Tag: ความแตกต่าง
สมถะ-วิปัสสนา ความแตกต่างในลักษณะของการเกิดดับ
สมถะ-วิปัสสนา ความแตกต่างในลักษณะของการเกิดดับ
มุมมองต่อการเกิดดับของกิเลสจะแตกต่างกันไปตามวิธีปฏิบัติ สมถะและวิปัสสนาจะมีมุมมองที่แตกต่างกันเพราะมีการทำงานที่แตกต่างกัน
ผู้ที่เรียนรู้สมถะ
สมถะคือวิธีการพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม มีใช้กันทุกศาสนา โดยมากจะอยู่ในรูปการทำสมาธิ การเจริญสติในแบบต่างๆ การระลึกรู้ การคิดบวก การใช้ข้อธรรมดีๆเข้ามาจัดการกับการเกิดดับของจิตใจ โดยแนวคิดหลักๆคือการใช้อุบายเข้ามาควบคุมใจ ซึ่งสมถะจะแทรกอยู่ในการปฏิบัติของทุกๆศาสนา เป็นความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นมาก่อนศาสนาพุทธ และจะอยู่คู่โลกไปอีกนานแสนนานแม้ว่าพุทธจะเสื่อมสลายไปแล้วก็ตาม
มุมมองของสมถะต่อการเกิดและดับคือมองว่ามีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในแบบเปิดปิด ( on / off ) คือมีเกิด ก็ต้องมีดับ ดังนั้นหลักของสมถะคือกระทำความดับไม่ให้เกิด เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายเหมือนปิดสวิตซ์ไฟ แต่การจะดับจิตหรือความคิดที่เกิดขึ้นมาได้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถดับได้ทันที
สมถะจึงต้องการมีฝึกเช่นกัน เพื่อที่จะใช้กำลังของจิต ใช้ตรรกะ ใช้ความคิด เข้ามากดข่มจิตที่เกิดขึ้นนั้นๆให้ดับไป และหมายเอาว่าถ้าสามารถทำความดับให้ต่อเนื่องจนเป็นสมาธิได้ ก็จะบรรลุธรรม
นี้คือทิฏฐิของผู้ที่ฝึกแต่สมถะ ซึ่งก็จะมีมรรคผลแบบสมถะ ได้ความสงบ สามารถดับความคิด ดับจิตที่เกิดได้ในระดับอัตโนมัติ คือดับได้โดยไม่ต้องใช้สติไปรู้ หรืออีกนัยหนึ่งคือกดข่มโดยไม่มีสติอย่างเป็นธรรมชาติ สภาวธรรมเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ติดสงบ ติดภพ ติดสภาพของฤๅษี ที่หลงว่าสมถะนั้นคือทางบรรลุธรรม
บ้างก็หมายเอาว่าสมถะของตนนั้นคือวิปัสสนา ทำให้หลงอยู่กับการกระทำความดับในแบบเปิดปิดเช่นนี้ โดยไม่เข้าใจเหตุปัจจัยของรูปและนามอย่างแท้จริง แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะสามารถกดข่มกิเลสได้ มีรูปสวย ดูดีไปจนตาย แม้จะกดข่มได้ข้ามภพข้ามชาติต่อไปอีกเป็นสิบเป็นร้อยชาติ แต่ความเกิดนั้นก็จะยังเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งอยู่ดี
ซึ่งวิธีการดับด้วยสมถะนี้เอง เป็นเรื่องที่เข้าใจและปฏิบัติได้ง่าย มีสอนกันโดยทั่วไป วิธีการก็ไม่ยาก แค่พยายามกดไปเรื่อยๆ กดข่มไป คิดบวกไป ตัดรอบไป ทำเป็นลืมไป ฯลฯ เรียกว่าเจอผัสสะเข้ามากระทบแล้วก็ทำลายสภาพจิตที่เกิดเวทนาสุขทุกข์นั้นเสีย
ด้วยวิธีสมถะนี้เอง ทำให้หลายคนสามารถถือศีลที่ยากๆได้ เพราะใช้การกดข่มอย่างต่อเนื่อง พยายามบีบบังคับความอยากด้วยอุบายทางใจไม่ให้โผล่หน้าออกมา แต่ถึงกระนั้นก็เป็นเพียงการถือศีลในแบบสีลัพพัตตุปาทาน คือการถือศีลอย่างงมงาย ไม่มีปัญญา เขาว่าดีก็ถือ เขาว่าเป็นกุศลก็ถือ ไม่ได้เข้าใจในสาระและข้อปฏิบัติเพื่อการศึกษาในศีลนั้นๆ ดังนั้นการถือศีลยากๆได้ไม่ได้หมายความว่าบรรลุธรรม เพราะสามารถใช้การกดข่มหรือวิธีของสมถะเข้ามาบริหารจัดการได้
ผู้ที่เรียนรู้วิปัสสนา
โดยปกติแล้ว ผู้ที่เข้าใจวิปัสสนาจะสามารถเข้าใจสมถะอย่างถ่องแท้ด้วย นั่นเพราะสมถะคือพื้นฐานของการปฏิบัติในทุกๆศาสนา แม้ไม่มีศาสนาก็เป็นนักสมถะที่เก่งได้ แต่วิปัสสนานั้นเป็นกระบวนการของพุทธเท่านั้น หากจะนับจำนวนชาติที่หลงผิดต่อจำนวนชาติที่เห็นถูกตรง ย่อมปฏิบัติกันผิดๆมามาก ซึ่งในการปฏิบัติที่ผิดเหล่านั้นมักจะมีการใช้สมถะเป็นวิถีทางหลักอยู่แล้ว นั่นหมายถึงก่อนจะมาเรียนรู้วิปัสสนาก็มักจะสะสมบารมีเกี่ยวกับสมถะมาจนรู้แจ้งเห็นจริงแล้วกันมาไม่มากก็น้อย
วิปัสสนานั้นคือการทำให้มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง โดยรู้เหตุปัจจัยแก่กันและกันทั้งหมดของความเกิดและความดับ รู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสที่เกิดตลอดจนถึงความจางคลายละหน่ายจากกิเลสไปโดยลำดับ โดยมีญาณปัญญารู้ถึงระดับของกิเลสในตน
ปัญญาที่เกิดขึ้นจากวิปัสสนาจะกระจ่างแจ้งคนละระดับกับวิธีสมถะ เพราะเป็นปัญญาคนละโลก สมถะจะได้แค่ปัญญาโลกียะ ส่วนวิปัสสนาจะได้ทั้งปัญญาโลกียะและปัญญาโลกุตระ โดยหลักแล้วแม้สมถะจะเน้นไปที่สติ ดังคำว่า “สติมาปัญญาเกิด” แต่หากยังใช้เพียงวิธีของสมถะก็จะได้แค่ปัญญาโลกียะเท่านั้น เป็นปัญญาที่มีอยู่ในระดับที่กิเลสไม่กำเริบเท่านั้น ไม่ใช่ปัญญาในระดับของการชำระกิเลส
วิปัสสนานั้นจะไม่ได้ทำเพื่อการดับในทันทีเหมือนสมถะ เพราะรู้แน่ชัดว่ากิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์จนทำให้จิตใจหวั่นไหวนั้นมีปริมาณมาก จะจำกัดทีเดียวไม่ใช่เรื่องง่าย ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีไว้ศึกษาโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด กิเลสก็เช่นกัน มันมีสภาวะที่ละเอียดลึกลงไปตั้งแต่กามภพ รูปภพ อรูปภพ ซึ่งถ้าวิปัสสนาอย่างถูกตรงจะสามารถทำลายทั้งสามภพนี้ได้ แต่ถ้าปฏิบัติสมถะจะไม่ได้ทำลายภพ แต่จะเป็นการกดตัวเองเข้าไปอยู่ในภพ และกดข่มไปได้อย่างมากสุดก็แค่อรูปภพ จึงไม่มีวันหลุดพ้นจากกิเลสนั่นเอง
วิปัสสนานั้นจะทำให้เกิดปัญญาเจริญไปโดยลำดับ มีมรรคผลไปโดยลำดับ เติบโตไปทีละนิด กิเลสลดลงไปตามลำดับ ซึ่งอาจจะมีกิเลสเพิ่มบ้างในกรณีเกิดความทรมานจากการปฏิบัติธรรมแล้วย้อนกลับไปเสพตามกิเลสบ้างในบางคราว แต่โดยรวมแล้วจะมีทิศทางที่จะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นการเกิดดับของวิปัสสนาจะเป็นไปโดยลำดับ เป็นขั้นตอน เป็นกระบวนการจนสุดท้ายดับเหตุที่จะทำให้กิเลสเกิดได้ จึงกลายเป็นสภาวะดับตลอดกาล ไม่มีวันเกิดอีก ไม่มีเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปอีกต่อไป เพราะเป็นการดับที่ถาวร ไม่มีเชื้อของกิเลสอีกแล้ว
วิธีของวิปัสสนานั้นเห็นผลไม่ได้ง่ายๆเหมือนอย่างวิธีสมถะ เพราะต้องอาศัยความเพียรที่ถูกตรงอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดผล ต่างจากวิธีสมถะที่สามารถดับกันได้ชัดๆ จนบางครั้งสมถะวิถีเหล่านั้นกลายเป็นหลักปฏิบัติของคนที่มักง่าย หวังบรรลุธรรมไว เข้าใจว่าแค่ดับให้หมด ดับให้ได้ ดับให้ต่อเนื่องก็บรรลุธรรมแล้ว ทั้งที่จริงแล้วทั้งหมดนั้นยังไม่เข้าหลักของพุทธเลย
ทั้งนี้สภาพที่จะมียืนยันความเจริญของการปฏิบัติวิปัสสนานั้นละเอียดล้ำลึกกว่าสมถะมาก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้สอนไว้ให้เป็นแนวทางปฏิบัติและตรวจสอบกันทั้ง วิปัสสนาญาณ ๙ ,ญาณ ๑๖(โสฬสญาณ),จรณะ ๑๕, เจโตปริยญาณ ๑๖ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นสภาพความเจริญในจิตวิญญาณของผู้ที่ปฏิบัติได้จริง
– – – – – – – – – – – – – – –
31.3.2558
กะลา 3 ใบ
กะลา 3 ใบ
ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม โดยการใช้การกินมังสวิรัติมาเป็นโจทย์และสามารถประยุกต์ใช้กับกิเลสอื่นๆได้ (* เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรม )
การปฏิบัติธรรมตามแนวทางของศาสนาพุทธนั้นดำเนินไปเพื่อ “ความเป็นกลาง ไม่โต่งไปทางด้านกามและอัตตา” คือไม่ไปเสพตามกิเลสและไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ซึ่งในบทความนี้จะมาอธิบายความแตกต่างของการปฏิบัติธรรมโดยใช้มังสวิรัติกับการกินมังสวิรัติโดยทั่วไป
กะลา…
กะลา 3 ใบ จะถูกแทนด้วยสภาวะสามแบบ ใบแรก ก็คือกามในเนื้อสัตว์ การมีความอยากกินเนื้อสัตว์ ที่ยังไปกินเนื้อสัตว์นั้นๆอยู่ ยังไม่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้
ใบที่สอง จะเป็นอัตตาในเนื้อสัตว์ คือความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นต่อชีวิต เนื้อสัตว์มีประโยชน์ ไม่กินเนื้อสัตว์จะป่วย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ต้องมีเนื้อสัตว์ หรือความยึดในมิติอื่นๆ เช่นยึดในกามคุณ คือติดรสชาติของเนื้อสัตว์ หรือยึดในโลกธรรม คือเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ของชีวิต ยิ่งกินเนื้อที่คนเขาว่าดีเท่าไหร่คนอื่นก็จะยิ่งชื่นชมและอิจฉามากเท่านั้น
ส่วนใบที่สาม จะเป็นอัตตาในมุมยึดดี เป็นความรู้สึกว่าฉันเป็นคนดี ฉันไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าเราไม่ควรเบียดเบียนสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งวัตถุดิบทางตรงและสังเคราะห์ หรือยึดมั่นถือมั่นจนกระทั่งไม่ยอมให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของเซลล์สัตว์เข้ามาร่วมในอาหารที่กิน ซึ่งอาจจะมีโลกธรรมเข้ามาเป็นแรงผลักดันในการยึดเช่น อยากได้ชื่อว่าเป็นคนดี อยากให้คนชม อยากให้คนนับถือ
…ซึ่งกะลา 3 ใบนั้นแท้จริงแล้วก็คือภพที่คนเข้าไปติดไปยึดอยู่นั่นเอง เราจะมาอธิบายภาพกันต่อไปเพื่อให้เห็นรายละเอียดของความต่างระหว่างคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์ และคนที่ปฏิบัติธรรม
ก). คนที่ยังกินเนื้อสัตว์
คนที่ยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ โดยทั่วไปแล้วก็มักจะต้องกินตามความอยาก จะอยู่ในกามภพของเนื้อสัตว์ คือยังไปเสพ ไปติด ไปยึดในการกินเนื้อสัตว์อยู่ ถ้าแบบหยาบๆก็คือเสพติดเนื้อสัตว์ขนาดว่าต้องตระเวนหาเนื้อที่เขาว่าดีมากิน ร้านไหนดีก็ตามไปกิน ถ้าแบบกลางๆ ก็คนกินเนื้อสัตว์ทั่วไป อย่างดีหน่อยก็พวกรักสุขภาพที่กินผักมากกว่ากินเนื้อสัตว์
ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ แต่ถ้ายังอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปกินอยู่ก็ยังถือว่าอยู่ในภพนี้ ยังไม่ตัดให้ขาด ยังวนเวียนอยู่ในการกินเนื้อสัตว์ แม้จะเลิกกินได้เป็นสิบปียี่สิบปี แล้ววนกลับมากินด้วยความอยากก็ถือว่ายังไม่สามารถทำลายกามภพได้
คนส่วนมากในสังคมปัจจุบันจะอยู่ในภพนี้ แม้ว่าเขาจะเห็นโทษหรือไม่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ก็ตาม ภาพที่เห็นก็คือยังกินเนื้อสัตว์อยู่ แต่สิ่งที่ซ่อนไว้ข้างใต้นั้นก็คืออัตตาที่หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ดี การกินเนื้อสัตว์เป็นสุข เมื่อมีการยึดมั่นถือมั่นนี้ จึงส่งผลให้เกิดการพาตัวเองไปเสพเนื้อสัตว์ตามที่ใจอยาก
ข). คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์
เมื่อเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์มากเข้า คนบางพวกจึงหันมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ พยายามที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นเสียทั้งหมด ซึ่งหลายคนก็สามารถผ่านพ้นกามภพนั้นได้ นั่นหมายถึงไม่ไปกินเนื้อสัตว์อีกเลย
กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด แต่เป็นสามัญสำนึกหรือการยึดดีถือดีโดยธรรมชาติของคน เป็นความดีทั่วไปที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าการกินเนื้อสัตว์คือการทำสิ่งไม่ดีทางอ้อม อยากทำดีก็เลิกกินเนื้อสัตว์มันก็เท่านี้
ความอยากให้เกิดดีนั้นคือหมายให้เกิดผล แต่เหตุคือจะต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ ด้วยแรงบันดาลใจอะไรก็ได้เช่น ไม่อยากเบียดเบียน สงสารสัตว์ รักษาสุขภาพ ฯลฯ แต่ภาพสุดท้ายที่ได้จากการเลิกกินเนื้อสัตว์คือจะได้ภาพคนดีติดมาไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าใครพอใจในจุดนี้ก็มักจะจบที่ตรงนี้ กินมังสวิรัติได้ กินเจได้สมบูรณ์ก็จบไป ไม่ศึกษาต่อ เพราะได้อยู่ในภพคนดีที่ตนต้องการแล้ว
การเกิดภพเช่นนี้ไม่ใช่การทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ แต่เป็นการกดข่มความอยากกินเนื้อสัตว์ไว้ด้วยความยึดดี เหมือนเอากะลาคนดีมาครอบความชั่วไว้ มันก็จะเห็นแต่ความดี ส่วนที่ซ่อนอยู่นั้นไม่รู้ ซึ่งความยึดดีถือดีนี้จะสามารถกดข่มความอยากจนมิดเลยก็ได้
การกดข่มด้วยความยึดดีจะเปลี่ยนสภาพกามในเนื้อสัตว์มาเป็นกามในผัก แต่จะพัฒนาจนปรุงแต่ง รูปร่าง กลิ่น สี รส ของอาหารให้เหมือนเนื้อสัตว์ได้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสังเคราะห์ สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานว่าความอยากไม่ตาย เพียงแต่กดมันไว้ด้วยความยึดดี พอมันอยากแต่ไม่ได้กินสิ่งที่อยากมันก็สร้างสิ่งทดแทนมาเท่านั้นเอง ซึ่งสมัยนี้สิ่งทดแทนเหล่านี้หาได้ง่ายและราคาไม่แพงจนเกินไป
ทีนี้ปัญหามันก็จะอยู่ที่ความยึดดีนี่แหละ ถามว่าคนที่อยู่ในภพเช่นนี้เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตได้ไหม? ก็จะบอกเลยว่าได้ เพราะเวลายึดดีถือดีนี่มันยึดกันข้ามภพข้ามชาติได้เลย บางคนเกิดมาชาตินี้แค่คิดก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้เลย อาการแบบนี้คือมีพลังกดข่มสะสมมามาก
แต่ถ้าถามเรื่องกิเลสก็จะไม่รู้ชัดแจ้ง ถามเรื่องความอยากก็จะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะไม่ได้ใช้ปัญญาในการทำลายกิเลส แต่ใช้พลังสมถะ พลังจิต พลังเจโต อัตตาฝ่ายดีในการกดข่มความอยาก จึงเกิดสภาพ กดดัน อึดอัด ไม่โปร่ง ไม่โล่ง เจ้าระเบียบ ไม่ปล่อยวาง ติดดียึดดี เต็มไปด้วยกฎ ไม่ยืดหยุ่น แข็งกร้าว เอาแต่ใจ หมกมุ่น ถือตัวถือตน โดนด่าไม่ได้ โดนดูถูกไม่ได้รังเกียจคนกินเนื้อ รังเกียจที่ต้องกินเนื้อสัตว์ ทุกข์เมื่อเห็นเมนูเนื้อสัตว์ฯลฯ
ยิ่งคนที่มีอัตตามากและฝึกสมถะมามากจะสามารถกดกามภพ คือไม่ไปเสพ กดรูปภพ คือไม่คิดจะเสพ ลงได้แบบไม่ทันรู้ตัว คือกดข่มแบบอัตโนมัติ เป็นไปตามสัญชาติญาณ เอาง่ายๆว่าจะดูสงบไม่หวั่นไหวเหมือนผู้บรรลุธรรมกันเลยทีเดียว ทั้งที่จริงๆแล้วเป็นสภาพของจิตที่กดข่มความชั่วโดยอัตโนมัติแล้วสติไม่ทันรู้ตัวก็หลงว่าตัวเรานั้นพ้นจากอัตตาได้เช่นกันบางทีหลงเข้าใจว่าการกระบวนการทำงานของจิตเหล่านั้นคือสติไปด้วย ทั้งๆที่สภาวะใดๆที่ทำโดยอัตโนมัติและไม่มีปัญญานั้นไม่มีสติเป็นองค์ประกอบทั้งนั้น
จึงขอยืนยันเลยว่าการลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้ทั้งชีวิต ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรมที่ถูกแนวทางพุทธแม้แต่นิดเดียว แม้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่มีศาสนา หรือมิจฉาทิฏฐิที่เสื่อมที่สุดในโลกก็สามารถที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ได้
ค). คนที่ปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรม โดยใช้วิถีปฏิบัติของพุทธศาสนาเข้ามาเรียนรู้กิเลส โดยใช้การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติเข้ามาเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัตินั้นจะต่างออกไปจากการใช้ความยึดดีเข้ามากลบความชั่ว
เพราะการปฏิบัติที่ถูกต้องไปโดยลำดับนั้น จะให้ผลคือการทำลายทีละภพไปตามลำดับตั้งแต่เลิกกินเนื้อสัตว์ ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ และทำลายความติดดี ยึดดีถือดีว่าฉันเป็นคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์
นั่นคือการทำลายแต่ละภพที่จิตได้ยึดมั่นถือมั่นไว้โดยลำดับ ซึ่งจะต่างไปจากการกดข่ม เพราะมีขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นไปโดยลำดับตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้ใช้อัตตาเข้ามากดข่มความชั่วแล้วเลิกกินเนื้อสัตว์ในทันที
ผลที่แตกต่างจากวิธีที่ใช้อัตตาเข้ามาช่วยในการเลิกกินเนื้อสัตว์ คือมีความยืดหยุ่น มีปัญญารู้แจ้งในโทษชั่วของความอยากกินเนื้อสัตว์ รู้เหลี่ยมรู้มุมของกิเลสที่เจอมา ไม่สุขไม่ทุกข์ใดๆ แม้ว่าจะต้องกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆอีก
แต่โดยสามัญแล้วจะไม่ไปกินเนื้อสัตว์ เพราะมีปัญญารู้ว่ากินแล้วจะเกิดผลร้ายอย่างไร ไม่ใช่การไม่ไปกินเพราะความยึดดีถือดีด้วยอัตตา สภาพสุดท้ายจะเหมือนคนที่กินมังสวิรัติทั่วไป
…
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงความต่าง ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็แล้วแต่ว่าใครจะสนใจและพอใจที่จะอยู่ในภพแบบไหน บางคนยังอยากเสพ บางคนยังยินดีกับการยึดดี ชอบเป็นคนดี หรือจะเรียนรู้การทำลายภพก็สามารถเลือกเอาได้ตามกำลังศรัทธา
– – – – – – – – – – – – – – –
27.2.2558