Tag: สัมมาทิฏฐิ

ความเห็นผิดควรปิดไว้ ความเห็นถูกให้เปิดเผย

October 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,620 views 1

ความเห็นผิดควรปิดไว้ ความเห็นถูกให้เปิดเผย

ความเห็นผิด ปิดไว้ ดีที่สุด

หากเผลอหลุด เอ่ยอ้าง อับอายเขา

หลงเมากาม เมาอัตตา ว่าตัวเรา

แล้วยึดเอา ว่าฉันนี้ ดีสุดเอย

– – – – – – – – – – – – – – –

คนที่เห็นผิด ก็จะเห็นถูกว่าเป็นผิด เห็นผิดว่าเป็นถูก ก็เลยมักจะนำเสนอสิ่งผิดด้วยความมั่นใจ เผยแพร่มันออกมาด้วยความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นถูกต้อง เมื่อความเห็นผิดเหล่านั้นถูกประกาศไปสู่คนที่มีเห็นผิดด้วยกัน เขาเหล่านั้นย่อมกลืนกินกันเองด้วยความเห็นผิด และมัวเมาหลงผิดกันอยู่เช่นนั้น ภูมิใจกับความหลงผิดเช่นนั้น นำเสนอความเห็นผิดเช่นนั้นโดยมิได้รู้สึกอับอายแม้แต่น้อย

ส่วนคนที่เห็นถูก ก็จะเห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูก แต่พอประกาศออกไปว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่นั้นเห็นและเข้าใจนั้นเป็นสิ่งผิด เมื่อคนเห็นผิดได้ยินดังนั้น ก็จะมองความถูกเป็นความผิดและมีข้อขัดแย้งในความเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

คนเห็นผิดก็ขยันสร้างกรรมที่ผิด ส่วนคนเห็นถูกก็ต้องขยันที่จะเอาภาระ คอยแก้กลับสิ่งที่ผิดให้มันถูก คนหนึ่งสร้าง(ความเห็นผิด) คนหนึ่งทำลาย(ความเห็นผิด) มีอยู่คู่กันเช่นนี้ทุกยุคทุกสมัย

แล้วจะแยกอย่างไรในเมื่อคนเห็นผิดก็ประกาศความเห็นผิดของตน และคนที่เห็นถูกก็ประกาศความเห็นถูกของตน แล้วตกลงใครที่เห็นผิด ใครที่เห็นถูก แล้วเรากำลังมองในมุมไหน เราเห็นผิดหรือเราเห็นถูก แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเห็นถูก เพราะในเมื่อคนเห็นผิดก็จะเห็นความผิดของตนเป็นความถูกเสมอ ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกที่ทำให้คนทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากันมามากมายแล้ว

ในกาลามสูตรได้สรุปเรื่องนี้ไว้ว่า อย่าพึ่งปักใจเชื่อง่ายๆ แต่ควรศึกษาและปฏิบัติสิ่งที่เห็นเหล่านั้นจนเกิดปัญญารู้ในตนว่าเป็นกุศลหรืออกุศล คือดีหรือชั่ว เป็นการเกื้อกูลหรือเบียดเบียน เป็นการสละออกหรือการสะสม เป็นไปเพื่อพรากหรือเพื่อผูก เป็นไปเพื่อลดกิเลสหรือสนองกิเลส เป็นไปเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์หรือเป็นไปเพื่อทุกข์ชั่วกาลนาน

แต่ความหลงที่ร้ายกาจและรุนแรงที่สุดที่มีความซ้อนลึกจนยากที่จะแก้ นั่นคือการหลงว่าตนเองนั้นเป็นพระอริยะหรือพระอรหันต์ ซึ่งจะมีความซ้อนเข้าไปในวิถีปฏิบัติและปริยัติของลักษณะของศาสนาพุทธที่แยกได้ยากมาก ซึ่งเป็นความหลงที่แนบเนียนที่สุดที่จะมากวาดต้อนคนหลงผิดให้มัวเมาอยู่กับความเป็นโลกและความเป็นอัตตา

ซึ่งวิธีเดียวที่จะพ้นจากความหลงผิดที่สุดแสนจะเนียบเนียนเหล่านั้นได้ คือการทำความถูกให้เกิดในตน แล้วจะทำความถูกต้องได้อย่างไร ก็ต้องมีคนที่มีความเห็นที่ถูกต้องเป็นผู้ชี้ทางแล้วทีนี้ก็วนกลับมาเหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน…

แล้วตกลงใครที่มีความเห็นถูกต้องกัน ในเมื่อมองไปแล้วก็ดูเหมือนมีส่วนถูกด้วยกันทั้งนั้น อันนี้ก็สุดแล้วแต่บุญแต่กรรม ใครทำกรรมดีมามากก็มีโอกาสได้เข้าใกล้ความถูก ส่วนใครทำกรรมชั่วมามากก็มีโอกาสที่จะหลงมัวเมาในความผิด ยังรวมทั้งกรรมที่เคยเกื้อกูลคนที่ถูกต้องมาก็จะชักนำให้เจอคนที่ถูกต้อง และกรรมที่ไปเกื้อกูลคนที่ผิดก็จะชักนำให้เจอคนที่ผิด แต่ก็จะไม่รู้หรอกว่าคนไหนถูก คนไหนผิด จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามจนมีความเห็นถูกนั้นขึ้นในตนเอง

ถ้าหาใครไม่ได้ก็ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งในยุคนี้ยังพอมีหลักฐานที่มีความถูกต้องเป็นส่วนมากให้ศึกษาอยู่ บทไหน หมวดหมู่ไหน ศึกษาให้มาก ให้หลากหลาย ถ้าสามารถทำได้ก็ทำตามที่ท่านแนะนำให้หมด สิ่งใดเป็นไปเพื่อความไม่เจริญในธรรม ทำให้ลุ่มหลงมัวเมาในกิเลสให้ละเว้น สิ่งใดขัดเกลากิเลสให้ศึกษา และทำใจในใจให้เห็นตรงกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

เช่น ท่านบอกให้ภิกษุผู้บวชกับท่านถือศีล ๓ หมวด คือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ถ้าเราเป็นฆราวาสแล้วรู้สึกว่าศีล ๕ ยังไม่ชัดเจน ก็ให้ศึกษาศีลใน ๓ หมวดนี้ในข้อที่พอจะกระทำได้โดยไม่ทรมานจนเกินไป ศึกษาและปฏิบัติให้จิตนั้นแนบแน่น แนบเนียนไปกับศีลเหล่านั้น ให้เกิดปัญญาเห็นจริงว่า ความพ้นทุกข์นั้นถูกตรงตามศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสจริงๆ ถือศีลแล้วพ้นทุกข์พ้นภัยจริงๆ ศีลประเสริฐจริงๆ ศีลวิเศษจริงๆ ศีลเยี่ยมยอดที่สุด …แต่ถ้าไม่ไหวก็ศึกษาและปฏิบัติในศีล ๕ ให้ได้ความเห็นในแนวทางนี้แล้วค่อยขยับจาก ๕ ๘ ๑๐ พร้อมๆกับศึกษาทางเลือกเสริมสู่ความเจริญใน ศีล ๓ หมวด และบัญญัติข้ออื่นๆ ไปพร้อมๆกันก็ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ปัญญาก็มีตามศีลที่มีนั่นแหละ !

October 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,483 views 0

ปัญญาก็มีตามศีลที่มีนั่นแหละ !

ยุคสมัยนี้ปฏิบัติ ศึกษาธรรมะกันแต่ไม่ค่อยสนใจศีล ลืมศีล ไม่เข้าใจศีล ถ้าไม่ยึดศีลแบบงมงาย ก็ตีทิ้งศีลไปเลย พอไม่มีศีลมันก็เลยไม่มีปัญญา แล้วจะเอาปัญญาที่ไหนมารู้แจ้งเห็นจริงในธรรม

ศีลกับปัญญานั้นเป็นคู่กัน ถ้าปฏิบัติศีลอย่างสัมมาทิฏฐิกันจริงๆ ยังไงก็หนีไม่พ้นการมีปัญญา

แต่เดี๋ยวนี้ถือศีลกันแล้วหมายเอาแค่ศีลมาคลุมแค่ร่างกาย กับคำพูดคำจา แต่ความจริงแล้ว ศีลก็ปฏิบัติทั้งกาย วาจา ใจ นั่นแหละ ซึ่งก็อยู่ที่ความเห็นของผู้ที่ศึกษา ถ้าเข้าใจก็เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ จะติดอยู่แค่ร่ายกาย กับคำพูดเท่านั้น จะไปต่อถึงใจไม่เป็น

สรุปลงไปเลยว่า ศีลนี่แหละคือข้อปฏิบัติที่จะชำระกิเลสในใจ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า “ศีลที่เป็นกุศล ยังอรหัตตผลโดยลำดับ” นั่นหมายถึงแค่มีศีลนี่แหละ พอแล้วจบกิจแน่ๆ แต่ต้องสัมมาทิฏฐินะ~

ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร

July 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,489 views 1

ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร

ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร

ภาวนา คือการทำให้เกิดผลเจริญ แล้วเจริญอย่างไร? แล้วอะไรเจริญ?อะไรคือตัววัดความเจริญ? ก็วนกลับมาที่หลักใหญ่ของพุทธนั่นคือการหลุดพ้นจากกิเลสคือความเจริญ

ภาวนานั้นคือการทำให้เกิดผลเจริญ แต่เราจะเจริญจากอะไร? ก็เริ่มจากทานและศีลนั่นเอง หมายถึงว่าทำทานและปฏิบัติศีลอย่างไรให้ลดกิเลสได้ ซึ่งจะไปตรงกับสัมมาทิฏฐิที่ยังมีกิเลสหมักหมมอยู่ (สัมมาทิฏฐิที่เป็นสาสวะ ๑๐) จะขอยกตัวอย่างมาในข้อ ๑ คือ ทานที่ให้แล้วมีผล (อัตถิ ทินนัง)

หมายถึงการทำทานนั้นมีผลให้ลดกิเลสได้จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าทานใดๆที่ทำแล้วไม่มีผลลดกิเลส เช่น ทำทานแล้วยังโลภ ขอนั่นขอนี่ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำทานแล้วอยากให้คนมาชื่นชม ทำทานแล้วหวังสวรรค์ หรือหวังจะเป็นเทวดา พรหม ฯลฯ แบบนี้เรียกว่าทำทานแล้วเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีผลเจริญ ไม่มีการภาวนา

ในเรื่องของศีลก็เช่นกัน การปฏิบัติศีลที่สามารถชำระกิเลสได้ คือถือศีลไปทั้งร่างกาย วาจา จนถึงใจ ทำลายกิเลสที่หมักหมมในสันดานได้ก็เรียกว่ามีผลเจริญ

ดังนั้นภาวนาคือสภาพของการปฏิบัติทานและศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนสามารถละกิเลสในสันดาน ทำให้ ความโลภ โกรธ หลง จางคลายและสลายหายไปอย่างถาวรโดยลำดับ

ซึ่งการที่ทานและศีลจะมีผลเจริญได้นั้นจะสามารถทำได้โดยสองวิธีนั่นคือสมถะและวิปัสสนา การทำสมถะคือใช้อุบายมาบริหารจิต กดข่ม อดทน ใช้การล่อหลอกจิตไม่ให้หลงตามกิเลสไป ส่วนวิปัสสนาคืออุบายให้เกิดปัญญา พิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งใดควรละเว้น สิ่งใดควรเข้าถึง สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ ทำให้เจริญถึงขนาดที่ทำลายกิเลสที่คอยมาลวงว่าสิ่งชั่วที่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นสิ่งดี ให้แหลกสลายไปจนสามารถเกิดปัญญารู้ความจริงตามความเป็นจริงได้

การเจริญสติ คือการทำให้กำลังของสติเจริญขึ้น สามารถฝึกได้หลายวิธี หากมองโดยภาพรวมแล้วก็คือลักษณะหนึ่งของการทำสมถะ คือมีหลักอยู่ที่การสร้างอุบายขึ้นมาให้กลับมารู้สึกตัว ให้อยู่กับปัจจุบัน ให้รู้ตัวทั่วพร้อมในขณะนั้นๆ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการฝึกสมถะ คือสร้างกำลังจิตให้สามารถกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่หลงตามกิเลสต่างๆที่มาล่อลวง

ผู้ที่เจริญสติมากเข้าก็จะสามารถเรียนรู้ค่ามาตรฐานของจิต คือรู้ว่าปกติเป็นเช่นนี้ แล้วเมื่อมีสิ่งกระทบเกิดขึ้นให้จิตใจแกว่งก็จะสามารถใช้อุบายต่างๆที่ได้ร่ำเรียนมาเช่นการกำหนดลมหายใจ การขยับร่างกาย การใช้ข้อธรรมต่างๆ เข้ามาเป็นอุบายล่อให้จิตนั้นกลับสู่ค่ามาตรฐาน กลับเป็นปกติได้

ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กิเลสตายได้ เพราะเป็นการทำให้กิเลสที่กำเริบนั้นสงบลงไปเป็นครั้งคราว หากฝึกจนเก่งก็จะสามารถสงบกิเลสที่กำเริบโดยอัตโนมัติ บางทีก็หายไปโดยที่ไม่ทันรู้ตัว จนบางครั้งอาจทำให้ผู้ฝึกปฏิบัติหลงไปได้ ซึ่งการแก้ปัญหาของจิตใจเช่นนี้ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืนได้ เพราะไม่ได้ดับเหตุที่เกิด

เหตุคือกิเลสมันกำเริบได้อย่างไร จริงอยู่ที่มันมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่ปัญหาคือทำไมมันจึงเกิดขึ้นอีก แล้วเราจะดับเหตุที่เกิดนั้นได้อย่างไร แล้วเหตุที่เกิดนั้นคืออะไร ถ้าไม่ศึกษาอริยสัจ ๔ ให้ถ่องแท้ก็คงจะไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้

แต่กระนั้นการเจริญสติก็ยังมีผลดีในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยควบคุมใจไม่ให้สร้างปัญหาให้ตนเองและผู้อื่นได้ การฝึกสติ ทำสมาธิ ทำสมถะด้วยวิธีต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มกำลังให้กับจิต ให้จิตแข็งแกร่ง ทนทานต่อสิ่งเร้า ซึ่งจะเอื้อให้การวิปัสสนานั้นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นต่างจากสติปัฏฐาน ๔ เนื่องจากมีความเห็นความเข้าใจในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน การเจริญสติโดยมากมุ่งเน้นไปในทางสมถะ เป็นอุบายทางจิต สะสมกำลังของจิต แต่สติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นสติที่ระลึกรู้กิเลส ชำแหละกิเลส ให้รู้ว่ากิเลสใดที่มีในจิตใจ โดยเริ่มตั้งแต่เห็นกายของกิเลส โดยการรู้ความผิดปกติของกายนอกจนมาเห็นกายกิเลสข้างในที่เป็นต้นเหตุของปัญหา เห็นกิเลสในเวทนา เห็นกิเลสในจิต และไปจบที่เห็นว่าธรรมใดที่จะมากำจัดกิเลสนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของญาณปัญญา

ภาวนาและการเจริญสติต่างกันอย่างไร

สรุปดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าต่างกันที่ผล แต่หากผู้ที่ปฏิบัตินั้นไม่สามารถปฏิบัติจนถึงระดับชำระกิเลสได้ ก็จะมองเห็นว่าเหมือนกัน ไม่ต่างกัน ซึ่งแท้ที่จริงมันมีความต่างในขอบเขตของผลที่เจริญจากการปฏิบัติหากจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับการเดินขึ้นเขาที่เต็มไปด้วยหมอก มองจากข้างล่างมันก็ดูเหมือนกัน มีเพียงวิธีเดียวที่จะรู้ว่ายอดเขาไหนสูงกว่าคือเดินให้สุด ให้พ้นม่านหมอกที่บังตาไว้ ก็จะเห็นได้เองว่าต่างกันเช่นไร

ซึ่งในปัจจุบันมีวิถีการปฏิบัติที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามทิฏฐิของแต่ละคน แต่หลักยึดเดียวที่จะบอกได้ว่าสิ่งนั้นถูกทางหรือผิดทางคือลดกิเลสได้จริงไหม? กิเลสจางคลายได้จริงไหม? กิเลสตายจริงไหม? แล้วจะตรวจสอบกันอย่างไร ก็ตรวจสอบกันจากทานและศีลนั่นแหละ

ว่าสามารถให้ทานจนกิเลสออกไปได้จนหมดตัวหมดตนไหม ที่มันให้ไม่ได้นั่นเพราะมีกิเลสมันขวางกั้น ถือศีลแล้วยังทุกข์ใจอยู่อีกไหม เพราะทุกข์ที่เกิดเมื่อถือศีลก็คือทุกข์จากกิเลส การเจริญสติทำให้รู้เท่าทันกิเลส และการทำให้เกิดผลเจริญหรือภาวนานั้นคือสภาพผลเจริญที่เกิดจากการปฏิบัติทานศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนมีผลชำระล้างกิเลสได้จริงจนมีสภาพสุดท้ายคือไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในจิตใจในเรื่องที่ได้ปฏิบัตินั้นอีกเลย

ตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพชัดขึ้น

ยกตัวอย่างความโกรธแล้วกันนะ ภาวนามีผลเจริญถึงระดับที่ดับความโกรธได้สนิท เพราะเข้าไปดับที่เหตุ แต่ถ้าทำไม่ถึงก็คือไม่ถึงนะ ใช่ว่ามันจะทำได้ง่ายๆ มันมีผล ไม่ใช่ไม่มี แต่มันอยู่ที่ทำให้มีผลจนกิเลสตายได้รึเปล่า พอดับแล้วมันก็จะไม่เกิดอีก ไม่โกรธอีก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องๆหนึ่ง สำหรับคนๆหนึ่งก็ได้ ไม่ใช่ต้องทำได้ทุกเรื่อง

การ เจริญสติโดยมากจะสร้างตัวรู้ สร้างความระลึกรู้ ไปรู้ความโกรธ ไปรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วจะทำอะไรต่อจากนั้นก็แล้วแต่จะสอนกัน บ้างก็ข่มให้ดับ บ้างก็ดูจนความโกรธมันหายไปแบบนั้นแหละ บ้างก็ใช้ธรรมะตบทิ้ง เช่นทุกอย่างไม่มีตัวตน ความโกรธไม่ใช่ของเรา สุดท้ายไม่ว่าจะอะไรก็คือไม่เข้าไปโกรธตามถ้ามีสติมากพอ

ต่างกันตรงที่ภาวนาดับที่เหตุ(ของการเกิดความโกรธ) การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นจะไปดับที่ผล(ความโกรธ)

การ จะทำให้เกิดผลเจริญคือทำลายกิเลสได้ต้องมีสติเป็นตัวตั้งอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าแค่มีสติแล้วจะรู้ทุกอย่าง มันมีขั้นตอนต่อจากนั้นอีกมากกว่าจะถึงการทำลายกิเลสในเรื่องๆนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

27.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

July 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,218 views 0

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

การลดเนื้อกินผักนั้นเป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติที่จะลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นทางแห่งบุญ สร้างกุศลกรรมอันมีแต่ประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่มีโทษใดๆเลย หากผู้ลดเนื้อกินผักนั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์

แม้ว่าการลดเนื้อกินผักจะถูกมองว่าไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ หรือหลุดพ้นจากสิ่งใดได้ นั่นก็เป็นเรื่องปกติ เพราะหากผู้ที่ไม่มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งเหล่านี้นำมาใช้ปฏิบัติอย่างไร ลดกิเลสอย่างไร เป็นประโยชน์อย่างไร ซึ่งการทำให้ทุกคนมีสัมมาทิฏฐินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการเห็นต่างกันย่อมจะเป็นเรื่องธรรมดา

การลดเนื้อกินผักนั้นมิใช่การทำให้หลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะขอบเขตของมันก็เพียงแค่ทำลายความอยากในการกินเนื้อสัตว์ ดังนั้นประสิทธิผลสูงสุดของมันก็แค่เพียงทำให้ความอยากกินเนื้อสัตว์หมดไป ทำให้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์ ทำให้ไม่ต้องกลายเป็นทาสเนื้อสัตว์ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ที่มากเกินพอแล้วสำหรับการดำรงชีวิตในสังสารวัฏนี้

เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้เกิดโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นผู้ที่คิดจะบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ในโลกนี้ ย่อมใช้การไม่เบียดเบียนนี่เอง ยังอัตภาพให้คงอยู่ เพื่อสร้างโอกาสให้ชีวิตได้เรียนรู้ที่จะทำให้เกิดบุญ และกุศลมากยิ่งขึ้น

กินอย่างวัวควาย

การลดเนื้อกินผัก มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบว่า “ถ้าการไม่กินเนื้อสัตว์สามารถหลุดพ้นได้จริง วัวควายกินแต่หญ้าทั้งชีวิตก็หลุดพ้นไปแล้ว

ต้องทำความเข้าใจอย่างนี้ว่า วัวควายเหล่านั้นมันไม่ได้กินเนื้อสัตว์ ไม่ได้มีความอยากกินเนื้อสัตว์ เอาเนื้อสัตว์ไปให้มันก็ไม่กิน เพราะมันไม่มีสัญญาแบบนั้น มันไม่ได้หลงว่าเนื้อสัตว์กินได้ เป็นของน่าใคร่ เป็นของควรบริโภค ดังนั้นไม่ว่าจะให้เนื้อสัตว์ชั้นดีแค่ไหน มันก็ไม่กิน

แต่กับคนที่มีกิเลส ให้เนื้อสัตว์ไป เขาก็กิน ถ้าลองเอาเนื้อสัตว์ชั้นดีมายั่ว เขาก็อยาก ร้านไหนจัดโปรโมชั่นเนื้อสัตว์หายากราคาถูกเมื่อไหร่ผู้คนก็ต่างกรูกันเข้าไปกิน เดินทางแสวงหาเนื้อสัตว์ชั้นดีมาบำเรอความอยากของตนโดยมีข้ออ้างในการกินเนื้อสัตว์มากมาย เช่น เราต้องการโปรตีน เราต้องการวิตามิน เราต้องกินเพื่ออยู่ ฯลฯ จึงทำให้หมกมุ่นอยู่กับการกินเนื้อสัตว์นั้นเอง

ถามว่า “วัวควายมันมีความอยากเหมือนคนไหม? ” มันไม่มีนะ มันต่างกันตรงนี้ เพราะวัวควายมีขอบเขตของจิต มันเกิดมาโดยมีข้อจำกัดมาก จิตวิญญาณก็พัฒนาไม่ได้มาก กิเลสก็พัฒนาไม่ได้มาก มันเกิดมาเพื่อชดใช้กรรมหรือเพราะจิตนั้นยังไม่พัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์

ดังนั้นการจะเอาวัวควายไปเทียบกับคนในบริบทของการบรรลุธรรมมันไม่สามารถเทียบกันได้ มันคนละบริบท มันคนละอย่าง

การเอาวัวควายไปเทียบกับคนนั้นเพราะไม่รู้ความแตกต่างของการปฏิบัติในจิต วัวควายมันไม่ต้องปฏิบัติอะไรเพราะมันไม่ได้มีความอยากหรือยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ แตกต่างจากคนที่มีความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้น ถ้ามองเห็นเพียงว่าการลดเนื้อกินผักไม่ใช่หนทางขัดเกลาความอยากของตน ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติตนสู่ความพ้นทุกข์ เพราะหากเราไม่ขัดเกลาความอยากแล้ว จะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร?

การจะเข้าใจว่ากินอย่างวัวควายไม่บรรลุธรรมก็เป็นเรื่องจริง หากว่ากินโดยที่ไม่รู้ประโยชน์ สักแต่ว่ากิน ไม่รู้ไปถึงตัณหา อุปาทานก็จะเป็นการกินผักกินหญ้าไปเช่นนั้นเอง แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างนั้น คนที่กินผักกินหญ้าก็ยังเป็นคนที่ทำคุณประโยชน์ให้โลกมากกว่าเพราะไม่เบียดเบียนตนเองด้วยส่วนแห่งอกุศลกรรม ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น จึงเป็นชีวิตที่กินผักกินหญ้าที่มีประโยชน์ต่อโลก ไม่ตกต่ำไปกว่าสัตว์อย่างวัวควาย ควรค่าที่เกิดมาเป็นคน

กินอย่างมนุษย์

การลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญแล้ว คืองดเว้นการเบียดเบียนสัตว์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อรู้ว่าตนเองนั้นยังเป็นเหตุที่เขาจะต้องฆ่าสัตว์ ก็จะมีความยินดีที่จะงดเว้นเหตุแห่งการเบียดเบียนเหล่านั้นเสีย

เป็นความเจริญของจิตใจที่มีเมตตาขยายขอบเขตออกไปมากกว่าการเลี้ยงชีวิตตนเอง เพราะถ้าเราคนถึงแต่ชีวิตตนเอง มีแต่ความเห็นแก่ตัว เราก็จะใช้สิ่งอื่นมาบำเรอตนโดยที่ไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะมีต้นเหตุที่มาเช่นไร

ความเห็นแก่ตัวหรือจะเรียกว่าความเห็นแก่กิน หรือการกินโดยไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรองว่าเนื้อสัตว์นั้นเป็นเนื้อที่สมควรหรือไม่ เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมไม่ใช่เนื้อที่สมควรบริโภค เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ควรสนับสนุนด้วยประการทั้งปวง เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมเป็นที่น่ารังเกียจของผู้เจริญ

แต่ความเห็นแก่ตัวนั้นจะทำให้จิตใจคับแคบ สายตาคับแคบ มองเห็นเพียงแค่เนื้อสัตว์นั้นทำให้ชีวิตตนดำรงอยู่ มองเห็นเป็นเพียงวัตถุสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า มองเห็นแค่ในระยะที่ตนเองเอื้อมถึง ไม่มองไปถึงเหตุเกิดที่มาของสิ่งเหล่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ผู้ที่ไม่สามารถมองเห็นเหตุเกิดของสรรพสิ่งทั้งปวงย่อมไม่สามารถดับทุกข์หรือบรรลุธรรมใดๆได้เลย

กินลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญ จึงเป็นการกินผักที่มองไปถึงเหตุเกิด มองไปถึงสิ่งที่ทำให้ต้องไปกินเนื้อสัตว์ นั้นก็คือความอยากได้อยากเสพเนื้อสัตว์ ความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ความยึดมั่นถือมั่นในคุณค่าลวงที่โลกปั้นแต่งให้กับเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาเหล่านั้น และมุ่งทำลายเหตุเหล่านั้นโดยการไม่ให้อาหารกิเลส ทรมานกิเลส ไม่ตามใจกิเลส

ดังนั้นการลดเนื้อกินผักของผู้มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็คือการไม่ยอมไปกินเนื้อสัตว์นั้นตามที่กิเลสลากให้ไปกิน กิเลสจะหาเหตุผลมากมายให้ได้ไปเสพเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ให้ไปเบียดเบียนโดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิด ให้หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่มีผล

ทุกการกระทำใดๆที่มีเจตนาย่อมสั่งสมเป็นกรรม การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาก็ย่อมมีผลเช่นกัน ซึ่งผลกรรมของมันก็จะต่างกับการกินพืชผักอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ที่มีปัญญาย่อมไม่แสวงหาเหตุผลในการสร้างอกุศลกรรมใดๆให้ตนเอง ไม่หาเหาใส่หัวโดยที่ไม่จำเป็น เพราะหากไม่มีความอยากกินเนื้อสัตว์แล้ว แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีที่ผู้คนต่างใคร่อยาก มาวางอยู่ตรงหน้า จัดให้กินฟรีๆทุกวี่ทุกวัน ก็ไม่มีความหมายใดๆ สำหรับผู้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เลย เป็นความหลุดพ้นจากความเป็นทาส

จึงสรุปได้ว่าการลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์คือการขัดเกลากิเลสที่เกาะกุมอยู่ในจิตใจ ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้อยากจะไปเสพเนื้อสัตว์ แต่การลดเนื้อกินผักอย่างวัวควายก็เป็นธรรมชาติของวัวควาย และเป็นความเข้าใจของผู้ที่ยังเห็นไม่รอบ ยังไม่เห็นกิเลส ยังไม่เห็นตัวตนของความอยากนั้น ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าความอยากนั้นเป็นภัยแก่ตนอย่างไร ยังไม่รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุของอุปาทาน ที่จะทำให้เกิด ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

– – – – – – – – – – – – – – –

19.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)