สุกรมัทวะ สิ่งนี้คืออะไร?

September 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,451 views 0

สุกรมัทวะ สิ่งนี้คืออะไร?

*ภาพประกอบจากซีรี่พระพุทธเจ้า ที่มีความเห็นว่าสุกรมัทวะ คือเห็ด

สุกรมัทวะนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่มักจะถูกหยิบยกมาอ้างอิง เมื่อมีความเห็นต่างในเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์หรือไม่

มีการตีความสิ่งนี้ไปโดยสองทิศทางใหญ่ๆ คือ เนื้อและไม่ใช่เนื้อ ส่วนที่เป็นเนื้อเขาก็จะตีความว่าเป็นเนื้อหมูอ่อน ส่วนที่ไม่ใช่เนื้อเขาก็จะตีความว่าเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่หมูชอบกิน

แต่ในความจริงแล้ว“สุกรมัทวะ”จะเป็นอะไรก็ไม่มีใครรู้ได้ ไม่มีใครสามารถนำหลักฐานมาอ้างอิงได้ เพราะมันผ่านมาตั้ง 2500 กว่าปีแล้ว สิ่งที่เคยเรียกว่าสุกรมัทวะในอดีตนั้น ปัจจุบันอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ได้ เพราะสัญญานั้นไม่เที่ยง เราไม่สามารถที่จะใช้สัญญาที่เรากำหนดหมายในตอนนี้ไปเทียบเคียงกับอดีตได้เสมอไป

ถ้ากล่าวกันถึงเห็ด ทุกวันนี้ก็ยังมีคนมากมายที่ตายเพราะเห็ดพิษ คนเหล่านั้นไม่รู้ว่าเห็ดเหล่านั้นมีพิษ เข้าใจว่าเห็ดกินได้ จึงนำมาประกอบอาหาร ทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตมากมาย นี่คือข้อมูลในยุคสมัยนี้ ยุคสมัยที่มีความรู้ว่าเห็ดชนิดใดกินได้ ชนิดใดมีพิษ แต่นั่นก็ยังไม่สามารถป้องกันความเข้าใจผิดของคนได้ 100 % นั่นหมายถึงไม่ต้องเดาเลยว่าเมื่อ 2500 ปีก่อนจะขนาดไหน….

ถ้าเทียบกับเนื้อหมู ทุกวันนี้ก็ไม่เห็นจะมีใครตายทันทีเพราะกินเนื้อหมู นอกเสียจากว่าติดคอ อย่างช้าๆก็คงเจ็บป่วยเพราะพยาธิหรือเป็นมะเร็ง ถ้าเป็นเนื้อหมูสุกๆดิบๆที่กินแล้วทำให้ตายได้นั้น ก็คงจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ เพราะท่านตรัสไว้ในจุลศีลว่าไม่รับเนื้อดิบ ส่วนเรื่องย่อยยากนั้นถ้าหากเคี้ยวให้ละเอียดก็ไม่มีปัญหาอะไร ยกเว้นเสียแต่กินเนื้อหมูที่เน่าและเป็นโรค ก็คงจะทำให้อาหารเป็นพิษได้ แล้วเนื้อหมูที่เน่าเสียนั้นสมควรประเคนให้พระพุทธเจ้าหรือไม่?

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับความเสื่อมของพุทธไว้ว่าจะเหมือนเป็นกลองอานกะ แม้จะมีชื่อว่ากลองอานกะ แต่วัสดุของกลองดั้งเดิมนั้นไม่มีเหลืออยู่แล้ว ไม้ก็ถูกเปลี่ยน หนังก็ถูกเปลี่ยน เหมือนกับพุทธในวันนี้ แม้จะได้ชื่อว่าศาสนาพุทธที่พาคนพ้นทุกข์ แต่ไส้ในนั้นได้ถูกเปลี่ยนไปหมดแล้ว แม้มีชื่อว่าพุทธ แต่ไม่มีความเป็นพุทธเหลืออยู่แล้ว

เช่นเดียวกับมรรคที่ปฏิบัติไปเพื่อลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ในสมัยนี้มักจะไม่มีทิฏฐิเช่นนี้กันแล้ว ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์ก็มักจะมองว่า “สุกรมัทวะ” นั้นเป็นเนื้อหมู ส่วนผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็จะมองว่าสิ่งนั้นเป็นเห็ด ซึ่งเป็นไปตามทิฏฐิของตน

ถ้าถามว่าทิฏฐิเช่นไรจึงจะพาให้พ้นทุกข์ ก็ต้องชี้ชัดกันไปเลยว่า “เป็นผู้ไม่เบียดเบียน” หากความเห็นหรือกิจกรรมใดๆของเรานั้นมีส่วนให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน มีเราเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนนั้น เราย่อมระงับเหตุเหล่านั้นเสีย อย่าให้เราต้องเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้ประสบทุกข์เลย หรือหากมีข้อจำกัดก็จะเบียดเบียนให้น้อยที่สุด แต่ทำประโยชน์ให้โลกคืนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรียกว่าต้องประมาณให้อกุศลน้อยที่สุด ในขณะที่ทำกุศลให้มากที่สุด หรือจะเรียกว่าประโยชน์ตนประโยชน์ท่านก็ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

9.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การปฏิบัติธรรม ตามธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ

September 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,314 views 0


การปฏิบัติธรรม ตามธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ

ในวีดีโอที่แนบมานั้น เป็นเรื่องราวของกิ้งกือกระสุนที่เดินผ่านเส้นทางของฝูงมด เป็นความบังเอิญตามธรรมชาติที่ไม่ได้จัดฉากหรือบังคับชีวิตใด ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติของมัน

เราจะเห็นได้ว่าเมื่อกิ้งกือกระสุนถูกมดรังควาน มันก็จะม้วนตัวมันให้กลม มีเปลือกเป็นเกราะ ทำให้มดไม่สามารถเข้ามากัดได้ แต่นั่นอาจจะหมายถึงมดตัวเล็ก ถ้ามดตัวใหญ่นั้นเดินผ่านมาและสนใจกิ้งกือกระสุนล่ะ มันจะทำอย่างไร? มดตัวใหญ่นั้นสามารถกัดถุงพลาสติกเหนียวๆให้ขาดได้ ถ้ามันเข้ามารุมกัดกิ้งกือกระสุนล่ะ จะเป็นอย่างไร?

กลับมาที่เรื่องการปฏิบัติธรรม…

ถ้าฝูงมดคือสิ่งที่จะเข้ามากระตุ้นกิเลส และกิ้งกือกระสุนคือตัวเรา เมื่อเราได้กระทบกับสิ่งกระตุ้นกิเลส เราก็สามารถใช้ความอดทน ใช้สติ ใช้กำลังของจิตกดข่มอาการได้สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์ที่จะต่อต้านสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรด้วยกำลังเท่าที่ตนมี

แต่ถ้ามีการกระตุ้นกิเลสที่มากขึ้นล่ะ ถ้ามีมดตัวใหญ่เข้ามา กิ้งกือกระสุนตัวนั้นจะทำอย่างไร มันก็คงจะถูกมดยักษ์ค่อยๆกัดจนตาย เพราะไม่สามารถต้านทานพลังของมดได้ เช่นเดียวกับที่คนส่วนมากไม่สามารถต้านทานพลังของการยั่วกิเลสที่มีพลังเกินกว่าสติของตนได้

เราอาจจะสามารถฝึกจิตให้แข็งแกร่งได้ ให้มีสติรู้เท่าทันกิเลสได้ เหมือนกับกิ้งกือกระสุนที่พัฒนาตัวเองให้โตขึ้นและมีเปลือกที่หนาขึ้นได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงวิธีปฏิบัติที่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามวิถีของโลก ซึ่งนักปฏิบัติธรรมสำนักไหน ศาสนาใดก็สามารถทำได้ ซึ่งถ้ายกฤๅษีขึ้นมาก็จะเห็นภาพได้ชัด

ฤๅษีนั้นสงบนิ่ง เว้นขาดจากการบริโภคกาม น่าเคารพ น่าเลื่อมใส เหมือนกับกิ้งกือกระสุนที่สามารถป้องกันมดกัดได้อย่างสมบูรณ์ แต่นั่นก็เป็นเพียงวิธีหนึ่งในการป้องกันและไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในโลกนี้

หลักการปฏิบัติของพุทธนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ป้องกันเท่านั้น ในทางจิตนั้นพุทธก็จะมุ่งพัฒนา แต่จะต่างกันตรงที่มีเป้าหมายคือการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง

การหลุดพ้นของพุทธไม่ใช่การปล่อยให้กิเลสเข้ามาและยอมรับมัน ไม่ใช่กิ้งกือกระสุนที่เดินฝ่าดงมด และปล่อยให้ตนโดนมดกันโดยทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่ใช่เพียงแค่มีความสามารถอดทนและปล่อยวางความเจ็บปวดได้ ไม่ใช่ผู้ที่ทำเหมือนปล่อยวางแต่ตัวยังจมอยู่กับกิเลส

การหลุดพ้นของพุทธนั้นคือหลุดพ้นจากกิเลส ลองนึกภาพกิ้งกือกระสุนที่เดินผ่าดงมด แต่มดไม่สนใจ เหมือนอยู่กันคนละมิติ ถึงจะเดินไปบนเส้นทางเดียวกันแต่ก็จะเดินผ่านกันไปโดยที่ไม่แตะต้องกัน ถึงจะเผลอไปแตะต้องแต่ก็ไม่ไปเกี่ยวกัน ไม่เป็นของกันและกัน นั่นเพราะผู้ที่ล้างกิเลสจนหมดตัวหมดตน การยั่วกิเลสใดๆย่อมไม่สามารถทำให้ผู้ที่หลุดพ้นไปข้องเกี่ยวได้

ดังนั้นการผลการปฏิบัติธรรมแบบพุทธจึงเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก ไม่อยู่ในวิสัยของโลก รู้ได้เฉพาะผู้ที่ปฏิบัติได้จริง เดาเอาก็ไม่ได้ คิดคำนวณยังไงก็ไม่มีวันถูก แม้มันจะเป็นเรื่องที่มีเหตุผล แต่ก็ไม่สามารถใช้ตรรกะใดๆมาอธิบายได้

จะเป็นไปได้อย่างไรที่กิ้งกือกระสุนจะเดินอยู่บนเส้นทางของฝูงมดที่หิวโหยโดยไม่โดนมดรุมทึ้ง อย่างเก่งก็แค่ม้วนตัวขดเป็นก้อนกลม ป้องกันมดกัด หรือรอเวลาที่มดเดินไปจนหมด ไม่มีทางหรอกที่จะเดินไปพร้อมๆกับมดโดยที่มดไม่กัด ธรรมชาติของมดย่อมกัดเป็นธรรมดา นั่นหมายถึงมันเป็นเรื่องเหนือธรรมชาตินั่นเอง

การที่เราจะสามารถต้านทานกิเลสด้วยกำลังของจิตนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรศึกษาและปฏิบัติให้มีผลยิ่งขึ้น แต่การจะรู้และมั่นใจว่ากิเลสจะไม่สามารถทำอะไรเราได้อีกต่อไป หรือที่เรียกกันว่าหลุดพ้นจากกิเลสนั้น คือสภาพที่สามารถปล่อยให้ผัสสะเข้ามากระทบได้โดยที่ไม่ต้องทำอะไรอีกเลย ไม่ต้องอดทน ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องกดข่ม แม้จะปล่อยให้สิ่งที่เคยติดเคยยึด เคยชอบเคยชังเข้ามากระทบอีกสักเท่าไหร่ก็ไม่มีผล แม้ไม่มีการป้องกันใดๆเลยก็ไม่มีผล แม้จะปล่อยให้เข้ามาปะทะโดยไม่เตรียมตัวเตรียมใจใดๆก็ไม่มีผล

นั่นเพราะไม่มีกิเลสซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เกิดผลในจิตใจอีกต่อไป เมื่อไม่มีกิเลส แม้จะมีผัสสะก็ไม่มีผลอะไร เหมือนกับกิ้งกือกระสุนที่แม้จะมีฝูงมดอยู่ตรงหน้าก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ต่างกับคนที่มีกิเลส เมื่อหลงเข้าไปในฝูงมดย่อมจะต้องป้องกัน หากไม่ป้องกันก็ต้องเจ็บปวด ทุกข์ทรมานจากความอยากทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะสิ่งกระตุ้นและยั่วยวนกิเลสเหล่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทุกข์เพราะสำคัญตนผิด

September 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,128 views 0

ทุกข์เพราะสำคัญตนผิด

ทุกข์เพราะสำคัญตนผิด

สาเหตุหนึ่งของความทุกข์นั้นเกิดจากกิเลส เกิดจากความโลภ โกรธ หลง แล้วมันโลภอยากได้อะไร มันไปโกรธอะไร มันไปหลงในอะไร ในตอนนี้เราจะมาไขปัญหากันในมุมของ ” อัตตา คือความเห็นว่าเป็นฉัน ฉันเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ มีคุณค่าอย่างนั้นอย่างนี้ ฯลฯ

เมื่อเรามีความหลงว่าเราเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ความหลงก็จะลวงให้เกิดความโลภ อยากได้ดีเกินความจริง เมื่อไม่ได้รับการสนองที่สมกับที่ตนเองหลง ก็จะเกิดความโกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ และเรามาลองดูจากตัวอย่างเหล่านี้กัน

 

ทุกข์ของคู่รักที่เลิกรากันไป เพราะเขานั้นเข้าใจว่าตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ควรถูกทิ้ง แต่พอถูกบอกเลิก ก็เหมือนถูกมองข้ามคุณค่าที่ตนเองเคยคิดไว้ เมื่อคุณค่าที่ตนเคยตั้งไว้สูงส่ง กลับถูกเมินเฉยและทิ้งไปโดยไม่ใยดีก็ย่อมจะเกิดความทุกข์

ทุกข์ของคนที่ไม่ได้สิ่งที่หวังจากคนรัก เพราะเขาใจว่าตนสมควรได้รับสิ่งนั้น มีคุณค่ามากพอที่จะได้รับสิ่งนั้น แต่เมื่อไม่ได้รับสิ่งที่หวัง ก็จะทุกข์เพราะรู้สึกว่าได้รับการตอบสนองน้อยกว่าที่หวังไว้

ทุกข์เพราะทำไม่ได้อย่างที่หวัง เพราะเข้าใจว่าตนเองทำได้ดีกว่านั้น มีความสามารถมากกว่านั้น เพราะหลงว่าตนเก่งมีความสามารถ พอมีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถทำอะไรให้ประสบความสำเร็จดังใจหวัง ก็จะรู้สึกทุกข์เพราะลึกๆในใจนั้น เข้าใจว่าตนเองมีความสามารถมากกว่าผลงานที่ทำออกมา

ทุกข์เพราะไม่เกิดดีดังใจ เพราะเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ผลดี เป็นการคาดหวังว่าจะเกิดสิ่งดีขึ้น แต่พอไม่เกิดสิ่งที่ดีก็อกหักอกพัง เพราะสำคัญผิดว่าจะต้องเกิดดีเสมอหากเราทำสิ่งที่ดี ซึ่งในความจริงนั้นการทำดีจะเกิดผลดีหรือไม่ดีก็ได้ ผลที่เกิดนั้นเป็นเรื่องอจินไตย จึงไม่ควรคิดหวังว่าจะเกิดผลดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่การทำดีนั้นจะสร้างกุศลกรรมใหม่อย่างแน่นอน

ความทุกข์นั้นเกิดจากความรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า ไม่ได้ดีดังใจหมาย ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่มีคนมองเห็นคุณค่า ยิ่งสำคัญตนผิดเท่าไหร่ก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้นและตน หรืออัตตานี่เอง คือตัวการที่สร้างทุกข์ ซึ่งถ้าเทียบเป็นสมการเพื่อให้เข้าใจง่ายก็จะเป็น (ความจริงที่เกิด + อัตตา = ปริมาณทุกข์)

ถ้าเราไม่มีอัตตา ไม่มีความสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีค่าเท่านั้นเท่านี้ เมื่อเวลาวิบากบาปมาถึง เราก็จะทุกข์เท่าที่กรรมเก่าของเราจะส่งผลเท่านั้น แต่ถ้าเรามีอัตตาไปร่วมด้วย เราจะทุกข์มากขึ้นตามปริมาณอัตตาที่เรามีนั่นเอง

*ลักษณะดังที่ยกตัวอย่างมานั้นเป็นความต้องการให้คนอื่นมาสนองอัตตาเรา พอเราไม่ได้สมใจก็เป็นทุกข์ เมื่อเราเป็นคนขาดพร่องที่ต้องคอยให้คนอื่นมาเติมเต็ม เราจะต้องเป็นทุกข์อยู่เรื่อยไป ดังนั้นการแก้ปัญหาในจุดแรกเราก็ควรจะทำตัวเองให้เป็นคนที่เต็มคนเสียก่อน ไม่ต้องพึ่งพาสิ่งภายนอก ให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ให้อัตตาเต็มอัตตาโดยไม่ต้องให้คนอื่นมาเติม หลังจากนั้นค่อยทำลายอัตตาทั้งก้อนอีกทีหนึ่ง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สิ่งใด สำคัญ ในรักนั้น

September 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,160 views 0

มันก็ชัดดีนะ ว่าคนเรานั้นให้ความสำคัญกับอะไร…

กรณีศึกษาจากกระทู้ : ใจร้ายไปไหมคะ กับการปฏิเสธที่จะแต่งงานกับแฟน เพราะตอนขอแต่งงาน แหวนสักวงก็ไม่มี ? (http://pantip.com/topic/34143058)

คนคบกันนี่ก็หนีไม่พ้นลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุขหรอก แม้จะได้กามคุณ(หน้าตาดีลีลาเด็ดทั้งหลาย) แค่ไหนแต่สุดท้ายถ้า “โลกธรรม” ไม่ผ่านนี่เขาก็ไม่ยอมพัฒนาความสัมพันธ์นะ

ลำบากจังนะ ความรักแบบกิเลสนิยมเนี่ย~ (กว่าจะมีความสุขต้องลำบากบำเรอกิเลสกันสารพัด เปลืองทั้งทุนทรัพย์ทั้งเวลา)