กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 10,611 views 2

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

กิเลสสอนว่า …หาคู่ดีไม่ได้ อยู่เป็นโสดดีกว่า มีคู่ดีนั้นเป็นสุขที่สุดในชีวิต

ธรรมะสอนว่า … ผู้รู้ย่อมประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง

– – – – – – – – – – – – – – –

กิเลสจะเอาแต่สร้างเงื่อนไขให้ไปเสพสุขโลกีย์ จะมีคู่ยังต้องมีให้มันสุขยิ่งกว่าสุขเดิม ต้องมีให้เสพมากขึ้น พาให้ต้องการอย่างไม่รู้จักพอ โดยมีภาพฝันแบบอุดมคติไว้ว่าถ้าได้เสพอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันจะต้องสุขแน่นอน ความเห็นของกิเลสหรืออธรรมมักจะเป็นไปในแนวทางนี้ คือต้องแสวงหาตามที่หลงติดหลงยึดมาเสพจึงจะเป็นสุข

ส่วนธรรมะจะสร้างข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส ไม่ให้กิเลสได้เสพสมใจ ชะลอ ต่อต้าน ผลักไส ทำลาย ไล่บดขยี้กำลังของกิเลสที่มี การประพฤติตนเป็นโสดคือการทำลายเหตุแห่งการไปมีคู่เรื่อยๆ จนหมดสิ้น ตั้งแต่ภายนอกจนไปถึงภายใน ภายนอกเราก็ไม่ไปยั่วกิเลสใคร ไม่แต่งตัวแต่งหน้า ไม่ทำให้ตนดูโดดเด่นล่อตาล่อใจใครไม่สื่อสารเรื่องที่จะพาให้รักใคร่ชอบพอกันในเชิงชู้สาว ภายในเราก็ล้างความใคร่อยากเสพสุขลวงจากการมีคู่ออกจากจิตใจเสีย กำจัดกิเลสออกจากจิตวิญญาณ โดยใช้ธรรมะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว

เรามีสิทธิ์เลือกที่จะฟังคำสอนจากทางใดก็ได้ ไม่ว่าจะฟังกิเลสก็ตาม จะฟังธรรมะก็ตาม แต่ความแตกต่างนั้นคือผลที่จะได้รับ กิเลสนั้นพาให้เกิดความทุกข์ ความชั่ว ความเบียดเบียน โทษภัยสารพัด ความฉิบหายวายวอดทั้งชีวิตและจิตใจ ส่วนธรรมะจะพาให้เกิดความสุข ความดี ความเกื้อกูล ความเจริญงอกงามทั้งชีวิตและจิตใจเช่นเดียวกัน เรามีอิสระที่จะเลือก และเลือกตามที่เราเห็นว่าเหมาะควร แต่สิ่งที่เราเลือก จะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เราจะได้รับเช่นกัน

กิเลสคือความหลงว่าสิ่งผิดเป็นสิ่งถูก หลงว่ารู้ทั้งๆที่ตนเองไม่รู้ ธรรมะคือความจริงที่จะสอนให้รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควรเพราะอะไรอย่างมีเหตุผล ผู้หลงมัวเมาย่อมจมอยู่กับการเสพสุขที่เต็มไปด้วยโทษภัยและการเบียดเบียน ส่วนผู้รู้ย่อมพาตนออกจากเหตุที่จะทำให้เป็นทุกข์เหล่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

29.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เหงา

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,770 views 1

เหงา

เหงา

ความรู้สึกเหงา อ้างว้าง ว้าเหว่ เป็นภัยเงียบที่คอยดึงดูดสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษเข้ามาให้กับชีวิตอยู่เสมอ เพราะเมื่อไหร่ที่รู้สึกขาด จึงเกิดความรู้สึกว่าจะต้องหามาเติม… และสิ่งเหล่านั้นมักจะเป็นสุขลวงที่เป็นส่วนเกินสำหรับชีวิตที่ผาสุกอย่างแท้จริงอยู่เสมอ

เมื่อคนรู้สึกเหงา พวกเขามักจะใช้วิธีแก้ไขปัญหาต่างกัน บ้างก็ระบายออกมาตรงๆ บ้างก็หาทางกลบเกลื่อนความเหงาด้วยการกิน เที่ยว เล่น ทำงาน ทำตัวให้ยุ่งวุ่นวายเข้าไว้ ซึ่งถ้าไม่หนักไปทางเสพกาม ก็หนักไปทางอัตตา คือยึดดี ว่าฉันไม่เหงา ฉันอยู่ได้ ทำใจให้มันลืมๆ ทำให้เหมือนชีวิตไม่เคยรู้จักคำว่าเหงา ทำเป็นว่าไม่มีความเหงา โดยที่ไม่มีเหตุ ไม่รู้ว่า “ความรู้สึกเหงา” นี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และดับมันไปได้อย่างไร ทำได้เพียงกดข่มความเหงาให้มันจมหายไปดื้อๆ

ความเหงาเป็นความทุกข์ชนิดหนึ่งที่ทำให้คนต้องแสวงหาหลายสิ่งหลายอย่างมาบำเรอตนเพื่อบำบัดความทุกข์จากความเหงา ซึ่งการบำบัดความเหงาให้จางคลายเป็นครั้งคราวนั้นก็ต้องใช้เหตุปัจจัยที่มีน้ำหนักแตกต่างกันไปตามปริมาณของความเหงา หรือความเข้มข้นของกิเลสนั่นเอง

ความซวยที่สุดอย่างหนึ่งของคนขี้เหงา คือเมื่อเหงาแล้วก็อยากหาคู่มาบำบัดความเหงา มีความเห็นความเข้าใจผิดๆว่า ถ้ามีคู่แล้วจะแก้ปัญหาความเหงาได้ และยิ่งถ้ามีลูกหลานจะยิ่งไม่เหงา ซึ่งมันถูกอยู่มุมหนึ่ง แต่มันเป็นเพียงการสร้างปัญหาใหม่เข้ามาโดยที่ปัญหาเก่าก็ไม่ได้แก้ เหมือนกับเอาปัญหาใหม่มากดทับปัญหาเก่าไว้ ให้ตนเองได้ทุกข์กับเรื่องใหม่จะได้ไม่ต้องทนทุกข์กับเรื่องเก่า มันก็หนีเสือปะจระเข้ดีๆ นี่เอง

คนขี้เหงาที่หาคู่มาบำบัดความเหงานั้น ต่างจากคนที่หาเพื่อนมาบำบัด ซึ่งเรามีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะหาคู่หรือหาเพื่อน คนที่เขากิเลสหนามากๆ เขาก็พิจารณาประโยชน์ของการมีคู่มาก จนน้ำหนักหรือคุณค่าในการมีอยู่ของเพื่อนตกไป เพราะเขาอยากจะเสพมากๆ การมีคู่คือการได้เสพมากๆ เธอเป็นของฉันคนเดียว เธอต้องบำเรอฉัน ต้องเป็นเพื่อนฉันตลอดไป ต่างจากคนที่หาเพื่อน ซึ่งจะได้เสพในปริมาณที่น้อยกว่า คือยุ่งกันได้ประมาณหนึ่ง ใกล้ชิดกันได้ประมาณหนึ่งเท่านั้นเอง

ซึ่งความทุกข์ที่จะเจอนั้นก็มากไปตามปริมาณของกิเลส อยากคลายเหงาจนถึงขั้นต้องหาคู่มาบำบัดความเหงาก็จะทุกข์มาก ส่วนคนที่พึ่งพาเพื่อนก็จะทุกข์ประมาณหนึ่ง แต่ทั้งสองทางก็ยังทุกข์อยู่ดี ไม่ว่าจะหาคู่หรือหาญาติมิตรสหายมาบำบัดความเหงา เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตนเอง ไม่ใช่การพึ่งตน จึงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

แท้จริงแล้วความเหงาเกิดจากความรู้สึกว่าตัวเองขาด จึงต้องหาคนอื่นมาเติม ทั้งๆที่ความจริงทุกคนก็เป็นคนเต็มคนอยู่แล้ว แต่กิเลสนั้นจะทำให้เราเข้าใจว่าเราขาด เราไม่พอ เรายังพร่อง ยังเราต้องการส่วนเติมเต็ม เรายังต้องตามหาอีกครึ่งหนึ่ง เรายังต้องตามหาคำตอบในชีวิตที่หายไป ฯลฯ

เป็นความรู้สึกต้องการให้ใครสักคนเข้ามาเติม เข้ามาเห็นคุณค่า เข้ามารัก มาดูแลเอาใจใส่ ว่ามีฉันอยู่ในโลกนี้นะ ฉันอยู่ตรงนี้นะ สนใจฉันหน่อย เข้าใจฉันหน่อย คุยกับฉันหน่อย ยอมรับฉันหน่อย เป็นเพื่อนกับฉันหน่อย อยู่กับฉันหน่อย อย่าทิ้งฉันไปนะ ฉันมีตัวตนอยู่ อย่ามองข้ามฉัน อย่าเมินฉัน อย่าลืมฉัน ฯลฯ

ลักษณะเหล่านี้คือลักษณะของอัตตา เมื่อลงรายละเอียดจะพบว่าเป็นอัตตาระดับหยาบคือ “โอฬาริกอัตตา” คือการยึด คน สัตว์ สิ่งของมาเป็นตัวเป็นตน คือต้องการคนอื่น ชีวิตอื่น สิ่งอื่นมาเพื่อเติมเต็มความเป็น “ฉัน” ถ้าไม่มีพวกเขาเหล่านั้น ฉันจะเป็นคนไม่เต็มคน เป็นคนไม่มีคุณค่า เกิดความทุกข์ ถึงจะไม่ได้คนมาเสพ เป็นคู่บ้าง เป็นเพื่อนบ้าง แต่ถ้ามีสัตว์เลี้ยงมาเสพก็ยังดี หรือไม่ก็ให้วัตถุสิ่งของให้ฉันเสพเพื่อบรรเทาความพร่องลวงๆ ที่กิเลสสร้างมานี้

เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่า “ความเหงา” หรือความทุกข์เพราะไม่มีสิ่งใดมาบำเรอตนนั้น เป็นความรู้สึกที่ปั้นแต่งขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอา(มโนมยอัตตา) เราสร้างมันขึ้นมาแล้วก็หลงว่ามันมีจริง มันเหงาจริงๆ มันทุกข์จริงๆ เพราะเราไปยึดว่าสิ่งลวงที่เราหลงสร้างมาเป็นสิ่งจริง

และรากแท้ๆ ของปัญหาอยู่ในระดับ อรูปอัตตา คือ ยึดความเห็นผิดว่าที่ตัวเรานั้นเหงาเพราะขาดสิ่งอื่นมาบำเรอ ชีวิตเราต้องมีคู่ ต้องมีเพื่อน ฉันอยู่คนเดียวไม่ได้ ด้วยสารพัดเหตุอย่างที่ยกมาข้างต้น คือ ฉันมีคุณค่า ฉันมีศักดิ์ศรี ฉันมีตัวตนในโลกใบนี้ ฯลฯ

การแก้ไขปัญหาทุกข์จากความเหงาของพุทธนั้นเป็นการแก้ไปถึงเหตุแห่งความเหงา สิ่งใดที่ทำให้เกิดความเหงา แล้วจะดับเหตุนั้นได้ขนาดไหน และจะปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปในหนทางของการดับเหตุแห่งทุกข์นั้น ไม่ใช่การกดข่มหรือปล่อยวางแบบไม่มีเหตุผล ไม่รู้ว่าความเหงาเกิดจากอะไร จะดับให้สนิทต้องทำอย่างไร ความเหงาถึงจะไม่กลับมาหลอกหลอนให้เป็นทุกข์อีกทั้งในชาตินี้และชาติอื่นๆ ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ชีวิตจะง่าย เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,472 views 0

ชีวิตจะง่าย เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์

ชีวิตที่ตั้งอยู่บนความเรียบง่าย คือชีวิตที่กินใช้อย่างประหยัด พอเพียง ไม่นำสิ่งของหรือส่วนเกินใดๆ ที่ไม่จำเป็น เข้ามาเปลืองพื้นที่ในชีวิต เช่นเดียวกันกับชีวิตที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มันช่างเรียบง่าย ประหยัด และยาวนาน

ผมได้ลองใช้ชีวิตอยู่บ้านต่างจังหวัด บ้านของผมอยู่ห่างจากบ้านอื่นๆ ราวสองร้อยเมตร ห่างจากชุมชนใกล้เคียงประมาณหนึ่งกิโลเมตร ที่บ้านยังไม่ได้นำไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้ามา มีเพียงไฟฟ้าที่ผลิตเองจากแผงโซล่าเซลล์ให้พอใช้สูบน้ำ,เปิดไฟ,ชาร์จโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์พกพาเท่านั้น ดังนั้นการจะหวังว่าจะได้ใช้ทีวี ตู้เย็น พัดลม ฯลฯ ในชีวิตประจำวันก็ลืมไปได้เลย

เมื่อผมได้มาทดลองอยู่อย่างประหยัด เรียบง่าย มีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อย จึงมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ในการหาสิ่งใดๆก็ตามมาปรนเปรอกิเลส

เนื้อสัตว์ก็เป็นวัตถุอีกชนิดที่มีอิทธิพลต่อจิตใจคนมาก ถึงขนาดว่าขาดกันไม่ได้ เป็นคุณค่า เป็นชีวิตจิตใจสำหรับใครหลายคนกันเลยทีเดียว แต่สำหรับผม เนื้อสัตว์ไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลยในชีวิต เป็นเพียงวัตถุแท่งก้อนอ่อนนุ่มที่หากกินเข้าไปแล้ว ย่อยยาก เป็นโทษ เป็นเหตุแห่งโรค สร้างกลิ่นตัว ราคาแพง เน่าเสียง่าย เก็บรักษายาก และอีกหลายๆ ข้อเสียของเนื้อสัตว์เมื่อเทียบกับพืชผัก แม้มันจะทำให้อิ่มท้องและสร้างพลังงานได้ก็ตาม แต่ผมก็ไม่จำเป็นต้องเลือกพลังงานจากแหล่งเหล่านั้น ในเมื่อมีสิ่งที่มีคุณค่าและประโยชน์มากกว่าขายกันอยู่ทั่วไป

หากว่าผมยังหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ผมจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพที่มีข้อจำกัดเช่นนี้ได้ เรื่องแรกคือการจัดเก็บเนื้อสัตว์ มันไม่สามารถวางไว้ในอุณหภูมิห้องได้ เพราะจะทำให้เน่าเสียและมีสัตว์อื่นมากินได้ง่าย ต่างกับผักที่ซื้อมาวางไว้เป็นอาทิตย์ยังคงสภาพเดิมได้ดีอยู่ เช่น ฟักทอง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี มะเขือยาว หอมใหญ่ มันต่างๆ ฯลฯ ถ้าต้องการเสพเนื้อสัตว์เป็นประจำ นั่นหมายถึงต้องมีตู้เย็นหรือสร้างที่เก็บกักความเย็นเพิ่มให้มันวุ่นวายมากกว่าการเก็บผัก นี่คือเริ่มจะฟุ้งเฟ้อสิ้นเปลืองแล้ว

เรื่องที่สองคือหากไม่ได้คำนึงถึงการจัดเก็บ เลือกที่จะออกไปซื้อเนื้อสัตว์ทุกวัน ก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายและการเสียพลังงานที่ไม่จำเป็นอยู่ดี เพราะเมื่อเทียบกับผัก ผมสามารถออกไปซื้อผักมาครั้งเดียวอยู่ได้เกือบครึ่งเดือน อย่างต่ำๆก็ หนึ่งสัปดาห์

เรื่องที่สามคือค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งมื้อนั้น เนื้อสัตว์ยังไงก็มีค่าใช้จ่ายมากกว่าผัก และเมื่อเทียบมวลต่อน้ำหนัก หนึ่งกิโลกรัมของเนื้อสัตว์นั้นจะได้น้อยกว่ามวลของผัก คือซื้อผักหนึ่งกิโลกรัมจะดูได้เยอะกว่า ซึ่งเมื่อพิจารณาต่อไปอีกว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์หนึ่งกิโลกรัมต้องใช้อาหารสัตว์มากมายเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่างจากผัก คือผักหนึ่งกิโลกรัม ก็มีอย่างมากแค่ปุ๋ยกับน้ำเท่านั้น เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ น้ำก็ต้องกิน พืชผักสัตว์ก็ต้องกิน อาหารเสริมสัตว์ก็ต้องกิน ไหนจะกระบวนการฆ่า ชำแหละอีก มีขั้นตอนยุ่งยากกันมากเลยทีเดียว ผักนี่เก็บมาเอารากล้างน้ำสลัดดินออกเขาก็เอามาขายกันแล้ว

เรื่องที่สี่คือเนื้อสัตว์ ผลิตเองไม่ได้ ถึงจะเลี้ยงเองแต่ชาวพุทธเขาก็จะไม่ฆ่าสัตว์กัน ไม่จ้างวานผู้อื่นฆ่าด้วย และไม่แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นหากรับรู้ว่าผู้อื่นฆ่ามาด้วย ดังนั้นแม้จะเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เนื้อสัตว์เป็นผลผลิตทันทีเมื่อใจอยากเสพ คงจะต้องรอให้ฟ้าผ่ามันตาย หรือมันเดินไปโดนรถชนตายเอง หรืออะไรที่ทำให้มันตายของมันเองเท่านั้นถึงจะกินมันได้ , ต่างจากผักที่สามารถปลูกเองได้ โตเมื่อไหร่ก็กินได้ คิดอะไรไม่ออกก็ปลูกผักบุ้ง ปลูกง่ายโตไว และหากมีเวลาก็ปลูกธัญพืช และปลูกข้าวไว้กินเองได้ ผักหลายชนิดยิ่งตัดก็ยิ่งงอกออกมา บ้างก็ปักชำใหม่ได้ บางชนิดเก็บเกี่ยวแล้วก็หว่านใหม่ ได้ผลผลิตไม่จบไม่สิ้น

ถ้าชาวพุทธอยากกินเนื้อสัตว์ก็คงต้องเลี้ยงกันหลายร้อยตัว จะได้มีสัตว์ตายไปตามกรรมบ้างบางเวลา จะได้รอเสพโดยไม่ต้องให้ใครฆ่าเขามากิน แต่พอนึกถึงภาพนั้นก็ดูลำบากยุ่งยากขึ้นมาทันที

เมื่อผมพิจารณาด้วยเหตุปัจจัยดังนี้แล้ว การที่เรายังต้องการเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นจะสร้างความลำบากยุ่งยากให้กับชีวิตอย่างมาก ต้องมีสิ่งต่างๆมาเพิ่มเติมมากกว่าชีวิตที่กินผักเป็นหลัก อย่างน้อยๆ ตอนนี้ก็อยู่ได้สบายโดยไม่ต้องลากสายไฟเข้ามาให้เสียเงินเสียทองผมจึงยังไม่เห็นเลยว่าอะไรที่จะทำให้ชีวิตมันง่ายไปมากกว่าการที่เราไม่ต้องหาเนื้อสัตว์มากินอีก

หรือถ้าผู้ใดจะเห็นต่างก็สามารถเห็นเช่นนั้นได้ เพียงแต่ควรจะต้องอยู่บนเหตุปัจจัยเดียวกัน คือมีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อย ถึงจะมีเงินก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปจ่ายเพื่อให้ตนเองได้เสพสมใจ แบบนั้นมันไม่ขัดเกลา การอยู่อย่างขัดเกลาคือมีสิ่งอำนวยความสะดวกพอประมาณ ให้มีแค่พอกินพอใช้ ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ ให้เกิดความเจริญทางจิตวิญญาณ ให้พอเกิดประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แยกดี แยกชั่ว

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,237 views 0

แยกดี แยกชั่ว

แยกดี แยกชั่ว

การที่เราจะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ไม่ง่ายนักที่เราจะรู้ได้ว่าสิ่งนั้นดีหรือชั่ว หากคิดเอาเอง คาดคะเนเอาเองอาจจะไม่แน่ โชคดีที่เราเกิดในยุคสมัยที่ศาสนาพุทธยังคงอยู่ เราจึงไม่จำเป็นต้องทดลองทำดีหรือชั่วนั้นเองทั้งหมด เพราะเราสามารถเรียนรู้จากพระพุทธเจ้า สงฆ์สาวก และคนผู้ที่ปฏิบัติดีต่างๆได้เช่นกัน

พื้นฐานแรกสุดที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมควรจะเรียนรู้ก็คือการแยกดีแยกชั่ว สิ่งที่ดีมีประโยชน์ก็ทำให้มาก เข้าถึงให้มาก สิ่งที่ไม่ดี ไม่มีประโยชน์ก็อย่าไปมัวเสพ อย่าไปหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เป็นพื้นฐานสำคัญที่ควรมีติดตัวไว้ แยกแยะว่าสิ่งใดควรเชื่อ สิ่งใดไม่ควรเชื่อ (กาลามสูตร)

หากจะเปรียบเทียบกับการปลูกพืชในแปลงหนึ่ง เราก็ควรจะรู้ว่า พืชชนิดใดที่เราจะใช้ประโยชน์ และพืชชนิดใดที่ถ้าปล่อยให้โตจะเป็นภัยต่อพืชที่เราต้องการ เช่นเราเพาะเมล็ดผักบุ้ง แต่พอถึงเวลามีทั้งผักบุ้งและวัชพืชที่งอกออกมาจากพื้นดินที่เราให้การดูแล ตอนเป็นต้นเล็กๆ ก็คงจะแยกได้ยากสำหรับมือใหม่ แต่ถ้าโตไปหรือมีความรู้ก็จะแยกได้ไม่ยากนัก

แยกพืชที่จะใช้ประโยชน์กับพืชที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้นแยกง่าย แต่แยกดีแยกชั่วนั้นไม่ง่าย ตอนที่กระทำตอนแรกๆ ก็ยากจะรู้ผล เพราะกรรมอาจจะไม่ส่งผลทันที ต้องรอดูไป เรียนรู้ไปหลายภพหลายชาติกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นดีหรือชั่ว ให้ผลเป็นสุขหรือเป็นทุกข์

ความรู้ที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศมานั้นจะสามารถลดการสูญเสียเวลาจากการลองผิดลองถูกหลายชาติของเราได้ เช่นท่านตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” เราก็พิจารณาตามว่าควรเชื่อไหม เราเห็นว่าสิ่งนั้นจริงอย่างไร เราจะลองลดการเบียดเบียนแล้วดูผลว่าดีจริงอย่างที่ท่านตรัสไว้หรือไม่ หรือจะเลือกเมินเฉย ยินดีเบียดเบียนต่อไปเพราะเชื่อว่ากรรมที่เบียดเบียนนั้นไม่มีผล

ศาสนาพุทธให้อิสระกับทุกคนในการเรียนรู้กรรม เชื่อสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น แต่ความจริงจะบอกผลเองว่าผิดหรือถูก ใครจะลองตามพระพุทธเจ้าก็ได้ จะลองในแบบที่ตัวเองเชื่อก็ได้ ก็พิสูจน์สัจจะกันไปตามที่เห็นสมควร

แต่กระนั้นก็การแยกดีแยกชั่วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะได้ศึกษาศาสนาพุทธมา ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถเข้าใจและแยกแยะกรรมดีกรรมชั่ว เข้าใจคุณประโยชน์ของกรรมดีและโทษภัยของกรรมชั่วได้ทั้งหมด ทั้งๆที่เรื่องดีเรื่องชั่วนี่แหละ เป็นหลักการพื้นฐานของศาสนาเลย คือชั่วอย่าไปทำ ให้ทำแต่สิ่งดี และที่สุดของศาสนาพุทธคือการทำจิตใจให้ผ่องใสจากเหตุแห่งความชั่วนั้น (โอวาทปาติโมกข์)

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน, แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น.” ยากนักที่จะรู้โทษของกรรมชั่ว คนโง่มักเข้าใจว่าชั่วที่ทำนั้นเป็นสิ่งดี เพราะได้เสพโลกียสุข สุดท้ายเมื่อได้รับอกุศลวิบากกรรมนั้น ก็ต้องทุกข์ทรมาน ซึ่งเกิดจากไม่รู้ดีรู้ชั่ว จึงไม่หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลสนั่นเอง

การปฏิบัติธรรมนั้นจึงควรเริ่มต้นจากการแยกดีแยกชั่ว แยกกุศลแยกอกุศล พยายามเข้าถึงสิ่งที่เป็นกุศล หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอกุศล จึงจะเป็นทิศทางที่จะนำพาความเจริญอื่นๆมาสู่ชีวิตได้

– – – – – – – – – – – – – – –

19.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)