Tag: การหลุดพ้น

สุขกว่าโสด ในโลกนี้ไม่มี

August 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,711 views 0

สุขกว่าโสด ในโลกนี้ไม่มี

สุขกว่าโสด ในโลกนี้ไม่มี…

ความจริงข้อหนึ่งที่เป็นอมตะไปตลอดกาลนั่นก็คือ ความเป็นโสดนั้นคือสถานะที่สงบสุขที่สุด แต่ความจริงนี้กลับถูกบดบังไปด้วยความหลงผิด จนทำให้ความจริงเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ถึงกระนั้นความจริงก็ยังเป็นความจริง ความสุขที่สุดก็คือสุขที่สุดและมันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

หากจะหาข้อดีที่สุดของความโสดที่ว่าสุขนั้น ก็คงจะต้องยกเรื่องของความไม่มีทุกข์ขึ้นมาว่ากัน เพราะความโสดนั้นไม่ต้องประสบทุกข์ใดๆ จากการมีคู่เลย ผู้ที่ล้างความอยากมีคู่ ล้างความหลงในสุขลวงได้จริงจะเห็นแต่ความทุกข์ในการมีคู่ นั่นหมายถึงการจะพ้นทุกข์เหล่านั้น ก็คือความเป็นโสด นั่นหมายความว่าการไม่ต้องทุกข์จากการมีคู่ก็สุขมากเกินพอแล้ว

แต่ความสุขจากความโสดกลับไม่ใช่สิ่งที่มีในโลกนี้ แต่เป็นเรื่องของโลกหน้า…. โลกนี้คืออะไร? โลกนี้ก็คือโลกที่ยังมีกิเลส ยังหลงสุข หลงติดหลงยึดในรสสุขของการมีคู่ ผู้ที่มีตัณหาและอุปาทานในการมีคู่ จะไม่สามารถหาความสุขของความโสดได้เลย เพราะเขาหลงว่าการมีคู่เป็นสุข เมื่ออยากได้อยากเสพการมีคู่แล้วไม่สมใจอยากก็ต้องเป็นทุกข์ ดังนั้นความโสดจึงเป็นทุกข์สำหรับชาวโลกีย์ เป็นเหมือนคำสาป เป็นเหมือนคุกเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะความอยาก

โลกหน้าคืออะไร? โลกหน้าก็คือโลกที่พ้นไปจากกิเลส พ้นจากความอยาก พ้นจากความหลงติดหลงยึดในสุขลวง เกิดดวงตาเห็นธรรมว่าแท้จริงแล้วการมีคู่มีแต่ทุกข์ ทุกข์ และทุกข์ ดังนั้นความสุขในความโสดจึงมีเฉพาะผู้ที่เข้าถึงโลกหน้า คือโลกุตระ ไม่มีความเห็นเหมือนกับคนทั่วไป แตกต่างจากผู้คนทั่วไป

ถ้ามองในมุมโลกียะ ความสุขกว่าความโสดย่อมมีมากมาย ซึ่งหลายคนสามารถพิจารณาข้อเสียของความโสด ข้อดีของการมีคู่เพื่อเข้าถึงสุขลวงได้อย่างมีความสุขจริงๆ เกิดรสสุขจริงๆ แต่สุขนั้นไม่ใช่ของจริง มันเสื่อมสลายและเลือนหายได้ จึงเป็นความหลงในสุขลวงอย่างแท้จริง

ถ้ามองในมุมโลกุตระ ความสุขกว่าความโสดยอมไม่มี ซึ่งเราไม่สามารถพิจารณาถึงข้อดีของการที่เราจะไปมีคู่ได้เลย นึกไปก็เห็นแต่ข้อเสียมากมาย และเห็นแต่ข้อดีของความเป็นโสด เพราะเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ยั่งยืน มีความเต็มในตนเอง ไม่ขาดไม่พร่อง ไม่ต้องเรียกร้องโหยหา

หากเรายังไม่สามารถชำระล้างความอยากในการมีคู่ได้เราก็จะไม่เห็นความสุข ไม่เห็นคุณค่าใดๆในความโสด จะเห็นแต่ประโยชน์ของการมีคู่

หากเราชำระความอยากในการมีคู่ได้ เราก็จะไม่เห็นว่าสุขลวงที่เคยมีเป็นความสุขอีกต่อไป เราจะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นทุกข์แท้ๆที่เกิดขึ้นจากความผูกพัน เป็นบ่วงของกันและกัน และจะเป็นโสดด้วยจิตใจที่ยินดีเพราะรู้แจ้งในโทษชั่วของกิเลสเหล่านั้น

ตามความเห็นทางโลกเขาก็จะสรรหาเหตุผลดีๆมากมายในการมีคู่ หาข้อยกเว้น หาข้ออ้างที่ดูดี เพื่อที่จะให้การมีคู่นั้นดูเป็นที่น่ายอมรับ เป็นที่น่าชื่นชม เป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรี เป็นคุณค่า เป็นตัวตน

ตามความเห็นทางธรรม ก็จะไม่พยายามแสวงหาเหตุผลใดๆมาค้านแย้งคุณค่าของความโสด เพราะพระพุทธเจ้าก็ตรัสเกี่ยวกับโทษของการมีคู่ไว้มากมาย ดังนั้นผู้ที่ใฝ่ในธรรมจึงไม่คิดจะต่อต้านความเห็นที่ว่าความโสดคือสถานะที่ดีที่สุดสู่การพ้นทุกข์

…. จากที่ยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบ จะเห็นได้ว่า มุมมองของคนเรานั้นต่างกัน แต่ความแตกต่างนั้นมีเหตุ นั่นก็คือกิเลสเป็นเหตุของความแตกต่าง ผู้มีกิเลสจะมีความแตกต่างกันไปตามความหลงติดหลงยึดของแต่ละคน แต่ผู้ที่ล้างกิเลสในเรื่องคู่ได้นั้นจะมีความเห็นตรงกัน เป็นไปในทางเดียวกัน ไม่ขัดกัน นั่นเพราะการหลุดพ้นจากกิเลสนั้นมีรสเดียวกัน ใครที่สามารถปฏิบัติจนถึงผลได้ก็จะรับรู้เหมือนกัน

ดังนั้น คำว่า “สุขกว่าโสด ในโลกนี้ไม่มี” จึงเป็นคำกำกวมที่ตีความได้ตามความเห็น ถ้ายังมีความอยากก็จะเข้าใจในแนวทางที่ว่า “ ความสุขกว่าความโสดมันไม่มีจริงในโลก” แต่ถ้าไม่มีความอยากก็จะเข้าใจในแนวทางที่ว่า “ ในโลกนี้ไม่มีความสุขใดเท่าความโสดแล้ว

แต่ความจริงนั้นความโสดคือสถานะที่ดีที่สุดในการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ เราจะควรพิจารณาคุณค่าของความโสดเพื่อเข้าถึงประโยชน์นั้น และควรพิจารณาโทษ ภัย ผลเสียของการมีคู่เพื่อออกจากความหลงเสพหลงสุขนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

30.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โสดอย่างไร ให้ใจเป็นสุข

July 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,535 views 1

Download ภาพขนาดเต็ม กดที่นี่

โสดอย่างไร ให้ใจเป็นสุข

ความโสดนั้นมีมิติที่หลากหลายแตกต่างกันไป หากเรามองความโสดด้วยมุมมองทั่วไปในสังคม ก็มักจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครให้คุณค่าหรือใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นโสดกันสักเท่าไหร่

ในบทความนี้ก็จะแบ่งความโสดออกเป็นระยะกว้างๆด้วยกันสามระยะ คือโสดที่ยังมีความอยากมีคู่ โสดที่ไม่อยากมีคู่ และความโสดที่ไม่มีทั้งความอยากและไม่อยากมีคู่ มาเริ่มกันที่ความโสดแบบแรกกันเลย

โสดอยู่ไม่เป็นสุข (นรกคนโสด)

คือความโสดที่ยังเต็มไปด้วยความอยาก มีความต้องการ แสวงหาคู่ครอง แม้ว่าจะแสดงอาการหรือไม่ก็ตาม หากใจนั้นยังไม่ปิดประตูของการมีคู่ ก็ยังเรียกได้ว่า โสดแบบอยู่ไม่เป็นสุข การที่ความอยากนั้นยังไม่แสดงอาการ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส ซึ่งอาจจะยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่นเด็กทารก เขายังไม่มีความอยากมีคู่ แต่ไม่ได้หมายความเขาจะไม่มีกิเลส

คนโสดที่อยู่ไม่เป็นสุข ก็เหมือนอยู่ในนรกคนโสด ต้องทุกข์กับความอยากมีคู่ พอหาคู่ได้ก็เปลี่ยนไปอยู่ในนรกคนคู่ พอเลิกคบหากันแต่ยังมีความอยากอยู่ ก็เวียนกลับมานรกคนโสด ซึ่งไม่ว่าจะโสดหรือจะมีคู่ก็ต้องถูกเผาด้วยไฟราคะ คือทุกข์จากความอยากเสพรสสุขใดๆก็ตามในการมีคู่ วนเวียนโสดบ้างมีคู่บ้าง แต่ก็หนีไม่พ้นความทุกข์จากกิเลสอยู่ดี

โสดบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ (อยู่ในโลก)

คือความโสดที่เกิดจากความไม่อยาก ด้วยการสร้างคุณค่าให้ตนเอง เติมช่องว่างในใจที่เคยเผื่อไว้ให้ใครสักคนให้เต็มด้วยอัตตาของตน จนกลายเป็นคนที่เต็มคน แข็งแกร่ง พึ่งตนเองได้ มีศักดิ์ศรี ไม่ยอมกลับไปมีคู่เพราะความยึดดี ซึ่งอาจจะเกิดจากความเจ็บช้ำ ความผิดหวังเมื่อตอนมีคู่ ผ่านประสบการณ์ที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการมีคู่นั้นทำให้ต้องประสบทุกข์อย่างมาก

แต่แม้จะเป็นความโสดที่แข็งแกร่งเพียงใด ความไม่อยากนั้นก็ยังเป็นทุกข์อยู่ดี ซึ่งเกิดจากอาการผลักการมีคู่อย่างรุนแรง ไม่อยากมีคู่เพราะเหตุผลบางอย่าง แต่กิเลสนั้นเป็นพลังงานที่เติบโตได้ ขยายได้ ปรับเปลี่ยนขั้วได้ เพราะไม่ว่าอยากหรือไม่อยากก็คือตัณหาเหมือนกัน อยากในสิ่งหนึ่งก็เกลียดอีกสิ่งหนึ่ง ไม่อยากในสิ่งหนึ่งก็ชอบอีกสิ่งหนึ่ง เช่นอยากมีคู่ก็เกลียดความโสด อยากเป็นโสดก็เกลียดการมีคู่

เมื่อยังมีความอยากและไม่อยาก มันก็จะสร้างทุกข์ให้กับตัวเองอยู่เรื่อยๆ ซ้ำร้ายวิบากกรรมอาจจะดึงสิ่งที่ไม่อยากได้คือการมีคู่ให้มาเข้าใกล้ พอโดนยั่วกิเลสเข้ามากๆก็อาจจะเวียนกลับไปมีคู่ได้ สุดท้ายก็ต้องเจอกับทุกข์แล้ววกกลับมาโสดแบบเกลียดการมีคู่อีก เปลี่ยนภพไปมาแบบนี้จนกว่าจะทำลายความอยากและไม่อยากจนสิ้นเกลี้ยง

โสดอย่างเป็นสุข (อยู่เหนือโลก)

คือความโสดที่ข้ามพ้นจากความอยากและไม่อยาก แล้วเลือกเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่มีโทษ มีทั้งประโยชน์ตนเองและประโยชน์ต่อผู้อื่น นั่นก็คือการเลือกเป็นโสด

ความโสดที่อยู่เหนือโลก นั้นคือโสดแบบโลกุตระ ไม่ไปเสพอย่างโลกีย์ และไม่ยึดดีอย่างโลกีย์ ไม่มีทั้งความอยากมีคู่ และความไม่อยากมีคู่ เพราะตัณหานั้นคือเหตุสู่ความทุกข์ สภาวะของความโสดเช่นนี้จึงเป็นสุขที่สุดในสภาพโสดทั้งหมด เป็นโสดที่ไม่มีทุกข์เจือปนอยู่แม้น้อย ที่ไม่มีทุกข์เพราะไม่มีกิเลสใดๆในเรื่องคู่ที่ผลักดันให้ต้องไปเสพ หรือต้องไปมีคู่กันให้ลำบาก

ความโสดเช่นนี้ไม่ใช่สภาพที่จะเลือกเอาได้ แต่สามารถเลือกที่จะปฏิบัติจนถึงผลเช่นนี้ได้ โดยจะต้องใช้ความเพียรในการชำระล้างกิเลสในเรื่องของคนคู่ให้หมดสิ้นไป จึงจะเกิดสภาพของความโสดที่ไม่มีทุกข์ใดๆเจือปนอยู่เลย

การพัฒนาจิตใจอย่างถูกตรงนั้นจะมีผลให้เกิดการหลุดพ้นอย่างถูกตรงเช่นกัน สภาพของความโสดอย่างเป็นสุข จะไม่มีการเวียนกลับไปมีคู่อีก ไม่กำเริบ ไม่แปรปรวน ยั่งยืน ยาวนาน ตลอดกาล ไม่เป็นอื่นใดอีก จะคงความโสดที่ไม่มีทุกข์ใดๆอยู่เช่นนั้นไปตลอดกาล

ไม่ใช่เพราะหาคู่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีใครเอา ไม่ใช่เพราะว่าแก่เกินวัย ไม่ใช่เพราะไม่เหมาะสมกับใคร ไม่ใช่เพราะไม่มีใครดีพอ แต่เป็นเพราะเกิดญาณปัญญารู้ว่าความโสดนี่แหละเป็นสุขที่สุดแล้ว ที่สุขที่สุดเพราะมันไม่มีทุกข์ใดๆเลย และนี่คือสิ่งที่ประเสริฐที่สุดแล้ว จะต่างกันกับชาวโลกีย์ที่มองว่าการมีคู่นั้นเป็นสุข หรืออย่างดีก็จะเห็นว่ามีสุขมีทุกข์ปนกันไป

แต่สำหรับชาวโลกุตระนั้นจะมองเห็นว่ามีเพียงแค่ทุกข์กับทุกข์เท่านั้น และเห็นว่าสุขที่เคยเข้าใจว่าเป็นสุขนั้น คือสุขลวงทั้งสิ้น ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่มีตัวตน เป็นของว่างเปล่า ดังนั้นจึงไม่มีข้อกังขาใดๆ ในเรื่องของการมีคู่อีก ไร้ซึ่งความลังเลสงสัยแม้แต่น้อยนิดในใจว่าทำไมต้องเลือกความโสด เพราะรู้แน่ชัดในตนแล้ว เกิดปัญญารู้ในตนแล้ว จึงไม่มีสิ่งใดจะมาลบล้างได้อีก

ไม่ว่าจะถูกเสนอด้วยคู่ครองรูปงาม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขโลกีย์อีกเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจที่หลุดพ้นจากกิเลสในเรื่องคู่นี้ได้ เพราะไม่ว่าจะได้อะไรมาแลกก็จะไม่ยอมสละความโสดนี้ไป ไม่มีอะไรมีคุณค่ากว่าความโสดนี้ ไม่มีการตั้งเงื่อนไข ไม่มีข้อแม้ ไม่มีช่องว่างใดๆเหลือไว้ให้จิตใจคิดถึงการมีคู่อีก

….สรุปบทความนี้กันด้วยหลักทางสายกลาง ความโสดที่ยังแสวงหาอยู่นั้นคือความโต่งไปในด้านของกาม ส่วนความโสดที่เกลียดการมีคู่นั้นคือความโต่งไปในด้านอัตตา และความโสดอย่างเป็นสุขที่ไม่แสวงหาคู่ ไม่ต่อต้านการมีคู่ แต่ก็ไม่สนับสนุนการมีคู่ คือทางสายกลางอย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

July 25, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,974 views 0

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

กรณีศึกษา : ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์

ประสบการณ์จะสร้างให้คนเรามีความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน และแต่ละคนก็มักจะมองว่าสิ่งที่ตนยึดไว้นั้นเป็นสิ่งดี จึงก่อเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งทำให้ไม่ยินดีจะรับรู้ในสิ่งอื่นที่แตกต่างจากที่ตนยึดไว้ และมักจะกลายเป็นการเพ่งโทษความเห็นที่แตกต่าง

ความยึดดีจะปิดกั้นการเรียนรู้โดยสมบูรณ์ ทำให้ไม่ฟัง ไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ในความคิดเห็นที่แตกต่างจากที่ตนเองยึดไว้ สิ่งใดที่คล้ายกับสิ่งที่ตนยึดไว้ก็มักจะเห็นดีด้วย แต่สิ่งใดที่ต่างออกไปหรือมีความหมายตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนเองยึดไว้ว่าดี ก็มักจะมีการกระทบกระทั่ง เอาชนะกันด้วยความยึดดี มีการโอ้อวด ข่มเหง ดูหมิ่น ดูถูก ซึ่งเป็นลักษณะของการเพ่งโทษ คือทำให้ผู้อื่นหมดคุณค่า กล่าวหาว่าผู้อื่นผิด และสิ่งที่ตนเองยึดไว้นั้นถูกและดี

คนเราโดยส่วนมากแล้ว มักจะไม่มีใครยอมรับว่าตนเองรู้ไม่รอบ และมักจะปักมั่นในความเห็นว่าตนเองถูก สิ่งที่ตนเรียนรู้และเข้าใจมานั้นถูกต้อง เมื่อคนเสพความดีความถูกต้องที่เขาเข้าใจว่าดีนั้นไปเรื่อยๆก็จะเริ่มยึด กลายเป็นอัตตา ว่าตัวฉันเป็นแบบนั้นแบบนี้ ยึดมั่นถือมั่นว่าดีแท้ต้องเป็นแบบที่ตนเองยึดไว้ ใครทำไม่ได้เท่าที่ฉันเรียกว่าดี ก็ยังไม่ดี ใครว่าดีของฉันชั่ว คนนั้นคือคนชั่วไม่มีปัญญา และความยึดดีนี้เอง เป็นเหตุแห่งความเสื่อม เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ไปเพ่งโทษผู้อื่นอีกมากมาย

การเพ่งโทษนั้นไม่มีคุณประโยชน์ใดๆเลย ในขั้นหยาบๆก็จะแสดงความอวดรู้ของตนเองมา หรือแม้แต่การเพ่งโทษในจิตก็ยังมีวิบากร้ายแรงอยู่ดี พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ส่วนบัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ดังนั้นผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมไม่เพ่งโทษใคร ส่วนผู้ที่เพ่งโทษนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นคนพาล

การเพ่งโทษนั้นมีวิบากร้ายแรงหลายอย่าง อย่างที่หยาบที่สุดที่พอจะเห็นได้ทั่วไปก็คือไม่ได้รับความรู้นั้น ผู้ที่เพ่งโทษฟังธรรมหรือเรียนรู้สิ่งใดไปก็มีจิตเพ่งโทษไป ย่อมไม่สามารถเข้าถึงแก่นสารสาระของความรู้นั้นๆได้ ในส่วนของวิบากบาปก็มีมากมายหลากหลายตามน้ำหนักของกรรมที่ได้ทำ

ดังนั้นผู้ที่เพ่งโทษจึงไม่ได้รับความรู้ใหม่ๆ ซึ่งในความรู้เหล่านั้นก็อาจจะมีความรู้ที่จะพาให้หลุดพ้นปนอยู่ด้วย เมื่อเขาเหล่านั้นมีการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นอยู่ ก็ย่อมจะเป็นคนพาลที่ยึดเอาแต่สิ่งที่ตนเองเห็นและเข้าใจว่าดีเช่นนั้น เมื่อเป็นคนพาลก็ย่อมมองไม่เห็นทางหลุดพ้น ดังนั้นการจะหลุดพ้นด้วยการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นจึงเป็นไปไม่ได้เลย

ในบทความนี้เราจะมายกตัวอย่างในกรณีศึกษา ที่มักจะเป็นประเด็นในสังคมคือการเพ่งโทษกันระหว่างผู้ที่กินเนื้อสัตว์และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์

ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ – ยึดชั่วเกลียดดี

ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็มักจะมีความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ มองเนื้อสัตว์ว่าเป็นของดี จึงมักจะเลี่ยงการละเว้นเนื้อสัตว์โดยหาเหตุผลมากมายเพื่อให้ตนเองนั้นได้กินเนื้อสัตว์

คือยังมีการยึดชั่วอยู่ แต่หลงว่าชั่วนั้นเป็นของดี หลงว่าการเบียดเบียนเป็นสิ่งดีที่ทำได้โดยไม่ผิด ถึงแม้ผิดก็จะยอมรับผลเพราะการได้เสพนั้นยังทำให้เป็นสุขอยู่ เมื่อตนเองนั้นยึดชั่วแล้วก็มักจะไม่อยากให้ใครมาบอกว่าชั่ว จะพยายามหาเหตุผลมารองรับว่าชั่วนั้นคือดี ปกป้องว่าสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นคือสิ่งดี

ทีนี้มันดีแค่ในความคิด แต่ความจริงมันไม่ดี เพราะยังเบียดเบียนอยู่ ยังเสพอยู่ ดังนั้นการจะทำให้สิ่งที่ไม่ดี ดูดีขึ้นมาได้จึงต้องทำลายความดีของสิ่งดี นั่นคือทำลายความดีของการไม่กินเนื้อสัตว์นั่นเอง

ผู้ที่ยึดชั่วจะพยายามทำให้ชั่วของตนนั้นเป็นเรื่องดีโดยการทำให้ความดี เช่นการลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก กลายเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไม่มีแก่นสาร เพื่อที่จะทำให้ชั่วของตนนั้นไม่มีข้อเปรียบเทียบ ซึ่งเมื่อยึดมั่นถือมั่นในชั่วว่าเป็นดีเข้ามากๆแล้ว จะเริ่มปกป้องอัตตาของตัวเอง โดยการเถียง ดูหมิ่น โอ้อวด คุณวิเศษต่างๆที่ตนเข้าใจว่ามีดีกว่าคนที่ลดเนื้อสัตว์

ภาพที่เห็นได้ชัดคือการกล่าวหาผู้ที่เลิกกินเนื้อสัตว์ด้วยคำหยาบ คำดูถูกต่างๆนาๆ ที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม เป็นการเพ่งโทษคนที่ทำดี เพราะคนที่เขาเลิกกินเนื้อสัตว์ เลิกเบียดเบียนสัตว์ เขาก็มีดีในเรื่องนั้นของเขา เขาก็ทำประโยชน์ได้จริงในส่วนนั้นของเขา แล้วคนที่ยึดชั่วจะทนไม่ไหว เพราะมันดีกว่าที่ตนทำได้ และตนเองก็ไม่อยากที่จะไปทำแบบนั้น จึงต้องพยายามทำลายความดีของการลดเนื้อกินผักเหล่านั้นเสีย

ผลที่ออกมาคือการเพ่งโทษ ดูถูกดูหมิ่น สร้างวิบากบาปให้ตัวเอง แม้เราด่าว่าคนชั่วก็บาปแล้ว แต่นี่เราด่าว่าคนดีที่เขาละเว้นเนื้อสัตว์ได้จริง แทบไม่ต้องเดาเลยว่าชีวิตจะเจอเรื่องซวยแบบไหนบ้าง เพราะการเพ่งโทษคนดีมีแต่จะนำความฉิบหายเข้ามาในชีวิตแต่ความยึดชั่วจะทำให้หลงว่าการลดเนื้อกินผักเป็นความไม่ดี จึงกลายเป็นมัวเมาในการเพ่งโทษคนดี เข้าใจไปว่าตนเองเป็นคนดีกำลังสอนคนชั่ว แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นคนยึดชั่วที่กำลังพยายามทำลายคุณความดีของคนอื่น

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนมีปัญญา แม้จะมีผู้ที่คิดต่างจากที่ตนเข้าใจก็จะไม่ไปเบียดเบียนและทำร้าย ถึงแม้เขาจะทำสิ่งดีในสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้ก็จะมีมุทิตาจิต ยินดีกับความดีนั้นด้วย ซึ่งจะไม่ได้ออกมาในแนวทางพาล เกเร ดูถูกดูหมิ่นหรือเพ่งโทษใคร

ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดชั่ว

เปลี่ยนมาในมุมของคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์บ้าง คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นคนที่ดีในส่วนที่ไม่เบียดเบียนสัตว์แล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นคุณความดีเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

บางครั้งคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์จะหลงยึดดี หลงว่าคนดีจะต้องทำแบบที่ตนเองทำทั้งหมด หลงว่าคนที่ดีแท้จะต้องเป็นแบบตน ต้องคิดแบบตน ต้องเข้าใจแบบตน ซึ่งกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าคนดีนั้นจะต้องดีแบบตนเอง คนจะเรียกว่าดีได้ต้องลดเนื้อสัตว์ได้

ทีนี้พอหลงยึดดีเข้าแล้วมันจะเริ่มมองตนเองใหญ่ เพราะตนเองทำดีได้ และมองคนที่ทำดีไม่ได้แบบตนเองเล็ก เพราะเขาทำแบบเราไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เองจะเป็นความซวยของคนดีที่ยึดดีเพราะมีโอกาสที่จะไปเพ่งโทษคนชั่วได้

คนที่ชั่วนั้นเขาอาจจะชั่วแค่ในเรื่องยังกินเนื้อสัตว์ แต่ค่ารวมๆเขาดีมาก อาจจะดีกว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เช่น เขามีศีลมีธรรม กินมื้อเดียว เว้นขาดจาการสมสู่ มีน้ำใจ มีจิตอาสา แต่เขายังกินเนื้อสัตว์อยู่ ทีนี้คนที่ยึดดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ก็เอาความดีของตนไปข่มเขา ไปดูหมิ่นเขา ทั้งที่เขาชั่วอยู่เรื่องเดียว เรื่องอื่นเขาดีหมด ก็จะกลายเป็นความซวยของคนที่ยึดดี

เหมือนกับการไปเปรียบเทียบว่าช้างกระโดดไม่ได้ ช้างจึงไม่เก่งเท่ากระต่าย ซึ่งถ้ามองแต่เรื่องกระโดด ช้างมันก็ด้อยกว่ากระต่ายจริงๆ แต่ค่ารวมๆแล้วช้างเหนือกว่ากระต่ายมาก ซึ่งคนที่ยึดดีแต่ในเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์อย่างเดียว โดยไม่มององค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย จะทำให้เกิดการเพ่งโทษ ดูถูก ดูหมิ่น ผู้อื่น

และถึงแม้เขาจะไม่มีคุณความดีอะไรเลยก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเอาความดีของเราไปข่มเหงรังแกเขา แต่เพราะความยึดดีของเรา เป็นอัตตาของเรา จึงทำให้เราอยากอยู่เหนือผู้อื่น เมื่ออยากเหนือผู้อื่นจึงพยายามกดผู้อื่นลงต่ำด้วยคุณความดีที่มีในตน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย

ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดดีที่ต่างออกไป

ความยึดมั่นถือมั่นนั้นยังมีมิติในการยึดที่หลากหลาย บางคนยึดว่าต้องสมบูรณ์แบบ บางคนยึดว่าต้องยิ่งกว่าสมบูรณ์แบบ เมื่อไม่ได้สมตามที่ใจหมายก็จะเป็นทุกข์และขุ่นเคืองใจ

การเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็ไม่สร้างผลดีอะไรกับชีวิต นับประสาอะไรกับการเพ่งโทษคนดีที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยกัน เพราะในหมู่คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็ยังมีมิติของการละเว้นการเบียดเบียนที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ใช้วัตถุเป็นตัวตั้ง บ้างก็ใช้ความเหมาะสมในชีวิตประจำวันเป็นตัวตั้งบ้างก็ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง

ซึ่งแต่ละคนก็มักจะมีความยึดดีและมองสิ่งที่ตนเองทำนั้นว่าดีที่สุดเยี่ยมที่สุด ฝ่ายที่เอาวัตถุเป็นที่ตั้งก็มักจะละเว้นไปจนถึงระดับไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆกับสัตว์เลย ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางตึง ผู้ที่เอาความเหมาะสมเป็นที่ตั้งก็จะเอาความพอดีในชีวิตเป็นหลัก อันไหนเริ่มตึงก็จะไม่เอา ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางหย่อน ส่วนผู้ที่ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง คือการละเว้นกรรมชั่วที่มาจากเจตนาจะเบียดเบียนโดยมีแรงผลักดันจากความอยากได้อยากเสพในเนื้อสัตว์นั้น

ถ้าตามสมมุติโลกก็จะมองว่าการเป็นมังสวิรัติบริสุทธิ์ ไม่เสพ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เป็นที่สุด แต่ถ้ามองจากทางธรรมแล้ว จะมีเจตนาที่คิดจะละเว้นเป็นที่สุดโดยมุ่งกำจัดความอยากภายในตนเป็นหลักโดยที่ไม่ได้เน้นไปทางรูปภายนอกมากนัก

ทีนี้เวลาจะใช้วัดกุศลอกุศลตามหลักของพุทธจะใช้หลักของการลดกิเลสเป็นหลัก หมายถึงมาตรวัดคนดีของพระพุทธเจ้าคือต้องเป็นคนที่ลดความอยากได้จริง เอากิเลสที่ลดได้จริงมาเป็นสิ่งวัดความดีงาม

หากยกตัวอย่างเปรียบเทียบ การไม่กินเนื้อสัตว์โดยไม่ลดกิเลสก็คล้ายกับฤๅษีที่สามารถนั่งสมาธิได้เป็นเดือนเป็นปี ผู้คนให้ความเคารพยำเกรง มีรูปลักษณ์สวยงาม ถึงแม้จะมีรูปที่สวยเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพุทธเลย เพราะความเป็นพุทธที่แท้จริงนั้นคือการทำให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ ดังนั้นขีดที่ตัดความถูกต้องของพุทธคือการลดกิเลสได้จริง ไม่ใช่การทำร่างกายให้บริสุทธิ์ แต่เป็นการทำใจให้บริสุทธิ์จากกิเลส

แต่ในเมื่อทุกคนมีกรรมต่างกัน มีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งก็มักจะยึดเอาแนวทางของตนว่าดีที่สุด เมื่อเกิดการยึดดีขึ้นก็ย่อมจะมีการดูถูก จับผิด ดูหมิ่น เพ่งโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่เหมือนกับแนวทางของตน ซึ่งก็เรียกว่าเป็นความฉิบหายของคนดีที่หลงผิดไปยึดดี เพราะการเพ่งโทษกันเองในหมู่คนดีที่ละเว้นสิ่งชั่วได้แล้ว มีแต่จะสร้างหายนะให้แก่ผู้ที่มีจิตเช่นนั้น

ในหมู่คนที่ทำความดีนั้นก็มักจะมีการแข่งดี เอาชนะกันด้วยความดี ซึ่งก็เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในดีเช่นกัน เมื่อเกิดความอยากเอาชนะ อยากแข่งขัน อยากได้รับการยอมรับ อยากได้รับการยกย่องชื่นชม ก็จะพยายามทำดีให้เหนือกว่าคนอื่น เมื่อเกิดความอยากเหนือกว่าผู้อื่นก็จะเริ่มมีจิตที่จะข่มหรือเพ่งโทษผู้อื่นตามไปด้วย ซึ่งก็จะกลายเป็นเหตุให้คนดีเหล่านั้นสร้างจิตอกุศล สร้างวิบากบาปให้กับตนเอง

การอยู่ในหมู่ของคนดีจึงต้องระวังมากเป็นพิเศษ ต้องระวังว่าตนเองจะมีจิตที่ลามก ไปโอ้อวด ดูหมิ่น ถือตัว ยกตนข่มท่าน ลบหลู่คุณคน แข่งดีเอาชนะ มีจิตเพ่งโทษกันและกัน ซึ่งเป็นเหตุที่จะสร้างวิบากบาป นำมาซึ่งความเสื่อมให้กับคนดีที่มีจิตเหล่านั้น ทำให้เสื่อมจากศีล เสื่อมจากธรรม เสื่อมจากความสุขความเจริญทั้งหลาย เปลี่ยนทิศทางเวียนกลับไปนรกก็เป็นได้

. . . บทสรุปของบทความนี้ คงจบลงตรงที่ ให้มุ่งทำดี แต่อย่ายึดดี เพราะการยึดมั่นถือมั่นไม่มีทางพ้นทุกข์ และไม่ควรมีจิตคิดเพ่งโทษผู้อื่น แม้เขาจะคิดเห็นไม่เหมือนเรา แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องตีทิ้ง ลองฟังเขาบ้าง ลองศึกษาเขาบ้าง อย่าเพิ่งรีบเชื่อและไม่เชื่อ ให้ใช้ปัญญาค่อยๆพิจารณาประโยชน์ของสิ่งนั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดมีประโยชน์ให้พยายามเข้าถึงคุณประโยชน์นั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดเป็นโทษก็ให้ละเว้นจากสิ่งนั้นเสีย เราค่อยตัดสินใจหลังจากพิจารณาสิ่งที่ได้รับฟังมาตามความเป็นจริงด้วยใจที่ปราศจากอคติลำเอียงก็ยังไม่สาย ดีกว่าที่เราจะรีบตัดสินผู้อื่นด้วยความยึดดีของเรา

– – – – – – – – – – – – – – –

23.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

July 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,203 views 0

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

การลดเนื้อกินผักนั้นเป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติที่จะลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นทางแห่งบุญ สร้างกุศลกรรมอันมีแต่ประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่มีโทษใดๆเลย หากผู้ลดเนื้อกินผักนั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์

แม้ว่าการลดเนื้อกินผักจะถูกมองว่าไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ หรือหลุดพ้นจากสิ่งใดได้ นั่นก็เป็นเรื่องปกติ เพราะหากผู้ที่ไม่มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งเหล่านี้นำมาใช้ปฏิบัติอย่างไร ลดกิเลสอย่างไร เป็นประโยชน์อย่างไร ซึ่งการทำให้ทุกคนมีสัมมาทิฏฐินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการเห็นต่างกันย่อมจะเป็นเรื่องธรรมดา

การลดเนื้อกินผักนั้นมิใช่การทำให้หลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะขอบเขตของมันก็เพียงแค่ทำลายความอยากในการกินเนื้อสัตว์ ดังนั้นประสิทธิผลสูงสุดของมันก็แค่เพียงทำให้ความอยากกินเนื้อสัตว์หมดไป ทำให้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์ ทำให้ไม่ต้องกลายเป็นทาสเนื้อสัตว์ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ที่มากเกินพอแล้วสำหรับการดำรงชีวิตในสังสารวัฏนี้

เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้เกิดโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นผู้ที่คิดจะบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ในโลกนี้ ย่อมใช้การไม่เบียดเบียนนี่เอง ยังอัตภาพให้คงอยู่ เพื่อสร้างโอกาสให้ชีวิตได้เรียนรู้ที่จะทำให้เกิดบุญ และกุศลมากยิ่งขึ้น

กินอย่างวัวควาย

การลดเนื้อกินผัก มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบว่า “ถ้าการไม่กินเนื้อสัตว์สามารถหลุดพ้นได้จริง วัวควายกินแต่หญ้าทั้งชีวิตก็หลุดพ้นไปแล้ว

ต้องทำความเข้าใจอย่างนี้ว่า วัวควายเหล่านั้นมันไม่ได้กินเนื้อสัตว์ ไม่ได้มีความอยากกินเนื้อสัตว์ เอาเนื้อสัตว์ไปให้มันก็ไม่กิน เพราะมันไม่มีสัญญาแบบนั้น มันไม่ได้หลงว่าเนื้อสัตว์กินได้ เป็นของน่าใคร่ เป็นของควรบริโภค ดังนั้นไม่ว่าจะให้เนื้อสัตว์ชั้นดีแค่ไหน มันก็ไม่กิน

แต่กับคนที่มีกิเลส ให้เนื้อสัตว์ไป เขาก็กิน ถ้าลองเอาเนื้อสัตว์ชั้นดีมายั่ว เขาก็อยาก ร้านไหนจัดโปรโมชั่นเนื้อสัตว์หายากราคาถูกเมื่อไหร่ผู้คนก็ต่างกรูกันเข้าไปกิน เดินทางแสวงหาเนื้อสัตว์ชั้นดีมาบำเรอความอยากของตนโดยมีข้ออ้างในการกินเนื้อสัตว์มากมาย เช่น เราต้องการโปรตีน เราต้องการวิตามิน เราต้องกินเพื่ออยู่ ฯลฯ จึงทำให้หมกมุ่นอยู่กับการกินเนื้อสัตว์นั้นเอง

ถามว่า “วัวควายมันมีความอยากเหมือนคนไหม? ” มันไม่มีนะ มันต่างกันตรงนี้ เพราะวัวควายมีขอบเขตของจิต มันเกิดมาโดยมีข้อจำกัดมาก จิตวิญญาณก็พัฒนาไม่ได้มาก กิเลสก็พัฒนาไม่ได้มาก มันเกิดมาเพื่อชดใช้กรรมหรือเพราะจิตนั้นยังไม่พัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์

ดังนั้นการจะเอาวัวควายไปเทียบกับคนในบริบทของการบรรลุธรรมมันไม่สามารถเทียบกันได้ มันคนละบริบท มันคนละอย่าง

การเอาวัวควายไปเทียบกับคนนั้นเพราะไม่รู้ความแตกต่างของการปฏิบัติในจิต วัวควายมันไม่ต้องปฏิบัติอะไรเพราะมันไม่ได้มีความอยากหรือยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ แตกต่างจากคนที่มีความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้น ถ้ามองเห็นเพียงว่าการลดเนื้อกินผักไม่ใช่หนทางขัดเกลาความอยากของตน ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติตนสู่ความพ้นทุกข์ เพราะหากเราไม่ขัดเกลาความอยากแล้ว จะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร?

การจะเข้าใจว่ากินอย่างวัวควายไม่บรรลุธรรมก็เป็นเรื่องจริง หากว่ากินโดยที่ไม่รู้ประโยชน์ สักแต่ว่ากิน ไม่รู้ไปถึงตัณหา อุปาทานก็จะเป็นการกินผักกินหญ้าไปเช่นนั้นเอง แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างนั้น คนที่กินผักกินหญ้าก็ยังเป็นคนที่ทำคุณประโยชน์ให้โลกมากกว่าเพราะไม่เบียดเบียนตนเองด้วยส่วนแห่งอกุศลกรรม ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น จึงเป็นชีวิตที่กินผักกินหญ้าที่มีประโยชน์ต่อโลก ไม่ตกต่ำไปกว่าสัตว์อย่างวัวควาย ควรค่าที่เกิดมาเป็นคน

กินอย่างมนุษย์

การลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญแล้ว คืองดเว้นการเบียดเบียนสัตว์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อรู้ว่าตนเองนั้นยังเป็นเหตุที่เขาจะต้องฆ่าสัตว์ ก็จะมีความยินดีที่จะงดเว้นเหตุแห่งการเบียดเบียนเหล่านั้นเสีย

เป็นความเจริญของจิตใจที่มีเมตตาขยายขอบเขตออกไปมากกว่าการเลี้ยงชีวิตตนเอง เพราะถ้าเราคนถึงแต่ชีวิตตนเอง มีแต่ความเห็นแก่ตัว เราก็จะใช้สิ่งอื่นมาบำเรอตนโดยที่ไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะมีต้นเหตุที่มาเช่นไร

ความเห็นแก่ตัวหรือจะเรียกว่าความเห็นแก่กิน หรือการกินโดยไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรองว่าเนื้อสัตว์นั้นเป็นเนื้อที่สมควรหรือไม่ เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมไม่ใช่เนื้อที่สมควรบริโภค เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ควรสนับสนุนด้วยประการทั้งปวง เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมเป็นที่น่ารังเกียจของผู้เจริญ

แต่ความเห็นแก่ตัวนั้นจะทำให้จิตใจคับแคบ สายตาคับแคบ มองเห็นเพียงแค่เนื้อสัตว์นั้นทำให้ชีวิตตนดำรงอยู่ มองเห็นเป็นเพียงวัตถุสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า มองเห็นแค่ในระยะที่ตนเองเอื้อมถึง ไม่มองไปถึงเหตุเกิดที่มาของสิ่งเหล่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ผู้ที่ไม่สามารถมองเห็นเหตุเกิดของสรรพสิ่งทั้งปวงย่อมไม่สามารถดับทุกข์หรือบรรลุธรรมใดๆได้เลย

กินลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญ จึงเป็นการกินผักที่มองไปถึงเหตุเกิด มองไปถึงสิ่งที่ทำให้ต้องไปกินเนื้อสัตว์ นั้นก็คือความอยากได้อยากเสพเนื้อสัตว์ ความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ความยึดมั่นถือมั่นในคุณค่าลวงที่โลกปั้นแต่งให้กับเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาเหล่านั้น และมุ่งทำลายเหตุเหล่านั้นโดยการไม่ให้อาหารกิเลส ทรมานกิเลส ไม่ตามใจกิเลส

ดังนั้นการลดเนื้อกินผักของผู้มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็คือการไม่ยอมไปกินเนื้อสัตว์นั้นตามที่กิเลสลากให้ไปกิน กิเลสจะหาเหตุผลมากมายให้ได้ไปเสพเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ให้ไปเบียดเบียนโดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิด ให้หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่มีผล

ทุกการกระทำใดๆที่มีเจตนาย่อมสั่งสมเป็นกรรม การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาก็ย่อมมีผลเช่นกัน ซึ่งผลกรรมของมันก็จะต่างกับการกินพืชผักอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ที่มีปัญญาย่อมไม่แสวงหาเหตุผลในการสร้างอกุศลกรรมใดๆให้ตนเอง ไม่หาเหาใส่หัวโดยที่ไม่จำเป็น เพราะหากไม่มีความอยากกินเนื้อสัตว์แล้ว แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีที่ผู้คนต่างใคร่อยาก มาวางอยู่ตรงหน้า จัดให้กินฟรีๆทุกวี่ทุกวัน ก็ไม่มีความหมายใดๆ สำหรับผู้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เลย เป็นความหลุดพ้นจากความเป็นทาส

จึงสรุปได้ว่าการลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์คือการขัดเกลากิเลสที่เกาะกุมอยู่ในจิตใจ ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้อยากจะไปเสพเนื้อสัตว์ แต่การลดเนื้อกินผักอย่างวัวควายก็เป็นธรรมชาติของวัวควาย และเป็นความเข้าใจของผู้ที่ยังเห็นไม่รอบ ยังไม่เห็นกิเลส ยังไม่เห็นตัวตนของความอยากนั้น ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าความอยากนั้นเป็นภัยแก่ตนอย่างไร ยังไม่รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุของอุปาทาน ที่จะทำให้เกิด ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

– – – – – – – – – – – – – – –

19.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)