Tag: ปัญจวัคคี

โอกาสและอัตตา

June 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,229 views 0

โอกาสและอัตตา

โอกาสและอัตตา

จากละครซีรี่พระพุทธเจ้า ในช่วงที่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งนำโดยท่านโกณฑัญญะ เดินทางมาเพื่อเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า จากคนที่เคยเป็นอาจารย์ ต่อมากลายเป็นเพื่อนร่วมสำนัก และสุดท้ายก็กลายเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เป็นสงฆ์คนแรกของศาสนาพุทธ

เรื่องนี้ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่า สถานะนั้นไม่เที่ยงเลย จากคนที่เคยมีหน้าที่สั่งสอน ต่อมากลายเป็นเพื่อนที่มีสถานะเท่าเทียม สุดท้ายกลายมาเป็นลูกศิษย์ (แม้ในเรื่องจะนำเสนอว่าไม่รับเป็นศิษย์ ให้เป็นเพื่อนปฏิบัติธรรมแทน แต่ภายหลังก็เป็นศิษย์ คือ สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั่นเอง)

นั่นแสดงให้เห็นถึงปัญญาของท่านโกณฑัญญะ ที่ก้าวข้ามความยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวตน” จนทำให้ได้รับ “โอกาส” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกถ้าท่านยังยึดมั่นถือมั่นว่าตนเองเป็นอาจารย์ ก็คงจะไม่มีวันยอมเป็นลูกศิษย์ ของอดีตลูกศิษย์

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะยอมละวางตัวตน ความหลงติดหลงยึดในบทบาทและหน้าที่ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งที่ขัดขวางความเจริญทันทีหากเรายังยึดมั่นถือมั่นมันไว้ในวันที่หลายสิ่งได้เปลี่ยนไปจากเดิม

เราจะยอมรับได้อย่างไร หากคนที่เคยอยู่ใต้การปกครองของเราเปลี่ยนมาเสมอเราและก้าวข้ามเราไป ในขณะที่อัตตาทำงานมันจะพยายามแสดงตัวตนว่าฉันเก่งกว่า ฉันแน่กว่า ฉันรู้มากกว่า จนต้องแสดงความคิดออกมาโดยผ่านคำพูด ท่าทาง ลีลา น้ำเสียง แล้วเราจะมีปัญญารู้ทัน “อัตตา” ของเราอย่างไร

อัตตาเป็นสิ่งที่ขวางกั้นโอกาสในการเรียนรู้ แทนที่เราจะได้เรียนรู้ว่าคนอื่นนั้นแตกต่างจากเราอย่างไร? เขามีความรู้ตามที่เขาได้เปิดเผยไว้จริงหรือไม่? เขาเก่งกว่าเราจริงหรือไม่? แล้วเขาทำเช่นนั้นได้อย่างไร? เราจะไม่มีวันรู้เลยหากเราถูกขวางกั้นด้วยความคิดประมาณว่า “ฉันเก่งกว่า ฉันเป็นถึง…”

ความเจริญทางโลกยังพอมีรูปลักษณ์ให้พอหยิบยกเป็นหลักฐานได้ แต่ความเจริญทางธรรมนั้นเป็นเรื่องนามธรรมทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงอย่างถี่ถ้วนซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากจะประมาณได้

อย่ากระนั้นเลยหากเราฝึกละวางอัตตาของเราตั้งแต่ทีแรก ก็ไม่ต้องมาคอยระวังว่าอัตตาจะมาทำให้ตนเองนั้นพลาดพลั้งเสียโอกาสต่างๆ แต่โดยมากแล้วกว่าจะเห็นอัตตาของตนก็มักจะสายไปเสียแล้ว ดังเช่นพระเทวทัตถ้าท่านวางอัตตาได้เสียตั้งแต่ทีแรกก็คงจะเป็นหนึ่งในผู้พ้นทุกข์ในสมัยของพระพุทธเจ้าไปแล้ว แต่นั่นก็ไม่สูญเปล่าเสียทีเดียว ความผิดพลาดของท่านก็จะเป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังจะได้นำมาศึกษาและเรียนรู้เช่นกัน

ผู้ที่คิดว่าตนเองรู้แล้ว ก็จะปิดโอกาสในการเรียนรู้ของตน ส่วนผู้ที่คิดเสมอว่าตนเองนั้นยังไม่รู้แน่ชัด ก็ยังมีโอกาสในการเรียนรู้ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

23.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)