Tag: ความอยากเสพ

รักข้างเดียว กับการเรียนรู้ความผิดหวังที่จะนำไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน

July 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,531 views 1

รักข้างเดียว กับการเรียนรู้ความผิดหวังที่จะนำไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน

รักข้างเดียว กับการเรียนรู้ความผิดหวังที่จะนำไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน

ความรักข้างเดียว คือความอยากเสพที่ไม่มีวันสมหวัง เหมือนการเดินทางที่ไม่มีเป้าหมาย ยิ่งเดินก็ยิ่งไกล พยายามเข้าใกล้ก็ยิ่งห่างออกไป กับความหวังที่ค่อยๆ เลือนราง จางหาย และสลายไป

แต่หลังจากที่ความหวังเดิมถูกทำลายไปด้วยความจริงจนหมดสิ้น ความหวังใหม่ก็มักจะเริ่มต้นอีกครั้งกับใครอีกคนหนึ่ง เป็นวงจร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป วนเวียนไปอย่างไม่จบสิ้น ดับแล้วก็เกิดใหม่ เกิดแล้วก็ดับ แล้วเราจะสามารถหลุดจากวงจรแห่งทุกข์นี้ได้อย่างไร ต้องได้รับรักดังใจหวังอย่างนั้นหรือจึงจะเรียกว่าพ้นทุกข์ หรือมีทางอื่นที่ดีกว่านั้น?

รักข้างเดียว คือสภาพที่มีแต่ผู้เสนอ แต่ไม่มีผู้สนอง มีแต่ผู้หยิบยื่นให้ แต่ผู้รับไม่ยินดีรับ เพราะสิ่งที่ให้นั้นอาจจะไม่ดีพอ ไม่มากพอ ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้ตามที่หวัง ไม่เป็นไปตามศีลธรรม แม้ผู้เสนอจะเป็นคนที่ดีแสนดี คิดดี พูดดี ทำดี แต่ถ้าไม่มีปัจจัยที่ผู้รับต้องการก็จะยังเป็นรักข้างเดียวไปตลอดกาล

เพราะการรับรักนั้นมีปัจจัยหลากหลายขึ้นอยู่กับผู้รับว่าต้องการอะไร นั่นหมายถึงเขามีความอยากอะไร เขาอยากได้อยากเสพอะไร เรามีพอบำเรอกิเลสของเขาหรือไม่ เราจะต้องพยายามอีกแค่ไหนที่จะแสดงตัวว่าสามารถสนองกิเลสเขาได้ เราต้องมีหน้าตารูปร่างที่งามแค่ไหนที่พอจะกระตุ้นกิเลสให้เขาหันมาอยากได้อยากเสพเรา เราต้องขยันทำงานสร้างตัวเองให้พัฒนาอีกเท่าไหร่ถึงจะมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุขไปพอบำเรอกิเลสของเขา จนเขายอมรับการสนองกิเลสจากเรา แล้วเราต้องทำอีกเท่าไหร่กว่าจะถมห้วงเหวแห่งความอยากนี้จนเต็ม

แม้จะประสบความสำเร็จในการล่อลวงให้เขาเห็นค่าของเรา จนเขาหันมาคบหาเรา เป็นเพื่อน เป็นแฟน เป็นสามีภรรยา แล้วมันเป็นยังไง? เขาจะอยู่กับเราตลอดไปไหม? เราจะยังคงต้องพยายามทำอย่างเดิมไปอีกใช่ไหม? ต้องเอาใจมากกว่าเดิม ต้องบำเรอมากกว่าเดิม ต้องระวังมากกว่าเดิม ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการคอยบำเรอกิเลสเขาเพียงเพื่อจะได้เสพสมใจในรสสุขบางอย่างที่ได้จากเขา

เราต้องคอยเป็นทาสสนองกิเลสเขาไปอีกนานเท่าไหร่ ต้องทำต่อไปแบบนี้อีกกี่ชาติ เขาไม่รับรักก็เป็นทุกข์ แม้เขาจะรับรักก็ใช่ว่าจะเป็นสุขเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีวิบากกรรมและทุกข์ซ้อนเข้าไปในความสุขที่แสนหลอกลวงนั้นด้วย ทำไมเราจึงเฝ้าพยายามเติมเต็มสิ่งที่ไม่มีวันเต็ม กิเลสเป็นสิ่งที่เติมเท่าไหร่ก็ไม่มีวันพอ ไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันที่จะสาสมใจ ต้องการไปเรื่อยๆ อยากไปเรื่อยๆ ทำไมเราจึงขยันทำในสิ่งที่ไม่มีคุณค่าและสร้างทุกข์ให้กับตนเองอยู่ เพียงเพื่ออยากได้ใครสักคนเข้ามาอยู่ข้างกาย

แม้จะดูเหมือนว่าเราต้องคอยบำเรอกิเลสเขาจนกว่าเขาจะรับรัก ดูเหมือนเขาเป็นผู้ร้าย ดูเหมือนเขาเป็นคนกิเลสหนา แต่ถ้ามองให้ชัด เรานี่เองที่เป็น “ทาสกิเลส” เราโดนกิเลสตัวเองหลอกให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ให้ไปทำทุกข์ทำชั่ว ไปยุ่งวุ่นวายกับชีวิตของผู้อื่นเพียงเพื่อจะได้นำเขามาเสพสมตามใจตนเอง

ผู้ร้ายตัวจริงของความผิดหวังช้ำรักไม่สมหวังก็คือตัวเราเอง ไม่ใช่ใครอื่น ต้นเหตุแห่งทุกข์คือความอยากได้อยากเสพของเราเอง เป็นกิเลสของเราเอง เรามัวแต่ไปหาสิ่งนอกกายมาบำเรอกิเลสตน ใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือในการสนองความใคร่อยากของตน โดยเอาปัจจัยที่เรามีไปล่อลวงเขา ให้เขาหลง ให้เขาอยากเสพเรา เพื่อที่เราจะได้เสพสุขจากเขาอีกที เป็นความเห็นแก่ตัวที่แนบเนียนที่สุด เพราะมาในคราบของคนรักที่แสนดี คนที่เสียสละ คนที่ยอมเสมอเพียงเพื่อให้ได้รับความรัก

ความอยากของเราทำให้เราเห็นแก่ตัว ทำให้เราทำทุกอย่างเพื่อที่จะให้คนอื่นเห็นคุณค่า โดยไม่รู้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นจะไปเพิ่มกิเลส สร้างทุกข์ให้กับเขาหรือไม่ แม้ความรักจะเป็นความสุขตามที่หลายคนเข้าใจ แต่มันก็เป็นเพียงรักที่เห็นแก่ตัว เป็นเหมือนยาพิษที่เคลือบไว้ด้วยน้ำตาล แม้จะหวานในตอนแรกแต่สุดท้ายก็ต้องทุกข์กันทุกรายไป

ความรักข้างเดียวนั้นดีแล้ว ดีกว่าที่เขาจะยอมมาคู่กับเราเพราะเราบำเรอกิเลสเขาได้ หรือเพราะเราสร้างความอบอุ่นมั่นใจให้เข้าได้ หรือด้วยเหตุผลที่แสนดีต่างๆนาๆที่ทำให้เขายอมหันมาคบเรา เพราะสิ่งเหล่านั้นทำให้เขาหลง ทำให้เขาเสียเวลา แทนที่เขาจะได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่เป็นกุศล แต่กลับต้องมาเมามายในสุขลวงกับคนกิเลสหนาอย่างเรา

ต้องขอบคุณเขาเสียด้วยซ้ำที่เขาขัดใจเรา ไม่ยอมตามใจเรา ให้เราได้เรียนรู้ความผิดหวังจากความอยากของเรา เพราะถ้าเราสมหวังไปเรื่อยๆ เราก็จะเป็นคนที่หลงมัวเมา หลงติดหลงยึดในสุขลวง สร้างทุกข์ให้ตนเองและผู้อื่นอย่างไม่จบไม่สิ้น คนที่เข้ามาขัดใจเรา สร้างกำแพงแห่งความสิ้นหวังให้เรา คือผู้ที่จะมาเปิดตาเราให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ส่วนเราจะยอมเห็นความจริงนั้นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเรา หากกิเลสของเราหนาเราก็จะแสวงหาช่องทางที่จะได้เสพผู้อื่นต่อไป แต่หากเรามีปัญญาก็จะหยุดคิดว่าเราควรจะทำสิ่งใดต่อไป จะหาทางสนองกิเลสจนใครสักคนจนกระทั่งเขายอม หรือจะทำลายกิเลสในตนเองให้ไม่ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น

ความสุขจากการได้เสพกับความสุขที่ไม่จำเป็นต้องเสพนั้นต่างกันคนละโลก จินตนาการเอาไม่ได้ ให้คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก เดาไม่ได้เลย คนทั่วไปก็เข้าใจว่าจะมีความสุขก็ต้องได้เสพสิ่งนั้น ต้องสมหวัง เขาต้องรับรัก ต้องได้เป็นคู่กัน แต่ความสุขเหล่านั้นเป็นเพียงของลวง ไม่ยั่งยืน จางหาย เปลี่ยนแปลงได้ จึงไม่ใช่แก่นสารสาระที่ควรยึดไว้

ส่วนความสุขที่ไม่ต้องเสพนั้นเกิดจากการทำลายความอยากในจิตวิญญาณจนสิ้นเกลี้ยง เกิดเป็นความสุข สงบจากกิเลส ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องไขว่คว้า ไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องทุกข์เมื่อไม่ได้มา เป็นสุขที่เกิดเพราะไม่ต้องมีทุกข์จากความอยากมากัดกร่อนใจ

ดังนั้น รักข้างเดียวจึงไม่ใช่เรื่องที่แย่เลย แต่เป็นประตูสู่การเรียนรู้ให้เห็นทุกข์จากความอยากของตัวเอง เป็นก้าวแรกสู่การพ้นทุกข์

ดีแล้วที่เรารักข้างเดียว ไม่ต้องชวนใครเข้ามาทำบาป ไม่ต้องดึงใครเข้ามาร่วมวงกิเลสเป็นบ่วงเวรบ่วงกรรมของกันและกัน ไม่ต้องสร้างความลำบากให้ใครมากกว่านี้ ไม่ต้องเบียดเบียนผู้อื่นด้วยความรักและความหวังดี ไม่ต้องให้เขามาทุกข์ทนเพราะความอยากที่แสนจะเห็นแก่ตัวของเรา ไม่ต้องให้เขามาหลงในคำลวงที่เราถูกลวงจากกิเลสมาอีกที

ดีแล้วที่เขาไม่รับรักเรา ดีแล้วที่ไม่ต้องผูกพันกันมากกว่านี้ ดีแล้วที่เป็นแค่เพื่อนกัน. . . ดีแล้วที่เราไม่ต้องคบกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

14.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คนอยากมีคู่ศึกษาไว้

May 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,929 views 0

(ผมจะทำยังไงดี เมื่อเมียจนไม่ลง : http://pantip.com/topic/33667527)

ตอนสุขเขาสุขด้วย แต่ตอนทุกข์นี่เขาไม่เอาด้วยนะ…

พึงระวังไว้เลยสำหรับเรื่องนี้ เพราะยากนักที่จะรู้ได้ ก็ตอนจีบกันคบกันก็มีแต่สร้างภาพให้ดูดีกันทั้งนั้น ส่วนใหญ่ที่ได้แต่งงานกันเพราะเสพแต่สุขร่วมกันนั่นแหละ

คนที่เขาผิดใจกัน มีปัญหากันจนทำให้ต้องเลิกกันก่อนแต่งงานนี่เขาโชคดี เพราะได้ทดลองมีปัญหาก่อนจะต้องเจอกับปัญหาที่หนีไม่ได้

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า วันที่เราจน วันที่เราป่วย วันที่เราดูแลตัวเองไม่ได้ เขาจะร่วมทนทุกข์กับเรา?

หรือวันที่เขาจน วันที่เขาป่วยจนดูแลตัวเองไม่ได้ จนต้องไปคอยดูแลเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้เขา เราจะดูแลเขาไหวหรือ? เราแค่คิดไปเองหรือเคยลองมาแล้ว เราเคยอดมื้อกินมื้อไหม? เราเคยดูแลคนป่วยไหม? เราเคยดูแลคนแก่ไหม?

…การมองโลกในแง่ดี หรือที่เขามักจะเรียกว่า “โลกสวย” บางครั้งก็เป็นความประมาท ที่ทำให้ชีวิตได้ตัดสินใจผิดพลาดอย่างที่ไม่มีวันแก้ไขได้ ทั้งหมดนั้นเพียงเพราะความอยากเสพในเรื่องคู่เท่านั้นเอง

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

October 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,335 views 0

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

การทำบุญที่หลายคนเข้าใจกันนั้นคือการทำบุญตักบาตร ไปวัด ทำสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลา ทำทานช่วยเหลือวัดและพระด้วยปัจจัยต่างๆ นั่นคือการทำบุญแบบที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการทำบุญนั้นมีมิติที่หลากหลายและละเอียดอ่อนกว่าที่เห็นและเป็นอยู่มาก

คำว่า “บุญ” คือการสละกิเลส ลดกิเลส ทำลายกิเลส กิจกรรมใดๆ ที่ทำให้กิเลสน้อยลง ไม่ว่าจะโลภน้อยลง โกรธน้อยลง หลงน้อยลง ทำให้ความอยากเสพอยากได้อยากมีในสิ่งใดๆลดลงได้ ก็ถือว่าเป็นการทำบุญ และการทำบุญที่ดีที่สุดนั้นคือการทำที่ตัวเอง คือทำตัวเองให้เป็นเนื้อนาบุญ ลดกิเลสที่ตัวเอง ทำให้เกิดสภาพที่กิเลสนั้นหายและตายไปจากจิตของตัวเองไป นั่นคือสภาพที่สุดของบุญ ซึ่งสอดคล้องกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดังนั้น การทำบุญที่ดีที่สุดก็คือการทำที่จิตใจตัวเองนั่นเอง

การกินมังสวิรัตินั้น สำหรับคนที่เสพติดเนื้อสัตว์ แต่สามารถพยายามฝืน ต้านกิเลส กดข่ม พิจารณาโทษของกิเลส ให้ความอยากเสพนั้นจางคลายลงไปได้ ก็ถือว่าเป็นบุญที่ทำได้ในทุกโอกาสที่เราจะหยิบเนื้อสัตว์เข้าปาก เป็นการลดความอยากเสพ ลดกิเลสที่เคยมี สำรวม กาย วาจา ใจ ไม่ให้ไปเสพเนื้อสัตว์ ไม่ให้เกิดการเบียดเบียน ไม่ให้กิเลสให้กำเริบมากไป การกินมังสวิรัตินี้ก็ถือว่าเป็นบุญ ซึ่งทำได้ทุกวัน วันละหลายๆครั้งตามมื้ออาหาร หรือตามจำนวนครั้งที่หักห้ามใจไม่ไปเสพได้

ถ้าการไม่ไปเสพเนื้อสัตว์คือ “บุญ” ดังนั้น การไปเสพเนื้อสัตว์ก็เป็น “บาป” เพราะคนที่ตั้งใจไว้ว่าตนเองจะละเว้นการกินเนื้อสัตว์ หากบกพร่องไปจากศีลหรือตบะที่ตนตั้ง พลั้งเผลอใจ ปล่อยตัวปล่อยใจไปกินเนื้อสัตว์แล้ว ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มกิเลส ยอมให้กับกิเลส บาปนั้นคือการสั่งสมกิเลส ตามใจกิเลส เพิ่มพูนกิเลส

สำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะกินมังสวิรัติอาจจะสงสัยว่าตัวเองบาปไหม? บาปแน่นอน เพราะทุกวันมีแต่การสั่งสมกิเลส เสพตามใจกิเลส ไม่เคยคิดค้านแย้งกับกิเลส ไม่มีโอกาสที่จะเกิดบุญเลย ต่างจากคนที่ถือศีล ตั้งตบะจะกินมังสวิรัติ เขาเหล่านั้นก็จะเกิดบุญบ้าง บาปบ้าง ตามกำลังที่แต่ละคนมี ไม่ใช่บาปอย่างเดียวอย่างที่คนทั่วไปเป็น

แต่บางครั้งเราอาจจะต้องยอมเลือกที่จะบาปบ้างเพื่อไม่ให้เกิดบาปที่มากกว่าเช่น ในกรณีคนที่มีกิเลสมาก ถ้าจะให้อดเนื้อสัตว์ในระยะเวลานานๆเขาจะไม่สามารถทำได้ หรืออดเนื้อสัตว์ในงานเลี้ยง เทศกาล วันสำคัญต่างๆ เขาจะทรมานมาก ความทรมานที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นนี้ก็เป็นการเบียดเบียนตัวเองเช่นกัน ซึ่งบางครั้งเมื่อเรายึดมั่นถือมั่นในการกินมังสวิรัติมากไปจนจิตใจทรมาน เพราะการลดเนื้อสัตว์ในระดับนั้นไม่อยู่ในฐานะที่เราจะกระทำได้ไหว จิตใจเรายังไม่เข้มแข็งพอ ก็ให้ลดความยึดดี ถือดีออกไปบ้างและกลับไปกินเนื้อสัตว์บ้างให้หายจากความทรมานจากการอด ซึ่งเป็นลักษณะการปฏิบัติธรรมที่ไม่เคร่งจนเครียด

เราจำเป็นต้องยอมรับว่าการกำจัดกิเลสที่สุดแสนจะหนานั้น ไม่สามารถทำได้เพียงแค่คิดเอา บางคนดูเหมือนจิตใจแข็งแกร่ง แต่พอต้องมากินมังสวิรัติกลับไม่สามารถทำได้ แม้ว่าเขานั้นจะเห็นประโยชน์ของมังสวิรัติ และโทษของการกินเนื้อสัตว์แล้ว แต่กิเลสที่หนาของเขานั้นไม่ยอมให้เขาได้หลุดพ้นจากนรกเนื้อสัตว์ได้โดยง่ายนัก

การลดกิเลส หรือการทำบุญนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คิดเอาได้ หวังเอาได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเพียรพยายามทำอย่างตั้งมั่น สำหรับการกินมังสวิรัติก็คือการตั้งมั่นในการกินมังสวิรัติอย่างต่อเนื่อง แม้จะพลาดพลั้งก็รีบตั้งตบะสู้ใหม่ ไม่จมอยู่กับความสุขที่ได้ลิ้มรสเนื้อสัตว์นาน พร้อมกับพิจารณาคุณและโทษไปเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้คือการทำบุญ โดยที่ไม่ต้องไปวัด ไม่ต้องบริจาคเงิน ไม่ต้องลำบากเสาะหาพระดัง วัดดังใดๆ แต่เป็นการทำบุญที่ใจ ยอมปล่อยให้กิเลส ออกไปจากจิตใจของเรา ไม่ยึดกิเลสไว้เป็นตัวเราของเรา เป็นบุญที่พึงกระทำได้ทุกวัน จนกระทั่งวันสุดท้าย ที่เรียกว่าหมดบุญหมดบาป คือกำจัดกิเลสเนื้อสัตว์หมดแล้ว ก็ไม่ต้องทำบุญอีก เพราะไม่มีกิเลสเกี่ยวกับความอยากกินเนื้อสัตว์เหลือให้กำจัด หมดบาปก็เพราะไม่มีการสั่งสมกิเลสอีก เพราะมีปัญญาเห็นโทษจากการเสพเนื้อสัตว์อย่างเต็มรอบ จึงไม่มีวันที่จะเห็นดีเห็นงามกับการกินเนื้อสัตว์อีกต่อไป

หากพุทธศาสนิกชน เข้าใจแก่นแท้ของการทำบุญ คือการกระทำใดๆ เพื่อเป็นไปซึ่งการลดกิเลสแล้ว สังคมจะน่าอยู่ขึ้นอีกมาก เพราะมีแต่คนที่พากันลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี ลดความกลัว ลดความเห็นแก่ตัว ลดการเก็บสะสม ลดความหลงในกิเลส เมื่อมีแต่คนที่พากันลดกิเลส สังคมก็จะเติบโตไปในทางดีงาม ไม่ไปในทางเสื่อม ไม่พากันหลงมัวเมาด้วย อบายมุข กาม ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขลวงๆ อีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

29.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติทางสายกลาง การปฏิบัติธรรมด้วยการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยเว้นจากทางสุดโต่งสองด้าน

October 19, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,568 views 0

มังสวิรัติทางสายกลาง

มังสวิรัติทางสายกลาง การปฏิบัติธรรมด้วยการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยเว้นจากทางสุดโต่งสองด้าน

ในสังคมยุคปัจจุบันนี้ การกินมังสวิรัติเป็นสิ่งที่เข้าใจและรับรู้กันโดยทั่วไปว่า เพื่อสุขภาพ เพื่อละเว้นชีวิตสัตว์ เพื่อความไม่เบียดเบียน เพื่อกุศล นั่นก็เป็นความรู้ความเข้าใจที่มีทิศทางไปในด้านบวก ด้านที่เจริญ ซึ่งก็ดีอยู่แล้ว แต่แท้ที่จริงแล้วการกินมังสวิรัติยังมีประโยชน์มากกว่านั้น ยังมีสาระสำคัญมากกว่านั้น หากเราเข้าใจการกินมังสวิรัติเพื่อการปฏิบัติธรรม

แผนที่การเดินทางที่จะทำให้เราไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้นก็คือทางสายกลาง เป็นทางเดียวที่จะพาพ้นจากทุกข์ และเช่นเดียวกับการกินมังสวิรัติ หากเราต้องการกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืน มีแค่ทางนี้ทางเดียวคือเราจะต้องเป็น “มังสวิรัติทางสายกลาง

ทางสายกลางคืออะไร?

ทางสายกลางนั้นคือมรรควิถี คือสัมมาอริยมรรค แต่การจะเดินไปบนเส้นทางสายกลางนั้นไม่ง่าย ไม่ใช่เพียงแค่คิด ไม่ใช่เพียงแค่ท่องจำ ไม่ใช่เพียงแค่รู้ ไม่ใช่เพียงแค่เข้าใจ ไม่ใช่เพียงแค่เพ้อฝันเอาเองว่ากำลังเดินบนทางสายกลางแต่ต้องพากเพียรปฏิบัติจนถึงผลนั้น

การจะมาสู่ทางสายกลางนั้น เราต้องต้องเว้นจากทางโต่งทั้งสองด้านเสียก่อน เหมือนกับคนเมาที่เดินเซไปเซมา ซ้ายทีขวาที เราเองก็เช่นกัน ถ้าเรายังเป็นคนที่หลงมัวเมาอยู่ในกิเลส เราก็จะเดินหลงไปทางโต่ง ไม่ด้านในก็ด้านหนึ่ง สลับกันไปมา ไม่สามารถเดินตรงได้สักที

การจะบอกว่าตนเองนั้นหลงมัวเมาอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโดยส่วนมากคนที่หลงมัวเมาก็จะไม่รู้ว่าตัวเองมัวเมา หรือหลงยึดหลงติดอยู่กับอะไร ดังนั้นการนำศีลเข้าไปปฏิบัติจะทำให้เราได้เห็นขอบเขตการมัวเมาของเรา เหมือนกับเอาเชือกมากั้นไว้ไม่ให้เดินออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งการกินมังสวิรัติก็เป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้เราได้เห็นความมัวเมาลุ่มหลงในทางโต่งสองด้านนั่นเอง

ทางโต่งสองด้าน

ด้านกาม หรือ กามสุขลิกะ …คือการโต่งไปในทางการเสพ ในกรณีมังสวิรัติ นั่นคือการที่เรายังไปกินเนื้อสัตว์อยู่ ไม่ว่าจะในกรณีใดๆก็ตาม หากกินด้วยความอยาก ด้วยความอร่อย ด้วยความติดใจในรสชาติของเนื้อสัตว์นั้น ก็หมายถึงการติดกาม เป็นทางโต่งทางหนึ่งที่ควรละเป็นอันดับแรก เพราะจะเกิดการเบียดเบียนผู้อื่นอย่างเป็นรูปธรรม คือการเอาเลือดเอาเนื้อของสัตว์อื่นมาบำรุงกิเลส บำรุงกามของเรา เป็นอกุศล เป็นบาป จึงควรละทางโต่งด้านนี้เสีย

ด้านอัตตา หรือ อัตตกิลมถะ… คือการโต่งไปในทางการทรมานตัวเองด้วยอัตตา ในมุมของผู้ที่ยังยึดติดกับเนื้อสัตว์ ก็จะทรมานตัวเองโดยการกินเนื้อสัตว์ เพราะหลงยึดหลงติดว่าเนื้อสัตว์นั้นมีคุณค่าทางอาหาร หากไม่บริโภคเนื้อสัตว์แล้วจะป่วย จะไม่แข็งแรง เป็นอัตตาที่ยึดไว้ ทำให้ต้องทรมานตัวเองด้วยการกินเนื้อสัตว์

ทรมานอย่างไร? ในเมื่อกินแล้วมีความสุขจากเสพ ..พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ผู้ที่ยังหลงติดหลงยึดในการเบียดเบียนเพราะเข้าใจไปว่าต้องเบียดเบียนเพื่อให้ตัวเองแข็งแรง เพื่อสุขภาพดีนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด ดังนั้นจึงเป็นการทรมานตัวเองด้วยวิบากบาปอันเกิดจากความไม่รู้แจ้งในเรื่องกรรมและผลของกรรม

และเมื่อเรายึดเนื้อสัตว์เป็นอัตตา แม้จะมีผู้รู้ท่านใดมาบอกว่าการยึดนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิเพียงไร คนผู้ยึดอัตตาก็มักจะกอดความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นดี เป็นการทรมานตัวเองไปเรื่อยๆ โดยการกอดกิเลสไว้ไม่ยอมให้ตัวเองพ้นทุกข์

ในอีกมุมหนึ่งของอัตตาคือความยึดดี ถือดี อวดดี มักเกิดขึ้นในผู้ที่สามารถละทางโต่งในด้านกามได้สมบูรณ์แล้ว คือไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้ว ก็จะมีความยึดดี หลงว่าสิ่งที่ตัวทำนั้นดี มักจะเอาความรู้ ความถือตัวไปข่ม ไปเบ่งทับคนที่เขายังไม่สามารถละกิเลสได้ ซึ่งการยึดดีถือดีเหล่านี้ก็เป็นการเบียดเบียนเหมือนกัน สุดท้ายพอไม่ได้ดั่งใจ ไม่สามารถทำให้ใครมากินมังสวิรัติได้อย่างใจ ก็มักจะทุกข์ใจ ขุ่นเคืองใจ เป็นการทรมานตนเองด้วยอัตตา เป็นทุกข์เพราะความยึดดี ถือดี เป็นการเบียดเบียนทั้งคนเองและผู้อื่น มักจะเสพยินดีกับเหตุการณ์ที่ตัวเองคิดว่าต้องเกิดดี พอไม่เกิดดีดังใจหมายก็ทุกข์ก็มักจะทำร้ายตัวเองและผู้อื่นด้วยความยึดดี เป็นการบำรุงอัตตาของเรา เป็นอกุศล เป็นบาป จึงควรละทางโต่งด้านนี้เสียด้วย

…ดังจะเห็นได้ว่า การกินมังสวิรัติทางสายกลางนั้น ไม่ได้หมายถึงการกินเนื้อสัตว์บ้างกินผักบ้าง แต่เป็นการเว้นขาดจากการไปเสพกาม เว้นจากการเสพเนื้อสัตว์ หรือไม่ไปกินเนื้อสัตว์เลย และไม่ทรมานตนเองด้วยอัตตา คือความยึดดี ถือดี ยึดว่าคนอื่นต้องกินผัก เลิกกินเนื้อสัตว์จึงจะเป็นสุข กินมังสวิรัติด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่รังเกียจเนื้อสัตว์ ไม่ได้รักผัก แต่ก็ไม่กินเนื้อสัตว์ และยินดีในการกินผัก

การกินมังสวิรัติทางสายกลางนี้และคือทางเดียวที่จะทำให้ชีวิตตนเองและผู้อื่นเป็นไปด้วยความผาสุก ตัวเราก็ใช้ชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และสามารถเผยแพร่ความรู้ในการกินมังสวิรัติด้วยความเป็นอนัตตา ซึ่งจะทำให้ผู้ที่สนใจสามารถรับฟังและเข้าใจโดยไม่มีความอึดอัดขุ่นเคืองใจ ไม่กดดัน ไม่บังคับ ไม่บีบคั้น เป็นเพียงแค่การเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์ประโยชน์และคุณค่าของการกินมังสวิรัติโดยการปฏิบัติทางสายกลางเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้บงการ ผู้กำกับใดๆ ใครจะกินก็ได้ ไม่กินก็ได้ จะกินมังสวิรัติเฉยๆไม่ปฏิบัติธรรมก็ได้ หรือจะปฏิบัติไปด้วยก็ได้

เมื่อเราปฏิบัติล้างความยึดติดในทางโต่งสองด้านแล้ว เราก็จะเข้าสู่ความผาสุกในชีวิตหรือวิถีแห่งสัมมาอริยมรรคได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นความสุขความเจริญ เป็นคุณค่าที่ถูกสอดร้อยเอาไว้ในการกินมังสวิรัติ ซึ่งการจะเข้าถึงคุณค่าเหล่านี้จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การปฏิบัติธรรม ลด ละ เลิก การเสพการยึดไปตามลำดับนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์