Tag: การชำระกิเลส

6 ปีก่อนนั้น

December 14, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 808 views 0

มีเพื่อนเก่าทักมา cap หน้าจอที่คุยกันเมื่อ 6 ปีก่อน สมัยนั้นผมยังใฝ่หาเมียอยู่เลย…

นึกย้อนไปมันก็ไม่น่าเชื่อสำหรับชีวิตที่พลิกมาขนาดนี้ ความกังวลหลาย ๆ อย่างในชีวิตหายไป โดยเฉพาะเรื่องคู่นี่แหละ

วิธีปฏิบัติแบบพุทธนี่มันวิเศษจริง ๆ ไม่มีความรู้ใดในโลกหรอกที่จะทำให้ความอยากมันจางคลายจนหายไปได้จริงแบบนี้

ชีวิตเก่ามันเหมือนฝันนะ ฝันโง่ ๆ เหมือนเราหลงกำขี้ขึ้นมาดมแล้วหลงว่ามันหอมชื่นใจนั่นแหละ

การเป็นคนโสดแบบพุทธนี่มันไม่ได้ง่ายแค่คิดว่าจะเป็นโสด หรือแค่อยู่เป็นโสดได้หรอกนะ มันต้องรบกับกิเลสเรื่องคู่ให้ชนะเสียก่อนมันถึงจะโสดยั่งยืนยาวนานถาวรและเที่ยงแท้ได้

จากสมัยก่อนต้องหาเมีย พอปฏิบัติธรรมเข้มขึ้น ไม่ต้องหาหรอก เขาจะเข้ามาเอง เข้ามาเพื่อปราบเรานั่นแหละ จะมีทั้งดี ทั้งสวย ทั้งรวย ทั้งเก่ง อย่างที่ไม่เคยคิดว่าในชีวิตจะได้เจอกับคนแบบนี้

เรียกว่าใส่พานมาให้เลย แค่เราหยิบมากินเท่านั้นแหละ … แต่ดีนะ ยังรู้ทันว่านั่นมันขี้ ก็เลยไม่เอาไง เกือบไปแล้วเหมือนกัน พอรู้แล้ว ใครเขาจะหลงเอาขี้ใส่ปากเล่า มันก็มีแต่คนโง่เท่านั้นแหละ

นั่นแหละ 6 ปีก่อนก็โง่แบบนั้นแหละ สมัยยังปฏิบัติธรรมมิจฉา ตามครูบาอาจารย์ที่สอนมั่ว ๆ พูดธรรมแบบโก้ ๆ ดูดี ๆ แต่มันก็ไม่มีมรรคผลไง กิเลสมันก็โตไปเรื่อย ๆ

มาตอนนี้เป็นไง เจออาจารย์หมอเขียว เจอพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ก็เสร็จเลย ชีวิตก็สบายขึ้น ไม่ต้องโง่งมงาย หาเรื่องวุ่น เรื่องเมา เรื่องเน่าเหม็นใส่ตนเอง อย่างน้อย ๆ ก็ได้เรื่องอยู่เป็นโสดนี่แหละนะ นับแค่เรื่องนี้ก็คุ้มแล้ว

บอกเป็นกำลังใจให้เพื่อน ๆ ที่ตั้งใจปฏิบัติตนเพื่อความเป็นโสดอย่างยั่งยืน ผมใช้เวลาทั้งหมด 2 ปี ในการชำระกิเลสเรื่องอยากมีคู่ ดังนั้นอย่าประมาท อย่าไปคิดว่ามันง่าย เพราะมันยาก มันไม่ใช่ฐานศีล 5 แค่ศีล 5 ทั่วไปเอากิเลสเรื่องนี้ไม่อยู่ครับ

บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ

October 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,768 views 1

บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ

บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ

เป็นอีกหนึ่งประเด็นในปัจจุบันที่ยังมีข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งว่าการที่เราไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นบุญจริงหรือไม่ แล้วจะเป็นบุญได้อย่างไร และที่สำคัญ “บุญ” คืออะไร?

บุญนั้นเป็นศัพท์เฉพาะของศาสนาพุทธ บุญไม่ใช่กุศล(ความดี) แต่บุญคือการชำระกิเลส และการชำระกิเลสนั้นมีเพียงความรู้ในศาสนาพุทธเท่านั้นที่จะทำได้ และที่สำคัญความรู้เหล่านั้นต้องเป็น “สัมมาทิฏฐิ

หากเว้นจาก “สัมมาทิฏฐิ” แล้ว บุญหรือการชำระกิเลสนั้นไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นมาได้เลย ถึงจะทำดีแค่ไหนก็อยู่ในขอบเขตของกุศล แต่ไม่เป็นบุญ เพราะการทำดีนั้นไม่ได้หมายความว่าจะชำระกิเลสได้ การทำดี(กุศล) ไม่ว่าศาสนาไหนต่างก็สอนให้ทำดีเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งจะมีคำสอนแตกต่างกันไป แต่พุทธนั้นมุ่งเน้นการหยุดบาปเสียก่อนเป็นอันดับแรก บาปนั้นคือกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง และสิ่งที่จะมาชำระบาปเหล่านั้นก็คือ “บุญ

ซึ่งการชำระกิเลสของพุทธนั้นเป็นเรื่องที่มีขั้นตอน เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย มิใช่แค่เพียงตั้งใจทำตนเป็นคนดี ทำทาน มีน้ำใจ เสียสละเท่านั้น แต่ต้องลงไปกำจัดความหลงติดหลงยึดที่มีในจิตใจ การทำลายความหลงได้โดยลำดับนั้นเองที่เรียกว่า “บุญ

สัมมาทิฏฐิ

คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วจะเห็นอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ จะยกสัมมาทิฏฐิ ข้อ ๑ ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง คือ “ทานที่ให้แล้วมีผล” (อัตถิ ทินนัง) มีผลอย่างไร ทำอย่างไรจึงเรียกว่ามีผล เป้าหมายเดียวของของศาสนาพุทธนั้นคือทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง นั่นหมายความว่า ทานที่ทำไปแล้วนั้นต้องมีผลในการลดกิเลสจึงจะสัมมาทิฏฐิ ถ้าทานใดทำแล้วไม่มีผลลดกิเลส ก็ไม่เรียกว่ามีผล ไม่เป็นบุญ แต่ก็มีกุศลตามกรรมที่ทำไป

ไม่ใช่ว่าการทำทานทุกครั้งจะลดกิเลสได้ ส่วนใหญ่ทำทานไปก็เพิ่มกิเลส เพิ่มความหลงติดหลงยึดไปด้วยซ้ำ เช่น ทำทานไปแล้วก็ขอให้ฉันได้แบบนั้นแบบนี้ หรืออย่างน้อยๆก็ขอให้ฉันได้ความสุข ได้ทำความดี ได้เป็นคนดี แต่ก็ไม่ได้มีการลดความตระหนี่ถี่เหนียวที่เป็นกิเลสในใจลงไปเลย ทานนั้นจึงยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทำแล้วไม่มีผล (นัตถิ ทินนัง)

บุญกิริยาวัตถุ

หมายถึงเราจะสามารถทำให้เกิดบุญ (ชำระกิเลส) ด้วยกันทั้งหมด ๑๐ วิธี ซึ่งในการไม่กินเนื้อสัตว์นี้เอง จะถูกจัดอยู่ในหมวดของทาน (ทานมัย) คือการสละ ซึ่งการสละในที่นี้อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องเงินทอง วัตถุสิ่งของ แต่สามารถสละโอกาส สละสิทธิ์ สละเวลา สละสิ่งใดๆก็ตามที่เรามีโอกาสในการครอบครองให้ผู้อื่น

ซึ่งการไม่กินเนื้อสัตว์ก็คือการสละสิทธิ์ในการกินเนื้อสัตว์ เขามีเงินซื้อนะ หรือมีคนเอามาให้ด้วย เขาได้รับมาโดยชอบธรรม แต่เขาสละออก เขาไม่เอาไว้บำเรอตน เขาเอาคืนให้คนอื่น ซึ่งการสละตั้งแต่แรกก็คือการไม่เลือกที่จะกินเนื้อสัตว์เลย เหมือนกับแม่ที่สละสิทธิ์ในอาหารที่น่าอร่อยชิ้นหนึ่ง เพื่อเก็บไว้ให้ลูกของตน ส่วนตนเองยอมไม่กิน เพราะหวังจะให้ลูกของตนได้กินอาหารชิ้นนั้น จึงยอมสละสิทธิ์ในอาหารชิ้นที่ตนควรจะได้นั้น ทั้งๆที่กินไปก็ไม่มีใครรู้ กระบวนการนี้เรียกว่าทานเช่นกัน (สละความเห็นแก่ตัวออกไป)

แต่กระบวนการข้างต้นอาจจะไม่เป็น “บุญ” เลยก็ได้ เพราะ การเกิดบุญ (ชำระกิเลส) ได้นั้นต้องมีความเห็นที่ถูกตรง เห็นอะไร คือเห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติสู่การดับทุกข์ ในกรณีที่ยกตัวอย่างข้างต้น จะไม่เป็นบุญถ้าคุณแม่คนนั้น มีจิตลำเอียง รักใคร่ในลูกตนจนเกิดความเสียสละซ้อนขึ้นมา “อยาก” ให้ลูกได้กินของอร่อย ก็เรียกว่าการเสียสละธรรมดา เป็นคนดีตามที่โลกเข้าใจ แต่ไม่เป็นบุญเพราะไม่ได้มีการชำระกิเลส

ซึ่งถ้าจะให้เกิดบุญ ต้องมีรายละเอียดของจิต เช่น เห็นความอยากกินอาหารชิ้นนั้นของตน แล้วชัดเจนว่าเราไปติดกิเลสตัวไหน รูป รส กลิ่น สัมผัส? เมื่อเห็นว่าเราหลงติดหลงยึดในอาหารอาหารชิ้นนั้นแล้ว จะเลือกต่อต้านกิเลส โดยการสละออกก็ได้ คือไม่ให้อาหารกิเลส ไม่ตามใจกิเลส ต่อต้านกิเลส ใช้ตบะเผากิเลส ขัดขืน แข็งข้อ เช่นนี้จึงเรียกว่าเป็นบุญ คือสามารถชำระกิเลสได้โดยลำดับ ส่วนผลจะเป็นอย่างไร จะเก็บไว้ให้ลูกหรือจะเอาให้คนอื่นก็จะต้องพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจจะไปติดกิเลสอีกตัวเช่นรักลูกตนจนไม่เผื่อแผ่คนที่ขาด เป็นต้น

บุญกิริยาวัตถุนั้นมีทั้งหมด ๑๐ ข้อ ทุกข้อสามารถปฏิบัติจนเกิดเป็นบุญหรือการชำระกิเลสได้ทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่าต้องสัมมาทิฏฐิ ถ้าทำทุกกิจกรรมแบบมิจฉาทิฏฐิก็ไม่เกิดบุญ ไม่มีการชำระกิเลสใดๆ

การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นบุญอย่างไร

ดังที่ยกตัวอย่างมาในข้อก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นี้เอง เป็นการสละสิทธิโดยชอบธรรมที่สังคมเข้าใจว่าทุกคนกินเนื้อสัตว์ได้ไม่ผิดอะไร แต่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์นั้นกลับเลือกที่จะสละสิทธิ์ที่ควรได้นั้น ไม่รับสิทธิ์นั้น แม้ว่าในทุกวันนี้ใครจะกินเนื้อสัตว์ยังไง แบบไหน เท่าไหร่ ก็ไม่มีใครสนใจ แต่ผู้ที่ไม่กินนั้นก็เลือกสละโอกาสนั้นทิ้งไปด้วยเหตุผลอันเป็นกุศลตามที่เขาเข้าใจ

เช่นเดียวกับตัวอย่างที่ยกมาก่อนหน้านี้ การไม่กินเนื้อสัตว์จะเป็นบุญก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ไม่กินนั้นว่าจะสามารถเข้าใจอย่างสัมมาทิฏฐิหรือไม่ ถ้าเข้าใจถูกก็เป็นบุญ (เกิดการชำระกิเลส) ถ้าเข้าใจไม่ถูกก็เป็นกุศล เป็นความดี เพราะเกิดการเสียสละซึ่งมีผลเจริญเช่นกัน เรียกได้ว่าแม้จะเข้าใจถูกหรือไม่เข้าใจก็มีผลดีทั้งนั้น

กรณีของการกินที่ไม่เป็นบุญ ไม่มีการชำระกิเลส คือการกินด้วยความเห็นว่าดี เป็นการเสียสละ ละเว้นชีวิตสัตว์ เพื่อสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นสิ่งดี แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำกันโดยทั่วไป ศาสนาหรือความเชื่อใดก็สามารถมีความเห็นเช่นนี้และสามารถละเว้นการกินเนื้อสัตว์ได้อย่างบริสุทธิ์ด้วยความมุ่งมั่นในการทำดีเหล่านี้

แต่ในกรณีของพุทธนั้นต่างออกไป ศาสนาพุทธพุ่งเป้าที่การชำระกิเลสในสันดานให้ออกจนหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สนใจโลก ยกตัวอย่างง่ายๆ คือพุทธนั้นจะขุดลงไปที่รากของปัญหาคือกิเลสก่อน แล้วค่อยวกกลับมาใช้ความเห็นที่เป็นกุศลต่างๆดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไปนั้น ทำความเห็นให้ตรงและปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ซึ่งผลสุดท้ายของการปฏิบัติแบบพุทธนั้นมีภาพออกมาจะคล้ายๆกับคนไม่กินเนื้อสัตว์ทั่วไป

ยกตัวอย่างเช่น เรามีความอยากกินเนื้อสัตว์ เรารู้สึกถึงร่างกายที่แสดงอาการเมื่ออยากเนื้อสัตว์ หงุดหงิด งุ่นง่าน อยากจะได้เนื้อสัตว์มาเสพ รู้สึกว่าตนเองนั้นเป็นทุกข์มากเพราะความอยาก ตรวจลงไปในจิตก็พบว่ามันอยากเสพสัมผัส รส กลิ่น และที่สำคัญคือรูปร่างหน้าตาของเนื้อที่ชวนฝันนั้น เมื่อเห็นดังนั้น จึงใช้ความจริงตามความเป็นจริงเข้ามาต้านพลังกิเลสที่ชวนฝันนั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออยากลิ้มรสก็พิจารณารสเนื้อดิบ เมื่ออยากได้กลิ่นย่างหอมๆก็พิจารณากลิ่นเลือด เมื่ออยากได้สัมผัสนุ่มๆก็ให้พิจารณาสัมผัสเนื้อเน่าจากศพสัตว์ ฯลฯ การพิจารณาอสุภะอย่างหยาบนี้จะช่วยลดความอยากที่รุนแรงลงมาได้

ข้อพิจารณาดังกล่าวนั้นเป็นเบื้องต้นเพื่อลดความกระหายอยากให้สงบลง ซึ่งเรื่องที่ควรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณานั้นจะต้องเป็นเรื่องที่ค้านแย้งกับสิ่งที่ติด แล้วค่อยๆพิจารณาลงไปถึงกรรมและผลของกรรมหากยังติดเนื้อสัตว์นั้น ความเป็นประโยชน์หากออกจากความอยากนั้น ความเป็นโทษถ้ายังหลงอยู่ในความอยากนั้น รวมทั้งพิจารณาไตรลักษณ์ คือความสุขจากการกินเนื้อนั้นไม่เที่ยง ความอยากกินเนื้อเป็นทุกข์ และความสุขจากการกินเนื้อไม่มีตัวตนอยู่จริง เราปั้นรสสุขและความทุกข์เหล่านั้นขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาหลอกตัวเองจนหลงคิดไปเองว่ามันมีจริง ทั้งที่จริงแล้วรสสุขเมื่อได้เสพเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องจริง พิจารณาไปจนรอบถ้วนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใคร่ครวญธรรมไปเรื่อยๆ จะสามารถลด “ความอยาก” ได้ ทำให้ความอยากนั้นจางคลายและดับไปได้

ในสภาวะสุดท้ายคือจิตนั้นแนบแน่นแนบเนียนไปตามไตรลักษณ์ คือเห็นเป็นเช่นนั้นจริงๆโดยไม่สงสัยใดๆอีก หมดความหลงในเนื้อสัตว์ เพราะรู้แจ้งชัดเจนในตนเองว่าแท้จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ถึงจะไปเสพก็ไม่มีสุขหรือทุกข์ที่เกิดจากแรงของกิเลสเกิดขึ้นอีก ไม่มีทั้งรักทั้งชัง ไม่มีผลักไม่มีดูด หมดสิ้นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน ถือเป็นการสิ้นสุดภารกิจของการชำระกิเลสในเรื่องนั้น ซึ่งจะเกิดบุญโดยลำดับไปจนกระทั่งปฏิบัติไปถึงในตอนสุดท้ายจะเรียกว่า “สิ้นบุญสิ้นบาป” หมายถึง หมดหน้าที่ของบุญ คือไม่มีกิเลส(บาป)ให้ชำระในเรื่องนั้นๆอีกต่อไปแล้ว แล้วก็ไปปฏิบัติธรรมเรื่องอื่นต่อเช่น ขนม ของหวาน ฯลฯ

ดังจะเห็นแล้วว่า การปฏิบัติให้เกิดบุญหรือการชำระกิเลส มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ละเอียด ลึกซึ้ง ตั้งแต่การกำหนดรู้อาการของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเอง การอ่านเวทนา การรู้จิตว่าปนเปื้อนไปด้วยกิเลสใด จนถึงการสร้างธรรมให้เจริญขึ้นในตนจนหมดความหลงติดหลงยึดในสิ่งนั้น สามารถไม่กินเนื้อสัตว์ได้อย่างปกติ นี่คือการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา

สรุปเกี่ยวกับข้อคิดเห็นที่ว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญ

ในเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์นี้ จะเป็นบุญหรือไม่เป็นบุญก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ปฏิบัติ ผู้ที่มีความเห็นที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ (สัมมาทิฎฐิ) ไม่ว่าจะคิด พูด ทำสิ่งใดก็ตาม ก็จะเป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อการชำระกิเลส นั่นหมายถึงเป็นบุญ ส่วนผู้ที่มีความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ทำให้ตายยังไงก็ไม่เป็นบุญ เพราะไม่เข้าใจว่า “บุญคืออะไร”…

– – – – – – – – – – – – – – –

15.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

July 31, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,883 views 1

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

หากเราจะกล่าวกันถึงเรื่องลดกิเลสนั้น ก็เป็นเสมือนเรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ถูกลืมไปแล้วในสังคมพุทธบ้านเรา

เรามักจะมองเห็นการทำดีที่เป็นรูปธรรมได้ชัดเจน ใครทำดีก็ทำไปตามที่สังคมเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี แต่การลดกิเลสกลับเป็นเรื่องที่ดูมีคุณค่าน้อย ดูเป็นเรื่องอุดมคติ มองไม่เห็น วัดไม่ได้ ไม่เหมือนการทำดีตามสังคมนิยมทั่วไปที่เห็นภาพกันได้ชัดเจนเลยว่าใครทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร…

(ต้องขออภัยที่ในบทความนี้ต้องยกตัวอย่างการปล่อยปลา ซึ่งผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาให้กระทบใคร การปล่อยปลาช่วยเหลือปลาก็เป็นสิ่งดีถ้าปลานั้นได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์เป็นสิ่งที่ดีสามารถทำได้ เป็นสิ่งที่เป็นกุศล แต่กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนับสนุนในการซื้อขายชีวิตสัตว์เพราะเป็นมิจฉาวณิชชาหรือการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ)

หากเราจะเปรียบเทียบการทำดีในมุมที่สังคมเข้าใจกับการลดกิเลส ก็จะยกตัวอย่างในกรณีการปล่อยปลา คนที่คิดว่าการปล่อยปลาดีนั้น เขาก็จะนำปลามาปล่อย ปล่อยตัวเดียวคนก็ยินดีประมาณหนึ่ง ปล่อยเป็นล้านตัวคนก็ร่วมยินดีกันยกใหญ่ เข้าใจตามประสาสังคมว่าเป็นบุญใหญ่ ความดีแบบนี้มันเห็นได้ง่าย ผู้คนเข้าใจ ร่วมยินดี ให้ความเคารพ

แต่ถ้ามาเรื่องลดกิเลส เราอาจจะไม่ได้ซื้อหรือหาปลามาปล่อยลงแม่น้ำเหมือนคนอื่นเขา แต่เราปล่อยให้ปลาใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติของมัน ไม่ซื้อ ไม่จับ ไม่กินมัน คือละเว้นการกินเนื้อปลาตลอดชีวิตเพราะรู้ว่าความอยากกินเนื้อปลานั้นยังผลให้ต้องเบียดเบียนปลา และเบียดเบียนตนเองด้วยอกุศลกรรมและทุกข์จากความอยากกิน สุดท้ายจึงกลายเป็นคนที่ไม่กินปลา

ความดีที่เห็นและที่เป็น

หากจะถามว่าเราสามารถเห็นความดีแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว เขาไม่มาสนใจคนที่เลิกกินเนื้อปลาหรอก เพราะมันเป็นรูปธรรม มันชัดเจน เข้าใจง่าย

แต่หากจะถามว่าอะไรเป็นความดีมากกว่า ก็ต้องตอบว่าการลดกิเลส เพราะการลดความอยากได้นั้นคือการปฏิบัติสู่หนทางสู่การพ้นทุกข์ การทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงเป็นเป้าหมายของศาสนาพุทธ แม้จะทำได้แค่เรื่องเดียวก็เป็นเรื่องที่มีกุศลมากแล้ว เป็นความดีมากแล้ว

ความชั่วที่เห็น

หากจะถามว่าเราจะเห็นสิ่งชั่วแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว คนที่ช่างสังเกตก็จะมองว่าแล้วหาปลามาจากไหน จับมาหรือเพาะพันธุ์มา แล้วจะทำให้ระบบนิเวศเสียไหม แล้วทำไมไม่เลิกกินปลาเสียเลย เห็นบางคนปล่อยปลาแล้วก็ไปกินปลาต่อ ซึ่งการทำดีแบบโลกๆก็คงจะหนีไม่พ้นสรรเสริญและนินทา

ส่วนการทำลายความอยากจะไม่สามารถเห็นสิ่งชั่วได้เลย เพราะไม่ไปเบียดเบียนให้มันชั่ว ไม่ยุ่งกับสัตว์อื่นให้ต้องมีอกุศลกรรมใดๆ แม้จะไม่ได้ดีโดดเด่นอะไร แต่เพียงแค่ไม่มีชั่วปนอยู่เลยก็เพียงพอแล้ว และไม่ต้องได้รับสรรเสริญนินทามาก จนเสี่ยงต่อการเกิดสิ่งชั่วขึ้นอีก

ความจริงที่ปรากฏ

การปล่อยปลา หรือการทำดีที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเช่น การสละทรัพย์สร้างวัตถุ การสละแรงงาน ฯลฯ เหล่านั้นมีความไม่แน่นอน นั่นหมายถึงไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา อาจจะมีเหตุปัจจัยให้ทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ ดังนั้นการทำความดีตามที่โลกเข้าใจนั้น ยังมีข้อจำกัดที่มาก ไม่สามารถทำได้ทุกวัน

แต่การละเว้นปลานั้น เป็นความดีที่ทำได้ทุกวัน ทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะคนที่ทำลายกิเลสได้จริง เขาก็จะดีของเขาไปทุกวันเช่นนั้น ไม่ต้องรอโอกาส ไม่ต้องมีเวลาพิเศษ ไม่ต้องสละทรัพย์ใดๆเพื่อความดี แต่เป็นการสละกิเลสเพื่อความดี ความดีก็จะคงอยู่กับตัวเขาไปเช่นนั้น ทุกวัน ทุกเวลา และสามารถละเว้นสิ่งอื่นๆได้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความดีในตนสะสมไปอีก

ความจริงตามความเป็นจริง

หากเอาความดีตามที่โลกเข้าใจนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องทางรูปธรรม เข้าวัด ปล่อยปลา ทำทาน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สร้างวัด ฯลฯ แต่ในทางพุทธศาสนาแล้ว เราไม่ได้มุ่งเน้นด้านวัตถุหรือรูปธรรมมากนัก แต่จะเน้นหนักไปทางด้านจิตใจหรือเรื่องนามธรรมเป็นส่วนใหญ่

ความดีสูงสุดที่มนุษย์ควรจะกระทำคือการชำระกิเลส การปฏิบัติตนให้พ้นจากกิเลส ที่เป็นเหตุแห่งความชั่วทั้งปวง ดั้งนั้นความเป็นพุทธจึงไม่ได้มุ่งเน้นการทำดีเป็นอันดับแรก แต่เอาการหยุดชั่วมาเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์สมควรทำ การจะหยุดชั่วได้นั้น จะต้องหยุดที่กิเลส ถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็จะยังชั่วอยู่ เมื่อหยุดชั่วได้หมดก็จะเป็นความดีไปในตัว แต่กระนั้นท่านก็มิได้บอกให้หยุดชั่วแล้วอยู่เฉยๆ แต่ให้เพียรทำดีด้วย คือสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นไปด้วย สุดท้ายแล้วคือหมั่นทำจิตใจของตนให้ผ่องใสจากกิเลสอื่นๆที่ยังหมักหมมในจิตใจให้หมดสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความหมายของบุญ

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,029 views 0

บุญ

บุญ

บุญ…ไม่ใช่การได้มาหรือการสะสม

บุญ…คือการสละออก

ชำระกิเลสออกจากใจ

……………………………….

คำว่า “บุญ” ในทุกวันนี้ถูกใช้งานอย่างสะเปะสะปะจนมีความหมายที่ทำให้ชวนงง กลายเป็น ทานบ้าง กลายเป็นกุศลบ้าง กลายเป็นกรรมบ้าง กลายเป็นอานิสงส์บ้าง

แต่ก็ยังมีบ้างที่แปลคำว่าบุญ ว่าเป็นการชำระกิเลสในสันดาน เป็นการขจัดกิเลสออก แต่นั่นก็เป็นเพียงสัญญาที่จำภาษาได้เท่านั้น เวลาใช้กันจริงกลับเอาคำว่าบุญไปใช้แทนกุศลกรรมบ้าง ไปแทนทานบ้าง ไปแทนคำอื่นๆจนผิดนิยาม ผิดธรรมกันไปหมดเปรียบเหมือนว่ารู้จักว่าสิ่งนี้คือจอบ เรียนรู้มาว่าจอบเอาไว้ขุดดิน แต่ถึงเวลาใช้จริงกลับเอาจอบไปตักน้ำ สรุปคือในทางทฤษฏีถูก แต่ในทางปฏิบัติผิด

เมื่อบุญถูกให้ความหมายผิด แล้วการปฏิบัตินั้นจะเป็นบุญแท้จริงได้อย่างไร? เมื่อเรายึดเอาสิ่งที่เข้าใจนั้นเป็นหลักแล้ว บันทึกลงเป็นสัญญาแล้ว แต่สัญญานั้นผิดไปจากสัจจะ แม้มันจะถูกตามสมมุติที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่มันผิดไปจากทางพ้นทุกข์ เรายังจะยึดมั่นถือมั่นในสัญญาเดิมอยู่อีกหรือ? ในเมื่อคนส่วนใหญ่เขาก็เข้าใจเช่นนั้นแต่ก็ไม่ได้พ้นทุกข์

บุญคือการชำระกิเลสออก ไม่ใช่การสะสมหรือได้อะไรมาเลย มีแต่นำออกไป เสียกิเลสออกไปจากตัวเรา สละความชั่วออก ส่วนความดีจะเรียกว่ากุศล ทำดีแล้วเก็บสะสมผลดีไว้เรียกว่ากุศลกรรม การทำทานครั้งหนึ่งอาจจะเกิดกุศลแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดบุญ เพราะบุญต้องชำระกิเลส ทานใดที่ไม่ได้มีผลในการชำระกิเลสก็ไม่เกิดบุญ ยิ่งการทำทานโดยหวังจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญก็จะทำให้เกิดบาป หรือเกิดกิเลสด้วยซ้ำ

ถึงแม้จะทำทานด้วยใจบาป ก็ยังมีกุศลอยู่บ้างในส่วนที่ทำ แต่ก็มีอกุศลในส่วนของจิตที่เป็นบาป และก็มีอานิสงส์หรือประโยชน์ที่จะเกิดตามธรรมต่อไปแต่บุญนั้นไม่เกิดขึ้นเลย

– – – – – – – – – – – – – – –

4.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)