Tag: พระเทวทัต

โอกาสและอัตตา

June 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,366 views 0

โอกาสและอัตตา

โอกาสและอัตตา

จากละครซีรี่พระพุทธเจ้า ในช่วงที่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งนำโดยท่านโกณฑัญญะ เดินทางมาเพื่อเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า จากคนที่เคยเป็นอาจารย์ ต่อมากลายเป็นเพื่อนร่วมสำนัก และสุดท้ายก็กลายเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เป็นสงฆ์คนแรกของศาสนาพุทธ

เรื่องนี้ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่า สถานะนั้นไม่เที่ยงเลย จากคนที่เคยมีหน้าที่สั่งสอน ต่อมากลายเป็นเพื่อนที่มีสถานะเท่าเทียม สุดท้ายกลายมาเป็นลูกศิษย์ (แม้ในเรื่องจะนำเสนอว่าไม่รับเป็นศิษย์ ให้เป็นเพื่อนปฏิบัติธรรมแทน แต่ภายหลังก็เป็นศิษย์ คือ สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั่นเอง)

นั่นแสดงให้เห็นถึงปัญญาของท่านโกณฑัญญะ ที่ก้าวข้ามความยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวตน” จนทำให้ได้รับ “โอกาส” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกถ้าท่านยังยึดมั่นถือมั่นว่าตนเองเป็นอาจารย์ ก็คงจะไม่มีวันยอมเป็นลูกศิษย์ ของอดีตลูกศิษย์

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะยอมละวางตัวตน ความหลงติดหลงยึดในบทบาทและหน้าที่ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งที่ขัดขวางความเจริญทันทีหากเรายังยึดมั่นถือมั่นมันไว้ในวันที่หลายสิ่งได้เปลี่ยนไปจากเดิม

เราจะยอมรับได้อย่างไร หากคนที่เคยอยู่ใต้การปกครองของเราเปลี่ยนมาเสมอเราและก้าวข้ามเราไป ในขณะที่อัตตาทำงานมันจะพยายามแสดงตัวตนว่าฉันเก่งกว่า ฉันแน่กว่า ฉันรู้มากกว่า จนต้องแสดงความคิดออกมาโดยผ่านคำพูด ท่าทาง ลีลา น้ำเสียง แล้วเราจะมีปัญญารู้ทัน “อัตตา” ของเราอย่างไร

อัตตาเป็นสิ่งที่ขวางกั้นโอกาสในการเรียนรู้ แทนที่เราจะได้เรียนรู้ว่าคนอื่นนั้นแตกต่างจากเราอย่างไร? เขามีความรู้ตามที่เขาได้เปิดเผยไว้จริงหรือไม่? เขาเก่งกว่าเราจริงหรือไม่? แล้วเขาทำเช่นนั้นได้อย่างไร? เราจะไม่มีวันรู้เลยหากเราถูกขวางกั้นด้วยความคิดประมาณว่า “ฉันเก่งกว่า ฉันเป็นถึง…”

ความเจริญทางโลกยังพอมีรูปลักษณ์ให้พอหยิบยกเป็นหลักฐานได้ แต่ความเจริญทางธรรมนั้นเป็นเรื่องนามธรรมทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงอย่างถี่ถ้วนซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากจะประมาณได้

อย่ากระนั้นเลยหากเราฝึกละวางอัตตาของเราตั้งแต่ทีแรก ก็ไม่ต้องมาคอยระวังว่าอัตตาจะมาทำให้ตนเองนั้นพลาดพลั้งเสียโอกาสต่างๆ แต่โดยมากแล้วกว่าจะเห็นอัตตาของตนก็มักจะสายไปเสียแล้ว ดังเช่นพระเทวทัตถ้าท่านวางอัตตาได้เสียตั้งแต่ทีแรกก็คงจะเป็นหนึ่งในผู้พ้นทุกข์ในสมัยของพระพุทธเจ้าไปแล้ว แต่นั่นก็ไม่สูญเปล่าเสียทีเดียว ความผิดพลาดของท่านก็จะเป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังจะได้นำมาศึกษาและเรียนรู้เช่นกัน

ผู้ที่คิดว่าตนเองรู้แล้ว ก็จะปิดโอกาสในการเรียนรู้ของตน ส่วนผู้ที่คิดเสมอว่าตนเองนั้นยังไม่รู้แน่ชัด ก็ยังมีโอกาสในการเรียนรู้ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

23.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แล้วชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์กินได้อย่างไร?

June 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,225 views 0

แล้วชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์กินได้อย่างไร?

แล้วชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์กินได้อย่างไร?

หากได้ชมซีรี่พระพุทธเจ้าตอนที่ 30 จะมีเนื้อหาตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าไปห้ามการนำสัตว์ไปฆ่าเพื่อบูชายัญ โดยมีบทพูดในละครที่น่าสนใจเช่น “ข้อยอมตายตรงนี้แต่ข้าหลีกทางให้ไม่ได้” , “หากมีบาปเกิดขึ้นในนามของศาสนาข้าจะต้องคัดค้านแน่”

ยอมตายแต่ไม่ยอมให้ฆ่า นั่นหมายถึงแม้เหตุแห่งชีวิต ท่านก็จะไม่สนับสนุนในการฆ่า ในพระไตรปิฏกมีหลักฐานเกี่ยวกับองค์ประกอบของการฆ่าไว้ชัดเจน และการฆ่านั้นถือเป็นเรื่องนอกพุทธ ดังนั้นไม่ว่าจะฆ่าด้วยเหตุผลอะไรย่อมไม่ใช่แนวทางของพุทธ

แต่ในทุกวันนี้เนื้อสัตว์ที่มีขายอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นเนื้อที่มาจากการฆ่า เป็นเนื้อนอกพุทธอยู่แล้ว ดังนั้นไม่มีสิ่งดีใดๆในเนื้อสัตว์นั้นเลย และซ้ำร้ายการค้าขายเนื้อสัตว์ยังเป็นการค้าที่ผิดของพุทธด้วย นั่นหมายถึงชาวพุทธย่อมไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าและไม่ค้าขายเนื้อสัตว์

ในสมัยพุทธกาลนั้น การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นเรื่องสามัญมากๆ ขนาดพระเทวทัตที่ได้ชื่อว่าชั่วที่สุดในโลกก็ยังขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติให้ภิกษุไม่กินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต ถึงกระนั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่เห็นตามนั้น ทรงตรัสว่าให้กินเนื้อที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าเขาฆ่ามา เพราะแท้จริงแล้วเนื้อสัตว์ที่กินได้โดยไม่มีองค์ประกอบของการฆ่าที่ผิดพุทธเข้าไปเกี่ยวอยู่นั่นมีอยู่ คือเดนสัตว์ที่เหลือจากการถูกล่าโดยสัตว์ และสัตว์ที่ตายของมันเอง

ประโยคในละครที่ว่า “หากมีบาปเกิดขึ้นในนามของศาสนาข้าจะต้องคัดค้านแน่” ยังกำชับแนวทางของพุทธได้ดี แม้จะเป็นคำที่ถูกปั้นแต่งขึ้นมาใหม่ แต่ทิฏฐิยังคงเดิม นั่นคือ นอกจากจะไม่ฆ่าเองแล้ว ยังไม่สนับหนุนให้คนอื่นฆ่า และยังแสดงความกรุณาโดยการคัดค้าน ไม่เพิกเฉยต่อสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม

พระพุทธเจ้ายังเคยถูกกล่าวตู่ว่ากินเนื้อสัตว์ โดยฝ่ายที่ไม่ศรัทธา นั่นหมายถึงว่าปกติแล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่กินเนื้อสัตว์ แล้วฝ่ายที่ไม่ศรัทธาจ้องจะหาทางทำลายชื่อเสียง จึงใช้วิธีป่าวประกาศว่าพระพุทธเจ้าท่านกินเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าท่านให้กินอาหารที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษ เนื้อสัตว์ที่ถูกพุทธก็หาได้ยากกว่าพืชผักอยู่แล้ว และเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาก็ยังมีโทษเจือปนอยู่ ท่านได้ตรัสไว้ในสูตรอื่นๆว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาจึงมีส่วนในการเบียดเบียน ทำให้ตนเองนั้นมีโรคมากและอายุสั้น นั่นหมายถึงเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์

บาปแม้น้อยไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า” เป็นสิ่งหนึ่งที่ท่านได้ฝากทิ้งไว้ ในเมื่อเรารู้แล้วว่าเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นมีส่วนแห่งบาปอยู่อย่างเต็มเปี่ยม แล้วเราจะยังยินดีรับเนื้อสัตว์นั้นมากินได้อย่างไร เราไม่รู้สึกผิดบาปเลยหรือ? ไม่ตะขิดตะขวงใจกันเลยหรือ? เรายอมมีส่วนในบาปนั้นเพียงเพื่อจะได้เสพรสสุขลวงจากเนื้อสัตว์เท่านั้นหรือ? เรายินดีในการฆ่าเพียงเพื่อให้ตนได้เสพสุขอย่างนั้นหรือ? เราปล่อยวางเหตุผล แต่เรายังมุ่งเสพกามที่ผิดจากทางของพุทธไปมาก นี่คือทางพ้นทุกข์จริงหรือ?

เพราะแท้จริงแล้วประโยชน์ของเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่มีเลย แม้จะทำให้อิ่มท้องได้ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ต้องการพ้นทุกข์สมควรบริโภค แล้วทีนี้ชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์มากินได้อย่างไร? แล้วจำเป็นต้องหากันหรือไม่? หรือแท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องใส่ใจเนื้อสัตว์ว่าเป็นอาหารเสียเลยยังจะง่ายกว่าที่ต้องมารู้สึกไม่ดี สงสัย ตะขิดตะขวงใจกับการกินเนื้อสัตว์ในแต่ละครั้ง

– – – – – – – – – – – – – – –

16.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,966 views 0

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

รูปธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย เป็นภาพที่เห็นได้ เป็นอาการที่เห็นได้ เป็นความรู้สึกนึกคิดที่รับรู้ได้ การปฏิบัติใดๆที่ทำให้เกิดผลทางรูปธรรมนั้นทำได้ไม่ยากนัก แต่หากเป็นเรื่องของนามธรรมแล้ว…ใครเล่าจะเข้าใจ

ในบทความนี้จะชี้ให้ชัดถึงความแตกต่างของการกินมังสวิรัติกับการล้างกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เหตุที่จำเป็นต้องชี้ให้ชัดก็เพื่อคลายสงสัยให้กับผู้ที่ต้องการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อการลดละกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัติ

ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะข่มวิธีการที่จะพาเข้าสู่การกินมังสวิรัติโดยทั่วไป แต่เพราะเห็นโทษภัยที่ยังแอบซ่อนอยู่ ยังเห็นว่ามีกิเลสอยู่ จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์หากได้นำเสนอปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ไว้ใต้ภาพที่สวยงาม ซึ่งก็ไม่ได้จำเป็นว่าใครจะต้องเห็นตามด้วย ใครยินดีจะลดละเลิกในขีดใดที่ตัวเองทำไหวก็ได้ ได้แค่ไหนก็ขอให้ทำต่อไป การละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งแล้วในกึ่งพุทธกาลเช่นนี้

1). มังสวิรัติรูปธรรม

คำว่ารูปธรรมคือสิ่งที่เห็นได้รับรู้ได้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ในกรณีของมังสวิรัติคือการกินมังสวิรัติให้ได้สมบูรณ์นั่นเอง เพราะโดยความเข้าใจของคนทั่วไปแล้วมักจะหลงใน “รูป” จึงยึดถือและเอารูปเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติ

นั่นคือการยึดมังสวิรัติที่เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติ ยึดสิ่งที่มองเห็นได้เช่น ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินส่วนผสมจากสัตว์ ไม่กินสิ่งปรุงแต่งจากสัตว์ ไม่ว่าจะซอส น้ำซุป น้ำปลา น้ำมันหอย ผงปรุงรส หรืออะไรที่เกี่ยวกับซากสัตว์ คนที่ยึดมั่นถือมั่นในรูปธรรมก็จะไม่ยินดีในการที่จะมีส่วนผสมเหล่านั้นร่วมอยู่เลย

เพราะเขาเหล่านั้นยึดว่าความสมบูรณ์ของมังสวิรัติคือรูปธรรมที่สมบูรณ์ หมายถึงการละเว้นทุกอย่างที่เป็นรูปของเนื้อสัตว์หรือผลผลิตจากสัตว์ อันเป็นเหตุแห่งความเบียดเบียน

แน่นอนว่าแนวความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยึดถือและปฏิบัติกันโดยทั่วไปในหมู่นักมังสวิรัติทั่วโลก เป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะยึดสิ่งที่มองเห็นเป็นเครื่องอาศัย เพราะเข้าใจได้ง่าย วัดผลได้ง่าย กำหนดเป็นมาตรฐานได้ง่ายว่าขั้นนี้ ขั้นนั้นโดยใช้รูปธรรมเป็นตัววัด

2). ภัยของมังสวิรัติรูปธรรม

และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะใช้ “รูป” เหล่านั้นเป็นตัววัดคุณค่าของการกระทำ เพราะเราสามารถมองเห็นได้ เข้าใจได้ ความเห็นความเข้าใจนี้เองเป็นความประมาทอย่างยิ่งยวด เพราะรูปธรรมเป็นแค่ผลจากนามธรรมบางส่วนที่สะท้อนออกมา และไม่ได้หมายความว่าการมีรูปที่สวย การที่สามารถกินมังสวิรัติได้ 100% มาเป็นสิบยี่สิบปีจะมีนามธรรมที่สวยไปด้วย ใครเล่าจะรู้เรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเรื่องลึกซึ้ง ซับซ้อน ละเอียดลออ

เราสามารถทำให้ “รูป” ของเราสวยได้นานตราบเท่าที่เรายังหลงเสพหลงยึดมันอยู่ เหมือนกับดาราที่ไม่เคยยอมแก่ ไม่ยอมโทรมก็จะยังเสริมแต่งรูปของตนให้ดูงดงามเสมอ นักมังสวิรัติที่เน้นรูปแบบก็เช่นกันตราบใดที่เขายังเสพความดี ยังเสพสุขจากการทำสิ่งดีเขาก็จะพยายามทำให้รูปของการกินมังสวิรัติของเขาสวยขึ้นเรื่อยๆ และคงสภาพไปนานตามอัตตาที่มี

กิเลสในด้านร้ายคือการกินเนื้อสัตว์นั้น เราสามารถใช้ความดีกดข่มมันลงไปได้ไม่ยากนัก เราไม่จำเป็นต้องศึกษาธรรมะหรือหาข้อมูลสุขภาพอะไรให้มากมาย แค่มีจิตใจเมตตาก็สามารถรู้สึกผิดและสร้างความดีขึ้นมากดข่มความชั่วคือการกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว

แต่กิเลสในด้านยึดดี หรืออัตตานี้เองเป็นสิ่งที่ยากจะกำจัด เพราะในเมื่อเราติดอยู่ในการยึดดี เราจะเอาอะไรมากำจัดความยึดดีนั้น? เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่าจะเอาความชั่วมากำจัดเพราะมันไม่ได้ง่ายเหมือนกับการคำนวณที่เอา 1+1 แล้วหารสองจึงจะเป็นความพอดี

เมื่อเราสร้างรูปธรรมจนสวยงามแล้วมีความยึดดีในรูปเหล่านั้น การจะออกด้วยความดีในโลกนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเก่งกาจฉลาดเมตตาเพียงใดก็ไม่สามารถออกจากความยึดดีเหล่านี้ได้ คนที่ติดอยู่ในรูปธรรมของมังสวิรัติก็จะตกอยู่ในนรกคนดี มีความทุกข์ร้อนจากการทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ทำร้ายตัวเองด้วยอัตตาอยู่เสมอ แม้จะไม่ยินดีในการกินเนื้อสัตว์แต่มักจะมีอาการยินร้ายเมื่อต้องอยู่ร่วมกับเมนูเนื้อสัตว์หรือคนกินเนื้อสัตว์ ต้องประสบกับความหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไปอีกนานแสนนาน

3). การออกจากความยึดติดในรูปธรรม

การจะออกจากความยึดดี ถือดี หรือความหลงในรูปธรรมนั้น ไม่มีความรู้ใดในโลกที่จะสามารถทำให้ผ่านไปได้นอกจากความรู้ของพระพุทธเจ้า

การที่เรายังวนอยู่ในความดี จนเกิดการยึดในสิ่งดีเหล่านั้น แม้จะดีแสนดีเพียงใด แม้จะกินมังสวิรัติตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเพียงคนที่วนเวียนอยู่ในโลกคนหนึ่ง เป็นวิถีทางทำดีแบบโลกๆทางหนึ่ง ยังเป็นความดีแบบที่โลกเขาทำกันโดยทั่วไปอยู่ ไม่ต้องมีศาสนา ไม่ต้องมีศาสดาก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความดีในระดับศาสดาเอกใดๆในโลกก็สามารถกินมังสวิรัติได้

เพราะการกินมังสวิรัติโดยทั่วไปนั้นเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในระดับสัญชาตญาณเท่านั้น คือเราเห็นเขาฆ่าสัตว์แล้วเราก็สงสารสัตว์นี่ก็เป็นจิตใจเมตตาธรรมดาของคนที่มีจิตใจดีงามทั่วไป ซึ่งแม้แต่คนที่คิดไม่ดีมิจฉาทิฏฐิก็สามารถมากินมังสวิรัติได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นพระเทวทัตที่เคยมาทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามมิให้สาวกกินเนื้อสัตว์เลย (วัตถุ ๕ ,สังฆเภทขันธกะ) การที่พระเทวทัตทูลขอแบบนั้นได้แสดงว่าตัวเองต้องกินเนื้อสัตว์เป็นปกติอยู่แล้ว และนั่นคือคนที่ชั่วที่สุดในจักรวาล ชั่วสุดชั่วที่แม้แต่มหาบุรุษที่ประเสริฐที่สุดในจักรวาลก็ยังสามารถคิดจะฆ่าได้ เขาก็ยังไม่กินเนื้อสัตว์เช่นกัน

ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยยึด “รูปธรรม” เป็นหลักปฏิบัตินั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนดี จิตใจสูง ผ่องใส หรือบรรลุธรรมใดๆแต่อย่างใด เพราะรูปธรรมสามารถเกิดได้จากหลายเหตุและปัจจัย ซึ่งอาจจะมีกิเลสใดๆซ้อนอยู่ก็เป็นได้ เช่นอัตตาเป็นต้น

การจะออกจากความยึดในรูปหรือการจะสามารถมองเห็นความยึดในรูปธรรมเป็นกิเลสได้ ต้องใช้ธรรมะที่มากกว่าธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่อยู่ในโลก ไม่ไปกับโลก ต้องเป็นธรรมะที่เหนือโลก หลุดจากโลก พ้นจากโลก สวนกระแสโลก หรือโลกุตระธรรม

4). มังสวิรัตินามธรรม

การเริ่มต้นของมังสวิรัตินามธรรมจากแตกต่างออกไปจากมังสวิรัติรูปธรรม เพราะการปฏิบัตินามธรรม หรือที่เรียกสั้นๆว่า “นาม” หรือจะระบุให้ตรงประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” การปฏิบัตินี้จะไม่ได้เริ่มต้นที่ “รูป” แต่จะเริ่มที่ “นาม

รูปนั้นคือสิ่งที่ถูกรู้ คือสิ่งที่เห็น แต่นามนั้นต่างออกไป มันมองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเพียงพลังงานที่มีอยู่ รับรู้ได้ว่ามีอยู่ผ่านการกำหนดรู้ในรูป ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น “เรายังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ และยังมีเมนูเนื้อสัตว์ที่ชอบ วันหนึ่งเราได้เงินโบนัส จึงอยากจะใช้เงินนั้นสนองตัณหาตัวเอง จึงได้เกิดความคิดว่า ไปกินเนื้อย่างบุฟเฟต์ร้านนั้นดีกว่า เขาว่าเนื้อนุ่ม ชุ่มมัน หอม หวาน อร่อย”

จากตัวอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรา“คิด” ว่าถ้าได้กินเนื้อย่างเราจะมีความสุข เรา“พูด”กับตัวเองในใจว่าเราจะไปกินเนื้อย่าง เราพาร่างกายตัวเองไป “กิน” เนื้อย่าง สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “รูป” และรูปทั้งหมดนี้เกิดจาก “นาม” คือพลังงานของความอยากที่เป็นตัวผลักดันเรา ให้เราคิด พูด ทำ เพื่อสนองกิเลส

ความอยากเหล่านี้มองไม่เห็น ทำได้เพียงรับรู้ผ่านรูปที่เกิดขึ้นมา ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยเริ่มต้นที่นามธรรมจึงเป็นเรื่องที่ยากสุดยาก เพราะแทบจะกลับหัวกลับหางกับรูปธรรม แต่ผลที่เราจะได้รับนั้น มั่นคง ยั่งยืน และสุขยิ่งกว่าแน่นอน

5). การปฏิบัติของมังสวิรัตินามธรรม

ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า นามธรรมของเรื่องนี้ก็คือความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นความติดอยู่กับกิเลสในหมวดของกามคุณ๕ เป็นส่วนใหญ่

การปฏิบัติในทางนามธรรมนั้นจะต้องชัดเจนลงไปเลยว่า เราจะปฏิบัติกันที่ความอยาก ทำลายความอยาก เพราะรู้ผลแน่ชัดแล้วว่าถ้าทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้สิ้นเกลี้ยงทั้งหมด ก็จะไม่เกิด “รูป” คือการไปกินเนื้อสัตว์อีก เพราะไม่มีความอยากเลยไม่ต้องลำบากไปกิน

เทียบให้เห็นภาพแบบโลกๆก็เหมือนกับคนที่ไม่มีความอยากทำงานมันก็จะเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า ไม่สดใส การจะไปกินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีความอยากกินมันก็จะไม่ไปกินเท่านั้นเองแต่จะต่างกันคือคนที่ไม่มีความอยากในแบบเหนือโลกจะไม่ขุ่นมัว ไม่เชื่องช้า สดใส จิตควรแก่งานอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเหล่านี้เป็นผลมาจากการปฏิบัติทางนามธรรมซึ่งหาตัวอย่างมายกให้เห็นได้ยาก

คำว่า “ไม่มีความอยาก” นั้นไม่เหมือนกับคำว่า “ไม่อยาก”เพราะคำว่าไม่อยากนั้นยังมีอาการผลักไสอยู่ ยังรังเกียจอยู่ ยังมีการเกิดของอัตตาอยู่ แต่การไม่มีความอยากนั้นต่างออกไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่อยาก แต่ทั้งความอยากและความไม่อยากมันไม่มีเหลือ เนื้อสัตว์จึงกลายเป็นเหมือนกับอากาศสำหรับคนที่ปฏิบัติทางนามธรรม มันมีอยู่แต่เหมือนมันไม่มีอยู่ เนื้อสัตว์นั้นไม่ได้ทำให้เกิดทุกข์หรือสุขใดๆในใจอีกต่อไป

เมื่อเข้าใจความต่างของผลแล้วจึงจะสามารถเริ่มปฏิบัติในทางนามธรรมได้ เพราะหากยังแยกนามธรรมกับรูปธรรมไม่ออก ต่อให้มีทฤษฏีอีกกี่บท ขนพระไตรปิฏกมาเปิดอ้างอิงกันแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะยังแยกสิ่งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับปัญหาจริงๆที่ทำให้เกิดไม่ออก

การปฏิบัตินั้นไม่มีขั้นตอนที่เข้าใจยากนัก เพียงแค่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติไตรสิกขาจนสามารถทำลายกิเลสสามภพก็สามารถดับนามธรรมได้แล้ว ขั้นตอนมันก็มีแค่นี้ มันย่อได้เหลือเท่านี้ แค่สองบรรทัดก็สามารถบอกทางเดินและผลได้แล้ว แต่การปฏิบัติจริงต้องใช้เวลาไม่รู้กี่ร้อยปี หรือกี่ล้านล้านล้านชาติ ไม่รู้จะต้องเกิดอีกสักกี่ครั้งถึงจะรู้ กว่าจะเข้าใจ กว่าจะปฏิบัติ กว่าจะเห็นผล นานแสนนานเลยทีเดียวนี่ยังต้องเสียเวลากับการไปติดรูปธรรมอีกนะ ไปหลงรูป ไปเข้าใจว่ารูปนั้นเป็นที่สุดของการปฏิบัติ ก็เนิ่นช้าเข้าไปอีก

6). สมดุลรูปนาม

การปฏิบัติทางรูปธรรม แม้จะเป็นมังสวิรัติ 100% ละเว้นเนื้อสัตว์สมบูรณ์แบบผู้คนต่างยกย่องสรรเสริญ แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะสามารถมังสวิรัติ 100% ได้ทางนามธรรม จะมั่นใจได้อย่างไรในเมื่อยังมีความอยากและไม่อยากอยู่ การที่ตัณหายังไม่ดับ นั่นหมายถึงชาติยังไม่ดับ ภพยังไม่ดับ การวนเวียนกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็จะต้องดำเนินสลับสับเปลี่ยนกันต่อไปตามกิเลสที่ผกผัน แปรเปลี่ยนทิศทางการมีอัตตายึดในสิ่งที่ต่างกันออกไป ตามความเห็นความเข้าใจ

เพราะเมื่อนามยังไม่ดับ ก็จะยังมีเชื้อของกิเลสที่จะสะสมพลังงานกิเลสให้มากขึ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่งพลังกิเลสที่สะสมมาก็จะส่งผลให้เกิดรูป คือการกลับไปกินเนื้อสัตว์อีก แม้ว่าจะหลงรูปธรรมกดข่มความชั่วไว้ได้ในชาตินี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติหน้าจะข่มได้ ไม่มีใครรู้ว่าเราจะไปเกิดในยุคไหนสมัยไหน หากเรายังยึดติดในรูป เราก็จะไปหลงดีในรูปของยุคสมัยนั้น และถ้าเกิดยุคนั้นไม่มีรูปดีๆให้ยึดมั่นถือมั่นเลย มันก็ไปยึดรูปเลวๆเท่านั้นเอง

แต่นามธรรมจะต่างออกไป เพราะนามดับจึงไม่เกิดรูป คือเมื่อดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยง ไม่มีความอยากเหลือก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่เราไปหลงติดหลงยึดเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ภพกี่ชาติก็จะไม่มีวันหลงมัวเมาไปในเนื้อสัตว์ ถึงจะติดก็ติดตามโลก แต่ถ้าคิดจะออกก็ออกได้ทันที เพราะจริงๆมันไม่มีนามนั้นอยู่แล้ว ไม่มีเชื้อกิเลสนั้นเหลืออยู่แล้ว ถึงแม้มีกิเลสใหม่เข้ามามันก็จะไม่มีอะไรให้ยึดเกาะ ก็เกาะได้แค่ผิว ได้แค่เปลือก ไม่เข้าไปถึงจิตใจ ไม่เข้าไปยึดในจิตใจ

ไม่เหมือนกับการปฏิบัติที่รูปธรรม เพราะนามคือความอยากกินเนื้อสัตว์ยังอยู่ ทีนี้พอกิเลสใหม่วิ่งเข้ามาก็จะเข้าไปสะสมรวมกับของเก่าทันที ส่งผลให้กลายเป็นสภาพที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง

ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเลยว่าถ้าเราปฏิบัติที่นามธรรมแล้วจะเกิดปัญหาเหล่านั้น เพราะการดับทุกข์นั้นต้องดับที่เหตุ เหตุของการกินเนื้อสัตว์นั้นคือความอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปเบียดเบียนชีวิตอื่น และเหตุของความอยากกินนั้นก็เกิดจากการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อดับเหตุแห่งอุปาทานเหล่านี้ได้ก็จบภารกิจ

ผู้มีนามธรรมที่ปราศจากกิเลสจึงมีสมดุลของรูปนาม นามไม่มี รูปไม่เกิด และมีความยืดหยุ่นในรูปสูงกว่าผู้ที่กินมังสวิรัติในทางรูปธรรม เพราะหากเราเน้นเพียงรูปธรรม ก็จะมีความแข็ง ตึง เครียด กฎ การยึดมั่นถือมั่น เพราะสิ่งเหล่าเป็นสิ่งที่สามารถสนองให้เสพสมใจในรูปธรรมได้หรือที่เรียกว่า “อัตตา” นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มนุษย์เป็นสัตว์กินตามกิเลส : ตอบสารพัดปัญหาไขทุกข้อข้องใจกับเรื่องมังสวิรัติ

October 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,932 views 0

มนุษย์เป็นสัตว์กินตามกิเลส : ตอบสารพัดปัญหาไขทุกข้อข้องใจกับเรื่องมังสวิรัติ

มนุษย์เป็นสัตว์กินตามกิเลส : ตอบสารพัดปัญหาไขทุกข้อข้องใจกับเรื่องมังสวิรัติ

ขึ้นชื่อว่ามนุษย์นั้น หลายคนก็คงจะเข้าใจว่าเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ เป็นสัตว์ที่มีเมตตา มีปัญญา มีจิตใจสูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน สร้างสรรค์สังคมและโลกให้เป็นไปอย่างสงบร่มเย็น

แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็สามารถเป็นสัตว์นรกได้เช่นกัน เบียดเบียน แก่งแย่ง แข่งขัน เห็นแก่ตัว ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายผู้อื่น อยากได้อยากมีสิ่งต่างๆมาปรนเปรอกิเลสตนเอง เป็นมนุษย์นรกที่สามารถสร้างความเดือดร้อนฉิบหายวายวอดให้กับคน สัตว์ และโลก สามารถทำสิ่งที่เลวร้ายเกินกว่าที่สัตว์เดรัจฉานจะสามารถทำได้

สัตว์นั้นล่าเพื่อดำรงชีพ ประทังความหิว ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันในทุกวัน แต่มนุษย์นั้นล่ามาเพื่อบำรุงบำเรอกิเลส จะว่ามีปัญญาสูงกว่าสัตว์ก็คงใช่ และจะว่ามีตัณหาสูงกว่าสัตว์ก็คงใช่อีกเหมือนกัน

เมื่อได้ศึกษาข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับผู้กินมังสวิรัติและปัญหาที่มีการถกเถียงกันในสังคมจึงนำมาวิเคราะห์และตอบคำถามกันใน 7 ประเด็นนี้

1)…คนเป็นสัตว์กินพืช หรือสัตว์กินเนื้อ

มีประเด็นที่ถกเถียงกันบ่อยครั้งระหว่างนักมังสวิรัติกับคนที่หลงรักเนื้อสัตว์ในเรื่องคนเป็นสัตว์กินพืชหรือกินเนื้อ โดยมักจะเอาหลักฐานมาตอบโต้กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของฟัน ลำไส้และระบบการย่อย สำหรับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เถียงกันไปก็เท่านั้น เอาชนะกันไปก็เท่านั้น ถึงจะพิสูจน์ได้ว่าจริงๆคนเป็นสัตว์กินพืช ยังไงคนที่เสพติดเนื้อสัตว์ก็ยังเลิกไม่ได้อยู่ดีนั่นแหละแต่ที่แน่ๆ คนเป็นสัตว์กินตามกิเลส

ในความเป็นจริงแล้วคนกินได้ทั้งพืชและเนื้อสัตว์ เราสามารถย่อยและได้พลังงานจากแหล่งพลังงานทั้งสอง แต่ผลที่ได้จะไม่เหมือนกัน หมู่คนที่มักกินเนื้อเป็นหลัก กินเนื้อเป็นส่วนมาก มักจะมีโรคมากและอายุสั้น เช่นชาวเอสกิโม มีโอกาสที่จะตายตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 ด้วยเหตุแห่งโรคเช่น มะเร็ง ในทางกลับกันชาวฮันซาได้ชื่อว่าอายุยืนนั้น มักจะไม่กินเนื้อสัตว์ กินพืชเป็นหลัก มีผลทำให้อายุเฉลี่ยประมาณ 120 ปี และไม่มีอาการป่วยจากโรคยอดฮิตเช่น มะเร็ง เบาหวาน ฯลฯ ชาวฮันซาที่อายุ 90 ยังแข็งแรงและสามารถเต้นได้

ดังจะเห็นได้ว่าทั้งพืชและเนื้อสัตว์มันกินได้เหมือนกันแต่ผลออกมาไม่เหมือนกัน ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ดังนั้นคนที่หลงเสพติดเนื้อสัตว์ กินเนื้อสัตว์มาก มีส่วนเบียดเบียนมาก เขาก็จะมีโรคมากและอายุสั้น เขาเหล่านั้นใช้ชีวิตของตัวเองพิสูจน์สัจจะนี้ เขาเสียสละให้เราเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์มีทุกข์ มีโทษอย่างไร เราก็ดูเขาไป ไม่ต้องไปบังคับให้ใครเขามาเชื่อตามเราว่าการกินมังสวิรัตินั้นดี หรือไปบอกว่าทุกคนควรกินมังสวิรัติ

เพราะการจะมากินมังสวิรัติได้นั้น จำเป็นต้องพิจารณาให้รู้อย่าลึกซึ้งถึงคุณค่าของการกินมังสวิรัติและโทษจากการเบียดเบียนสัตว์อื่นเป็นอย่างมาก และไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจในเรื่องนี้ได้ หลายคนยินดีที่จะเบียดเบียนเพื่อให้ได้เสพรสที่ตนติดใจและหลงใหล โดยไม่หวั่นเกรงต่อบาป เวร ภัยที่จะเกิดกับตัวเองแม้แต่น้อย

การที่เรามัวแต่จะไปเอาชนะกัน ข่มกัน เอาเหตุผลมาขัดแย้งกันด้วยอารมณ์เป็นการสร้างความบาดหมาง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นประโยชน์กับใครเลย ผู้กินมังสวิรัติไม่ควรจะไปเถียงกับใครจนเกิดความผิดใจกัน ควรจะชี้แจงด้วยเหตุผลแต่พอดี เขาจะเชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ เราได้บอกเขาแล้ว เราก็วาง สุดท้ายผลจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่บาปบุญของเขา แต่เราจะไม่ไปทะเลาะกับเขาอย่างแน่นอน

ผู้กินมังสวิรัตินั้นนอกจากจะต้องมีเมตตาต่อเหล่าสัตว์เดรัจฉานแล้วยังต้องมีความเจริญทางจิตใจด้วย ไม่อย่างนั้นคนกินเนื้อเขาจะดูถูกเอาว่ากินผักกินหญ้าเหมือนวัวเหมือนควาย กินมังสวิรัติแล้วไม่มีปัญญา กินมังสวิรัติแล้วยังนิสัยเสียอยู่เหมือนเดิม เมื่อชาวมังสวิรัติถูกกล่าวหา พึงตั้งตนอยู่ในคำสอนสองประการของพระพุทธเจ้าคือ ๑ พึงตั้งตนอยู่ในความจริงแท้ ๒. ไม่หวั่นไหวขุ่นเคือง ผู้ที่สามารถทนต่อแรงกระแทกของโลก หรือทนต่อคำพูดของคนส่วนใหญ่ที่เขายังเสพเนื้อและหาเหตุผลมากมายที่จะยืนยันว่าการเสพเนื้อนั้นดีได้โดยไม่มีการทะเลาะวิวาท จึงจะเป็นผู้ที่เจริญ ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า ผู้ไม่โกรธตอบ ผู้ที่กำลังโกรธอยู่ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะสงครามที่ชนะได้ยาก

คนที่เขาเห็นผิด เขาก็ต้องเห็นความถูก(มังสวิรัติ)เป็นความผิดอยู่แล้ว จะให้เขาเห็นเรื่องที่ถูกที่ดี เป็นเรื่องที่ถูกไม่ได้ ดังที่เขาเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นถูกนั้นดี ทั้งที่จริงๆแล้วการเบียดเบียนเป็นสิ่งไม่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เขาจะได้รับทุกข์ โทษ ภัย จากการเบียดเบียนของเขาในวันใดก็วันหนึ่ง และสุดท้ายในชาติใดชาติหนึ่งเขาก็จะเข้าใจและหันมากินมังสวิรัติเอง

2)…มังสวิรัติมีงานวิจัยรองรับไหม?

เรื่องมังสวิรัติมีงานวิจัยมากมาย และหลักฐานที่น่าเชื่อถือกว่างานวิจัยคือ มีคนกินมังสวิรัติที่ยังใช้ชีวิตปกติหรือมีศักยภาพมากกว่าคนทั่วไป ให้ได้ตรวจสอบคุณค่าของการกินมังสวิรัติ เป็นหลักฐานตัวเป็นๆ ไม่ใช่แค่กระดาษที่อาจจะสามารถอุปโลกน์กระบวนการวิจัยหรือบิดเบือนการเก็บข้อมูลได้ ยังเป็นคนที่ใช้ชีวิตมังสวิรัติอยู่ในโลกใบนี้ โลกเดียวกับคนที่เห็นว่าเนื้อสัตว์นั้นดี โลกเดียวกับคนที่คิดว่าการขาดเนื้อสัตว์จะไม่แข็งแรงนั่นแหละ

ในปัจจุบันเรามีความเจริญทางด้านการแพทย์ในการดูแลสุขภาพมากมาย แต่เรากลับพบโรคมากขึ้น คนป่วยมากขึ้น หมอและพยาบาลทำงานหนักมาขึ้น ทั้งที่จริงแล้ว เมื่อสังคมพัฒนาไปเรื่อยๆเราก็น่าจะมีความสุขขึ้น มีโรคน้อยลง อายุยืนยาวขึ้นสิ

แต่ในทุกวันนี้กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เรามีอายุน้อยลง มีโรคมากขึ้น มีความสุขน้อยลง แม้ว่าเราจะได้เสพสมใจในสิ่งต่างๆก็ตาม ซึ่งอาจจะเป็นไปอย่างสอดคล้องกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” เรากำลังใช้ชีวิตเบียดเบียนใครอยู่หรือเปล่า ทางที่เราเดินนั้นจะพาเราไปสู่ความสุขจริงหรือ การกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้แข็งแรงจริงหรือ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่องานวิจัยของพระพุทธเจ้าที่ท่านประกาศมาเมื่อกว่า 2600 กว่าปีมาแล้ว ว่าคนที่จะสงบจากกิเลสคือคนที่ไม่เบียดเบียน ,คนที่จะมีความผาสุกคือคนที่ไม่เบียดเบียน ส่วนใครจะเชื่องานวิจัยยุคใหม่ว่าเนื้อสัตว์ดีอย่างนั้นจำเป็นอย่างนี้ก็ตามใจ เพราะผมเองเชื่อเต็มใจว่าไม่มีใครรู้โลกอย่างแจ่มแจ้งไปกว่าพระพุทธเจ้าแน่นอน

3)…ยังเห็นพระฉันเนื้อสัตว์อยู่เลย

กลายเป็นเรื่องปกติของนักบวชยุคนี้ไปแล้วที่มีการฉันเนื้อสัตว์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความพระทั้งหมดจะกินเนื้อสัตว์ ยังมีพระและนักบวชบางส่วนที่ท่านไม่ยินดีฉันเนื้อสัตว์ทำไมถึงมีทั้งนักบวชที่ยินดีและไม่ยินดี?

เหตุนั้นคงเพราะกิเลส นักบวชคนใดที่ไม่มีกิเลส รู้ถึงโทษของการเบียดเบียน ก็จะพร่ำสอนให้เหล่าศิษย์และผู้ศรัทธาได้เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ ในกรณีเดียวกัน นักบวชใดที่ยังไม่ตระหนักว่าความอยากกินเนื้อสัตว์คือกิเลส ก็จะไม่พร่ำสอนให้เลิกกินเนื้อสัตว์ หากสอนให้เลิกกินเนื้อสัตว์ไปแล้ว ตนเองก็อาจจะอดเสพเนื้อสัตว์ที่ตนหลงชอบไปด้วย

นักบวชนั้นอาจจะรับประเคนเนื้อสัตว์ก็ได้ แต่ท่านจะฉันหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราไปถวายอาหารให้พระ ก็จะมีอาหารมากมายหลากหลาย ท่านสามารถพิจารณาอาหารได้ตามที่สมควร ตามกิเลสและปัญญาที่ท่านมี กิเลสมากก็หยิบเนื้อสัตว์กินไป กิเลสน้อยก็กินพืชผักแล้วพร่ำสอนให้คนได้เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์

ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีคุณหรือประโยชน์ใดๆเลยในการเบียดเบียน ไม่ใช่สิ่งที่น่าสรรเสริญ กลับเป็นสิ่งที่ควรละอาย ว่าเรายังต้องใช้ชีวิตสัตว์อื่นมาเลี้ยงกายเพื่อเสพกิเลส

พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยตรัสว่าห้ามกินเนื้อสัตว์ เพราะจริงๆแล้วมีเนื้อสัตว์ที่กินได้อยู่ นั่นคือเดนสัตว์ ซากสัตว์ที่สัตว์อื่นล่ามาแล้วเหลือทิ้งไว้ และสัตว์ที่ตายเองตามกรรมของมัน นั่นคือเนื้อที่กินได้ ไม่บาปในส่วนของปานาติปาต

ท่านยังตรัสตอบในตอนที่พระเทวทัตขอให้บัญญัติว่าให้นักบวชในพุทธศาสนาห้ามกินเนื้อสัตว์ ใครกินถือว่าผิด พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เออออตามพระเทวทัต เพราะโดยสัจจะนั้นมีเนื้อที่กินได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น ท่านจึงได้บัญญัติว่าสามารถกินเนื้อได้โดยให้เนื้อนั้นบริสุทธิ์ โดย ๓ ประการ คือ

๑ไม่ได้เห็นว่าเขาฆ่ามา .. เนื้อชิ้นนั้นเราไม่ได้เห็นไม่ได้รับรู้ว่าเขาได้จากการฆ่าสัตว์มาเพื่อเป็นอาหารในมื้อนี้ .. แต่เราก็เห็นแล้วว่ามีฟาร์มสัตว์ มีโรงฆ่าสัตว์..

๒ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามา … เนื้อชิ้นนั้นเราไม่ได้ยินใครกล่าวอ้างว่าเขาได้จากการสัตว์มาเพื่อเป็นอาหารในมื้อนี้ .. แต่เราก็ได้ยินแล้วว่าเนื้อชิ้นนั้นซื้อมาจากตลาด ที่มาจากโรงฆ่าสัตว์

๓ไม่รังเกียจว่าเขาฆ่ามา … ข้อสุดท้ายนี้คือข้อวัดคุณธรรมของคนอย่างแท้จริง ในสองข้อแรกนั้นยังพอใช้กิเลสหลีกเลี่ยงว่าไม่ผิดได้ แต่ในข้อสุดท้าย เรารู้อยู่เต็มอกว่าเนื้อสัตว์ในยุคสมัยนี้เกิดจากการฆ่ามา ไม่ว่าจะเนื้อสัตว์ในจานใดๆ เขาก็ฆ่ามาทั้งนั้น

เมื่อเกิดการฆ่า นักบวชผู้สงบจากกิเลสย่อมไม่ยินดีในการฆ่านั้น เมื่อไม่ยินดีจึงเกิดความรังเกียจในเนื้อนั้น เมื่อเกิดความรังเกียจก็ไม่สามารถกินเนื้อนั้นได้ เพราะไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งที่จะกินเนื้อสัตว์ที่เบียดเบียนมา

ในข้อสุดท้ายนี้ก็มีคนเฉโกเป็นอย่างมาก คือตีความเข้าข้างกิเลส ประมาณว่าอยากกินเนื้อเลยตีความให้กินเนื้อได้ ก็เลยบอกว่าตนเองไม่รังเกียจเนื้อที่เขาฆ่ามา ตีความเป็นแบบนี้ก็ออกนอกพุทธแล้ว เพราะพุทธนั้นย่อมไม่เบียดเบียน ย่อมไม่ยินดีในการเบียดเบียน พอตนรู้ว่าเนื้อนี้เขาฆ่ามา ไม่รังเกียจ เฉยๆ จิตว่าง คิดเอาเองว่ากินได้ ไม่บาป แล้วสุดท้ายก็กินเข้าไป มันก็มีแต่เพิ่มกิเลสเท่านั้นเอง เหมือนจะปล่อยวาง แต่ก็ไม่ปล่อยวาง

ผู้ปล่อยวางที่แท้จริงคือ ผู้ที่วางการเบียดเบียน ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ทำให้สัตว์อื่นลำบาก คนที่ปล่อยวางโดยคำพูดแต่ยังเคี้ยวชิ้นเนื้ออย่างมีความสุขนั้นคือผู้ที่พูดธรรมะด้วยความคิด ไม่ใช่ความเข้าใจ

บางคนถึงกับอ้างว่าพระพุทธเจ้ากินเนื้อสัตว์ เอาเข้าจริงๆก็ไม่มีใครรู้หรอกเพราะเกิดไม่ทัน แม้ท่านจะรับประเคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านกินเนื้อสัตว์ ในยุคนี้ไม่มีใครเกิดทัน คนที่อยากกินเนื้อสัตว์ก็ได้แต่เดาๆกันไปว่าท่านกินเนื้อสัตว์ประมาณว่าหาเหตุผลเพื่อที่จะได้กินเนื้อสัตว์โดยชอบธรรม

พระพุทธเจ้าบอกไว้ก่อนปรินิพพานว่า หลังจากท่านปรินิพพานไปแล้วพระธรรมจะเป็นศาสดาแทนท่าน และในบทโอวาทปาติโมกว่าด้วย เรื่องบรรพชิต (ผู้ออกบวช) ว่าถ้ายังกำจัดสัตว์อื่นอยู่ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ออกบวชในพุทธศาสนา และ สมณะ (ผู้สงบจากกิเลส) ถ้ายังเบียดเบียนสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้สงบจากกิเลสเลย

ธรรมะของศาสนาพุทธนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน เพื่อความมักน้อย เพื่อลดละกิเลส และกิเลสในด้านความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นกิเลสในระดับหยาบ ไม่ใช่กิเลสที่ฝังลึกแก้ยากแต่อย่างใด สามารถกำจัดได้ง่าย ได้โดยไม่ลำบากนัก หากนักบวชใดยังมีความสุขจากการเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นก็ดูจะห่างไกลจากคำว่าผู้สงบจากกิเลสอยู่มาก

ถ้าเราเจอพระ หรือครูบาอาจารย์ที่เคารพก็ลองถามดูได้ว่าทำไมท่านไม่สนใจกินมังสวิรัติ ถ้าท่านยังไม่รู้โทษภัยของการเบียดเบียนก็ถวายธรรมเป็นทานให้แก่ท่านก็ได้ ว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเบียดเบียนอย่างไร เปิดวีดีโอ เอาสื่อให้ท่านดู ให้ท่านพิจารณาเอาตามปัญญาของท่าน ที่เหลือก็สุดแล้วแต่บุญแต่กรรมว่าท่านจะเห็นว่าอย่างไร ถ้าท่านเห็นดีด้วยเราก็ให้ข้อมูลเพิ่ม ถ้าท่านไม่เห็นดีด้วยเราก็ปล่อยก็วางไป และกินมังสวิรัติของเราต่อไป วันใดวันหนึ่ง ชาติใดชาติหนึ่ง ที่ท่านเห็นโทษภัยของการเบียดเบียน ท่านก็จะเลิกกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา หันมากินมังสวิรัติเองนั่นแหละ

แต่ก็อย่างว่า… นี่มันก็ใกล้กลียุคแล้ว การที่ศาสนาจะเพี้ยนไปในทางเบียดเบียน เป็นไปในทางสะสม เป็นไปในทางเพิ่มกิเลสก็เป็นไปได้ ดังที่เราเห็นในข่าวที่ประโคมอยู่ในปัจจุบัน อย่าว่าแต่มังสวิรัติเลย ที่ชั่วกว่ามังสวิรัติก็มีมาก อลัชชีหรือคนหากินกับผ้าเหลืองที่แฝงมาในศาสนาก็ทำให้ภาพลักษณ์ศาสนาดูเหมือนจะเสื่อมไปไม่น้อย

4)…กินมังสวิรัติไม่มีแรง

เป็นประเด็นอุปาทานระดับโลก ถ้าไปถามคนหัดกินมังสวิรัติใหม่ๆเขาก็จะตอบอย่างนั้น เพราะเขาไม่เข้าใจการกินมังสวิรัติ หรือกินไม่เป็น คือเลือกกินอาหารที่ไม่มีคุณค่า แต่ถ้าไปถามผู้ที่ใช้ชีวิตไปกับมังสวิรัติเขาก็จะตอบทันทีว่า “ข้อคิดเห็นที่ว่ากินมังสวิรัติแล้วไม่มีแรง ไม่เป็นความจริง

จากการทดลองกินมังสวิรัติ แม้ว่าจะกินมื้อเดียวต่อวัน (กินครั้งเดียว นอกจากนั้นไม่มีอะไรเข้าปากอีก ยกเว้นน้ำเปล่า) ยังสามารถที่จะมีกำลังขุดดิน ปลูกต้นไม้ ขนถุงปุ๋ย ผสมปูน ออกแบบงาน ออกแบบสถานที่ ฟังธรรม เรียกได้ว่ามีแรงทั้งบู๊และบุ๋น ได้ทั้งสายแรงงานและสายคิดคำนวณ ในเวลาทั้งวัน ตื่นตั้งแต่ตี 5.45 จนถึง 21.00 โดยประมาณ

ถ้าสามารถข้ามพ้นอุปาทาน หรือสภาพที่คิดไปเอง ข้ามความยึดมั่นถือมั่นว่าถ้าไม่กินเนื้อสัตว์แล้วจะหมดแรง อ่อนเพลีย ไปได้ ก็จะสามารถเข้าใจได้ว่าจริงๆแล้วกินมังสวิรัติมันก็ไม่ได้ทำให้ร่างกายแตกต่างจากทั่วไปนักหรอก ออกจะเอนเอียงไปในทิศทางสบายกว่าเดิมด้วยซ้ำ

5)…เขาเกิดมาเพื่อให้เรากิน กินเขาแล้ว เขาได้บุญ

คนกินเนื้อหลายคนหลงเข้าใจผิดว่าสัตว์นั้นเกิดขึ้นมาให้เรากิน จริงๆเขาไม่ได้เกิดมาให้เรากิน เราไปจับเขามา นำเขามาใส่กรง เพาะพันธุ์เขา ข่มขืนเขาด้วยกระบอกน้ำเชื้อ ให้เขาได้ออกลูกออกหลานมาให้เรากิน กักขังเขา ผลิตเขา มองเขาเป็นทรัพย์ของเรา เป็นอาหารของเรา ทั้งที่จริงแล้วเขาไม่เคยพูดกับเราสักคำว่ายินดีให้เรากิน ไม่มีสัตว์ตัวไหนยินดีจะตาย มันทั้งวิ่งหนี ทั้งร้องไห้ เมื่อมันจะต้องถูกจับ ถูกฆ่า สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ยืนยันว่าเขาเกิดมาเพื่อให้เรากินหรือ? เราสามารถข่มเหงเขาได้หมายความเขาเป็นของเราหรือ? การที่เขาวิ่งหนีคือความยินดีให้เรากินจริงๆหรือ?

เราสามารถเลือกที่จะกินหรือไม่กินเขาได้ แต่โดยสามัญของกึ่งพุทธกาล คนส่วนมากมันโดนมอมเมาด้วยกิเลส หลงมัวเมาว่ากินเนื้อไม่ผิด เราจำเป็นต้องกินเนื้อ ถึงขนาดหลงหนักๆไปว่ากินเขาแล้วเขาจะได้บุญ ก็เฉโกกันไปตามกำลังกิเลสของแต่ละคน

เราไปกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามามันไม่มีบุญอยู่แล้ว เพราะครบองค์แห่งปาณาติปาต บาปเน้นๆไม่ต้องคิดกังวลเลย แม้แต่ในบทของมิจฉาวณิชชาว่าด้วยการค้าที่ชาวพุทธไม่ควรกระทำ คือ ค้าขายสัตว์เป็น และค้าขายสัตว์ตาย สรุปคือไม่ว่าจะขายสัตว์เป็นหรือตายก็ไม่ใช่พุทธ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ห้าม แต่บอกว่าชาวพุทธไม่ควรทำ จะทำก็ได้ แค่ไม่อยู่ในวิสัยของพุทธ และถ้าศาสนาพุทธเป็นไปเพื่อความผาสุก แล้วเราทำไม่ถูกทางพุทธ ก็หันหัวไปนรกเท่านั้นเอง

สัตว์ที่ถูกฆ่ามาเป็นอาหารก็ไม่มีทางได้บุญ เพราะคำว่าบุญ หมายถึงการชำระกิเลส การลดกิเลส แล้วโดนฆ่าตายมันกิเลสลดตรงไหน ถ้าบอกว่าตายเพื่อใช้กรรมอันนี้ค่อยตรงประเด็น เพราะถ้าไม่ทำกรรมมาก็ไม่ต้องไปต้องมาตายอย่างทรมาน ก็เป็นไปตามสัจจะ ดังนั้นการจะบอกว่าเรากินเขา เขาได้บุญ อันนี้คิดเข้าข้างตัวเองกันไปเพราะความหลง

หรือถ้าสมมุติแบบมั่วๆมิจฉาทิฏฐิหลุดโลกเลยว่า “กินเขา เขาได้บุญ” เอาแบบคิดเฉโกสุดๆไปเลย แล้วเรากินเขา สุดท้ายเราเอาร่างกายที่ได้พลังงานจากเนื้อของเขาไปทำบาป ไปเสพกิเลส ล่าลาภ ยศ สรรเสริญ ไปทำลายโลก ไปหลงมัวเมากับกิเลส เช่น เอาร่างกายไปแต่งตัวโป๊ๆยั่วกามชาวบ้าน เอาร่างกายไปเสพอาหารอร่อย เอาร่างกายไปท่องเที่ยวบันเทิงเริงใจ เอาร่างกายไว้ห้อยกระเป๋าแพงๆ เอาร่างกายไว้ทำสารพัดกิจกรรมสนองกิเลส…มันจะได้บุญตรงไหน เขาตายไปเพื่อให้คนกิเลสหนา เอาไปต่อชีวิตสะสมกิเลส แล้วก็ไปกินพวกพ้องเขาต่อ มันได้บุญตรงไหน อย่างไร?

6)…มังสวิรัติ พวกโลกสวย

ถ้ามังสวิรัติคือโลกสวย โลกที่ไม่เบียดเบียนกัน แล้วมันไม่ดีหรือไร หรือเราชอบโลกที่เบียดเบียน แก่งแย่ง แข่งขัน ชิงดีชิงเด่น ฆ่าฟันกัน อยากกินต้องล่า โดยไม่สนใจว่าผู้ที่ถูกล่า ถูกเบียดเบียนจะรู้สึกเช่นไร อย่างนั้นมันดีหรืออย่างไร ..อยากได้โลกแบบไหนต้องสร้างเอาเอง โลกมันจะเป็นอย่างไหนมันก็อยู่ที่คนสร้างให้เป็นแบบนั้น คนมีกิเลสสร้างโลกก็เต็มไปด้วยกิเลส มันก็เป็นเช่นนั้น โลกสวยเริ่มสร้างได้ตั้งแต่ตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมขยายขึ้นไปเรื่อยๆ เท่าที่กำลังจะทำได้ ถึงจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ แต่อย่างน้อยแค่พยายามทำตนเองให้เบียดเบียนผู้อื่นน้อยที่สุดก็พอแล้ว

7)…รู้หมดแต่อดไม่ได้

การกินมังสวิรัติไม่ได้ง่ายขนาดจะคิดเอาแล้วตัดได้ทั้งหมด หลายคนลดการกินสัตว์ใหญ่ได้ก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว แต่ก็ยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อื่นๆเหลืออยู่ บางคนแม้ว่าจะงดกินเนื้อสัตว์ทั้งหมดได้ แต่ก็ยังมีความอยากกินอยู่ จนบางครั้งตบะแตกกลับไปกินเนื้อสัตว์ อยู่ในสภาพที่ว่ารู้หมดว่าอะไรดี อะไรชั่ว แต่มันอดไม่ได้จริงๆ

อันนี้เรียกว่าไม่รู้จริง เพราะถ้ารู้จริง มันจะไม่มีความอยากเหลือเลย มันจะเบื่อ มันจะคลายความอยากไปเอง ต่อให้เอาเนื้อสัตว์ชั้นดีส่งฟรีถึงบ้านทุกเช้าก็ไม่สนใจใยดี ถ้ารู้จริงมันก็ต้องรู้แบบนี้ ถ้ารู้หมดแต่อดไม่ได้นี่แสดงว่ารู้ไม่จริง

การที่จะดับความอยากได้นั้น จำเป็นต้องมีผู้สอนและถ่ายทอดวิธีการฆ่ากิเลสให้ ไม่ใช่เรื่องธรรมดาทั่วไปที่เข้าใจได้โดยการท่องจำ ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เรื่องที่เดาเอาเองได้ ไม่ใช่เพียงแค่ดูสัตว์ทรมานหรือดูสัตว์ตาย หรือเมตตาสัตว์แล้วจะผ่านไปได้ เพราะนรกจริงๆมันอยู่ที่ความสุขตอนเอาเนื้อสัตว์เข้าปาก ถ้ายังเหลืออารมณ์สุขอยู่แสดงว่ากิเลสยังไม่ตาย ต่อให้กินมังสวิรัติมาทั้งชีวิตแต่กิเลสไม่ตายมันก็ไม่ได้พบกับความผาสุกที่แท้จริงเสียที

ดังนั้นผู้ที่กินมังสวิรัติได้ไม่ควรประมาท เพราะการกินพืชผักทั้งชีวิต วัวควายมันก็กินได้ เราเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ประเสริฐผู้ประกอบไปด้วยปัญญา จึงควรเห็นค่าของมังสวิรัติมากกว่าแค่การกินพืชผัก มากกว่าแค่เมตตาสัตว์ มากกว่าแค่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น นั่นคือการกินมังสวิรัติเพื่อดับความอยากอย่างสิ้นเกลี้ยง จึงจะถือได้ว่าเป็นคุณค่าสูงสุดของการกินมังสวิรัติ

– – – – – – – – – – – – – – –

30.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์