Tag: การทำดี
ไม่ลดกิเลส จะไม่ทันพวกทำดีเอาหน้า พวกสร้างภาพ
วันนี้อาจารย์หมอเขียวพูดถึง คนที่ผิดศีลจะมีวิบาก(ผล) ให้ได้ข้อมูลผิด เช่น เห็นพวกทำดีเอาหน้าแล้วดูไม่ออก คือไม่เห็นความชั่วที่ซุกแอบซ่อนในการทำดีของเขา
ผมก็เคยพลาดมา แต่เราตั้งใจปฏิบัติศีล จึงได้เห็นข้อมูลจริง ว่าเขาผิดศีล ไม่ได้ขยันอย่างจริงใจ คือทำดีสร้างภาพ หวังลาภสักการะ ฯลฯ ซุกซ่อนกิเลสภายใน
ทีนี้ใช่ว่าเราออกมาได้ แล้วเราก็จะเฉย ๆ เราก็ช่วยคนอื่นโดยการเผยแพร่ข้อมูล ลักษณะของคนพาล และรูปรอยของคนผิดศีลนั่นแหละ ก็คงจะไม่ได้ประจานกันตรง ๆ เพราะชนกับคนพาลจะมีแต่เสีย แล้วเจตนาเราไม่ได้หวังจะช่วยคนพาล แต่จะช่วยคนดีที่ยังไม่รู้ทันคนชั่ว
เชื่อไหมว่า คนที่ปิดบังหรือไม่เปิดเผยความจริง ส่วนใหญ่ที่เข้ามาในชีวิต ไม่นานเขาจะหลุดความจริงออกมา ผมเคยตั้งจิตว่าขอให้ได้รู้ว่าใครเป็นใคร เท่านั้นแหละ พาลเป็นพาล บัณฑิตเป็นบัณฑิตเลย
พาลคือไม่ได้จริงอย่างที่พูด พูดอย่างทำอีกอย่าง พูดเกินความจริงที่ตนมี เช่นบรรลุขั้นนั้นขั้นนี้ แต่ชีวิตจริงยังไปจีบหญิงอยู่เลย แบบนี้เรียกพวกเน่าใน ทุศีล สร้างภาพว่าสวยงาม แต่ข้างในไม่ได้มีจริง บางทีเขาก็พูดเอาโก้ ๆ หลอกคน เพราะหลงโลกธรรม
ธรรมะนั้นเป็นของสูง คือมีลาภสักการะมาก มีสรรเสริญมาก คนชั่วเขาก็จะเข้ามาเอาประโยชน์ตรงนี้เหมือนกัน คือเข้ามาแล้วทำให้ดูเหมือนขยันทำดี ขยันเอาธรรม ขยันสนทนาธรรม บางทีเขาซ่อนกิเลสเขาไว้ แต่ไม่แสดงออก แล้วก็แอบเสพไป สร้างภาพไป
ด้วยความที่ผมทำดีมามาก เลยได้ข้อมูลค่อนข้างเยอะ ที่จะช่วยไม่ให้หลงไปคบคนผิดหรือคนพาลนาน พอเราได้ข้อมูลว่าเขาผิดศีล ไม่จริงอย่างที่พูด เราก็ไม่คบ มันก็ง่าย ๆ แค่นี้
แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสื่อสารให้คนอื่นได้รู้อย่างเรา แม้จะพูดไปเต็มปาก ก็ใช่ว่าเขาจะเชื่อได้ เพราะถ้าเขาทำดีมาไม่มากพอ ปฏิบัติศีลเจริญในธรรมได้ไม่มากพอ เขาจะไม่เห็นความชั่วที่แอบไว้ในความดีที่คนชั่วนำเสนอ
ก็สรุปกันง่าย ๆ ว่าโดนเขาสร้างภาพลวงให้หลงไว้นั่นแหละ สุดท้ายแม้เราพูดไป แล้วเขาไปศรัทธาคนที่ขยันทำดีแต่ไม่จริงใจมากกว่าเรา เขาก็จะเพ่งโทษเรา แทนที่จะช่วยเขา ก็กลายเป็นว่าเขาจะกลับมาเพ่งโทษถือสาเราอีก
ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยเสี่ยงแลกนักหรอก ถ้าดู ๆ แล้วคนเขาไม่ได้ศรัทธาเรามากพอ มันจะได้ไม่คุ้มเสีย บางคนเขาก็ทำเหมือนศรัทธาเรา แต่พอไปได้ยินคนนินทาเรื่องเรา กลับไม่มาถามเราสักคำว่า “เรื่องจริง ๆ” มันเป็นอย่างไร เราก็รู้เราว่าเขาเชื่อทางนั้น เราก็ไม่พูด เพราะพูดไปมันก็จะไปสู้กับสิ่งที่เขาศรัทธามันจะพังเปล่า ๆ
บางทีถ้าพยายามจะสื่อเต็มที่แล้วเขาไม่เข้าใจ มันก็ต้องวาง ให้ทุกข์ได้สอนเขา เราพ้นจากคนพาลแล้วเราจะทุกข์อะไร เราไม่คบ ไม่สื่อสารกับคนพาล ไม่อนุเคราะห์คนพาลให้มันลำบากชีวิตหรอก
รักที่พาเจริญ ต้องไม่ทำร้าย
รักที่พาเจริญ ต้องไม่ทำร้าย
ความเห็นที่ว่าการมีรักนั้นก็พากันให้เจริญได้ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปทั้งทางโลกทางธรรม จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ ไม่มีการทำร้ายกัน ไม่อย่างนั้นแล้ว วาทกรรมเหล่านั้นก็เป็นเพียงแค่คำลวงของมารที่จะล่อใจคนให้หลงเสพหลงสุข ลวงให้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวเท่านั้นเอง
การทำร้ายนั้นมีหลากหลายมิติ ถ้าแบ่งชั้นต้นก็เป็นการทำร้ายร่างกายและจิตใจ ในมิติของการทำร้ายจิตใจก็จะมีรายละเอียดที่ลึกซึ้งแตกต่างกันไป
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำร้ายร่างกาย
การทำร้ายร่างกายนั้นเป็นการทำร้ายที่หยาบที่สุด เห็นได้ชัด ไม่ใช่ความปกติของคนดีมีศีล แต่เป็นธาตุของคนทุศีลที่หมายทำร้ายผู้อื่น เพื่อให้สาแก่ใจตน การทำร้ายกันในคู่รักมักจะมีความจัดจ้านรุนแรง ไม่เหมือนกับพ่อแม่ที่ตีลูกไป ตัวเองก็เสียใจไป การลงโทษลงทัณฑ์ โดยการทำร้ายในนามแห่งความรักนั้น มักจะมีความรุนแรงกว่าเหตุการณ์ปกติในชีวิตทั่วไป ใครไม่เคยเจอการทำร้ายกัน ก็อาจจะได้มาเจอกับคนรักที่ทำร้ายนี่แหละ บางคนพ่อแม่ไม่เคยตี แต่ก็มาโดนคู่รักทำร้าย อันนี้ก็เป็นตัววัดความไม่เจริญอย่างหยาบ การทำร้ายร่างกาย จะยิ่งทำให้เสื่อมจากความดีงามไปเรื่อย ๆ จนเป็นทำร้ายกันรุนแรงขึ้น ถึงขั้นฆ่ากันตายมีให้เห็นเป็นตัวอย่างกันมามากมาย
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำร้ายจิตใจ
ในการทำร้ายจิตนั้น เบื้องต้นก็เป็นการทำร้ายร่างกายที่มีผลต่อจิตใจ อันนี้ก็เป็นอย่างหยาบ ละเอียดขึ้นมาหน่อยก็เป็นการใช้คำพูด ภาษา ในการทำร้ายจิตใจกัน ละเอียดขึ้นมาอีกก็เป็นการชักสีหน้า ออกอาการไม่พอใจ กดดันอีกฝ่าย ทำร้ายจิตใจกัน หรือเย็นชาสุด ๆ ก็กลายเป็นไม่พูด ไม่สนใจ กดดันโดยการคว่ำบาตร ก็เป็นการทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย การกระทำเหล่านี้จะมีเจตนาเป็นตัวกำหนดว่าตั้งใจทำให้อีกฝ่ายเป็นทุกข์ ต้องการสั่งสอน ลงทัณฑ์ ใช้อำนาจแห่งความรักในการทำร้ายกัน ถ้าไม่ได้มีเจตนาแฝงว่าทำไปเพื่อเสพสมใจตน ทำไปเพื่อให้เขายอมตน หรือทำไปเพื่อต้องการเอาชนะ ต้องการเพียงจะสื่อสาร อยากให้เขาปรับตัว ให้พ้นทุกข์โดยไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ส่วนใหญ่แล้ว มักจะทำร้ายจิตใจผู้อื่นเพื่อเอาใจตนเองเป็นหลัก คือเอาแบบฉัน ฉันถูกที่สุด เธอผิด อะไรแบบนี้
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำให้หวั่นไหว
การที่จะเจริญไปในทิศทางแห่งความผาสุกได้นั้น ใจจะต้องไม่หวั่นไหว การที่จะมีความรักแล้วต้องทนอยู่กับความหวั่นไหว จะเรียกว่าเป็นความเจริญนั้นเป็นไปไม่ได้เลย คนจะหวั่นไหวกันตอนไหน ก็เช่น ตอนเขามาจีบ ก็ตอนเขาบอกรัก หรือบอกเลิกกันนั่นแหละ คำเหล่านั้นล้วนเป็นคำที่มีเจตนาทำให้คนหวั่นไหว จิตใจสั่นคลอน อ่อนแอ ยอมรับรัก ยอมเป็นทาสรัก ยอมสารพัดยอม ยอมพลีกาย พลีใจให้กับการกระทำหรือคำพูดที่พาให้หวั่นไหว ให้ใจหลงเคลิ้ม อันนี้ก็เป็นการทำร้ายของมารที่แฝงมา คนดีมีศีลจะไม่ทำให้ใครหวั่นไหว จะไม่ล่อลวง จะไม่จีบ สุภาพบุรุษที่แท้จริงนั้นจะไม่จีบใคร ไม่เกี้ยวพาราสี เพราะเป็นเหตุที่จะทำให้คนหวั่นไหว เป็นทุกข์ กระวนกระวายใจ ก็เป็นการทำร้ายกันในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น เป็นมิติที่คนทั่วไปยากจะเข้าใจแล้ว เพราะเขามองว่าการจีบกันรักกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในทางธรรมนะนั้น การทำให้หวั่นไหว ให้เกิดความใคร่อยาก ให้เกิดความกลัวที่จะไม่ได้เสพ ก็มีแต่มารเท่านั้นแหละ ที่จะทำสิ่งนั้น
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำให้หลง
การทำให้หลง เป็นการทำร้ายจิตใจกันอย่างลึกซึ้งแบบข้ามภพข้ามชาติ ทำให้อ่อนแอ เป็นทาส ขาดอิสรภาพ เหมือนคนตาบอด มืดมัว เศร้าหมอง อยู่แต่ในกรอบที่มารกำหนดไว้ คือรักแต่ฉัน หลงแต่ฉัน เชื่อแต่ฉัน ทุ่มเทชีวิตให้ฉัน การทำให้อีกฝ่ายอ่อนแอและไม่พึ่งตนเอง คือการทำลายศักยภาพของการเป็นมนุษย์ เป็นเบื้องต้นของการกระทำของมาร คือแสร้งว่า ฉันจะให้ความรัก ให้ความปลอดภัย ให้ความสุข ให้ความเจริญ เธอจงมาพึ่งฉัน อยู่กับฉัน ฯลฯ จะมีการหว่านล้อมให้หลงรัก หลงเชื่อใจ จนยอมทิ้งชีวิตจิตใจฝากไว้กับคน ๆ นั้น ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ให้พึ่งตน ให้มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง คือปฏิบัติให้ตนมีความเป็นพุทธะ ธรรมะ สังฆะในตนนั่นแหละเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่เอาคู่รักเป็นที่พึ่ง แต่รักที่ทำร้าย เขาจะไม่ให้ไปพึ่งคนอื่น เขาจะให้พึ่งพาแต่เขา เขาจะให้หลงแต่เขา ให้รักแต่เขา ให้มัวเมาแต่เขา
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำลายอิสระในการทำดี
ความเจริญกับการทำดีนั้นเป็นของคู่กัน ถ้าความรักหรือคู่รักนั้นมาขัดขวางการทำดี นั่นก็แสดงว่า ความรักนั้นกำลังขัดขวางทางเจริญ การทำดีนั้นก็มีเรื่องของการทำทาน การถือศีลให้เกิดความลดละกิเลสได้ แต่ความรักผีที่แฝงตัวมาจะกั้นไม่ให้คนทำทาน ไม่ให้คนเสียสละ บางคนเสียเงินพอทนได้ แต่จะให้ไปปฏิบัติธรรม ทำดีกัน 5 วัน 10 วัน นี่เขาจะไม่ปล่อย เขาจะไม่ยินดี เขาจะกั้น สารพัดเหตุผล บ้านต้องดูแล งานต้องทำ เงินต้องหา ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่องค์ประกอบเหตุปัจจัยมันอาจจะไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น หรือในเรื่องถือศีล คู่รักกับศีล ๘ ในข้อประพฤติพรหมจรรย์จะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกัน เพราะเป็นธาตุตรงข้าม ผีกับมาร แค่ถือศีล ๕ ก็ว่ายากแล้ว ศีล ๘ นี่ยิ่งยากไปใหญ่ เขาจะไม่ยอม คนที่เขามีกิเลส มีความอยากมาก ๆ เขาจะไม่ยอมให้คู่ถือศีล ๘ เขาจะกั้นจากความดีที่เลิศกว่า จะจำกัดอิสระ ขังไว้ในความดีน้อย ๆ ความดีที่ต้องมีฉันเป็นกำแพง มีฉันเป็นเพดาน ดีไม่ดีเอาลูกมาผูกไว้อีก ดังที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกบุตรว่า บ่วง เพราะท่านรู้ว่านี่คือสิ่งที่จะผูกมัดท่านไว้ มารก็จะทำแบบนี้เช่นกัน เขาจะมัดคู่ไว้ด้วยการมีลูก คือสร้างบ่วง สร้างห่วงขึ้นมาให้มันมีเหตุที่จะต้องอยู่รับผิดชอบ ให้อยู่เล่นละครพ่อแม่ลูกไปกับเขา กั้นไม่ให้เราเหลือเวลาเอาไปทำความดีแก่ผองชนมาก ๆ ให้เราทำดีแต่ในคอกแคบ ๆ ที่เรียกว่าครอบครัว
รักที่พาให้เจริญต้องไม่ผูกมัด
ความยึดมั่นถือมั่น คือการทำร้ายจิตใจตนเองและผู้อื่น ความเจริญนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อผู้มีความรักนั้น รักอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น นั่นหมายความว่า ถ้าคู่ของเขา พร้อมจะจากไป ก็ยินดี ยอมให้ไปโดยไม่เหนี่ยวรั้ง เคารพสิทธิ์ เคารพความคิด คือ ถึงบทที่จะต้องจากกัน หรือมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็ไม่ยึด ยื้อ รั้ง กันไว้ ไม่ตรงก็ไม่ขังเขาไว้ ก็ปล่อยไปตามทางที่เขาเลือก ไม่ใช่เป็นไปตามใจที่เราเลือก ให้อิสระกับเขา ไม่ผูกมัดเขา ปล่อยวางจากเขา อันนี้คือความเจริญ ส่วนความเสื่อมก็คือไปล่อลวง อ้อนวอน หลอกล่อเขาไว้ให้อยู่กับตน พยายามจะผูกมัดเขาไว้ด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ อันนี้ความรักผี พาให้เป็นทุกข์ ตัวเองก็เป็นทุกข์ คนอื่นก็เป็นทุกข์ แสดงให้เห็นความคับแคบในใจ จะเอาแต่ใจตน ใจไม่กว้าง คิดจะรักต้องใจกว้าง ให้อิสระ เคารพความเห็นของคนอื่น ให้สิทธิ์เขาเลือกที่จะเดินเข้ามาหรือจากไป โดยไม่ยึดมั่นถือมั่น
รักที่พาเจริญต้องไม่หลอกหลอน
รักที่พาให้หลง คือความรักที่ทำให้จิตเกิดความหลอกหลอน วนเวียนเสพสุขกับความทรงจำ ที่แม้ปัจจุบันจะไม่เหลืออะไรแล้ว แต่ความสุข ความเศร้า บทละครมันยังวิ่งวนเวียนหลอกหลอนอยู่ในหัว คิดถึงทีไรก็เป็นสุข สุขที่ได้เสพความทรงจำ หอมหวานอยู่ในภพที่ฝังตัวเองไว้ ติดตรึงใจ หลอกหลอนไม่รู้ลืม ความรักที่พาให้เจริญจะไม่สร้างผลแบบนี้ จะมีเฉพาะความรักแบบผี หรือรักด้วยกิเลสเท่านั้น ที่สร้างผลที่จะหลอกคนให้หลงหลอนอยู่ในภพแห่งความฝัน
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำให้เกิดทุกข์
ในมิติที่ละเอียดลึกซึ้งที่สุดคือ รักแล้วต้องไม่มีทุกข์ในใจเลย จึงจะเจริญได้ ถ้ายังมีทุกข์อยู่แสดงว่ายังไม่เจริญ ความเจริญคือความไม่ทุกข์ ไม่ใช่การจมอยู่กับทุกข์ อันนั้นเรียกว่าเสื่อม ไม่เจริญ ถดถอยไปเรื่อย ๆ อันนี้ต้องใช้สติไปจับอาการทุกข์ของตัวเองกันดี ๆ ว่ามีทุกข์เกิดมากเท่าไหร่ ทุกข์ขนาดไหน ในชีวิตประจำวัน ความกังวล ระแวง หวั่นไหว นั้นก่อให้เกิดทุกข์ แค่คู่ครองไม่รับโทรศัพท์ คู่ครองกลับบ้านไม่ตรงเวลา คู่ครองไปคุยกับคนอื่น มันจะผาสุกไหม มันจะทำใจให้เบิกบานได้ไหม ถ้ากระทบกับความไม่ได้ดั่งใจแล้วใจยังมั่นคงอยู่ในความผาสุกได้ก็เจริญ แต่ถ้าหวั่นไหว ทุกข์ทนข่มใจไปตามสถานการณ์ ที่เหมือนกับเรือที่ลอยอยู่ท่ามกลางทะเลที่แปรปรวนด้วยลมพายุ แม้จะทรงตัวอยู่ได้ ก็ใช่ว่าจะทนอยู่ได้ตลอดไป ก็อาจจะต้องพ่ายแพ้อับปางลงสักวัน ไม่เหมือนกับคนที่ปฏิบัติจนไม่ทุกข์ อันนั้นเขาไม่ติดโลก ไม่ติดทะเล เหมือนลอยอยู่ในอากาศ ความแปรปรวนใด ๆ ล้วนไม่มีผล ไม่น่ายึดไว้ ก็แค่ไปหาสภาพที่ดีกว่าอยู่ ไปหาที่สงบจากความแปรปรวน สงบจากความโลภ โกรธ หลง เพราะการอยู่กับคนที่มีกิเลสมาก ๆ รังแต่จะสร้างปัญหาให้ แม้จะไม่ทุกข์ใจ แต่ก็เป็นความลำบากกายที่ต้องทนรับไว้ เป็นภาระ เป็นบ่วง ดังนั้น คนที่เจริญ เขาจะไม่ยึดสภาพคู่ครองไว้ เพราะมันเป็นสภาพที่ไม่น่าเสพ เป็นภาระ เป็นความลำบาก พอไม่ยึดติด มันก็ไม่มีความสำคัญแบบมีกิเลสเป็นตัวแปรในตัวบุคคล ที่เหลือก็แค่ประเมินว่าที่ไหน ตรงไหน ตนเองจะทำประโยชน์ได้ดีกว่าเท่านั้นเอง
…ก็ลองพิจารณากันดู ประตูแรกของการจะข้ามพ้นความหลงในความรักก็คือ ยอมรับว่ามันทุกข์ ยอมรับว่ามีแล้วมันก็ไม่ได้พาเจริญกันอย่างที่เขาว่ากันหรอก ก็มีแต่กามแต่อัตตานั่นแหละที่จะเติบโตขึ้น พากิน พาเสพ พาเมา พาโลภ โกรธ หลง พายึดกันอยู่ทุกวี่วัน จะหาความเจริญมาจากไหน?
8.1.2563
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
การทำดีที่ยังเห็นแก่ตัว
การทำดี เพื่อให้ผู้อื่นมารัก ชอบ หลง ฯลฯ คือความเห็นแก่ตัวที่ใช้ความดีมาบังหน้า เป็นเชื้อชั่วที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากคนดี
สมรภูมิคนดี
สมรภูมิคนดี : บททดสอบที่จะประดังเข้ามาเพื่อพิสูจน์ความดีที่แท้จริง (กรณีศึกษามังสวิรัติ)
คนทุกคนย่อมพยายามผลักดันตนเองไปสู่ความดีที่ตนเห็นว่าดีกันทุกคน เส้นทางแห่งความดีนั้นไม่ใช่เส้นทางที่เดินได้ง่าย มีบททดสอบมากมายที่จะเข้ามาพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราเห็นว่าดีนั้นดีจริงแท้หรือไม่
ในบทความนี้จะยกตัวอย่างคนที่พยายามลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ พยายามที่จะทำตนเองให้ดีขึ้น ให้เบียดเบียนสัตว์อื่นน้อยลง เป็นทางสู่ความดีทางหนึ่งด้วยเนื้อหาต่างๆรวม 7 ข้อ
1). การทดสอบความตั้งมั่น(บททดสอบกาม – การเสพติดเนื้อสัตว์)
คนที่คิดจะพยายามทำดีในชีวิต เช่นในเรื่องของการลดเนื้อกินผัก จะเจอบททดสอบแรกที่ท้าทายความดี คือจะละเว้นเนื้อสัตว์ได้จริงไหม จะกินได้นานเท่าไหร่ ถ้าโดนยั่วยวนด้วยเมนูเนื้อสัตว์ต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะงานเลี้ยง รวมญาติ งานรื่นเริง หรือสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดต่างๆ เราจะยังตั้งมั่นอยู่ไหม เราจะกลับไปกินไหม เราจะหาเหตุผลไปกินไหม และที่สำคัญที่สุดคือเรายังเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นมีคุณค่ามีประโยชน์ในชีวิตเราอีกไหม เรายังหลงว่ามันเป็นของดีอีกไหม เรายังมีความเข้าใจว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่บำรุงร่างกายอยู่ไหม เรายังยินดีให้คนที่รักกินเนื้อสัตว์อยู่อีกไหม เรายังเหลือเยื่อใยใดๆกับเนื้อสัตว์อยู่อีกไหม จะมีเหตุการณ์ต่างๆที่จะเข้ามาทดสอบความตั้งมั่นของผู้ที่จะลดเนื้อกินผักตลอดช่วงเวลาที่คิดจะทำดี
2). ออกสู่โลกภายนอก ( เตรียมเข้าสู่บททดสอบอัตตา )
เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว แต่ถ้าอยากให้เกิดสิ่งดีมากขึ้น เป็นกุศลมากขึ้น ก็จะต้องทำหน้าที่เชิญชวนให้ผู้อื่นสนใจที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์ด้วย ซึ่งสิ่งที่จะขวางกั้นไม่ให้เราได้เป็นคนดีขึ้นอย่างใจหวัง นั่นก็คืออัตตา หรือความยึดดีถือดี อัตตาจะทำให้เราต้องเป็นทุกข์เมื่อไม่ได้อย่างใจ ทำให้เราแข็งกระด้าง ทำให้เราไม่เมตตา ทำให้เราต้องสร้างศัตรู ทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จในการชักชวนผู้อื่นให้ศึกษาเพื่อละเว้นการกินเนื้อสัตว์
ผู้ที่เข้ามาทดสอบจะเป็นไปตามธรรม เป็นไปตามสิ่งที่เราทำ ถ้าเราลดเนื้อกินผักอยู่ในภพ คือ กินโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร โจทย์ก็มักจะน้อย แม้จะลดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ดี สามารถออกจากกามได้ แต่ก็ยากที่จะวัดเรื่องอัตตาได้
และถ้าเราเริ่มออกจากภพ ออกจากถ้ำ ออกจากที่มั่น เริ่มอธิศีลขึ้นไปอีกระดับ พยายามสร้างกุศลขึ้นไปอีก คือการพยายามชักชวนผู้อื่นให้ลดเนื้อกินผัก ก็จะเริ่มมีโจทย์ที่มากขึ้นมาตามธรรมเช่นกันและนี่คือการก้าวสู่คนดีที่ดียิ่งขึ้นอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากขึ้น เพราะต้องพร้อมรับความเห็นที่แตกต่างที่จะประดังเข้ามามากขึ้น
ซึ่งความหนักของบททดสอบนั้นจะมากและแรงขึ้นเรื่อยๆตามความดีที่ทำ ยิ่งทำดีมาก ยิ่งมีบารมีสูงมาก โจทย์ก็ยิ่งยาก ยิ่งหนัก ยิ่งแก้ยาก ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเข้ามาทดสอบว่าเราดีจริงหรือไม่ เราจะทำดีได้มากกว่านี้ หรือจะเลิกล้มลงตรงนี้
3). การต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น( รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง )
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเอาชนะกัน การเถียงกัน เป็นการสู้รบที่ไม่มีวันจบสิ้น เราไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนเห็นเหมือนเราได้ ขนาดบุรุษที่เก่งที่สุดในโลกก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนศรัทธาได้
เราจึงต้องกำหนดเป้าหมายให้ดีว่า การทำดีของเรานั้นไม่ใช่เพื่อเอาชนะใคร ไม่ใช่เพื่อข่มเหงใคร ไม่ใช่เพื่ออวดในคุณความดีที่ตนได้ แต่เป็นการทำดีเพื่อจะสร้างเหตุในการขัดเกลาตนเองให้เป็นคนดีที่ดียิ่งขึ้น การต่อสู้ภายนอกนั้นไม่มีวันจบสิ้น การเถียงเอาชนะกันมีแต่จะเสื่อมศรัทธาต่อกัน เขาก็ยังกินเนื้อเหมือนเดิม เราก็ได้ศัตรูเพิ่ม ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเอาผลแพ้ชนะทางโลกเป็นเป้าหมาย การเพิ่มคนลดเนื้อกินผักไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่เป็นการเพิ่มคนดีขึ้นมาอีกหนึ่งคน นั่นคือทำตัวเราให้ดียิ่งๆขึ้น ไม่ใช่การไปทำคนอื่นให้ดีอย่างใจเรา
การต่อสู้ภายในนั้นมีวันสิ้นสุด เพราะแท้จริงแล้ว เราไม่ได้สู้กับใครเลย เราสู้กับใจตัวเองเท่านั้น สู้กับความยึดดีถือดี ความเอาแต่ใจ ความคาดหวัง เราสู้กับกิเลสของตัวเราเองเท่านั้น คนที่วุ่นวายอยู่กับการต่อสู้ภายนอก จะเป็นคนดีที่มีแต่ความทุกข์ใจ ต้องสู้กับคนที่เห็นต่างไปชั่วกัปชั่วกัลป์
4). ผู้เข้ามาทดสอบ(บททดสอบอัตตา – การยึดดีถือดี )
กรรมจะลิขิตขีดเขียนสร้างเหตุการณ์และผู้ที่เข้ามาทดสอบความยึดดีถือดีด้วยลักษณะและลีลาที่ต่างกัน ซึ่งอาจจะเข้ามาเพื่อกระทบแค่ครั้งเดียว ,มาๆหายๆ , มาแบบกัดไม่ปล่อย, ลากเราไปรุมขยี้ ฯลฯ ก็เป็นรูปแบบการเข้ามาของบททดสอบต่างๆ ซึ่งเราควรพึงระลึกไว้เสมอว่า สิ่งที่เข้ามากระทบทั้งหมดนั่นคือผลของกรรมที่เราทำมา เรากำลังได้รับผลกรรมของเรา เพื่อที่จะขัดเกลาจิตใจให้ดียิ่งขึ้น และใช้หนี้กรรมชั่วให้หมดไป โดยจะยกตัวอย่างลักษณะของผู้ที่เข้ามาคร่าวๆดังนี้
นักเลง คนพาล –มักจะมาในลักษณะหาเรื่อง เพ่งโทษ มีการดูถูก ประชด เยอะเย้ย ฯลฯ คือขอให้ได้ข่มก็พอใจ ถ้าเจอคนลักษณะนี้ก็ให้วางเฉยเสีย อย่าไปถือโทษโกรธเคือง เขามาวัดโทสะเรา ว่าเราจะโกรธไหม จะแค้นไหม จะขุ่นเคืองไหม เราก็เจริญเมตตาจิตไป และค้นหาเหตุแห่งความโกรธว่าการที่เขามาว่า มาด่าเรานั้น เราจะโกรธทำไม เรายึดดีถือดียังไงเราจึงต้องไปโกรธเขา
คนที่พูดกันไม่รู้เรื่อง – อาจจะเป็นคนที่รีบสรุป อ่านน้อย ฟังน้อย หรือเข้าใจผิด มักจะพูดคนละประเด็น หรือพูดกันเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจ พอจะคุยกันได้ ไม่ทะเลาะกันรุนแรง แต่มักจะหาข้อสรุปไม่ได้ ยิ่งคุยก็ยิ่งงง เจอแบบนี้ก็ตรวจดูว่าหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไหม พยายามจะไปยัดเยียดความรู้ให้เขาไหม ก็ล้างความยึดดีถือดีของเราไป บางครั้งก็ต้องปล่อยวางกับเรื่องที่หาคำตอบไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนเรื่องได้ก็เปลี่ยน เลี่ยงได้ก็เลี่ยง
ผู้คมกฎ – เป็นคนที่เข้ามาบัญญัติ ข้อกำหนดว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำแค่นี้ไม่ได้ ทำแบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นมังสวิรัติ ถ้าทำแบบนี้ผิด แบบนี้ถูก อาจจะพ่วงท้ายด้วยการประณามหยามเหยียดได้ในบางกรณี ก็กลับมาตรวจใจเราว่าขุ่นเขืองไหม สิ่งที่เขาแนะนำเป็นกุศล สมควรทำจริงหรือไม่ เหมาะสมกับฐานจิตของเราหรือไม่ ถ้าเขาแนะนำเกินก็ไม่เป็นไร เราก็ปฏิบัติเหมือนเดิมตามฐานจิตของเรา เท่าที่เราจะทำไหวในขีดที่เราจะพัฒนาขึ้นไปได้โดยลำดับ
ผู้ไม่เห็นด้วย –คนทั่วไปที่เข้ามาแสดงความเห็นในมุมที่แตกต่าง มักจะมีข้อมูล มีเหตุผล มีที่อ้าง เราจะวางใจได้ไหม ถ้าเขามีข้อมูลที่แย้งกับของเรา เราจะลองศึกษาของเขาดูบ้างได้ไหม เราจะเมตตาให้ความรู้กับเขาโดยที่ไม่ไปแข่งดีเอาชนะกับเขาได้ไหม และถ้าเขาไม่เอาดีตามเรา เราจะปล่อยวางได้ไหม จะยอมปล่อยให้เขาเชื่อในแบบของเขาได้ไหม
ผู้ที่เห็นว่าดีแต่ไม่เอาด้วย – คนที่เข้ามาเห็นดีกับเราในบางส่วน แต่ไม่ยินดีจะเอาด้วย ไม่ร่วมด้วย มักจะมีข้ออ้าง ข้อหลบเลี่ยงในการไม่เอาดี นั่นเพราะเขายังไม่เห็นว่าทำแบบเรานั้นดีพอที่เขาจะเอา มักจะมีภพที่เข้าใจว่าดีกว่ายึดอาศัยอยู่ เข้าใจว่ามีสิ่งที่ดีกว่าที่เราทำ ซึ่งมักจะเข้ามาชมแกมข่ม ลูบหลังแล้วตบหัว มักจะมีแนวทางของตัวเองอยู่ มักประกาศตนอยู่เนืองๆว่ามีดีกว่า ซึ่งอาจจะทำให้เรางงว่าจะมายังไงกันแน่ ก็ลองตรวจใจตัวเองว่าขุ่นเคืองใจไหม เขามาข่มจะยอมให้เขาข่มได้ไหม ยอมให้เขาเผยแพร่ความเห็นของเขาได้ไหม บอกเขาไป เตือนเขาไปแล้วเขาข่มกลับ เราวางใจได้ไหม
คนดีที่เห็นต่าง – เป็นโจทย์ที่ยากกว่าคนทั่วไป เช่นการนำคำพูดของคนที่ปฏิบัติดี มีชื่อเสียง น่าเคารพ น่านับถือมาอ้างอิง ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่เราเชื่อและปฏิบัติอยู่ จะทำอย่างไรในเมื่อคุณความดีของเราก็สู้เขาไม่ได้ เราจะทุกข์ทรมานจากความยึดดีไหม เราจะแสวงหาคำตอบเหล่านั้นไหม เราจะอึดอัดขัดเคืองกับการไม่สามารถโต้แย้งใดๆได้หรือไม่ เพราะบางครั้งมันก็ไม่สมควรไปโต้แย้งในบางประเด็น เราจะวางใจได้หรือไม่ ลองพิจารณาทบทวนตามที่เขาว่าได้ไหม สำรวจตัวเองอีกครั้งได้ไหมว่าสิ่งที่เราคิดและทำอยู่นั้น เราถูกจริงดีจริงเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ แม้จะมีคนดีที่เห็นต่าง เราจะยังมั่นคงอยู่ในคุณความดีที่เราทำได้จริงได้หรือไม่
คนดีที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยบางประเด็น – เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดก็คือการที่คนดีที่เห็นตรงกันแล้วมาเห็นต่างกันในบางประเด็นนี่แหละ โจทย์นี้จะวัดความยึดดีถือดีของเราได้อย่างรุนแรงที่สุด ในเมื่อเขาก็เห็นอย่างเรา และปฏิบัติได้อย่างเรา แต่มีบางประเด็นที่เห็นต่างกันไป เราจะยอมรับได้ไหม เราจะยินดีฟังไหม เราจะยึดว่าของเราดีกว่าของเขา จนไม่ฟังไหม คนดีที่เห็นตรงกันจะแนะนำสิ่งที่แตกต่างกันด้วยความหวังดี เรียกว่าการชี้ขุมทรัพย์ให้กัน แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะยอมรับ เพราะชี้ผิดก็มี ชี้ถูกก็มี ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วยิ่งคนดีมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งยึดดี อย่าคิดว่าคนดีจะวางดีกันง่ายๆ ยิ่งเก่ง ยิ่งสะสมบารมีมากก็จะยึดมั่นถือมั่นมากเป็นธรรมดา ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งล้างความยึดมั่นถือมั่นในความดีนี้
5). การเรียนรู้โลกจากบททดสอบ
เราสามารถเรียนรู้ได้จากทุกอย่างที่ประดังเข้ามาหาเรา ถ้าเขาติมาเราก็ฟังไว้ จะได้นำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขจุดบกพร่อง จุดที่คนถือสา จุดที่เป็นอกุศล ฯลฯ การที่จะมีคนมาช่วยชี้ช่วยบอกจุดบกพร่องของเรานี่ไม่ง่ายนะ เขามาทำให้ฟรีๆ ไม่ต้องจ้าง ต้องขอบคุณเขา ส่วนที่เราเป็นสุขเป็นทุกข์ เราก็กลับมาล้างใจของเรา
6). การขัดเกลาจิตใจตนเองให้ดียิ่งขึ้น
การที่คนเห็นต่างเข้ามาแนะนำ ติชม ด่า ว่า เหน็บแนม ประชด ดูถูก ฯลฯ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากในการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นคนดียิ่งขึ้นได้ เพื่อให้เราได้นำสิ่งกระทบเหล่านั้นเข้ามาตรวจสอบว่า เราโกรธหรือไม่ เราไม่ชอบใจหรือไม่ เราขุ่นใจหรือไม่ ใจเราสั่นไหวหรือไม่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร แล้วจะกำจัดอาการเหล่านั้นได้อย่างไร การชมเชย และการให้กำลังใจก็เช่นกัน เราอิ่มใจ ฟูขึ้นในใจหรือไม่ เราลอยหรือไม่ เราเหลิงหรือไม่ เราหลงไปในคำชมเหล่านั้นหรือไม่ ทั้งนินทาและสรรเสริญนี้เองจะเป็นสิ่งที่เข้ามาเป็นวัตถุดิบในการขัดเกลาจิตใจของเรา
7). ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น
เป้าหมายของการขัดเกลาจิตใจคือการทำดีด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเกิดผลดี ซึ่งจะต้องเกิดจากการทำดีอย่างเต็มที่เท่าที่จะมีกำลังพอจะทำได้ แล้ววางผลที่จะเกิดขึ้นนั้นให้ได้ เรามุ่งเน้นการทำดี แต่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผล เพราะผลเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก
การปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นที่ยากที่สุดคือการปล่อยวางการยึดในบทบาทและหน้าที่ เพราะเรานั้นไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า เราช่วยทุกคนไม่ได้ หากเรายังยึดว่าเราจะต้องช่วยสัตว์ ช่วยทุกคนให้พ้นจากการเบียดเบียน เราเองจะเป็นคนที่ไม่พ้นไปจากทุกข์
การทำดีโดยที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวกูของกู จะเป็นการทำดีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะเป็นการทำดีที่พร้อมจะวางดีทุกเมื่อ พร้อมจะพังได้ทุกเมื่อ เมื่อไม่ยึดมั่น ก็ไม่ทุกข์ ไม่ท้อถอย พร้อมจะล้มและพร้อมจะลุกเดินหน้าทำดีต่อไปอีก เป็นคนดีที่เป็นอมตะ ไม่มีวันตายไปจากความดี พร้อมจะทำดีโดยไม่มีเงื่อนไขให้ใจต้องเป็นทุกข์
– – – – – – – – – – – – – – –
9.8.2558