Tag: อัตตา

คนเจ้าชู้

November 22, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,709 views 7

คนเจ้าชู้

คนเจ้าชู้

…น่าอิจฉาที่สุดในโลก น่าสงสารที่สุดในธรรม

ในสังคมทุกยุคทุกสมัย ไม่มียุคไหนที่ไม่มีคนเจ้าชู้ ถ้าเรามองผ่านๆโดยใช้กิเลสเป็นตัววัด เรามักจะอิจฉาริษยาคนเจ้าชู้เสมอ ที่เขาหรือเธอมักจะได้เสพสมใจในกิเลส มักจะได้คบหา รู้จัก สมสู่กับคนมากหน้าหลายตาอยู่เสมอนั่นคือมุมมองที่เรามองจากกิเลสไปสู่กิเลส สิ่งเหล่านั้นย่อมจะดูน่าเสพ น่าได้ น่ามีเป็นธรรมดาตามประสาโลกียะ

แต่ถ้ามองกันตามจริงนั้น คนเจ้าชู้นี่แหละคือคนที่น่าสงสารที่สุดในโลก เพราะตลอดเวลาที่เขาได้แสดงความเจ้าชู้ ด้วยถ้อยคำหวาน คำหยอกเย้า หว่านเสน่ห์ หรือกระทั่งนอกใจคู่ครองของตน ไม่มีการกระทำใดเลยที่เป็นบุญ ตลอดเวลาเขาได้กระทำบาปซ้ำซ้อนและบาปที่เขาทำนั้นก็ยังจะไปดูดดึงให้คนอื่นได้ร่วมบาปไปกับเขาอีก

คนเจ้าชู้นั้นจัดอยู่ในลักษณะของอบายมุข ซึ่งโดยวิถีชีวิตแล้วก็มักจะมีเรื่องของอบายมุขอื่นๆติดมาในชีวิตด้วย เช่นอบายมุขหยาบๆที่รู้กันโดยทั่วไปคือ กินเหล้า สูบบุหรี่ เสพยาเสพติดให้มัวเมา เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน ฯลฯ

และยังมีอบายมุขหยาบอีกมากมายที่คนมองไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอบายมุขเช่น หุ้น การบ้าดารา การหลงในของสะสม การแต่งรถ การชอบเที่ยวเล่นไปในที่ต่างๆ เช่นเที่ยวกินต่างประเทศ ฯลฯ ลักษณะเหล่านี้เป็นกิเลสหยาบในระดับอบายมุขทั้งสิ้นซึ่งเป็นเครื่องล่อหรือเครื่องมือให้คนเจ้าชู้ใช้กิเลสเหล่านี้มาเป็นสิ่งที่ทำให้ตนได้มาเสพสมใจในสิ่งต่างๆ

กิเลสแต่ละตัวจะเติมเต็มกันและกัน เมื่ออยากเสพสิ่งใดมากเข้าก็จะเพิ่มกิเลสตัวอื่นไปในตัว เช่นเมื่อเราอยากเที่ยว เราก็อยากกินของอร่อย พอกินของอร่อยก็อยากถ่ายรูปอวด พออยากถ่ายรูปอวดก็อยากแต่งตัวสวย พอรู้สึกว่าตัวเองสวยก็เริ่มอยากตรวจสอบความนิยม พอมีคนเข้ามาให้เลือกมากๆก็เริ่มคิดที่จะมีคู่ พอมีคู่ได้เสพสมใจบางอย่างแล้วก็ติดใจ วันใดที่เริ่มไม่ได้เสพได้ดั่งใจเหมือนก่อนหรือเบื่อรสชาติเดิมๆก็จะหาสิ่งใหม่มาเสพ นี่แหละอบายมุขกับความเจ้าชู้มันจะค่อยๆเติมเต็มกันและกัน

…ความเจ้าชู้เกิดจากอะไร

คนเจ้าชู้นั้นเป็นได้ทั้งชายและหญิง กิเลสนั้นไม่จำกัดเพศ ไม่จำเป็นว่าผู้ชายต้องมักมากมากกว่าผู้หญิงมันไม่แน่เสมอไป เพราะสิ่งที่ให้เกิดความเจ้าชู้ไม่ใช่เพศแต่เป็นกิเลส

ลักษณะที่เห็นได้ทั่วไปสำหรับกิเลสของคนเจ้าชู้คือความโลภ อยากครอบครอง อยากเสพมากกว่าที่ควรจะเป็น อยากมีมากกว่าคนอื่น อยากสะสม อยากอวด ฯลฯ จึงเกิดสภาพของความเจ้าชู้ขึ้น เพราะไม่รู้จักคำว่า “พอ” คำว่าพอนี้ไม่ใช่คิดเอาแล้วมันจะพอเพียงได้ กิเลสมันจะไม่ยอม มันจะหิวโหยหาและออกไปสร้างความเจ้าชู้ แม้จะรู้ตัวว่าเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ควรทำ แต่คนเจ้าชู้กลับไม่สามารถหักห้ามใจตัวเองไม่ให้ไปเสพสิ่งที่ไม่ควรได้ ซึ่งเขาหรือเธอเหล่านั้นตกอยู่ในกิเลสที่หนาจนแทบมองไม่เห็นแสงสว่าง แม้ว่าคิดจะหยุดเจ้าชู้แต่ก็ทำไม่ได้เพราะกิเลสมันสั่ง

กิเลสชั้นแรกของคนเจ้าชู้คือนักสะสม กลัวสูญเสีย กลัวไม่ได้เสพ กลัวขาด กลัวไปหมดทุกอย่าง แต่ภาพแบบนี้เราจะไม่ได้เห็นกันเพราะเขาหรือเธอนั้นจะกลบมันไว้ด้วยความมั่นใจ ภาพลักษณ์ของคนเจ้าชู้จะไม่แสดงความอ่อนแอ แต่จะเห็นในลักษณะของการบำรุงบำเรอกิเลสคนอื่น ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นเพื่อการให้ตัวเองได้มาสะสม ได้มาเสพนั่นเอง

ถ้าคนไม่เจ้าชู้ก็จะไม่ต้องบำรุงบำเรอกิเลสคนอื่น ไม่ต้องพูดคำหวาน ไม่ต้องหยอกล้อ ไม่ต้องส่งสายตา ไม่ต้องดูแล ไม่ต้องเอาใจ เพราะไม่ได้หวังจะเสพอะไร คนเจ้าชู้บางคนสร้างพฤติกรรมสุภาพบุรุษเสียจนกลายเป็นสามัญ คือดูแลเอาใจใส่ทุกคน แต่สุดท้ายเขาก็ทำเพื่อที่จะเลือกคนที่เขามาเสพอยู่ดีนั่นเอง ถือว่าเป็นคนเจ้าชู้ที่เก่ง เก่งในเรื่องของการสนองกิเลส ความแนบเนียนในการสร้างความเชื่อมั่นให้คนอื่นเห็นว่าตนไม่มีกิเลส ตนจริงใจ นี่คือลักษณะของคนที่เจ้าชู้มันจะหลอกซ้ำหลอกซ้อนในตัวเองแล้วหลอกคนอื่นไปด้วยในตัว พอเหยื่อหลงเชื่อก็ค่อยๆตามไปกินก็ยังไม่สาย

คนเจ้าชู้มากก็จะมีวิธีการให้ได้มาซึ่งการเสพมาก แนบเนียน น่าค้นหา น่าหลงใหล ดูอบอุ่น เหมือนใบมีดโกนเคลือบน้ำผึ้งถ้าใครเผลอหลงในรสน้ำผึ้งสุดท้ายก็จะโดนใบมีดโกนบาด ยิ่งเจ้าชู้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งบาปเท่านั้น ยิ่งชั่ว ยิ่งเก่ง ยิ่งเสพก็ยิ่งใกล้นรกมากเท่านั้น

คนเจ้าชู้มือใหม่อาจจะมีวิธีการที่ไม่แนบเนียน แต่เมื่อเขาได้เรียนรู้ผ่านวันผ่านเดือนผ่านปี เขาอาจจะกลายเป็นนักเจ้าชู้ตัวฉกาจก็ได้ เพราะกิเลสสอนเราให้ชั่วเสมอ ชั่วล้ำลึก ชั่วซับซ้อนซ่อนเงื่อน ชั่วดูดี เมื่อเราเสื่อมจากธรรมและนำพาชีวิตด้วยกิเลส เราจะเป็นคนที่สามารถทำชั่ว หรือเจ้าชู้ได้อย่างแนบเนียน เราจะมีเหตุผลมากมายในการเจ้าชู้ เราจะยินดีในการเจ้าชู้และหลงไปว่าการเจ้าชู้นี่แหละคือคุณค่าของชีวิต การได้เสพการได้มีคู่ครองมากนี่แหละคือสิ่งที่น่าสรรเสริญ ทั้งที่จริงลักษณะที่มีคู่ครองหลายคน มั่วกันไปกันมานั้น สัตว์มันก็ทำได้ ไม่เห็นมันจะน่าภูมิใจตรงไหน

จริงๆแล้วรากลึกของความเจ้าชู้นั้นเกิดจากอัตตา เกิดจากความมีตัวมีตน อยากให้คนยอมรับ อยากให้คนเห็นคุณค่า อยากให้คนเห็นว่า นี่ไงมีคนสนใจฉันมาก ฉันทำให้คนเสพฉันได้มาก ฉันเสพคนอื่นได้มาก ยอมรับฉันสิ ดูฉันสิ ฉันเป็นที่นิยมนะ เป็นอัตตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยโลกธรรม หลงในลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข เป็นกิเลสชั้นหยาบที่ทำให้คนหลงไปในกามเมถุนและเรื่องอบายมุขอีกมากมาย

ลักษณะเด่นของคนเจ้าชู้คือมักทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจ ให้เป็นที่น่าคบหา ทั้งในทางเปิดเผยและไม่เปิดเผย กลยุทธ์ในการได้มาซึ่งการครองใจคนอื่นมีมากมายนับไม่ถ้วนแต่สรุปรวมได้ว่าการสนองกิเลสคนอื่น จนเขายอมมาเสพสมใจหรือสมสู่กันนั่นแหละ เหมือนกับสัตว์ที่เวลาหาคู่ก็ต้องพยายามทำตัวเองให้เด่น พยายามทำตัวเองให้แข็งแรง มนุษย์ที่เจ้าชู้ก็ไม่ต่างจากสัตว์สักเท่าไรนัก จะให้บอกกันตรงๆก็คงจะแย่กว่าสัตว์เพราะสามารถทำชั่วได้มากกว่า ไปกระตุ้นกิเลสคนอื่นได้มากกว่า ทำร้ายจิตใจคนอื่นได้มากกว่า ทำให้เกิดทุกข์ เกิดบาป เกิดกรรมชั่วได้มากกว่า

….ทำไมเราต้องเจอกับคนเจ้าชู้

หลายคนสงสัยว่าทำไมฉันต้องมาเจอกับคนเจ้าชู้ สำหรับคนที่มารู้ทีหลังว่าคู่ของตนนั้นเจ้าชู้ก็ถือว่ารับกรรมไป เพราะไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับเราทำมาแล้วทั้งนั้น

การมีคู่ครองหรือคนที่คบหาเจ้าชู้โดยที่ไม่รู้มาก่อนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการใช้กรรมที่เราเคยไปเจ้าชู้มาชาติใดก็ชาติหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งของเราคือเรายินดีกับการที่เขามาสนองกิเลสให้เราจนเรายอมให้เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราเอง มันมีทั้งกรรมในอดีตและกรรมในชาติปัจจุบันสังเคราะห์ร่วมกันจนเกิดเป็นเหตุการณ์นั้นๆขึ้น

และยังมีคนอีกมากที่มักจะชอบคิดว่าตนเองสยบความเจ้าชู้ได้ หลงไปว่าคนเจ้าชู้จะจบที่เราได้โดยเพียงเชื่อคำหวาน คำสัญญาของคนที่มีกิเลส การที่เราคิดว่าจะสยบความเจ้าชู้ได้นั้นเพราะเรามีอัตตายึดมั่นถือมั่นว่าเราดี เราเก่ง เราสวย เราหล่อ อะไรก็ว่ากันไป พอยึดมั่นถือมั่นมันก็เลยมั่นใจ ทีนี้มาเจอกับคนเจ้าชู้ พอเขาได้เสพสมใจในหลายๆสิ่ง จนเขาเริ่มเบื่อแล้วเขาก็จะเริ่มหาสิ่งใหม่เสพ เพราะกิเลสของเขามาก เราสนองกิเลสเขาไม่พอ เขาก็เลยต้องแสดงความเจ้าชู้ไปหาคนอื่นมาเสพ ถ้าเขาไม่หามาเสพ กิเลสเขาก็จะทรมานให้เขาต้องทุกข์เพราะความอยากเสพ กิเลสนั้นคือยาเสพติดชั้นดีเชียวล่ะ

….คนเจ้าชู้รับมืออย่างไร

คนเจ้าชู้นี้จัดอยู่ในหมวดของคนติดอบายมุข เป็นคนพาล พระพุทธเจ้าท่านให้ห่างไกลคนพาลก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งอาจจะไม่ได้หมายความว่าต้องเลิกคบ แต่ไม่ไปคบหาในเชิงชู้สาว ไม่เผลอใจเข้าไปเพราะเพียงแค่หวังจะเสพรสของหนุ่มสาวเจ้าชู้ เรื่องกิเลสนี้ไม่ควรลอง ไม่สมควรที่จะเอาชีวิตไปเสี่ยง มีคนมากมายที่มั่นใจนักหนาว่าจะปราบคนเจ้าชู้ได้แต่สุดท้ายก็แพ้ไม่เป็นท่ามาหลายรายแล้ว

ถ้าเจอคนเจ้าชู้เปิดเผยก็แล้วไป แต่ถ้าเจอคนเจ้าชู้เงียบล่ะ แบบว่าแอบติดต่อ แอบหยอดคำหวานไม่ให้ใครรู้ ซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาทำอย่างนั้นกับทุกคนหรือไม่ วิธีตรวจสอบก็คืออย่าไปรีบตามเขา คนเจ้าชู้จะมีกลยุทธ์มากมายที่เอาไว้มัดใจเรา ให้เราออกไปใกล้ชิด ให้เรายอมสมสู่ ให้เรายอมแต่งงาน สุดท้ายแม้แต่การทอดทิ้งกันไปหลังแต่งงานก็ยังมีให้เห็นเป็นปกติในสังคม เพราะฉะนั้นการแต่งงานไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะจบ ไม่ได้หมายความว่าคนเจ้าชู้จะหยุดเจ้าชู้ได้ ถ้าเจอคนที่จีบเก่ง เอาใจเก่งก็ให้เขารอ รอไปเรื่อยๆ 5 ปี 10 ปี ก็รอไปอย่าเพิ่งไปใกล้ชิดแนบเนื้อนัก อย่ารีบไปสมสู่ อย่ารีบไปแต่งงาน รักษาระยะห่างให้ความสัมพันธ์เป็นไปในทางกุศล อะไรดีก็ทำร่วมกัน อะไรไม่ดีก็ให้ห่างไว้ ถ้ารักกันจริงมันต้องรอได้ แต่คนเจ้าชู้จะรอไม่ได้ เพราะความเจ้าชู้จะทำให้เขารีบเผด็จศึก ถ้าเขารู้สึกว่ากลยุทธ์ที่เขางัดมาใช้ทั้งหมดไม่ได้ผล เขาจะเลิกลงทุนและล่าถอยไปเอง นั่นหมายความว่าไม่ได้ควรคู่ให้เขาคบหาจริง นั่นเพราะเขาไม่ได้คิดจะคบหาเราเป็นคู่ชีวิต แต่คิดจะคบหาเป็นช่วงหนึ่งของชีวิต

เจ้าชู้เปิดเผยกับเจ้าชู้เงียบก็ยังพอจะป้องกันไว้ได้ แต่ถ้าเจอเจ้าชู้ที่ยังไม่กำเนิดก็ยากหน่อย หมายถึงคนที่กิเลสยังไม่แสดงตัวนั้นจะดูและป้องกันยากมาก ส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังจากเป็นแฟนกันแล้ว สมสู่กันแล้ว หรือแต่งงานกันแล้ว นั่นเพราะแต่ก่อนไม่เคยได้เสพเรื่องสมสู่คนคู่แต่พอได้เสพหนึ่งแล้วมันก็อยากเสพอีกหนึ่ง อยากเสพแบบอื่น รสอื่น ลีลาอื่น ที่อื่น คนอื่น สุดท้ายก็เลยกลายเป็นคนเจ้าชู้ไป กลายเป็นปัญหาในครอบครัว ไม่ว่าจะมีเมียน้อยผัวน้อยหรือไปเที่ยวโสเภณีก็ตาม

ถ้าเจอแบบนี้ก็ให้ปล่อยวางเสียเพราะมันทำอะไรไม่ได้ มันพลาดไปแล้วก็ให้ทำดี ถือศีลให้มั่นคง ศึกษาธรรมะ ความดีจะจัดฉาก จัดเหตุการณ์ที่ดีให้เอง เช่น เขาหรือเธอกลับใจเลิกเจ้าชู้ , เขาหรือเธอออกไปจากชีวิตเอง , หรือมีคนอื่นเอาไปเป็นคู่ เช่นเขามีเมียน้อย เราก็ปล่อยเขาไป คนที่คิดนอกใจเจ้าชู้ไปมีคนอื่นนั้นมันก็บาปก็ชั่วพอที่เราจะปล่อยให้เขาไปตามทางของเขาแล้ว แต่ส่วนมากก็มักจะยึดคนบาปไว้กับตัวเพราะเสียดาย จะไปเสียดายคนชั่วทำไม เขานอกใจแล้วแสดงว่าเขายินดีที่จะไปเสพสิ่งอื่น ไม่อดทน ไม่มั่นคง เราก็ไม่ควรไปยึดเขาไว้ เราก็ต้องปล่อยเขาไปตามที่กิเลสและกรรมของเขาจะนำพา ให้โอกาสตัวเองได้พบกับชีวิตที่ดี จะดีกว่าให้โอกาสเขากลับมาทำทุกข์ให้ตัวเรา มันบาปทั้งคู่

คนเจ้าชู้จะหยุดที่ใครได้จริงไหม

ด้วยความเจ้าชู้นั้นมักสร้างเสน่ห์จนน่าหลงใหลอยู่เสมอ คนจำนวนมากจึงหลงไปกับคนเจ้าชู้ โดยคิดหวังลึกๆว่าเขาหรือเธอจะหยุดลงได้ที่เรา

ในความเป็นจริงแล้วความเจ้าชู้เกิดจากกิเลส การได้สนองกิเลสนั้นไม่ได้ทำให้กิเลสตาย นั่นหมายถึงว่า ถึงแม้เราจะให้เขาเสพเรา แม้ว่าเราสวย เราหล่อ เรารวย เราดีแค่ไหน ก็ไม่ได้ทำให้กิเลสของเขาลดลงเลย เขาก็อาจจะเสพเราจนกว่าเขาจะเบื่อ สุดท้ายคนเจ้าชู้ที่เต็มไปด้วยกิเลสก็จะหาช่องทางออกไปเสพสิ่งอื่นอยู่ดี

หรือที่เห็นว่าหยุดมันก็แค่หยุดได้แค่ช่วงหนึ่ง สงบไปได้ช่วงหนึ่ง อาจจะเป็นปี สิบปี ยี่สิบปี แต่ถ้าสุดท้ายกิเลสไม่ตาย ความเจ้าชู้มันก็จะออกมาอาละวาดฟาดคนอื่นไปทั่วอยู่ดี การหยุดนั้นเป็นการหยุดเพื่อเสพ หยุดเพื่อให้คนคนหนึ่งตายใจเพื่อจะได้เสพ คนเจ้าชู้ก็คิดจะหยุดความเจ้าชู้เช่นนั้นจริงๆนะ เขาหรือเธออาจจะไม่ได้โกหกเลย ยินดีจะหยุดด้วยความเต็มใจ แต่พอถึงวันหนึ่งมันเสพจนเบื่อกิเลสมันก็จะกระตุ้นให้ผีร้ายออกไปอาหารไปเลี้ยงกิเลสอยู่ดีนั่นเอง

ผลกรรมของคนเจ้าชู้

ผลกรรมที่เห็นได้เด่นชัดของคนที่เจ้าชู้คือ ได้รับความเจ็บปวดจากความเจ้าชู้อย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้ได้เจอกับคนเจ้าชู้และแม้จะรู้ว่าสุดท้ายต้องเจ็บ แต่ก็จะหลงเชื่อมั่นจนหมดตัวหมดใจ ยอมพลีกายพลีใจให้เขาไปหมด หน้ามืดตามัว แม้ใครจะเตือนก็ไม่ฟัง แม้มีหลักฐานก็ไม่เชื่อ สุดท้ายก็ต้องโดนเขาทอดทิ้ง ปล่อยปละละเลย กลายเป็นอดีตของคนเจ้าชู้คนนั้น ดังที่หลายคนเจออยู่ในทุกวันนี้ เพราะกรรมที่เราทำมานั่นเอง

คนเจ้าชู้นี่เป็นคนที่น่าสงสารที่สุดเพราะเขาหลงว่าความเจ้าชู้นั่นเป็นสิ่งดีที่เขาภูมิใจโดยไม่รู้ว่ามันสร้างบาปเวรภัยให้กับเขาและผู้อื่นมากมายขนาดไหน

การเจ้าชู้เกิดขึ้นเพราะเขาไม่เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม คนที่ไม่เจ้าชู้นั้นก็เพราะเขากลัวในเรื่องบาปกรรม ส่วนคนเจ้าชู้นั้นจะไม่เชื่อ ไม่ชัดเจนในเรื่องของกรรม ส่วนใหญ่มักคิดว่าเกิดมาชาติเดียวต้องใช้ชีวิตให้คุ้ม เป็นความหลงผิดอย่างร้ายแรงของจิตวิญญาณดวงหนึ่ง เมื่อไม่เชื่อในเรื่องกรรม ก็ไม่มีความดีความชั่วที่ส่งผลข้ามภพข้ามชาติ สุดท้ายก็จะเหลือแต่การหามาเสพสมใจโดยไม่สนใจกรรมชั่ว

เหมือนกับคนที่อดอยากมานานพอได้มาเจออาหาร ก็มักกินอย่างตะกละตะกลามเหมือนกันกับคนเจ้าชู้ เขาเองไม่เคยได้เสพไม่เคยได้ครอบครอง พอมีโอกาส เกิดมารวย เกิดมาหน้าตาดี ถึงแม้ไม่มีก็พยายามจะทำให้เป็นให้มีเพื่อให้ได้เสพ และพอมีโอกาสเสพก็จะเสพอย่างเต็มที่ มัวเมาในอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตา เมากิเลสอยู่แบบนั้นโดยไม่รู้ว่ากรรมและผลของกรรมนั้นมีจริง เป็นเรื่องจริงที่ส่งผลข้ามภพข้ามชาติ เป็นสิ่งทำให้เหล่าสัตว์เกิดมาดีเลว ขาวดำ สูงต่ำ รวยจน ฯลฯ แตกต่างกัน

สิ่งที่จะได้รับจากความเจ้าชู้นั้นหนักหนามากมายเหลือประมาณ เพราะผิดศีลข้อ ๓ เต็มๆ ไม่ว่าจะเจ้าชู้ทางกาย วาจา หรือแม้แต่ใจก็ยังผิด นรกนั้นเปิดประตูต้อนรับคนเจ้าชู้เสมอ ทั้งตอนที่ยังมีชีวิตอยู่และตอนตาย นรกเกิดทันทีในจิตของคนเจ้าชู้นั้นๆตั้งแต่เริ่มคิดทำชั่ว และเกิดไปจนกว่าจะได้รับผลกรรมชั่วที่ทำไว้หมดสิ้น แม้จะเกิดชาติใหม่เป็นคนดีไม่เจ้าชู้ แต่ก็ยังต้องมารับกรรมที่ตัวเองเคยเจ้าชู้ไว้ตั้งแต่ชาติปางก่อน

ความเจ้าชู้จะจบลงที่ตรงไหน

คนเจ้าชู้นั้นจะไปจบตรงไหนและจะหยุดได้เมื่อไหร่นั้น หากมองกันเพียงสั้นๆในชีวิตนี้แล้ว คนเจ้าชู้เขาก็เจ้าชู้ไปได้แค่ทุกข์สุดทุกข์นั่นแหละ คือการเจ้าชู้นี่มันต้องไปทำผิดอยู่แล้ว ไม่ว่ากาย วาจา ใจ ซึ่งวันใดวันหนึ่งพอผลกรรมที่ทำไว้สุกงอมร่วงหล่นลงมาเกิดเป็นเหตุการณ์เช่น ทำให้ใครเขาท้องหรือตัวเองท้องเอง ,ไปเจ้าชู้กับแฟนเพื่อน ,ไปเจ้าชู้กับนักเลง,ติดโรคร้ายแรง,เสียทรัพย์หมดตัวเพราะมัวเมา ฯลฯ ก็อาจจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนได้ ซึ่งเขาก็อาจจะสามารถหยุดความเจ้าชู้ลงในชาตินั้นๆได้

แต่หากได้โงหัวผงาดขึ้นมาใหม่ เช่นร่ำรวย หรือเปลี่ยนถิ่นที่อยู่ ก็อาจจะเป็นโอกาสที่เขาจะได้แสดงความเจ้าชู้อีกครั้ง ทำชั่วสะสมมากเข้าจนกระทั่งตาย

แม้ว่าจะตายก็ยังไม่จบเพราะกิเลสไม่ตาย ความตายในเชิงความเข้าใจของโลกนั้นดูเหมือนว่าทุกอย่างจะจบ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนภพ เปลี่ยนร่างไปสู่อีกร่างหนึ่ง แต่คนที่เจ้าชู้ ยากนักที่จะได้เกิดเป็นคนอีก อาจจะกลายเป็นหมู เป็นหมา เป็นวัว เป็นควาย ให้เขาตอน ให้เขาผสมพันธุ์ ต้องรับกรรมจากการที่ไปเจ้าชู้กับคนอื่นนานแสนนานจนกว่าจะใช้กรรมหมด จนได้เกิดเป็นคนอีกครั้ง

ทีนี้พอเกิดเป็นคนแต่กิเลสยังไม่ตาย กิเลสตัวเจ้าชู้ยังมีอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ ก็ทำบาปเวรภัยต่อไปอีกเรื่อยๆ เกิดแล้วตาย วนเกิดเป็นสัตว์เป็นคนเจ้าชู้ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ ต้องทรมานและตายเพราะความเจ้าชู้นั้นไม่รู้กี่ครั้ง จนกระทั่งชาติใดชาติหนึ่งก็เริ่มที่จะเข็ดขยาดกับความเจ้าชู้ เริ่มหันมาเป็นคนดีบ้าง แต่ก็ต้องพบกับกรรมที่ตัวเองเคยเจ้าชู้มาก่อนเข้ามาอัดซ้ำแล้วซ้ำอีก

แล้วก็วนเวียนกลับไปเป็นคนเจ้าชู้อีกเพราะกิเลสยังไม่ตาย วนกลับไปกลับมาระหว่างคนเจ้าชู้กับไม่เจ้าชู้นี่แหละ สุดท้ายก็ติดดีเกลียดเจ้าชู้วนเวียนไปนานแสนนานจนกว่าจะพบกับครูบาอาจารย์ที่สอนวิธีดับกิเลส พอได้รู้วิธีดับกิเลสแต่ก็ขี้เกียจ หวงกิเลส ไม่เชื่ออีก ก็ต้องเกิดตายเกิดตายอยู่หลายชาติจนพบว่าไม่มีทางใดพ้นทุกข์นอกจากการดับกิเลส เมื่อรู้ดังนั้นก็ต้องเพียรดับกิเลสกันอยู่หลายภพหลายชาติ ตายแล้วก็เกิดมาสู้กิเลสใหม่ กิเลสก็ยังไม่ตายสักที

จนในที่สุดวันที่เพ่งเพียรพยายามอย่างเต็มที่ได้มาถึง เมื่อได้ปฏิบัติสัมมาอริยมรรคซึ่งเป็นทางเดินสู่การพ้นทุกข์คือการดับกิเลสในจิตวิญญาณให้สิ้นเกลี้ยงก็จะได้รับผลเป็นปัญญารู้แจ้งในกิเลสเรื่องเจ้าชู้นั้นๆ รู้ทุกเหลี่ยมทุกมุม ทุกข์โทษภัย ผลเสีย รู้กรรมและผลของกรรม รู้ว่าการฆ่ากิเลสนี้ยากเพียงไร พอมีความรู้มีธรรมอันนี้จริงในวิญญาณแล้วก็ถือว่าเป็นสุดท้าย เป็นตอนจบของความเจ้าชู้แล้ว หลังจากนั้นคือเอาความรู้ที่ได้จากการปราบความเจ้าชู้ไปสอนคนอื่นเพื่อพัฒนาปัญญา เพิ่มกุศลที่ต้องใช้เพื่ออาศัยในชาติภพต่อๆไป เพื่อเป็นพลังในการทำลายกิเลสตัวอื่นที่ยังเหลืออยู่ต่อไป

คนเจ้าชู้ที่เก่ง จะทำให้คนอื่นเชื่อว่าตนไม่เจ้าชู้

คนเจ้าชู้ที่เก่งกว่า จะทำให้คนอื่นยินดียอมรับ แม้จะรู้ว่าตนนั้นเจ้าชู้

แต่ยิ่งเก่งในเรื่องเจ้าชู้เท่าไร ก็ยิ่งสร้าง บาป เวร ภัย มากเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

21.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

สวยสมัยนิยม

November 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,070 views 0

สวยสมัยนิยม

สวยสมัยนิยม

…ความสวยงามที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัยตามกิเลสของคน

ในแต่ละยุคสมัยนั้นคนเรามักมีนิยามความสวยต่างกันไป เช่นยุคเรเนซองส์เขาก็มักจะมองผู้หญิงอวบอ้วนสมบูรณ์ว่าสวย แต่ในยุคสมัยนี้กลับไม่คิดเช่นนั้น การที่เรามองและวิจารณ์ไปว่าสิ่งใดสวยหรือไม่สวย น่าดูหรือไม่น่าดูนั้น มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนอย่างมาก

เช่นในยุคสมัยหนึ่งของจีน นิยมใส่รองเท้าดัดเท้าให้เล็ก โดยมีเหตุผลต่างๆนาๆ ทำให้เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สวยและดูดี เมื่อมีคนคิดว่าสวยก็กลายเป็นแฟชั่น ค่านิยม หลายคนทำตามด้วยความหลง หลงไปว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้มีคุณค่า สิ่งนี้สังคมยอมรับ ทั้งๆที่เป็นเรื่องของกิเลสที่ปรุงแต่งกันไปเอง หากคนสมัยนี้มองกลับไปแล้วก็คงต้องสงสัยว่าทำกันไปได้อย่างไร ทั้งลำบาก ทั้งเจ็บ ทั้งทรมาน และที่สำคัญ มันไม่เห็นสวยตรงไหนเลย

นี่คือความคิดที่ผิดยุคผิดสมัย หากเราคิดว่าไม่สวยในสมัยนั้น ณ ที่ตรงนั้นของจีน เราก็จะเป็นคนตกยุค แต่ถ้าใครมาทำสิ่งนั้นในสมัยนี้ก็จะกลายเป็นคนหลงยุค

ในยุคนี้ก็มีความสวยที่สมัยนี้นิยมเหมือนกันในกรณีเรื่องเท้าในยุคนี้ก็มีเติมแต่งกันด้วยการใส่รองเท้าส้นสูง ที่เพิ่มความสูงและความสวยงาม รวมทั้งการทาเล็บเท้าด้วยสีต่างๆ ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ไร้สาระและไม่จำเป็นทำให้ชีวิตลำบาก เสียเงิน เสียสุขภาพและเสียเวลา แต่คนที่หลงว่ามันทำให้สวย หลงในความสวยก็ยังยินดีจะหา จะเอาสิ่งเหล่านั้นเขามาในชีวิตตนเหมือนสมัยที่จีนทำการดัดเท้าเพราะเชื่อว่ามันสวย

ยังมีความเข้าใจเรื่องความสวยอีกมากมายในยุคนี้ที่เป็นเรื่องตลกที่ทุกคนให้ความสำคัญอย่างจริงจังจนเรื่องไร้สาระกลายเป็นเรื่องจำเป็น เช่นการแต่งหน้าแต่งตาที่ดูจะสิ้นเปลืองแต่คนก็ยังยอมเอาเงินไปซื้อ การยอมฉีดสารเคมีต่างๆเพื่อให้ได้มาซึ่งความแต่งตึง การศัลยกรรมที่ดูแล้วยังไงก็น่าจะเจ็บปวดแต่ทำไมคนถึงยอมแลก หรือแม้แต่การแต่งตัวจนโป๊จนเกือบเปลือยสร้างค่านิยมโชว์เนื้อหนังซึ่งจริงๆ เนื้อหนังก็เป็นของสามัญที่ทุกคนก็มีแต่กลับสร้างให้เป็นเรื่องแปลกและน่าดู แม้จะดูเพี้ยนสุดๆแต่คนในยุคนี้ก็ยังทำกันไปได้

หากคนในอนาคตมองย้อนกลับมาก็อาจจะสงสัยและงงๆว่าคนในยุคนี้ทำไปได้อย่างไร ทั้งการแต่งหน้า ทั้งศัลยกรรม ทั้งการล่อลวงด้วยเนื้อหนัง ท่วงท่า ลีลาทั้งหลาย พวกเขาเป็นสุขกับของหยาบ กิเลสหยาบอย่างนี้ได้อย่างไร ทำไมคนยุคนี้ถึงได้ปรุงแต่งกิเลสกันออกมาได้แบบนี้ นี่คือสภาพที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่มีสิ่งใดคงทนถาวร แม้แต่เรื่องของความเชื่อในเรื่องความสวยงาม

…เราหลงในความสวยนั้นอย่างไร?

คนส่วนใหญ่นั้นหลงมัวเมาไปกับความสวยงามตามยุคสมัย เชื่อปักใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือความสวย คือคุณค่า คือความสุข สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กิเลสหลอก เรียกว่าเป็นอุปาทานหมู่ ซึ่งหลายคนก็ยินดีที่จะแต่งหน้า แต่งตัว ฉีดสารพิษ รวมไปถึงศัลยกรรมตกแต่งให้ร่างกายตัวเองเป็นไปตามความนิยมในยุคสมัยนั้น

กิเลสที่หลอกเราอยู่นั้นหากกล่าวกันกว้างๆก็คืออวิชชา แต่การรับรู้ว่ามันคือความไม่รู้หรือความหลงนั้นไม่สามารถช่วยให้เราเห็นกิเลสได้ ซึ่งจะยกตัวอย่างของรูปแบบและกิเลสที่ฝังอยู่ในความอยากสวยอยากงามกันด้วยกิเลสใน 4 หมวดหมู่ นั่นคือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม และอัตตา

อบายมุข … เป็นความหลงในความสวยในระดับมัวเมา เมามายไปกับการทำให้เกิดความสวยเช่น คนที่เสพติดศัลยกรรม เสพติดการแต่งหน้า ต้องซื้อเสื้อผ้าทุกอาทิตย์ ต้องไปสปา ต้องไปเข้าคอร์สเสริมความงาม เหล่านี้เป็นความหลงกับความสวยในระดับหยาบ ในระดับที่ต่ำ อยู่ในขุมนรกที่ลึกที่สุด ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา

กามคุณ … คือการหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทั่วไป ซึ่งในกรณีของความงามนั้นก็คือผิวงาม เสียงงาม กลิ่นงาม เอาง่ายๆว่าโดยรวมขอให้ดูดีไว้ก่อน ผู้ที่ติดกิเลสในระดับของกามนั้นจะมัวเมาน้อยกว่าระดับอบายมุข ซึ่งจะไม่เน้นการเสริมความงามที่ต้องทรมาน หรือเติมแต่งจนลำบาก แต่ยังมีความอยากแต่ง อยากสวย ซึ่งถ้าบำรุงบำเรอกิเลสมากๆ ก็จะเสื่อมลงไปสู่อบายมุขได้เช่นกัน

โลกธรรม … คือการหลงไปในโลก ในเรื่องของโลก เช่นสังคมเขาว่าต้องสวยแบบนี้ ต้องงามแบบนี้ ต้องหุ่นดีแบบนี้ก็เชื่อตามเขา เขาว่าอย่างไรก็ตามเขา พอไม่เป็นเหมือนอย่างเขาก็จะไม่มีความมั่นใจ คนที่ถูกกิเลสในระดับโลกธรรมจูงไปนั้น จะไม่มีความอยากสวยเป็นส่วนตัวสักเท่าไรนัก แต่ความกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าไม่สวยนั้นยังรุนแรงอยู่ โลกธรรมยังเป็นแรงผลักดันให้กิเลสโตไปถึงขั้นอบายมุขได้เช่นกัน เพราะคนที่สนใจเสียงคนรอบข้างได้ ก็อาจจะโดนสังคมพาลงไปสู่อบายมุขได้เช่นกัน

อัตตา … คือรากแท้ของกิเลส คือความหลงว่าต้องสวย หลงว่าเกิดมาแล้วต้องงาม ต้องดูดีจึงจะมีคุณค่า รวมถึงความรู้สึกมั่นใจลึกๆว่าฉันสวย ฉันดูดี ฉันมีคนนิยม คือมีตัวเราของเรา ความรู้สึกเหล่านี้ทั้งหมดคือสิ่งที่ยึดไว้ให้ตัวเรานั้นยังแสวงหาการเติมเต็มความสวยความงามให้คงอยู่ตลอด ซึ่งแท้จริงแล้วกิเลสนี้คือต้องการการยอมรับ ต้องการความสนใจ ต้องการมีตัวตน พอมีต้องการมีตัวตนก็เลยสร้างตัวตน เกิดมาเป็นคนสวย แม้ไม่สวยก็จะทำให้สวย จนยึดเป็นตัวเป็นตนต่อไปอีกที ยึดมั่นถือมั่นกันไม่ปล่อยไม่วาง ก็เลยต้องเกิดมาเสพความสวยที่ตัวเองยึดไว้กันไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว

…เราจะออกจากความหลงนั้นอย่างไร

ความหลงในความสวยนั้น หากเรายังไม่เห็นสิ่งนั้นว่าเป็นกิเลส ไม่เห็นว่าเป็นภัย ยังคงเห็นว่าการปรุงแต่งให้ความสวยนั้นคงอยู่หรือสวยยิ่งขึ้นเป็นความสุข เป็นความจำเป็นในชีวิต ก็จะไม่สามารถออกจากกิเลสได้

ในขั้นแรกต้องศึกษาให้รู้จริงด้วยใจตัวเอง ยอมรับด้วยใจตัวเองว่าความอยากสวยเหล่านี้ล้วนเป็นกิเลส ล้วนเป็นสิ่งเศร้าหมอง ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และไม่มีตัวตนอยู่จริง สิ่งที่เราเห็นทั้งหมดนั้นคือตัวตนที่เราสร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น จริงๆแล้วความสวยไม่มีอยู่ เหมือนกับความสวยที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั่นแหละ

เมื่อเห็นความอยากสวยนั้นเป็นกิเลสก็ให้เพียรพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าความอยากสวยนั้นเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นประโยชน์อย่างไรหากจะทำลายความอยากสวย จะมีกรรมอะไรบ้างที่เราต้องรับหากยังยึดติดกับความสวยเหล่านั้น

เพียรพยายามไปจนกระทั่งปัญญานั้นเต็มรอบก็จะสามารถดับกิเลสนั้นๆได้เอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากเราได้เพียรพิจารณาอย่างถูกตัวถูกตรงกิเลส คือติดกิเลสตัวไหนก็พิจารณาตัวนั้น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม พิจารณาไล่มาเรื่อยๆจะจบที่อัตตาเอง

เมื่อพิจารณาจนหมดความยึดมั่นถือมั่นในความสวย ก็จะสามารถออกจากนรกแห่งความสวย หลุดจากวงจรของความสวยสมัยนิยม ไม่ต้องทุกข์เพราะความไม่สวย ไม่ต้องมารับกรรมจากความสวย ไม่ต้องสนใจเรื่องไร้สาระเหล่านี้อีกต่อไป เมื่อไม่มีเหตุให้ทุกข์ก็ไม่เป็นทุกข์ และความหมดทุกข์นั่นเองก็คือความสุขที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

20.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ

November 4, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,779 views 0

คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ

Download ภาพขนาดเต็ม กดที่นี่

คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ

ในกลุ่มของมังสวิรัติวิถีพุทธ เราจะใช้การฝึกและปฏิบัติไปในแนวทางของศาสนาพุทธ คือเพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ เพราะเป้าหมายของการเป็นมังสวิรัติในความหมายของมังสวิรัติวิถีพุทธ คือผู้ที่ไม่มีความอยากกินเนื้อสัตว์หลงเหลืออยู่ในจิตวิญญาณเลย

เมื่อเราพูดถึงเรื่องของการกำจัดความอยาก การละความอยาก หรือการทำลายกิเลสนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความรู้และความเข้าใจในศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือ เป็นกระบวนการ เป็นเครื่องตรวจสอบ ฯลฯ

ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นต้องเรียบเรียงธรรมะเข้ากับการกินมังสวิรัติ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติหรือ “มังสวิรัติวิถีพุทธ” ด้วยองค์ความรู้ใน 9 หมวดหมู่ดังนี้

1 ). ทาน ศีล ภาวนา… เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ

การเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในมังสวิรัติวิถีพุทธ ต้องเริ่มตามลำดับจากการรู้จักการให้ทาน การถือศีล ไปจนกระทั่งการภาวนา

การให้ทานที่รู้กันโดยทั่วไปนั้นคือการทำบุญทำทาน การสละสิ่งของ ในกรณีเริ่มต้นก็จะเป็นการทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ ส่งเสริมการกินมังสวิรัติ ให้ความรู้มังสวิรัติกับคนอื่น แต่ทานที่จะให้ผลมากนั้นคืออภัยทาน คือทานที่ไม่มีภัย เป็นทานที่สละกิเลส สละความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ออกไป โดยใช้กระบวนการของการถือศีล และภาวนา

การถือศีลคือความตั้งมั่นที่จะลด ละ เลิก การเสพ การติดการยึดความสุขจากการกินเนื้อสัตว์ อย่างจริงจังในช่วงใดช่วงหนึ่งหรือตลอดไปการถือศีลมีหลายลักษณะ เช่น การถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ,การถือศีลเหยาะแหยะ , การถือศีลเพื่อฆ่ากิเลส การถือศีลหรือเข้าใจศีลแต่ละแบบเป็นไปตามบุญบารมีที่แต่ละคนได้สะสมมา

ศีลเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้เห็นกิเลส ให้เห็นว่ายังมีบาป บาปคือการสะสมกิเลส การที่ไม่ถือศีลก็เหมือนคนที่ทำบาปแต่ไม่รู้ว่าบาป บาปนั้นมีอยู่เพียงแต่ไม่เห็น

การภาวนาคือการทำให้เกิดผลเจริญ เป็นการพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นกิเลสที่หยาบ ร้าย สร้างทุกข์ โทษ ภัยผลเสียอย่างไรโดยเริ่มเรียนรู้สุขจากความอยากเสพ ทุกข์จากความอยากเสพ และวิธีดับทุกข์คือการล้างความอยากเสพนั้น

ผู้ที่จะเริ่มเข้าสู่การปฏิบัติมังสวิรัติวิถีพุทธควรจะเริ่มเรียนรู้จากทาน ศีล เจริญมาจนถึงภาวนา การจะรู้และเข้าใจการภาวนาได้นั้น เกิดจากการที่เราได้ปฏิบัติทานและศีลมาด้วยบุญบารมีที่เต็มรอบ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงภาวนาได้ บางคนติดอยู่ที่ระดับทาน บางคนติดอยู่ที่ระดับศีล สามารถสังเกตได้จากเขาเหล่านั้นไม่ยินดีประพฤติธรรมที่สูงกว่า เจริญกว่า ดังนั้นใครอยู่ในฐานใดก็ควรจะปฏิบัติตามฐานของตน เป็นกรรมฐาน เป็นฐานะตามกรรมของตัวเอง

2 ). ศีล สมาธิ ปัญญา… เป็นกระบวนการปฏิบัติ

ศีล สมาธิ ปัญญานั้นเป็นการปฏิบัติที่เป็นไปในทางเดียวกัน ไม่แยกจากกัน ปฏิบัติอย่างสอดคล้องกัน ไม่มุ่งเน้นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ผลักไสสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ปฏิบัติไปพร้อมๆกัน เป็นองค์ประกอบเดียวกัน

เริ่มจากการปฏิบัติศีล ศีลของมังสวิรัติวิถีพุทธก็คือ การละเว้นจากการเบียดเบียน ซึ่งเป็นศีลข้อ ๑ ที่ให้ละเว้นการฆ่าสัตว์ แต่เป็นศีลที่อยู่ในระดับของอธิศีล คือละเอียดกว่าทั่วไป ยากกว่าทั่วไป เพราะนอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้ว เรายังไม่เบียดเบียนด้วย และเรายังต้องมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายด้วย สภาวะเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะคิดเอาได้ แต่ต้องเกิดจากการปฏิบัติศีล อย่างมีสมาธิ จนเกิดปัญญา

การตั้งศีลนั้นเริ่มจากมีปัญญา เข้าใจถึงประโยชน์ของศีล หากไม่มีปัญญาก็จะไม่ยินดีในการถือศีล เมื่อถือศีลแล้วจึงปฏิบัติศีลนั้นด้วยความตั้งมั่น มั่นคงในศีล มีสมาธิ มีสติ มีขันติ เพื่อดำรงให้ศีลไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย ใช้ปัญญาพิจารณาโทษของการมีความอยากเสพเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปัญญาที่เป็นมรรค กลายเป็นปัญญาที่เป็นผลเจริญ คือเข้าใจได้ตามจริงโดยไม่มีกิเลสมาปนเปื้อนว่า ความอยากเสพเนื้อสัตว์ มีทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย อย่างไร

เมื่อปฏิบัติศีล ด้วยสมาธิ และมีปัญญาแล้ว ผลสุดท้ายที่ได้คือมีสภาวะของศีลในจิตใจอย่างเป็นปกติ ถือศีลได้ปกติ ถือเหมือนไม่ได้ถือ มีอยู่แต่ไม่ได้ถือ ไม่ลำบากในการมีศีล เหมือนสิ่งที่รวมเข้าไปในวิญญาณ มีความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์เป็นเรื่องปกติในชีวิต และมีปัญญาในการหลีกหนีสถานการณ์ที่ต้องไปกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีศิลปะ

3 ). สมถะ วิปัสสนา… เป็นแนวทางปฏิบัติ

การปฏิบัติธรรมนั้น จำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องของสมถะ วิปัสสนาด้วย เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราไปสู่จุดหมายได้ง่ายขึ้น

สมถะ คืออุบายทางใจ โดยทั่วไปจะเป็นการฝึกจากการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ซึ่งโดยหลักของสมถะแล้ว เป็นการกำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง จุดใดจุดหนึ่ง เราสามารถประยุกต์สมถะเข้ากับชีวิตประจำวันได้ เช่น การทำอาหาร การล้างผัก การหั่นผัก หรือกิจกรรมที่เป็นไปในลักษณะซ้ำๆ มีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการฝึกสมถะทั้งสิ้น

สมถะ นี้คืออุปการะของการวิปัสสนา เป็นส่วนเสริมพลังให้กับการวิปัสสนาได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มพลังสติ พลังสมาธิ ที่ช่วยในการกดข่มความอยาก ดับความคิดที่ฟุ้งซ่านได้ดียิ่งขึ้น ผู้ที่ต้องการบรรลุธรรมไวก็จะทำสมถะไปควบคู่กับการวิปัสสนา

วิปัสสนา คืออุบายทางปัญญา เป็นการพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง เมื่อเรามีความอยากเสพเนื้อสัตว์อยู่ เราก็จะมีความลำเอียงไปเพราะรักและหลงในเนื้อสัตว์ วิปัสสนาจะเข้ามาแก้ไขความเห็นผิดในจุดนี้

การทำวิปัสสนานั้นกระทำโดยใช้พื้นฐานของการถือศีลกินมังสวิรัติให้ได้เห็นกิเลส เมื่อเราถือศีลเราจะเห็นทุกข์จากกิเลส คือความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ชัดเจน เมื่อเห็นดังนั้นจึงพิจารณาทุกข์จากความอยากเสพเนื้อสัตว์ เช่นทุกข์เมื่อไม่ได้กินและทุกข์เมื่อไม่ได้เสพเนื้อที่อร่อยสมใจ

พิจารณาความไม่เที่ยงของความสุขที่ได้จากความอยากเสพเนื้อสัตว์ แม้ว่าเราจะอยากกินเนื้อสัตว์มากๆแล้วไปเสพ มันก็จะมีความสุขได้ครู่เดียว สุขตอนที่เอาเข้าปาก ตอนที่เคี้ยว พอกินอิ่มสุขนั้นก็หายไป ไม่เหมือนตอนกิน อีกไม่นานก็อยากกินเนื้อสัตว์ใหม่ สุขจากเสพมันไม่เที่ยงแบบนี้

พิจารณาความไม่มีตัวตนแท้ของกิเลส คือความอยากเสพเนื้อสัตว์นี้ จริงๆมันไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่เราไปหลงยึด หลงติดมาเป็นตัวเราของเรา หลงยึดว่าได้เสพเนื้อสัตว์แล้วจะมาความสุข หลงยึดว่าหากเราไม่มีกิเลสตัวนี้เราจะทุกข์ แท้จริงแล้วกิเลสนี่แหละตัวทำให้ทุกข์ และกิเลสไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กิเลส เราสามารถทำลายกิเลสนี้ได้ ผลักไสมันออกจากตัวเราได้

พิจารณาประโยชน์ของการไม่มีความอยากเสพเนื้อสัตว์และโทษจากความอยากเสพเนื้อสัตว์นั้น โดยพิจารณาไปตามความเป็นจริง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง และโทษที่เกิดขึ้นจริง

พิจารณากรรมและผลของกรรม หากเรายังมีความอยากเสพเนื้อสัตว์ จะสร้างผลกรรมให้เราอย่างไรบ้าง จะต้องรับวิบากกรรมไปอีกเท่าไหร่ กรรมที่เราต้องรับจะคุ้มค่ากับความอยากเสพของเราแค่ไหน

การวิปัสสนานั้น เป็นการพิจารณาธรรม ซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ เพื่อให้กิเลส จางคลาย ลด หด หายไปตามลำดับ มิใช่ทำเพื่อบรรลุธรรมโดยทันที เพราะการบรรลุธรรมโดยทันทีนั้นไม่มีทางเกิดได้หากไม่ได้สะสมบุญบารมีมาแต่ปางก่อน ผู้ที่ยังมีบุญน้อย มีกุศลน้อย นั่นเพราะเขาลดกิเลสมาน้อย สะสมกิเลสมาเยอะ ดังนั้นการล้างกิเลสจึงจำเป็นต้องใช้เวลามาก ไม่ควรหวังผล หรือเร่งผลจนเกินไป

4 ). ไตรสิกขา… เป็นขั้นตอนการปฏิบัติ

ไตรสิกขา คือการศึกษาสามอย่าง อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา …อธิ แปลว่ายิ่งขึ้น การใช้ไตรสิกขาในการกินมังสวิรัติก็คือการยกระดับการกินมังสวิรัติให้เบียดเบียนน้อยลง เช่น ตอนแรกเราลดเนื้อวัว พอทำให้ความอยากจางคลายได้เราก็มาลดเนื้อหมู ลดเนื้อไก่ ลดปลา ลดกุ้ง ลดปลาหมึก ลดลูกชิ้น ลดขนมที่มีรสของเนื้อสัตว์ ลดไข่ ลดนมวัวฯลฯ

คือการพัฒนาขอบเขตของศีลขึ้นไป เมื่อเราขยายของเขตของศีล หรือการละเว้นต่างๆขึ้นไป เราก็ต้องขยายขอบของสมาธิ และปัญญาด้วย เพื่อที่จะปฏิบัติศีลนั้นให้เจริญไปถึงผลของศีลนั้นๆได้ เมื่อปฏิบัติได้ก็ขยับเพิ่มศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ

5 ). ลด ละ เลิก ไปตามลำดับ…เป็นลำดับการปฏิบัติ

การปฏิบัติไตรสิกขาในระดับย่อย ของความอยากเสพเนื้อสัตว์ในแต่ละชนิด ยกตัวอย่างเช่นเนื้อวัว อธิศีลของคนที่เสพติดเนื้อวัวมากๆก็คือการลด คือลดปริมาณการเสพเนื้อวัว หันมากินผักให้มากขึ้น หรือเสพเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆไปก่อน เช่น ไก่ หรือปลา (เราต้องแก้โจทย์ไปทีละตัว ในตอนนี้คือเนื้อวัว)

เมื่อลดเนื้อวัวได้แล้ว เราก็จะมาละเนื้อวัว อาจจะละในชนิดของเนื้อวัวเช่น สเต็กไม่กิน แต่ถ้าในก๋วยเตี๋ยวก็อาจจะพอเสพอยู่ หรือใช้การละเป็นช่วงเวลาเช่น วันจันทร์-ศุกร์ไม่กินเนื้อวัว , สัปดาห์นี้ไม่กินเนื้อวัว , เดือนนี้ไม่กินเนื้อวัว , ปีนี้ไม่กินเนื้อวัว ลองหัดละ หัดพรากจากเนื้อวัวดู

หากเรารู้สึกไม่ทุกข์ทรมานจากการละก็ให้ตั้งศีลเลิกเนื้อวัวไปเลย ตั้งใจว่าจะเลิกทั้งชีวิตไปเลย จากนี้และตลอดไปจะไม่มีวันอยากกินเนื้อวัวอีกเลย จะไม่สั่ง ไม่หยิบ ไม่เอาเนื้อวัวเข้าปากอีกเลย เมื่อตั้งศีลได้ดังนี้ก็จะเห็นกิเลสในระดับละเอียดขึ้นไปอีก ก็พิจารณาฆ่ากิเลสต่อไป

การปฏิบัติไปตามลำดับนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะมีการเจริญขึ้นตลอดเวลา บางครั้งเราก็อาจจะมีแรงไม่พอที่จะสู้กิเลสซึ่งก็ต้องถอยกลับมากินเนื้อสัตว์บ้างเพื่อไม่ให้ทุกข์ทรมานจิตใจมากเกินไป หรือแม้กระทั่งเนื้อสัตว์บางชนิดที่ติดมากๆ ก็ให้ละเว้นการตั้งศีลละเนื้อสัตว์ชนิดที่ติดมากไปก่อน ให้ปฏิบัติกับเนื้อสัตว์ที่ติดไม่มากไปก่อน เพราะการตั้งศีลที่ยากเกินกำลังนั้นนอกจากจะปฏิบัติยากแล้ว อาจจะทำให้ท้อแท้ต่อการปฏิบัติธรรมไปเลยก็ได้

6 ). ทางสายกลาง… เป็นขอบเขตของการปฏิบัติ

คำว่าทางสายกลางนั้น เป็นการปฏิบัติที่ไม่โต่งไปในสองด้าน ด้านหนึ่งคือความอยากเสพเนื้อสัตว์ อีกด้านหนึ่งคือการทรมานตัวเองด้วยความยึดดีถือดี อยากกินเนื้อสัตว์แล้วอดทนจนทรมาน เพราะมีความอยากเสพแรงแต่อดกลั้นไม่ไปเสพ

ในด้านของความอยากเสพเราจะเรียกว่า “ กาม ”(กามสุขัลลิกะ) เราจำเป็นต้องละเว้นกามก่อน เพราะกามนี้เองคือสิ่งที่ผลักดันให้เราไปเบียดเบียนผู้อื่น ไปกินเนื้อสัตว์ ไปหลงงมงายอยู่ว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี สิ่งเลิศ สิ่งจำเป็น เราขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ เราจึงต้องละเว้นจากทางโต่งด้านนี้เสีย

ในด้านการทรมานตัวเองด้วยความยึดดีเราจะเรียกว่า ” อัตตา ” (อัตตกิลมถะ)เมื่อเราละเว้นกามจนเกินพลังของเรา บางครั้งจะเข้าไปในขีดของการทรมานตัวเอง เพราะความยึดดี ถือดี อยากเสพมากแต่ก็ไม่ไปกิน ทำให้เครียด ทำให้กดดัน ทำให้ท้อ ทำให้ทุกข์ อัตตานี้เองคือการเบียดเบียนตัวเอง เพราะมีความยึดดีถือดี เมื่อมีความอยากเสพเกินกำลังและมากจนเริ่มเครียด เริ่มทรมาน เราจึงควรลดอัตตาลง ไปเสพเนื้อสัตว์เพื่อให้คลายความทรมานบ้าง

ทั้งนี้คนที่ยึดมั่นในอัตตา เพราะมีความถือดี คิดว่าตัวเองทำดีได้มากกว่านั้น เป็นความโลภ ความอยากได้การบรรลุธรรมที่เกินฐานะของตัวเอง เกินกว่าที่ตัวเองทำมา กิเลสมีพลังมหาศาล แต่คิดเพียงว่าจะอดเอาทนเอา ซึ่งเมื่อจิตใจเข้าสู่สภาวะของอัตตาเมื่อไหร่ ก็เรียกได้ว่าปิดประตูบรรลุธรรม นั่นหมายความว่าถึงจะอดเอาทนเอา แต่ถ้าเกินความพอดีก็ไม่บรรลุธรรมเหมือนกัน การมีอัตตาจึงไม่มีประโยชน์ใดๆ มีเพียงคนโง่เท่านั้นที่จะยึดไว้

ในการปฏิบัติสู่ทางสายกลางหรือสัมมาอริยมรรคนั้น ต้องปฏิบัติไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป ไม่เสพเนื้อสัตว์ และไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ในขณะที่ปฏิบัติมรรคไปในเวลาเดียวกันจึงจะเกิดความเจริญ ในช่วงที่ปฏิบัติและยังไม่ถึงผลนั้น ก็จะเหมือนคนเดินเซ ซ้ายที ขวาที แต่ถ้าปฏิบัติจนล้างกิเลสได้ กิเลสตายแล้ว จะเข้าสู่สภาพของมรรคเอง

7 ). ข้ามกิเลส ข้ามสามภพ… เป็นจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ

การข้ามกิเลสนี้ เราจำเป็นต้องรู้ว่ามีกิเลส ซึ่งเป็นแรงผลักดัน เป็นเหตุแห่งทุกข์อยู่ 4 หมวด คือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม และอัตตา

อบายมุข คือการที่เราไปเสพติดเนื้ออย่างลุ่มหลง มัวเมา เช่นการตามไปกินเนื้อสัตว์ตามที่เขานิยม เดินทางไปเสาะหาร้านเนื้อสัตว์ที่มีชื่อเสียงเพราะหลงมัวเมาในความเป็นเนื้อ หลงว่าการกินเนื้อคือความสุข ความเจริญ

กามคุณ คือ กิเลสในระดับที่เราติดรส ไม่ได้ตระเวนไปเสาะหาเนื้อที่ดีเลิศ แต่เมื่อมีโอกาสจะสั่งเนื้อสัตว์ที่ชอบตลอดเพราะหลงในรส หลงในสัมผัสของเนื้อ

โลกธรรม คือการที่เราไปติดกับคำพูดของคนอื่น ในกรณีที่เลิกยังไม่เลิกเสพ ก็จะไปติดกับคำพูดคนอื่นจนไม่เลิกเสพ ในกรณีที่เราไม่กินเนื้อแล้ว เราก็มักจะกลับไปกินเนื้อเพราะความเกรงใจคนอื่น กลัวคนอื่นลำบากใจ กลัวเป็นคนยุ่งยากเรื่องมาก กลัวและกังวลต่อความคิดเห็นของคนอื่น

อัตตา คือการที่เราไปยึดเนื้อสัตว์ไว้เป็นเสมือนสิ่งจำเป็นในชีวิตของเรา เช่น เราจำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วไม่แข็งแรง ฉันชอบกินเนื้อสัตว์ ฉันเป็นสัตว์กินเนื้อ และเมื่อเราข้ามความอยากกินเนื้อสัตว์ไปแล้วจะไปเจออัตตาในมุมของนักมังสวิรัติผู้ยึดดีถือดี

การข้ามสามภพ … สามภพนั้นคือสภาวะที่เราติดกิเลสอยู่ในสามลักษณะ ในส่วนแรกคือกามภพ คือการที่เรายังไปเสพ ไปกินเนื้อสัตว์อยู่ ถ้าเรายังไปเสพไปกินด้วยความอยากกิน ไม่ว่าในกรณีใดๆ เราก็ยังอยู่ในกามภพ

รูปภพ คือสภาพที่เจริญขึ้นมาจากกามภพ เป็นสภาวะที่ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้ว สามารถอดกลั้นได้ แต่หากเห็นเนื้อสัตว์ที่ชอบก็จะมีอาการอยากเกิดขึ้นจนรู้สึกได้ มีความคิดที่จะไปกินเนื้อสัตว์ มีความคิดถึงเนื้อสัตว์นั้นเป็นรูปที่สัมผัสได้ชัดเจน ดังเช่น การปรุงแต่งความคิดภายในใจประมาณว่า “เนื้อชิ้นนี้น่าอร่อยจัง แต่เราต้องอดไว้ทนไว้

เมื่อผ่านรูปภพได้แล้ว จะเข้าสู่อรูปภพเป็นสภาวะที่เห็นเนื้อสัตว์ที่ชอบแล้วก็จะไม่มีการปรุงแต่งความนึกคิดหรือคำพูด หรือการกดข่มใดๆอีก คือไม่มีรูปให้เห็น ไม่เห็นกิเลสเป็นตัวชัดๆแล้ว แต่จะเหลือความขุ่นใจ กังวลใจ ห่วงหา เป็นความไม่โปร่งไม่โล่ง ไม่สบายใจ แต่ไม่ออกมาเป็นรูปของคำว่า “อยากกินเนื้อ” จะเหลือแต่อารมณ์ขุ่นๆ ไม่ใส ซึ่งยากต่อการรู้และตรวจสอบ เมื่อเข้าสู่ภาวะของอรูปภพ คนมักจะประมาทหลงว่าบรรลุธรรมแล้ว ซึ่งการข้ามอรูปภพนี้แหละคือโจทย์ปราบเซียน โจทย์สุดท้ายก่อนถึงวิมุตติ

สามภพนี้เราควรละเสียให้หมด เพราะถ้าทำลายไม่หมด แม้จะเจริญได้ถึงอรูปภพแล้ว แต่ประมาทสะสมกิเลส ก็วนกลับไปกามภพได้เช่นกัน แต่ถ้าเราเพียรพยายามละทั้งสามภพนี้เสียจะพ้นสภาพของความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างถาวร ไม่กลับกำเริบอีก

8 ). ทำลายอัตตา… เป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติ

เมื่อเราล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์ หรือมีความตั้งใจที่ละเว้นเนื้อสัตว์แล้ว เราจะเกิดความยึดดีถือดีขึ้นมา เรียกว่าอัตตา อัตตานี้เองคือสิ่งที่จะช่วยให้เราออกจากความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ เพราะการที่เราจะออกจากความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้นั้น เราจะต้องเกลียดเนื้อสัตว์ เห็นโทษของเนื้อสัตว์ เมื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์จะได้อัตตาก้อนโตมาหนึ่งก้อน

เมื่อมีอัตตาก้อนโต ก็มักจะไปดูถูกคนที่ยังกินเนื้อ ยกตนข่มท่าน โอ้อวด หัวดื้อ ฯลฯ เรียกได้ว่าออกจากนรกเนื้อสัตว์ได้เราก็จะได้คนติดดีมาหนึ่งคน ซึ่งนั่นก็ชั่วอยู่นั่นเอง เพราะคนติดดีนี่แหละที่จะทำลายความสามัคคี ทำลายกลุ่ม แบ่งคนออกเป็นสองพวก เพราะมีความยึดดี ถือดี หลงว่าตนเป็นคนดี

คนติดดีในมังสวิรัติ ในบางครั้งนอกจากที่เขามักจะไปข่ม ไปแขวะ ไปทำร้ายทำลายใจคนที่ยังกินเนื้อสัตว์แล้ว ความถือดีเหล่านั้นยังมักจะมาทำร้ายผู้ที่กินมังสวิรัติด้วยกันด้วย เช่นพอหลงว่าตนเก่งตนดี ก็มักจะข่มคนที่กินมังสวิรัติได้ด้อยกว่า หรือถ้าเห็นใครเป็นมังสวิรัติแล้วผิดกฎที่เขาตั้งไว้ เขาก็มักจะทำตัวเป็นผู้พิพากษามังสวิรัติ ด้วยความยึดดีถือดีในตัวเขานั่นเอง

ความยึดดีถือดีถ้ามีมากขนาดนี้เรียกได้ว่าโง่สุดโง่ เพราะแทนที่จะชวนคนกินเนื้อมากินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา แทนที่จะส่งเสริมให้คนหัดกินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา แทนที่จะเห็นดีกับเพื่อนที่กินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา เรียกได้ว่าทำกรรมชั่วกับคนดี แล้วแบบนี้บาปและอกุศลกรรมจะไปไหนเสีย

คนที่ยังเบียดเบียนคนอื่นด้วยอัตตา หรือความยึดดีของตัวเอง ก็ยังถือว่าเป็นการเบียดเบียนสัตว์โลกอยู่นั่นเอง แม้ว่าจะไม่ได้ไปเบียดเบียนสัตว์ แต่ก็ไปเบียดเบียนคนอื่น มันก็ยังชั่วอยู่นั่นเอง จะเรียกว่าคนดีนั้นเป็นไปไม่ได้เลย

คนกินมังสวิรัติที่มีอัตตามากๆ เวลาเห็นสัตว์ถูกทรมานแล้วจะเกลียด เห็นอาหารเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนกินเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนกินมังสวิรัติที่ไปกินเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนอื่นผิดหมด ตัวเองถูกและดีอยู่คนเดียว สร้างความทรมานใจให้ตัวเอง แถมบางครั้งยังไปทำร้ายจิตใจคนอื่น เป็นนรกล้วนๆ

การที่ยังมีอัตตาอยู่แม้น้อย นั่นคือตัวกันไม่ให้เราบรรลุธรรม ในมังสวิรัติวิถีพุทธ การที่เราจะถึงเป้าหมายปลายทางคือความผาสุกจากการหมดสิ้นกิเลส เราจำเป็นต้องล้างกาม และอัตตาจนสิ้นเกลี้ยง

9 ). ตรวจสอบวิมุตติ … เป็นที่สุดของการปฏิบัติ

เป้าหมายของมังสวิรัติวิถีพุทธคือวิมุตติ หรือสภาพของการหลุดพ้นกิเลส คือหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ทุกข์ ไม่ทรมาน แม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ หรือเห็นว่าคนอื่นกินเนื้อสัตว์ ไม่ติดดี ยึดดี ถือดี ในเรื่องของเนื้อสัตว์ ใครจะกินมังสวิรัติก็ได้ ไม่กินก็ได้ ลดแค่เนื้อวัวก็ได้ หรือจะลดเท่าไหร่ก็ได้ มีความยินดีกับทุกคนที่สนใจกินมังสวิรัติ ไม่รู้สึกยินร้ายแม้ว่าใครจะไม่กินมังสวิรัติ หรือไม่เอาดีตามที่ตนเองได้แนะนำ หรือแม้แต่เห็นผู้ที่กินมังสวิรัติไปกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกยินร้าย หรือรู้สึกทุกข์ โกรธ แค้น ขุ่นเคืองใดๆ

ไม่ได้มีความรังเกียจเนื้อสัตว์ หรือการที่สัตว์จะมาตาย ไม่มีแม้แต่ความรังเกียจใดๆที่ใครสักคนจะยินดีและหลงเสพเนื้อสัตว์ เพราะเข้าใจในกฎแห่งกรรมอย่างถ่องแท้ เข้าใจเรื่องกิเลสอย่างชัดเจน รู้แจ้งทุกเหลี่ยมทุกมุม รู้ดีว่าการทำลายกิเลสนั้นยากแค่ไหนและเข้าใจว่าทำไมคนถึงยังหลงเสพหลงยึด

ผู้ที่บรรลุธรรมจะไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่ไปทำให้ตัวเองและผู้อื่นเกิดความทุกข์ ไม่เอาความดีที่ตนมี ไปอวดเบ่ง ไปกดดัน ไปข่มเหง ไปทับถมผู้อื่น

สภาพของวิมุตติคือสภาวะจิตที่ข้ามกิเลสสามภพ เป็นสภาพที่ไม่ดูดไม่ผลัก ไม่รักไม่เกลียด แต่เห็นประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง เป็นสภาพที่กิเลสตายและไม่กลับมากำเริบ แม้จะได้เผลอหรือตั้งใจกลับไปทดลองกินเนื้อสัตว์แต่ก็ไม่มีวันที่ความอยากกินนั้นจะกลับมาอีก จะไม่มีวันที่จะเกิดความสุขจากการเสพอีก เพราะมีความสุขที่มากกว่าแล้ว นั่นคือสภาพของวิมุตติ หรือสุขจากการพ้นกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

4.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติทางสายกลาง การปฏิบัติธรรมด้วยการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยเว้นจากทางสุดโต่งสองด้าน

October 19, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,587 views 0

มังสวิรัติทางสายกลาง

มังสวิรัติทางสายกลาง การปฏิบัติธรรมด้วยการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยเว้นจากทางสุดโต่งสองด้าน

ในสังคมยุคปัจจุบันนี้ การกินมังสวิรัติเป็นสิ่งที่เข้าใจและรับรู้กันโดยทั่วไปว่า เพื่อสุขภาพ เพื่อละเว้นชีวิตสัตว์ เพื่อความไม่เบียดเบียน เพื่อกุศล นั่นก็เป็นความรู้ความเข้าใจที่มีทิศทางไปในด้านบวก ด้านที่เจริญ ซึ่งก็ดีอยู่แล้ว แต่แท้ที่จริงแล้วการกินมังสวิรัติยังมีประโยชน์มากกว่านั้น ยังมีสาระสำคัญมากกว่านั้น หากเราเข้าใจการกินมังสวิรัติเพื่อการปฏิบัติธรรม

แผนที่การเดินทางที่จะทำให้เราไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้นก็คือทางสายกลาง เป็นทางเดียวที่จะพาพ้นจากทุกข์ และเช่นเดียวกับการกินมังสวิรัติ หากเราต้องการกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืน มีแค่ทางนี้ทางเดียวคือเราจะต้องเป็น “มังสวิรัติทางสายกลาง

ทางสายกลางคืออะไร?

ทางสายกลางนั้นคือมรรควิถี คือสัมมาอริยมรรค แต่การจะเดินไปบนเส้นทางสายกลางนั้นไม่ง่าย ไม่ใช่เพียงแค่คิด ไม่ใช่เพียงแค่ท่องจำ ไม่ใช่เพียงแค่รู้ ไม่ใช่เพียงแค่เข้าใจ ไม่ใช่เพียงแค่เพ้อฝันเอาเองว่ากำลังเดินบนทางสายกลางแต่ต้องพากเพียรปฏิบัติจนถึงผลนั้น

การจะมาสู่ทางสายกลางนั้น เราต้องต้องเว้นจากทางโต่งทั้งสองด้านเสียก่อน เหมือนกับคนเมาที่เดินเซไปเซมา ซ้ายทีขวาที เราเองก็เช่นกัน ถ้าเรายังเป็นคนที่หลงมัวเมาอยู่ในกิเลส เราก็จะเดินหลงไปทางโต่ง ไม่ด้านในก็ด้านหนึ่ง สลับกันไปมา ไม่สามารถเดินตรงได้สักที

การจะบอกว่าตนเองนั้นหลงมัวเมาอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโดยส่วนมากคนที่หลงมัวเมาก็จะไม่รู้ว่าตัวเองมัวเมา หรือหลงยึดหลงติดอยู่กับอะไร ดังนั้นการนำศีลเข้าไปปฏิบัติจะทำให้เราได้เห็นขอบเขตการมัวเมาของเรา เหมือนกับเอาเชือกมากั้นไว้ไม่ให้เดินออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งการกินมังสวิรัติก็เป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้เราได้เห็นความมัวเมาลุ่มหลงในทางโต่งสองด้านนั่นเอง

ทางโต่งสองด้าน

ด้านกาม หรือ กามสุขลิกะ …คือการโต่งไปในทางการเสพ ในกรณีมังสวิรัติ นั่นคือการที่เรายังไปกินเนื้อสัตว์อยู่ ไม่ว่าจะในกรณีใดๆก็ตาม หากกินด้วยความอยาก ด้วยความอร่อย ด้วยความติดใจในรสชาติของเนื้อสัตว์นั้น ก็หมายถึงการติดกาม เป็นทางโต่งทางหนึ่งที่ควรละเป็นอันดับแรก เพราะจะเกิดการเบียดเบียนผู้อื่นอย่างเป็นรูปธรรม คือการเอาเลือดเอาเนื้อของสัตว์อื่นมาบำรุงกิเลส บำรุงกามของเรา เป็นอกุศล เป็นบาป จึงควรละทางโต่งด้านนี้เสีย

ด้านอัตตา หรือ อัตตกิลมถะ… คือการโต่งไปในทางการทรมานตัวเองด้วยอัตตา ในมุมของผู้ที่ยังยึดติดกับเนื้อสัตว์ ก็จะทรมานตัวเองโดยการกินเนื้อสัตว์ เพราะหลงยึดหลงติดว่าเนื้อสัตว์นั้นมีคุณค่าทางอาหาร หากไม่บริโภคเนื้อสัตว์แล้วจะป่วย จะไม่แข็งแรง เป็นอัตตาที่ยึดไว้ ทำให้ต้องทรมานตัวเองด้วยการกินเนื้อสัตว์

ทรมานอย่างไร? ในเมื่อกินแล้วมีความสุขจากเสพ ..พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ผู้ที่ยังหลงติดหลงยึดในการเบียดเบียนเพราะเข้าใจไปว่าต้องเบียดเบียนเพื่อให้ตัวเองแข็งแรง เพื่อสุขภาพดีนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด ดังนั้นจึงเป็นการทรมานตัวเองด้วยวิบากบาปอันเกิดจากความไม่รู้แจ้งในเรื่องกรรมและผลของกรรม

และเมื่อเรายึดเนื้อสัตว์เป็นอัตตา แม้จะมีผู้รู้ท่านใดมาบอกว่าการยึดนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิเพียงไร คนผู้ยึดอัตตาก็มักจะกอดความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นดี เป็นการทรมานตัวเองไปเรื่อยๆ โดยการกอดกิเลสไว้ไม่ยอมให้ตัวเองพ้นทุกข์

ในอีกมุมหนึ่งของอัตตาคือความยึดดี ถือดี อวดดี มักเกิดขึ้นในผู้ที่สามารถละทางโต่งในด้านกามได้สมบูรณ์แล้ว คือไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้ว ก็จะมีความยึดดี หลงว่าสิ่งที่ตัวทำนั้นดี มักจะเอาความรู้ ความถือตัวไปข่ม ไปเบ่งทับคนที่เขายังไม่สามารถละกิเลสได้ ซึ่งการยึดดีถือดีเหล่านี้ก็เป็นการเบียดเบียนเหมือนกัน สุดท้ายพอไม่ได้ดั่งใจ ไม่สามารถทำให้ใครมากินมังสวิรัติได้อย่างใจ ก็มักจะทุกข์ใจ ขุ่นเคืองใจ เป็นการทรมานตนเองด้วยอัตตา เป็นทุกข์เพราะความยึดดี ถือดี เป็นการเบียดเบียนทั้งคนเองและผู้อื่น มักจะเสพยินดีกับเหตุการณ์ที่ตัวเองคิดว่าต้องเกิดดี พอไม่เกิดดีดังใจหมายก็ทุกข์ก็มักจะทำร้ายตัวเองและผู้อื่นด้วยความยึดดี เป็นการบำรุงอัตตาของเรา เป็นอกุศล เป็นบาป จึงควรละทางโต่งด้านนี้เสียด้วย

…ดังจะเห็นได้ว่า การกินมังสวิรัติทางสายกลางนั้น ไม่ได้หมายถึงการกินเนื้อสัตว์บ้างกินผักบ้าง แต่เป็นการเว้นขาดจากการไปเสพกาม เว้นจากการเสพเนื้อสัตว์ หรือไม่ไปกินเนื้อสัตว์เลย และไม่ทรมานตนเองด้วยอัตตา คือความยึดดี ถือดี ยึดว่าคนอื่นต้องกินผัก เลิกกินเนื้อสัตว์จึงจะเป็นสุข กินมังสวิรัติด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่รังเกียจเนื้อสัตว์ ไม่ได้รักผัก แต่ก็ไม่กินเนื้อสัตว์ และยินดีในการกินผัก

การกินมังสวิรัติทางสายกลางนี้และคือทางเดียวที่จะทำให้ชีวิตตนเองและผู้อื่นเป็นไปด้วยความผาสุก ตัวเราก็ใช้ชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และสามารถเผยแพร่ความรู้ในการกินมังสวิรัติด้วยความเป็นอนัตตา ซึ่งจะทำให้ผู้ที่สนใจสามารถรับฟังและเข้าใจโดยไม่มีความอึดอัดขุ่นเคืองใจ ไม่กดดัน ไม่บังคับ ไม่บีบคั้น เป็นเพียงแค่การเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์ประโยชน์และคุณค่าของการกินมังสวิรัติโดยการปฏิบัติทางสายกลางเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้บงการ ผู้กำกับใดๆ ใครจะกินก็ได้ ไม่กินก็ได้ จะกินมังสวิรัติเฉยๆไม่ปฏิบัติธรรมก็ได้ หรือจะปฏิบัติไปด้วยก็ได้

เมื่อเราปฏิบัติล้างความยึดติดในทางโต่งสองด้านแล้ว เราก็จะเข้าสู่ความผาสุกในชีวิตหรือวิถีแห่งสัมมาอริยมรรคได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นความสุขความเจริญ เป็นคุณค่าที่ถูกสอดร้อยเอาไว้ในการกินมังสวิรัติ ซึ่งการจะเข้าถึงคุณค่าเหล่านี้จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การปฏิบัติธรรม ลด ละ เลิก การเสพการยึดไปตามลำดับนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์