Tag: คู่รัก

ขอบคุณที่…ทิ้งฉันไว้กลางทาง

July 12, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,917 views 0

ขอบคุณที่...ทิ้งฉันไว้กลางทาง

ขอบคุณที่…ทิ้งฉันไว้กลางทาง ก่อนที่เราจะทำบาปแก่กันและกันมากไปกว่านี้

เรื่องราวของคู่รักบนเส้นทางอันยาวไกล ไม่มีใครรู้ว่าจุดหมายนั้นอยู่ที่ไหน เราอาจจะพอรู้ได้ว่าความสัมพันธ์นั้นมาถึงจุดไหนเมื่อผ่านสถานะของ เพื่อน คนรู้ใจ แฟน หรือสามีภรรยา ถึงแม้เราจะผ่านช่วงเหล่านั้นมาแล้วแต่การเดินทางของชีวิตคู่ก็ต้องดำเนินต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่คนใดคนหนึ่ง จะถูกทิ้งไว้กลางทางเพียงลำพัง

เมื่อความสัมพันธ์ในรูปแบบคู่รักได้เกิดขึ้น ก็ต้องคอยประคองความสัมพันธ์ ไม่ให้มากเกินไป ไม่ให้น้อยเกินไป คอยเอาอกเอาใจรับใช้ เพื่อให้อีกฝ่ายพอใจ เป็นเหตุแห่งความสุขของกันและกัน เป็นตัวตนของกันและกัน เป็นสิ่งผูกมัดซึ่งกันและกัน เป็นบาปของกันและกัน จนสุดท้ายกลายเป็นอกุศลกรรมที่ผูกกันและกันไว้

แต่ถึงแม้จะเอาพยายามทำตัวเป็นคนดี คิดดี พูดดี ทำดี ก็ไม่ได้หมายความจะต้องได้รับสิ่งที่ดีตลอดเวลา คนเราทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ผลของกรรมไม่ได้ผูกกันด้วยเรื่องดีเพียงอย่างเดียวมันยังมีเรื่องร้ายด้วย คนที่เข้ามาผูกพันจึงถูกเรียกว่า “คู่เวรคู่กรรม” เพราะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ต้องมาคอยใช้หนี้บาปหนี้กรรมแก่กันและกัน

การพลัดพรากสร้างความทุกข์ให้กับคนที่ยึดมั่นถือมั่น การถูกทิ้งเป็นเพียงฉากละครฉากหนึ่งที่ผลของกรรมลิขิตไว้ เรามักจะเห็นว่ามีหลายเหตุการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นสิ่งที่สมควรจะเกิดขึ้นแล้ว เพราะนั่นเป็นผลของกรรมที่เราทำมาเอง ไม่ใช่จากเหตุอื่นใด

เมื่อผลของกรรมได้พรากคนรักไปจากชีวิตรักในอุดมคติที่เคยฝัน ก็เหมือนกับม้าที่ถูกเปลี่ยนกลางศึก กลายเป็นม้าตัวเก่าที่ถูกทิ้งอย่างไรเยื่อใย ได้แต่มองเขาจากไปพร้อมกับม้าตัวใหม่ที่เขาชอบใจมากกว่า การถูกทำลายคุณค่าในตัวตน ทำลายความหวัง นั้นทำให้ผู้ยึดมั่นถือมั่นทุกข์แสนสาหัส

แต่ถ้าหากเราลองพิจารณาให้ดี การที่ความสัมพันธ์ใดๆ ถูกทำลายไปก่อนจะถึงฝั่งฝันนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ดีก็ได้ การที่เขาออกไปจากชีวิตเรา นอกจากเรื่องของวิบากกรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้แล้ว ก็มักจะเป็นเรื่องของกิเลสเป็นส่วนใหญ่

การที่คู่รักต้องพรากจากกันไปเพราะมีคนใหม่ก็มักจะเกิดจากการที่คนเก่าไม่สามารถสนองกิเลสให้ได้ พอคนกิเลสหนาไม่ได้รับการบำเรอให้เกิดสุขก็ต้องไปหาคนใหม่มาบำเรอตน ทำให้คนเก่าที่ไม่สามารถสนองกิเลสได้อย่างใจถูกทิ้งให้กลายเป็นอดีต

ซึ่งจริงๆก็เป็นเรื่องที่ดีแล้วที่เราถูกทิ้ง เราไม่ได้ถูกคนดีทิ้งไป แต่เราถูกคนกิเลสหนาทิ้งไป คนกิเลสหนาก็ชั่วตามปริมาณของกิเลสที่มี คนที่ทิ้งคู่รักที่บำเรอตนไม่ได้ไปหาคนใหม่เพื่อจะสนองตนเองได้มากกว่า คือคนที่เสพไม่เคยพอ นั่นหมายถึงการที่เขาทิ้งไปคือ คนชั่วหนึ่งคนหายไปจากชีวิตเรา เราก็ควรจะยินดีที่ได้พ้นจากภาระ ที่ต้องคอยสนองกิเลสแก่กันและกัน ไม่ต้องสะสมบาปกันไปให้ชีวิตมันทุกข์ไปมากกว่านี้

การที่นักรบเปลี่ยนม้ากลางศึก ม้าตัวเก่าที่ถูกทิ้งก็มีโอกาสไปทำประโยชน์ให้ตัวเอง ดูแลตัวเอง แต่ม้าตัวใหม่ก็ต้องไปทำบาปร่วมกันนักรบคนนั้น ไปเป็นเครื่องมือที่เอื้อให้ไปทำร้ายทำลายผู้อื่น เรียกได้ว่าไปร่วมบาปกันนั่นเอง

เพราะจริงๆแล้วเราไม่รู้หรอกว่าความเป็นคู่รักนั้นจะไปสิ้นสุดลงตรงไหนแบบใด เราต้องเวียนว่ายตายเกิดตามไปผูกพัน ไปรัก ไปทุกข์กันอีกกี่ชาติกว่าจะจบ ต้องได้อีกเท่าไหร่กว่าจะสมใจหมาย เหมือนกับการเดินทางที่ไม่มีจุดหมาย ไม่รู้ว่าต้องเสพสุขจากความเป็นคู่รักอีกแค่ไหนถึงจะพอ แม้จะทำได้เพียงแค่ยึดเขาไว้เป็นของตนแล้วก็หลงคิดไปว่าเขาจะต้องอยู่กับเราตลอดไป

ดีเสียอีกที่เขาทิ้งเราตั้งแต่วันนี้ เพราะเราได้รู้จุดจบ ได้เรียนรู้ว่าชีวิตคือความพลัดพราก คู่รักนั้นไม่ยั่งยืน มีแล้วเป็นทุกข์ และมันก็ไม่ได้เป็นตัวเป็นตนอะไรของเราเลย ขาดเขาเราก็ยังอยู่ได้ ยังกินได้ ยังนอนได้ ยังหายใจได้ จริงๆแล้วเขากับเราไม่เกี่ยวกันเลยด้วยซ้ำ เราไปหลงเอาเขามาผูกเป็นคู่ไว้เอง พอเขาทิ้งเราหนีไปเราก็เสียใจ ทั้งที่จริงๆแล้วเขาไม่ใช่ของของเราตั้งแต่แรก ไม่มีใครมีกันและกันตั้งแต่แรก มีแต่คนที่หลงว่าการมีคู่เป็นสุข แล้วก็มาเจอกันร่วมเสพสุขบำเรอกิเลส ชาติแล้วชาติเล่า สร้างบาป สร้างอกุศลกันมากมาย ยิ่งเสพยิ่งหิว ได้เท่าไหร่ก็ไม่เคยอิ่ม จึงต้องหาคนมาเสพเพิ่ม ทำร้ายคู่ชีวิต วนเวียนกันล้างแค้นเอาคืนกันไม่จบไม่สิ้น

จะดีไหมหากเราจะ ”ขอบคุณ” ที่เขาได้ทิ้งเราไว้ก่อนที่จะผูกพันกันไปมากกว่านี้ ก่อนที่เราจะทำบาปร่วมกันไปมากกว่านี้ ก่อนที่เราจะผูกภพผูกชาติกันไปมากกว่านี้

จะดีไหมหากเราจะใช้ “การถูกทิ้งครั้งนี้เป็นโอกาส” ในการเลิกผูกปม เลิกจองเวรจองกรรม เลิกไปผูกพันกับใครให้ต้องคอยมาแก้ มาคอยแบกทุกข์กันอีก

จะดีไหมหากเราจะใช้ “อิสระที่ได้กลับคืนมา” ในครั้งนี้ ศึกษาให้เห็นเหตุและผลของเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ให้รู้ลึกถึงความเป็นมาว่าทำไมเราจึงต้องทนทุกข์ขนาดนี้ เหตุแห่งทุกข์คืออะไร และจะดับทุกข์นั้นได้ไหม แล้วจะดับด้วยวิธีอะไร

เราไม่จำเป็นต้องแบกรับภาระใดๆอีก ไม่ต้องคอยสนองกิเลสใคร ไม่ต้องให้ใครมาบำเรอกิเลสเรา นั่นหมายถึงเราไม่ต้องสร้างบาปใดๆแก่กันและกันอีก การที่เราถูกทิ้งนั้น หากจะมีอะไรเกิดขึ้นมาอีกก็คงจะมีแต่เรื่องดี เพราะเราได้ใช้กรรมชั่วไปหมดแล้ว ถูกทิ้ง ถูกทำให้ทุกข์ไปแล้ว รับกรรมไปแล้ว ผลของกรรมนั้นก็หมดไป เราก็ไม่ต้องสร้างเพิ่ม ไม่ต้องพยายามหาเหาใส่หัว ไม่ต้องไปแกว่งเท้าหาเสี้ยนให้ต้องลำบากทีหลัง

สรุปได้ว่า ดีแล้วที่ทิ้งฉัน ขอบคุณที่ทิ้งกันไว้ที่ตรงนี้ ดีแล้วที่ไม่ต้องพากันไปลงนรกอีก ขอบคุณที่เข้ามาให้ได้ชดใช้กรรมชั่วที่เคยทำไว้ และเห็นใจจริงๆกับบาปครั้งนี้ที่เธอได้ทำไว้ เพราะเธอคงต้องได้รับมัน “เหมือนกับที่ฉันได้เคยทำชั่วไว้หนักหนาจนมีผลของกรรมให้ต้องทนทุกข์เพราะโดนทิ้งในชาตินี้เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

12.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เรียนรู้เรื่องคู่จาก พระนางพิมพา

June 26, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,061 views 0

เรียนรู้เรื่องคู่จาก พระนางพิมพา

เรียนรู้เรื่องคู่จาก พระนางพิมพา

คงจะมีเหตุบางอย่างให้คนในยุคนี้ได้เรียนรู้เรื่องราวของความเป็นคู่บุญคู่บารมีในรูปแบบของคู่รัก ซึ่งเป็นคู่แบบหนึ่งที่เรียกได้ว่าต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส ใช่ว่าเส้นทางเหล่านี้จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ หากเราได้ศึกษาจะพบว่าท่ามกลางความรักที่ดูน่าหลงใหลได้ปลื้มนั้น ยังมีความทุกข์และวิบากบาปจำนวนมหาศาลที่ต้องแบกรับอีกด้วย

เราอาจจะเข้าใจผิด หลงคิดว่าถ้าพระพุทธเจ้ามีคู่บุญคู่บารมีในรูปแบบของคู่รักแล้วตนจะมีได้บ้าง จึงมักจะยกเจ้าชายสิทธัตถะและนางพิมพาเป็นต้นแบบ โดยไม่ตระหนักว่าสาระสำคัญของเรื่องราวทั้งหมดนั้นเป็นอย่างไร เรามักจะยินดีรับรู้เรื่องราวเท่าที่เราอยากเสพเท่านั้น นั้นก็เพื่อให้เราสามารถมีคู่ได้ด้วยความชอบธรรม

ความเป็นคู่นั้นแม้จะรักกันเกื้อกูลกันเพียงใด แต่การผูกกันไว้ด้วยสภาพของ “คู่รัก” ซึ่งจะกลายเป็นกรรมที่ต้องชดใช้กันไปไม่รู้อีกกี่ชาติต่อกี่ชาติ ใช่ว่าคู่บุญคู่บารมีพระพุทธเจ้าจะเกื้อกูลให้เจริญเสมอไป กว่าจะถึงวันที่เราเห็นดังที่ได้เรียนรู้มา ท่านทั้งสองผ่านกันมามากมาย ทั้งพากันทำบาป ทั้งถ่วงความเจริญกัน ทั้งหึงหวง ทั้งทะเลาะ ทั้งเป็นภาระ ทั้งถูกทิ้ง ทั้งเป็นเหตุให้อีกคนเจ็บปวดและตาย กว่าจะแบกกันมาจนถึงชาติสุดท้ายนี่ต้องทนทุกข์ทรมานมากเท่าไหร่ เราคงไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมด ทำได้เพียงศึกษาข้อมูลบางส่วนเท่านั้น

ถ้าใครอยากรู้ก็ลองนึกดูก็ได้ว่า คู่ที่เราทะเลาะกัน เกลียดกัน ทำร้ายกันนั่นแหละจะมาจองเวรจองกรรมกันทุกชาติไม่จบไม่สิ้น พากันลงนรกไปอีกนานแสนนานจนกว่าจะปีนป่ายขึ้นมาจากนรก แต่กระนั้นก็ไม่ใช่ง่าย ต้องผลัดกันแบกกันและกันปีนขึ้นจากเหวนรก บางทีอีกคนก็ฉุด บางทีเราก็ไปฉุดอีกคนลงนรก ใช่ว่าจะพบความสุขความเจริญได้ง่ายนัก

โดยเฉพาะผู้ที่ยังมีกิเลสหนาอยู่ ซึ่งมักเอาเรื่องเกื้อกูลกัน พัฒนาไปด้วยกัน เจริญในธรรมไปด้วยกัน มาบดบังกิเลสคือความอยากมีคู่ของตน กลายเป็นหลอกตัวเองว่าถ้าคู่ไม่ดีก็ไม่ควรมี แต่ถ้าคู่ดีก็มีได้

แท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องมีคู่บุญที่อยู่ในรูปของคู่รักเลย ให้เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์ที่ต้องสะสมโลกวิทูหรือการรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง งานของพระโพธิสัตว์คือเรียนรู้ทุกบท ทุกเหตุการณ์ ทุกเหลี่ยม ทุกมุม ทุกความรู้ในเรื่องโลก แต่คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ถึงขนาดนั้น พระพุทธเจ้าบอกให้เราเรียนรู้แค่ใบไม้กำมือเดียวเท่านั้น ยังไม่จำเป็นต้องไปเรียนรู้ทั้งป่า

การที่เราจะหาคู่รักมาทำเหมือนเกื้อกูลและเจริญไปด้วยกันนั้นเป็นความเห็นของกิเลสล้วนๆ เพราะแท้จริงแล้วความเกื้อกูลและความเจริญก็สามารถหาได้ในหมู่กัลยาณมิตรเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเป็น “คู่รัก” ให้ต้องสร้างกรรมชั่ว จองเวรจองกรรมกันไปอีกหลายภพหลายชาติ

แม้พระพุทธเจ้าจะเป็นตัวอย่างของภาพความรักที่เกื้อกูลตามที่หลายคนเข้าใจ แต่ท่านก็ไม่เคยบอกให้เราไปมีคู่ ไม่มีเหตุผลใดที่สมควรมีคู่ ซ้ำยังบอกให้พยายามออกจากความหลงในเรื่องคู่ ซึ่งคนที่หลงในความรักจะยึดพุทธประวัติมาเป็นที่ตั้ง แต่มักจะไม่เอาธรรมเพื่อความพ้นทุกข์มาศึกษา

หนึ่งในความจริงที่ยากจะปฏิเสธคือ การมีคู่ของพระพุทธเจ้านั้นคือการมีเพื่อให้เห็นทุกข์และเพื่อทอดทิ้งอย่างในพระเวสสันดรชาดกก็เป็นบทเรียนที่ชัดเจนว่ามีไว้เพื่อให้ทิ้ง ให้เห็นว่าสิ่งที่รักที่สุดก็สามารถสละได้ ไม่ใช่การเป็นคู่รักเพื่อเสพสุขแต่อย่างใด

เมื่อเราศึกษาพุทธประวัติแล้วพยายามอย่าเอาอย่างท่านทุกอย่างเพราะแต่ละสิ่งล้วนมีเหตุปัจจัยที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ พึงระลึกไว้เสมอว่านั่นคือบารมีระดับพระพุทธเจ้า ส่วนเราเป็นผู้น้อยต้องประมาณกำลังให้เหมาะสม สิ่งที่เราควรศึกษาและปฏิบัติตามคือคำสอนของท่านหลังจากที่ท่านตรัสรู้ ท่านว่าอย่างไรก็ศึกษาไปตามนั้น ท่านว่าสิ่งใดไม่ควรก็จงพิจารณาให้เกิดปัญญาว่าไม่ควรอย่างไร ท่านว่าสิ่งใดควรก็จงพิจารณาให้เกิดปัญญาว่าควรอย่างไร

ผู้มีปัญญาจะรู้ชัดว่าการผูกกันด้วยความเป็นคู่รักนั้นมีแต่ความทุกข์ พวกเขาจึงพยายามออกจากความเป็นคู่นั้น เพราะงานสำคัญในชีวิตนั้นไม่ใช่การหาคู่ แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อดับทุกข์ เมื่อมีวิชาดับทุกข์ ศึกษาและปฏิบัติจนทำให้ทุกข์ดับจนสิ้นเกลี้ยงได้แล้ว จะไปลองศึกษาการมีคู่หรือไปเรียนรู้ทุกข์ในมุมอื่นๆ ก็สามารถทำได้ตามประสงค์

– – – – – – – – – – – – – – –

26.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เมื่อฉันเสพติดความรัก

May 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,686 views 0

เมื่อฉันเสพติดความรัก

เมื่อฉันเสพติดความรัก

ฉันได้จ่ายสิ่งที่เรียกว่าความรักของฉันให้เธอไปแล้ว

เธอจะต้องอยู่กับฉัน ต้องตามใจฉัน ต้องรู้ใจฉันต้องเข้าใจฉัน

ต้องฟังฉัน ต้องให้อภัยฉัน ต้องเสียสละเพื่อฉัน ต้องไม่ทิ้งฉันไป

…ฯลฯ…

ถ้าเธอไม่ทำ ไม่อยากทำ ไม่ยอมทำ หรือทำไม่ได้อย่างที่ฉันหวัง

ฉันก็จะผิดหวัง เสียใจ ร้องไห้ โวยวาย คลุ้มคลั่ง เหมือนกับคนเสียสติ

=================

คนที่มีคู่รักนั้นก็เหมือนกับคนที่เสพติดความรัก ต้องคอยเสพสุขจากคู่ของตน เป็นทาสคู่ของตน ต้องคอยดูแลเอาใจเพื่อที่จะได้เสพสุขในมุมที่ตนนั้นรู้สึกชอบใจ

เมื่อได้เสพก็เป็นสุข พอเป็นสุขก็ยิ่งจะติดในสุขนั้น อยากเสพมากขึ้นอีก ไม่อยากให้ลดลง ไม่อยากให้ขาดหายไป แต่เมื่อถึงวันที่หมดโอกาสได้เสพสุขนั้น จิตใจก็จะดิ้นทุรนทุราย เหมือนปลาขาดน้ำ อยากได้อยากเสพสิ่งที่เข้าใจว่าความรัก

หากเกิดอาการไม่ได้ดั่งใจแล้ว แม้เรื่องเล็กน้อยก็สามารถทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ ถึงแม้จะพยายามควบคุมอารมณ์กดข่มตัวเองไว้ แต่ก็ยังมีการสะสมเชื้อทุกข์ไว้ เก็บกดจดจำความแค้นต่อไปอีก ครั้งที่หนึ่งพอไหว ครั้งที่สองยังกลั้นใจให้อภัย แต่พอครั้งที่สาม ไม่ไหวแล้วเว้ย!! ทำไมถึงไม่ทำอย่างที่ใจฉันหวัง, ทำไมไม่เหมือนเดิม, ทำไมแค่นี้คิดไม่ได้…ฯลฯ ..!!

ก็จะเริ่มเรียกร้องโดยเอาความรักของตนเป็นหลักยึดว่าตนนั้นให้มากกว่า แต่อีกคนไม่สนองเท่าที่ตนให้ไป เข้าใจว่าจ่ายไปแล้วต้องได้รับกลับมา เป็นความรักที่มุ่งแต่จะเอา ยังเป็นรักที่ต้องการสิ่งแลกเปลี่ยนอยู่ ยังไม่ใช่รักที่เสียสละ ยังเห็นแก่ตัวอยู่นั่นเอง

ถ้าคู่รักมีความสามารถในการบำเรอกิเลส ก็อาจจะสามารถครองคู่กันได้นานจนตายจากกัน แต่ถ้าไม่สามารถสนองกิเลสของคู่ได้ก็จะต้องเจอปัญหา ใครที่แก้ปัญหากำไรขาดทุนของการสนองกิเลสได้ทันก็จะสามารถดำรงสภาพคู่ต่อไปได้ แต่ใครที่แก้ปัญหาไม่ได้ ปล่อยให้คนหนึ่งลงแดงจากอาการเสพติดความรัก สุดท้ายรักนั้นก็จะกลายเป็นยาพิษ เปลี่ยนคนรักให้เป็นศัตรู เปลี่ยนคนคุ้นเคยให้เป็นคนแปลกหน้า เปลี่ยนคนบ้าให้เป็นคนพาล

– – – – – – – – – – – – – – –

22.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

May 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,367 views 0

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

ในบทความนี้จะเป็นบทขยายข้อธรรมะในบทความ “การขึ้นคานอย่างเป็นสุข” เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ร่วมเรียนรู้เพิ่มเติมให้ลึกซึ้งถึงนัยที่ซ่อนอยู่ด้วยกัน 7 ข้อ

1). วัฏสงสาร

ในข้อที่ 1-7 นั้น เป็นสภาพของคนที่ต้องวนเวียนเสพสุขลวงรับทุกข์จริงกันโดยประมาณจำนวนชาติไม่ได้ เราต่างวนเวียนเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลส อยากมีคู่ หาคู่แล้วก็มีคู่ สุดท้ายก็จบด้วยการจากลา เป็นเช่นนี้มีหลายภพหลายชาติ ซึ่งหลายคนก็อาจจะมีโอกาสได้เรียนรู้ในชาตินี้หลายต่อหลายครั้ง แต่มันก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อดำเนินไปถึงข้อ 7 สุดท้ายก็วนกลับไปที่ข้อ 1 ใหม่อยู่ดี และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆหากเหตุยังไม่ดับ

2). ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รัก

แท้จริงแล้วตั้งแต่ข้อ 1 – 7 ในบทความการขึ้นคานอย่างเป็นสุขนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รักเสมอไป เพียงแค่เริ่มที่จะมองหาใครสักคนในข้อ 2. และข้อ 3. เลือกใครสักคนที่ตนชอบ ในข้อ 4.ก็จะเริ่มแสวงหาทางไม่โสด นั้นหมายถึงจิตใจที่ไม่คงอยู่กับความโสด ล่องลอยคิดถึงใครบางคนจนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ข้อ 5. นั้นคือการที่เราไปหลงรักหลงเสพเขาแล้ว แม้จะไม่ได้คบหากัน แม้จะไม่เคยคุยกันเลย เพียงแค่เราไปติดสุขกับการได้เห็นหน้าเขา ได้ยินเสียงเขา ได้รับรู้เรื่องของเขา ก็เรียกได้ว่าหลงแล้ว ดำเนินต่อไปในข้อ 6. นั้นคือความอกหักจากความหวังใดๆ ก็ตามที่จะได้เสพ เช่น เขาไม่เป็นดังใจเราหมาย เขาไปมีคนรักของเขา เขาไม่รับรักเรา เราก็จะเกิดความทุกข์ และอาจจะไปจองเวรจองกรรมกันอีก เพราะหากจิตใจไปคิดแค้นแม้น้อย ก็มากพอที่จะสร้างกรรมชั่วให้ต้องไปรับผลในอนาคตต่อไป สุดท้ายก็มาจบในข้อ 7. คืออกหักแล้วก็เลิกชอบคนนั้น กลับมาที่ใจตนเอง มาอยู่กับตัวเอง กลับมารักษาแผลใจตัวเอง

3). ปล่อยวางแบบชาวบ้าน

สภาพการปล่อยวาง ปลง หรือไม่รู้สึกว่าต้องมีแฟน สามารถเป็นการปล่อยวางแบบชาวบ้านๆได้ หมายถึงการปล่อยวางที่ใครก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรม ไม่ได้หมายความว่าธรรมนั้นเจริญขึ้น ใครๆก็ทำได้เป็นได้ การปล่อยวางเช่นนี้อาจจะเกิดจากสาเหตุดังเช่นว่า ไม่มีปัจจัยให้หาได้จริงๆ, ไม่มีคนที่เข้าตา, หน้าที่การงานที่หนัก, วัยที่ล่วงเลย, ความเบื่อการมีคู่เพราะเสพจนอิ่ม, หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้, เขาไม่พอที่จะสนองกิเลสเรา ฯลฯ หลายๆเหตุผลเหล่านี้สร้างความเบื่อ ความปลง ความปล่อยวางแบบชาวบ้านขึ้นมา

4). โสดใช่ว่าเป็นสุข

การโสดหรือการอยู่บนคานนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสุข หลายคนอาจจะติดอยู่บนคานทั้งที่ไม่อยากติดและไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากสภาพโสดได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์อะไร ซึ่งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะจัดตัวเองอยู่ในข้อ 9 ได้ เพราะ โสดในแบบข้อ 1,7,8,9 นั้นมีสภาวะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ข้อ 1 นั้นจะเป็นความโสดแบบจมกิเลส กิเลสแต่ละตัวนั้นมีภพที่ละเอียดซับซ้อนถึงสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ แม้ใจจะรู้สึกว่าไม่สุขไม่ทุกข์จากความโสด แต่นั้นก็อาจจะเป็นแค่การกดข่มไว้ก็ได้ ในกรณีผู้ที่ไม่ได้มีญาณปัญญาที่สามารถรู้กิเลสได้ การกดข่มที่กามภพ(ไม่ให้ออกอาการอยากมีคู่)แล้วกิเลสที่ยังอยู่ในรูปภพและอรูปภพก็ใช่ว่าจะจับอาการได้ แต่ถ้าอยากรู้ก็ลองตั้งใจว่าจะโสดตลอดชาติดูจะเห็นกิเลสดิ้นได้ชัดเจนข้อ 7 จะเป็นความโสดแบบสัตว์ที่ถูกทำร้าย จะหวาดกลัว จะป้องกันตัวเอง มีโอกาสเวียนกลับไปข้อ 1 , ส่วนข้อ 8 นั้นเป็นโสดแบบมีอัตตา โสดแบบมีอุดมการณ์ว่าจะโสดตลอดชีวิต) ข้อ 9 นั้นเป็นโสดที่หลุดพ้นจากตัณหาทั้งปวง

5). กาม อัตตา อุเบกขา

ในข้อ 1. ที่ว่าด้วยการเฝ้าคานอย่างว้าเหว่นั้น เป็นสภาพของคนโสดที่ยังเปิดประตูรอคอยคนรักอยู่ ไม่ว่าจะแสดงออกหรือไม่อย่างไร แต่ถ้ายังไม่ปิดโอกาสตัวเองกับการมีคู่ ยังมีเผื่อใจไว้ ก็ยังอยู่ในลักษณะของข้อ 1 แม้ว่าจะรู้สึกว่าตนเองนั้นโสดอย่างสบายๆ ไม่ได้ทุกข์หรือสุขอะไร แต่ถ้ายังดับโอกาสมีคู่ในใจให้เกลี้ยงไม่ได้ ก็ยังวนอยู่ในขีดของกาม

เมื่อจิตเจริญขึ้นจนสามารถที่จะข้ามขีดกาม ไม่อยากมีคู่ เพราะรู้ว่าการมีคู่จะต้องทุกข์สุดทุกข์โดยชัดในวิญญาณของตัวเองว่า ไม่ว่าจะเกิดชาติไหนก็ขออย่าให้มีคู่ เห็นคนมีคู่แล้วไม่ยินดี ดูหนัง ดูละคร ดูคนมีรักพลอดรักกันแล้วเห็นถึงทุกข์ภัยที่จะเกิดขึ้นจนขยาดกลัวในผลนั้น พร้อมกับอาการผลักไสการมีคู่ ก็จะเรียกว่าเข้าขีดของอัตตา เป็นลักษณะตามข้อ 8 คือโยนบันไดที่จะเป็นโอกาสให้คู่เข้ามาในชีวิตทิ้งไปเลย

เมื่อตัดกามด้วยอัตตาแล้ว จึงมาติดที่อัตตา การจะขยับจากข้อ 8 ไปข้อ 9 นั้นจะต้องใช้อุเบกขาเข้ามาพิจารณาเพื่อลดความยึดมั่นถือมั่นเสีย สุดท้ายแล้วพอทำลายอัตตาที่มีได้จะเป็นโสดอยู่บนคานอย่างเป็นสุขในข้อ 9 เพราะไม่มีทั้งกามและอัตตา คู่ก็ไม่อยากมี ติดดีก็ไม่ติด ใครจะมีคู่ไปก็เรื่องของเขา โลกของเราเป็นสุขก็พอ

6). โลกุตระสุข

บทความสั้นๆนี้แท้จริงแล้วประเด็นสำคัญอยู่ที่ข้อ 8 และ 9 ในข้อที่ 1-7 ใช้ชี้ลักษณะของโลกียะ แต่ในข้อ 8 และ 9 จะเข้าไปในส่วนของโลกุตระ คือการทำลายกิเลสล้วนๆ ในบทความนั้นใช้คำว่า “ทำลายความอยาก” ความอยากนั้นก็คือตัณหา พระพุทธเจ้าท่านได้สอนวิธีให้เราดับตัณหา ผู้ที่สามารถดับตัณหาในเรื่องคู่ได้ก็จะพบกับโลกุตระสุขในเรื่องของคู่

โลกุตระสุขนั้นคือสุขที่เหนือไปจากวิสัยของโลก ไม่ทั่วไป ไม่ใช่ของธรรมดา แต่เกิดจากการทำลายตัณหา ดับทั้งความอยากเสพกาม(อยากมีคู่) และติดในอัตตา(ไม่อยากมีคู่) แต่ในบทความนี้จะไม่ขยายไปถึงกระบวนการปฏิบัติ

7). ตรวจสอบและพัฒนาตนเอง

การตรวจสอบตนเองว่าพร้อมหรือยังสำหรับการจะอยู่บนคานอย่างเป็นสุขนั้นก็ไม่ยาก เพียงแค่ตั้งจิตให้มั่นว่าฉันจะโสดตลอดกาล นี้คือสิ่งที่ฉันจะต้องยึดอาศัยไว้ศึกษาให้เห็นกิเลสในตนและกำจัดมัน,หมายถึงแค่ตั้งจิตนั้นไม่พอ จะต้องคอยจับความอยากที่โผล่ขึ้นมาเพื่อกำจัดทิ้งจนกระทั่งถึงผลที่ตั้งจิตในเป้าหมายไว้

หลังจากนั้นก็ลองไปเรียนรู้เรื่องราวของความรักที่หวานชื่นดู ไป ดูหนัง ดูละคร อ่านนิยาย ไปงานแต่งงาน ดูหน้าคนที่เคยชอบ ฯลฯ แต่ไม่ต้องถึงขนาดไปชอบหรือไปจีบใครนะ เพราะเพียงแค่เราได้เจอผัสสะ(สิ่งกระทบ) แต่ละครั้งที่เข้ามา เราก็จะรู้ได้ชัดแล้วว่าเราพร้อมแค่ไหน

ถ้าเราไปดูเรื่องราวความรักแล้วยังมีความรู้สึก ซึ้งใจ ปลื้มใจ อยากเป็นอย่างเขาบ้าง อยากได้แบบนั้นบ้าง ก็รู้ได้เลยว่ายังมีเชื้อของความอยากอยู่ ก็ให้เพียรพิจารณาโทษของ”ความอยากมีคู่” ซึ่งเป็นเหตุของปัญหาทั้งหมดที่ต้องมาลำบากลำบนแก้กันจนทุกวันนี้

และใช้ไตรลักษณ์ย้ำเข้าไปอีกว่า ความสุขที่ได้จากคู่มันก็ไม่เที่ยงหรอก ได้เสพไม่นานๆเดี๋ยวมันก็ดับไป ไปยื้อไว้ให้มันสุขตลอดกาลก็ไม่ได้ ไปหลงยึดสิ่งที่ไม่เที่ยงมันก็เป็นทุกข์ สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสาระเลย จะไปยึดมันทำไมไอ้”ความอยากมีคู่”นี่ แล้วก็ขุดความอยากลงไปอีกว่าที่มันอยากมีคู่นั้น *เราอยากเสพอะไร(*กุญแจแห่งความสำเร็จอยู่ตรงนี้) ต้องลงไปให้ลึกถึงรากของปัญหา แล้วพิจารณาธรรมอัดเข้าไป ใส่ความจริงตามความเป็นจริงเข้าไป กิเลสจะค้านแย้งตามธรรมชาติ แต่เราก็ใช้การพิจารณาโทษ ใช้ไตรลักษณ์ ใช้การพิจารณาผลของกรรมที่จะเกิดขึ้นหากเรายังมีความอยากเหล่านั้นอยู่ เพียรทบทวนธรรมที่สวนกระแสกิเลสให้มาก กิเลสเถียงมาเราก็เถียงกลับ ทำมันไปอย่างนี้ทุกวันๆ

ถ้ามันหลุดพ้นแล้วมันจะรู้ได้เอง เพราะไปแตะแล้วก็ไม่สุข ไม่ว่าจะสัมผัสกี่ครั้งก็ไม่มีรสสุข ไม่มีความชอบใจพอใจใดๆเกิดขึ้นเลย ถูกพรากก็ไม่ทุกข์ ไม่ได้เสพก็ไม่ทุกข์ นั่นเพราะเราพ้นจากสุขลวงที่โลกได้มอมเมาเรามานานแสนนานแล้ว สุดท้ายจะไม่มีทั้งความรักหรือความชัง ไม่มีทั้งอยากและไม่อยาก จะสามารถอยู่ในสังคมปกติได้ด้วยการปนแต่ก็ไม่เปื้อน(กิเลส)

เมื่อจิตรู้สึกตั้งมั่นในผลเจริญนั้น อาจจะมีผัสสะที่จะเข้ามากระแทกเพื่อทดสอบเรา ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ เราจะหาเรื่องทดสอบเองก็ได้ ถ้าหลุดพ้นจริงมันจะไม่มีความลังเลสงสัย ไปแตะก็รู้ว่าหลุดพ้น ไม่ใช่อารมณ์ที่ว่าจะหลุดก็ใช่ ไม่หลุดก็ไม่ใช่ จะมั่นใจเต็มที่ไม่มีแม้เสี้ยวความสงสัย ไม่ใช่การเดา ไม่ใช่จากฟังเขามา หรือท่องจำต่อๆกันมา แต่รู้ได้เองจาก”ปัญญาที่รู้แจ้งกิเลส”ในตน

– – – – – – – – – – – – – – –

15.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)