วันเลิกทาส (1 เมษายน 2448)

April 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,447 views 0

…ผ่านมาเป็นร้อยปีแล้ว แต่ป่านนี้เรายังเป็นทาส(กิเลส) กันอยู่เลย

สมถะ-วิปัสสนา ความแตกต่างในลักษณะของการเกิดดับ

April 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,746 views 0

สมถะ-วิปัสสนา ความแตกต่างในลักษณะของการเกิดดับ

สมถะ-วิปัสสนา ความแตกต่างในลักษณะของการเกิดดับ

มุมมองต่อการเกิดดับของกิเลสจะแตกต่างกันไปตามวิธีปฏิบัติ สมถะและวิปัสสนาจะมีมุมมองที่แตกต่างกันเพราะมีการทำงานที่แตกต่างกัน

ผู้ที่เรียนรู้สมถะ

สมถะคือวิธีการพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม มีใช้กันทุกศาสนา โดยมากจะอยู่ในรูปการทำสมาธิ การเจริญสติในแบบต่างๆ การระลึกรู้ การคิดบวก การใช้ข้อธรรมดีๆเข้ามาจัดการกับการเกิดดับของจิตใจ โดยแนวคิดหลักๆคือการใช้อุบายเข้ามาควบคุมใจ ซึ่งสมถะจะแทรกอยู่ในการปฏิบัติของทุกๆศาสนา เป็นความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นมาก่อนศาสนาพุทธ และจะอยู่คู่โลกไปอีกนานแสนนานแม้ว่าพุทธจะเสื่อมสลายไปแล้วก็ตาม

มุมมองของสมถะต่อการเกิดและดับคือมองว่ามีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในแบบเปิดปิด ( on / off ) คือมีเกิด ก็ต้องมีดับ ดังนั้นหลักของสมถะคือกระทำความดับไม่ให้เกิด เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายเหมือนปิดสวิตซ์ไฟ แต่การจะดับจิตหรือความคิดที่เกิดขึ้นมาได้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถดับได้ทันที

สมถะจึงต้องการมีฝึกเช่นกัน เพื่อที่จะใช้กำลังของจิต ใช้ตรรกะ ใช้ความคิด เข้ามากดข่มจิตที่เกิดขึ้นนั้นๆให้ดับไป และหมายเอาว่าถ้าสามารถทำความดับให้ต่อเนื่องจนเป็นสมาธิได้ ก็จะบรรลุธรรม

นี้คือทิฏฐิของผู้ที่ฝึกแต่สมถะ ซึ่งก็จะมีมรรคผลแบบสมถะ ได้ความสงบ สามารถดับความคิด ดับจิตที่เกิดได้ในระดับอัตโนมัติ คือดับได้โดยไม่ต้องใช้สติไปรู้ หรืออีกนัยหนึ่งคือกดข่มโดยไม่มีสติอย่างเป็นธรรมชาติ สภาวธรรมเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ติดสงบ ติดภพ ติดสภาพของฤๅษี ที่หลงว่าสมถะนั้นคือทางบรรลุธรรม

บ้างก็หมายเอาว่าสมถะของตนนั้นคือวิปัสสนา ทำให้หลงอยู่กับการกระทำความดับในแบบเปิดปิดเช่นนี้ โดยไม่เข้าใจเหตุปัจจัยของรูปและนามอย่างแท้จริง แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะสามารถกดข่มกิเลสได้ มีรูปสวย ดูดีไปจนตาย แม้จะกดข่มได้ข้ามภพข้ามชาติต่อไปอีกเป็นสิบเป็นร้อยชาติ แต่ความเกิดนั้นก็จะยังเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งอยู่ดี

ซึ่งวิธีการดับด้วยสมถะนี้เอง เป็นเรื่องที่เข้าใจและปฏิบัติได้ง่าย มีสอนกันโดยทั่วไป วิธีการก็ไม่ยาก แค่พยายามกดไปเรื่อยๆ กดข่มไป คิดบวกไป ตัดรอบไป ทำเป็นลืมไป ฯลฯ เรียกว่าเจอผัสสะเข้ามากระทบแล้วก็ทำลายสภาพจิตที่เกิดเวทนาสุขทุกข์นั้นเสีย

ด้วยวิธีสมถะนี้เอง ทำให้หลายคนสามารถถือศีลที่ยากๆได้ เพราะใช้การกดข่มอย่างต่อเนื่อง พยายามบีบบังคับความอยากด้วยอุบายทางใจไม่ให้โผล่หน้าออกมา แต่ถึงกระนั้นก็เป็นเพียงการถือศีลในแบบสีลัพพัตตุปาทาน คือการถือศีลอย่างงมงาย ไม่มีปัญญา เขาว่าดีก็ถือ เขาว่าเป็นกุศลก็ถือ ไม่ได้เข้าใจในสาระและข้อปฏิบัติเพื่อการศึกษาในศีลนั้นๆ ดังนั้นการถือศีลยากๆได้ไม่ได้หมายความว่าบรรลุธรรม เพราะสามารถใช้การกดข่มหรือวิธีของสมถะเข้ามาบริหารจัดการได้

ผู้ที่เรียนรู้วิปัสสนา

โดยปกติแล้ว ผู้ที่เข้าใจวิปัสสนาจะสามารถเข้าใจสมถะอย่างถ่องแท้ด้วย นั่นเพราะสมถะคือพื้นฐานของการปฏิบัติในทุกๆศาสนา แม้ไม่มีศาสนาก็เป็นนักสมถะที่เก่งได้ แต่วิปัสสนานั้นเป็นกระบวนการของพุทธเท่านั้น หากจะนับจำนวนชาติที่หลงผิดต่อจำนวนชาติที่เห็นถูกตรง ย่อมปฏิบัติกันผิดๆมามาก ซึ่งในการปฏิบัติที่ผิดเหล่านั้นมักจะมีการใช้สมถะเป็นวิถีทางหลักอยู่แล้ว นั่นหมายถึงก่อนจะมาเรียนรู้วิปัสสนาก็มักจะสะสมบารมีเกี่ยวกับสมถะมาจนรู้แจ้งเห็นจริงแล้วกันมาไม่มากก็น้อย

วิปัสสนานั้นคือการทำให้มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง โดยรู้เหตุปัจจัยแก่กันและกันทั้งหมดของความเกิดและความดับ รู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสที่เกิดตลอดจนถึงความจางคลายละหน่ายจากกิเลสไปโดยลำดับ โดยมีญาณปัญญารู้ถึงระดับของกิเลสในตน

ปัญญาที่เกิดขึ้นจากวิปัสสนาจะกระจ่างแจ้งคนละระดับกับวิธีสมถะ เพราะเป็นปัญญาคนละโลก สมถะจะได้แค่ปัญญาโลกียะ ส่วนวิปัสสนาจะได้ทั้งปัญญาโลกียะและปัญญาโลกุตระ โดยหลักแล้วแม้สมถะจะเน้นไปที่สติ ดังคำว่า “สติมาปัญญาเกิด” แต่หากยังใช้เพียงวิธีของสมถะก็จะได้แค่ปัญญาโลกียะเท่านั้น เป็นปัญญาที่มีอยู่ในระดับที่กิเลสไม่กำเริบเท่านั้น ไม่ใช่ปัญญาในระดับของการชำระกิเลส

วิปัสสนานั้นจะไม่ได้ทำเพื่อการดับในทันทีเหมือนสมถะ เพราะรู้แน่ชัดว่ากิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์จนทำให้จิตใจหวั่นไหวนั้นมีปริมาณมาก จะจำกัดทีเดียวไม่ใช่เรื่องง่าย ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีไว้ศึกษาโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด กิเลสก็เช่นกัน มันมีสภาวะที่ละเอียดลึกลงไปตั้งแต่กามภพ รูปภพ อรูปภพ ซึ่งถ้าวิปัสสนาอย่างถูกตรงจะสามารถทำลายทั้งสามภพนี้ได้ แต่ถ้าปฏิบัติสมถะจะไม่ได้ทำลายภพ แต่จะเป็นการกดตัวเองเข้าไปอยู่ในภพ และกดข่มไปได้อย่างมากสุดก็แค่อรูปภพ จึงไม่มีวันหลุดพ้นจากกิเลสนั่นเอง

วิปัสสนานั้นจะทำให้เกิดปัญญาเจริญไปโดยลำดับ มีมรรคผลไปโดยลำดับ เติบโตไปทีละนิด กิเลสลดลงไปตามลำดับ ซึ่งอาจจะมีกิเลสเพิ่มบ้างในกรณีเกิดความทรมานจากการปฏิบัติธรรมแล้วย้อนกลับไปเสพตามกิเลสบ้างในบางคราว แต่โดยรวมแล้วจะมีทิศทางที่จะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นการเกิดดับของวิปัสสนาจะเป็นไปโดยลำดับ เป็นขั้นตอน เป็นกระบวนการจนสุดท้ายดับเหตุที่จะทำให้กิเลสเกิดได้ จึงกลายเป็นสภาวะดับตลอดกาล ไม่มีวันเกิดอีก ไม่มีเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปอีกต่อไป เพราะเป็นการดับที่ถาวร ไม่มีเชื้อของกิเลสอีกแล้ว

วิธีของวิปัสสนานั้นเห็นผลไม่ได้ง่ายๆเหมือนอย่างวิธีสมถะ เพราะต้องอาศัยความเพียรที่ถูกตรงอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดผล ต่างจากวิธีสมถะที่สามารถดับกันได้ชัดๆ จนบางครั้งสมถะวิถีเหล่านั้นกลายเป็นหลักปฏิบัติของคนที่มักง่าย หวังบรรลุธรรมไว เข้าใจว่าแค่ดับให้หมด ดับให้ได้ ดับให้ต่อเนื่องก็บรรลุธรรมแล้ว ทั้งที่จริงแล้วทั้งหมดนั้นยังไม่เข้าหลักของพุทธเลย

ทั้งนี้สภาพที่จะมียืนยันความเจริญของการปฏิบัติวิปัสสนานั้นละเอียดล้ำลึกกว่าสมถะมาก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้สอนไว้ให้เป็นแนวทางปฏิบัติและตรวจสอบกันทั้ง วิปัสสนาญาณ ๙ ,ญาณ ๑๖(โสฬสญาณ),จรณะ ๑๕, เจโตปริยญาณ ๑๖ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นสภาพความเจริญในจิตวิญญาณของผู้ที่ปฏิบัติได้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

31.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

วันเมษาหน้าโง่ (April Fool’s Day)

April 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,376 views 0

วันที่ทางฝั่งตะวันตกเขาฮิตโกหกกันเล่นๆนั่นละนะ

…พอเอาคำว่า “โง่” ของเขามาคิด หนึ่งปีมีวันโง่ๆสักวันก็ไม่เป็นไรนะ เราฉลาดกันมาทั้งปีแล้ว หัดโง่สักวันก็คงจะดี

ฉลาดไปเสียทุกเรื่อง
ฉลาดจนไม่ฟังใคร
ฉลาดจนชีวิตฉิบหาย
การหัดโง่เสียบ้างจะช่วยให้เราหายโง่
ส่วนการฉลาดแสนรู้ไปหมดจะทำให้เรา “โง่ได้อีก

– – – – – – – – – – – – – – –

1.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

March 31, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,826 views 0

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

ดาวน์โหลดภาพขนาดเต็ม | Download full size image

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

ความแตกต่างของการใช้ไตรลักษณ์ระหว่างการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

หากจะจำแนกวิธีปฏิบัติธรรมในปัจจุบันคงจะมีมากมายหลากหลาย มีชื่อ นิยาม และความหมายไปตามทิฏฐิที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยหลักแล้วไตรลักษณ์ หรือลักษณะสามัญ 3 อย่าง คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนนี้เอง คือสิ่งที่หลายคนใช้ในการพิจารณาธรรม

แต่ในความจริงแล้ว การใช้ไตรลักษณ์เข้ามาพิจารณาธรรมนั้นก็มีวิธีการที่หลากหลายแตกต่างกันไป เหมือนกับมีเครื่องมืออยู่หนึ่งชิ้น สามารถนำไปทำอะไรได้หลายอย่าง มีวิธีการใช้และผลจากการใช้เครื่องมือนั้นที่เรียกกันว่า  “มรรค-ผล

การปฏิบัติโดยใช้สมถะก็มีมรรคผลแบบสมถะ การปฏิบัติโดยใช้วิปัสสนาก็มีมรรคผลแบบวิปัสสนา ถ้าโดยภาษาจะดูเหมือนมีมรรคผลเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดนั้นจะแตกต่างกัน เมื่อมรรคต่างกัน ผลที่ได้ก็ย่อมต่างกันไปด้วย แล้วสิ่งไหนที่จะเป็นทางเดินที่ถูก ทางที่พาพ้นทุกข์(สัมมาอริยมรรค) ที่จะนำไปสู่ผลคือสภาพหลุดพ้นจากกิเลส (วิมุตติ)

สมถะกับไตรลักษณ์

สมถะในรูปแบบทั่วไปนั้น จะใช้การกำหนดจิต กดจิต ดับความคิด หรืออุบายต่างๆเข้ามาเพื่อควบคุมใจ แต่ก็ยังมีสมถะที่ใช้ตรรกะเข้ามาช่วยกดข่ม ในแบบชาวบ้านทั่วไปเช่น เราเป็นคนดี, เราจะไม่โกรธ, เราจะไม่กลัว และในรูปแบบที่ใช้ธรรมะเข้ามาก็เช่นการใช้ไตรลักษณ์นี่เอง

การใช้ไตรลักษณ์เข้ามาช่วยกดจิตให้นิ่งเมื่อเจอกับผัสสะที่ทำให้เกิดเวทนา เมื่ออาการผิดปกติเหล่านั้นเกิดขึ้นในจิต ก็จะใช้ “ธรรมะ” เข้ามาเป็นเหตุผล หรือนำสัจจะเข้ามาตบความฟุ้งซ่านนั้นๆทิ้ง เช่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่พอใจก็จะใช้การท่อง ระลึกถึง พิจารณาไตรลักษณ์ ความโกรธนั้นไม่เที่ยง ความโกรธนั้นเป็นทุกข์ ที่เรามีความโกรธเพราะเรามีตัวตน ฯลฯ

ลักษณะเหล่านี้คือปัญญาสมถะ จะดูคล้ายกับการวิปัสสนามากจนหลายคนเข้าใจผิดว่าวิธีนี้คือการวิปัสสนา ทั้งๆที่กระบวนการเหล่านี้เป็นรูปแบบของสมถะเท่านั้น เป็นเพียงการกดข่มจิตไม่ให้ไหวไปตามผัสสะที่เข้ามา จะเกิดสภาพสงบจากกิเลสที่โดนกดได้

เป็นมรรคผล แบบสมถะที่เกิดความสงบได้จริง กิเลสสงบจริง สุขจริง ผ่อนคลายจริง แต่ก็ไม่ใช่ผลที่ยั่งยืน แม้จะกดได้ข้ามภพข้ามชาติแต่วันใดวันหนึ่งก็ต้องระเบิดออกมาอยู่ดี เพราะปัญหาไม่ได้ถูกแก้ เหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ทำให้รู้แจ้ง เพียงแค่ใช้ปัญญากดข่มอาการใดๆอันไม่น่าอภิรมย์ของจิตไปเท่านั้น

รูปแบบของสมถะจะซ้ำๆเดิมๆ เจอโจทย์ไหนก็ใช้วิธีเดิม ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ใช้ตรรกะ ธรรมะ เหตุผล คิดบวก ใช้ปัญญากดข่มอยู่แบบนี้เป็นมรรค และผลที่ได้จะเป็นเวทนา แบบเคหสิตอุเบกขา คือความวางเฉยแบบชาวบ้าน หรือความเบื่อแบบคนทั่วไป แบบโลกๆ แบบสามัญ ไม่ใช่ในแนวทางพ้นทุกข์ของพุทธศาสนา แต่เป็นแบบฤๅษีหรือเกิดความสงบอย่างผู้ปฏิบัติสมาธิทั่วไป

วิปัสสนากับไตรลักษณ์

กระบวนการของวิปัสสนานั้นจะต่างไปจากสมถะอย่างชัดเจน เพราะเป็นการ “คิด” (สัมมาสังกัปปะ) โดยมีพื้นฐานของความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงที่ยังมีกิเลสปนเปื้อนอยู่ (สัมมาทิฏฐิที่ยังมีสาสวะ)

วิปัสสนานั้นเป็นอุบายทางปัญญาที่จะเข้ามาใช้บริหารจิตเพื่อกำจัดกิเลสโดยเฉพาะ เมื่อเจอกับอาการของกิเลสที่สะท้อนผ่านความสุขหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้น จึงใช้อาการเหล่านั้นเป็นเบาะแสที่จะขุดค้นลงไปหาต้นสายปลายเหตุแห่งทุกข์หรือรากของกิเลสนั้นๆ (สมุทัย)

เมื่อเจอกับต้นตอของปัญหา จึงใช้การคิดพิจารณาธรรมะต่างๆ เช่น การใช้เรื่องกรรม, ผลของกรรม, ประโยชน์, โทษ และการใช้ไตรลักษณ์นี้เองก็เป็นสุดยอดเครื่องมือในการพิจารณาเพื่อทำลายกิเลสเช่นกัน

เมื่อเราเจอกับตัวกิเลสจริงๆ มันจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง มันจะไม่คิดไปตามความถูกต้อง ยังเป็นมิจฉาสังกัปปะอยู่ คือคิดอย่างไรมันก็ตามใจกิเลสไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเรามาวิปัสสนา เราก็จะเริ่มให้ปัญญากับตัวเอง ซึ่งมันจะไม่ง่ายและไม่ดับลงในทันที

เราจะใช้ธรรมะต่างๆเข้ามาพิจารณาที่เหตุ เช่น เมื่อเราโกรธ เราก็จะหาเหตุแห่งความโกรธ ว่าเรานั้นหวังเสพสิ่งใด ไม่ถูกใจสิ่งใด ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด แล้วขุดค้นลงไปจนเจอตัวเหตุจริงๆ จึงใช้ธรรมะเข้าไปเจรจากับกิเลส

แต่จิตที่เต็มไปด้วยกิเลสมันจะไม่ยอม มันจะเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง มันจะเห็นทุกข์เป็นสุข มันจะเห็นอนัตตาเป็นอัตตา เช่นเราชอบกินขนม เราก็จะบอกว่ามันสุข มันอร่อย เราชอบกินมัน ซึ่งเราจะเห็นแบบถูกตรง(สัมมาทิฏฐิ)ไม่ได้ และคิดแบบถูกตรง(สัมมาสังกัปปะ)ไม่ได้ กิเลสมันจะค้าน กินยังไงมันก็จะยังอร่อยและเป็นสุขอยู่ดี เราจึงต้องใช้ปัญญาเข้ามาสู้ หาธรรม หาสัจจะ พิจารณาความจริง ทุกข์โทษภัยที่เกิดขึ้นจริงๆจากการเสพการติดสิ่งนั้น ประโยชน์เมื่อออกจากสิ่งที่ยึดติดนั้นผลกรรมที่จะต้องรับหากยังยึดติดสิ่งนั้น และสภาพจริงคือไตรลักษณ์นั้นหมายถึง ความสุขที่จะได้รับนั้นไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นความอยากกินขนมไว้เป็นตัวตน

ซึ่งจะยากตรงที่ต้องเปลี่ยนผี(กิเลส) ให้เป็นคนด้วยตัวเองนี่เอง ตรงนี้จะให้ใครทำแทนไม่ได้ ต้องเพียรพิจารณาจนกระทั่งเกิดปัญญาเอง รู้เองเห็นเอง ปริยัติ ปฏิบัติ จนเกิดปฏิเวธ กลายเป็นธรรมะในตน มีปัญญารู้แจ้งกิเลสในตน เป็นปัจจัตตังจริงๆ

การวิปัสสนาจะเห็นผลไม่ง่ายนัก ไม่ได้ทำเพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่ทำไปเพื่อให้รู้เห็นความเป็นจริงตามความเป็นจริงไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ซึ่งมีวิมุตติเป็นเป้าหมาย

ความต่างของสมถะและวิปัสสนากับไตรลักษณ์

สมถะนั้นจะใช้ไตรลักษณ์เพื่อทำความดับให้เกิดขึ้น ดับความคิด ดับจิตที่ฟุ้งซ่าน เรียกง่ายๆว่าดับทุกข์ที่เกิดนั่นเอง แต่วิปัสสนาจะใช้ไตรลักษณ์เพื่อทำให้เกิดปัญญา แต่ในส่วนของความดับกิเลสนั้นเป็นผลที่เกิดจากปัญญานั้นได้รู้แจ้งไปตามลำดับ

จะเห็นได้ว่าเครื่องมือเดียวกันแต่การใช้งานนั้นต่างกัน เราสามารถใช้ได้ทั้งวิธีสมถะและวิปัสสนา ซึ่งแล้วแต่เหตุปัจจัย เรื่องไหนควรดับในทันทีก็ควรจะใช้สมถะ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็ควรจะวิปัสสนาเป็นหลักแล้วใช้สมถะเป็นตัวเสริม เพราะสมถะเองนั้นมีไว้พักจิตเท่านั้น ไม่ใช่ตัวบรรลุธรรม ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้เกิดปัญญา

การประมาณการใช้สมถะวิปัสสนานั้นขึ้นอยู่กับอินทรีย์พละของแต่ละคนซึ่งมีสะสมมาต่างกัน บางคนไม่ต้องทำสมถะเลยก็สามารถผ่านโจทย์ต่างๆได้โดยง่าย แต่บางคนแม้จะทำสมถะก็แล้วแต่ก็ยังแพ้ให้กิเลสอยู่เรื่อยไป ดังนั้นอย่าพยายามอ้างอิงสูตรหรือวิธีการปฏิบัติของใครเพราะเรามีกรรมต่างกัน มีอินทรีย์พละต่างกัน ทั้งนี้สมถะนั้นเป็นตัวเสริมพลังให้วิปัสสนา ซึ่งทำควบคู่กันไปจะเห็นผลเจริญได้ไวที่สุด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรู้จักอย่างแท้จริงว่าอย่างใดคือสมถะ อย่างใดคือวิปัสสนา ไม่เช่นนั้นก็จะปฏิบัติหลงทางวนเวียนอยู่เรื่อยไปเพราะโดยพื้นฐานแล้ว คนจะไปติดสมถะกันมาก เพราะวิธีสมถะจะทำให้เกิดความสงบในทันทีซึ่งดูจะเป็นผลที่สัมผัสได้ง่ายกว่าวิธีวิปัสสนา

ในส่วนวิปัสสนา คนที่ไม่เข้าใจกระบวนการปฏิบัติก็เห็นว่าวิธีนี้จะไม่สามารถทำให้เกิดความสงบได้เลย เห็นว่าการคิดนี้เองจะยิ่งทำให้ฟุ้งซ่าน พอไม่ได้ความสงบอย่างที่หมายก็เลยหลงไปติดกับสมถะอีก แท้จริงแล้ววิปัสสนานี่แหละคือสงความความคิด ที่เราจะต้องสร้างความคิดที่จะชำระกิเลส(สัมมาสังกัปปะ)มาสู้กับความคิดที่อยากสนองกิเลส(มิจฉาสังกัปปะ) ดังนั้นสมถะจึงเหมือนสถานที่พักรบซึ่งคนชอบไปพักและติดสงบจนหลงว่าอารมณ์เหล่านั้นคือการบรรลุธรรมบ้าง คือการหลุดพ้นบ้าง นิพพานบ้าง ทั้งๆที่นั่นคือการพักรบเท่านั้นเอง

การวิปัสสนานั้นเป็นวิธีของคนที่เพียรอย่างถูกต้อง แต่กระนั้นก็เห็นผลไม่ได้ง่ายๆ จะเกิดปัญญารู้แจ้งกิเลสกันไม่ได้ง่ายๆ ทำความดับไม่ได้ง่ายๆ แต่จะรู้ได้เองว่ากิเลสลดลงไปเท่าไหร่แล้ว เมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรงจะมีญาณปัญญารับรู้กิเลสได้ชัดเจนขึ้นตามลำดับ และผลที่ได้นั้น ยั่งยืน เที่ยงแท้ ถาวร ตลอดกาล ข้ามภพข้ามชาติ ตราบปรินิพพาน

– – – – – – – – – – – – – – –

31.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)