Tag: ตาย

เผชิญแบบทดสอบ : เราพร้อมตายหรือยัง

September 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,805 views 0

เผชิญแบบทดสอบ : เราพร้อมตายหรือยัง

เผชิญแบบทดสอบ : เราพร้อมตายหรือยัง

พิมพ์บทความเกี่ยวกับเรื่องตายๆกันมาเยอะแล้ว ก็ยังไม่เคยจะได้เล่าประสบการณ์กันสักที บังเอิญว่าเมื่อวานนี้มีเหตุการณ์ที่เข้ามาทดสอบว่าเราเองพร้อมสำหรับความตายหรือยัง…

เมื่อวานมีธุระที่ต้องเข้าไปในเมือง แถวๆชิดลม โดยนั่ง“รถโดยสารปรับอากาศ” สาย 73ก ไป นั่งจากกลางๆลาดพร้าว ไปจนถึงรัชดา ทุกอย่างก็ราบเรียบดีไม่มีปัญหา จะมีก็แค่ฝนที่ตกปรอยๆอยู่ทำให้รถติดบ้างเท่านั้น

ผมนั่งเบาะข้างหลังรองสุดท้าย ข้างซ้ายด้านในติดกระจก เป็นมุมที่สามารถมองวิวข้างทางได้เพลินๆระหว่างรถติด มองคนเลิกงาน เดินกางร่มกันไปตามทาง คนในรถก็ยืนกันแน่น คุยกันบ้าง เล่นโทรศัพท์กันไปบ้าง ทุกอย่างดูเหมือนปกติดี

ในขณะที่รถติดไฟแดงอยู่ มีเสียงตะโกนขึ้นมาว่า “ เปิดประตู!!” ทุกสายตามองไปยังต้นกำเนิดเสียง มีอีกหลายเสียงตะโกนขึ้นตามกันมาให้เปิดประตู ตามมาด้วยเสียงกรี๊ดเสียงโวยวาย มีควันสีขาวๆลอยฟุ้ง ทุกคนรีบลุกขึ้นพยายามจะหาทางออกกันหมด

ด้วยความที่คนแน่นมากก็ทำให้มองไม่เห็นอะไรเลย สักพักคนขับก็เปิดประตูให้ ผู้คนจำนวนมากวิ่งทะลักออกจากรถ คนที่อยู่หลังรถด้านขวาพยายามเปิดประตูฉุกเฉินแต่ก็เปิดไม่ออก มีเสียงพูดกันขึ้นมาว่าแก๊สรั่วรึเปล่า? ผมยังนั่งอยู่ที่เดิมนิ่งๆ ดูเหตุการณ์ไป เพราะถึงจะลุกออกไปก็ติดคนอยู่ดี

ขณะนั้นเอง กระเป๋ารถก็ตะโกนบอกให้ผู้คนอย่าวิ่ง ไม่ต้องวิ่ง ผมก็เห็นด้วยนะ เพราะยิ่งวิ่ง ยิ่งเบียด ก็ยิ่งอันตราย ในขณะนั้นไม่มีใครรู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะมีอะไรรั่ว หรืออะไรจะระเบิดก็ไม่รู้ ทุกคนรู้แค่ว่าต้องหนีเท่านั้น

ก็คิดอยู่นะ ว่าถ้ามันมีอะไรระเบิดจริงๆก็คงจะรอดยากละนะ แต่ก็ไม่เป็นไรหรอก คิดได้ดังนั้นก็มองดูคนที่ทยอยลงจากรถต่อไป

ผู้คนเริ่มลงจากรถไปได้ครึ่งคันแล้ว ผมก็คงต้องเริ่มจะลุกกับเขาบ้าง ที่เบาะข้างหน้าเขาคงจะรีบมาก ก็เลยทำร่มหล่นไว้ ผมก็ถือลงไปด้วย เผื่อว่าจะเอาไปให้เขา (ใครก็ไม่รู้)

ระหว่างที่เดินไปหน้าประตู ก็เห็นผงสีขาวกระจายอยู่เต็มพื้น ได้กลิ่นฉุนจมูก กลิ่นแบบที่ดมนานๆคงจะแสบจมูก ข้าวของที่หล่นกระจายประปรายหน้าประตูรถ ผมลงมาพร้อมถือร่มชูขึ้นพยายามจะให้มีคนเห็น เรียกหาเจ้าของร่ม ก็ไม่เห็นจะมีใครสนใจ …ผมลืมนึกไปว่าในสถานการณ์แบบนี้ จะมีใครสนใจร่มของตัวเองล่ะ สุดท้ายก็เลยวางไว้แถวนั้น ต้องขออภัยจริงๆ ถ้าผมคิดได้ก่อนก็คงจะไม่หยิบลงมาด้วย…และถ้าคิดได้อีกทีก็คงเดินเอาไปวางที่เดิมให้

กระเป๋ารถ และคนขับยังดูเหตุการณ์อยู่ในรถ ผมก็ยืนดูอยู่สักพักไม่ถึงนาทีหรอก แต่เหมือนว่าจะไม่มีอะไรร้ายแรงมาก ก็มีคนเดินกลับเข้าไปขึ้นรถ ขณะที่มีเสียงคนหลายคนพูดกันระงมว่าใครจะเสี่ยงขึ้นไปอีก จริงๆเขาคงขึ้นไปหาของที่ทำหล่นละมั้ง แต่ก็อาจจะมีคนขึ้นไปนั่งต่อจริงๆก็ได้

ชีวิตในเมืองช่างดูไร้ทางเลือกจริงๆ ต้องกลับไปขึ้นรถที่เต็มไปด้วยสารเคมีที่กระจายออกมาเต็มรถ ผมพิจารณาดูแล้วว่าแค่เดินผ่านยังมีอาการแสบจมูก เลยเดินไปที่รถใต้ดินและยอมต่อรถไฟฟ้าอีกทีเพื่อไปถึงที่หมายแทนที่จะต้องไปนั่งสูดสารเคมีในรถ

สรุปกันหน่อย…

ผมเองได้เห็นผลจากการซ้อมตาย หรือที่เรียกว่า “การเจริญมรณสติ” ที่เคยทำอยู่บ่อยๆ มันทำให้เราใจเย็นลง ไม่รีบร้อน แต่ก็ไม่ประมาท เห็นและยอมรับทุกอย่างตามที่เป็นจริง วิเคราะห์เหตุการณ์ตามข้อมูลที่ได้รับมา และก็ไม่ได้เป็นทุกข์กับมัน

การทดสอบนั้นควรจะมาแบบที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่ทันได้เตรียมใจ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากการที่เราพยายามวิ่งเข้าหามัน ทั้งในความจริง หรือการคิดจินตนาการ พิจารณาไปถึงความตาย หรือ มรณสติ

แบบทดสอบความพร้อมก่อนตาย คงไม่ได้มีมาทดสอบเราบ่อยนัก การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ได้รับ การตรวจสอบใจตัวเอง การย่อยและขยายผลเหล่านั้นให้เกิดปัญญา คือ คุณค่าที่เราจะได้รับจากแบบทดสอบนั้น บางคนมีโอกาสได้เผชิญกับภาวะเสี่ยงตายหลายครั้งแต่ก็ไม่เคยได้พิจารณาลงไปถึงรากแห่งความกลัวที่จะต้องตาย ซึ่งน่าเสียดายโอกาสเหล่านั้นมากๆ

แบบทดสอบนั้นไม่จำเป็นต้องรุนแรงเสมอไป บางครั้งกับบางคน เพียงแค่เห็นเหตุการณ์อุบัติเหตุในข่าว ก็สามารถเกิดปัญญาเข้าใจในเรื่องความตายได้แล้ว แต่บางคนผ่านการเฉียดตายมาหลายครั้งกลับไม่สามารถเข้าใจเรื่องความตายได้

การเจริญมรณสติ ไม่ได้ทำให้เรากล้า แต่ทำให้เรายอมรับอะไรได้ง่ายขึ้น เมื่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้นกับเรา

– – – – – – – – – – – – – – –

17.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

September 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 23,866 views 0

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

ถาม: ผมสงสัยว่าคนที่ทำดีมาตลอดชีวิตแต่มาเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ คนกลุ่มนี้ไม่แม้แต่จะรู้ว่าตัวเองกำลังจะเสียชีวิต วิญญาณพวกเค้าจะไปสู่ภพภูมิที่ดีหรือไม่ เพราะเค้าไม่มีโอกาสคิดเรื่องดีๆที่เค้าทำมาทั้งชีวิต

ตอบ: การเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุนั้น ภาพที่เราเห็นอาจจะดูไม่ดีนัก แต่ในความเป็นจริงสิ่งนั้นอาจจะไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง ต้องทนทุกข์อยู่นานหลายปี อยากจะตายไปให้พ้นๆก็ไม่ตายสักที กับอีกคนเดินๆอยู่ก็มีรถพุ่งเข้ามาชนจากด้านหลัง ตายไม่รู้ตัว ถามว่าสองคนนี้ คนไหนทุกข์มากกว่ากัน? คนไหนที่เกิดอกุศลจิตมากกว่ากัน? คนไหนที่มีโอกาสทำบาปทางกาย วาจา ใจ มากกว่ากัน?

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ตายดีหรือตายร้าย แต่อยู่ที่ว่าทุกข์หรือไม่ทุกข์ต่างหาก เพราะไม่ว่าจะตายช้าตายเร็ว เราก็ต้องตายอยู่ดี จะตายดีตายร้ายเราเลือกไม่ได้ แต่ทุกข์หรือไม่ทุกข์นี่เราเลือกที่จะทำได้

ทำไมทำดีแล้วตายไม่ดี…

บางครั้งเราอาจจะสงสัย ว่าทำไมคนที่ทำดีต้องตายในสภาพที่ไม่ดี ทำไมตายไว ทำไมต้องพบทุกข์ทรมานมากแม้ว่าเขาจะทำดีมาทั้งชีวิต

เหตุของความเจ็บความตายเหล่านั้นไม่ได้มาจากการทำดีของเขา แต่มาจากกรรมชั่วที่เขาเคยทำมาเมื่อสมัยที่เขายังไม่ได้ทำดี อาจจะในชาตินี้หรือชาติก่อนก็ได้ เมื่อเขาทำดีเข้ามากๆ เขาก็อาจจะได้รับกรรมชั่วที่เขาได้ทำมาได้ไวขึ้น เพราะกรรมชั่วจะมาให้เราได้ชดใช้และเพื่อสะท้อนให้คนดีได้เข้าใจว่าตนเองนั้นเคยทำบาปกรรมอะไรลงไป จะได้เข็ดขยาดและเลิกทำบาปนั้นๆเขาใช้กรรมชั่วไปแล้วกรรมนั้นก็หมดไป เกิดใหม่ก็ได้ร่างที่ดีกว่าเดิม ภพภูมิที่ดีกว่าเดิม

ในกรณีคล้ายๆกัน คนชั่วเองก็อาจจะตายด้วยอุบัติเหตุก็ได้ นั่นก็เพราะกรรมชั่วมันมีมากพอที่จะส่งผล หรือไม่ก็อาจจะทำบาปมากเกินไป จนกระทั่งเกินกว่าพลังของบุญบารมีที่เขาเคยทำจะปกป้องเขาไว้แล้วก็ได้ แต่เราก็มักจะเห็นคนชั่วหลายคนยังมีชีวิตเสพสุขปลอดภัย นั่นก็เกิดจากความดีที่เขาทำมาเมื่อก่อนหรืออาจจะเป็นชาติก่อนภพก่อนก็ได้ เมื่อเขายังได้รับกุศลที่เขาทำมายังไม่หมด ก็ยังไม่ถึงเวลาที่เขาจะต้องตายแต่เมื่อกุศลที่เขาทำมานั้นหมดลงเมื่อไหร่ ชั่วที่เขาทำในชาติก่อนและชาตินี้ก็จะส่งผล ไม่ว่าเขาจะต้องเกิดอีกกี่ครั้ง ไม่ว่าจะเกิดในภพไหน เขาก็ต้องได้รับทุกข์จากชั่วที่เขาเคยทำมาจนกว่าจะหมด

ความตายนั้นไม่ใช่จุดสิ้นสุด เพียงแต่เป็นการดับเพื่อเกิดใหม่เท่านั้น เพื่อทิ้งร่างเก่าที่มีวิบากร้าย เช่น ป่วย มีโรคมาก หรือกระทั่งหมดบุญ หมดกุศลที่ทำมา ก็ต้องทิ้งร่างนั้นไป เช่น บางคนมีชีวิตที่ดี ครอบครัวดี สังคมดี แต่ก็ต้องมาจากไปด้วยอุบัติเหตุ นั่นเพราะเขาได้รับดีที่เขาทำมามากพอแล้ว ในขณะเดียวกันเขาเองก็ไม่ได้ทำดีใหม่ขึ้นมา ใช้ชีวิตโดยการกินบุญเก่า พอกรรมดีเก่าที่เคยทำมาหมดลง ความชั่วที่เคยทำมาก็ส่งผลนั่นเอง

จิตสุดท้าย ก่อนตาย…

เรามักจะเข้าใจว่า ควรให้ความสำคัญกับจิตสุดท้ายก่อนตาย แต่จริงๆแล้วเราควรจะให้ความสำคัญกับทุกขณะจิตที่เรายังมีลมหายใจอยู่

ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามีโอกาสอยู่ในร่างนี้ได้ 100 วัน ตั้งแต่เกิดถึงวันที่ 99 เราหยุดชั่ว ไม่ทำชั่ว ทำดีมาตลอด แต่วันสุดท้าย คือวันที่ 100 เรากลับมีความคิดวิตก กลัว ยึดมั่นถือมั่น ฟุ้งซ่าน โวยวาย ทุกข์ใจ ถ้าจะถามว่ามันดีไหม ก็ต้องตอบว่าไม่ดี แต่กรรมไม่ได้มองแค่เรื่องจิตสุดท้าย แต่หมายถึงทุกๆการกระทำใน 100 วันนั้น หากแม้เราเผลอพลาดทำจิตให้หม่นหมองในวันสุดท้ายก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราทำดีมาตั้ง 99 วัน เราแค่ได้รับกรรมชั่ว 1 วัน แต่เราจะได้รับกรรมดี 99 วันเชียวนะ

ในกรณีคนที่ตายโดยไม่รู้ตัวในวันที่ 100 เมื่อเขาหยุดชั่ว ทำดี มาตลอด และก่อนตายก็ไม่ได้มีจิตวิตก มีทุกข์ มีความกังวลใดๆ เมื่อไม่มีทุกข์จากกิเลสก็ไม่เป็นบาป ก็ไม่ต้องกังวลเลยว่าเขาจะได้รับบาปนั้น ถึงจะตายในสภาพที่ดูไม่ดี แต่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ เช่น ไปเกิดใหม่ในร่าง สังคม สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น ไม่ไปเกิดในช่วงกลียุค แต่ข้ามไปเกิดยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปเลย

ดังนั้น การไม่ได้ทบทวนสิ่งที่ดีก่อนตายในคนที่ประสบอุบัติเหตุตายกะทันหัน ไม่ใช่สิ่งสำคัญเลยเมื่อเทียบกับกรรมที่ทำมาทั้งหมดในชีวิต และก่อนที่เขาจะตายนั้น เขาก็อาจจะมีจิตที่ตั้งไว้ดีแล้ว มีความสุข มีสติ มีสมาธิดีแล้ว นั่นคือเขากำลังอยู่ในปัจจุบันที่ดีที่สุดแล้ว

สู่สุคติ สู่ภพภูมิใหม่ที่จะไป..

ดังที่มีคำกล่าวไว้ว่า “ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ใครจะไปที่ไหน ทำอะไรอย่างไร ก็เป็นไปตามกรรมที่เราได้ทำมา เช่นในชาตินี้ เราเห็นคุณค่าของการทำบุญทำกุศล เราก็มักจะเข้าวัด ทำทาน ฟังธรรม พบปะครูบาอาจารย์ของเราอยู่เป็นประจำ เพราะเรามีกรรมที่จะต้องเข้าใจคุณค่าของการทำบุญทำกุศลซึ่งเราได้ทำสะสมมาหลายชาติแล้ว ทำให้เราสามารถเข้าถึงคุณค่าของการทำบุญทำกุศลในชาตินี้ได้ง่าย นี่คือ เราเป็นไปตามกรรมที่เราเคยทำมา แม้ในขณะที่เรายังมีชีวิตเราก็ยังต้องดำเนินไปตามกรรมที่เราทำมา

เมื่อเราต้องเสียชีวิตนี้ ทิ้งร่างกายนี้ไป กรรมก็จะพาเราไปที่ที่เราเคยทำมา ใครทำอะไรมาก็จะไปอยู่ที่นั่น คนที่ทำบุญทำกุศลก็จะได้เกิดในที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำบุญทำกุศล มีสังคมสิ่งแวดล้อม ที่ผลักดันให้เขาเข้าไปสู่การทำบุญทำกุศล เพราะนั่นคือกรรมของเขา

ส่วนคนที่มัวเมาในอบายมุข ทำบาป โลภ เบียดเบียนคนอื่น เขาก็ต้องไปเกิดในที่ที่จะเอื้อให้เขาได้รับกรรมที่เขาทำมา ยกตัวอย่างเช่น คนที่กินเหล้า ติดยาเสพติด เมามายอยู่ในสิ่งลวงต่างๆ เขาก็ต้องได้รับกรรมที่เขาทำมาคือมีสังคม คนรอบข้างที่กินเหล้า ติดยาเสพติด เมามายในอบายมุข เพื่อให้เขาได้รับทุกข์จากกรรมนั้นๆที่เขาทำมา วนเวียนอยู่ในกองทุกข์ กองกิเลส จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่เขาทุกข์เกินทน ดังคำตรัสที่ว่า “ เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม ” เขาจะเข้าใจถึงทุกข์โทษภัยของการทำบาปและอกุศลกรรม จึงเริ่มพยายามที่จะสร้างกรรมดีขึ้นมาใหม่ พยายามจะพาตัวเองหลุดจากกรรมชั่วเหล่านั้น

เกิดและตาย วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร…

เมื่อทำกรรมดีไปมากๆ ก็จะสะสมความดี กลายเป็นคนดีมากขึ้นเรื่อยๆในทุกชาติที่เกิดใหม่ เมื่อเป็นคนดีที่เต็มไปด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็จะมีกิเลสพอกพูนหนาขึ้นเรื่อยๆ อยากได้โลกธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเบียดเบียน เริ่มแย่งชิงอำนาจ เริ่มสะสม จนเริ่มทำชั่วอีกครั้ง เพาะเชื้อชั่วอีกครั้ง จนความชั่วกลายเป็นกรรมที่ฝังแน่น จนกระทั่งชั่วสุดชั่ว ทีนี้วิบากกรรมก็จะดลบัลดาลเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ทุกข์ทรมานแสนสาหัส จนทนทุกข์ไม่ไหว พอเห็นทุกข์ก็เห็นธรรม กลับมาเป็นคนดีอีกครั้ง พอเป็นคนดี มีทรัพย์มีอำนาจแต่ล้างกิเลสไม่เป็น วันหนึ่งก็จะวนกลับไปชั่วอีกครั้ง พอชั่วมากก็เวียนกลับมาเป็นคนดี วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอยู่แบบนี้ไม่มีวันจบสิ้น

จนกระทั่งวันหนึ่งมีพระพุทธเจ้ามาบังเกิด คนผู้มีบุญบารมีเหล่านั้นจึงได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของท่าน พากเพียรจนกระทั่งบรรลุธรรม รู้แจ้งเหตุปัจจัยของทุกสิ่ง นำมาซึ่งการไม่ต้องวนเวียนว่ายตายเกิดเหมือนคนทั่วไป เป็นผู้มีอิสระ เป็นผู้ไกลจากกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

12.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แด่วันสุดท้ายของเธอ…

September 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,220 views 0

แด่วันสุดท้ายของเธอ…

แด่วันสุดท้ายของเธอ…

ในชีวิตหนึ่งที่เกิดขึ้นมา เราคงมีโอกาสตายกันได้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่การพลัดพรากจากกันนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่วันใดก็วันหนึ่งที่เราจะต้องพรากไปจากหลายสิ่งหลายอย่างที่เรารักและหวงแหน ไม่ว่าจะเป็น วัตถุสิ่งของ คนรอบข้าง ชื่อเสียงเกียรติยศ กระทั่งความรู้สึกนึกคิดบางอย่างได้เสื่อมสลายและตายจากเราไปทีละน้อยทีละน้อย

คงจะมีหลายครั้งที่เราได้มีโอกาสเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ที่กำลังจะจากไป ผู้ที่กำลังจะทิ้งร่างกายนี้ไป ผู้ที่กำลังจะตายไป… แต่โอกาสเหล่านั้นมักมีอยู่ในช่วงสั้นๆ เป็นช่วงเวลาที่เราเองก็มักจะก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ไม่รู้จะพูดอย่างไร และไม่รู้ว่าจะคิดอะไรจึงจะดี… ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับการวางขันธ์ หรือการส่งผู้ที่กำลังจะจากไปนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรเรียนรู้ไว้ เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้ที่กำลังจะจากไป

คิด พูด ทำ อย่างไรดี…

แต่ถ้าหากเราไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร ก็ขอให้นึกไว้ว่า พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทำบรรยากาศให้ดีที่สุด คือการคิด พูด ทำ ให้ตนเองและผู้ป่วยเกิดความรู้สึกที่ดี

ผู้ดูแลควรจะมีทักษะในการพูดให้เป็นกุศล พูดให้เกิดความรู้สึกดี รู้จักประคองความรู้สึกของผู้อื่น ช่างสังเกตและแววไวในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ซึ่งอาจจะใช้วิธีใดก็ได้ตามเหตุและปัจจัย แต่ก็มีเป้าหมายเดียวคือทำให้จิตใจของทุกคนเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นความรู้สึกดีๆ ก่อนจะจากกันไป และแม้ว่าจะไม่เกิดดีตามที่ได้คาดหวังไว้ ก็สามารถปล่อยวางความยึดดีเหล่านั้นได้

การพาผู้ที่กำลังจะจากไป ย้อนกลับไปสู่อดีต คือพากลับไปสู่ความทรงจำดีๆ เรื่องราวดีๆ ที่เคยมีร่วมกัน โดยให้ระลึกไปถึงความคุ้มค่าที่ได้เกิดมาไม่ใช่รำพึงรำพัน บุญกุศลต่างๆที่เคยทำมา การขอโทษและให้อภัยในความผิดพลาดของกันและกัน เพื่อลดการผูกมัดกับสิ่งที่ฝังใจในอดีต

การพาผู้ที่กำลังจากไป เดินทางไปสู่อนาคต อ้างอิงจากอดีตคือบุญกุศลที่เคยทำมา เมื่อทำกรรมดีมา ยังไงกรรมก็ต้องพาไปพบเจอสิ่งที่ดี ทางข้างหน้าไม่ได้เลวร้าย เพียงแค่ทิ้งร่างกายที่เก่าและทรุดโทรมไปเอาร่างใหม่เท่านั้น เพียงแค่หลับไปตื่นขึ้นมาก็เป็นอีกโลกหนึ่ง อีกภพหนึ่ง อีกตอนหนึ่งของเราแล้ว เหมือนดั่งในจุดเริ่มต้นตอนเราเกิดมาชาตินี้ ก็เป็นเพียงไปเล่นละครในบทใหม่เท่านั้น โดยพูดไปในทางบวกให้คลายกังวล เพราะความกลัวมักจะเกิดจากความไม่รู้ แต่ถ้ารู้เรื่องกรรมและผลของกรรม จะโลกนี้หรือโลกหน้าก็ไม่มีอะไรน่ากลัวอีกต่อไป

การพาผู้ที่กำลังจากไป อยู่กับปัจจุปัน หลังจากดับความกังวลในอดีตและอนาคตได้พอสมควรแล้ว ก็กลับมาอยู่กับปัจจุบันซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่จะสร้างกุศลได้อย่างแท้จริง แม้ผู้ที่กำลังจะจากไปจะคิดเรื่องดีๆที่ตัวเองทำไม่ออก แต่ถ้าสามารถพาให้เขาได้คิดดี พูดดี ทำดี ในช่วงเวลานี้ ก็จะสามารถสร้างทั้งอดีตที่ดีและอนาคตที่ดีในเวลาเดียวกัน

เมื่อเราคลายทุกข์ในจิตใจที่เกิดขึ้นในอดีต อนาคต และปัจจุบันได้แล้ว ก็ให้ประคองจิตอันเป็นกุศลเหล่านั้นไปเรื่อยๆ โดยใช้ความอดทนเสียสละ เข้าใจและเห็นใจ ตั้งสติของตัวเองให้มาก โดยไม่ให้เหตุแห่งความเสียใจของตนนั้นไปสร้างจิตอกุศลให้เกิดขึ้น เช่น ถ้าเราเผลอร้องไห้เสียใจฟูมฟาย ก็อาจจะสร้างทุกข์ใจให้กับผู้ที่กำลังจะจากไปเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นการประคองสภาพจิตที่เป็นกุศลจนถึงวินาทีสุดท้าย จำเป็นต้องใช้ความตั้งมั่นอย่างมาก

เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น ก่อนหน้านี้เราพูดไปแล้วเขาก็ดีขึ้น แต่พอผ่านไปสักพักเขาก็คิดกังวลอีกครั้ง เราก็ต้องประคองให้เขาคิดเป็นกุศลอีกครั้ง โดยไม่คิดโกรธ รำคาญ ย่อท้อ หดหู่ เพราะภาวะของคนใกล้ตายนั้นจะมีความรุนแรง สับสน ซับซ้อน แปรผันตามกิเลสและวิบากบาปที่เขาเหล่านั้นสะสมมา

ทุกข์จากใจ…

ความกลัว ความกังวลของผู้ที่กำลังจากไปนั้นมาจากกิเลสที่ยึดมั่นถือมั่นฝังลึกอยู่ข้างในจิตใจ แม้ว่าจะเคยแสดงบทเป็นคนเข้มแข็งมาทั้งชีวิต แต่ในช่วงสุดท้ายก็อาจจะแสดงความอ่อนแอทั้งหมดที่เก็บไว้ออกมาก็เป็นได้ การจะพาให้ผู้ที่กำลังจากไปนั้นล้างกิเลสเหล่านั้นคงจะทำได้ยาก เพราะเวลาคงมีไม่มากพอและเราเองก็คงจะไม่รู้วิธีล้างกิเลสเหล่านั้น ดังนั้นจะไปคิด หรือไปบอกให้เขาว่า อย่ากังวล อย่ากลัว อย่ายึดมั่นถือมั่น ก็คงจะเป็นไปได้บ้างสำหรับบางคน ที่คงไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถปรับใจให้ปล่อยวางได้ ดังนั้นแม้สุดท้ายเราจะพยายามเต็มที่แล้ว แต่เขาก็ยังต้องทนทุกข์เพราะใจของเขาเอง เราก็คงต้องปล่อยวางด้วย

แม้แต่ความกังวลของเราเองนั้น ก็ควรจะต้องตัดไปให้ได้ก่อน เพราะการที่เรายังคิดมาก กังวล เครียด กลัว นั้นจะสร้างบรรยากาศที่ขุ่นมัว แม้จะสามารถแสดงออกว่าสดชื่นแต่คนอื่นก็ยังจะสามารถรู้สึกถึงความทุกข์ข้างในได้ การทำใจของตัวเองให้ยอมรับการจากไปของเขาหรือเธอนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามทำให้ได้เสียก่อน ยอมรับว่าทุกคนก็ต้องเจ็บป่วย ทุกคนก็ต้องตาย และเราเองก็ต้องจากและพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ไม่มีสิ่งใดที่จะตั้งอยู่อย่างคงทนถาวรเลย

หน้าที่ของเรานั้นคือทำใจให้เป็นหลักให้เขายึดเกาะ ก่อนที่เราจะส่งให้เขาไปยึดอาศัยในสิ่งที่เป็นกุศลมากกว่าเรา ดังนั้นถ้าคนที่คอยประคองอย่างเรา มีจิตใจหวั่นไหวดังไม้ปักเลน ทั้งเขาและเราก็คงจะร่วงหล่นสู่อกุศลจิตได้ง่าย ดังนั้นการทำตนให้หนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหว จะช่วยพาเขาไปสู่สิ่งกุศลอื่นๆที่เราจะนำพาไปได้อย่างราบรื่น

จากโดยไม่ได้ลา…

ในหลายๆครั้ง เรามักจะต้องพบกับการจากโดยที่ไม่มีโอกาสลา อาจจะเป็นคนที่ไม่ได้พูดคุยพบเจอกันมานานแล้ว หรืออาจจะเป็นที่คนที่พึ่งบอกลาแยกย้ายกันไปได้ไม่นานนี้เอง เมื่อไม่ได้ลาก็ไม่เป็นไร… แต่ก็ให้ความรัก หลง โกรธ ชัง นั้นตายตามไปกับเขาด้วย ไม่ต้องเก็บเอาไว้กับเรา เมื่อเขาจากไปแล้วก็จะไม่มี “เรื่องระหว่างเราสองคน” อีกต่อไปดังนั้นความรู้สึกผูกพัน ยึดมั่นถือมั่น ยึดว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะไปในทางดีหรือร้ายนั้น ก็ขอให้ปล่อยลอยหายไปพร้อมกับชีวิตที่หายไปด้วย เหลือทิ้งไว้แต่เรื่องราว ประสบการณ์ เท่านั้น เราจะไม่ลืมเขา และเราจะไม่เสียใจ เพราะเรารู้ดีว่า…จากกันไม่ตลอดไป

อย่ากังวลไปเลย แล้วเราจะพบกันใหม่…ไม่มีสิ่งใดจากไปอย่างถาวร และไม่มีสิ่งใดอยู่กับเราตลอดไป เราต้องเจอกับการพบพรากจากลาอยู่อย่างนี้เสมอ เป็นแบบนี้ตลอดมาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ ตราบใดที่เรายังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้ เราก็ต้องวนกลับมาพบกันอยู่เรื่อยๆ กลับมาร่วมบุญกุศลกัน กลับมาร่วมใช้กรรมต่อกันและกัน เหมือนอย่างที่เราเป็นในชาตินี้นี่เอง

– – – – – – – – – – – – – – –

10.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ก่อนที่เราจะต้องจากกัน

August 26, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,855 views 1

ก่อนที่เราจะต้องจากกัน

ก่อนที่เราจะต้องจากกัน

เคยลองคิดกันบ้างไหมว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของเรา เรายังจะอยากทำอะไร อยากพูดอะไร กับใครบ้าง…

ส่วนใหญ่ก่อนที่เราหรือใครสักคนจะจากไปนั้น ไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรมอะไรสักเท่าไหร่หรอก อย่างดีก็คงจะมีโอกาสได้แค่พูดกันบ้าง หรือได้แค่มองตากันโดยไม่สามารถจะพูดอะไรได้ ในวันนี้เราคิดว่าวันเหล่านั้นช่างดูห่างไกล แต่ที่จริงคนเราสามารถตายกันได้ตลอดเวลา ไม่มีใครรู้ว่าวิบากกรรมจะมาพรากความปกติของเราไปเมื่อไหร่

ก่อนที่ฉันจะต้องจากไป…

เมื่อถึงเวลาของเรา เพียงแค่ได้ลองจินตนาการไปถึงวาระสุดท้ายที่น่าจะสวยงามที่สุด และมีโอกาสมากที่สุดในการสื่อสาร ก็คือเจ็บป่วยและค่อยๆตายจากไป ก็จะสามารถสร้างความน่าสลดหดหู่ให้เกิดขึ้นในจิตใจได้มากพอสมควร ไม่มีใครที่ไม่จากไป ไม่มีใครอยู่ยั่งยืน เพียงแค่เราเองไม่เคยคิดจินตนาการ ออกแบบภาพความตายของเราไว้เท่านั้นเอง

เมื่อเราถึงคิดถึงวาระสุดท้าย ความอยาก ความขับข้องใจ ความคาดหวัง ฯลฯ จะวิ่งเข้ามาหาอย่างเต็มที่ เราจะสามารถฝึกซ้อมที่จะสั่งเสียได้จากการฝึกพิจารณาความตายเหล่านี้ แต่จริงๆแล้วเสน่ห์ของการพิจารณาความตายไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะสั่งเสียหรือสื่อสารอะไร ยังไง กับใคร แต่อยู่ที่ว่า “ทำไม”…เราจึงอยากบอก อยากจะสื่อสาร หรืออยากจะทำสิ่งเหล่านั้น

การพิจารณาความตายจะทำให้เราสามารถเห็นกิเลสลึกๆที่ยังผลักดันเราอยู่ ว่าจริงๆในชีวิตของเรายังขาด อยากได้อยากมีอะไร ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ในการแก้ไขปัจจุบันที่ยังบกพร่องอยู่นั่นเอง

ก่อนที่เราจะต้องจากกัน…

ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตกันอยู่โดยเชื่อว่า พรุ่งนี้ฉันจะก็จะเจอคนอื่นๆเหมือนทุกวัน เจอพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน คนรัก เหมือนทุกๆวัน โดยไม่ได้ฉุกคิดว่ามันอาจจะไม่มีพรุ่งนี้สำหรับเราและเขาก็ได้นะ

เรื่องราว ความฝัน อนาคต หลายสิ่งอีกมากมายที่เราคิดว่าจะทำร่วมกัน จะถูกทำลายลงในพริบตา ทันทีที่อีกฝ่ายจากไป สิ่งที่เราคิดว่ามันน่าจะมี กลับไม่มีอีกต่อไป เมื่อทุกอย่างจบอย่างไม่สวยงามเหมือนภาพในฝัน ความจริงได้พรากคนที่รัก คนที่ใกล้ชิด คนที่เราชัง จากไปก่อนที่เราจะได้ทำสิ่งที่ดี ได้แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดเสมอ

เรามักจะเห็นภาพคนที่คิดจะทำดีเมื่อสายไปแล้ว นั่นเพราะเขาไม่ได้ตระหนักถึงความไม่แน่นอน ประมาทในกาลเวลา ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไปจนไม่ได้ทำหน้าที่ หรือบางสิ่งที่ควรจะทำ

ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าใจความไม่แน่นอน คือการพลัดพรากก่อนเวลาที่เราคิดว่าสมควรได้ บางคนประสบพบเห็น และเรียนรู้กับเหตุการณ์สูญเสียอยู่มากมาย แต่กลับไม่สามารถทำใจยอมรับได้เมื่อเสียสิ่งที่ตนรักไป นั่นก็เพราะไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วเรากำลังยึดมั่นถือมั่นอะไร การที่เราไม่รู้สึกอะไรกับการสูญเสียบางอย่าง เช่น คนรู้จักตายไปเราก็เฉยๆ แต่เมื่อคนที่รักตายกลับเศร้าโศกเสียใจนั่นก็เพราะเรามีความยึดมั่นว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของตนต่างกัน

แล้วทำไมเราต้องยึดมั่นสิ่งเหล่านั้นด้วย เพราะเราเห็นว่า คนนั้นเป็นพ่อแม่ของเรา คนนั้นเป็นญาติของเรา คนนั้นเป็นเพื่อนของเรา คนนั้นเป็นคนรักของเรา เรายึดสิ่งนั้นเป็นของตัวเองทั้งที่เขาไม่ใช่ของเรา เขาก็มีกรรมของเขา มีเวลาที่จำกัดของเขา ไม่มีใครหรืออะไรมาพรากเขาไปนอกจากกรรมของเขาเอง การที่เขาเกิดมาและตายจากไปมันก็เป็นเรื่องของเขา

ส่วนเรื่องของเราก็คือ เราทำหน้าที่ของเราให้ดีหรือยัง เราเป็นลูก เป็นพ่อแม่ เป็นญาติ เป็นเพื่อน เป็นคนรักที่ดีแล้วหรือยัง? ให้เราเฝ้าถามตัวเองซ้ำๆว่าเราทำหน้าที่ดีพอหรือยัง? พิจารณาในใจตัวเองให้เห็นกระทั่งว่า ถึงแม้จะไม่มีพรุ่งนี้สำหรับฉันและเขาแล้ว ก็จะไม่เสียใจ เพราะสิ่งที่ทำลงไปนั้น ได้ทำดีที่สุดแล้ว ได้ทำเต็มที่แล้ว เหมาะสมที่สุดแล้ว

เมื่อเราซ้อมที่จะพลัดพรากได้อย่างนี้บ่อยๆ เราก็จะค่อยๆคลายความรัก หลง ชอบ เกลียด ชัง ฯลฯ เหล่านี้ลงไป เป็นการทำให้ความหลงผิดยึดมั่นถือมั่น ตายก่อนที่เราหรือเขาจะตายไป เมื่อเราทำลายหรือปลดเปลื้องความยึดมั่นถือมั่น หรืออัตตาเหล่านั้นแล้ว ก็จะพบว่าทำให้เราสามารถใช้ชีวิตปัจจุบันให้มีความสุขมากขึ้น

เราพิจารณาความตาย เพื่อให้ปัจจุบันของเรามีคุณค่ามากขึ้น ทำสิ่งที่มีประโยชน์มากขึ้น ไม่ใช่เพื่อความเศร้าสลดสังเวชใจเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –
26.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์