ความเพี้ยนในความเป็นพุทธ

เห็บศาสนา เปรต เทวดา

April 12, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 817 views 0

ไม่ว่าศาสนาไหนก็ล้วนแต่มีโลกธรรมอันหอมหวานทั้งสิ้น ศาสนาพุทธก็เช่นกัน คนที่เข้ามาปฏิบัติอยู่ในสำนักก็มักจะได้โลกธรรม ได้ลาภสักการะ บริวาร ซึ่งเป็นสิ่งหอมหวานยั่วยวนกิเลสคนชั่วยิ่งนัก

จึงมีคนชั่วที่แสร้งปลอมปนเข้ามาเพื่อเสพผลเหล่านั้น สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็มีการชำระ จับพระทุศีล พวกบวชล่าโลกธรรม ออกไปจากศาสนา จนบัดนี้ผ่านมาสองพันกว่าปี คนเหล่านี้ได้กระจายแทรกซึม เสพผลประโยชน์อยู่ในทุกที่ที่มีโลกธรรม แทรกเข้าไปเสพ ซึมอยู่ภายใน กัดกิน ทำให้ติดเชื้อร้าย ทำให้เสื่อม เหมือนเห็บที่มากัดกินเลือดสัตว์

นิยามศัพท์ : เห็บศาสนา คือพวกที่มาใช้ศาสนาสนองกิเลสตน, เปรต คือพวกขี้โลภ เอาแต่ได้, เทวดา(โลกีย์) คือพวกบ้าอำนาจ ชอบสั่ง เอาแต่ใจ มุ่งร้าย กำจัดคนที่ขัดขวาง

โดยธาตุแล้ว คนพวกนี้จะมีลักษณะขี้โลภ เอาแต่ได้ เดี๋ยวอยากนั่น เดี๋ยวอยากนี่ แต่พวกเขามักจะมีศิลปะ ไม่แสดงออกชัดเจน โดยเฉพาะต่อหน้าคนใหม่จะยิ่งสร้างภาพว่าตนเป็นพ่อพระแม่พระ เป็นเทวดาที่น่านับถือ เป็นผู้ใจบุญ เป็นต้น แต่ในใจมักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญ บริวาร ฯลฯ

ตอนเข้ามาแรก ๆ มักจะเสแสร้ง และสร้างภาพลักษณ์จนทำให้คนอื่นเข้าใจผิด หลงไว้ใจ หลงเชื่อใจ แต่ถ้าปล่อยให้มีอำนาจนานไป จะเริ่มเอาแต่ใจ กดดันคนอื่น บ้าอำนาจ เผด็จการ บีบคั้น กดดัน เดี๋ยวสั่งคนนั้น สั่งคนนี้ สั่งได้แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ คือจะเริ่มตีตนเสมอ คิดว่าตนเป็นคนสำคัญ คิดว่าคนอื่นจะต้องฟังแต่ตน ต้องเกรงใจตน เพราะตนสำคัญตนผิด และจะใช้โอกาสต่าง ๆ ในการมีบทบาทในองค์กรขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้ชัดว่าพยายามทำตัวเด่น มีบทบาท เรียกร้องความสนใจ พยายามทำตนให้เป็นจุดสนใจ พอโดนติ จะไม่พอใจ ขุ่นใจ โกรธ ตัดพ้อ โจมตีกลับ ฯลฯ ถ้าถูกกล่าวหาจะทำเหมือนถ่อมตัว แก้ตัว ปัดไปปัดมา หรือไม่ก็หาเรื่องผู้กล่าวหากลับ ไม่ชี้แจงตามจริง ไม่แก้ไขปัญหา จะพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงต่าง ๆ

คนพวกนี้มักจะมีลักษณะเด่นคือ ไม่ปฏิบัติตามกฎ มักจะแหกกฎ ด้วยอำนาจของตน ไม่ทำตามวัฒนธรรม เช่น เขาถือศีล มุ่งล้างกิเลสกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนพวกนี้ก็จะใช้เล่ห์กล สร้างสภาพที่เหมือนจะไม่เอื้ออำนวยให้ทำ สร้างข้อจำกัดเทียม ไม่ยอมทำ ไม่ปฏิบัติตาม ซ้ำร้ายจะกลายเป็นปฏิบัติตรงข้ามกับหมู่กลุ่มด้วย เช่นกลุ่มเขาพากันไปลดกิเลส แต่คนพวกนี้จะพาไปเพิ่มกิเลส หมู่เขาพาลดกาม คนพวกนี้เขาจะพาเพิ่มกาม ซึ่งจะมีอีกฝั่งคือฝั่งอัตตา คือดีเกินไป เช่นกรณีของพระเทวทัตที่ขอวัตถุ 5 กับพระพุทธเจ้า อันนั้นก็พวกเห็บศาสนาสายอัตตา ส่วนพวกที่ต่ำกว่ามาตรฐานก็เห็บศาสนาสายกาม

ล่าบริวาร คือลักษณะเด่นชัดของเห็บศาสนา เมื่อบ้าอำนาจ ก็ต้องอยากได้คนมาสนองมาก ๆ อยากได้คนมาเป็นแขนเป็นขา (แต่ตนเองจะทำตนเป็นสมอง) หาคนที่ทำให้ได้ดั่งใจตนต้องการ ความเอาแต่ใจของเทวดาเปรตเหล่านี้คือ จะใช้อำนาจบีบให้คนทำตามใจ โดยใช้ “บุญ” มาเป็นของแลกเปลี่ยน

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์เคยออกหนังสือชื่อ “ค้าบุญคือบาป” ที่แจกแจงรายละเอียดของลักษณะผีบุญเหล่านี้ไว้ ซึ่งลักษณะโดยสรุปคือจะเอาคำว่า “บุญ” มาล่อหลอกให้คนอื่นทำตามที่ตนหวัง ทำแล้วเป็นบุญใหญ่ ทำแล้วจะได้บุญ ทำบุญให้หมู่กลุ่ม(แต่ตามคำสั่งตน) เห็บศาสนา มักจะไม่ใช่รุ่นหัวเจาะ ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง แต่จะมาแทรกซึมและใช้โลกธรรมที่องค์กรมี นำไปหลอกล่อคนให้ทำตามใจตนเอง โดยอ้างนโยบายองค์กรบ้าง อ้างครูบาอาจารย์บ้าง อ้างบุญบ้าง โดยลักษณะเด่นคือจะมีแนวโน้มไปในทางกดดันมาเพื่อสนองกิเลสตน สนองความได้ดั่งใจตน

ทำไมจึงกำจัดออกได้ยาก? นั่นก็เพราะคนพวกนี้มักจะเกาะเกณฑ์ขั้นต่ำ คือมีคุณสมบัติขั้นต่ำที่สุดเท่าที่จะต่ำได้ เพราะจะได้หาของยั่วกิเลสมาเสพได้มาก ๆ ถ้าไปเกาะขีดบน ถือศีลเข้ม ๆ จะแทบไม่เหลือวัตถุกามให้เสพ ดังนั้น เขาก็จะมักจะเกาะอยู่ขั้นต่ำของกลุ่ม พวกเขาเฉโกพอที่จะรู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไรให้จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน พอถูกถามก็พูดจาเบี้ยวไปเบี้ยวมา หรือไม่ก็กล่าวหาผู้ถามกลับ เป็นการปกป้องตนเองด้วยมารยา และโดยมากคนพวกนี้มักจะสะสมอำนาจ ล่าบริวาร จึงใช้อำนาจนั่นแหละ เป็นตัวกันไม่ให้คนมาติ ให้คนเข้าถึงได้ยาก ไม่ให้คนตรวจสอบ พอใครจะมากล่าวหา มาทำร้าย ก็จะถูกบริวารที่ตนได้มอมเมาไว้เล่านั้นกันเอาไว้ ไม่ให้มาถึงตัว ดังนั้นการกำจัดคนพวกนี้ออกจึงยากมาก เพราะพวกเขามักจะสร้างเกราะที่หนาเอาไว้ป้องกันตัว และที่สำคัญคือเขาก็จะทำดีไปเรื่อย คือทำดีตามที่โลกถือสา เอาความดีนี้แหละไว้เป็นเกราะ และไว้หลอกคน เพราะอาศัยดีนี้จึงทำให้คนเข้าใจผิด หลงไปเคารพได้มาก แต่จะให้ทำดีเหนือดี ให้ลดละเลิกล้างกิเลส คนพวกนี้เขาจะไม่ทำ

มุ่งสู่นรกอันเป็นอนันต์ เหล่าเห็บศาสนา เปรตเทวดาเหล่านี้ มีโอกาสสูงมากที่จะทำอนันตริยกรรม คือกรรมหนักในข้อที่ว่าทำให้หมู่เพื่อนนักปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เพราะด้วยเหตุแห่งความบ้าอำนาจ และกลัวคนจะจับผิด คนพวกนี้จะรู้ตัวว่าใครที่มีกำลังมากพอที่จะกำจัดตนเอง จึงมักจะใช้อำนาจ บารมี บริวาร หรือเหตุปัจจัยที่มีในการกำจัดศัตรูแห่งเส้นทางอำนาจของตนก่อน

ดังที่ได้กล่าวมาข้างตน เห็บศาสนามักจะมักใหญ่ใฝ่สูง อยากเด่นอยากดัง อยากได้รับการเคารพ อยากเป็นคนสำคัญ ดังนั้น พวกเขาจะไม่ยอมให้ใครข้ามหน้าข้ามตา ถ้าอยู่ในองค์กรก็จะพยายามขึ้นเป็นเบอร์ต้น ๆ และกำจัดเสี้ยนหนาม คือกำจัด ข่ม ป้ายสี คนที่ไม่ทำตามตน ต่อต้านตน ที่ขวางทางตน นั่นก็หมายความว่า คนพวกนี้ก็จะพยายามทำทุกอย่างให้ตนคงสถานะไว้ได้ ถึงแม้จะต้องกำจัดคนอื่นออกไปก็ตามที

และโดยมากแล้วศัตรูของคนชั่วก็คือคนดีนั่นแหละ แต่จะทำอย่างไร ถึงจะเล่นงานคนดีได้ มันก็ต้องทำลายดีในคนคนนั้นเสีย ลักษณะเด่นอันหนึ่งของกลุ่มเห็บศาสนาคือการตั้งกลุ่มนินทา สร้างข่าวลือ ปั้นข่าว ใส่ไข่ ใส่สี ให้มีรสเด็ดจัดจ้าน เพื่อทำลายชื่อเสียงของอีกฝ่าย ต่อให้ดีแค่ไหน มาเจอรวมพลคนพาล ร่วมกันผิดศีลข้อ ๔ คือโกหก ปั้นเรื่อง ยุคนนั้นทะเลาะคนนี้ ให้คนแตกความสามัคคีกัน ใครเจอเข้าไป ถ้าไม่มีของจริง ก็เสร็จทุกรายไป คือจะโดนกลืนด้วยข่าวจริง(5%) ใส่ไข่อีก (95%) เป็นต้น สุดท้ายก็ทำคนดีให้เป็นคนร้ายได้ในที่สุด สร้างชื่อเสียงด้านลบให้คนอื่น ทำให้เขาผิดใจกัน แตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน สำเร็จอนันตริยกรรมในที่สุด ขุดฝังตัวเองในนรกสำเร็จ เกิดมาตายเปล่าไปอีกหนึ่งชาติเป็นผลที่คนเหล่านี้จะได้รับ

พอกำจัดคนดีมีศีลออกไปให้พ้นทางได้แล้ว ตัวเองก็จะได้บ้าอำนาจ เสพอำนาจได้อย่างไม่มีใครขัดอยู่ในกลุ่มนั้น ๆ กลายเป็นเห็บศาสนาสมบูรณ์แบบ ไม่มีวันเจริญ มีแต่ความเสื่อม เต็มไปด้วยกิเลส ซึ่งเป็นภาระกลุ่มที่ต้องแบก เป็นจุดอ่อนของกลุ่ม เป็นรูรั่วของกลุ่ม เป็นเชื้อร้ายของกลุ่ม ที่เหมือนมะเร็งที่จะลุกลามกัดกินเนื้อดีส่วนอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ

หากไม่กำจัดเห็บศาสนาออก ก็ต้องแบกความหนักเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ แบกคนทุศีล แบกคนมีอนันตริยกรรม ซึ่งคนพวกนี้ไม่มีวันเจริญ กลายเป็นภาระ กลายเป็นวิบากกรรมของกลุ่มที่ไม่ชัดเจนในความเป็นคนพาลในคน ที่จะต้องแบกไว้ให้มันลำบาก ให้เสื่อม ให้เมื่อย ให้หนัก ให้เสียเวลาเปล่า ๆ

ปลาข้างทาง

May 14, 2017 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,843 views 0

ปลาข้างทาง

ปลาข้างทาง

เช้าเมื่อวานฝนตกลงมาอย่างหนัก และค่อย ๆ ซาไปในตอนสาย ระหว่างที่ผมกำลังเดินออกจากบ้านเพื่อที่จะไปขึ้นรถประจำทาง ก็พบกับปลาตัวหนึ่งนอนอยู่ข้างทาง

ปลาตัวนี้ตัวไม่ใหญ่นัก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปลาจะมาอยู่บนถนนหลังฝนตก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เจอได้บ่อย ๆ ปลาจะมาตามท่อที่น้ำล้นและติดอยู่บนถนนเมื่อน้ำลด

ผมยืนดูปลาตัวนี้สักพัก ก็คิดว่าจะเอาอย่างไรกับมันดี มันก็อยู่ข้างทาง รถก็วิ่งผ่านมาใกล้ ๆ เห็นท่าจะรอดยาก ไม่ตายเพราะรถก็ตายเพราะมด แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าพกถุงพลาสติกไว้ใส่ของกันฝน ก็เลยเอาปลาใส่ถุงแบบรวมน้ำ ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าจะเอาไปปล่อยที่บึงสาธารณะใกล้บ้าน แต่พอคิดไปคิดมาก็นึกขึ้นได้ว่า เหมือนบึงเขาจะไม่ให้ปล่อยสัตว์น้ำ สุดท้ายก็เลยปล่อยปลาลงท่อไป

จากเหตุการณ์นี้ก็นึกขึ้นได้ว่า หากจะปล่อยปลาให้ถูกธรรม ก็คงจะต้องปล่อยแบบนี้ คือมีปลามานอนพะงาบพะงาบต่อหน้าแล้วช่วยมัน ทำแบบนี้ไม่มีผลเสียกับใคร และไม่ผิดธรรมด้วย ส่วนที่ซื้อปลาไปปล่อยนั้น พวกเขาผิดตั้งแต่ซื้อขายชีวิตสัตว์แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า อย่าทำการค้าที่ผิด มันจะไม่พ้นทุกข์ หนึ่งในนั้นคือค้าขายชีวิตสัตว์ (มิจฉาวณิชชา ๕) ดังนั้นเมื่อเราไปข้องเกี่ยวกับกระบวนการขายชีวิตสัตว์ ไม่มีทางเลยที่เราจะได้มันมาอย่างถูกธรรม มันผิดแน่ ๆ และไม่ควรประเมินว่าผลสุดท้ายมันจะดีกว่า ในเมื่อกระดุมเม็ดแรกมันผิด เม็ดต่อ ๆ ไปมันก็ติดผิดไปเรื่อย จะดีกว่าไหมที่เราจะแก้ความเห็นผิดตั้งแต่แรก ให้มันไม่ต้องผิดซ้ำผิดซ้อนกันไปอีก

เพราะพุทธทุกวันนี้แทบจะไม่รู้ผิดรู้ถูกกันแล้ว เอาแต่ตามที่ใจเห็นว่าดี เอาแต่ตามที่ประเพณีเห็นว่าควร ส่วนจะถูกธรรม ถูกตามที่พระเถระ(เถรวาท) ได้รวบรวมไว้หรือไม่นั้นชาวพุทธส่วนมากไม่ได้สนใจแล้ว ซึ่งมันก็ไม่แปลกว่าทำไมบ้านเมืองมีแต่เรื่องน่าสลด นั่นเพราะกระดุมเม็ดแรกมันติดไว้ผิด เม็ดต่อมาจนถึงปัจจุบันก็ผิดหมดนั่นแหละ หากใครได้ศึกษาและตรวจสอบตามหลักฐานจนพบว่าสิ่งที่ตนเองมีความคิดเห็นหรือความเข้าใจที่ผิด ก็ให้รีบเร่งแก้ไขความเห็นผิดนั้น เพราะการแก้ตัวไม่ได้ช่วยให้ความเห็นผิดนั้นกลับเป็นถูกได้ แม้จะเถียงชนะโลก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะชนะมารและพ้นจากความเห็นผิดไปได้

6.5.2560

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

โง่-ขยัน (สุดยอดแห่งความฉิบหาย)

April 19, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,853 views 0

โง่-ขยัน (สุดยอดแห่งความฉิบหาย)

วันนี้ผมซึ้งเรื่องหนึ่งคือ ความขยันของคนโง่นี่แหละ เป็นอะไรที่แย่ที่สุดแล้ว

คือตนเองก็ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ไม่รู้ถูกผิด เข้าใจว่าที่ตนทำนั้นถูกทั้งที่ผิด(โง่) แต่ก็มีความตั้งใจที่จะทำสิ่งนั้นต่อไป เพราะเข้าใจว่าสิ่งนั้นถูก ความขยันที่มีจึงกลายเป็นการขุดหลุมฝังตัวเองลงไปในความโง่ที่ลึกลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่าคนโง่นั้นก็มักจะไม่โง่อยู่คนเดียว ซึ่งมักจะแจกจ่ายความโง่ของตัวเองไปให้กับคนอื่นด้วย ก็เลยกลายเป็นช่วยกันขุดให้ลึกลงไปอีก ทั้งหมดนั้นคือลักษณะของการเติบโตของมิจฉาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้เกี่ยวกับสามสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผย หนึ่งในนั้นคือมิจฉาทิฏฐิ ทีนี้ใครล่ะจะรู้ว่าตนเองมิจฉาทิฏฐิ ยิ่งโง่ยิ่งไม่เห็นมิจฉาทิฏฐิ จะไปเข้าใจว่าตนเองสัมมาทิฏฐิด้วยซ้ำ

คนมีปัญญายังพอเห็นมิจฉาทิฏฐิในตนบ้าง นั่นหมายถึงมีส่วนของสัมมาทิฏฐิที่มารู้ในส่วนมิจฉาในตนบ้างแล้ว

แต่คนที่มิจฉาทิฏฐิแล้วยังหลงว่าตนเป็นสัมมาทิฏฐิอีก เรียกว่าโง่ซ้ำโง่ซ้อน แล้วดันเป็นคนขยันอีก ทีนี้เป็นอย่างไร? เขาก็จะทำสิ่งที่เขาเห็นผิดนั่นแหละให้มันยิ่งขึ้นๆ ให้มันกระจายออกไปมากขึ้น เพราะเขาหลงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งดี

มีบทหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับเรื่องที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งเปรียบเทียบกับกลองศึกชื่ออานกะ คือในอดีตนั้นมีกลองชื่ออานกะ แต่ต่อมาก็ได้มีการซ่อมบำรุงปรับปรุงแก้ไขจนความเป็นกลองอานกะเดิมนั้นไม่มีเหลืออยู่ มีเพียงชื่อเท่านั้นที่ยังอยู่ ส่วนเนื้อในนั้นได้ถูกเปลี่ยนเป็นของใหม่ไปหมดแล้ว

ซึ่งท่านก็เปรียบกันตรงๆว่าพุทธในสมัยต่อมานั้นจะเหมือนกลองอานกะ คือมีแต่ชื่อ แต่เนื้อในไม่เหมือนเดิมแล้ว คนจะไปฟังธรรมะที่แต่งขึ้นใหม่โดยครูอาจารย์ แต่จะไม่ฟังธรรมะเก่าซึ่งเป็นเนื้อแท้ของศาสนา ซึ่งมีความลึกซึ้ง รู้ตามได้ยาก คำสอนที่แท้จึงค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด

ระวังไว้เถอะ พวกธรรมะง่ายๆ ปฏิบัติได้ง่ายๆ เข้าใจได้ง่ายๆ เข้าถึงได้ง่ายๆ ได้เป็นพระอริยะ พระอรหันต์กันง่ายๆ เหมือนกับได้รับตำแหน่ง supervisor เมื่อทำยอดขายถึงเป้าเท่านั้นเท่านี้

แม้แต่ภาษาสำเนียงท่าทางที่เหมือนพุทธแต่ก็อาจจะไม่ใช่พุทธ ดังกรณีของกลองอานกะ คือรูปนอกน่ะเหมือนทุกอย่าง คำสอนก็เหมือน การปฏิบัติก็เหมือน ดูคล้ายๆก็น่าจะเหมือน แต่เนื้อในไม่มีของเดิมแล้วก็มี

ขยายคำว่า ธรรมะง่ายๆ

คำว่า “ง่าย” ในที่นี้คือ “มักง่าย” คือเอาที่ตนสะดวกนั่นแหละ เพราะถ้าตามที่ผมศึกษานี่เรียกว่าไม่ง่าย หืดขึ้นคอกันเลยทีเดียว

ตัวตรวจวัดก็คือศีลที่ต้องปฏิบัติ ศีล ๕ ก็พอเข้าใจได้ง่ายหน่อย ศีล ๘ ๑๐ จนถึงนักบวชก็ต้องปฏฺิบัติจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ในส่วนวินัย สองร้อยกว่าข้อนั้นก็ต้องปฏิบัติด้วย และทั้งหมดต้องอยู่ในแนวทางของมรรค 8 คือกาย วาจา ใจต้องมุ่งไปทางตรงข้ามกับกิเลส

ถ้าเอาศีลไปจับปุ๊ปจะ รู้เลยว่าอันไหนมักง่าย อันไหนทำตามที่พระพุทธเจ้าให้ศึกษา เพราะศีลและวินัยต่างๆ จะเป็นตัวบีบให้ทำในสิ่งที่จะพาไปพ้นทุกข์อยู่แล้ว ถ้าไม่ทำตามศีลมันก็นอกกรอบเท่านั้นเอง

และพวกมักง่าย ก็จะมีอุบายที่จะตีกิน ไม่ทำตามศีลด้วยวาทะเท่ๆ คือมีคำพูดให้ดูดีแม้ตนเองจะไม่ปฏิบัติตามศีล หรือเอาภาวะของพระอรหันต์มาตีกิน (พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เอาผิด) คือไปหลอกคนอื่นว่าตนเองเป็นอรหันต์แล้วจะทำอะไรก็ได้ บางทีหลอกก็ไม่รู้ว่าตัวเองหลอกก็มี คือเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ก็มี ในสมัยพุทธกาลก็มีเยอะที่เข้าใจผิดไปเอง(หลงว่าบรรลุธรรม)

คำปลอบตนของคนดีที่ยังเบียดเบียน “ฉันกินเธอ เธอได้บุญ”

December 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,611 views 0

ฉันกินเธอ เธอได้บุญ

คำปลอบตนของคนดีที่ยังเบียดเบียน “ฉันกินเธอ เธอได้บุญ” เพราะเธอได้สละเนื้อให้ฉันไปสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม

มีความเห็นหนึ่งที่เป็นไปในแนวทางโลกสวย คือทุกอย่างล้วนสร้างมาเพื่อฉัน (all for one)ทุกคนจงทำเพื่อฉัน แล้วฉันจะทำดีเพื่อทุกคน ขอทุกคนจงรวมพลังมาที่ฉัน เสียสละเพื่อฉัน เพราะนั่นคือหน้าที่ของเธอ

ผมเคยรับรู้แนวคิดหนึ่ง มีความเห็นในแนวทางที่ว่า กินเนื้อเขา แล้วเขาจะได้ประโยชน์ เนื้อของเขาจะเลี้ยงชีวิตเรา ถ้าเราใช้ชีวิตไปทำดี แล้วเขาจะได้กุศล ซึ่งสรุปเป็นภาษาที่โลกเข้าใจได้ประมาณว่า “ฉันกินเธอ เธอได้บุญ

ความเห็นเหล่านี้เป็นเหมือนคำปลอบใจของคนที่พยายามจะเป็นคนดี โดยการสร้างชุดความคิดบวก เพื่อที่จะได้กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาโดยไม่ผิดบาป

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว….

1.การที่เราจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์นั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับการทำดีในชีวิตเลย แม้เราไม่กินเนื้อสัตว์เราก็ยังสามารถดำรงชีวิตไปสร้างคุณงามความดีได้อย่างปกติ

2.กรรมดีต้องสร้างด้วยตัวเอง ไม่ใช่กินเขาแล้วเขาจะได้ดีเพราะเรากิน แต่เขาจะดีเพราะเขาทำดีนั้นของเขาเอง สัตว์ก็เช่นกัน มันจะดีจะชั่วก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของมันเอง ไม่ใช่ว่าถูกฆ่าแล้วถูกแยกชิ้นส่วนเข้าปากลงท้องคนอื่นแล้วจะเกิดสิ่งดีขึ้น อันนี้มันผิดหลักของกรรมอย่างชัดเจน

3.สัตว์ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา เราคิดไปเองเท่านั้น มันก็เกิดมาตามธรรมชาติของมัน ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย

4.สัตว์เหล่านั้นไม่ได้ยินดีสละชีวิต มันถูกแย่งชิงอิสระ ถูกทำร้าย และถูกพรากชีวิตมา เนื้อสัตว์นั้นย่อมถือเป็นทรัพย์ที่ไม่บริสุทธิ์ เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มันถูกขโมยมา ดังนั้นเนื้อสัตว์นั้นจึงไม่ใช่สิ่งดี

5.การกินเนื้อสัตว์ในทุกวันนี้ ไม่ใช่การกินเพื่อดำรงชีวิตอีกต่อไป แต่เป็นการกินเพื่อสนองกาม ต้องการเสพมากๆ ต้องการเสพรูป รส กลิ่น สัมผัส เมนูใหม่ๆ อาหารรสเลิศ ฯลฯ ต้องการอวดว่าฉันได้กินเนื้อดี ราคาแพง ต้องการเสพสุขจากการมีเนื้อสัตว์ในชีวิต

6.จะเป็นอย่างไรหากมีคนแปลกหน้าบุกเข้ามาในบ้านคุณ จับคุณมัดไว้และขโมยของทุกอย่างออกไป รวมทั้งรื้อถอนบ้านออกไปด้วย ถึงแม้คุณจะมีคำถาม มีคำข้อร้องอ้อนวอน ก็ทำได้เพียงนั่งมองเขาพรากสิ่งที่รักไป สุดท้ายเหลือแต่คุณที่ถูกมัดนั่งอยู่บนพื้นดินโล่งๆ ที่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของคุณอีกต่อไป เขาเดินมากระซิบกับคุณเบาๆว่า ขอโทษทีนะมีลูกค้าต้องการ เพราะเขาจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตเพื่อการทำดีของเขา… ว่าแต่คุณจะเลือกจองเวรใครระหว่างพนักงานที่มาขนของ กับคนที่ได้ของเหล่านั้นไปใช้

7.สัตว์ที่ถูกเลี้ยงดูมา มันมีความผูกพันกับเจ้าของบ้างไม่มากก็น้อย การที่เราจะพรากมันมาขายก็เหมือนกับพ่อแม่ที่อุ้มชูเลี้ยงดูเรามา พาเราไปเดินเล่น หาอาหารให้เรา แล้วอยู่มาวันหนึ่งพอเราโตขึ้น ก็ขายเราให้กับคนอื่นเพื่อที่เขาจะได้เอาอวัยวะของเราไปใส่ให้ลูกค้าได้นำไปใช้ดำเนินชีวิตต่อไป การเบียดเบียนเพื่อต่อชีวิตเช่นนี้มีความดีงามอย่างไร?

8.เราสามารถหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ได้ โดยที่สังคมยอมรับและเข้าใจ โดยมากจะยินดีด้วย มีส่วนน้อยที่ไม่เห็นดีด้วย เพราะการละเว้นเนื้อสัตว์เป็นความดีที่ชัดเจน คนติเตียนได้ยาก กระทั่งนักบวชก็มีกลุ่มที่ไม่ยินดีรับเนื้อสัตว์อยู่มากมายในประเทศไทย

9.ไม่มีบุญ(การชำระกิเลส) หรือกุศล(ความดีงาม) อะไรเกิดขึ้นมาจากการเบียดเบียน มีแต่การจองเวรจองกรรม ทำทุกข์ทับถมตนด้วยการเบียดเบียนสัตว์อื่น เป็นไปเพื่อความทุกข์ชั่วกาลนาน

10.บุญจะเกิดกับสัตว์นั้นก็ต่อเมื่อ สัตว์นั้นสละชีวิตของตนมอบให้ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ เป็นการสละชีวิตเป็นทานให้ผู้อื่น บุญได้เกิดตั้งแต่ตอนที่สละแล้ว ไม่ใช่เกิดเพราะคนได้กินเนื้อมัน ไม่ว่าเนื้อที่สละจะถูกกินหรือทิ้ง บุญก็สำเร็จผลไปแล้ว ส่วนถ้าคนเอาเนื้อที่สละมากินเรียกว่าได้อานิสงส์ คือได้กุศลได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น

11.พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับการทำบุญได้บาป เมื่อคนนั้นนำสัตว์ที่ถูกฆ่ามาถวายพระพุทธเจ้าและสาวกของท่าน คือไม่เกิดผลดีเลย มีแต่บาปและอกุศลเท่านั้นที่จะได้ไป (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ “ชีวกสูตร” ข้อ ๖๐ )

…เราไม่จำเป็นต้องสร้างความจำเป็นใดๆ ในการไปกินเนื้อสัตว์เลย ถึงเราจะคิดหาเหตุผลดีๆมากมายร้อยแปดเพื่อมาสร้างความดีความชอบที่จะได้กินเนื้อสัตว์ แต่ความชั่วก็คือความชั่ว ความดีก็คือความดี การเบียดเบียนผู้อื่นโดยไม่จำเป็นเพื่ออ้างว่าไปทำดี ไม่มีในพจนานุกรมของคนดีที่แท้จริง คนที่ขโมยเงินคนอื่นไปทำบุญทำทานเป็นคนดีหรือ? คนที่โกงเงินคนอื่นแล้วเอาไปบริจาคเป็นคนดีหรือ? นี่ขนาดยังไม่ถึงชีวิตยังชั่วชัดเจนขนาดนี้ แล้วการที่เรายังเสพสุขอยู่บนความตายของผู้อื่นสิ่งนั้นจะชั่วขนาดไหน

เหตุผลข้ออ้างต่างๆ ที่จะปลอบใจว่าฉันเป็นคนดี ฉันกินเนื้อสัตว์แล้วไปทำดี มันเป็นคนละเรื่องกันกับความจริง ส่วนที่ทำดีก็คือสิ่งดี แต่ส่วนที่ไม่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องทำเลย ศาสนาพุทธมีหลักโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักใหญ่ของผู้ศึกษาและปฏิบัติ คือให้หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส หมายถึงสิ่งชั่วที่ให้หยุดทำก่อนเลย อย่าเพิ่งเอาทำดีมาขึ้นก่อน เอาชั่วออกจากชีวิตก่อน แล้วค่อยทำดีก็ยังไม่สาย คนไม่ชั่วเลย นั้นดีกว่าคนดีที่ยังทำชั่วอยู่

หลวงปู่ชา สุภัทโท มีได้มีคำกล่าวไว้ว่า“การทำบุญ โจรมันก็ทำได้ มันเป็นปลายเหตุ การไม่กระทำบาป ทั้งหลายทั้งปวงนั้นนะ เป็นต้นเหตุ

ถ้าให้เลือกคบเพื่อนที่ไม่ทำชั่วเลยแม้น้อย แต่เขาก็ไม่ได้ทำดีอะไรชัดเจน กับคนดีที่พยายามเข้าวัดทำทาน ฟังธรรม ทำกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ยังไม่เลิกเบียดเบียน ยังดูถูกคนอื่น ยังนินทาคนอื่น ยังเอาเปรียบคนอื่น จะเลือกคบแบบไหน คนหนึ่งไม่ชั่วแต่ก็ไม่ทำดี แต่อีกคนหนึ่งทำดีไม่หยุดชั่ว อยากเจอคนแบบไหนในชีวิต ก็ทำตัวแบบนั้นนั่นแหละ

ผู้ปฏิบัติอย่างถูกตรงในหลักคำสอนของพุทธศาสนานั้นประเสริฐกว่าที่กล่าวมา เพราะนอกจากหยุดชั่วทั้งหลายแล้ว ยังทำดีไม่หยุดหย่อน ทั้งยังมีจิตใจผ่องใสจากกิเลสทั้งปวงอีกด้วย ไม่ใช่ว่าทำชั่วแล้วเอาดีมากลบทับ อันนั้นยังไม่เข้าท่า ยังเฉโกอยู่ ยังเป็นความเห็นผิดที่เอาแต่หาเรื่องดีๆมาปลอบตนว่าฉันเป็นคนดีอยู่นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

22.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)