Tag: กาม

มังสวิรัติทางสายกลาง การปฏิบัติธรรมด้วยการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยเว้นจากทางสุดโต่งสองด้าน

October 19, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,569 views 0

มังสวิรัติทางสายกลาง

มังสวิรัติทางสายกลาง การปฏิบัติธรรมด้วยการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยเว้นจากทางสุดโต่งสองด้าน

ในสังคมยุคปัจจุบันนี้ การกินมังสวิรัติเป็นสิ่งที่เข้าใจและรับรู้กันโดยทั่วไปว่า เพื่อสุขภาพ เพื่อละเว้นชีวิตสัตว์ เพื่อความไม่เบียดเบียน เพื่อกุศล นั่นก็เป็นความรู้ความเข้าใจที่มีทิศทางไปในด้านบวก ด้านที่เจริญ ซึ่งก็ดีอยู่แล้ว แต่แท้ที่จริงแล้วการกินมังสวิรัติยังมีประโยชน์มากกว่านั้น ยังมีสาระสำคัญมากกว่านั้น หากเราเข้าใจการกินมังสวิรัติเพื่อการปฏิบัติธรรม

แผนที่การเดินทางที่จะทำให้เราไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้นก็คือทางสายกลาง เป็นทางเดียวที่จะพาพ้นจากทุกข์ และเช่นเดียวกับการกินมังสวิรัติ หากเราต้องการกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืน มีแค่ทางนี้ทางเดียวคือเราจะต้องเป็น “มังสวิรัติทางสายกลาง

ทางสายกลางคืออะไร?

ทางสายกลางนั้นคือมรรควิถี คือสัมมาอริยมรรค แต่การจะเดินไปบนเส้นทางสายกลางนั้นไม่ง่าย ไม่ใช่เพียงแค่คิด ไม่ใช่เพียงแค่ท่องจำ ไม่ใช่เพียงแค่รู้ ไม่ใช่เพียงแค่เข้าใจ ไม่ใช่เพียงแค่เพ้อฝันเอาเองว่ากำลังเดินบนทางสายกลางแต่ต้องพากเพียรปฏิบัติจนถึงผลนั้น

การจะมาสู่ทางสายกลางนั้น เราต้องต้องเว้นจากทางโต่งทั้งสองด้านเสียก่อน เหมือนกับคนเมาที่เดินเซไปเซมา ซ้ายทีขวาที เราเองก็เช่นกัน ถ้าเรายังเป็นคนที่หลงมัวเมาอยู่ในกิเลส เราก็จะเดินหลงไปทางโต่ง ไม่ด้านในก็ด้านหนึ่ง สลับกันไปมา ไม่สามารถเดินตรงได้สักที

การจะบอกว่าตนเองนั้นหลงมัวเมาอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโดยส่วนมากคนที่หลงมัวเมาก็จะไม่รู้ว่าตัวเองมัวเมา หรือหลงยึดหลงติดอยู่กับอะไร ดังนั้นการนำศีลเข้าไปปฏิบัติจะทำให้เราได้เห็นขอบเขตการมัวเมาของเรา เหมือนกับเอาเชือกมากั้นไว้ไม่ให้เดินออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งการกินมังสวิรัติก็เป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้เราได้เห็นความมัวเมาลุ่มหลงในทางโต่งสองด้านนั่นเอง

ทางโต่งสองด้าน

ด้านกาม หรือ กามสุขลิกะ …คือการโต่งไปในทางการเสพ ในกรณีมังสวิรัติ นั่นคือการที่เรายังไปกินเนื้อสัตว์อยู่ ไม่ว่าจะในกรณีใดๆก็ตาม หากกินด้วยความอยาก ด้วยความอร่อย ด้วยความติดใจในรสชาติของเนื้อสัตว์นั้น ก็หมายถึงการติดกาม เป็นทางโต่งทางหนึ่งที่ควรละเป็นอันดับแรก เพราะจะเกิดการเบียดเบียนผู้อื่นอย่างเป็นรูปธรรม คือการเอาเลือดเอาเนื้อของสัตว์อื่นมาบำรุงกิเลส บำรุงกามของเรา เป็นอกุศล เป็นบาป จึงควรละทางโต่งด้านนี้เสีย

ด้านอัตตา หรือ อัตตกิลมถะ… คือการโต่งไปในทางการทรมานตัวเองด้วยอัตตา ในมุมของผู้ที่ยังยึดติดกับเนื้อสัตว์ ก็จะทรมานตัวเองโดยการกินเนื้อสัตว์ เพราะหลงยึดหลงติดว่าเนื้อสัตว์นั้นมีคุณค่าทางอาหาร หากไม่บริโภคเนื้อสัตว์แล้วจะป่วย จะไม่แข็งแรง เป็นอัตตาที่ยึดไว้ ทำให้ต้องทรมานตัวเองด้วยการกินเนื้อสัตว์

ทรมานอย่างไร? ในเมื่อกินแล้วมีความสุขจากเสพ ..พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ผู้ที่ยังหลงติดหลงยึดในการเบียดเบียนเพราะเข้าใจไปว่าต้องเบียดเบียนเพื่อให้ตัวเองแข็งแรง เพื่อสุขภาพดีนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด ดังนั้นจึงเป็นการทรมานตัวเองด้วยวิบากบาปอันเกิดจากความไม่รู้แจ้งในเรื่องกรรมและผลของกรรม

และเมื่อเรายึดเนื้อสัตว์เป็นอัตตา แม้จะมีผู้รู้ท่านใดมาบอกว่าการยึดนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิเพียงไร คนผู้ยึดอัตตาก็มักจะกอดความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นดี เป็นการทรมานตัวเองไปเรื่อยๆ โดยการกอดกิเลสไว้ไม่ยอมให้ตัวเองพ้นทุกข์

ในอีกมุมหนึ่งของอัตตาคือความยึดดี ถือดี อวดดี มักเกิดขึ้นในผู้ที่สามารถละทางโต่งในด้านกามได้สมบูรณ์แล้ว คือไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้ว ก็จะมีความยึดดี หลงว่าสิ่งที่ตัวทำนั้นดี มักจะเอาความรู้ ความถือตัวไปข่ม ไปเบ่งทับคนที่เขายังไม่สามารถละกิเลสได้ ซึ่งการยึดดีถือดีเหล่านี้ก็เป็นการเบียดเบียนเหมือนกัน สุดท้ายพอไม่ได้ดั่งใจ ไม่สามารถทำให้ใครมากินมังสวิรัติได้อย่างใจ ก็มักจะทุกข์ใจ ขุ่นเคืองใจ เป็นการทรมานตนเองด้วยอัตตา เป็นทุกข์เพราะความยึดดี ถือดี เป็นการเบียดเบียนทั้งคนเองและผู้อื่น มักจะเสพยินดีกับเหตุการณ์ที่ตัวเองคิดว่าต้องเกิดดี พอไม่เกิดดีดังใจหมายก็ทุกข์ก็มักจะทำร้ายตัวเองและผู้อื่นด้วยความยึดดี เป็นการบำรุงอัตตาของเรา เป็นอกุศล เป็นบาป จึงควรละทางโต่งด้านนี้เสียด้วย

…ดังจะเห็นได้ว่า การกินมังสวิรัติทางสายกลางนั้น ไม่ได้หมายถึงการกินเนื้อสัตว์บ้างกินผักบ้าง แต่เป็นการเว้นขาดจากการไปเสพกาม เว้นจากการเสพเนื้อสัตว์ หรือไม่ไปกินเนื้อสัตว์เลย และไม่ทรมานตนเองด้วยอัตตา คือความยึดดี ถือดี ยึดว่าคนอื่นต้องกินผัก เลิกกินเนื้อสัตว์จึงจะเป็นสุข กินมังสวิรัติด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่รังเกียจเนื้อสัตว์ ไม่ได้รักผัก แต่ก็ไม่กินเนื้อสัตว์ และยินดีในการกินผัก

การกินมังสวิรัติทางสายกลางนี้และคือทางเดียวที่จะทำให้ชีวิตตนเองและผู้อื่นเป็นไปด้วยความผาสุก ตัวเราก็ใช้ชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และสามารถเผยแพร่ความรู้ในการกินมังสวิรัติด้วยความเป็นอนัตตา ซึ่งจะทำให้ผู้ที่สนใจสามารถรับฟังและเข้าใจโดยไม่มีความอึดอัดขุ่นเคืองใจ ไม่กดดัน ไม่บังคับ ไม่บีบคั้น เป็นเพียงแค่การเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์ประโยชน์และคุณค่าของการกินมังสวิรัติโดยการปฏิบัติทางสายกลางเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้บงการ ผู้กำกับใดๆ ใครจะกินก็ได้ ไม่กินก็ได้ จะกินมังสวิรัติเฉยๆไม่ปฏิบัติธรรมก็ได้ หรือจะปฏิบัติไปด้วยก็ได้

เมื่อเราปฏิบัติล้างความยึดติดในทางโต่งสองด้านแล้ว เราก็จะเข้าสู่ความผาสุกในชีวิตหรือวิถีแห่งสัมมาอริยมรรคได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นความสุขความเจริญ เป็นคุณค่าที่ถูกสอดร้อยเอาไว้ในการกินมังสวิรัติ ซึ่งการจะเข้าถึงคุณค่าเหล่านี้จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การปฏิบัติธรรม ลด ละ เลิก การเสพการยึดไปตามลำดับนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

October 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,529 views 0

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ : ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

เมื่อเราผ่านพ้นนรกของความอยากเสพเนื้อสัตว์มาแล้ว เราก็จะได้พบกับนรกอีกขุมคือความไม่อยากเสพ เป็นส่วนของกลับของกิเลสทุกตัว เป็นเสมือนหัวหน้าผู้ร้ายที่จะโผล่มาหลังจากผู้ร้ายตัวแรกได้ตายไป

ย้อนรอย…

เล่าย้อนไปถึงตอนที่เราได้สู้กับความอยากกินเนื้อสัตว์ใหม่ๆ เราต้องพากเพียรปฏิบัติ ถือศีลอย่างตั้งมั่น เฝ้าพิจารณาประโยชน์และโทษของสิ่งนั้นเพื่อล้างกิเลส โดยใช้ความทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน กรรมและผลของกรรมเข้ามาช่วยล้างกิเลส จนกระทั่งเราผ่านพ้นความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ด้วยใจที่เป็นสุข

แต่การจะได้มาซึ่งความสุขจากการไม่เสพนั้น เราก็จะได้ความเกลียดเนื้อสัตว์มาด้วย เพราะการจะออกจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราต้องรังเกียจ เห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของสิ่งนั้น เมื่อก้าวผ่านการเสพกามกิเลส(ความอยากกินเนื้อสัตว์) จะเข้ามาสู่การเสพอัตตา(ความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์) คือความยึดดี ถือดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข

ในช่วงที่เรายังเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นก็จะมีอัตตาอยู่หนึ่งชุด เป็นอัตตาในกาม(ความอยากเสพเนื้อสัตว์) หลงยึดว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี อร่อย มีคุณค่า ทำให้แข็งแรง ฯลฯ แต่เมื่อเราทำลายกามแล้ว เราก็จะมาเจออัตตาอีกชุดหนึ่งเหมือนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ คือความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์ ยึดว่าต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะดี กินแต่ผักจึงจะเจริญ หลงติดหลงยึดว่าการเป็นคนดี ติดดี ยึดดี การที่ตนกินมังสวิรัติได้เป็นสิ่งที่เลิศกว่าคนอื่นจนกระทั่งไปข่มเหงผู้อื่นได้ เราจะมาเรียนรู้อัตตาในภาคหลังนี้กัน

อัตตา…

ในตอนที่เราสามารถออกจากนรกแห่งความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ เราก็จะกลายเป็นคนติดดีโดยอัตโนมัติ สายตาจะมองคนที่ยังเสพเนื้อสัตว์ต่างออกไปจากตอนที่เรายังเสพเนื้อสัตว์ มองว่าการเสพเนื้อสัตว์นั้นน่ารังเกียจ มองว่าสังคมต้องไม่เบียดเบียนถึงจะดี มักจะมีอาการรังเกียจทั้งเนื้อสัตว์และคนที่ยังกินเนื้อสัตว์และคนที่สนับสนุนให้กินเนื้อสัตว์

อัตตานี้เองคือกิเลสที่ผลักดันให้คนในสังคมถกเถียงกัน และไม่ได้หมายความว่าคนที่ผ่านนรกเนื้อสัตว์เท่านั้นที่จะมีอัตตา คนกินมังสวิรัติ คนกินเจที่อยู่ในระหว่างการหัดกินก็สามารถมีอัตตาได้ แต่จะไม่แรงเท่ากับคนที่ผ่านความอยากนั้นมาแล้ว

อัตตาคือนรกของคนดี คืออาวุธของคนดีที่ใช้ปราบคนที่เขายังไม่รู้โทษชั่วของการกินเนื้อสัตว์ เหล่าคนดีที่สามารถข้ามความอยากจึงสามารถใช้ท่าที วาจา ถ้อยคำต่างๆไปย่ำยีคนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะตัวเองนั้นเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว จึงไม่มีทางที่คนกินเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะมาโต้กลับได้เลย

อัตตาคืออาวุธที่ร้ายแรง ร้ายกาจ เชือดเฉือนทำลาย ทำร้ายใจคนได้มากที่สุด ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม จะอยู่กันไม่เป็นสุขเพราะคนมีอัตตา ยิ่งเป็นนักมังสวิรัติที่มีอัตตาก็จะยิ่งร้ายกาจ ใช้ความดีเข้าไปทำลาย ทำร้ายจิตใจคนที่เขายังติดในกิเลส ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ ให้เขาเกิดความลำบากใจ อึดอัดขัดข้องใจ รำคาญใจ จนเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันได้

อัตตาไม่ใช่อาวุธที่จะนำไปทำลายกิเลสของคนอื่นได้ เมื่อใช้อัตตาหรือความยึดดีถือดีเข้าไปแนะนำคนอื่น รังแต่จะเพิ่มปัญหา เพิ่มความเจ็บป่วย ทุกข์ร้อน ทรมานให้กับเขา แต่การจะนำความรู้มังสวิรัติไปให้หรือแนะนำคนอื่นนั้น ต้องทำด้วยอนัตตา หรือความไม่มีตัวตน คือไม่มีตัวตนของกิเลส ไม่มีตัวตนของคนดี ไม่มีความยึดดี ไม่ถือดี ไม่จำเป็นต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข

อัตตานอกจากจะทำให้คนอื่นทุกข์แล้วยังทำให้ตัวเองทุกข์อีกด้วย เพราะเมื่อเรามีความยึดมั่นถือมั่นมาก เมื่อคนอื่นทำไม่ได้ดังใจเราหมาย หรือเมื่อเราแนะนำไปแล้วเขาไม่เอา เราก็จะมีอาการอกหักอกพัง เพราะเรายึดว่าเกิดดีจึงจะเป็นสุข พอไม่เกิดดีดังใจเราหมายเราก็จะเป็นทุกข์ ออกอาการได้ตั้งแต่มีอาการขุ่นใจ ไม่พอใจ ว่ากล่าวตักเตือนคนอื่นด้วยอัตตา กระทั่งทะเลาะเบาะแว้งกันได้

อัตตาคือความโง่ที่คนดีแบกไว้ เป็นคนดีที่แบกนรกไว้ทำลายตัวเองและทำลายคนอื่น ทำลายสังคมสิ่งแวดล้อม ทำลายโลก เพราะความติดดีนี้เป็นเหตุแห่งการทะเลาะกัน ไม่ว่าจะคนดีหรือคนไม่ดี หากเกิดการทะเลาะกันแล้วก็คือนรกทั้งคู่ คนดีที่ล้างอัตตาไม่เป็นก็จะหลงว่าตนดี ใช้ความดีทำร้ายทำลายคนอื่น พร้อมทั้งแบกทุกข์จากความไม่สมใจหมาย สะสมกิเลสข้ามภพข้ามชาติต่อไปอีกนานแสนนาน

อัตตาคือเกราะของกิเลสที่พอกตัวตนไว้ ทำให้คนดีไม่สามารถรู้ได้เลยว่าตัวเองนั้นเต็มไปด้วยกิเลส เพราะมัวแต่มองไปยังความไม่ดีของคนอื่น มองไปยังความผิดของคนอื่น ในขณะที่ตัวเองก็สั่งสมความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปเรื่อยๆจนเป็นเกราะหนา จนกระทั่งไม่สามารถมีใครที่จะแนะนำและช่วยเหลือคนดีที่มีอัตตาหนานั้นได้ นั่นเพราะเขาไม่ยอมมองกลับมาในกิเลสของตัวเอง หลงในอัตตาและเชื่อมั่นเสมอว่าตัวเองดี เขาจึงต้องแบกอัตตา แบกตัวตน แบกทุกข์นั้นไปตลอดกาล

การทำลายอัตตา

การทำลายอัตตานั้นก็ใช้กระบวนการเดียวกับการทำลายกิเลสฝั่งกาม(ความอยากเสพเนื้อสัตว์) คือใช้กระบวนการสมถะ-วิปัสสนาเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการทำลายอัตตา โดยอัตตานั้นควรจะใช้ธรรมในพรหมวิหาร๔ เข้ามาร่วมกำจัดความยึดดีถือดีด้วย และใช้กรรมและผลของกรรมช่วยในการพิจารณา รวมกับหลักพิจารณาเดิมของเราคือความเป็นทุกข์ โทษ ภัย ความไม่เที่ยง เราไม่ใช่ตัวตนของกิเลสนั้น ประโยชน์และโทษในการมีอัตตานั้นๆ

การใช้พรหมวิหารเข้ามาช่วยจะทำให้เราสามารถสังเกตอาการติดดีได้ง่ายขึ้น เพราะคนที่มีอัตตา ยึดดี ถือดี จะติดตรงที่ไม่สามารถไปถึงอุเบกขาได้ เมื่อเขากินมังสวิรัติได้ดังหวังเราก็มีจิตยินดี มีความมุทิตากับเขา แต่เมื่อเขากลับไปกินเนื้อสัตว์ สั่งเนื้อสัตว์มากิน หรือเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์ เราก็กลับมีอาการขุ่นข้องหมองใจ แทนที่จะปล่อยวาง เรากลับรู้สึกยินร้าย รู้สึกไม่พอใจที่เขาไปกินเนื้อสัตว์ นั่นคือเราไม่สามารถปฏิบัติจนถึงภาวะอุเบกขาได้

เราต้องเจริญพรหมวิหาร๔ ให้มากจึงจะมีกำลังดับอัตตา สร้างจิตที่เมตตาให้ทั้งสัตว์ที่ต้องเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของคนที่มัวเมาในกิเลส และเมตตาไปถึงคนที่ยังหลงว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี กรุณาโดยการไม่กินเนื้อสัตว์และช่วยสอนให้ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์ได้เห็นโทษของการเบียดเบียน มุทิตาโดยการยินดี เมื่อเขาเหล่านั้นสามารถลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ได้ตามกำลังของเขา และอุเบกขาเมื่อทุกสรรพสิ่งนั้นไม่ได้เป็นไปดังใจหมาย สัตว์ก็ต้องถูกฆ่าเพื่อมาเป็นอาหารอยู่ทุกวัน คนมีกิเลสก็ต้องอยากกินเนื้อสัตว์ เมื่อเราสร้างความเป็นพรหมขึ้นในใจได้ดังนี้แล้วจะช่วยลดอัตตาได้อย่างดี

ในข้อกรรมและผลของกรรมก็ต้องพิจารณาให้มาก สัตว์ที่ถูกฆ่าตายนั้นก็มีกรรมเป็นของเขา เขาทำกรรมนั้นมาจึงต้องเกิดเป็นสัตว์ ต้องถูกขัง ต้องถูกทรมาน สุดท้ายก็ต้องโดนฆ่าเพราะกรรมนั้นเองที่เขาเหล่านั้นทำมา แต่ถูกฆ่าแล้วก็จบไป ได้ใช้กรรมไปหนึ่งเรื่อง สุดท้ายสัตว์เหล่านั้นก็เกิดมาใช้กรรมใหม่จนกว่าจะหมดวิบากอยู่ดี เราน่าจะสงสารและเข้าใจคนที่กินเนื้อสัตว์มากกว่า ว่าพวกเขาล้วนยังไม่เห็นถึงโทษภัยแห่งการเบียดเบียนเขาจึงต้องรับกรรมที่ตนก่อโดยที่ไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่นำโทษภัยมาให้เขาเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” คนที่ยังเบียดเบียนจึงต้องพบกับโรคภัยไข้เจ็บและไม่สามารถมีชีวิตอยู่สร้างกุศลได้นานก็ต้องจากไป

และการที่เราไปมีอัตตานั้นก็กลายเป็นกรรมของเราเช่นกัน การที่เราไปทำร้ายจิตใจคนอื่นด้วยความติดดีเราก็สะสมกรรมชั่วลงในจิตใจของเราไปด้วย นั่นก็คือการเบียดเบียนคนอื่น เมื่อเบียดเบียนคนอื่นก็จะมีโรคมากและอายุสั้น สะท้อนเป็นการเบียดเบียนตัวเองในทีเดียวกัน ดังจะเห็นได้ว่าคนดี หรือคนติดดีนั้นก็สามารถป่วยด้วยโรคร้ายและตายไวกันได้เหมือนคนทั่วไป

เมื่อเราได้พบผู้คนที่ยังไม่เห็นคุณค่าของการกินมังสวิรัติ ให้พึงพิจารณาว่าเราก็เคยเป็นเช่นนั้นมา การที่เราไม่สามารถที่จะสอนหรือแนะนำเขาได้ หรือแม้แต่แนะนำแล้วเขาไม่สนใจ หรือสนใจก็ไม่สามารถที่จะกินมังสวิรัติได้ ความขุ่นข้องหมองใจจากความไม่ประสบความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากกรรมเก่าของเรา เมื่อสมัยที่เรายังหลงมัวเมาในความอยากกินเนื้อสัตว์ในชาติใดชาติหนึ่งอยู่ มีคนมาแนะนำเรา เราก็ดื้อ ไม่เอา ตีทิ้งคนที่มาแนะนำสิ่งดีๆเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเราสามารถปฏิบัติชีวิตมังสวิรัติได้ดี ก็ให้เข้าใจเรื่องกรรมด้วยว่ากว่าที่เราจะมากินมังสวิรัติได้ เราได้เคยทำให้เหล่าคนดีไม่พอใจมาหลายชาติแล้ว ดังนั้นการที่เราจะได้รับความไม่สมใจก็เป็นสิ่งที่สมควรแล้ว เพราะเราสร้างมาเอง

ความเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน หรือการพิจารณาไตรลักษณ์ ให้เราพิจารณาไปว่าการมีอัตตายึดดีถือดีแบบนี้ทำให้เราและคนอื่นเป็นทุกข์อย่างไร สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นไว้มันจะยั่งยืนตลอดกาลหรือ มันจะไม่แปรเปลี่ยนเลยหรือ แท้จริงแล้วอัตตานั้นก็ไม่ใช่ตัวตนของเราเป็นสภาพหนึ่งของกิเลสที่เข้ามาหลอกเราว่าเราหมดกิเลสแล้ว จริงๆอัตตานี้ไม่ใช่เรา เราไม่จำเป็นต้องมีอัตตา ไม่จำเป็นต้องมีตัวกูของกู

การพิจารณาประโยชน์ของการไม่มีอัตตาและโทษของการมีอัตตานั้นก็สามารถที่จะช่วยล้างอัตตาได้อย่างดีเยี่ยม เช่น ถ้าเรายังมีอัตตาอยู่ เราก็มักจะไปซัดอาวุธด้วยวาจาอันเชือดเฉือนใจใส่คนอื่นอยู่บ่อยครั้ง อาจจะทำให้เกิดการบาดหมางใจ ผิดใจกัน จนถึงขั้นทะเลาะกันได้ แต่ถ้าเราไม่มีอัตตาเราก็จะสามารถอยู่กับคนอื่นได้อย่างมีความสุข เรากินมังสวิรัติก็กินไป เขากินเนื้อสัตว์ก็กินไป เราไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไร ก็สามารถจะอยู่กันได้ วันใดที่เขาเห็นคุณค่าเขาก็จะมากินมังสวิรัติตามเราเอง เป็นต้น

เพียรพิจารณาข้อธรรมเหล่านี้ตามกำลังที่มีด้วยความตั้งใจ ตั้งมั่นให้เห็นถึงโทษชั่วของการมีอัตตา ความติดดี ยึดดี ถือดี ว่าคนอื่นจะต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะดี

สภาพหลังจากทำลายอัตตา

เมื่อผ่านพ้นอัตตาแล้ว เราจะสามารถร่วมโต๊ะกับครอบครัว กับเพื่อน กับญาติมิตรสหายได้โดยไม่รู้สึกรังเกียจ ไม่รู้สึกขุ่นเคืองใจที่เขายังกินเนื้อสัตว์ แม้ว่าเราจะแนะนำไปแล้วเขาจะไม่สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ดังใจเราหมายได้ เราก็สามารถปล่อยวางได้ ไม่มีอาการติดดี ยึดดี ถือดี

และถึงแม้ว่าเราจะไปร่วมโต๊ะกับเขา เราก็จะยินดีที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ ผู้ที่สามารถผ่านนรกของการเสพเนื้อสัตว์ จะมีปัญญาในการเอาตัวรอดจากสภาพต่างๆ ในการกินอาหารร่วมกับคนอื่น หรือการกินอาหารในถิ่นที่ไม่คุ้นเคย จนเรียกได้ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถละเว้นเนื้อสัตว์กินแต่ผักได้โดยมีความสุขใจ อิ่มใจ สบายใจ แม้ว่าจะต้องกินแต่ข้าวเปล่าก็ยังมีความสุขกว่าการกินข้าวปนกับเนื้อ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความยึดมั่นถือมั่น แต่เป็นปัญญาที่รู้โทษของการเสพเนื้อสัตว์ จนยินดีที่จะละเว้นเนื้อสัตว์ต่างๆอย่างมีความสุข

เมื่อผ่านพ้นอัตตาแล้วหากได้ลองกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่รู้สึกรังเกียจ ไม่มีความขุ่นข้องหมองใจ ทุกข์ใจ กระวนกระวายใจ แต่จะรู้สึกเฉยๆตามความเป็นจริง กินก็ได้ แต่ก็คายทิ้งได้เหมือนกัน เพราะไม่ได้ติดในรสของเนื้อสัตว์นั้น เป็นกระบวนการตรวจสอบอัตตาของผู้ที่ยังสงสัยว่าตัวเองติดอยู่หรือไม่ เพราะถ้าผ่านอัตตา จะไม่มีอาการผลัก แต่จะรู้สึกถึงโทษของการกินเนื้อสัตว์จนไม่กินเอง และก็ไม่ได้มีความทุกข์อะไร สุดท้ายคนที่ผ่านทั้งกาม(อยากกินเนื้อสัตว์)และอัตตา(ไม่อยากกินเนื้อสัตว์)จึงไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี ไม่มีทั้งอาการผลัก หรืออาการดูด เนื้อสัตว์ชั้นดีมาวางเสริฟไว้ตรงหน้าก็เฉยๆ มีคนจับยัดเข้าปากก็ไม่โกรธไม่รังเกียจ ..แต่ไม่กิน ถึงจะกินเข้าไปก็ไม่มีรสสุข จะไม่เกิดสุขลวงๆจากการเสพอีกต่อไป ไม่ยินดีในสุขลวงนั้น เพราะรู้ว่าสุขจากการออกจากนรกเนื้อสัตว์ทั้งกามและอัตตานั้นเป็นสุขยิ่งกว่า หาสิ่งใดเปรียบไม่ได้ เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

อัตตาซ้อนอัตตา

หลังจากผ่านอัตตา เราอาจจะเจอสภาพหนึ่งซ้อนเขามาคืออัตตาอีกตัวหนึ่ง เมื่อเราไม่เสพเนื้อสัตว์และไม่ติดดีแล้ว เราอาจจะเกิดอาการ เกลียดคนติดดีอีกทีหนึ่ง นั่นเพราะเราเพิ่งออกจากนรกคนติดดีมาได้ เมื่อเราเห็นคนกินมังสวิรัติที่ติดดีไปทำร้ายทำลายจิตใจของผู้ที่ยังเสพเนื้อสัตว์ เราก็มักจะมีอาการไม่พอใจคนที่ติดดีนั้น คนกินเนื้อสัตว์เราไม่โกรธแล้วนะ เพราะเราเข้าใจ เราเข้าใจเพราะเราผ่านความติดดีมาได้ แต่จะมาติดดีกว่าอีกที คือไปเพ่งโทษคนติดดีอีกที

เห็นไหมว่ากิเลสมันมีลีลาของมันเยอะมาก ผ่านตัวนั้นก็ต้องมาติดตัวนี้ พอฆ่าตัวนี้ก็ต้องไปกำจัดตัวโน้นต่อ แล้วปลายทางมันอยู่ตรงไหน?

มันก็อยู่ที่กำจัดอัตตาที่ซ้อนอยู่นี่แหละ เหมือนเป็นหัวหน้าใหญ่ที่จะออกมาเมื่อผ่านนรกคนดี เป็นกิเลสที่เฝ้าประตูสู่ความสุขแท้ เราก็ต้องกำจัดมันให้ได้โดยการพิจารณาธรรมเหมือนเดิมแต่โจทย์นั้นเปลี่ยนไปเป็นล้างความรังเกียจคนดี เพราะจริงๆกว่าคนจะมาติดดีได้นั้นมันยากมาก เขาต้องบำเพ็ญเพียรมาหลายต่อหลายชาติกว่าจะมาเลิกกินเนื้อสัตว์จนมาติดดีได้ แล้วทีนี้เราก็โง่ไปเพ่งโทษคนดี ไปรังเกียจคนที่เขาทำดี แล้วมันจะเกิดดีไหมล่ะ

นั่นเพราะส่วนหนึ่งเราเพิ่งจะออกจากนรกคนดีได้ เมื่อเราออกจากสิ่งใดได้ เราก็มักจะรังเกียจสิ่งนั้น เพราะการจะออกจากสิ่งใดได้ ต้องใช้ความรังเกียจ ความไม่ชอบใจในสิ่งนั้นออกมาก พอออกมาแล้วเราก็ต้องล้างความรังเกียจนั้นอีกที เมื่อล้างหมดก็ถือว่าจบกิจ ปิดชุดงานกิเลสมังสวิรัติได้เลย เพราะจะไม่มีทุกข์เกิดอีก แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีวางตรงหน้าก็ไม่กินด้วยความยินดี แม้ว่าจะมีคนมากมายยินดีกับการกินเนื้อสัตว์เราก็ไม่ยินร้ายกับเขา และแม้ว่าจะเห็นคนติดดีเข้าไปทำร้ายคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ เราก็จะไม่รู้สึกถือสาอะไร เพราะเข้าใจคนติดดี

เมื่อจบกระบวนการทั้งหมดนี้ มันก็ไม่รู้จะไปทำอย่างไรให้มันทุกข์ ใครจะกินเนื้อสัตว์ก็กินไป สัตว์จะเกิดจะตายก็ตายไป ใครจะติดดีมีอัตตาก็ติดไป เราก็ปล่อยวางความทุกข์ได้ทั้งหมด เหลือสุข เป็นสุขจากการไม่เสพสิ่งใด เป็นสุขจากการหมดกิเลสในเรื่องนั้นๆ แล้วเราก็จะกินมังสวิรัติไปเรื่อยๆ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นจากเรื่องมังสวิรัติไม่ว่ากรณีใดๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

11.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ

September 24, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,714 views 0

วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ

วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ

วิธีการที่จะนำมาเสนอต่อไปนี้ เป็นการสรุปย่อเพื่อให้เข้าใจหลักปฏิบัติโดยรวมได้ง่าย พยายามที่จะใช้ศัพท์เฉพาะให้น้อยเพื่อการเข้าถึงที่ง่าย หากมีโอกาสในวันใดวันหนึ่งคงได้พิมพ์ฉบับละเอียดออกมา ซึ่งจะร้อยเรียงข้อธรรมะเข้ากับการปฏิบัติให้เห็นถึงความสอดคล้องของสภาวธรรมที่เจริญไปพร้อมกับการปฏิบัติ แต่ในบทความนี้ คงพิมพ์ไว้ให้เป็นแนวทางไปก่อน

1). บทนำ

การลดเนื้อกินผัก กินอาหารมังสวิรัติ กินเจ ใครหลายคนก็มักจะมองไปในเรื่องของเมตตา หรือการไม่เบียดเบียนเป็นหลัก แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้นเราสามารถใช้มังสวิรัติเป็นการปฏิบัติธรรมได้อย่างดีเยี่ยม

การปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธนั้น เป็นการปฏิบัติที่ใจ เป็นการขัดเกลาจิตใจ ขัดเกลากิเลส พัฒนาใจให้สูงขึ้น แต่การจะพัฒนาใจให้สูงขึ้นนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ไปนั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือทำสมถะเท่านั้น แต่จำเป็นต้องวิปัสสนา เพื่อให้เกิดผลเจริญขึ้นในจิตใจด้วย

ถ้าจะกล่าวถึงมังสวิรัติหลายคนคงเบือนหน้าหนี มีหลายล้านเหตุผลที่เราจะไม่กินมังสวิรัติ และมีอีกหลายล้านเหตุผลที่จะทำให้เรากลับไปกินเนื้อสัตว์ เหตุผลเหล่านั้นมาจากกิเลสของเรา แต่แท้จริงกิเลสนั้นไม่ใช่เรา เราจะมาเริ่มปฏิบัติการจับผี ล่าผี ล้างป่าช้า ฆ่ากิเลสกันง่ายๆ ใน 3 ขั้นตอน คือ เตรียมตัว ระวัง ไป!

2). เตรียมตัว! ตั้งศีล

การจะลดกิเลสไม่ได้มีความยากในเรื่องของกระบวนการ แต่จะยากในเรื่องของการปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติสู้กับกิเลสตัวเอง สู้กับความอยากของตัวเอง ใช้พลังของตัวเองในการฝ่าฟันกิเลสเหล่านั้น

การเริ่มต้น เราจะเริ่มจากการตั้งศีล ศีล คือข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อความปกติสุข เพื่อความเจริญ ศีลที่เราจะตั้ง หรือให้ตนเองถือว่าก็คือ “กินมังสวิรัติ” เราจะไม่กำหนดเวลา ไม่กำหนดกรอบ เราแค่ลดเนื้อกินผัก ลดเนื้อเท่ากับศูนย์ กินแต่ผัก

การตั้งศีลนี้เราควรตั้งหรือถือไว้ด้วยปัญญา ไม่ควรเชื่อหากใครบอกว่าศีลนี้ดี ในขั้นตอนนี้เราควรจะหาความรู้ว่าทำไมจึงต้องกินมังสวิรัติ กินมังสวิรัติแล้วดีอย่างไร การกินเนื้อเบียดเบียนอย่างไร จงใช้เวลาหาความรู้จนมั่นใจว่าตัวเองยินดีที่จะตั้งศีลนี้ เพราะความยินดีในประโยชน์ในการออกจากทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย เป็นด่านแรกของปัญญา ซึ่งคนไม่มีปัญญาก็จะไม่สามารถตั้งศีลนี้ได้ เพราะไม่สามารถมองทะลุถึงประโยชน์แท้ในการมีศีล ถึงจะถือศีลก็ถือตามคนอื่นเขา ถือแบบเหยาะแหยะ ถือแบบลูบๆคลำๆถือเอาไว้อวดบารมี ถือไว้เฉยๆ ทำอะไรกับมันไม่ได้ ไม่รู้ว่ามันทำอะไรได้ เหมือนคนป่าถือสมาร์ทโฟน

ข้อดีของศีลมังสวิรัติคือเราจะได้สู้กับกิเลสทุกวัน วันละหลายครั้งตามมื้ออาหารที่เรากิน เป็นการปฏิบัติธรรมที่สามารถทำได้ง่าย ทำได้ทุกวัน ไม่ต้องเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน ไม่ต้องรอไปวัด ไม่ต้องใช้เวลาสวดมนต์ เพียงแค่แทนที่อาหารมื้อเดิมด้วยอาหารมังสวิรัติเท่านั้นเอง ถือว่าเป็นการเริ่มต้นการปฏิบัติธรรมที่ง่าย สะดวกที่สุด และเหมาะกับทุกคน ทุกสังคม ทุกชนชั้น

อาจจะมีบางคนงงเกี่ยวกับ “ศีลมังสวิรัติ” การกินมังสวิรัติเป็นศีลได้อย่างไร? มังสวิรัติคือส่วนหนึ่งของศีลข้อ ๑ คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ในระดับของอธิศีล คือ ยากกว่าการไม่เบียดเบียนทั่วไป เป็นขั้นกว่าของศีลข้อ๑ แบบปกติ นั่นคือ นอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้ว เรายังต้องมีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาต่อสัตว์และเพื่อนมนุษย์อื่นๆด้วย( ดูส่วนขยายได้ในจุลศีลข้อ ๑)

3). ระวัง! ข้อควรระวังในการถือศีล

การถือศีลของเรานั้นไม่ใช่การถือเพื่อทำเล่นๆ แต่เป็นการถืออย่างจริงจัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตั้งศีลกินมังสวิรัติตลอดชีวิตได้ตั้งแต่แรก อาจจะตั้งเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ หรือเดือนละ 2 สัปดาห์ก่อนแล้วค่อยตั้งอธิศีล คือเพิ่มศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน 1 ปี จนกระทั่งมั่นใจว่าทำศีลนี้ได้ดีจึงตั้งศีลว่า “มังสวิรัติตลอดชีวิต

เราควรประมาณการตั้งศีลของตัวเองให้เหมาะกับพลังของตัวเอง ถ้ามันตึงจนเครียดทรมานจิตใจตัวเองเกินไปก็ให้ผ่อนลงมา เก่งแล้วค่อยขยับขึ้นไปใหม่ หรือใครที่รู้สึกว่าตัวเองทำศีลได้ดีก็อย่าไปแช่อยู่นานให้ตั้งอธิศีลขึ้นไปอีก ถ้ากินมังสวิรัติได้ดี ก็ให้ขยับไปทำศีลอื่นๆเช่น การกินจืด การกินมื้อเดียว การลดชนิดและความหลากหลายของอาหาร เป็นต้น

การปฏิบัติศีลต้องรับรู้ได้ด้วยตัวเองว่ากิเลสหรือความอยากเสพของตนเองนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เพิ่มขึ้นหรือลดลง มากน้อยเท่าไหร่ ถ้ายังไม่สามารถรู้ถึงกิเลสของตัวเองได้แสดงว่าอาจจะปฏิบัติมาผิดทางหรือความเข้าใจยังคลาดเคลื่อน

4). ไป! ลุยกันเลย ลงมือปฏิบัติ

หลังจากที่เราตั้งศีล ถือศีล ยึดศีลนี้เพื่ออาศัยไปสู่ความเจริญแล้ว เราก็จะดำเนินชีวิตประจำวันไปตามปกติ เราจะไปเจอกับอาหารในแต่ละมื้อ ที่เราจะต้องใช้สมาธิที่มากกว่าเดิมในการกดข่มความอยาก และปัญญาที่มากกว่าเดิมในการที่จะหาทางออกเพื่อที่จะได้กินอาหารมังสวิรัติรวมถึงปัญญาที่จะใช้ฆ่ากิเลสด้วย จะลองจำลองสถานการณ์พอเห็นภาพดังนี้

มื้อเช้า…. เราออกไปทำงานพบกับแผงขายเจอหมูปิ้งหน้าปากซอย เราเคยกินหมูปิ้งกับข้าวเหนียวและชอบมากแค่เห็นยังน้ำลายไหล แต่เราอดทนข่มใจ พิจารณาเข้าไปว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดีอย่างไร ว่าแล้วเราก็เดินเข้าร้านหมูปิ้ง ดิ่งตรงเข้าไปสั่งข้าวเหนียวสองห่อ เพื่อกินให้อิ่ม ให้ผ่านๆไปหนึ่งมื้อ

ภาพช้า… ในขณะที่เราเดินเข้าไป สายตาจะจับจ้องที่หมูปิ้ง กลิ่นควันหอมลอยแตะจมูก ใจก็คิดจะสั่ง ปากก็อยากจะบอก มือก็อยากจะเอื้อมไปคว้าหมูปิ้ง แต่ด้วยพลังการกดข่มที่เราฝึกไว้บ้าง ทำให้เราพอจะผ่านไปได้

มื้อเที่ยง…. วันนี้มีลูกค้าพาไปเลี้ยงบุฟเฟต์นานาชาติ ด้วยความเกรงใจจึงไปด้วย เห็นอาหารละลานตา ไอ้นั่นก็อยากกิน ไอ้นี่ก็อยากกิน สายตาผ่านไปเจอเมนูกุ้งเผาสุดโปรด น้ำลายไหลโดยยังไม่ทันรู้ตัว ว่าแล้วก็เดินตรงดิ่งเข้าไปจะสั่งกุ้งเผา บังเอิญว่าเพื่อนร่วมงานเข้ามาทักได้ทัน บอกเตือนว่า ไหนเราตั้งใจว่าจะกินมังสวิรัติ แล้วเราก็ได้สติกลับมาอีกครั้ง เลยไปตักแต่ผักกิน ผ่านไปอีกมื้อ

ภาพช้า…ในขณะที่เห็นกุ้งเผา สติ ได้หลุดลอยออกไป ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไม่มีอีกต่อไป ศีลอะไรก็ช่างมันเถอะ กุ้งเผาไม่ใช่ของที่จะกินกันได้บ่อยๆ ถ้าไม่กินตอนนี้ แล้วจะได้กินตอนไหน ยิ่งมีลูกค้าเลี้ยงด้วยแบบนี้ ลุยกันให้เต็มที่ไปเลย

มื้อบ่าย…. เพื่อนๆในออฟฟิศชวนกันไปซื้อลูกชิ้นเจ้าประจำ แต่ก่อนตอนยังไม่ตั้งศีลก็ชอบซื้อกินกับเขา ลูกชิ้นเนื้อ เอ็นเนื้อนี่ของโปรดเลยทีเดียว แต่วันนี้เกือบจะพลาดมื้อกลางวันมาแล้วจึงข่มใจ พยายามนั่งนิ่งๆไว้ไม่ตอบรับ ทันใดนั้นเพื่อนผู้หวังดีก็มาสะกิดถาม ฝากซื้อไหม เอาลูกชิ้นกี่ไม้? ด้วยความที่ตั้งศีลไว้จึงอดกลั้นไว้ก่อนบอกเพื่อนว่าวันนี้ไม่กิน ผ่านไปได้อีกวัน

ภาพช้า… ตอนเพื่อเข้ามาถาม ฝากซื้อไหม เอากี่ไม้ เหมือนมีคลื่นกิเลสผลักดันให้ลุกออกไป ใจก็คิดไปแล้วว่า เหมือนเดิมอย่างละสองไม้ ปากก็เกือบจะพูดออกไปแล้ว ดีว่าได้สติก่อนจึงสงบปากสงบคำ ปล่อยให้ความอยากนั้นอยู่แค่ในใจ

มื้อเย็น…. ว่าจะกลับบ้าน แต่เจ้านายชวนไปกินอาหารญี่ปุ่นเป็นเพื่อน เจ้านายสั่งชุดปลาดิบราคาแพงมา ประกอบด้วยปลาชั้นดี รสชาติน่าจะละมุนนุ่มลิ้น แถมยังมีแค่ในฤดูนี้เท่านั้น ในตอนนั้นใจก็กดข่มไว้ เปิดเมนูพยายามมองหาเมนูข้าวปั้นกับเต้าหู้ แต่สายตาก็ยังไม่ละจากจานที่หัวหน้าสั่งไว้ให้ ว่าแล้วด้วยความมั่นใจจึงสั่งข้าวปั้นเต้าหู้ทอดมา แต่ด้วยความที่เจ้านายเป็นห่วงสุขภาพ จึงบอกว่า กินไปเถอะ กินปลาไม่เป็นไรหรอก อย่าเคร่งมากนักเลย…

ภาพช้า… เสียงและคำพูดของเจ้านายช่างดูเป็นห่วงเรา เป็นคำพูดที่มาปลดปล่อยความเครียด ปลาอยู่ตรงหน้า ตะเกียบก็อยู่ในมือ จะช้าอยู่ทำไม ก็เขาอนุญาตแล้วนี่นา จะกินสักครั้งก็ไม่เห็นเป็นไรอย่างที่เจ้านายว่าเลย จะเครียดไปทำไมเนาะ

มือไม้แทบสั่นไปด้วยความอยาก ว่าแล้วก็หยิบปลาจิ้มโซยุ พลันคีบปลาเข้าปาก เคี้ยวด้วยความเอร็ดอร่อยสมอยาก มื้อนี้ก็แพ้กิเลสไปอย่างราบคาบ พอกลับมาบ้านก็ต้องมาสลดเพราะไปแพ้กิเลสมาอีกแล้ว แต่ก็ไม่ตีตัวเองเพิ่ม รู้แค่แพ้แต่ครั้งหน้าจะสู้ใหม่ (สู้ต่อไป ทาเคชิ!)

มื้อค่ำ…. ด้วยความที่กินผักมาทั้งวัน แถมยังเป็นมือใหม่ ทำให้น้ำย่อยในกระเพาะยังคงเหลืออยู่ เพราะแต่ก่อนกินแต่เนื้อ ต้องใช้น้ำย่อยเยอะ พอมากินผักน้ำย่อยเลยเหลือให้แสบท้องเล่น ว่าแล้วก็เดินไปเปิดตู้เย็น เห็นไส้กรอกหมูที่ซื้อมาเมื่อวานก่อน ถึงกลับกลืนน้ำลายดังเอื้อก

ภาพช้า… เมื่อเห็นไส้กรอก ก็พลันนึกถึงภาพ ตัวเองเอาไส้กรอกเข้าเตาไมโครเวฟ ปิดฝาตั้งตารอด้วยใจจดจ่อ นำมันออกมาพร้อมหั่นเป็นชิ้นอย่างบรรจง จิ้มซอสและมายองเนสนิดหน่อย เอาใส่ปากช้าๆ อั้มมม~

ดูเหมือนว่าสติจะหลุดลอยไปทันทีที่ได้เห็นไส้กรอก แต่โชคยังดีที่มีนมถั่วเหลืองอยู่ข้างๆอีกหนึ่งกลอ่ง

ภาพช้า… เมื่อเห็นนมถั่วเหลือง กับไส้กรอก น้ำหนักของไส้กรอกช่างหนักและดึงดูดเหมือนแม่เหล็กที่ดูดลูกเหล็ก นมถั่วเหลืองมันจะไปอิ่มได้อย่างไรมันต้องไส้กรอกสิ

ว่าแล้วก็หยิบไส้กรอกไปทำกินตามที่หมายไว้ เพราะแท้จริงแล้วเรากินไปด้วยความอยาก ไม่ได้กินเพราะความหิว การอดทนอดกลั้นมักจะมีขีดจำกัด และสะสมเป็นความเครียด ถ้าเราบริหารความเครียดไม่ดีก็จะออกมาในลักษณะของการตบะแตก ซึ่งเราควรประมาณให้ดี เมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆก็อย่าไปใกล้เนื้อสัตว์มากนัก อยู่ให้ห่างๆไว้ หรือซื้ออาหารจำพวกมังสวิรัติมาเตรียมไว้แทนเลยก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง

เห็นไหมว่าการถือศีลมังสวิรัติ เราจะได้สนุกกับการเห็นกิเลสขนาดไหน เราจะได้เจอกับกิเลสทุกวัน อย่างน้อยก็วันละ 2 – 3 มื้อเชียวนะ

5). ลีลาของกิเลส

กิเลสมักจะมีลีลาที่หลากหลาย มีการส่งข้อความ ส่งความทุกข์กดดันให้เรารู้สึกอยากเสพ เช่น ทำให้เราน้ำลายไหล ทำให้เราหิวเร็ว ทำให้เราอยากกิน ทำให้เรากลับไปกินด้วยประโยคเช่น กินๆไปเถอะ พลาดมื้อเดียวไม่เป็นไรหรอก, กินไปเถอะ เรากินเขา เขาได้บุญ , กินไปเถอะ อันนี้แพง หากินยาก , กินไปเถอะ ไม่มีใครรู้หรอก, กินไปเถอะแค่มีความสุขก็พอแล้ว , กินไปเถอะไม่ได้อยากจะเอาสวรรค์วิมาน , กินไปเถอะ เกรงใจเขา , กินไปเถอะ เราต้องใช้พลังงาน , กินไปเถอะมันอร่อยนี่นา , กินไปเถอะเดี๋ยวเขาหาว่าเราเรื่องมาก , กินไปเถอะ อย่าเคร่งนักเลย ฯลฯ เหล่านี้แหละ คือลีลาของกิเลส ส่วนกิเลสของใครจะปรุงลีลาออกมาหลากหลายเท่าไหร่ก็แล้วแต่ระดับความอยากของคนนั้น ยิ่งกิเลสมาก ก็จะยิ่งยาก ยิ่งซับซ้อน ต้องเพียรให้มาก

6). การพัฒนาไปเป็นลำดับ

ในระหว่างที่ปฏิบัตินั้น เราจะต้องใช้ปัญญาที่เป็นมรรค(ข้อปฏิบัติ วิธีการปฏิบัติ) คือเราจะกินมังสวิรัติอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ สุดท้ายเมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ จะได้ปัญญาที่เป็นผล(ผลเจริญ ความเจริญที่ได้)มาเป็นลำดับๆ เช่นถ้าเราไปในที่แบบนี้ เราก็จะกินอาหารชนิดนี้ หรือเราอาจจะไม่กิน หรือกินไปก่อน ก็ได้ นี่เป็นลักษณะของปัญญาที่ใช้ในเชิงโลกียะ ส่วนปัญญาในเชิงโลกุตระนั้นจะเป็นลักษณะของการเห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของการกินมังสวิรัติ

เมื่อปฏิบัติอย่างตั้งมั่น จะพบว่าตนเองสามารถตั้งศีลที่ยากขึ้นไปได้ (อธิศีล) โดยไม่ลำบากนัก เช่น ลดเนื้อสัตว์ได้แล้วยังสามารถที่จะลดไข่ได้อีก และมีพลังสติ พลังสมาธิ ความอดทนอดกลั้น (อธิจิต) เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติไปเป็นลำดับ รวมทั้งได้ปัญญาเพิ่มขึ้น (อธิปัญญา) จากการสู้สั่งสมปัญญาในแต่ละด่านที่ผ่านมา พลาดก็ได้ปัญญา ชนะก็ได้ปัญญา ทั้งหมดนี้เป็นความเจริญที่เป็นไปโดยลำดับ และเมื่อปฏิบัติสำเร็จจะได้ปัญญาชุดหนึ่งที่สามารถที่จะตัดกิเลสนั้นได้ ซึ่งกิเลสจะคลาย ณ จุดนี้ ในส่วนของปัญญานั้นเจริญไปต่อได้เรื่อยๆอย่างไม่มีจำกัด จนกว่าจะเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

7). ข้อสังเกต

ผู้ที่ตั้งศีลมังสวิรัติอย่างถูกต้องและมีปัญญา เมื่อไม่ได้กินเนื้อสัตว์ จะมีความรู้สึกหรือเวทนาที่แตกต่างกับตอนที่ยังไม่ได้ตั้งศีล ตอนที่เราไม่ได้ถือศีลนี้ เมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แต่เราไม่ได้กินเราก็จะทุกข์จากการที่ไม่ได้กิน ในส่วนของผู้ที่ถือศีลนั้น แม้จะมีเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า แต่เราก็จะฝืนไม่ยอมกิน เป็นทุกข์ที่เกิดจากการกดข่ม ฝืนใจกิเลส

ในส่วนของผู้ไม่ถือศีลแล้วทุกข์จากการไม่ได้กิน เรียกว่า เคหสิตโทมนัส , เคหะ หรือ ชาวบ้าน แบบบ้านๆ คนทั่วไป คือทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ได้เสพก็สุข เป็นไปในทางโลกียะ มีลักษณะ สุข ทุกข์สลับกันไปเรื่อยๆ เกิด ดับ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

ในส่วนของผู้ถือศีลแล้วทุกข์จากการไม่ยอมไปกิน เรียกว่า เนกขัมมสิตโทมนัส , เนกขัมมะ หรือ นักบวช เป็นการปฏิบัติแบบผู้บวช เป็นการปฏิบัติเพื่อที่จะหลุดออกจากโลกียะเข้าสู่โลกุตระเป็นความทุกข์ที่เกิดการที่เราฝืนกิเลส กิเลสจะสร้างความรู้สึกทุกข์ให้กับเรา เพื่อที่จะกดดันให้เราไปเสพ พร้อมด้วยเหตุผลต่างๆนาๆที่มันจะคอยเป่าหูเราให้เรากลับไปเสพ การปฏิบัติแบบเนกขัมมะคือการอดทนต่อสู้ ฝืน ทน ข่ม เราจะเจอแต่ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ และทุกข์ ไปตลอดทางของการปฏิบัติ แม้ว่าเราจะกลับไปเสพเราก็จะทุกข์ ทุกข์เพราะเรารู้สึกผิดต่อศีลมากกว่าสุขที่ได้จากเสพ

เมื่อวันหนึ่งหลังจากที่เราสามารถกดหัวกิเลสอดทนไม่ไปเสพและใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียจากความอยากกินของเรา จนรู้แจ้ง เห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นว่ากิเลสไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่เพียงผู้ที่มาอาศัยใช้ร่างกายและจิตใจของเราไปบำรุงบำเรอความอยาก เราทำลายกิเลสเหล่านั้นจนสิ้นเกลี้ยง แล้วเราก็จะพบกับสุข เป็นสุขแบบเนกขัมมะ สุขจากการฆ่ากิเลส จนกระทั่งสงบลงเป็นอุเบกขา และต่อจากนี้ทั้งชีวิตที่เหลือ ในชาตินี้และชาติหน้า เราก็จะไม่มีวันทุกข์กับเรื่องนี้อีกเลย

ในการถือศีลปฏิบัติในแบบเนกขัมมะนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถเข้าใจและปฏิบัติสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว บางคนอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน บางคนอาจจะเป็นปี บางคนสิบปี บางคนทั้งชีวิตก็อาจจะไม่มีวันเข้าใจเลยก็ได้ เพราะการปฏิบัติทางใจนี้เป็นเรื่องยากกว่าการปฏิบัติทางกายนัก มีความสลับซับซ้อนของกิเลสมากมายที่เราต้องคอยแก้ ในหลากหลายสถานการณ์

เหมือนดังสงครามที่รบกันไม่จบไม่สิ้นระหว่างเรากับกิเลส มีเมืองมากมายที่เราต้องไปตีคืนจากกิเลส ในขณะเดียวกันกิเลสก็ส่งกองทัพมาโจมตีเราเช่นกัน เราจึงต้องสู้กันไปกันมาอยู่แบบนี้กันหลายภพหลายชาติแล้ว ซึ่งผู้ที่คิดจะสู้ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่สู้ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติศีล ไม่ถือศีลก็เหมือนยอมให้กิเลสได้ครอบครองใจ บ้างก็อ้างว่าใจไม่มีกิเลส แต่พอได้ลองถือศีลกลับต้องพบว่ามีแต่ผีร้ายเต็มบ้านเต็มเมือง เต็มจิตใจของตัวเองไปหมด

การปฏิบัติในแบบเวทนาเนกขัมมะเช่นนี้ไม่ว่า พระ หรือฆราวาสก็สามารถทำได้ ไม่ได้หมายความว่าพระจะเป็นเนกขัมมะหรือฆราวาสจะเป็นเคหสิตะ แต่เรื่องนี้เป็นสภาพของจิต ที่จิตนั้นเป็นนักบวช หรือเป็นชาวบ้าน อยู่ที่ตัวเราปฏิบัติ

8). สมถะ-วิปัสสนา

ในการปฏิบัติศีล เราจะใช้สมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป โดยสมถะ คือการพักจิต เพิ่มพลังจิต โดยใช้วิธีนั่งสมาธิ เดินจงกรม ฯลฯ เพื่อเพิ่มพลังที่จะใช้ในการกดข่มกิเลสไว้

และวิปัสสนา คืออุบายทางใจ ที่จะใช้สร้างปัญญา ให้รู้เห็นจริงตามความเป็นจริง การจะฆ่าล้างกิเลสนั้นต้องใช้วิปัสสนาเป็นหลักจึงจะสามารถล้างกิเลสได้ ส่วนสมถะเป็นแรงเสริมให้วิปัสสนาสามารถคงสภาพได้ยาวนานขึ้น เป็นเครื่องหนุน เครื่องช่วย

เราจะวิปัสสนาโดยการพิจารณาความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย พิจารณากรรมและผลของกรรม ของความอยากเสพเนื้อสัตว์ เช่น ทำไมฉันต้องอยากกิน ฉันติดใจอะไรในเนื้อสัตว์นั้น มันอร่อยตรงไหน กินผักแทนไม่ได้หรือ กินแล้วเบียดเบียนเป็นกรรมของเราจะดีได้อย่างไร ให้ใช้ปัญญาหาเหตุพิจารณาโทษของการกินเนื้อสัตว์ และประโยชน์ของการกินผัก อย่างซ้ำๆ ย้ำๆ ด้วยความเพียรพยายาม แม้บางครั้งจะต้องพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็ควรจะพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งจะได้ปัญญาที่จะสามารถชำระกิเลสนี้เอง

9). ข้อควรระวังในการปฏิบัติ

ความหลงไปในธรรมมักจะเกิดได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะความเข้าใจผิดเรื่องสมถะ ผู้ที่หลงในสมถะ หลงในภพ หลงในการปฏิบัติแบบฤาษีจะเข้าใจผิดไปว่าเป็นการปฏิบัติของตนเป็นแบบวิปัสสนา เมื่อกดข่มเก่งๆ จะเข้าสู้ภาวะกดข่มแบบอัตโนมัติ สามารถดับจิตที่เกิดได้โดยอัตโนมัติ ทำให้ไม่เห็นตัวกิเลส และไม่เห็นตัวทุกข์ ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นนิโรธแบบดับสนิท ดำมืด ไม่รู้อะไรเลย และไม่ใช่สัมมามรรค เป็นการปิดตัวเองไว้ในภพ หรือสภาวะที่ตนสุขใจ ติดภพ ติดชาติ ไปอีกนาน ยากที่จะบรรลุธรรม

10). ตรวจสอบ

ในขั้นแรกก็ต้องทดสอบในระดับของการร่วมโต๊ะกับคนอื่นที่ยังกินเนื้อให้ได้ก่อนว่าเราไหวหรือไม่ เรายังอยากไปกินกับเขาหรือไม่ เขาตักเนื้อสัตว์มาให้เราแล้วเราอยากกินหรือไม่ แม้เราจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์นั้น เรายังคิดห่วงหา คิดเสียดายโอกาสนั้นหรือไม่

ถ้าอยากรู้ว่าเราผ่านด่านความอยากของเนื้อสัตว์ได้จริงไหม ก็ลองกลับไปกินดูก็ได้ ถ้าเรากินแล้วไม่รู้สึกว่าอร่อย ไม่รู้สึกว่าติดใจ สามารถทิ้งได้ ละได้ วางได้ เมื่อละมาแล้วจิตใจไม่พะวง ไม่อาลัย ไม่เสียดาย ก็ถือเป็นใช้ได้

11). กาม-อัตตา

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือการฆ่ากิเลสในทางโต่งของกามของการเสพเนื้อสัตว์เท่านั้น เมื่อเรากินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขแล้ว เรายังต้องกลับไปล้างกิเลสในฝั่งของอัตตาด้วย นั่นคือทางโต่งอีกด้านที่เราจะไปติด

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในบทธัมมจักกัปปวัตนสูตร ว่าด้วยเรื่องทางโต่งทั้งสองด้าน ให้พึงละเสีย คือทางหนึ่งโต่งไปด้านกาม (กามสุขัลลิกานุโยค) คือการทรมานตนด้วยการเสพ อีกทางหนึ่งโต่งไปทางด้านอัตตา (อัตตกิลมถานุโยค) คือการทรมานตนด้วยความยึดดีถือดี

เมื่อเราละเนื้อสัตว์เราจะผ่านกามและอัตตาในมุมเนื้อสัตว์ แต่เราจะมาติดกามและอัตตาในมุมของคนที่ไม่อยากกินเนื้อสัตว์ หรือการติดดีนั่นเองเป็นส่วนกลับของกิเลสทุกตัว เหมือนเป็นด้านมืดที่เรียกว่านรกคนดี ซึ่งก็ต้องล้างไปด้วย

กามในอัตตาที่เราต้องล้างต่อไปคือการความอยากกินแต่ผัก ไปแนะนำ ไปสั่งสอน ไปเพ่งโทษ ทำร้ายทำลายใจคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ส่วนอัตตา คือ ความยึดว่าต้องกินแต่ผัก ความยึดดี ถือดี คิดว่าตนเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์แล้วจึงยึดว่าตนนั้นดีเลิศ ทำแบบตนสิดี ไม่มีใครดีเท่าตน

เมื่อเราสามารถพ้นนรกคือการกินเนื้อสัตว์และพ้นนรกจากความเกลียดคนกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว จึงจะสามารถพบกับความสุขแท้หรือทางสายกลางได้นั่นเอง ทางสายกลางไม่ใช่ทางที่แค่พูดและเข้าใจความหมายแล้วจะเข้าถึงได้แต่ต้องปฏิบัติทำลายทางโต่งทั้งสองด้านจนเข้ารูปเข้ารอยของทางสายกลาง ซึ่งเป็นทางเอกทางเดียวในการพ้นทุกข์หรือสัมมาอริยมรรค นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

24.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

อย่าไว้ใจชาย

September 19, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,229 views 0

อย่าไว้ใจชาย

อย่าไว้ใจชาย

มารยาหญิงที่ว่ามีกว่าร้อยเล่มเกวียน กลวิธีมากมายหลากหลายกระบวนท่า แต่สุดท้ายก็ต้องพลาดท่าให้กับชายอยู่ดีนั่นแหละ

มารยา กลยุทธ์ กลวิธีของชายนั้น มักจะไม่ได้ถูกบันทึกหรือกล่าวขานไว้ กว่าจะรู้ตัวก็มักจะพลาดท่าเสียทีไปแล้ว ทั้งการหลอกล่อลับลวงพรางด้วยของขวัญและคำหวานมากมายให้เฝ้าเพ้อฝันไปถึงความรักที่งดงามและอนาคตที่สวยหรู คำสัญญาที่ว่าจะมั่นคง ความจงรักภักดี การเกื้อกูลดูแลกันและกัน คำยืนยันหรือการแต่งงานมีครอบครัว เหล่านี้คือมารยาที่ชายใช้ล่อลวงใจหญิงได้ทุกยุคทุกสมัย เราลองมาดูตัวอย่างกลยุทธ์ของชายแต่ละแบบกัน

1. ผู้ชายติดอบายมุข (อบายมุข): ตัวเองก็เสพติดอบายมุขทั้งการพนัน หวย หุ้น ติดเหล้าติดยาเสพติด สิ่งมัวเมาทั้งหลาย เที่ยวกลางคืน ท่องเที่ยวไปเสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ในที่ต่างๆ เที่ยวเล่นดูดนตรี ดูการแสดง คบคนชั่ว เกียจคร้านการทำงาน วิธีของผู้ชายเหล่านี้ก็ไม่มีอะไรมาก แค่หานำอบายมุขที่ตัวเองเสพติด เช่น ชอบกินเหล้าก็ชวนกันไปกิน ชอบดูการแสดงชอบดูหนังก็ชวนกันไปดู ชอบรถแต่งรถหรูก็ชวนกันมานั่ง ใช้อบายมุขที่น่าจะตรงกับกิเลสไปเสนอให้กับผู้หญิงที่หลงเสพหลงติดพอกัน พากันมัวเมาไปในที่สุด และมักจะมีคำนิยามแบบสวยๆว่าชอบทำกิจกรรมเหมือนกัน ไลฟ์สไตล์เหมือนกัน ชอบอบายมุขเหมือนกัน ก็เลยพากันไปนรกด้วยกัน

ผู้หญิงที่มีกิเลสหนาก็มักจะโดนชักจูงด้วยอบายมุขได้ง่าย เพียงแค่หลงชอบเสพสิ่งเดียวกันก็อาจจะยอมร่วมหอลงโรงด้วยกันได้แล้ว จากความหลงติดหลงยึดสุขลวงจากการเสพอบายมุข คือกิเลสในระดับหยาบ ที่พาให้เสียเวลา เสียทรัพย์ เสียสุขภาพ เสียชีวิต ฯลฯ

2.ผู้ชายบ้ากาม(กามคุณ): กามในที่นี้คือกามคุณ๕ คือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่เป็นภัย ผู้ชายที่ติดกามก็มักจะบำรุงดูแลตัวเองให้ดูดี งดงาม ออกกำลังกายให้ดูดี หรือกระทั่งไปผ่าตัดศัลกรรมให้หน้าตาดีดั่งใจหมาย ในขณะเดียวกันความบ้ากามก็ยังจะทะลักไปบ้านอกร่างกายตัวเองด้วย คือจะไปเสพคนสวยคนงาม ด้วยความที่คนสวยคนงามเหล่านั้นก็มีกิเลสของเธออยู่ คือความติดสวย สุดท้ายก็จะพากันบำรุงบำเรอกิเลส พากันกินอาหารอร่อย พากันแต่งตัวให้ดูดี รวมไปถึงการเสพกามเมถุนร่วมกัน เพราะยังมีกิเลสในชั้นของกามอย่างแน่นหนา

ผู้ชายที่พรั่งพร้อมไปด้วย รูปงาม เสียงงาม กลิ่นงาม และสัมผัสอันน่าหลงใหล จะพาให้ผู้หญิงที่บ้ากามด้วยกันหลงไปได้ง่าย เช่น เพียงแค่พบคนหน้าตาดี ก็สามารถยอมพลีกายให้เขาได้เพียงแค่ต้องการเสพสมใจว่าได้คบหากับคนหน้าตาดี หรือไม่ก็ยินดีคบหาเป็นแฟน หรือแต่งงาน เพราะชอบที่เขาหน้าตาดี พูดดี มีทักษะการสัมผัสเสียดสีที่ดี ก็หลงติดกามกันไป

ความงามด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสนั้น เป็นสิ่งที่ดึงดูด พาให้หลงใหล พาให้เคลิ้มหลงไป แม้แต่หญิงที่ว่าใจแข็งมั่นคงก็อาจจะพ่ายแพ้ต่อพลังแห่งกามทั้ง ๕ นี้ได้ ยอมเผลอไปรักโดยที่ไม่ทันระวังตัว โดยไม่รู้ตัวเลยว่าได้แพ้พ่ายต่อกิเลสไปแล้ว

3.ผู้ชายเจ้าชู้(โลกธรรม) : เขาเหล่านี้คือผู้ที่เสพลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ผู้ชายเจ้าชู้มักสามารถใช้โลกธรรมในการจูงใจหญิงได้ค่อนข้างเก่ง ป้อนคำหวาน ดูแล เทคแคร์ เอาใจใส่ บำเรอด้วยทรัพย์สิน คำเยินยอ และให้ความสำคัญ ทำเสมือนว่าเขาให้ค่ากับผู้หญิงคนนั้นมาก แต่แท้ที่จริงเขาเองสามารถที่จะเข้าใจและใช้กิเลสที่ระดับที่ละเอียดกว่ากามมาเป็นตัวล่อผู้หญิงได้

เราคงเคยสังเกตกันมาบ้าง ว่าทำไมบางทีผู้ชายที่หน้าตาไม่ดี ไม่หล่อ ดูไม่ดี แต่กลับควงคู่กับผู้หญิงสวยๆอยู่เสมอ นั่นก็เพราะเขามีลาภ ยศ สรรเสริญ อยู่ในปริมาณมาก หญิงที่ว่าจิตใจมั่นคง ไม่มัวเมาในอบายมุข ไม่หลงในกามรูปหรือไม่หลงคนหน้าตาดี ก็อาจจะมาแพ้พ่ายกันในด่านของโลกธรรมนี้ก็ได้ นั่นเพราะตัวเธอเองก็อยากเสพความสบาย เสพความร่ำรวย การเอาใจใส่ จนอาจจะเผลอยอมปล่อยตัวปล่อยใจเพื่อแลกกับการได้เสพกิเลสเหล่านี้ ซึ่งมีเขาผู้มากไปด้วยโลกธรรม คอยบำรุงบำเรอให้ก็เป็นได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายเจ้าชู้จะหยุดอยู่แค่เรา ถ้าเราเองไม่สามารถสนองต่อความอยากในกามของเขา ไม่สนองโลกธรรมของเขา เขาก็อาจจะทิ้งเราไปมีคนใหม่ที่สามารถจะสนองกิเลสเขาได้มากกว่าเรา ซึ่งเขาจะทำเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะเขามีอำนาจในการที่จะสนองกิเลสผู้อื่นอยู่ในมือ เป็นอำนาจบาป ที่นำมาซึ่งความทุกข์ นำมาซึ่งนรกอย่างไม่จบไม่สิ้น

4.ผู้ชายนักฝัน(อัตตา): ช่างคิดช่างฝัน ปั้นจินตนาการ วาดฝันไว้ เจ้าอุดมการณ์ ชายในกลุ่มนี้มักจะไม่ได้ล่อลวงหญิงด้วย อบายมุข กามคุณ และโลกธรรมอีกแล้ว แต่จะล่อลวงเธอด้วยความฝัน อุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่งดงาม เช่น คำพูดที่บอกว่าเธอคือเนื้อคู่ , เราจะเป็นคู่รักที่รักกันตลอดไป , ผมจะซื่อสัตย์ตลอดไป , ผมจะดูแลคุณตลอดไป ,เราจะพากันเจริญไปด้วยกัน ,เราจะสร้างครอบครัวไปด้วยกัน เป็นคำมั่นสัญญา เป็นอัตตา เป็นความยึดมั่นถือมั่น ทำตัวเหมือนหลักชัยให้ผู้หญิงซึ่งอ่อนไหว อ่อนต่อโลกได้ยึดเกาะพาให้หลงใหล พาให้ฝากตัว ฝากใจ ฝากชีวิตเอาไว้กับเขา

แต่ความยึดมั่นถือมั่นนั้นก็เป็นกิเลส อุดมการณ์จะยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่ถ้ารากของมันคืออัตตา ก็เหมือนมีรังปลวกอยู่ใต้หลักไม้ใหญ่ จะดูยิ่งใหญ่หรือแข็งแกร่งแค่ไหนไม่นานก็คงจะผุกร่อนพังทลาย เพราะโดนปลวกคือกิเลสกัดกินจนหมด

สิ่งที่เคยยึดมั่นอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในสักวันหนึ่ง คำสัญญากลายเป็นเพียงแค่ลมปาก สิ่งที่เหลือคือความอึดอัดกดดัน ความผิดหวัง ความฝันที่พังทลาย ทิ้งไว้แต่ซากแห่งความฝันของหญิงผู้ที่ได้แต่หลงเสพหลงละเมอไปในคำหวานและอุดมการณ์ของคนกิเลสหนา

5.ผู้ชายรักจริง(เสน่หา): จะมีลักษณะที่ดูปักมั่น หลงมัวเมาในหญิงที่เธอหมายมั่น ทุ่มเทเอาใจ รักจริงหวังแต่ง แสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอกิเลสให้กับเธอ ถ้าเธอชอบอบายมุขก็จะพาเธอไปเสพอบายมุข ถ้าเธอชอบกามคุณ ก็จะไปเธอไปกินของอร่อย พาไปซื้อเสื้อผ้าสวยๆ ทำตัวเองให้ดูดีให้เธอชอบ ถ้าเธอชอบโลกธรรม ก็จะขยันทำงานหาเงินมาให้เธอ พยายามทำตัวให้ประสบความสำเร็จในชีวิต มีฐานะหน้าที่การงานที่ดีเพื่อให้เธอยอมรับ ถ้าเธอชอบอัตตาก็ป้อนคำมั่นสัญญาผูกมัดเธอด้วยกิเลส ด้วยสัญญาว่าเราจะไม่พรากจากกัน เราจะดูแลกันไปชั่วนิรันดร์

เป็นผู้ชายที่มีกลยุทธ์และใช้วิธีที่หลากหลายเพื่อที่จะมัดใจเธอ ให้เธอยอมรับ ให้เธอหลงเสพในความรักของเขา ให้เธอรักเขา หญิงที่ว่าใจแกร่งเพียงใด เจอกับกลยุทธ์ทุ่มเทเอาใจใส่ สลับซับซ้อนแบบนี้ ก็ยากที่จะหนีรอดไปได้ เป็นกลยุทธ์ที่พรั่งพร้อมไปด้วยกิเลสในทุกระดับ ยินดีบริการ บำรุงบำเรอให้เธอเต็มที่จนกว่าเธอจะยอมรับรัก

ที่เขาทำทั้งหมดนี้ เขาก็แค่ทำให้เธอเพียงคนเดียว เพราะเขาอยากจะเสพเธอคนเดียว อยากจะได้เธอมาคนเดียว อาจจะกระจายการสนองกิเลสเหล่านี้ออกไปยังคนใกล้ชิดของเธอแต่จะไม่ได้เน้นมากเท่าไหร่

แต่ความเสน่หานั้นไม่เที่ยง มีรักได้ก็หมดรักได้ ทันทีที่เขาได้เสพสมใจทุกอย่างแล้ว เขาก็อาจจะละทิ้งเธอไปอย่างไม่ใยดีก็ได้ บางคนอาจจะแค่ยินดีเสพแค่คุยกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่เป็นแฟนกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่มีอะไรกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่แต่งงานกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่มีลูกด้วยกัน ถ้าเขาได้รับสิ่งที่เขาอยากจะเสพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็คือนรก เมื่อความอยากเสพในกิเลสนั้นหมดเชื้อเพราะได้เสพสมใจแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องบำรุงบำเรอสนองกิเลสเธออีกต่อไป เป็นเวลาที่หญิงที่หลงไปกับรักจริงที่หลอกลวงจะต้องเริ่มต้นใช้หนี้บาปหนี้กรรมกันต่อไป

6.ผู้ชายแสนดี(เมตตา): ชายผู้มีจิตใจที่เมตตา เกื้อกูลทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เขาให้ความสำคัญกับทุกๆคน คอยดูแล กิจกรรมการงานของของเพื่อน ดูแลทุกข์สุขของเพื่อน มิตรสหาย โดยไม่ได้หวังเสพสิ่งใด ทำไปด้วยจิตที่เมตตาหวังจะให้คนอื่นได้ดี ให้คนอื่นมีความสุข คลายทุกข์

แม้เขาเหล่านี้จะมีเมตตามาก แต่ก็อาจจะยังมีกิเลสในเรื่องของคนคู่อยู่ บางครั้งความเมตตานั้นอาจจะปนผสมไปด้วยกิเลสลึกๆในใจของเขา คือเมตตาปนไปกับความอยากเสพเธอคนนั้น แต่ก็มักจะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนนัก เพราะจะไม่ออกมาในรูปของการจีบ การป้อนคำหวาน การเอาใจ แต่จะเป็นการดูแล ช่วยเหลือ ปรับทุกข์ บำรุงสุข เป็นเพื่อนคู่คิดคอยปลอบใจ ไม่ล่วงเกินเข้าไปในเชิงชู้สาวมากนัก ดูเหมือนว่าไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน

เขาเหล่านี้จะไม่บำรุงบำเรอเธอด้วยกิเลส พาไปพบแต่สิ่งที่พาให้ชีวิตเจริญ จะไม่พาเธอไปทางเสื่อม เช่น ไม่พาไปเสพ อบายมุขอีกแล้ว แต่ยังมีกามคุณบ้าง เหลือโลกธรรมบ้าง และอาจจะยังเหลือในส่วนของอัตตาตามแต่ที่เขาจะมีอยู่บ้าง ถ้าจะให้เปรียบก็เรียกได้ว่าเป็นคนดีที่มากแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงกับดีที่สุด

แม้ว่าจะเราจะเจอผู้ชายที่ดี ไม่เอากิเลสมาบำรุงบำเรอขนาดนี้ แม้ว่าจะเรียกได้ว่าพากันเจริญ ก็อย่าได้พลั้งเผลอไปเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะดีแสนดีแค่ไหน มีความสุขขนาดไหน แต่การดำเนินชีวิตคู่นั้น เราก็ต้องรับวิบากกรรมร่วมกัน ทุกข์ด้วยกัน มีครอบครัวซึ่งเป็นภาระด้วยกัน ผูกภพ ผูกชาติ ผูกกรรมไปด้วยกัน ความสุขที่ได้ก็ไม่ยั่งยืน เพราะสุดท้ายก็ต้องตายจากกันไป เมื่อเรายึดคนดีเป็นของเรา เมื่อเขาพรากจากเราไปเราก็ต้องเสียใจอยู่ดี

7.ผู้ชายที่มีรักแท้(อุเบกขา): ความรักแท้นั้นหากจะบอกว่าเป็นรักที่ครอบครองก็คงจะไม่ถูกนัก ชายที่มีรักแท้คือผู้ที่ยินดีจะเสียสละความรักของตน ยอมทิ้งความสุขส่วนตนให้คนอื่น ยอมทิ้งโอกาสในการเสพสุขของตนให้กับผู้อื่น ยอมปล่อยให้เนื้อคู่ของตนเองนั้นเป็นอิสระจากการผูกมัดโดยกรรมกิเลสใดๆทั้งปวง ยอมที่จะให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรรมที่ควรจะเป็นโดยไม่คิดจะเอากิเลสของตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วม

การปล่อยวางความรัก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นเหล่านี้ หากมองผ่านๆโดยทั่วไปก็เหมือนกับเอาตัวรอด เหมือนกับเห็นแก่ตัว แต่แท้ที่จริงไม่ใช่แบบนั้น

เพราะเขาคนนั้นมีความรักที่มากกว่ารักในแบบของการครอบครอง มากกว่ารักของคนสองคน มากกว่ารักแบบครอบครัว มากกว่ารักแบบคนรัก จึงยอมสละรักที่น้อย เพื่อที่จะได้รักที่มากกว่า นั่นคือรักที่สามารถเผื่อแผ่ไปให้กับทุกคนบนโลกได้ รักได้แม้กระทั่งศัตรู เป็นรักที่ให้ได้อย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นใครหรืออะไรก็ตาม

แม้แต่ชายที่ดูเหมือนว่าจะกล่าวอ้างว่ามีรักแท้แบบนี้ก็อย่าได้ตายใจไป เพราะกิเลสของคนเรานั้นมีความลับลวงพราง อาจจะมีผู้คนที่มัวเมาในอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา อวดอ้างเอาคุณเหล่านี้เป็นของตนก็เป็นได้ เราจึงต้องคอยสังเกตติดตาม พิจารณาตามไปว่ารักแท้ที่เขามีนั้นเป็นจริงดังที่เขาบอกหรือไม่ หรือเป็นรักลวงที่สอดไส้ไปด้วยกิเลสก้อนใหญ่

….ดังที่ยกตัวอย่างมา จะเห็นได้ว่ากิเลสนั้นมีลีลาท่าทางมากมายที่จะทำให้เราหลงไปกับสิ่งลวง สิ่งที่ไม่เป็นจริง เมื่อหลงเสพหลงยึดไปแล้ว เช่น คบกันเป็นแฟน ได้เสียกัน แต่งงาน มีลูก มีครอบครัว สุขที่เคยมีก็อาจจะเปลี่ยนสภาพเป็นทุกข์ก็ได้ ทุกข์จากการมี ทุกข์การยึด ทุกข์การครอบครอง

กิเลสนั้นมีความซับซ้อน มีความหลากหลายของการแสดงลีลาออกมา แม้ว่าบางครั้งเราตั้งสติดีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถตามการยั่วยวนของกิเลสเหล่านั้นได้ทัน เพราะเวลาที่พบเจอจริงๆมักจะผสมปนเปกันมาแบบมั่วๆ ดูไม่ออก แยกไม่ออกว่าแบบไหนจริงใจ แบบไหนหลอกลวง

สุดท้ายไม่ว่าเหตุจะเป็นอย่างไร เขาจะมาจีบเรา หรือเราจะไปหลงคารมของเขาเอง เราก็เป็นเหยื่ออยู่ดี เหยื่อของกิเลสที่พาให้หลงไปว่าสิ่งที่เขานำมาปรนเปรอบำรุงบำเรอเรา คำหวาน ของขวัญ คำมั่นสัญญา การดูแลเหล่านั้นจะอยู่ตลอดกาล จะไม่แปรเปลี่ยน

หญิงใดที่สามารถรักษาความโสด จิตใจที่สันโดษ พอใจในสิ่งที่ตนมี ไม่หาชายใดมาบำรุงบำเรอกิเลส บำเรออบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตาของตัวเองแล้ว นับได้ว่าเป็นหญิงที่มีบุญ ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องทรมานจากการแบกวิบากบาปจากการมีคู่ แบกสามี แบกลูก แบกครอบครัว แบกแม่ผัว แบกพ่อตา แบกญาติ เพราะลำพังแค่แบกชีวิตตัวเองก็หนักพออยู่แล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

19.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์