ ๒๕๕๗ นี้
เรากราบพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่จะพาเราพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนเองและผู้อื่น เป็นสิ่งที่เป็นจริงตลอดกาล ไม่มีใครหักล้างได้ พิสูจน์กันได้ ใครตั้งใจทำก็สามารถเข้าถึงได้ทุกคน
เรากราบพระสงฆ์ คือ พระอริยะผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ที่เป็นตัวอย่างให้เราปฏิบัติตาม ผู้เป็นครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนความรู้แก่เรา ผู้ควรกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญที่ยังสืบเชื้อสายโลกุตระธรรมต่อจากพระพุทธเจ้า
เมื่อเข้าใจดังนี้เรา เราจะกราบพระที่ไหนก็เหมือนกัน เพราะทิฏฐิเราตั้งไว้ตรงดีแล้ว กราบที่ไหนก็ได้กุศลสูงสุดเหมือนกัน ไม่มัวเมาไปตามสิ่งที่โลกเขาพาให้เราเข้าใจ พาให้เราหลงไป เพราะเราได้เข้าใจสัมมาทิฏฐิ อันเป็นเนื้อหาสาระที่ควรเข้าถึง มิใช่ผู้ที่กราบไหว้พระพุทธรูปที่เขาว่าศักดิ์สิทธิ์ด้วยความศรัทธาเพียงเรื่องราวและคำกล่าวอ้าง
เป็นความเข้าใจที่เป็นเหมือนคลื่นแม่เหล็กนำพา ดูดดึงเอาสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิต เพราะเมื่อเราเข้าถึงคุณค่าของการกราบพระ จนกระทั่งยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ไม่มีที่พึ่งอื่นใดนอกจากนี้ เราก็จะไม่ไขว้เขว ไม่หลงทาง ทางที่เดินต่อไปก็จะเป็นทางที่มีแต่สิ่งที่ดีเป็นส่วนใหญ่ เจริญขึ้นตามลำดับ พ้นทุกข์ไปเรื่อยๆ มีความสุขมากขึ้นไปเรื่อยๆ
– – – – – – – – – – – – – – –
6.9.2557