ถามไถ่เกี่ยวกับบทความเกี่ยวกับความรักก่อนวันวาเลนไทน์
เป็นอย่างไรกันบ้าง กับสองบทความล่าสุด “แน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือความรัก” กับ “รักจริงที่หลอกลวง”
สองบทความนี้เรียบเรียงขึ้นมาเพื่อให้ “รู้เรา” , “รู้เขา” ถ้ารู้จริงแล้วล่ะก็ จะรบกับกิเลสอีกกี่ครั้งยังไงก็ชนะ แต่ถ้ารู้ไม่จริงนี่แพ้ท่าเดียว แถมแพ้แล้วยังไม่รู้ตัวว่าแพ้อีกด้วย
จริงๆแค่รู้เราอย่างเดียวก็พอแล้ว รู้ให้ชัดจริงๆเถอะ ส่วนรู้เขานี่ให้เรียนรู้ไว้บ้าง เป็นการรู้โลกมีประโยชน์เหมือนกัน
มีความเห็นส่งเข้ามาบ้าง ทำให้ผมพอจะเห็นภาพของผู้รับสารมากขึ้น ก็ขอบคุณสำหรับทุกความเห็นครับ
ในปีนี้ผมตั้งใจลงดาบ ฟันกันลงไปตรงๆ ชัดๆ ชำแหละ “ความรัก” ให้เห็นกันไปเลยว่านี่กิเลสนะ มันปนอยู่ อย่าไปเลี้ยงมันไว้
อ่านทวนเองแล้วก็รู้สึกว่ามันโหดเหลือเกิน คนที่เขาอยากมีคู่มากๆ มันจะอ่านไม่ไหวนะ มันจะบีบใจมาก ยิ่งคนมี”หิริ”นี่จะรู้สึกละอายมาก
คนที่มีความเห็นไปในทิศทางที่ถูก จะยอมรับในกิเลสตน ยอมรับว่ายังมีความอยากได้อยากเสพ จะรู้สึกละอาย แม้จะยังละความอยากนั้นไม่ได้ก็ตามที
แต่คนที่เห็นผิดจะไม่ละอาย สามารถกลับผิดให้เป็นถูกได้ มองการมีกิเลสเป็นเรื่องปกติ ที่ทำได้โดยไม่ผิดบาปอะไร
สองบทความนี้คงจะเป็นการชำแหละความรักมากที่สุดแล้ว ส่วนบทความต่อไปจะเป็นการขยายสภาพที่สุดแห่งความรัก และสภาพของการคลายจากความยึดมั่นถือมั่น
ใครมีความเห็นอะไร จะสรุปความเข้าใจหรือสงสัยในสิ่งที่ผมสื่อสารก็ถามเพิ่มเติมได้ครับ
รักจริงที่หลอกลวง เมื่อเขาไม่ได้รักเธอจริง และเธอเป็นเพียงสิ่งสนองตัณหาของเขา
รักจริงที่หลอกลวง เมื่อเขาไม่ได้รักเธอจริง และเธอเป็นเพียงสิ่งสนองตัณหาของเขา
จริงหรือที่ว่าเขารักเรา? จริงหรือที่ว่าเราคือคนที่เขาหมายจะร่วมชีวิตด้วย? จริงหรือที่เขาจะมั่นคงและดีกับเราตลอดไป? ถ้าความรักที่เขาอ้างว่าจริงแท้ตามที่ได้แสดงออกมาทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องหลอกลวงตั้งแต่ต้นล่ะ จะเป็นอย่างไร?
เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราเป็นสิ่ง “จำเป็น” สำหรับชีวิตของเขา หรือเป็นเพียงแค่สิ่งสนองตัณหา ที่จะมาบำเรอความอยากของเขา แน่ใจแล้วหรือว่าต้องเป็นเราเท่านั้น หรือว่าจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถบำบัดความใคร่อยากของเขาได้ เพียงแค่เราบังเอิญอยู่ในความคิดของเขาตอนนั้นเท่านั้น ซึ่งจริงๆ อาจจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรา ถึงจะไม่มีเรา เขาก็ไปหาคู่ของเขาอยู่ดี
เขาอาจจะมีอุบายหลายอย่างที่ล่อลวงให้เราหลงว่าเราคือสิ่ง “จำเป็น” สำหรับชีวิตของเขา ตั้งแต่การพรรณนาพร่ำเพ้อถึงความดีงามของเรา พูดคำหวานซึ่งว่าเขารักเราและเราจำเป็นกับชีวิตเขามากแค่ไหน หรือเราเป็นคนที่เขาเฝ้ารอมานานแสนนานเพียงใดก็ตาม
คนเราเมื่ออยากได้อยากเสพสิ่งใดแล้ว ก็มักจะใช้ความพยายามในการแสวงหาสิ่งนั้นมาเสพมาครอบครองตามที่ใจตนเองอยาก บางคนอาจจะรอได้ไม่นาน บางคนอาจจะรอได้เป็นสิบยี่สิบปีหรือทั้งชีวิต แต่นั่นไม่ได้แสดงถึง “ความจำเป็น” ของเราที่มีต่อเขาแต่อย่างใด มันเป็นเพียงแค่สภาพของความยึดมั่นถือมั่น(อุปาทาน) ของเขา ที่ใคร่อยากจะเสพคนแบบเรา หน้าตาแบบเรา รูปร่างแบบเรา เสียงแบบเรา นิสัยแบบเรา ฯลฯ
ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า “สเปค” หรือคนในฝัน จึงไม่มีจริงในความจริง แต่มีจริงในความลวง คือโดนกิเลสลวง ว่าฉันชอบแบบนั้นแบบนี้ ขาว สวย หมวย ฯลฯ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่ที่ตนมีอุปาทาน หลงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งน่าได้น่ามี เพราะเอาเข้าจริงๆ ถึงจะตั้งสเปคไว้ แต่ถ้ามีดีกว่าที่ตั้งไว้ ก็อาจจะเปลี่ยนไปหาคนใหม่ได้เหมือนกัน อย่างที่คนมากมายนอกใจคู่ของตน
สรุปคือสเปคนั้นคือตัวบอกอุปาทานของคน ว่าหลงติดหลงยึดในสิ่งใดเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าได้เสพสิ่งที่หลงติดหลงยึดแล้วจะพอใจเช่นนั้นตลอดไป เพราะกิเลสของคนนั้นโตได้ เมื่อได้เสพสิ่งหนึ่งจนชินชาก็มักจะไปหาสิ่งที่มากกว่ามาเสพ ต้องสวยกว่าเดิม ต้องเด็ดกว่าเดิม ฯลฯ มีความอยากมากขึ้นไปตามความหลงว่าสิ่งใดเป็นสุข คล้ายกันกับอาการที่เราไม่หยุดแสวงหาของอร่อยใหม่ๆ มากิน
ถ้าการที่เขาเข้ามาในชีวิตของเราเพราะอยากเสพ หน้าตา รูปร่าง เสียง นิสัย ฐานะ ชื่อเสียง สิ่งเหล่านั้นยังเป็นสิ่งที่พอเห็นและสังเกตได้ง่าย แต่ยังมีภาวะของกิเลสเชิงซ้อนคือไม่ได้อยากเสพอะไรในตัวเรา แต่ต้องการมีตัวเราเพื่อเสพภาพลักษณ์ดีๆ ในชีวิตของเขา เช่น อยากเล่นบทพระเอกนางเอก อยากแสดงตนเป็นคู่ครองที่ดี อยากเล่นบทพ่อแม่ลูก อยากเป็นคนที่มีคุณค่า สามารถดูแลคู่ครองได้ บำเรอความสุขให้คู่ของตนได้ นี่กิเลสมันซ้อนมาแบบนี้เลย คือภาพลักษณ์จะเป็นคนดีมาก ไม่สวยก็ไม่ว่า หุ่นไม่ดีก็ไม่เป็นไร ไม่มีอะไรก็ไม่เป็นไร ขอให้ฉันได้เป็น “คนดี” ที่ดูแลเธอได้ นี่มันเสพความดีของตัวเองอยู่(อัตตา) โดยใช้คู่ครองมาเป็นตัวบำบัดความอยากนั้นๆ
และในความซ้อนนี้ก็เหมือนกันกับกรณีทั่วๆไป คือจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสวยเลิศเลอ หรือดีมากเป็นพิเศษ ขอแค่ใครสักคนให้ฉันได้แสดงความสามารถในการเป็นคู่ครองที่ดีก็พอ ดังนั้นคู่ครองคนนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรา จะเป็นใครก็ได้ที่ให้เขาได้แสดงบทพระเอกนางเอก ถึงเขาจะไม่เจอเรา เขาก็ไปจับคู่กับคนอื่นเสพดราม่าในชีวิตอยู่ดี
แม้เขาจะแสดงออกว่าเรานั้น “จำเป็น” ต่อชีวิตเขาเพียงใดก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะจำเป็นกับเขาจริงๆ อาจจะเป็นใครก็ได้ที่มายืนแทนที่เรา ถึงจะไม่มีเราอยู่ในโลกนี้ เขาก็จะไปหาคนมาบำเรอกาม บำเรออัตตาของเขาอยู่ดี เรานั้นเป็นเพียงแค่เหยื่อของกิเลสที่หลงไปตามวาทะของคนผู้มัวเมาด้วยตัณหาและอุปาทาน และหลงว่าสิ่งที่เขาพูดออกมาเป็นของจริง
แค่เขาหลงมัวเมาในตัวเองก็โง่งมงายพออยู่แล้ว นี่เราดันหลงไปเชื่อคำของคนที่มัวเมาในกิเลสอีก มันก็โง่มากไปกว่าเขาอีก สุดท้ายก็ชวนกันเมาตัณหาอุปาทาน หลงว่าเป็นของจริง หลงว่าเป็นสุข กลายเป็นสิ่งสนองตัณหาของกันและกัน สร้างเวรสร้างกรรมผูกกันด้วยความหลงว่าสิ่งเหล่านั้นน่าใคร่น่าเสพ มันก็ชวนกันโง่เท่านั้นเอง
ที่หนักกว่าก็คือรู้ทั้งรู้นะว่าเขาไม่ได้รักเราจริงหรอก เขาไม่ได้ซื่อสัตย์มั่นคงขนาดนั้น แต่ก็ไปตกลงปลงใจกับเขา เพราะอยากได้อยากเสพในสิ่งที่เขามีเขาเป็น นี่กิเลสมันร้ายแบบนี้ มันชิงกันเป็นเหยื่อเป็นผู้ล่าสลับกันไปมา เธอมาเสพตัวฉันก็ได้ เพราะฉันก็จะเสพในสิ่งที่เธอมีเหมือนกัน สรุปก็กอดคอลากกันไปนรกด้วยความสวยงามแบบ happy ending ตามที่โลกเข้าใจ (คบหา/แต่งงาน)
จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วความรักที่หวังจะครอบครอง ได้ใกล้ชิด ได้เสพสมสู่อะไรกันก็ตาม สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ความรักหรอก เป็นแค่ความหลงที่ฉาบทาด้วยนิยามสวยๆ โดยให้ชื่อว่า “ความรัก” เพื่อให้ตนได้เสพอย่างตะกละมูมมามโดยไม่ต้องรู้สึกผิด และไม่มีใครกล่าวหาว่าผิดจารีตในสังคม
ให้ “ความรัก” เป็นเพียงฉากบังตาที่เอาไว้บังความจริง จากความหลงที่ลวงกันจนมัวเมา ปิดบังกิเลสที่สกปรกโสมมในจิตใจไว้ในนามของความรักเท่านั้นเอง
…เขาอาจจะบอกว่ารักเราจริง แม้เขาจะรู้สึกเช่นนั้นจริง แต่ความรักนั้น…ไม่ใช่ความจริง
– – – – – – – – – – – – – – –
9.2.2559
แน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือความรัก
แน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือความรัก : อย่าเพิ่งบอกว่ารัก ช้าไว้ก่อน ยั้งไว้ก่อน รอไปก่อน ให้โอกาสกันเรียนรู้จักรักให้ดีเสียก่อน
ก่อนที่ความสัมพันธ์จะผูกมัดกันมากขึ้นด้วยสัญญาใดๆ ก็ตาม และก่อนที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป แน่ใจแล้วหรือว่านั่นเป็นคุณค่าที่เราต้องการอย่างแท้จริง ทิศทางที่จะเปลี่ยนไปนั้นคือนรกหรือสวรรค์ลวงกันแน่ เรามาเรียนรู้จัก “ความรัก” กันให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะสายเกินไป จนยากจะแก้ไข
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเป็นความรักนั้น มันเป็นความรักจริงๆ มันเป็นความบริสุทธิ์จริงๆ ไม่ใช่ความหลง ไม่ใช่มารยาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองอยากได้อยากเสพ ไม่ใช่ความรู้สึกที่ปนเปื้อนด้วยขยะคือกิเลส
มีหลายเหตุผลที่ทำให้คน “หลง” ไปว่านั่นคือ “ความรัก” เช่น ความใกล้ชิดกันที่มากเกินไป ความเหงาที่อยากหาใครสักคนเข้ามาคลายเหงา ความใคร่ที่อยากหาใครมาบำเรอ ความอยากมีคุณค่าที่จะหาใครสักคนมาสะท้อนคุณค่าของตน ความขี้เกียจที่อยากจะเกาะใครสักคนไปชั่วชีวิต และอีกหลายสาเหตุจนกระทั่งถึงความหลงที่เข้าใจว่าเราจำเป็นต้องมีคู่ก็ตาม
แล้ววันหนึ่งบังเอิญมีใครคนหนึ่งเข้ามาในชีวิต ซึ่งเขาจะเป็นใครก็ไม่รู้ แต่ตรงตามสเปค(ตรงตามกิเลส) ของเราพอดิบพอดี เราก็เลยหลงเข้าใจว่าคนนั้นใช่แน่ๆ นี่คือความรักแน่ๆ ทั้งที่จริงแล้ว อาจจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถมาแทนที่คนคนนี้ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันหรือมากกว่า ถ้ายังมีความรู้สึกแบบนี้ มันไม่ใช่ความรักอย่างแน่นอน
และการปักมั่นว่าต้องเป็นคนนี้ “ต้องคนนี้เท่านั้นที่ฉันจะรักไปจนตาย แม้ความตายก็ยังพรากความรักของฉันไปจากเธอไม่ได้” แบบนี้ก็ไม่ใช่ความรักเช่นกัน แต่เรียกว่า “ความยึดมั่นถือมั่น” หรืออุปาทาน เป็นลักษณะหนึ่งของกิเลส ที่หลงติดหลงยึดในการเสพสิ่งนั้นๆ อย่างไม่ยอมปล่อยวาง ซึ่งกิเลสไม่ใช่เรื่องดีที่พาเจริญอย่างแน่นอน ดังนั้นการปักมั่นก็ไม่ใช่ความรักอีกเช่นกัน
แล้วอย่างไหนจึงจะเรียกว่าความรัก? ใครก็ได้ก็ไม่ใช่ความรัก… ใครก็ไม่ได้ต้องคนนี้เท่านั้นก็ไม่ใช่ความรัก…เรามาเรียนรู้ระหว่างทางก่อนจะไปเรียนรู้ “ความรักที่แท้จริง” กัน
เราสามารถทดสอบสิ่งที่เราเข้าใจว่ามันเป็น “ความรัก” ได้ด้วยการ ”รอและให้โอกาส” …ถ้าเป็น ความใคร่อยากเสพ มันจะไม่รอ มันจะเพิ่มความสัมพันธ์ท่าเดียว มันต้องได้เสพมากขึ้น ต้องสุขมากขึ้น ความกระสันอยากให้ความสัมพันธ์พัฒนาไปมากขึ้นนั่นแหละคือ “ความอยาก (ตัณหา)” แม้จะมีสารพัดข้ออ้างให้ความสัมพันธ์คืบหน้าที่น่าฟังและน่าเชื่อถือปานใดก็ตาม แต่ถ้ารอไม่ได้ ไม่ยอมรอ เอาสารพัดสวรรค์ลวงมาหลอก มันก็รีบไปนรกเท่านั้นแหละ
การให้โอกาสคืออะไร คือให้โอกาสทั้งตัวเราและเขาได้เรียนรู้ผู้อื่น การให้โอกาสเป็นอีกสิ่งที่จะทดสอบ “ความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน)” ความรักที่แท้จริงต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้วจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” เราไม่ควรมีความทุกข์ใดๆ เพื่อจะมีความรักเลย ถ้าความรักนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ความรัก มันคือการเบียดเบียน,ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นจะไม่ยอมให้โอกาส ไม่ยอมพรากจากสิ่งที่ตนปักมั่น หากสิ่งที่ตนยึดมั่นนั้นพรากออกไปเอง ก็จะพยายามดึงกลับมา ไม่เป็นอิสระ ต้องผูกมัดกันอยู่เช่นนั้น แต่การให้โอกาสนี้ควรอยู่ในกรอบของการไม่ละเมิดศีลเท่านั้น
ผ่านเรื่องตัณหาและอุปาทานหรือความอยากและความยึดโดยย่อมาแล้ว ทีนี้เราก็จะมาทำความรู้จักความรักที่แท้จริงกัน…
“ความรักที่แท้จริง นั้นคือรักที่ไม่มีความเบียดเบียนใดๆ เลย เป็นรักที่มีแต่การเกื้อกูล หวังประโยชน์แก่กันและกันโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ”
ขยายเพิ่มกันไปอีกคือรักที่ปราศจากตัณหาและอุปาทาน เป็นอิสระจากกิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ที่มักจะเกิดในความรักลวงๆ ที่เราเรียกกันว่า “ความหลง”
เมื่อเราได้ศึกษาเรียนรู้ “ความรัก” เพื่อแยกแยะ “ความหลง” ออกไปได้แล้ว เมื่อเรามั่นใจ แน่ใจว่าความรู้สึกที่เรามีนั้นคือรักที่สะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เราก็ค่อยมอบสิ่งที่มีคุณค่าแท้เหล่านั้นให้คนที่เรารักก็ยังไม่สาย เป็นเพชรเม็ดงามที่เรา พยายามเจียระไนให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ที่สุด เหมือนคนที่พยายามขัดเกลาจิตใจตนเองเพื่อที่จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้คนที่เขานั้นรักและห่วงใย
มาถึงตรงนี้ยังมีใครยินดีที่จะรอและให้โอกาสอีกบ้าง… ตัณหาจะไม่รอ อุปาทานจะไม่ยอมพราก และมันจะไม่ยอมสยบต่อธรรมะ ไม่ยอมรับว่ามันคือศัตรูตัวร้าย ไม่ยอมรับว่ามันคือสิ่งสกปรกและความเลวทรามในจิตใจของเราหรอก มันพร้อมที่จะออกมาปฏิวัติเสมอ มันจะเสนอหน้าออกมาโกหกและบิดเบือนความจริงว่ามันต่างหากคือสิ่งดีงาม
ผู้ที่ศรัทธาในความรักที่แท้จริง จะต้องผ่านสงครามเพื่อปราบมารกิเลส เพื่อที่จะนำสันติสุขมาสู่คนที่ตนรัก ไม่ใช่ไปพากองทัพกิเลสมาถล่มคนที่ตนรัก
…มาจนถึงวันนี้ เรารู้จักความรักของเราดีจริงหรือยัง?
– – – – – – – – – – – – – – –
8.2.2559
ค่าสนองตัณหา : ความเสื่อมในความมั่งคั่งและความเจริญในความจน
ค่าสนองตัณหา : ความเสื่อมในความมั่งคั่งและความเจริญในความจน
เราเคยนึกกันหรือไม่ว่า ความอยากแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นของเรานั้น ต้องถูกสนองไปด้วยทรัพยากรเท่าไหร่ ผลาญเงินกันไปกี่บาท กี่ครั้งกี่หนแล้วที่เราต้องจ่ายเงินให้กับการบำบัดความทุกข์ที่เรียกว่าความอยาก(ตัณหา)
หากเรามีเงินมากมายมหาศาล เรื่องราวต่อไปนี้คงจะไม่ใช่เรื่องน่าสนใจเลย แต่ในความจริงนั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะร่ำรวยเงินทอง และเหล่าคนผู้ที่แสวงหาความเจริญทางจิตใจ ย่อมละทิ้งหนทางที่จะเจริญไปในทางโลก คือไม่ยินดีในความร่ำรวยเงินทอง เพราะรู้ดีว่า การมีเงินมากคือภาระ และร้ายยิ่งกว่านั้นคือเราจะไม่สามารถรับรู้ถึงโทษภัยของความอยากได้ง่ายนัก เพราะมีทรัพยากรที่นำมาใช้สนองความอยากเหล่านั้นให้สงบลงไปนั่นเอง
สาวกของพระพุทธเจ้าจึงมีการปฏิบัติที่ห่างไกลจากเงินโดยลำดับ ถ้าคนทั่วไปมุ่งหน้าแสวงหาเงินทอง ผู้มาศึกษาใหม่ก็อาจจะลดความโลภได้บ้าง แต่ก็ยังหวงเงินอยู่มาก พัฒนาขึ้นมาก็มีเงินเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ เก่งขึ้นมาอีกก็อยู่ได้โดยไม่ใช้เงินเลย และถ้าเป็นนักบวชนี่ต้องจริงจังถึงขั้นฝึกปฏิบัติด้วยการไม่พึ่งพาเงินเลย ให้พึ่งพาธรรมะนำพาชีวิตตัวเองไปแทน ตั้งแต่เริ่มต้นบวชกันเลยทีเดียว ถือว่าเป็นผู้เอาจริงเอาจังที่จะสละทางโลก
เมื่อเรามีเงินน้อย หรือไม่มีเงินเลย การจะได้บางสิ่งบางอย่างมานั้น จะต้องประหยัดรัดกุมมากขึ้น สมมติว่าเรามีเงินหนึ่งล้านบาท การจะ ”ซื้อขนม” ยี่สิบบาทมากิน ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่จะต้องคิดให้เปลืองสมอง ขนาดเงินตกร้อยหนึ่งก็คงจะยังรู้สึกเฉยๆ ปล่อยวางได้ง่ายๆ
แต่ถ้าทั้งตัวเรามีเงินเหลืออยู่หนึ่งร้อย การจะไป “ซื้อขนม” ยี่สิบบาทกินนั้น ก็ต้องใช้การคิดทบทวนมากขึ้น และสำหรับผู้ที่ไม่มีเงินเป็นของตัวเอง การจะได้มาซึ่งขนมยี่สิบบาทนั้น ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้มาเองโดยธรรม ก็ต้องใช้ความฉลาดของกิเลสตะล่อมเอามาแทนก็จะเป็นการปะทะกันระหว่างธรรมะกับอธรรม คือจะอดทนอดกลั้นต่อความอยากได้ไหม หรือจะอยากจนใช้กลอุบายเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้อยากเสพโดยที่ดูเผินๆแล้วไม่ผิดอะไร
ขนมอย่างเดียวกันแต่การที่เรามีทรัพยากรต่างกันนั้น ทำให้เกิดความแตกต่าง ถ้าเรามีทรัพยากรไม่จำกัด เราก็ไม่ต้องใช้สมองไปสนใจเลยว่าสิ่งใดจำเป็นหรือไม่จำเป็น เราชอบสิ่งไหนเราก็หามาเสพได้ทั้งหมด แต่การมีทรัพยากรน้อยนั้น ต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองให้ดีว่า มันสำคัญจริงไหม ความอยากกินขนมของเรานั้นคุ้มค่ากับเงินที่เราจ่ายไปจริงหรือ? มันเป็นประโยชน์ขนาดที่เราต้องยอมจ่ายไปจริงหรือ?มันเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์จริงหรือ? หรือยิ่งเสพก็ยิ่งอยาก ยิ่งอยากก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งทุกข์ก็ยิ่งต้องหาทางให้ได้เสพ สุดท้ายก็แสวงหาปัจจัยเพื่อให้ตนเองได้เสพสมใจอยาก วนเวียนอยู่เช่นนี้
ดังนั้น “คนรวย” จึงไม่มีเหตุปัจจัยที่ ”เอื้อ” ต่อความเจริญทางจิตใจที่เรียกว่า “ความจน” พระพุทธเจ้าท่านพาสาวกมาจน ให้มีปัจจัยสี่ที่น้อย เพราะจะเป็นการขัดเกลา ให้ใจพอ ให้พอเพียง ให้เกิดปัญญารู้ว่าแค่มีเพียงเท่านี้ก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข หากดำรงตนอยู่ในธรรมไม่ใช่ความจนที่เกิดเพราะไม่ขยัน ไม่มีปัญญาหาเลี้ยงชีพ หรือจนเพราะติดเหล้าติดพนัน แต่เป็นความจนที่ตั้งใจให้เกิดเพื่อการขัดเกลาความอยาก
แน่นอนว่าการมีน้อยใช้น้อยนี้ไม่สามารถทำได้สำหรับทุกคน แต่จะต้องเป็นผู้ที่มีศรัทธาตั้งมั่น ตั้งใจขัดเกลาปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากความโลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก ยากตั้งแต่จะรู้จัก ยากแม้แต่จะทำความเข้าใจ ยากที่จะเข้าถึง ยากที่จะรู้จริง
ดังนั้นเมื่อธรรมะนั้นเข้าถึงได้ยาก ต้องขัดเกลา ต้องอดทนอดกลั้น ต้องประหยัด ต้องทรมานกิเลส ต้องทุกข์เพราะต้องสู้กับกิเลส เมื่อมันยากเย็นแสนเข็ญเช่นนี้ คนจึงหันหน้าไปสู่อธรรม เป็นทางที่พาไปเสพสุข ไปมัวเมา ไปหาความมั่งคั่งร่ำรวย เพื่อที่จะได้มีเสพมีใช้อย่างไม่มีวันหมด เหล่านี้คือวิธีแก้ปัญหาแบบโลกีย์ทั่วไป
ไม่ว่าจะชาวบ้าน คนเมือง หรือมหาเศรษฐี ต่างก็สามารถคิดได้ว่าเงินคือคำตอบในชีวิต เพราะความอยากของเขาเหล่านั้นต้องใช้เงินมาเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน และมักจะมีความเห็นว่า เมื่อมีเงินจึงมีความสุข ไม่มีเงินก็เป็นทุกข์เพราะไม่ได้เสพสุข โดยที่เขาไม่ได้รู้ไปถึงต้นเหตุที่แท้จริงว่า “ความอยากคือตัวการทำให้เกิดทุกข์”
เขาเพียงเข้าใจกันแค่ว่า ถ้าเรา “สนองความอยาก” เราจะเกิด “ความสุข” ซึ่งในความเป็นจริงความสุขนั้นก็คือความทุกข์ที่ถูกคลายลงเท่านั้น เป็นเพียงสภาพของปิศาจ(ตัณหา) ที่สงบเพราะได้เครื่องบรรณาการเท่านั้นเอง แท้จริงแล้วปิศาจตัวนั้นยังอยู่ มันยังคอยเรียกร้องอยู่เสมอ ถ้าไม่ให้ตามที่มันสั่ง มันก็จะทรมานเรานี่คือความทุกข์ที่เกิดเมื่อไม่ได้เสพที่ตามอยาก
ดังนั้นคนที่ใช้เงินมาบำเรอสุขตัวเองมากๆ ก็ไม่ต่างอะไรจากคนที่เลี้ยงปิศาจในจิตใจของตัวเองจนมันอ้วน มันแข็งแกร่ง มันฉลาด มันสอนให้เราไปเอาเปรียบ ไปหาเงินมามากๆ ทำสิ่งที่ได้กำไรมากๆ ไม่ว่าจะผิดกฎหมาย, ผิดศีลธรรม, เป็นอบายมุข, มอมเมาคน, เป็นสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ฯลฯ ทั้งหมดนั้นไม่ใช่สิ่งที่มันสนใจ มันต้องการเพียงแค่ได้รับการสนองทุกๆความต้องการของมันเท่านั้น
ในทุกวันนี้ เราเสียเงินให้กับการสนองความอยากเท่าไหร่ นั่นคือเรากำลังให้อาหารปิศาจในจิตใจของเรา เลี้ยงให้มันอ้วน ให้มันแข็งแกร่ง ให้มันบีบคั้นเราให้ทุกข์มากขึ้นเมื่อไม่ได้เสพ ให้เราต้องหามาเสพ ให้เราเป็นยิ่งกว่าคนติดยา ให้ตกเป็นทาสของปิศาจนั้น
เรามักจะไม่ได้มองการสนองความอยากเป็นตัวเงินที่เสียไป ว่าวันนี้ฉันเสียเงินให้กับความอยากไปเท่านั้นเท่านี้ แต่มักจะมองว่าวันนี้ฉันซื้อความสุขไปเท่านั้นเท่านี้ คือไปมองในด้านที่เป็นผลจากการสนองความอยาก ไม่ได้มองความอยากเป็นปัญหา ซ้ำร้ายยังไปมองว่าการสนองความอยากที่ได้ทำลงไปนั้นเป็นประโยชน์ หรือถึงจะเป็นทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งสนองตามความอยาก ก็จะไม่โทษความอยาก แต่จะโทษเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ไม่ได้สมใจในสิ่งที่อยากได้อยากเสพนั้น เช่น เงินไม่พอ ของไม่มีขาย แบบที่ชอบไม่มี ไม่มีเวลาไปซื้อ ฝากเขาซื้อแล้วไม่ยอมซื้อให้ ฯลฯ
ความอยากของเด็กที่อยากกินไอติมสักแท่ง เพียงแค่ไม่กี่สิบบาท ก็คงพอจะทำให้หายทุกข์จากความอยากไปได้เป็นครั้งคราว แต่ความอยากของเด็กคนเดิมที่โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ผ่านมาหลายสิบปี ไอติมแท่งเดียวมันพอให้หายอยากไหม? หรือต้องใช้บ้าน ใช้รถ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ใช้ชื่อเสียง ใช้คำสรรเสริญเยินยอ ใช้คู่ครอง และสิ่งต่างๆ อีกมากมายเข้ามาบำบัดความอยาก สิ่งเหล่านั้นผลาญเงินไปเท่าไหร่ นี่คิดแค่เรื่องเงินนะ ยังไม่คิดเรื่องเวลา สุขภาพ ปัญญา หรือเรื่องกรรมอีก
หากเรายังมุ่งหน้าแสวงหาเงินมาบำบัดทุกข์บำเรอสุขลวงอยู่เช่นนี้ ยากนักที่เราจะเห็นความร้ายกาจของความอยาก ศาสนาพุทธไม่เคยสอนให้คนมุ่งหน้าไปสู่ความรวยเพื่อขัดเกลา แต่ให้พากันจนเพื่อขัดเกลาตนเอง เพราะความจน ความประหยัดนี่แหละที่จะทำให้เห็นร่างของปิศาจที่แอบซ่อนอยู่ในจิตใจของเรานี้ได้ชัดเจนขึ้น
เพื่อที่เราจะได้แก้ปัญหากันอย่างถูกจุด ไม่ใช่การหลงว่าการทำตามความอยากนั้นคือการทำให้หมดปัญหา ทำให้เกิดความสุข แต่การทำลายความอยากอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ต่างหากคือสิ่งที่ควรศึกษา ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว เราก็คงจะเป็นทาสที่คอยวิ่งตามคำสั่งของความอยาก ไม่ว่าจะรวยหรือจนถ้ายังมุ่งแก้ปัญหาทุกข์จากความอยากด้วยการหามาเสพอยู่ ก็ไม่มีวันพ้นไปจากทุกข์ได้
– – – – – – – – – – – – – – –
7.2.2559