Tag: ความโง่
เชื่อเรื่องดวง ไม่มีวันพ้นทุกข์
เชื่อเรื่องดวง ไม่มีวันพ้นทุกข์
ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความรีบเร่งและสับสน ในสังคมที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายแต่กลับเต็มไปด้วยความทุกข์ทางจิตใจที่ยากจะเยียวยา แม้ว่าจะหันหน้าเข้ามาหาศาสนาเท่าไรแต่ก็ไม่รู้สึกว่าทุกข์จะหายไป ทำบุญทำทานเท่าไหร่ก็ไม่พ้นทุกข์ สุดท้ายจึงต้องหาสิ่งยึดมั่นจิตใจ ที่เรียกว่า “การดูดวง”
การดูดวง ดูหมอ การทำทายทายทัก ทรงเจ้า เข้าทรง ดูฤกษ์ ดูฮวงจุ้ย การทำนายและการพยากรณ์ต่างๆกลับกลายเป็นที่ยึดถือทางจิตใจของใครหลายคน เป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตและสังคมถึงขนาดที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของใครหลายคนได้เลยทีเดียวเช่นบางคนเชื่อในเรื่องอาถรรพ์เจ็ดปีของคนที่คบหาดูใจกัน หรือเบญจเพส พอเชื่ออย่างนั้นจิตก็ปักมั่นว่าจะเกิดสิ่งร้าย จิตจึงตกสู่ความหดหู่ กังวล และความรู้สึกที่เป็นลบเหล่านั้นเองก็ดูดดึงให้เกิดสิ่งร้ายจนได้ยกตัวอย่างเช่นเรื่องอาถรรพ์เจ็ดปี ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเชื่อ เวลามีเหตุการณ์ผิดใจกันเกิดขึ้นก็จะมีความไม่ชอบใจ บวกกับความเชื่อเสริมแรงให้ทุกข์เข้าไปอีก หรือกระทั่งความเชื่อนั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้ทุกข์ ทั้งๆที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ทุกข์ขนาดนั้นเลย
หรือการดูดวงทำนายทายทัก เช่น ไปดูหมอ แล้วเขาทักว่าจะได้แฟนเป็นข้าราชการ เมื่อได้ฟังดังนั้นก็ตั้งความหวัง จิตจะเริ่มคัดครองคนที่เข้ามาในชีวิตโดยอัตโนมัติ ถ้าไปเจอข้าราชการ ที่มีรูปลักษณ์ตรงกับใจ จึงคิดว่าคนนั้นต้องใช่แน่นอน เป็นความหลงในรูป บวกกับความงมงายเสริมแรงกันไป เมื่อได้เจอคนที่หวังก็จะยิ่งปักมั่น เชื่ออย่างเต็มใจ สุดท้ายก็เทหมดหน้าตัก ทุ่มให้ทุกอย่าง คาดหวังทุกอย่าง และมักจะจบลงด้วยความผิดหวัง
การดูดวงเหล่านั้น ตามหลักศาสนาพุทธท่านว่าเป็น “เดรัจฉานวิชา” เดรัจฉานนั้นคือความโง่ เดรัจฉานวิชาก็คือวิชาที่จะนำมาซึ่งความโง่ สร้างโดยคนโง่ เชื่อโดยคนโง่ เป็นวิชาที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักกฎแห่งกรรม แต่เป็นไปตามสถิติและตรรกะวิธี ซึ่งเป็นวิสัยของโลกียะ เมื่อเป็นไปตามโลกจึงได้แค่วนอยู่ในโลก สุข ทุกข์แบบโลกๆ
การทำนายทายทักเหล่านี้ยังผิดต่อมหาศีล คือศีลที่เป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา ที่คุมความเชื่อและความเป็นไปโดยรวมของพุทธศาสนิกชน เพราะการดูดวงหรือแม้แต่การทำนายทายทักที่เข้าใจว่ารู้จริงเห็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญการทำนาย การเดาใจ หรือการใช้อาเทสนาปาฏิหาริย์ แม้ว่าจะสามารถใช้ได้จริงก็ตาม
เหตุนั้นเพราะการเดาใจ ทายใจ ไม่ทำให้ใครพ้นทุกข์ ไม่ได้ทำให้กิเลสใครลดลง และไม่ทำให้คนพึ่งตนเอง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการพึ่งตน พึ่งพากรรมของตนเอง ไม่ใช่พึ่งสิ่งอื่น เมื่อเราเชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เราจะไม่สนใจการดูดวง
เพราะเราจะรู้แน่ชัดแล้วว่าการทำดี ทำให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิตเรา ดังเช่นสิ่งดีที่เกิดขึ้นในชีวิตเราทุกวันนี้ก็เกิดมาจากกรรรมดีที่เราเคยทำมา ซึ่งเมื่อรู้เช่นนี้แล้วก็ไม่ต้องรอให้ใครมาพยากรณ์ มาทำนายดวงให้ เพราะถ้าตนเองอยากพบกับสิ่งที่ดี ได้เจอคนดี ได้งานดี ได้มีชีวิตที่ดี ก็เพียงแค่กระทำกรรมดี แล้วในวันใดวันหนึ่ง ชาติในชาติหนึ่งก็จะได้รับผลของกรรมดีนั้นอย่างแน่นอน
ในส่วนของกรรมชั่วก็เช่นกัน เมื่อเราได้รับสิ่งที่ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ ทำให้ทุกข์ใจ คนที่เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม จะไม่โทษดวงชะตาฟ้าลิขิตใดๆ เพราะรู้แน่ชัดว่าชั่วที่ได้รับอยู่นี้ เป็นสิ่งที่เราเคยทำมาก่อนอย่างแน่นอน อาจจะในชาตินี้ หรือในชาติก่อน
ในเมื่อเราเองก็มักได้รับผลดีหรือกรรมดี ที่เราไม่เคยได้ทำมาในชาตินี้ เช่น เกิดมาก็มีพ่อแม่เลี้ยงดู ซื้อของเล่นให้ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำกรรมดีอะไรให้กับพ่อแม่เลย ดังนั้นกรรมดีที่ได้รับนั้นคือกรรมเก่าที่สะสมมา ซึ่งเมื่อเรายินดีรับสิ่งที่ดี เราก็ควรจะต้องยินดีรับสิ่งชั่วที่เราเคยทำมาเช่นกัน
การรับกรรมดีนั้น ส่วนใหญ่ก็เข้าใจได้ไม่ยาก ไม่มีใครทุกข์ใจ ไม่มีใครลำบากใจ แต่พอได้รับสิ่งชั่วก็กลับทุกข์ใจ ลำบากใจ ขุ่นมัว หาคนผิด โทษดินโทษฟ้า ไม่เข้าใจว่าทำไมฉันต้องมารับกรรมนี้ ซึ่งนั้นเป็นลักษณะของมิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิด เพราะเราไม่มีทางได้รับสิ่งที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับเราทำมาแล้วทั้งนั้น กรรมชั่วนั้นก็เช่นกัน มันเป็นของเราอย่างแน่นอน
เมื่อเรายินดีรับกรรมชั่วที่ได้ทำไว้อย่างยินดีเต็มใจ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่า นี้คือสิ่งชั่วที่เคยทำมา และเป็นสิ่งที่ทำให้เราสังวรระวังที่จะไม่ทำชั่วอีก
ในอีกกรณีหนึ่งคือ เมื่อเราได้รับกรรมชั่วแล้วไม่ยอมรับว่าตัวเองทำมา จะเกิดสภาพที่เรียกว่าโกหกซ้ำซ้อนเข้าไปอีก ผิดศีลข้อ ๔ ว่าด้วยการพูดปด คิดโกหกเข้าไปอีก เพราะเราไม่ยอมรับผลกรรมชั่วทั้งๆที่เราทำมา แถมยังโกหกว่าคนอื่นเป็นคนทำอีก เมื่อคิดแบบนี้ก็ต้องทุกข์ตั้งแต่ไม่ยอมรับกรรมชั่ว และทุกข์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ทำกรรมชั่วใหม่อีก นั่นคือการผิดศีล เรียกได้ว่าถ้าเข้าใจเรื่องกรรมไม่กระจ่างแจ้ง ก็จะมีโอกาสได้รับทุกข์ถึงสองต่อ หรืออาจจะมากกว่านั้นตามความหลงผิด
สรุปรวมได้ว่าการเชื่อในเรื่องดวงหรือการทำนายทายทัก ทำให้คนไม่เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เมื่อไม่เชื่อในเรื่องกรรมซึ่งเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกตรงสู่ความพ้นทุกข์ ) ก็ไม่มีทางที่จะพ้นจากความทุกข์นั้นได้เลย
– – – – – – – – – – – – – – –
2.11.2557
อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์
อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ : ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์
เมื่อเราผ่านพ้นนรกของความอยากเสพเนื้อสัตว์มาแล้ว เราก็จะได้พบกับนรกอีกขุมคือความไม่อยากเสพ เป็นส่วนของกลับของกิเลสทุกตัว เป็นเสมือนหัวหน้าผู้ร้ายที่จะโผล่มาหลังจากผู้ร้ายตัวแรกได้ตายไป
ย้อนรอย…
เล่าย้อนไปถึงตอนที่เราได้สู้กับความอยากกินเนื้อสัตว์ใหม่ๆ เราต้องพากเพียรปฏิบัติ ถือศีลอย่างตั้งมั่น เฝ้าพิจารณาประโยชน์และโทษของสิ่งนั้นเพื่อล้างกิเลส โดยใช้ความทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน กรรมและผลของกรรมเข้ามาช่วยล้างกิเลส จนกระทั่งเราผ่านพ้นความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ด้วยใจที่เป็นสุข
แต่การจะได้มาซึ่งความสุขจากการไม่เสพนั้น เราก็จะได้ความเกลียดเนื้อสัตว์มาด้วย เพราะการจะออกจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราต้องรังเกียจ เห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของสิ่งนั้น เมื่อก้าวผ่านการเสพกามกิเลส(ความอยากกินเนื้อสัตว์) จะเข้ามาสู่การเสพอัตตา(ความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์) คือความยึดดี ถือดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข
ในช่วงที่เรายังเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นก็จะมีอัตตาอยู่หนึ่งชุด เป็นอัตตาในกาม(ความอยากเสพเนื้อสัตว์) หลงยึดว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี อร่อย มีคุณค่า ทำให้แข็งแรง ฯลฯ แต่เมื่อเราทำลายกามแล้ว เราก็จะมาเจออัตตาอีกชุดหนึ่งเหมือนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ คือความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์ ยึดว่าต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะดี กินแต่ผักจึงจะเจริญ หลงติดหลงยึดว่าการเป็นคนดี ติดดี ยึดดี การที่ตนกินมังสวิรัติได้เป็นสิ่งที่เลิศกว่าคนอื่นจนกระทั่งไปข่มเหงผู้อื่นได้ เราจะมาเรียนรู้อัตตาในภาคหลังนี้กัน
อัตตา…
ในตอนที่เราสามารถออกจากนรกแห่งความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ เราก็จะกลายเป็นคนติดดีโดยอัตโนมัติ สายตาจะมองคนที่ยังเสพเนื้อสัตว์ต่างออกไปจากตอนที่เรายังเสพเนื้อสัตว์ มองว่าการเสพเนื้อสัตว์นั้นน่ารังเกียจ มองว่าสังคมต้องไม่เบียดเบียนถึงจะดี มักจะมีอาการรังเกียจทั้งเนื้อสัตว์และคนที่ยังกินเนื้อสัตว์และคนที่สนับสนุนให้กินเนื้อสัตว์
อัตตานี้เองคือกิเลสที่ผลักดันให้คนในสังคมถกเถียงกัน และไม่ได้หมายความว่าคนที่ผ่านนรกเนื้อสัตว์เท่านั้นที่จะมีอัตตา คนกินมังสวิรัติ คนกินเจที่อยู่ในระหว่างการหัดกินก็สามารถมีอัตตาได้ แต่จะไม่แรงเท่ากับคนที่ผ่านความอยากนั้นมาแล้ว
อัตตาคือนรกของคนดี คืออาวุธของคนดีที่ใช้ปราบคนที่เขายังไม่รู้โทษชั่วของการกินเนื้อสัตว์ เหล่าคนดีที่สามารถข้ามความอยากจึงสามารถใช้ท่าที วาจา ถ้อยคำต่างๆไปย่ำยีคนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะตัวเองนั้นเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว จึงไม่มีทางที่คนกินเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะมาโต้กลับได้เลย
อัตตาคืออาวุธที่ร้ายแรง ร้ายกาจ เชือดเฉือนทำลาย ทำร้ายใจคนได้มากที่สุด ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม จะอยู่กันไม่เป็นสุขเพราะคนมีอัตตา ยิ่งเป็นนักมังสวิรัติที่มีอัตตาก็จะยิ่งร้ายกาจ ใช้ความดีเข้าไปทำลาย ทำร้ายจิตใจคนที่เขายังติดในกิเลส ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ ให้เขาเกิดความลำบากใจ อึดอัดขัดข้องใจ รำคาญใจ จนเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันได้
อัตตาไม่ใช่อาวุธที่จะนำไปทำลายกิเลสของคนอื่นได้ เมื่อใช้อัตตาหรือความยึดดีถือดีเข้าไปแนะนำคนอื่น รังแต่จะเพิ่มปัญหา เพิ่มความเจ็บป่วย ทุกข์ร้อน ทรมานให้กับเขา แต่การจะนำความรู้มังสวิรัติไปให้หรือแนะนำคนอื่นนั้น ต้องทำด้วยอนัตตา หรือความไม่มีตัวตน คือไม่มีตัวตนของกิเลส ไม่มีตัวตนของคนดี ไม่มีความยึดดี ไม่ถือดี ไม่จำเป็นต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข
อัตตานอกจากจะทำให้คนอื่นทุกข์แล้วยังทำให้ตัวเองทุกข์อีกด้วย เพราะเมื่อเรามีความยึดมั่นถือมั่นมาก เมื่อคนอื่นทำไม่ได้ดังใจเราหมาย หรือเมื่อเราแนะนำไปแล้วเขาไม่เอา เราก็จะมีอาการอกหักอกพัง เพราะเรายึดว่าเกิดดีจึงจะเป็นสุข พอไม่เกิดดีดังใจเราหมายเราก็จะเป็นทุกข์ ออกอาการได้ตั้งแต่มีอาการขุ่นใจ ไม่พอใจ ว่ากล่าวตักเตือนคนอื่นด้วยอัตตา กระทั่งทะเลาะเบาะแว้งกันได้
อัตตาคือความโง่ที่คนดีแบกไว้ เป็นคนดีที่แบกนรกไว้ทำลายตัวเองและทำลายคนอื่น ทำลายสังคมสิ่งแวดล้อม ทำลายโลก เพราะความติดดีนี้เป็นเหตุแห่งการทะเลาะกัน ไม่ว่าจะคนดีหรือคนไม่ดี หากเกิดการทะเลาะกันแล้วก็คือนรกทั้งคู่ คนดีที่ล้างอัตตาไม่เป็นก็จะหลงว่าตนดี ใช้ความดีทำร้ายทำลายคนอื่น พร้อมทั้งแบกทุกข์จากความไม่สมใจหมาย สะสมกิเลสข้ามภพข้ามชาติต่อไปอีกนานแสนนาน
อัตตาคือเกราะของกิเลสที่พอกตัวตนไว้ ทำให้คนดีไม่สามารถรู้ได้เลยว่าตัวเองนั้นเต็มไปด้วยกิเลส เพราะมัวแต่มองไปยังความไม่ดีของคนอื่น มองไปยังความผิดของคนอื่น ในขณะที่ตัวเองก็สั่งสมความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปเรื่อยๆจนเป็นเกราะหนา จนกระทั่งไม่สามารถมีใครที่จะแนะนำและช่วยเหลือคนดีที่มีอัตตาหนานั้นได้ นั่นเพราะเขาไม่ยอมมองกลับมาในกิเลสของตัวเอง หลงในอัตตาและเชื่อมั่นเสมอว่าตัวเองดี เขาจึงต้องแบกอัตตา แบกตัวตน แบกทุกข์นั้นไปตลอดกาล
การทำลายอัตตา
การทำลายอัตตานั้นก็ใช้กระบวนการเดียวกับการทำลายกิเลสฝั่งกาม(ความอยากเสพเนื้อสัตว์) คือใช้กระบวนการสมถะ-วิปัสสนาเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการทำลายอัตตา โดยอัตตานั้นควรจะใช้ธรรมในพรหมวิหาร๔ เข้ามาร่วมกำจัดความยึดดีถือดีด้วย และใช้กรรมและผลของกรรมช่วยในการพิจารณา รวมกับหลักพิจารณาเดิมของเราคือความเป็นทุกข์ โทษ ภัย ความไม่เที่ยง เราไม่ใช่ตัวตนของกิเลสนั้น ประโยชน์และโทษในการมีอัตตานั้นๆ
การใช้พรหมวิหารเข้ามาช่วยจะทำให้เราสามารถสังเกตอาการติดดีได้ง่ายขึ้น เพราะคนที่มีอัตตา ยึดดี ถือดี จะติดตรงที่ไม่สามารถไปถึงอุเบกขาได้ เมื่อเขากินมังสวิรัติได้ดังหวังเราก็มีจิตยินดี มีความมุทิตากับเขา แต่เมื่อเขากลับไปกินเนื้อสัตว์ สั่งเนื้อสัตว์มากิน หรือเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์ เราก็กลับมีอาการขุ่นข้องหมองใจ แทนที่จะปล่อยวาง เรากลับรู้สึกยินร้าย รู้สึกไม่พอใจที่เขาไปกินเนื้อสัตว์ นั่นคือเราไม่สามารถปฏิบัติจนถึงภาวะอุเบกขาได้
เราต้องเจริญพรหมวิหาร๔ ให้มากจึงจะมีกำลังดับอัตตา สร้างจิตที่เมตตาให้ทั้งสัตว์ที่ต้องเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของคนที่มัวเมาในกิเลส และเมตตาไปถึงคนที่ยังหลงว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี กรุณาโดยการไม่กินเนื้อสัตว์และช่วยสอนให้ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์ได้เห็นโทษของการเบียดเบียน มุทิตาโดยการยินดี เมื่อเขาเหล่านั้นสามารถลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ได้ตามกำลังของเขา และอุเบกขาเมื่อทุกสรรพสิ่งนั้นไม่ได้เป็นไปดังใจหมาย สัตว์ก็ต้องถูกฆ่าเพื่อมาเป็นอาหารอยู่ทุกวัน คนมีกิเลสก็ต้องอยากกินเนื้อสัตว์ เมื่อเราสร้างความเป็นพรหมขึ้นในใจได้ดังนี้แล้วจะช่วยลดอัตตาได้อย่างดี
ในข้อกรรมและผลของกรรมก็ต้องพิจารณาให้มาก สัตว์ที่ถูกฆ่าตายนั้นก็มีกรรมเป็นของเขา เขาทำกรรมนั้นมาจึงต้องเกิดเป็นสัตว์ ต้องถูกขัง ต้องถูกทรมาน สุดท้ายก็ต้องโดนฆ่าเพราะกรรมนั้นเองที่เขาเหล่านั้นทำมา แต่ถูกฆ่าแล้วก็จบไป ได้ใช้กรรมไปหนึ่งเรื่อง สุดท้ายสัตว์เหล่านั้นก็เกิดมาใช้กรรมใหม่จนกว่าจะหมดวิบากอยู่ดี เราน่าจะสงสารและเข้าใจคนที่กินเนื้อสัตว์มากกว่า ว่าพวกเขาล้วนยังไม่เห็นถึงโทษภัยแห่งการเบียดเบียนเขาจึงต้องรับกรรมที่ตนก่อโดยที่ไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่นำโทษภัยมาให้เขาเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” คนที่ยังเบียดเบียนจึงต้องพบกับโรคภัยไข้เจ็บและไม่สามารถมีชีวิตอยู่สร้างกุศลได้นานก็ต้องจากไป
และการที่เราไปมีอัตตานั้นก็กลายเป็นกรรมของเราเช่นกัน การที่เราไปทำร้ายจิตใจคนอื่นด้วยความติดดีเราก็สะสมกรรมชั่วลงในจิตใจของเราไปด้วย นั่นก็คือการเบียดเบียนคนอื่น เมื่อเบียดเบียนคนอื่นก็จะมีโรคมากและอายุสั้น สะท้อนเป็นการเบียดเบียนตัวเองในทีเดียวกัน ดังจะเห็นได้ว่าคนดี หรือคนติดดีนั้นก็สามารถป่วยด้วยโรคร้ายและตายไวกันได้เหมือนคนทั่วไป
เมื่อเราได้พบผู้คนที่ยังไม่เห็นคุณค่าของการกินมังสวิรัติ ให้พึงพิจารณาว่าเราก็เคยเป็นเช่นนั้นมา การที่เราไม่สามารถที่จะสอนหรือแนะนำเขาได้ หรือแม้แต่แนะนำแล้วเขาไม่สนใจ หรือสนใจก็ไม่สามารถที่จะกินมังสวิรัติได้ ความขุ่นข้องหมองใจจากความไม่ประสบความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากกรรมเก่าของเรา เมื่อสมัยที่เรายังหลงมัวเมาในความอยากกินเนื้อสัตว์ในชาติใดชาติหนึ่งอยู่ มีคนมาแนะนำเรา เราก็ดื้อ ไม่เอา ตีทิ้งคนที่มาแนะนำสิ่งดีๆเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเราสามารถปฏิบัติชีวิตมังสวิรัติได้ดี ก็ให้เข้าใจเรื่องกรรมด้วยว่ากว่าที่เราจะมากินมังสวิรัติได้ เราได้เคยทำให้เหล่าคนดีไม่พอใจมาหลายชาติแล้ว ดังนั้นการที่เราจะได้รับความไม่สมใจก็เป็นสิ่งที่สมควรแล้ว เพราะเราสร้างมาเอง
ความเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน หรือการพิจารณาไตรลักษณ์ ให้เราพิจารณาไปว่าการมีอัตตายึดดีถือดีแบบนี้ทำให้เราและคนอื่นเป็นทุกข์อย่างไร สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นไว้มันจะยั่งยืนตลอดกาลหรือ มันจะไม่แปรเปลี่ยนเลยหรือ แท้จริงแล้วอัตตานั้นก็ไม่ใช่ตัวตนของเราเป็นสภาพหนึ่งของกิเลสที่เข้ามาหลอกเราว่าเราหมดกิเลสแล้ว จริงๆอัตตานี้ไม่ใช่เรา เราไม่จำเป็นต้องมีอัตตา ไม่จำเป็นต้องมีตัวกูของกู
การพิจารณาประโยชน์ของการไม่มีอัตตาและโทษของการมีอัตตานั้นก็สามารถที่จะช่วยล้างอัตตาได้อย่างดีเยี่ยม เช่น ถ้าเรายังมีอัตตาอยู่ เราก็มักจะไปซัดอาวุธด้วยวาจาอันเชือดเฉือนใจใส่คนอื่นอยู่บ่อยครั้ง อาจจะทำให้เกิดการบาดหมางใจ ผิดใจกัน จนถึงขั้นทะเลาะกันได้ แต่ถ้าเราไม่มีอัตตาเราก็จะสามารถอยู่กับคนอื่นได้อย่างมีความสุข เรากินมังสวิรัติก็กินไป เขากินเนื้อสัตว์ก็กินไป เราไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไร ก็สามารถจะอยู่กันได้ วันใดที่เขาเห็นคุณค่าเขาก็จะมากินมังสวิรัติตามเราเอง เป็นต้น
เพียรพิจารณาข้อธรรมเหล่านี้ตามกำลังที่มีด้วยความตั้งใจ ตั้งมั่นให้เห็นถึงโทษชั่วของการมีอัตตา ความติดดี ยึดดี ถือดี ว่าคนอื่นจะต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะดี
สภาพหลังจากทำลายอัตตา
เมื่อผ่านพ้นอัตตาแล้ว เราจะสามารถร่วมโต๊ะกับครอบครัว กับเพื่อน กับญาติมิตรสหายได้โดยไม่รู้สึกรังเกียจ ไม่รู้สึกขุ่นเคืองใจที่เขายังกินเนื้อสัตว์ แม้ว่าเราจะแนะนำไปแล้วเขาจะไม่สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ดังใจเราหมายได้ เราก็สามารถปล่อยวางได้ ไม่มีอาการติดดี ยึดดี ถือดี
และถึงแม้ว่าเราจะไปร่วมโต๊ะกับเขา เราก็จะยินดีที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ ผู้ที่สามารถผ่านนรกของการเสพเนื้อสัตว์ จะมีปัญญาในการเอาตัวรอดจากสภาพต่างๆ ในการกินอาหารร่วมกับคนอื่น หรือการกินอาหารในถิ่นที่ไม่คุ้นเคย จนเรียกได้ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถละเว้นเนื้อสัตว์กินแต่ผักได้โดยมีความสุขใจ อิ่มใจ สบายใจ แม้ว่าจะต้องกินแต่ข้าวเปล่าก็ยังมีความสุขกว่าการกินข้าวปนกับเนื้อ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความยึดมั่นถือมั่น แต่เป็นปัญญาที่รู้โทษของการเสพเนื้อสัตว์ จนยินดีที่จะละเว้นเนื้อสัตว์ต่างๆอย่างมีความสุข
เมื่อผ่านพ้นอัตตาแล้วหากได้ลองกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่รู้สึกรังเกียจ ไม่มีความขุ่นข้องหมองใจ ทุกข์ใจ กระวนกระวายใจ แต่จะรู้สึกเฉยๆตามความเป็นจริง กินก็ได้ แต่ก็คายทิ้งได้เหมือนกัน เพราะไม่ได้ติดในรสของเนื้อสัตว์นั้น เป็นกระบวนการตรวจสอบอัตตาของผู้ที่ยังสงสัยว่าตัวเองติดอยู่หรือไม่ เพราะถ้าผ่านอัตตา จะไม่มีอาการผลัก แต่จะรู้สึกถึงโทษของการกินเนื้อสัตว์จนไม่กินเอง และก็ไม่ได้มีความทุกข์อะไร สุดท้ายคนที่ผ่านทั้งกาม(อยากกินเนื้อสัตว์)และอัตตา(ไม่อยากกินเนื้อสัตว์)จึงไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี ไม่มีทั้งอาการผลัก หรืออาการดูด เนื้อสัตว์ชั้นดีมาวางเสริฟไว้ตรงหน้าก็เฉยๆ มีคนจับยัดเข้าปากก็ไม่โกรธไม่รังเกียจ ..แต่ไม่กิน ถึงจะกินเข้าไปก็ไม่มีรสสุข จะไม่เกิดสุขลวงๆจากการเสพอีกต่อไป ไม่ยินดีในสุขลวงนั้น เพราะรู้ว่าสุขจากการออกจากนรกเนื้อสัตว์ทั้งกามและอัตตานั้นเป็นสุขยิ่งกว่า หาสิ่งใดเปรียบไม่ได้ เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม
อัตตาซ้อนอัตตา
หลังจากผ่านอัตตา เราอาจจะเจอสภาพหนึ่งซ้อนเขามาคืออัตตาอีกตัวหนึ่ง เมื่อเราไม่เสพเนื้อสัตว์และไม่ติดดีแล้ว เราอาจจะเกิดอาการ เกลียดคนติดดีอีกทีหนึ่ง นั่นเพราะเราเพิ่งออกจากนรกคนติดดีมาได้ เมื่อเราเห็นคนกินมังสวิรัติที่ติดดีไปทำร้ายทำลายจิตใจของผู้ที่ยังเสพเนื้อสัตว์ เราก็มักจะมีอาการไม่พอใจคนที่ติดดีนั้น คนกินเนื้อสัตว์เราไม่โกรธแล้วนะ เพราะเราเข้าใจ เราเข้าใจเพราะเราผ่านความติดดีมาได้ แต่จะมาติดดีกว่าอีกที คือไปเพ่งโทษคนติดดีอีกที
เห็นไหมว่ากิเลสมันมีลีลาของมันเยอะมาก ผ่านตัวนั้นก็ต้องมาติดตัวนี้ พอฆ่าตัวนี้ก็ต้องไปกำจัดตัวโน้นต่อ แล้วปลายทางมันอยู่ตรงไหน?
มันก็อยู่ที่กำจัดอัตตาที่ซ้อนอยู่นี่แหละ เหมือนเป็นหัวหน้าใหญ่ที่จะออกมาเมื่อผ่านนรกคนดี เป็นกิเลสที่เฝ้าประตูสู่ความสุขแท้ เราก็ต้องกำจัดมันให้ได้โดยการพิจารณาธรรมเหมือนเดิมแต่โจทย์นั้นเปลี่ยนไปเป็นล้างความรังเกียจคนดี เพราะจริงๆกว่าคนจะมาติดดีได้นั้นมันยากมาก เขาต้องบำเพ็ญเพียรมาหลายต่อหลายชาติกว่าจะมาเลิกกินเนื้อสัตว์จนมาติดดีได้ แล้วทีนี้เราก็โง่ไปเพ่งโทษคนดี ไปรังเกียจคนที่เขาทำดี แล้วมันจะเกิดดีไหมล่ะ
นั่นเพราะส่วนหนึ่งเราเพิ่งจะออกจากนรกคนดีได้ เมื่อเราออกจากสิ่งใดได้ เราก็มักจะรังเกียจสิ่งนั้น เพราะการจะออกจากสิ่งใดได้ ต้องใช้ความรังเกียจ ความไม่ชอบใจในสิ่งนั้นออกมาก พอออกมาแล้วเราก็ต้องล้างความรังเกียจนั้นอีกที เมื่อล้างหมดก็ถือว่าจบกิจ ปิดชุดงานกิเลสมังสวิรัติได้เลย เพราะจะไม่มีทุกข์เกิดอีก แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีวางตรงหน้าก็ไม่กินด้วยความยินดี แม้ว่าจะมีคนมากมายยินดีกับการกินเนื้อสัตว์เราก็ไม่ยินร้ายกับเขา และแม้ว่าจะเห็นคนติดดีเข้าไปทำร้ายคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ เราก็จะไม่รู้สึกถือสาอะไร เพราะเข้าใจคนติดดี
เมื่อจบกระบวนการทั้งหมดนี้ มันก็ไม่รู้จะไปทำอย่างไรให้มันทุกข์ ใครจะกินเนื้อสัตว์ก็กินไป สัตว์จะเกิดจะตายก็ตายไป ใครจะติดดีมีอัตตาก็ติดไป เราก็ปล่อยวางความทุกข์ได้ทั้งหมด เหลือสุข เป็นสุขจากการไม่เสพสิ่งใด เป็นสุขจากการหมดกิเลสในเรื่องนั้นๆ แล้วเราก็จะกินมังสวิรัติไปเรื่อยๆ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นจากเรื่องมังสวิรัติไม่ว่ากรณีใดๆ
– – – – – – – – – – – – – – –
11.10.2557
สรณะ..เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง
สรณะ…เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง
ในสังคมที่สับสนวุ่นวายทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีความสะดวกสบาย มากมายไปด้วยสิ่งบำรุงบำเรอกิเลส แต่มันก็ไม่เคยจะทำให้ใครมีความสุขได้อย่างยั่งยืน เพราะการสนองกิเลสนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้อย่างยั่งยืน แต่คนก็มักจะหลงมัวเมาไปพึ่ง ไปยึดว่าการสนองกิเลสนั้นดี ต้องใช้ชีวิตให้เต็มที่ สนองกิเลสให้เต็มที่ เพราะหลงผิดคิดไปว่าเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้ได้เสพสุขมากที่สุด
ความสุขจากกิเลสนั้นเหมือนความสุขลวงๆ เหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด สุขอยู่ได้ไม่นานแล้วก็หายไป แต่ทิ้งทุกข์ไว้ให้นานแสนนาน เหมือนกับนายทาสที่เอาของกินมาล่อมาเลี้ยงไว้ แล้วถึงเวลาใช้งานก็เอาแส้ฟาดให้เราลากของ ให้เราทำงาน ให้เราพาไปยังที่ที่เขาหมายเพียงเพื่อที่จะได้เสพเศษแห่งความสุขเพียงน้อยนิด
แต่โลกในยุคนี้ก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น ยังมีมหาบุรุษที่รู้ทุกอย่างในมหาจักรวาลที่บังเกิดขึ้นเมื่อกว่า ๒๖๐๐ ปีก่อนและส่งต่อคำสั่งสอนมาให้ ผ่านอริยสาวกของท่านจากรุ่นสู่รุ่น
แม้สังคมและชีวิตทุกวันนี้จะมีแต่ความทุกข์จากความสับสนวุ่นวาย แต่ถ้าเรายึดพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยึดพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยึดพระสงฆ์ อริยสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ชีวิตก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ เป็นไปในแนวทางที่ถูกที่ควร เป็นไปในทางลดการสะสมกิเลส เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน
ชาวพุทธที่จะมีปลายทางสู่การพ้นทุกข์ จะยึดพระรัตนไตร คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีสามสิ่งนี้เป็นที่พึ่งเท่านั้น ที่พึ่งอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่มี
การไปพึ่งพาสิ่งอื่นนั้นนอกจากจะไม่เกิดความสุขแล้วยังจะสร้างความทุกข์ความฉิบหายได้อีก บางคนมีวิบากกรรมที่ต้องไปเชื่อ ไปหลง ไปงมงาย ไปมัวเมา ในเดรัจฉานวิชา เช่น การทายใจ ทำนายฝัน ปลุกเสก หมอผี ดูดวง ดูฤกษ์ ดูโหงวเฮ้ง หมอดูต่างๆ การบนบาน ทำพิธีบวงสรวง รดน้ำมนต์ พยากรณ์ทำนายทายทักต่างๆ และอื่นๆอีกมากมาย ( สามารถหาข้อมูลเพิ่มได้จากการศึกษามหาศีล ซึ่งเป็นศีลแบบกว้าง ครอบคลุมการเลี้ยงชีพ ไปจนถึงประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิต ที่เป็นไปในเชิงสังคม)
เดรัจฉานนั้นคือความโง่ เดรัจฉานวิชาก็คือวิชาที่คนโง่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้หลอกคนโง่กว่าอีกที ก็หลงโง่กันไปทั้งคนใช้คนเสพ…
คนที่ไปพึ่งพาสิ่งที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้น จะไม่มีทางพ้นทุกข์ เพราะยังหลงอยู่กับสิ่งมัวเมาในระดับหยาบ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่ทางสู่ความเจริญ ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ยิ่งไปพึ่งพาก็ยิ่งจะพาให้ทุกข์ แต่ผู้มีวิบากบาปก็จะมองไม่เห็น ไม่เข้าใจ และหลงมัวเมาอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ชาวพุทธผู้มีปัญญา พึงระลึกว่ามีเพียงพระรัตนไตรเท่านั้นเป็นที่พึ่ง แม้แต่เทพเจ้า ตำนาน หรือคำกล่าวอ้างใดๆ ก็ไม่ใช่ที่พึ่งทางใจของเรา
ผู้ที่ยังบูชา เทวดา เทพเจ้า หรือเทพต่างๆ อยู่นั้น คงยากที่จะพ้นทุกข์ ยกเว้นเสียแต่เทพเจ้าที่บูชาเคารพและยึดเป็นที่พึ่งนั้นจะเป็นอริยสาวกคือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ถ้าไม่จัดอยู่ในหมวดของพระรัตนไตร บูชาไป พึ่งพาไปก็มีแต่จะหลงทาง แต่ถึงจะบูชาถูกตรงแต่บูชาเพียงรูปคือขอแค่กราบไหว้ ขอแค่ได้เคารพ ขอแค่ได้ร่วมบุญ ขอแค่มีที่ระลึกติดไว้ที่บ้าน นั้นก็เป็นเพียงความเข้าใจที่ยังตื้นเขินนักไม่ทำให้พ้นทุกข์อีกเหมือนกันเพราะไม่ได้นำมาปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าในยุคของเรานี้มีพระโคดมพระองค์เดียว และท่านก็ได้ตรัสไว้ว่า ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี ประกอบกับธรรมในข้อ วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย ผู้ที่ยังไม่มั่นใจก็จะลังเลสงสัย จะเหมารวมว่าศาสนาอื่นๆก็ปฏิบัติได้เหมือนกัน เข้าใจว่าทำให้พ้นทุกข์ได้เหมือนกัน เข้าใจว่าทางพ้นทุกข์มีหลายทาง… แต่ในความเป็นจริงคือ การพ้นทุกข์ในระดับการดับกิเลสนั้น มีในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น ลัทธิอื่นนอกศาสนาพุทธไม่มี
ทีนี้เราก็มักจะเข้าใจตามที่คนอื่นว่า ท่านนี้ท่านนั้นเป็นอรหันต์บ้างละ ตำนานเขาว่ากันอย่างนั้นบ้างละ มีหลักฐานว่าอย่างนั้นบ้างละ แต่จริงๆคือเราเชื่อตามเขาเท่านั้น เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณสมบัติของพระอริยะมีอะไรบ้าง ถึงจะรู้ก็ดูไม่ออกอยู่ดี แต่ก็มีที่เขาว่าหลงเข้าใจผิดว่าตนเองบรรลุธรรมก็มีมากเหมือนกัน เอาเป็นว่าถ้าเราไปเชื่อตามเขากล่าวอ้างกันมานั้นก็คงจะไม่ดีแน่ เรื่องนี้เรายกไว้ก่อนจะดีกว่ารอดูไปก่อนจะดีกว่า อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขากล่าวอ้าง อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขาเป็นครูบาอาจารย์ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคนเขาพูดกันมา สังคมเขาเชื่อกันมา ให้ลองดูก่อน ลองนำแนวทางคำสั่งสอนมาปฏิบัติดู ถ้าชีวิตไม่ดีขึ้น ทุกข์หนักขึ้นก็ให้ถอยออกมา แต่ถ้านำคำสั่งสอนมาปฏิบัติแล้วชีวิตดีขึ้น ตัวเราและคนรอบข้างเป็นสุขมากขึ้น ความยึดมั่นถือมั่นน้อยลง ความอยากได้อยากมีน้อยลง ก็ให้ปฏิบัติตามต่อไปเรื่อยๆ
การยึดพระรัตนไตรเป็นสรณะ…
ในอีกแง่มุมหนึ่งของการยึดพระรัตนไตรเป็นที่พึ่งพา ที่อาศัย คือการทำตัวเองให้ความเป็นในสิ่งนั้นๆ คือการเรียนรู้ธรรม (ปริยัติ) การปฏิบัติธรรม(ปฏิบัติ) จนกระทั่งเกิดภาวะที่สามารถเข้าใจถึงธรรมนั้นๆได้อย่างถ่องแท้ (ปฏิเวธ) เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดังนั้นสุดท้ายการพึ่งพระรัตนไตรก็ต้องน้อมเข้ามาสู่ตัวเอง
เราจะไม่รอให้ใครหรืออะไรมาดลบันดาลความสุขให้ เราไม่รอให้วิบากกรรมส่งผลให้เราทุกข์เกินทนจนเลิกทำชั่ว แต่เราจะพาตัวเองให้พ้นทุกข์เอง โดยการศึกษาพระธรรม ควบคู่ไปกับการปฏิบัติ คือการลด ละ เลิก การยึดมั่นถือมั่นกิเลสเป็นของตน จนกว่าจะถึงสภาพของการหลุดพ้นจากกิเลส เบื่อหน่ายคลายจากกิเลส มีปัญญารู้แจ้งถึงกิเลสนั้นๆ รู้ไปจนถึงว่ากิเลสนั้นดับสนิทแล้ว
เมื่อยึดพระรัตนไตรมาสู่ตนเองอย่างแท้จริงแล้ว ก็เหมือนว่าเส้นทางชีวิตของเราจะถูกขีดไว้ให้เดินไปแต่ในทางเจริญทางด้านจิตใจ แม้ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างคนปกติทั่วไป ทำงานออฟฟิศ มีธุรกิจส่วนตัว ไม่ว่าจะมีวิถีชีวิตแบบใด ถ้ามีการนำพระรัตนไตรเป็นที่พึ่งเป็นที่ยึดอาศัยแล้ว เราก็จะมีโอกาสเข้าถึงความสุขแท้กันได้ทุกคน
– – – – – – – – – – – – – – –
8.9.2557