Tag: ญาณ
พาลหลงหรือพาลแสร้งว่าเป็นบัณฑิต
มีผู้อ่านเขาถามเข้ามาในประเด็นเกี่ยวกับคนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิตนั้น เป็นไปได้ไหมว่าเขาจะหลงหรือเข้าใจผิดไปเองว่าตนเข้าใจถูก คือมีอวิชชาบังตา ไม่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล
ตอบ เป็นไปได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาลยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตนั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้”
ยากนักที่คนพาลจะรู้ตัวว่าตนเป็นคนพาล และยิ่งกว่านั้นความพาลที่สะสมความเก่ง จะแปลงผลเป็นความอวดดีจนกระทั่งสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้รู้ หรือผู้บรรลุธรรมได้
กรณีของการแสร้งทำนั้น มีทั้งแบบแสร้งทั้งที่รู้กับแบบแสร้งทั้งที่ไม่รู้ คือหลงโดยสมบูรณ์ แต่อาการแสร้งนั้นจะปรากฏเมื่อกระทบกับสิ่งที่พอใจหรือไม่พอใจ จะเห็นอาการสะบัดของจิต แต่ด้วยความหลง จากแสร้งว่าไม่มี ไม่เห็น ไม่เป็น
เพราะเวทนาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่ายังไงถ้ามีกิเลส มันจะต้องทุกข์/สุข เมื่อได้กระทบสิ่งที่ไม่ชอบใจและชอบใจแน่นอน
สภาพที่ผู้ถามถามมานั้น คืออาการของผู้ที่กำลังถูกวิบากหนึ่งใน ๑๑ ข้อ ของผู้ที่เพ่งโทษพระอริยะเล่นงาน คือ หลงบรรลุธรรม
ผู้ที่เพ่งโทษติเตียนพระอริยะจะมีวิบากหลายประการที่จะสร้างอาการทุกข์อย่างแสนสาหัสที่แตกต่างกันไป
การหลงบรรลุธรรม คืออาการที่คนคนนั้นเข้าใจว่าตนปฏิบัติถูกต้อง มีมรรคผล มีความเจริญ แม้แต่หลงบรรลุว่าตนเองเป็นอรหันต์ หรือใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าก็มี เป็นเรื่องธรรมดาของคนหลงที่จะมีมิติของความหลงเป็นอนันต์
สมัยพุทธกาลก็เคยมีนักบวชที่หลงว่าตนบรรลุ แต่สมัยนั้นมีพระสารีบุตรช่วยแก้กลับให้ คือคนหลงบรรลุธรรมนี่เขาจะเก่ง จะแน่ จะมั่นใจมาก ๆ แถมข่มคนอื่นด้วย ยากที่จะปราบ ต้องระดับอัครสาวกไปช่วยถึงจะเอาอยู่ คือแน่เหมือนอัครสาวกเลย ถ้าไม่มีภูมิธรรมที่ถูกต้องจะไม่เห็นจุดผิด
สมัยนี้ก็มีเยอะที่หลงว่าตนเองเป็นอรหันต์ ตนก็เชื่ออย่างนั้น ลูกศิษย์ก็เชื่ออย่างนั้น แต่ไม่ได้เป็นจริง ๆ หรอก เขาหลงของเขา เขาไม่มีมรรคผลอะไรเลย แค่สิ่งเสพติดหยาบ ๆ เขายังเลิกไม่ได้เลย จะฝันไปถึงสวรรค์นิพพานมันก็เกินไป แต่คนส่วนใหญ่แม้ไม่ใช่ลูกศิษย์ก็เชื่อว่าเขาบรรลุ มันเป็นวิบากบาปของคนในยุคนี้ที่จะต้องหลงตามคนเห็นผิด (ซึ่งมีเคสแบบนี้เยอะมาก)
ไม่ต้องถึงระดับเกจิหรอก เอาคนธรรมดาทั่วไปที่ศึกษาธรรมะนี่แหละ ก็มีพวกโมฆะบุรุษอยู่เยอะ เพราะเรียนธรรมะเอาไว้ข่มผู้อื่นและเอาไว้กันคนดูถูกหรือนินทา และส่วนใหญ่พวกนี้จะเฮี้ยน เป็นเหมือนจอมยุทธไปรบกับเขาไปเรื่อย เลอะเทอะไปเรื่อย ถ้ามีบารมีก็อาจจะรวมคนเป็นสำนักขึ้นมาได้ แต่กระนั้นก็จะทำเพื่อเด่น ดัง ใหญ่ ล่าบริวาร ไม่ได้พาลดกิเลส
ดังนั้นสภาพหลงเพราะถูกอวิชชาครอบงำมีจริงไหม จึงสรุปว่ามี จริง ๆ ไม่ว่าจะหลงแบบรู้หรือแบบไม่รู้ตัวก็อวิชชาทั้งนั้นแหละ ความหลงจะทำให้มีอาการแสร้งทำแทรก เพราะไม่รู้จริง ไม่บรรลุจริง พอถูกถามเข้ามาก ๆ จะโกรธ อึดอัด ขุ่นเคืองใจ แต่จะเสแสร้งแกล้งทำว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นบ้าง บอกว่าเป็นการปรุงท่าทีลีลาด้วยจิตว่างบ้าง คือจะอ้างก็อ้างได้หมดแหละ อ้างตามภาษาพระอรหันต์กันเลย แต่ทุกข์ที่มันเกิดชัด ๆ ในใจเขา เขาจะไม่ยอมรับ ด้วยเหตุผลนี้ถึงบอกว่ามันจะมีอาการแสร้งอยู่ แต่คนอื่นเขาจะรู้ได้ยาก คนที่มีภูมิสูงกว่าจะมองเห็นได้ คนที่ภูมิต่ำกว่าจะมองเห็นบิดเบี้ยวไป และตัวเองนั่นแหละรู้ชัดว่าตัวเองตอแหล แต่จะไม่ยอมรับ ไม่ฉลาดในอาการกิเลสนั้น ๆ เพราะไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้อริยสัจ ๔ มันเลยเหมือนจะไม่ทุกข์ เหมือนไม่มีกิเลส แต่กิเลสมีอยู่ ครอบงำอยู่ แต่ไม่รู้จักนั่นเอง
ในยุคสมัยนี้ก็ต้องบอกว่าถูกพาลแท้ครอบงำไปหมดแล้ว มีแต่ชื่อว่าอรหันต์ ถ้าอยากจะพิสูจน์ก็ปฏิบัติตามไปให้เต็มที่เลย จะรู้ว่าไม่พ้นทุกข์ พากเพียรยังไงก็จะไม่พ้นทุกข์ เพราะไปเอาคนพาลเป็นอาจารย์ การเอาอสัตบุรุษเป็นอาจารย์ไม่มีวันพาไปพ้นทุกข์ได้ แม้ท่านเหล่านั้นจะมีป้ายแปะไว้ว่าพระอรหันต์ก็ตามที
ที่ผมกล้าพิมพ์เพราะว่าผมชัดในทางปฏิบัติ อย่าหาว่าเพ่งโทษกันเลยนะ บางเรื่องมันก็ต้องชี้โทษช่วยคนที่เขาสับสนบ้าง ถ้าใครปฏิบัติถูก จะเห็นการปฏิบัติที่ผิด คือเห็นสัมมาทิฎฐิว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ เห็นมิจฉาทิฎฐิว่าเป็นมิจฉาทิฎฐิ ไม่มัว ไม่สับสน
มันจะมีญาณเป็นตัวประกันปัญญาอยู่หลายเรื่อง เช่น ญาณที่จะแยกแยะธรรมะโลกุตระหรือกัลยาณธรรม หรือความเห็นอย่างสัมมาทิฎฐิในข้อที่ว่า รู้ว่าใครเป็นสัตบุรุษที่จะพาพ้นทุกข์ได้
ทั้งหมดนี้เดาเอาไม่ได้ คิดตามเฉย ๆ ก็ไม่ได้ ต้องศึกษาจนล้างกิเลสให้ได้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ก็จะชัดในทางปฏิบัติ เมื่อเอาการปฏิบัติของตนเองไปเทียบกับที่มีอยู่ส่วนใหญ่ในโลก จะพบความจริงว่า มันไม่เหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว คนที่ทำได้ ถ้าได้ศึกษากันสักพักจะชัดเจนเลยว่าใครเป็นใคร ใครเป็นบัณฑิต ใครเป็นคนพาล ไม่ต้องเดา ไม่ต้องมัว ไม่พลาดไปเพ่งโทษให้เสี่ยงนรกเปล่า ๆ เพียงแค่ปฏิบัติตัวเองให้ถูกเท่านั้น จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูก
แต่ก็เอาเถอะ คนพาลเขาก็พูดหรือกล่าวแบบนี้ได้เช่นกัน เรื่องของใครก็เรื่องของใคร วัดกันที่ใจเรานั่นแหละ ถ้าใจเรากระทบกับเรื่องใด ๆ ที่เคยติดหรือตั้งใจฝึกปฏิบัติแล้วไม่ทุกข์ไม่สุข พ้นสัญญาที่เคยหลงยึดไว้ กระทบแล้วกระทบอีกใจก็ยังนิ่ง ไม่กระเพื่อม หรือหวั่นไหวแม้เล็กน้อยเป็นใช้ได้ เมื่อได้ดังนั้นแล้วมองกลับไปยังการปฏิบัติในโลก จะชัดเองใครเป็นยังไง เพราะเราได้ผลกับตัวแล้ว กระทบก็แล้ว กระแทกก็แล้ว ยังไม่ทุกข์ มันก็ชัดที่สุดแล้ว
สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าไม่ตั้งใจปฏิบัติจนถึงผลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะดูคนไม่ออกหรอก เพราะเราจะไม่มีญาณปัญญา ไม่มีตาที่เหนือโลก ไว้แยกแยะ นั่นเพราะเรายังไม่ทำตัวเองให้ถึงโลกุตระ เมื่อไม่ถึงโลกุตระ ก็จะมีความรู้อยู่โลกเดียวคือโลกียะ มีความรู้จำกัด ดังนั้น โลกที่ซ้อนกันอยู่ในปัจจุบัน(จิตที่แตกต่าง) แม้มีอยู่ก็จะมองไม่เห็น จะมองเห็นหรือรู้ได้ก็เฉพาะเท่าที่ตนเองมี ตนเองเป็นอยู่เท่านั้น
ฤๅษีกึ่งพุทธกาล
ฤๅษีกึ่งพุทธกาล
ในยุคปัจจุบันนี้ ภาพของฤๅษีในอดีตก็มีแต่จะเลือนรางไปทุกที ยิ่งฤๅษีที่สงบๆงดเว้นการสนองกามทั้งเรื่องอาหาร การแต่งตัว ชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ ก็แทบจะหาได้ยากยิ่งในสังคมไทย
แต่แท้ที่จริงแล้วฤๅษีไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนรูปจากในอดีตจนแทบไม่เหลือรูปแบบของฤๅษีดังที่ใครหลายคนจินตนาการไว้
แล้วฤๅษีนั้นเป็นใคร? อยู่ที่ไหน? ก็เป็นคนที่ปฏิบัติธรรมด้วยสมถะจนติดอยู่ในภพนั่นแหละ แม้ว่าสภาพทางรูปธรรมของฤๅษีในความทรงจำของเราจะเปลี่ยนไปจนสังเกตเห็นได้ยาก แต่ลักษณะทางนามธรรมยังเหมือนเดิมคือการใช้สมถะเข้ามากดข่มจิต ใช้ควบคุมจิต ใช้อุบายต่างๆมาบริหารจิต กดข่มอย่างตั้งมั่นจนเกิดสมาธิกลายเป็นฌานในที่สุด แต่นั่นก็เป็นฌานโลกีย์ทั่วไป วิธีเหล่านี้มีมาตั้งแต่ก่อนจะมีพุทธศาสนา มีมาจนกระทั่งปัจจุบัน และจะมีไปจนตราบโลกแตก
การใช้สมถะหรืออุบายทางใจเข้ามาบริหารจิตใจนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแค่กำหนดจิตให้นิ่ง อยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่ง คำใดคำหนึ่ง ภพใดภพหนึ่ง อิริยาบถหนึ่งๆ หรือใช้ธรรมะ คำพูด คำคม คติสอนใจ เหตุผล ความคิดบวกเข้ามาตบความคิดที่ฟุ้งซ่านเหล่านั้นให้สงบลง กดไปจนกระทั่งเกิดสภาพสงบต่อเนื่องหรือเป็นสมาธิ วิธีเหล่านี้เป็นการทำสมถะที่เป็นการปฏิบัติหลักเดียวของฤๅษี ซึ่งในปัจจุบันมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา
วิธีปฏิบัติที่ทำแต่สมถะอย่างเดียว จะมีปลายทางคือกลายเป็นคนที่ติดอยู่ในภพ ติดความสงบ ติดในสิ่งที่ตนเชื่อ นั่นเพราะพอสามารถใช้สมถะจนทำให้เกิดความสงบได้ก็มักจะเข้าใจว่าวิธีนี้คือการปฏิบัติแบบพุทธ แล้วหลงไปยึดมั่นถือมั่นในวิถีสมถะเหล่านี้ว่าเป็นทางพ้นทุกข์ จึงทำให้ติดสุข ติดสงบ ติดภพไปอีกนานแสนนาน
นั่นเพราะเมื่อเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดแล้ว เราก็จะไม่สนใจสิ่งอื่น แม้มีธรรมอื่นเราก็จะไม่ศึกษา มองไม่เห็นคุณค่าเพราะได้ยึดมั่นถือมั่นแนวทางปฏิบัติของตนเป็นสำคัญ นี่คือความซวยของการปฏิบัติแต่สมถะรวมถึงผู้ที่หลงปฏิบัติแต่สมถะแล้วเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา
ดังนั้นสภาพของฤๅษีก็จะเกิดในคนปฏิบัติธรรมทั่วไปนี่เอง รูปที่เห็นภายนอกเราอาจจะรู้ได้ยาก แต่ถ้าได้ขยายวิธีปฏิบัติกันก็จะรู้ได้ชัดแจ้งซึ่งสมัยนี้ก็จะมีลูกครึ่ง คือครึ่งผีครึ่งคน จะเอาดีทางสมถะก็ทำไม่เต็มที่ ยังวนเวียนอยู่ในกามไม่ยอมตัด หรือไม่ยอมกดข่มให้ดับไปเสียที กลายเป็นคนปฏิบัติธรรมที่กามก็ยังไม่ละ อัตตาก็หนาเตอะแล้วก็ปฏิบัติสมถะไปแบบครึ่งๆกลางๆเช่นนั้นเอง หรือที่มักจะคิดไปเองดังคำว่า ”สมดุลทั้งทางโลกและทางธรรม” คือกามก็ยังเสพอยู่ แล้วเข้าวัดหรือปฏิบัติธรรมตามสมัยนิยม
คนปฏิบัติที่หลงทางจะออกอาการดังที่กล่าวมา แท้จริงแล้วทางสายกลางของพุทธ คือ กามก็ไม่เสพ และไม่ทรมานตัวเองด้วยอัตตา อธิบายกันโดยสรุปก็คือไม่ไปทำตามใจกิเลสและไม่มีความติดดีนั่นเอง
การทำสมถะนั้นจะหลับตา ลืมตา ขยับตัว เคลื่อนไหว หรือนั่งนิ่ง มันก็ทำสมถะได้ทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับอิริยาบถ แต่เกี่ยวกับกระบวนการว่ากระทำสิ่งนั้นอย่างไร เพื่ออะไร
การทำสมถะนั้นจริงๆแล้วเป็นสิ่งที่ดี เพราะเพิ่มพลังให้กับการวิปัสสนาได้ นั่นเพราะพลังกดข่มที่ได้จากการฝึกฝนสมถะนั้นจะมาช่วยกด และยับยั้งกิเลสไม่ให้กำเริบนั่นเอง แต่การที่เราหมายเอาสมถะเป็นแนวทางหลักในการพ้นทุกข์นั้นจะทำให้หลงไปไกล สุดท้ายก็จะกลายเป็นฤๅษีกึ่งพุทธกาล
เรากำลังจะเป็นฤๅษีหรือไม่?
วิธีตรวจว่าเราติดการใช้สมถะกดข่มหรือไม่ ก็ให้สังเกตว่าเวลากระทบกับเหตุการณ์ใดๆ แล้วเราใช้กระบวนการใดมาต่อกรกับเหตุนั้นๆ ถ้าเราใช้วิธีเช่น ใช้คำบริกรรมต่างๆ กำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง เลิกคิดเรื่องนั้นแล้วกำหนดรู้เรื่องอื่น คิดบวก ใช้ธรรมะ ข้อคิด คำคม ฯลฯ เข้ามากดข่ม ”ผล” ที่เกิดขึ้นจากเหตุนั้นๆ
ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาแซงคิวระหว่างเรารอซื้ออาหาร เราก็เกิดความรู้สึกโกรธขึ้น ถ้าเรากำหนดจิต ให้เลิกคิด, ให้รู้ตัว, หยุดปรุงแต่ง, โดนแซงก็แค่โดนแซง, การโดนแซงก็เป็นเช่นนั้นเอง, ความโกรธเกิดขึ้นเดี๋ยวก็ดับไป, ความโกรธไม่ใช่เรา, เขาก็เป็นของเขาแบบนั้นเราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้, ปล่อยวาง, ช่างมัน หรืออื่นๆในแนวทางนี้ ก็จะเป็นการใช้สมถะเข้ามาแก้ปัญหา
ซึ่งโดยสาระสำคัญก็คือการใช้เหตุผลภายนอกหรือตรรกะเข้ามากระทำต่อจิตที่สั่นไหวให้สงบ การใช้วิธีสมถะจะเป็นการดึงองค์ประกอบอื่นๆหรือองค์ประกอบภายนอกมาใช้ในการใช้พิจารณาเพื่อดับสภาวะของจิตที่เกิดกิเลสนั้นๆ
แต่การวิปัสสนาจะมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาภายในคือ ทำไมเราจึงโกรธ เราโกรธเพราะอะไร คือขุดค้นไปที่เหตุที่ทำให้อาการโกรธนั้นเกิด และค้นต่อไปในกิเลสนั้นๆจนกว่าจะเจอรากของปัญหา แล้วค่อยพิจารณาธรรมแก้ให้ตรงจุด สกปรกตรงไหนก็ขัดตรงนั้น จะเป็นการแก้ปัญหาจากภายใน ไม่ใช่การใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามากดไว้แบบสมถะวิธี
ผลที่ได้จะแตกต่างกัน การใช้สมถะจะได้ความสงบจากการใช้อุบายหลอกจิต กดข่มจิต ชักนำจิตให้หยุดฟุ้งซ่าน แต่การวิปัสสนาที่ถูกต้องจะทำให้เกิดญาณปัญญารู้แจ้งในกิเลสนั้นๆไปตามลำดับจนกระทั่งเกิดความสงบขึ้นมาซึ่งจะไม่ได้เกิดความสงบในทันทีเหมือนวิธีสมถะ แต่ความสงบจากกิเลสด้วยปัญญาที่รู้แจ้งในกิเลสนั้น จะมั่นคง ยั่งยืน ยาวนาน ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เวียนกลับ ไม่มีการเกิดดับในกิเลสนั้นๆอีกต่อไป ซึ่งต่างจากสมถะวิธีที่ต้องคอยกดทุกครั้งที่จิตเกิดอาการสั่นไหวเพราะกิเลส และจะมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และเกิดขึ้นใหม่วนเวียนไปไม่จบไม่สิ้น
ในบางกรณีเมื่อปฏิบัติสมถะไปจนเก่งจะพบว่าอาการสุข ทุกข์ เฉยๆ ซึ่งเป็นอาการที่จะต้องใช้สะท้อนให้เห็นกิเลสจะดับไปโดยอัตโนมัติ เรียกว่ากดข่มอย่างอัตโนมัติโดยที่สติไม่ได้มีการทำงาน แต่จิตทำงานด้วยตัวเองไปตามสัญชาติญาณของผู้ที่ฝึกสมถะมามาก จนบางคนหลงไปว่านั่นคือสติอัตโนมัติ ทั้งๆที่สภาพของการตัดรอบของจิต หรือการกดข่มอัตโนมัตินั้นไม่มีสติเสียด้วยซ้ำ และนี่เองคือความยากในการศึกษาวิปัสสนาของผู้ติดสมถะ เพราะจะมีสภาพเหมือนจะจัดการกิเลสได้ตลอดเวลาทั้งๆที่เป็นการกดข่มโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการปฏิบัติสมถะนั้นไม่ได้เป็นการสร้างญาณในการรับรู้กิเลสให้เจริญขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้นักสมถะจำนวนมากหลงผิดว่าบรรลุธรรม ติดภพไปในที่สุด กดข่มกันได้ยาวนานข้ามภพข้ามชาติ
แนวปฏิบัติของการสมถะคือการควบคุมการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปของจิต จะเข้าใจว่าธรรมะมีแค่การเกิดดับเท่านั้น จึงหมายเอาการดับอย่างต่อเนื่องเป็นการบรรลุธรรม เหมือนเข้าใจว่าปิดสวิตช์ทั้งหมดก็เข้านิพพานได้แล้ว เป็นความหยาบที่มองแต่ผลโดยข้ามการปฏิบัติที่ถูกตรงไป เพราะสมถะนั้นปฏิบัติได้ง่าย มีแค่กดข่มได้กับกดข่มไม่ได้เท่านั้น เหมือนกับการเปิดปิดนั่นเอง แต่การวิปัสสนาไม่ได้มีมิติเช่นนั้น การปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนาพุทธจะต้องทำไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด พัฒนาไปทีละน้อย ไม่ใช่ทำความดับในทันที แต่กระทำไปเพื่ออธิปัญญาจนกระทั่งถึงวิมุตติที่จะเข้ามาทำให้กิเลสนั้นตายจนการเกิดของกิเลสในจิตนั้นดับไปเอง
โดยหลักของสมถะมักจะมองไปที่การดับความคิด ดับความฟุ้งซ่าน หรือกระทั่งการดับสัญญา แต่วิปัสสนานั้นจะมุ่งไปที่ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แล้วดับทุกข์นั้นๆด้วยวิธีการดับทุกข์ที่ถูกทางของพุทธ กล่าวโดยย่อคือสมถะมุ่งเน้นไปที่ความไม่ทุกข์เพื่อการหลุดพ้น ส่วนวิปัสสนานั้นกระทำที่สุดแห่งทุกข์เพื่อการหลุดพ้น
อธิบายสรุปรวมในทางธรรมก็คือ สมถะปฏิบัติให้จิตเป็นสมาธิจนเกิดฌาน แต่วิปัสสนาปฏิบัติฌานจนจิตเกิดเป็นสมาธิ สภาพสมาธิที่หมายนั้นก็ต่างกัน ฌานที่หมายนั้นก็ต่างกัน การปฏิบัติสมถะจนเกิดสมาธิก็คือการนั่งสมาธิหรือการฝึกสติกำหนดรู้ทั่วไปจนพัฒนาเป็นฌานโลกีย์ไปตามลำดับ แต่การวิปัสสนานั้นจะใช้ฌานในการเพ่งเผากิเลสจนกระทั่งเกิดเป็นสภาพของสัมมาสมาธิที่เป็นผลเจริญของการปฏิบัติ
ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิธีทางสมถะและวิปัสสนานั้นจะกลับหัวกลับหางกัน คนที่เข้าใจวิปัสสนาจะสามารถใช้สมถะเป็นอุปการะได้ แต่คนที่เข้าใจเพียงสมถะจะทำให้ติดอยู่ในวิธีการปฏิบัติแบบโลกียะ ทำให้ผลที่ได้นั้นเป็นโลกียะไปด้วย แม้จะได้ผลคือความสงบ เกิดสมาธิ แต่สมาธินั้นไม่ใช่สัมมาสมาธิในแบบของพุทธ เป็นสมาธิแบบฤๅษีทั่วไป กลายเป็นฤๅษีกึ่งพุทธกาลนั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
5.3.2558