Tag: ปฏิบัติธรรม

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

July 21, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,982 views 0

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

บังเอิญมีเรื่องให้พิมพ์บทความนี้ขึ้นมา มีบางสิ่งที่ปลุกผมให้ตื่นจากฝัน ด้วยความปวดคันที่หน้าแข้ง ผมค่อยๆยกขาขึ้นมาดูและพบว่ามียุงตัวหนึ่งกำลังดูดเลือดอยู่…

ยุงตัวนี้ดูดเลือดจนบินแทบไม่ไหว มันดูดเสร็จก็บินลงมาบนเตียง แล้วก็บินหนีได้ทีละนิดละหน่อย มันคงจะอิ่มจนขยับตัวลำบาก พอนึกได้ก็เลยหยิบกล้องมาถ่ายรูปไว้เสียหน่อย

ประเด็นที่ชาวมังสวิรัติ นักกินเจ หรือผู้ที่พยายามลดเนื้อกินผัก มักจะถูกกล่าวหาอยู่เสมอ คือไม่กินเนื้อสัตว์แล้วแต่ยังฆ่าสัตว์กันหน้าตาเฉย ยกตัวอย่างเช่นการตบยุง ซึ่งเป็นกรณีกล่าวหายอดฮิตนั่นเอง

ผมเองไม่ได้ตบยุงมากว่าสองปีแล้วตั้งแต่เริ่มลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก การใช้วิถีปฏิบัติธรรมเข้ามาขัดเกลาความอยากกินเนื้อสัตว์ ได้ขัดเกลาความโกรธเกลียดและความอาฆาตไปพร้อมๆกัน

แม้เราจะมีเหตุผลที่ดูดีมากมายในการฆ่ายุง เช่นมันทำร้ายเรา มันเข้ามาใกล้ตัวเรา เราตบไปด้วยความเคยชิน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรมีในตนเลย เราไม่ควรจะเหลือเหตุผลในการเบียดเบียนชีวิตอื่นเลย ไม่จำเป็นเลยว่าเขามาทำร้ายเราแล้วเราจะต้องทำร้ายเขากลับ มันไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย

เราไม่จำเป็นต้องปกป้องตัวเองด้วยการฆ่า เพราะเราสามารถใช้การป้องกันได้ สมัยนี้ก็มีวิธีป้องกันมากมาย ไม่ให้ยุงเข้ามาใกล้เรา

แต่สุดท้ายแล้วถึงมันจะเข้ามาใกล้และกัดเรา เราก็ไม่จำเป็นจะต้องตอบโต้ใดๆกลับคืนเลย มันกัดแล้วก็แล้วไป จะพามันไปปล่อยนอกมุ้งนอกหน้าต่างก็ได้ถ้าทำได้ ปฏิกิริยาตอบโต้ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมีใจเป็นตัวสั่ง มันไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ แต่มันเกิดเพราะสติเราไม่ทันกิเลส มันเลยสั่งให้เราตบยุงอย่างไม่ทันรู้ตัว ไม่ทันเหยียบเบรก รู้ตัวอีกทียุงก็ตายคามือแล้ว

แม้ว่าการถือศีลนั้นจะหยุดการฆ่าได้เพียงแค่หยุดร่างกายเอาไว้ แต่ใจยังรู้สึกอาฆาตแค้น ก็ยังดีกว่าลงมือฆ่า แต่ถ้าจะให้ดีคือพัฒนาจิตใจ ปฏิบัติธรรมโดยใช้ศีลนี่แหละเป็นกรอบในการกำจัดเหตุแห่งการฆ่าทั้งกาย วาจา ไปจนถึงใจ ผู้ใดที่ชำระล้างกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการฆ่าได้ ก็จะไม่มีเหตุผลในการฆ่าและเบียดเบียนสัตว์อีกเลย

และเมื่อนั้นเราก็จะเป็นผู้ที่ละเว้นเนื้อสัตว์โดยไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ เพราะบริสุทธิ์ด้วยศีล ศีลจะเป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้เราทำบาป ไม่ให้เราสร้างอกุศล ไม่ให้เราต้องพบเวรภัยต่างๆอีกมากมาย

– – – – – – – – – – – – – – –

21.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ไม่มีศีล ไม่มีปัญญา

June 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,270 views 0

การจะเห็นตัวตนของกิเลสได้นั้น ว่ามันหลงเสพหลงติดหลงยึดอะไร ถ้าไม่มีศีลก็ยากนักที่จะเห็นสิ่งเหล่านั้นได้

เพราะคนไม่มีศีลก็ไม่ต้องรู้สึกทุกข์อะไร ไม่ต้องมีกฏ ไม่ต้องมีข้อบังคับ แต่คนมีศีลเขาจะใช้ทุกข์ที่เกิดเมื่อถือศีลนั่นแหละ มาเป็นตัวแกะรอยหาเหตุแห่งทุกข์

นั่นหมายถึงคนที่มีศีลจะมีผัสสะมากกว่าคนไม่มีศีล เพราะถ้าไม่มีศีลมันก็ไม่ต้องมีอะไรมาทำให้รู้สึกผิดชอบชั่วดีให้ต้องเกิดเวทนา

เมื่อผัสสะเกิดแต่ละครั้ง เราสามารถใช้สติปัฏฐานเข้าไปตรวจหาตัวตนของกิเลสนั้นได้ เมื่อมีสิ่งกระทบกายภายนอก จึงรับรู้ถึงกายข้างใน คือรู้เข้าไปถึงการเปลี่ยนแปลงของจิตด้วย

เมื่อรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง ก็ให้รู้ต่อว่าเป็นเวทนาแบบใด เช่นเป็นทุกข์ ก็มาต่อว่าที่ทุกข์นั้นเพราะเรามีกิเลสใดปนเปื้อนอยู่ในจิตของเรา ความอยากเสพที่ทำให้จิตนั้นขุ่นมัวคืออะไร โลภ โกรธ หลง แล้วมันโลภยังไง มันโกรธเพราะอะไร มันหลงสุขในอะไร เมื่อหาเจอแล้วก็ ใช้ธรรมที่ตรงข้ามกันเข้ามาพิจารณาเพื่อหักล้างพลังของกิเลส

กระบวนการของสติปัฏฐานจะมีความต่อเนื่องตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ส่งต่อกันไปโดยลำดับ แล้วก็ทำซ้ำไปเรื่อยๆเมื่อผัสสะเกิดแต่ละครั้ง ขุดคุ้ยหากิเลสแล้วก็ล้างไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเดี๋ยวก็หมดเอง

ซึ่งก็จะหมดตามขอบเขตของศีลนั้นๆ ตั้งศีลไว้กว้างเท่าไหร่ก็กำจัดกิเลสเท่านั้น พอเสร็จแล้วก็ขยับศีลไปทำเรื่องอื่นต่อ ศึกษาศีลข้ออื่นต่อ

จึงจะเห็นได้ว่า กระบวนการกำจัดกิเลสนั้นต้องเริ่มจากศีล ส่วนจะเป็นศีลอะไรนั้นก็ให้เลือกศึกษาให้สมควรแก่กำลัง ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมก็จะเจริญได้ไว

ความเห็นในการละสิ่งที่เป็นภัย (ลฑุกิโกปมสูตร)

June 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,199 views 0

อ่านพระไตรปิฎกเจอบทที่น่าสนใจ สรุปมาอ่านกัน

เมื่อพระพุทธเจ้าได้กล่าวว่า “จงละสิ่งนี้” ก็จะมีผู้ที่เห็นต่างกันออกไป โมฆบุรุษบางคน ก็มักจะเห็นว่า จะมาขัดเกลาอะไรกันนักกันหนา กับเรื่องเล็กน้อยแค่นี้ต้องทำด้วยหรือ เมื่อไม่เห็นควรตามนั้นจึงไม่ยอมละ ทั้งยังไม่พอใจ

บางพวกสนใจศึกษาแต่อินทรีย์พละอ่อนก็มองว่าสิ่งที่ท่านให้ละนั้นเป็นสิ่งที่ยาก แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็ยังยากที่จะละสิ่งนั้น

บางพวกสนใจศึกษาแต่มีิอินทรีย์พละมากก็มองว่าสิ่งที่ท่านให้ละนั้นสามารถทำ ได้โดยง่าย จึงทำได้โดยไม่ยากไม่ลำบาก แม้เรื่องยากกว่านี้ก็ทำได้

(ความตอนหนึ่งของ ลฑุกิโกปมสูตร)

…………………………………….

จะเห็นได้ว่าการละสิ่งใดได้ยากหรือง่ายนั้นเกิดจากอินทรีย์พละที่สะสมมา ซึ่งแต่ละคนมีต้นทุนที่ปฏิบัติมาต่างกัน คนทำมามากก็มีมาก คนทำมาน้อยก็มีน้อย บางคนมีน้อยถึงขั้นหลงผิดไม่พอใจพระพุทธเจ้าก็ยังมี

คนที่มีมากเขาก็ละสิ่งที่เป็นภัยได้ง่าย เช่น ศึกษากันไม่นานก็สามารถถือศีลยากๆได้ ส่วนคนที่มีน้อยแค่เจอศีลง่ายๆเขาก็หงายแล้ว

เรื่องแข่งบุญแข่งวาสนามันแข่งกันไม่ได้ ดังนั้นปฏิบัติธรรมอย่าเปรียบเทียบกับใคร อย่าคิดว่าคนนั้นคนนี้ทำได้แล้วเราจะทำได้ โดยเฉพาะการศึกษาพระไตรปิฎกจะเห็นว่าบรรลุธรรมกันง่ายๆ แค่ฟังไม่กี่ประโยคก็บรรลุแล้ว

ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำได้ ถึงแม้เราจะอ่านพระไตรปิฎกทั้งหมดก็ใช่ว่าจะเข้าใจหรือบรรลุธรรมใดๆได้ ดังนั้นปฏิบัติธรรมอย่าไปเปรียบเทียบกับใคร อย่าไปลอกใคร ให้เอากระบวนการปฏิบัติเป็นหลักส่วนได้มรรคผลอย่างไรเป็นเรื่องของแต่ละคน

ไม่เช่นนั้นก็จะท้อมากเมื่อเห็นเพื่อนกัลยาณมิตรก้าวหน้าไปไกลแต่เรากลับยัง อยู่ที่เดิม นั่นเพราะมีเหตุปัจจัยต่างกัน มีอินทรีย์พละต่างกัน และอาจจะมีทิฏฐิที่ต่างกัน ซึ่งตรงนี้ต้องศึกษาและตรวจสอบให้ดี

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

June 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,982 views 0

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

เรามักจะเข้าใจว่ามีแต่คนชั่วเท่านั้นที่จะได้รับผลไม่ดี ใครเล่าจะเชื่อว่าแท้จริงแล้วคนดีก็มีโอกาสที่จะได้รับกรรมชั่วที่ตนเองทำมาเช่นกัน ในบทความนี้จะมาขยายความรักของคนดี กรรมชั่วที่จะมาเป็นหลุมพรางและกิเลสที่บังตา ซึ่งพร้อมจะพาคนดีมาตกหลุมที่ตัวเองขุดไว้เอง

ขึ้นชื่อว่าคนดีนั้นย่อมไม่ยอมรับความชั่วที่ตนเข้าใจว่าชั่วเข้ามาใส่ตัวอยู่แล้ว ดังนั้นความรักของคนดีจึงมักจะมองไปข้างหน้าเสมอ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับความรักของคนทั่วๆไป คือแสวงหาสิ่งที่ดีกว่ามาเสพ ความรักของคนดีก็เช่นกัน เขาเหล่านั้นจะเฝ้าแสวงหาสิ่งที่ดีที่เลิศกว่าธรรมดามาเสพ นั่นหมายถึงคนดีจะมีสเปคที่สูงมากกว่าคนปกติ

ดังเช่นว่า แค่มีคนเก่งเข้ามาในชีวิตคงไม่พอใจ ต้องมีปัจจัยอื่นด้วย โดยเฉพาะความดีและศีลธรรม ซึ่งตามธรรมแล้วคนดีก็มักจะอยู่ในสังคมที่ดีเป็นธรรมดา ดังนั้นเขาและเธอจึงได้เจอกับคนดีเป็นเรื่องปกติ นั่นหมายถึงบุคคลที่คนดีจะไขว่คว้ามาเป็นคู่ครองนั้นจะต้องดียิ่งกว่าคนดีทั่วไปเสียอีก

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะหาคนแบบนั้นได้ง่ายๆ จึงปรากฏภาพคนดีอยู่เป็นโสดกันมาก แม้ว่าคนดีเหล่านั้นจะมีหน้าตาดี การศึกษาดี การงานดี ฐานะดี ก็ใช่ว่าจะหาคู่กันได้ง่ายๆ เพราะสเปคของเขาหรือเธอนั้นสูงเหมือนกับการฝันว่าจะได้ไปสร้างวิมานอยู่บนสวรรค์ ซึ่งจะต่างกับคนทั่วไปตรงที่สเปคของคนทั่วไปนั้นไม่สูงเท่าไหร่ แค่มีปัจจัยพอสมควรเขาก็ควงคู่แต่งงานกันไปแล้ว แต่คนดีจะไม่สามารถเสพสุขธรรมดาๆแบบนั้นได้ เพราะรู้ว่าตนเองก็ดีอยู่แล้ว ถ้าจะหาใครมาเพิ่มอีกสักคนต้องทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือพัฒนาขึ้นจึงปรากฏเป็นคำกล่าวดังเช่นว่า “หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่มีดีกว่า

ดังนั้นสภาพของคนดีก็คือการตั้งภพของคู่ในฝันที่สูงจนไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ จึงเป็นโสดทั้งๆที่ใจก็ไม่ได้อยากเป็นโสด แต่ก็มักจะเข้าใจว่าตนเองยังเป็นสุขดีแม้จะโสด ซึ่งนั่นคือสภาพของเคหสิตอุเบกขา คือการปล่อยวางแบบชาวบ้าน ก็มันหาเสพไม่ได้ก็เลยไม่ไขว่คว้า ไม่โหยหา ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่เขาใช้ชีวิตไปเรื่อยๆโดยไม่แสวงหาคู่นั่นแหละ คือไม่ใช่ไม่หา แต่มันหาไม่ได้ มันไม่มีให้เห็น เลยทำได้เพียงแค่ปล่อยวางและทำเฉยๆ แต่แบบนี้กิเลสก็ยังคงเดิม เพราะเป็นการปล่อยวางโดยสภาพจำยอมไม่ใช่การปล่อยวางที่เกิดจากปัญญารู้แจ้งธรรมอะไร ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ปล่อยวางได้ เป็นสภาพสามัญของมนุษย์ทั่วไป ดีเลวก็สามารถมีภาวะนี้ได้

แต่กระนั้นคนดีเหล่านั้นก็จะยังไม่ปิดประตูเสียทีเดียว เขาหรือเธอก็จะเปิดประตูแง้มไว้ รอคอยคู่ในฝันที่จะโผล่เข้ามาในชีวิตวันใดก็วันหนึ่ง จึงได้แต่เฝ้าฝันอยู่ในใจว่าถ้าวันหนึ่งได้เจอคนในฝันก็จะสละโสด ซึ่งก็เหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละ เพียงแค่ปัจจัยในการมีคู่นั้นมีข้อเรียกร้องที่ต่างกัน ทำให้เกิดภาพที่ว่าแม้จะมีคนมาจีบคนดีมากเท่าไหร่ ดีแค่ไหน คนดีก็ยังไม่สละโสดเสียที นั่นเพราะคนที่เข้ามาเหล่านั้น ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนดีได้ เรียกได้ว่ากิเลสของคนดีนี้มีความเหนือชั้นกว่าคนทั่วไปนั่นเอง แม้การตั้งสเปคสูงเข้าไว้อาจจะป้องกันคนชั่วได้บ้าง แต่กิเลสกลับหนาเสียจนน่ากลัว เพราะในสเปคที่สูงเหล่านั้นก็มักจะมีขอเรียกร้องของกิเลสร่วมอยู่ด้วยเสมอ

ทีนี้ความซวยของคนดีจะมีมิติที่แตกต่างกับคนทั่วไปอยู่อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะคนดีที่ปฏิบัติธรรม แต่ปฏิบัติผิดทางหรือยังไม่ถึงขั้นด้วยแล้ว จะเข้าใจว่าการมีคู่นี่แหละคือความสมดุลทางโลกและทางธรรม เข้าใจว่าคนที่ปิดประตู เลือกที่จะไม่มีคู่คือคนที่ยึดมั่นถือมั่น แต่ตนเองนั้นไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงเปิดประตูรอคู่อยู่เสมอ

ทั้งที่จริงแล้วนี่คือสภาพของการรอเสพกามซึ่งเป็นเรื่องสามัญธรรมดาของคนทั่วไป นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นคนชั่วคนดี คนปฏิบัติธรรมหรือไม่ปฏิบัติธรรมก็จะมีสภาวะของการรอเสพกามเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เรียกว่าเสพกามโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ แต่นั่นก็ผิดจากหลักของศาสนาพุทธเพราะโต่งไปทางกาม

ความสมดุลโลกและธรรมที่แท้จริงนั้นคือไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือคู่ก็ไม่มีและไม่เกลียดคนมีคู่ นั่นคือไม่สนใจที่จะเสพสภาพของการมีคู่หรือความสุขในเรื่องคู่อีกต่อไป ทั้งยังไม่รู้สึกรังเกียจการมีคู่จนทรมานตัวเอง นี่คือทางสายกลางของพุทธที่ไม่เสพทั้งกามและไม่ติดอัตตา

ดังนั้นหลุมพรางคนดีนี้เองคือสิ่งที่ร้ายสุดร้าย ทำให้คนดีหลงไปว่าตนจะต้องเจอแต่คนที่ดีเท่านั้น คู่ของตนต้องดีเท่านั้น และการมีคู่ดีนั้นดีที่สุด นั่นเพราะคนดีเขาทำแต่เรื่องดี เลยยึดมั่นถือมั่นว่าตนจะต้องได้เสพแต่สิ่งที่ดี เลยเกิดสภาพติดความเป็นเทวดา คือเป็นจิตเป็นเทวดาในร่างมนุษย์นี่เอง ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมีวันร่วงตกสวรรค์กันทุกรายไป วันไหนหมดกุศลกรรมก็หมดโอกาสเสพสุขจากดีในวันนั้น

แต่ความซวยของคนดีคือมีการทำกุศลโลกียะหล่อเลี้ยงชีวิตตนไว้ จึงเกิดสภาพของคู่ครองที่อยู่ด้วยกัน รักกัน ดูแลกันไปจนแก่ซึ่งเป็นภาพฝันอุดมคติของคนดีที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง แม้ว่าใครจะมีภาพนรกของคนคู่มาแสดงเท่าไหร่ คนดีก็จะเชื่อว่าฉันเป็นคนดี ฉันทำแต่ความดี ฉันไม่มีวันพบความชั่วหรอก ถึงชั่วก็ชั่วได้ไม่นานเพราะฉันจะทำดีสู้

นี้เองคือความผูกคนดีไว้กับโลก ดังนั้นคนดีที่ไม่เรียนรู้การล้างกิเลสจะมาตันอยู่ในสภาพสุดท้ายคือการหาคู่ที่ดีและพัฒนาทางธรรมไปด้วยกัน นี้เองคือวัฏสงสารของคนดีที่ถูกกิเลสหลอกล่อให้หลงเสพหลงสุขอยู่ในการมีคู่ ไม่สามารถปล่อยวางการมีคู่ได้เพราะหลงว่าการมีคู่ที่ดีนั้นจะทำให้ชีวิตมีความสุขและเจริญทางธรรมได้

ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสระดับของเครื่องมือศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์หรือศีลไว้ชัดเจน ฐานศีลของคนที่ปฏิบัติธรรมแต่ยังคิดจะมีคู่ก็อยู่เป็นระดับพื้นฐาน แต่นั่นก็หมายความว่ายังมีทุกข์มากอยู่ ศีลจึงมีระดับที่ละเว้นสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นต่อจากศีล ๕ ก็จะเริ่มไม่สมสู่กัน ต่อจากไม่สมสู่กันคือการไม่รับใครเข้ามาร่วมผูกพันในชีวิต นั่นหมายถึง เป้าหมายของความเจริญสูงสุดคือไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆเลย

ศาสนาพุทธไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเรื่องกิเลสเป็นเรื่องยาก ใช่จะบังคับหรือสอนให้ทุกคนเกิดปัญญาได้ในทันที จึงต้องปล่อยให้เรียนรู้ทุกข์กันไปเอง โดยมีระดับของการปฏิบัติเป็นแนวทางไว้ให้สำหรับผู้ต้องการความเจริญทางธรรมว่าถ้าอยากพ้นทุกข์ก็ให้ลดความยึดมั่นถือมั่นในการเสพสิ่งต่างๆลงไปตามลำดับจากหยาบ กลาง ละเอียด

แต่คนดีที่ไม่สามารถจะเจริญทางธรรมได้จะตันอยู่แค่ฐานศีล ๕ ในระดับที่ยังไม่รู้จักกิเลสของตัวเอง กิเลสทำให้อยากมีคู่ก็ไม่เห็นตัวกิเลส อ้างเล่ห์ อ้างเหตุผล อ้างข้อดีต่างๆให้ตนได้มีคู่ ซ้ำร้ายยังมีโอกาสเผยแพร่ความเห็นผิดของตัวเองของสู่สาธารณะโดยไม่อายว่า “ถ้าคู่ที่ดีก็สมควรมี” นี้เป็นภพที่คนดีตั้งไว้ เพื่อให้ตัวเองได้เสพโดยไม่ต้องรู้สึกผิด

คนดีที่ไม่ได้ล้างกิเลสหรือไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงจึงเกิดสภาวะที่ไม่รู้สึกเขินอายแม้จะแสดงความอยากเสพกามหรืออยากมีคู่ออกมา ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะยังไม่สามารถชำระกิเลสออกจากสันดานได้ แต่จะมีความอาย มีความรู้สึกผิดบาปหากจะเปิดเผยว่าตนอยากจะมีคู่ เพราะรู้ว่ากิเลสนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะแสดงออกมาให้ใครเห็น

แต่คนดีโดยทั่วไปแล้วจะทำกลับกัน นั่นคือสร้างภพในการมีคู่ สร้างข้อแม้ที่เป็นอุดมคติขึ้นมาว่าถ้าเจอคู่แบบนั้นแบบนี้จะรักและดูแลกันไปจนตาย เป็นคู่บุญคู่วาสนาอะไรก็ว่ากันไปแล้วแต่คนดีจะนิยาม ทั้งนี้ก็เพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้เกิดกระแสสังคมว่าถ้ามีคู่แบบนี้ไม่ผิด และนี้เองคือการเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิในคราบของคนดี เป็นความชั่วที่น่าอาย แต่คนดีกลับเปิดเผยความอยากได้อย่างหน้าตาเฉย

และทั้งหมดนี้คือหลุมพรางที่ล่อคนดีให้ตกและหลงวนอยู่ในความเป็นโลกียะอย่างไม่จบไม่สิ้น ไม่ต้องพูดถึงทางธรรม เพราะธรรมนั้นไม่เจริญอยู่ในวิธีของโลก แม้จะเป็นธรรมก็เป็นเพียงกัลยาณธรรม เป็นธรรมที่พาให้คนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาให้พ้นทุกข์ เรียกว่าเป็นโลกีย์ธรรม

ดังนั้นคนดีจึงถูกกิเลสของตนบังตาและพาให้เดินไปตกหลุมพรางที่เป็นวิบากกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ ตกแล้วก็ปีนขึ้นมา ขึ้นมาแล้วก็เดินไปตกใหม่ วนเวียนอยู่เช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน จนกว่าจะทุกข์เกินทนจึงจะแสวงหาหนทางออกจากโลก แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโลกุตระธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมที่จะเข้าใจได้โดยสามัญ ซึ่งจะหักความเข้าใจของคนดีเป็นเสี่ยงๆ และยังค้านแย้งกับกิเลสอย่างสุดขั้ว คนดีจึงต้องใช้เวลาอีกหลายภพหลายชาติในการปล่อยวางสิ่งดี ที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าดีนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

18.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)