Tag: ความยึดมั่นถือมั่น

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

December 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 11,337 views 0

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ณ การประชุมมังสวิรัติ เอเชีย แปซิฟิก ( APVC ) ครั้งที่ 7 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2558

บทคัดย่อ

ธรรมชาติของสัตว์นั้นย่อมเบียดเบียนกันเป็นธรรมดา แต่ธรรมชาติของผู้ที่จะพ้นจากความเป็นสัตว์ ไปสู่ความเจริญโดยลำดับย่อมละเว้นการฆ่าและการเบียดเบียน

สัตว์นั้นล่าและหากินโดยสัญชาติญาณ เพราะความหิวจึงทำให้มันต้องเบียดเบียน การล่าของสัตว์นั้นก็เพียงเพื่อดำรงชีวิตไปวันต่อวัน เป็นการกินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน เป็นไปตามธรรมชาติของผู้ล่า ที่จะต้องล่าเพื่อดำรงชีวิต

แต่มนุษย์นั้นต่างออกไป ในปัจจุบันมนุษย์ไม่ได้ล่าสัตว์ไว้กินเพื่อดำรงชีวิต แต่เป็นการเข้าไปควบคุมชีวิตสัตว์ ควบคุมการเกิด การเติบโต การแก่ และการตายของสัตว์ ให้เป็นไปในความต้องการของตน วางบทบาทไว้เป็นยิ่งกว่าผู้ล่า ให้อยู่เหนือสัตว์ทั้งปวง โดยอ้างสิทธิ์ต่างๆในการควบคุมชีวิตสัตว์เหล่านั้น และเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่มนุษย์ยัดเยียดให้กับสัตว์

การที่มนุษย์ยังเบียดเบียนอยู่นั้นก็เพราะกิเลส เราควบคุมสัตว์เหล่านั้นเพราะกิเลส เรากินสัตว์เหล่านั้นเพราะกิเลส เป็นไปตามธรรมชาติของผู้มีกิเลส แต่ไม่ใช่ธรรมะของผู้ที่จะก้าวสู่ความพ้นทุกข์

ผู้ที่จะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืนโดยลำดับ ย่อมศึกษาเพื่อที่จะละเว้นจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพราะการเบียดเบียนเหล่านั้นคือเหตุแห่งทุกข์

บทบรรยาย

ธรรมชาติของผู้เบียดเบียน

ธรรมชาติของผู้เบียดเบียน

สัตว์นั้นมีความเบียดเบียนกันเป็นธรรมชาติ นกล่าหนู สิงโตล่ากวาง เราอาจจะได้เห็นภาพที่น่าสยดสยองจากการล่า แต่นั่นก็ไม่น่ากลัวเท่ากับการเบียดเบียนของคน คนนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าสัตว์ ฉลาดกว่าสัตว์ จึงใช้ความฉลาดนั้นในการเบียดเบียนได้มากกว่า

การเบียดเบียนของคนที่มีต่อสัตว์นั้น คือการเข้าไปควบคุมชีวิตสัตว์ตั้งแต่กระบวนการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทำตัวเสมือนพระเจ้าที่ชี้เกิด ชี้เป็น ชี้ตายแก่สัตว์เหล่านั้นได้ อุปโลกน์สิทธิ์ขึ้นมาว่า “ฉันนี้มีอำนาจในการจัดการชีวิตเธอ” สัตว์มันไม่เกิดก็ไปข่มขืนให้มันเกิด สัตว์ใดไม่มีประโยชน์ก็ยัดเยียดความตายให้มัน นี้คือความเบียดเบียนของคนผู้หนาไปด้วยกิเลส

เพราะคนมีความรัก โลภ โกรธ หลง คือรักที่จะเสพสุขในเนื้อสัตว์นั้น โลภอยากได้เนื้อสัตว์มาบำเรอตนตลอดไป ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์ก็จะโกรธและหงุดหงิด เพราะคนนั้นหลงว่าเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นมีคุณ หลงในรสเนื้อสัตว์ จึงทำให้คนต้องเบียดเบียนสัตว์เพื่อมาสนองตัณหาของตน ธรรมชาติของผู้เบียดเบียนจึงเป็นเช่นนี้

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ศาสนาพุทธนั้นไม่ยินดีในความเบียดเบียน แม้ศาสนาใดในโลกต่างก็ไม่ยินดีในความเบียดเบียน กระทั่งกลุ่มคนที่ไม่มีศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาใดๆ ก็ยังมีจิตที่จะเว้นขาดจากการเบียดเบียน ดังนั้นการไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยการกินเนื้อของมัน จึงเป็นศีลธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ สามารถเข้าใจกันได้โดยสามัญ เป็นเรื่องที่จะทำให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกซึ่งในตอนนี้เราก็จะกล่าวกันเฉพาะการไม่เบียดเบียนในมุมมองของพระพุทธศาสนา

ผู้ไม่ทำร้ายและไม่เบียดเบียน

ในบทโอวาทปาติโมกข์ (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ข้อ ๕๔ ) ได้มีตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต” ศาสนาพุทธไม่ได้กำหนดว่านักบวชคือผู้โกนผมห่มผ้า การเป็นนักบวชนั้นเป็นได้ด้วยการประพฤติตนให้อยู่ในคุณอันสมควร การไม่ทำร้ายเป็นคุณสมบัติหนึ่งของนักบวชในศาสนาพุทธ ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นอยู่แม้จะเป็นผู้โกนผมห่มผ้าก็ไม่เรียกว่าเป็นนักบวช

ที่เข้มข้นไปกว่านั้น คือ “ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ” สมณะหมายถึงผู้สงบจากกิเลส ในศาสนาพุทธนั้นมี สมณะ ๔ คือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เรียกรวมๆว่า พระอริยะ คือสภาพที่เจริญสู่ความพ้นทุกข์โดยลำดับ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา

ท่านทั้งหลายเหล่านี้มีความไม่เบียดเบียนเป็นธรรมดาและบริสุทธิ์ผ่องใสโดยลำดับ หากเราเทียบกับการไม่เบียดเบียนที่เข้าใจกันว่า “การไม่กินเนื้อสัตว์คือการไม่เบียดเบียนสัตว์” ธรรมข้อนี้แม้ปุถุชนยังสามารถเข้าใจได้ เห็นตามได้ ปฏิบัติได้ ลดการเบียดเบียนได้ แล้วพระอริยะที่มีปัญญาห่างไกลกับพวกปุถุชน จะไม่มีปัญญารู้ถึงคุณแห่งการไม่เบียดเบียนนี้เชียวหรือ?

ดังนั้นการเบียดเบียนจึงไม่ใช่วิสัยอันสมควรของพระอริยะ หากท่านเหล่านั้นได้รับรู้แล้วว่ากรรมใดๆที่ตนได้ทำ ไปมีส่วนเบียดเบียนโดยที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ท่านก็จะเว้นจากอกุศลกรรมเหล่านั้นเสีย

พระอริยะไม่เบียดเบียน

ย้ำกันไปอีกจากพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๙ “บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะเพราะเบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง บุคคลที่เราเรียกว่าเป็นอริยะเพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง” จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าไม่เรียกผู้ที่ยังเบียดเบียนสัตว์อื่นว่าเป็นพระอริยะ ซึ่งเป็นสภาพที่ย้ำและยืนยันว่าศาสนาพุทธไม่ยินดีในการเบียดเบียน และไม่ยอมรับผู้ที่เบียดเบียนอย่างไร้สำนึกเข้าเป็นสาวกในศาสนา

ไม่เบียดเบียน ชักชวนผู้อื่นให้ไม่เบียดเบียน กล่าวชมการไม่เบียดเบียน

สรุปกันด้วยข้อความตอนหนึ่งจากพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ ข้อ ๑๔๕๙ มีเนื้อหาว่าด้วย สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่ชอบใจในการถูกเบียดเบียนและทำร้าย แม้เราก็ไม่ชอบใจในสิ่งเหล่านั้น ดังนั้นเราจึงไม่ควรทำสิ่งที่เราไม่ชอบกับใครเลย ข้อความที่ตัดมาตอนท้ายคือ “อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนั้นแล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นปาณาติบาตด้วย กายสมาจารของอริยสาวก ย่อมบริสุทธิ์โดยสามส่วนอย่างนี้

แปลความให้สอดคล้องกับเนื้อหาได้ว่า สาวกพระพุทธเจ้าเห็นว่าผู้ใดก็ไม่ชอบใจการทำร้ายและการเบียดเบียน ซึ่งเป็นเหตุให้ชีวิตสัตว์ตกร่วง(ปาณาติบาต) ตนเองก็จะไม่ทำร้ายและเบียดเบียน ชักชวนให้ผู้อื่นไม่ทำร้ายและเบียดเบียน ทั้งยังต้องพูดชมในประโยชน์ของการไม่เบียดเบียน ดังเช่นว่าถ้าพบเห็นใครไม่เบียดเบียน เช่นจัดกิจกรรมงดเนื้อสัตว์มากินผัก ก็ย่อมจะสรรเสริญและชอบใจในการไม่เบียดเบียนนั้น ความประพฤติของสาวกพระพุทธเจ้าต้องประกอบด้วยสามส่วนนี้ จึงจะเรียกว่า “พระอริยะ

ดังจะเห็นได้ว่า ศาสนาพุทธแท้ๆ ไม่ยินดีในการเบียดเบียนเลยแม้น้อย ไม่มีการทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หรือทำผิดแล้วไม่แก้ไข มีแต่ความเห็นที่ยินดีในการไม่เบียดเบียน ไม่ใช่ผู้ที่ยังเบียดเบียนอยู่แล้วอ้างตนเป็นสาวก ซึ่งยังขัดกับหลักธรรมที่ยกมาข้างต้น

เพราะเห็นผิดจึงหลงเบียดเบียน

เพราะเห็นผิดจึงหลงเบียดเบียน

การที่คนเรานั้นยังเบียดเบียนสัตว์อื่นมาเพื่อความสุขของตนอยู่นั้นคือความเห็นผิด การที่เรามีความเห็นผิดเช่นนั้นเพราะเรา เห็นประโยชน์ในการเบียดเบียนมากกว่าโทษ และการที่เห็นเช่นนั้นได้เพราะมีกิเลสเป็นตัวสร้างความลวงให้เห็นผิดเป็นถูก จึงเกิดสภาพหลงติดหลงยึดในขั้นอบาย กาม โลกธรรม อัตตา โดยลำดับ

การติดเนื้อสัตว์ในระดับอบาย คือความหยาบและหนักหนา มีความต้องการกินเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก เช่นบุฟเฟ่ต์ ทั้งหลาย มีงานเลี้ยงก็ระดมเนื้อสัตว์มากินกันอย่างไม่อั้น อย่างนี้คือความเห็นผิดที่จมลึกมาก

ในขั้นกาม คือติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์ คนที่หลงติดในขั้นนี้จะต้องการเนื้อสัตว์ไม่มากเท่าระดับอบาย แต่จะต้องการความพิถีพิถัน ความอร่อย เรียกว่าถ้ามีของอร่อยอยู่ต่างประเทศก็สามารถเดินทางไปกินได้ แสวงหาแต่เนื้อสัตว์ที่ว่าอร่อย ถ้าไม่ถูกใจก็เป็นทุกข์

ในขั้นโลกธรรม คือความหลงในโลก ตนเองก็ไม่ได้ติดเนื้อสัตว์มากนัก แต่ก็กลัวจะเข้าสังคมไม่ได้ กลัวคนอื่นนินทา กลัวว่าจะเป็นคนดีเกินหน้าเกินตาใคร สารพัดความกลัวที่ไม่กล้าหลุดจากความชั่วในสังคม เขาพาทำชั่วอะไรก็ทำไปกับเขาอย่างนั้น เพราะกลัวไม่เป็นที่ยอมรับ

ในขั้นอัตตา คือความเห็นว่าเนื้อสัตว์นั้นเป็นคุณประโยชน์ที่ชีวิตสมควรได้รับ มีสารอาหารที่มีคุณค่า ฯลฯ มีความเห็นความเข้าใจว่าเนื้อสัตว์ดี เนื้อสัตว์เป็นตัวตนของเรา ถ้าเป็นระดับหยาบๆก็จะเป็น ฉันเป็นสัตว์กินเนื้อ, ฉันเกิดมาเพื่อกินเนื้อ ฯลฯ พ่อแม่บางคนไม่กินเนื้อสัตว์ได้อย่างปกติแล้ว แต่กลับมีความเห็นว่าลูกต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อความเจริญเติบโต นี่คือความเห็นที่ยังหลงว่าเนื้อสัตว์เป็นอัตตาอยู่ ยังไม่มีปัญญาเห็นความจริง แค่กดข่มความอยากไว้เฉพาะในตนเท่านั้น แต่ไม่รู้ไม่เห็นโทษตามความเป็นจริง

เมื่อมีกิเลสบังตา จึงมีข้ออ้างขึ้นมาเพื่อที่จะให้ได้เสพตามที่กิเลสสั่ง ถ้าข้ออ้างทั่วไปก็เช่น คนเราต้องกินให้ครบห้าหมู่ ,คนกินได้ทั้งพืชและสัตว์, เดี๋ยวขาดวิตามินขาดสารอาหาร, หากินยาก ฯลฯ หรือถ้าเป็นคนดีมีศีลธรรมขึ้นมาแต่มีความเห็นผิดก็มักจะมีความเห็นเช่นว่า กินเขาไปแล้วเราไปทำดีเขาได้บุญ, กินเขาแล้วไปไถ่ชีวิตเพื่อนเขา, กินเขาแล้วทำบุญส่งไปให้เขา ก็เป็นลักษณะของความเห็นผิดที่เกาไม่ถูกที่คัน ผิดแล้วไม่แก้ไข ซ้ำยังไปแก้ไขที่ปลายเหตุ ไม่แก้ต้นเหตุ

หรือที่หนักไปกว่านั้นคือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไปเลย เช่น สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม, มันเป็นแค่ธาตุ ๔ , กินเพื่อบำรุงขันธ์ ฯลฯ จริงๆถ้าเป็นสมัย 30-40 ปีที่อินเตอร์เน็ตยังไม่เข้ามาก็พอจะรับฟังได้ แต่การกล่าวอ้างเช่นนี้ในยุคสมัยนี้ถือว่าเป็นคนล้าสมัย เหมือนกับรถที่เติมได้แต่น้ำมันเบนซิน 95 ทั้งๆที่ในปัจจุบันเขาเติม e85 กันได้มากมายแล้ว นั่นคือในยุคก่อนๆนั้นเราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ทางโภชนาการของอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ได้ง่ายนัก เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องกินอะไรทดแทนเนื้อสัตว์ไม่ให้ร่างกายขาด แต่สมัยนี้ค้นไปยังไงก็มีข้อมูล แถมพืชผักหลายชนิดยังให้คุณค่ามากกว่าเนื้อสัตว์ด้วย ดังนั้นคนที่ยังเบียดเบียนอยู่โดยที่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้คือคนที่ตั้งใจล้าสมัยเพื่อให้ตัวเองได้เสพรสเนื้อสัตว์สมใจ ไม่ฉลาด ไม่มีปัญญาขวนขวายในความไม่เบียดเบียน ไม่มีคุณสมบัติของผู้เจริญ

ต้องแก้ความเห็นผิดด้วยความจริง

ต้องแก้ความเห็นผิดด้วยความจริง

การที่คนเรานั้นยังเห็นผิดอยู่ก็เพราะยังไม่รู้แจ้งความจริงตามความเป็นจริง การแสดงความเป็นจริง ก็เช่น การเสนอให้เห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ไปเบียดเบียนสัตว์อย่างไร เบียดเบียนตนเองอย่างไร หรือเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมอย่างไร เอาผลกระทบ เอาความจริงมานำเสนอให้เห็นจริงกัน

เพราะถ้ายังมีความลวงอยู่ก็จะไม่มีความจริง ธรรมชาติของกิเลสนั้นจะลวงคนให้เบียดเบียนกันเป็นธรรมดา เราจึงต้องใช้ธรรมะ ใช้ความจริงที่ชี้ให้เห็นว่าการเบียดเบียนเป็นโทษเข้าไปแก้ความเห็นผิดนั้น

เมื่อคนเราไม่เห็นความจริงว่าการกินเนื้อสัตว์เบียดเบียนอย่างไร ก็จะไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป( หิริโอตตัปปะ ) การที่คนไม่มีความละอายเหล่านั้นเพราะไม่มีศีล ในปัจจุบันคนมีศีลเพียงแค่หยาบๆ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ก็จะไม่ฆ่าอยู่เช่นนั้น แต่ถ้าให้คนอื่นฆ่ามากินก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการหยุดนิ่ง ไม่พัฒนา ในขณะที่ค่ารวมๆกิเลสในโลกนั้นสูงขึ้น เหมือนน้ำทะเลที่กำลังจะละลายท่วมพื้นโลก เหล่าคนผู้ประมาทตั้งบ้านอยู่ชายฝั่งและเห็นว่าแค่นี้ก็เพียงพอ เหมือนคนที่เห็นว่าแค่ไม่ฆ่าก็เพียงพอ

การไม่มีอธิศีลคือความเสื่อมของชาวพุทธ อธิศีลคือการพัฒนาการไม่เบียดเบียนโดยลำดับ อย่างที่ยกมาในพระไตรปิฎกก่อนหน้านี้ นอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้วเรายังต้องชักขวนให้คนอื่นไม่ฆ่า ซ้ำยังต้องกล่าวชมประโยชน์ในการไม่ฆ่าและไม่เบียดเบียนอีกด้วย เมื่อคนไม่มีการพัฒนาศีล ก็จะจมลงในความเสื่อมไปเรื่อยๆ ทำให้แก้ไขความเห็นผิดได้ยาก จึงต้องเบียดเบียนและเวียนวนไปตามวิถีโลกต่อไป

คนเห็นผิดมากกว่าคนเห็นถูก

คนเห็นผิดมากกว่าคนเห็นถูก

เป็นเรื่องธรรมดาที่ในโลกนี้จะมีคนเห็นผิดมากกว่าคนเห็นถูก จึงมีคำเปรียบดังจำนวนขนโคที่มากกว่าจำนวนเขาโค ดังนั้นการที่เราจะหวังว่าให้ทุกคนไม่เบียดเบียนนั้น จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าที่เป็นบุรุษที่เก่งที่สุดในจักรวาลก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนในโลกเป็นคนดีได้ทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่ชักชวนให้คนอื่นลดการเบียดเบียนจึงต้องทำใจยอมรับความธรรมดาเหล่านี้ด้วย

ความยึดมั่นถือมั่น เบียดเบียนผู้อื่นอย่างไร

ความยึดมั่นถือมั่น เบียดเบียนผู้อื่นอย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นจะไม่ทุกข์ เป็นไม่มี” ไม่ว่าเราจะยึดในสิ่งใดทั้งร้ายและดี สิ่งเหล่านั้นต่างก็สร้างทุกข์ทั้งสิ้น

การยึดชั่วเป็นสิ่งที่เห็นโทษภัยได้ง่าย จึงละได้ง่าย แต่การยึดดีนั้นเห็นโทษได้ยาก เข้าใจได้ยาก จึงละได้ยากเพราะความดีนั้นเป็นสิ่งที่คนแสวงหา เป็นเป้าหมายของมนุษย์ทุกคนผู้หวังความผาสุก แต่เมื่อได้มาซึ่งสิ่งที่ดีหรือมีความดีนั้นในตนแล้ว ถ้ายังยึดดี ทำดีแล้ววางดีไม่เป็น ต้องการให้เกิดดีตลอด ก็ยังเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ได้

หลายคนมักจะเมตตาสัตว์ แต่กลับไม่เมตตาคนด้วยกัน อาจเพราะเรามีความรักในสัตว์นั้นมาก โลภอยากให้คนอื่นมาเอาดีอย่างเรา และโกรธเมื่อเขาไม่สามารถทำดีได้อย่างใจเรา สุดท้ายก็เพราะเราหลงยึดดี ทำให้เกิดการถกเถียงจนกระทั่งทะเลาะเบาะแว้ง แข่งดีเอาชนะกันระหว่างคนที่กินเนื้อสัตว์กับคนไม่กินเนื้อสัตว์

การพยายามเอาชนะกันด้วยความดีก็ยังเป็นสิ่งชั่วอยู่ดี ถ้าให้ดีคือไม่ต้องแข่งดีเอาชนะกันเลยจะดีกว่า ใครทำดีได้ก็ทำไป ใครทำไม่ได้ก็ศึกษาโทษของความชั่วนั้นไป การที่เรายังแข่งดีเอาชนะคนอื่นด้วยความยึดดีของเรานั้น คือการเบียดเบียนกันด้วยทิฏฐิ ยังเป็นผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ และยังเบียดเบียนตนด้วยความเห็นผิดอยู่นั่นเอง

ทำอย่างไรจึงจะทำให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์

ทำอย่างไรจึงจะทำให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์

การชักชวนให้เขาเห็นโทษในการเบียดเบียน ชี้นำให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นหากเป็นผู้ที่ศรัทธากัน เห็นตรงกัน ยอมฟังกันบ้างก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรนัก

แต่คนส่วนมากมักจะไม่ต้องการเลิกกินเนื้อสัตว์ เขามักจะพยายามหลบเลี่ยงการได้รับข้อมูลว่าดังเช่นว่าเนื้อสัตว์เป็นโทษ เนื้อสัตว์ได้มาจากการเบียดเบียน หรือเรียกว่า “ไม่อยากฟัง” แล้วเราจะทำอย่างไรกับคนที่ไม่อยากฟัง เราไม่ได้จะไปยัดเยียดเขานะ แต่เราอยากช่วยเขาให้พ้นภัยจากการเบียดเบียนและหันมาประพฤติตนสู่ความผาสุก

พระพุทธเจ้าตรัสเหตุแห่งความเห็นที่ถูกต้องไว้สองประการ 1.คือการยอมฟังความเห็นที่แตกต่างบ้าง 2.คือการทำใจในใจโดยแยบคายพิจารณาลงไปถึงที่เกิด การที่เขาไม่ยอมฟัง ก็เรียกได้ว่าปิดประตูสู่ความเห็นที่ถูกแล้ว ทีนี้เราจะทำอย่างไร ให้เขาได้เห็นคุณค่าของการไม่เบียดเบียนแม้จะไม่ยอมรับฟังก็ตาม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน ค่อยสอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงก่อนที่เราจะไปสอนใครให้เห็นประโยชน์ของการไม่เบียดเบียน เราก็ควรจะทำตนเองให้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนเสียก่อน ถ้ายังตบยุง ทำร้ายสัตว์อยู่ก็ยังพร่องอยู่ ไปสอนใครเขาก็ไม่เชื่อ เพราะเขายังเห็นว่าเรายังเบียดเบียนอยู่ แม้ในที่สุดจะเบียดเบียนผู้อื่นด้วยความยึดดีก็จะต้องไม่ทำ

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ได้มีโศลกธรรมว่า “ความบริสุทธิ์เท่านั้น ที่จะชนะทุกสิ่งทั้งโลกในที่สุด” นั่นหมายความว่า เราทำความไม่เบียดเบียนนี้ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์เถอะ แล้วธรรมะจะชนะอธรรมเอง หากเราเป็นผู้ไม่เบียดเบียนที่บริสุทธิ์แท้ เขาจะเกิดปัญญารับรู้ถึงความสงบเย็นของเราได้เอง แล้วเขาก็จะหันมาศรัทธาเรา ยอมรับฟังเรา และยอมทำใจในใจให้เห็นตามเราในที่สุด

ทีนี้จะต้องทำความไม่เบียดเบียนไปนานเท่าไหร่จึงจะเห็นผล ไม่อยากให้เขาต้องกินเนื้อสัตว์และเบียดเบียนสัตว์อยู่อย่างนี้ เพราะต้องก่อกรรมที่เบียดเบียนสะสมไปทุกวัน ความเห็นนี้เกิดจากใจของเราที่เร่งผล อยากให้เกิดสิ่งดีไวๆอย่างใจเรา คุณหมอเขียว ใจเพชร กล้าจน ได้มีคำกล่าวไว้ว่า “ให้โอกาสกันหลายๆชาติหน่อย” เป็นคำที่เอ่ยมาจากความเมตตาอย่างนับชาติไม่ได้ คือช่วยชาตินี้ไม่ได้ก็ไปช่วยชาติหน้า หรือไม่ก็ชาติต่อๆไป ให้โอกาสเขาได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน ไม่ยัดเยียด อดทน รอคอย ให้อภัย ทำตนเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น หน้าที่ทำความเข้าใจเป็นเรื่องของเขา เขาจะเอาหรือไม่เอาก็ได้ เราก็ไม่ต้องไปทุกข์เพราะเขาไม่เอาดี และควรเป็นสุขทุกครั้งเมื่อได้ทำดี คือทำดีอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเกิดดี ทำดีแล้ววางดีไปเลย ไม่ต้องรอรับผลใดๆ ปล่อยให้มันเป็นไปตามวิบากกรรมของเขา

ปัญหาการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ต้องแก้ที่ต้นเหตุ

ปัญหาการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ต้องแก้ที่ต้นเหตุ

พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ว่า การดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ถ้าไม่ดับที่เหตุ ผลมันก็ไม่ดับ ความทุกข์นั้นเกิดจากการที่เราอยากกินเนื้อสัตว์ นั่นหมายถึงเหตุแห่งทุกข์คือ ความอยากเสพอะไรสักอย่างในเนื้อสัตว์ ดังนั้นการดับทุกข์ต้องดับ ความอยากเสพสิ่งนั้น ด้วยการทำความเห็นผิดที่ว่าเนื้อสัตว์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าเสพให้เป็นความเห็นถูกที่ว่าเนื้อสัตว์มันก็เป็นของมันเช่นนั้น ไม่จำเป็นต้องไปหลงติดหลงยึดมัน ไม่มีมันก็ได้

หรือสรุปรวมได้ว่า ควรจะมาศึกษาในอริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพื่อการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งเป็นเหตุเกิดของการเบียดเบียนทั้งหมดทั้งสิ้นในโลกนี้

สรุป

สรุป…

คนที่เลี้ยงกิเลสไว้ย่อมเป็นผู้ที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่เสมอ เป็นธรรมชาติของผู้เบียดเบียนที่จะหมุนเวียนไปสู่ความเสื่อม เหมือนกับการวนลงไปฐานเจดีย์ที่ยิ่งกว้างและไกลจากยอด ส่วนธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียนย่อมศึกษาและปฏิบัติตนเพื่อการลดล้างกิเลส คือการเวียนไปสู่ความเจริญ เหมือนกับการวนขึ้นไปยังยอดเจดีย์ที่ยิ่งสูงก็ยิ่งน้อย นั่นคือเมื่อเราเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นน้อย ทุกข์ก็จะน้อยลงไปด้วย และเวียนไปจนถึงจุดสูงสุดที่จะเหลือแต่ธรรมะ ไม่มีชาติ ไม่มีการเกิดและดับของกิเลสอีกต่อไป

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?

October 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,353 views 0

การกินไม่มีโทษจริงหรือ?

บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?

ความเห็นที่ว่าการไปยุ่งวุ่นวายกับการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรมนั้น มักจะเป็นความเห็นที่มีการนำเสนอขึ้นมาในช่วงเทศกาลกินเจ แท้จริงแล้วศาสนาพุทธใส่ใจเรื่องการกินหรือไม่ หรือเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ที่เข้าใจว่าการกินไม่มีผล เรามาลองศึกษาบทวิเคราะห์กันดู

มีความคิดเห็นของนักปฏิบัติธรรมบางคนที่เห็นว่าการกินนั้นไม่มีผลต่อการปฏิบัติธรรมบ้าง เลือกกินไปก็ไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญบ้าง สนใจเรื่องกินก็ไม่บรรลุธรรมบ้าง แต่ในความเป็นจริงนั้น กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการขัดเกลาหนึ่งของผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ “ท่านให้ศึกษาการกินมื้อเดียว

เปิดเรื่องมาก็เกี่ยวกับเรื่องกินแล้ว การกินมื้อเดียวนั้นอยู่ในจุลศีล ข้อ ๙ เป็นหลักปฏิบัติมาตรฐานในศาสนาพุทธของนักบวชทุกรูปที่พระพุทธเจ้าบวชให้ ถือเป็นศีลต้นกำเนิดของพุทธที่มีมาตั้งแต่แรก เป็นข้อปฏิบัติสู่ความเจริญ ต่างจากพระวินัยที่ถูกบัญญัติขึ้นมาทีหลัง

ท่านยังกำชับไว้ด้วยว่า การกินนี่ต้องประมาณให้ดีนะ (โภชเนมัตตัญญุตา) จะไปสักแต่ว่ากินแล้วกิเลสโตไม่ได้นะ เพราะกินอย่างพุทธคือต้องกินแล้วกิเลสลด กามลด อัตตาก็ลด กามคุณ ๕ เราก็ไม่หลง ความยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ต้องมี ต้องประมาณให้เกิดความเจริญขึ้นในตน ให้เกิดการชำระกิเลส ให้เกิดกุศล ไม่ใช่แค่กินให้ชีวิตอยู่ไปวันๆ แบบนั้นใครเขาก็ทำกัน เพราะคนจะอยู่ได้ก็ต้องกินอาหารกันทุกคนอยู่แล้ว แต่การจะกินให้เกิดความเจริญนี่มีเฉพาะในพุทธเท่านั้น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุของการเกิดของตัณหา (ตัณหาสูตร) หนึ่งในนั้นคืออาหารที่ได้รับมา นั่นหมายความว่าการกินอาหารทุกวันนี่แหละ จะทำให้เกิดตัณหาได้ แล้วทีนี้คนที่เห็นว่าการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรม ไม่มีผลต่อความเจริญ ประมาทในอาหาร สุดท้ายตัณหาก็แอบโตกันไปสิ เพราะไม่รู้เหตุของตัณหาว่าเกิดที่ใด พอไปยึดมั่นถือมั่นว่าฉันจะไม่ปฏิบัติเรื่องกิน ก็โดนกิเลสลากไปลงนรกหมด

พอตนเองไม่เท่าทันการเกิดของตัณหาในการกิน แล้วยังไม่ยินดีปฏิบัติธรรมในการกิน ก็เท่ากับเสียโอกาสในการล้างกิเลส เมื่อไม่ได้ตั้งศีลตั้งตบะเพื่อละเว้นอาหารที่จะก่อให้เกิดการกำเริบของตัณหา ถึงจะมีผัสสะแต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะ “เมื่อไม่ตั้งใจละเว้นก็ย่อมเท่ากับ เสพกามได้เท่าที่ใจต้องการโดยไม่มีขอบเขต” พอไม่มีขอบเขตก็เลยไม่มีการปฏิบัติใดๆ เกิดขึ้น จึงกลายเป็นการกินเพื่ออยู่ไปวันๆ โดยไม่รู้เท่าทันตัณหา ตัณหานั้นมีอยู่แต่การรู้การมีอยู่ของตัณหาต้องใช้การละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่จะได้เห็นตัณหา(ใช้อธิศีล) เมื่อไม่ยินดีละเว้นหรือปฏิบัติธรรมในเรื่องอาหารก็คือการปล่อยให้ตัณหาโตโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งพระพุทธเจ้าให้ดับปัญหาที่เหตุ การปฏิบัติธรรมนั้นก็เพื่อดับทุกข์ ดับทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ ถ้าอาหารที่ได้มานั้นยังทำให้ตัณหาเกิดอยู่ก็ต้องปฏิบัติกันในเรื่องของอาหาร เพราะตัณหาที่เกิดจากอาหารก็ต้องมาจัดการที่อาหาร จะไปนั่งสมาธิ เดินจงกรมดับมันไม่ได้ ใจมันเกิดความหลงติดหลงยึดในอาหาร ไม่ใช่ว่าขี้เกียจนั่งขี้เกียจเดิน เหตุมันคนละตัวกัน ปัญหาเกิดที่ไหนต้องแก้ที่ตรงนั้น จึงเรียกได้ว่ารู้แจ้งสมุทัย รู้เหตุแห่งทุกข์

ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่ากามนี่ให้ละก่อนเลย เพราะกามคือ ข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า (อาคาฬหปฏิปทา) คือ มันชั่วมาก หยาบมาก มีโทษมาก เบียดเบียนมาก ควรละเว้นให้ได้ก่อน คนที่หลงในกามจะมีความเห็นและคำกล่าวดังเช่นว่า “กามไม่มีโทษ” (๒๐,๕๙๖) ดังนั้นผู้ที่เห็นว่ากามไม่มีโทษย่อมตกลงไปในกาม จมสู่กาม มัวเมาในกาม ซึ่งกามในความหมายของพุทธศาสนานั้นกินความกว้างมาก โดยรวมคือการหลงเสพหลงสุข

จะยก “กาม” ที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้คือ “กามคุณ ๕ ในอาหาร” เพื่อที่จะชี้ชัดกันว่า ผู้ที่ละเว้นการสำรวมในอาหารการกินนั้นจะมีความเห็นไปทางไหน

กามคุณ ๕ นั้นมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นเดียวกับกับอาหารนั้นก็มีกามคุณ ๕ แบบครบเครื่อง เรียกว่าเป็นกิเลสที่สัมผัสกันได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่รูปคืออาหารนั้นมีหน้าตาดีไหม น่ากินไหม เพียงแค่เห็นรูปสวยก็อยากกินสิ่งนั้นแล้ว, รสชาติ ของอาหารที่เขาว่าเด็ด ร้านไหนอร่อยต้องไปกิน ร้านไหนไม่อร่อยอยากจะขว้างทิ้ง , กลิ่นที่ยั่วยวนหอมหวาน พัดมาตั้งแต่ไหนทำให้เกิดความอยากกินเพียงแค่สูดกลิ่นเข้าไป, เสียง แค่ได้ยินเสียงผัด เสียงตะหลิวที่โดนกระทะ เสียงผัดดังซู่ซ่าก็ทำให้คิดถึงเมนูที่ชอบใจ เกิดอยากจะกินขึ้นมาทันที , สัมผัส ความกรอบ นุ่ม เย็น ร้อน ฯลฯ ทั้งหลายที่ชวนสัมผัส พากันจ่ายเงินซื้อมากินกันจนหนำใจ

เพียงแค่ยกตัวอย่างเรื่องกามหยาบๆเช่นนี้ ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า อาหารนี่เป็นเหตุแห่งตัณหาอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ แล้วยังไงล่ะ? ทีนี้คนที่ปฏิบัติธรรมแล้วตีทิ้งอาหารการกิน มองว่าการกินไม่มีผล เห็นว่าปฏิบัติเรื่องการกินไปก็ไม่เจริญ จะเป็นอย่างไร ….เขาก็โดนกิเลสตลบหลังเข้าสักวันนั่นแหละ เพราะประมาทต่อกาม เพราะกามนั้นล่อลวง กามทำให้ลุ่มหลง ทำให้ประมาทตามประสาของกิเลส

อะไรที่มันน่าใคร่น่าเสพคนเขาก็ไม่อยากจะพรากหรอก ก็หาสารพัดข้ออ้างที่แสนจะดูดีเพื่อให้เสพมันทุกวันนั่นแหละ เพราะมีตัณหา ก็เลยมีอุปาทาน แล้วก็จึงมีภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ไม่จบไม่สิ้น

มันจะจบได้อย่างไรในเมื่อตัณหาไม่ได้ถูกจัดการ ปล่อยไว้เป็นขยะหมักหมม เอาไปแอบซ่อนอยู่ในมุมหนึ่งของจิตใจ แม้วันนี้จะไม่เห็นโทษของมัน แต่วันหนึ่งก็จะรู้ได้เองว่ากามนั้นมีโทษมาก กามเป็นภัยมาก พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงธรรมให้ปฏิบัติโดยลำดับคือให้จัดการกับกามเสียก่อน แล้วค่อยล้างความยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วไปมัวเมาเสพกาม อันนั้นมันวิปริตผิดพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สงครามอัตตา : ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ (กรณีศึกษาเทศกาลเจ)

October 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,941 views 0

สงครามอัตตา

สงครามอัตตา : ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ (กรณีศึกษาเทศกาลเจ)

หากเราให้ความสำคัญของเทศกาลเจในขอบเขตของการถือศีลกินเจ ใครอยากทำอะไรก็ทำไป กรรมใครกรรมมัน ปากใครปากมัน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปล่อยวาง ก็จะเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านพ้นไปด้วยดีไม่มีปัญหาอะไร และจะไม่มีบทความนี้

แต่เมื่อมีความยึดว่าความเห็นของตนนั้นถูกต้องแต่ผู้เดียวเมื่อไหร่ เมื่อนั้นสงครามย่อมเกิดขึ้นได้ ตามโอกาสและช่องทางที่มี ซึ่งเราจะได้เห็นกันทุกปีใน social network ต่างๆ ที่ผู้คนออกมาห้ำหั่นผู้ที่คิดต่างจากตน ด้วยอาวุธคือความรู้ที่ได้รับรู้มา มุ่งฟาดฟันอีกฝ่ายหมายให้มอดม้วยด้วยความยึดดีของตน

เทศกาลเจ กับ สงครามแห่งอัตตา

ในช่วงเทศกาลเจนั้น เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้วัดผลของความเจริญในจิตใจ เราสามารถวัดผลการปฏิบัติธรรมหรือความเห็นความเข้าใจในชีวิตว่ามีความเจริญแค่ไหน ได้จากการเข้าร่วมรับรู้เรื่องราวของข้อขัดแย้งเหล่านั้น คือพาตัวเข้าไปดูสงครามอัตตานั้นๆ

แต่การเข้าไปดูก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปร่วม ทำตัวเองให้เป็นผู้ดูและศึกษาเท่านั้น เมื่อไหร่ที่ใจคิดจะลงไปร่วมรบ เคลื่อนทัพเดินทางออกจากใจที่ปกติ เป็นใจที่เดือดร้อนเพราะความไม่พอใจ ถือหอกถือดาบหมายจะฟาดฟัน ด้วยการชี้แจงในเชิงยัดเยียด ดูถูกดูหมิ่น ยกตนข่มผู้อื่น และสารพัดลีลาของกิเลสที่พร้อมจะประดังใส่ฝ่ายที่คิดต่างจากตน เมื่อนั้นความเสื่อมก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

เมื่อเป็นฝ่ายรับก็เช่นกัน แม้จะเห็นกลุ่มนักรบยกทัพมาพร้อมด้วยอาวุธครบมือ ถือธงโบกสะบัด ฝุ่นคลุ้งไปทั่วสมรภูมิ ดังกึกก้องไปทั่วด้วยเสียงกลอง มุ่งหมายจะมาดับความคิดของผู้ที่เห็นต่างให้สิ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องจัดทัพไปต้อนรับหรือตอบโต้ใดๆ สิ่งที่ควรทำมีเพียงแค่ชี้แจงในขีดที่จะเป็นกุศล ไม่ชวนทะเลาะหรือทำให้ยืดเยื้อจนเลอะเทอะ หรือเลือกที่จะปล่อยวางทั้งหมดก็สามารถทำได้ ปล่อยให้นักรบเหล่านั้นเข้ามาฟาดฟันกันด้วยทิฏฐิ โดยไม่จำเป็นต้องตอบโต้ก็ย่อมได้ เพราะผู้ที่มีอัตตาเท่านั้นที่จะต้องเจ็บปวด ผู้ไม่มีอัตตาแม้จะถูกเสียบด้วยวาทะที่เชือดเฉือนมากมายสักเพียงใด ก็ไร้ซึ่งความเจ็บปวด ไม่ใช่เพราะทนได้ แต่เพราะไม่มีตัวตนให้โดนต่างหาก

ความประเสริฐของคนจะไม่มีวันเกิดขึ้นกับหมู่คนที่มุ่งฟาดฟันกันด้วยความเห็นของตน แม้ว่าความเห็นนั้นจะเป็นความเห็นที่ถูกต้องก็ตามที คนที่ยังไม่หยุดสงครามย่อมไม่เรียกว่าผู้ประเสริฐ ผู้ที่มุ่งฟาดฟันผู้อื่นด้วยความเห็นของตนย่อมไม่ใช่ผู้เจริญ

ความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะมีความยึดมั่นถือมั่นว่าของฉันถูก ของฉันดีที่สุด ซึ่งแต่ละคนนั้นจะมีความยึดมั่นถือมั่นต่างกันไปตามบุญตามกรรม แต่เมื่อคนที่เห็นต่างมาพบกัน ก็ย่อมหาทางจะทำให้ความเห็นของตนนั้นเป็นหนึ่งเดียว ให้ผู้อื่นยอมรับ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้โลกหมุนรอบตัวเองเช่นนั้น ดังนั้นใครที่วางความเห็นของตนได้ก่อน ปล่อยวางการโต้แย้งได้ก่อน ผู้นั้นจึงเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะ เป็นผู้ที่เจริญอย่างแท้จริง

ผู้ที่พยายามเอาชนะ พยายามหาหลักฐาน หาข้ออ้างมาเพื่อยกตนข่มผู้อื่น อวดอ้างคุณวิเศษใดๆ ที่ตนเรียนรู้มา ดูถูก ดูหมิ่น เยอะเย้ย ถากถางผู้อื่น ฯลฯ โดยที่ผู้รับนั้นไม่อยากรู้ คนเหล่านั้นได้ประจานความเสื่อมของตนให้เป็นที่ประจัก ว่าความเห็นหรือการปฏิบัติธรรมของเขานั้นไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญขึ้นเลย ทั้งยังตกต่ำมัวเมาในความยึดมั่นถือมั่น จนหลงตัวหลงตน แสดงความดีที่ตนเข้าใจให้ผู้อื่นเห็นไปทั่วด้วยการยัดเยียดในสิ่งที่ผู้อื่นไม่ได้ต้องการรับรู้ในเรื่องนั้น

เทศกาลเจ จึงเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าเข้าร่วมไปสัมผัสและทดสอบ”ความแท้” ของตนเอง ว่าจะเป็นของจริงหรือของปลอม ที่ว่าเรามีศีลมีธรรม เป็นคนดี เป็นคนไม่เบียดเบียน บรรลุธรรมกันไปต่างๆนาๆนั้น เราสามารถฟังความเห็นต่างได้ไหม เรายังสงบได้ไหม เราจะยอมเขาได้ไหม ถ้าเขาถามแล้วเราจะชี้แจงด้วยใจเมตตาได้ไหม และที่สุดคือเราจะยอมปล่อยให้เขากล่าวหาและเข้าใจไปอย่างนั้นได้ไหม

เข้าร่วมเทศกาล(ในความเห็นของฉัน)

ถ้าเราอยู่ในถ้ำ หมกตัวอยู่ในภพ อยู่ในที่ปลอดภัย ไม่รับรู้เรื่องราวใดๆ ก็คงจะไม่ใช่การปฏิบัติธรรม ซึ่งผมเองก็คงจะเข้าร่วมรับรู้ข้อมูลต่างๆในช่วงเทศกาลนี้ด้วย

ซึ่งผมจะไม่อยู่เป็นกลางแบบชั่วบ้างดีบ้างตามที่โลกเข้าใจ แต่จะเป็นกลางในแบบพุทธ คือไม่โต่งไปทางกามและไม่โต่งไปทางอัตตา ซึ่งจะอยู่ข้างกุศล ข้างที่ไม่เบียดเบียน ใครทำกุศลก็เห็นดีกับคนนั้น และผมจะไม่ไปร่วมรบกับเขา แต่ก็จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่มีให้กับผู้ที่สนใจ

เหมือนกับเราอยู่ในสนามรบ เราไม่ได้ไปรบกับเขาหรอก เราก็ตั้งค่ายอยู่บนเนินเขาของเรา ดูเขารบกันไป ส่วนหน้าที่ของเราก็ผลิตความรู้ไม่ให้คนต้องไปรบกันเพราะยึดความเห็นทั้งผิดและถูกของตน แต่ทันทีที่เราเผยแพร่ความรู้ของเราออกไป แม้เราจะอยู่ในที่มั่นของเราซึ่งห่างไกลจากสมรภูมิ ก็จะมีผู้ที่เห็นต่างยกทัพมาฟาดฟันเป็นธรรมดา

เมื่อเราชูธงว่าการเบียดเบียนไม่ดี เป็นโทษ การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่ควร ศาสนาพุทธไม่ยินดีในความเบียดเบียนเหล่านั้น ย่อมมีผู้ที่เห็นต่างเป็นธรรมดา ซึ่งคนยึดในอัตตามากก็ย่อมจะไม่ยอมรับเป็นธรรมดาเช่นกัน เมื่อมีความเห็นใดที่ขัดแย้งกับความเห็นของตน คนเหล่านั้นก็พร้อมจะหยิบอาวุธขึ้นมาฟาดฟันหมายจะให้ความเห็นต่างนั้นตายจากโลกนี้ไป ซึ่งก็มากันหลากหลายลีลา ถ้าเป็นสงครามก็มาทั้งบก น้ำ อากาศ ดำดิน หายตัวเข้ามาก็ยังได้เข้ามาฟาดฟันกันด้วยอาวุธคือวิชาความรู้ที่เรียนกันมา ทื่อบ้าง คมบ้าง หนักบ้าง เบาบ้าง คละเคล้ากันไป

ทีนี้เราก็ตั้งใจว่าเราจะไม่รบกับใคร ไม่ต่อสู้กับใครอย่างน้อยก็ตลอดช่วงเทศกาลนี้ ใครมาท้าสู้เราไม่สู้ ใครมาแหย่เราไม่หลุด ใครแนะนำเราก็รับฟังและพิจารณาเนื้อหาไปตามความจริง แต่ถ้าใครมาถามด้วยความสงสัยที่เราพิจารณาดีแล้วว่าเป็นไปเพื่อกุศลเราก็จะตอบ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องตอบหรือไม่ตอบ แต่จะพิจารณาเป็นกรณีไปสรุปคือเราจะไม่ไปเถียงแข่งดีเอาชนะกับใคร แต่ก็ยังทำหน้าที่ให้ความรู้ต่อไป

คนที่เข้ามาฟาดฟันเราด้วยความยึดดีของเขา การที่เขาจะยึดผิดหรือยึดถูกนั้นก็เป็นเรื่องของเขา เพียงแต่เขาเห็นว่าสิ่งที่เขายึดนั้นดีตามประสบการณ์ที่เขาได้เรียนรู้มา การที่คนเหล่านั้นอดรนทนไม่ได้จนต้องแสดงตัวตนออกมาให้เห็น ก็ชี้ชัดให้เห็นแล้วว่าเขายังขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดความสำรวม ขาดสติ ขาดปัญญา ยากนักที่เราจะช่วยอะไรเขาได้ หากจะมีสิ่งที่พอทำได้ก็คือการเห็นใจเขา ให้อภัยเขา รักเขา ถ้าจำเป็นต้องพูดกับเขาก็ให้มีสัมมาวาจา คือพูดแล้วไม่ไปยั่วกิเลสเขา ไม่ทำให้เขาโกรธ ไม่ทำให้ต้องทะเลาะกัน หรือจะเลือกไม่พูดไม่โต้ตอบ เปลี่ยนเรื่องไปเลยก็ยังได้

การปฏิบัติธรรมนั้นจำเป็นต้องมีผัสสะ และในความเจริญใดๆ ก็ตามย่อมมีผู้เสียสละโดยที่ไม่รู้ตัวอยู่เสมอ ถึงแม้เขาเหล่านั้นจะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที การที่เขาเข้ามาทดสอบเราด้วยลีลาท่าทางต่างๆของกิเลสนั้น เขาย่อมสะสมอกุศลกรรมไปแล้ว เมื่อเห็นว่าเขาพยายามจะมาทดสอบเราด้วยการดึงเราลงนรก ไปเถียงกับเขา ไปทะเลาะกับเขา ไปโกรธกับเขา ไปขุ่นใจเพราะเขา เราก็ควรสำรวมตนให้อยู่ในความไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ไม่ลงนรกไปกับเขา อย่าให้เขาได้ทำหน้าที่เสียเปล่า หากเราไปเถียงเอาชนะ ไปทะเลาะไปโกรธกับเขา ก็เป็นอันว่าสิ่งที่เขาทำเสียเปล่า แทนที่จะได้ผู้เจริญเพิ่มขึ้นมา กลับลงนรกไปอีกคน แบบนี้มันเสียของ

ดังนั้นใครจะเข้ามาด้วยลีลาอย่างไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เรารู้สึกขัดใจขุ่นใจ ก็ให้เก็บอาการ เก็บอาวุธ ขอบคุณที่เขามาช่วยกระตุ้นให้เห็นว่าเรายังมีจิตของสัตว์นรกอยู่ในตัว แล้วมุ่งล้างใจเราเป็นหลัก นี่คือหน้าที่ของเราในสงครามนี้มุ่งทำความเจริญให้สำเร็จในจิตใจของเราก่อน อย่ามุ่งไปแส่หาในการสร้างความเจริญกับผู้อื่น

สงครามข้างนอกเราไม่รบ แต่สงครามข้างในเราจะไม่ยอมแพ้ ไม่มีวันยอมศิโรราบให้กิเลส สัตว์นรกที่ร้ายที่สุดที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจเรานั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ปลดอาวุธพร้อม!! (เทศกาลเจ)

October 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,045 views 0

เข้าใกล้ช่วงเทศกาลเจเข้าไปทุกที จริงๆผมเองจำไม่ได้หรอกนะ เพราะไม่ค่อยสนใจเทศกาลอะไรสักเท่าไหร่

แต่ก็เรียกได้ว่าช่วงเจนี่เป็นช่วงปล่อยของแห่งปีเลยทีเดียว หลอกหลอนกันยิ่งกว่าวันปล่อยผี ผีกาม ผีอัตตา มีมากันเต็มไปหมด

เป็นช่วงเวลาที่หลายๆคนจะได้แสดงภูมิอันยิ่งใหญ่ของตนผ่านการยัดเยียดความรู้เหล่านั้นให้ผู้อื่น และจะดุดันเป็นพิเศษในช่วงปล่อยผีนี่แหละ

ซึ่งก็ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไรเหมือนกัน….. (คนเขาไม่อยากรู้ แล้วไปบอกเขาเรียกว่า…)

สำหรับผู้ที่แสวงหาความผาสุกในชีวิต ต้องการที่จะพ้นทุกข์ ก็แนะนำว่าให้ปลดอาวุธ วางหอก วางดาบ วางอัตตาของตัวเองไว้ แล้วเรียนรู้โลกอย่างที่มันเป็น

ไม่ได้ให้วางเฉยนะ เพียงแค่ให้ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวเองเท่านั้นเอง จะอ่าน จะศึกษา จะแบ่งปันอะไรก็ทำไป แต่อย่าไปแข่งดีเอาชนะ อย่าไปดูถูกดูหมิ่น อย่าไปยกตนข่มใครหรือเถียงกันในพื้นฐานความเห็นที่แตกต่าง เพราะมันเป็นสิ่งที่เสียเวลาเอามากๆ

ฟ้าจะส่งนักรบเข้ามาพิสูจน์ความแข็งแกร่งของจิตใจด้วยลีลาท่าทาง ที่จะทำให้รู้สึกว่า แหม… มันน่าจะหยิบดาบมาฟาดให้หัวหลุดจากบ่าเสียนี่กระไร …แต่ช้าก่อน!!! ถึงจะทำเช่นนั้นไปก็เท่านั้น เพราะการตอบสนองอัตตาด้วยอัตตา ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีสิ่งดีงามอะไรเติบโตขึ้นมาในโลก มีเพียงคนที่จมลงสู่นรกอีกคนเท่านั้นเอง

เผื่อมีคนสงสัย … ถ้าเขาเข้ามาทิ่มแทงเราด้วยวาจา ฟาดฟันเราด้วยหลักฐานอ้างอิงต่างๆ ถ้าไม่สู้แล้วจะให้ทำอะไร?

…ก็ไม่ต้องทำอะไรหรอก ก็รับไปอย่างนั้นแหละ เขาจะฟันจะแทงมายังไงก็รับๆไป ปล่อยให้เขาชนะไป เขาไม่อยากได้อะไรจากเราหรอกนอกจากชัยชนะ เราก็ยอมให้เขาไป เห็นเขาอยากได้ แล้วเราชี้แจงหรือห้ามไม่ได้ก็ปล่อยเขาชนะไปอย่างที่เขาต้องการ

ส่วนเราก็มาตรวจสอบใจเราเองก่อน ว่าเป็นอย่างไร ถูกผิดวางไว้ก่อน เอาใจนี่เป็นหลักเลย จับผีในตัวเองให้ได้ก่อน อย่าไปเสียเวลาจับผีข้างนอก ถ้าใจสงบดีแล้วก็ค่อยมาตรวจสอบข้อมูลว่าที่เขาว่ามันถูกไหม เราแก้ไขส่วนผิดตัวเองได้ก็แก้ อะไรที่มันถูกอยู่แล้วก็คงไว้ เท่านั้นเอง