Tag: ความเจริญ
หาคู่บรรลุธรรม : เมื่อความฝันกับความจริงเป็นคนละเรื่องกัน
หาคู่บรรลุธรรม : เมื่อความฝันกับความจริงเป็นคนละเรื่องกัน
ความรักของคนทั่วไปนั้นมักจะไม่มีความซับซ้อนอะไรมาก ตรงไปตรงมา แค่อยากได้ก็หามาเสพ แต่ความรักของนักปฏิบัติธรรมส่วนมากนั้นซับซ้อน มักจะถูกซ่อนไว้ด้วยเหตุผลอันน่าอภิรมย์เสมอ เป็นความอยากที่ซ่อนไว้ใต้ภาพฝันอันสวยงามว่า จะสามารถเจริญไปได้พร้อมๆกับการเสพสุขจากการมีคู่
ซึ่งแท้จริงแล้วการมีคู่นั้นไม่ใช่ความเจริญหรือความประเสริฐแต่อย่างใด มันเป็นเพียงความธรรมดา เป็นไปตามธรรมชาติของความเป็นสัตว์การมีคู่นั้นมีมาตั้งแต่เป็นสัตว์เล็กจนถึงสัตว์ใหญ่ ฯลฯ นั่นหมายถึงเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์ที่จะมีคู่ ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติ ไม่ใช่สาระสำคัญของชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจแต่อย่างใด
ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะพาให้คนหลุดพ้นจากธรรมชาติ ไม่ต้องมีชาติ มีชรา มรณะ ฯลฯ หลุดพ้นจากความเป็นสัตว์อย่างที่เคยเป็นมา ซึ่งหากปฏิบัติอย่างถูกตรงโดยลำดับจะสามารถงดเว้นเรื่องคนคู่ได้ จนกระทั่งยินดีที่จะไม่มีคู่ครอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ สวนกระแสธรรมชาติอย่างรุนแรง ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจกันได้โดยทั่วไป และไม่ใช่สิ่งที่จะปฏิบัติกันได้ทุกคน
การหาคู่มาเพื่อความเจริญในธรรมนั้น มีขีดสูงสุดที่จะเจริญได้คือการยอมพรากจากคู่ของคน คือไม่เข้าไปคบหาเชิงชู้สาว ไม่สมสู่กัน ไม่บำเรอกามและไม่สนองอัตตากันและกัน สุดท้ายก็คือไม่ผูกกันด้วยกิเลส นั่นหมายถึงว่าท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาเป็นโสดอยู่ดี
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าความเจริญสูงสุดของการมีคู่คือการกลับมาเป็นโสด เป็นสัจจะที่ไม่สามารถลบล้างได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต, ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง” ซึ่งก็ชี้ให้เห็นชัดอยู่แล้วว่าการไปแสวงหาคู่เป็นความเสื่อม ความโสดคือความเจริญ
แล้วคนที่เข้าใจว่าจะหาคู่เพื่อความเจริญในธรรม ร่วมสร้างกุศลคืออะไร? ก็คือคนที่ไม่เห็นโทษภัยของการมีคู่ หลงคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งดี น่าใคร่น่าเสพ ก็เลยหาคู่มาบำเรอตน ไม่บำเรอกามก็บำเรออัตตา แล้วก็หลงมัวเมาอยู่กับสวรรค์ลวงๆที่ตนสร้างมา ว่ามีคู่สุขจริงหนอ มีคู่ดีจริงหนอ มีคู่ประเสริฐจริงหนอ ว่าแล้วก็ตั้งจิตน้อมเข้าหาประโยชน์ของการมีคู่ สะสมหมักหมมกิเลสพอกใส่ตัวเองด้วยความหลงผิด เห็นว่ากงจักรนั้นเป็นดอกบัว ก็มีแต่จะสะสมทุกข์ บาป เวร ภัย ให้กับตัวเองเท่านั้นเอง
ทั้งที่ความจริงแล้ว สุขกว่าการมีคู่นั้นยังมีอีกมากมาย แต่ก็มาหลงสุขอยู่กับการมีคู่ เหมือนนักเดินทางที่อยากเดินไปให้ถึงเป้าหมายแต่ก็มาหยุดตรงที่จุดชมวิวข้างทางไม่ยอมไปไหน ถ้าจะให้เกิดความเจริญก็จะต้องกล้าที่จะเดินออกไป กล้าที่จะยอมทิ้งสุขที่น้อยเหล่านั้นไปหาสุขที่มากกว่า สุขที่ไม่ต้องได้ ไม่ต้องมี ไม่ต้องเป็นอะไร
เรื่องการมีคู่แท้จริงแล้วก็เหมือนเรื่องโกหก แม้มันจะเคยเกิดขึ้นจริง แต่มันก็ไม่ใช่ของจริง มันเปลี่ยนแปลง แตกหัก เสื่อมสลาย ไม่คงทน ตายไปก็จำไม่ได้ คงเหลือแต่กรรมและกิเลสที่ตกทอดมาเป็นพลังที่หลอกให้คนหลงไปว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าได้น่ามี เป็นตัวเราของเรา ให้คนหลงไขว่คว้า พยายามแสวงหาคู่กันทุกชาติอย่างไม่จบไม่สิ้น เกิดมาชาติไหนก็ยังต้องหาคู่มาเสพ เพราะยังไม่สามารถหลุดพ้นจากธรรมชาติ ไม่หลุดพ้นจากความเป็นสัตว์
การบรรลุธรรมแท้จริงแล้วก็คือการเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นสิ่งที่ไร้สาระเป็นสิ่งไร้สาระตามจริง เหมือนกับการที่เห็นเรื่องการมีคู่ไม่ใช่สาระใดๆในชีวิต ถ้ายังไม่สามารถเข้าใจความจริงในระดับนี้ ก็อย่าพึ่งไปคิดให้ไกลเกินตัวว่าจะหลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะเพียงแค่เรื่องคู่ยังหลุดพ้นไม่ได้ แล้วเรื่องอื่นที่ยากกว่าจะผ่านไปได้อย่างไร
– – – – – – – – – – – – – – –
31.10.2558
การไม่กินเนื้อสัตว์กับศาสนาพุทธ
รวมบทความเกี่ยวกับข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งเรื่องของการไม่กินเนื้อสัตว์กับศาสนาพุทธ
เป็นชุดบทความประยุกต์ความรู้ทางพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ซึ่งในปัจจุบันนั้นการไม่กินเนื้อสัตว์กลายเป็นเรื่องแปลก ทั้งที่ในอดีตสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชผู้มากอบกู้ศาสนาในช่วงต้น ในยุคนั้นก็ไม่นิยมกินเนื้อสัตว์กัน และมีข้อมูลว่าท่านเองก็เป็นมังสวิรัติด้วย ดังนั้นจากหลักฐานที่พอจะมีปรากฏคือชาวพุทธนั้นเขาไม่กินเนื้อสัตว์กันเป็นธรรมดา คือไม่กินกันเป็นปกติ เพราะไม่มีการฆ่าสัตว์ในพื้นที่ ก็เลยไม่มีให้กินกันอย่างเช่นทุกวันนี้
ซึ่งในปัจจุบันนี้มีการฆ่าสัตว์เป็นเรื่องธรรมดา ใครกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา คนไม่กินเนื้อกลับเป็นเรื่องแปลก กลายเป็นว่ากลับหัวกลับหางจากสมัยอดีตที่ผ่านมา สิ่งนี้คือความเจริญหรือความเสื่อมของชาวพุทธกันแน่ ก็ลองมาศึกษากัน
บทความที่รวบรวมมานี้แต่ละบทความค่อนข้างยาว ประมาณ 2-3 หน้ากระดาษ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาและสมาธิพอสมควร แต่ละบทความมีเนื้อหาแตกต่างกันไปเพื่อวิเคราะห์ข้อคิดเห็น ข้อขัดแย้ง และปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ผู้ที่สนใจได้ร่วมศึกษา
๑.การกินไม่มีโทษจริงหรือ การปฏิบัติธรรมของพุทธนั้นควรยุ่งเกี่ยวกับการกินหรือไม่ มีสาระสำคัญหรือไม่ (facebook : https://goo.gl/GF2IUs )
๒.ชาวพุทธ ควรกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาหรือไม่ อ้างอิงพระสูตรที่จะชี้ให้เห็นว่าสิ่งใดเป็นกุศลสิ่งใดเป็นกุศล (facebook : https://goo.gl/VG2MYU )
๓.การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ มีความเจริญในทางธรรมหรือไม่ ควรปฏิบัติหรือไม่ (facebook : https://goo.gl/q3NTH4 )
๔. กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป จริงหรือ? วิเคราะห์เกี่ยวกับคำว่า “บาป” คืออะไร ทำไมจึงบาป (facebook : https://goo.gl/HkH80y )
๕.การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่เป็นบุญจริงหรือ บุญคืออะไร เป็นบุญหรือไม่ ทำอย่างไรจึงเป็นบุญ (facebook : https://goo.gl/kSDWzK )
๖.พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ ความเห็นความเข้าใจของผู้เขียนที่ได้จากการปฏิบัติธรรม (facebook : https://goo.gl/GXAolv )
๗.การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑ ว่ากันด้วยเนื้อหาของศีลของเดียว ทุกวันนี้มีศีล หรือเสื่อมจากศีล (facebook : https://goo.gl/SK65K6)
๘.สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ความเห็นจาก “มิจฉาวณิชชา” ที่นำมาขยายกัน (facebook : https://goo.gl/FHtLs6)
๙.กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น การที่คนเราละเว้นเนื้อสัตว์ ไปกินผักกินหญ้านั้นสามารถหลุดพ้นได้จริงไหม (facebook : https://goo.gl/rYxhC9 )
๑๐. การไม่กินเนื้อสัตว์ แบบอุปาทานและสมาทาน การทำความดีที่มีความต่างในทางธรรม (facebook : https://goo.gl/guJLmO )
๑๑.สงครามอัตตา ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ บนสมรภูมิแห่งโลกีย์ที่ไม่มีวันจบสิ้น (facebook : https://goo.gl/syMTNR )
๑๒. สมรภูมิคนดี โจทย์ต่างๆที่จะเข้ามาทดสอบความดี ที่ว่าเป็นคนดีนั้นดีจริงแค่ไหน (facebook : https://goo.gl/5mNxZF )
บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?
บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?
ความเห็นที่ว่าการไปยุ่งวุ่นวายกับการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรมนั้น มักจะเป็นความเห็นที่มีการนำเสนอขึ้นมาในช่วงเทศกาลกินเจ แท้จริงแล้วศาสนาพุทธใส่ใจเรื่องการกินหรือไม่ หรือเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ที่เข้าใจว่าการกินไม่มีผล เรามาลองศึกษาบทวิเคราะห์กันดู
มีความคิดเห็นของนักปฏิบัติธรรมบางคนที่เห็นว่าการกินนั้นไม่มีผลต่อการปฏิบัติธรรมบ้าง เลือกกินไปก็ไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญบ้าง สนใจเรื่องกินก็ไม่บรรลุธรรมบ้าง แต่ในความเป็นจริงนั้น กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการขัดเกลาหนึ่งของผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ “ท่านให้ศึกษาการกินมื้อเดียว”
เปิดเรื่องมาก็เกี่ยวกับเรื่องกินแล้ว การกินมื้อเดียวนั้นอยู่ในจุลศีล ข้อ ๙ เป็นหลักปฏิบัติมาตรฐานในศาสนาพุทธของนักบวชทุกรูปที่พระพุทธเจ้าบวชให้ ถือเป็นศีลต้นกำเนิดของพุทธที่มีมาตั้งแต่แรก เป็นข้อปฏิบัติสู่ความเจริญ ต่างจากพระวินัยที่ถูกบัญญัติขึ้นมาทีหลัง
ท่านยังกำชับไว้ด้วยว่า การกินนี่ต้องประมาณให้ดีนะ (โภชเนมัตตัญญุตา) จะไปสักแต่ว่ากินแล้วกิเลสโตไม่ได้นะ เพราะกินอย่างพุทธคือต้องกินแล้วกิเลสลด กามลด อัตตาก็ลด กามคุณ ๕ เราก็ไม่หลง ความยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ต้องมี ต้องประมาณให้เกิดความเจริญขึ้นในตน ให้เกิดการชำระกิเลส ให้เกิดกุศล ไม่ใช่แค่กินให้ชีวิตอยู่ไปวันๆ แบบนั้นใครเขาก็ทำกัน เพราะคนจะอยู่ได้ก็ต้องกินอาหารกันทุกคนอยู่แล้ว แต่การจะกินให้เกิดความเจริญนี่มีเฉพาะในพุทธเท่านั้น
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุของการเกิดของตัณหา (ตัณหาสูตร) หนึ่งในนั้นคืออาหารที่ได้รับมา นั่นหมายความว่าการกินอาหารทุกวันนี่แหละ จะทำให้เกิดตัณหาได้ แล้วทีนี้คนที่เห็นว่าการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรม ไม่มีผลต่อความเจริญ ประมาทในอาหาร สุดท้ายตัณหาก็แอบโตกันไปสิ เพราะไม่รู้เหตุของตัณหาว่าเกิดที่ใด พอไปยึดมั่นถือมั่นว่าฉันจะไม่ปฏิบัติเรื่องกิน ก็โดนกิเลสลากไปลงนรกหมด
พอตนเองไม่เท่าทันการเกิดของตัณหาในการกิน แล้วยังไม่ยินดีปฏิบัติธรรมในการกิน ก็เท่ากับเสียโอกาสในการล้างกิเลส เมื่อไม่ได้ตั้งศีลตั้งตบะเพื่อละเว้นอาหารที่จะก่อให้เกิดการกำเริบของตัณหา ถึงจะมีผัสสะแต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะ “เมื่อไม่ตั้งใจละเว้นก็ย่อมเท่ากับ เสพกามได้เท่าที่ใจต้องการโดยไม่มีขอบเขต” พอไม่มีขอบเขตก็เลยไม่มีการปฏิบัติใดๆ เกิดขึ้น จึงกลายเป็นการกินเพื่ออยู่ไปวันๆ โดยไม่รู้เท่าทันตัณหา ตัณหานั้นมีอยู่แต่การรู้การมีอยู่ของตัณหาต้องใช้การละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่จะได้เห็นตัณหา(ใช้อธิศีล) เมื่อไม่ยินดีละเว้นหรือปฏิบัติธรรมในเรื่องอาหารก็คือการปล่อยให้ตัณหาโตโดยไม่รู้ตัว
ซึ่งพระพุทธเจ้าให้ดับปัญหาที่เหตุ การปฏิบัติธรรมนั้นก็เพื่อดับทุกข์ ดับทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ ถ้าอาหารที่ได้มานั้นยังทำให้ตัณหาเกิดอยู่ก็ต้องปฏิบัติกันในเรื่องของอาหาร เพราะตัณหาที่เกิดจากอาหารก็ต้องมาจัดการที่อาหาร จะไปนั่งสมาธิ เดินจงกรมดับมันไม่ได้ ใจมันเกิดความหลงติดหลงยึดในอาหาร ไม่ใช่ว่าขี้เกียจนั่งขี้เกียจเดิน เหตุมันคนละตัวกัน ปัญหาเกิดที่ไหนต้องแก้ที่ตรงนั้น จึงเรียกได้ว่ารู้แจ้งสมุทัย รู้เหตุแห่งทุกข์
ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่ากามนี่ให้ละก่อนเลย เพราะกามคือ ข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า (อาคาฬหปฏิปทา) คือ มันชั่วมาก หยาบมาก มีโทษมาก เบียดเบียนมาก ควรละเว้นให้ได้ก่อน คนที่หลงในกามจะมีความเห็นและคำกล่าวดังเช่นว่า “กามไม่มีโทษ” (๒๐,๕๙๖) ดังนั้นผู้ที่เห็นว่ากามไม่มีโทษย่อมตกลงไปในกาม จมสู่กาม มัวเมาในกาม ซึ่งกามในความหมายของพุทธศาสนานั้นกินความกว้างมาก โดยรวมคือการหลงเสพหลงสุข
จะยก “กาม” ที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้คือ “กามคุณ ๕ ในอาหาร” เพื่อที่จะชี้ชัดกันว่า ผู้ที่ละเว้นการสำรวมในอาหารการกินนั้นจะมีความเห็นไปทางไหน
กามคุณ ๕ นั้นมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นเดียวกับกับอาหารนั้นก็มีกามคุณ ๕ แบบครบเครื่อง เรียกว่าเป็นกิเลสที่สัมผัสกันได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่รูปคืออาหารนั้นมีหน้าตาดีไหม น่ากินไหม เพียงแค่เห็นรูปสวยก็อยากกินสิ่งนั้นแล้ว, รสชาติ ของอาหารที่เขาว่าเด็ด ร้านไหนอร่อยต้องไปกิน ร้านไหนไม่อร่อยอยากจะขว้างทิ้ง , กลิ่นที่ยั่วยวนหอมหวาน พัดมาตั้งแต่ไหนทำให้เกิดความอยากกินเพียงแค่สูดกลิ่นเข้าไป, เสียง แค่ได้ยินเสียงผัด เสียงตะหลิวที่โดนกระทะ เสียงผัดดังซู่ซ่าก็ทำให้คิดถึงเมนูที่ชอบใจ เกิดอยากจะกินขึ้นมาทันที , สัมผัส ความกรอบ นุ่ม เย็น ร้อน ฯลฯ ทั้งหลายที่ชวนสัมผัส พากันจ่ายเงินซื้อมากินกันจนหนำใจ
เพียงแค่ยกตัวอย่างเรื่องกามหยาบๆเช่นนี้ ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า อาหารนี่เป็นเหตุแห่งตัณหาอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ แล้วยังไงล่ะ? ทีนี้คนที่ปฏิบัติธรรมแล้วตีทิ้งอาหารการกิน มองว่าการกินไม่มีผล เห็นว่าปฏิบัติเรื่องการกินไปก็ไม่เจริญ จะเป็นอย่างไร ….เขาก็โดนกิเลสตลบหลังเข้าสักวันนั่นแหละ เพราะประมาทต่อกาม เพราะกามนั้นล่อลวง กามทำให้ลุ่มหลง ทำให้ประมาทตามประสาของกิเลส
อะไรที่มันน่าใคร่น่าเสพคนเขาก็ไม่อยากจะพรากหรอก ก็หาสารพัดข้ออ้างที่แสนจะดูดีเพื่อให้เสพมันทุกวันนั่นแหละ เพราะมีตัณหา ก็เลยมีอุปาทาน แล้วก็จึงมีภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ไม่จบไม่สิ้น
มันจะจบได้อย่างไรในเมื่อตัณหาไม่ได้ถูกจัดการ ปล่อยไว้เป็นขยะหมักหมม เอาไปแอบซ่อนอยู่ในมุมหนึ่งของจิตใจ แม้วันนี้จะไม่เห็นโทษของมัน แต่วันหนึ่งก็จะรู้ได้เองว่ากามนั้นมีโทษมาก กามเป็นภัยมาก พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงธรรมให้ปฏิบัติโดยลำดับคือให้จัดการกับกามเสียก่อน แล้วค่อยล้างความยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วไปมัวเมาเสพกาม อันนั้นมันวิปริตผิดพุทธ
– – – – – – – – – – – – – – –
13.10.2558
บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?
บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?
มีข้อขัดแย้งกันในประเด็นของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญเมื่อไม่กินเนื้อสัตว์ บ้างก็ว่ามีผล บ้างก็ว่าไม่มีผล หรือถึงจะมีผลก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ไม่ใช่สิ่งที่น่าใส่ใจเอามาปฏิบัติ ซึ่งในความจริงแล้วมีผลหรือไม่มีผล เรามาลองวิเคราะห์กันดู
“การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาคือการไม่ส่งเสริมการเบียดเบียน” ความเห็นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เป็นสมการแบบแปรผันตามกัน เพราะการที่เราจะได้กินเนื้อสัตว์ก็มาจากการฆ่าในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นหลัก
ทีนี้คนจำนวนหนึ่งที่มีจิตเมตตา ได้รับรู้ถึงการเบียดเบียนที่โหดร้ายทารุณ จึงตั้งใจหยุดการบริโภคหรือหยุดสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสัตว์ ให้สังเกตตรงนี้ว่า จากเมตตานั้นพัฒนาเป็นกรุณา คือนอกจากสงสารแล้วยังลงมือทำด้วย ไม่ใช่ว่าสงสารแล้วยังกินเนื้อเขาอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็น”ผล”ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว
มีคนบางพวกซึ่งอาจจะเมตตา แต่ไม่ได้กรุณาอะไร ไม่ได้คิดจะลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดสิ่งดีขึ้น คือมีจิตสงสารแต่ก็ปล่อยวางทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไร ความเข้าใจเช่นนี้คือทางลัดของกิเลสนั่นเอง ถ้าถามว่าจิตเช่นนี้จะเจริญหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “ไม่” เพราะสุดท้ายก็เสพกามเหมือนเดิม กินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม เป็นปัญญากิเลสทั่วไปในสังคม ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้ ต่างจากกรณีแรกคือเมตตาแล้วกรุณา คือหยุดเสพกามอันเป็นเหตุให้เบียดเบียนนั้นด้วยจะเห็นได้ว่าการตั้งจิตดังเช่นว่า “ถ้าเลือกได้” จะไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเลยตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องยากที่ไม่ได้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป
การปฏิบัติธรรมให้จิตใจเจริญนั้นมีหลักคือละเว้นจากอกุศล เข้าถึงกุศล ดังนั้นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจในสัตว์แล้วลงมือช่วย ย่อมมีผลเจริญขึ้นในจิตใจขึ้นมาบ้างแล้ว ต่างจากผู้ที่ไม่สามารถทำจิตเมตตาให้เจริญถึงขั้นลงมือละเว้นทั้งที่มีองค์ประกอบที่เอื้อให้ทำได้
นี่เป็นเพียงเรื่องของเมตตาที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องเข้าหลักปฏิบัติในศาสนาอะไรที่ลึกซึ้ง ก็เห็นแล้วว่ามีผล และไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยทั่วไป เพราะทำได้ลำบาก ต้องใช้ความพยายามต้องอดทนอดกลั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความอดทนอดกลั้น(ขันติ) นั้นเป็นเครื่องเผากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง การจะกล่าวว่าการอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผลนั้น ย่อมไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องนัก
การประมาทในกุศลแม้น้อย ก็ยังถือว่าเป็นความประมาทที่ยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จะกล่าวไปใยว่า เราจะสรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย อนึ่ง เราย่อมสรรเสริญความเจริญ ไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย”
ความเจริญของจิตใจแม้เพียงเล็กน้อย สามารถพัฒนาไปเป็นความเจริญที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ ผิดกับคนที่ไม่เห็นดีกับผู้ที่คิดจะนำความเจริญมาสู่จิตใจตน เขาย่อมตกลงสู่ความเสื่อม และยึดมั่นถือมั่นในความเห็นที่ต่อต้านการเข้าถึงกุศลธรรมนั้น จนปิดประตูในการทำกุศลเหล่านั้นเพราะเห็นว่าไม่มีค่า ไม่สำคัญ ไม่มีผล จนเสื่อมจากกุศลธรรมในเรื่องนั้นไปในที่สุด
ผู้ที่ไม่สามารถเห็น “ผล” ในการตั้งใจหยุดเบียดเบียน คือผู้ที่ไม่มีญาณปัญญารับรู้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะในความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ) ในข้อแรกได้กล่าวไว้ว่า “ทานที่ทำแล้วมีผล” แล้วมีผลอย่างไรจึงจะสัมมาทิฏฐิ คือทานที่ทำแล้วนั้นมีผลในการลดกิเลส ลดความหลงติดหลงยึดได้
การจะมีสัมมาทิฏฐิไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป ไม่ใช่แค่อ่านตามแล้วจะเข้าใจได้ แต่ต้องมีญาณปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างถูกตรงนั้นอยู่ในตน ดังนั้นการที่ใครจะมีความเห็นว่า “การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ไม่มีผลต่อความเจริญในจิตใจ” ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังมีมิจฉาทิฏฐิ คือไม่สามารถรับรู้ได้ว่า สิ่งใดทำแล้วมีผล สิ่งใดทำแล้วไม่มีผล ทำอย่างไรจึงมีผล ทำอย่างไรจึงไม่มีผลเพราะไม่มีญาณรู้ในผลที่เกิดขึ้นได้
ความเห็นว่ากรรมและผลของกรรมมีผลนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ผู้ที่เห็นว่ากรรมที่ทำนั้นไม่มีผล ไม่เห็นว่าสิ่งใดที่ทำลงไปไม่ว่าจะดีหรือร้ายนั้นมีผล ก็จะทำให้เกิดความประมาท และร้ายยิ่งกว่าสำหรับผู้ที่รู้ว่ากรรมนั้นส่งผลเสีย เบียดเบียน เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่คิดจะหยุดทำกรรมชั่วนั้นทั้งๆที่สามารถหยุดได้ คนเช่นนี้ไม่มีกำลังในการต้านความชั่วเลย สติก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี จึงใช้ชีวิตโดยประมาท ปล่อยให้กรรมชั่วนั้นดำเนินต่อไป
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ ธรรม ๓ ประการนี้เป็นลักษณะของคนพาล ๑. ไม่เห็นว่าสิ่งที่เป็นโทษนั้นเป็นโทษ ๒.เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นโทษแล้วไม่แก้กลับให้ถูกตามธรรม ๓. เมื่อผู้อื่นชี้ให้เห็นโทษ ก็ไม่ยอมรับรู้ตามธรรมนั้น “ ดังนั้นผู้ที่ได้รับรู้แล้วว่าสิ่งใดเบียดเบียน แต่ไม่พยายามหลีกเลี่ยงหรือละเว้น ทั้งยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ย่อมไม่สามารถเข้าถึงกุศลธรรม กลายเป็นคนพาลในที่สุด
จริงอยู่ที่ว่า ในหมู่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์อาจจะมีผู้ที่ไม่ได้มีผลเจริญในจิตใจขึ้นมาเลย แต่ก็ไม่สามารถเหมาได้ว่าทุกคนนั้นไม่มีผล เพราะคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นถูกตรงก็มี ดังนั้นการจะเหมาเอาว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่มีผล จึงเป็นความประมาทของผู้ที่กล่าวข้อความเช่นนี้
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ประมาทก็เหมือนกับคนที่ตายแล้ว เช่นเดียวกันกับคนที่คิดว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผล เขาย่อมตายจากกุศลธรรมที่ควรจะเกิด ตายจากความเจริญที่ควรจะมี ตายจากความดีที่เคยเป็นมา
– – – – – – – – – – – – – – –
8.10.2558