Tag: ความรู้

อยากโสด แต่กิเลสไม่ยอมให้โสด

June 26, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,907 views 0

อยากโสด แต่กิเลสไม่ยอมให้โสด

อยากโสด แต่กิเลสไม่ยอมให้โสด

สมัยที่ยังไม่เคยศึกษาธรรมะก็มักจะมองว่าความโสดไม่ดีมีแต่เหงา มีคู่สิดีมีอะไรมากมาย แม้จะเจ็บจากความรักเท่าใดก็ยังไม่ทิ้งความหวังที่จะมีความรักอีกครั้ง

จนกระทั่งได้มาศึกษาธรรมะ ได้ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์และผู้รู้ที่นำมาขยายและอธิบายว่าการมีคู่ทำให้เกิดทุกข์อย่างไร เป็นโทษอย่างไร ความโสดมีคุณประโยชน์อย่างไร ทำให้ชีวิตเจริญอย่างไร

ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ความเจ็บช้ำมามากเท่าไหร่ เห็นรักของใครต่อใครพังมามากแค่ไหน ได้เรียนรู้ว่าโสดนั้นดีกว่ามีคู่อย่างไร แต่ก็ยังไม่สามารถทำใจให้โสดสนิทได้ ทำอย่างไรมันก็ไม่ยอมโสด มันยังอยากมีคู่ เห็นคนอื่นควงกันมาแล้วก็ยังอิจฉา ดูละครเห็นพระเอกนางเอกจีบกันก็ยังสุขตาม บางทีก็ยังเฝ้าฝันถึงวันที่ได้มีคู่ ทำไมมันยังไม่ยอมโสดเสียทีทั้งที่มีความรู้ขนาดนี้แล้ว?

เรียนรู้ใช่ว่าจะรู้จริง

เราอาจจะเคยเจอกับสภาวะที่เรียกว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด หรือ เข้าใจแต่ทำไม่ได้ การเรียนรู้โดยทั่วไปนั้นเป็นการนำความรู้นั้นเข้ามาใส่ความจำเท่านั้น ซึ่งในความจำนั้นก็ยังมีอีกมากมายหลายล้านเรื่องที่จำไว้ เช่นจำว่าเคยมีความสุขตอนมีคู่ จำได้ว่าตอนเสพมันเป็นสุข ซึ่งแม้จะจำได้ว่ามีคู่เป็นทุกข์ แต่เมื่อประสบกับสิ่งที่ถูกใจเข้าจริงๆก็มักจะแกล้งลืมความจำบางอย่างไปเสียหมด

สิ่งที่ทำให้เราเลือกจำแต่เรื่องที่ไร้สาระและเลือกเสพในสิ่งที่ไม่ใช่ความสุขแท้นั้นก็คือ “กิเลส” พลังของกิเลสจะทำหน้าที่บดบังความจริงตามความเป็นจริง สร้างความสุขลวงขึ้นมา ปั้นความลวงให้เป็นความจริง ถึงแม้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าจะเป็นกงจักรก็ยังเข้าใจไปว่าเป็นดอกบัว นี่คือพลังของกิเลสที่ทำให้เห็นผิดเป็นถูก ทำให้ความจริงนั้นผิดเพี้ยนไป ดังนั้นเมื่อเราได้เรียนรู้อะไรมาก็ตาม หากเรายังมีกิเลสปนเปื้อนอยู่ ความรู้เหล่านั้นจะถูกบิดเบือนไปจนกระทั่งบันทึกสิ่งที่ผิดๆลงในความทรงจำ

ดังนั้นการเรียนมากก็ใช่ว่าพ้นทุกข์ได้ เพราะหากขยันเรียนแต่ยังมีกิเลสมากหรือความรู้ที่เรียนนั้นไม่ได้พาให้ลดกิเลส ความรู้นั้นก็ไม่ได้ช่วยให้พ้นทุกข์ได้เลย ยิ่งรู้มากยิ่งหลงผิดมาก เรียกว่ายิ่งเรียนยิ่งโง่ก็ว่าได้

โสดที่ยังมีกิเลส

เมื่อเราได้เรียนรู้ชีวิตและศึกษาธรรมะ เข้าใจเหตุแห่งความอยากในการมีคู่แล้วเห็นดีในความโสด ไม่ใช่การโสดเพราะอยากจะหนีหรือเพราะเจ็บปวดจากความรัก แต่เพราะเกิดปัญญาเห็นโทษภัยของการมีคู่และข้อดีของการโสด

แต่ถึงจะเห็นไปในทางที่ถูกเช่นนั้นก็ใช่ว่าจะสามารถโสดโดยไม่มีสะดุด เพราะยังมีกิเลสคอยเป็นมารที่ขวางกั้นความสงบในชีวิต การเห็นว่าโสดนั้นดี คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกปรับเข้ามาในทิศทางที่ถูกแล้ว เหมือนเรือที่หันหางเสือไปยังทิศทางพ้นทุกข์ แต่ก็ยังไม่ออกเรือ เป็นเพียงการระบุทิศทางเท่านั้น

ซึ่งประเด็นนี้มักจะเป็นที่สงสัยของหลายคนว่า ได้ศึกษาธรรมจากพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ เข้าใจและเห็นด้วย แต่ทำไมเวลาไปเจอของจริงมันแพ้กิเลสทุกที นั่นเพราะเพียงแค่ความเข้าใจที่ถูกตรงแต่ยังมีกิเลสนั้นยังไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้

ความเข้าใจที่ถูกเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีเป็นอันดับแรก เพราะถ้าเข้าใจผิดเห็นว่ามีคู่ดีกว่า หรือถ้าเจอคู่ดีก็ควรมี หรือเหตุผลอะไรก็ตามแต่ที่จะทำให้ไปมีคู่ ก็เรียกได้ว่ายังเป็นความเข้าใจที่ผิด เป็นเรือที่อยากจะเดินทางไปสู่การพ้นทุกข์ แต่ตั้งหางเสือให้ไปในทิศทางของทุกข์อยากมีความสุขแต่กลับแสวงหาทุกข์ เพราะมีกิเลสมาบดบังปัญญาจึงทำให้หลงผิด

เมื่อมีความเข้าใจที่ถูก ก็จะต้องทำให้เกิดความคิดที่ถูกต้องตามมา ในตอนแรกจะไม่สามารถมีความคิดไปตามหลักของพระพุทธเจ้าได้ กิเลสมันจะค้านแย้งตลอด แม้จะได้เรียนธรรมมามาก มีข้อธรรมเยอะ จำได้มาก แต่ก็มักจะต้องแพ้ให้กับกิเลสเสมอ เพราะพลังของอธรรมนั้นมีมากกว่าธรรม ตั้งใจพิจารณากิเลสแทบตาย ฟังธรรมปฏิบัติธรรมกันอยู่เป็นสัปดาห์ ออกไปใช้ชีวิตแล้วเจอคนที่ถูกใจพูดด้วยไม่กี่คำก็เพ้อฝันไปไกล

การจะคิดได้อย่างถูกตรงนั้นไม่ง่าย จึงต้องใช้พลังของการปฏิบัติอื่นๆร่วมด้วย คือการพูดสิ่งที่ถูกตรง คือพูดไปในทางไม่เสริมกิเลส ขัดกิเลส ทำกิจกรรมการงาน เลี้ยงชีพอย่างถูกตรง โดยเฉพาะความเพียรที่ถูกตรง

ความเพียรที่ถูกคืออะไร? ในกรณีของการจะไปสู่ความโสดอย่างเป็นสุขได้นั้นจะต้องเพียรชำระล้างกิเลส ไม่ใช่ขยันทำการงาน แต่เป็นขยันชำระกิเลสในใจตน ขยันพิจารณาประโยชน์ของความโสดและโทษของการมีคู่ เพื่อให้อาหารกับธรรมะและงดให้อาหารอธรรม เพื่อไม่ให้ความชั่วโตขึ้นและเสริมสร้างความดีให้แข็งแรง

จนกระทั่งมาถึงสติที่ถูกตรง เป็นสติที่สามารถจับและวิเคราะห์กิเลสได้ รู้ได้ชัดว่ากิเลสใดเกิดขึ้น เป็นกิเลสชนิดไหน โลภ โกรธ หลงในสิ่งใด เราอยากเสพอะไร เราหลงติดหลงยึดในอะไร แล้วจะใช้ธรรมะเข้าใดเข้ามาขัดเกลากิเลสนี้

เมื่อวิถีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ทั้งหมดถูกปฏิบัติอย่างตั้งมั่น จึงเกิดเป็นสมาธิที่ถูกตรง เป็นลักษณะเฉพาะของผลการปฏิบัติในวิถีพุทธ นั่นคือเกิดสมาธิขึ้นเพราะความสงบจากกิเลส เป็นสมาธิที่ไม่ต้องนั่ง ไม่ต้องเดิน ไม่ต้องเข้า ไม่ต้องออก เป็นสภาพสามัญของ “สัมมาสมาธิ” ของผู้ที่ปฏิบัติ “สัมมาอริยมรรค” ๗ ข้ออย่างถูกตรงด้วยความตั้งมั่น ต่างจากวิธีปฏิบัติของลัทธิอื่นๆที่ต้องนั่งสมาธิหรือใช้อุบายให้จิตสงบเสียก่อนจึงเกิดจิตที่เป็นสมาธิได้ ซึ่งนั่นเป็นเพียงมิจฉาสมาธิเท่านั้น

โสดไม่มีกิเลส

เมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรงด้วยความเพียรอย่างสุดกำลัง จนกระทั่งเกิดปัญญารู้แจ้งในกิเลสนั้นๆ เป็นความรู้เดียวกับที่พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์สอน ไม่ว่าใครที่รู้แจ้งในกิเลสก็จะได้สัมผัสรสเดียวกัน รับรู้เช่นเดียวกัน อารมณ์เดียวกัน คือมีสภาพปล่อยวางจากกิเลส ปล่อยให้กิเลสเดินออกจากจิตวิญญาณของเรา กิเลสไม่ใช่เราและเราไม่ใช่กิเลส ไม่จำเป็นต้องมีกันและกันอีกต่อไป

เมื่อเข้าใจดังนั้น ก็จะไม่ต้องพยายามโสด ไม่ต้องระวังว่าใครจะมาพรากความโสดได้ ต่อให้ยกบ้านยกเมืองให้ ให้เป็นเศรษฐีระดับโลก มีกินมีใช้ตลอดชีวิต มีคนที่พร้อมจะมาเป็นคู่ มีนิสัยดีแสนดี มีพร้อมทั้งความงามและปัญญามาแลกกับการสละความโสดก็ไม่เอา ดีแค่ไหนก็ไม่เอา ไม่ต้องคิด ไม่ต้องตัดสินใจ ไม่มีความอยากใดๆเกิดขึ้นแม้น้อย เพราะมีคำตอบเดียวคือ “โสด” ปิดประตูนรกของการมีคู่ไปได้เลย

ไม่มีความลังเลสงสัยใดๆในคำสอนของพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์อีก เพราะรู้แน่ชัดในตนเองแล้วว่าสิ่งนี้แหละเยี่ยมยอดที่สุดในโลก เป็นสภาวะที่ไม่สามารถจะหาสิ่งใดมาเปรียบ ไม่มีอะไรที่จะเอามาแลกได้ ไม่มีอะไรหักล้างได้ ยั่งยืน ถาวร ไม่เวียนกลับ คงอยู่ตลอดกาล ไม่แปรปรวนอีกต่อไป เกิดเป็นความรู้ในตน เป็นปัญญาของตน เป็นสมบัติของตนเอง ไม่ใช่ของที่หยิบยืมมาอ้างจากผู้อื่นอีกต่อไป กลายเป็นอริยทรัพย์เรื่องหนึ่งที่จะให้ผลต่อเนื่องไปตราบปรินิพพาน

– – – – – – – – – – – – – – –

26.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มังสวิรัติทางสายกลาง การปฏิบัติธรรมด้วยการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยเว้นจากทางสุดโต่งสองด้าน

October 19, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,568 views 0

มังสวิรัติทางสายกลาง

มังสวิรัติทางสายกลาง การปฏิบัติธรรมด้วยการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยเว้นจากทางสุดโต่งสองด้าน

ในสังคมยุคปัจจุบันนี้ การกินมังสวิรัติเป็นสิ่งที่เข้าใจและรับรู้กันโดยทั่วไปว่า เพื่อสุขภาพ เพื่อละเว้นชีวิตสัตว์ เพื่อความไม่เบียดเบียน เพื่อกุศล นั่นก็เป็นความรู้ความเข้าใจที่มีทิศทางไปในด้านบวก ด้านที่เจริญ ซึ่งก็ดีอยู่แล้ว แต่แท้ที่จริงแล้วการกินมังสวิรัติยังมีประโยชน์มากกว่านั้น ยังมีสาระสำคัญมากกว่านั้น หากเราเข้าใจการกินมังสวิรัติเพื่อการปฏิบัติธรรม

แผนที่การเดินทางที่จะทำให้เราไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้นก็คือทางสายกลาง เป็นทางเดียวที่จะพาพ้นจากทุกข์ และเช่นเดียวกับการกินมังสวิรัติ หากเราต้องการกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืน มีแค่ทางนี้ทางเดียวคือเราจะต้องเป็น “มังสวิรัติทางสายกลาง

ทางสายกลางคืออะไร?

ทางสายกลางนั้นคือมรรควิถี คือสัมมาอริยมรรค แต่การจะเดินไปบนเส้นทางสายกลางนั้นไม่ง่าย ไม่ใช่เพียงแค่คิด ไม่ใช่เพียงแค่ท่องจำ ไม่ใช่เพียงแค่รู้ ไม่ใช่เพียงแค่เข้าใจ ไม่ใช่เพียงแค่เพ้อฝันเอาเองว่ากำลังเดินบนทางสายกลางแต่ต้องพากเพียรปฏิบัติจนถึงผลนั้น

การจะมาสู่ทางสายกลางนั้น เราต้องต้องเว้นจากทางโต่งทั้งสองด้านเสียก่อน เหมือนกับคนเมาที่เดินเซไปเซมา ซ้ายทีขวาที เราเองก็เช่นกัน ถ้าเรายังเป็นคนที่หลงมัวเมาอยู่ในกิเลส เราก็จะเดินหลงไปทางโต่ง ไม่ด้านในก็ด้านหนึ่ง สลับกันไปมา ไม่สามารถเดินตรงได้สักที

การจะบอกว่าตนเองนั้นหลงมัวเมาอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโดยส่วนมากคนที่หลงมัวเมาก็จะไม่รู้ว่าตัวเองมัวเมา หรือหลงยึดหลงติดอยู่กับอะไร ดังนั้นการนำศีลเข้าไปปฏิบัติจะทำให้เราได้เห็นขอบเขตการมัวเมาของเรา เหมือนกับเอาเชือกมากั้นไว้ไม่ให้เดินออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งการกินมังสวิรัติก็เป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้เราได้เห็นความมัวเมาลุ่มหลงในทางโต่งสองด้านนั่นเอง

ทางโต่งสองด้าน

ด้านกาม หรือ กามสุขลิกะ …คือการโต่งไปในทางการเสพ ในกรณีมังสวิรัติ นั่นคือการที่เรายังไปกินเนื้อสัตว์อยู่ ไม่ว่าจะในกรณีใดๆก็ตาม หากกินด้วยความอยาก ด้วยความอร่อย ด้วยความติดใจในรสชาติของเนื้อสัตว์นั้น ก็หมายถึงการติดกาม เป็นทางโต่งทางหนึ่งที่ควรละเป็นอันดับแรก เพราะจะเกิดการเบียดเบียนผู้อื่นอย่างเป็นรูปธรรม คือการเอาเลือดเอาเนื้อของสัตว์อื่นมาบำรุงกิเลส บำรุงกามของเรา เป็นอกุศล เป็นบาป จึงควรละทางโต่งด้านนี้เสีย

ด้านอัตตา หรือ อัตตกิลมถะ… คือการโต่งไปในทางการทรมานตัวเองด้วยอัตตา ในมุมของผู้ที่ยังยึดติดกับเนื้อสัตว์ ก็จะทรมานตัวเองโดยการกินเนื้อสัตว์ เพราะหลงยึดหลงติดว่าเนื้อสัตว์นั้นมีคุณค่าทางอาหาร หากไม่บริโภคเนื้อสัตว์แล้วจะป่วย จะไม่แข็งแรง เป็นอัตตาที่ยึดไว้ ทำให้ต้องทรมานตัวเองด้วยการกินเนื้อสัตว์

ทรมานอย่างไร? ในเมื่อกินแล้วมีความสุขจากเสพ ..พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ผู้ที่ยังหลงติดหลงยึดในการเบียดเบียนเพราะเข้าใจไปว่าต้องเบียดเบียนเพื่อให้ตัวเองแข็งแรง เพื่อสุขภาพดีนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด ดังนั้นจึงเป็นการทรมานตัวเองด้วยวิบากบาปอันเกิดจากความไม่รู้แจ้งในเรื่องกรรมและผลของกรรม

และเมื่อเรายึดเนื้อสัตว์เป็นอัตตา แม้จะมีผู้รู้ท่านใดมาบอกว่าการยึดนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิเพียงไร คนผู้ยึดอัตตาก็มักจะกอดความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นดี เป็นการทรมานตัวเองไปเรื่อยๆ โดยการกอดกิเลสไว้ไม่ยอมให้ตัวเองพ้นทุกข์

ในอีกมุมหนึ่งของอัตตาคือความยึดดี ถือดี อวดดี มักเกิดขึ้นในผู้ที่สามารถละทางโต่งในด้านกามได้สมบูรณ์แล้ว คือไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้ว ก็จะมีความยึดดี หลงว่าสิ่งที่ตัวทำนั้นดี มักจะเอาความรู้ ความถือตัวไปข่ม ไปเบ่งทับคนที่เขายังไม่สามารถละกิเลสได้ ซึ่งการยึดดีถือดีเหล่านี้ก็เป็นการเบียดเบียนเหมือนกัน สุดท้ายพอไม่ได้ดั่งใจ ไม่สามารถทำให้ใครมากินมังสวิรัติได้อย่างใจ ก็มักจะทุกข์ใจ ขุ่นเคืองใจ เป็นการทรมานตนเองด้วยอัตตา เป็นทุกข์เพราะความยึดดี ถือดี เป็นการเบียดเบียนทั้งคนเองและผู้อื่น มักจะเสพยินดีกับเหตุการณ์ที่ตัวเองคิดว่าต้องเกิดดี พอไม่เกิดดีดังใจหมายก็ทุกข์ก็มักจะทำร้ายตัวเองและผู้อื่นด้วยความยึดดี เป็นการบำรุงอัตตาของเรา เป็นอกุศล เป็นบาป จึงควรละทางโต่งด้านนี้เสียด้วย

…ดังจะเห็นได้ว่า การกินมังสวิรัติทางสายกลางนั้น ไม่ได้หมายถึงการกินเนื้อสัตว์บ้างกินผักบ้าง แต่เป็นการเว้นขาดจากการไปเสพกาม เว้นจากการเสพเนื้อสัตว์ หรือไม่ไปกินเนื้อสัตว์เลย และไม่ทรมานตนเองด้วยอัตตา คือความยึดดี ถือดี ยึดว่าคนอื่นต้องกินผัก เลิกกินเนื้อสัตว์จึงจะเป็นสุข กินมังสวิรัติด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่รังเกียจเนื้อสัตว์ ไม่ได้รักผัก แต่ก็ไม่กินเนื้อสัตว์ และยินดีในการกินผัก

การกินมังสวิรัติทางสายกลางนี้และคือทางเดียวที่จะทำให้ชีวิตตนเองและผู้อื่นเป็นไปด้วยความผาสุก ตัวเราก็ใช้ชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และสามารถเผยแพร่ความรู้ในการกินมังสวิรัติด้วยความเป็นอนัตตา ซึ่งจะทำให้ผู้ที่สนใจสามารถรับฟังและเข้าใจโดยไม่มีความอึดอัดขุ่นเคืองใจ ไม่กดดัน ไม่บังคับ ไม่บีบคั้น เป็นเพียงแค่การเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์ประโยชน์และคุณค่าของการกินมังสวิรัติโดยการปฏิบัติทางสายกลางเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้บงการ ผู้กำกับใดๆ ใครจะกินก็ได้ ไม่กินก็ได้ จะกินมังสวิรัติเฉยๆไม่ปฏิบัติธรรมก็ได้ หรือจะปฏิบัติไปด้วยก็ได้

เมื่อเราปฏิบัติล้างความยึดติดในทางโต่งสองด้านแล้ว เราก็จะเข้าสู่ความผาสุกในชีวิตหรือวิถีแห่งสัมมาอริยมรรคได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นความสุขความเจริญ เป็นคุณค่าที่ถูกสอดร้อยเอาไว้ในการกินมังสวิรัติ ซึ่งการจะเข้าถึงคุณค่าเหล่านี้จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การปฏิบัติธรรม ลด ละ เลิก การเสพการยึดไปตามลำดับนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รับน้อง

September 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,744 views 0

รับน้อง

รับน้อง

ช่วงนี้ได้ยินข่าวการรับน้อง เป็นอีกครั้งที่มีการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดอะไรไม่ดี แต่จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อเรากำลังใช้ชีวิตอย่างประมาท ทำกิจกรรมอย่างประมาท เพราะเราคิดอย่างประมาท

การรับน้องเป็นเรื่องของประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ อารมณ์ ความรู้สึก และกิเลส ซึ่งมีมานานตั้งแต่ยุคไหนสมัยไหนก็คงจะไม่เสียเวลาไปค้นหากันให้ยุ่งยาก รู้แค่ว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ สิ่งที่ดีงาม หรือเป็นการสนองตัณหา เสริมกิเลสก็พอ

ผมเองเคยเป็นทั้งรุ่นน้องและรุ่นพี่ที่เคยรับน้อง ซึ่งเข้าใจดีถึงประเพณีที่ปนเปื้อนไปด้วยความอยากที่ซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจของผู้ร่วมกิจกรรมทุกคน สมัยเป็นรุ่นน้องก็เคยเห็นเพื่อนๆเขาจริงจังกับกิจกรรมของรุ่นพี่ พอมาเป็นรุ่นพี่เราก็เห็นรุ่นพี่ทั้งหลายสนุกกับกิจกรรมของตัวเองโดยมีรุ่นน้องเป็นเหยื่อเหมือนกัน

จะสังเกตได้ว่ายิ่งนานวันไปกลุ่มที่มีลักษณะการรับน้องที่มีความรุนแรงและอารมณ์เข้ามาปนเปื้อนเยอะ ก็จะยิ่งเพิ่มระดับความรุนแรงและอารมณ์เข้าไปเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความเสียหายในรูปของการบาดเจ็บล้มตายและความเสื่อมเสียชื่อเสียงมากขึ้น เพราะกิเลสจะยิ่งพัฒนาตัวเองส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น รุ่นพี่ทำแบบนี้ พอรุ่นน้องมารับช่วงต่อ ก็เก็บเอากิเลสของรุ่นพี่มาต่อยอด คือต้องทำให้มันเจ๋งกว่ารุ่นพี่ พัฒนากันไปตามที่ใจอยากจะเป็น

ก็คงจะดีถ้าทิศทางการพัฒนานั้นเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ เกิดความดีงาม เกิดการพัฒนาในเชิงบวก มีกิจกรรมมากมายที่รุ่นพี่สามารถออกแบบใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปติดกรอบเดิมๆที่เขาคิดไว้ กิจกรรมที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ ความอดทน ความกล้า ความเป็นผู้นำ ความสามัคคี นั้นมีมากมาย ถ้าคิดกันง่ายๆ ก็กิจกรรมจำพวกงานจิตอาสาต่างๆ เช่น…

..ชวนกันไปเก็บขยะตามสถานที่ต่างๆก็ได้ แค่นี้ก็วัดใจแล้วว่าจะกล้าลดตัวลดตน มาทำดีรึเปล่า

….ไปทาสี โรงเรียน วัด ก่อสร้างอาคาร ปรับปรุงพัฒนาสถานที่ ขนอิฐ แบกปูน แค่นี้ก็วัดความสามัคคี ความอดทน ความเป็นผู้นำ กันได้แล้ว

……ไปปลูกต้นไม้ ขุดลอกคลอง เก็บผักตบชวา ดำนา เกี่ยวข้าว …มีกิจกรรมที่สามารถดึงความสามัคคีและสร้างสรรค์ได้มากมาย เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องลำบากเสียเวลาไปทำสิ่งที่ไม่มีสาระ ไม่มีประโยชน์ กับตนเองและผู้อื่น

ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายๆกลุ่มที่เขาทำอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะมองว่าแบบนี้แปลกไม่เหมือนรับน้อง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นไปในทางขัดใจ ขัดกิเลส ไม่ไปทางอกุศล ตามที่คนส่วนใหญ่มักเมามายในกิจกรรมที่พาให้หลงไปในสิ่งมัวเมาในอารมณ์ เมาโลกธรรม เมาอัตตา คือรุ่นพี่ก็เมาสรรเสริญ เมายศ หลงมัวเมาไปว่าตนเองเป็นรุ่นพี่ สั่งรุ่นน้องทำอะไรก็ได้ ทั้งที่จริงแล้วยศ อำนาจ เหล่านั้น เราก็ปั้นขึ้นมาเอง

เพราะความจริงเราก็เป็นแค่คนที่เข้ามาเรียนก่อนเขาปีหนึ่งเท่านั้นเอง อย่างมากก็แค่เรียนจบก่อน แล้วมันยังไงละ? มันดี มันเด่น มันยอดกว่าตรงไหน ตรงความรู้ใช่ไหม? สิ่งที่รุ่นน้องกับรุ่นพี่ต่างกันชัดเจนก็คือความรู้ นี่คือสิ่งที่ควรจะเอามาถ่ายทอดกันมากกว่า ส่วนเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ เรื่องการใช้อำนาจ การใช้กำลัง ความมัวเมา ใครก็ทำได้ ลองเอาปืนใส่มือเด็กสิ เด็กก็ยิงเป็น เผลอๆจะแม่นกว่าผู้ใหญ่อีก

ดังนั้นเราอย่าไปแข่งกันทำสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์เลย เพราะเรื่องแบบนี้ใครก็ทำได้ แค่เพียงเขาไม่ทำกัน เพราะเขาเห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียจากกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์เหล่านั้น คนที่ไม่เห็นผลเสียแล้วยังมองว่าดี ก็เหมือนยังเห็นกงจักรเป็นดอกบัว

ถ้าเราสามารถกลับมาที่จุดเริ่มต้น คือ“รับน้องไปทำไม” เราจะคิดอะไรดีๆได้อีกมากมาย แล้วก็มาคิดกันต่อว่า แล้วรับน้องอย่างไรถึงจะได้ประโยชน์ทั้งกับเรากับน้อง จุดประสงค์คืออะไร ผลที่จะได้รับคืออะไร แล้วค่อยหากิจกรรมที่เป็นกุศล เป็นประโยชน์มาคิดกันอีกที

ถ้าทางที่รุ่นพี่พากันทำกันมามันคือทางที่ไม่สร้างสรรค์ พาให้เป็นทุกข์ พาไปนรก เรายังจะเดินตามกันไปอีกหรือ?

– – – – – – – – – – – – – – –

4.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ฉันดีพอ..กับเธอแล้วหรือยัง?

August 26, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,080 views 0

ฉันดีพอ..กับเธอแล้วหรือยัง?

ฉันดีพอ..กับเธอแล้วหรือยัง?

คนเราเมื่ออยากจะได้บางสิ่งบางอย่าง ก็ต้องพยายามแสวงหามา ถ้าเป็นวัตถุสิ่งของก็คงจะง่าย มีรูปร่าง ขนาด ที่รู้ว่าจะต้องหยิบจับอย่างไรเพื่อจะให้ได้มา ต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ถึงจะได้ครอบครอง แต่ถ้าเป็นเรื่องของคน เรื่องของจิตใจ สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง มองไม่เห็น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องทำอย่างไรจึงจะได้มา ต้องจ่ายเท่าไหร่ ต้องทำดีแค่ไหน ถึงจะมีสิทธิ์ครอบครอง…

คงจะเหมือนสภาพที่ยิ่งทำเท่าไหร่ก็ยิ่งไกล ระยะห่างที่ดูเหมือนจะไม่ไกลแต่ก็ไม่มีวันไปถึง คือช่องว่างของจิตใจระหว่างคนสองคนที่ไม่สามารถวัด ไม่สามารถคาดคะเนได้ว่า เท่าไหร่ถึงจะพอ…

ใจของคนเราคงเหมือนหลุมของกิเลส ถ้ามีใครสักคนไปเติมจนเต็มก็คงจะได้โอกาสครอบครอง แต่ใครจะรู้ล่ะว่าหลุมแห่งกิเลสนั้นกว้างยาวลึกเท่าไหร่ ต้องใส่อะไรลงไปถึงจะเต็ม

หลุมกิเลสต้องใส่อะไรลงไปบ้าง? ความสนุกสนาน ความสวยงาม ความดูดี ความมั่นคง ความอบอุ่น มีฐานะ เงินทองของมีค่า ชื่อเสียง อุดมการณ์ ความเป็นผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์ การเอาใจใส่ …ฯลฯ แค่คิดว่าจะต้องใส่อะไรลงบ้างไปก็ปวดหัวแล้ว ปัญหาต่อมาคือต้องใส่ไปมากเท่าไหร่ และต่อเนื่องขนาดไหน จนกว่าจะเติมกิเลสให้เขาพอใจกับสิ่งที่เราหยิบยื่นให้จนเขาคิดว่าเราดีพอสำหรับการสนองกิเลสของเขา

…บางคนใส่แค่ ความสวยงาม หน้าตาดี ก็ยินยอมให้ครอบครองกันแล้ว

…..บางคนใส่ คำพูดหวานๆ คำโกหก คำหลอกลวง ก็ยินยอมให้ครอบครองกันแล้ว

…….บางคนต้องใส่ เงินทองของมีค่า ฐานะ ความมั่นคง ถึงจะยินยอมให้ครอบครองกัน

………บางคนต้องใส่ ความมีชื่อเสียง มีหน้าตาในสังคม ความเป็นที่ยอมรับ ถึงจะยินยอมให้ครอบครองกัน

…………และบางคนอาจจะต้องใส่ อุดมการณ์ ความเห็นที่ตรงกัน ความเข้าใจที่เสมอกัน จึงจะยินยอมให้ครอบครองกัน

แค่คิดว่าเราจะต้องหาอะไรมาเติมให้อีกฝ่ายยอมรับ และเห็นว่าตัวเราดีพอสำหรับเขา ก็เหนื่อยสุดแสนจะเหนื่อย เพราะบางคุณสมบัติ อาจจะไม่ได้มีมาแต่กำเนิด ไม่ได้หน้าตาดี ไม่ได้มีฐานะ ไม่ได้มีความรู้ ชื่อเสียง สุดท้ายก็ต้องลำบากพัฒนาตัวเอง โดยมีกิเลสที่มีชื่อเรียกเล่นๆแบบไพเราะเสนาะหู ว่า “ความรัก” เป็นตัวนำ

แต่ขึ้นชื่อว่ากิเลส ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก เรียนรู้ได้ยาก กำจัดได้ยาก หลุมแห่งกิเลสที่เราเคยเข้าใจว่าต้องเติมแค่นั้นแค่นี้ถึงจะเต็ม ไม่ได้คงสภาพอยู่อย่างนั้นตลอดกาล ทุกครั้งที่เราใส่ความเสพสมใจให้กับเขา หลุมกิเลสจะเปิดกว้างและลึกขึ้น ขยายตัวขึ้นเพื่อที่จะรองรับกิเลสที่มากกว่า แม้ว่าเราจะพยายามถมมันลงไปด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือสุขลวงๆ สักเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรู้สึกว่า เราห่างไกลออกไปจากความรักมากขึ้นเรื่อยๆ

และคนที่โชคร้าย ก็จะสามารถเติมกิเลสกันจนเต็มได้ครอบครอง ได้เสพสมอารมณ์ ได้แต่งงานกัน สมรสกัน ได้โอกาสในการมีลูก มีครอบครัวร่วมกัน เป็นการหนีจากทุกข์แห่งความเหงา เปล่าเปลี่ยว ความใคร่อยาก ไปเจอทุกข์อีกแบบ คือทุกข์แบบคนคู่ ทุกข์แบบมีครัวมาครอบไว้ กรงขังที่ยากจะหลุดออกมาได้ และบ่วงที่มีชื่อว่าลูก เสพสมอยู่กับสุขลวง ที่ให้สุขนิดหน่อย แต่ทุกข์มากมาย

ส่วนคนที่โชคดีก็จะเรียนรู้ว่า หลุมแห่งกิเลสของเขาหรือเธอเหล่านั้น ไม่มีวันที่จะถมเต็ม เขาก็มีกิเลสของเขา เราก็มีกิเลสของเรา และหันมามองว่าจริงๆ เราเองนั่นแหละ ที่จะเอาเขามาเติมเต็มกิเลสของเรา เราจะต้องได้เขามาครอบครองถึงจะเสพสมใจ ปัญหาก็คือเราเองก็ไม่เคยจะเติมตัวเองจนเต็มเสียที ยังเป็นคนที่ขาดที่พร่องอยู่เสมอ และถึงแม้ว่าจะได้ครอบครองเขาแล้วมันยังไง? มันสุขเหมือนวันแรกไหม? มันจะค่อยๆลดลงใช่ไหม?

แค่หลุมกิเลสในตัวเราก็ใหญ่มากพอแล้ว ยังต้องลำบากไปยุ่งวุ่นวายกับกิเลสของคนอื่นอีก แล้วไปหวังว่าเขาจะมาเติมเต็มกิเลสให้กับเรา เป็นฝันลมๆแล้งๆ คนที่เราหวังไม่มีวันจะสวยงามคงทนได้ตลอดไป ไม่มีวันมีฐานะร่ำรวยมั่นคงได้ตลอดไป ไม่มีวันมีชื่อเสียง เกียรติยศได้ตลอดไป ไม่มีวันที่ความฝันหรืออุดมการณ์ของเขาจะไม่สลายหรือเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีวันจะดูแลเราหรืออยู่ให้เราแลดูได้ตลอดไป ทุกอย่างเสื่อมไปตลอดเวลา

เราเองก็เป็นหลุมกิเลสที่มีแต่จะลึกและกว้างขึ้นทุกๆวัน ถ้ามัวแต่ไปยุ่งกับกิเลสของคนอื่น ก็ไม่มีวันได้จัดการกิเลสของตัวเอง หลุมกิเลสที่กว้างและลึกไม่มีวันเติมเต็มด้วยการหามาเสพ แต่ต้องใช้การพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงว่า กิเลสนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นทุกข์ เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และให้เห็นลึกลงไปถึงราก ว่าจริงๆแล้วเราต้องการเสพอะไรกันแน่ อยากได้มาเพื่ออะไร เรายึดเราติดเราหลงในอะไร หากเราเห็นตามจริงแล้วว่าเราหลงยึดอะไร ก็เหมือนได้เห็นประตูสู่การปลดเปลื้องกิเลสเหล่านั้น ที่เหลือก็แค่พยายามเดินไปให้ถึงประตู เปิดมันและเดินออกไป เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

26.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์