Tag: ความยึดมั่นถือมั่น

มะเขือเทศ

August 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,175 views 0

มะเขือเทศ

มะเขือเทศ

จากเคยชังกลายเป็นชอบ จากที่เคยผลักไสมาตลอดชีวิต วันนี้กลับเป็นสิ่งที่ไม่เคยมองข้าม

สมัยก่อนตอนที่ยังกินเนื้อบ้างกินผักบ้าง จะมีสิ่งหนึ่งที่ไม่ชอบมากเป็นพิเศษ ขนาดว่าให้กินพร้อมสลัดยังไม่อยากกิน ให้กินพร้อมส้มตำก็ไม่ไหวอีก สิ่งนั้นก็คือมะเขือเทศ

ผมเป็นคนที่สามารถกินพืชผักได้หลายชนิด แต่ยอมรับจริงๆว่ามะเขือเทศเป็นสิ่งที่ไม่ชอบมากที่สุด แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่คุ้นตาแบบที่เห็นกันอยู่ทุกวี่ทุกวัน ก็ยังไม่อยากจะสนิทสนมกับมันอยู่ดี

มะเขือเทศกลายเป็นเหมือนกับเครื่องประดับที่ไม่มีวันได้เข้าปาก เป็นเหมือนส่วนเติมเต็มที่ไม่มีก็ไม่เป็นไร แม้มันจะถูกใส่ลงในต้มยำเพื่อให้รสของมันไปทำให้ต้มยำกลมกล่อม แต่เมื่อคิดถึงรสชาติของมะเขือเทศ คิดถึงจังหวะที่ต้องเคี้ยวมะเขือเทศ เพียงแค่นึกเท่านั้นก็ทำให้รู้สึกขยาดไม่อยากกินมันได้แล้ว

รสเปรี้ยวเป็นรสชาติหนึ่งที่ชีวิตผมไม่ค่อยเกี่ยวข้องด้วย แต่ก่อนตอนจะปรุงก๋วยเตี๋ยวก็จะหนักไปทางหวาน เผ็ด ถ้ามีรสไปทางเปรี้ยวนี่จะไม่ค่อยชอบ จนบางครั้งรู้สึกทุกข์มากกับการกินอะไรเปรี้ยวๆ และยิ่งประกอบกับสัมผัสที่นิ่มๆเละๆ ของมะเขือเทศยิ่งไปกันใหญ่ เป็นสัมผัสที่บอกไม่ถูก รู้แค่ไม่ชอบสัมผัสแบบนี้เอามากๆ ดังนั้นมะเขือเทศเลยกลายเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ผมไม่เอาเลย ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ และไม่ใส่ปากด้วย

…….จนกระทั่งมาศึกษาธรรมะ มาศึกษาการลดกิเลส มาหัดลดเนื้อกินผักอย่างจริงจัง ผมเริ่มรู้สึกว่าตนเองนั้นค่อยๆเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อมะเขือเทศ จากที่เคยไม่ชอบมัน ก็เริ่มกลั้นใจกินมันบ้าง พิจารณาประโยชน์ของมันเพิ่มบ้าง เริ่มมองความจริงตามความเป็นจริงได้ชัดขึ้นทีละนิด

มะเขือเทศเป็นพืชที่หาได้ง่าย ปลูกก็ง่าย ราคาไม่แพง เก็บได้นาน แถมยังมีคุณค่าทางอาหารมากมาย ช่วงหลังเลยพยายามทำตัวเองให้สนิทกับมะเขือเทศมากขึ้นด้วยการประกอบอาหารด้วยมะเขือเทศ กินมะเขือเทศกับอย่างอื่นบ้าง จนกระทั่งสามารถกินมะเขือเทศได้โดยไม่รู้สึกรังเกียจเช่นเดิม

ทุกวันนี้ถ้าเห็นมะเขือเทศ ก็รู้สึกว่ามันเป็นของที่ควรกิน จากที่ไม่เคยสนใจใยดี แต่ทุกวันนี้กลับรู้สึกว่าน่าเสียดายหากมะเขือเทศที่อยู่ในจานส้มตำจะต้องถูกเขี่ยทิ้งไป เรียกว่าจากที่เคยไม่มีค่าในชีวิต ในวันนี้กลับเปลี่ยนมาเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกมองข้าม

แต่ก่อนผมมองว่ามันไม่ใช่อาหาร จึงไม่เป็นมิตร เพราะไม่เห็นประโยชน์ของมัน แต่ในวันนี้เมื่อผมได้ทำลายความยึดมั่นถือมั่น ทำลายอคติลำเอียง ทำลายความชอบหรือไม่ชอบในรสใดรสหนึ่งที่เคยจัดจ้านรุนแรงให้เบาบางลง ผมก็จะเริ่มเห็นคุณค่าของมันตามความเป็นจริง

มะเขือเทศมีคุณค่าในตัวของมันและมีมันอยู่อย่างนั้นมาตั้งนานแล้ว แต่ผมกลับไม่เห็นคุณค่าของสิ่งนั้นเอง เป็นเพราะผมหลงติดหลงยึดในบางสิ่งบางอย่างจนไม่อยากมองตามความเป็นจริง จึงทำให้มองไม่เห็นคุณค่าของมันตามความเป็นจริง

หากเราสามารถมองให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้ว เราก็จะรับรู้ว่าทุกอย่างในโลกนี้มีคุณค่าในตัวของมันเองทั้งหมด มันมีเหตุผลในการก่อกำเนิดของสิ่งนั้นเพื่อสืบเนื่องไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง คือเส้นสายแห่งความสัมพันธ์ที่เชื่อมร้อยรูปและนามเข้าด้วยกันหมุนวนสร้างผลและรับผลต่อเนื่องกันไป เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการหลุดพ้นจากวงเวียนแห่งการเกิดและดับเช่นนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

21.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กำจัดความหลงไปโดยลำดับ

August 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,349 views 0

กำจัดความหลงไปโดยลำดับ

กำจัดความหลงไปโดยลำดับ

การลดเนื้อกินผักนั้นสามารถทำได้ด้วยเหตุหลายอย่าง บางคนใช้กำลังใจ บางคนใช้ความเมตตา บางคนใช้เหตุและผล บางคนใช้กรรมและผลของกรรม ฯลฯ และในที่นี้เราจะมาแนะนำวิธีการทำลายความหลงกัน

การที่เรายังหลงกินเนื้อสัตว์อยู่นั้น เป็นภัยเงียบที่มีผลต่อการวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอย่างแท้จริง เพราะเป็นการหลงติดหลงยึดในกาม คือการเสพสุข โดยทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และใจ การหลงติดใจในเนื้อสัตว์นั้นเป็นภัยร้ายที่ยากจะมองเห็น เพราะกิเลสได้บังไว้มิดเสียจนคนแยกไม่ออกว่าอยากกินหรือจำเป็นต้องกิน เวลาที่เราหลงติดหลงยึดกับอะไร เราก็จะไม่อยากที่จะพลัดพรากไปจากสิ่งนั้น หาเหตุผล หาข้ออ้างให้ได้เสพสุขจากสิ่งนั้นตลอดไป มองไม่เห็นความยึดมั่นถือมั่น มองไม่เห็นกิเลส จึงมักจะทำให้โดนกิเลสหลอกว่าไม่มีกิเลส เหมือนกับคนเมาที่บอกว่าตัวเองไม่เมา

ถ้ายังมีความอยากอยู่(ตัณหา) ก็หมายถึงยังมีความยึดมั่น(อุปาทาน) ถ้ามีความยึดมั่นก็ทำให้เกิดภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส นั่นหมายถึงถ้ายังมีความอยากอยู่ ก็ไม่มีวันที่จะพ้นทุกข์ไปได้

คนที่มีกำลังจิตมาก มีกำลังปัญญามาก หากจะทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์โดยทันทีก็สามารถทำได้ แต่การทำลายความอยากของพุทธนั้นไม่ใช่แค่หยุดกิน ไม่ใช่แค่ทำร่างกายให้บริสุทธิ์ แต่เป็นการปฏิบัติไปจนถึงใจ เรียกว่าถึงจะไปแตะเสพเนื้อสัตว์นั้นก็ไม่เกิดทั้งอาการอยากและไม่อยากอีกเลย ดังนั้นจึงเป็นการลดเนื้อกินผักที่ปฏิบัติได้ยาก แต่ถึงแม้จะปฏิบัติได้ยากก็มีผลที่คุ้มค่า

ส่วนคนที่มีกำลังจิตน้อย มีกำลังปัญญาน้อย ก็ต้องค่อยๆ แบ่งงานทำ ค่อยๆกำจัดความอยากในขอบเขตที่กำหนด เช่นกำหนดว่าจะทำลายความอยาก ความหลงติดหลงยึดในเนื้อหมู ก็ให้ทำลายในหมวดหมู่ของเนื้อหมูทั้งหมดก่อน เมื่อสำเร็จเกิดผลว่า ไม่เสพเนื้อหมูก็ยังมีความสุขสบายดี ถึงจะเห็นเนื้อหมูในเมนูต่างๆที่เคยชอบอยู่ตรงหน้า ก็ไม่มีความอยาก ไม่น้ำลายสอ ไม่ต้องอดทน ไม่รู้สึกเสียดาย ถึงจะกินเนื้อหมูเข้าไปก็ไม่มีความสุขหรือทุกข์ ก็เรียกได้ว่าสามารถผ่านโจทย์ของเนื้อหมู ไปจัดการตัวอื่นๆ เช่น ความอยากในเนื้อวัว ความอยากในเนื้อไก่ ความอยากในเนื้อปลา เป็นต้น

ซึ่งเราอาจจะเลือกกำจัดความอยากในเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่พร้อมกันก็ได้หากว่าเราสามารถทำได้โดยไม่ยากไม่ลำบากจนเกินไป ทั้งนี้การทำลายความอยากไม่ใช่ทำได้เพียงแค่การอดทน แต่เป็นการค้นให้ลึกถึงเหตุของความอยาก ว่าเราไปหลงติดหลงยึดในอะไร เรากำลังยึดมั่นถือมั่นในอะไร เราเสพสุขอะไรในเนื้อสัตว์นั้น แล้วใช้ปัญญาพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงว่ารสสุขที่เราหลงเสพอย่างนั้นสร้างทุกข์โทษภัยให้ตัวเราและผู้อื่นอย่างไร ซึ่งจะทำให้ความอยากนั้นจางคลายไปโดยลำดับ จนกระทั่งสิ้นเกลี้ยงได้ในที่สุด

ซึ่งการทำลายความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น สามารถทำลายด้วยการดับภพทั้งสาม คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ โดยใช้วิธี “ไตรสิกขา” นั่นคือการศึกษาในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ซึ่งการศึกษาเหล่านี้จะเป็นไปเพื่อความเจริญ เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไปเป็นไปความหลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งเป็นที่สุดของการปฏิบัติในศาสนาพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

14.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สมรภูมิคนดี

August 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,340 views 0

สมรภูมิคนดี

สมรภูมิคนดี : บททดสอบที่จะประดังเข้ามาเพื่อพิสูจน์ความดีที่แท้จริง (กรณีศึกษามังสวิรัติ)

คนทุกคนย่อมพยายามผลักดันตนเองไปสู่ความดีที่ตนเห็นว่าดีกันทุกคน เส้นทางแห่งความดีนั้นไม่ใช่เส้นทางที่เดินได้ง่าย มีบททดสอบมากมายที่จะเข้ามาพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราเห็นว่าดีนั้นดีจริงแท้หรือไม่

ในบทความนี้จะยกตัวอย่างคนที่พยายามลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ พยายามที่จะทำตนเองให้ดีขึ้น ให้เบียดเบียนสัตว์อื่นน้อยลง เป็นทางสู่ความดีทางหนึ่งด้วยเนื้อหาต่างๆรวม 7 ข้อ

1). การทดสอบความตั้งมั่น(บททดสอบกาม – การเสพติดเนื้อสัตว์)

คนที่คิดจะพยายามทำดีในชีวิต เช่นในเรื่องของการลดเนื้อกินผัก จะเจอบททดสอบแรกที่ท้าทายความดี คือจะละเว้นเนื้อสัตว์ได้จริงไหม จะกินได้นานเท่าไหร่ ถ้าโดนยั่วยวนด้วยเมนูเนื้อสัตว์ต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะงานเลี้ยง รวมญาติ งานรื่นเริง หรือสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดต่างๆ เราจะยังตั้งมั่นอยู่ไหม เราจะกลับไปกินไหม เราจะหาเหตุผลไปกินไหม และที่สำคัญที่สุดคือเรายังเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นมีคุณค่ามีประโยชน์ในชีวิตเราอีกไหม เรายังหลงว่ามันเป็นของดีอีกไหม เรายังมีความเข้าใจว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่บำรุงร่างกายอยู่ไหม เรายังยินดีให้คนที่รักกินเนื้อสัตว์อยู่อีกไหม เรายังเหลือเยื่อใยใดๆกับเนื้อสัตว์อยู่อีกไหม จะมีเหตุการณ์ต่างๆที่จะเข้ามาทดสอบความตั้งมั่นของผู้ที่จะลดเนื้อกินผักตลอดช่วงเวลาที่คิดจะทำดี

2). ออกสู่โลกภายนอก ( เตรียมเข้าสู่บททดสอบอัตตา )

เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว แต่ถ้าอยากให้เกิดสิ่งดีมากขึ้น เป็นกุศลมากขึ้น ก็จะต้องทำหน้าที่เชิญชวนให้ผู้อื่นสนใจที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์ด้วย ซึ่งสิ่งที่จะขวางกั้นไม่ให้เราได้เป็นคนดีขึ้นอย่างใจหวัง นั่นก็คืออัตตา หรือความยึดดีถือดี อัตตาจะทำให้เราต้องเป็นทุกข์เมื่อไม่ได้อย่างใจ ทำให้เราแข็งกระด้าง ทำให้เราไม่เมตตา ทำให้เราต้องสร้างศัตรู ทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จในการชักชวนผู้อื่นให้ศึกษาเพื่อละเว้นการกินเนื้อสัตว์

ผู้ที่เข้ามาทดสอบจะเป็นไปตามธรรม เป็นไปตามสิ่งที่เราทำ ถ้าเราลดเนื้อกินผักอยู่ในภพ คือ กินโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร โจทย์ก็มักจะน้อย แม้จะลดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ดี สามารถออกจากกามได้ แต่ก็ยากที่จะวัดเรื่องอัตตาได้

และถ้าเราเริ่มออกจากภพ ออกจากถ้ำ ออกจากที่มั่น เริ่มอธิศีลขึ้นไปอีกระดับ พยายามสร้างกุศลขึ้นไปอีก คือการพยายามชักชวนผู้อื่นให้ลดเนื้อกินผัก ก็จะเริ่มมีโจทย์ที่มากขึ้นมาตามธรรมเช่นกันและนี่คือการก้าวสู่คนดีที่ดียิ่งขึ้นอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากขึ้น เพราะต้องพร้อมรับความเห็นที่แตกต่างที่จะประดังเข้ามามากขึ้น

ซึ่งความหนักของบททดสอบนั้นจะมากและแรงขึ้นเรื่อยๆตามความดีที่ทำ ยิ่งทำดีมาก ยิ่งมีบารมีสูงมาก โจทย์ก็ยิ่งยาก ยิ่งหนัก ยิ่งแก้ยาก ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเข้ามาทดสอบว่าเราดีจริงหรือไม่ เราจะทำดีได้มากกว่านี้ หรือจะเลิกล้มลงตรงนี้

3). การต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น( รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง )

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเอาชนะกัน การเถียงกัน เป็นการสู้รบที่ไม่มีวันจบสิ้น เราไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนเห็นเหมือนเราได้ ขนาดบุรุษที่เก่งที่สุดในโลกก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนศรัทธาได้

เราจึงต้องกำหนดเป้าหมายให้ดีว่า การทำดีของเรานั้นไม่ใช่เพื่อเอาชนะใคร ไม่ใช่เพื่อข่มเหงใคร ไม่ใช่เพื่ออวดในคุณความดีที่ตนได้ แต่เป็นการทำดีเพื่อจะสร้างเหตุในการขัดเกลาตนเองให้เป็นคนดีที่ดียิ่งขึ้น การต่อสู้ภายนอกนั้นไม่มีวันจบสิ้น การเถียงเอาชนะกันมีแต่จะเสื่อมศรัทธาต่อกัน เขาก็ยังกินเนื้อเหมือนเดิม เราก็ได้ศัตรูเพิ่ม ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเอาผลแพ้ชนะทางโลกเป็นเป้าหมาย การเพิ่มคนลดเนื้อกินผักไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่เป็นการเพิ่มคนดีขึ้นมาอีกหนึ่งคน นั่นคือทำตัวเราให้ดียิ่งๆขึ้น ไม่ใช่การไปทำคนอื่นให้ดีอย่างใจเรา

การต่อสู้ภายในนั้นมีวันสิ้นสุด เพราะแท้จริงแล้ว เราไม่ได้สู้กับใครเลย เราสู้กับใจตัวเองเท่านั้น สู้กับความยึดดีถือดี ความเอาแต่ใจ ความคาดหวัง เราสู้กับกิเลสของตัวเราเองเท่านั้น คนที่วุ่นวายอยู่กับการต่อสู้ภายนอก จะเป็นคนดีที่มีแต่ความทุกข์ใจ ต้องสู้กับคนที่เห็นต่างไปชั่วกัปชั่วกัลป์

4). ผู้เข้ามาทดสอบ(บททดสอบอัตตา – การยึดดีถือดี )

กรรมจะลิขิตขีดเขียนสร้างเหตุการณ์และผู้ที่เข้ามาทดสอบความยึดดีถือดีด้วยลักษณะและลีลาที่ต่างกัน ซึ่งอาจจะเข้ามาเพื่อกระทบแค่ครั้งเดียว ,มาๆหายๆ , มาแบบกัดไม่ปล่อย, ลากเราไปรุมขยี้ ฯลฯ ก็เป็นรูปแบบการเข้ามาของบททดสอบต่างๆ ซึ่งเราควรพึงระลึกไว้เสมอว่า สิ่งที่เข้ามากระทบทั้งหมดนั่นคือผลของกรรมที่เราทำมา เรากำลังได้รับผลกรรมของเรา เพื่อที่จะขัดเกลาจิตใจให้ดียิ่งขึ้น และใช้หนี้กรรมชั่วให้หมดไป โดยจะยกตัวอย่างลักษณะของผู้ที่เข้ามาคร่าวๆดังนี้

นักเลง คนพาล –มักจะมาในลักษณะหาเรื่อง เพ่งโทษ มีการดูถูก ประชด เยอะเย้ย ฯลฯ คือขอให้ได้ข่มก็พอใจ ถ้าเจอคนลักษณะนี้ก็ให้วางเฉยเสีย อย่าไปถือโทษโกรธเคือง เขามาวัดโทสะเรา ว่าเราจะโกรธไหม จะแค้นไหม จะขุ่นเคืองไหม เราก็เจริญเมตตาจิตไป และค้นหาเหตุแห่งความโกรธว่าการที่เขามาว่า มาด่าเรานั้น เราจะโกรธทำไม เรายึดดีถือดียังไงเราจึงต้องไปโกรธเขา

คนที่พูดกันไม่รู้เรื่อง – อาจจะเป็นคนที่รีบสรุป อ่านน้อย ฟังน้อย หรือเข้าใจผิด มักจะพูดคนละประเด็น หรือพูดกันเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจ พอจะคุยกันได้ ไม่ทะเลาะกันรุนแรง แต่มักจะหาข้อสรุปไม่ได้ ยิ่งคุยก็ยิ่งงง เจอแบบนี้ก็ตรวจดูว่าหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไหม พยายามจะไปยัดเยียดความรู้ให้เขาไหม ก็ล้างความยึดดีถือดีของเราไป บางครั้งก็ต้องปล่อยวางกับเรื่องที่หาคำตอบไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนเรื่องได้ก็เปลี่ยน เลี่ยงได้ก็เลี่ยง

ผู้คมกฎ – เป็นคนที่เข้ามาบัญญัติ ข้อกำหนดว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำแค่นี้ไม่ได้ ทำแบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นมังสวิรัติ ถ้าทำแบบนี้ผิด แบบนี้ถูก อาจจะพ่วงท้ายด้วยการประณามหยามเหยียดได้ในบางกรณี ก็กลับมาตรวจใจเราว่าขุ่นเขืองไหม สิ่งที่เขาแนะนำเป็นกุศล สมควรทำจริงหรือไม่ เหมาะสมกับฐานจิตของเราหรือไม่ ถ้าเขาแนะนำเกินก็ไม่เป็นไร เราก็ปฏิบัติเหมือนเดิมตามฐานจิตของเรา เท่าที่เราจะทำไหวในขีดที่เราจะพัฒนาขึ้นไปได้โดยลำดับ

ผู้ไม่เห็นด้วย –คนทั่วไปที่เข้ามาแสดงความเห็นในมุมที่แตกต่าง มักจะมีข้อมูล มีเหตุผล มีที่อ้าง เราจะวางใจได้ไหม ถ้าเขามีข้อมูลที่แย้งกับของเรา เราจะลองศึกษาของเขาดูบ้างได้ไหม เราจะเมตตาให้ความรู้กับเขาโดยที่ไม่ไปแข่งดีเอาชนะกับเขาได้ไหม และถ้าเขาไม่เอาดีตามเรา เราจะปล่อยวางได้ไหม จะยอมปล่อยให้เขาเชื่อในแบบของเขาได้ไหม

ผู้ที่เห็นว่าดีแต่ไม่เอาด้วย – คนที่เข้ามาเห็นดีกับเราในบางส่วน แต่ไม่ยินดีจะเอาด้วย ไม่ร่วมด้วย มักจะมีข้ออ้าง ข้อหลบเลี่ยงในการไม่เอาดี นั่นเพราะเขายังไม่เห็นว่าทำแบบเรานั้นดีพอที่เขาจะเอา มักจะมีภพที่เข้าใจว่าดีกว่ายึดอาศัยอยู่ เข้าใจว่ามีสิ่งที่ดีกว่าที่เราทำ ซึ่งมักจะเข้ามาชมแกมข่ม ลูบหลังแล้วตบหัว มักจะมีแนวทางของตัวเองอยู่ มักประกาศตนอยู่เนืองๆว่ามีดีกว่า ซึ่งอาจจะทำให้เรางงว่าจะมายังไงกันแน่ ก็ลองตรวจใจตัวเองว่าขุ่นเคืองใจไหม เขามาข่มจะยอมให้เขาข่มได้ไหม ยอมให้เขาเผยแพร่ความเห็นของเขาได้ไหม บอกเขาไป เตือนเขาไปแล้วเขาข่มกลับ เราวางใจได้ไหม

คนดีที่เห็นต่าง – เป็นโจทย์ที่ยากกว่าคนทั่วไป เช่นการนำคำพูดของคนที่ปฏิบัติดี มีชื่อเสียง น่าเคารพ น่านับถือมาอ้างอิง ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่เราเชื่อและปฏิบัติอยู่ จะทำอย่างไรในเมื่อคุณความดีของเราก็สู้เขาไม่ได้ เราจะทุกข์ทรมานจากความยึดดีไหม เราจะแสวงหาคำตอบเหล่านั้นไหม เราจะอึดอัดขัดเคืองกับการไม่สามารถโต้แย้งใดๆได้หรือไม่ เพราะบางครั้งมันก็ไม่สมควรไปโต้แย้งในบางประเด็น เราจะวางใจได้หรือไม่ ลองพิจารณาทบทวนตามที่เขาว่าได้ไหม สำรวจตัวเองอีกครั้งได้ไหมว่าสิ่งที่เราคิดและทำอยู่นั้น เราถูกจริงดีจริงเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ แม้จะมีคนดีที่เห็นต่าง เราจะยังมั่นคงอยู่ในคุณความดีที่เราทำได้จริงได้หรือไม่

คนดีที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยบางประเด็น – เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดก็คือการที่คนดีที่เห็นตรงกันแล้วมาเห็นต่างกันในบางประเด็นนี่แหละ โจทย์นี้จะวัดความยึดดีถือดีของเราได้อย่างรุนแรงที่สุด ในเมื่อเขาก็เห็นอย่างเรา และปฏิบัติได้อย่างเรา แต่มีบางประเด็นที่เห็นต่างกันไป เราจะยอมรับได้ไหม เราจะยินดีฟังไหม เราจะยึดว่าของเราดีกว่าของเขา จนไม่ฟังไหม คนดีที่เห็นตรงกันจะแนะนำสิ่งที่แตกต่างกันด้วยความหวังดี เรียกว่าการชี้ขุมทรัพย์ให้กัน แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะยอมรับ เพราะชี้ผิดก็มี ชี้ถูกก็มี ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วยิ่งคนดีมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งยึดดี อย่าคิดว่าคนดีจะวางดีกันง่ายๆ ยิ่งเก่ง ยิ่งสะสมบารมีมากก็จะยึดมั่นถือมั่นมากเป็นธรรมดา ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งล้างความยึดมั่นถือมั่นในความดีนี้

5). การเรียนรู้โลกจากบททดสอบ

เราสามารถเรียนรู้ได้จากทุกอย่างที่ประดังเข้ามาหาเรา ถ้าเขาติมาเราก็ฟังไว้ จะได้นำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขจุดบกพร่อง จุดที่คนถือสา จุดที่เป็นอกุศล ฯลฯ การที่จะมีคนมาช่วยชี้ช่วยบอกจุดบกพร่องของเรานี่ไม่ง่ายนะ เขามาทำให้ฟรีๆ ไม่ต้องจ้าง ต้องขอบคุณเขา ส่วนที่เราเป็นสุขเป็นทุกข์ เราก็กลับมาล้างใจของเรา

6). การขัดเกลาจิตใจตนเองให้ดียิ่งขึ้น

การที่คนเห็นต่างเข้ามาแนะนำ ติชม ด่า ว่า เหน็บแนม ประชด ดูถูก ฯลฯ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากในการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นคนดียิ่งขึ้นได้ เพื่อให้เราได้นำสิ่งกระทบเหล่านั้นเข้ามาตรวจสอบว่า เราโกรธหรือไม่ เราไม่ชอบใจหรือไม่ เราขุ่นใจหรือไม่ ใจเราสั่นไหวหรือไม่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร แล้วจะกำจัดอาการเหล่านั้นได้อย่างไร การชมเชย และการให้กำลังใจก็เช่นกัน เราอิ่มใจ ฟูขึ้นในใจหรือไม่ เราลอยหรือไม่ เราเหลิงหรือไม่ เราหลงไปในคำชมเหล่านั้นหรือไม่ ทั้งนินทาและสรรเสริญนี้เองจะเป็นสิ่งที่เข้ามาเป็นวัตถุดิบในการขัดเกลาจิตใจของเรา

7). ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น

เป้าหมายของการขัดเกลาจิตใจคือการทำดีด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเกิดผลดี ซึ่งจะต้องเกิดจากการทำดีอย่างเต็มที่เท่าที่จะมีกำลังพอจะทำได้ แล้ววางผลที่จะเกิดขึ้นนั้นให้ได้ เรามุ่งเน้นการทำดี แต่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผล เพราะผลเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

การปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นที่ยากที่สุดคือการปล่อยวางการยึดในบทบาทและหน้าที่ เพราะเรานั้นไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า เราช่วยทุกคนไม่ได้ หากเรายังยึดว่าเราจะต้องช่วยสัตว์ ช่วยทุกคนให้พ้นจากการเบียดเบียน เราเองจะเป็นคนที่ไม่พ้นไปจากทุกข์

การทำดีโดยที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวกูของกู จะเป็นการทำดีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะเป็นการทำดีที่พร้อมจะวางดีทุกเมื่อ พร้อมจะพังได้ทุกเมื่อ เมื่อไม่ยึดมั่น ก็ไม่ทุกข์ ไม่ท้อถอย พร้อมจะล้มและพร้อมจะลุกเดินหน้าทำดีต่อไปอีก เป็นคนดีที่เป็นอมตะ ไม่มีวันตายไปจากความดี พร้อมจะทำดีโดยไม่มีเงื่อนไขให้ใจต้องเป็นทุกข์

– – – – – – – – – – – – – – –

9.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความคาดหวังของพ่อแม่

July 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,863 views 0

ความคาดหวังของพ่อแม่

ความคาดหวังของพ่อแม่

เมื่อเป็นพ่อแม่เรามักอยู่กับความหลงผิด เพราะเราต่างสร้างอนาคตให้ลูก แต่หลายสิ่งเกิดขึ้นตามโชคชะตาของแต่ละคน

บทละครที่ถ่ายทอดเรื่องราวของพระเจ้าสุทโธทนะ ในละครซีรี่พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก ตอนที่ ๔๒ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ที่มีพลังมากกว่าความยึดมั่นถือมั่นใดๆในโลก

คนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรืออาจจะรวมไปถึง เจ้านาย คู่รัก เพื่อน ฯลฯ ก็ย่อมมีความหวังให้คนที่ตนรักและดูแลเป็นไปในทางที่ตนเข้าใจว่าดี ตามความยึดมั่นถือมั่นของตนเอง

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งจะต้องเป็นไปตามนั้น เพราะผลของกรรมนั้นมีพลังมากกว่า หากเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดให้เป็นไปตามใจของเราแล้ว สุดท้ายทุกอย่างก็จะพังทลายลงด้วยพลังแห่งกรรมที่มีอำนาจเหนือใครในโลก

มนุษย์พยายามฝืนกรรมลิขิตได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปตามนั้นเสมอไป เพราะถึงแม้เราจะฝืน เราจะพยายามเท่าใด ทุกชีวิตก็ล้วนอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมที่ทำมา อย่างเช่นเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านมีกรรมที่จะต้องเป็นพระพุทธเจ้า อะไรก็มาห้ามท่านไม่ได้ มันถูกกำหนดไว้เช่นนั้น เพราะท่านทำกรรมมาเช่นนั้น

ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ตนคิดและเข้าใจว่าดีนั้น คือสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริง ไม่มีไหวพริบ ขาดความแววไวต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะตนได้ยึดสิ่งที่ตนว่าดีไปแล้วจึงไม่เปิดใจยอมรับสิ่งอื่นๆ ทั้งที่จริงทุกสิ่งผันเปลี่ยนหมุนเวียนไปไม่หยุดตามวิบากกรรมที่ได้ทำมา

พ่อแม่ที่มองแค่เพียงว่าบุตรนี้คือของของตน ต้องเป็นไปตามแนวทางของตน ต้องเป็นไปตามที่ตนต้องการ คือผู้ที่สร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะความยึดมั่นถือมั่น นั่นเพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาเป็นใครมาเกิด เขามีกรรมของเขามาอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างมีเบื้องหลังเสมอ เขามีกรรมเป็นของเขา เรามีกรรมเป็นของเรา ซึ่งดูๆไปแล้วเหมือนจะมีความสัมพันธ์ที่เกาะเกี่ยวกันแต่แท้ที่จริงแล้ว เราแต่ละคนมีกรรมแยกกันไป

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราควรปล่อยปละละเลย เพราะการเลี้ยงดูบุตรก็เป็นกรรมดีของเราเช่นกัน การเลี้ยงดูบุตรเป็นหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ดังนั้นเราก็ควรจะสร้างกรรมดีของตน โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าผลนั้นจะเกิดดีหรือไม่ เพราะผลที่เกิดนั้นจะถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากหลายเหตุปัจจัยและไม่ว่าผลที่เกิดจะเป็นเช่นไร กรรมดีของเรานั้นได้ทำไว้แล้ว สะสมไว้แล้ว เป็นประโยชน์แล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)