Tag: ทางธรรม

การบริหารชีวิตเพื่อความเจริญในทางโลกและทางธรรม ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

December 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,888 views 0

ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

การบริหารชีวิตเพื่อความเจริญในทางโลกและทางธรรม ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

การใช้ชีวิตที่เรียกได้ว่าเจริญไปในทางโลกคือความไม่ขัดสนในปัจจัย ๔ แต่ก็ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น และความเจริญในทางธรรมคือสามารถใช้ชีวิตทำกิจกรรมการงานไปพร้อมๆกับลดกิเลสได้

ในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น มักจะแสวงหารายได้ที่เพิ่มมากขึ้นให้มาจุนเจือชีวิตและความต้องการของตน หลายคนประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และทางออกของเขาเหล่านั้นก็คือการหารายได้เสริม ลงทุน เก็งกำไร หรือช่องทางอื่นๆเพิ่มเติม

ความต้องการเหล่านั้นโดยมากเกิดจากกิเลส เป็นความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่รู้ว่าปลายทางของมันอยู่ตรงไหน แม้เราจะพยายามหาเงินมาเติมเต็มเท่าไหร่ แต่ความอยากกลับพุ่งทะยานออกไป คว้าสิ่งใหม่ๆมาเติมอยู่เรื่อยๆ

รายได้ในปัจจุบันของเราไม่พอจริงหรือ? ทำไมคนที่รายได้ต่ำกว่าเราเขายังมีชีวิตอยู่ได้ นั่นหมายความว่าจริงๆแล้วรายได้เราพอ แต่ใจเราไม่พอ เมื่อใจเราไม่พอ ถึงจะมีรายได้เข้ามาเพิ่มเติมเท่าไหร่ก็จะไม่มีวันพอที่จะสนองต่อตัณหาของคนที่หนาไปด้วยกิเลส

ประหยัดกิเลสลด

การประหยัดจะมีทิศทางที่ขัดกับกิเลส เมื่อเรารู้สึกอยากได้อยากเสพอะไร ให้เราตั้งใจไว้เลยว่าเราจะประหยัด ไม่ซื้อไม่กินสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ก็จะเป็นการต่อต้านกิเลส ซึ่งจะมีผลทำให้กิเลสนั้นลดลงได้

ความประหยัดต่างจากความตระหนี่ ขี้งก ขี้เหนียว ประหยัดคือกินใช้เท่าที่จำเป็น ตระหนี่คือควรกินควรใช้แล้วไม่ยอมใช้ให้เกิดประโยชน์

การประหยัดนี้เองจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เป็นการบริหารต้นทุนชีวิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้มีรายได้เท่าเดิม แต่รายจ่ายลดลง ทำให้มีเงินเหลือเก็บมากกว่าเดิม เกิดประโยชน์ทั้งในทางโลกและทางธรรม

แต่โดยมากแล้ว คนมักจะไม่แก้ปัญหาที่การประหยัด ไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง กลับไปแก้ปัญหาโดยการแสวงหาเงินเพิ่ม ไปแก้ปัญหาที่องค์ประกอบภายนอก

ลงทุนกิเลสเพิ่ม

เมื่อใจคนเราไม่รู้จักพอ ก็มักจะแสวงหางานเพื่อให้ได้เงินมาเพิ่ม ถ้ามักง่ายหน่อยก็ลงทุนบ้าง เก็งกำไรบ้าง เล่นพนันบ้าง ซื้อหวยบ้าง ฯลฯ ซึ่งก็มักจะเข้าขีดของอบายมุขอยู่เนืองๆ

เพราะมีความเห็นว่า ต้องให้มีรายได้มากขึ้น เพื่อนำมาปรนเปรอ “ความอยาก” ที่ทำให้มีรายจ่ายมากขึ้น ดังนั้นทุกครั้งที่ทำงานหรือลงทุนแล้วได้เงินมาแก้ปัญหาการเงินจากความอยากที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น นั่นหมายความว่ากิเลสจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งสนองกิเลสเท่าไหร่ กิเลสก็ยิ่งโตเท่านั้น แม้จะไม่สนองกิเลส อดทน กดข่มโดยไม่เข้าใจความจริงว่าความอยากเหล่านั้นสร้างโทษอย่างไร กิเลสก็จะโตเช่นกัน สุดท้ายก็จะเกิดสภาพที่เรียกว่าตบะแตก

การลงทุนลงแรงที่กิเลสไม่เพิ่มก็มีเช่นกัน ในกรณีที่ว่าปัจจัยสี่นั้นไม่พอเลี้ยงชีวิต ก็จำเป็นต้องออกไปหางานทำเพิ่ม เอาภาระเพิ่ม เหนื่อยเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้เงินมาดำรงชีวิต ในกรณีนี้เป็นกุศล เพราะออกจากความขี้เกียจ ไปสู่ความขยันที่จะพาให้ชีวิตเจริญขึ้น

แต่โดยมากในสังคมนั้น คนมักจะไม่พอใจกับรายได้ของตน แต่ก็ไม่คิดว่าจะต้องประหยัด ซึ่งมักจะหาทางออกด้วยการทำงานเพิ่ม ลงทุนเพิ่ม เสี่ยงดวงเล่นพนันเพิ่ม เพื่อให้ได้เงินมาจับจ่ายใช้สอยสิ่งที่จะมาสนองตัณหาของเขาเหล่านั้น

การมีรายได้มาก หรือมีความร่ำรวย ไม่ใช่สาระของชีวิต แต่การที่ชีวิตจะมีคุณค่า มีสาระนั้น คือการเลี้ยงชีพบนความถูกต้อง ใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ไม่ยอมให้ตัณหาครอบงำ และใช้วันเวลาที่มีอยู่ในโลกนี้ทำลายความหลงติดหลงยึดของตน พร้อมกับสร้างประโยชน์กลับคืนให้สังคมและโลก นี้จึงเรียกว่าเกิดมามีคุณค่า มีประโยชน์ ไม่เกิดมาตายเปล่า

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คนรักในฝัน มีอยู่จริงหรือ?

April 25, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,501 views 0

คนรักในฝัน มีอยู่จริงหรือ?

คนรักในฝัน มีอยู่จริงหรือ?

ความรักในมุมของคู่ครองกับความฝันนั้นก็เป็นเหมือนกับเรื่องเดียวกัน หลายคนเฝ้าฝันว่าวันใดวันหนึ่งจะเจอกับคนในฝัน จินตนาการปั้นปรุงแต่งกันไปตามความอยากของแต่ละคน

ในทางโลกนั้นเขาก็ว่า ต้องเหมาะสมกันบ้าง ต้องพอดีกันบ้าง ต้องส่งเสริมกันบ้าง ต้องสร้างกุศลร่วมกันบ้าง ต้องพากันเจริญบ้าง หลายๆเหตุผลที่จะทำให้เราเฝ้าฝันถึงคู่ครองในอุดมคติ

แต่ในทางธรรมนั้นกลับบอกว่าการไม่มีคู่ครองนี่แหละดีที่สุด คนที่ปัญญายังไม่รอบ ไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ยังจะพยายามแสวงหาคู่ครอง ที่ว่าดี ที่ว่าเลิศ ตามหาในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ตั้งสเปค ตั้งภพว่าอย่างน้อยๆต้องแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนี้ถึงจะยอมเป็นคู่ มีกำแพง มีกฎเกณฑ์ มีรูปแบบ หรือเรียกรวมๆว่ายังมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่

ถ้าจะให้ตรงๆเน้นๆ เลยก็คือ “การที่ยังคิดว่าคนในฝันยังมีอยู่จริง ก็คือยังโง่อยู่นั่นเอง” เพราะแท้จริงแล้วการที่เราไปแสวงหาคู่ครองในฝันนั้นก็เหมือนไปคว้าสิ่งที่ไม่มีตัวตนให้มาเป็นตัวตนของเราแม้แรกเจอจะดูดี หน้าตาดี ฐานะดี การงานดี บุคลิกดี นิสัยดี ธรรมะก็มี แต่นั่นก็เป็นเพียงสิ่งที่ล่อให้เราเข้าไปติดกับดักของความหลง และคนที่ถูกใจเรานั่นแหละคือ “ตัวเวรตัวกรรม

กิเลสของเราจะล่อเราให้ไปติดกับดักที่ตัวเองคาดฝันไว้ มีเหตุผลมากมายที่จะยอมสละโสดหรือพลีกายให้กับคนในฝัน สุดท้ายไม่ว่าจะได้คู่ที่แย่สุดแย่หรือดีปานเทวดามาเกิด มันก็อยู่ใต้อำนาจของกิเลสอยู่ดี มันก็วนอยู่ในความหลงอยู่ดี ไม่มีหรอกที่ว่าคนมีปัญญาเต็ม สติเต็ม จะยังหลงอยู่ได้ มีแต่คนด้อยสติปัญญาเท่านั้นที่จะละเมอเพ้อพกไปกับสิ่งที่ไม่จริง

หลายคนมีข้ออ้างมากมายที่ดูเหมือน “ฉลาดฉิบหาย” เพียงเพื่อที่จะได้มีคู่ ข้ออ้างเหล่านั้นเองคือความร้ายกาจของกิเลสที่พาให้คนหลงว่าตนเองมีปัญญา ซึ่งแม้แต่นักปฏิบัติธรรมหรือนักบวชก็ต้องพลาดพลั้งเพราะพลังของกิเลสมานักต่อนักแล้ว

สุดท้ายพวกเขาก็ยอมโง่อย่างยินดีเพื่อแสวงหามาเสพให้สมกิเลส หลอกตัวเองและหลอกคนอื่นว่าคนในฝันยังมี รักที่ดีก็ยังมี หลงมัวเมาอยู่ในความลวง วนเวียนทุกข์ซ้ำทุกข์ซ้อนไปเรื่อยๆจนกว่าจะเรียนรู้ได้เองว่า “ความเป็นโสดนี่แหละดีที่สุด

– – – – – – – – – – – – – – –

25.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สุดโต่ง

April 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,635 views 0

สุดโต่ง

สุดโต่ง : ปฏิบัติอย่างสุดโต่งนั้นเป็นอย่างไร

สุดโต่งคืออะไร?

คำว่าสุดโต่งนั้นหมายถึงสิ่งความเอนเอียงไปในทางหนึ่งอย่างเต็มที่ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไม่เป็นไปตามที่สังคมยอมรับมักจะมีอาการยึดมั่นถือมั่น เคร่งเครียด ไม่ผ่อนคลาย

ความสุดโต่งนั้นเป็นเพียงความเห็นความเข้าใจ ที่หมายของคำว่าสุดโต่งนั้นต่างกันไปตามความเห็นของแต่ละคน เช่น คนดีทำดีได้ง่าย ถือศีลปฏิบัติธรรมได้เป็นเรื่องปกติ เขาก็มองว่าดีนั้นคือความเป็นกลาง ความชั่วคือทางโต่ง

คนชั่วทำดีได้ยากเพราะมีกิเลสมาขวางกั้นไว้ เขาก็มักจะมองสิ่งดีที่ทำได้ยากได้ลำบากคือความโต่ง ส่วนความชั่วเป็นเรื่องสามัญในโลกที่ใครเขาก็ทำกัน

หรือคนที่ไม่ดีไม่ชั่วคือเป็นกลางๆ ก็มักจะมองว่าสิ่งที่ตนเป็นนั้นพอดีไม่โต่งไปทั้งดีและชั่ว ดังนั้นการมองความโต่งของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไป

สุดโต่งไม่ทางสายกลาง

การกระทำที่เราเห็นว่าโต่ง เรามักจะมองว่าไม่เป็นทางสายกลาง ถ้าเป็นทางสายกลางของพระพุทธเจ้านั้นคือ ไม่เสพกามและไม่ติดอัตตา พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า “พวกเธอจงเสพกามแต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่น”

สรุปในความหมายของศาสนาพุทธก็คือ คนที่ยังเสพกามและยังติดอัตตาอยู่นั่นแหละคือคนที่สุดโต่ง ส่วนคำว่าสุดโต่งในทางสมมุติโลกก็แล้วแต่ใครจะนิยาม

คนเรามักจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล พอสิ่งใดที่ทำได้ยากได้ลำบากสำหรับตนและพวกพ้องนั่นแหละคือสุดโต่ง ทั้งที่จริงๆแล้วคนอื่นเขาทำได้สบาย แล้วทีนี้ด้วยความมีอัตตาก็ยึดเอาตนนั่นแหละ เป็นตรงกลาง ใครทำมากกว่าตนสุดโต่ง ใครทำน้อยกว่าตนก็ต่ำต้อย

สุดโต่งของผู้มัวเมา (มิจฉาทิฏฐิ)

คนที่เห็นผิดและมัวเมาในกิเลสมากๆ ก็จะหมายเอาว่าการที่ทุกคนมีกิเลสเป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่น่าใส่ใจ คนเราต่างกรรมต่างวาระถือ เป็นเรื่องธรรมดาใครๆเขาก็ทำกัน คนที่พยายามจะละทางโลกอย่างจริงจังสิที่เป็นความสุดโต่ง

การที่มีความเห็นแบบนั้นเพราะต้องการตั้งกำแพงเอาไว้ไม่ให้ใครเข้ามาล้วงกิเลสตน เอาง่ายๆ คืออย่าเอาสิ่งที่พาให้เกิดความเจริญมาข้องแวะกับกองกิเลสของฉัน ฉันจะอยู่ในภพของฉัน ฉันจะเสพของฉันไปเรื่อยๆ อย่าพยายามชี้ให้ฉันเห็นถึงกิเลส อย่าบอกว่าสิ่งที่ฉันติดฉันยึดคือสิ่งไม่ดี เพราะฉันมีความสุขกับมันอยู่ ซึ่งเป็นสภาพของผู้ติดภพที่เต็มไปด้วยกิเลส

ถ้าเขามองจากก้นเหว ปากเหวก็ดูจะสูงเทียมฟ้า แต่แท้ที่จริงแล้วปากเหวนั้นก็แค่ระดับพื้นดิน ยังมีต้นไม้ ภูเขา ท้องฟ้า จักรวาล ดวงดาวอีกมากมายที่อยู่สูงและไกลออกไป

คนที่มัวเมาในกิเลสก็ยังคงต้องอยากจะเสพไปตามกิเลสอยู่ เหมือนกันกับคนส่วนมากในสังคมที่ใช้ชีวิตไปตามกิเลส แล้วก็ใช้ศาสนาเข้ามาช่วยเพียงแค่ทำให้จิตใจสงบ และใช้ตรรกะต่างๆเข้ามาเป็นเกราะป้องกันตัวเองไม่ให้มีสิ่งใดเข้ามากล้ำกราย ไม่ว่าสิ่งนั้นจะร้ายหรือดี เขาก็เพียงแค่ต้องการจะอยู่ในภพที่เขาอยู่

ซึ่งมันก็ไม่แปลกอะไร เพราะโลกเรามีคนหลายแบบ คนกิเลสน้อยก็มี คนกิเลสหนาก็มี มันเห็นไม่ตรงกันอยู่แล้ว เพราะคนกิเลสน้อยก็ว่าคนกิเลสหนานั้นมันทุกข์ คนกิเลสหนาก็ว่าคนกิเลสน้อยนั้นสุดโต่ง ซึ่งก็ถูกของเขา เพราะเขาทำไม่ได้ ถ้าหากเขาทำเขาก็จะทุกข์ทรมาน

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความคนกิเลสน้อยสุดโต่ง เพราะเขาเหล่านั้นสามารถละสิ่งที่เป็นภัยได้โดยไม่ยากไม่ลำบาก เรียกว่าทำได้แบบสบายๆ แล้วถ้าทำได้แบบสบายมันจะเรียกว่าสุดโต่งได้อย่างไร?

ยิ่งถ้าบอกว่าความเจริญที่ได้ละสิ่งที่ไม่ประโยชน์นั้นว่า “สุดโต่ง” ยิ่งสะท้อนความเสื่อมโทรมของสังคมที่ตกเป็นทาสของกิเลส ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ คนส่วนมากก็ตกเป็นทาสกิเลสกันอยู่แล้ว ยิ่งกึ่งพุทธกาลแบบนี้คงไม่มีผู้มีบุญบารมีลงมาเกิดกันมากมายหรอก ที่มาเกิดนี่ก็เด็ดๆกันทั้งนั้น

ทิ้งโลกไปทางธรรมสุดโต่งจริงหรือ

ต้องเข้าใจก่อนว่าทิ้งโลกนี้ไม่ได้หนีเข้าป่า แต่เป็นการทิ้งโลกที่เคยมีกิเลสแล้วหันหน้าเข้าหาธรรมเพื่อศึกษาธรรม พระพุทธเจ้าไม่เคยสั่งให้สาวกเข้าป่าปลีกวิเวก สาวกที่บรรลุธรรมท่านก็สั่งให้ไปสร้างประโยชน์แก่หมู่ชน และให้แยกกันไป อย่าไปที่เดียวกันธรรมกับโลกจึงอยู่คู่กันด้วยประการนี้เอง

ถ้าการทิ้งเรื่องโลกมาสนใจธรรมเป็นเรื่องสุดโต่ง ศาสนาพุทธก็คงจะเป็นศาสนาที่สุดโต่งที่สุด เพราะตามประวัติศาสตร์นั้น เจ้าชายสิทธัตถะเพียงแค่รู้ว่าลูกเกิด ท่านก็หนีไปบวชแล้ว หรือปัจเจกพระพุทธเจ้าที่เพียงแค่มองผู้หญิงที่มีเจ้าของแล้วรู้สึกผิด ก็ออกบวชแล้ว

ถ้าเป็นคนธรรมดาเขาไม่เข้าใจนะ เขาไม่มีปัญญารู้ว่ามันเป็นโทษอย่างไร แต่นี่ระดับพระพุทธเจ้า สะกิดนิดเดียวรู้เลย รู้แล้วออกได้ทันทีด้วย ไม่ติดไม่วนอยู่ เรียกว่าสุดโต่งไหม?

ถึงจะเป็นคนสมัยนั้นเขาก็ว่าโต่งนั่นแหละ อะไรกัน…เหตุนิดหน่อยก็ทิ้งแล้ว คนกิเลสหนาเขาไม่ทิ้งหรอก เขาก็เมาลูก มองสาวอยู่นั่นแหละ จะเห็นได้ว่าคำว่าโต่งถ้ามันมาจากความเห็นของคนกิเลสหนามันก็แสดงตัวตนเขาอยู่แล้วว่าทำเช่นนั้นไม่ได้ แต่ทางโต่งที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นมีอยู่ นั่นคือให้เว้นขาดจากการเสพกามและการทรมานตัวเองด้วยอัตตา ความโต่งสองทางนี้ท่านให้เว้นเสีย

สุดโต่งแต่เจริญ

ดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าความโต่งที่เป็นความเห็นของบุคคลนั้นต่างกันไปตามทิฏฐิ ซึ่งจะเอามายึดมั่นถือมั่นเป็นหลักเกณฑ์วัดอะไรไม่ได้ อ้างอิงอะไรไม่ได้เลย เพราะถ้าสังคมกิเลสหนา มันก็จะว่าการลดกิเลสเป็นทางโต่ง เช่น ในยุคนี้เขาก็ว่าการสมสู่มีคู่แต่งงานนั้นดี ยิ่งผู้หญิงแต่งตอน 25-30 ยิ่งดี แต่ถ้าเป็นสังคมยุคพระศรีอริยเมตตรัย กว่าจะได้แต่งงานก็อายุ 500 ปีโน่น มันโต่งไหมล่ะ สมมุติสัจจะและศีลธรรมโดยสามัญสำนึกมันเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยนั่นแหละ เอามาวัดอะไรไม่ได้หรอก

เรื่องคู่นี่ยิ่งชัด พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าโง่ไปมีคู่ กามนั้นแสบเผ็ดร้อนยิ่งกว่าถ่านที่เผาไหม้ ยิ่งกว่าหอกแหลมที่ทิ่มแทง ยิ่งกว่ายาพิษใด แม้ในฐานศีล ๕ จะยังมีคู่ได้ แต่ท่านไม่เคยบอกว่าให้ครองคู่กันจึงจะเจริญ ท่านให้ละให้เว้นเสีย แต่ถ้าในสมัยนี้คนเขาก็มองคนที่จะเป็นคนโสดไปตลอดไม่มีคู่เป็นความโต่งนะ โต่งแต่สัมมาทิฏฐิมันน่างงไหม?

ในยุคนี้ผู้ที่ตั้งใจจะปฏิบัติเพื่อลด ละ เลิก สิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ไม่ใช่คุณค่าแท้ ก็มักจะถูกมองว่าสุดโต่งทั้งๆที่นั่นคือทางสายกลางที่พาไปสู่ความเจริญ แม้คนจะมองว่าโต่งแต่มันไปเจริญ แล้วมันไม่ดีอย่างไรล่ะ

ก็มีแต่คนที่พ่ายแพ้ต่อกิเลสเท่านั้นแหละที่ไม่เห็นว่าการพยายามละเว้นจะกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่ดี ยังของยอมวนเวียนเสพสมใจกันอยู่ในทะเลที่เต็มไปด้วยยางเหนียว

– – – – – – – – – – – – – – –

10.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

จิตว่าง

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,946 views 0

จิตว่าง

จิตว่าง

…ว่างจากอะไร?

จิตว่างเป็นคำที่ในยุคสมัยนี้นิยมกันมาก เพราะเป็นคำที่สั้น จำง่าย เหมาะกับยุคที่รวดเร็วร้อนแรงเช่นนี้อย่างยิ่ง แต่หลายคนมักจะมีนิยามของจิตว่างในใจที่ต่างกันออกไป มีการแตกประเด็นออกไปมากมายจากคำนี้ตามแต่ใจคน

เรื่องที่มาของคำนี้จะขอยกไว้ จะกล่าวแต่เพียงความเห็นที่ได้พบและประสบมาในปัจจุบัน เราอาจจะได้ยินคำว่าจิตว่างบ่อยครั้ง แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันว่างจากอะไร? แล้วมันว่างยังไง? ว่างแบบไหน? ต้องขนาดไหนถึงเรียกว่าว่าง? ว่างจริงๆมันเป็นอย่างไร?

จริงอยู่ที่ว่าสภาวธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบอกกล่าวไม่ได้ เพียงแค่บอกแล้วอาจจะไม่เข้าใจกันเท่านั้นเอง แต่การไขสภาพหรือบอกกล่าวกันไว้ให้เป็นหลักอ้างอิงก็ยังดีกว่าไม่ได้ชี้แจงอะไร เพราะหากเราจะเหมารวมทุกอย่างเป็นปัจจัตตังแล้วเก็บอมไว้ แล้วใครล่ะจะรู้ว่าสิ่งที่คิดและเข้าใจนั้นมันถูกต้องจริงไหม บางครั้งเราอาจจะไปยึดสภาพที่ยังไม่ถูกตรงนักมาเป็นผลก็ได้ใครจะรู้…

1). จิตว่างจากความทุกข์

จิตว่างจากทุกข์นี้เป็นประโยคที่ตีความได้ทั้งทางโลกและทางธรรม แต่น้ำหนักส่วนใหญ่น่าจะเป็นไปทางโลก เพราะการจะว่างจากทุกข์นั้นทำได้ไม่ยากนัก ไม่ต้องใช้ธรรมะ ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นเรากำลังทุกข์เพราะหิว การไปกินอาหารก็ทำให้ทุกข์นั้นหายไป จิตก็ว่างจากทุกข์แล้ว

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง กำลังรู้สึกหงุดหงิดใจเพราะทำเงินหาย แต่พอเดินไปดูละครมันก็ลืมเรื่องทุกข์ไปแล้ว มันก็กลายเป็นจิตว่างจากทุกข์ อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น กำลังอกหักแฟนที่รักและผูกพันมาทิ้งไป ก็ไปทำให้จิตว่างจากทุกข์ด้วยการเสพสุขอื่นๆให้มัวเมาจนลืมทุกข์

สภาพของจิตว่างจากทุกข์นั้นโดยทั่วไปก็สามารถใช้วิธีวิ่งไปหาสุขก็สามารถออกจากสภาวะทุกข์ได้แล้ว หรือถ้าจะใช้สมถะเข้ามาช่วยก็ได้เช่นกัน ความเข้าใจว่าจิตว่างจากทุกข์จะพาลให้เฉโก(ฉลาดในเรื่องสะสมกิเลส)พาชีวิตไปเสพแต่สุขโลกีย์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเข้าใจว่าต้องทำชีวิตให้สุข ต้องอยู่อย่างมีความสุข ไม่จมทุกข์

จริงๆแล้วจิตว่างจากทุกข์นั้นก็หมายถึงการคิดบวก การคิดในแง่ดี มองโลกในแง่ดีทั่วไป แม้ทางภาษาอาจจะต่างกันแต่สภาวะนั้นเป็นแบบเดียวกัน

ในส่วนจิตว่างจากทุกข์ในระดับทางธรรมนั้นจะต่างออกไป คำว่าว่าง คือไม่มี ว่างจากทุกข์คือไม่มีทุกข์เลย ทุกข์ในที่นี้คือทุกข์ทางใจเท่านั้น และผู้ที่จะเกิดสภาพนี้ได้คือผู้มีสภาวะของพระอรหันต์เท่านั้น เข้าใจง่ายๆแค่ว่าไม่มีกิเลสก็ไม่ต้องทุกข์ ดังนั้นมันจึงว่างจากทุกข์

2). จิตว่างจากความคิด

เป็นอีกความหมายหนึ่งของจิตว่างที่ได้ยินบ่อย หลายคนตีความว่า “สุขก็เพราะความคิด ทุกข์ก็เพราะความคิด” ก็เลยหาวิธีดับความคิดเสียเลย

การทำให้จิตว่างจากความคิดปรุงแต่งหรือการสังขารนั้น โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีการสมถะเข้ามาจัดการกับความคิด ใช้อุบายทางใจที่สารพัดจะคิดขึ้นมา ตบ ดับ กดข่ม เมินเฉย ดูเฉยๆ รอจนดับไป หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เราไม่ต้องไปยุ่งกับความคิดเหล่านั้นซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นวิธีของสมถะ

ในสมัยนี้วิธีสมถะนั้นมีมากมาย ที่รู้กันโดยทั่วไปก็จะมีนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพ่งกสิณ จดจ่ออยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็มีการพัฒนาวิธีขึ้นให้เหมาะกับจริตของคนที่หลากหลายขึ้นเช่นการขยับตัวไปในท่าต่างๆ ย้ายจิตไปจดจ่อกับสิ่งอื่น ทิ้งผัสสะที่เกิดขึ้นแล้วไปสนใจสิ่งอื่น จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำโดยไม่คิด ไม่ปรุงแต่งใดๆ

การฝึกสมถะจะได้ผลเป็นฌานอยู่เหมือนกันแต่จะเป็นฌานฤๅษี เกิดจากการทำให้จิตจมไปอยู่ในภพใดภพหนึ่งและจมลึกไปเรื่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ ดับตั้งแต่สังขาร(ความคิด) ดับสัญญา(ความจำได้หมายรู้) จนเกิดเป็นสภาพที่จิตว่างจากความคิด เกิดความสงบ เป็นความสุขที่เกิดจากความทุกข์ที่ถูกดับทิ้งจากการคิดฟุ้งซ่านนั่นเอง

การทำสมถะในสมัยนี้ก็มีรูปแบบให้เห็นอย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น “สมถะลืมตา” คือทำสมถะทั้งที่ลืมตาและใช้ชีวิตนั่นแหละ ใช้ชีวิตได้แบบคนปกติเลย ไม่ต้องไปนั่งสมาธิ แต่ก็ใช้วิธีของสมถะดับความคิดไปด้วย จนบางครั้งมีหลายคนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา ซึ่งจริงๆแล้วมักจะไม่ได้เกี่ยวกับการวิปัสสนาเลย เป็นสมถะแท้ๆเพียงแค่ไม่ได้ทำเหมือนที่เข้าใจโดยทั่วไป

เมื่อสามารถทำจิตว่างจากความคิดได้แล้วเกิดความสุขความสงบ หลายคนจึงปักมั่นในสภาวะนั้นว่าคือผลเจริญของพุทธ จริงๆแล้วไม่ใช่เพราะการปฏิบัติแบบสมถะหรือแบบฤๅษีก็มีผลเจริญและสงบแบบฤๅษีเช่นกัน มันมีความสุขจริง มันว่างจริง ซึ่งมักจะพาให้เข้าใจผิดกันไปได้

หลายคนพอใจที่ตัวเองทำจิตว่างจากความคิดได้ จนสามารถควบคุมความคิดได้ แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าวิธีนั้นคือวิธีพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นความประมาทที่ค่อนข้างมาก เพราะลืมพิจารณาไปว่าความคิดเหล่านั้นมันเกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรคือตัวการที่ทำให้คิด ทำไมมันจึงทุกข์เมื่อคิด สิ่งเหล่านี้มักจะถูกมองข้ามไป เพราะหลงเสพหลงยึดเพียงความสงบด้วยความว่างจากความคิดนั่นเอง

3). จิตว่างจากตัวตน

เป็นอีกลักษณะความเข้าใจที่มักจะพบเห็นได้โดยทั่วไป เพราะเขาเหล่านั้นเห็นว่าการมีอัตตาเป็นทุกข์ ก็เลยทำให้เป็นอนัตตาเสียเลย ปราศจากตัวตนเสียเลย ว่างจากตัวตนเสียเลยก็น่าจะดี

จริงๆแล้วการใช้ตรรกะหรือความคิดเข้าไปกำหนดสภาวะมันก็ดูจะเป็นอะไรซื่อๆไปสักหน่อย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนยึดมั่นถือมั่นการใช้ภาษาเข้ามากำหนดสภาวธรรม เพราะจริงๆแล้วการทำลายอัตตาจนกลายเป็นอนัตตานั้นไม่ได้ง่ายเพียงแค่คิด เพียงแค่กำหนดจิต เพียงแค่หมั่นกระทำจิตให้ไม่ถือตัวถือตน มีอะไรมากระทบก็วางเฉย เห็นว่าเป็นเช่นนั้นเองมันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเช่นนั้นเอง สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของเราก็เท่านั้นเอง มันคิดและท่องจำเอาแบบนี้ไม่ได้

การกระทำเหล่านั้นแท้จริงก็อยู่ในลักษณะของสมถะ เป็นการทำสมถะที่ใช้ธรรมะเข้ามาเป็นกรรมฐาน ใช้เป็นบทบริกรรมแทนพุท-โธทั่วไป ซึ่งจะดูซับซ้อนกว่าวิธีสมถะทั่วไปอยู่บ้าง แต่การคิดพิจารณาเป็นรูปแบบเดิมๆ ซ้ำแบบเดิมๆ เพื่อให้จิตเข้าสู่ภพใดภพหนึ่ง หรือสภาพใดสภาพหนึ่งก็เป็นสมถะอยู่ดี ยังไม่ได้เข้าวิปัสสนาแต่อย่างใด

ความเห็นเช่นนี้มักจะมีคนสนใจมาก แม้คนที่เชื่อเช่นนี้ก็จะดูดีมาก ดูเหมือนคนไม่ยึดมั่น ไม่มีอัตตา ดูเหมือนสามารถปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ จริงๆแล้วก็เหมือนฤๅษีที่ทำสมถะ ทำสมาธิจนเป็นฌานทั่วไปนั่นแหละ มันก็จะมีความสุข ความสงบที่เกิดขึ้นเช่นกัน

แต่การเข้าใจว่าจิตว่างจากอัตตาแล้วใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้การตรึกตรองในความไม่มีอัตตาแล้ว อาจจะให้ผลเสียที่ร้ายสุดท้ายก็ได้ เพราะการที่เราคิดหรือหมายมั่นว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือการไม่มีอัตตาตั้งแต่แรกคือการเอาตอนจบมาทำตั้งแต่แรก ซึ่งขัดกับหลักของพุทธ เพราะศาสนาพุทธนั้นต้องปฏิบัติไปโดยลำดับ จากหยาบ กลาง ละเอียด

แน่นอนว่าก่อนจะไปถึงการไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือไม่มีอัตตานั้น จะต้องทำลายทางโต่งไปทางด้านกามเสียก่อนถึงจะมีผลเจริญจริงๆ แต่ในเมื่อเราใช้ความเห็นผิดเข้ามาเป็นตัวปฏิบัติ ใช้กรรมฐานเข้ามากดข่มให้เกิดสภาพอนัตตาหลอกๆ ก็เหมือนเราข้ามขั้นตอน เหมือนข้อสอบที่มีคำถามสองหน้า แต่เราพลิกไปทำหน้าหลังแล้วส่งเลย

ธรรมะก็เช่นกัน กามนั้นมีภัยมาก หลายคนที่ทำตัวให้รู้สึกว่าเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่แรกก็จะหลงกลายเป็นว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในการละกามเสียเลย มองว่าการไปละกามนั้นคือตัวตนก็ว่าได้ กลายเป็นมองว่าไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนให้ยึดมั่นถือมั่น

สุดท้ายก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย จริงๆแล้วก็เหมือนคนธรรมดาที่ยังเสพกามนั่นแหละ แต่แย่กว่าตรงที่หลงผิด หลงผิดทั้งลำดับการปฏิบัติ หลงผิดทั้งสมถะวิปัสสนา หลงผิดทั้งอัตตา-อนัตตา คือไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย มาถึงก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น สุดท้ายก็เสพกามแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำชั่วแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็เพี้ยนไปอย่างนั้นเอง

จิตว่างจากตัวตนแท้นั้นก็มีผลอยู่แต่จะอธิบายอยู่ในหัวข้ออื่นต่อไป…

4). จิตว่างจากปัญญา

จิตว่างแบบนี้ที่จริงแล้วไม่มีอยู่หรอก ไม่มีใครบัญญัติไว้ สร้างขึ้นมาใหม่ในบทความนี้เพื่อเป็นตัวสรุปของความผิดพลาดในการปฏิบัติธรรมจนหลงผิด

วิธีการปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนั้นมีมาก หลายคนแม้จะเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดมรรคผลตามหลักศาสนาพุทธ แน่นอนว่าการปฏิบัติที่เพียรพยายามนั้นต้องการผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนก็จะนำมาซึ่งผลที่ผิดเพี้ยนเช่นกัน

ผู้มีมรรคผลที่ผิดเพี้ยนมักจะไม่รู้ตัว เพราะคนที่มิจฉาทิฏฐิจะไม่มีทางรู้ตัวอยู่แล้ว ก็จะเชื่อว่าตนเองนั้นสัมมาทิฏฐิ เชื่อว่าการปฏิบัติของตนนั้นถูกต้อง พ้นทุกข์ได้จริง ปฏิบัติได้จริง มีผลจริงๆ สภาพที่เห็นจะเหมือนกับการปฏิบัติแบบพุทธเลย แต่นามธรรมภายในจะต่างกัน เรียกว่าสัญญาเดียวกันกายต่างกัน

คือจะใช้ศัพท์ ภาษา สมมุติเหมือนกันหมด เรียกสภาวะอย่างเดียวกัน สงบก็สงบเหมือนกัน ว่างก็ว่างเหมือนกัน ดับก็ดับเหมือนกัน ดังนั้นเวลาคุยกันก็จะเหมือนว่าบรรลุธรรมพ้นทุกข์กันจริงๆ แต่ไม่มีใครรู้จริงหรอกว่าสภาพจิตใจที่เกิดนั้นถูกจริงหรือผิดเพี้ยนไป ใครจะรู้ในเมื่อมิจฉาทิฏฐิก็หลงว่าตัวเองสัมมาทิฏฐิ จึงมีผู้บรรลุธรรมเต็มประเทศไปหมด แล้วคนไหนของจริง คนไหนของปลอม ใช้อะไรแยก จะรู้ได้อย่างไร คนนั้นก็อวดว่าตนจริง แล้วก็ชี้ว่าคนอื่นปลอม มันก็มีให้เห็นแบบนี้บ่อยๆ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัมมาอริยมรรคนั้นเป็นทางเอกทางเดียวที่พาพ้นทุกข์ เราสามารถใช้มรรคที่ถูกตรงนี้เป็นตัววัดได้คร่าวๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีหลายสำนักหลายกลุ่มที่อ้างว่ามรรคของตนถูก แน่นอนว่ามีทั้งถูกและผิด มิจฉาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรค สัมมาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรคและเกิดสภาพจิตว่างเหมือนกันด้วย

กลับมาที่หัวข้อ ในหัวข้อนี้คือ “จิตว่างจากปัญญา” ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่มีปัญญา ดังนั้นจิตที่ว่างจากปัญญาจึงไม่ใช่พุทธ ปัญญาในทีนี้นั้นไม่ใช่ปัญญาที่เพียงแค่ทำให้มีความสงบ ความสุข ความว่างจากความคิด ความว่างจากตัวตนโดยใช้ความคิด แต่เป็นปัญญาที่ทำให้สงบจากกิเลส ชำระกิเลส ดับกิเลส

การดำเนินตามสัมมาอริยมรรคนั้นหมายถึงทางที่พาไปสู่ความเจริญเพียงอย่างเดียว ทางที่พาลดละกิเลส สวนกระแสโลก ทางที่พาให้คิดดี พูดดี ทำดี ทำงานดี ดังนั้นการไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำนั้นไม่ใช่วิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ การที่จะเดินทางไปสู่ความผาสุกจะต้องคิด พูด ทำ

แล้วมันต้องคิด พูด ทำอะไร? ก็คือคิดไปในทางลดกิเลส พูดแต่เรื่องลดกิเลส ทำแต่สิ่งที่พาลดกิเลส

แล้วมันจะคิด พูด ทำ อย่างไร? แบบนี้มันก็ต้องมีปัญญา คนที่ปฏิบัติยังไม่ถูกทางก็จะไม่มีปัญญา จิตก็เลยว่างจากปัญญา กลายเป็นคนไม่มีปัญญา แม้จะมีความสุข ความสงบ ความไม่มีตัวตน แต่กลับไม่มีปัญญารู้ในเรื่องลดกิเลส ไม่มีปัญญาจัดการกับกิเลส ไม่รู้แจ้งเรื่องกิเลส ก็เรียกได้ว่า “จิตว่างจากปัญญา

5). จิตว่างจากกิเลส

มาถึงประเด็นหลักกันเสียที ถ้าจะให้คำว่าจิตว่างมันถูกตรง ถูกตามพุทธนี่มันก็ต้องว่างจากกิเลสนี่แหละ แต่สภาวะว่างจากกิเลสนั้นก็ยังมีคนหลงผิดกันไปมาก ก็จะขอขยายตรงนี้กันให้เข้าใจกันเสียก่อน

เรามักจะเข้าใจว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นคือกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความโลภ ฯลฯ ซึ่งก็ถูกต้องเช่นนั้น แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นกิเลสปลายเหตุ หลายคนสามารถดับความโกรธที่เกิดขึ้นได้แล้วหลงเข้าใจไปว่า เรานี่ว่างจากกิเลสแล้ว ซึ่งจริงๆมันก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้นเสียทีเดียว

การดับความโกรธ ความคิด ความฟุ้งซ่านต่างๆได้ ถ้าเราใช้วิธีสมถะก็สามารถดับทิ้งไปได้แล้ว ยังไม่ได้เข้าหลักการลดกิเลสแต่อย่างใด เป็นเพียงการใช้สมถะเข้ามาตบกิเลสที่ฟุ้งขึ้นมาให้ดับลง ทำให้กิเลสที่แสดงตัวนั้นดับลงเท่านั้น จริงๆแล้วคนที่ทำได้แบบนี้ก็ถือว่าดีแล้ว เก่งแล้ว แต่ก็มักจะหลงเข้าใจว่า สิ่งนี้เรียกกว่าการดับกิเลส หรือจิตว่างจากกิเลส ซึ่งจริงๆเรื่องกิเลสมันไม่ได้ตื้นเขินแบบนั้น มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น

การที่จะจิตว่างจากกิเลสได้ ต้องปราศจากกิเลสใดๆในเรื่องนั้นๆเลย ถ้าว่างได้หมดก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเอง แต่การจะว่างได้ก็ไม่ได้ว่างเพียงแค่ดับปลายเหตุ แต่ต้องขุดลึกลงไปถึงต้นเหตุที่เรียกว่าสมุทัย

โดยทั่วไปเรามักจะมองง่ายๆ แบบตื้นๆว่า ทุกข์เกิดเพราะเราโกรธเพราะเรามีตัวตน พอเราดับความโกรธดับตัวตนก็ไม่ต้องทุกข์ แบบนี้ใช้สมถะก็ได้ ฤๅษีก็ทำได้ยังไม่ต้องเข้าพุทธ ซึ่งหมายความว่าวิธีดับที่เหตุนี่ยังไม่ใช่พุทธนั่นเอง

แต่ถ้าวิธีของพุทธจะมองสมุทัยลึกลงไปอีก เช่น เราเกิดทุกข์เพราะเราโกรธ แล้วเราทำไม่จึงโกรธ เพราะเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพสมใจใช่ไหม แล้วเราอยากเสพสิ่งนั้นไปทำไม เราติดสุขอะไร …. การหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีรูปแบบแน่ชัดนัก ขึ้นอยู่ว่าใครสะสมกิเลสมาหนาขนาดไหน ซับซ้อนขนาดไหน แต่ละคนก็จะมีเหลี่ยมมุมในการวิเคราะห์กิเลสที่แตกต่างกัน เพราะเราชอบต่างกัน ยึดติดต่างกัน เรามีตัวตนที่ต่างกันไปตามกรรมของแต่ละคน

ดังนั้นการปฏิบัติธรรมนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จใดๆให้ท่องจำแล้วทำตามจึงจะบรรลุธรรม แต่เป็นการปฏิบัติไปเพื่อล้างกิเลสที่เป็นของตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเอาเอง ทำเอาเอง ตามรูปแบบของกิเลสตัวเอง จะมีก็เพียงหลักพื้นฐานเพื่อให้พิจารณาเช่น ไตรลักษณ์ ประโยชน์และโทษ กรรมและผลของกรรม

แต่การพิจารณานี้ไม่ได้พิจารณากันที่ผลที่เกิด แต่ต้องพิจารณาไปที่สมุทัย ที่กิเลสที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เหมือนกับการแก้ปัญหาให้ถูกจุด ถ้าเราไปใช้ไตรลักษณ์ ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน กับความโกรธที่เป็นผลปลายเหตุ มันก็จะเข้าลักษณะของสมถะเท่านั้นเอง

เพราะแท้จริงแล้วการจะได้มาซึ่งจิตว่างจากกิเลสไม่ใช่ด้วยการท่องจำ หรือใช้กรรมฐานต่างๆ พอเราเจอตัวกิเลสจริงๆ มันจะพิจารณาไตรลักษณ์ไม่ออก เมื่อเรายึดติดเราจะรู้สึกว่ามันเที่ยง ไม่เป็นทุกข์ มันเป็นตัวตนของเรา กิเลสจะไม่ยอมให้เราเห็นต่างจากนี้ ถึงแม้เราจะท่องด้วยภาษา แต่จิตเราไม่ได้ลดกิเลสจริง มันก็จะติดจะยึดอยู่แบบนั้นเอง นี่แหละคือความจริงของการปฏิบัติธรรม รู้จริง เห็นจริง ในทุกเหลี่ยมมุมของกิเลสกันเลย

ทีนี้พอปฏิบัติเพื่อชำระล้างกิเลสเป็นแล้ว เข้าใจอริยสัจ ๔ ,สัมมาอริยมรรคแล้ว ก็จะเดินหน้าลุยล้างกิเลสลูกเดียว มีกิเลสไหนสู้ไหวก็จะสู้ ไม่ปล่อยทิ้งให้เวลาเสียเปล่า จนเกิดเป็นผลจริง เกิดความว่างจากกิเลสจริง

แล้วว่างจากกิเลสในเรื่องไหน? ก็ว่างจากกิเลสในเรื่องที่ตั้งศีลเพื่อปฏิบัติ แล้วปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ใช้ไตรสิกขาเพื่อข้ามสามภพคือ กามภพ รูปภพ อรูปภพของกิเลสนั้นๆ จนกระทั่งกิเลสตาย

เมื่อกิเลสตายจึงว่างจากทุกข์ ว่างจากความคิดที่เจือปนด้วยกิเลส ว่างจากอัตตาตัวตนเพราะไม่ยึดมั่นทั้งกามและอัตตา จิตว่างที่แท้จริงมันว่างแบบนี้ มันว่างจากกิเลสเช่นนี้

6). สรุป

จริงๆแล้วคำว่า “จิตว่าง” คือสภาพของผล คือผลที่เจริญแล้ว คือการปฏิบัติที่เห็นผลแล้ว แต่หลายคนที่หลงผิดกลับเอา “จิตว่าง” มาเป็นมรรค คือใช้จิตว่างมาเป็นตัวปฏิบัติ พยายามให้จิตที่มีนั้นว่าง โดยมากก็ใช้วิธีสมถะทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อใช้มรรคที่ผิดจากทางพุทธ ผลก็ผิดจากทางพุทธไปด้วยเช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

12.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)